แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๘ เข้าใจและปฏิบัติไปให้ถึงความเป็นพุทธะ ผู้ใดเห็นธรรมะ คือ มรรค ผล นิพพาน ผู้นั้นย่อมเห็นพระพุทธเจ้าองค์จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารคือผู้ที่ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ไม่รู้ความดับทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ให้ทุกคนรู้จักพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่นิติบุคคลตัวตนเราเขา คือสภาวะทางจิตใจที่เกิดจากการบำเพ็ญพุทธะบารมี ที่เกิดจากศีลสมาธิปัญญาที่ประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ได้หยุดตัวเองไม่ทำตามใจไม่ทำตามอัธยาศัย ไม่ทำตามอารมณ์ เป็นผู้ที่มีสติมีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นผู้ที่มีพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้มาบอกมาสอนพวกเรา
พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีตนไม่มีตัว รู้คือ รู้อริยสัจ ๔ เป็นต้น และรู้สิ่งอื่นๆ อีกเท่าที่จำเป็นต้องรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะเพราะทรงรู้อริยสัจ ๔ อันประกอบด้วยรอบ ๓ หรือ ญาณ ๓ อาการ ๑๒ (ไตรปริวัฏทวาทสาการ) จัดเป็นพระปัญญาคุณ
ตื่น (ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจหรือตื่นเต้น) แต่หมายถึงตื่นที่ตรงกันข้ามกับหลับ ในที่นี้หมายถึงตื่นจากความหลับคือกิเลส (กิเลสนิทรา) ความหลับมี ๒ อย่าง คือ ปกตินิทรา หลับตามปกติ เพื่อร่างกายได้พักผ่อน และกิเลสนิทรา หลับเพราะกิเลส เมื่อตื่นจากกิเลสนิทรา เป็นพระบริสุทธิคุณ
เบิกบาน หมายถึง มีใจเบิกบานด้วยความกรุณา ใบหน้าสดชื่นเพราะความกรุณาต่อสรรพสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนใคร มีแต่เอื้ออาทรคิดอนุเคราะห์เกื้อกูล จัดเป็น พระมหากรุณาคุณ
ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคำว่าพุทธะ เมื่อไม่รู้จักความเป็นพุทธะก็เลยทำตามใจตามอัธยาศัยตามอารมณ์ พัฒนาก็พัฒนาเพื่อให้ตัวเองเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีพุทธะ ให้เราฉลาดกว่านี้ ถ้ารวยก็รวยอย่างฉลาด ถ้าเป็นเทวดาเป็นพระพรหม ก็เป็นผู้ฉลาดด้วยสัมมาทิฏฐิ ทุกท่านทุกคนถึงต้องรู้จักศาสนาพุทธ
พระวินัยหรือศีลนั้น ถ้ายังสงสัยอยู่อย่างนี้ก็ยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่แจ่มแจ้งถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้อง ถ้ายังมีความสงสัย เราก็ยังต้องอาบัติอยู่ แสดงว่าเรายังไม่รู้กฎของอิทัปปัจจะยะตา ยังไม่รู้กฏแห่งกรรม เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันถึงมี ถ้าเรารู้อย่างแจ่มแจ้ง เราจะไม่สงสัยว่า “ตายแล้วเกิด” หรือ “ตายแล้วศูนย์”
ทุกท่านทุกคนนะผู้ที่รู้จักความเป็นพุทธะหรือเข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริงก็นับเอาตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะเป็นผู้ที่เที่ยงแท้แน่นอนต่อพระนิพพาน ถ้าติดสุขติดสบายติดขี้เกียจอยู่ก็จะเดินทางช้าอย่างมากก็ไม่เกินเจ็ดชาติ ถ้าอย่างเร็วก็ในชาติปัจจุบันนี่แหละ
เราทุกคนเนี่ยถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เราต้องรู้จักพุทธะ รู้จักศาสนาพุทธ พระวินัยทุกข้อศีลทุกข้อมีสำหรับผู้ที่มีอินทรีย์บารมียังอ่อน เราต้องเข้าใจว่า ศีลนี่แหละเป็นสิ่งที่ประเสริฐ สมาธิความตั้งมั่นคือสิ่งที่ประเสริฐ ปัญญาที่เรารู้จักรู้แจ้งเสียสละความชอบความไม่ชอบ นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เราจะได้เข้าถึงธรรมเข้าถึงปัจจุบันธรรม ในชีวิตประจำวันของเราอย่างนี้ ใจของเราถึงจะสงบถึงจะเย็น เพราะเราได้รู้จักทุกข์ที่แท้จริง รู้จักเหตุเกิดทุกข์ที่แท้จริง เนื่องด้วยตาเราไม่บอด หูไม่หนวกแล้ว ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ นี่หมายถึงว่าใจของเรายังบอดอยู่ ใจยังมืด ยังเป็นคนเดือนมืด จักษุยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา ญาณปัญญายังไม่เกิดแก่เรา วิชชาความรู้ยังไม่เกิดแก่เรา แสงสว่างยังไม่เกิดแก่เรา
พระพุทธเจ้าให้เราทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้นะ เราทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ แต่เพราะไม่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์ การสอนการแสดงธรรมส่วนใหญ่ก็มักสอนแต่เรื่องสวรรค์สอนแต่เรื่องรวยอย่างนี้ เพราะว่าผู้สอนเองก็ยังต้องการอามิส ต้องการวัตถุสิ่งของเงินทองอยู่ ยังพากันปฏิบัติเป็นศาสนาขาลงอยู่ ไปยินดีในเรื่องเงินเรื่องสตางค์ เรื่องลาภเรื่องยศอย่างนี้ ยังไม่ใช่ศาสนาพุทธ ยังเป็นศาสนาเงิน ศาสนาลาภสักการะเสียงเยินยอผลประโยชน์อยู่ ระดับนี้ถือว่ายังระดับสัตว์เดรัจฉานอยู่คือยังหลงอยู่มาก เพราะภิกษุไม่ฉลาดมักคิดว่า ถ้าไม่ทำวัตถุมงคลขาย ไม่ทำพระขาย ไม่ดูหมอดูดวงอะไรเป็นต้นอย่างนี้ จะเอาเงินที่ไหนมาสร้างวัดมาพัฒนาวัด นี่มันคือการคิดอย่างคนไม่มีปัญญา อย่างนี้แหละมันทำตามกัน ทั้งที่ประเทศเราตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา ก็เอาพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วก็พัฒนาเอาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ไม่ควรจะมางมงายอยู่อย่างนี้ เพราะว่าพวกนี้เป็นพวกเห็นแก่ตัว หรือว่าพวกหลงมันมีมาก
ประชาชนให้พากันเข้าใจ ผู้ที่บวชก็ให้พากันเข้าใจ ว่าศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างนี้อย่างนี้ไม่ใช่อยู่ในระบบงมงายขลังศักดิ์สิทธิ์มีแต่ไสยศาสตร์เนื้องอกอย่างนั้น ทำอะไรเพื่อขลังเพื่อศักดิ์สิทธิ์ก็ยังถือว่าเป็นการหลงในการอ้อนวอนวิงวอนขออยู่ ถือว่ายังไม่ใช่ระดับศาสนาพุทธแท้ เพราะยังมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ ศาสนาพุทธเราเลยเป็นทางออกของคนมิจฉาทิฏฐิ เป็นทางออกของคนจนเอาศาสนาเป็นที่พักพิงอิงอาศัยเพื่อทำมาหากิน บวชมาก็ไม่ค่อยมีใครพากันเอาพระนิพพาน เลยต้องใช้ระบบปกครองซ้อนขึ้นมาอีก มีเจ้าคณะปกครองต่างๆ เมื่อมีก็ถือว่าดีอยู่แล้ว เพราะว่าท่านได้มาทำหน้าที่ของพระอรหันต์ผู้เสียสละ เพราะฉะนั้นต้องพากันเข้าใจอย่าพากันใจอ่อน เพราะโจรใหญ่จริงๆ นั่นคือนักบวช ถ้านักบวชดี นักการเมืองก็ดี ข้าราชการก็ดี ถ้านักบวชไม่ดี มันก็ไปทั้งขบวน เพราะหัวจักรไม่ดี ประเทศไทยเราโชคดีมากมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิธราชธรรม มาพร้อมกับประเทศไทย บางยุคบางสมัยจะมีไขว้เขวบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย
คนเราต้องพาฉันเข้าใจอย่างนี้ ที่เรายากจนมีหนี้มีสิน ก็เพราะเราไม่มีพุทธะไม่มี ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราเลยเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เสียสละ สมควรแล้วที่จะต้องมีหนี้มีสินมีปัญหา เพราะว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ต้องมีความสุขในการเสียสละ เพราะการเสียสละที่มีความสุขนี้มันจะพัฒนาทั้งการเรียนการศึกษา การทำงานทุกอย่าง จะเป็นความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง จะเป็นพรหมจรรย์ โชคดีแล้วที่เราทุกคนยังมีลมหายใจ การพัฒนาก็ก้าวไปไกลไปถึงดวงดาวดวงจันทร์ จะไปดวงอาทิตย์ไม่ได้ มันร้อน
สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา
ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่าอยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้าด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยธรรมกายต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต.
ในคำว่า ธมฺม น ปสฺสติ นั้น มีอธิบายว่า โลกุตรธรรม ๙ อย่าง ชื่อว่าธรรม ก็เธอไม่อาจจะเห็นโลกุตรธรรมนั้นได้ ด้วยจิตที่ถูกอภิชฌาเป็นต้นประทุษร้าย เพราะไม่เห็นธรรมนั้น เธอจึงชื่อว่าไม่เห็นกายธรรม.
สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนวักกลิ เธอจะมีประโยชน์อะไรด้วยกายอันเปื่อยเน่านี้ที่เธอได้เห็นแล้ว. ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นก็เห็นธรรม
บทว่า มหิจฺโฉ ความว่า ชื่อว่าผู้มีความมักมาก เพราะมีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย.
บทว่า วิฆาตวา ความว่า ชื่อว่าผู้มีความคับแค้น เพราะมีความดำริด้วยใจที่ถูกความอยากประทุษร้ายแล้ว เพราะเป็นผู้มีความมักมาก ด้วยอำนาจแห่งการอาฆาตในสัตว์ทั้งหลาย และเพราะไม่ได้ตามที่ต้องการ.
บทว่า เอชานุโค ความว่า เมื่อติดตามตัณหานั้นไป เหมือนเป็นทาสของตัณหา กล่าวคือความหวั่นไหวยังไม่ดับ เพราะถูกความกระวนกระวายเกิดแต่กิเลส มีราคะเป็นต้น ครอบงำแล้ว คือติดอยู่แล้ว ด้วยความจำนงอารมณ์มีรูปเป็นต้น.
บทว่า ปสฺส ยาวญฺจ อารกา มีอธิบายว่า ผู้มีความมักมาก ถึงอยู่แม้ใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ดับ (ทุกข์) ได้แล้ว ผู้ปราศจากความกำหนัดแล้ว ตามอำนาจแห่งโอกาส แต่ยังเป็นผู้คับแค้น ติดตามกิเลสชื่อตัณหาไป ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังกำหนัดคือยังเป็นพาลปุถุชนตามสภาวธรรม ชื่อว่าเห็นพระองค์ได้ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในที่ไกล แม้การจะกราบทูล ก็ไม่ใช่ทำได้ง่าย. สมจริงตามที่ตรัสไว้ว่า นักปราชญ์กล่าวว่า “ท้องฟ้ากับแผ่นดินอยู่ไกลกัน ฝั่งมหาสมุทรก็อยู่ไกลกันเหมือนกัน แต่ท่านกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่า”
บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น ยังเป็นไปตามตัณหา ดับความเร่าร้อนไม่ได้ แม้หากว่าพึงเป็นผู้ติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาความหวั่นไหวมิได้
ผู้ดับความเร่าร้อนได้แล้วไซร้ บุคคลนั้นผู้กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี เพียงในที่ไกลเท่านั้น ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิต รู้ธรรมด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ธรรมอันยิ่ง เป็นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ สงบระงับ เปรียบเหมือนห้วงน้ำที่ไม่มีลมฉะนั้น บุคคลนั้นผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ผู้ไม่กำหนัดยินดี ชื่อว่าพึงเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หาความหวั่นไหวมิได้ ทั้งดับความเร่าร้อนได้แล้ว ปราศจากความกำหนัดยินดี ในที่ใกล้แท้
ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือตัวแท้ของศาสนา (แก่นแท้ของพุทธศาสนา) ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทอาจเห็นได้จากพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท"
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมาก หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดตามจุดหมายของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญสูงสุดของพุทธศาสนา ในกาลครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เรื่อปฏิจจสมุปบาทดูเป็นเรื่องง่ายและตื้นสำหรับตัวท่านเอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลักษณะโครงสร้างก็ลึกซึ้ง หมู่สัตว์นี้ไม่รู้ ไม่รู้ตามที่เราสอน ไม่แทงตลอดหลักปฏิจจสมุปบาท จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่ยุ่ง เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม ติดพันซ่อนเงื่อนกันยุ่ง เหมือนเชิงผ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ ไม่ล่วงพ้นจากสังสาระคืออบาย ทุคติ วินิบาตไปได้"
ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้าผู้ใดเข้าใจ ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของตนได้ .....มันเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้......ยังเป็นหน้าที่ที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย ข้อนี้เป็นพุทธประสงค์
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่าไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองทุกคน ทุกคนเอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว โอ้พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่ เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
อย่างที่ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นตถาคตนะฉะนั้นจงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พอเห็นปฏิจจสมุปบาท ม่านแห่งความโง่ ม่านแห่งอวิชชามันสลายไป มันสลายไป ไม่มีอะไรบังพระพุทธเจ้า นี่จึงพูดให้จำง่ายและค่อนข้างจะหยาบคายหน่อยนะว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณทุกคนเลย พอเอาม่านนี้ออกเสียได้ มันก็เป็นพระอรหันต์หมด มีพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า กระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสียเอง” คำกล่าวของท่านพุทธทาสช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ได้ชัดเจนมาก
ที่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทมันยากเพราะว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าใครฟังแล้วมันจะไม่มีเครื่องรับ เหมือนคนเราถ้านั่งสมาธิมันจะง่วง ถ้าไม่ง่วงก็ฟุ้งซ่าน มันก็เป็นขบวนเดียวกับปฏิจจสมุปบาท พระภิกษุสมัยนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาท เปรียบเสมือนอาหารที่กิเลสไม่ต้องการ ถ้าสิ่งไหนไม่ต้องการมันจะไม่ชวนฟัง เพราะคนเรามันท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร ไม่อยากตายจากภพ จากชาติ เพราะมันท่องเที่ยวมานานจนเคยชิน เพราะมันติดอยู่ในกาม คำว่ากามในที่นี้คือรวมทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงแค่การมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามอย่างเดียว แต่หมายถึงเรายินดีในการกิน การอยู่ ความยินดีหรือความไม่ยินดีก็คือกาม นั้นคือการเสพกาม คือ การมีเพศสัมพันธ์กับกาม
คนเรามันอยากจะไปแก้ไขแต่คนอื่น ไม่อยากแก้ไขตัวเอง นอกจากคนที่มีปัญญาเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีจนรู้ทุกแง่ทุกมุมของอวิชชา ของความหลง ถึงได้มาบอก ได้มาทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาท เราเข้าใจอย่างหยาบๆ คิดว่าไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงกับผู้ชาย เข้าใจไปอย่างนี้ แต่ที่จริงศาสนาพุทธมันไม่ใช่แค่นี้ มันต้องเข้าใจเรื่องกระบวนการที่จะนำเราออกจากทุกข์ ออกจากวัฏฏะสงสาร เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราจะได้กลับมาแก้ไขตัวเองทุกๆ คน ใจของเราทุกคนถึงจะเป็นปัจจุบันธรรมไม่มีตัวตนแอบแฝง
เหมือนมีคนถามเจ้าคุณพุทธทาสว่าพระพุทธเจ้าฉันเจหรือฉันเนื้อ ท่านบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ฉันผัก ไม่ได้ฉันเนื้อ ท่านไม่มีกามในหัวใจ ท่านเป็นผู้ที่เสียสละ ท่านไม่ได้ฉันอะไร ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าสามัญชนมันก็ต้องยินดีเพราะเราไม่เห็นทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราไม่ได้สละซึ่งตัวซึ่งตนที่เราทุกคนต้องแก้ไข การปฏิบัติต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่ยิ่ง เราทุกคนต้องมาแก้ไขตัวเอง ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้จัก คืออาการของจิตใจ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี มันยินดี เช่น เห็นคนรวยก็ยินดีกับคนรวย อันนั้นมันเป็นตัณหา มันเป็นบ่วง เพราะเรารู้จักทุกข์ไม่จริง เราเลยท้อใจ นั่งสมาธิก็ท้อใจกลัวมันจะปวดขา เพราะเรายังยินดีในความไม่ปวดขา มันก็อันเดียวกันเพราะมันเป็นตัณหา
เราต้องรู้จัก เราอย่าให้ความปรุงแต่งเกิดขึ้นแก่เราได้ อย่าให้ปฏิจจสมุปบาทมันทำงาน ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เรารู้จักเจ้าเสียแล้วเจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป เราจะได้ปลงสังขาร ละสังขาร วางสังขาร วางของหนัก ที่มันยังเข้าใจผิดอีกเยอะ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้เข้าถึงแก่นพระศาสนา เราก็ไปไหนไม่ได้ ขนาดเป็นพระโสดาบัน ยังต้องโยกโย้โอ้แอ้อีกตั้ง 7 ชาติ เพราะว่ายังยินดีในความสุข ความสบายอยู่ ถึงแม้จะไม่ทำบาปอย่างหยาบ แต่ก็ยังทำบาปอย่างละเอียดอยู่ เพราะยังตั้งอยู่ในความประมาท ความตั้งมั่นในความประมาทแสดงว่ามันต้องมีกามในใจของเรา เรายังมีความหลงอยู่ในใจของเรา ไม่อย่างนั้น อินทรีย์บารมีของเราจะแกร่งกล้าไม่ได้ เราไม่เป็นหนี้ตัวนี้ แต่เป็นหนี้ตัวอื่นแทน มันก็ไปไม่ได้ เพราะความทุกข์คือการมีหนี้มีสิน คนเราถ้ายังยินดียินร้ายเรียกว่าคนมีหนี้มีสิน คนมีกามในจิตในใจ มันไม่ถึงจุดหมายปลายทางอย่างสมบูรณ์แบบ เราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องเดินไปทีละก้าว ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่างในปัจจุบันให้ดีๆ
เรารู้ว่าคนนั้นเป็นมหาเศรษฐี คนนี้เป็นมหาเศรษฐี เราก็ยินดีในความรวยภายนอกของเขา แสดงว่าเรายังไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ใจของเรามันต้องมีกามมีตัณหาแน่นอน 100% บางทีของเขาได้มา ก็ได้มาจากการทำบาปทำกรรมทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านเสียสละพวกนี้หมดในใจ พระอรหันต์ก็เสียสละพวกนี้หมดในใจ ท่านถึงเข้าถึงวิมุตติความหลุดพ้น เราต้องรู้จักแง่มุมต่างๆ เราไปยังไม่ถึง นี้แหล่ะคือทางที่เราจะไป
เรื่องความสุขในการกิน...การอยู่...การนอนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรมอบรมบ่มอินทรีย์ เราไม่ต้องมาติดมาหลง ความอร่อยมันก็ต้องผ่านไปแค่ลิ้นน่ะ ความสุขความสบายในการพักผ่อนก็บรรเทาทุกข์ไปไม่กี่ชั่วโมงน่ะ
"สิ่งเก่ามันผ่านไป สิ่งใหม่มันก็ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดดีๆ อย่าได้พากันหลง"
คนเราน่ะถ้าไม่ได้บริโภครูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คือว่า ชีวิตนี้ไม่มีรส รู้มั้ยว่าถ้ามี 'รส' มันก็มี 'ชาติ' มันต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด เราก็อยากพากันมี 'รสชาติ' รสชาติมันจะพาให้เรามีความเกิดทางจิตทางใจนะ
สติสัมปชัญญะของเราก็ให้มันแข็งแรง สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ก็คือ ตัวปัญญา สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัว 'ศีล' ถึงเป็นตัว 'สมาธิ' ถึงเป็นตัว 'ปัญญา' น่ะ เค้าจะได้ขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มี "พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์นะ มันมีค่า มีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคือ 'อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน' ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพาน มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิด