แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑๐ ต้องพากันเข้าใจ ต้องฝึกปล่อยฝึกวางฝึกปลงสังขาร เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น การบำเพ็ญบารมีทำร่วมกัน ทุกอย่าง มีความเห็นถูกต้อง มีความตั้งมั่น การสมาทานการอธิษฐานเข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ เมื่อวานก็ได้พูดเรื่องการเสียสละพอสมควร วันนี้ก็จะพูดให้เเจ่มเเจ้งขึ้นอีก เพราะว่าคนเรายังไม่รู้จัก ยังสุดโต่งอยู่ ยังไม่ได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยีทั้งพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ถือว่ายังสุดโต่งอยู่
เราก็จะเห็นว่าทุกคนมีความทุกข์ ยังไม่รู้จักเทวทูต ยังไม่รู้จักความเกิดความเเก่ความเจ็บความตาย ยังไม่รู้จักความสงบ ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามความปรารถนา ถือว่ายังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์ เราทุกคนถึงพากันมีความทุกข์ ยิ่งเเก่ยิ่งเฒ่าก็ยิ่งมีความทุกข์ เพราะไปเข้าใจว่ารูปก็ไม่ได้ตามปรารถนา เวทนาก็ไม่ได้ตามปรารถนา สังขารก็ไม่ได้ตามปรารถนา เเท้ที่จริงเราเป็นผู้โชคดีนะ เพราะทุกอย่างนั้นเค้าเอาความจริงเอาสัจจะธรรมมาบอกเรา แต่เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจในสัจธรรมความจริง ยิ่งคนเเก่ๆ ก็ยิ่งทุกข์มาก เป็นห่วงลูกเป็นห่วงหลาน สารพัดห่วง เเม้เเต่ผู้ที่มาบวชที่วัดก็เป็นห่วงกังวล เเล้วพยายามที่จะเเก้ไขภายนอก พระเณรเเม่ชีเเละโยมวัด ผู้ที่ยังไม่เข้าใจสัจจธรรม ถึงพากันไปโรงพยาบาล เราไม่ได้คิดว่า เราโชคดีที่ความเเก่ปรากฏ ความเจ็บมาปรากฏ ความตายมาปรากฏ เราก็พยายามเเก้ไขจิตใจของเรา อยู่ด้วยความหวั่นไหว ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ต้องฝึกปล่อยฝึกวางฝึกปลงสังขาร อย่าไปตามใจตามอารมณ์ เค้าเรียกว่า ปลงสังขาร ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ ไปหาหมอ ที่โรงพยาบาลก็เป็นศูนย์รวมเเห่งโรค เค้าเอาโรคไป ทางหมอทางเเพทย์เค้าก็ไม่อยากให้ไป เพราะเค้าเป็นโควิดกัน พยายามเจริญปัญญา เจริญสมาธิ อย่าให้จิตมันฟุ้งซ่าน ถ้างั้นเกิดมาเพื่อจะเเก้ที่ภายนอก ไม่ได้เเก้ไขที่จิตใจของตัวเอง มันไม่ถูกต้อง คนเราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง มันถึงได้ท่องเที่ยว เราก็ต้องมีจิตสำนึก ตั้งใจดีๆ ไม่ต้องไปหาหมอเเหละดี ให้หมอมาหาเรา ให้หมอมากราบมาไหว้เรา ทำงานเสียสละไป
พระพุทธเจ้าทรงปลงสังขารตั้งเเต่ได้ตรัสรู้วันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชา เเล้วก็ไปปลงสังขารอีก ๔๕ ปี ข้างหน้า ปลงทางกาย เพราะว่าคนเเก่ๆ จะมีปัญหา ลูกมีหนี้มีสิน หลานมีหนี้มีสิน ลูกมันเป็นอย่างโน่นหลานมันเป็นอย่างนี้ มันต้องปลงสังขาร มันไม่ควรที่จะโง่ไปมากกว่านี้ เพราะวัยนี้เป็นวัยปลายชีวิต วัยสันยาสี วัยที่พัฒนาตัวเองเป็นพระอริยเจ้า เราถึงจะได้ส่งไม้ผลัดให้ลูกให้หลาน
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นสังขารของเราชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง ความตาย ความจริงเป็นเพียง สิ่งสมมติ ขึ้นเท่านั้น ต้นไม้บางครั้งเมื่อลำต้นล้มลงแล้ว กิ่งหรือรากก็ผุดต้นใหม่ขึ้นมาอย่างนี้จะเรียกว่า ต้นไม้นั้น “ตาย” ได้อย่างไร ต้นไม้บางต้นถึงดูภายนอกเหมือนว่าจะตาย ลำต้นเหี่ยวแห้งแล้ว แต่กิ่งบางกิ่งที่เห็นว่ายังสดดี พอตัดกิ่งมาปักมาชำก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ อย่างนี้จะเรียกว่าต้นไม้นั้น “ตาย” ได้หรือ?
