แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๓๒ ให้รู้จักว่าสิ่งไหนเป็นสาระและมิใช่สาระ แล้วพึงปฏิบัติแต่ในสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารของชีวิตเท่านั้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ให้ทุกคนรู้จักธรรมะ แล้วให้รู้จักอันไหนไม่ใช่ธรรมะ ในชีวิตประจำวันนี้เรามีอายตนะทั้ง 6 มีตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราสัมผัส ที่เราเกี่ยวข้องนี้ เค้าเอาธรรมะ เอาธรรมชาติของความเป็นจริงมาให้เราได้สัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเทวทูต ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จัก เราจะได้พากันประพฤติ พากันปฏิบัติธรรม จะได้ไม่ทำตามอวิชชา ตามความหลง ถ้าไม่มีสิ่งอย่างนี้ ก็ไม่มีนิพพาน มีโลกธรรม มีโลกถึงมีธรรมะ อริยมรรคมีองค์ 8 ถึงเป็นคู่กับโลกธรรมทั้ง 8 ทุกท่านทุกคนต้องพากันตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า เราจะได้รู้หน้าที่ รู้การประพฤติการปฏิบัติของเรา จะได้พากันเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติของเรา ทุกท่านทุกคนที่ เราอยู่ในทุกหนทุกแห่งในการดำรงชีวิต ในชีวิตประจำวัน เราเป็นประชาชนที่อยู่บ้านครองเรือน เราก็สามารถเป็นพระอริยเจ้าระดับเบื้องต้นคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ถึงพระอนาคามี มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต
โลกนี้ไม่ว่างจากพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน จนไปถึงพระอนาคามีสำหรับประชาชน ทุกท่านทุกคนจะได้พัฒนาตัวเอง ให้พากันเข้าจิตเข้าใจ เราไม่ต้องสงสัยว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วศูนย์ มันหยุดความคิดนี้ได้อยู่ที่ปัจจุบัน ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบัน ถ้าเราคิดอย่างนั้นมันยังเป็นกระบวนการที่มองเห็นความลังเลสงสัย สีลัพพตปรามาส มันเป็นความว่างจากศีล จากธรรม ว่างจากมรรคผลพระนิพพาน นี้เป็นอันตราย ให้เราพากันเข้าใจ
การเรียนการศึกษานี้ดี เพราะว่าการเรียนการศึกษามันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุ เป็นผล แต่ที่เหนือวิทยาศาสตร์ก็คือเรามีสุข เราก็ไม่หลงในสุข เรามีทุกข์เราก็ไม่หลงในทุกข์ การพัฒนาสติ พัฒนาสมาธิ การพัฒนาปัญญาในปัจจุบัน ทุกๆ ท่านทุกคนอย่าไปหลงงมงาย อย่าไปตามความคิด อย่าไปตามอารมณ์ อย่าไปตามสิ่งแวดล้อม ให้มีสติสัมปชัญญะ อานาปานสติของเราทุกคนต้องพากันมี ในปัจจุบันอิริยาบถต่างๆ เราต้องมีศีลสมบูรณ์ ศีลเราจะสมบูรณ์ได้ เราก็ต้องสมาทาน ต้องตั้งใจ ต้องเริ่มจากเจตนา อันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ อันนั้นเค้าเรียกว่าสมาทาน อันนี้เป็นยานนะ ยานพาหนะทางจิตใจ ไม่ใช่ยานพาหนะทางร่างกาย มันจะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ เค้าเรียกว่าสัมมาสมาธิ มันอยู่ในฐานของไม่มีนิวรณ์ ศีลกับสมาธิ ปัญญาวิปัสสนา มันก็ไปด้วยกันอย่างนี้แหละ
ทุกคนต้องพากันเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเลยนะ เราไม่ควรให้ตัวเอง ครอบครัว ลูกหลานของเราเสียหายไปมากกว่านี้ เราจะได้พัฒนาทั้งใจทั้งเทคโนโลยี เรียกว่าทางสายกลางไปพร้อมๆ กัน ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกนี้ก็ย่อมพินาศ เพราะความเห็นแก่ตัว ความไม่รู้อริยสัจ ๔ เราอย่าไปหลง ทนงตัวว่าเราเป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด เป็นคนรวย เป็นผู้คุมเกมส์อะไรต่างๆ ได้ อันนี้มันเป็นความหลง อันนี้มันยังมีตัวมีตนอยู่ เราต้องฉลาดมากกว่านี้ เราได้พัฒนาเรื่องอาหารอร่อย พัฒนารูปสวยๆ นี้ มันพัฒนาได้ อันนี้เป็นเพียงยารักษาโรคเฉยๆ แต่เราต้องพัฒนาใจของเราให้คู่กันไป จะให้โควิดมันเจริญงอกงามไม่ได้ ต้องพัฒนายาให้มันรักษาโควิด เราดำเนินชีวิต ถ้าเรามีความอยาก เรามีความหลง ใจของเรามันก็ไม่พ้นเปรตอยู่แล้ว ถ้าเรารู้จัก เราสร้างเหตุสร้างปัจจัย เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะดับทุกข์ไปเอง
เราไม่ต้องไปอยากอะไร เพียงแต่เรามีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการมีศีล มีความสุขในการตั้งมั่น ในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ อบรมบ่มอินทรีย์ สร้างบารมีไปอย่างนี้ ทุกท่านทุกคนต้องพากันคิดเป็น วางแผนเป็น เอาธรรมะมาประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ความรู้เราทั้งหลายทั้งปวง ต้องเอามาประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เราจะได้มีความสุขทุกคนว่าความสุขความดับทุกข์มันอยู่อย่างนี้เอง ความเป็นพระอริยเจ้ามันมีความสุขกว่าเป็นมหาเศรษฐีอีก เมื่อเรายังไม่เข้าใจเราก็เถียงกัน สองคนเถียงกัน ว่ามีเงินมาก กับมีปัญญามาก อันไหนดีกว่ากัน คนส่วนใหญ่ก็จะว่า 100 คนอย่างนี้ ก็จะว่ามีเงินมากดีกว่า 99.9 ผู้ที่มีปัญญาถึงบอกว่าปัญญานั้นย่อมดีกว่ามีเงินมาก เพราะมีเงินมากก็ยังเวียนว่ายตายเกิด ยังมีอวิชชา มีความหลง ยังเป็นลูกน้องพญามาร เสนามารอะไรอยู่
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าอกเข้าใจ เราไปหาพระภายนอกมันยุ่งเหลือเกิน เราไม่ต้องไปปคิดหาพระภายนอก เราพยายามสร้างพระในตัวเรานี้แหละ คือพระธรรม พระวินัย คือศีลนี้แหละ เราจะไม่ได้ถูกพระหลอก เอาเงิน เอาตังค์เรา เอาของเรา คนเราน่ะเราดูสิ คนที่ 18 มงกุฏ ที่มันหลอกได้ก็คนโลภทั้งนั้นแหละ ที่ถูกเค้าหลอกได้ อยากได้เงินมาง่าย อยากได้ของมาง่ายๆ ถูกเค้าหลอก ส่วนใหญ่คนไม่โลภหลอกไม่ได้หรอก ถูกเค้าหลอกน่ะ เค้าสร้างเหรียญนิดเดียวไม่กี่สิบบาท เค้าขายให้เราตั้งหลายร้อย หลายพัน บางทีพระสมเด็จขายองค์ละหลายล้าน มันเป็นเพราะจากเกิดความโลภเองอะไรเอง
ทุกท่านทุกคนรู้จักธรรมะ แล้วให้รู้จักอันไหนไม่ใช่ธรรมะ อันเป็นสาระอันไหมไม่เป็นสาระ
คราวเมื่ออุปติสสะและโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงชวนกันไปเฝ้าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ ณ เวฬุวัน แต่อุปติสสะซึ่งเป็นผู้หนักในกตัญญูกตเวที ระลึกถึงอาจารย์สัญชัย จึงเข้าไปหาอาจารย์ เล่าความทั้งปวงให้ฟัง ชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย แต่อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้น ครูบาอาจารย์แล้วไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก เมื่อสองสหายอ้อนวอนหนักเข้า อาจารย์สัญชัยจึงถามว่าในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก สองสหายตอบว่า คนโง่มากกว่า สัญชัยจึงสรุปว่า ถ้าอย่างนั้น ขอให้พวกที่ฉลาดๆ ไปหาพระสมณโคดมเถิด ส่วนพวกโง่ ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา
แม้จะรู้ว่าท่านอาจารย์สัญชัยพูดประชดประชัน แต่สองสหายผู้มีอัธยาศัยงามเพียบพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ ก็หาถือเป็นเรื่องเคืองใจแต่ประการใดไม่ คงอ้อนวอนต่อไป พรรณนาให้เห็นว่า การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากเพียงใด การได้ฟังพระสัทธรรมของพระองค์ท่านก็เป็นของยาก บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว และประทับอยู่ ณ ที่ใกล้นี่เอง ควรจะถือโอกาสอันดีนี้ไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา แต่สัญชัยก็คงยืนกรานอย่างเดิม
คนที่เป็นปทปรมะ (คนที่สั่งสอนไม่ได้) นั้นมี อยู่ ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งปัญญาน้อยเกินไป หรือพวกปัญญาอ่อน อีกพวกหนึ่งมีทิฐิมากเกินไป ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของใครๆ คนทั้งสองพวกนี้สอนได้ยาก หรืออาจสอนไม่ได้เลย ที่ท่านเปรียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ติดโคลนตม มีแต่จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่า
เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว สองสหายก็จากไป ศิษย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัยติดตามไปเป็นจำนวนมากประหนึ่งว่าปริพพาชการามจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้นเสียใจจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด ศิษย์ของสัญชัยจำนวนหลายคนคงจะสงสารอาจารย์ จึงกลับเสียในระหว่างทาง คงติดตามท่านทั้งสองไปเพียง ๒๕๐ คน
พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สญชัยถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า ‘มีสาระ’ และสิ่งที่มีสาระว่า ‘ไม่มีสาระ’ เพราะความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ. ส่วนเธอทั้งสองรู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งอันไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต” ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
“อสาเร สารมติโน สาเร จ อสารทสฺสิโน เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา
สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา
บุคคลใดเห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริผิดประจำใจ ย่อมไม่อาจพบสาระได้ ส่วนบุคคลใดเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งอันไม่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ”
ก็อะไรเล่าคือสิ่งที่ไม่เป็นสาระ? อะไรคือสิ่งที่เป็นสาระ? ตอบตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา สิ่งใดก็ตามอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบีบคั้น เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเอาใจไว้ไม่อยู่ทำให้จิตเตลิด เป็นไปเพื่อความหลงงมงาย มืดมน เป็นไปเพื่อความติดพันยึดมั่น สิ่งทำนองนั้นแหละเป็นอสาระ
ส่วนสิ่งใดก็ตาม อันเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนบีบคั้น เป็นไปเพื่อความสงบระงับแห่งดวงจิต เป็นไปเพื่อปัญญาเห็นแจ้ง เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น สิ่งนั้นหรือสิ่งทำนองนั้นเรียกว่า 'มีสาระ'
คนส่วนมากอาศัยความดำริผิด (มิจฉาสังกัปปะ) จึงเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ แล้วหมกมุ่นอยู่ พัวพันอยู่ จมอยู่ในสิ่งอันไม่เป็นสาระนั้น มิหนำซ้ำยังนึกดูหมิ่นผู้ที่กำลังศึกษาปฏิบัติอยู่ ซึ่งสิ่งอันเป็นสาระว่าขวนขวายในสิ่งที่ไม่มีสาระ เมื่อเป็นดังนี้ เขาจึงไม่มีโอกาสประสบสิ่งอันเป็นสาระได้ เพราะได้สมาทานมิจฉาทิฐิไว้เต็มที่
กล่าวโดยย่อ อกุศลธรรมทั้งปวงเป็นอสาระ กุศลธรรมทั้งปวงเป็นสาระ สิ่งที่ทำให้จิตใจต่ำเป็นอสาระ สิ่งที่ทำให้ใจสูงเป็นสาระ คนดีเป็นสาระ คนชั่วเป็นอสาระ คนส่วนมากอยากเป็นคนดี อยากทำดีและอยากได้ดี แต่ที่ทำต่างๆ กันไปก็เพราะความเห็นในเรื่องความดีไม่ตรงกัน บางคนเห็นผิดไปเห็นชั่วเป็นดี เมื่อทำเข้าจึงชั่ว ผลออกมาเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน บางคนเห็นดีเป็นชั่วจึงเว้นสิ่งที่ควรทำ ไม่ได้ทำความดี บางคนเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว มีความเห็นถูก ดำริถูก จึงทำถูก พูดถูก ผลออกมาเป็นความสุขความเจริญ ความเย็นใจ
โดยนัยดังกล่าวมา บุคคลจึงควรปรับความเห็นและความคิดของตนให้ถูกให้ตรง ก็จะดำเนินชีวิตไปในทางถูก ทางตรง เขาย่อมพบสิ่งที่เป็นสาระ เพราะมีความเห็นถูก คิดถูกนั้น เป็นประทีปส่องทาง ส่วนผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรง ย่อมมีแต่โทษทุกข์เป็นผล ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อบุคคลมีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดแล้วย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย" ! เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลมีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
อนึ่งมิจฉาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องตกนรก ส่วนสัมมาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ผู้เป็นมิจฉาทิฐิเกิดมาเพื่อความฉิบหายวอดวาย เพื่อโทษทุกข์แก่คนส่วนมาก ส่วนผู้เป็นสัมมาทิฐิเกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก เพราะทำให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย" ! กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ เพราะเหตุไร? เพราะทิฐินั้นเลวทราม ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินอันชุ่มชื้น รสดินรสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขมเพื่อเผ็ดร้อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชเลว ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ! กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดีของบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิก็ฉันนั้น เป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา เพราะความเห็นของเขาเลวทราม เจตนาก็ตาม ความปรารถนาก็ตาม ความตั้งใจก็ตาม มีผลที่ไม่น่าปรารถนาไปด้วย เพราะเกิดจากทิฐิอันเลวทราม
ภิกษุทั้งหลาย ! กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เจตนาความปรารถนา ความตั้งใจ สังขาร เครื่องปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะทิฐิของเขาดี ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี อันบุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื่น รสดิน รสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมดย่อมเป็นของมีรสหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชพันธุ์ก็ดี กายกรรม วจีกรรม... ของบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา...เพราะทิฐิของเขาดี"
เห็นหรือไม่ว่าความเห็นชอบ ความดำริชอบ มีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลอย่างไร เหมือนประทีปส่องทาง เหมือนเมล็ดพืชที่ดีอำนวยประโยชน์และความสุขแก่บุคคลหาประมาณมิได้
มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น
บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิประจำใจจึงเหมือนมีกุญแจไขเข้าไปในห้วงอันเต็มไปด้วยสาระ ส่วนคนมีมิจฉาทิฏฐิประจำใจ หาเป็นเช่นนั้นไม่ มีแต่จะเดินเข้ารกเข้าพง นำชีวิตไปสู่ความล่มจมล้มเหลว เปรียบด้วยเรือ สัมมาทิฏฐิก็เป็นหางเสือให้เรือแล่นไปในทางอันถูกต้อง หลีกหินโสโครกและอันตรายต่างๆ คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าอกเข้าใจ เราไปหาพระภายนอกมันยุ่งเหลือเกิน เราไม่ต้องไปปคิดหาพระภายนอก เราพยายามสร้างพระในตัวเรานี้แหละ คือพระธรรม พระวินัย คือศีลนี้แหละ เราจะไม่ได้ถูกพระหลอก เอาเงิน เอาตังค์เรา เอาของเรา คนเราน่ะเราดูสิ คนที่ 18 มงกุฏ ที่มันหลอกได้ก็คนโลภทั้งนั้นแหละ ที่ถูกเค้าหลอกได้ อยากได้เงินมาง่าย อยากได้ของมาง่ายๆ ถูกเค้าหลอก ส่วนใหญ่คนไม่โลภหลอกไม่ได้หรอก ถูกเค้าหลอกน่ะ เค้าสร้างเหรียญนิดเดียวไม่กี่สิบบาท เค้าขายให้เราตั้งหลายร้อย หลายพัน บางทีพระสมเด็จขายองค์ละหลายล้าน มันเป็นเพราะจากเกิดความโลภเองอะไรเอง
พระก็คือพระธรรม คือพระวินัย คือศีล ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักหาพระในตัวของท่านเอง เราจะไปหาพระภายนอก พระภายนอกน่ะดูทุกวันนี้จะเป็นขาลงละ ที่เราไปสร้างภายนอกเค้าเรียกว่ามันเป็นขาลงแล้ว ขาขึ้นมันต้องสร้างตัวเอง สร้างจิต สร้างใจ สร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญา รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ในปัจจุบัน เราไม่ต้องไปโง่ ไปหาแก้คนอื่นหรอก ไปแก้ลูกเราก็ไม่ได้หรอก เพราะเราเป็นคนไม่มีศีล ลูกเรามันไม่เคารพ หลานเรามันไม่เคารพ มันสงสารเราเฉยๆ เราไปแก้พระที่บวชก่อน ไปแก้พระที่บวชใหม่ มันแก้ไม่ได้หรอกเพราะว่าตัวเองไม่มีศีล ตัวเองไม่มีความตั้งมั่น ตัวเองไม่มีพระนิพพาน ใครมันจะมาเคารพนับถือ เพราะว่าคนเรามันก็มีตา มีหูอยู่ อย่าไปคิดไม่ฉลาดนะ เราต้องหาพระในตัวของตัวเองให้ได้ พวกที่บวชนานอย่าไปลงนั่งพิงหมอนนะ ว่าตัวเองเป็นพระ พระตามใจ ตามอารมณ์ ไม่ได้เป็นพระหรอก
ขณะที่พระสารีบุตรพักอาศัยอยู่ ณ เวฬุวัน เมืองราชคฤห์นั้น วันหนึ่งท่านออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ เมื่อได้อาหารพอสมควรแล้วจึงแวะฉันใกล้ฝาเรือนแห่งหนึ่ง พอดีปริพพาชิกานางหนึ่งชื่อสูจิมุขี แปลว่ามีหน้าแหลม หรือมีปากแหลมเหมือนเข็ม ผ่านมาเห็นเข้า ที่ว่ามีปากแหลมเหมือนเข็มนั้นอาจเป็นนามที่ได้โดยคุณลักษณะของนาง คือมีปกติชอบพูดจาทิ่มแทงคนอื่นให้เจ็บแสบ แม้เรื่องที่มาพบพระสารีบุตรนั่งฉันอยู่ใกล้ฝาเรือนนี้ก็เหมือนกัน นางอดไม่ได้ที่จะพูดทิ่มแทง บังเอิญไปแทงเอาหินเข้า เข็มคือปากของนางจึงหักไปเอง
นางเห็นพระสารีบุตรนั่งฉันอยู่อย่างนั้นจึงว่า "สมณะผู้นี้ก้มหน้าฉัน"
พระสารีบุตรตอบว่า "เรามิได้ก้มหน้าฉัน"
"ถ้าอย่างนั้น ท่านแหงนหน้าฉัน" นางพูดต่อ
"เราไม่ได้แหงนหน้าฉัน" พระสารีบุตรตอบ
"ถ้าอย่างนั้น ท่านหันหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน" นางหาเรื่อง
"เราไม่ได้หันหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน"
"ถ้าอย่างนั้น ท่านหันหน้าไปทางทิศน้อยฉัน"
"เราไม่ได้หันหน้าไปทางทิศน้อยฉัน"
นางสูจิมุขีจึงว่า "ข้าพเจ้าพูดอย่างใดๆ ท่านก็ปฏิเสธเสียสิ้น ถ้าอย่างนั้นท่านฉันอย่างไร?"
พระสารีบุตรตอบว่า "น้องหญิง! สมณพราหมณ์เหล่าใดเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูที่ต่างๆ ว่าที่ตรงนี้ดี ตรงนี้ไม่ดี เป็นต้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า ก้มหน้าฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชาคือวิชาดูดาวนักษัตร ทำนายทายทักโดยอาศัยดวงดาว สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า แหงนหน้าฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือรับใช้เป็นทูตเขา รับใช้ไปโน่นมานี่ให้เขา เพื่อได้ค่าจ้างหรือลาภสักการะเป็นเครื่องตอบแทนสมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า หันหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน สมณพราหมณ์เหล่าใดเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูลักษณะอวัยวะร่างกาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นเรียกว่า หันหน้าไปทางทิศน้อยฉัน น้องหญิง! เรามิได้อาศัยดิรัจฉานวิซาเหล่านั้นเลี้ยงชีพ จึงชื่อว่ามิได้ก้มหน้าฉัน เงยหน้าฉัน หันหน้าไปทางทิศใหญ่ฉัน หรือหันหน้าไปทางทิศน้อยฉัน เราเลี้ยงชีพโดยสุจริตตามอริยประเพณี อาชีวะของเราบริสุทธิ์เต็มที่ เราแสวงหาอาหารโดยธรรม มิได้เบียดเบียนหลอกลวงผู้ใด ได้มาโดยธรรม และฉันโดยธรรม"
ถ้อยคำของพระสารีบุตรที่ตอบโต้นางสูจิมุขีนั้นน่าคิดน่าตรึกตรองสำหรับสมณพราหมณ์หรือนักบวชผู้มุ่งการเป็นอยู่โดยธรรมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวโดยเฉพาะนักบวชในพระพุทธศาสนานั้น ถ้ามุ่งลาภสักการะและชื่อเสียง หรือยศศักดิ์เป็นจุดมุ่งหมายแล้ว ก็เรียกว่า พลาดเป้าหมายอย่างมาก ขอยกเอาข้อความในจูฬสาโรปมสูตรมาเทียบดังนี้"
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถีนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้ทักทายปราศรัยกันพอสมควรแล้ว พราหมณ์ได้ทูลถามขึ้นว่า "พระโคดมผู้เจริญ! สมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ มีชื่อเสียงปรากฏ มีคนรู้จักเคารพนับถือมาก เช่นปูรณกัสสปะ เป็นต้น ท่านเหล่านั้นได้รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้บางพวกไม่รู้?"
"อย่าเลยพราหมณ์!" พระศาสดาตรัส "อย่าพูดถึงท่านเหล่านั้นเลย เขาจะรู้จริงหรือไม่รู้จริงก็ช่างเถิด อย่าไปมัวสนใจเขาเลย ถ้าท่านต้องการฟังธรรม เราจะแสดงธรรมให้ฟัง" เมื่อพราหมณ์ปิงคลโกจฉะทูลรับว่าต้องการฟังแล้ว
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อพบต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ เขาตัดเอากิ่งและใบไปด้วยสำคัญผิดว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีย่อมเข้าใจได้ทันทีว่า บุรุษผู้นั้นไม่อาจยังประโยชน์ของตนให้สำเร็จเป็นแน่แท้ อีกคนต้องการแก่นไม้ แต่ได้ถากเอาสะเก็ดไป อีกคนหนึ่งถากเอาเปลือกไป อีกคนหนึ่งถากเอากระพี้ไป บุรุษเหล่านั้นสำคัญผิดว่าสะเก็ด เปลือก กระพี้เป็นแก่น เพราะความเขลาไม่รู้จักแก่นไม้ พวกเขาย่อมไม่อาจจะยังประโยชน์ที่จะพึงทำด้วยแก่นไม้ให้สำเร็จได้ ส่วนบุรุษอีกผู้หนึ่ง ต้องการแก่นไม้ ฉลาดรู้จักแก่นไม้ จึงตัดเอาแก่นไป คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็รู้ได้ทันที ว่าบุรุษนั้นย่อมได้รับประโยชน์จากแก่นไม้
ดูก่อนพราหมณ์ ! เรื่องที่กล่าวเป็นอุปมานี้ฉันใด ข้ออุปไมยต่อไปนี้ก็ฉันนั้น คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้มีศรัทธาออกบวช ประพฤติตนเป็นอนาคาริกมุนี ไม่ครองเรือน ด้วยเห็นทุกข์ต่างๆ เบียดเบียนตนอยู่ และทั้งดักอยู่ข้างหน้า ต้องการให้พ้นทุกข์ จึงออกบวช ครั้นบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้นมาก ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนข่มผู้อื่นว่า เราเป็นผู้มีลาภสักการะและชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่นๆ ไม่มีใครรู้จัก เป็นผู้มีศักดิ์น้อย เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุนั้นไม่ได้ปลูกความพอใจในคุณธรรมอื่นๆ อันประณีตกว่าดีกว่าลาภสักการะและชื่อเสียงเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม เธอย่อมเปรียบกันได้กับบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้แต่กลับตัดเอากิ่งและใบไป
บางคนไม่ติดในลาภสักการะ ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะเหตุแห่งลาภสักการะนั้น แต่ไปติดอยู่เพียงแค่ศีล พอใจเต็มปรารถนาในศีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล แล้วยกตนข่มผู้อื่น เพราะเหตุแห่งศีลสัมปทานั้น ไม่ขวนขวายเพื่อคุณธรรมอันสูงขึ้นไป เธอ เปรียบได้กับบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แต่กลับถากเอาสะเก็ดไป
บางคนไม่ติดในลาภสักการะและในศีล แต่ไปติดในสมาธิ พอใจเต็มปรารถนาในคุณธรรมคือสมาธินั้น ไม่ขวนขวายเพื่อคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป เธอย่อมเปรียบได้กับบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้แต่กลับถากเอากระพี้ไป
บางคนไม่ติดในลาภสักการะชื่อเสียง ไม่ติดอยู่เพียงแค่ศีล สมาธิ ปัญญา พยายามขวนขวายโดยลำดับเพื่อความสิ้นอาสวะและได้สิ้นอาสวะด้วยปัญญาอันชอบ ได้เสวยรสแห่งวิมุตติคือความหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง บุคคลเช่นนี้แหละ เปรียบได้กับบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ และได้ตัดเอาแก่นไปสมประสงค์"
พระตถาคตเจ้าตรัสย้ำตอนท้ายว่า "ดูก่อนพราหมณ์! ด้วยประการฉะนี้แหละ พรหมจรรย์คือ การประพฤติความดีในศาสนานี้ มิใช่ลาภสักการะหรือชื่อเสียง เป็นจุดมุ่งหมาย มิใช่มีศีลสมาธิและปัญญาหรือญาณทัศนะ เป็นจุดมุ่งหมาย แต่การประพฤติความดีในศาสนานี้ มุ่งเอาความหลุดพ้นแห่งใจจากอาสวะทั้งปวงเป็นจุดมุ่งหมาย และความหลุดพ้นไม่กลับกำเริบอีก คือไม่กลับมาติดพันตกต่ำลงอีก ความหลุดพ้นอย่างนี้แหละ เป็นที่ต้องการ เป็นแก่นสาร เป็นที่สุดโดยรอบแห่งการประพฤติความดีในศาสนานี้"
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
'การเวียนว่ายตาย' เกิดนี้... มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่างๆ แล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดีๆ พากันทบทวนตัวเองดีๆ น่ะ
พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อ พากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหา 'ธรรมะ' ไม่ทำตามความอยาก... ความต้องการ... ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มี 'สัมมาทิฏฐิ' มีความเห็นถูกต้อง แล้วก็พยายามปฏิบัติอบรมบ่มอินทรีย์น่ะ
คนเราส่วนมากมักเอาเวลาไปรู้ไปดูสิ่งอื่น เรื่องของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัว นอกกายใจทั้งนั้น น้อยนักที่จะดูตนเอง สนใจเอาใจใส่ขัดเกลาตัวเราเอง หากสนใจแต่ในการแสวงหาเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งพระพุทธองค์อุปมาเป็นเหมือนกิ่งใบของต้นไม้เท่านั้น ยังนับว่าห่างไกลที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้
ฉะนั้นแล้ว อยู่ที่เราแล้วละว่าจะเอาอะไรเป็นแก่น ให้สมกับที่ได้เกิดมาพบพระสัทธรรม หากหลงไปไขว่คว้าในสิ่งอื่น ไปหลงกราบไหว้บูชาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์เอามาเป็นสรณะที่พึ่ง ก็ยังนับว่าห่างไกลพระพุทธองค์ เสียโอกาสดีๆ ไปอีกชาติหนึ่งแล้ว...