แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๕ การปฏิบัติเน้นที่จิตที่ใจ ถึงจะเเก้ปัญหาได้ถึงต้นเหตุ ด้วยมีเจตนา เสียสละ ปล่อยวาง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจเพราะอันนี้มันคือเรื่องจิตเรื่องใจ พระพุทธเจ้าท่านทรงบำเพ็ญพุทธบารมีเเล้วตรัสรู้มาเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านบำเพ็ญบารมีทางจิตทางใจ ต้องเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องความบริสุทธิ์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า พรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ศีล ๕ คือ พรหมจรรย์เบื้องต้น ศีล ๕ เป็นพื้นฐานของศีลทั้งหมด ศีลพื้นฐานสำหรับประชาชนผู้อยู่ที่บ้าน อยู่ในครอบครัว
เราเน้นที่จิตที่ใจเพราะคนเราเรื่องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่เน้นเรื่องจิตเรื่องใจ เราจะไปเเก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราจะไม่ได้เเก้ปัญหาที่เจตนา หยุดงดเว้น เสียสละ เพราะสิ่งนี้ถึงเป็นเบื้องต้นที่จะให้ เราทุกคนเข้าถึงรายละเอียดทางจิตใจ เราไม่ยินดีในการฆ่า เราทุกคนต้องพากันมาหยุดในการฆ่าทางจิตใจ ทั้งเราฆ่าเอง หรือผู้อื่นฆ่า หรือยินดีให้ผู้อื่นฆ่า หรือเราได้ผลประโยชน์ร่วมกับเค้า เพราะต้องเข้าถึงจิตเจตนาทุกท่านทุกคน ต้องมีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป เราทำไมถึงปฏิบัติไปไม่ได้ เพราะว่าศีลเราไม่ดี ใจของเรามันยังไม่ดี เรายังยินดีใจการฆ่า ยินดีในการที่โลภ ที่เอาของเค้า ไม่ได้เป็นผู้ที่เสียสละ มันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรายังไม่เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เรายังเห็นการฆ่าสัตว์ตัวน้อยๆ เช่นมด เช่นปลวก เช่นอะไรอย่างนี้ เราไม่ยินดีในการฆ่าก็จริง เเต่เรายังยินดีในการบริโภค อาหารทุกอย่างถึงเป็นยารักษาโรค เราอย่าไปหลงมัวเมา ยาขมยาหวานก็เป็นยารักษาโรค เราต้องลงรายละเอียดจิตใจของตัวเอง
เราเกิดมาในท่ามกลางสิ่งเเวดล้อมอะไร ก็ต้องจับหลักจับประเด็นให้ได้ เอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เป็นประเด็น ถ้าไม่งั้นเราจะไปเเก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะว่าผู้มาบวชก็ยังละพยาบาทไม่ได้ ยังละทางโลกไม่ได้ ยังหลงยินดี หลงลืมศีลทางจิตทางใจ ศีลจึงจะเป็นสิ่งที่จะคุ้มครองเราอย่างละเอียด เมื่อใจของเราคิด ใจของเราปรุงเเต่ง เราจะไปปฏิบัติยังไงมันก็ไม่ได้ผล เพราะโจรมิจฉาทิฏฐิมันอยู่กับเรา เราเเก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ใจเราไปยินดีในรูปไปเรื่อย ยินดีในเสียงไปเรื่อย ยินดีในของเอร็ดอร่อยไปเรื่อย
เราต้องทำติดต่อต่อเนื่องกัน เหมือนกับเราทำฝายน้ำ ทำติดต่อต่อเนื่องกัน ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวฝายก็เป็นเขื่อนที่ปัจจุบัน เราไปท้อใจไม่ได้ ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เราอย่าไปท้อใจเหมือนคนปลูกต้นไม้ ไม่ยอมปลูก คิดไปว่าอีกหลายปีมันถึงจะโต อย่างนี้เลยไม่ปลูก เพราะลึกๆ เเล้ว มันไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป มันจะไปเอาพระนิพพาน มันก็ยากเกิน มันยังกล้าคิดในสิ่งที่ไม่น่าคิด มันยังนึก มันยังระลึกถึงสิ่งที่ไม่น่าระลึก เราต้องรู้จัก อาการของจิตของใจ เราจะปล่อยเค้าสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างภพ สร้างชาติอยู่อย่างนี้หรือ ไม้ขีดไฟติดไฟอันเดียวก็สามารถเผาไหม้ทั้งบ้านทั้งเมืองได้ ความคิดที่เล็กน้อยก็ค่อยๆ ขยายไปเป็นเรื่องใหญ่ มันต้องให้ความสำคัญในความคิด อย่าปล่อยให้ตัวเองคิด ชักศึกเข้าบ้าน ชักโจรเข้าบ้าน ชักมารเข้ามาในใจ เพราะความคิดอย่างนี้ มันทำให้ทุกคนเศร้าหมอง ทำให้นักปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เพราะจากความคิดที่ยังคิดผิดอยู่ ยังตริตรองผิดอยู่
