แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๒ สำคัญอยู่ที่ใจตั้งมั่น อยู่ที่การสมาทานเเล้วประพฤติปฏิบัติตาม ทำงานด้วยจิตว่าง จึงเปลี่ยนเเปลงตัวเองได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อหลายวันก่อน ได้พูดเรื่องสมาทานความตั้งใจ พ่อเเม่ครูบาอาจารย์ ท่านย้ำอีก ว่าเราทุกคนต้องสมาทาน ถ้าเราไม่สมาทาน มันไม่เป็นศีล ไม่เป็นสมาธิ เเล้วปัญญาของเรามันก็จะเกิดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจตั้งเจตนาเต็มที่ เต็มร้อย มันจะเลื่อนลอย เราต้องสมาทานว่า อันนี้ไม่คิด อันนี้ไม่พูด อันนี้ไม่ทำ เราจะขยัน เราจะรับผิดชอบ อดทน สมาทานมันต้องตั้งใจเป็นพิเศษว่า ชีวิตของเราเกิดมาเพื่อที่จะเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นที่ตั้ง
ถ้าเราสมาทานเเล้วทีนี้น่ะ มันก็จะปลงสังขาร เหมือนผู้ที่มาบวช บวชเป็นพระวัดป่า พระวัดป่าเค้าฉันวันละครั้ง เค้าก็จะไม่หิว เพราะเค้าสมาทานเเล้ว เค้าตัดปลิโพธเเล้วว่า ถ้าเป็นพระวัดบ้านเค้าก็จะหิว เค้ามีหวังที่เค้าจะได้ฉันอยู่ ความคิดอารมณ์อะไรต่างๆ ก็เหมือนกัน เราต้องสมาทานหยุด เราต้องปรับ ปรับเรา เรามีโอกาสดีพิเศษ เราพากันมาบวช งานภายนอกเรานี้หมดเเล้ว สมาทานยังไม่พอ เราต้องสมาทานเวลาด้วย ถึงเวลานี้เราต้องตื่น ถึงเวลานี้เราต้องทำโน่นทำนี้ เพื่ออย่างนี้ ต้องตั้งใจ เพราะคนเรามันสำคัญอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความตั้งมั่นอยู่ที่การสมาทาน สมาทานเเล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ มันเปลี่ยนเเปลงตัวเองไม่ได้ เมื่อเราปฏิบัติเป็น อยู่ในใจของเรา มันก็จะชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้นทุกวัน ถ้าเราไม่สมาทาน ใจมันก็จะล่องลอย จิตใจของเรามันก็จะลูบคลำในศีล ในข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราต้องสมาทาน
เรื่องการเจริญปัญญา เจริญสติสัมปชัญญะ เราต้องสมาทาน เเม้เเต่อาหารอร่อยถ้ากินทุกวันๆ มันก็เบื่อ เพราะอารมณ์ของเรามันยังเป็นโลกีย์อยู่ อาหารอร่อยถ้าเรากินทุกวันมันก็เบื่อ ที่เราคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ อย่างนี้ไม่กี่วันมันก็เบื่อ เราต้องสมาทาน อยู่เหนือความชอบ ความไม่ชอบ อยู่เหนือความเบื่อ ความไม่เบื่อ สิ่งเหล่านี้มันต้องเเก้ด้วยวิปัสสนา เหนือความเบื่อ ไม่เบื่อ เหนือ ความชอบ ไม่ชอบ เราอย่าไปสนใจมัน เห็นไหม คนเรา เดี๋ยวอยากไปเที่ยวโน่น เดี๋ยวอยากไปเที่ยวนี้ มันก็เบื่อ ไปเเล้ว มันก็ไปว่าสิ่งอื่นอีก ทั้งที่กรรมเวรตัวเองสร้างเองเเท้ๆ เหมือนพระเรา พระธุดงค์ ธุดงค์ทุกปี ถึงเวลาออกธุดงค์ มันก็จะกระปรี้กระเปร่า ไปเเล้วมันก็อยากจะกลับ เพราะธุดงค์มันทุกข์ยากลำบาก การสมาทานในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ทำทุกวันก็จะเบื่อ ต้องมีการสมาทาน ให้เราคิดดี เพราะคนเรามีความตายอยู่ทุกขณะ ทุกจิต ทุกลมหายใจ ดูคนอายุ 50-60 ปีอีกไม่กี่ปีมันก็ตายเเล้วนะ ต้องละสังขาร ปลงสังขาร อย่าเอาความยึดมั่นถือมั่นเป็นที่ตั้ง พระเราอยู่ตามวัด หรือโยมอยู่ตามบ้าน ไม่ได้สมาทานหรือตั้งใจ มันก็ไปไม่ได้
เมื่อเราจะไป ไปต่างประเทศ เราก็ต้องไปสนามบิน สุวรรณภูมิ หรือไปสนามบินดอนเมือง ที่บางลำก็ไปต่างประเทศ ไปเเล้วก็ต้องขึ้นไปนั่งบนเครื่องบิน เราต้องขึ้นเครื่องบิน ถึงจะไปได้ อย่างนั้นมันต้องทั้งอัตถะ ทั้งพยัญชนะ เราทุกคนมักง่ายนะ ฟรีสไตล์ ให้เวลามันผ่านไปวันๆ ถ้าเราไม่สมาทาน ไม่ปฏิบัติ ศีลเราก็ไม่มีเลยนะ สมาธิเราไม่มี ปัญญามันจะเกิดได้ยังไง ประชาชนเค้าถึงมองพระวัดบ้าน คนระดับดีๆ ระดับปัญญาชนในสังคมเค้าก็ไม่อยากไหว้พระที่เป็นพระไม่ได้สมาทานไม่ได้ตั้งใจที่เอาพระธรรมพระวินัย เพราะประชาชนเค้าคิดว่าเค้าไม่ได้บวช เค้ายังมีศีลมากกว่าพระอีก เพราะประชาชนเค้ารับไม่ได้ เราก็เหมือนกัน เรามองตัวเอง เราก็รับไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้สมาทาน ไม่ได้ตั้งใจ มีใครรับได้ไหม เรารับไม่ได้ เพราะเราไม่ได้สมาทาน ไม่ได้ตั้งใจ
เรานี้ถ้าไม่สมาทานไม่ตั้งใจ เราก็เห็นตัวเอง เห็นบาดเเผลตัวเอง เห็นความบกพร่องตัวเอง เพราะตัวเองรู้อยู่เเก่ใจ เราเป็นเด็กก็จริง เเต่อนาคตเราก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเเก่ ยิ่งเราเป็นคนเเก่ เราไม่ตั้งใจ เราไม่สมาทาน ไม่ได้เนอะ เราจะเอาตามอัธยาศัยวันไหนขยันก็กราบพระไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ วันไหนไม่ขยันร่างกายไม่อำนวยก็ไม่ทำ อย่างนี้เค้าเรียกว่าคนไม่สมาทาน คนไม่ได้ตั้งใจ
ให้เราสร้างความศรัทธาในพระพุทธเจ้าที่ท่านได้บำเพ็ญบารมีมาจนได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้นำพระธรรมมาตรัสสอนเราให้ออกจากกองทุกข์ ซึ่งตอนแรกพระองค์ทรงดำริว่าจะไม่ตรัสสั่งสอนแล้ว แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีในพระราชหฤทัยของพระองค์ จึงทรงได้โปรดสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้เรามีความศรัทธาอย่างมากและตั้งมั่นอย่างเต็มหัวใจในองค์พระพุทธเจ้า พยายามน้อมจิตใจเข้าหาพระพุทธเจ้า เข้าหาพระรัตนตรัย กราบพระ ไหว้พระ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ให้ทานทุกๆ วัน ตั้งมั่นในศีลปฏิบัติในศีลไม่ให้ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ให้ลูบคลำศีล ให้ตั้งมั่นให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์อย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย ส่วนมากเราจะกลัวที่จะรักษาศีล กลัวจะรักษาไม่ได้ ให้เข้าใจว่าการมีศีล หรือการปฏิบัติรักษาศีลนั้น สำคัญอยู่ที่เจตนาให้เรามีเจตนาในการรักษาทั้งทางกาย วาจา และใจให้บริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเราได้รักษาศีล "ต้องรักษาให้ถึงจิตถึงใจ" รักษาด้วยความพอใจสบายใจ เพราะชีวิตของเรานี้สำคัญมาก เกิดมาก็อย่าให้พลาดโอกาส อย่าให้เสียโอกาสที่ใหญ่หลวงนี้
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นภาคปฏิบัติ เราต้องเอามาปฏิบัติ เราต้องทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปให้สม่ำเสมอ เมื่อเรารักษาศีลได้ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์สม่ำเสมอเป็นปฏิปทา สมาธิของเราก็จะเกิดเพราะมีศีลเป็นพื้นฐาน เหมือนเราปลูกบ้านเราต้องมีที่ดินมีการตอกเสาเข็มมันถึงจะตั้งอยู่ได้มั่นคง ศีลก็เหมือนกันเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ ให้สมาธิมีความมั่นคง ถ้าเรารักษาศีลได้อย่างสม่ำเสมอ สมาธิของเราก็จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเรารักษาศีลได้บริสุทธิ์เท่าไหร่ สมาธิของเราก็ยิ่งบริสุทธิ์ ศิลที่พระพุทธเจ้าสอนนั้น มีศีลทางโลกก็มี ศีลเข้าถึงพระนิพพานก็มีซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่ง เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
ถ้าเรารักษาศีล ๕ ได้เราก็ได้พ้นจากอบายภูมิไม่ตกนรก ถ้าเรายังไม่ถึงนิพพาน เราก็มีแต่ความสุขความเจริญในภพชาติต่อๆ ไป ทรัพย์สมบัติ แก้ว แหวน เงิน ทอง ความสุขสบายต่างๆ นั้นเขาช่วยเราได้แต่เพียงชาตินี้ ส่งเราได้ก็แต่เพียงเชิงตะกอน
สิ่งใดที่ผิดแล้วพระอริยเจ้าท่านจะไม่ยอมละเมิด ท่านจะยอมตายเพื่อรักษาศีล ตัวอย่างเรื่องของพระสารีบุตรที่ท่านอาพาธอยู่ในถ้ำ คุยกันถึงเรื่องอาหารที่ฉันแล้วหายอาพาธกับพระมหาโมคคัลลานะ เทวดาได้ยินจึงเข้าฝันให้ชาวบ้านนำอาหารนั้นมาใส่บาตรถวายพระ ซึ่งพระสารีบุตรท่านพิจารณาอยู่ว่าเป็นวจีวิญญัติ ท่านจึงไม่ฉัน กลับเทอาหารนั้นทิ้งไปเสีย ด้วยอานุภาพของการรักษาศีลนั้น โรคปวดท้องของท่าน ก็หายโดยฉับพลัน
แต่คนส่วนมากจะไม่เห็นโทษในการผิดศีล มีความกล้าหาญในการทุศีล ถึงวันพระวันอุโบสถก็มาวัดมาเพิ่มกำลังจิตกำลังใจในการสร้างความดี มารักษาศีล ๕ ศีล ๘ มาถวายทาน ฟังธรรมะ อย่างองค์หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว หลวงปู่ชา ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านก็หนักแน่นในศีล ท่านจึงเป็นพระอริยเจ้า เราต้องเดินตามรอยพระอริยเจ้า การปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำไม่จริงก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ได้มาก็เสียไป บวก ลบ คูณ หารแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าเราจะได้กำไรหรือขาดทุน แต่ถ้าเราตั้งมั่นจริงๆ เราจะได้กำไรแน่ ทุกคนต้องทำเอง เหมือนทานข้าว หายใจทุกคนก็ทำเอง
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันต้องทำเอง การปฏิบัติธรรมยิ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าเราทานข้าว ยิ่งกว่าเราไม่มีลมหายใจเสียอีก เพราะเมื่อเราตั้งในศีลแล้วแม้จะหมดลมหายใจ เราก็ได้ไปอยู่ในภพภูมิที่สูงๆ ยิ่งขึ้นไป บางทีเรารักษาศีลเราก็สงสัยว่ามันผิดหรือถูก ผู้ปฏิบัติธรรม อย่าลังเลสงสัย ถ้าสงสัยก็อย่าฝืนทำ ถ้าทำแล้วถือว่าผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ทำ ให้เราดูเจตนาของเราว่าเรามีความเห็นแก่ตัวไหม เรามักง่ายไหม เดี๋ยวจะเป็นการฟรีสไตล์ไป เป็นการว่างที่ไม่ถูกต้อง เป็นการว่างของสามัญชน ไม่ใช่ว่างของพระอริยเจ้า
ผู้ที่ตั้งมั่นในศีลแล้วจะเป็นผู้ที่มีความองอาจกล้าหาญ สง่าผ่าเผย เพราะตนเองไม่มีความผิดในใจ ไม่มีขโมยในจิตใจ ไม่มีความกลัวเลยว่าจะตกนรก เพราะว่ารู้อยู่เต็มใจว่าตนไม่ตกนรก มันรู้ชัดเจนเห็นนรกเห็นสวรรค์ในจิตใจชัดเจน รู้ว่าตนเองไม่ไปหลงอยู่ในนรก เห็นนรกชัดเจนจนกลัว และออกจากนรกสู่สวรรค์ และนิพพานตามลำดับ เพราะจิตใจนั้นรู้ชัดเจนสว่างไสว
พระพุทธเจ้าสอนเราให้ทำใจสบาย เราก็ต้องทำใจให้สบายเหมือนที่ท่านทรงสอนเรา พระพุทธเจ้าท่านทำใจสบายอย่างไร เราก็น้อมใจของเราให้มีความสบายอย่างนั้น ให้ใจของเราเย็น ให้ใจของเราเบิกบาน ผ่องใส ให้ใจของเรายิ้ม มีความสุข มีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมให้สบาย
การเจริญปัญญาเป็นไตรสิกขาสูงสุดในพระพุทธศาสนาให้พิจารณาร่างกายของเรายกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ ให้ลอกหนังออกให้หมด เพราะหนังเป็นสิ่งปกปิดที่ทำให้ทุกคนหลง เอาออกทีละอย่างให้เราเห็นชัดเจนด้วยใจ จึงค่อยเปลี่ยนไปๆ ทีละอย่างๆ ปฏิบัติอย่างนี้เพื่อจะทำลายอัตตาที่ยึดถือว่าเรา ว่าของเรา พิจารณาวันหนึ่งหลายๆ ครั้งยิ่งดี เพื่อให้ใจของเราเกิดความชำนาญ และยอมรับความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวเรา
ไม่ใช่พิจารณาครั้งเดียวเพียงผิวเผิน หรือว่านานๆ ถึงจะพิจารณาครั้งหนึ่ง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เพราะความเพียรไม่ติดต่อกัน เหมือนคนโบราณเขาเอาไม้ไผ่มาสีไฟ สีให้เป็นไฟ สีแล้วหยุด สีแล้วหยุด สีเท่าไรก็ไม่สามารถเกิดไฟได้ เพราะว่าความเพียรไม่ติดต่อกัน ฉันใด การพิจารณาต้องพิจารณาต่อเนื่องกันไปไม่ให้ขาดสาย การพิจารณาเราไม่ต้องใช้สมาธิลึกเกินไป เพราะถ้าลึกมากมันจะพิจารณาไม่ออก จิตใจจะไม่ทำงาน
ถ้าเรานั่งสมาธิ หรือดูอารมณ์เกิดดับอย่างเดียว ปัญญาจะเกิดน้อย เมื่อเราออกจากสมาธิแล้วเราเจอสิ่งแวดล้อมเมื่อไร เมื่อเราเผลอจิตใจของเราก็จะหวั่นไหวไปกับสิ่งแวดล้อม เพราะเรายังไม่ได้ถอนราก ถอนโคน ถอนรากเหง้าความยึดถือ เพราะสังโยชน์ข้อแรกก็คือ สักกายทิฏฐิ เราต้องทำลายสังโยชน์ในข้อนี้ให้ได้ด้วยการพิจารณาให้รู้แจ้งตามเป็นจริง ให้พิจารณาให้เห็นทุกข์ เพราะว่ามีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์แล้วก็ไม่มีอะไร
ที่เราเห็นทุกข์ไม่ชัดเจน ก็เพราะอิริยาบถทั้ง ๔ มันปิดบัง ปิดบังอย่างไร เมื่อเรานั่งนาน เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเรานอน เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเราเดินมาก เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเราหิวกระหาย เราก็ดื่มเราก็บริโภคคอยเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ที่จริงความสุขนั้นไม่มี เพียงแต่เราเปลี่ยนอิริยาบถให้บรรเทาทุกข์เท่านั้น เราได้เพลิดเพลินในเสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ สัมผัสกับสิ่งสวยงามเราก็เพลินไป เพลินไปอยู่กับกองทุกข์ทั้งสิ้น มันมีความเพลินอยู่อย่างนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ด้วยอิริยาบถปิดบังอยู่ทำให้เรามองไม่เห็นจนแก่ จนเจ็บ จนตาย เราก็ยังไม่ยอมรับว่าอันนี้ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา
เมื่อเราเห็นทุกข์ เห็นโทษในความทุกข์ ในการเกิดแก่ เจ็บ ตาย ทั้งทางกาย ทางใจ เราก็จะมีความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตาขีณาสพเจ้าทั้งหลาย
ไม่มีความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มอบกายถวายชีวิต ปฏิบัติตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเจตนาที่เต็มเปี่ยม ด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรยับยั้งรั่งจิตใจของเราไว้ได้ เพราะหนทางนี้ทางเดียวเท่านั้นจะนำเราออกจากทุกข์ ออกจากวัฎสงสารได้ เพราะสิ่งภายนอกเราก็รู้อยู่แล้วว่าช่วยเหลือเราได้เพียงเท่านี้เอง
พุทธบริษัทผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารย่อมที่จะนำเอานิสัยของพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง นิสัยของพระพุทธเจ้าคืออะไร? ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ท่านบอกหยุด เราก็หยุด ท่านบอกให้เราทำ เราก็ทำ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้เหตุผลว่า ทำไปทำไม เหมือนกับเด็กๆ ที่เขาศึกษาเล่าเรียน เขาก็ไม่รู้ว่าเรียนทำไม แต่เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว เขาถึงรู้อานิสงส์ในภายหลัง
บุคคลผู้หวังความเจริญย่อมอดทนในเบื้องต้น ย่อมมีความเพียรในเบื้องต้น ถึงจะมีความสบายในบั้นปลาย คนที่ไม่มีความอดทน ไม่มีความเพียร นั่นคือคนไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ความเพียรเป็นสิ่งที่ต้องกระทำในวันนี้ อย่าปล่อยให้โอกาสให้เวลาที่มีค่าอันใหญ่หลวง เกิดความเสียหาย เพราะว่าชาตินี้เราเกิดมาเป็นชาติที่ประเสริฐ เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐแล้ว ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่ตั้งใจปฏิบัติเรามีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับตายแล้ว คือตายจากคุณธรรมของพระอริยเจ้า
สังโยชน์ คือความผูกใจยึดถือของสัตว์โลก ซึ่งเป็นสิ่งเหนียวแน่นเป็นสิ่งอาลัยอาวรณ์ ไม่มีใครอยากที่จะตัดอยากจะปล่อย อยากจะวาง ไม่อยากทิ้งสิ่งเหล่านั้น อยากจะตายกับสิ่งเหล่านั้น การที่เราจะละได้ เราต้องเห็นโทษจริงๆ ในการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องตัดสินใจอำลาจากไปเสีย ซึ่งต้องให้พละกำลังจิตมากพอสมควรตามลำดับของความยึดถือ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงสอนให้เราตายเสียก่อนตาย ตายเสียก่อนตายในที่นี้ หมายถึง "กิเลสมันตาย" การที่เราจะตัดอะไรให้ได้ แต่ละอย่างทางจิตใจของเรานี้รู้สึกว่าโลกนี้มันสะท้าน หวั่นไหวไปหมด เพราะจิตใจมันจะหงายของที่คว่ำอยู่ มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ขอให้ทุกท่านทุกคนพยายามขุดรากขุดโคนสังโยชน์ความยึดมั่นถือมั่น ธรรมะภาคปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างนี้
เรื่องศีลก็ให้เรายึดให้มั่นอย่าไปลูบคลำ ให้มีเจตนาที่จะปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นศีลทางจิตใจ ไม่ใช่เป็นศีลทางกายทางวาจาอย่างเดียว คือเป็นศีลที่เข้าถึงจิตถึงใจ เพราะเจตนาที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นสิ่งสำคัญ
ถ้ามีจิตใจอย่างนี้ในการรักษาศีลบุคคลนั้นชื่อว่า เป็นผู้ที่ไม่ลูบคลำในศีล เป็นผู้ที่ละสังโยชน์ข้อที่ ๓ ได้ในภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน คือพระอริยเจ้าเบื้องต้น
ถ้าเราสมาทานเราตั้งใจทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถึงเเม้เราจะเป็นคนไม่มีการเรียนการศึกษา เราทุกคนก็ย่อมพัฒนาตัวเองได้ เพราะการศึกษาถูกต้องเเล้ว ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้เป็นคนฉลาดเเล้วยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งไม่มีศีลมีธรรม ไม่มีคุณธรรม เรามันพากันเป็นว่างอัธพาลนะ ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสบายๆ ทางสายกลาง มันต้องตั้งใจ มันต้องสมาทาน ต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง มันถึงจะเป็นทั้งศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา เราอย่าเอาความขี้เกียจขี้คร้านความเห็นเเก่ตัว สักกายทิฏฐินี้เป็นการปล่อยวาง คนเรานี้มันต้องรับผิดชอบ มันถึงไม่มีสักกายทิฏฐิ
ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ถูกเท่านั้นแหละ เราอยู่ในทางที่ถูกแล้ว แต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกัน ไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวาย กิเลสของเรานั้นแหละที่มันทำให้วุ่นวาย มันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสีย ก็เลยทำให้เราวุ่นวาย
ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีอะไรลำบาก ไม่มีอะไรยุ่งยาก การปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์ เพราะทางของพระองค์คือ “ปล่อยวาง” ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้น ท่านทรงสอนให้ “ปล่อยวาง” อย่าแบกถืออะไรให้มันหนัก ทิ้งมันเสีย ความดีก็ทิ้ง ความถูกต้องก็ทิ้ง คำว่า “ทิ้ง” หรือ “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ “การละ” “การปล่อยวาง” นั่นแหละ จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าจมอยู่กับอดีต พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาธรรมทั้งหลาย ที่กายที่ใจของเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่แหละ
ดังนั้น นักปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังให้ใจมันผ่องใสขึ้น สว่างขึ้น ให้มันเป็นใจอิสระ ทำความดีอะไรแล้วก็ปล่อยมันไป อย่าไปยึดไว้ หรืองดเว้นการทำชั่วได้แล้ว ก็ปล่อยมันไป พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อยู่กับอดีตหรืออนาคต
ความหมายที่แท้ของการปล่อยวาง คำสอนที่เข้าใจผิดกันมาก แล้วก็ถกเถียงกันมากที่สุด ตามความคิดเห็นของตนก็คือเรื่อง “การปล่อยวาง” หรือ “การทำงานด้วยจิตว่าง” นี่แหละ การพูดอย่างนี้เรียกว่าพูด “ภาษาธรรม” เมื่อเอามาคิดเป็นภาษาโลกมันก็เลยยุ่ง แล้วก็ตีความหมายว่าอย่างนั้น ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบล่ะซิ มีบทกวีบทหนึ่งของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่ว่า
จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น
กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที
ท่านผู้ใดว่างได้ดังว่ามา ไม่มีท่าทุกข์ทนหม่นหมองศรี
“ศิลปะ” ในชีวิต ชนิดนี้ เป็น “เคล็ด” ที่ ใครคิดได้ สบายเอย
คำว่า ‘จิตว่าง’ คืออะไร หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุได้ให้ความหมายไว้ว่า “จิตว่าง ในที่นี้คือจิตที่ยังเป็นจิตอยู่เหมือนเดิม แต่ไม่เต็มอยู่ด้วยการปรุงแต่งที่เลวร้าย คือปรุงให้เห็นเป็นตัวตน ปรุงแต่งให้เป็นของตน อะไรจะมาบรรจุให้จิตไม่ว่าง ก็คือความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนนั่นแหละพอเข้ามาแล้วมันก็เหมือนกับเอาอะไรบรรจุเข้าไปในจิตนั้น จิตมันก็ไม่ว่าง ถ้าเอาความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนออกไปเสีย จิตมันก็ว่าง ไม่มีอาการอย่างอื่นที่น่ารังเกียจ เช่นว่า ไม่ร้อน ไม่มืด ไม่ถูกผูกพันหุ้มห่ม อิสระหรือปกติ ไม่มีอะไรมารบกวน ; ว่างจากการรบกวนนั้น คือความปกติ พอปกติมันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์
จิตที่ว่างนั้นมันมีความหมายมาก ไม่ใช่เพียงแต่ว่ามันไม่คิดนึกอะไร คนเขาเจ้าใจว่าไม่คิดนึกอะไรแล้วก็เรียกว่าจิตว่าง นั้นคือคนที่ไม่รู้เรื่องจิตว่าง จิตมันคิดนึกอะไรไปได้ตามธรรมดาของจิต แต่อย่ามีความรู้สึกว่าตัวตนหรือของตน อย่ามีความรู้สึกที่เดือดขึ้นมาเป็นตัวกูหรือของกูก็แล้วกัน ก็ยังเรียกว่าจิตว่าง คิดนึกอะไรได้ ฉลาดเฉลียว รอบคอบ สามารถมาก นี่ประโยชน์ของความมีจิตว่าง”
ขอให้ว่างจากกิเลสทุกชนิด ก็เรียกว่าจิตว่าง สรุปความคำว่า ‘จิตว่าง’ คืออย่างไร
คำว่า ‘จิตว่าง’ หมายถึง จิตที่ว่างจากกิเลสตัณหา ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ว่างจากตัวกูของกู เป็นจิตที่มีความรู้สึกยู่นั่นแหละ แต่เป็นความรู้สึกธรรมดา ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน จะเป็นแบบถาวรหรือครั้งคราวก็ตาม ล้วนได้ชื่อว่าจิตว่างทั้งสิ้น
การทำงานด้วยจิตว่างนั้น คือการทำงานด้วยความรู้สึกที่เสียสละไม่มีตัวกูของกู เป็นการทำงานชนิดที่ดิ่งไปเพื่องานจริงๆ ไม่มีเรื่องอื่น
เรื่องของนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ยังมีอีก เช่น ไอน์สไตน์ ซึ่งมีชื่อเสียงมาก...มันก็เป็นจิตอันแหลมลึกลงไปถึงธรรมชาติ เป็นอันเดียวกันกับธรรมชาติ ไม่มีวี่แววแห่งตัวฉัน ของฉัน เพื่อประโยชน์ของฉัน ได้เสียของฉัน อะไรเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้ไอน์สไตน์จึงคิดอะไรได้ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นอัจฉริยมนุษย์ จนคนโลกสมัยนี้ยกให้เป็นอัจฉริยมนุษย์ สูตรที่เอามาใช้ทำระเบิดปรมาณูได้ อะไรได้ ก็เป็นฝีไม้รายมือของบุคคลที่ ‘คิดด้วยจิตว่าง’ ชนิดที่เราพูดกัน
ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักค้นคว้า นักพิสูจน์คนไหนก็ตาม ต้องทำงานด้วยจิตว่างทั้งนั้น ถ้ามีวี่แววแห่งตัวกูเมื่อไหร่ ก็เป็นอันล้มละลายทันทีเมื่อนั้น จะต้องออกจากฌานเมื่อนั้น จะต้องออกจากความคิดเมื่อนั้น เช่น คิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว คิดถึงความสำเร็จ ความไม่สำเร็จ ที่จะทำงานครั้งนี้คืออย่างนี้งานจะล้มละลายทันที
ความคิดเรื่องสำเร็จหรือไม่สำเร็จจะต้องไม่เข้ามาอยู่ในหัวเลย มันมีแต่ดิ่งลงไป-ดิ่งลงไป-ดิ่งลงไป จนว่าจะหมดเรี่ยวแรงของมันสมองสำหรับคิดในวันหนึ่งๆ รุ่งขึ้นก็ทำต่อไปอีก เขาไม่ได้คิดว่าเขาทำเพื่อใคร รับจ้างใคร เห็นแก่ใคร หรือมีความจำเป็นอะไรมาบังคับให้ทำ
นี่ตัวอย่างการทำงานด้วยจิตว่างแท้ๆ เป็นอย่างนี้ ถ้าเวลาอื่นซึ่งไม่ใช่เวลาทำงานก็อาจมีตัวกู มีครอบครัว มีลูกมีเมีย มีได้มีเสีย มีอะไรไปตามแบบของเขา นั้นมันคนละตอน คนละที คนละเรื่อง แต่ถ้าเมื่องานก็ต้องทำงานด้วยจิตว่าง ต้องไม่มีอะไรมาบังคับ ต้องไม่ไปมีข้อผูกพันกับเรื่องอื่นมันก็เป็นอยู่ด้วยความว่าง ทำงานด้วยจิตว่างนี้ได้ตลอดเวลา
เดี๋ยวนี้คนทำงานไปพลางแล้วประหม่าไปพลาง คนทั่วไป ทำอะไรอยู่ก็ตาม มันประหม่าไปพลาง เช่น วิตกว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องด้วยตัวกู-ของกูบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันจึงปวดหัว ผู้จัดการคนนั้นจึงปวดหัวและเป็นโรคเส้นประสาทตาย เขาไม่ได้ตัดเรื่องประหม่าเรื่องวิตกกังวล เรื่องอะไรออกไปเสีย เขาจึงคิดมันไม่ได้ แล้วงานของเขามันก็ไม่มีระเบียบ มันสับสนวุ่นวายกันไปหมด แม้แต่งานที่ธรรมดาๆ โดยไม่ต้องใช้สติปัญญา เช่น งานเช็ดถูปัดกวาดอย่างนี้ ถ้าเช็ดถูกปัดกวาดไปพลาง โมโหไปพลาง มันก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น เช่น กวาดบ้าน กวาดเรือน กวาดห้อง ถูพื้นอะไรไปพลางนี้ แล้วโมโหอะไรไปพลาง แล้วจะเอาอะไรมาทำให้ดีได้ ไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูด อยากด่าอะไรก็ด่า อยากว่าอะไรก็ว่า อยากบ่นอะไรก็บ่น
พวกเราคงรู้จักองคุลิมาลเป็นอย่างดี องคุลิมาลนั้นเป็นโจรร้ายในสมัยพุทธกาล ตอนหลังได้มาบวชเมื่อได้พบพระพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วท่านก็ขวนขวายศึกษาพระธรรม คราวหนึ่งได้ยินพระพุทธองค์ตรัสสอนให้แสวงหากัลยาณมิตร พระองคุลิมาลก็น้อมรับ แล้วได้พบพระรูปหนึ่งซึ่งพักอยู่กุฏิใกล้ๆ กัน ชื่อพระนันทิยะ ท่านผู้นี้มีประวัติที่น่าสนใจ เดิมเป็นลูกเศรษฐีมีศรัทธาในพระธรรม อยากออกบวชแต่พ่อแม่ไม่อนุญาต ท่านถึงกับอดอาหารอยู่หลายวัน จนในที่สุดพ่อแม่ก็ยอมให้ท่านมาบวช เมื่อได้พบพระนันทิยะ พระองคุลิมาลได้ถามพระนันทิยะว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรแก่พระนันทิยะบ้าง พระนันทิยะก็เล่าว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้ปล่อยให้วางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง มิให้ยึดติดในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจหรืออารมณ์ที่ไม่พอใจ เมื่อเกิดขึ้น จงปล่อยวางเป็นกอง ๆ ไว้ ณ ที่นั้น อย่านำมาเก็บไว้แบกไว้”
แล้วท่านก็พูดต่อไปว่า “เขาด่าว่าเราบนบก จงกองคำด่าว่านั้นไว้บนบก อย่านำติดไปในน้ำด้วย เขาว่าเราในน้ำ จงกองคำด่าว่านั้นไว้ในน้ำ อย่านำติดตัวขึ้นมาบนบก เขาด่าว่าในเมือง จงกองไว้ในเมือง อย่านำติดตัวมาจนถึงเชตวันนี้”
อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวของพระนันทิยะที่สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าตามที่ท่านได้ยินมา ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะว่าจุดเน้นอยู่ที่การปล่อยวาง ปล่อยวางทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง หมายความว่าอย่างไร ก็คือ ปล่อยวางอารมณ์อดีต อนาคต และปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจ ที่ไม่พอใจก็วางไว้เป็นกอง ๆ ที่พระพุทธเจ้าเน้นเรื่องการปล่อยวางก็เพราะว่า ความทุกข์ของคนเรา ซึ่งหมายถึงความทุกข์ใจ ถึงที่สุดแล้วเกิดจากความยึดติด และสิ่งที่เรายึดติดจนเป็นเหตุให้ทุกข์ใจส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องอดีตกับอนาคต
ธรรมะของพระพุทธองค์เป็นธรรมะที่ทวนกระแสทางโลก เป็นธรรมะที่ขัดใจตัวเอง เป็นธรรมะที่เข้ามาแก้ไขตัวเอง เป็นการมองเข้ามาหาตัวเอง เป็นปริญญาที่สูงสุดที่ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ควรจะได้รับ ปริญญาภายนอกเรียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่ปริญญาของพระพุทธเจ้านั้นเรียนจบ มันหมดความเวียนว่ายตายเกิด
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องการขัดใจตัวเอง ถ้าขัดใจตนเองคิดว่ามันไม่ถูกจริต มันไม่ถูกนิสัย ไม่ใช่ทางสายกลาง คิดว่าอย่างนั้น คนเรามันหลงถ้าได้ตามใจชอบก็ว่าดี ไม่ได้ตามชอบก็ว่าไม่ดี
ท่านจึงให้เราทำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็น "สุคโต" คือไปด้วยดี เรามาสว่างเราก็ให้ไปสว่างด้วย ฐานะความเป็นอยู่เราก็ดี มีความสุข มีความร่ำรวย เราก็อย่าไปหลงในความสุขความสบายเหล่านั้น ดูอย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความสุขท่านก็ไม่ติด ไม่หลง
ให้เราเอาความสบายความสะดวกนี้มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานอันสูงสุดเราก็มีโอกาสได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับไป ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้ไม่สาย ขอให้ทุกท่านทุก คนประพฤติปฏิบัติตั้งแต่โอกาสบัดนี้ไป อย่าได้ผัดวัน ประกันพรุ่งต่อรองเรื่อยไป ต้องให้มีความเห็นความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดเจน และมีเจตนาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความสม่ำเสมอ