แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๔ ความฉลาดของคนอาจจะพอ ๆ กัน แต่การปฏิบัติติดต่อกันสม่ำเสมอนั้น ทำให้คนเจริญก้าวหน้าไม่เท่ากัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจประพฤติตั้งใจปฏิบัตินะ ไม่ว่าคนที่อยู่ที่วัด หรือ อยู่ที่บ้านทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจประพฤติตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ลงรายละเอียดในการประพฤติการปฏิบัติ อย่าปล่อยโอกาส อย่าปล่อยเวลาให้มันผ่านไป การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน เบื้องต้นก็ให้รู้ตัวทั่วพร้อมหายใจเข้าให้รู้ตัวชัดเจน หายใจออกให้รู้ตัวชัดเจน หายใจเข้าให้สบายหายใจออกให้สบาย มีสติมีสัมปชัญญะ ต้องละทุกสิ่งทุกอย่างให้มันเป็นเลขศูนย์ เราจะได้เข้าถึงสภาวะธรรมคือธรรมะที่ปราศจากตัวตน
ทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องเพิ่มความรับผิดชอบขึ้น เพิ่มความขยันขึ้นเพิ่มความอดทนขึ้น เราอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เพราะจิตของเราทุกคนมันส่งออกข้างนอก สิ่งต่างๆ นั้น ที่เกิดขึ้นเเก่เราถือว่าเป็นโอกาสที่ให้เราได้ฝึกใจได้พัฒนาใจ คนเรามันตามความคิดความอารมณ์มันจนเป็นนิสัย ทุกท่านทุกคนทำได้หมดอยู่เเล้ว การปฏิบัติมันจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เดินไปทีละก้าว ทานข้าวที่ละคำ ทำทีละอย่างในปัจจุบันไป จิตใจของเราต้องสงบ จิตใจของเราต้องมีปัญญา วันคืนได้เปลี่ยนเเปลงไป สังขารร่างกายของเราก็เเก่ไป
การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติก็ย่อมเจริญ ย่อมเเก่กล้า การปฏิบัติธรรมให้เรารู้จักนะ การปฏิบัติธรรมนี้เรามาเสียสละ เรามีความสุขในการเสียสละ เราถึงจะเข้าถึงธรรมะ ทำงานก็เพื่อมีความสุขในการเสียสละ เราถึงจะได้พัฒนางาน ได้พัฒนาใจ ทุกท่านทุกคนไม่มีใครอยากประพฤติอยากปฏิบัติหรอก ถ้าเรามีตัวมีตนอยู่ อย่าปล่อยไปเฉยๆอย่างนี้ ไม่อยากภาวนา วิปัสสนา ตาเห็นรูปหูฟังเสียง ไม่ประพฤติปฏิบัติเลย ปล่อยให้ตัวเองยินดี ปล่อยให้ตัวเองยินร้ายชอบไม่ชอบไม่รู้จัก การเจริญภาวนาวิปัสสนา ทิ้งสู่พระไตรลักษณ์
ผู้ปฏิบัติธรรมอย่าปล่อยให้ตัวเองล่องลอยไปข้างนอก อย่าปล่อยให้ตัวเองคิดฟุ้งซ่าน งานของเราคืองานเจริญอานาปานสติ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจนหายใจออกก็รู้ชัดเจน พยายามหยุดคลุกคลีกับหมู่เพื่อนหมู่คณะ เราต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ใจอยู่กับหายใจเข้า ใจอยู่กับสติสัมปชัญญะ รู้ว่าเราเดินรู้ว่าเรานั่ง รู้ว่าเรานอน ใจของเรามันเเสวงหาอาหาร มันมีเซ็กซ์ทางความคิดทางอารมณ์ เราต้องรู้จัก เราต้องหยุดให้อาหารทางจิตใจ มีคำถามว่าเราจะเเก้ยังไง รู้ทุกข์ว่าสิ่งนี้ไปคิดไม่ได้ ถ้ามันคิดก็ให้คิดครั้งเดียว อย่าไปปล่อยให้คิด เราทำไปเเล้วจะเคยชิน เพราะเรารู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์ ในการปฏิบัติใจของเราก็จะสงบวิเวกขึ้น ให้พระให้เณรให้ชีเเละญาติโยมประชาชน รู้จักรายรับรายจ่าย เพราะมันเกิดมานี้ไม่รู้รายรับรายจ่าย เค้าเรียกว่าไม่รู้อริยสัจสี่ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์
การประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่นำพวกเราออกจากทุกข์ คนเรานั้น.... มีทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ ทุกข์จากการเลี้ยงชีพ ทุกข์จากลูกหลาน ทุกข์จากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล สิ่งที่จะดับทุกข์ได้ ที่จะแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าท่านให้มาแก้ที่จิตที่ใจของเรา คำพูดของเรา มาแก้ที่การกระทำของเรา
ชีวิตของเราในประจำวันที่เป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว ที่เรามาคิดดู คำนวณดู มันติดความสุข ติดความสะดวกสบาย มันเห็นแก่ตัว มันไม่รู้จักตัวเอง ทุกท่านทุกคนล้วนแต่ติดในความสุข ติดในกามสุขัลลิกานุโยค
ความสุขนี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เราทานข้าว ทานอาหาร เราพักผ่อน สิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นโทษ สำหรับผู้ที่ติดสุขติดสบายมันก็ไม่อยากทำงาน ถ้าเป็นนักเรียนก็ไม่อยากเรียนหนังสือ ถ้าเป็นพระอย่างนี้...ก็ไม่อยากนั่งสมาธิ เดินจงกรม บิณฑบาต ทำความเพียร มันพอใจในความสงบเท่านี้ ถ้าเราติดในความสุข ในสิ่งเหล่านี้...มันก็เป็นบาป การพัฒนาของเรามันก็ไม่ก้าวหน้า ชีวิตของเราก็ลุ่มๆ ดอนๆ ขาดๆ เขินๆ เพราะเราพากันติดในความสุข แทนที่จะเอากำลังที่เราได้จากการบริโภคอาหาร เอากำลังที่เราได้จากการพักผ่อน เอามาทำการทำงาน มาเสียสละ เราก็พากันมัวแต่ติดสุขติดสบาย
พระพุทธเจ้าท่านมีความเมตตาตรัสแก่พวกเราว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ดำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า" เพราะว่าพระพุทธเจ้าขี้เกียจไม่เป็น พระอรหันตสาวกขี้เกียจไม่เป็น
ผู้ที่จะมีความเจริญ มีความก้าวหน้าต้องพยายามเป็นคนไม่ขี้เกียจขี้คร้าน เราทุกๆ คนให้รู้จักคนขี้เกียจขี้คร้าน เขาชื่อว่าเป็นคนบาป เพราะอะไร เพราะเมื่อเราขี้เกียจมันไม่เจริญ ความรู้ไม่เจริญ โภคทรัพย์ไม่เจริญ คุณธรรมมันก็ไม่เจริญ
ข้อวัตรปฏิบัติของเรามันก็เหมือนกับนาฬิกา มันเดินไปเรื่อยๆ นาฬิกาเดินไปเรื่อยๆ มันไม่เคยพักผ่อน ถ้ามันหยุดมันพักผ่อน แสดงว่านาฬิกามันตาย ให้เราทุกๆ คนทำความดี หรือว่าทำงาน หรือว่าเรียนหนังสือ อ่านหนังสือให้มี
บางคนคิดไม่ออกนะว่าการทำงาน การเรียนหนังสืออย่างไรมันจึงจะมีความสุข? ที่มันไม่มีความสุขนะ เพราะว่าเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เราจึงไม่มีความสุข เราจึงเป็นคนเห็นแก่ตัว
เวลาเราทำงานให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว มันเป็นสุขมีความดับทุกข์ เพราะคนเราใจอยู่กับเนื้อกับตัวใจมันสงบสุข
เราทำงานเพื่อเสียสละ เราทำงานเพื่อละความเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำงานเพื่อเอาเงินเดือน เพื่อจะให้มันดีอย่างโน้นอย่างนี้ ใจของเรามันจะไม่สงบ เพราะใจของเรามันเอาความอยากเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาความเสียสละเป็นที่ตั้ง
เราไม่ต้องมีความอยาก เราต้องเป็นผู้เสียสละ มันถึงจะมีความสุข เรื่องเงินเดือนหรือผลตอบแทน เราไม่ต้องอยากมันก็ต้องได้อยู่แล้ว เพราะเราได้สร้างเหตุปัจจัยอยู่ ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้แหละ
จิตใจของเรามันจะมีความสุข มีความสงบ ได้ทั้งสติสมาธิ ปัญญา ได้ทั้ง คุณธรรม
พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาสอนเราอย่างนี้นะ... สอนให้ทุกคนมีความสุข สอนให้ทุกคนดับทุกข์ได้ ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ การทำอย่างนี้เขาเรียกว่า การรักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา
เราเป็นพระ เรามีงานของพระ มีงานการปฏิบัติของความเป็นพระ
เราเป็นโยม เรามีงานการปฏิบัติของความเป็นโยม
ชีวิตของเราทุกคนต้องทวนกระแส ทำไมครูบาอาจารย์ท่านให้เราตื่นตั้งแต่ตีสาม ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ตัดกามออกจากใจ ออกจากสิ่งที่เราชอบ เพราะอันนั้นมันคือการเวียนว่ายตายเกิด ทุกๆ คนต้องเสียสละ เพื่อให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ถ้าไม่เสียสละสติสัมปชัญญะมันก็ไม่สมบูรณ์ ทุกคนต้องเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละทุกคนนี้แหล่ะคือโจร คือมหาโจร การซ่องสุมทั้งหลายทั้งปวงมันอยู่ที่เรา เราต้องเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เราอย่าไปโทษประชาชน เราไม่ต้องไปโทษใครหรอก ใครทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง นั้นแหละคือวัฏฏะสงสาร การที่เราเพศสัมพันธ์ทางต่างๆ ที่เรายินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ นี้แหละคือเพศสัมพันธ์ เราอยู่ในน้ำจะไปก่อไฟในน้ำได้ยังไง เราไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง คือการที่เราก่อไฟในน้ำ ไม่มีทางติดหรอก
วัดวาอาราม ศาสนาในเมืองไทยและทุกประเทศส่วนใหญ่ จึงเป็นทางออกของคนไม่มีสมรรถภาพในการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือเป็นทางออกของคนจน นั้นไม่ใช่เป้าหมายของพระพุทธเจ้า ท่านให้เราออกจากวัฏฏะสงสาร เราต้องสร้างพระขึ้นในใจของเรา เพราะใจของเรานี้มันตั้งแก๊ง ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก เราไม่ต้องเอาอย่างอื่น เราต้องจับหลักของพระพุทธเจ้าให้ได้ เราอย่าไปเป๋ เราอย่าไปหลงในขันธ์ ในจิต อย่าไปหลงในศาสนวัตถุ อย่าไป หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะว่าพระที่แท้จริงคือพระธรรม คือพระวินัย ให้เข้าสู่กระบวนการแห่งมรรคผลนิพพาน ให้ถือนิสัยพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ถือนิสัยของตัวเอง ของสังคม
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนรู้จักหน้าที่ของตนเอง เราปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้มันดี ท่านไม่ให้เราทิ้งธรรมะออกจากชีวิตของเรา "ถ้าเราทิ้งธรรมะ ชีวิตของเราต้องมีปัญหาแน่!"
เพราะว่ากระบวนการของผู้ที่จะเข้าถึงความประเสริฐในตัวเรา ได้แก่ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติมันเป็นธรรมะที่ต่อเนื่องกัน
เราจะเข้าถึงความเป็นมนุษย์สมบัติได้อย่างไร?
มนุษย์ แปลว่า เป็นผู้มีจิตใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน หากใจต่ำเป็นได้แค่เพียงคนก็เสียทีที่ตนได้เกิดมา
มนุษย์นี้ ต้องเป็นผู้ที่มีศีล ๕ เสียสละละความเห็นแก่ตัว คนที่รักษาศีล ๕ ไม่ได้ เนื่องมาจากอะไร? เนื่องมาจากความเห็นแก่ตัว มีความขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เสียสละ ติดอบายมุข มันเป็นกระบวนการมาเลย มันเป็นกระบวนการแห่งความเสื่อม
กระบวนการที่ดีๆ ก็ได้แก่ การเสียสละ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน มีความสุขในการทำงานมีความสุขในการรักษาศีล เมื่อเราทำถูกต้องมันก็ไปตามเสต็ป ไปตามกระบวนการ เราก็มีความสุขความสบาย
ปัจจัยสี่... ลาภ ยศ สรรเสริญ มันก็ไปตามกระบวนการ ถ้าเรามัวอยากมัวต้องการ แต่เราขาดการปฏิบัติมันก็เป็นไปไม่ได้ จะคิดจนปวดหัว คิดจนเป็นโรคจิตมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะตัวเราเองทำร้ายตัวเราเอง การปฏิบัติของเรามันไม่ชัดเจน
ทุกท่านทุกคน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นคนเสียสละ สร้างเหตุ สร้างปัจจัยให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ด้วยจิตใจที่มีความสุข
ความฉลาดของคนมันอาจจะพอๆ กัน หรือว่าใกล้เคียงกัน แต่การปฏิบัติที่ติดต่อกันสม่ำเสมอเหมือนนาฬิกาที่มันเดิน มันทำให้คนเจริญก้าวหน้าไม่เหมือนกัน ทุกคนมีลมหายใจเหมือนกันมียี่ห้อเดียวกัน คือ "ความเป็นมนุษย์" แต่ใครไปไกลได้มากกว่ากัน มันขึ้นอยู่ที่ "ปฏิปทาของตนต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย"
กระต่ายเป็นสัตว์ที่วิ่งเร็วมากกว่าเต่า แต่กระต่ายตั้งอยู่ในความประมาท แข่งขับกับเต่าก็เลยแพ้เต่า กระต่ายก็เอาแต่พักผ่อน เอาแต่นอน แต่เต่าเขาเดินช้า แต่เดินไม่หยุด ผลที่สุดมันก็แพ้เต่าจนได้
การปฏิบัติความดีของเรา ทุกๆ คนต้องปฏิบัติต่อเนื่อง อย่าได้พากันตั้งอยู่บนความประมาท มันเป็นบาปเป็นอกุศล เหตุปัจจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง อย่างเราเป็นนักเรียนนักศึกษา เมื่อเราจะไปขยันเมื่อใกล้จะสอบมันไม่ถูกต้อง เราเอาเวลาที่มีอยู่จำกัดไปใช้นอกระบบ มันก็มีแต่จะเสื่อมกับเสื่อม มันมีแต่จนกับจน อย่างเทอมๆ หนึ่งมันมีกี่วัน เขาคำนวณให้คนๆ หนึ่งต้องเรียน ต้องท่องหนังสือกี่วัน แต่ด้วยความไม่เข้าใจ เราเอาเวลาไปใช้นอกระบบ เอาไปใช้นอกระบบอย่างไร ลองคิดตามดูนะ... เอาเวลานั้นไปฟังเพลง ไปเล่นอินเทอร์เน็ต ไปเล่นเกมส์ ไปดูคอนเสิร์ต ไปเที่ยวกับเพื่อน ไปห้างสรรพสินค้า ที่นี้เราจะมองเห็นว่า เราได้เอาเวลาไปใช้นอกระบบมาก ความรู้ความสามารถมันก็ไม่มี ไม่เป็น ชีวิตของเรามันก็มืดมัว มันก็สลัว เพราะเราเอาเวลาไปใช้นอกระบบ
กรรม คือการกระทำของเรา มันจะตัดสินตอนที่เขาออกข้อสอบ เราเข้าห้องสอบอากาศเย็นๆ มันก็ร้อนไปหมด ใจรุกรี้รุกรน รุ่มร้อน เหงื่ออก กำปากกาเปียกเมื่อไรก็ไม่รู้ ทีนี้เราก็ปลงอนิจจังกับตัวเองว่า "ได้ก็เอา ไม่ได้ก็ต้องเอา เพราะว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม..."