ถามว่า ทำไมจะว่าไม่คิด เราก็ไม่คิด เพราะเรื่องจิตเรื่องใจมันเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เกี่ยวข้องกับเราเอง ว่าสิ่งนี้คิดไม่ได้ สิ่งนี้นึกไม่ได้ ตรึกไม่ได้ ในทางความคิด เราจะได้ละความเคยชิน ที่มันมาที่มันเคยเกิดประจำเป็นสติปักฐาน จะหยุดความเคยชินที่มันท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร ด้วยการภาวนาวิปัสสนา ยกสิ่งเหล่านี้สู่พระไตรลักษณ์ว่า อันทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่เเน่ไม่เที่ยงเราอย่าไปตามความคิด ตามอารมณ์ มันจะก่อภพ ก่อชาติ ก่อวัฏฏะให้เรา
ให้เราพากันเข้าใจพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเน้นที่ปัจจุบัน การบรรลุมรรคผลนิพพานเน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันจะเป็นรากฐานของอนาคต พุทธบริษัทในเมืองไทย พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา นึกว่าชีวิตเรานี้เพื่อสร้างบารมี ไม่ใช่เพื่อมรรคผลพระนิพพานในปัจจุบัน เหมือนครั้งพุทธกาล การปฏิบัติมันต้องเน้นที่ปัจจุบันต้องตั้งใจต้องสมาทาน ในเมืองไทยถึงมีประชาชน นึกว่าชาตินี้ไปพระนิพพานไม่ได้ คนไทยที่เป็นชาวพุทธมีความเชื่อว่า การบรรลุพระนิพพานคงต้องรอหลังจากตายแล้ว และต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกหลายภพชาติจึงจะลุถึงภาวะพระนิพพาน ดังเมื่อมีการทำบุญเสร็จแล้ว และจะตั้งจิตอธิษฐานก็มักอธิษฐานกันว่า 'นิพพานปัจจโย โหตุ เม อนาคตกาเล' (ขอให้บุญที่ข้าพเจ้าทำไว้จงเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ) ทั้งๆ ที่คนสมัยพระพุทธเจ้าท่านไม่อธิษฐานกันอย่างนี้ หากแต่อธิษฐานว่า 'ตุมเหหิ ทิฏฐธัมมัสสะ ภาคี โหมิ' (ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีส่วนได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ท่านได้บรรลุแล้วด้วยเถิด) ถึงจะอนาคตเเต่มันก็ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะพระหรือโยม ไม่คิดว่าปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เค้าถึงมีการบวชเพื่อสร้างบารมี ให้พากันคิดใหม่ตั้งใจใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีความสงสัยว่าตายเเล้วเกิด หรือตายเเล้วสูญ หรือโลกเที่ยง ความคิดอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ เรื่องดับทุกข์ มันต้องเน้นที่ปัจจุบัน
ทิฏฐิ คือ ความเห็น ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ กล่าวสั้นง่ายๆ คือ เห็นว่าตายเกิด กับ เห็นว่าตายสูญ แต่ต้องเข้าใจว่าเห็นว่าตายเกิดที่เป็นสัสสตทิฏฐินั้น คือต้องเกิดกันร่ำไปไม่มีสิ้นสุด แต่กล่าวสั้นว่า เห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ
อันความเห็นดั่งนี้เป็นความเห็นที่ผิดจากสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ คือสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบในองค์มรรคในอริยสัจจ์นี้ แสดงเป็นวิภัชวาทะ คือกล่าวจำแนกตามเหตุและผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับสมุทัยเป็นผลและเหตุ ในด้านก่อทุกข์ นิโรธกับมรรค เป็นผลและเหตุ ในด้านดับทุกข์ สำหรับในด้านก่อทุกข์นั้น คือทุกข์กับสมุทัย ทุกข์นั้นก็ดังที่ได้สวดได้ทราบกันอยู่แล้วเนือง ๆ เริ่มต้นด้วย ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ คือชาติเป็นทุกข์ และสมุทัยนั้นก็ได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยอยู่ ก็จะต้องมีทุกข์ มีชาติความเกิดเป็นต้น กล่าวสั้นเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องเกิด ส่วนนิโรธและมรรคนั้น เป็นผลและเหตุในด้านดับทุกข์ นิโรธคือดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ กล่าวโดยตรงก็คือเมื่อดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิดได้ ฉะนั้นเมื่อดับตัณหาได้ ก็ไม่เกิดอีก แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติในเหตุคือมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ยืนยันตายตัวว่าตายเกิด และไม่แสดงว่าตายสูญ แต่แสดงไปตามเหตุผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ยังต้องเกิด เมื่อดับตัณหาได้ สิ้นตัณหาเสียได้ ก็สิ้นชาติคือความเกิด คือไม่เกิดอีก
ฉะนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจึงตายเกิดกันตลอดเวลาที่ยังมีตัณหา แต่เมื่อดับตัณหาได้ จึงจะไม่เกิดอีก แต่แม้ไม่เกิดอีกก็ไม่แสดงว่าตายสูญ ดังได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้เที่ยวกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรได้เรียกเอาพระรูปนั้นมา และก็ได้ถามว่าเธอเที่ยวพูดดั่งนั้นจริงหรือ พระรูปนั้นก็ตอบรับว่าจริง เที่ยวพูดไปอย่างนั้นจริงว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ รูปเป็นพระอรหันต์หรือ พระรูปนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็ถามไปโดยลำดับ และพระรูปนั้นก็ตอบไปโดยลำดับดั่งนี้ เวทนาเป็นอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สัญญาเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สังขารเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ วิญญาณเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า ก็เมื่อเธอได้ตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ พระรูปนั้นจึงได้ยอมรับว่าที่กล่าวไปนั้น เป็นการกล่าวไปด้วยความไม่รู้ และมิได้เฉลียวคิดตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ถาม และตนก็ได้ตอบไปนั้น
พิจารณาดูตามคำถามและคำตอบนี้ก็จับความได้ว่า ที่เรียกว่าตายนั้นก็คือขันธ์ ๕ แตกทำลาย แต่เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ครั้นขันธ์ ๕ แตกทำลาย ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เฉลยว่า เมื่อไม่ตายสูญแล้วเป็นอย่างไร แต่ว่าได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยอุปมา ว่าเหมือนอย่างไฟที่ต้องลมพัดดับไป หรือว่าไฟที่สิ้นเชื้อดับไป อันไฟนั้นเมื่อมีเชื้อก็ติดขึ้นมาอีก และเมื่อสิ้นเชื้อก็ดับ และเมื่อไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดไฟขึ้นอีก ไฟก็ไม่เกิด แต่ว่าไฟนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวว่าสูญ เพราะเมื่อมีเชื้อไฟก็เกิดขึ้นอีก หากไม่มีเชื้อ ไฟจึงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ยกตัณหาขึ้นมาเป็นข้อแสดง ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่าง ๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่ยังมีความคิดเห็น ว่ายังสามารถจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระอรหันต์ได้ในที่นั้นที่นี้ จึงไม่ตรงกับหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ท่านไม่มีภพ มีชาติ เป็นนั่น เป็นนี่ ที่จะไปเฝ้าได้ มีทางเดียวก็คือเห็นธรรมะ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือเห็นธรรมะด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงด้วยปัญญา ดังที่ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับ ของสิ่งที่เกิดดับทั้งหลาย เห็นสัจจะคือความจริง ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นธรรม และเมื่อเห็นธรรมดั่งนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้า คือย่อมรู้ย่อมเห็นว่าพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแสดงธรรมะข้อนี้ไว้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ดั่งนี้ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นดั่งนี้ก็คือเป็นการเห็นสัจจะธรรม สัจจะธรรมนั้นเองที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และที่สาวกของพระพุทธเจ้าได้รู้ตาม รู้ตามได้จริงเมื่อใดก็รับรองว่าผู้ที่ตรัสข้อนี้ไว้ เป็นพุทธะจริง เป็นพุทโธ เป็นพุทโธจริงๆ
ฉะนั้น ความเห็นทั้งสองดังกล่าว คือความเห็นว่าเที่ยง และความเห็นว่าขาดสูญ จึงผิดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ใครก็ตามที่ยึดถือความเห็นผิดดั่งนี้ จึงไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลนิพานได้ เพราะว่าขัดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ ต่อเมื่อละความเห็นนี้ได้ แต่ว่าเห็นในเหตุผลตามสัจจะทั้งที่ ๔ ที่เป็นอริยสัจจ์นั่นแหละ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ฉะนั้น ก็จะต้องละอุปาทานคือความยึดถือความเห็นดังกล่าวนั้น หากมี และฝึกอบรมให้มีความเห็นชอบตามหลักสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ดังที่กล่าว
ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเหมือนเรามีความสุขในการเรียนหนังสือในการทำงานขยันอดทนรับผิดชอบอย่างนี้ มันก็จะไม่มีความทุกข์เพราะความทุกข์มันอยู่ที่เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างผู้ถือศีลและพฤติปฏิบัติธรรม ก็คิดว่าเอ๊ะเราจะมารักษาศีลห้าศีลแปดทำไม คนอื่นส่วนมากทั้งโลกไม่เห็นทำกัน เพราะเอามิจฉาทิฏฐิมาเป็นตัวตัดสินเพราะเราไม่รู้จักความสุขเรื่องและความเห็นแก่ตัวเรื่องพระนิพพาน เอาแต่ความสุขทางร่างกายทางเนื้อหนังมังสา ทางกามารมณ์กามคุณ
นักบวชก็ยังไม่รู้จักเรื่องพระนิพพาน นักบวชก็ต้องรู้พระนิพพาน ประชาชนก็ต้องรู้เรื่องพระนิพพาน เราจะได้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าเขารู้ เขาคงไม่หลงในกามหรอก ไม่เพลิดเพลินในกามหรอก ถ้าเขารู้แล้วเขาคงไม่ทะเลาะกัน ไม่แย่งยศ ไม่แย่งตำแหน่งกัน เหมือนคนเขาทะเลาะกัน เขารู้แล้วเขาจะไม่ทะเลาะกัน เหมือนตัวเรานี้ เราก็ไม่รู้หรอก ถ้ารู้แล้วเราจะไปคิดเรื่องที่ไม่ดีทำไม จะทำสิ่งที่ไม่ดีทำไม พูดสิ่งที่ไม่ดีทำไม แสดงว่าเรายังไม่รู้อารมณ์ทางกามคุณ กามารมณ์มันมีอิทธิพลเหนือกว่า แสดงว่ายังไม่รู้อริยสัจสี่ ผู้ที่รู้อริยสัจสี่พอเห็นทางซุปเปอร์ไฮเวย์ก็จะเดินไป เริ่มต้นจากพระโสดาบัน
ที่เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายแสดงว่าเราไม่รู้ คนที่เห็นแก่ตัวชอบคิดเสมอว่า ถ้าตายแล้วไม่เจ็บไม่ปวดหน่ะดี คิดอย่างนี้ก็แสดงไม่มี ถ้าไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระนิพพานจะมาจากไหน
ศีลนี้เป็นความประพฤติเป็นภาคประพฤติภาคปฏิบัติของเรา สมาธิคือความตั้งมั่น ปัญญาคือเราต้องรู้จักอริยสัจสี่ ธรรมาธิปไตยคือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ทุกท่านทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักบวช ข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน คือผู้ที่จะเอาธรรมาธิปไตย เอาธรรมะ เพราะว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิเยอะๆ ถ้างั้นมันจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ความประเสริฐที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้
