แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๒๔ การปฏิบัติธรรม เป็นเหมือนการชิงแชมป์โลก อย่ายอมพ่ายแพ้ให้แก่ความย่อหย่อนอ่อนแอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เราเน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง การปฏิบัติธรรม มันเป็นไฟท์หยุดโลก ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติตัวเอง ถ้าเปรียบเหมือนกับนักมวยเป็นการชิงเเชมป์โลก ที่เป็นไฟท์ใหญ่ ถ้าเป็นนักกีฬาฟุตบอลหยุดโลก ทุกคนต้องเห็นความสำคัญ อย่าไปกลัว มันจะเหนื่อยมันจะยากจะลำบากอะไรก็ไม่ต้องกลัว เพราะความคิดอย่างนี้ไม่ใช่เรา มันเป็นอวิชชาเป็นความหลง ทุกคนต้องเสียสละ เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวเอง ต้องมีฉันทะ มีความพอใจ มีความสุข ถ้าอย่างนั้นจะเปลี่ยนเเปลงตัวเองได้ยังไง
มันไม่ได้เกี่ยวกับบวชเก่าบวชใหม่ ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนสาว มันเกี่ยวกับปัจจุบัน ทุกคนต้องเข้าใจ การประพฤติการปฏิบัติของตัวเอง อย่าพากันมาลอยๆ เกิดมาลอยๆ มันต้องมีจุดยืน ตั้งอกตั้งใจทำ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เหมือนเมื่อวานนี้ที่พูดไป เข้าศาลาช้า ตื่นตีสามช้า อย่างนี้ไม่ได้ มันเสียประวัติตัวเอง เสียชาติเสียตระกูล อย่าให้ความโง่มาอยู่ในใจของเราอีกต่อไป การทำไม่ดีอย่างนี้ไม่ต้องมีอยู่ในใจของเรา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ มันเสียหายเเก่เรา เสียเวลาครูบาอาจารย์ ที่จะก้าวไปข้างหน้า พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่เเล้ว ไม่ให้เราเพลิดเพลิน ไม่ให้หลง ไม่ให้เราประมาท ไม่ให้เราขอโอกาส เพื่ออวิชชาเพื่อความหลง เพื่อบริโภคกาม ถ้าเราจะนั่งทั้งคืนก็ไม่มีปัญหา ถ้าเราไม่มีความเห็นเเก่ตัว ถ้าเราไม่คิด เราไปคิดว่าไม่อยากเจ็บไม่อยากปวด ถ้าไม่เจ็บไม่ปวดเราจะไปทำใจที่ไหน ทุกท่านต้องเก่ง ต้องกระตือรือร้น เราจะตามใจของตัวเองไปถึงไหน พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่เเล้ว
ถ้าตามใจตัวเองมาก ก็เป็นโรคจิตมาก โรคประสาทมาก เป็นโรคซึมเศร้ามาก ยากจนมาก จนถึงเงินทอง ถึงบ้าน ถึงรถ จนถึงคุณธรรมคือมรรคผลพระนิพพาน ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้มันเป็นอบายมุข เป็นอบายภูมิ เราจะมองหน้ามองตาเพื่อนประพฤติพรหมจรรย์ได้ยังไง ความคิดอย่างนี้ อย่าให้มันมี มีเเล้วก็เเล้วไป ให้เอาใหม่ ให้ทุกคนตั้งใจอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าให้มีศีล 227 ปฏิบัติก็ต้องปรับตัวเข้าหาศีล เข้าหาเวลา อย่าให้มันช้า เราจะเอาอะไร เราจะไปเอาตามอารมณ์ตามความคิด มันไม่ได้ ทั้งไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่ความดับทุกข์ เราเป็นคนอย่างนั้น มันไม่รู้อริยสัจสี่ คนเราไม่รู้จักความคิดไม่รู้จักอารมณ์เราถึงพากันสร้างวัฏฏะสงสาร ทั้งที่สิ่งต่างๆ ไม่ควรคิดอย่างนั้น ไม่ควรทำอย่างนั้น ยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาสักกายทิฏฐิเป็นที่ตั้ง เรายังไปคิด พากันไปทำอย่างนั้น เราจะไปโทษใคร ถ้าเราทำเเบบนี้เเสดงถึงเรามีมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเรามีมิจฉาทิฏฐิ เราก็ไม่มาเห็นสิ่งที่สำคัญเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่เห็นสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ผิด
เราอย่าเป็นคนพ่ายเเพ้ เราอย่าไปยินดีในการพ่ายเเพ้ ปฏิบัติขาลงไม่ได้นะ การชิงเเชมป์ก็ต้องกระตือรือร้น เมื่อได้เเชมป์เเล้ว ปฏิปทาของเรามาตรฐาน เราต้องรักษาปฏิปทาไว้ เหมือนไก่มันฟักไข่ บางท่านปฏิปทาเคยดี ไปออกธุดงค์กรรมฐาน ไปเจอกับพวกปฏิปทาอ่อน กลับมาวัดก็มาเข้าศาลาช้า อ่อนในข้อวัตรปฏิบัติ อย่างนี้มันไม่ถูก มันต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ บางคนอยู่ที่วัดนี้เค้าไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโทรศัพ์ ไปข้างนอกไปสูบบุหรี่ มีโทรศัพท์ไป มันก็ติด ตกต่ำไปเรื่อย เมื่อเรายินดีในความพ่ายเเพ้ ยินดีในความอ่อนเเออย่างนี้ มันไม่ใช่ เพราะว่ามันไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา ดูสินักมวยเเชมป์มันเคยเเพ้ มันจะเเพ้ไปเรื่อย เพราะมันยินดีในตัวในตน ยินดีในกาม มันตั้งอยู่ในความประมาท
ทุกคนอย่าไปคิดว่า โอ้... ปฏิบัติต้องยากลำบาก อันนี้เป็นอวิชชา เป็นความหลง ไม่ใช่ความฉลาดอะไร ความคิดอย่างนี้ เราอย่าไปว่า มันเเก่เเล้ว มันเป็นเพราะอวิชชาเป็นเพราะความหลง ก็ต้องกระตือรือร้น ดูตัวอย่างหลวงปู่คำภา ยิ่งเเก่อายุครบจะร้อยปี ปฏิปทาไม่มีตกเลย ไม่มีใจอ่อนเลย เราต้องดูตัวอย่างเเบบอย่าง หลวงปู่มั่น ปฏิปทาเยี่ยมยอดจนหมดลมหายใจ ปฏิปทาไม่ตก อย่าไปคิดว่าความสุขในการที่ได้ตามใจนี้คือการพ่ายเเพ้ มันเป็นของประเสริฐ คือการยอมรับ ใจของเราที่มันมีอวิชชามีความหลง ถ้าเราไปตามใจเราไม่ใช่คนปกตินะ เราเป็นคนหลงนะ ดูพระพุทธเจ้าไม่เคย ใจอ่อน เพราะทุกคนเมื่อเรามีลมหายใจ เราคิดว่าเราคือผู้โชคดีเเล้ว เรามามีความสุขในการคิดดีๆ พูดๆ ประหยัดเสียสละอย่างนี้ เพราะเรามันไปเชื่อตัวเองไม่ได้ มันไปทำตามสังคมไม่ได้ เพราะสังคมมันเป็นสามัญชนอยู่ เราต้องตามพระพุทธเจ้า
เราอย่าไปคิดว่าการมาบวชมาประพฤติปฏิบัติทำไมมันยุ่งยากอย่างนี้ ถ้ามันง่าย มันก็คงพากันบรรลุธรรมไปหมดเเล้ว เราต้องตั้งใจฝึกตัวเอง มันจะผอมก็ช่างมัน มันจะเหนื่อยก็ช่างมัน มันจะตัวงอนั่งคอพับให้ตัวตรงขึ้น พยายามเเก้ใจของเรา ไม่ให้มีความยึดมั่นถือมั่นเสียสละ ตามปกติน้ำมันก็ชอบไหลลงจากภูเขาสูงสี่ที่ต่ำ มันก็ต้องพัฒนาใจ เราต้องพัฒนา เราอย่าไปคิดว่า เอ้ย... ปฏิบัติเมื่อไหร่จะได้หยุด คนอย่างนี้มันเป็นความเห็นผิด ให้มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เหมือนกับลมหายใจมันเป็นอัตโนมัติของมัน เรานั่งสมาธิอยากให้เป็นอย่างโน่นอย่างนี้ มันเลยมีเรื่อง
การภาวนาของเราไม่ใช่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิเพียงแต่เท่านั้น แต่ว่าการภาวนาของเราต้องทุกอิริยาบถ เราจะต้องจัดการกับตัวเอง อย่าปล่อยให้มันเฉยๆ ไป ถ้าอย่างนั้น เราก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง ต้นไม้ต้นหนึ่ง ถ้าเราไม่เอาน้ำให้เขา ไม่เอาปุ๋ยหว่านรอบๆ รากเล็กๆ รากน้อยๆ รากฝอย เขาก็จะไม่เจริญจะไม่เติบโต มันก็จะอยู่แห้งแล้งอย่างนั้น เพราะว่าน้ำมันไม่มี ปุ๋ยมันไม่มี เราก็อยู่ปกติธรรมดาของเราอย่างนี้แหละ แต่ว่าเราไม่ทิ้งเรื่องของจิตของใจการภาวนา ความเกียจคร้านทุกอย่าง ที่ไม่อยากยืดเส้นยืดสาย ไม่อยากเอาระบบสมองมาใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อที่ไม่ให้เราก้าวหน้าตัวหนึ่ง เราทำไปเรื่อยๆ ที่นี้มันก็ไม่เคร่งเครียด มันก็เป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเราไปขยันเป็นบางครั้งบางคราวมันเครียดเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราจัดการไปเรื่อยๆ เรามันก็ไม่เครียด เราภาวนาไปเดี๋ยวปัญญามันก็เกิด สมาธิมันก็เกิดเอง
การบ่มนิสัย การบ่มอินทรีย์ เราต้องทำไปเรื่อยๆ ทำไปปกติธรรมดา ธรรมดาอย่างนี้แหละ ใครจะรู้ก็ทำ ใครจะไม่รู้ก็ทำ ทำของเราอย่างนี้ รับผิดชอบอย่างนี้ คนเราถ้ามันสบาย มันก็ไม่อยากทำอะไร ก็จะอยู่สบายๆไปเรื่อย อันนี้มันเป็นการติด ติดสบาย ติดสุข เราอย่าไปสนใจความสุขความดับทุกข์แค่นี้ มันเป็นแค่ถนนหนทางผ่าน ที่พักผ่อนข้างทางเฉยๆ ถ้า
ความดับทุกข์มันมีแค่นี้ ไม่ไหวเหมือนกันนะ ใช่ไหม มันต้องมากกว่านี้ และต้องเป็นอมตะมากกว่านี้ตามลำดับ มันจะเหนื่อยบ้าง ลำบากบ้าง เราก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ความเหนื่อยความลำบาก ถ้าเราสนใจก็ยิ่งอ่อนแอ ความอ่อนแอมันครอบงำเรา และก็ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ถ้าเรามีความอ่อนแอ จะขึ้นภูเขาลูกนึงมันก็ท้อใจนะ มันไม่กล้านะ เราอย่าไปอ่อนแอมัน ตายก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน อะไรก็ช่างมัน มันผอมได้ มันก็ต้องอ้วนได้นะ อย่างมากก็ตายเท่านั้นแหละ มันวิตกกังวล กลัวอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีกลัวสุขภาพสู้ไม่ไหวกลัวไปต่างๆ นานา นั่งสมาธิก็กลัวกลัว กลัวนะ ถ้าเราจะตั้งสติให้จิตใจเป็นหนึ่งอยู่เหนือนิวรณ์ กลัวพักผ่อนไม่พอ ก็ไปนั่งสมาธิหลับ อะไรๆ เพราะความอ่อนแอ พยายามเข้มแข็ง พยายามฝืนสติ พยายามใช้พลังจิตให้สติมั่นแข็งแรงข้ามนิวรณ์ไป ถ้ามันข้ามได้บ่อยๆ มันก็รู้ที่อารมณ์อะไรๆ จะเกิดขึ้นก็ช่างมัน ความคิดอะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน เราอย่าตามมันไป เราอย่าไปง่อนแง่นคลอนแคลนตามมัน
ถ้าเราไม่รู้จักอารมณ์ ปัญญาก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่อยากให้มีอารมณ์ กลัวอารมณ์แล้วล่ะก็ เราก็ไม่ได้ต่อสู้กับความจริงอีก จิตใจมันขี้เกียจไม่อยากทำงาน ติดสุขอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน อะไรจะเกิดขึ้นเราก็รู้มัน ยิ่งแข็งแกร่งยิ่งมีปัญญาขึ้น อะไรยิ่งไม่ปรุงยิ่งไม่แต่ง ยิ่งไม่หวั่นไหว ยิ่งมีปัญญา เก็บอารมณ์ เข้ากรรมฐานเก็บอารมณ์ อารมณ์อะไรมาก็เก็บมันเลย ไม่ปล่อยมันไป เก็บมันลงใส่ตะกร้า ลงใส่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราอย่าไปติดสุข อย่าให้สมองเราเฉื่อยช้า เราต้องเอาตัวสัมปชัญญะ ตัวปัญญา มารู้อารมณ์ รู้สติ เพื่อทำการทำงานเกี่ยวกับกิเลสนี่นะ ถ้าสมองมันช้าเกิน บางทีมันก็ไม่รู้กิเลส ไม่ทันกิเลส ทำไมมันถึงช้า เพราะเราไม่ได้ฝึก ฝึกรู้อารมณ์ มันยังไม่เป็นสัญชาตญาณที่จะป้องกันภัย ที่ว่าลี้ภัย มันยังไม่เห็นทุกข์
มันก็ไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ไกลเท่าไหร่ เพราะว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในปัจจุบันนะ ไม่ใช่ว่าของมันปฏิบัติไม่ได้นะ ของมันปฏิบัติได้ ท่านถึงบอกให้ตื่นอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่นอนมากนัก อันนี้ก็พูดตามหลักแล้ว ไม่ได้หมายถึงนอนหลับทางกายนะ แต่นี้คือหลับทางจิตใจ จิตใจมันหลับ จิตใจมันไม่ยอมตื่น จิตใจมันไม่ยอมทำการทำงาน
สมาธิอย่างเดียวมันก็มีหวังให้เข้าคอกวัวเหมือนกันนะ มันต้องสมาธิกับปัญญา มันต้องไปเสมอกัน ต้องเสมอกันตลอด ถึงจะสมดุลกัน และสมาธินี้ชอบหลงอยู่ด้วยนะ เอาไปเอามาตามันขวางๆ อยู่เรื่อยนะ ถ้าปัญญาไม่ขึ้นมาเสมอ ปฏิบัติไปปฏิบัติมาบางทีเพี้ยนไปด้วย สมาธิอย่างเดียวชอบโกรธอยู่เรื่อย ความโกรธรุนแรงเพราะปัญญามันไม่มี อะไรมาขัดใจนิดหน่อยก็โมโหเร็ว ต้องเอาปัญญาไปร่วมด้วยเสมอๆ กัน ถ้าขาดสมาธิ มันก็ใจไม่เย็นนะ ใจไม่สงบ
กรรมฐานพากันอยู่สบายๆ บางทีมันไม่พัฒนาจิตใจก็มีนะ บางทีก็ปรุงแต่งไปเรื่อย นั่งสมาธิก็ไม่ได้นั่งสมาธิ นั่งปรุงแต่ง กว่าจะจบสมาธิก็เวียนหัวหมด กว่าจะจบชั่วโมงนะ ไม่รู้เรื่องไหนเป็นเรื่องไหนเข้ามา บางคนหลับตาก็ไม่รู้ว่าใครไปใครมา คนลืมตามันก็รู้ว่าใครไปใครมา ลืมตานี้ก็หมายถึงว่า เรามีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีจิตใจอยู่กับปัจจุบัน มีจิตใจที่สบาย อย่างนี้นะ
นักปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะที่ดีที่สมบูรณ์ ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง ถ้าทำอะไรไม่แน่ใจ ถ้าขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ลำบากเหมือนกัน ทำไมมันมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะว่าจิตใจมันอยู่กับปัจจุบัน จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจมันดับทุกข์ได้ อะไรได้ เพราะว่ามันเห็นความดับทุกข์อยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว มันเห็นนิพพานอยู่ตรงหน้านี้แล้ว มันไม่ต้องรอนิพพานจนต้องเข้าโลง นิพพานมันไม่ใหญ่ นิพพานน้อยๆ มันก็เย็น อย่างนี้นะ มันเลยไม่สงสัยเรื่องความดับทุกข์ ถ้าเราไปมองไกลอย่างนี้ คิดคำนวณไปอย่างนี้ มันก็มั่วไปหมด สงสัยไปหมด เพราะว่ามันไม่ใช่ของจริงชีวิตจริง มันอยู่ด้วยลมๆ แล้งๆ
อะไรเกิดมาเราก็รู้ในปัจจุบันนี้แหละ ใครจะไปจะมาก็รู้ นั่งมองดูอยู่อย่างนี้แหละ มันจะไปไหนก็รู้อยู่ เพราะคนมันไม่ได้ไปไหน คนอยู่บ้านคนเฝ้าบ้าน เพราะว่าบางทีเราไปดูหนังสือดูตำรา ดูอะไรๆ บางทีนิพพานมันอยู่ใกลเหมือนกัน ยิ่งเรียนมาก มันก็ยิ่งอยู่ไกล ถ้าเรากลับมาหาตัวเรา กลับมาอยู่กับปัจจุบัน รู้สึกว่ามันจะง่าย รู้สึกว่ามันก็จะใกล้เข้ามา แล้วเราจะรู้วิธีดับทุกข์อย่างสบายๆ
ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว ใจมันอยู่กับปัจจุบันแล้ว เขาไม่กลัวหรอก เขาไม่กลัว จะนั่งกี่วันกี่คืนเขาก็ไม่กลัว จะตื่นตี ๒ ตี ๓ เขาก็ไม่กลัว อย่างนี้เพราะว่าจิตใจมันอยู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง อันนั้นเป็นเพียงแต่เราทำตามหน้าที่เฉยๆ เรื่องเวลาเรื่องอะไร มันเป็นเรื่องของนาฬิกา หรือว่าดวงอาทิตย์ อะไรเฉยๆ อย่างนี้นะ เรื่องทั้งหลายทั้งปวง มันอยู่ที่เราไปปรุงแต่งเฉยๆ เพราะธรรมชาติมันก็อย่างนั้นแหละ
ถ้าเราไม่ได้นอนมันก็เหนื่อย มันธรรมดา แต่ว่าใจของเรานั้น มันเป็นปกติของเขาอยู่อย่างนั้น ใจของเราไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่ทานข้าวมันก็หิว เป็นธรรมดา แต่ว่าใจของเราไม่เป็นทุกข์ ใจของเราไม่ระส่ำระสาย มันเป็นทุกข์แต่ทุกข์ทางกาย แต่ใจไม่ได้ทุกข์ ถ้าเราได้ฝึกอย่างนี้ ได้สัมผัสอย่างนี้ เราก็รู้แนวทาง รู้ว่าวิธีดับทุกข์มันดับอย่างงี้ มันดับง่ายๆ อย่างนี้นะ
ถ้าตามความดับทุกข์ทางเนื้อทางหนังมันไม่จบสักที อย่างนี้เราก็รู้วิธีดับทุกข์ เราอยู่ที่ไหนเราก็ฝึกดับทุกข์ของเราอย่างนั้นแหละ เพื่อให้มันชำนาญ เพื่อให้มันสมบูรณ์ ที่เราฝึกกันอย่างนี้ ฝึกเพื่อจิตใจของเราจะได้แยกกาย แยกจิต แยกธรรม อะไรชัดเจน เพื่อใจของเราจะได้มีสมาธิ มีความไม่หวั่นไหวตามผัสสะ ตามนิวรณ์ ใจของเราจะได้เกิดปัญญา
ถ้าเราไม่มีอุปกรณ์ฝึกเลย มันก็ไม่ได้เหมือนกัน จะอยู่เฉยๆ ให้มันได้บรรลุ มันก็ไม่ได้เหมือนกัน มันต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย ถ้ามีบารมีเก่า ถ้าติดสุข ถ้าประมาทนี้ ก็สู้บารมีใหม่ไม่ได้เหมือนกัน เศรษฐีใหม่มาเร็วก็มีนะ เศรษฐีเก่าตกกระป๋องก็มีนะ ไม่แน่ มันขึ้นอยู่ที่เรา ขึ้นอยู่ที่ความอุตสาหะของเรา ทุกคนก็มาจากพ่อแม่ธรรมดาอย่างนี้ มาจากปกติธรรมดา แต่ที่มันจะไม่ต่างกันก็เพราะว่า ถ้าท่านองค์นั้นตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจรับผิดชอบ เห็นว่าอันนี้แหละ หนทางที่ดับทุกข์ที่แท้จริง และเขาก็ก้าวไปเรื่อย เดี๋ยวอีกหลายปีมองหากันไม่เจอแล้ว เหมือนกับเราท่องมนต์ ท่องอะไรไม่ได้ ท่องไม่ได้เราก็ท่องอยู่อย่างนั้น เมื่อเราท่องไม่หยุดมันก็ได้เอง แต่ตอนท่องไม่ได้มันลำบากเหมือนกัน มันเครียดเหมือนกัน
เราเอาร่างกายนี้ เลือดเนื้อที่มันเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ อีกไม่นานก็จะได้เผานี้ มาทำประโยชน์ให้มันมากที่สุด ถ้าอย่างนั้น เราก็จะไม่ได้ใช้ยานพาหนะที่มันใช้ดีที่สุด ที่ให้มันเกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าเราจะทำได้อย่างนี้ตลอดไป ถ้าใจของเรามันเป็นแล้ว มันก็เป็นแล้วก็แล้วไป สิ่งไหนยังไม่เป็น เราก็ต้องพัฒนาไปอีก ยิ่งปฏิบัติไปก็ยิ่งสบายไปเรื่อยละนะ ถ้ามันถูกวิธีนะ
แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้จักสบายนะ เราเอาสบายแต่ทางเนื้อหนัง เขาเรียกว่าเราเอาสบายในทางโลกีย์ทางเนื้อหนัง กายอยู่ดีกินดี มีที่อยู่สบาย พักผ่อนสบาย มีที่อยู่ที่อาศัยสบาย ใครพูดถูกหูสบาย อย่างนี้นะ เอาสบายอย่างนั้น เราไม่รู้จักสบายที่มันอยู่เหนือขึ้นไปอีก ถ้าเราอยู่ไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งเห็นไปเรื่อยแหละ ถ้าเราภาวนาเห็นทุกอย่าง มันไม่แน่ ไม่เที่ยง เห็นอะไรก็หาสาระหาอะไรไม่ได้ ต้องภาวนาตลอด ไม่ว่าอะไรทุกอย่างต้องภาวนา
ปัญญาเรานี้สมาธิต้องเร็วนะ ถ้าเป็นมีดก็เป็นมีดอย่างคม ไม่ใช่มีดทื่อๆ แข็งด้วยคมด้วยอย่างนี้ ถ้ามีดคมๆ แวววาว โจรเห็นก็วิ่งเหมือนกันนะ ถ้าปืนยี่ห้อดีๆ อะไรเห็นก็วิ่งเหมือนกันนะ อันนี้ก็เหมือนกัน
ถ้าสมาธิเราดี ความแข็งแกร่งไม่สะทกสะท้าน มีอุเบกขาอย่างน้อยอย่างนี้นะ วางเฉย มีปัญญา ก็ไม่กล้าสู้เหมือนกัน ส่วนมากมันจะมาเวลาเผลอนะ นิสัยไม่ค่อยดี ชอบเปิดประตูให้ขโมย แล้วก็นั่งดู ขโมยเขากลับไปแล้ว ยังยกมือบ๊ายบายๆ โชคดีนะคุณ อย่างงี้แหละ ส่วนมากจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันเคยชิน
ในชีวิตประจำวัน เราจะมีความรู้สึกอย่างนั้น ถ้าจิตใจของเรา มันฝึกยังไม่เป็นอย่างนี้นะ มันจะยินดีในอารมณ์ ในธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้น มีหัวดีๆ มีปัญญาดีๆ เราก็ต้องเอามาทำงาน เอามาใช้งาน คนเรามันเริ่มเรียนตั้งแต่ที่เกิดมา จนเข้าอนุบาล เข้า ประถม เข้า มัธยม เข้าอันนี้ไปเรื่อยๆ ทางภายนอกอย่างนี้นะ มันพัฒนาไปอย่างนั้น แต่ถ้าเราฝึกเรียนรู้ความคิด รู้อารมณ์ ฝึกทำจิตใจให้เป็นสมาธิอย่างนี้มันก็เหมือนกัน ก็ไม่ต่างกัน แต่นั่นมันเป็นทางที่เขาทำมาหากินกัน อันนี้เป็นทางดับทุกข์ทางจิตใจ เป็นการตัดกระแสทางวัฏฏะทางจิตใจ
อานาปานสตินี้เราเจริญสม่ำเสมออยู่เรื่อยๆ แหละดี เดินเหินนั่งนอนอะไร พยายามฝึกหายใจเข้าให้มันสบายออกสบาย อันนี้มันจะฟอกจิตใจของเราไม่ให้หลงอารมณ์ หลงต่างๆ ไม่ใช่เราเอาไปใช้เฉพาะเวลานั่งสมาธิอย่างเดียว ต้องใช้ตลอดใช้บ่อยๆ เช่นว่าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอย่างนี้ละก็ หายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ สบายหลายๆ ครั้ง ก็จะกลับมาหาเนื้อหาตัวได้ ไม่ว่าคนเราเกิดความประหม่า หรือเกิดความอะไร อย่างนี้ตามหลักก็หายใจเข้าออกยาวหลายๆ ครั้ง ก็กลับมาหาเนื้อหาตัว ครูบาอาจารย์ท่านถึงให้ฝึก พุทโธ นะ หายใจเข้า พุธ หายใจออก โธ พุทโธ ไว้ เพื่อให้จิตใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หายใจเข้าออก ให้มันสบายยย... อย่างนี้บ่อยๆ
เราลองสังเกตดูใครทำอะไรๆ อย่างนี้นะ ใครชอบหมกมุ่นในอารมณ์ในความคิด เรามองดูมันก็รู้นะ บางทีมันออกมามากนะ มองดูตาก็ขวางๆ เพราะใจมันไม่ผ่องใสนะ บางคนก็ยิ้ม แต่ก็ยิ้มแต่ฟัน ใจมันไม่ยิ้มก็น่าเกลียดนะ หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับอารมณ์สิ่งเป็นอดีต ซึ่งไม่ใช่ชีวิตจริงในปัจจุบัน เอาแต่อดีตอะไรมาคิด หรือว่าเอาแต่อนาคตกังวลไปอย่างนี้ นั่นแสดงว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะไปหมกมุ่นครุ่นคิดในอารมณ์ในอะไร มันเป็นอย่างงั้น ต้องฝึกหายใจเข้าสบาย ออกสบายให้สม่ำเสมอ
ถ้าเราไม่ต้องการเอาสมองเรามาคิดเราก็อยู่ อยู่อย่างนั้นแหละ อยู่ธรรมดา แต่ถ้าเราต้องการเอาสมองของเรามาใช้งาน เหมือนกับเราจะเอามีดอะไรมาใช้อย่างนี้นะ เราก็เอาออกมาใช้ ถ้าเราไม่ต้องการเอาออกมาใช้เราก็เก็บไว้ โดยที่เราไม่ต้องเอาออกมาใช้ให้มันเปลืองนะ สิ้นเปลือง
ถ้าเราใช้ระบบสมองแบบไม่มีปัญญา ใช้ชีวิตก็ไม่เกิดปัญญา เราจะต้องใช้ปัญญาในการบังคับควบคุมจิตใจ จิตใจของเราจะได้เข้มแข็ง จิตใจของเราจะได้แวววาว จะชอบใจ จะไม่ชอบใจ อะไรเราก็เฉยอย่างนี้นะ อยากฟังก็เฉยไม่อยากฟังก็เฉยอย่างนี้ รำคาญก็เฉย ไม่รำคาญก็เฉยอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เฉยไม่รู้นะ เฉยต้องมีปัญญา
ถ้าคนไม่รู้จักความสงบ มันก็วิ่งหาความสงบไปเรื่อย ถ้าเรารู้จักความสงบ ว่ามันอยู่ตรงนี้ มันก็ง่าย มันจะได้ไม่วุ่นวายตามอารมณ์ มันจะได้ไม่ไปโทษโน่นโทษนี่ โลกมันวิวัฒนาการไปตามกระแสของกิเลส แต่เราก็ต้องฝึกใจของเรา ทำยังไงถึงจะไม่ให้ใจของเราเข้าไปปรุงในเสียง ต้องหาวิธีวางจิตวางใจของเรา เพื่อให้ใจของเรามันจะได้สงบ ถ้าเราสงบได้ก็แสดงว่ามันค่อยยังชั่วหน่อย ไม่แพ้ ชนะอยู่ ๕๐-๖๐ บางที ๗๐-๘๐ บางที ๑๐๐ เสียงมาเมื่อไหร่ เวลาเขาจัดงานอะไรต่างๆ เปิดเพลงอะไรแล้ว เราแพ้เขาทุกทีอย่างนี้ก็ไม่ไหวนะ นี้ก็แสดงว่าเราอยู่ไปก็ได้พัฒนาจิตใจของตัวเองน้อย ทำไมเราเห็นรูปมา ใจของเราถึงจะไม่ไปตามรูป ถ้าใจของเราไปตามรูปก็แสดงว่า สมาธิเรามันอ่อน ปัญญาเรามันยังอ่อนอยู่ เพราะว่ารูปนี้มันมาสะดุดใจเราได้
สมาธิเราต้องแข็งแกร่ง อานาปานสติเราต้องชัดเจนขึ้น การวางอุเบกขาของเราต้องเข้มแข็งขึ้น และการมองสิ่งต่างๆ ให้เกิดปัญญาก็ต้องมากขึ้น ให้จิตใจของเราขึ้นสู่ความว่าง ขึ้นสู่อนัตตา มันถึงจะชัดเจนนะ ถ้าอย่างงั้นเดี๋ยวแพ้เขาทุกที เจอรูปทุกที เดี๋ยวลืมหายใจสบายทุกที แสดงว่าเราเสียสภาพดุลของจิตใจ เขาเรียกว่าใจมันไม่ไหว
แต่ถ้าเราฝึกแล้วอย่างนี้ มันก็มีหน้าที่เดินไปเรื่อย เหมือนกับนาฬิกานี่นะ เข็มวินาทีไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใจของเราไม่ปกติ มันก็จะเป็นเหมือนหัวใจของเรานี่แหละ ถ้าตามอารมณ์มาอย่างหนึ่ง หัวใจเต้นเร็ว ถ้าอารมณ์มาอีกอย่างหนึ่งหัวใจเต้นช้าอย่างนี้นะ มันขึ้นอยู่กับจิต ถ้าเราหนีไปโดยที่ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน มันก็หนีดีอยู่ แต่ว่าหนี แล้วบางทีเจอทุกทีก็แพ้ทุกที มันต้องหนีด้วยสมาธิด้วยปัญญา ไปในเมืองสมาธิเราต้องแข็งแรง ปัญญาของเราต้องเฉียบขาด ปัญญานี้ต้องฝึกเอา ต้องเจียระไนกันหน่อย เราอย่าไปใจอ่อน อย่าอ่อนตามรูป ตามเสียง หมายถึงว่าสมาธิแข็งแรง แต่ส่วนมากมันใจอ่อน ทำไมถึงใจอ่อน เพราะปัญญามันไม่มี มันไม่รู้ว่าอันนี้ใจเข้มแข็ง ต้องใจที่มีปัญญา มันไม่รู้ว่าอันนี้แหละทุกข์ที่จะเผาตัวเอง
ต้องฝึกให้ใจของเราชนะบ่อยๆ ใจของเราก็จะสว่างไสว มันก็ไม่มัว ถ้าเรารักษาไว้ได้ทรงไว้นานๆ ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งชำนาญขึ้น คล้ายๆ ว่าเราไปภูเขาลูกหนึ่ง เราเห็นแล้วว่าภูเขามันใกล้จะถึงแล้ว ใกล้จะถึงยอดภูเขานั้นแล้ว เลยยอดไปมันมีที่โล่ง แต่ว่าตอนนี้มันยังไม่ถึงอย่างนี้นะ มันก็มีกำลังใจนะ จะต้องฝึกใจของเราไม่ให้อ่อนแอ ตามรูป ตามอะไรต่างๆ มันก็ขึ้นไปได้เรื่อยๆ ล่ะทีนี้ เพราะว่ามันไม่ท้อแท้ เพราะความเข้มแข็งอย่างนี้ คู่ต่อสู้ชกไม่ลง
เมื่อไปถึงยอดแล้วทีนี้มันก็สบาย แล้วมันก็จะยิ่งโล่ง เรียกว่ามันตกกระแสแล้วอย่างนี้นะ เพราะว่ามันหมดความสงสัยแล้วว่า อันนี้คือทางดับทุกข์ที่แท้จริง
การที่ไม่อ่อนแอ การที่ตั้งมั่น การที่ไม่สงสัย ทุกคนมันก็น่าจะทำได้ ถ้าจิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจไม่ทอดธุระ พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระอริยเจ้าท่านก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่เข้มแข็งอย่างนี้แล้ว จ้างก็ไปไม่ได้ จะขอร้อง จะอ้อนวอนยังไงก็ไม่ได้ ถ้าเรามาหลงทางโลก ทางวัตถุ มันไม่ได้อะไร เสียท่า จิตใจอ่อน มาหลงทางโลก ทางวัตถุ ทางอะไร เขาเรียกว่าหมดท่า ถ้าเป็นฤาษี ก็ฤาษี หลงเปรี้ยวหวาน มัน เค็ม คิดว่ามันสบายแล้ว เหาะแล้วก็ตกลงมาได้ ต้องฝึกให้จิตใจเข้มแข็ง จิตใจหนักแน่น จิตใจมีปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านมีพลังมากมายดุจช้างสาร หมายถึงจิตท่านมีพลัง จิตท่านแข็งแรงมาก เป็นครูบาอาจารย์เขาก็เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เข้มแข็ง ลูกศิษย์ก็ล้มเหมือนกัน เพราะว่าโลกมันดึงไปกิน คล้ายๆ ว่าแม่ทัพไม่เข้มแข็ง เสือก็จับไปกินเสียอย่างนี้นะ เดินผ่านป่าผ่านอะไร ข้าศึกศัตรูจับไปกินหมดนะ
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัยอย่าไปถือสักกายทิฏฐิถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะ "ศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา" เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่าจึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเอง ว่าเรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัวแก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้ คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่ามีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ
ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น