แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๒๙ เพียรปฏิบัติให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลัง ที่จะหยุดความไม่ดีในตัวเองให้ได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สภาวะทางร่างกายของเราทุกคนนี้ ของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์จะมีอายุขัยส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ทุกท่านทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ ให้ทุกคนมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เเล้วจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เรามีภาระทางร่างกาย เพราะร่างกายเรามีภาระ เราต้องเเสดงหาอาหาร ที่อยู่ เสื้อผ้า อาภรณ์ ยารักษาโรค สิ่งที่อำนวยความสะดวก ความสบาย ในการเดินทางในการสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนยารักษาโรค เพราะคนเรา มีทุกข์ทางร่างกาย เราก็รักษาไป ด้วยการทานอาหาร ด้วยการพักผ่อน ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ นี้เป็นเรื่องของกาย เรื่องของใจ
ทุกท่านทุกคนก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เเล้วเราปฏิบัติถูกต้อง ใจของเราต้องมีสัมมาทิฏฐิ เพื่อพัฒนาตัวเราให้เกิดปัญญา เข้าถึงวิมุตติความหลุดพ้น ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติทั้งสองอย่าง ปฏิบัติทั้งกาย ปฏิบัติทั้งใจ พร้อมๆ กันไป จะไม่ได้ยิ่งหย่อนมากกว่ากัน ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจในชีวิตของเรา ในชีวิตประจำวัน จะมีทั้งสุข มีทั้งไม่สุข ไม่ทุกข์ อันนี้เป็นสภาวะธรรม สังขารทุกส่วนสัดเค้าก็ทำหน้าที่เเต่ละอย่างสมบูรณ์ ที่ประจำร่างกายของเราเรียกว่าขันธ์ทั้งห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จะฝึกใจของเรานี้ก็คือ เค้าทำหน้าที่ของเค้า จมูกทุกอย่างเค้าทำหน้าที่ของเค้า ใจของเราถ้าไม่พัฒนา เค้าก็ไปตามสัญชาตญาณที่เค้าหลงอยู่ เค้าเวียนว่ายตายเกิด
เราทุกคนต้องพัฒนาใจ เรียกว่า มาประพฤติมาปฏิบัติ ตั้งเเต่ก่อนเราทำตามอวิชชา ตามความหลง ตามความไม่รู้ มันก็เวียนว่ายตายเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีหลายล้านชาติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านมาบอกมาสอน เราก็ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เพราะไม่มีใครที่จะมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องเหมือนพระพุทธเจ้าเเล้ว พวกที่เราเห็นคนเหล่านี้ เป็นเพียงสามัญชนผู้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราต้องเอาพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าสามารถให้เราเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบันเลย พาเราเดินทางถูกต้อง ทุกคนต้องละตัวละตน ละสักกายทิฏฐิ ต้องละที่ใจของเราเนี่ยเเหละ อันไหนไม่ดีมันคิดครั้งที่หนึ่ง คิดครั้งที่สองก็รู้ชัดเจน ก็อย่าให้มันคิด เรียกว่าอย่าให้อาหารทางใจ เมื่อเราไม่ให้ เค้าก็ไม่พูด เค้าก็ไม่ทำ มันจะหยุดลง ผัสสะ เพื่อไม่ให้มีเวทนา ไม่ให้มีความหลงไปอีก เราพัฒนาอย่างนี้ เราจะได้หยุดมีเซ็กซ์ทางจิตใจ เพราะวันนึงคืนนึงพวกเราทุกคนนี้มีเซ็กซ์ทางจิตใจเยอะ เเต่เซ็กซ์ทางร่างกายไม่ค่อยจะมี เราต้องพัฒนาที่จิตที่ใจของเรา
เราต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมชัดเจน หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย ออกสบาย เพราะการภาวนาเค้าเน้นที่ปัจจุบัน อดีตก็ปฏิบัติไม่ได้เเล้ว อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้เเล้ว ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าเราเอาปัจจุบันดีๆ เราก็ไม่สงสัยเเล้วว่าตายเเล้วเกิด หรือ ตายเเล้วสูญ เพราะปัญหามันดับตรงที่ปัจจุบัน เพราะอันนี้มันเป็นหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภายนอก เเละ วิทยาศาสตร์ทางจิตใจ ที่เราอยู่เหนือวิทยาศาสตร์อีก ไม่ติด ไม่หลง สละคืน ด้วยปัญญา อย่างนี้ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักของดี รู้จักสิ่งที่ดีๆ อะไรดีที่สุด ศีลนี้เเหละเป็นของดีเพื่อสละซึ่งตัว ซึ่งตน คนเราได้ทานของอร่อยๆ ก็ว่าของดี ได้สะดวกสบายเรียกว่าของดี อันนี้มันดีภายนอก ดีไม่ยั้งยืน หรือ ดีชั่วคราว
ทุกคนต้องพากันเข้าใจนะ ของดีถือศีล พระพุทธเจ้าถึงบอกว่างาม เบื้องต้นคือศีล ศีลนี้มันงาม ทำให้ชีวิตของเรางาม ชีวิตของเราไม่หลง ต้องปรับใจเข้าหาศีลหาธรรม เข้าหาเวลา เข้าหาข้อวัตรกิจวัตร เราไปตามสัญชาตญาณไม่ได้ เราไม่ได้พัฒนาตนเอง อย่าใจอ่อน พระเรานี้ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า โยมเรายังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคา พระ อนาคามี มันใจอ่อนนะ ต้องใจเข้มเเข็ง ต้องตั้งใจ ต้องสมาทาน ต้องเอาเจตนาเป็นหลัก เพราะเราจะข้ามมหาสมุทรต้องอาศัยเรือยนต์อย่างดี อาศัยเครื่องบินอย่างดี เราคิดเฉยๆ รู้เฉยๆ ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ เราก็เป็นเพียงเรียน เพียงเข้าใจ อย่างนี้มันก็ยังเเก้ปัญหาไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ ความใจอ่อนมันมีทุกคนนะ พระเราที่ยังไม่ได้เป็นพระมันใจอ่อน นั่งสมาธิก็ค่อยยินดีในความสัปหงก นั่งทำวัตรสวดมนต์มือมันร่วงลงเมื่อไหร่ไม่รู้ พวกนี้ต้องสมาทานตั้งใจ ส่วนใหญ่พระใหม่ก็มองดู เอาพระไม่ได้มาตรฐานเป็นตัวอย่าง องค์ที่พนมมือบ้าง ไม่พนมมือบ้าง สวดก็ไม่สวด เอาเเต่เงียบอย่างนี้ ไม่ใช่พระเเสวงหาความสงบนะ เป็นพระใจอ่อน พระใหม่ต้องมองหาองค์ไหน ที่นั่งตัวตรง ไม่มีใคร ก็มองดูพระพุทธรูป นั่งง่วงๆ ดูพระพุทธรูปๆ ไม่มีง่วงเลย
ถ้าเราไม่ฝึกอย่างนี้เราก็เสียเวลา เรามาบวช เสียเวลาโยมที่อยู่ทางบ้าน พยายามปรับปรุงตัวเอง เพราะเราอยู่ไปก็เเก่เฒ่าชราไป กินข้าวก็เสียข้าว กินน้ำก็เสียน้ำ ไม่เป็นตัวอย่างของลูกของหลานอะไรหรอก เหมือนเมื่อวานนี้ ที่กล่าวไปว่า ลูกหลานเค้าไม่นับถือเรา เค้าเพียงเเต่สงสารเรา ว่าเราได้ช่วยอุปัฏฐาก อุปถัมถ์เรา เค้าจะเคารพเราได้ เราต้องมีศีลมีธรรม เราต้องพากันคิดนะ เราปฏิบัติในปัจจุบันให้ชัดๆ ให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป ปัจจุบันมันต้องเด่นชัด อย่าไปทำอะไรง่อนเเง่นคลอนเเคลน เเทบจะเอาตัวไม่รอด ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจเต็มที่ เค้าเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ
ปกติเราทุกคนน่ะมีความเป็นอิสระอยู่กันอย่างสะดวกสบาย ก็ให้พวกท่านหลายๆ คนน่ะถือว่าเรามาประพฤติมาปฏิบัติเพื่อสร้างความดีเพื่อสร้างบารมี เดินตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “การเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าน่ะ ทำอย่างไร 'ศีล' ทุก ๆ ข้อ ทุกสิกขาบทนั้นน่ะ คือ รอยบาทขององค์สมเด็จพระศาสดา"
'ศีล' นี้เปรียบเสมือนแผ่นดินน่ะ แผ่นดินที่ได้อยู่อาศัย ถ้าเราไม่มีแผ่นดินเราก็ไม่มีที่อยู่ 'ศีล' คือเหตุปัจจัยให้ธรรมะเกิดแก่เราทุกๆ คนได้
ทุกท่านทุกคนน่ะ มาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เอาพระวินัยเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเรามีพระวินัยแล้วธรรมะมันก็ถึงจะค่อยเกิด เราทุกท่านทุกคนมีความต้องการที่ดี มีความปรารถนาดี อาศัยเรามีศรัทธามีความอดความทน การปฏิบัติบูชานี้...มันเป็นสิ่งที่ยากลำบากน่ะ มันต้องเหน็ดเหนื่อยหิวกระหาย มันลิดรอนสิทธิความเห็นแก่ตัวของเรา ไม่ได้ทำอะไรตามความต้องการ เอาพระวินัยเป็นหลัก เอากิจวัตรเอาข้อวัตรที่เราตั้งไว้ว่า... เวลาโน้นทำสิ่งโน้นเวลานั้นทำสิ่งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำน่ะเพื่อทำจิตใจของเราให้สงบ ทำสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์
คนเรานั้นน่ะความสุข ความดับทุกข์ มันอยู่ที่จิตใจของเราสงบ อยู่ที่สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ เพราะเราทุกๆ คนนั้นน่ะถูกกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเผาจิตเผาใจให้ตัวเองเป็นทุกข์ ตัวเองเร่าร้อน ถึงแม้ร่างกายมันยังไม่ตายแต่จิตใจของเรานั้นก็ถูกเผาทั้งเป็นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามารู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด การวิ่งตามอารมณ์ตามความคิดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จบไม่สิ้น
มาฝึกทำใจให้สงบไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนอยู่ในอิริยาบถใดต้องให้ใจของเรามันสงบ ไม่ให้วิ่งตามอารมณ์ ไม่ให้ตัวเราวิ่งตามความฟุ้งซ่าน ตามความเคยชินของเราที่สั่งสมมาแล้วหลายภพหลายชาติ
เบื้องแรกเบื้องต้นนี้ เราพากันมาฝึกทำใจให้สงบทำสบายๆ ไม่ต้องไปเคร่งเครียด ถ้ามันเครียดแล้วมันทำอะไร ไม่ได้หรอก
สมาธิ คือความสงบน่ะ ทุกๆ ท่านทุกคนต้องพากันฝึกสมาธิ เบื้องต้นให้ฝึกสมาธิก่อน อย่าเพิ่งเจริญปัญญา
เหมือนนักเรียนประถมศึกษานี้ต้องฝึกท่อง ก ไก่ ข ไข่ หรือภาษาต่างประเทศก็ A B C D เรามันยังเป็นเด็กอยู่ เราจะทิ้งพื้นฐานไปไม่ได้ เพราะพื้นฐานนี้สำคัญ
เราฝึกใจสบายฝึกใจสงบน่ะ อย่างเรานั่งสมาธิอย่างนี้แหละ เราจะนั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือว่านั่งเก้าอี้ก็นั่งให้มันสบาย ปล่อยกายปล่อยใจของเราให้มันสบาย ทิ้งอดีตทิ้งอนาคต ทิ้งอะไรทุกสิ่งทุกอย่างที่มันอยู่ในใจของเราออกหมดน่ะ เรามาอยู่กับลมหายใจของเรา หายใจเข้าก็รู้...ให้สบาย หายใจออกก็รู้...ให้สบาย
'ใจ' ของเราทุก ๆ คนมันก็เหมือนกับลิงนี้แหละ... เมื่อเราเอาลิงมาผูกไว้มันก็กระโดดโลดเต้นน่ะ แต่มันไปไหน ไม่ได้เพราะเราผูกมันไว้ นานๆ เข้าเดี๋ยวลิงเค้าก็หยุดเค้าก็สงบ เราไม่ต้องไปคิดอะไร เรามีหน้าที่รู้ลมออก...ลมเข้า ทำอย่างนี้อย่างเดียวเดี๋ยวใจของเรามันก็ค่อยๆ สงบ
"การทำสมาธินี้มันเป็นงานเบา เป็นงานนั่งอยู่เฉยๆ แต่ว่ามันเป็นงานยากกว่างานทุกอย่าง ทำไปเรื่อยๆ แหละ ลมเข้า...ออก หยาบ กลาง ละเอียด เราก็ให้รู้ มันจะสงบหรือไม่สงบ เราก็ทำไปเรื่อยๆ เพราะนี้คือการฝึก คือการปฏิบัติเบื้องต้น"
ปกติคนเราน่ะมีความอยาก มีความต้องการ ทำนิดๆ หน่อย ๆ ก็อยากให้มันสงบ การนั่งสมาธิ ก็คือ เรามาละความอยากน่ะ เรามาละความเห็นแก่ตัว เราทำไปปฏิบัติไป เพื่อนเราเค้าก็พากันประพฤติปฏิบัติ หรือเค้าไม่ปฏิบัติก็ช่างหัวเค้า
'การปฏิบัติใจ' ให้ใจของเรามันเป็นสมาธินี้มันไม่เหมือนการเรียนหนังสือนะ อันนี้เป็นการฝึกจิตฝึกใจของเรา เพื่อให้ใจของเรามันสงบ เราต้องฝึกอย่างนี้ไปหลายๆ วันน่ะจนกว่าจิตใจของเรามันจะสงบเข้าสมาธิได้เป็นสมาธิ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดสิ่งภายนอกหมดเพื่อฝึกใจ ไม่คลุกคลี ไม่พูดคุยกับหมู่คณะ สมาทานในใจว่าไม่จำเป็น เราจะไม่พูดกับใคร ไม่มองหน้าใคร ถ้ามีเหตุที่จะพูดก็พูด เพียงเล็กน้อยที่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดเท่านั้น จะพยายามเบรกตัวเองไว้เพราะตัวเองเป็นคนพูดมาก มีหน้าที่ฝึกสมาธิ และทำข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราไปส่งใจออกข้างนอกน่ะการฝึกสมาธิของเราก็ขาดการต่อเนื่อง เรื่องเพื่อนเรื่องฝูงเรื่องพ่อเรื่องแม่ กิจการงานต่างๆ ให้พักไว้ก่อน หยุดไว้ก่อน ช่วงนี้เราจะพากันฝึกสมาธิกัน เค้าไปเรียนหนังสือกันเค้าไปเรียนที่โรงเรียนน่ะ เป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นหมู่คณะที่โรงเรียน เค้ามาเรียนสมาธิมาฝึกสมาธิ เค้ามาฝึกกันที่วัดเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นหมู่เป็นคณะ เพื่อประพฤติปฏิบัติให้มันไปในแนวเดียวกัน
"ความสามัคคีในการกระทำความดีทำให้เกิดสุข" ทุกๆ ท่านทุกคนน่ะพยายามดูตัวเอง มองดูตัวเอง ดูความบกพร่องของตัวเองทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจของตัวเอง เพื่อจะได้พากันฝึกสมาธิกันอย่างเต็มที่ ทุกๆ คนน่ะพยายามอย่าให้ใจมันส่งออกไปข้างนอกเหมือนเมื่อเรายังไม่ได้บวชไม่ได้มาอยู่วัด เราคิดไป 'สารพัดคิด' น่ะ ทีนี้เรามาสมาทานไม่คิดเรื่องบ้าน เรื่องโลก เรื่องสังคม จะมาทำใจระงับ จะมาทำใจสงบ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง" "สุขอันไหนก็สู้ความสงบไปไม่มี"
คนเรานี้นะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ ใจสงบ ทำทุกอย่างก็เพื่อให้ใจสงบ ถ้าเราวิ่งตามสิ่งภายนอก วิ่งตามวัตถุ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์น่ะ ท่านตรัส... ไม่ใช่ความสุขน่ะ เป็นความทุกข์ เป็นความหลง เป็นสิ่งเสพติดน่ะ มันทำร้ายจิตใจเราและผู้อื่น เราจะมาทำจิตทำใจของเรา ละจากรูป จากเสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะธรรมารมณ์น่ะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันไม่จีรังยั่งยืน ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วก็จากไป ไม่ว่าสิ่งดีๆ ก็จากไปน่ะ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายายของเราก็จากไปหมด บางทีญาติพี่น้องเรายังเด็กอยู่ก็ยังจากไปก็มี สิ่งที่ไม่ดีหรือดีนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จากไปทั้งนั้น
"สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรามันไม่มีอะไรเลย ที่จะมีอะไร ที่ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป"
เราทุกคนทุกท่านต้องทำใจให้สงบ...อย่าได้พากันหวั่นไหวต่ออารมณ์ ที่จะกระทบอารมณ์ของเราในชีวิตประจำวัน อดเอาทนเอา ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ล้วนแต่เป็นอารมณ์เท่านั้นน่ะ มันผ่านไปผ่านมาเหมือนกับลมมันผ่านเรา ในขณะนี้...กาลเวลา ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ หน้าแล้ง ทุกอย่างมันผ่านไปอย่างนี้แหละ เราทั้งหลายถึงได้พากันมาบรรพชาอุปสมบทมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจของเราให้มันสงบทำใจของเราให้มันเย็น
พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติเป็นตัวอย่าง... ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สมบัติพัสถาน สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว ไม่รับเงินไม่รับปัจจัย รองเท้าก็ไม่ทรงพระบาท ท่านก็มีความสุขที่สุดในโลก
เราทุกท่านทุกคนถือว่าไม่มีความสุขไม่มีความสงบน่ะ จะนั่งสมาธิซัก ๕ นาทีให้สงบมันก็ไม่สงบน่ะ พระพุทธเจ้าท่านเข้า 'นิโรธสมาบัติ' น่ะ คือเข้าสมาธิเสวยวิมุตติสุขอยู่กับความสงบเป็น ๗ วัน หรือว่าตลอดไป
การมาบวชการมาปฏิบัตินี้ทุกๆ ท่านทุกคนต้องได้ฝึกตนเอง ถือโอกาสนี้ ถือเวลานี้เป็นเวลาปฏิบัติ พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้เราเห็นแก่ความเหน็ดความเหนื่อย ความยากลำบาก เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่ความง่วงเหงาหาวนอน ติดสุขติดสบายติดฟรีสไตล์เหมือนแต่ก่อน ถ้าเราไปติดอย่างนั้นน่ะเราไม่ได้ฝืน ไม่ได้ทน เราก็ถือว่าตัวเอง เป็นคนบาปเป็นคนไม่ดีนะ
การที่เมตตาตนเองสงสารตนเองนั้นน่ะทุกท่านทุกคนต้องนำตัวเองประพฤติปฏิบัติเข้าหาธรรมะ ฝึกใจฝึกสมาธิ ให้ถือว่าวันนี้เป็นวันที่เริ่มต้น ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ปฏิบัติไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดีเอง
ทุกท่านทุกคนน่ะให้พากันมาลดมานะละทิฏฐิ อย่าไปถือเนื้อถือตัวว่าตัวเองร่ำรวย ตัวเองเก่ง ตัวเองมีปริญญาสูง ให้มาลดมานะละทิฏฐิ เป็นผู้ไม่มีตัวไม่มีตน อ่อนน้อมต่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ่อนน้อมถ่อมตนต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ที่บวชก่อน เคารพนับถือเพื่อนๆ สหธรรมมิกทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพากันปฏิบัติอย่างนี้นะ
ทุกท่านต้องพากันเเก้ไขตัวเอง เราจะได้ไม่ได้ไปหาพระที่อื่น หาพระอยู่ในกายในใจ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ความสุขของเราอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหนหรอก มันวิ่งตามเงาเฉยๆ คนบ้านะ เราจะไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่อยากเเก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยาก พลัดพราก ไม่อยากให้เค้านินทา ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากป่วย เค้าเรียกว่าเราเป็นคนบ้าทางจิตใจ เราคิดไปมาก มันขาดสารทางร่างกายจนเป็นบ้าทางกาย ต้องหาหมอจิตเเพทย์ ที่มันหลายทาง
ทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เราพากันปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนต้องเห็นคุณเห็นประโยชน์ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ อย่าไปหลง อย่าไปเพลิดเพลิน พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสั่งเราว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
เราอย่าประมาท เราต้องพากันปฏิบัติ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการค้าการขาย ต้องรักกัน สามัคคีกัน เพราะความรัก ความสมัครสมานสามัคคีกัน ทำให้เรามีความสุข ทำให้ครอบครัวเรามีความสุข เราดูเเล้ว ตระกูลใหญ่ๆ ในเมืองไทย หรือหลายๆ ประเทศชอบทะเลาะกัน ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเเย่งขยะ เเย่งเงิน เเย่งอำนาจ เเย่งอะไรกัน อย่างนั้น ไม่เอา เราต้องสลัดเสียซึ่งตัวตน ต้องพากันเข้าใจ เราต้องมาเเก้ที่ตัวเรา เพราะว่าในครอบครัว ยิ่งเราเป็นคุณพ่อ คุณเเม่ ยิ่งเเก่ต้องยิ่งรักกันสงสารกัน เป็นตัวอย่างให้ลูกให้หลานว่ามนุษย์เรานี้ประเสริฐเเท้ ไม่มีทะเลาะกันเลย ไม่มีเเย่งสิ่งของกันเลย
ให้เราพากันตั้งมั่น พากันขวนขวายทำข้อวัตรกิจวัตร เราต้องรู้จักอบายมุข อบายภูมิ คือความเห็นผิดเข้าใจผิด ขี้เกียจขี้คร้านไม่ปรับตัวเข้าหาธรรมวินัย เค้าเรียกว่าอบายมุข อย่างหยาบ ก็ไม่รู้จักกราบพระไหว้พระ กินเหล้าเจ้าชู้เล่นการพนัน ทุกวันนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก ยาม้าก็ลดราคาลง เเถมกัญชาก็คลายล็อคปลดล็อคที่มันเป็นบ่อนทำลายระบบสมองสติปัญญา ความประพฤติของหมู่มวลมนุษย์ อย่างนี้ต้องรู้จัก เเม้เเต่บุหรี่ ก็ไม่ควรไปสูบ มันไม่มีประโยชน์อะไร ทำบรรยากาศในครอบครัวเสียหาย
สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราไปคิด มันก็ติด ถ้าเราไปพูดมันก็ติด เพราะใหม่ๆ มันก็ ยังเป็นโจรธรรมดา ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เหล่านี้เเหละ จะกลายเป็นมหาโจร เราต้องคิดดีๆ เป็นปฏิปทา พูดดีๆ เป็นปฏิปทา เราต้องทำงานมีความสุข ใจของเราต้องรู้จักพิจารณาพัฒนาจิตใจสู่พระไตรลักษณ์ ถ้าไม่อย่างนั้นจะหลงอยู่ในรูปที่มันไม่เที่ยง เวทนาที่มันไม่เที่ยง สัญญาที่มันไม่เที่ยง สังขารที่มันไม่เที่ยง วิญญาณที่มันไม่เที่ยง ที่ทุกวันนี้ใครเป็นประสาทน้อย ประสาทมาก หรือระดับโรคจิต ล้วนเเต่ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่เสียสละ ปัญหาเหล่านี้จึงเกิดขึ้น เราต้องเข้าใจ เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่บนรากฐานบนความไม่เที่ยงเเท้เเน่นอน เราจะเอาความไม่เที่ยงเเท้เเน่นอน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็ย่อมไม่ได้สมปรารถนา เพราะเราเกิดมา มันต้องเเก่ มันต้องเจ็บ ต้องตายต้องพลัดพราก
เราแต่งกายอย่างไรมันก็ต้องแก่อยู่แล้ว มันต้องเจ็บต้องตาย เราแต่งกายเพื่อเราเป็นคนเสียสละ เพื่อให้คนอื่นเขาเห็นเขาจะได้สบายใจ เป็นการปล่อยวางที่ถูกต้อง เราบางคนปล่อยวาง บ้านก็ไม่กวาด ภาชนะก็ไม่ล้าง ตัวเองก็ไม่อาบนํ้าแปรงฟัน เราปล่อยวางไม่ถูกอย่างนี้ ปล่อยวางอย่างนี้เขาเรียกว่าคนบ้า ตอนที่เรานั่งรถมาก็เห็น คนบ้านี่ผมเผ้ารุงรัง เก็บของเก็บขยะไปเรื่อยน่ะ นักปฏิบัติต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย บ้านก็สะอาด ที่อยู่อาศัยก็สะอาด เราดูพระพุทธเจ้าท่านให้เราปล่อยวาง แต่ให้ทำอะไรให้สะอาดเรียบร้อย แต่งกายของเราให้ดี
แต่ถึงจะแต่งอย่างไร ก็ไม่หนุ่ม ไม่สาวขึ้นอีก พระพุทธเจ้าท่านให้เราประดับประดาตัวเองให้เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นผู้เจริญปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา เราต้องสร้างความดี สร้างบารมีเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ ให้เราเข้าถึงสวรรค์นิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าได้เห็นอะไรก็ตามไปหมด เหมือนคนไม่มีเจ้าของนะ คนที่คุมตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่อยู่ แสดงให้เห็นถึงมีสติสัมปชัญญะน้อยมาก เรามาดูคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยา ติดอบายต่างๆ คนจำพวกนี้แหละ สติสัมปชัญญะมันน้อย หรือว่ามันไม่มีเลย มันตั้งอยู่ในความประมาท
การเจริญสติสัมปชัญญะที่ให้มันสมบูรณ์มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ ถึงจะยากถึงจะลำบากก็ให้เราตั้งอกตั้งใจฝึกตัวเอง เพื่อให้มันพ้นให้มันข้าม ต้องอาศัยกำลังจิตกำลังใจ ที่เขาละไม่ได้ ที่เรามองเห็นคนเขาติดยา ติดเหล้า ติดอะไรนี่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนใจอ่อน “ถ้าจะมองดูคนใจอ่อนกับคนสมาธิน้อยมันก็คนเดียวกันนะ” ให้ถือว่าเราต้องฝึกต้องปฏิบัติ ต้องแก้ไขตนเอง อดทนเอามากๆ ถ้าไม่อดไม่ทน ไม่สู้ ไม่ตั้งใจ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้ ให้เราคิดว่าเราต้องละให้ได้ เราต้องหยุดให้ได้ ถึงจะตายก็ยอม สมาธิเรากำลังจะเกิดมันกระวนกระวาย มันกำลังชักดิ้นชักงอ เราไม่อดไม่ทน เราไปใจอ่อน
เหมือนเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เด็กมันต้องการของ เมื่อเราไม่ให้มัน มันก็ร้องไห้ นอนลงกลิ้งเกลือกตามพื้น ชักดิ้นชักงอ ถ้าเราสงสารเด็ก เราทนไม่ไหว เราก็หาของให้เขาตามที่เขาต้องการ เขาก็หายร้องไห้ ปัญหามันหมดไปก็จริงนะ แต่มันยังไม่จบนะ เมื่อเด็กมันต้องการของอีก มันก็ทำอย่างเก่านั่นแหละ เพราะรู้ว่าเราเป็นคนใจอ่อนใจไม่เข้มแข็ง เป็นคนไม่มีสมาธิ เป็นคนมีจิตใจไม่หนักแน่น ถ้าผู้มีปัญญา ผู้ที่ฉลาดเขาฝึกเด็ก เด็กมันร้องไห้ มันต้องการของ มันนอนกลิ้งไปกลิ้งมาชักดิ้นชักงอ เขาไม่ให้ มันจะร้องก็ร้องไป เมื่อเด็กมันไม่ได้มันก็หายร้องไห้เองแหละ เพราะผู้ใหญ่เขามีปัญญามากกว่าเด็ก เพราะใจมันมีสมาธิ
การนั่งสมาธิเหมือนกัน ครูบาอาจารย์เขานั่งสมาธิ ฝึกสมาธิทีละหลายๆ ชั่วโมง เป็นวันเป็นคืน หลายวันหลายคืน มันจะปวดขาเจ็บขาเท่าไหร่เขาก็ไม่สนใจ นั่งจนมันไม่คิดน่ะ เพราะคิดไปแล้วเขาก็ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ วันต่อมาพอนั่งสมาธิมันก็ไม่ปวด เพราะว่ากิเลสมันรู้ว่าไปคิดไปปรุงแต่งแล้วก็ไม่ได้ผล เพราะว่าสมาธิแข็งแรง แข็งแกร่ง
การประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำจิตใจให้มีพลัง แข็งแรง ต้องทำสติสัมปชัญญะของตัวเองให้มันสมบูรณ์ เพราะความปวดก็ดี ความต้องการอะไรต่างๆ มันจะปวดขึ้นมาตลอด ถ้าเราจิตใจสัมผัสอะไรขึ้นก็ตามไปหมด เราก็เป็นคนไม่มี “สัมมาสมาธิ” เป็นคนไม่เข้มแข็ง เราก็เป็นคน “สมาธิไม่อบรมปัญญา”
ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องทำให้จิตใจของเรามีพลัง หนักแน่น แข็งแรง อย่าเป็นคนใจเบา ที่เขาว่าหูเบามันไม่ใช่หูเบา มันเป็นคนใจเบา ต้องเป็นคนหนักแน่น เราจะได้สร้างบารมี เราเอาตัวอย่างจากพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมีทุกภพทุกชาติ ท่านจิตใจประเสริฐมาก หนักแน่นจริงๆ ยอมตายเพื่อความดีทุกภพทุกชาติ สัมมาสมาธิมันถึงเกิด ที่ปฏิปทาของเรามันลุ่มๆ ดอนๆ แสดงว่าเราเป็นคนจิตใจเบา จิตใจไม่หนักแน่นนะ ต้องปรับปรุงแก้ไขแล้วนะ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความตื่นรู้ ความตื่นที่หมายถึงนี้มิใช่ความตื่นเต้น ความตื่นตูม หรือความตื่นข่าว อันมีรากฐานมาจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง หากแต่เป็นความตื่นขึ้น จากความหลับใหลอยู่ในกิเลสนิทรา
ตามธรรมดาในเวลาที่บุคคลใดกำลังหลับสนิทอยู่ ย่อมไม่มีทางที่จะรู้สึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือแม้แต่ความคิดนึก ตราบจนเมื่อบุคคลนั้นตื่นขึ้นแล้ว ตาก็จะเริ่มเห็นรูป หูก็จะยินเสียง จมูกก็จะรู้กลิ่น ลิ้นก็จะลิ้มรส กายก็จะรู้สัมผัส และใจก็จะรู้ความคิดนึกที่เกิดขึ้น กล่าวกันตามภาษาทางโลกก็เรียกว่า บุคคลนั้นมีสติตื่นขึ้นมาจากความหลับ อย่างไรก็ดี ‘สติ’ ในทางพระพุทธศาสนา มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าความรู้สึกตัวพื้นฐานเช่นที่กล่าวข้างต้น เพราะยังหมายถึงการรู้เท่าทันความปรุงแต่งทั้งปวง ที่เรียกว่า ‘สังขาร’ อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ตามหลักการที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อีกด้วย
ความชั่ว ความเลวร้ายทั้งหลายในโลกนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากมนุษย์มีสติรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้เท่าทันอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต และรู้เท่าทันความคิดทั้งหลายว่าเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลังที่จะหยุดตัวเองให้ได้ ตัดสังโยชน์ จะได้ไม่ก่อกรรมทำเวรอีกต่อไป...