ผู้ที่รักษาศีลพรหมจรรย์เป็นภิกษุสามเณรต้องพากันเข้าใจความหมายของพระพุทธศาสนา คำว่าพระคือพระธรรมพระวินัย พระธรรมพระวินัยนั้นคืออริยมรรค คือข้อวัตรคือข้อปฏิบัติ เป็นกระบวนการเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพาน ต้องเริ่มต้นจากความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้องและปฏิบัติถูกต้อง เพื่อเราจะได้ปฏิบัติตัวเอง 100% ต้องเริ่มจากความคิด เพราะว่าทุกอย่างมันอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ที่ยังเอาใจตัวเองยังเอาอารมณ์ตัวเองเอาความรู้สึก แสดงถึงเรายังไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นบ้างนิดหน่อยๆศีลเราเลยด่างพร้อย บางคนขาดจากพระภิกษุ เมื่อเราไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนาเต็มร้อย ถือว่าเรายังตกอยู่ในกามสุขัลลิกานุโยค หมกมุ่นในกาม เราก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ผู้ที่มาบวชก็เลยไม่ได้เป็นพระธรรมพระวินัย เป็นแค่ภิกษุเป็นเพียงสามเณรเป็นผ้าขาวแม่ชี ไม่เข้าสู่กายวิเวก ถ้าไม่เอาธรรมเอาวินัย 100% ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เราก็จะไม่เข้าสู่กายวิเวกเพราะเรายังคิดเรายังยินดีในกาม หมกมุ่นในกาม
ต้องเป็นคนซื่อสัตย์ ปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้า ใครจะฉลาด ไม่ฉลาด จะหัวดี ไม่หัวดี ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราเป็นคนซื่อสัตย์ คนซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้าจะไม่ไปคิดเรื่องอยากได้เงินได้ทอง ไม่มีใจไปคิดเรื่องผู้หญิงเรื่องกินเรื่องเที่ยว คนซื่อสัตย์จะไม่คิดไม่พูดไม่ทำแบบนี้ ต้องเป็นผู้ซื่อสัตย์ เกรงกลัวต่อบาปละอายต่อบาป ไม่คิดเรื่องไปในทางกาม ไม่คิดเรื่องผู้หญิง เรื่องกามคุณ แม้กระทั่งเรื่องเสพเรื่องกินเรื่องเที่ยวที่ผ่านมาก็ตามที ต้องไม่คิด จึงเป็นการพัฒนาไปสู่ความซื่อสัตย์ มันมีอย่างที่ไหนเราบวชเป็นพระยังไม่เกรงกลัวต่อบาปไม่ละอายต่อบาป ยังคิดถึงสาว คิดชอบสาวอยู่ อย่างนี้คือคนไม่ซื่อสัตย์ คิดเรื่องเงินเรื่องทองเรื่องยศตำแหน่งสรรเสริญ ไม่มีใครจะบรรลุธรรมได้เลยถ้าไม่ซื่อสัตย์ อย่างระบบความคิดระบบความเห็นของที่วัดเรา องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่ให้มีโทรศัพท์ เราก็ยังคิดแต่ว่าวัดนั้นก็ยังมีวัดนี้ก็ยังมีวัดนั้นก็ยังโทร เราจะไปเอามาตรฐานของที่อื่นไม่ได้ มันคือการยังยินดีในกาม ใครจะไปทำอย่างนั้นก็ช่างหัวมัน พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราคิดไม่ได้ให้เราทำอย่างนี้
พระวินัยทุกข้อคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือพระวินัย มันเป็นกายวิเวก หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว เจ้าคุณพุทธทาส ท่านถึงเน้นเรื่องโทรศัพท์มือถือ พวกอินเทอร์เน็ต เฟสบุ๊ค คอมพิวเตอร์เหล่านี้เปรียบเหมือน ศาสตราวุธที่เราใช้แล้วมันทำร้ายตัวเองทำลายกุลบุตรลูกหลานผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อน เพราะพระเรานี้พระภิกษุเหล่านี้แหละอย่าใจอ่อน พวกที่บวชมายังไม่มีโอกาสพิจารณาพระกรรมฐาน ไม่ได้เจริญอานาปานสติ ไม่ได้พากันตั้งอยู่ในพุทโธ เพราะใจมันหยาบ เพราะใจมันสกปรกใจมันไม่วิเวก ให้เข้าใจนะ พวกนี้แหละไม่ได้เข้าสู่กายวิเวก ผู้ที่ติดหมกมุ่นอยู่ในกาม มันต้องเข้าสู่กายวิเวก มันต้องหยุดพวกนี้ก่อน ผู้บวชก่อนต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่างผู้ที่บวชภายหลัง ต้องพากันตั้งมั่น มรรคผลนิพพานจะหมดสมัย เพราะเราพากันยินดีในกามหมกมุ่นในกาม เราจะพากันมองหน้ากันคนนี้ก็ทำ คนนั้นก็ทำ ก็รู้แก่ใจอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคราพบูชา พระธรรมคำสอนเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชา ถ้าอย่างงั้นเราไม่ต้องไปหาพระอลัชชีที่ไหนหรอก อลัชชีที่ตัวเราทุกคนนี่แหละ เป็นผู้ที่ไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป รู้อยู่แต่ก็ยังขืนทำ พระพุทธเจ้าถึงให้เรากลับเนื้อกลับตัวกลับกาย ปัจจุบันนี้เราเป็นคนใจอ่อนเสียเพราะความใจอ่อน เสียเพราะพี่น้องญาติวงศ์ตระกูลพรรคพวก หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายที่ใจอ่อนต้องมีพรรคมีพวกที่เรียกว่าใจของเรายังอยู่ในแก๊งค์ หากใจอ่อนก็ละสิ่งเสพติดที่เรียกว่ากามไม่ได้ ทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าให้เราละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป
ความสุข ความดับทุกข์ของเราทุกคนอยู่ที่ใจสงบ ไม่ว่าเราจะเป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่แข็งแรง ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้มีเมตตาสอนเราให้พากันมีสติ มีสัมปชัญญะให้พากันฝึกปล่อยฝึกวางในเรื่องความยึดมั่นถือมั่น
ที่มันเป็นอดีต... 'อดีต' คือกรรมเก่าที่พวกเราพากันยึดถือ ถ้าเราไม่ฝึกปล่อย ไม่ฝึกวาง มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยสนับสนุนกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ที่มันเป็นสิ่งที่ดี...ไม่ดี พระพุทธเจ้าให้เราปล่อยวางให้หมด พยายามมีสติ มีสัมปชัญญะ พยายามทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ทำใจให้เบิกบาน ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู สิ่งที่แล้วก็แล้วไป พยายามใหม่ ตั้งใจใหม่ มาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งมั่นในความดี สมาทานความดี เป็นผู้ที่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มีความอด มีความทน ถ้าเราเชื่อตัวเราเอง เชื่อใจของเราเองนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาศีลเอาธรรมเป็นหลัก
เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจนั้น มันยังใช้ไม่ได้ เราต้องเอาความรู้ความเห็นมาประพฤติปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนนั้นต้องปฏิบัติ...มันถึงจะเป็นเหมือนเขาจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ชำนาญ ผู้ที่เป็นหมอก็ไปเรียนทางด้านเป็นหมอ ผู้ที่เป็นวิศวกรก็ไปเรียนวิศวกร ผู้ที่เป็นเกษตรกรรมก็ไปเป็นเกษตรกรรม ผู้ที่ค้าขายก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ค้าขาย บุคคลผู้นั้นถึงจะเป็น ถึงจะเชี่ยวชาญ เราทุกคนก็เหมือนกันที่ได้มรรคผลพระนิพพานก็ต้องเรียนรู้ต้องเข้าใจและประพฤติปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" เรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมนั้น ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้เราได้ นอกจากประพฤติปฏิบัติของเราเอง เขาแต่งตั้งให้เราเป็นพระเป็นเณร เป็นแม่ชี มันก็เป็นแต่เพียงภายนอก ให้ทุกท่านทุกคนให้เข้าใจดีๆ ว่า เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง หายใจเข้าออกเอง พักผ่อน รับประทานอาหารเอง ที่พึ่งแท้จริงของเรา ก็คือศีล คือสมาธิ คือสติสัมปชัญญะ ปัญญาต้องเข้าใจ เรื่องกิเลส เรื่องความอยาก เรื่องความหลงของเรา
ทุกท่านทุกคนมันมีความหลง มันถึงมีความโลภ ความโกรธ มันมี 'อวิชชา'มีความไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพามาประพฤติปฏิบัตตามอริยมรรคองค์ ๘ ประการ ที่ประกอบด้วยความคิด จิตใจ กาย ประกอบกับการทำงาน เพื่อให้เราทุกๆ คนได้ตั้งมั่นในธรรม และจะได้เข้าถึงคุณธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นมันไม่สามารถพาเราเข้าสู่ความดับทุกข์ที่แท้จริงได้
ผู้ปฏิบัติน่ะ ปฏิบัติไป ทำความเพียรไป ยิ่งไม่เข้าใจ เพราะว่าทำเพื่อเอา เพื่อมี เพื่อเป็น เพื่อบรรลุธรรม ไม่ได้ทำเพื่อเสียสละ ละตัวละตน ไม่ได้ทำเพื่อที่สุดของกองทุกข์น่ะ....หนทางเราเลยมืดบอด เราทำเหมือนกันแต่จิตใจมันไม่เหมือนกัน อย่างเราทำงานก็เพื่อเสียสละ เราทำเพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อไม่มีไม่เป็น เพื่อไม่หวังอะไรตอบแทน สิ่งที่เราจะได้มาก็คือ มรรคผลนิพพาน และทรัพย์ ข้าวของ โดยได้ทั้งทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์
ถ้าเราทำถูกมันก็มีความสุข มีความดับทุกข์ มันก็ดีไปหมด มันก็เข้าถึงพระนิพพาน ตั้งแต่ยังไม่ตาย...ขณะนี้เดี๋ยวนี้ มันก็ชำนิชำนาญไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปวิ่งหาธรรมะที่ไหน เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะไม่ต้องหนีงาน หนีการ หนีสังคม เราก็จะได้ละความถือละตัวละตน ที่เราพากันแบกไว้ในจิตในใจให้มันหนักหัวสมอง
เรื่องต่างๆ ไม่ว่าสิ่งที่ดี...ไม่ดี ที่มันเกิดในชีวิตประจำวันของเรา มันทำให้เราได้ฝึกทำจิตทำใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เราประพฤติปฏิบัติที่จิตที่ใจ ที่กาย วาจา ใจของเรา ที่สุดของความดับทุกข์มันก็จะผ่านไปทุกขณะจิตไปเรื่อยๆ อินทรีย์บารมีเราก็แก่กล้าเข้าไปเรื่อย เช่น ถ้าเราประพฤติไปยิ่งงง คนเราถ้าใจไม่สงบ มันก็เหมือนคนตาบอดนี่แหละ
ทุกท่านทุกคน... พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นพระ เป็นเณร เป็นชี เป็นญาติโยม เพื่อจิตใจของเรา ทุกๆ คนก็มีโอกาส มีเวลาเท่าๆ กัน ทุกๆ คนก็ทำไป... เสียสละไป... เราจะเอาความสุข ความดับทุกข์ในเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญนั้นมันมีแต่ความเสื่อมความสลาย พยายามสร้างอริยทรัพย์ที่มันไม่เสื่อม...ไม่สลาย
ทุกคนอยากได้มรรคผลนิพพาน แต่มันก็ขาดเหตุปัจจัย คือการประพฤติปฏิบัติที่สม่ำเสมอ สมาธิของเราทุกคนต้องแข็งแรง เราต้องตั้งมั่นไว้นานๆ ไว้ตลอดกาล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาต้องสมดุลกัน จะได้มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าเราเอาแต่สงบ มันก็เหมือนอาหารที่แช่ในตู้เย็น มันไม่สด ไม่เป็นธรรมชาติศีล สมาธิ ปัญญาของเราต้องควบคู่กันไป จะได้เกิดอริยมรรคมีองค์ ๘
เราสังเกตตัวเราให้ดี เวลาเราไม่เครียดเราทำใจอย่างไร เวลาเราเครียดเราเป็นอย่างไร เราต้องสังเกตดูเราจะได้รู้จักการวางจิตวางใจ เราจะได้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ให้มันถูกต้อง
เรื่องความเครียด เรื่องความทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรานี้สำคัญ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่เครียด ถ้าเราตึงเกินไปมันก็เครียด ถ้าเราหย่อนยาน มันไปทางความหลง ความโลภ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราสังเกตตัวเอง จะได้รู้จักทางสายกลาง ประเด็นแรกก็ต้องยึดยานพาหนะ ได้แก่ ศีล สมาธิ เพื่ออาศัยรูปแบบที่เค้าทำพิมพ์ไว้แล้ว เราประพฤติปฏิบัติไป แล้วเราก็เข้าใจเอง ถ้าใจของเราไม่สงบ เราก็ไม่เข้าใจน่ะ เมื่อใจของเราสงบแล้วเราก็พากันเข้าใจเอง
จึงสรุปได้ความว่า ความสุข ความดับทุกข์ของเรา ก็คือ ใจสงบ
ใจสงบ' นั้นได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา นั้นคือ อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ที่เราทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ โดยไม่มีการยกเว้นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง...