แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๒๒ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว จะเป็นมนุษย์ประเภทไหน ถึงจะแก้ความทุกข์ในใจตนได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ท่านอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๓ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ตุลาการ คุณหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สระบุรี ได้พากันมาประพฤติมาปฏิบัติธรรมพิเศษ เพื่อทดเเทนคุณเเผ่นดิน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พร้อมทั้งประชาชนผู้ที่มาให้รักษาศีลปฏิบัติธรรมในวันเสาร์ วันอาทิตย์ ทุกคนถ้ามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เเล้วมีการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเข้าหา เราจะได้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เพราะความเป็นมนุษย์จะเป็นได้ ก็เพราะ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เเละก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมือนอย่างท่านพุทธทาสประพันธ์ไว้ว่า เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง...
๑. คนนรก (นนุสสเนรยิโก) ได้แก่คนที่ทุกข์ทรมานทางใจ หาความสงบสุขมิได้ ความร้อนเป็นสัญลักษณ์ของนรก คนที่มีความร้อนในใจแสดงว่ากำลังตกนรก เสวยผลของความชั่วที่ตัวได้กระทำไว้
กวีท่านหนึ่งบรรยายคนตกนรกทางใจไว้กินใจมาก ขอคัดลอกมาดังนี้
คฤหาสน์หลังนั้น ดังนันทวันสวรรค์สถาน
แต่เจ้าของอาคาร ทรมานร้อนเร่าเน่าในใจ
กลืนข้าวดั่งกลืนอิฐ พิษบาปปลุกแลบแสบไส้
นั่งเบนซ์คันโก้ใหญ่ ดังอยู่ในกองไฟอเวจี
นั่นไหนจะเป็นสุข นอนไหนจะไม่ทุกข์แทบดิ้น
สนิมเกาะหัวใจกิน ยินเถอะเสียงกู่ของหมู่มาร
๒. คนเปรต (มนุสสเปโต) เปรตคือสัตว์ชนิดหนึ่งที่หิวโหยทรมานเพราะบาปกรรมที่ทำไว้ ต้องรอคอยผลบุญที่คนอุทิศให้ คนเปรตก็คือคนที่ไม่รู้จักทำมาหากิน ได้แต่แบมือขอคนอื่นกิน ลูกเศรษฐีไม่เอาถ่านก็เรียกเปรต คนยากจนที่เที่ยวขอทานเขากินก็เรียกว่าเปรต คนที่มีกินมากมาย แต่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ หิวตลอดเวลาก็เรียกว่าเปรต
๓. คนเดียรัจฉาน (มนุสสติรัจโน) คือคนที่มีความคิดแค่เดียรัจฉานนั่นแหละครับ ท่านเคยเลี้ยงหมาไหม หมานั้นเมื่อมันอิ่มแล้วก็นอน เมื่อมีคนหรือสัตว์อื่นเดินผ่าน มันจะเห่าขู่ แสดงว่ามันกลัว ถ้าไม่กลัว มันจะขู่ทำไม พออาหารย่อยดีแล้วก็วิ่งหยอกล้อเพื่อนฝูง หรือเที่ยวสัดเที่ยวเสพตัวเมียตามประสาหมา หรือบรรดาหมาที่หยอกล้อกันฉันมิตรนั้น ใครอยากเห็นมันกัดกันไม่ยาก ลองโยนกระดูกไปสักชิ้น มันจะกัดกันทันที
เดียรัจฉานมีความคิดแค่ “กิน เกียจคร้าน กลัว และกาม”
๔. คนมนุษย์ (มนุสสมนุโส) หมายถึงคนที่มีจิตใจสูง มีศีลห้าธรรมห้าครบถ้วน ศีลห้าธรรมห้าไม่จำเป็นต้องแจกแจงว่ามีอะไรครับ เราเรียนมาตั้งแต่โรงเรียนประถม-มัธยมแล้ว ใครมีครบบริบูรณ์ก็เรียกว่าเป็นคนมีจิตใจสูงหรือมนุษย์ ถ้าทำไม่ได้หรือได้กะพร่องกะแพร่งก็อย่าเที่ยวคุยว่าข้าเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มิได้เป็นง่ายๆ ดังที่คิดดอก
พระพุทธองค์ตรัสว่า “เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากเย็น” ที่เห็นคอหยักๆ นั้นก็ “สักแต่คน” เท่านั้น มิใช่ “มนุษย์” ในความหมายของท่านดอกครับ
ท่านที่เคยบวชพระคงจำได้ว่าขณะที่เรากล่าวขอบวชนั้น พระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) จะถามท่านคำหนึ่งในหลายคำถามว่า “มนุสโสสิ” (เธอเป็นมนุษย์หรือเปล่า) ถ้าเราไม่ฉุกคิดก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ! ก็เป็นมนุษย์ เห็นๆ อยู่ มิใช่หมาแมวที่ไหน ทำไมต้องถาม
นี่แหละ คือเงื่อนงำที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา เพียงมองเห็นคอหยักๆ สักแต่ว่าคน ก็ไม่แน่ว่าจะเป็น “มนุษย์” (ผู้มีจิตใจสูง) ขืนบวชเปรต บวชสัตว์นรก เดี๋ยวพระศาสนาจะวุ่นวาย
๕. คนเทวดา (มนุสเทโว) หมายถึงคนที่มีคุณธรรมสองประการคือ หิริ (อายชั่ว)โอตตัปปะ (กลัวบาป) หิริทำให้คนหน้าบาง ไม่กล้าทำชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง โอตตัปปะทำให้คนกลัวบาปกรรม จะทำชั่วก็ไม่กล้า เพราะนึกถึงไฟนรก คนชนิดนี้แหละ เรียกว่ามีคุณธรรมของเทวดา
๖. มนุษย์พรหม (มนุสสพรหมา) ท้าวมหาพรหม หัวใจเช่นใดมีพรหมวิหาร มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หัวใจว่างไม่มีอะไร เหมือนกะอากาศนี้แหละ ว่างเปล่าหมด เหลือแต่รูปจิต อรูปจิต ดับขันธ์ไปเป็นพรหม
๗. มนุษย์อริยะ มีหิริมีโอตตัปปะ มีสุกกะธรรม ธรรมะที่ขาวสะอาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ดั่งเช่นพระอริยสาวกทั้งหลาย
๘. มนุษย์อรหันต์ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระอรหันต์ คือละกิเลส ละตัณหา กิเลสคือใจเศร้าหมอง ตัณหาคือใจทะเยอทะยานดิ้นรนกระวนกระวาย ท่านละกิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหาอุปาทาน ภพชาติ ละขาดในสันดาน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจ เมื่อดับขันธ์ไปก็เข้าสู่นิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก
๙. มนุสสพุทโธ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรานี้ ว่าเรื่องภพเรื่องชาติของท่าน บิดามารดาของท่านก็มี บุตรภรรยาท่านก็มี ท่านเป็นมนุษย์ครือเรานี่แหละ แต่ท่านประพฤติปฏิบัติ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีบุคคลผู้ใดหรือใครแนะนำพร่ำสอน รู้ด้วยตนเองเป็นสัมมาสัมพุทธะ รู้แจ้งแทงตลอดหมดซึ่งสารพัดเญยยะธรรมทั้งหลาย ไม่มีที่ปกปิด
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อเข้าถึงมรรคผลพระนิพพาน ทุกท่านทุกคนต้องเข้าถึงธรรมะ เพราะโลกเรานี้ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ สำคัญที่สุดคือความยุติธรรม ความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่เพื่อของหมู่มวลมนุษย์ ที่จะหยุดเวียนว่ายตายเกิดขึ้นธรรม ละเสียซึ่งนิติบุคคล เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกท่านพากันมาเข้าคอร์ส ปฏิบัติธรรม ทุกท่านทุกคนพากันมีความสุข ต้องสมาทานในการคิดดีๆ พูดๆ กิริยาดี สละซึ่งตัวซึ่งตน ฝึกเข้าใจเข้าให้มีความสุข หายใจเข้าให้รู้ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้กลับมาหาธรรมะ กลับมาหาความสงบ กลับมาหาความดับทุกข์ เพราะเราวิ่งตามอย่างนี้มันไม่ได้ มันเป็นสัมภเวสี เราต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ เราทำได้ทุกอิริยาบถ เราต้องเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 เราเอาสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ นี้มีอยู่ที่อริยมรรคมีองค์ 8 ที่หมู่มวลมนุษย์มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ นี้คือความดับทุกข์
ความเห็นเเก่ตัวของเราทำให้เราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต เราถึงมีเเต่สักกายทิฏฐิ เรามีเเต่ตัวมีเเต่ตน การมาประพฤติมาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ดี เพราะเรารู้แล้ว เราก็เข้าใจ เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เอากลับไปใช้ในที่ทำงานในครอบครัว ในสังคม ความรู้ต้องคู่กับการประพฤติการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจนหายใจออกก็รู้ชัดเจน พากันมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็ท่องพุท หายใจออกก็ท่องโธ เป็นสภาวะธรรมที่ปราศจากตัวตน เราทำทุกอย่างเพื่อไม่เอาเพื่อไม่มีเพื่อไม่เป็น เรามามีความสุขในการปฏิบัติ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
เวลาเรานั่งสมาธิ ก็เข้าใจสมาธิคืออะไร สมาธิคือความตั้งใจมั่น ต้องเสียสละทั้งหมด ถ้าไม่เสียสละทั้งหมดมันก็เป็นนิวรณ์ มาอยู่กับอานาปานสติ ความปราศจากตัวตน หายใจเข้าท่องพุท หายใจออกท่องโธ เราอย่าไปคิดว่าเราจะเอาอะไร เพราะทุกอย่างนั้นมันไม่มีอะไรได้ อะไรเสียอยู่เเล้ว เพราะทุกอย่างมันผ่านไปผ่านมา ถ้ามันจะมีก็เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เมื่อเรามีความหลงก็ย่อมมีสิ่งที่เกิด เราพยายามเข้าใจเรื่องพระศาสนา สิ่งที่เป็นอดีตเราต้องละมันเป็นเลขศูนย์ อนาคตก็คือปัจจุบันนี้เเหละ มนุษย์เราต้องพัฒนาทั้งเรื่องการดำรงชีพที่ไม่เป็นบาป เเละ พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่า ทางสายกลาง ถึงยังไงเราก็ต้องเเก่เจ็บตายพลัดพราก ความเป็นธรรม ความยุติธรรมก็ต้องเกิดเเก่มวลมนุษย์ ถ้าเราพัฒนากันเเต่ความรู้ความเข้าใจ อย่างนี้ยังไม่พอ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ระบบภาพรวมของครอบครัว ของสังคม ของประเทศชาติก็จะได้เข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่หลงมั่วเมามีเเต่สติ มีเเต่สัมปชัญญะ มีเเต่พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ทุกท่านทุกคนพากันปฏิบัติอย่างนี้
สังขารร่างกายของเราทุกๆ คน ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป สภาวะธรรมของสังขารก็คือดินน้ำลมไฟ อากาศธาตุ ที่เราเกิดมาต้องมีภาระที่จะดูเเลรักษา ไม่ถึงร้อยปีก็จากโลกนี้ไป เราต้องพากันสู่กระบวนการเเห่งความเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตเดินตามธรรมะ เอาธรรมะเป็นหลัก มนุษย์เราไม่อาจทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองได้ เพราะมันคือการเวียนว่าย ต้องเอาธรรม เอาความยุติธรรม เอาความถูกต้อง ชีวิตของเราต้องเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ตั้งเเต่ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่ไม่ดีทางจิตใจ ต้องตายไปจากเรา ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้ ต้องตายจากเรา พระพุทธเจ้าท่านตายสองครั้ง อันนึงกิเลสตาย อันนึงร่างกายตาย
การเรียนการศึกษากับการปฏิบัติมันไปพร้อมกัน เพราะการเรียนการศึกษา กับการปฏิบัติต้องไปพร้อมกัน เราจะได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยีในการดำรงชีพ เเละ พัฒนาทั้งในไปพร้อมกัน เพราะว่าหมู่มวลมนุษย์ที่ร่างกายเป็นมนุษย์ เเต่ว่าจิตใจยังไม่ได้เป็น ถ้าจะเป็น ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ทุกท่านทุกคนต้องรู้จัก เน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตอยู่ที่ปัจจุบันนี้เเหละ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี ทุกท่านทุกคนก็จะเข้าถึงธรรมะ ตั้งเเต่ยังไม่ตาย เราทานอาหารเรียกว่า ให้อาหารกาย กิน นอน พักผ่อน อาหารใจก็คือ ความคิด คือ อารมณ์ ที่ว่ามีเซ็กซ์ทางความคิด มีเซ็กซ์ทางอารมณ์ อาหารที่เราจะบริโภคเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ไม่หลงเหยื่อ ใจของเราจะสงบลง เเล้วเราจะไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ ชีวิตเรามันจะได้เข้าถึงความสงบความเย็น อิริยาบถที่เราไม่ได้ทำงาน เราต้องมีอานาปานสติไว้เป็นหลัก เเล้วเราทำงานเราต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ
ทุกท่านทุกคนก็ต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เห็นภัยในสิ่งที่เราใจอ่อน สิ่งที่เราผิดพลาด ทุกท่านทุกคนต้องสมาทานต้องตั้งใจ การสมาทาน เค้าเรียกว่า มันเป็นศีล เราสมาทานหนักเเน่นตั้งมั่น มันจะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ เพราะเราต้องเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน ถ้าเราไม่เสียสละ มันไม่ได้ เพราะต้องเสียสละเพื่อเราจะละสักกายทิฏฐิตัวตน เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง พระอริยสงฆ์เป็นที่ตั้ง ต้องอย่าไปขอโกาสให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ ไปตามใจอย่างนี้ไม่ได้ เราทำงานก็มีความสุข การทำงานก็เข้ากับผู้ใหญ่ เข้ากับรุ่นน้อง ด้วยพรหมวิหาร 4 มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา สิ่งใดที่เเก้ไขไม่ได้ อุเบกขา วางเฉย ความสมัครสมานสามัคคี มันจะทำให้ตัวเรามีความสุข ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรามีความสุข ไม่เเตกเเยก คนที่สำคัญก็คือพ่อ คือเเม่ ต้องกตัญญูกตเวที เลือดเนื้อเรามาจากพ่อคือเเม่ เลือดทุกหยด ที่มันเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ ถ้าทำดี ก็คือกตัญญูกตเวทีต่อพ่อต่อเเม่ เพราะอันนี้กรรมพันธุ์ ศาลยุติธรรม เราจะได้ดี ศาลเราจะได้ดีกว่าศาลพระภูมิ ศาลพระพรหม พวกศาลพระภูมิ ศาลพระพรหมใครบวงสรวงก็ใจอ่อน
ท่านผู้พิพากษาอัยการเจ้าหน้าที่ตุลาการทั้งหลายเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องมาต่อยอดความถูกต้อง อย่าให้อิทธิพลของกฎหมู่มาเหนือกฎหมาย อย่าให้อิทธิพลของเงินของสตางค์ครอบงำได้ เพราะว่าข้าราชการจริงๆ ก็มีไม่เท่าไหร่หรอก มีแต่ข้าราชกิน นักการเมืองก็ไม่ค่อยมี มีแต่นักกินเมือง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราต้องรู้จัก พรรคตั้งมาเยอะแยะ มาสรุปลงพรรคเดียวคือพรรคเงิน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ" เป็นต้น.
ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านใกล้ประตูด้านทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตแล้วมาสู่วิหารโดยท่ามกลางพระนคร.
ขณะนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้นยังฝนให้ตกแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ศาลาที่ทำการวินิจฉัยอันตั้งอยู่ตรงหน้า เห็นพวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ จึงคิดว่า "โอ! มหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม, แต่พวกเราได้มีความสำคัญว่า 'มหาอำมาตย์เหล่านี้ทำการวินิจฉัยโดยธรรม’"
เมื่อฝนหายขาดแล้ว มาถึงวิหาร ถวายบังคมพระศาสดานั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลความนั้น.
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินความโดยผลุนผลัน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม, ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้วตัดสินความโดยละเอียดลออ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถํ สหสา นเย โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺทิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ.
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไปโดยความผลุนผลัน; ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดีและไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไปโดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ, ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า "ตั้งอยู่ในธรรม."
ผู้พิพากษา อัยการ ต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของในหลวงฯ อย่างเช่น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ซึ่งผู้ที่ใช้ปัญญาในการดำรงและทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมช่วยเหลือตัดสินคดีความต่างๆ ให้กับประชาชนผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
เมื่อเราทำผิดกันเป็นขบวนการ ประเทศชาติก็สะดุด ติดในบาปในกรรม ต้องแก้ต้องปรับทุกฝ่าย ทุกคนต้องไม่เห็นแก่ตัว มันถึงจะได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย กิเลสมันเป็นของไม่ดี ความเห็นแก่ตัวเป็นของไม่ดี ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องเป็นผู้เสียสละเป็นผู้เกื้อกูล...
เราทำงานต้องมีความสุขในการทำงาน เพราะว่าเราต้องอยู่กับอิริยาบถทั้ง สาม ยืน เดิน นั่ง เกือบ 20 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นต้องมีความสุขในการทำงาน ในการเสียสละ อีก 6 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน ถึงเวลานอนก็ต้องนอน อย่าไปคอร์รัปชั่นเวลา ต้องรู้จักว่าเราต้องเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละยิ่งเเก่ก็ยิ่งทุกข์ เพราะคนเเก่สุขภาพก็ย่อมต้องเปลี่ยนเเปลง เเม้มันจะทุกข์กับร่างกาย จะทุกข์กับลูกกับหลาน ถ้าไม่ฝึกใจ ให้เข้าถึงธรรม ถึงปัจจุบันธรรม ย่อมขาดทุน
พากันฝึกสมาธินะ สมาธิก็คือความตั้งมั่นในความดี เราคิดดีๆให้มันติดต่อกันหลายวัน หลายเดือน หลายปี เหมือนไก่มันฟักไข่ก็ 3 อาทิตย์ เราดูแลต้นไม้แต่ละพันธุ์ก็ตามเดือน ตามปี มันต้องดีสม่ำเสมอ สมาธิเราต้องตั้งมั่น แต่สมาธิที่เรานั่งตอนเช้า ตอนเย็นก็ต้องมี หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจสบาย หายใจออกสบาย ปล่อยวางทุกอย่าง อยู่กับลมหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ถ้าเราจะเจริญสมถะก็เพียงแต่หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาว ออกยาว ก็ให้รู้ ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนาหายใจเข้าก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง หายใจออกก็ให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทุกอย่างมันก็ไม่เที่ยง มันล้วนแต่เปลี่ยนแปลงไป ทุกสภาวะธรรม เปรียบเหมือนกระแสไฟที่มันมาถี่ ปัญญาต้องเอามาใช้ในปัจจุบัน ปัญญาให้พัฒนาทั้งเทคโนโลยี ทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราพัฒนาแต่เทคโนโลยีมันจะไปทางเห็นแก่ตัว ต้องพัฒนาทั้ง IQ, EQ, RQ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปแยกกันไม่ได้
RQ (Realistic Quotient) ความฉลาดมองเห็นความจริงในชีวิต
แม้ว่าเราจะมีฉลาดรอบรู้มากมายหลายด้านอย่างใดก็ตาม แต่ความฉลาดรอบรู้นั้นจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย หากยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของเราได้ ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต จึงเป็นความรู้ที่มีค่าและสำคัญยิ่งที่ทุกคนสมควรรู้ นั่นคือ อริยสัจสี่ ได้แก่
ทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ไม่สมหวัง ไม่ได้ดังใจ เป็นทุกข์
สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา คือปรารถนาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น
นิโรธ การดับทุกข์ ด้วยการปล่อยวาง การละ การเลิก ไม่พัวพันกับตัณหา และไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
มรรค ทางดับทุกข์ ประกอบด้วย อริยมรรค ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
และสิ่งที่ทุกคนขาดเสียไม่ได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอถึง อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ คือ
๑. ชราธัมมตา เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. พยาธิธัมมตา เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้
๓. มรณธัมมตา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้
๔. ปิยวินาภาวตา เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น
๕. กัมมัสสกตา เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น
เมื่อหมั่นพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต ฯลฯ บรรเทาความลุ่มหลง ความยึดมั่นถือมั่น และป้องกันการทำทุจริต ทำให้เร่งขวนขวายกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ตลอดไป
ถ้าเราพัฒนาแต่เทคโนโลยีมันจะไปทางเห็นแก่ตัว ต้องพัฒนาทั้ง IQ, EQ, RQ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราไปแยกกันไม่ได้ เราต้องเอาให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เราได้ทุกหนทุกแห่ง เราต้องแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ประดับประดาด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ พัฒนาจิตใจของเรา เพื่อไม่ให้ตกไปสู่อบายมุข และต้องเสียสละไป ปัญญาของเราเหมือนเราเป็นคนตาบอดได้ยาวิเศษแล้วจึงสว่างขึ้น สมบรูณ์เป็นมนุษย์ตาสว่าง ไม่ใช่ตาบอด เป็นมนุษย์กลางวัน ไม่ใช่มนุษย์กลางคืน
การปฏิบัติธรรมนี้มันจำเป็นกับทุกๆคน ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนหรือนักบวช ต้องปฏิบัติทุกคน ทุกๆ ศาสนา อย่าพากันไปหลงงมงายในภูติผี ปีศาจ เทวดา เครื่องลาง ของขลัง ฤกษ์ดียามดี ถึงสิ่งเหล่านั้นมันจะขลังจะศักดิ์สิทธ์มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะความดีอย่างนั้น พระนั้นดีเพราะเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ลูกของพระอรหันต์ แต่ว่าดีอยู่ที่ท่าน ไม่ได้ดีที่เรา เราต้องมาพัฒนาเราให้เป็นพระ พระคือปราศจากตัวตน เราถึงจะเป็นพระ ถ้าเรามีตัวตนอยู่ มีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ก็ยังเป็นพระไม่ได้ เราก็ยังเป็นนิติบุคคลอยู่
ทุกท่านทุกคนที่เป็นประชาชนต้องมีศีล 5 ที่บริสุทธิ์เรียกว่าพรหมจรรย์ระดับเบื้องต้น บริสุทธิ์หรือไม่อยู่ที่เจตนาของเรา รู้ว่าอันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ศีลของเราก็จะบริสุทธิ์เหมือนพระอรหันต์ ท่านไม่ต้องอาบัติ รู้ว่าอันไหนไม่ดีท่านก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ไม่เป็นเหมือนสามัญชน รู้ว่าไม่ดีก็ไปทำผิด ทำผิดแล้วถึงค่อยมาแสดงอาบัติกัน มันก็แก้ปัญหาไม่ได้เพราะว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เหมือนไปสารภาพบาปของศาสนาคริสต์ มันก็ไม่หาย เพราะเราก็กลับไปทำอีก ยิ่งไปติดคุก ติดคุกก็ไปเจอโจรเล็ก โจรใหญ่ มหาโจร ออกมาก็ยิ่งเป็นโจรมากกว่าเก่าอีก ไปเรียนวิชาโจรระดับสูงออกมาอีก
มันอยู่ที่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันอยู่เจตนาที่จะหยุด ที่จะเลิก แต่การจะหยุดจะเลิกอะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็น คาเฟอีนทางจิตใจ กว่าจะละได้ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน ถ้าเราทำติดต่อกันก็ทำได้เร็ว ถ้าทำๆหยุดๆมันอาจจะไม่สำเร็จ ต้องทำติดต่อกัน ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักความเป็นพระ ไม่ได้อยู่ที่นักบวช อยู่ที่ประชาชน อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พระนี่นับตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ พระนี่ต้องเน้นที่ใจ ที่เจตนา เราไปเอาพระภายนอกนี่มันปวดหัว เดี๋ยวพระองค์ก็ไปทำผิด ออกสื่อเกือบทุกวัน อันนี้มันพระภายนอก เราต้องรู้จักพระ มันอยู่ที่เรา เราจะไปหาพระต้องมาหาที่ใจของเรา ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ที่เรามาเสียสละ ความเป็นพระนั้นถึงจะเกิดขึ้นแก่เรา
ให้เรามีความสุขในการทำสิ่งเหล่านี้ ให้กายกับใจให้มันอยู่ด้วยกัน ให้ใจของเราอยู่กับหน้าที่นั้นๆ เรียกว่า ความตั้งใจมั่นชอบ
ชีวิตของเราก็จะมีความสุข มีหัวใจที่มีความสุข ขึ้นสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย มีหัวใจติดแอร์คอนดิชั่นทั้งวัน เป็นผู้หยุดได้เย็นได้ รอกาล รอเวลาได้ ไม่เผาตัวเอง มีสติสัมปชัญญะดี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
คนเรามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์มันชอบเผาจิตเผาใจตัวเอง สมาธิมันถึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุกๆ คน ชีวิตของคนเราถึงจะมี ความสุข ปัญญาของเรามันถึงจะเกิด
หลวงปู่มั่นสอนว่า “ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น”
ไม่มีมิตรสหายใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า..."ความรู้"
ไม่มีศัตรูใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า..."ความเจ็บไข้ได้ป่วย"
ไม่มีความรักใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า..."ความรักของพ่อแม่"
ไม่มีอำนาจใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า..."กฏแห่งกรรม"
ไม่มีคุณงามความดีใดใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า..."ความกตัญญูกตเวทิตา"
ไม่มีความสุขใดใด จะยิ่งไปกว่า..."ความสงบ" (นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ)
หวังว่าทุกคนจะสมาทานเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาใช้เอามาประพฤติปฏิบัติเพื่อความผาสุก ความสงบ เพื่อความร่มเย็นของตัวเอง และก็ครอบครัว ตลอดจน...ประเทศชาติ
เราจะทั้งปฏิบัติให้ดู แล้วก็จะได้พูดให้เค้าฟัง เพื่อจะได้นำความดับทุกข์ที่มันถูกต้องให้กับส่วนรวม ที่กำลังแสวงหาความดับทุกข์กัน
ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านนะ ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถือว่าท่านได้เดินทางถูกต้องสู่สุคติ สุคโต อยู่ก็ดีไปก็ดีด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ.