แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๘ สร้างสัมมาทิฏฐิให้แจ้งในใจ จะได้ลบความสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การเรียนการศึกษาเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่อจะเเก้ไขตัวเอง หลายๆ คนคิดไม่เหมือนกัน บางคนก็คิดว่าตายเเล้วเกิด บางคนคิดว่าตายเเล้วสูญ บางคนคิดว่าตายเเล้วไม่ได้เกิด ปัญหาอย่างนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านให้เราเเก้ที่ปัจจุบัน มันเป็นเรื่องปัจจุบัน เพราะอันนี้เป็นหลักเหตุผล เป็นหลักวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันจึงมี ถ้าเราปฏิบัติที่ปัจจุบันนี้ ปัญหาเรื่องอนาคตมันก็จะจบไป ที่ว่าตายเเล้วเกิด กับ ตายเเล้วสูญ มีปัญหานี้ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบ เหมือนกับชายคนนึงถูกลูกศร เราไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นคนยิง เราต้องเเก้ปัญหาที่ปัจจุบัน
ทิฏฐิ คือ ความเห็น ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ กล่าวสั้นง่ายๆ คือ เห็นว่าตายเกิด กับ เห็นว่าตายสูญ แต่ต้องเข้าใจว่าเห็นว่าตายเกิดที่เป็นสัสสตทิฏฐินั้น คือต้องเกิดกันร่ำไปไม่มีสิ้นสุด แต่กล่าวสั้นว่า เห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ
หลวงพ่อพุทธทาสอธิบายว่า ทีนี้ ตัวทิฏฐิเป็นดงรกอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาลมี ๓ ชื่อ ชื่อที่ ๑) สัสสตทิฏฐิ ชื่อที่ ๒) อุจเฉททิฏฐิ ชื่อที่ ๓) นัตถิกทิฏฐิ เป็นชื่อรวมแห่งทิฏฐิทั้งหลาย
"สัสสตทิฏฐิ" มีทิฏฐิว่าเที่ยง แน่นอน ถาวร คนพวกนี้มีความคิดว่าตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก หรือว่าอะไรๆ ต้องเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ถ้าเกิดมานะก็มานะที่ยึดถือ ยึดมั่น ถือมั่น หัวแข็ง เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ตัวหนังสือแปลว่า เที่ยง ทิฏฐิเห็นว่าทุกอย่าง หรือว่าโลกนี้ หมู่สัตว์นี้ก็ตาม มันเที่ยง ตายก็ไม่เป็นไร เกิดใหม่เท่าเดิมเรื่อยไป นี่ระวังนะ พุทธบริษัททั้งที พูดว่าตายแล้วเกิดมันไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทสัสสตทิฏฐิ จะพูดว่าอย่างไรจึงจะถูก ก็บอกว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าปัจจัยให้เกิดมี มันก็เกิด ปัจจัยให้เกิดไม่มีก็ไม่เกิด พอไปอีก มันกลายเป็นว่ามันมีแต่เหตุและปัจจัยเท่านั้น เพราะนั่นไม่มีคน มันไม่ใช่คน มันเป็นแต่เหตุและปัจจัยเท่านั้น ดังนั้นไม่มีคน เมื่อไม่มีคน อะไรจะตาย อะไรจะเกิด มันก็ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด ก็มีแต่การเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัย ที่จิตมันโง่ มันเหมา มันสำคัญเอาเองว่ามีเรา มีเราตาย มีเราเกิด มีตัวตน มีตัวคนขึ้นมา
แต่ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ เห็นเป็นเพียงเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไป มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวตนบุคคลเราเขา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่พูดว่า ตายแล้วเกิด เราพูดให้ฉลาดมากกว่านั้นอีกว่าไม่มีคนที่กำลังอยู่ ไม่มีคนที่กำลังเป็นอยู่ มีแต่เหตุและปัจจัยกำลังเป็นไปตามกฎของเหตุและปัจจัย ที่เป็นนามก็เป็นนาม ที่เป็นรูปก็เป็นรูป ที่เป็นร่างกายก็เป็นร่างกาย ที่เป็นจิตใจก็เป็นจิตใจ มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้หมุนไป สัมพันธ์กันไป มีแต่นามและรูป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา จึงไม่เรียกว่าคนตายคนเกิด จึงได้พูดกันว่าคนตายคนเกิด มันไปไกลออกไปอีกชั้นหนึ่ง ไกลกว่าที่จะถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ตอบไปเลยว่าไม่มีคน ฉันตอบไม่ได้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เพราะไม่มีคนที่จะตายและเกิด นี่เป็นทิฏฐิที่ละเอียดและประณีตกว่ากัน พระพุทธศาสนาไม่มียืนยันว่าตายแล้วเกิด แล้วไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ เพราะว่ายึดเหตุปัจจัยที่กำลังเป็นไปนั้นเป็นหลัก ถ้าสัสสตทิฏฐิเข้ามายึดตัวตน ไม่มีตัวตนขึ้นมา ยึดตัวตนนั้นเป็นหลัก นี่แหละพวกหนึ่งได้รับคำยืนยันว่าเที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐิ
ที่นี้พวกที่ ๒ ที่เรียกว่า "อุจเฉททิฏฐิ" นั้นแปลว่าขาดสูญ พวกนี้ตายแล้วขาดสูญ ไม่เกิดอีก เหตุปัจจัยหรือก็อะไรไม่รู้ ปรุงแต่งกันทีเดียวแล้วก็ตายลง ดับลงดับเลย ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรต่อไปอีก คนพวกนี้จึงพูดในทำนองว่าตายแล้วสูญเลย แค่นั้นก็ผิด มันไม่ใช่กฎอิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตาไม่ได้พูดว่าคนมีแล้วตาย ตายแล้วสูญเลย เขาพูดไปในทำนองไม่มีคน สูญไม่สูญไม่มีทางจะพูดเพราะไม่มีคน มีแต่เหตุปัจจัยอีกเหมือนกัน นามรูปนี้ดับลงไปแล้ว จะสูญจะขาดสูญหรือไม่ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของนามรูปนี้ เอาไม่มีคนไว้ก่อน เหมือนกับข้อแรกนั่นแหละ สัสสตทิฏฐิ มีคน อุจเฉททิฏฐิก็มีคน ที่ว่าตายแล้วจะขาดสูญไป พวกที่ถือตายแล้วเกิดอีกก็เตรียมตัวอย่างหนึ่ง พวกที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก สูญเลยก็เตรียมตัวอีกอย่างหนึ่ง ล้วนแต่ไม่ถูกกับเรื่องทั้งนั้น ขอให้ทำใจดีๆ ว่าพระพุทธศาสนาไม่ข้องแวะกับทั้งสองนี้ เราจะมองเห็นทีที่หนึ่งก่อนว่า ๒ อันนี้ ตรงข้ามกันอยู่ อันที่หนึ่งกับอันที่สองตรงกันข้ามอยู่คู่แรก คือพวกที่ว่ามี พวกที่ถือว่ามี ดังนั้น สัสสตทิฏฐิก็ถือว่ามีอย่างเที่ยงแท้ถาวร เป็นการมีอย่างเที่ยงแท้ถาวร อุจเฉททิฏฐิ มีชั่วแว่บชั่วคราว ว่าตายแล้วสูญ มันมีแต่ชั่วเกิดคราวนี้ ตายแล้วก็สูญ คือมีชั่วคราว พวก สัสสตทิฏฐิมีตลอดกาล มีอย่างเที่ยงแท้ตลอดกาล สองพวกนี้ พวกที่ว่ามีก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คุณอย่าไปพูดว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ มันจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วแต่เหตุปัจจัย ที่จริงไม่มีคนตายหรือเกิด
ทีนี้ก็มาถึงพวกที่ ๓ ซึ่งเป็นอีกแนวต่างหากเรียกว่า "นัตถิกทิฏฐิ" แปลว่าทิฏฐิไม่มีอะไรเลย นี่มันเลยกว่าตัวตนเสียอีกนะ ที่พระพุทธศาสนาว่าไม่มีตัวไม่มีตนน่ะ แต่ยังมีเหตุมีปัจจัย และสิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอมาถึงทิฏฐิพวกที่สาม นี่ไม่มีอะไรเลย ไร้ความหมายหมดสิ้น เราไม่ต้องสนใจอะไรเลย จึงไม่มีคำว่าเหตุปัจจัยสำหรับพวกนี้ ทำอะไรก็ไม่มีความหมาย ไม่มีค่า จะทำดีก็ไม่มีความหมาย จะทำชั่วก็ไม่มีความหมาย จะฆ่าคนก็ไม่มีความหมาย จะถูกฆ่าก็ไม่มีความหมาย เป็นเรื่องไม่มีไปด้วยประการทั้งปวง รวมความทิฏฐินี้ว่า "ไม่มี" เมื่อสองพวกแรกว่ามี มีตลอดกาล หรือมีครั้งเดียว นั่นพวกมี พวกที่สองนี้ไม่มี ตามหลักของพระพุทธศาสนานี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น คือพวกที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่ก็บ้า สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่ก็บ้า ถือว่าอย่างนั้น สิ่งทั้งปวงมี ที่หมายถึงว่ามีอย่างมีตัวตน ไม่ให้พูดว่ามี และไม่ให้พูดว่าไม่มี จึงจะเป็นอิทัปปัจจยตา หรือเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มีแต่เหตุปัจจัยกำลังเป็นไปอยู่ แต่ไม่ควรเรียกว่าตัวตน ฉะนั้น ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ ก็อยู่ในสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย อย่ามีตัวตน ตัวเรา ตัวเขา สัตว์ บุคคลอะไรขึ้นมา เป็นเจ้าของการกระทำ หรือผลของการกระทำ หรือความสุขความทุกข์ ส่วนพวกนัตถิกทิฏฐินี่ ไม่มีเอาเสียเลย ไม่มีตัวตนนั่นแหละ แล้วก็ไม่มีปัจจัย แล้วก็ไม่มีเหตุที่เรียกว่าเหตุดีเหตุชั่ว ผลดีผลชั่วนี่ไม่มี ไม่ต้องมีด้วยประการทั้งปวง นี่คือว่างอันธพาล ว่างผิดแบบ
พระพุทธศาสนาไม่ยอมพูดว่าไม่มี แต่พูดว่ามีสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยหมุนไป ฉะนั้น การหมุนไปคือการกระทำ ก็มีทางที่จะบัญญัติว่าดีหรือชั่ว บุญหรือบาป สุขหรือทุกข์ แล้วแต่จะบัญญัติว่าควรจะบัญญัติอย่างไร พระพุทธศาสนาที่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา ยังมีสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และบัญญัติได้ว่ากุศล หรืออกุศล ว่าบุญหรือบาป ว่าดีหรือชั่ว ว่าสุขหรือทุกข์ ในพระพุทธศาสนาจึงมีการพูดถึงดี-ชั่ว บุญ-บาป สุข-ทุกข์ และที่กล่าวมานี้เป็นสัมมาทิฏฐิ พวกที่ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีสุขไม่มีทุกข์นี่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประเภทที่สามคือ นัตถิกทิฏฐิ สังเกตดูว่าเป็นดงรก ดงที่ลึกลับที่ออกมายาก กว้างขวางมาก ต้องเข้าใจคำว่าสัสสตทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิ นัตถิกทิฏฐิไว้ดีดี
อันความเห็นดั่งนี้เป็นความเห็นที่ผิดจากสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ คือสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบในองค์มรรคในอริยสัจจ์นี้ แสดงเป็นวิภัชวาทะ คือกล่าวจำแนกตามเหตุและผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับสมุทัยเป็นผลและเหตุ ในด้านก่อทุกข์ นิโรธกับมรรค เป็นผลและเหตุ ในด้านดับทุกข์ สำหรับในด้านก่อทุกข์นั้น คือทุกข์กับสมุทัย ทุกข์นั้นก็ดังที่ได้สวดได้ทราบกันอยู่แล้วเนืองๆ เริ่มต้นด้วย ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ คือชาติเป็นทุกข์ และสมุทัยนั้นก็ได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยอยู่ ก็จะต้องมีทุกข์ มีชาติความเกิดเป็นต้น กล่าวสั้นเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องเกิด ส่วนนิโรธและมรรคนั้น เป็นผลและเหตุในด้านดับทุกข์ นิโรธคือดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ กล่าวโดยตรงก็คือเมื่อดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิดได้ ฉะนั้นเมื่อดับตัณหาได้ ก็ไม่เกิดอีก แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติในเหตุคือมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ยืนยันตายตัวว่าตายเกิด และไม่แสดงว่าตายสูญ แต่แสดงไปตามเหตุผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ยังต้องเกิด เมื่อดับตัณหาได้ สิ้นตัณหาเสียได้ ก็สิ้นชาติคือความเกิด คือไม่เกิดอีก
ฉะนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจึงตายเกิดกันตลอดเวลาที่ยังมีตัณหา แต่เมื่อดับตัณหาได้ จึงจะไม่เกิดอีก แต่แม้ไม่เกิดอีกก็ไม่แสดงว่าตายสูญ ดังได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้เที่ยวกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรได้เรียกเอาพระรูปนั้นมา และก็ได้ถามว่าเธอเที่ยวพูดดั่งนั้นจริงหรือ พระรูปนั้นก็ตอบรับว่าจริง เที่ยวพูดไปอย่างนั้นจริงว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ รูปเป็นพระอรหันต์หรือ พระรูปนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็ถามไปโดยลำดับ และพระรูปนั้นก็ตอบไปโดยลำดับดั่งนี้ เวทนาเป็นอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สัญญาเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สังขารเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ วิญญาณเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า ก็เมื่อเธอได้ตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ พระรูปนั้นจึงได้ยอมรับว่าที่กล่าวไปนั้น เป็นการกล่าวไปด้วยความไม่รู้ และมิได้เฉลียวคิดตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ถาม และตนก็ได้ตอบไปนั้น
พิจารณาดูตามคำถามและคำตอบนี้ก็จับความได้ว่า ที่เรียกว่าตายนั้นก็คือขันธ์ ๕ แตกทำลาย แต่เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ครั้นขันธ์ ๕ แตกทำลาย ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เฉลยว่า เมื่อไม่ตายสูญแล้วเป็นอย่างไร แต่ว่าได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยอุปมา ว่าเหมือนอย่างไฟที่ต้องลมพัดดับไป หรือว่าไฟที่สิ้นเชื้อดับไป อันไฟนั้นเมื่อมีเชื้อก็ติดขึ้นมาอีก และเมื่อสิ้นเชื้อก็ดับ และเมื่อไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดไฟขึ้นอีก ไฟก็ไม่เกิด แต่ว่าไฟนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวว่าสูญ เพราะเมื่อมีเชื้อไฟก็เกิดขึ้นอีก หากไม่มีเชื้อ ไฟจึงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ยกตัณหาขึ้นมาเป็นข้อแสดง ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่าง ๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่ยังมีความคิดเห็น ว่ายังสามารถจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระอรหันต์ได้ในที่นั้นที่นี้ จึงไม่ตรงกับหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ท่านไม่มีภพ มีชาติ เป็นนั่น เป็นนี่ ที่จะไปเฝ้าได้ มีทางเดียวก็คือเห็นธรรมะ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือเห็นธรรมะด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงด้วยปัญญา ดังที่ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับ ของสิ่งที่เกิดดับทั้งหลาย เห็นสัจจะคือความจริง ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นธรรม และเมื่อเห็นธรรมดั่งนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้า คือย่อมรู้ย่อมเห็นว่าพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแสดงธรรมะข้อนี้ไว้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ดั่งนี้ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นดั่งนี้ก็คือเป็นการเห็นสัจจะธรรม สัจจะธรรมนั้นเองที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และที่สาวกของพระพุทธเจ้าได้รู้ตาม รู้ตามได้จริงเมื่อใดก็รับรองว่าผู้ที่ตรัสข้อนี้ไว้ เป็นพุทธะจริง เป็นพุทโธ เป็นพุทโธจริงๆ
ฉะนั้น ความเห็นทั้งสองดังกล่าว คือความเห็นว่าเที่ยง และความเห็นว่าขาดสูญ จึงผิดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ใครก็ตามที่ยึดถือความเห็นผิดดั่งนี้ จึงไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลนิพานได้ เพราะว่าขัดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ ต่อเมื่อละความเห็นนี้ได้ แต่ว่าเห็นในเหตุผลตามสัจจะทั้งที่ ๔ ที่เป็นอริยสัจจ์นั่นแหละ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ฉะนั้น ก็จะต้องละอุปาทานคือความยึดถือความเห็นดังกล่าวนั้น หากมี และฝึกอบรมให้มีความเห็นชอบตามหลักสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ดังที่กล่าว
ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญ มันก็ยังไม่ถึงวันพรุ่งนี้ มันต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องพัฒนาตัวเองเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ เราจะเป็นนักวิชาการหาเเต่เหตุเเต่ผลคงไม่ทัน เพราะอันนี้มันรีบด่วน อดีตก็ไม่เกี่ยว อนาคตก็ไม่เกี่ยว ต้องเน้นที่ปัจจุบัน เเต่ว่าการที่จะไปเเก้สิ่งภายนอกมันง่าย เเต่การเเก้ตัวเองนี้ยากนะ ทุกคนที่มีปัญหาก็เพราะว่า ไม่พากันเเก้ปัญหาที่ตัวเอง ความเห็นเเก่ตัวของเรา ทำให้เราคิด ทำให้เราไม่เน้นประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ที่คิดว่าตายเเล้วเกิด ฟังพ่อเเม่อ่านอยู่ในหนังสือ เรื่องบาป เรื่องกรรม เรื่องเวร เรื่องภัย คนรุ่นใหม่คนสมัยใหม่ ยังไม่มีความมั่นใจ เเน่ใจ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตัวเองในปัจจุบัน มันก็จะลบ ตายเเล้วเกิด ตายเเล้วสูญอันนี้ได้ เราบอกว่าตายเเล้วเกิด ผู้ฟังก็ไม่สามารถที่จะรู้เห็นตามนี้ได้ เราก็ดูเเต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็เพราะการประพฤติการปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่เหมือนกันที่มาจากใจ มาจากเจตนา
เรื่องตายมันตายทุกอิริยาบถ ตายทุกลมหายใจ มันก็ตายอยู่เเล้ว เรื่องเกิดมันก็เกิดทางกาย เกิดทางใจ เราจะได้พัฒนาทั้งกายทั้งใจให้มันสมบูรณ์ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร มันเป็นเรื่องของใจ ที่เวียนไปโน่นไปนี้ ทำโน่นทำนี้ มันเป็นเรื่องทางใจ เราถึงต้องพัฒนาให้ใจของเรา ดึงมาหาจิตใจในปัจจุบัน ใจนี้ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องฝึก ไก่มันฟักไข่มันก็ใช้เวลา ๓ อาทิตย์ พวกมนุษย์มีปัญญา เป็นมิจฉาทิฏฐิมาก มันยากกว่าพวกสัตว์อีก มันต้องอาศัยศีล ศีลนี้เป็นเรื่องฝึกใจ ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม
วันหนึ่งคืนหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เวลานอนส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๖ ชั่วโมง เราทำอย่างไรถึงจะมีความสุขมีความดับทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เป็นคนที่เสียสละ เป็นคนรับผิดชอบขยันหมั่นเพียร มีความสุขกับการทำงาน เอาการงานนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม เราทำงานเพื่องาน เพื่อเสียสละ เพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ
การทำงาน... ถ้าเราไปหวังผลอะไรตอบแทนนั้น ทุกคนนั้นก็ต้องเครียดแน่ ถ้าต้องการผลอย่างไร ต้องการให้มันเสร็จเร็ว ต้องการให้มันดี ต้องการที่จะรวย หรือต้องการที่จะได้เงินเดือนเยอะๆ อะไรอย่างนี้ ล้วนแต่มีความทุกข์ทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าให้เราเสียสละโดยไม่หวังอะไรตอบแทน นี้คือการเลี้ยงชีวิตโดยชอบ ท่านผู้นั้นก็จะได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็ถึงมี" คนเราสิ่งที่มันเผาตัวเอง คือความหลง เมื่อมีความหลงแล้ว ก็มีความโลภ แล้วก็มีความโกรธ มีความเครียด ชีวิตของเราเลยเป็นชีวิตที่ตกนรกทั้งเป็น
คำว่า 'เสียสละ' นั้น ต้องเป็นคนขยัน เป็นคนรับผิดชอบ เราจะมีความสุข มีความดับทุกข์ได้ ก็อยู่ที่เรามีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ พยายามปรับตัวเองอยู่ตลอด และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท "ประมาทนิดเดียวไม่ได้ บกพร่องนิดเดียวไม่ได้"
เรามีความสุขในการมีทรัพย์ มีชื่อเสียงเกียรติยศ พระพุทธเจ้า ท่านสอนเรา ไม่ให้เราพากันหลง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน "เราไม่จากเขา เขาก็จากเรา" เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นผ่านไปทุกขณะ ผ่านไปทุกลมหายใจ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกอย่างนั้นมันมีทั้งคุณและโทษ
พระพุทธเจ้าถึงสอนเราให้เป็นคนมีศีล ปฏิบัติศีล สมาทานศีล คนเราถ้าไม่มีศีลแล้วชีวิตนี้มีแต่ทุกข์...โทษเวรภัย 'ศีล' นี้คือ ธรรมนูญทางจิตใจ และธรรมนูญทางกาย ตัวเราจะมีความสุขก็เพราะ 'ศีล' ครอบครัวเราจะมีความสุขก็เพราะ 'ศีล'
ประเทศชาติสังคมที่มันมีปัญหาก็เพราะสังคมนี้ไม่มีศีล มีการโกงกิน คอร์รัปชันต่างๆ บริษัทอะไรต่างๆ ห้างร้านต่างๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะชีวิตที่ไม่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์ที่จริง ก็คือขาดเรื่องศีล
'ศีล' นี้คือทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราและครอบครัว
'ศีล' นี้คือพื้นฐานของความดี
ที่เรามองเห็นกันทุกวันนี้ เราเห็นคนที่เค้าเลี้ยงชีวิตที่ไม่ชอบ อาชีพขายเหล้าขายเบียร์ อาชีพที่ทำปาณาติบาต อาชีพการพนัน อาชีพที่เป็นข้าราชการนักการเมือง โกงกินคอร์รัปชันก็พากันร่ำรวย พากันเป็นเศรษฐีกันก็หลายคนน่ะ
ความรวยอย่างนั้น การทำมาหากินอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า... ไม่ใช่การเลี้ยงชีวิตที่ชอบ มันเป็นการพ่ายแพ้ต่อความหลง ต่อความอยาก ความต้องการของตัวเอง ถือว่ายังเป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงจะร่ำรวย ก็ชื่อว่ารวยตั้งแต่ภายนอก ถึงจะสวยถึงจะหล่อก็ตั้งแต่ภายนอก ชื่อว่าเป็น "ผู้ที่ยังปรารภโลก ปรารภวัตถุ" ยังถือโลกเป็นใหญ่ ถือวัตถุเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาศีล เอาธรรม เอาคุณธรรม
ตัวเราเองหรือคนอื่น... ถ้ามีความคิดอย่างนั้น มีความเข้าใจอย่างนั้น มีการกระทำอย่างนั้น ตัวเราก็จะเข้าสู่การทำร้ายตัวเอง และทำร้ายคนอื่น
การเรียนการศึกษา ถ้าเราเรียน เราศึกษา เพื่อวัตถุ เพื่อผลประโยชน์น่ะ ไม่ได้เน้นเพื่อการเสียสละ ไม่เน้นธรรมะ การศึกษานั้นเข้าถึงทางตันน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านมีพระกรุณาสงสารพวกเรา ให้พวกเราพากันแบ่งความสุข แชร์ความสุขกัน มีความเมตตา มีความสงสารกันมากๆ ถ้าเรามองแต่ทางวัตถุน่ะ เราก็จะเผาทั้งตัวเอง เผาทั้งครอบครัว ไม่ได้เลี้ยงชีวิตโดยชอบโดยธรรม
พระพุทธเจ้าท่านให้เราก้าวไปด้วยความดี ก้าวไปด้วยคุณธรรม มีความสุขในการทำงาน มีสมาธิให้แข็งแรงให้มากๆ น่ะ
คนเราน่ะ... อยากจะรวยมันก็เท่าเก่าน่ะ อยากจะเหาะเหินเดินอากาศได้...มันก็ไม่ได้ คิดมากมันก็ต้องปวดหัว คิดมากก็ต้องเป็นโรคประสาท...โรคจิตน่ะ คนเราทุกๆ คนถึงมีความจำเป็นที่จะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
พยายามมาแก้ที่ใจของตัวเองนี้แหละ มาแก้ที่คำพูดของเรา ที่จะต้องแก้ไข มาแก้ที่การกระทำความเคยชินที่มันเป็นบาป เป็นกรรมเป็นอกุศลนั้น ทุกท่านทุกคนต้องหยุด สิ่งที่เป็นความดี เป็นบุญกุศลนั้น ต้องทำและก็ปฏิบัติต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าถึงความสุข...ความดับทุกข์ที่แท้จริง
ทุกท่านทุกคนนั้นต้องมีสติมีสัมปชัญญะ ต้องกลับมาดูตัวเอง กลับมาพิจารณาตัวเอง ส่วนไหนบ้างที่เรามันยังขาดตกบกพร่อง ก็ต้อง แก้ไขใหม่ ปรับปรุงใหม่ ให้เข้าสู่อริยมรรค สร้างเหตุสร้างปัจจัย
ทุกคนน่ะชอบแต่งหน้า แต่งตา แต่งผม ตบแต่งเสื้อผ้าอาภรณ์ แต่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่จะให้ดียิ่งๆ พระพุทธเจ้าให้ตบแต่งในเรื่องจิตเรื่องใจ ในเรื่องคุณธรรมโดยการประพฤติการปฏิบัติ
อย่าพากันกลัวความดี กลัวศีล กลัวการรักษาศีล
'ศีล' นั้นคือการสงสารตัวเองและสงสารคนอื่น
คนเราถ้าไม่สงสารตัวเอง ไม่สงสารคนอื่น แล้วชีวิตนี้จะอยู่ด้วยความเครียด ชีวิตนี้จะอยู่ด้วยการให้กิเลสมันเผาตัวเอง ที่ยังไม่ตายก็ถูกเผาน่ะ เป็นผู้ที่ไม่มีความสุข เป็นผู้ที่ไม่รู้จักพอ เป็นผู้ที่ไม่เสียสละแต่ก็อยากมี อยากเป็น เป็นผู้ที่ชอบให้แต่คนอื่นเอาอกเอาใจ ไม่ได้เป็นผู้ให้ไม่ได้เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ที่ปากติดระเบิด มีพิษมีภัย นำความทุกข์ให้ตัวเอง นำความทุกข์ให้คนอื่น เป็นผู้ที่ไม่น่าเคารพนับถือ ตัวเองก็เคารพนับถือตัวเองไม่ได้ คนอื่นก็เคารพนับถือเราไม่ได้ เป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนน่ะเข้าใจเรื่องธรรมะ... ถ้าใครปฏิบัติ ตามอริยมรรค ท่านผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ หัวใจของเราทุกคนจะเข้าถึงความเป็นพระได้ด้วยกันทุกท่านทุกคน "ถ้าที่ไหนมีการประพฤติปฏิบัติ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์..."