แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๑ เมื่อใจของเราสงบ อย่าไปเเช่อยู่อย่างนั้น ต้องให้ สมาธิกับปัญญาไปพร้อมกัน จึงจะก้าวหน้าได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำไมเราถึงคนไม่สงบ ไม่สงบเพราะ เราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ คนเรายิ่งเก่งยิ่งฉลาดก็ยิ่งฟุ้งซ่าน เพราะว่ามันมีก็เเต่พุ่งออกไปข้างนอก มันมีเเต่ปัญญา เเต่สมาธิไม่มี พระพุทธเจ้าถึงให้เราเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา มาใช้งานพร้อมกัน เราสังเกตดู ผู้ที่สงบ ควบคุมตัวเองได้ ครอบคลุมเรื่องสติ เรื่องสัมปชัญญะ นักกีฬาอย่างนี้ เค้าควบคุมตัวเองด้วยลมปราณ ลมหายใจอานาปานสติ ต้องมีกับเราทุกๆ คน เพราะว่าหลวงพ่อมองดู พระมาหาหลวงพ่อ หรือ โยมมาหาหลวงพ่อ ถ้าเค้าเจริญพุทโธ หรือ เค้าเจริญอานาปานสติ ดูเเล้ว ใจคอเค้าจะสงบ เเต่สำคัญว่า เมื่อใจของเราสงบ เราอย่าไปเเช่อยู่อย่างนั้น ต้องให้สมาธิกับปัญญา หรือว่า ศีลสมาธิ ปัญญา ให้มันไปพร้อมกัน พระเราเป็นคนเก่ง เป็นคนมีการเรียนการศึกษา ใจไม่สงบ ต้องพากันมาเจริญอานาปานสติบ่อยๆ ทุกลมหายใจ สติสัมปชัญญะยังไม่พอ เราต้องเจริญปัญญา คือยกทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เพราะตาเราเห็นรูปก็เพื่อให้มันเกิดปัญญาสู่พระไตรลักษณ์ หูได้ฟังยกสู่ปัญญา สู่พระไตรลักษณ์ว่า ปรากฏการณ์นี้ มันจะสุขจะทุกข์ดีไม่ดีก็พร้อมจะเป็นอนิจจัง เพราะทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
โมหสมาธิ หรือ สมาธิหัวตอ สมาธิในลักษณะนี้มีผู้สอนและมีผู้ปฏิบัติกันอยู่มาก เอาแต่ความสงบเป็นหลัก จิตสงบก็นั่งอยู่ได้นาน ผู้ที่ทำให้จิตสงบไม่ได้ก็คิดวอกแวกไปมา คิดในเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง คิดถึงเรื่องอดีตบ้างคิดถึงเรื่องอนาคตบ้าง สารพัดที่จะหาเรื่องมาคิดวุ่นวายไปหมด พยายามดึงเข้ามาอยู่ในคำบริกรรมก็นึกไปได้แป๊ปหนึ่ง เดี๋ยวก็หลงไปคิดในสิ่งต่างๆ อีก เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีความสงบตั้งมั่นได้เลย ผู้ทำจิตมีความสงบได้ก็จะมีความสุข มีความยินดีพอใจในความสุขของความสงบนั้น จิตที่ถอนออกจากความสงบแล้ว ผู้ที่เคยได้ฝึกปัญญามาดีเตรียมไว้แล้ว ก็น้อมจิตพิจารณาในปัญญาต่อไปได้เลย บางคนเมื่อจิตได้ถอนออกจากความสงบแล้วก็มีความเสียดายในความสุขที่มีอยู่ในความสงบ อยากจะทำสมาธิให้จิตมีความสงบต่อไป พยายามทุกอย่างจะต้องทำสมาธิให้จิตมีความสงบให้ได้จะได้มีความสุขในความสงบของสมาธิ แบบนี้เองจึงเรียกว่า โมหสมาธิ มีความหลงใหลในความสุข และหลงอยู่ในความสงบจนลืมตัว ผู้ทำสมาธิต้องมีปัญญา ศึกษาให้เข้าใจ ไม่เช่นนั้น จะหลงอยู่ในความสงบสุขต่อไป จะนั่งได้เหมือนหัวตอ ไม่มีปัญญาจะนำมาพิจารณาในหลักสัจธรรมความเป็นจริงนี้เลย
การฝึกสมาธิครั้นแต่ครั้งโบราณกาลนานมา ผู้ฝึกจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งสามารถล่วงรู้ภาวะจิตของเรา สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการผิดพลาด บอกอธิบายได้ทั้งข้อดีข้อเสีย มีเครื่องป้องกันเราจากเหล่ามาร อันได้แก่ เจ้ากรรมนายเวร ภูตผีปีศาจ เปรต สัมภเวสี และเทวปุตมาร.
การปฏิบัติกรรมฐาน หาใช่นั่งไปเรื่อยๆ เพื่อให้ใจสงบเท่านั้น นั่นเขาเรียกว่านั่งขาดทุน ต้องนั่งจนสงบที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วถอยออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ (สมาธิขั้นกลาง ละนิวรณ์ ๕ ประการได้) แล้วคิดพิจารณาเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ให้เกิดปัญญา ถ้ามัวแต่อยู่ในฌาน มันจะไม่คิดอะไรมันจะเอาแต่สุขสงบอย่างเดียว ไม่เกิดปัญญาแต่อย่างใด นี่ละที่เขาว่าขาดทุน นั่งแทบตายแต่ไม่ได้ปัญญาอะไรขึ้นมาเลย ได้แต่ความสงบ ตอนถอยออกมาจากฌานนี่ละยาก เพราะมันเป็นสภาวะที่สุขมาก ใครเจอเข้าครั้งแรก มันไม่อยากจะทำอะไรอีกเลย อยากนั่งอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการฝึกนั่งสมาธิเอาฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติเป็นเหมือนตาข่ายดักดักพรหม
หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า บางท่านเข้าใจตนเองผิดก็มี เช่นตนเองติดอยู่ที่ "อสัญญีภพ" อันเป็นจุดบอดอยู่ที่ "โคตรภูญาณ" ซึ่งเป็นจุดรวมระหว่าง โลกียภูมิและโลกุตรภูมิ ติดแนบแน่นอยู่ที่ตรงนั้นโดยไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย กลับสำคัญว่าตนไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตไม่เกาะเกี่ยวอะไร เกิดอวิชชาแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เมื่ออยู่ตามปกติก็หงอยเหงาเซาซึม เพราะจิตขาดความคล่องตัว ขาดปัญญา ยิ่งนานวันเข้าความงมโง่ก็ยิ่งเพิ่มพูน แต่ตนเองไม่รู้ตัวต้องมีคนช่วย
ครั้นหลวงปู่แนะนำ พอฟังได้ความเข้าใจก็สะดุ้งสะท้านขึ้น ค่อยรู้สึกตัว ในหลายกรณีหลวงปู่จะพูดจี้จุดแรงๆ หรือไม่ก็เป็นคำที่เข้าไปจี้ใจ กระแทกจุดจนกระทั่งจิตเคลื่อนออกจากอสัญญีภพนั้นๆ ได้
หลวงปู่บอกว่า เขาปฏิบัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่ามีความสามารถไม่น้อย เพียงแต่กำลังสติอ่อนไปหน่อย ไม่เหมาะสมกลมกลืนกัน ปัญญาแก้ไม่ทัน เลยตกอสัญญีภพไปอย่างน่าเวทนา พอชี้แนะคำสองคำให้เขารู้เรื่องเข้าใจ ต่อไปเขาก็แก้ไขได้เอง เมื่อเขาปรับปรุงให้กำลังแก่ธรรมทั้งมวล ผสมผสานสอดคล้องกลมกลืนกันได้ อริยมรรคสมังคี ก็ย่อมเป็นไปเองตามกฎแห่งธรรมดา
สมาธิหัวตอ คือสภาวะที่เข้าถึงฌานสมาบัติ และสามารถทรงอารมณ์ฌานไว้ได้ พูดง่ายๆ ก็เข้าฌานเป็นปกตินั่นละ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน มันเข้าฌานอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า เข้าฌานจนชินนั่นเอง พอเข้าฌานจนชินแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ตัวเองทรงฌานอยู่ เวลาทรงฌานนี่ กำลังฌานมันกดกิเลสหมดเลย จะรู้สึกไม่อยากได้อะไรเลย ไม่โกรธเลย ไม่หลงเลย อะไรเข้ามา ก็รู้สึกเฉยๆ ปล่อยมันผ่านไป จนหลงคิดไปว่า ตัวเองคงสำเร็จอรหัตตผลแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว คนที่หลุดเข้าไปในสภาวะเช่นนั้นแล้ว จะถอนตัวยากมาก เพราะจะเกิดความถือตัวถือตน ว่าสำเร็จแล้ว กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาแล้ว
คนที่หลงตัว อย่างนั้น ไม่ใช่คนเลวนะ สภาวะมันเหมือนหมดกิเลสแล้วมากๆ จนพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติพระวินัยไว้เลยว่า ภิกษุหลงเข้าใจว่า ตนบรรลุมรรคผล บอกอุตตริมนุสธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ต้องอาบัติไม่ถึงปาราชิก แต่ถ้าบอกคนอื่นเพื่อหวังลาภสักการะ อย่างนี้ปาราชิกไปเลย
การประพฤติการปฏิบัติเค้าเรียกว่าศีล ความตั้งมั่นเค้าเรียกว่าสมาธิ เเล้วก็เจริญปัญญา เพราะหลวงพ่อมองพระที่มาหาหลวงพ่อ มาจากวัดแห่งหนึ่ง อาจารย์เค้าบังคับพระเก่ง พระก็นิ่ง พระนี้เค้าเจริญพุทโธ เจริญอานาปานสติ มันก็เป็นอย่างนั้น เเต่ต้องมีการเจริญปัญญาด้วย ถ้าอย่างนั้นมันจะได้เเค่นั้น ทุกคนให้เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้งเราคิดดีๆ พูดดีทำดี ปฏิบัติดีๆ โดยเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าให้เรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ว่าให้เรา ทุกคนว่าให้เราไม่ได้
ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปกิบัติ ถ้าอย่างงั้นมันไม่ได้ อิทธิพลสิ่งเเวดล้อมมันจะคุมเราไว้ บางที่เราถูกคุมด้วยประการต่างๆ ร่างกายมันคุมเรา ความเจ็บความเเก่ความตายมันคุมเรา เราไม่รู้จักว่าอันนี้เค้าเอาขุมทรัพย์มาให้เรา บางทีเรายังไม่เข้าใจ เราทำอะไรอย่างนี้ เรายังทำไม่เข้าถึงพระนิพพาน เพียงเเต่เราทำเพื่อไม่ให้ครูบาอาจารย์ว่าให้เรา เพื่อนว่าให้เรา ญาติโยมว่าให้เรา มันคุมเรา ถ้าเราเอาพระนิพพานเเล้ว อย่างนี้ไม่มีใครว่าใคร อย่างหลวงปู่มั่นท่านไม่กลัวใครว่าให้ท่านหรอก ก็เพราะว่าท่านเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ผู้ที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า หรือเป็น พระอรหันต์ ก็เช่นเดียวกัน
เราพากันกลัวอะไรล่ะ เวลานั่งสมาธิอยู่ที่กุฏิตัวเอง นั่งหลับเลย เพราะอยู่ที่ส่วนรวมกลัวครูบาอาจารย์ อายเพื่อน มันไม่ได้ฝึกตัวเอง
เจ้าอาวาสต่างๆ ถ้าเราพระธรรม เอาพระวินัย เอามรรคผลนิพพานเป็นที่ตั้ง วัดมันจะไม่มีปัญหา จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับพระผู้ประพฤติปฏิบัติด้วยกัน จะไม่มีปัญหาระหว่างประชาชน เพราะเราเอาธรรม เอาความยุติธรรม ที่มันมีปัญหาก็เพราะว่า เราไม่ได้เอาใจ มันก็เลยมีปัญหา มัวเเต่เเต่งองค์ทรงเครื่อง แต่งเฟอร์นิเจอร์ หลอกลวงคนอื่นอยู่ เเต่มันหลอกลวงตัวเองไม่ได้
การปกครองอะไรก็เหมือนกัน ถ้าพ่อเเม่เอาความถูกต้อง เอาศีลเอาธรรม ลูกหลานก็ฟัง ลูกหลานก็ไม่เถียง เพราะลูกหลานตาก็มี หูก็ฟังอยู่ มันได้ทั้งจิตใจ ได้ทั้งคุณธรรม ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง เราถึงต้องเข้าถึงความสุขความดับทุกข์เป็นทีม เราถึงจะได้ส่งไม้ผลัดสู่รุ่นน้อง สู่ลูกสู่หลานได้ ทุกๆ คนต้องพากันรู้จักใจตัวเอง พากันรู้จักอารมณ์ตัวเอง เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไร อย่างนี้ยิ่งเหมือนกันกับที่กล่าวเมื่อวาน ยิ่งเเก่ก็ยิ่งทุกข์ทั้งทางกาย เเละ ทุกข์ทั้งทางใจ ทำไมทุกข์ทางใจ เพราะใจมันไม่อยากให้ร่างกายเป็นอย่างนี้ ไม่อยากให้ลูกมันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้หลานมันเป็นอย่างนี้ มัวเเต่ห่วงอย่างนี้ เราอย่าพากันมีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนมาก ทุกคนต้องพากันมาเสียสละ มันจะได้เปลี่ยนเเปลงกันไปเร็วๆ
มีตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถี เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่บัดนี้กลับยาจนเข็นใจ โคตมี เป็นหญิงสาวที่เกิดในตระกูลนี้ เพราะมีร่างกายที่แบบบางมาก ใคร ๆ ก็เลยเรียกเธอว่า "กีสาโคตมี" อันหมายถึง นางโคตมีผู้บอบบาง
จะเป็นด้วยบุพเพแต่ปางก่อนหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งนั้น ได้ทำให้กีสาโคตมีเข้าไปใช้ชีวิตอยุ่ในบ้าเศรษฐีคฤหบดีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวเมืองสาวัตถีเหมือนกัน เธอไปอยู่ในฐานะลูกสะใภ้
เศรษฐึเจ้าของบ้านผู้เป็นบิดาของสามีนั้นโปรดปรานรักใคร่เธอมากถึงกับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติต่างๆ ทั้งหมด เพราะมีความเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า สะใภ้คนนี้เป็นสิ่งนำโชคสำหรับตระกูล ถ้าให้หยิบจับอะไรจะเป็นเงินเป็นทองหมด เพราะสถานะภาพอันพิเศษอย่างนี้เอง จึงทำให้ทุกคนในบ้านมีทีท่าเฉยเมย หยามหยัน บางครั้งจะพูดจากระทบกระเทียบเปรียบเปรยให้ได้ยินเป็นประจำ แม้จะมาจากสกุลที่ยากจน ต่ำต้อยกว่า แต่ธาตุของความดีที่สะสมอยู่ในตัวนั้นสูงนัก ทำให้กีสาโคตมีสู้อดทน อดกลั้นต่อการดูหมิ่นดูแคลน เพื่อถนอมน้ำใจของผู้มีพระคุณ คือสามีผู้เป็นที่รักและบิดาที่น่าเคารพของเขา
ต่อมากีสาโคตมีได้ตั้งครรภ์ขึ้น เมื่อครบกำหนด ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย นับตั้งแต่มีบุตรคนนี้ ทำให้เกิดบรรยากาศภายในบ้านเปลี่ยนแปลงไปหมด เด็กน้อยเหมือนแสงตะวันอันอบอุ่น ที่สาดแยเข้ามาที่มืดมัว เขากลายเป็นศูนย์รวมของความรักและความสุข ทุกคนในบ้านต่างเฝ้าดูการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงของเขา เสียงหัวเราะของทารกน้อย บริสุทธิ์แจ่มใสราวกับระฆังแก้ว กลบเสียงหัวร่อหยามหยันที่เคยมีมาจนสิ้น
กีสาโคตมีเอง ก็ได้รับการยกย่องปรนนิบัติจากทุกคนอย่างจริงใจ ลูกน้องเป็นสิ่งประเสริฐที่สวรรค์ประทานให้จริงๆ ความสุขเป็นเช่นนี้เอง เมื่อหนูน้อยเริ่มเติบโตและหัดพูด ของขวัญของประดับสูงค่าราคามี ถูกซื้อหามาให้เทพบุตรตัวน้อย ยามที่กีสาโคตมีกอดลูกน้อยประทับไว้กับอก เธอรู้สึกถึงความรักอันยิ่งใหญ่เหนือคำนิยามใดๆ ลูกเป็นยิ่งกว่าชีวิต ยิ่งกว่าดวงตา ดวงใจของแม่
แต่ความเป็นไปในโลกนี้ ไม่เคยมีสิ่งใดแน่นอนเลย และแล้วราวกับถูกสายฟ้าฟาด อยู่ๆลูกน้อยที่เคยวิ่งได้เดินได้ก็กลับไม่หายใจ ชีวิตจิตใจของกีสาโคตมีราวกับจะขาดลอย คนในบ้านต่างลงความเห็นว่าลูกของเธอตาย และจะนำไปเผา "คนพวกนี้เป็นบ้าไปแล้วหรือไร"
กีสาโคตมีกรีดเสียงร้องไห้คร่ำครวญ อุ้มลูกไว้ไม่ยอมให้ใครแตะต้อง เมื่อไม่มีใครในบ้านที่พึ่งพิงได้ เธอจึงวิ่งถลาออกมาพร้อมร่างไร้วิญญาณของลูกน้อย เดินบ้าง วิ่งบ้างไปตามบ้านเรือนใกล้เคียง
"มียาบ้างไหม ขอปันยาให้แก่ลูกเราด้วยเถิด"
ลูกของเธอไม่หายใจแล้ว ไม่มียาอะไรที่ใช้รักษาคนตายได้ บางทีคนบางพวกที่เธอพบ นอกจากจะไม่มียาให้แล้ว ยังแสดงอาการเยาะเย้ยซ้ำอีก
"ยาสำหรับรักษาคนตาย เธอเคยเห็นที่ไหน จะบ้าหรือ"
กีสาโคตมีเดินจากมา เธอก้มลงไปพูดกับร่างลูกน้อยว่า "อดทนนะลูก แม่จะต้องพบกับผู้ที่มียารักษาลูกให้ได้" แล้วอุ้มลูกน้อยถามหายาจากทุกคนที่ผ่านไปเจอ
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่ง เห็นกีสาโคตมีแล้ว นึกเข้าใจได้ทันทีว่านี่คงจะเป็นบุตรคนแรกของเธอ จิตใจจึงฟุ้งซ่านด้วยความเศร้าโศกเสียใจ น่าสงสารเสียจริง เราควรที่จะช่วยเหลือผู้หญิงคนนี้
เมื่อเธอหันมาร้องขอยา เขาจึงกล่าวด้วยเสียงที่นุ่มนวลว่า "น้องหญิง เราไม่รู้จักยาชนิดนี้ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวดา ท่านประทับอยู่ในวิหารใกล้ๆ นี้เอง เธอจงไปทูลถามดูเถิด"
ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ในมหาวิหารเชตวัน ท่ามกลางพุทธบริษัททั้งหลาย กีสาโคตมีอุ้มลูกน้อยแหวกฝูงชนที่กำลังนั่งฟังธรรมอยู่ เธอเบียดกายจนกระทั่งมาหมอบลงตรงเบื้องพระพักตร์ กราบทูลขึ้นว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดประทานยา เพื่อรักษาลูกของข้าพระองค์ด้วยเถิด"
"ดูก่อน โคตมี เธอมาที่นี่เพื่อต้องการยานับว่าดีมาก เช่นนั้นเธอจงเข้าไปยังพระนคร โดยไปถามหาให้ทั่ว หากในเรือนใดไม่เคยมีคนตาย จงขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนนั้นมา"
กีสาโคตมี เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง กุลีกุจออุ้มลูกที่ตายแล้วเข้าไปพระนครเมื่อไปถึงบ้านแรกจนเกือบทั่วพระนคร ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีคฤหบดี หรือว่ายาจกเข็ญใจ ก็ไม่ปรากฏว่ามีบ้านเรือนใดเลยที่ไม่เคยมีคนตาย
จวบจนเวลาเย็น เธอจึงเริ่มเข้าใจถึงสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูล กีสาโคตมีเดินออกไปพระนคร ตรงไปยังป่าช้า เมื่อไปถึงเธอก้มลงพูดกับลูกน้อยในอ้อมแขนว่า "ลูกเอ๋ย แม่นึกว่าความตายเกิดขึ้นกับลูกของแม่คนเดียว แต่ที่แท้ความตายนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขี้นกับคนทั่วไป"
เธอค่อยๆ วางลูกลงในป่าช้า แล้วกล่าววาจาว่า "ธรรมคือความไม่เที่ยงนี้ มิใช่ธรรมของชาวบ้าน มิใช่ธรรมของชาวนิคม มิใช่ธรรมของคนในสกุลเดียว แต่เป็นธรรมของชาวโลกทั้งหมด พร้อมด้วยเทวดา"
กล่าวจบก็มุ่งหน้ากลับไปยังเชตวันมหาวิหาร พระศาสดาตรัสถามว่า "ดูก่อน โคตมี เธอได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดมาแล้วหรือ"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ต้องการเมล็ดพันธุ์กาดแล้ว ขอพระองค์ประทานที่พึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"
พระผู้มีพระภาคเข้าทรงแสดงธรรม ด้วยการตรัสพระคาถาว่า "ตํ ปุตฺต ปสุสมฺมตฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ สุตฺตํ คามํ มโหโฆว มจฺจุ อาทาย คจฺฉตีติ. มฤตยูย่อมเอานรชน ผู้มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับใหลไปฉะนั้น"
กีสาโคตมีได้ดวงตาเห็นธรรมทันที ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยพระคาถานั้น จึงกราบขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสอนุญาต เธอได้กระทำประทักษิณเวียนรอบพระบรมศาสดา 3 ครั้ง กราบถวายบังคม แล้วไปสู่สำนักภิกษุณีได้รับการบรรพชาและอุปสมบท
วันหนึ่ง พระกีสาโคตมีเถรี ได้เข้าไปในอุโบสถตามวาระหน้าที่ เพื่อจุดประทีป ตามไฟ เปลวประทีปที่ลุกโพลงขึ้นและหรี่ลงอยู่ในสายตาของพระเถรี ท่านได้กระทำมนสิการโดยแยบคายว่า "สัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้ เกิดขึ้นและดับไปดังเปลวประทีป แต่ผู้ถึงพระนิพพานไม่ปรากฏอย่างนั้น"
พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นแล ทรงแผ่พระรัศมีไป ดังนั่งตรัสตรงหน้านาง ตรัสว่า "อย่างนั้นแหละ โคตมี สัตว์เหล่านั้นย่อมเกิดและดับเหมือนเปลวประทีป, ถึงพระนิพพานแล้ว ย่อมไม่ปรากฏอย่างนั้น, ความเป็นอยู่แม้เพียงขณะเดียวของผู้เห็นพระนิพพาน ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปีของผู้ไม่เห็นพระนิพพานอย่างนั้น" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า “โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อมตํ ปทํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อมตํ ปทํ. ก็ผู้ใด ไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี, ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นบทอันไม่ตาย ประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่ของผู้นั้น”
ในกาลจบเทศนา ท่านได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา อันนับเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ใจเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่เราดีใจ เสียใจ ชอบ ไม่ชอบ โกรธ เกลียด สงบ ฟุ้งช่าน วิตกกังวลในเรื่องอดีตอนาคต อันนี้เป็นอารมณ์ เป็นอุปาทาน ใจนี้เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญปราศจากเมฆหมอก สว่างไสว แต่เมฆหมอกมาผ่านไปทำให้มืดมัว
พระพุทธเจ้าจึงสอนเราทำใจสบาย คือหายใจเข้าออกสบาย "เราไม่มีหน้าที่ให้สงบหรือไม่สงบ เรามีหน้าที่หายใจเข้าออกสบาย" เราไม่มีหน้าที่ ที่เราจะไปจัดไปทำ ไปห้ามเกิด แก่ เจ็บ ตาย นินทา สรรเสริญ
เรามีหน้าที่หายใจเข้าออกสบายอย่างเดียว หายใจเข้าออกสบายเข้าไว้ ทุกๆ อิริยาบถ อย่าไปวุ่นวายอะไร ปกติตาก้าวก่ายหู หูฟังเสียงวุ่นวายไปหมด “สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ให้รู้จักความปรุงแต่ง เหมือนกับเขาปลูกบ้าน เขาหาเสา เหล็ก ไม้มาปลูกบ้าน ให้รู้จักว่านี่คือความปรุงแต่ง เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นความยึดความถือ เราต้องฝึกใจของเราให้สงบ เมื่อมันจำเป็นเราจึงค่อยเอาระบบสมอง ระบบปัญญามาปรุงแต่งใช้การใช้งาน คล้ายกับเรานำสิ่งของมาใช้งาน เสร็จแล้ว เราก็เก็บเข้าที่ไว้ ไม่อย่างนั้นจิตใจของเราไม่มีกำลัง
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเดินทางสายกลางไม่ให้เราปฏิบัติตามความชอบไม่ชอบ ให้เรามีหน้าที่ก็ทำไปเดี๋ยวผลก็ออกมาเอง ทำประโยชน์ต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม ไม่มีความเห็นแก่ตัว ส่วนมากเรามาบวชเรามานั่งสมาธิ เราก็อยากให้สงบ พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์บอกว่า เราไม่ต้องการสงบหรือไม่สงบ เรามีหน้าที่ทำก็ทำไป ตัวอย่าง พระอานนท์เถระเมื่อการทำสังคายนาครั้งแรก พระอานนท์องค์เดียวที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตลอดทั้งคืนก็ไม่บรรลุธรรม จนวางภาระทอดธุระ ไม่บรรลุก็ช่างมัน ท่านถึงบรรลุธรรมได้เป็นพระอรหันต์
เรามีหน้าที่ทำก็ทำไป ส่วนมากทำน้อยก็อยากได้มาก เห็นแก่ตัว ไม่เคยทำใจให้สงบแต่ก็อยากสงบ วันหนึ่งๆ ใจอยู่ข้างนอก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์จะมานั่งให้สงบเลยมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องค่อยๆ ทำไป และต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง พระพุทธเจ้า ให้พิจารณา เกสา โลมา นขา ทนุตา ตโจ เพื่อให้เกิดความปล่อยวาง ว่าง สุข เอกคัคตา เพื่อสัมผัสกับธรรมะ
พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภาวนาไปพิจารณาไป ต้องอาศัยการภาวนา พิจารณาให้มันเกิดปัญญา ให้เห็นความไม่แน่นอน ไม่เที่ยง เปลี่ยนไปทุกลมหายใจ เคยอยู่ด้วยกันก็จากกัน เขาเคยชอบก็ไม่ชอบ เปลี่ยนไปเรื่อย กรรมฐาน ๕ ที่กุลบุตรลูกหลานบวชมาพระอุปัชฌาย์ต้องให้กรรมฐาน ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ให้เองก็ต้องมอบหมายให้พระกรรมวาจาหรือครูอาจารย์ให้บอกกรรมฐานทั้ง ๕ ประการ มี เกสา โลมา นขา ทนุตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าเราไม่ซึ้งในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เราก็นึกว่าเป็นเพียงระเบียบประเพณีเฉยๆ แต่ความจริงแล้วสำคัญมาก
กรรมฐานนี้เองที่จะทำกุลบุตรลูกหลานให้เป็นพระอริยเจ้าได้ ที่เรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มอยู่ในใจของเรานี้ ก็เพราะเรามี สักกายทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา เมื่อมีตัวเราก็มีของของเรา เพื่อนของเรา แบ่งเป็นพวกเราพวกเขา
ท่านจึงให้พระภิกษุสามเณร หรือผู้ที่จะบำเพ็ญเป็นพระอริยเจ้าให้พิจารณาร่างกายของเรานี้แยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วน พิจารณาดูให้ชัดเจนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้มันเกิดจากอะไร พิจารณาคลี่คลายด้วยความตั้งใจจดจ่อต่อเนื่อง เพียรพยายามแยกออกเป็นส่วนๆ แยกเอาผมออก เอาขนออก เอาหนังออก เอาเนื้อออกให้เห็นเป็นโครงกระดูกชัดเจน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกด้วยความตั้งใจ มีสติจดจ่อต่อเนื่องกับงานของเรา
ให้เราทำงานการพิจารณารื้อถอนภพชาติของเรานี้ เหมือนกับที่เราพากเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน เราท่องหนังสือด้วยความตั้งใจหลายครั้ง ทบทวนกลับไปกลับมา จนจำได้ขึ้นใจฉันใด เราก็ต้องพิจารณากายให้ทะลุทะลวง ชัดเจนแจ่มแจ้งประจักษ์ในใจของเรา ในร่างกายทุกส่วน อวัยวะทุกชิ้นในร่างกายของเรา ภาวนาฬิจารณาจนจิตใจของเราเข้าสู่ฐานของความสงบ ครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
ที่เรายังมีความรัก โลภ โกรธ หลงอยู่เต็มใจ แสดงว่าเราภาวนาน้อยพิจารณาน้อย ถ้าสมมุติว่าเราเรียนหนังสือในโรงเรียน เรายังสอบไม่ผ่านยังสอบตกซ้ำชั้นอยู่ มันต้องผ่านครูบาอาจารย์ท่านว่ามันต้องผ่านเป็นขั้นๆ ไปตั้งแต่ ป.๑ ป.๒ ป.๓ ไปเรื่อย ผ่านไปตามขั้นตอนไปคิดเอาเอง คาดเดาเองไม่ได้ มันต้องภาวนาพิจารณา พระพุทธเจ้าท่านให้กรรมฐานทั้ง ๕ ประการมา ต้องมีความหมายที่ลึกซึ้งแน่นอน ใครที่บวชเข้ามาต้องให้เรียนกรรมฐาน ถ้าอุปัชฌาย์ไม่บอกกรรมฐานก็ต้องอาบัติ นี้แสดงว่าต้องสำคัญมาก
จุดที่จะระเบิดถล่มทลายภพชาติมันก็เริ่มจากตัวนี้เอง คือการพิจารณากายจนชำนิชำนาญ สำหรับผู้ปฏิบัติแล้วเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดกว่างานใดๆ คืองานของจิตใจที่พิจารณาละสักกายทิฏฐิ
เมื่อครั้งปฏิบัติในพรรษาต้นๆ อยู่ที่บ้านสวนกล้วย ได้พิจารณากายอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกๆ ขณะจิต จนสามารถแยกแยะร่างกายออกเป็นส่วนๆ จนสลายไปได้ พิจารณาจนจิตใจสงบร่มเย็นมาก จิตใจเข้าสู่ฐานที่ตั้งของจิตเดิมได้อย่างสนิทแนบแน่น ไม่ หวั่นไหวกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ
เมื่อได้พิจารณาจนเข้าใจแจ่มแจ้งในกองสังขารนี้แล้ว จึงได้ให้พวกเราพยายามพิจารณากายให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก จดจ่อต่อเนื่องไปไม่ขาดระยะขาดตอน หรือบางคนพิจารณาเวทนา จิต ธรรม ในส่วนนี้หากเป็นผู้มีอินทรีย์บารมีอ่อน ก็กลายเป็นสังขารปรุงแต่งคิดคาดเดาเอาเองไปได้
จึงให้มาพิจารณากายของเรานี้เป็นอารมณ์ตลอดเวลา เพื่อจิตใจจะได้เข้าในสภาวธรรมตามความเป็นจริง ละสักกายทิฏฐิ คือละความยึดถือในตัวตนของตนและคนอื่นๆ ให้จิตใจเข้าสู่ฐานของความสงบเป็นลำดับไป จนสามารถพังทลายตัวอวิชชา คือความไม่รู้เท่าทันความจริงของสังขารทั้งหลายได้ ให้จิตใจตกกระแสพระนิพพาน เป็นดวงใจที่รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นพุทโธ พุทธะเต็มดวงใจของเรา