แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๙ การจะเลิกสิ่งที่เสพติดทางกาย ทางใจให้ได้นั้น ต้องต่อสู้ ต้องสมาทาน ต้องตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์เราทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อมาหยุดปัญหามาเเก้ปัญหา เราไปทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเองทำตามความรู้สึกนั้นไม่ได้ไม่ถูกต้อง เราต้องเข้าสู่กระบวนการเเห่งการลดละเลิก ต้องสมาทาน
การที่จะละจะเลิกต้องเข้าสู่ไลน์ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ต้องสมาทานตั้งใจ เพราะการเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ เลิกสิ่งเสพิดทางจิตใจ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย เป็นเดือน เพราะอันนี้มันติดทั้งกายติดทั้งใจ เหมือนไก่ฟักไข่ กว่าจะฟักลูกได้ต้องใช้เวลา สามอาทิตย์ เราเลิกเหล้าเลิกเบียร์ก็เช่นเดียวกัน ต้องสมาทานตั้งใจ ใจเข้มเเข็ง ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เราพากันสมาทานให้มันเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ต้องตั้งใจเลิกเอง
พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้บอกผู้สอนเเล้ว เราต้องเป็นผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติ เพราะสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ดีถ้าเราไปติดมันก็ไม่ได้ ต้องเสียสละ หลายคนที่ละไม่ได้ ก็เพราะว่าใจอ่อน ละได้เเล้วก็กลับไปดื่มอีก กลับไปสูบอีก เมื่อผู้อำนวยการให้โอกาสอย่างนี้ ถือว่าเราเป็นผู้ที่โชคดี เรากลับไปอย่างนี้ เราทุกคนต้องบังคับตัวเอง คนเราร่างกายของเรามันจะตาย ขันธ์ของเราจะเเตกหักก็ต้องกระวนกระวาย เราจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ มันก็เป็นอย่างเดียวกัน มันจะตายชักดิ้นชักงอให้ได้ เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ รู้จักรูป รู้จักเวทนา ที่เราติดเราหลง
การสมาทานการตั้งใจนี้เรียกว่าศีล ความหนักแน่นอย่างนี้ ตั้งมั่นในระยะยาว คนเราจะเรียนหนังสือก็ต้องตั้งใจ จะทำงานอะไรก็ต้องตั้งใจ ต้องตั้งใจสมาทาน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสให้เราได้ฝึกให้เราได้ปฏิบัติ เราดูตัวอย่างพระอรหันต์ พระอรหันต์คือผู้ที่สมาทานคือผู้ที่ตั้งมั่น คือผู้ที่เสียสละ คือผู้ที่หยุดก่อนวัฏสงสาร ยกตัวอย่างหลวงปู่ตื้อไปธุดงค์กับหลวงปู่แหวน ที่เด่นชัยสมัยก่อนยังเป็นบ่อน้ำขุด ไปนั่งที่นั่น ยังไม่เที่ยงวัน หลวงปู่ตื้อเห็นมะม่วงก็อยากฉัน ก็บอกให้หลวงปู่แหวนขอมะม่วงเขา หลวงปู่แหวนท่านก็รู้ว่าขอมะม่วงจากคนไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณานั้น ขอไม่ได้ ท่านก็นิ่ง บอกหลายครั้งท่านก็ไม่ไป เพราะตั้งมั่นในพระธรรมวินัย สุดท้ายจนเวลาล่วงเลยไปเที่ยงวัน หลวงปู่ตื้อก็ได้สติ ตั้งแต่วันนั้นมาหลวงปู่ตื้อก็ไม่ฉันมะม่วงอีกเลย จนท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่ฉันมะม่วงอีกเลย
อย่างหลวงปู่คำภาก็เหมือนกัน ท่านฉันมื้อเดียวหลังเที่ยงวันไปแล้วน้ำหวานน้ำปานะอะไร ท่านก็ไม่ดื่ม เหนื่อยแค่ไหนท่านก็ไม่ดื่ม
