แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๖ ไม่มีใครมาสมมุติแต่งตั้งให้เราเป็นพระแท้ได้ นอกจากเราประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระใหม่ที่บวชในพรรษาให้พากันตั้งใจให้เต็มที่ เต็มร้อย ตั้งใจพิเศษ ให้พากันปฏิบัติเต็มที่ อย่าไปออมไว้ ให้พากันเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า พระเก่าก็ต้องเหมือนกัน เพื่อเราจะได้ทำสิ่งที่ เร่งด่วน เมื่อวานนี้ก็ได้พูดเรื่องจิต เรื่องใจแล้ว เรื่องสัมมาทิฏฐิ ที่นี้ก็เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติกัน บอกว่าไม่ได้ปล่อยให้ตัวเองเสียเวลา
ทุกคนน่ะต้องขยันมากขึ้น รับผิดชอบขึ้นอีก อดทนขึ้นอีก เพราะอันนี้มันเป็นความสุข ความดับทุกข์ของเราทุกๆ คน เราพูดอย่างนี้เพื่อให้พระกระตือรือร้น เพราะหลายคนก็ติดเชื่องช้า เซื่องซึม ติดสุขติดสบาย เพราะว่าเป็นลูกคนรวยหลายคน ทั้งพระเก่าก็ติดสุข ติดสบาย ไม่ได้เสียหาย พวกโยมที่มาถือศีลปฏิบัติธรรมก็อันนี้เนอะ ต้องพากันกระตือรือร้น เพราะเราต้องเน้นที่ปัจจุบันเต็มที่ เราก็ทำให้เป็นทีมเดียวกัน กระตือรือร้น
พระเก่าก็ปฏิบัติอย่าให้มันเป็นขาลง ให้มันเป็นขาขึ้นไปเลย พระใหม่นี่มันขาขึ้นอยู่แล้ว แต่พระเก่านี่ทำให้พระใหม่เสีย เพราะว่ามันเป็นขาลง ที่เรารวบรวมประวัติศาสตร์ดู 40-50 ปี มานี้แหละ พระสงฆ์ในเมืองไทยหรือว่าการปฏิบัติในเมืองไทย มันยังไม่ได้เข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า ประเทศไทยมันน่าจะดีขึ้นกว่านี้ เราจะได้เข้าไลน์ เราจะได้สู่ไลน์ไปให้รุ่นน้อง นี่เราเอาแต่สิ่งที่ไม่ดีให้รุ่นน้องไม่ได้เนอะ มาบวช ก็มาบวชเป็นพิธีเฉยๆ อย่างนั้นไม่เอาเนอะ ทุกคนนี้สู้เต็มที่เลย มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้า หายใจออกให้มันชัดเจน อย่าเป็นคนครึ่งหลับ ครึ่งตื่น
เพราะพระต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่าง มันถึงจะบอกสอนคนอื่นได้ ไม่อย่างนั้นก็เป็นพระธรรม เป็นพระวินัยไม่ได้ เพราะวัดก็มีปลูกต้นไม้ อันนี้เป็นข้อวัตรของเรา วัดที่แท้จริงนั้นคือข้อปฏิบัติที่มุ่งมรรคผลนิพพาน วัดที่แท้จริง ไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่วิหาร ไม่ใช่เจดีย์ วัดคือข้อวัตร ข้อปฏิบัติ เรากลับมาหาตัวเองที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ต้องภาวนาให้เกิดความสงบ คนเราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก มันจะไปมีศีลได้ยังไง เห็นแก่ตัวอย่างนั้น ศีลก็คือมีแต่พระธรรม มีแต่พระวินัย ไม่มีตัวไม่มีตน มันถึงสงบ มีตัวมีตนมันจะสงบได้ยังไง สมาธิจิตใจเข้มแข็ง จิตใจหนักแน่ ใจไม่อ่อน ในธรรม ในมรรค ในวินัย ตั้งมั่นในความเสียสละ จิตใจเข้มแข็ง มันถึงเป็นสมาธิ มันถึงเกิดปัญญาได้ มันจะข้ามปรัชญาไป มันจะข้ามคนเก่งคนฉลาดไป เรื่องเก่งเรื่องฉลาดเอาไว้เป็นถนนให้เราเหยียบผ่านเฉยๆ มันต้องเป็นคนที่ปฏิบัติคนที่เสียสละ เข้าสู่ศาสนาพุทธ ไม่อย่างนั้นก็เป็นนักปรัชญา นักจิตวิทยา อันนี้ไม่เอา ที่นี้เรารู้แล้วว่า ทุกคนมันไม่ได้มาตรฐาน ต้องเข้าสู่กระบวนการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ศาสนาพุทธนี้มันเสื่อมลงมาก บางครั้งก็ไม่มีข้อวัตร ไม่มีกิจวัตรเลย พอนานๆที พระอริยเจ้าจึงจะเกิดขึ้น สมัยก่อนยุคหลวงปู่มั่น ศาสนาพุทธในไทยก็ถือว่าตกต่ำน่าดู แต่เมื่อหลวงปู่มั่นได้บำเพ็ญบารมี มาประพฤติปฏิบัติ ศาสนาก็ครึกครื้นรื่นรมย์ขึ้น จากที่มันย่อหย่อนอ่อนแอ ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว สะเปะสะปะ มันก็เฟื่องฟูขึ้น เพราะมันเป็นกฎของอนิจจัง เพราะถ้าเราไม่เอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ ศาสนามันก็ตั้งไม่ได้ อยู่ไม่ได้ในหลายชั่วคน เหมือนตระกูลเราไม่เอาศีล 5 เป็นหลัก ไม่เอามรรคผลเป็นหลัก ตระกูลเราก็ตั้งได้ไม่กี่ชั่วคนหรอก ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อานาปานสติทุกคนต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ใจของเราต้องรู้ผิด รู้ถูก
เราจะไปว่าความคิดนั้นมันไม่สำคัญ เราก็ไม่รู้ภาคปฏิบัติเลย ปล่อยให้อารมณ์สวรรค์มันครอบงำจิตใจ ต้องเห็นโทษของสวรรค์ มันจะนำเราเวียนว่ายตายเกิด เราต้องเสียสละ เห็นไหม เราดูลูกศิษย์สายไหนๆ มันก็ไปไม่รอด ถ้าเราหลงประเด็น เราจะพากันหลงแต่วัตถุภายนอก เราจะพากันมาสร้างแต่พระพุทธรูป สร้างเจดีย์ อันนั้นไปสร้างพระภายนอก เราต้องสร้างพระภายในคือพระธรรม คือ พระวินัย นี้คือมรรคผลพระนิพพาน แล้วเราก็อย่าไปหลงประเด็น ที่กำลังทำให้โลกนี้มีปัญหาทุกวัน
คนเราถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน มันไม่นานหรอก เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติมันติดต่อต่อเนื่อง คนเราเห็นรูปส่วนใหญ่จะมีใครพิจารณาให้เข้าสู่อนิจจัง สู่ทุกขัง สู่อนัตตา ส่วนใหญ่มีแต่ปล่อยไปตามสัญชาตญาณเฉยๆ พระพุทธเจ้าถึงให้เราพัฒนาจิตใจ เพราะตามสัญชาตญาณแล้ว ถ้าอันไหนมันไม่บาป มันจะไม่คิด อันไหนไม่บาป มันจะไม่พูด อันไหนไม่บาป มันจะไม่ทำ เพราะอันนี้มันเป็นอาหารของการเวียนว่ายตายเกิด เขาถึงเรียกว่า ตายแล้วไปไหน ก็ไปยังที่ชอบๆ มันก็ชอบคิดแต่ในสิ่งที่เป็นภพภูมิที่มันกำลังหลงอยู่ การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นงานของเราโดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเดรัจฉานคาถา เดรัจฉานวิชา เข้าสู่ทางสายเอก สู่การเจริญสติปัฏฐาน ๔
กลับไปที่กุฏิ ไปเดินจงกรม ไปนั่งสมาธิ ไปทำอะไร ไม่ใช่ไปนอน ถ้ามันจำเป็น ค่อยว่ากัน เดินจงกรมนั่งสมาธิก่อน ถ้าจำเป็นค่อยนอน ค่อยจำวัดสักชั่วโมงนึง ไปนอน 2-3 ชั่วโมง เดี๋ยวมันจะฟุ้งซ่าน ต้องมีข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ถึงเวลาทำตามเวลา เหมือนนาฬิกา เราอย่าไปฟุ้งซ่าน มาบวช คิดแต่ว่า โอ้วว! เมื่อไหร่จะได้สึก เราบวช จะสึกหรือไม่สึก อย่าไปคิด อันนี้มันความคิดความปรุงแต่ง เราต้องทำหน้าที่ของเราในปัจจุบัน เราไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ เราไปคิดอย่างนั้น ใจมันมีครอบครัว ใจมันมีตัวตน เราคิดเรื่องอยู่ เรื่องอะไรๆต่างๆ มันเป็นอารมณ์ของการเวียนว่ายตายเกิด
คนเรามันก็ขาดตอนนี้แหล่ะ เช่นเอาเวลาที่เราจะเจริญสติสมาธิเจริญกรรมฐาน ไปเล่นโทรศัพท์ ไปเล่นไลน์ พระที่มีโทรศัพท์มือถือ มีอินเตอร์เน็ตเฟสบุ๊คนี้ ถึงไปมรรคผลนิพพานไม่ได้ เพราะเป็นเดรัจฉานกถา เพราะว่านี่มันไม่ใช่ทางเดินของพระอริเจ้า ทุกคนต้องเห็น ต้องมีปัญญา ต้องใจเข้มแข็งเพราะว่าการจะเอาสิ่งที่มันยากสุดออกจากจิตใจมันต้องอาศัยความเพียร เหมือนเขาผ่าตัดสมอง มันต้องอาศัยใจเย็น มือนิ่ง ทำช้าๆ คนฟุ้งซ่านมันทำไม่ได้นะ .....
การรักษาพระวินัย มันก็เหมือนกับอุปกรณ์เครื่องบินถ้ามันขาดตัวใดตัวนึงมันก็บินไม่ได้ อุปกรณ์รถยนต์ก็เหมือนกันถ้ามันขาดตัวใดตัวนึงมันก็วิ่งไม่ได้ เพราะว่ามันต้องมีเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะได้ไม่เป็นเพียงนักปรัชญา ถ้างั้นไม่ได้ พระวัดป่าก็จะกลายเป็นพระวัดบ้าน พระวัดบ้านจะกลายเป็นประชาชน ประชาชนก็จะกลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะเราไม่ได้เอาธรรมเอาพระวินัย เราคิดดูดีๆ มันขาลง เราต้องเอาใหม่พระพุทธศาสนาไม่ใช่มันจะตกต่ำขึ้นลงเป็นทอดๆ มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ถูกเผาถูกอะไรไป เพราะว่าความประพฤติมันเป็นขาลง ถ้างั้นไม่ได้ น่าจะต้องพัฒนา ถ้าพระเราดี พระก็คือทั้งประชาชนทั้งภิกษุมันจะดี การบ้านการเมืองก็จะดีไปพร้อมๆ กัน เทคโนโลยีก็จะมีประโยชน์ ต้องมีศีลเสมอกันภาพรวมของประเทศ ภาพรวมของทุกวัด ภาพรวมของทุกครอบครัว ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ การปฏิบัติของเราถึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เราทุกคนถึงต้องพากันมาเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของมหาชน เพื่อกตัญญูกตเวที ต่อยอดสืบทอดความถูกต้อง เพราะชีวิตของเรามันไม่จีรังยั่งยืน ไม่กี่สิบปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราจะมาหลงมาเพลิดเพลินอยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ
การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นหน้าที่ เป็นความจำเป็นสำหรับเราทุกๆ คน ไม่มีใครยกเว้น ทุกคนจะต้องปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมน่ะเริ่มจากใจของเราเพื่อจะเข้าหาหนทางที่ประเสริฐ สมาทานคิดแต่สิ่งที่ดีๆ ระลึกถึงแต่สิ่งที่ดีๆ พูดแต่สิ่งที่ดีๆ ทำแต่สิ่งที่ดีๆ ตามพุทธภาษิตที่ตรัสว่า "การไม่ทำบาปทั้งปวง ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจตนให้ผ่องแผ้ว"
ทุกๆ ท่านทุกคนน่ะ... ต้องขยัน ต้องรับผิดชอบ ต้องอดทน มีความตั้งมั่นด้วยปฏิปทาที่สม่ำเสมอ มีสติ มีสัมปชัญญะตลอดเวลา เพื่อให้เราเกิดความฉลาด เกิดความชำนาญ หรือเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในคุณงามความดี
สิ่งไหนมันเป็นบาป เป็นกรรม เป็นเวร เป็นอกุศลนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิด ไม่ให้เราพูด ไม่ให้เราทำ ต้องอดต้องทน ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ เพิ่มความละอายต่อบาป เพราะตัวละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปนี้ คือภูมิคุ้มกันเพื่อจะไม่ให้เราคิดในสิ่งที่เป็นบาป พูดในสิ่งที่เป็นบาป กระทำในสิ่งที่เป็นบาปน่ะ
ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สิ่งที่ล้มเหลวในชีวิตของเราน่ะ คือเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่เป็นบาป มันเป็นสิ่งที่ลิดรอนสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ของเรา พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปน่ะ
พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายน่ะ ท่านจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ในสิ่งไหนที่เป็นบาปเป็นอกุศล ถือว่าท่านมีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาปอย่างสมบูรณ์ เรียกว่า เป็น 'ผู้มีสติสมบูรณ์' เป็น 'มหาสติ...'
สติสัมปชัญญะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก... ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราจะเป็นคนมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นผู้ที่มีความสุข เป็นผู้ที่มีความดับทุกข์ ด้วยเหตุนี้เราทุกคนต้องฝึกมีสติ มีสัมปชัญญะ ฝึกให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับหน้าที่การงาน
การทำงานของเรานี้... พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำงานด้วยความเสียสละ เสียสละเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย โดยไม่หวังอะไรตอบแทน ไม่หวังในผลการเรียนในผลการศึกษา ไม่หวังที่จะได้คะแนนดี ไม่หวังในคำสรรเสริญเยินยอ แต่เราจะทำเพื่อเสียสละ
เราปฏิบัติธรรมนี้ เราเน้นเพื่อการเสียสละ เน้นเพื่อละความเห็นแก่ตัว เราทำงาน เราเน้นความเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว เรามาบวช เรามาปฏิบัติธรรม เรามาเสียสละเพื่อละความเห็นแก่ตัว เพื่อไม่มีตัวไม่มีตน เพื่อไม่มีใครที่จะได้บรรลุธรรม หรือได้รับผลของธรรม
พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกใจของเราอย่างนี้ ถ้าเราทำอะไรเพื่อผลตอบแทน สิ่งเหล่านี้ไม่มีเลยที่จะไม่เป็นโทษแก่จิตใจของเรา ความดีมันก็ต้องมาทำร้ายใจของเรา สิ่งที่ไม่ดีมันก็ต้องมาทำร้ายใจของเราน่ะ พระพุทธเจ้าถึงให้เราทำความดีโดยไม่หวังอะไรตอบแทน ปัญญาถึงจะเกิดแก่เราได้
ที่ตัวเรามันมีปัญหา คนอื่นมันมีปัญหาก็เพราะเรื่องผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ตอบแทน มันไม่ได้เป็นไปเพื่อความสุขความดับทุกข์ มันมีอะไรแอบแฝง มีสิ่งที่แอบแฝง...
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราคิดอะไรเพื่อเสียสละ พูดอะไรก็เพื่อเสียสละ ทำอะไรก็เพื่อเสียสละ
คนเรานี้มันมีสักกายทิฏฐิ มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนว่าเป็นผู้ชาย...ผู้หญิง เป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนกลาง คนเฒ่าชรา ที่แท้จริงแล้วเราทุกคนไม่ได้เป็นอะไร มีความแก่ มีความเจ็บ มีความตายด้วยกันทั้งหมดทุกคนน่ะ
คนเราน่ะถ้าไม่ส่องกระจกดู เราก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิง...ผู้ชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่าน่ะ เพราะจิตใจของคนนั้นมันว่าง มันเป็นประภัสสรน่ะ
ใจของเรามันไม่ได้เป็นเด็กเป็นคนแก่ ไม่มีอะไร 'มันว่าง' ถ้ามี 'เรา' มันไม่ว่าง เพราะเรามายึดมาถือ มาเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มาเอาวัตถุเป็นที่ตั้ง เราถึงพากันมามีทุกข์ พากันมาเป็นทุกข์ "เรื่องทุกข์นั้นให้เป็นเรื่องทางกาย เรื่องทางใจนั้นพระพุทธเจ้าสอนเราไมให้มีทุกข์"
ทุกคนถึงพากันมาเสียสละ ทุกคนถึงมาละความเห็นแก่ตัว ทุกคนถึงพากันมาทำอะไรทุกอย่าง โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน
คนเรานั้น... พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีเครื่องอยู่ด้วยการทำงาน ด้วยการเสียสละ อย่างเราคนหนึ่งนี้แหละ การใช้ชีวิตเราก็ทำงานเพื่อเสียสละ ตั้งอยู่ในศีลในธรรม โดยไม่หวังอะไรตอบแทน เราก็จะมีความสุข ความดับทุกข์ตลอดไปตลอดกาล
อย่างพระ อย่างเณร ก็มีการทำงานของพระของเณร คือ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำกิจวัตรต่างๆ โดยไม่หวังอะไรตอบแทนเลย ไม่หวังที่จะสงบ ไม่หวังที่จะบรรลุธรรม เดินจงกรมก็เพื่อเสียสละ นั่งสมาธิก็เพื่อไม่เอาอะไร เราเข้านิโรธสมาบัติ หรือฌานสมาบัติก็เพื่อเสียสละ เพื่อไม่เอาอะไร ไม่มีอะไร ถ้าเราจะเอา...จะได้อยู่ มันต้องมีเรื่องแน่ มีความเครียดแน่
คนเราตั้งใจทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรม ไม่กี่วันมันก็เครียด ทำไมล่ะ...? เพราะเราทำผิดน่ะ เราทำเพื่อจะเอา จะมี จะเป็น เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ เราเอาความหลงเป็นที่ตั้ง มันไม่ได้เกิดจากปัญญาน่ะ เดี๋ยวก็เสื่อม เพราะเราเอาความหลงเป็นที่ตั้ง
พระพุทธเจ้าสอนให้เราฉลาด ทำกุศลให้ถึงพร้อม จิตใจของเราให้มีปัญญา บางคนอาจจะคิดว่า เมื่อเราไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น เราจะทำไปเพื่อะไร...? ตอบว่า... เราทำเพื่อพระนิพพานน่ะ เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์ เพื่อใจไม่มีทุกข์
ทุกคนเวลาเท่าๆ กัน พระก็เท่ากัน โยมก็เท่ากัน ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ เราต้องทำด้วยความเสียสละ ไม่หวังอะไรตอบแทน ผลประโยชน์ที่ได้รับ...ทุกคนก็ได้รับแน่นอนอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันถึงมี"
ทุกคนก็จะได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ เราก็จะได้เป็นคนมีคุณภาพ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราไม่ไปเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเอาความโลภ ความโกรธเป็นที่ตั้ง นรกก็เผาเราในชีวิตประจำวัน เรายังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นน่ะ
ทุกคนนั้นถึงจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมะ 'ปฏิบัติธรรมะ' ไม่ได้หมายความว่าต้องมาอยู่วัด ต้องมาเข้าคอร์ส ชีวิตประจำวันของเรานั้นน่ะ... ความคิด การกระทำ คำพูด เพื่อเสียสละ ขยัน อดทน รับผิดชอบและเสียสละ
คนส่วนใหญ่นั้นน่ะต้องการมรรคผลนิพพาน แต่ไม่เสียสละ ต้องการจะรวย แต่ไม่เสียสละ ไม่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยให้สิ่งเหล่านั้นเกิดได้
การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ก็ให้ทุกคนพากันเข้าใจ แล้วจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะตามเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรานี้ถ้าเข้าใจ ถ้าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้านั้น ความทุกข์จะน้อยมาก ถึงกับไม่มีทุกข์ทางจิตใจเลย
ให้ทุกคนนั้นระลึกนึกถึงเสมอว่า เราเป็นผู้โชคดี เป็นผู้ประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถสร้างสวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติให้กับตัวเองได้ตลอดกาล
เราทุกคนปฏิบัติไปๆ มันก็มืดบอดน่ะ....! ทำไมมันถึงมืดบอด...? เพราะเราทำเพื่อจะเอา เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เราปฏิบัติเพื่อจะให้มันร่ำรวย เราปฏิบัติ...ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อละเพื่อวาง แล้วเราจะเป็นผู้มีปัญญาหูตาสว่างได้อย่างไร?
พระพุทธเจ้าให้เราเข้าใจนะ ไม่มีใครมาสมมุติให้เราเป็นพระได้ พระโสดาบัน ไม่มีใครมาสมมุติให้เราได้ พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ไม่มีใครมาสมมุติให้เราได้ นอกจากเราพากันประพฤติปฏิบัติ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมานี้ ซึ่งมีกับเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ให้ถือว่าเราเป็นคนโชคดีที่ได้มาแก้ไขปรับปรุงปฏิปทาของตัวเอง อย่าได้ปฏิบัติตามความเคยชิน พูดตามความเคยชิน คิดตามความเคยชิน
ทุกๆ ท่านทุกคนนั้นต้องมีการประพฤติการปฏิบัติ เพื่อที่จะไม่ได้ทำบาปทั้งปวง เพื่อจะทำกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
เราฝึกอะไร... สิ่งนั้นก็ชำนาญ
เราฝึกเป็นคุณครู... สิ่งที่เราเรียนมาแล้วก็นำไปสอนให้ชำนาญ
เราฝึกเป็นคุณหมอ... ให้เข้าใจแล้วไปปฏิบัติให้ชำนาญขึ้น
ทุกอย่าง... เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ทุกคนไม่ปฏิบัติ...สิ่งนี้จะมี มันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนถึงต้องปฏิบัติธรรมกันทุกคน
“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขาร (ความปรุงแต่ง) เป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค, 25/25)
บาทพระคาถาว่า ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความว่า เพราะโรคอย่างอื่นรักษาคราวเดียวก็หาย หรือว่าอันบุคคลย่อมบำบัดได้ ด้วยความสามารถแห่งองค์นั้นๆ (คือเป็นครั้งคราว), ส่วนความหิวต้องรักษากันสิ้นกาลเป็นนิตย์ทีเดียว เหตุนั้น ความหิวนี้จึงจัดเป็นเยี่ยมกว่าโรคที่เหลือ.
บทว่า อาโรคฺยปรมา ความว่า มีความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง, จริงอยู่ ลาภทั้งหลาย แม้มีอยู่แก่คนมีโรค ไม่จัดเป็นลาภแท้ เพราะฉะนั้น ลาภทั้งปวงจึงมาถึงแก่คนไม่มีโรคเท่านั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา."
บาทพระคาถาว่า สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความว่า ภาวะคืออันยินดีด้วยวัตถุที่ตนได้แล้ว ซึ่งเป็นของมีอยู่แห่งตน ของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั่นแล ชื่อว่าสันโดษ, สันโดษนั้นเป็นทรัพย์อันยิ่งกว่าทรัพย์ที่เหลือ.
บาทพระคาถาว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี ความว่า มารดาก็ตาม บิดาก็ตามจงยกไว้, ไม่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั้นไม่ใช่ญาติแท้, แต่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั่นแม้ไม่เนื่องกัน ก็ชื่อว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง คืออย่างสูง เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "วิสฺสาสปรมาญาตี."
ในขณะที่พวกชาวสวรรค์บันเทิงด้วยวัตถุและกิจกรรมทางกามสุข พวกชั้นพรหมอิ่มอยู่กับความสุขทางจิตถึงขั้นฌานสุข และพระอรหันต์ลุนิพพานสุข พ้นไปแล้วจากเยื่อใยในอามิสสุข บุคคลโสดาบันเข้าถึงความสุขใน 3 ภูมินั้น ทั้งกามสุข ทั้งอธิจิตตสุข (สุขด้วยคุณธรรมเช่น พรหมวิหารธรรม และฌาน) และ โลกุตตรสุข
ความสุขเหล่านี้ให้เราพากันเข้าใจนะ ถ้าเรายังไม่ถึงพระนิพพานที่สมบูรณ์ สวรรค์เราก็ได้อยู่แล้ว มันไม่ได้หนีไปไหนหรอก เพราะว่าหนทางมันเป็นไปอย่างนั้น เมื่อเรามีความสุขในการเรียนหนังสือมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยันรับผิดชอบ ประหยัดซื่อสัตย์กตัญญูกตเวทีอย่างนี้ สุคติโลกสวรรค์เหล่านั้นก็ได้อยู่แล้ว เราไม่ต้องไปสนใจ สนใจแต่หน้าที่ของเรา ที่ต้องรับผิดชอบในการประพฤติปฏิบัติธรรม ในการเสียสละ
พื้นฐานของอวิชชาของความหลง เค้าเรียกว่าพื้นฐานของความไม่รู้หรือว่าพื้นฐานของคนทำไม่ถูกต้อง เราต้องแหวกว่ายออกจากวัฏฏะสงสาร เพราะว่ามันติด รู้แล้วก็ตั้งใจสมาทานแล้วก็ประพฤติปฏิบัติ มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติให้ติดต่อสม่ำเสมอ เราอย่าเพียงแค่ฟังพระพุทธเจ้าบอกสอนเฉยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราก็จะเก่งก็จะฉลาดก็จะไปเอง ถ้าเราขี้เกียจขี้คร้าน ก็ไปไม่ได้
คนไม่ทำงานนั้นไม่มี คนเราต้องมีความสุขกับการทำงาน คนเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า? ถ้าไม่ทำงาน ไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่เราทำงานกันทุกคน ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนเราจะมีความสุขได้เพราะทำงาน เราจะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ได้ เพราะความขี้เกียจขี้คร้านนั้นเป็นเครื่องหมายของความเห็นแก่ตัว เป็นเครื่องหมายของความทุกข์
พระพุทธเจ้า ถึงเป็นผู้ที่ทรงเกียจคร้านไม่เป็น พระอรหันต์ ถึงเป็นผู้ที่เกียจคร้านไม่เป็น จึงต้องมีความสุขในการทำงาน เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ความจนจะมาจากไหน การคิดก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง คิดดีๆวางแผนดีๆ เราคิดดีคิดถูกต้องมันไม่เป็นกิเลสนะ มันไม่ได้เป็นความปรุงแต่งนะ เพราะว่าเราไม่มีความหลง ไม่มีอวิชชา คนเราต้องคิดเก่ง วางแผนเก่ง ไปตามหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์ ตามกฎแห่งกรรม กฎของธรรมชาติ ความคิดความปรุงแต่งที่ประกอบด้วยปัญญา มันไม่ได้ไปสร้างปัญหา ให้กับตนเองและผู้อื่น แต่เป็นการช่วยตนและผู้อื่น เป็นสัมมาทิฏฐิ
ต้องแยกใจออกจากขันธ์ 5 แล้วก็ต้องรู้จักอริยสัจ 4 รู้จักยังไม่พอนะ ยังต้องฝึกต้องปฏิบัติ เพราะอวิชชามันทำลายระบบสมองสติปัญญาของเราเยอะ มันทำให้สมองเราเสียหมด ถ้าเรามีความสุขมีความพอใจอย่างนี้ มันก็ไม่ได้ฝืน ก็ไม่ได้ทน ถ้าเราทำไปด้วยบังคับ มันก็หน้านิ่วคิ้วขมวด
เพราะความอดทนเป็นสิ่งที่ดีมาก ความขยันเป็นสิ่งที่ดีมาก การปฏิบัติ มันปฏิบัติอย่างนี้แหละ มันไม่ใช่ว่าไปเดินจงกรมนั่งสมาธิหรอก อริยมรรคต้องมีกับเราตลอด เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ส่วนหนึ่ง สำหรับพระไม่มีงานก่อสร้าง ไม่มีงานทำไร่ไถ่นา ต้องเดินจงกรมถึงแข็งแรง เสนาสนะที่เค้าสร้างให้เราก็ปัดกวาดเช็ดถู มันต้องมีข้อวัตรข้อปฏิบัติอย่างนี้เพื่อฝึก ฝึกให้มีความสุข ละความเห็นแก่ตัวมันจะได้เคยชิน ว่าเราเกิดมาก็มันเอาพ่อเอาแม่เป็นคนรับใช้ เราเป็นลูกคนรวยก็เอาลูกจ้างเป็นคนรับใช้ แล้วซักผ้าก็ไม่เป็น ทำอาหารก็จะไม่เป็น เพราะเป็นแบบนี้ มันเลยไม่มีความสุขกับการงาน เพราะว่าเราทุกคนใจอ่อน ให้มาทางภาคปฏิบัติอย่างนี้
ผู้ที่มาบวชต้องละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เราต้องกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ถึงแม้เราจะเป็นคนไร้สมถะภาพในการทำมาหากิน ไร้ทรัพย์สมบัติ แต่ทุกคนก็ทำได้พัฒนาได้ เข้าสู่ระบบความคิด อันนี้ไม่คิดอันนี้ไม่พูด เป็นคนที่ตั้งมั่น เป็นคนที่ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป
เราต้องรู้จักศีล ว่ามีความหมายมีประโยชน์เพื่อจะตัดกรรม สิ่งที่เป็นกรรมหยาบๆ กิเลสหยาบๆ ละได้ด้วยศีล ก็ถือว่าโลกสมัยใหม่ ถือว่าดี เราจะได้พัฒนาใจของเราสู่อริยมรรค มันเป็นระบบ ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ มันก็จะหยุด มันเป็นระบบของมัน ถ้าเอาตามพระพุทธเจ้าเรื่องมันก็จะหมดไปเรื่อยๆ ปัญญาเรามันก็ต้องมี เพราะปัจจุบันมันเป็นสิ่งที่ให้ใจของเราทำวิปัสสนา แต่มันเปลี่ยนความคิดมา คิดเรื่องที่คิดแล้วมีความสุข ไม่มีโทษไม่มีภัย มันเป็นความคิดที่รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะคิดอย่างนี้ ถ้าเราคิดบ่อยๆ มันก็จะดี เรื่องความเจ็บ ความแก่ความตาย เรื่องอสุภกรรมฐาน เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็จะทำให้ดีขึ้น เราทุกคนต้องมาตัดเวรภัย ตัดภพตัดชาติให้กับตนเอง คนอื่นตัดให้เราไม่ได้ บาปเก่าอกุศลเก่า ต้องเผาด้วยการน้อมลงสู่พระไตรลักษณ์ ให้เห็นตามความเป็นจริง เสียสละ ลบอดีตออกให้เป็นศูนย์ อนาคตเราก็รู้จักรู้แจ้งด้วยการพิจารณาสู่ไตรลักษณ์
“จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”