ความตายนั้น ไม่มีความหมายสำหรับต้นไม้ ตราบใดที่ไม่รู้จะกำหนดจุดไหนว่าคือ ความตายของต้นไม้
อะไรคือ “ความตาย” ของคนคนหนึ่ง ต่อให้คนผู้นั้นสิ้นสังขารไปแล้ว แต่ถ้าคำสอนของเขาและวิถีของเขายังมีผู้สืบทอดอยู่ และยังดำรงอยู่จะเรียกว่า คนผู้นั้น “ตาย” ได้หรือ?
ในอีกแง่หนึ่ง ความตาย กับ การตาย ก็แตกต่างกัน เพราะ การตายเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่คนเราเกิดแล้ว คนเราพอคลอดจากครรภ์มารดา เราก็เริ่มตายแล้ว การตายเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตของเรา ขณะที่เรากำลังทำกิจกรรมต่างๆ อยู่นี้ เซลล์ผิวหนังก็ตาย เซลล์ในหลอดอาหารในกระเพาะ ในลำไส้ของเราก็ตายแล้วลอกหลุดออกมา การตายลักษณะนี้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนเราโตขึ้นๆ เพราะ มันคือ ธรรมชาติที่จะต้องตาย เพื่อให้มีสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ วนเวียนกันไปอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จึงเห็นได้ว่า เราไม่สามารถจี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วระบุว่าเป็นความตายได้ เราทำได้เพียงแค่สมมติเอาว่าเช่นนี้เรียกว่า ตาย ก็แล้วกันเท่านั้น
ความตายจึงไม่มีในเชิงปรมัตถ์ คงมีแต่การตายกับการเกิดวนเวียนกันไป ความกลัวตายจึงเป็นอวิชชาอย่างสูงสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์
ปัจฉิมอาพาธ ของ หลวงพ่อพุทธทาส ได้เริ่มขึ้นเมื่อเช้าของวันที่ 25 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) ก่อนหน้านั้น ท่านเคยอาพาธหนักเป็นโรคหัวใจวายถึงขั้นน้ำท่วมปอด เส้นเลือดในปอดแตก บ้วนน้ำลายออกมาเป็นเลือดเต็มไปหมด พระอาจารย์สิงห์ทองที่เป็นพระอุปัฏฐากเรียนท่านให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่านกลับบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกทอง เราอยากจะดู อยากจะรู้ เสมหะที่มีเลือดปนอยู่ของเรา เธอจงเอาไปถมไว้อย่าให้ใครเห็นนะ เอาไปฝังให้หมด เดี๋ยวคนจะตกใจ”
หลวงพ่อพุทธทาสไม่เคยบ่นเรื่องความเจ็บป่วย ท่านไม่หอบสังขารหนีความตาย อันที่จริงตัวท่านปลงสังขาร และปล่อยวางสังขารของท่านมาตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ. 1991) แล้ว
เช้าวันนั้น (วันที่ 25 พฤษภาคม) พระอาจารย์สิงห์ทองนอนอยู่ใต้เตียงท่านคืนก่อนหน้านั้น มีเลือดเต็มเตียงแล้วไหลลงมา พระอาจารย์สิงห์ทองจัดการพยุงท่านให้ลุกขึ้นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนใหม่ แล้วพยุงให้หลวงพ่อพุทธทาสลงไปนอน ท่านก็นอนอย่างนั้น สลบไม่รู้เรื่องเลย
พระอาจารย์สิงห์ทองไม่รู้ว่าท่านตื่นขึ้นเมื่อไหร่ เพราะเพลียมากเนื่องจากเฝ้าดูแลท่าน จนตัวเองหลับผล็อยไปอยู่ใต้เตียง ท่านได้ยินเสียงหลวงพ่อพุทธทาสปลุกเรียกเบาๆ ว่า “ทองตื่นได้แล้ว เราจะตายแล้ว”
ท่านพูดภาษาง่ายที่สุด พร้อมกับบอกเขาอีกว่า “ไม่ไหวแล้ว ไปบอกคุณโพธิ์ (พระอาจารย์โพธิ์ผู้เป็นธรรมทายาท) หน่อยว่า เราไม่ไหวแล้ว เราจะตายแล้ว”
ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 7 โมงเช้า เมื่ออาจารย์โพธิ์เข้ามา ท่านบอกกับอาจารย์โพธิ์ว่า “โพธิ์ไม่ไหวแล้ว เราคงไม่ไหวแล้ว”
ท่านมีสติสมบูรณ์ดีมาก ท่านยังยิ้ม ยังคุยธรรมะกับพระอาจารย์โพธิ์ และพระอาจารย์สิงห์ทองอยู่เหมือนเป็นปกติ จนในที่สุด ท่านก็บอกออกมาว่า “มัน มาถึงแล้วตอนนี้!”
ท่านเฝ้าดูการตายของตัวท่านอย่างมีสติรู้ตัว และจดจ่อท่านบอกอีกว่า “ทอง เราพูดไม่ได้แล้ว ลิ้นเราแข็งแล้ว” พระอาจารย์สิงห์ทองพยายามเงี่ยหูฟังว่าท่านจะสั่งอะไรอีก เพราะเห็นท่านทำปากขมุบขมิบ แต่เขาจับความไม่ได้ ขณะที่อาจารย์โพธิ์อ่านจากริมฝีปากของท่านออกว่า ท่านท่องบริกรรมสาธยายมนต์อยู่ตลอดเวลาก่อนจะสิ้นความรู้สึก ซึ่งท่านพระอาจารย์โพธิ์จับใจความได้ว่า ท่านพุทธทาสสาธยายนิพพานสูตร ทบทวนไปทบทวนมา ดังนี้
"...อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ, ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วา โย, น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญฺาณญฺจายตนํ น อาภิญฺจญฺญายตนํ น เนวสญฺญา นาสญฺญายตนํ, นายํ โลโก น ปรโลโก น อุโภ จนฺทิมสุริยา, ตมหํ ภิกฺขเว เนว อาคตึ วทามิ น คตึ น ฐิตึ น จุตึ น อุปฺปตฺตึ อปฺปติฏฐํ อปฺปวตฺตํ อนารมฺมณเมว ตํ, เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺสาติ..."
คำแปลว่า... ภิกษุทั้งหลาย ! "สิ่ง" สิ่งนั้นมีอยู่, เป็นสิ่งซึ่งในนั้นไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีลม, ไม่ใช่อากาสานัญ จายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น, ไม่ใช่ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ทั้งสองอย่างภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีอันเดียวกับ "สิ่ง" สิ่งนั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา, ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการจุติ, ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น, สิ่งนั้นมิได้ตั้งอยู่, สิ่งนั้นมิได้เป็นไปและสิ่งนั้นมิใช่อารมณ์, นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ล่ะ...
ท่านพุทธทาสได้สาธยายนิพพานสูตร จนกระทั่งท่านหมดความรู้สึกไปเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ปริมาณเลือดมากขึ้นๆ จนกดทับเนื้อสมองต่อจากนั้นคณะศิษย์ได้นำท่านเข้ารักษาที่ รพ.สุราษฎร์ธานี และนำท่านกลับสวนโมกข์ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ จากนั้นได้นำท่านเข้ารักษาที่รพ.ศิริราช อีกครั้ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วยจวบจนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. คณะศิษยานุศิษย์ จึงนิมนต์ท่านกลับสู่สวนโมกข์ พร้อมคณะแพทย์ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด จนในที่สุดชีพจรท่านหยุดเต้นท่านพุทธทาสได้มรณภาพโดยสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เวลา ๑๑.๒๐ น. ของวันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริอายุได้ ๘๗ ปี ๔๒ วัน (๖๗ พรรษา)
การละสังขารอย่างพระอริยเจ้าไม่มีความทุกข์เลย คนเรามันต้องมีความสุขในการปลงสังขาร ปลงสังขาร ไม่ใช่ร่างกายตาย เเต่คือการปลงทางจิตทางใจ
แม้จนบัดนี้ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เชื่อกันมาผิดๆ ว่านิพพานนั้นคือ การตายของพระอรหันต์หรือของพระพุทธเจ้า และนิพพานนั้นจะถึงได้เมื่อตายแล้วเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่เลย
นิพพานแปลโดยสภาวธรรม แปลว่า ดับและเย็น นิพพานจึงไม่ใช่คุณสมบัติของคนตาย และมิใช่คุณสมบัติของคนเป็น
แต่ นิพพาน เป็นคุณสมบัติของผู้ที่หลุดพ้นแล้วเป็นผู้บรรลุแล้ว เป็นผู้สลัดหลุดจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงแล้ว
นิพพาน จึงเป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีปัญญาญาณอันสุดประเสริฐ และแสนวิเศษที่สามารถหยั่งรู้แจ่มแจ้งในสรรพสัตว์ สรรพชีวิต สรรพสิ่งอันเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับเป็นไปอย่างเป็นเช่นนั้นเองนี้
นิพพาน เป็นสภาวะ และเป็นคุณสมบัติสูงสุดของผู้สลัดหลุดแล้ว ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับ อยัมยตาธรรม แล้ว
นิพพาน จึงเป็น ภาวะของพุทธะ ผู้เข้าถึงอิสรภาพและเสรีภาพสูงสุดแล้ว ด้วยเหตุนี้ สภาวะของนิพพาน จึงไม่มีองค์ประกอบรูปลักษณ์ที่จะอธิบาย แต่ความหมายของมันคือ การดับและเย็นตลอดกาล ไม่ต้องกลับไปเกิดแก่เจ็บตายอีก
นิพพานจึงอยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้เสมอมาอย่างไร้เวลาอย่างเหนือกาลเวลา นิพพานเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ เมื่อมนุษย์ทำชีวิตของตนให้ถูกต้อง ทั้งทางกาย ทางใจ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘
คนเราจะรู้จักนิพพานได้ ต้องปฏิบัติจนรู้สึกในใจเอง
นิพพาน คือตายเสียก่อนตาย ซึ่งทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ด้วยการละอุปทานในตัวตน ด้วยการบำเพ็ญตบะสามารถควบคุม รู้ทัน ผัสสะ และเวทนาเพื่อไม่เกิดอุปาทาน
นิพพาน ไม่ใช่การไป ไม่ใช่การมา และไม่ใช่การหยุดอยู่ นิพพานเป็นสภาวะอันหนึ่งซึ่ปรากฏออกมา เมื่อมีการกระทำถูกต้อง มีการปฏิบัติถูกต้อง ฉะนั้นจึงไม่ต้องไป จึงไม่ต้องมา รวมทั้งไม่ต้องหยุดที่นั่น
เพราะไปคือ ไปหาสิ่งหนึ่ง มาก็มาหาสิ่งหนึ่ง หยุดก็เพราะติดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันใช้ไม่ได้ทั้งสิ้นกับคำว่า “นิพพาน” เพราะมันยังมีความยึดมั่นถือมั่น จึงได้ไป จึงได้มา หรือจึงได้หยุดที่นั่น ต่อเมื่อดับความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดหรือติดอยู่ที่ไหน จึงจะเรียกว่าเป็นการหลุดออกไป หรือถ้าจะเรียกโดยสมมติก็เรียกว่า “ทางนิพพาน”
ทางนิพพาน นั้นคือ มรรค อันเป็น หนทางของจิตใจ มรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ นี้ เป็นตัวทางนิพพาน เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนั้น ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ครบถ้วน พอเหมาะพอดี แล้วนิพพานก็จะปรากฏแก่จิตใจของผู้ปฏิบัติเอง ดังที่ได้เคยปรากฏแก่จิตใจของหลวงพ่อพุทธทาสเองมาเป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนที่ท่านจะสิ้นสังขาร
ในระหว่างนั้น หลวงพ่อพุทธทาสมีชีวิตอยู่อย่างทุกลมหายใจเข้าออก ของท่านได้ชิมรสของนิพพาน ได้รู้จักกิจของนิพพาน เพราะจิตใจของเขา มีแต่ความเย็นอกเย็นใจ แช่มชื่น เบาสบายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก แม้ในขณะทำงาน ก็ทำงานอย่างร่าเริง รื่นเริง เย็นอกเย็นใจ ทำงานอย่างสนุกสนาน หมือนทำของเล่น อยู่ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าออก อย่างนี้แหละคือการมีชีวิตอยู่อย่างได้ลิ้มชิมรส ของนิพพานที่เป็นอมตธรรม
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงนี้แล้ว พึงปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
อุบาสกคนหนึ่ง “บุรุษนิรนาม” คนนี้เป็นคนจน มีโคหลายตัว (มีโคหลายตัว ไม่น่าจะเป็นคนจนเพราะถ้าจนจริงๆ ต้องไม่มีโคแม้แต่ตัวเดียว) ได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองอาฬวี และชาวเมืองอาฬวีอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เสวยภัตตาหารและแสดงธรรมด้วย บุรุษนิรนาม อยากไปฟังธรรม แต่ติด้วยโคของตนหายไปตัวหนึ่ง จำเป็นต้องตามหาหาโคให้เจอเสียก่อน เพราะสมบัติของเขาก็มีเพียงแค่นี้เอง เขาจึงติดตามหาโคที่หายไปหลายแห่ง ในที่สุดก็พบและรีบต้อนเข้าคอกแต่ยังหัววัน
เขาคิดว่าป่านนี้พระพุทธองค์คงทรงแสดงธรรมไปจนเกือบจบแล้ว ไปก็คงไม่ได้ฟัง แต่อย่างไรก็ดีขอได้ทันกราบนมัสการพระองค์ก็ยังดี คิดแล้วเขาจึงรีบเดินทางไปยังบริเวณที่เขาจัดถวายทานและฟังธรรม หิวก็หิว เพราะตั้งแต่เช้าไม่ได้กินอะไรเลย ไปถึงเขาก็ประหลาดใจมาก
พระพุทธองค์หลังเสวยเสร็จแล้ว ขึ้นประทับบนธรรมาสน์ แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์และประชาชนจำนวนมาก ขอฟังอนุโมทนาและธรรมเทศนาอยู่ พระพุทธองค์กลับประทับนิ่งเฉย ไม่ตรัสอะไรแม้แต่คำเดียว เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ก็ไม่มีใครกล้าขยับ ได้แต่นั่งสงบอยู่โดยทั่วหน้ากัน
บุรุษนิรนามเห็นพระพุทธองค์ทรงเหลียวมามองทางเขา ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์คิดว่าพระพุทธองค์ยังคงคอยเราอยู่ จึงคลานเข้าไปกราบถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท (ท้ายบริษัท หมายถึงนั่งหลังใครๆ หมดนะครับ ไม่ใช้ท้ายบริษัทไทยเมล่อน อะไรอย่างนั้น)
แทนที่พระองค์จะรีบแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ตรัสถามทายกผู้จัดอาหารถวายพระว่า “มีอาหารเหลือจากที่พระฉันหรือเปล่า”
“มี พระเจ้าข้า” เขากราบทูล “ไปเอาอาหารมาให้บุรุษผู้นี้รับประทานก่อน”
ทายกได้จัดแจงอาหารมาให้เขารับประทานจนอิ่ม หลังรับประทานอาหารเขารู้สึกอิ่มสบาย ไม่กระวนกระวายเพราะความหิว จิตใจก็สงบพร้อมจะฟังธรรม
พระอรรถกถาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่ไหนในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงจัดการให้หาอาหารมาให้ใครรับประทาน มีที่นี้แห่งเดียว รับประกันได้ว่าอย่างนั้น
พระพุทธองค์ตรัสอนุปุพพิกถา (ถ้อยแถลงเรื่องตามลำดับจากง่ายไปหายาก) พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง ศีล สวรรค์ โทษของกาม และการออกจากกาม เป็นการ “ปูพื้น” จากนั้นก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการโดยพิสดาร
ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาเขาได้บรรลุโสดาปัตติผล
หลังจากโปรดบุรุษนิรนามเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี แสดงว่าที่เสด็จมาไกลปานฉะนี้ก็เพื่อโปรดเขาคนเดียวจริงๆ
ขณะเสด็จกลับ พระสาวกตามเสด็จที่เป็นปุถุชนอยู่ พูดซุบซิบในทำนองไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธองค์เสด็จมาตั้งไกลเพียงเพื่อโปรดชาวนายากจนคนเดียว พระองค์เอาพระทัยใส่เขามาก ถึงขนาดทรงให้เขาหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินเองเลยทีเดียว แน่ะ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ชอบนินทา นินทากระทั่งสมเด็จพระบรมครู
พระพุทธเจ้าทรงได้ยิน จึงหยุดเสด็จดำเนิน ทรงหันมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร”
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็คงจะ “ปละ เปล่า พระเจ้าข้า” อะไรทำนองนั้น แต่พระเหล่านั้นก็กล้าพอที่จะพูดความจริง พระพุทธองค์จึงตรัส บุรุษคนนั้นเขาต้องการฟังธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเขามีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรม จึงเสด็จมาจากที่ไกลเพื่อสอนเขา แต่ว่าเขาหิวข้าว คนเราเมื่อยังหิวอยู่ ถึงธรรมะจะดีอย่างไร เขาก็ไม่ยินดีฟังหรือถึงฟังก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงให้เขาหาข้าวให้เขากินก่อน แล้วพระองค์จึงตรัสว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา เอตํ ญตฺวา ยถาภูตํ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ. ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง รู้ความจริงนี้แล้ว พึงปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”
ความหิว คือสภาพที่บีบคั้นให้ต้องหาสิ่งมาตอบสนองปรนเปรอ ความหิวทางกาย เช่น หิวน้ำ หิวข้าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาน้ำหาอาหารมาบรรเทาความหิว ให้ความหิวหายไป โรคทั้งหลายบรรดามีในโลกมนุษย์นี้ บางทีก็มีมาเบียดเบียนเรา บางทีก็ไม่มี หรือนาน ๆ มีโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นมาเบียดเบียนเราทีหนึ่ง แต่ความหิวนี้เบียดเบียนเราอยู่ทุกวี่ทุกวัน หิวตอนเช้า หาอาหารกินก็หายไป พอเที่ยงมาก็หิวอีก หาอาหารกินก็หายไป ตกเย็นมาก็หิวอีก เป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน
เรียกได้ว่า ความหิวนั้นเบียดเบียนเราอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันไหนเลยที่ความหิวไม่เบียดเบียนเรา ดังนั้น ความหิวจึงจัดว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด ร้ายแรงกว่าโรคทั้งหลายทั้งปวงบรรดามีเลยทีเดียว
ถ้าต้องการกำจัดความหิวอย่างถาวร มีอยู่ทางเดียวคือ ไม่ต้องเกิดอีก และวิธีที่จะไม่ต้องเกิดอีก ก็มีอยู่ทางเดียว คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนสามารถเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ จึงจะสามารถทำลายภพชาติ ไม่ต้องเกิดอีก
การปฏิบัติธรรมหน่ะ เราไม่ต้องวิตกกังวล ว่าใครจะว่าให้เรา เพราะว่าเราคิดดีๆ พูดดีๆ ปฏิบัติดีๆ ทำเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เราไม่เอาผลประโยชน์อะไร เราจะไประแวงทำไม นี้แสดงว่าเราวิตกกังวล ระแวง กลัวคนนู้นจะว่าอย่างนู้นว่าอย่างนี้ เพราะเราเป็นของปลอมอยู่ ปฏิบัติเพื่อเป็นตัวเป็นตนอยู่ เพื่อจะให้คนอื่นยอมรับเรา คนอื่นจะยอมรับเราได้ยังไง เพราะตัวเราเอง ยังยอมรับตัวเองยังไม่ได้ มันเสียหายนะ เวลาแก่เวลาเฒ่ามา จะเป็นคนไม่มีอริยะทรัพย์ มันมีความทุกข์นะ ไปห่วงแต่ลูกห่วงแต่หลาน ลูกคนนั้นมีหนี้มีสิน หลานคนนี้มีหนี้มีสิน คนเรามันต้องปลงสังขาร มันต้องเสียสละ นักกีฬาเขาก็ต้องฝึกตัวเอง เราเป็นนักปฏิบัติก็ต้องฝึกเรา อย่ามัวแต่คุยโว เดี๋ยวมันไม่มีที่พึ่งนะ พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง พระอริยะเจ้าก็เป็นผู้ที่มีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง ท่านไม่สนใจเรื่องอาหาร ไม่สนใจเรื่องเสนาสนะ ไม่สนใจเรื่องอะไรทุกอย่าง เพราะท่านมีความสุข เพราะจิตใจท่านมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ท่านก็พาเราประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ท่านดีแต่พูด เหมือนคนทุกวันนี้ พากันดีแต่พูด มันเป็นยังไงดีแต่พูด คือพูดเก่งคุยเก่งไปหมด แต่พอเจอปัญหาเข้า ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ก็เลยต้องโศกเศร้าพิไรรำพัน
เราต้องมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะอยู่แต่กับสิ่งภายนอก ใจยังไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบันธรรม ทำตัวเองเป็นนักบุญ ที่แท้จริงเป็นคนที่ไม่ได้แก้ไขตัวเอง เป็นคนไม่มีสมาธิ ไม่มีความสุขในปัจจุบัน เป็นคนฟุ้งซ่าน ต้องพากันฝึกทำสมาธิให้ได้ เพราะอันนี้เป็นภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราก็อยู่กับการงานให้มีความสุข อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกให้มีความสุข เราเอาศีลเอาธรรมเอาพรหมจรรย์ของเราให้มีความสุข
ปัจจุบันใจเราไม่สงบ เพราะเราไม่พิจารณาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เราจะได้ทะลุกิ่งทะลุใบ ทะลุสะเก็ด ทะลุเปลือก ทะลุกระพี้ ไปให้ถึงแก่นแท้แห่งสัจธรรม ใจของเราจึงจะเกิดปัญญาได้ ถึงแม้โลกมนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกสบายเราก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาทำไว้ดีแล้ว แต่เราต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่ไตรลักษณ์ให้ได้ เพื่อจะได้เข้าถึงแก่นเข้าถึงความจริง บริโภคใช้สอยด้วยปัญญา ก่อนเราจะบริโภคต้องทำให้ถูกวิธีก่อน เหมือนอาหารบางชนิดเราจะไปทานเลยไม่ได้ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ ต้องผ่านการปรุงก่อน สิ่งที่มาปรากฏกับเราต้องพิจารณาสู่ไตรลักษณ์ในปัจจุบัน เราก็พากันคิดว่า โอ้! ทำไมการภาวนาการประพฤติปฏิบัติของเราถึงเป็นไปไม่ได้? ก็เพราะว่าเรายังไม่รู้ธรรม ยังไม่ได้ฟังธรรมคำสอนของพุทธเจ้า ยังไม่ได้คบบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ยังไม่เข้าใจการประพฤติการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน คนเราถ้าไม่สงบ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรได้เลย จิตคิดจิตไม่รู้ จิตรู้จิตไม่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่านยิ่งไม่รู้ ยิ่งอยากรู้ยิ่งไม่หยุดคิด ต่อเมื่อหยุดคิดจิตถึงได้รู้
การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราต้องเริ่มพัฒนาที่ใจให้มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้อง ต้องเอาทั้งศีล สมาธิและปัญญา มารวมกันในการปฏิบัติธรรม นั่นคืออริยมรรคมีองค์แปด อริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดเป็นทางอันประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางนี้ ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ถ้าภิกษุหรือใครๆก็ตาม พึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐประกอบด้วยองค์แปดนี้อยู่ โลกนี้จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ เมื่อใดบุคคลเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่ารู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่ จงมองดูโลกนี้ โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เราจะเบาสบาย คลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม