แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๗ อย่าปล่อยวางแบบมิจฉาทิฏฐิผิดทาง จะทำให้เป็นคนว่างจากมรรคผลนิพพานตลอดไป
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราเกิดขึ้นมาเห็นพ่อเห็นเเม่เห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราฆ่าสัตว์ มีความโลภ มีความโกรธ เราได้พากันเห็นมาตั้งเเต่เล็กๆ เเล้วก็โตขึ้นนิดหน่อยก็เห็นสิ่งเเวดล้อมเห็นสังคม เราเลยคิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา เเต่ที่เเท้จริงนั้น มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะการฆ่าสัตว์เล็ก สัตว์น้อย ถึงกับฆ่าสัตว์เพื่อรับประทานเป็นอาหาร ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาเข้าใจใหม่ พากันมีสติมีสัมปชัญญะ กลับมาหาธรรมะ เมื่อวานนี้ได้พูดเเล้วเรื่องความไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป คนไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ทำให้เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ทำให้เรามีความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างไม่มีที่สุด อย่างไม่มีประมาณ ทุกคนเลยพากันคิดว่า ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราจะทานอะไร บริโภคอะไร
มนุษย์เราคือผู้ที่ประเสริฐ คือผู้ที่มีปัญญา ทุกท่านทุกคนต้องพัฒนาสติ พัฒนาปัญญาตัวเอง ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง พวกอาหารการรับประทานการบริโภค มันเป็นเพียงการรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้ทรงอยู่ได้ เพื่อเราจะได้มีโอกาส มีเวลาได้พัฒนาใจ เพื่อมรรคผลนิพพาน ที่เราปรุงเเต่ง เพื่อให้เราทานอาหารได้ พวกพริก พวกเกลือ พวกน้ำตาล เครื่องเทศต่างๆ จุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้เราทานอาหารได้ ให้เข้าใจอย่างนี้ เราจะได้ไม่ทำบาป เราจะได้เป็นคนละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพราะความหลงในความเอร็ดอร่อยมันเป็นกาม มันทำให้เราทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ โลภของเค้า ลักทรัพย์ ประพฤติผิดด้วยเอาการประพฤติผิด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องพากันพิจารณา เพื่อลงรายละเอียด ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อศีล ๕ จะได้บริสุทธิ์ เพราะศีล ๕ เป็นคุณธรรมที่จะทำให้เราเป็นพระอริยเจ้า
อย่างเด็กสมัยใหม่ บางทียังทานพวกผัก พวกอะไรไม่เป็นเลย เพราะเค้าไปติดรสในอาหาร เเล้วเรายิ่งพัฒนาโภชนาการ กลัวก็เเต่ขาดวิตามิน ขาดโปรตีน มันก็จริงอยู่ มันต้องขาดวิตามิน ขาดโปรตีนเเน่ เเต่เราต้องใช้สติใช้ปัญญา หาวิตามินจากที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำปาณาติบาต เราทำยุงตาย เราก็เฉยๆ เราทำมดตายก็เฉยๆ เราคิดในใจไม่ดี เราก็เฉยๆ นี้เเสดงถึงสักกายทิฏฐิของเรา ที่เรามีความเห็นเเก่ตัวเราไม่ได้พัฒนาใจของเราสู่การละสักกายทิฏฐิเลย อย่าเอาก็เเต่ปล่อยวาง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ เราจะเป็นคนว่างจากมรรคผลนิพพาน ไม่ได้เป็นคนละสักกายทิฏฐิ เค้าเรียกว่า เราเป็นคนว่างจากมรรคผลนิพพาน ว่างจากศีลจากธรรม จากคุณธรรม คนละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าตรึกอะไร
เเม้เเต่พวกปลูกผักปลูกผลไม้อย่างนี้ ต้องไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ฆ่าเเมลง ยาฆ่าสัตว์ มนุษย์เราต้องพัฒนาได้ ถ้าตั้งใจพัฒนา ทุกคนจะได้มีความสุขในการทานผักทานผลไม้ทานอะไรที่เกิดจากการไม่เบียดเบียน ความสุขใจของเราก็ย่อมมี เพราะเราไม่ได้เบียดเบียน การนอนการพักผ่อนของเราก็จะดีขึ้น ทุกวันนี้เราก็ไม่มีความสุขใจเลย เพราะเราปลูกผักผลไม้เองหรือว่า คนอื่นปลูก มันใส่ยาฆ่าเเมลงมันฆ่าทั้งสัตว์ มันฆ่าทั้งมนุษย์ เค้าเรียกว่า ค่อยๆ ตาย ตายผ่อนส่ง ถ้าต่างคนต่างไม่ฆ่าสัตว์ สัตว์เค้าก็อยู่ได้ เค้าทำไร่ทำสวนอะไร พวกสัตว์เค้าก็อาศัยเรากิน
เราเป็นพระเป็นเณรเป็นแม่ชี เป็นประชาชน ก็ฆ่าสัตว์ไม่ได้ ฆ่าสัตว์ก็หมายถึง ตั้งแต่ตัวน้อยๆ ตัวมด ตัวปลวก ตัวยุง เราต้องไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ สัตว์เล็กน้อย ก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สัตว์ใหญ่มีราคาก็ต้องปาราชิกได้ การปฏิบัติของเรามันอยู่เจตนา สิกขาบทนี้อยู่ที่เจตนา ถ้าไม่มีเจตนา หรือว่าเรามีความเห็นแก่ตัว เราปล่อยวางอย่างนี้ก็ไม่ได้นะ เราถือว่า เรายังไม่ถูกต้อง ที่เราทำแล้วบอกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น อันนี้ถือว่าเห็นแก่ตัว เพราะเจตนาเรายังไม่ 100 % เราไปเผลอปัดมดปัดยุง มันอาจจะตายได้ หรือ พวกมด พวกปลวกขึ้นกุฏิ ก็ไม่ได้นะ เพราะมนุษย์เรามีปัญญาต้องแก้ปัญหาได้ ต้องใช้วิธีป้องกัน อย่าไปทำลาย ถ้าเรากินยาถ่ายพยาธิ อย่างนี้เราก็อย่าไปมีเจตนาที่จะฆ่าพยาธิ ที่จริงพวกนี้ไม่กินของดิบก็ไม่เป็นหรอก อย่าไปกินลาบ กินก้อยดิบๆ สุกๆ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้ทานของดิบ เพราะมันมีตัวพยาธิ เช่น ปลาร้าที่มันยังไม่สุก หรือ อาหารปรุงยังไม่สุก มันอร่อยก็จริง แต่มันนำพยาธิมา วินัยข้อนี้ว่าไปถึงพระ ถึงเณร ถึงชี ถึงประชาชน
ทุกคนทำมันบาปทั้งนั้นแหละ ถ้ามีเจตนา ไม่สำรวมระวัง ความเมตตาเท่านั้นที่ละความเห็นแก่ตัวได้ พอปลวกขึ้นบ้าน เราไม่ฆ่าเอง จ้างเค้าไปฉีดมันก็บาปนะ ทางที่ดีต้องหาวิธีแก้ก่อน ที่โรงครัว ภาชนะเราต้องล้างก่อน เรื่องกินมันเรื่องใหญ่ มดมันไม่เห็นว่าเป็นพระคุณเจ้าหรอก มดมาหาอาหารก็ได้กิน อย่างนี้ก็มีปัญหา แต่ปัญหาทุกปัญหาแก้ได้ ต้องใช้ปัญญา เช่นเราต้องให้อาหารเป็นส่วนสัด พระพุทธเจ้าท่านทำไมถึงให้เรากวาดกุฏิทุกวัน เพราะพวกปลวกจะได้ไม่มีสร้างรกรัก ยิ่งจิ้งจก ตุ๊กแก อะไรนี้ เราเล่นปล่อยวางแบบโมหะ อย่างเราไปธุดงค์อย่างนี้ ถ้าเรามีเศษอาหารมีอะไร ก็วางให้เค้ากินไกลๆ ห่างจากกลดเรา เต๊นท์เรา เค้าจะไม่มารบกวน ต้องฉลาดขึ้นอีก
การบริโภคใช้น้ำที่มีตัวสัตว์ น้ำทุกแห่งมันต้องมีตัวสัตว์ เรามองไม่เห็นนะ อย่างเรารดต้นไม้ หรือ ทำอะไร ก็ต้องดู ถ้าน้ำประปา ถ้าเราไม่เอามาไว้ในภาชนะ วันสองวัน สามวัน มันก็ยังไม่มีลูกน้ำ ถ้าเราเอามาไว้ในถัง ในภาชนะ มันอาจจะมีลูกน้ำ ถึงต้องมีผ้ากรอง เพราะเรื่องในใช้น้ำมีตัวสัตว์ คนโบราณ เขายังไม่มีก๊อกประปา ถึงมีข้อวัตรกิจวัตร ใช้น้ำ ก็ต้องเททิ้งให้หมด พระเราถึงมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันจากเรื่องน้ำ พระธรรมกถึกกับพระวินัยธร จนพระพุทธเจ้าหนีไปอยู่ในป่าเลไลย์ เรื่องพวกนี้ต้องระวัง เพราะตั้งเจตนาให้ดี เราเอาแต่ว่าว่างๆ ไม่ยึดไม่ถือนี่ไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าอย่างนั้นก็อะไรก็เอาแต่ปล่อยว่าง ทีนี้แหละเมื่อมันเจตนาไม่ดี เจตนามันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความสงบมันจะมาจากไหนเพราะมันตามใจ ตามอารมณ์ ใจของเรามันยังยินดีในกาม ในการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ใจจะสงบ ๕ นาทีก็หายาก
การกินของคนนี้บาปหนัก กินพวกสัตว์อย่างนี้ เช่นว่า เขากินปลา กินกบ กินเขียดอย่างนี้ เขาก็กินสดๆ เลย กินสดๆ รสมันก็อร่อยสู้เอาไปต้ม ไปปิ้ง ไปย่าง ไม่ได้เนาะ พวกที่กินอย่างนี้ พวกกินลาบเลือด ก้อยเลือด อย่างนี้มันก็เพิ่มความกำหนัดขึ้นไปอีก มันก็มีการพัฒนากันไปเรื่อย คนเรากลัวจะขาดโปรตีน คนเรามันตายเพราะมันฟุ้งซ่าน ตายเพราะมันคิดมาก การตายเพราะมันกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าเราจะไปพระนิพาน เราต้องละเหยื่อในโลกนี้ มุ่งสันติ คนเราอย่าคิดว่าสัตว์ต่างๆ มันเกิดมาเป็นอาหารของเรา ไม่จริง อันนี้เพราะมิจฉาทิฏฐิ เพราะอวิชชา
การทำพวกปาณาติบาตเนี่ย พวกแม่ขาวแม่ชี พวกนี้ถึงแม้ทานอาหารธรรมดาก็มีศีลด่างพร้อย ไปซื้อของในตลาด หรือวัดต่างๆ ที่ทำอาหารเอง บางทีก็ไม่สมควร ที่เอาเลือดเอาเนื้อไปทำที่วัด เพราะเราเอาเงินวัดเองนี่ซื้อ ไม่ใช่มีคนเอามาบริจาค เพราะว่าถึงแม้มันจะตายมาแล้ว แต่เราก็ยินดีอยู่ อย่างนี้ก็ยังติดใจอยู่ เราไม่ได้ฆ่าก็ดีแหละ แต่เราไปยินดีในการกินไก่ย่าง หมูย่าง เป็ดย่าง หรือว่าของดีๆ ที่มันเป็นปาณาติบาต พวกที่ขายตะข่าย ขายปืนอะไรพวกนี้นะ ขาย ยาฆ่าแมลง มันก็ปาณาติบาต พวกฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ฟาร์มอะไรนี่ สิ่งที่บาปน้อยก็ไข่พันธุ์ ไข่อะไรพวกนี้ มันก็บาปอยู่แต่ก็บาปน้อยลง เพราะเราเลี้ยงมันก็ไปขังมันจำกัด ยังเป็นมิจฉาอาชีวะอยู่
พวกอาชีพประมงนี้ก็ถือว่าปาณาติบาต บางทีเราไปกินอาหาร สั่งอาหาร บางทีปลาเขาเอาไว้วิ่งอยู่ในที่เขาจับไว้ พวกกุ้งอะไรอย่างนี้ พวกนี้บาป นี้คือปาณาติบาต หรือแม้แต่ธุรกิจขายบุญ จับนกจับปลาจับเต่า มาขังพร้อมมอมยา ตั้งร้านหน้าวัด รอให้ผู้ใจบุญมาจ่ายเงินซื้อไปปล่อย ถ้าธุรกิจงอกงามกำไรดี เขาก็จะไปหาจับมาเยอะๆ ขึ้น เพื่อกำไรที่มากขึ้น
ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านทางตอนเหนือของกรุงสาวัตถี โดยทรงแวดล้อมไปด้วยพระภิกษุ ในหมู่บ้านแห่งนั้น มี พรานเบ็ด คนหนึ่งชื่อว่า “อริยะ” เขาพึงพอใจในชื่อของเขามาก เพราะมีความหมายว่า “ผู้ประเสริฐ”
เมื่อคณะสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานได้ผ่านมาถึงบริเวณที่พรานอริยะกำลังลงเบ็ดเพื่อจับปลาอยู่นั้น พรานอริยะทราบว่าเป็นคณะพระสาวกของพระพุทธเจ้าจึงละทิ้งเบ็ดของตน แล้วเข้าไปกราบนมัสการ เขาได้ถามชื่อพระสาวกของพระพุทธเจ้าทีละรูป จนทราบว่ามีพระสาวกผู้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อยู่หลายรูปด้วยกัน เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น แต่แปลกที่พระเถระไม่ถามชื่อของพรานเบ็ดกลับเลย
พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณทัศนะว่าพรานผู้ปลื้มในชื่อของตน ต้องการให้พระสาวกถามชื่อกลับ เพื่อที่จะได้บอกชื่ออันประเสริฐนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามพรานว่า “พราน ท่านมีชื่อว่าอะไร” พรานเบ็ดจึงรีบตอบทันทีว่า “ชื่อของข้าพเจ้าคือ อริยะ พระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัสต่อว่า “พราน เธอเป็นผู้ฆ่าและเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น เธอจะเป็นอริยะไม่ได้ เพราะอริยะคือผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร” แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
น เตน อริโย โหติ เยน ปาณาติ หึสติ อหึสา สพฺพปาณานํ อริโยติ ปวุจฺจติ.
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะเหตุที่เบียดเบียนสัตว์, บุคคลที่เรากล่าวว่า "เป็นอริยะ" เพราะไม่เบียดเบียน สัตว์ทั้งปวง.
เรื่องเล่าจบเพียงแค่นี้ ถึงจะเป็นเหตุการณ์สั้น ๆ ช่วงพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า แต่สิ่งที่เป็นธรรมะที่ได้จากพระพุทธเจ้าในครั้งนั้นคือ การเป็นอริยะที่แท้จริงคือผู้ไม่เบียดเบียน ไม่ได้เบียดเบียนแค่ชีวิตของผู้อื่นเท่านั้น จะสังเกตได้ว่าพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ท่านจะไม่เบียดเบียนตนเอง เพราะได้กระทำให้ตนแจ้งในธรรม เมื่อแจ้งในธรรมแล้วยังไม่เบียดเบียนตนเองให้ตกอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป
ในพระไตรปิฏก มีพุทธภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า "สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว มีกรรม เป็นตัวให้กำเนิด มีกรรมเป็นตัวเกี่ยวข้อง มีกรรมเป็น ที่พึ่ง สัตว์ทั้งหลาย ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักได้ผลกรรมนั้นแน่นอน..."
สื่อให้เห็นชัดเจนว่า ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรมเก่า และให้ยอมรับผลของกรรม หรือผลของการกระทำ เช่น ถ้าเราไม่อาบน้ำ เราย่อมสกปรก มีกลิ่นตัว นี่เป็นเรื่องของกรรมล้วนๆ ไม่มีใครหลีกหนีผลกรรมหรือผลการกระทำได้ ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ตัวพระพุทธเจ้าเอง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เองในคัมภีร์อปทานตอนที่ว่าด้วย ปุพพกัมปิโลติ พุทธาปทาน ข้อ ๓๙๒ ถึงกรรมเก่าที่พระองค์ทรงกระทำมาแล้วในอดีต ๑๔ ข้อ ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลนี้ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างว่า พระองค์เมื่อยังเป็นปุถุชน ก็ได้ทำดีและทำชั่วมาแล้วเช่นเดียวกับพวกเรา
ตัวอย่างผลกรรมจากการละเมิดศีลข้อที่ ๑
จากพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงกรรมเก่าที่มาให้ผลแก่พระองค์ กรรมเก่าที่ตรัสเล่านั้นเป็นกรรมเก่าที่ทำไว้ในอดีตชาติ เมื่อครั้งยังเป็นปุถุชน แล้วมาให้ผลในชาติปัจจุบันถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ยังไม่พ้นไปจากผลของกรรมเก่านั้น ซึ่งจะนำมากล่าวเป็นบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผิดศีลข้อที่ ๑ ดังนี้
กรรมเก่าจากการเคยนำทหารออกศึก พระองค์ตรัสเล่าว่า ในชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เกิดเป็นแม่ทัพนำทหารออกรบฆ่า ข้าศึกตายเป็นจำนวนมากด้วยหอก ตายจากชาตินั้น บาปกรรมส่งผลให้ไปเกิดอยู่ในนรกนานแสนนาน เสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส
แม้เกิดมาในชาติสุดท้าย หลังจากที่พระเทวทัตทำให้พระองค์ทรงห้อพระโลหิตแล้ว เสด็จไปให้หมอชีวกรักษา หมอชีวกได้รักษาโดยปรุงยาอย่างแรงกล้าเพื่อสมานแผลแล้ว ปิดแผล แล้วเข้าไปทำธุระในเมือง แต่กลับมาไม่ทันเอายาออก ประตูเมืองปิดก่อน ทำให้พระองค์เกิดความเร่าร้อนในสรีระตลอด ซึ่งต่อมาได้รับสั่งให้พระอานนท์นำยาที่ปิดแผลนั้นออกในตอนค่ำนั่นเอง
ฆ่าน้องชายต่างมารดา ในชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เกิดเป็นลูกเศรษฐี บิดาของพระองค์มีภรรยาหลายคน ภรรยาคนหนึ่งมีลูกชาย พระองค์เกรงว่าทรัพยสมบัติส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งไปให้แก่น้องชายต่างมารดานั้น จึงลวงน้องชายไปฆ่าที่ซอกเขาแล้วเอาหินทับไว้ บาปกรรมส่งผลให้ไปเกิดยู่ในนรกนานปี เกิดมาในชาตินี้แม้จะได้ตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้าแล้วเศษกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ส่งผลให้พระองค์ถูกพระเทวทัต กลิ้งหินกระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต
กรรมเก่าจากการเคยชอบใจเมื่อเห็นคนฆ่าปลา (ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า เพียงแค่ดีใจ ที่เห็นคนทำบาป แค่นั้นกรรมก็ตกกับเราแล้ว) พระองค์ตรัสเล่าว่า ในชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เกิดเป็นลูกชาวประมง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวประมง เห็นชาวประมงฆ่าปลาแล้วเกิดความสนุกยินดีสนุกสนาน
มาเกิดในชาตินี้ แม้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว บาปกรรมก็ยังส่งผลให้พระองค์รู้สึกปวดพระเศียรเมื่อคราวที่พวกเจ้าศากยะพระประยูรญาติของพระองค์ ถูกพระเจ้าวิฑูฑภะกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลยกทัพบุกสังหาร
แกล้งโคไม่ให้ดื่มน้ำ ชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เกิดเป็นคนเลี้ยงโค ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคแวะดื่มน้ำข้างทาง เกรงจะชักช้าจึงไล่โคไม่ให้ดื่มน้า ด้วยการแกล้งเอาไม้กวนน้าให้ขุ่นบาปกรรมในชาตินั้นส่งผล ให้พระองค์กระหายน้าแล้วไม่ได้เสวยสมปรารถนาทันที เมื่อคราวใกล้จะเสด็จ ดับขันธ์ปรินิพพาน
เป็นหมอยารักษาคนไข้ตาย ในชาติหนึ่งในอดีต พระองค์เกิดเป็นหมอยารับรักษาลูกชายเศรษฐี โดยวิธีให้ถ่ายยา จนลูกชายเศรษฐีตาย บาปกรรมส่งผลให้ไปเกิดอยู่ในนรก เกิดในชาตินี้แม้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เศษกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็ส่งผลให้พระองค์เกิดพระโรคปักขันทิกาพาธ (โรคท้องร่วง) หลังจากเสวยสุกรมัททวะก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ไม่มีใครหนีพ้นผลของกรรม แม้พระมหาโมคคัลลานะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธิ์เดช ก็ยังถูกทุบจนร่างกายแหลกเหลว เพราะชาติก่อนเคยทุบตีพ่อแม่ไว้ ฉะนั้น ทุกๆ ครั้งที่จะเริ่มทำกรรม ทางกาย วาจา และใจ ขอให้สร้างเป็นบุญ สร้างเป็นกุศลอย่างเดียว เพราะบุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
และหากเจ็บปวดมากแค่ไหนกับผลกรรมที่ได้รับในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวทางการงาน การหาเงิน ความรัก เรื่องเพื่อน หรือเรื่องอะไรก็ตาม ให้ใช้ขันติ เพื่อสะกดความเดือดเนื้อร้อนใจให้หยุดเป็นความแข็งแกร่ง และให้ใช้โอกาสนี้เรียกปัญญามาเพื่อมองเห็นความจริง ที่รู้ว่าโลกมีสภาพอย่างนี้ ทำให้แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะเลวร้ายแค่ไหน จิตใจก็กลับสงบ
เมื่อวางจิตเป็นกลางได้แล้ว ก็ให้รู้ว่ากรรมเก่านั้นสักแต่ว่ารับ ไม่ยินดี ยินร้าย และจะไม่ทำกรรมใดๆ ใหม่อีก ด้วยการรักษาศีลห้า และปิดกั้นอกุศลทุกทางที่จะเกิด ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง ใครจะสำคัญยิ่งไปกว่าตน
การเจริญเมตตานั้น...ฝึกสงสารคนอื่น เพราะทุกคนนั้นน่ะ มีความทุกข์ทั้งทางกาย มีความทุกข์ทางจิตใจ มีความทุกข์ทั้งหน้าที่การงาน มีความทุกข์กับญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล เพื่อนฝูง มีความทุกข์ทางเศรษฐกิจ มีหนี้มีสิน ทุกคนส่วนใหญ่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น
'ความทุกข์' มันเป็นผลกรรมของทุกคนที่เกิดมา ถ้าเราโกรธ เราปฏิฆะ ถ้าเราทำร้ายเขาทางกาย ทางวาจา ก็ยิ่งไปเพิ่มความทุกข์ให้เขาอีก ต้องฝึกสงสารเขา ฝึกให้อภัยเขา ถ้าเราฝึกเจริญเมตตาบ่อยๆ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า... เราจะไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท พระพุทธเจ้าท่านให้เราภาวนาให้เข้าถึงจิตถึงใจ เพื่อเราจะได้เป็นคนไม่มีความโกรธ ไม่มีปฏิฆะ ยิ่งเราเป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด เป็นคุณพ่อคุณแม่ ความโกรธของเรามันยิ่งมีมาก ถ้าเราไม่เจริญเมตตามากๆ ใจของเราก็ไม่สามารถที่จะเย็นได้ สงบได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเจริญเมตตาอย่างนี้มากๆ ถ้ามันช่วยเหลือเขาไม่ได้ ท่านก็ให้ เราอุเบกขา ทำใจไม่ให้มีทุกข์ ทำใจให้สบาย ฝึกปล่อยฝึกวาง ให้ถือว่ามันเรื่องสุดวิสัย ช่วยเหลือไม่ได้ ให้กลับมาช่วยเหลือตัวเอง คือทำใจให้สบาย ทำใจไม่ให้มีทุกข์ ทำใจอุเบกขา ทำใจไม่ให้ปรุงแต่ง ให้เราปลงให้เราปล่อย ให้เราวาง ให้ถือคติว่า "สัตวํโลกย่อมเป็นไปตามกรรม" ตามวิถีทางที่เขาได้ประพฤติปฏิบัติไว้
ให้เราเมตตาตัวเอง สงสารตัวเองในการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ เพราะว่าการเกิดนี้ถึงจะรวย ถึงจะมียศตำแหน่ง มันก็ย่อมมีความแก่ ความตาย ความพลัดพราก นำตัวเองรักษาศีล ๕ นำตัวเองไหว้พระสวดมนต์ ทำใจของเราให้มันสงบ ให้มันเย็น เอาความสุข...ความดับทุกข์ ด้วยการทำใจให้สงบ เราเอาความสุข...ความดับทุกข์ทางวัตถุนั้น มันสู้การทำใจให้สงบ... การปล่อยการวางไม่ได้ ทุกท่านต้องฝึกทำใจให้สงบ ฝึกปล่อยฝึกวาง
ความสุข ความดับทุกข์ทางวัตถุนั้นมันมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ มันเป็นความเห็นแก่ตัวที่พาเราสร้างบาปสร้างกรรม ผิดศีลผิดธรรม มันไม่อยากทำ...ก็ทำ เพราะถูกกิเลสความหลงมันครอบงำ จิตใจของเราไม่มีกำลังพอ สติสัมปชัญญะมันยังไม่พอ ความสมดุลของออกชิเจนในสมองมันถูกความหลงครอบงำ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระบบสมองของเรา มันพุ่งกระจุยกระจายด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเชื่อมั่นในตัวเองมันมีน้อย เพราะเราไปหลงวัตถุ หลงตัวหลงตน
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นผู้เสียสละ ทำงานก็ไม่หวังประโยชน์ ไม่หวังผลตอบแทน ทำงานเพื่อที่เสียสละ ทำงานเพื่อที่จะเป็นผู้ให้น่ะ ถ้าเราทำอย่างนี้ ประพฤติอย่างนี้ สติสัมปชัญญะของเราจะกลับมา เราก็จะได้ทั้งเงิน ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเพื่อนผู้หลักผู้ใหญ่ โดยที่เราเมตตาตัวเองที่ได้เสียสละ...ไม่มี...ไม่เป็น แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติเพื่อเอาอะไรแล้วมันเครียด มุ่งแต่ผลประโยชน์
เราทุกๆ คน ต้องเมตตาตัวเองด้วยการไม่ทำตามความอยาก ความบริสุทธิ์มันเป็นประกัสสร สิ่งที่ไม่ชอบ สิ่งที่ชอบมันจรมาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหลงประเด็น ให้เราตั้งมั่นในความดี คือตัวศีล คือตัวเมตตา สงสารตัวเองด้วยการทำงานที่ดี สงสารสัตว์อื่นด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่เอาเปรียบ เพราะทุกคนก็เป็นญาติพี่น้องของเราทั้งนั้น อย่างน้อยก็เป็นญาติทางการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อะไรเกิดขึ้นก็ดีหมด
คือมันดีอย่างไร? 'ดี' ก็คือเราได้มาแก้ไขที่จิตที่ใจของเรา เราจะได้แก้ไขการไม่พูดร้าย การไม่สำรวมระวังในตัวเอง เรากลับมามองดูตัวเองมากๆ ว่าเรามีพิษมีภัยอะไรบ้าง...? เป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ไม่เสียสละ ขี้เกียจขี้คร้าน มีคำพูดไม่ดี ไม่เพราะ ไม่สุภาพ ให้เราพิจารณาตัวเองในความบกพร่อง แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติย้ำไปที่ใจของเราอีก เราจะได้เมตตาตัวเอง ครอบครัวเราจะได้มีความสุข เขาจะได้เอาแบบอย่างความดี
"ทิฏฐิมานะมันมีมาก มันถือฟอร์ม"
พระพุทธเจ้าให้เราดูตัวเอง เพื่อเราจะได้ลดทิฏฐิมานะ เอาสิ่งที่ไม่ดีของเราออก ออกจากกาย ออกจากวาจา ออกจากใจของเรา
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายด้วยความสมมุติ เป็นตำแหน่ง เป็นหน้าที่แค่เพียงสมมุติ สัจธรรมความจริงไม่มีอะไรมันว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ที่ใจของเรามันมืดมันบอด ที่มันมีคนหนุ่ม คนสาว คนแก่ "จิตใจของเรามันเลยมีแต่นิมิต ใจของเรามันมีแต่ความยืดมั่นถือมั่น" พระพุทธเจ้าท่านไม่มีนิมิต ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็หายไป เหมือนกับเรานั่งอยู่แล้วก็หายไป
ความถี่ระยิบของการมีตัวตนมันทำให้เราไม่โปร่งไม่ใส เราไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมชาติ เพราะอิริยาบถทั้งหลายมาปิดบัง เพราะความเร็วของวาระจิตนั้นมันมาปิดบัง เหมือนฝนตกทีละหยดเป็นสายน้ำ เหมือนกับสิ่งต่าง มารวมตัวกัน พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้ทุกคนรู้จักจิตของเราจะได้หนักแน่นเข้มแข็ง จิตของเราจะได้ไม่มีทุกข์ เราทำไปอย่างนี้แหละ ปฏิบัติไปอย่างนี้แหละ เราอย่าไปคิดว่าต้องทำมาหากิน เกี่ยวข้องกับพ่อแม่พี่น้องเพื่อนพ้องบริวาร การปฏิบัติธรรมมันเป็นของควบคู่กัน
ที่เราจะเมตตาคนอื่น เพื่อให้เราเข้าถึงความดับทุกข์ไปเรื่อยๆ ที่เราปฏิบัติใหม่ มันปฏิบัติไม่เป็น มันก็ยากลำบาก เหมือนกับเราเด็กๆ เราก็อาศัยคุณพ่อคุณแม่เราถึงได้รู้ เราก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าที่ท่านวางหลักเกณฑ์ไว้ เมื่อเราใหญ่ขึ้นโตขึ้นเราก็ช่วยเหลือตัวเองได้ เราปฏิบัติไปเรื่อยน่ะ อย่างวิศวกรก็ชำนาญในด้านวิศวกร คุณหมอก็ชำนาญในด้านคุณหมอ เกษตรกรก็ชำนาญในด้านเกษตรกร คนเราไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิดน่ะ เราก็ต้องฝึกเอาทนเอา ความยากลำบากจะนำเราไปในทางที่ดี คนเรามันก็ต้องลำบากก่อนนะ
การฝึกอะไร...ก็ไม่เท่ากับการฝึกตนปฏิบัติตน มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนน่ะ...ที่เกิดมา ไม่ยกเว้นใครทั้งนั้น ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่ตั้งใจ ไม่เอาใจใส่นั้น....มันไม่ได้ ใจของเรามันอ่อนนะ ใจของเรามันไม่เข้มแข็ง ต้องอด ต้องทน ต้องทวนกระแส เราข้ามฝั่งที่น้ำมันแรง มันเชี่ยว เราต้องตั้งใจเต็มร้อย ยิ่งมันเหนื่อย ยิ่งยากลำบาก เราก็ต้องยิ่งชอบมัน เพราะมันทำให้เราได้ฝึกตัวเอง ถ้ามันไม่ลำบาก เราก็ไม่ได้ฝึกปล่อยตนเองไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระอะไร
เราพยายามมองดูพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ที่ดีๆ เป็นตัวอย่าง เราอย่าไปมองดูตัวอย่างที่อ่อนแอ หรือจะเป็นมหาชน ประชาธิปไตย มันไม่ใช่ธรรมาธิปไตย มันจะทำให้เราล้มเหลว เราต้องมองที่ปัจจุบันนี้ วาระนี้ เราต้องตั้งมั่นด้วยความดีความถูกต้อง
สิ่งที่อมตะ ก็คือ สิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าใจของเรามีตัวมีตน มันมีปัญหาทั้งนั้น ความทุกข์นี่มันมีมาก มันมีหลาย เราต้องทิ้งมันไป วางมันไป เพื่อให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเรามันเย็น จิตใจของเรา จะได้ไม่เครียด เราเป็นคนดีคนฉลาดเท่าไหร่มันยิ่งวิตกกังวล ตัวเราเอง นี่แหละยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับตัวเอง ยิ่งกว่าคนไม่มีการศึกษา ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด มันไม่รอดเพราะมันมีตัวมีตน
ทุกคนน่ะ อยากจะเป็นพระอริยเจ้า อยากจะไม่เวียนว่ายตายเกิด แต่ทำอะไรทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทำไปไม่ได้ปล่อยวาง ไม่ได้เสียสละ เพราะเราจะเอา มันไม่ถูก เราต้องเสียสละ เราพากันทำงานเพื่อเอา เราพากันเรียนหนังสือก็เพื่อเอา ท่านว่า "มันผิดหลักธรรมชาติ" ความสุขความดับทุกข์มันจะมาจากไหนได้? ความสุขความดับทุกข์มันก็มาจากวัตถุ ไม่ได้มาจากสติจากจิตใจ ที่มีสติปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำดีๆ ทำถูกต้องตามโลกสมมุติ เพื่อเราจะได้เสียสละ เค้าสมมุติตำแหน่งหน้าที่การงานเพื่อจะให้เราเสียสละ เพื่อให้เราไม่มีตัวมีตน ถ้าเราไม่เสียสละตัวเราก็ยุ่ง...คนอื่นก็ยุ่ง มันมุ่งแต่การเห็นแก่ตัว พ่อก็เอาแต่ใจ แม่ก็เอาแต่ใจ ลูกก็เอาแต่ใจ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาแต่ใจ ท่านให้เราเอาธรรม ต้องเสียสละให้ได้ ต้องเอาศีลเอากฎหมายให้ได้ เพราะเราจะได้เข้าถึงความไม่เห็นแก่ตัว
คนมีศีลนั้น หอมอยู่เสมอ หอมทั้งตามลมและทวนลม หอมทั้งในเวลามีชีวิตอยู่ และละโลกนี้ไปแล้ว เป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของคนทั่วไปในเวลาที่มีชีวิต เป็นที่เสียดายอาลัยรัก และกล่าวขวัญสรรเสริญ ถึงในเวลาที่ตายไป ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่มีชีวิต คนมีศีลไม่มีพิษมีภัยต่อผู้ใด มีกิริยาวาจาละมุนละไม น่ารัก ไม่ฆ่าตี ข่มเหง เบียดเบียน ทำร้ายใคร ทั้งด้วยกายและวาจา ประกอบด้วยความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่เป็นนิจ ด้วยเหตุนั้น ศีลเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ (สีลํ อาภรณํ เสฏฺฐํ) เพชรนิลจินดาและอาภรณ์อันมีค่า มิใช่เครื่องประดับอันประเสริฐ เพราะไม่อาจทำกาย วาจา ใจ ของผู้ประดับให้งดงามได้ คนมีศีลเป็นเครื่องประดับ จึงงดงามทุกเมื่อ