กรรม คือการกระทำของเราเองนะ ไม่ใช่มีใครมาทำให้เรา พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรา ตั้งมั่นในความดี สร้างเหตุปัจจัยให้ถึงความพร้อมด้วยความไม่ประมาท เขาเรียกว่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตในใจ อยู่ในชีวิต ประจำวัน จิตใจของเราก็เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
คราวนี้เราจะเข้าถึงสวรรค์ ถึงความสุขตั้งแต่ยังไม่ตาย เข้าถึงพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตาย ถ้าเราเป็นคนหัวไม่ดี ถ้าเราปฏิบัติสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มันจะดียิ่งกว่าคนที่หัวดีแต่เขาประมาทอยู่นะ
ในโลกนี้เขาต้องการคนดี ต้องการคนเสียสละ ถ้าเราเป็นคนดี เป็นคนเสียสละ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็รักเรา ชื่นชมเรา เพื่อนๆ ก็รักเรา พวกน้องๆ ลูกน้องพ้องบริวาร เขาทั้งเคารพทั้งนับถือบูชา ตัวเราเองก็รู้สึกเคารพตัวเอง เคารพกราบไหว้ตัวเองได้ด้วยความสนิทใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกๆ คน ให้เราพากันเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง จะได้พากันประพฤติปฏิบัติ อย่างเราเป็นญาติโยม เราต้องปฏิบัติธรรมที่บ้านเรา 'บ้าน' คือที่พักทางกาย กายมีบ้านเป็นที่อยู่ เป็นที่พักของเขา เราอยู่ที่บ้านมีพ่อแม่ บุตรภรรยาสามี พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันปฏิบัติที่บ้านของเรานั่นแหละ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อจะเอามาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา
ให้เรามาเริ่มที่ 'ใจ' ใจของเรามันต้องรู้จักทุกข์ ทุกคนล้วนมีทั้งทุกข์ทางกาย ทุกข์ทางใจ ทุกข์จากการทำมาหากิน ทุกข์จากญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล
เราจะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไร?
เราต้องเสียสละ เพราะความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจขี้คร้านมันทำให้เราทุกข์ อีกหลายปีข้างหน้าเป็นทุกข์แน่ ถ้าเราไม่ขยัน ไม่เสียสละ อีกหลายปีข้างหน้าเราทุกข์แน่นอน ทุกท่านทุกคน ต้องมีความสุขในการทำงานเหมือนที่กล่าวมาแล้ว คนที่ไม่มีความสุขในการทำงาน คือ คนที่ขี้เกียจขี้คร้าน คนที่ไม่เสียสละ มันก็อยู่ในกระบวนการเดียวกัน เพราะการงานส่วนใหญ่มันเป็นการสร้างบาปสร้างกรรม
เรามองดูดีๆ นะ คนส่วนใหญ่นี้ก็ต้องทำอาชีพบนหลังคนอื่น อย่างเป็นคนค้าคนขาย เราซื้อมาก็ต้องการถูก ขายก็ต้องการแพง อย่างนี้เรียกว่า... "เราทำอาชีพบนหลังคนอื่น ทำอาชีพบนหลังคนยากคนจน"
พระพุทธเจ้าท่านให้เราแบ่งปันความสุขให้ทั่วถึง ให้สงเคราะห์กันย่าไปกดราคาเขา อย่าไปขายแพงเกิน ทุกคนต้องเกื้อกูลกัน มันจะได้กำไรไม่มากก็ไม่เป็นไร
อย่างเราเป็นข้าราชการก็ดีหรือทำงานรัฐวิสาหกิจก็ดี พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำงานให้เต็มที่เต็มกำลัง ทำงานให้ดี ถ้าเราจะเอาแต่เงินเดือน เรามีความขี้เกียจขี้คร้าน มีความเห็นแก่ตัว องค์กรของเรามันก็ไม่เจริญ ประเทศชาติก็ยากจน เพราะเครือข่ายของเรามันเป็นเครือข่ายที่เห็นแก่ตัว
"ถ้าเราตั้งใจ ประเทศชาติมันก็เจริญ เราจะได้แชร์ความสุขให้ทั่วถึงกัน" ก็ให้เราเป็น "ข้าราชการที่แท้จริง" ไม่ใช่ผู้ที่เอาเปรียบสังคม ทำไปเพียงขอไปที "มันไม่ใช่ข้าราชไม่ใช่ผู้จัดการ" มันเป็นผู้ที่มาเอาเปรียบคนอื่น ถือว่ามันเป็นบาป
พระพุทธเจ้าสอนเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสอนเรา ว่าเราทุกท่านทุกคนต้องเป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง อย่าได้ไปเอาเปรียบคนอื่น อย่าไปทำอาชีพบนหลังคนอื่น ถ้าเราทำดีทำถูกต้อง เราจะได้บุญได้กุศลเยอะ และได้ทั้งเงินเดือน ได้ทั้งบำเหน็จบำนาญ เราจึงควรทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง ให้มันสมบูรณ์ อย่าให้มีความขี้เกียจขี้คร้านเข้ามาแอบแฝง เพราะประชาชนส่วนใหญ่เขายากจน...อย่างน้อยก็ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ
"ของมันมีนิดเดียว เราก็อย่าพากันไปรุมแย่งกันกินหมด เราต้องแบ่งสันปันส่วนให้ได้ทั่วถึงกัน"
อย่างอาชีพนักการเมือง นักปกครองท้องถิ่น เป็นอาชีพที่เป็นบุญมาก เป็นกุศลมาก ถ้าเราเข้ามาเพื่อแบ่งปัน มาช่วยเหลือทุกคนให้มีความสุข ดับทุกข์ ทั้งทางกาย ดับทุกข์ทั้งทางใจ ถ้าเราเข้ามาทำงาน เพื่อหวังช่วยเหลือ มาแก้ไขจากดำให้เป็นขาว จากขาวให้มันเป็นยิ่งกว่าขาวอีก
แต่ทุกวันนี้ มนุษย์สายพันธุ์นี้มันหายาก... สายพันธุ์ที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาสั่งสอน สายพันธุ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านสอน มันหายากหาลำบาก นอกจากเราจะพากันพัฒนาขึ้นมาใหม่
ที่ผ่านๆ มาถือว่ามันยังใช้ไม่ได้ หานักการเมืองได้น้อยที่สุด ส่วนใหญ่มีแต่ 'นักกินเมือง' กินเรียบหมด อะไรก็ไม่เหลือ
จนอยู่แล้ว...ยิ่งมาเพิ่มความจนให้อีก
ทุกข์อยู่แล้ว...ยิ่งมาเพิ่มความทุกข์ให้อีก
มนุษย์เรานี้ จึงจำเป็นต้องมาพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ให้ดีขึ้น สายพันธุ์ขี้เกียจขี้คร้าน สายพันธุ์เอาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น สายพันธุ์เอารัดเอาเปรียบคนอื่น มันไม่ดี มันไม่เหมาะ มันพากันมาสร้างเหตุสร้างปัจจัยแห่งความทุกข์
เราเป็นพระ เราเป็นโยม ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก แก้ไขคนอื่นไม่ได้ เราก็มาแก้ไขตนเอง มามีความสุขในการทำงาน มีความสุขในความเสียสละ ความทุกข์มันมีเพราะเรามีความอยาก มีความต้องการ เรามีความอยากมันก็ทุกข์อย่างนี้แหละ ท่านจึงให้เราไม่ต้องอยาก ให้เรามาสร้างเหตุสร้างปัจจัยแห่งความดับทุกข์
เราอย่าคิดไปไกล... ให้กลับมาหาตัวเอง เราจะได้ฉลาด
คนเราปัญหาต่างๆ มันเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอกก็จริง แต่แท้ที่จริงมันเกิดจาก ใจของเรามันมีปัญหา ถ้าใจของเราไม่มีปัญหา เรามองอะไรก็ดีไปหมดแหละ เพราะว่าเราไม่มีตัวมีตน
ที่เรามีความเครียด เรามีความหนักอกหนักใจ เพราะเรามีตัวมีตนมาก ที่เรารักษาศีล ไม่ได้ รักษาศีล ไม่ได้ เพราะเรามีตัวมีตนเยอะ "ให้เรากลับมาอย่างนี้นะ ที่มันยังมีสะดุดในหัวใจอยู่ แสดงว่าเรามีตัวมีตนอยู่นะ"
อย่างวัดของเรานี้ สถานที่อย่างนี้ มันก็สงบ มันก็วิเวกพอได้ การปฏิบัติก็พอไปได้ แต่ถ้าเราไปคิดว่ามันวุ่นวาย งานมาก...มันไม่สงบ แท้จริงแล้ว เพราะจิตใจเราต่างหากที่ไม่สงบ ไม่วิเวก
เราอย่าไปโทษสิ่งภายนอก มันเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เพราะสิ่งภายนอกมันก็ดีของเขาอยู่แล้ว ถ้าเราคิดเป็น เห็นเป็น ฟังเป็น มันก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ วันหนึ่งๆ ถ้าเราคิดเป็น ภาวนาเป็น มันก็ดีมาก เราก็ได้ปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิ ปฏิบัติปัญญาเกิดขึ้นสนั่นหวั่นไหวไปหมด
พระพุทธเจ้าท่านให้ทั้งพระ ทั้งญาติโยมที่อยู่ที่วัดและอยู่ที่บ้าน เข้าใจการประพฤติปฏิบัติ เราจะให้คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น มันก็เป็นของยาก ของลำบาก เดี๋ยวใจของเรามันจะเป็นโรคประสาท เป็นโรคจิตไป เราต้องเข้าใจ เราต้องกลับมาเมตตาตนเองให้มากๆ นำตัวเองมาประพฤติปฏิบัติธรรม และมีเมตตาต่อคนอื่นไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ
ถ้าเรามีเมตตาน้อย ชีวิตของเรามันจะมีปัญหาแน่! คนมีเมตตาน้อยเป็นคนที่ชอบเผาตัวเอง และเผาทั้งคนอื่น... นั่นแหละ คือ "นรกหลุมน้อยหลุมใหญ่ในชีวิตประจำวันของเรา"
ความเมตตา เปรียบเสมือนน้ำที่ใช้ดับไฟนรก "นรกเปรียบด้วยไฟที่มันร้อน เราต้องดับด้วยเมตตา"
ถ้าใจของเรามีเมตตา เรามองดูอะไรมันก็ดีไปหมด ถ้าเราไม่มีเมตตา มันเป็นความเครียด มันเป็นคนแบกโลก เห็นอะไรก็ไม่พอใจหมด เห็นต้นไม้ก็อยากจะเตะ เห็นหมาก็อยากจะเตะ
คนที่จิตใจมีปัญหา เห็นอะไรก็มีปัญหา "ทุกคนให้เข้าใจนะ ให้เรามาแก้ที่ตัวของเรา มาแก้ที่จิตที่ใจของเรา"
เราเป็นญาติเป็นโยม...ก็ให้พากันปฏิบัติที่บ้าน ที่ทำงานของเรา เอาบ้านของเรานี้แหละ เอาที่ทำงานของเรานี้แหละ เป็นที่ปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เราก็จะพากันทิ้งศีลทิ้งธรรมกันหมด
'ศีลธรรม' เราต้องทำเอง ปฏิบัติเอง ดูครั้งพุทธกาล... พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอริยเจ้าที่อยู่ในครอบครัว ในบ้านในเรือนมีเป็นหมื่นเป็นแสน
ความเป็นพระที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ปลงผมห่มผ้าเหลือง พระที่แท้จริง คือ ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติออกจากทุกข์ ปฏิบัติน่าเคารพกราบไหว้
เราอย่าพากันประเมินตัวเองให้ตกต่ำ อย่าไปบล็อกตัวเองไว้ ทำให้ตัวเองไม่ได้พัฒนา ทำให้ตัวเองไม่เจริญก้าวหน้า อย่างนั้นไม่ได้ ให้เราปฏิบัติตนเองที่บ้านของเรา ปฏิบัติที่ทำงานของเรา
อย่างครั้งพุทธกาล... นางวิสาขาก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ดี ท่านก็อยู่ในบ้านในเรือนมีศีล ๕ ปกติ วันพระวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ จึงเข้าวัดรับศีล ๘ ฟังธรรมกัน เราอย่าไปว่าเราอยู่ที่บ้านเราปฏิบัติไม่ได้ เพราะในโลกนี้แหละ ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคนอื่นเขารับได้หมด
ในครั้งอดีด... เวลามีงานมงคล เขาก็ต้องเชิญท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือไม่ก็นางวิสาขาไป เพื่อให้เกิดความเป็นมงคล เพราะ "เขานับถือเขาเคารพบูชาคนดี"
"ให้เราทุกคนเข้าใจ ถ้าอย่างนั้นมันจะเกิดความ เสียหายในชีวิตประจำวันของเรา" ให้เรามีความสุขในการปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้าน ที่ทำงานของเรา เพราะเวลาของเรามีค่ามาก สำคัญมาก เราต้องปฏิบัติได้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
คำว่า 'วัด' คือ 'วัตร' เป็นข้อปฏิบัติ ที่เป็นข้อปฏิบัติของผู้ปฏิบัติไม่ใช่อย่างอื่น ถ้าเรามีข้อปฏิบัติ สถานที่นั่นแหละ คือที่ปฏิบัติธรรม
เราอยู่ที่บ้าน เรามีข้อปฏิบัติ ที่นั้น...ก็คือที่ปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่ ...ที่ประเสริฐได้ สิ่งที่แล้ว...ก็ให้แล้วไป สิ่งที่ผิดพลาดให้เป็นบทเรียน มันยังไม่สาย บทเรียนต่างๆ มันมีราคา "กว่าเราจะเข้าใจ มันก็ทำเอาเราคางเหลืองหมด" ถือว่าเราเป็นคนโชคดี เป็นผู้ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทำไมเขาทำบุญวันเกิดกัน? ก็เพราะว่าการเกิดมานี้ เรามีโอกาสสร้างความดี สร้างสิ่งที่ประเสริฐให้กับชีวิตได้ คือ สวรรค์ มรรคผล พระนิพพาน เกิดมาเพื่อเป็นผู้ชนะ