แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๕ เมื่อเราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณา มันก็ถูกแรงถ่วงของโลกธรรมดึงดูดไปไม่จบสิ้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำไมลูกเค้าไม่เคารพเรา หลานเค้าไม่เคารพเรา เพราะสาเหตุเราเป็นคนยังไม่มีศีล ยังไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ลูกหลานก็ว่าเราเป็นที่พึ่งของเค้าไม่ได้ เราเป็นหลักให้เค้าไม่ได้ เพราะเราไม่มองเห็นความสำคัญ ทำไมพระที่บวชมาใหม่เค้าไม่เคารพเรา ไม่นับถือเรา ก็เป็นเพราะเราเองที่ยังไม่มีศีลไม่มีธรรม ยังเอาตัวตนเป็นหลัก ด้วยเหตุผลนี้ เราทุกคนถึงต้องมาปรับปรุงตัวเอง ที่วันก่อนพูดเรื่องสมาทาน ความตั้งใจ ทำไมในครอบครัวเราถึงไม่มีความสมัครสมานสามัคคี เพราะอันหนึ่งยังไม่มีการไว้วางใจกัน สามีภรรยาไม่ไว้วางใจกัน เพราะศีลไม่ดี ทำไมตัวเองไม่มีกำลังใจ เพราะตัวเองไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะดูเเล้วปัญหา ชาวบ้านเค้าไม่มีความสมัครสมานสามัคคีกันเลย อย่างที่ทำส่วนรวมส่วนอะไรนี้เค้าจะไม่เอากัน อย่างตัดหญ้าตัดอะไร หรือทำอะไรส่วนรวม เค้าไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเค้าไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านเ ป็น อบต. เพราะว่าเค้าไม่มีเงินเดือนอะไร
คนเราไม่มีเสียสละ มีเเต่จะเอา เราต้องมาเปลี่ยนเเปลงความคิดของตัวเอง ให้ปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะเค้ายังไม่เเน่ใจว่าตายเเล้วเกิด หรือตายเเล้วสูญ ปัญหานี้เราจะเเก้ด้วยการปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ให้เข้าถึงความดับทุกข์ เราปฏิบัติในปัจจุบัน เข้าถึงความดับทุกข์เเล้วอีกชั่วโมงข้างหน้า หรือว่าอีกกี่วินาทีข้างหน้า ไม่มีความทุกข์ที่สร้างปัญหาให้กับเรา เหมือนที่เราไปยืมเงินธนาคาร เราทำไม่ดีเหมือนกับยืมเงินเค้า เราทำดีก็เหมือนที่เราได้ขายที่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นอย่างนั้น มันจะจัดการสิ่งไม่ถูกต้องให้ถูกต้องในปัจจุบันต้องรู้จักทุกข์ทางกาย เเล้วก็ต้องรู้จักทุกข์ทางใจ
ปัญหาต่างๆ มันติดอยู่ที่ทุกคนไม่อยากเปลี่ยนเเปลงไม่อยากเเก้ไข มันต้องเปลี่ยนเเปลง เราทุกคนต้องเปลี่ยนเเปลงตัวเอง เราจะเป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ได้ ทุกคนต้องอย่าไปติดสุขติดสบายไม่ได้ จะไปติดขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้ ทุกคนไม่อยากเเก่ มันไม่ได้ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากไม่ได้ ทุกคนต้องเเก้ที่ตัวเอง เเก้ที่จิตที่ใจ ถ้าเราไม่อยากเเก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก ไม่อยากเป็นอย่างโน่นอย่างนี้ เค้าเรียกว่าเราเป็นคนบ้า เป็นคนไม่รู้สัจจะธรรม น่าจะขอบคุณความขี้เกียจที่จะให้เราได้เเก้จิตเเก้ใจ ขอบคุณความที่ไม่ได้ตามใจตามอารมณ์ อันนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะไปห่วงทำไม ถ้างั้นมันทุกข์หลายต่อ เพื่อเข้าสู่วิปัสสนา
ความสุขที่เป็นพวกสวรรค์ พวกความรวย ความสุขทางร่างกาย ความสุขทางเนื้อหนัง อำนวยความสะดวก ความสบาย เราต้องพากันละ เพราะว่ามันไม่ใช่ความดับทุกข์ที่เเท้จริง นี้มันคือการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องเห็นโทษของความเกิด เห็นโทษของความเเก่ ความตาย ความพลัดพราก เมื่อเราติดในสิ่งเหล่านี้ ย่อมมีรส มีชาติ
(พูดเรื่องจิตเรื่องใจเรื่องภาวนา เรื่องวิปัสสนา) สมาธิของเรานี้ เราไม่ต้องเอาถึงอัปปนา เอาอุปจารสมาธิที่สงบระงับนิวรณ์ให้ได้ก่อน ในอิริยาบถต่างๆ เพื่อเราจะได้เจริญใจของเราให้เกิดปัญญา การงานของเราทุกอย่างให้มันเป็นอริยมรรค ให้มันเป็นการปฏิบัติธรรม ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับคนหนุ่มคนสาว ไม่เกี่ยวกับคนเเก่คนเฒ่า มันเกี่ยวกับใจของเราที่ประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ทุกคนถ้าไม่ส่องกระจกดู ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเเก่ ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงผู้ชายหรอก ต้องพัฒนาใจของเรา เมื่อเรายังมีสักกายทิฏฐิอยู่ ก็ย่อมต้องมีปัญหา ต้องห่วงลูก ห่วงหลาน ยิ่งเเก่ก็ยิ่งทุกข์
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ เราจะยิ่งติดความสะดวกความสบาย เหมือนผู้ที่มาบวชใหม่ๆ เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร มาเเล้วก็มาติดสุข ทำไมผู้มาบวช ทำไมมันไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้พัฒนาใจของเราในปัจจุบัน การทำความเพียรอะไรทุกอย่าง เราอย่าไปเอา ให้ทุกคนปลดปล่อยตัวเอง เเก้ตัวเอง เพราะเราเป็นคนผูกมัดตัวเอง เราฝังตัวเอง มันต้องรู้จักตัวเองเหมือนกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระโอรสประสูติออกมา อุทานเลยว่า ราหุลัง ชาตัง บ่วงเกิดขึ้นแล้วๆ จนได้ตั้งชื่อว่า ราหุล เเสดงว่าพระพุทธเจ้ารู้จักใจตัวเอง ว่าตัวเองจะเสียบารมีเเห่งความโพธิสัตว์ ที่วันก่อนพูดเรื่องพระทำอะไรไม่ดี พระท่านก็ไม่อยากเป็นอย่างนั้นหรอก เพราะมันติด ใจมันหลง เมื่อเราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณา มันก็ถูกแรงถ่วงของโลก ความดึงดูดของโลก มันก็ดูดไป เพราะว่าเราจับหลัก จับประเด็นไม่ได้ ใจเรามันเมื่ออวิชชาความหลง หรือว่ากาม มันลงใจของเรามาก ใจของเรามันมืด เราต้องรู้จัก ถ้าเราไม่รู้จัก เราก็อยากจะไปหากามมันอีก มันก็ไปเข้าล็อคของมันอีกเเล้ว เพราะว่าเราไปอยาก เพราะเราไม่เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราจะไปละไปอะไรมัน เราก็ไปสร้างปัญหาขึ้นมาอีก เพราะเราเอาความอยากเป็นที่ตั้ง เราต้องรู้จักเรื่องความอยาก เรื่องตัวเรื่องตน เราไม่มีหน้าที่ที่จะอยาก เรามีหน้าที่คิดให้มันถูกต้อง พูดให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง เราต้องมาเสียสละ คนเรานี้สำคัญว่าดีกว่าเค้า สำคัญว่าเลวกว่าเค้า สำคัญว่าอันโน่นอันนี้อะไร มันไม่รู้ว่าความเคลื่อนไหวของตัวตน มันยังเป็นมานะเป็นตัวตน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาชื่อจาลิกา ทรงปรารภท่านพระเมฆิยะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ” เป็นต้น.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาจาลิกา ใกล้เมืองจาลิกา สมัยนั้นพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก เช้าวันหนึ่งพระเมฆิยะทูลขอลาไปบิณฑบาต ณ ชันตุคาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแล้วก็เข้าไปบิณฑบาต ขากลับได้พบสวนมะม่วงแห่งหนึ่งน่ารื่นรมย์ เหมาะที่จะทำความเพียร จึงรีบกลับมากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าจะขอลาไปทำความเพียรที่สวนมะม่วง พระพุทธเจ้าตรัสยับยั้งไว้ว่า ”ขอให้อยู่ก่อนจนกว่าจะมีภิกษุรูปอื่นมาเป็นอุปัฏฐากแทน” แต่พระเมฆิยะก็ยังคงยืนยันที่จะไปทำความเพียรที่สวนมะม่วง พระพุทธเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่ยอมฟัง
ทูลว่า ”พระองค์ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว ส่วนตนยังต้องทำความเพียรเพื่อคุณยิ่งๆ ขึ้นไปอยู่” พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า”เมื่อเธอพูดว่าจะไปทำความเพียรเพื่อคุณที่ยิ่งขึ้นไป เราจะพึงกล่าวอะไรได้อีกเล่า”
พระเมฆิยะไปยังสวนมะม่วงนั้นเพื่อทำความเพียรตามที่ตั้งใจแต่ทำไม่ได้เพราะถูกวิตกทั้ง ๓ ครอบงำ วิตกทั้งสามนั้นคือ กามวิตก ความตรึกเรื่องกาม, พยาบาทวิตก ความตรึกเรื่องพยาบาท, วิหิงสาวิตก ความตรึกเรืองการเบียดเบียน (อรรถกถาเล่าว่า สวนมะม่วงนั้นเคยเป็นพระราชอุทยานของพระเมฆิยะในชาติหนึ่งเมื่อพระเมฆิยะเป็นพระราชา เมื่อท่านไปทำความเพียรที่สวนมะม่วงนั้น สัญญาเก่าๆ เกิดขึ้นจึงฟุ้งซ่านด้วยวิตกต่างๆ ไม่อาจทำจิตให้สงบได้) จึงกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องวิตกนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องแล้วได้ทรงแสดงธรรม อันเป็นคุณสมบัติ ๕ ประการเพื่อบ่มเจโตวิมุตติ ที่ยังไม่แก่กล้าให้แก่กล้า (เจโตวิมุตติ = ความหลุดพ้นทางใจ หมายถึง สมาธิหรือฌานระดับต่างๆ) คุณสมบัติ ๕ ประการนั้นคือ
๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
๒. เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาฏิโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๓. เป็นผู้ใด้โดยไม่ยากซึ่งอภิสัลเลขกถา คือ ถ้อยคำเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ในพระสูตรท่านขยายความเป็นกถาวัตถุ ๑๐ กล่าวคือ ถ้อยคำที่ควรนำมาพูดกันนำมาสนทนากัน กถาวัตถุ ๑๐ นั้นคือ
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นต้น
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษในปัจจัย ๔ เป็นต้นตามมีตามได้
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้พอใจในความสงบสงัด
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะโดยไม่จำเป็น
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร คือทำความเพียรสม่ำเสมอติดต่อ มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีศีล ๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เจริญสมาธิ
๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้อบรมปัญญา
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้หลุดพ้นจากกิเลส
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้รู้เห็นในความหลุดพ้นนั้น
๔. เป็นผู้มีความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
๕. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา ฃที่ทำให้รู้เห็นความเกิดและความดับแห่งสังขารทั้งหลาย และประกอบปัญญาชำแรกกิเลสรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจ ๔ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ
- ตนจักเป็นผู้มีศีล
- ตนจักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
- ตนจักได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส...วิมุตติญาณทัสสนกถา
- ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร...ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
- ตนจักเป็นผู้มีปัญญา...ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมื่อทรงแสดงคุณสมบัติ ๕ ประการนี้แล้ว ได้ทรงแสดงธรรมอีก ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ ๑. พึงเจริญอสุภภาวนา เพื่อละราคะ
๒. พึงเจริญเมตตาภาวนา เพื่อละพยาบาท
๓. พึงเจริญอานาปานสติ เพื่อตัดอกุศลวิตกทั้ง ๓
๔. พึงเจริญอนิจจสัญญาภาวนา เพื่อถอนอัสมิมานะ(ความทะนงตน)
อนึ่ง ผู้ได้อนัตตสัญญาอันสืบเนื่องมาจากอนิจจสัญญานั้น ย่อมเพิกถอนอัสมิมานะเสียได้ สามารถบรรลุนิพพานได้ทีเดียว
ทรงโอวาทพระเมฆิยะดังนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า “วิตกอันเลวทราม วิตกอันละเอียดเป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้วไม่ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้ ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่ ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มีสติ ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้แล้ว ย่อมปิดกั้นเสีย พระอริยสาวกผู้ตรัสรู้แล้วย่อมละได้เด็ดขาดไม่มีส่วนเหลือ ซึ่งวิตกเหล่านี้ที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่าน”
พระพุทธองค์ได้ตรัสสองพระคาถาสอนพระเมฆิยะ ว่า
"ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุ ํ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ
วาริโชว ถเล ขิตฺโต โอกโมกตอุพฺภโต ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ มารเธยฺยํ ปหาตเว ฯ
ชนผู้มีปัญญา ย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก อันบุคคลรักษาได้ยาก ห้ามได้ยาก ให้ตรง ดุจช่างศรดัดลูกศรให้ตรง จิตที่พระโยคาวจรยกขึ้น จากอาลัย คือ กามคุณห้า แล้วซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อละบ่วงมาร ย่อมดิ้นรน ดุจปลาอันนายพรานเบ็ด ยกขึ้นจากน้ำแล้วโยนไปบนบกดิ้นรนอยู่"
จิตนี้ คือที่ยินดีแล้วในอาลัยคือกามคุณ ๕ อันพระโยคาวจรยกขึ้นแล้วจากอาลัย คือกามคุณ ๕ นั้น ซัดไปในวิปัสสนากัมมัฏฐาน เผาด้วยความเพียรอันเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต เพื่อละวัฏฏะ กล่าวคือ บ่วงมาร ย่อมดิ้นรน คือย่อมไม่อาจตั้งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นได้, เหมือนอย่างปลานั้นอันพรานเบ็ดยกขึ้นจากอาลัยคือน้ำแล้วโยนไปบนบก เมื่อไม่ได้น้ำย่อมดิ้นรนฉะนั้น. แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ บุคคลผู้มีปัญญา ไม่ทอดธุระ ย่อมทำจิตนั้นให้ตรง คือให้ควรแก่การงาน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. อีกนัยหนึ่ง จิตนี้ คือที่ละบ่วงมารคือกิเลสวัฏไม่ได้ ตั้งอยู่ย่อมดิ้นรนดุจปลานั้นฉะนั้น, เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรควรละบ่วงมารเสีย คือควรละบ่วงมาร กล่าวคือกิเลสวัฏอันเป็นเหตุดิ้นรนแห่งจิตนั้น
การดิ้นรนของใจและวิธีการฝึกใจให้อยู่ในบังคับบัญชานั้น เป็นเหมือนกับการทำงานของช่างศรที่นำไม้มาจากป่าแล้วปอกเปลือกออก ทาด้วยน้ำข้าวและน้ำมัน ลนที่กระเบื้องถ่านเพลิง ดัดที่ง่ามไม้ ทำให้ตรง ไม่คด เหมาะแก่การยิง เมื่อช่างศรทำได้เช่นนั้นแล้ว เมื่อแสดงศิลปะการใช้ลูกศรแด่พระราชาและมหาอำมาตย์ ย่อมได้สักการะ
บุรุษผู้มีปัญญาก็เช่นเดียวกัน หากฝึกใจที่มีสภาพดิ้นรนให้หมดพยศ คือ ให้ปราศจากกิเลส ด้วยอำนาจแห่งธุดงค์และการอยู่ป่า ชโลมด้วยยาง คือ ศรัทธา ลนด้วยความเพียรทั้งทางกายและทางใจ ดัดที่ง่าม คือ สมถะและวิปัสสนา ทำให้ตรงไม่คด แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ทำลายกองอวิชชาน้อยใหญ่ ทำคุณวิเศษ คือ วิชชาสาม วิชชาแปด อภิญญาหก โลกุตรธรรมเก้า ให้อยู่ในเงื้อมมือ ย่อมได้เข้าถึงความเป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ
ในกาลจบคาถา พระเมฆิยเถระได้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล.
เราทุกคนน่ะ มีปัญหาเรื่องความทุกข์ทั้งทางกาย ทั้งทางใจทุกๆ คน มีหน้าที่... มีปัญหา... ที่จะต้องแก้ทุกข์ ดับทุกข์ ปัญหาทุกข์ทางกายนั้นเป็นสัจธรรม เป็นความจริงของดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นความแก่ เป็นความเจ็บ เป็นความตาย มันเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้อย่างแท้จริง มันเป็นเพียงบรรเทาทุกข์ชั่วขณะ ชั่วเวลา
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ปัญหา มาแก้ความทุกข์ที่จิตที่ใจของเรา คนเราทุกๆ คนนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้แก้ที่ใจ ฝนตกเราก็มาแก้ที่ใจ แดดออกก็มาแก้ที่ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เราต้องมาแก้ที่ใจของเราหมด ต้องทำใจดี ใจสบาย ทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ถ้าใจของเราคิด ใจของเราดิ้นรน มันก็ยิ่งทุกข์มาก เราจะไปโทษโน้นโทษนี้ มันไม่ได้
ถ้าเราไม่เกิดมา ปัญหาต่างๆ มันก็ไม่มี ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่ต้องทานอาหาร ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน
การที่จะไม่เกิดนั้น ที่จะแก้ไขได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราไม่ตามความอยาก เพราะความอยากของเรานี้ ถมเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม กองไฟ ยิ่งโลภ ยิ่งโกรธ ยิ่งหลง ก็ยิ่งทุกข์ พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันมีสมาธิให้มากๆ พยายามอด พยายามทน พยายามฝืน
'สมาธิ' ของเราทุกคนต้องแข็งแรง ไม่ใช่เจอสิ่งต่างๆ นั้น วิ่งตามไปหมด ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีกำลังเสียเลย
ร่างกายของเราก็มีอิทธิพลต่อเรา ดิน ฟ้า อากาศ เพื่อนฝูง หมู่คณะ สิ่งต่างๆ นั้น มันมีอิทธิพลเหนือใจเรา ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราทุกคนย่อมตกอยู่ในอิทธิพลทางกาย ทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ แน่นอน
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกคนพากันฝึกสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ อยู่กับอานาปานสติ มาอยู่กับการหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... จะได้ไม่หลงประเด็น พยายามตั้งมั่นไว้ ตั้งหลักไว้ ฝึกหายใจเข้า-ออกให้สบายไว้ทุกอิริยาบถ เท่าที่เราคิดได้ ระลึกได้ นอกนั้นก็ให้เรามีสติสัมปชัญญะในการทำงาน และก็มีความสุขในการทำงานด้วย
เราทุกคนนั้นต้องเอาความสุข เอาความดับทุกข์ในการทำงาน ใจของเรามันมีความโลภ มีความหลงน่ะ ทำงานมันก็ไม่มีความสุข กิเลสมันฟุ้งขึ้นมาตลบอบอวลไปหมด เราพยายามข่มใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความสุขกับการทำงานให้ได้ วันหนึ่งเวลาตื่นของเรามันตั้งเกือบ ๒๐ ชั่วโมง เวลานอนนิดเดียว ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะในการทำงาน ชีวิตของเรามันก็แย่ ไม่มีความสงบ...ความเยือกเย็น การทำงานถือว่าเป็นหน้าที่ เป็นการปฏิบัติธรรม
คนเราน่ะความสุข ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจมีสมาธิ คนเราจะต้องเอาความสงบ ความดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน
ชีวิตของเราทุกคนขึ้นอยู่ที่เหตุที่ปัจจัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี" ระบบทางกายก็มาจากเหตุจากปัจจัย ระบบทางใจก็มาจากเหตุจากปัจจัย
กรรม คือการกระทำของตน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกท่าน ทุกคนจะหลีกหนีไปไม่ได้ ทุกคนย่อมเป็นไปตามการกระทำของเราเอง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ มาแก้ที่ใจของตัวเองให้ได้ ถ้าเราไม่แก้จิตใจของเรา เราก็เป็นคนตกนรกทั้งเป็น เราไม่ตาย เราก็ตกนรก ส่งผลให้เราวิตกกังวล ให้เราเครียด ให้เป็นโรคประสาท ให้เป็นโรคจิต
'กรรม' นั้นมันตกถึงญาติพี่น้อง คอยให้คนอื่นทุกข์กายทุกข์ใจไปด้วย ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนจึงมีความจำเป็น มีความสมควรที่จะต้องปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ก็คือ การไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามกิเลสตัวเอง เอาศีลเป็นที่ตั้ง 'ศีล' นั้นคือ ความไม่โลภ ไม่หลง
'ศีล' นั้นคือ อุปกรณ์ คือเทคโนโลยีที่จะทำให้เราก้าวไปในทางที่ดีที่ประเสริฐ ทุกคนต้องมีจุดยืน คือ 'ศีล'
การรักษาศีลไม่ใช่การลิดรอนสิทธิ์ของตัวเอง มันเป็นการสร้างศักยภาพให้กับตัวเอง คนเราจะเดินทางมันต้องเดินทางด้วยถนน มันจะได้ถึงจุดหมายปลายทางได้
กิเลสมันเป็นสิ่งที่ไม่จบ... เราจะไปเชื่อตนเองไม่ได้ คนเราถ้าไม่มีศีล ไม่มีธรรม ธรรมะมันก็เกิดขึ้นไม่ได้
'ศีล' นี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ การรักษาศีลนั้นให้เน้นมาที่ใจ ใจเน้นมาที่เจตนา
การรักษาศีล ก็คือการรักษาใจของตัวเอง การรักษาศีล ก็คือ การรักษาเจตนาของตัวเอง เพื่อฝึกตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหามรรคผลพระนิพพาน
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนนั้น ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามคุณพ่อคุณแม่ ตามสังคม ตามความเคยชินของตัวเอง บางอย่างก็ถูกต้อง บางอย่างก็ผิด
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกๆ คน ให้เอาศีลเป็นหลัก ต้องมีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำความดี ใจของเราต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยอาศัยศีลเป็นหลัก วาจาของเราก็ต้องปรับปรุงให้ดี
ส่วนใหญ่คนเราก็ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ระมัดระวัง เพราะวาจาคำพูดของเรานี้แหละ มันมีทั้งความสร้างสรรค์ มีทั้งความรัก มีทั้งความเมตตา ความสามัคคี มีทั้งประหัตประหาร เปรียบเสมือนลูกระเบิดพกไว้ในปาก ตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น เราจะพูดให้มันถึงใจของเราไม่ได้ เราต้องตั้งปณิธานไว้ว่า ชาตินี้จะไม่ทะเลาะกับใคร เราจะไม่โกหกใคร เราจะไม่ว่าไม่ด่า พูดไม่ดีกับใคร ถึงแม้เรื่องนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกแต่มันทำให้ไม่สงบ เราก็สมาทานจะไม่พูด
เราสมาทานตั้งมั่นไว้ว่าเราจะไม่นินทาใคร เราเคยพูดใช้สำนวนไม่ดี ไม่เรียบร้อย เราก็สมาทานพูดให้มันเพราะ...มันดี ให้มันสุภาพเรียบร้อย ถึงใจโกรธเท่าไหร่ เกลียดเท่าไหร่ เราก็จะรักษามารยาทกิริยาไม่ให้มันแสดงออกมา ถ้าเราทำอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ ตัวเราก็มีความสุข ครอบครัวเราก็มีความสุข ไม่มีปัญหาเรื่องการเรื่องงาน ไม่มีปัญหาเรื่องหย่าร้าง ไม่มีปัญหาเรื่องเสพติดต่างๆ เพราะเราเป็นที่พึ่งของตัวเอง และเป็นที่พึ่งของคนอื่น
ทุกคนทุกท่านมาปฏิบัติธรรม ให้เรามาทบทวนคำพูดของตัวเองว่าเราทุกคนนั้นต้องมาทบทวนคำพูด ทบทวนตัวเอง เราจะได้สร้างเหตุสร้างปัจจัยของความดับทุกข์ เราพูดเพราะ พูดดี พูดสุภาพ เราไม่ต้องอายใคร
พระพุทธเจ้าให้เราพูดดี พูดเพราะสม่ำเสมอ ทั้งในครอบครัวในสังคม การพูด การทำงาน การงานของเรา เราจะต้องมีความสุขในการทำงาน ทำงานให้มีความสุข ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสุขทุกอย่าง
มนุษย์เรามันเกิดมาเพราะความเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้เราทุกคนมาเสียสละ ทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปกลัวร้อน อย่าไปกลัวหนาว อย่าไปกลัวดำ ทำงานให้มีความสุข เสียสละอย่างดี เสียสละรับผิดชอบทั้งอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน
คนขี้เกียจขี้คร้านสมองมันก็ทื่อ สมองมันก็ทึบ คิดอะไรไม่ออก เห็นสิ่งที่ควรจะทำ มันก็มองไม่เห็น สิ่งที่ไม่ควรทำ มันก็มองไม่เห็น
ทุกๆ ท่านทุกคนต้องสมาทานในความขยัน ในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน คนแบบนั้นเป็นคนไม่ฉลาด เห็นแก่ตัว
ถ้าเราคิดอย่างนั้น ใจของเรามันมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อเกียจคร้าน นั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ที่เขาให้เราเรียนหนังสือ ให้ตำแหน่งในการทำงานของเราก็เพื่อจะให้เราเป็นคนขยันรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว ถ้าเราเป็นคนขยันไม่เห็นแก่ตัว เราก็เหมาะที่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เหมาะที่จะได้รับตำแหน่งที่จะควรเคารพบูชา เราจะได้เป็นที่รักของผู้หลักผู้ใหญ่ ลูกน้องพ้องบริวาร
ทุกท่านทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้าน ฝืนมันตลอด อดมันตลอด ธุดงค์ แปลว่าฝืน แปลว่าอด แปลว่าทน ทุกคนต้องสมัครใจเอง ศรัทธาเอง เพื่อสมาทานสิ่งที่ดีๆ เพื่อเราจะได้ฝน จะได้อด จะได้ทน ถ้าเราไม่ได้ฝืน ไม่ได้อด ไม่ได้ทน นั้นมันเสียเวลา หลายคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมมันยากลำบาก มันต้องผืน ต้องอด ต้องทน มันเป็นความเครียด มันทรมานตัวเอง คิดอย่างนั้น... มันคิดไม่ถูก เพราะ คนเราจะดับทุกข์ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย
ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นตัวของตัวเอง เอาศีลเป็นที่ตั้ง ที่เราได้เสียสละถือว่าเราจะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาครอบครัวองค์กรและประเทศชาติ เราจะได้สร้างตัวเองเป็น 'ปูชนียบุคคล' เป็นแบบอย่างของกุลบุตรลูกหลาน คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ภูมิใจว่าลูกของท่านเป็นลูกที่ประเสริฐ ท่านจะได้มีความสุขกาย สบายใจ