คนเราเนี่ยที่มีปัญหาก็เพราะความคิดเฉยเฉย เมื่อเรารู้จักความคิดแล้วก็ไม่ให้ความปรุงแต่งของเรามันทำงานหลายวาระจิตได้ ผู้ที่ติดเหล้าติดเบียร์ติดบุหรี่ ติดสิ่งเสพติดก็อย่างนี้เหมือนกัน ก็ต้องต่อสู้ ต้องสมาทานต้องตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวและเข้มแข็ง ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จนเราอยู่เหนือความชอบความไม่ชอบ มันอยากคิดเราก็ไม่คิด มันอยากพูดเราก็ไม่พูด มันอยากทำเราก็ไม่ทำ มันอยากไปก็ไม่ไป อยากอยู่ก็ไม่อยู่ อยากอยู่ยังไงล่ะคือมันไม่อยากทำงานก็ต้องทำไม่อยากขยันอย่างนี้ก็ต้องขยัน มันอยู่เฉยๆ ไม่อยากพิจารณาเรื่องเหตุผล ไม่อยากพิจารณาธรรม ไม่อยากทำวิปัสสนา ก็ต้องฝืนต้องต่อสู้ต้องอดทน ถ้าไม่อย่างนั้นคนเรามันก็จะไปอย่างเก่าไปในร่องเก่า รอยเก่า
เพราะทุกคนนั้นตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินอยู่ในความประมาท บางคนรู้ธรรมเข้าใจธรรม แต่ขอเวลาให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็หมดโอกาส เพราะความเพลิดเพลินความประมาท ให้ทุกท่านถือว่าเราเป็นผู้ที่โชคดี ต้องเน้นที่ปัจจุบัน เอาธรรม เอาพระวินัย อย่าไปตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน อย่าไปตั้งอยู่ในความประมาท ความเพลิดเพลินความประมาทนั้น มันอาการทางจิตใจคือ เป็นจิตใจที่เป็นไปในทางพาล ไปในทางที่ไม่ดี เพราะเรายังเพลิดเพลิน เรายังประมาทอยู่ ถ้าเราประมาทก็ต้องพลาดแน่นอน อย่างบุหรี่นี้นะ เป็นสิ่งที่น่าเกียจน่าขยะแขยง แต่เราเห็นเค้าสูบเห็นเค้าดูดบุหรี่ เราก็ไปตามกัน ทั้งที่มันไม่น่าติด เพราะอันนั้นมันเป็นยาเสพติด พวกเหล้าพวกเบียร์ก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่ไม่อร่อย ถ้าเราไปดื่มไปเสพอย่างนี้ เราลองคิดดูนะ พวกสัตว์ทั้งหลาย ให้มันสูบบุหรี่มันคงไม่สูบแน่ พวกเหล้าที่เรากลั่นมาเป็นเหล้า ให้สัตว์มันกินมันก็ไม่กินหรอก นอกจากที่พวกเหล้าที่หมักยังหวานอยู่ยังไม่ได้กลั่น พวกสัตว์ป่าถึงจะกินได้เพราะมันยังหวานอยู่
หลายๆ คนที่ตั้งใจมาเอาพระนิพพาน ไปพระนิพพานไม่ได้ก็เพราะ เพลิดเพลินประมาท ขอโอกาสขอเวลา ว่าปีหน้าก่อนถึงจะปฏิบัติ ตั้งหลายปีก่อนถึงจะปฏิบัติ ก็เลยพลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย อย่างนี้เยอะนะ อย่างเป็นลูกคนรวยหรือลูกเศรษฐีส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งที่ดี แต่เค้าก็พากันไม่รับเอาธรรมะไปประพฤติปฏิบัติ เพราะความเพลิดเพลินความประมาท เมื่อใจของเรายินดีในความสุขอย่างนั้น ยินดีในตัวตนอย่างนั้น จิตใจมันหยาบมันสกปรก
หลวงปู่มั่นสอนว่า “คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ แม้คนจะมีจำนวนมาก และแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฎก จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมาฉันนั้น”
เราทำอย่างไรจิตใจถึงจะหนักแน่น จิตใจของเราถึงจะไม่หวั่นไหว เพราะเราก็เป็นมนุษย์ธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกจิตใจให้มี "สัมมาสมาธิ" คือความตั้งมั่นในธรรม ตั้งมั่นในความดี ตั้งมั่นในความถูกต้อง "มนุษย์ เราแปลว่า ผู้ประเสริฐ" มันประเสริฐอยู่ที่ไหน.... มันประเสริฐที่ตั้งมั่นในธรรม ในความเป็นธรรม ในการที่ไม่โยกคลอน ไม่หวั่นไหว
ผัสสะที่มันมากระทบกับเราในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาน่ะ เราทุกคนนั้นย่อมไม่เป็นตัวของตัวเอง ขึ้นอยู่กับผัสสะ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม อากาศร้อน อากาศหนาว ทำให้เราโยกคลอน สิ่งที่ดี...ที่ชั่ว...มันก็ทำให้เราโยกคลอน
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนมีสมาธิที่แข็งแรง พยายามมีสติ มีสัมปชัญญะให้มันมาก มนุษย์ส่วนใหญ่น่ะ... นอกจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์แล้ว ย่อมตกอยู่ในอิทธิพลสิ่งแวดล้อม
พระพุทธเจ้าน่ะ ท่านสอนเราให้มีความสุขในการปฏิบัติธรรม ในชีวิตของเรานี้ถือว่าเป็น 'การปฏิบัติธรรม' พยายามเอาความดี เอาความถูกต้องมาไว้ที่ใจของเรา ไว้ที่วาจา ที่การกระทำของเรา ต้องมีความสุข...ความดับทุกข์ในการทำความดีอย่างนี้
วันหนึ่งคืนหนึ่งน่ะ ๒๔ ชั่วโมง เวลาเรานอนพักผ่อนนั้น อย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ชั่วโมง ถ้าเราไม่ทำใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์ ใจไม่มีสติสัมปชัญญะนั้น เราทุกคนก็จะตกนรกทั้งเป็นในด้านจิตใจ
การเกี่ยวข้อง การผัสสะนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะสุข ไม่ว่าจะทุกข์ ไม่ว่าจะรวยหรือจะจนนั้น มนุษย์เราทั้งหลายต้องพากันปฏิบัติพัฒนา...
พระพุทธเจ้าไม่ให้เรากลัวผัสสะ กลัวอารมณ์ กลัวสิ่งแวดล้อม แล้วแต่อะไรมันจะเกิด... แก้ด้วย 'ศีล' คือการทำความดี แก้ด้วย สมาธิ' คือความหนักแน่น แก้ด้วย 'ปัญญา' คือการไม่หลงในอารมณ์ ไม่หลงในประเด็น
ทุกท่านทุกคนน่ะต้องขอบคุณผัสสะ ขอบคุณสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มันเล็กน้อยหรือรุนแรงที่มาให้เราทุกท่านได้ภาวนา ได้พัฒนา ได้ฝึกจิตใจ สร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม
มนุษย์ของเรา คือผู้ที่มาแก้ไขที่ใจของตัวเอง มาแก้ไขที่คำพูดของตัวเอง มาแก้ไขที่การกระทำของตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ คือธรรมาธิปไตย
คนส่วนใหญ่น่ะ...ถืออัตตาธิปไตยเป็นหลัก ตัวเองถึงมีปัญญา แล้วทำให้คนอื่นมีปัญหา เพราะเอาประชาธิปไตยเป็นใหญ่
พระพุทธเจ้าให้เราเอาธรรมเป็นใหญ่ ปรับตัวเองเข้าหาธรรม ถ้าเราเอาความโลภ ความหลงของคนส่วนใหญ่ ตัวเราก็ย่อมมีปัญหา สังคมส่วนรวมก็มีปัญหา เพราะประชาธิปไตยนั้นเอาสิ่งที่ไม่ดีเป็นใหญ่ โดยพร้อมเพรียงกัน เราเลยไม่ได้พากันประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมของความเป็นมนุษย์
เราเรียนมาก เรารู้มากน่ะ...มันดี เพราะคนที่เรียนนั้นมันฉลาด มันรู้เหตุรู้ผล รู้ว่าทำอย่างนี้จน ทำอย่างนี้รวย แล้วก็เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่เอาความรู้ ไม่เอาความฉลาดเพื่อที่จะให้มนุษย์นี้พัฒนาเข้าหาศีล หาธรรม หาคุณธรรม โลกของเรา สังคมของเรามันถึงร้อน
มนุษย์เราทุกคนถึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติธรรม จำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ไม่มีใครยกเว้นเรื่องการประพฤติการปฏิบัติธรรม
ถ้าเราตั้งมั่นในธรรม ตั้งมั่นในความดี ตัวเราเองก็มีความสุข ไม่มีทุกข์ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เรา ก็ได้รับอานิสงส์ไปกับเราพร้อมๆ กัน
บุคคลหนึ่ง... มันสำคัญอยู่ที่ตัวของเราเอง มนุษย์เราถึงต้องตั้งมั่นในความเป็นธรรม มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในความดี 'การทำความดี' นั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะเราได้พัฒนาสิ่งภายนอก และพัฒนาทั้งด้านจิตด้านใจของเรา
เราเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้นำนี้สำคัญมาก เพราะมนุษย์คนหนึ่งนี้ สำคัญอยู่ที่หัวใจ ครอบครัวๆ หนึ่งสำคัญอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ หน่วยงานกระทรวงหนึ่งก็สำคัญอยู่ที่หัวหน้า หัวหน้ามีความสำคัญอยู่ที่ทีมงาน ต้นไม้ต้นเดียวยืนอยู่กลางนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องมีต้นใหญ่ ต้นรอง ต้นเล็กจนถึงกระทั่งหญ้า ต้นไม้ใหญ่นั้นถึงจะตั้งอยู่ได้ ทุกท่านนั้นถือว่ามีความสำคัญพอๆ กันน่ะ นิ้วมือนี้น่ะก็สำคัญทั้งหมดทั้ง ๕ นิ้ว
ทุกท่านน่ะพระพุทธเจ้าถึงให้เราหันมาหาธรรมะ มีความเมตตาตัวเองด้วยการตั้งมั่นในศีลในธรรม เมตตาคนอื่น เพราะทุกคนทุกท่านนั้นย่อมมีทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ทุกข์ทางหน้าที่การงาน ทุกข์จากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลน่ะ เดี๋ยวนี้เรากำลังมาพัฒนาใจของเราให้มันดี ให้มันสบาย ให้มันไม่มีทุกข์
เราจะเจ็บไข้ไม่สบายก็ช่างหัวมัน ต้องทำใจให้สบาย ใจไม่มีทุกข์ เป็นคนนอนหลับยาก เป็นคนนอนไม่หลับก็ต้องทำใจสบาย ใจไม่มีทุกข์น่ะ เป็นคนที่มีความวิตกกังวลมาก ก็ต้องฝึกทำใจให้สบาย ทำใจไม่มีทุกข์ ฝึกปล่อยฝึกวาง เราจะได้พัฒนาเราไปในชีวิตประจำวันน่ะ
'ใจ' ของเรา ถ้าเราไม่ฝึกน่ะมันไม่ได้ มันก็อย่างเก่า มันก็เท่าเก่า "เราต้องฝึก' ถ้าเราปล่อยไว้ ปัญหามันก็ยืดเยื้อไปเรื่อยน่ะ ผงนิดเดียวมันเข้าตาเราก็มองไม่เห็น มันสร้างปัญหาให้เราทั้งนั้นน่ะ
เราต้องทำจิตทำใจของเราให้ใจของเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แก้ปัญหาไปเป็นเปลาะๆ ตามชีวิตจิตใจเรื่องใหญ่ ถ้าเราคิดว่าไม่มีปัญหา มันก็ไม่มีปัญหา ปัญหาต่างๆ มันอยู่ที่เรามีความหลง อยู่ที่มีความเห็นแก่ตัว เราถึงเป็นทุกข์ เราถึงมีความกังวล เราถึงนอนไม่หลับ
ความไม่รู้ ความไม่ฉลาด ความไม่เข้าใจน่ะมันทำให้กิเลสของเรานั้นพุ่งกระจุยกระจายไปหมด แถมทั้งเครียด ทั้งโกรธเข้ามาอีก
อะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะตั้งอยู่นั้น พระพุทธเจ้าเมตตาบอกเราให้สมาธิแข็งแรงไว้ อย่าไปคิดอะไร อย่าไปปรุงแต่งอะไร อุเบกขาต่ออารมณ์ เป็นธรรมะของผู้ใหญ่ เป็นความเจริญด้านจิตใจ ให้เรามีไว้ อดเอาทนเอาเดี๋ยวทุกอย่างมันก็ผ่านไปหรอก...
อย่าเป็นคนใจเบา อะไรมากระทบ อะไรมาสัมผัสเราก็ตามไปหมด ถูกความหลงมันมาหลอกลวงน่ะตั้งหลายครั้งหลายคราวก็ยังไม่จำ
ให้อด ให้ทน ให้ทบทวน...
การงานที่เราปฏิบัติประจำในชีวิตประจำวันน่ะ ต้องมีความสุข ต้องมีความดับทุกข์จริง เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ ทำงานเพื่อไม่มีตัวไม่มีตน ทุกท่านทุกคนก็จะได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งทรัพย์สมบัติ ชื่อว่าได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ควบคู่กันไป สมกับเราทุกคนที่เป็นผู้ประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์แท้ เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง
เรื่องคนอื่น... ใครเค้าจะดีเค้าจะชั่วก็ช่างเค้า เราเอาความดี เอาความถูกต้อง เอาความเป็นธรรม เอาคุณธรรม ในโลกนี้... มันต้องมีกลางวัน กลางคืน มีหน้าหนาว หน้าฝน หน้าแล้ง มีทั้งคนดีคนไม่ดีน่ะ "เราจะเอาแต่สิ่งที่เราต้องการ สิ่งที่เราไม่ต้องการ เราจะเอาไปไว้ไหนน่ะ...?" เพราะโลกมันเป็นของเขาอยู่อย่างนี้
พระพุทธเจ้าน่ะให้เราทุกคนพากันฉลาด เพราะเราเกิดมาเพื่อความฉลาดสมกับเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ที่ไม่มีความหลง
ร่างกายของเราทุกคนประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ มีอายุขัยจำกัด ที่จะให้เราทุกท่านนั้นได้พากันสร้างความดี สร้างบารมีเมื่อโอกาสเป็นของเรา... ทุกๆ ท่านทุกคนน่าจะดีใจ ภูมิใจที่ได้สร้างบารมีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
การฝึกจิตใจให้สบาย ฝึกจิตใจให้ไม่มีทุกข์นี้เป็นสิ่งสำคัญน่ะ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "ความสุขอันใดสู้ความสงบไม่ได้ไม่มี..." คนเราจะจนจะรวยไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ใจสงบ ใจไม่มีทุกข์...
คนรวยถ้าใจไม่สงบก็มีทุกข์ คนมียศ มีตำแหน่ง ถ้าใจไม่สงบ ก็มีทุกข์ คนสุขภาพร่างกายดี ถ้าใจไม่สงบก็มีทุกข์น่ะ
"ความสงบ คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการ... " พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนฝึกทำใจสงบ ด้วยการฝึกหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... ในทุกลมหายใจที่เราระลึกได้ ไม่เฉพาะนั่งสมาธิน่ะ
เราทำอะไรอยู่เราก็ฝึกหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... เราทำงานไป เรานึกได้เมื่อไหร่เราก็กลับมาหายใจเข้าสบาย...ออกสบาย เหมือนนักกีฬาเค้าพักยกนะ เราทำงานก็มีเวลาพักผ่อนน่ะ
"การพักผ่อนทางจิตใจ ก็คือ ฝึกหายใจเข้าสบาย... ออกสบาย..."
พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับการหายใจเข้าสบาย ออกสบาย เรื่องอดีตอย่างที่เราทำอยู่อย่างนี้ เราพูดอยู่อย่างนี้ เราที่เกี่ยวข้องอยู่อย่างนี้ เราต้องทำให้ดีที่สุด ถ้าผ่านไปแล้วเป็นอดีตน่ะ ผ่านไปแล้วนาทีหนึ่ง สองนาที พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอามาวิตกกังวล ความวิตกกังวล นั้นคือ ความยึดมั่นถือมั่น เป็นอาการที่บุคคลจักปล่อย ไม่รู้จักวาง มันจะดีที่สุดเราก็ต้องปล่อยวาง มันจะเลวที่สุดเราก็ต้องปล่อยวาง ทุกท่านทุกคนต้องฝึกวางจิตใจอย่างนี้ให้ได้ ถ้าเราไม่ฝึกปล่อยไม่ฝึกวางนี้ เรานี้แย่เลยนะ "ดีก็แบก ชั่วก็แบก"
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราเป็นบุคคลที่แบกของหนักพาไป เค้าเรียกว่า ใจของเรายังเป็นเด็กๆ มันยังไม่รู้จักปล่อย ยังไม่รู้จักวาง อาการจิตใจของเรานี้ไม่ดีเลย ไม่เข้าท่าเลยน่ะ เราต้องฝึกปล่อยฝึกวาง ต้องฝึกหัด ต้องปฏิบัติ มันถึงจะเข้าใจมันถึงจะชำนาญ
ผู้แบกของหนัก และผู้ปลงภาระหนัก
ผู้แบกของหนัก “ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงของหนัก ผู้แบกของหนัก และการแบกของหนักแก่พวกเธอ, เธอทั้งหลายจงฟังข้อความนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานักขันธ์ทั้งห้านั้นแหละ เรากล่าวว่าเป็นของหนัก อุปาทานักขันธ์ทั้งห้าเหล่าไหนเล่า ? ห้าคือ,- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือรูป, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือเวทนา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสัญญา, ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือสังขาร, และขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น คือวิญญาณ, ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ของหนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าผู้แบกของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคล(ตามสมมติ)นั้นแหละเราเรียกว่าผู้แบกของหนัก เขามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ตามที่รู้กันอยู่. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า ผู้แบกของหนัก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าชื่อว่าการแบกของหนัก ? ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหานี้ใดที่ทำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัดเพราะอำนาจแห่งความเพลิน ซึ่งมีปรกติทำให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า การแบกของหนัก.”
ดับตัณหา คือปลงภาระหนักลงได้ “ภิกษุทั้งหลาย ! การปลงภาระหนักลงเสียได้ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับสนิทเพราะความจางคลายไป โดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเทียว, ความละไปของตัณหานั้น, ความสลัดกลับคืนของตัณหานั้น, ความหลุดออกไปของตัณหานั้น, และความไม่มีที่อาศัยอีกต่อไปของตัณหานั้นอันใด, ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เราเรียกว่า การปลงภาระหนักลงเสียได้ ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพุทธวจนะนี้ ซึ่งเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไป : – “ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนัก ! บุคคลแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป. การแบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ในโลก. การปลงภาระหนักเสียได้ เป็นความสุข. พระอริยเจ้าปลงภาระหนักลงเสียแล้ว. ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก. ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก(อวิชชา), เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ”
เราทำไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติไปเรื่อย ผลของมันจะเกิดมันก็เท่ากับเราปฏิบัตินี้แหละ มันจะได้มากได้น้อยกว่านั้น มันคงเป็นไปไม่ได้ เรามีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติ ให้เหตุปัจจัยมันถึงพร้อมแล้วทุกอย่าง มันก็จะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์เอง เราทุกๆ คนก็จะเข้าถึงความสุข...ความดับทุกข์ เข้าถึงสวรรค์เข้าถึงพระนิพพานตามที่เราตั้งใจ ที่สร้างบารมีด้วยกันทุกท่านทุกคนโดยไม่ต้องสงสัย...
ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิด ว่าถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาติ อย่าไปคิดอย่างนั้น...!
คิดอย่างนั้น คือ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพ สร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง "ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์" ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
'การเวียนว่ายตาย' เกิดนี้... มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่างๆ แล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดีๆ พากันทบทวนตัวเองดีๆ น่ะ
พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อ พากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหา 'ธรรมะ' ไม่ทำตามความอยาก... ความต้องการ... ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มี 'สัมมาทิฏฐิ' มีความเห็นถูกต้อง แล้วก็พยายามปฏิบัติอบรมบ่มอินทรีย์น่ะ
ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้าด้วยไม่คิดในสิ่งที่เรากำลังอยากน่ะ ๗ วัน ใจของเรามันก็จะเย็น อย่างกลางก็ ๗ เดือน หรืออย่างมาก ก็ไม่เกิน ๗ ปีน่ะ
ทุกท่านทุกคนต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันหมดทุกคน ถ้าผู้นั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ เราไม่นำมาประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเป็น 'โมฆบุรุษ' เป็นบุรุษที่เปล่าประโยชน์ "ให้ทุกท่านทุกคนกลับมาดูตัวเองนะ ว่าเราเป็น...โมฆบุรุษ หรือว่าเป็นโมฆสตรีมั้ย...?"
ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติน่ะ ก็ให้เรารู้เลยว่า เราเป็นโมฆะ ถึงจะอายุเกิดนาน...มันก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะบวชนาน...ก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะรู้มาก...ก็ไม่มีประโยชน์ บริโภคปัจจัยสี่ก็มีแต่บาปแต่กรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... เหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งที่กำลังบริโภคเหล็กแดงๆ น่ะ การที่เราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้มันก็ยิ่งกว่าบริโภคเหล็กแดงๆ ซะอีก
คนเราส่วนมากมักเอาเวลาไปรู้ไปดูสิ่งอื่น เรื่องของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัว นอกกายใจทั้งนั้น น้อยนักที่จะดูตนเอง สนใจเอาใจใส่ขัดเกลาตัวเราเอง หากสนใจแต่ในการแสวงหาเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งพระพุทธองค์อุปมาเป็นเหมือนกิ่งใบของต้นไม้เท่านั้น ยังนับว่าห่างไกลที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ ศาสนาพุทธ ที่เป็น “พุทธะ” ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเหลืออยู่สักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่ คือ เนื้องอก เช่น พิธีกรรมบวงสรวง เซ่นไหว้ บูชา หลงประกาศแต่ศาสนาพราหมณ์ ปฏิบัติกิจเกี่ยวกับพิธีรีตองของขลังศักดิ์สิทธิ์ ประกอบธุรกิจพุทธพาณิชต่างๆ เป็นเนื้องอกเนื้อร้ายแห่งพระพุทธศาสนา ที่พากันทำโดยขาดปัญญาสัมมาทิฏฐิ ขาดความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เลยยึดถือกันแต่กิ่งแต่ใบ ไม่เข้าถึงแก่นแท้
ดังปรากฏในมหาสาโรปมสูตร ที่พระองค์ทรงอุปมา พอสรุปได้ว่า มีชายคนหนึ่งเข้าป่าเพื่อหาแก่นไม้ แต่ไม่ทราบว่าแก่นไม้เป็นอย่างไร จึงหยิบเอากิ่งบ้าง ใบบ้าง สะเก็ดบ้าง ฯลฯ ที่ตนคิดว่าเป็นแก่นไม้ ลาภ ยศ สรรเสริญ เปรียบเหมือน...กิ่งไม้ ใบไม้ ศีล เปรียบเหมือน...สะเก็ดไม้ สมาธิ เปรียบเหมือน...เปลือกไม้ ญาณหยั่งรู้ต่างๆ เปรียบเหมือน...กระพี้ ส่วน ความหลุดพ้นของใจที่ไม่กลับมากำเริบอีก (อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ) คือ พระนิพพาน อันเป็นแก่นสารที่แท้จริง
ฉะนั้นแล้ว อยู่ที่เราแล้วละว่าจะเอาอะไรเป็นแก่น ให้สมกับที่ได้เกิดมาพบพระสัทธรรม หากหลงไปไขว่คว้าในสิ่งอื่น ไปหลงกราบไหว้บูชาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์เอามาเป็นสรณะที่พึ่ง ก็ยังนับว่าห่างไกลพระพุทธองค์ เสียโอกาสดีๆ ไปอีกชาติหนึ่งแล้ว...