แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๒๖ ก้าวข้ามปัญจธรรม สิ่งที่ทำให้เนิ่นช้าในการภาวนา คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ ไปให้ได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประชาชนคนส่วนใหญ่ในเมืองไทย หรือว่าทุกประเทศ ยังไม่รู้การดำเนินชีวิตที่ประเสริฐที่เเท้จริง คิดว่าเกิดมา เพียงเเต่มาทำมาหากิน เพราะเรามีร่างกายที่เป็นภาระ เราต้องทำมาหากิน พระพุทธเจ้าสอนเราให้เราเข้าใจไม่ใช่เพียงทำมาหากิน เราต้องปฏิบัติจิตใจของเรา เพราะความทุกข์ทางกายถึงมีจริงอยู่ เเต่ก็เป็นเรื่องทางจิตใจ เราถึงต้องมาพัฒนาในการดำรงชีพที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะจิตใจของเราจะได้สร้างบุญสร้างกุศล
การเรียนการศึกษาก็เพื่อพัฒนา เพื่อเราจะเอาไปใช้ในการดำรงชีพ ดำรงชีวิต การเรียนการศึกษานั้น ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ เพื่อให้เราทุกคนพากันมาเสียสละ ไม่ใช่จะให้เรามาเอา ถ้าเราเรียนเราศึกษาเพื่อจะมาเอา มันไม่ได้ มันไม่ถูก ถ้าเราเป็นพ่อเป็นเเม่ รู้ธรรมะตามความเป็นจริง เราปฏิบัติธรรมะ เราก็สามารถที่จะบอกลูกสอนลูกของเราได้ เเม้เเต่ตัวเราที่จะเคารพตัวเองได้ก็เพราะตัวเองมีศีล เราจะเคารพตัวเองได้ก็เพราะเราตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งมั่นในธรรม เพราะมนุษย์เรา ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งอย่างนี้มันไม่ได้ ต้องเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เพราะความดับทุกข์ที่เเท้จริง มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราเสียสละเพื่อใจของเราจะเป็นธรรม ที่ปราศจากตัวปราศจากตน ทุกวันนี้เราดูเเล้วน่าสงสาร เด็กเกิดขึ้นมาไม่รู้เลย เพราะว่าเราไม่ได้ส่งไม้ผลัดให้ลูกหลาน เพราะตัวของเราไม่รู้ ทุกๆ คนต้องพากันปฏิบัติธรรม พากันมีศีลห้า มีพระรัตนตรัยเป็นการดำเนินชีวิต ชีวิตของเรามันถึงจะสงบเย็น
เราดูในโลกปัจจุบัน เค้าพากันทำไม่ถูก มันเลยมีเรื่องมีปัญหา ชีวิตของเราถึงดำรงได้เพียงแค่เป็นคน ไม่ได้เป็นมนุษย์ ใจไม่ได้เป็นมนุษย์ คนเราเลยพากันฆ่าสัตว์ ถึงเเม้ตัวเองจะไม่ฆ่าเอง แต่ยังยินดีในการฆ่า เพราะเอาอารมณ์ของความยึดมั่นถือมั่น เอาอารมณ์ของความหลงเป็นสรณะ เรียกว่าหลงในอารมณ์ของสวรรค์ ความสุขความสะดวกความสบาย รูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญ พากันไปหลงในสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าให้เราฉลาดกว่านั้น เราบริโภคความสะดวกความสบายอะไรทุกอย่าง เราต้องรู้ว่า สิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ในความอนิจจัง ไม่เเน่ ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ในสภาวะธรรมคืออนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องพากันรู้จักภาวนา รู้จักกันทำใจให้สงบ ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาเเก้ที่จิตที่ใจ ใจของเราอย่าให้มันคิด มันปรุงเเต่งได้ หลายวาระจิต มันคิดครั้งเดียวก็ให้รู้จัก อย่าปล่อยให้ใจของเรายินดียินร้าย เพราะการประพฤติการปฏิบัติของเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน
ชีวิตของเราเกิดมาสิบกว่าปี มันก็อยากได้ผัวได้เมียได้ลูก อันนี้เป็นสัญชาตญาณ มันก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง อันนี้เป็นสัญชาตญาณของอวิชชา ของความหลง พระพุทธเจ้าให้เราพากันรู้จัก เราอย่าพากันเป็นเเมลงเม่าบินเข้ากองเพลิง เราอย่าไปตามเพื่อนตามฝูงตามสิ่งเเวดล้อม เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เพราะคนเรายังไม่สิ้นอาสวะ สิ้นกิเลส เรายังมีเชื้ออยู่ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้มันถึงมี อาหารหลักของเรา อริยมรรคมีองค์ 8 อาหารหลัก เราทำอะไรก็ต้องประกอบด้วย ปัญญาทั้งหมด ความเห็นอย่างอื่นก็ประกอบด้วยปัญญา สำหรับ สัมมาสมาธิ เรียกว่าเป็นอาหารเสริม ที่เป็นยารักษาโรค ก็คือ วิปัสสนา คือ เราต้องเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ยกขึ้นมามารักษา ว่าอันนี้ไม่เเน่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องเสียสละ ไม่ต้องมาหลง มาเพลิดเพลิน ถ้าไม่มี สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีความเเก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เราก็ไม่ได้ทำใจ เราต้องใช้วิปัสสนามาเสียสละ
ผู้ที่จะไปพระนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนพระกรรมฐานให้พิจารณาร่างกาย เอาหนังออกหมด มันจะไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นคนหนุ่ม คนเเก่ เอาเนื้อออกหมดมันจะได้เห็นเป็นกระดูก เป็นอย่างนี้ เป็นต้น เพื่อละลายความยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นยารักษา ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องปฏิบัติ เราจะเป็นพระก็ต้องปฏิบัติตั้งใจปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ไปลอยๆ ประชาชนเค้าพากันปฏิบัติ เราจะมาหลง มาเพลิดเพลินไม่ได้ ที่เค้าถามพระพุทธเจ้า เพราะเหตุใดถึงพากันปฏิบัติเนินช้า เพราะเป็นความเพลิดเพลิน เป็นความเอร็ดอร่อย รูปเสียงกลิ่นรส ลาภ ยศ สรรเสริญ
เราต้องรู้จัก เราพากันเจริญสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน ปัจจุบันเราเราต้องประพฤติพรหมจรรย์ให้สมบูรณ์ ให้ทั้งศีลสมาธิ ปัญญามันได้ทำงานกัน เราดูเเล้ว ประชาชนคนทั้งโลก ก็ปล่อยใจไปตามอวิชชา ตามความหลง อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้ไม่ถูก ประชาชนยังไม่เข้าใจ ผู้ที่บวชมายังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจต้องกระตือรือร้น ไม่ปล่อยให้ตัวเองเนิ่นช้าเสียเวลา เราพากันติดอบายมุข อบายภูมิกัน ดูไปเเล้วหนักกว่าเราพากันติดโควิดอีก เเล้วยังไม่รู้ว่าตัวเองติดอีก ทุกคนต้องพากันจัดการกับตัวเอง คนอื่นเค้าจัดการกับตัวเองไม่ได้ อย่างพระเรามีพระวินัย อยู่ในปาติโมกข์ ๒๒๗ อย่างประชาชนมีศีล ๕ เเละ วันอุโบสถก็มีศีล ๘ เเละ วัดก็ยังมีข้อวัตรข้อปฏิบัติเพื่อให้เราฝึก ปรับตัวเข้าหาข้อวัตร หากิจวัตร มรรคผลนิพพานมันไม่อยู่ไกลเหมือนในหนังสือหรอก มันอยู่ที่ปัจจุบันนี้เเหละ มันจะพัฒนาของมันเอง พระเณรอย่าไปคลุกคลีกันเยอะ ถ้าคลุกคลีกันเยอะ ไม่ได้เจริญสติสัมปชัญญะ ไม่ได้พิจารณะสภาวะธรรมสู่พระไตรลักษณ์ ไม่ได้มีโอกาสท่องหนังสือ อ่านหนังสือ เราต้องให้เวลากับตัวเองเพื่อปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเอง อยู่กับสติสัมปชัญญะให้มากๆ อานาปานสติหายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าพุท ออกโธ หาพากันทำอย่างนี้ ต้องกระตือรือร้น ให้เข้าศาลาก่อนเวลา ทำอะไรก่อนเวลา เพราะเราทุกคนเป็นผู้ด้อยในการปฏิบัติตนเอง ให้รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิดให้มากขึ้น เเล้วก็อยู่ปฏิบัติตามสัญชาตญาณ เเล้วดึงทุกอย่างเข้าหาธรรมะ ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ กามมันเป็นของอร่อย ทุกคนไม่อยากเสียสละ ไม่อยากปล่อยวาง เราก็เสียสละปล่อยวาง เราอย่าไปคิดว่าค่อยเป็นค่อยไป ต้องไฟท์ติ้งกันในปัจจุบันเลย พันธุ์ขี้เกียจขี้คร้านนี้ไม่เอา พันธุ์ที่อาลัยอาวรณ์ไม่เอา ต้องเสียสละ
ปปัญจธรรม คือ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้เนิ่นช้า คืออกุศลที่ทำให้เนิ่นช้า คำว่าเนิ่นช้าหมายความว่าไปได้ช้า ทำให้เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไปนิพพานได้ช้า กำจัดกิเลสได้ช้า ๓ อย่างที่เป็นตัวใหญ่ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ ตัวนี้เมื่อรวมกันแล้วถือว่าเป็นปปัญจธรรม สิ่งที่ทำให้การเดินทางไปนิพพานเนิ่นช้า
ตัณหา ตามพระพุทธภาษิต ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหาทำให้คนเกิด และไม่ทำให้เกิดอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ด้วย.. ที่ว่า ตณฺหามาตุกํ ทุกฺขํ ความทุกข์มีตัณหาเป็นมารดา มีพระพุทธภาษิตที่ยาวๆ ก็มีอยู่ เช่น ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ทีฆมทฺธานสํสรํ ตัณหาทำให้คนเกิด ทำให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ตลอดกาลยาวนาน ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่อาจจะล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้..
บัณฑิตรู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ เอตมาทีนวํ ญฺตวา รู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ หรือรู้ว่าตัณหานี้เป็นสิ่งมีโทษ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์แล้ว ก็พยายามที่จะเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ เว้นสิ่งที่ควรเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเว้นชั่ว
วีตตณฺโห ปราศจากตัณหา อนาทาโน ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีสติ..
พูดถึงตรงนี้ ก็นึกถึงที่อาจารย์พุทธทาส ท่านเคยพูดถึงว่า ให้ตายเสียก่อนตาย เข้าใจความหมายที่ท่านพูด ก็หมายความว่าให้ฆ่ากิเลสเสียก่อนที่จะตาย..
สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุแล้ว นิพพานคือเย็นหรือการดับลงของสิ่งที่มีความร้อน ความไม่มี ความไม่ปรากฏ และความสิ้นสุดแห่งราคะ โทสะ และโมหะนี้เป็นนิพพานที่แท้ แต่เมื่อราคะ โทสะ และโมหะไม่มี ไม่ปรากฏเพียงชั่วคราวขณะนั้นเรียกว่าจิตได้สัมผัสกับนิพพานแล้วนั่นเอง ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นนิพพานในความหมายอย่างนี้เป็นพิเศษ การตีความนิพพานของท่านพุทธทาสภิกขุท่านจะสนใจนิพพานในความหมายทางจริยศาสตร์คือนิพพานในความหมายที่ว่า สภาวะที่ไม่มีกิเลสหรือการหลุดพ้นจากอหังการ มมังการคือตัวกู-ของกูที่นี่และเดี๋ยวนี้ ท่านไม่ได้สนใจจะถกประเด็นว่านิพพานมีอยู่อย่างไร มีอยู่ที่ไหน แต่สนใจว่านิพพานคือสภาวะที่ไม่มีกิเลส เย็น ไม่มีกิเลสที่นี่และเดี๋ยวนี้ ซึ่งสามารถจะสัมผัสหรือเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ วิธีนั้นคือ ๑.ความดับตัวกูด้วยอำนาจของสิ่งที่บังเอิญประจวบเหมาะแห่งองค์ประกอบ ๒. ความดับตัวกูเพราะมีการบังคับไว้ด้วยกำลังของสมาธิ และ ๓.การดับตัวกูด้วยกระทำทางปัญญา สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุแล้วการได้สัมผัสกับภาวะที่จิตใจว่างจากกิเลสและความทุกข์แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ความสงบในขั้นต่ำๆ อย่างนี้กลับมีประโยชน์มากที่สุดเพราะเมื่อได้ชิมลองหรือสัมผัสอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยนำไปสู่การบรรลุถึงนิพพานที่แท้นั่นเอง ดังนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่าบางครั้งการจะได้สัมผัสกับภาวะแห่งนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ต้องเริ่มต้นจากการฝึกหัดลดตัวกู-ของกูเสียก่อนท่านใช้คำว่า "หัดตาย เสียก่อนตาย" อย่างน้อยหัดเป็นคนที่ไม่มีอะไรสิ้นเนื้อประดาตัว คือให้หมดตัวตัว-ของกูเสียก่อนแต่ที่จะตาย ตกไปอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่สงบวิเวกก็พยายามเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้จนเกิดความรู้สึกภายในจิตใจขึ้นมาว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด
พุทธภาษิตใน ปุราเภทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ มีคำหนึ่งว่า วีตตณฺโห ปุราเภทา แปลว่า เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก่อนที่ร่างกายจะแตกทำลายไป อันนี้ท่านก็ถือเอาใจความแล้ว มาพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตายเสียก่อนตาย.. ปุราเภทา แปลว่า ก่อนที่ร่างกายจะแตก วีตตณฺโห ให้เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก็คือ กิเลสตาย ตายเสียก่อนตาย..
พุทธสุภาษิตในคัมภีร์ธรรมบท กล่าวว่า ตัณหาทำให้คนเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ เหมือนลิงในป่า เร่ร่อนไปหาผลไม้กิน ถ้าไม่มีความอยาก ก็ไม่ต้องเร่ร่อนไป เหมือนคนที่อยากจะไปไหน อยากไปเที่ยวไปดูไปฟัง อะไรที่มันจะสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัณหามันนำไป ทำให้เร่ร่อนไป
ถ้าเผื่อตัณหามันไม่นำไป ก็ไม่ต้องไปก็ได้ อยู่ที่ไหนสบายแล้วก็ไม่ต้องไปก็ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าอยากดู อยากเห็น อยากฟัง อยากเพลิดเพลินอยู่ ตัณหามันก็พาไป เหมือนลิงในป่าที่เร่ร่อนไปหาผลไม้..
ถ้าเผื่อไม่ได้ตามที่อยากที่ต้องการ ความโศกก็เกิดขึ้น ความเสียใจ ความขุ่นใจ การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ให้เราเห็นอยู่..
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เมื่อตัณหาครอบงำผู้ใด ผู้นั้นย่อมจะมากมูลไปด้วยความโศก ผู้ใดย่ำยีตัณหาเสียได้ ความโศกก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว ใบบัวมันมีคุณสมบัติพิเศษ มันไม่ติดน้ำ น้ำไม่ติดใบบัว คนทั่วไปใจเหมือนสำลี น้ำหยดลงไปก็จับทันที หรือเอาน้ำมันหยอดลงไป ติดทันที ออกยากด้วย ไม่มีคุณสมบัติเป็นใบบัว ..
ผู้ปฏิบัติธรรม ก็พยายามทำใจให้เป็นใบบัว ตัณหาครอบงำไม่ได้ ย่ำยีไม่ได้ ความโศกก็ตกไป เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว
มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว ถือตน ทะนงตน ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ หรือการถือตัวว่า ดีกว่าเขา เหนือกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนาๆ จึงไม่ใช่ มานะ ในภาษาไทยที่มีความหมายถึงว่า ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด "มานะ ๓ เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา, ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา, ความถือตัวว่าดีกว่าเขา, มานะ ๓ นี้ควรละ" มานะ คือ ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีอยู่ 9 ประการดังนี้
1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
เพราะความคิดว่า "ดีกว่าเขา" "ด้อยกว่าเขา" "แม้แต่เสมอเขา" ต่างล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น ลองโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่า ดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์ ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์
มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิดนั้น เป็นภัยร้ายแรงในสังสารวัฏ ถ้าไม่ยอมสละ ละทิ้งออกไปจากใจ ย่อมจะเกิดโทษมากมาย ยิ่งถ้าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว เท่ากับเป็นตอในวัฏฏะ ชีวิตจะไม่มีวันเจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นไปหาผู้รู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา เราจึงจะสามารถเข้าใจ และสละทิฏฐิอันไม่ถูกต้องนั้นได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า "นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ มหาสาวชฺชํ ยถยิทํ ภิกฺขเว มิจฺฉาทิฏฺฐิ มิจฺฉาทิฏฺฐิปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง"
สรุปคำสอนของท่านพุทธทาส ภิกขุ ที่ผู้คนจดจำมากที่สุด
๑) ความเข้าใจผิด เข้าใจผิดว่า ทำดี ต้องได้ดี ทำบุญต้องได้บุญ
ที่ถูก คือ ทำดีไม่ได้อะไร ได้แค่ละกิเลส ทำบุญ ได้แค่สบายใจ
๒) เข้าใจผิดว่า ดีกับใคร คนนั้นต้องดีตอบ
ที่ถูก คือ เรามีหน้าที่ดี ใครจะดีกับเรา ไม่ดีกับเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา
๓) เข้าใจผิดว่า ให้อะไรใคร ต้องได้กลับคืน ที่ถูก คือ การ “ให้” คือ ยินดีเสียสละ ให้แล้วคาดหวัง..ไม่ใช่การให้ อ้างบุญคุณไม่ได้
๔) เข้าใจผิดว่า แก่แล้วทำอะไรก็ได้
ที่ถูก คือ แก่แล้วต้องยิ่งสำนึก ทำชั่วไม่ได้ เวลาเหลือน้อย
๕) เข้าใจผิดว่า ต้องทำเพื่อความมั่นคงของชีวิตในภายหน้า
ที่ถูก ความมั่นคงไม่มีในโลก ตายได้ทุกเมื่อ
๖) เข้าใจผิดว่า ความต้องการของตัวเองสำคัญที่สุด เราสำคัญที่สุด
ที่ถูก คือ ไม่มีความต้องการนั่นแหละสำคัญที่สุด ไม่มีเราต่างหากสำคัญที่สุด ๗) เข้าใจผิดว่า เข้าวัด ใจสงบ. ที่ถูก คือ วัดอยู่ในใจ ใจสงบ
๘) เข้าใจผิดว่า ความสบายเลือกได้.
ที่ถูก คือ เกิดมาก็ทุกข์แล้ว มันเลือกไม่ได้ ไม่มีใครสบายตลอดชาติ
๙) เข้าใจผิดว่า สิ่งของ คนของเรา ตัวตนของเรา เราต้องยึดไว้ รักษาไว้
ที่ถูก คือ ไม่มีอะไร หรือใครให้ต้องยึด ต้องรักษา ทุกอย่างไม่ใช่ของเราและที่สุดแล้วก็ไม่มี
จิต ใจ ของเรานี้ สองคำนี้ ก็ถือว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ เพราะว่าใจที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นจิตใจที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ เป็นใจที่มีอวิชชาเป็นพื้นฐาน แต่ใจที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ก็เป็นใจที่บริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าถึงต้องให้เราพัฒนาจิตใจ จิตใจของเราต้องมีปัญญา
ปกติแล้วเราเจอผัสสะ อายตนะภายนอกภายในอย่างนี้มันก็จะไปตามสัญชาตญาณ เราทุกคนต้องมาพัฒนาใจของตัวเองในปัจจุบัน ปกติแล้วความเคยชินอย่างนี้ หรือความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ เขาทรงไว้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ทรงไว้ซึ่งความหลง เราถึงต้องมาเจริญภาวนาให้ใจของเราเกิดปัญญา ให้ใจของเราสู่ปัญญาสู่วิปัสสนา เพราะว่าคนเราจะก้าวหน้าได้ก็ต้องภาวนาให้เกิดปัญญา เราเอาสิ่งที่เรารับรู้ในปัจจุบันสู่พระไตรลักษณ์ เมื่อตาเห็นรูปอย่างนี้ มันก็จะไม่อยากพิจารณาเข้าสู่พระไตรลักษณ์ เข้าสู่ความเป็นอนิจจัง เข้าสู่ทุกขัง เข้าสู่อนัตตา เขายินดี เขาเพลิดเพลิน เขาย้อมจิตย้อมใจ ปัจจุบันเราถึงเอาใจของเรามาทำงาน เป็นการทำงานทางจิตใจในปัจจุบัน เรามีตาก็เพื่อฉลาด มีหูก็เพื่อฉลาด มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจก็เพื่อฉลาด เพื่อจะได้พัฒนาตัวเอง เพื่อไม่ให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์อะไร เพราะร่างกายนี้ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปี ทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป
การทำความเพียรของเราการปฏิบัติของเราหน่ะ อย่างพระน่ะ พระพุทธเจ้าถึงให้มีศีลมากมาย จนนับไม่ไหว จึงได้แยกย่อยเป็นสิกขาบทอะไรๆ เพื่อจะให้รู้แง่มุมในสิ่งต่างๆ ว่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ทุกอย่างมันตั้งอยู่ ทุกอย่างมันดับไป ถ้าเราตามไปก็ถือเราไปตามสัญชาตญาณแล้ว เรามาภาวนา มาตัดภพตัดชาติ
อย่างประชาชนอย่างนี้ก็ให้เอาศีลห้าเป็นหลัก เน้นที่เจตนาทุกคน มันอยู่ที่เจตนา เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยเจตนา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ปฏิบัติเลย เราปล่อยเวลาของเราให้เพลิดเพลินให้ลุ่มหลงไป อะไรเป็นความเนิ่นช้า นั่นคือความเพลิดเพลิน ความประมาท เราจะไปประมาทไม่ได้ เราต้องไฟท์ติ้งกับตัวเอง เพราะชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ประเสริฐมาก เราทำอย่างนี้แหล่ะ ทุกคนก็จะได้ดีหมดทุกคน เราทำอย่างนี้แหละ มันก็ไปเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน มันจะฉลาดเร็ว เพราะเป็นปัจจุบัน นี่เราเล่นไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ มันจะได้บรรลุธรรมได้อย่างไร เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ คนเราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติ ประชาชนกับพระก็มีสิทธิ์ประพฤติปฏิบัติทางจิตใจได้พอๆ กัน
เราจะเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านไม่ท้อแท้บำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติเพราะท่านมีความสุขในการที่พัฒนาใจ พัฒนาพระนิพพาน การเรียนหนังสือทุกวัน ทำไมมันเครียดแท้ เพราะเราหน่ะ ปัญญาของเรามันไม่บริสุทธิ์ เราเรียนเพื่อจะทำมาหากิน ทำงาน เรียนเพื่อจะเอาใบประกาศ แม้แต่เรียนธรรมะก็เครียด เพราะว่ามันเรียนเพื่อตัวตน การเจริญปัญญาอย่างนั้นมันปัญญาที่ทำร้ายตัวเอง เพราะเราดูแล้ว เพราะคนเราปัญญาจะเกิดขึ้นได้มันต้องเรียนต้องศึกษาต้องปฏิบัติ ปัญญามันต้องไม่มีตัวไม่มีตน มันถึงจะไม่เครียด มันถึงจะเป็นปัญญาหัวใจติด air condition เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ นึกว่าการเรียนการศึกษาเพื่อเอายศ เอาตำแหน่ง เอาเจ้าอาวาส เอาพระครู เอาเจ้าคณะ เอาปริญญา เอาใบประกาศ เพราะเราเน้นเพื่อความยึดมั่นถือมั่น เพื่อความเห็นแก่ตัว มันเป็นความคิดผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ความเครียดถึงเกิดมา ความเครียดมันแย่เลยทำให้คนเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งทางร่างกาย มาจากความเครียด มาจากอาหาร มาจากอากาศ มาจากจิตใจ
มนุษย์เราต้องเจริญปัญญา แต่ปัญญาต้องเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เราจะพัฒนาตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อจะเสียสละ คนเรามันเห็นแก่ตัว เพื่อผู้อื่นอย่างนี้น่ะมันไม่อยากทำอย่างนี้นะ ทุกคนก็ทำเพื่อตัวเอง เพื่อพ่อเพื่อแม่เพื่อครอบครัว มันไม่เครียดมันจะอยู่ได้อย่างไร เพราะว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราเสียสละ เราก็ได้บ้านได้รถ ลาภยศ สรรเสริญ เพราะบุคคลที่ควรเคารพกราบไหว้ก็คือ ผู้ที่เสียสละ ผู้มีศีล ศิลปะในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ที่ละความเห็นแก่ตัว มีความตั้งมั่นในความดี เพราะอันนี้มันเข้าใจผิดกันมาก เค้าเรียกว่าการศึกษามันเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง เพราะเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะทำความดีเพื่อความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ความดี ไม่ใช่ความดีที่บริสุทธิ์ มันมีตัวตนแอบแฝง ให้ทุกคนทั้งผู้ที่แก่เรียนและผู้ที่ไม่แก่เรียนพากันเข้าใจ เพราะพระพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า ก้าวไปไกลกว่านั้น ก้าวไปกว่า คลื่น 4G 5G 100G
ในการทำธุรกิจหน้าที่การงาน เราก็จะรู้แจ้งทีละอย่างไปเลย เป็นคนที่รู้เหตุรู้ผล อย่างนี้เก่ง แต่เก่งในปัจจุบัน แต่ว่าปัจจุบันนั้นไม่ได้เป็นปัจจุบันธรรม ยังเอาปัญญาไปใช้ในทางสวรรค์ ในทางมนุษย์ ในทางทำมาหากิน แต่ยังเป็นปัญญาโลกีย์อยู่ อย่างบางคนก็คิดเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ย้อนไปเป็นหลายร้อยปี หลายพันปี เป็นหมื่นๆ ปี อย่างนักวิทยาศาสตร์คำนวณไว้ข้างหน้าว่า หนึ่งปี สองปี สามปี สี่ปี ห้าปี สิบปี อะไรๆ ก็ว่าไปได้ แต่ปัญญานั้นมันยังเป็นโลกียะปัญญา ไม่ใช่ปัญญาในทางธรรมแบบโลกุตตระ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นความบริสุทธิ์ เราต้องเอาปัญญานั้นมาย่อย มาปฏิบัติให้มันเข้าสู่สัมมาทิฏฐิ เพราะทิฏฐินี้ก็ ถ้าเป็นปุถุชนก็มีทิฏฐิเหมือนกัน พระอริยเจ้าก็มีทิฏฐิเหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ ปุถุชนก็มีทิฏฐิเหมือนกันแต่ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ
การที่เราพัฒนาเทคโนโลยีอะไรๆ นี้ มันก็เป็นปัญญาที่เพื่อวัตถุ ถ้าเราเอาปัญญานั้นมาพัฒนาให้เป็นสัมมาทิฏฐิปัญญานั้นก็ถือว่าใช้ได้ เพราะว่ามีรถ มีเรือ มีเครื่องบิน มีคอมพิวเตอร์อย่างนี้ มันก็ดีอยู่แล้ว มันสะดวกอยู่แล้ว ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เหนือวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งทันสมัย พวกนี้ยังต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ
การพัฒนาของปัญญา ถ้าเราไม่มีปัญญานี้ มันก็จะเอาวัตถุกับจิตใจมาใช้ด้วยกันไม่ได้ เหมือนพระเจ้าพระสงฆ์ที่มีความเป็นอยู่ทุกวันนี้ การพัฒนาจิตใจมันไม่ก้าวหน้าเท่าทางวัตถุ ทำให้ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ยังเป็นคนที่ไม่ทันสมัย ไม่ทันสมัยนี้ก็แปลว่าหลงนั่นแหล่ะ หลงทางนั่นแหล่ะ ไม่พัฒนาจิตใจให้ทันเทคโนโลยีภายนอก เพราะไปหลงเอาความร่ำรวย ไปหลงเอาสวรรค์เป็นที่ตั้ง ถ้าเราไม่พัฒนาอย่างนี้แหล่ะ เราก็แย่เลย เราไม่มีโอกาสได้ทานอาหารที่อร่อยที่แท้จริงเลย ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งรถได้นั่งเครื่องบินที่ประกอบด้วยปัญญาเลย เพราะปัญญาที่แท้จริงมันมีน้อย มันมีไม่เพียงพอ เพราะในปัจจุบันนี้เราไม่ได้เอาธรรมะกับวัตถุไปพร้อมๆ กัน ไม่ได้เอาใจกับวัตถุนี้ไปพร้อมๆ กัน
คนเราคนเก่าถ้าปฏิบัติอย่างเก่าๆ มันก็จะเป็นอย่างเก่าๆ มันต้องปฏิบัติให้ดีมากกว่าเก่าๆ ต้องดีอย่างสม่ำเสมอ คนเรานี่คิดดูมันก็แปลก อยากให้คนอื่นเคารพรักนับถือ แต่การประพฤติปฏิบัติมันไม่สมเหตุสมผล ทุกๆ คนพร้อมจะเคารพนับถือเรา พร้อมที่จะให้ความไว้วางใจ พร้อมที่จะให้เก้าอี้เรานั่ง ขอให้เราเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้มีศีล ประพฤติกายวาจาใจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นคนที่มีสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้มันตั้งอยู่และดับไป ไม่หวั่นไหว มีพระธรรมคำสั่งสอนเป็นจุดยืน มีความสุขมีความสงบ มีจิตใจเปรียบเสมือนแอร์คอนดิชั่นเนอร์อยู่ในตัวในจิตใจ มีสติมีปัญญารู้จักรู้แจ้งว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เราจะทำตามไม่ได้ ถึงจะมาในภาพสวย ภาพเอร็ดอร่อย สุขสบาย น่าเพลิดเพลิน ก็มีความรู้จักรู้แจ้งว่านี่แหละทุกข์
ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ทุกคนจะให้ความเคารพไว้วางใจ ทุกคนเขาจะแต่งตั้งเราเอง ทุกคนจะเคารพกันได้ก็ต้องมีความดีมีคุณธรรมมีศีลมีธรรม
คนเรานั้นปัญหาต่างๆ ในโลกนี้มี แต่ว่ามันไม่มีถ้าจิตใจของเราไม่มีปัญหา ทำไมจิตใจจึงมีปัญหาก็เพราะจิตใจมีอัตตามีตัวมีตน มันมีเรา มันมีตัวของเรา เราพยายามละสักกายทิฏฐิ เราอย่าไปถือว่าร่างกายเป็นเรา ว่าเวทนา ว่าสุขว่าทุกข์เป็นเรา ความจำได้หมายรู้เป็นเรา เราจะเอาความคิดโน่นคิดนี่เป็นเรา เราอย่าไปเอา เราพยายามคืนธาตุคืนขันธ์นี้สู่ธรรมชาติ เราพยายามรู้จักรู้แจ้ง มันจะได้หลับสนิท มันจะมีนิพพานในอกในใจ มันจะได้รู้ว่าทำจิตใจแบบนี้มันดี มันสงบมันเย็น คนไม่ตายไม่มีความทุกข์ทางจิตทางใจ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มารวมอยู่ที่จิตใจของเรานั้นแหละ เราพยายามสร้างกายของเรา สร้างวาจาของเรา สร้างใจเราให้มันเป็นพระ พระแปลว่าผู้เสียสละ เห็นภัยในวัฏสงสาร พระคือผู้ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง ไม่มีลูก ไม่มีหลาน ไม่มีทรัพย์สมบัติ อะไรๆ ที่มันมีอยู่มันเป็นของชั่วคราว เหมือนลมผ่านมาผ่านไป เหมือนพยับแดดเดี๋ยวมันก็ไม่มี
พระพุทธเจ้าให้เราฝึกใจอย่างนี้ๆ ทุกๆ วัน อินทรีย์บารมีของเราจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้น นี่เป็นงานของเราทั้งทางกายทางจิตใจในชีวิตประจำวัน เราปฏิบัติแบบนี้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม
ทุกๆ คนต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครมาปฏิบัติแทนเราได้ เราถือว่าเราเป็นคนมีบุญ มีชีวิตอยู่ที่เรายังไม่ตาย มัจจุราชคือความตายยังให้โอกาสเราได้ทำความดี สร้างบารมี ด้วยเหตุนี้เราถึงต้องปฏิบัติเดินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า