แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง พรรษาแห่งการตื่นรู้ ตอนที่ ๑ ละทิ้งนิสัยตัวเอง มาถือนิสัยพระพุทธเจ้าและพ่อแม่ครูบาอาจารย์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ เป็นฤดูกาลหน้าฝน พระพุทธเจ้าให้พระภิกษุในพุทธศาสนาจำพรรษา ไม่ให้สัญจรไปมา ให้ปฏิบัติอยู่กับที่ ทุกท่านทุกคน คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน เราต้องเข้าสู่ไลน์เข้าสู่ข้อวัตรข้อปฏิบัติของเราทุกๆ คน มีความเห็นเหมือนๆ กัน มีศีลเสมอกัน มีสมาธิ มีความตั้งมั่น มีปัญญา ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามันง่าย อันไหนมันไม่ดีก็ไม่พูดไม่ทำ เป็นของง่ายๆ ที่มันยากเพราะเราไม่ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยของตัวเอง ถือนิสัยที่ไม่ถูกต้อง
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกให้รู้ชัดเจน รู้ว่าอันไหนผิด อันไหนถูก ต้องปฏิบัติในปัจจุบัน เราต้องรู้จักพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง รู้จักพระธรรมให้ถูกต้อง รู้จักพระอริยสงฆ์ให้ถูกต้อง พระคือพระธรรม คือพระวินัย ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึก ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่างนี้เค้าเรียกว่าพระ เราละ เราเลิก มีสติ มีสัมปชัญญะ เพราะชีวิตของเราถ้าตามพระพุทธเจ้า ย่อมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่สวยสดงดงาม ความเป็นพระก็จะเกิดขึ้นเเก่เราทุกคน ประชาชนก็จะเป็นพระ พระภิกษุที่มาบวชก็จะเป็นพระ คือ พระธรรม คือพระวินัย เพราะว่าเราไม่ต้องไปมองหาพระภายนอก พระอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันเเยกออกจากชีวิตของเราไม่ได้ เราทำหน้าที่ของเราให้มันสมบูรณ์ ทั้งระบบความคิด คำพูด การกระทำ เรียกว่า หยุดมี Sex ในร่างกายในสิ่งที่ไม่ดี หยุดมี Sex ทางวาจาในสิ่งที่ไม่ดี หยุดมี sex ทางจิตใจในสิ่งที่ไม่ดี
มันก็ธรรมดา รถมันวิ่งเเรงความเร็วสูง มันก็ย่อมตีลังกา อกจะเเตกตาย สมองก็จะระเบิด เราต้องรู้ว่า อันนี้มันเป็นสภาวะธรรม ธรรมดา เพราะการท่องเที่ยงในวัฏฏะสงสารของเรามันมีมาก พระพุทธเจ้าถึงเเสดงธรรม ผู้เจริญสติปัญญาก็ได้บรรลุธรรม บรรลุไปเลย แต่บางทีถึงกับกระอักเลือดตาย สมองระเบิดไปเลย หรือบางพวกไม่เอาแล้ว ลาสิกขาไปเลยก็ดี เราต้องเข้าถึงความเป็นพุทธในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เอกสารทางสำมะโนครัว เราต้องสมาทาน ถ้าเราไม่สมาทานไม่ตั้งใจ มันไม่ได้
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระภิกษุสงฆ์เถรวาท จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้ เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฏตามพระวินัย การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริงๆ ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ดังนั้น วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัด หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่งไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ วัดพระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า ช่างไม่รู้จักกาลเวลาเสียเลยพากันจาริกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝนบางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนิครนถ์ นักบวชในศาสนาอื่นและฝูงนกยังหยุดพักผ่อนไม่ท่องเที่ยงไปในฤดูฝนเช่นนี้ เรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้วจึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า "อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา"
- ปุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
- ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้น พระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน
ตามพระวินัย พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฏ ปรับอาบัติทุกกฏ แก่ภิกษุผู้เมื่อถึงวันเข้าพรรษาแล้วไม่จำพรรษา หรือพบวัดที่จะจำพรรษาแล้ว แกล้งเดินทางเลยไปเสีย.
และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น "ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎ เพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา และอานิสงส์กฐินตามพระวินัย
เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน ๗ วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
๑. ทายกปรารถนาจะบำเพ็ญกุศล ส่งคนมานิมนต์ กรณีเช่นนี้ ทรงอนุญาตให้ไปได้ เฉพาะที่เขาส่งคำนิมนต์มา ถ้าไม่ส่งคำนิมนต์มาไม่ให้ไป.
๒. เพื่อนสหธัมมิก 5 คือ ภิกษุ, ภิกษุณี, นางสิกขมานา, สามเณร, สามเณรี เป็นไข้ จะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปได้ นอกจากนั้น ยังทรงบัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนสหธัมมิกอีก คือเมื่อเพื่อนสหธัมมิกเป็นไข้ ภิกษุปรารถนาจะช่วยแสวงหาอาหาร, ยารักษาโรค หรือเป็นผู้พยาบาล ก็ไปได้, เมื่อเพื่อนสหธัมมิกเกิดความไม่ยินดี เกิดความรังเกียจ หรือเกิดความเห็นผิดขึ้น ไปเพื่อระงับเหตุนั้นๆ, เมื่อเพื่อนสหธัมมิก (เฉพาะภิกษุ,ภิกษุณี) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ปรารถนาจะออกจากอาบัติในขั้นใดๆ ก็ตาม, เมื่อสงฆ์จะทำสังฆกรรมลงโทษภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่จะถูกลงโทษต้องการให้ไปก็ไปได้ เพื่อจะช่วยไกล่เกลี่ยไม่ให้ต้องทำกรรม หรือให้ลงโทษเบาลงไป เพื่อให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยพระวินัย หรือเพื่อปลอบใจเป็นต้น, เมื่อนางสิกขมานาหรือสามเณร ปรารถนาจะสมาทานสิกขาบท ถามปี หรือจะบวชไปเพื่อช่วยเหลือในการนั้นได้.
๓. มารดาบิดาเป็นไข้ ส่งคนมานิมนต์หรือรู้เข้าไปได้ ส่วนญาติหรือผู้อยู่อาศัยกับภิกษุเป็นไข้ ส่งคนมานิมนต์จึงไปได้ ถ้าไม่ส่งมาไม่พึงไป.
๔. มีเหตุซ่อมเสนาสนะตรัสว่า อนุญาตให้ไปได้เพราะกรณียะของสงฆ์
ขาดพรรษาที่ไม่ต้องอาบัติ
เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ไม่สามารถจะจำพรรษาในที่นั้น ๆต่อไปได้ ทรงอนุญาตให้หลีกไปโดยไม่ต้องอาบัติ ดังต่อไปนี้ :- ๑. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น ถูกปีศาจรบกวน หมู่บ้านหรือเสนาสนะถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม. ๒. ชาวบ้านถูกโจรปล้นอพยพหนีไป ทรงอนุญาตให้ไปกับเขาได้ ชาวบ้านแตกกันเป็น 2 ฝ่าย ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างมากได้ หรือถ้าฝ่ายข้างมากไม่มีศรัทธาเลื่อมใส ก็ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างน้อยที่มีศรัทธาเลื่อมใส. ๓. ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค หรือขาดผู้บำรุงได้รับความลำบากทรงอนุญาตให้ไปได้. ๔. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ หรือนำสตรีมาให้เป็นภริยา เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ ทรงอนุญาตให้ไปให้พ้นได้. ๕. ภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกัน หรือมีผู้พยายามให้แตกกันหรือทำให้แตกกันแล้ว คิดว่า “การทำลายสงฆ์เป็นกรรมหนัก เมื่อเราอยู่สงฆ์อย่าแตกกันเลย” จึงหลีกไป หรือไปเพื่อหาทางระงับได้.
ทรงห้ามการจำพรรษาในที่ไม่สมควร รูปใดเข้าจำต้องอาบัติทุกกฏ คือ:- ในโพรงไม้, บนกิ่งหรือค่าคบไม้, กลางแจ้ง, ไม่มีเสนาสนะ (คือที่นอนที่นั่ง), ในโลงผี กระท่อมผี, ในกลด, ในตุ่ม
ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า "อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ" หรือ "อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ" แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า 3 ครั้ง)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
เมื่อพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนได้ปวารณาแล้ว ย่อมจะได้รับอานิสงส์แห่งการจำพรรษา ๕ อย่าง ตลอด ๑ เดือนนับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป คือ ๑. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องบอกลา ๒. เที่ยวจาริกไปโดยไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ ๓. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ ๔. เก็บอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอ และยังได้โอกาสเพื่อที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์พรรษาทั้ง ๕ ขึ้นนั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ในฤดูหนาว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ไปจนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ อีกด้วย
ให้ทุกท่านทุกคนถือนิสัยของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานไปแล้ว เมื่อยังมีพระอุปัชฌาย์ มีครูบาอาจารย์ ที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน เป็นพระมหาเถระ เป็นพระเถระ คำว่า “เถระ” ในที่นี้ก็หมายถึงผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่มั่นคง เอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง เป็นการดำเนินชีวิต มีความสุขมีความพอใจในการเสียสละ ในการประพฤติในการปฏิบัติ จึงเรียกว่า เถระ คำว่า เถระ ที่แท้จริงไม่ใช่ว่าบวชหลายปีนะ ถึงบวชหลายปี แต่ถ้ายังเอาตัวตนเป็นใหญ่ ยังทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก นี่ไม่ใช่เถระในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
ให้ทุกท่านทุกคนถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ไม่เอานิสัยของตัวเอง นิสัยของพระพุทธเจ้าคือพระวินัย คือศีล มันคืออันเดียวกัน ย่อยออกมาเป็นข้อเป็นข้อ เรียกว่าพระวินัย แต่ก็คือศีล ศีลนั้นคือเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ทุกคนจะปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันเพราะอดีตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ ปัจจุบันนี้คือการปฏิบัติของเรา ทุกคนต้องดำเนินไปอย่างนี้
พระพุทธานุญาตให้ถือนิสัย (พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้าที่ ๒๗๔)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุแรกที่เป็นเค้ามูลนั้น แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ ถือนิสัยอยู่ ๕ พรรษา และให้ภิกษุผู้ไม่ฉลาดถือนิสัยอยู่ตลอดชีวิต
องค์ ๖ แห่งภิกษุต้องถือนิสัย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก จะไม่ถือนิสัยอยู่ไม่ได้ คือ:- ๑.ไม่รู้จักอาบัติ ๒.ไม่รู้จักอนาบัติ ๓.ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔.ไม่รู้จักอาบัติหนัก ๕. เธอจำปาติโมกข์ทั้งสองไม่ได้ดี โดยพิสดารจำแนกไม่ได้ด้วยดี ไม่คล่องแคล่วดี วินิจฉัยไม่เรียบร้อย โดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ ๖. มีพรรษาหย่อน ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้แล จะไม่ถือนิสัยอยู่ ไม่ได้
ความหมายของการถือนิสสัยของพระภิกษุ คำว่า “นิสสัย” คำว่า นิสฺสย แปลว่า เป็นที่อาศัย, เป็นที่พึ่ง, การปกครอง, การคุ้มครอง ดังบทวิเคราะห์ว่า นิสฺสาย น วสตีติ นิสฺสโย ผู้เป็นที่อาศัยอยู่ (นิ บทหน้า สิ ธาตุในความหมายว่าอยู่ อ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น ย)
คำว่า “นิสสัย” มีความหมายหลายนัยด้วยกัน คือ การขอนิสัยในการอุปสมบทของกุลบุตรผู้มีศรัทธาออกบวช, ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต, และความประพฤติจนเคยชินที่ทำจนติดเป็นนิสสัย แต่ในที่นี้ หมายเอาเฉพาะการขอนิสสัยของกุลบุตรที่อุปสมบทแล้วจากอุปัชฺฌาย์หรืออาจารย์ เพื่อให้ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลอบรมสั่งสอนให้ถูกต้องตามหลักของพระธรรมวินัย เพื่อความเรียบร้อยดีงามของหมู่คณะ
หลังจากกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนาแล้ว มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องถือนิสัยในสานักของอุปัชฌาย์จนกว่าจะครบ 5 พรรษา เพื่อจะได้มีปัญญารักษาตน หากมีพรรษาครบ 5 แล้วยังไม่มีสติปัญญาพอที่จะปกครองตัวเองได้ก็ให้ถือนิสัยอยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์ของตนต่อไป ภิกษุที่ถือนิสัยอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์จนมีปัญญารักษาตนแล้วจะได้รับอนุญาตให้หยุดถือนิสัย เรียกว่า นิสัยมุตตกะ ข้อกำหนดนี้สาหรับภิกษุมีสิกขาบทกำหนดให้ปฏิบัติอย่างชัดเจน
คำว่า ขอนิสัย นี้ แปลว่า การขออยู่ด้วย คำว่า นิสัย แปลว่า การอยู่อาศัย คือ เข้ามาอยู่เพื่อจะได้อาศัย ให้เป็นผู้ดูแลในการศึกษาอบรม คำว่า อาศัย ในที่นี้ ไม่ใช่อาศัยอยู่เฉยๆ แต่เป็นการอาศัยอยู่ด้วยเพื่อให้ได้โอกาสในการศึกษาอบรมตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งนี้ เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่า ผู้ที่เข้าสู่การอุปสมบทจะต้องมีผู้ดูแลเบื้องต้น เพราะว่าผู้ที่บวชใหม่ยังไม่รู้หลักพระธรรมวินัย ยังไม่รู้ว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติระวังอะไรบ้าง ยังปกครองตนเองไม่ได้ ไม่มีความรู้ที่จะรักษาตน จึงต้องมีผู้ช่วยเหลือแนะนำในเบื้องต้น การขอนิสัยจึงเท่ากับว่าเป็นการขอให้พระอุปัชฌาย์เข้ามาปกครองดูแล
ในระยะแรกที่พระพุทธองค์ออกประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ยังไม่ได้กำหนดให้ภิกษุใหม่ต้องถืออุปัชฌายวัตร ทำให้กุลบุตรเหล่านั้นเมื่อบวชแล้วไม่มีใครคอยให้การศึกษาอบรมเรื่องมรรยาทหรือข้อปฏิบัติต่างๆ จึงพากันประพฤติเสียหาย เช่น นุ่งห่มจีวรไม่เรียบร้อย ตอนออกบิณฑบาตพบคนกำลังบริโภคก็ยื่นบาตรขอรับอาหาร ออกปากขออาหารจาพวกแกงข้าวสุกมาฉันด้วยตนเอง บางพวกพอถึงเวลาฉันภัตตาหารก็ส่งเสียงดังในโรงฉัน ทำให้ชาวบ้านที่พบเห็นพากันตำหนิว่า “ภิกษุพวกนี้ส่งเสียงดังในโรงฉัน เหมือนพวกสมณพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยงพราหมณ์” พวกภิกษุได้ยินคนเหล่านั้นกล่าวตำหนิจึงได้นาเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์สอบถามจนทราบความตามเป็นจริง ทรงตำหนิว่า “การกระทำนั้นไม่สมควร ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย แต่กลับจะทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้ไม่เลื่อมใส คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วกลับคลายความเลื่อมใสไปเป็นอย่างอื่น” (วิ.ม. (ไทย) 4/64/79-81)
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่างๆ แล้ว ได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยประการต่างๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพยำเกรงประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้” (วิ.ม. (ไทย) 4/65/81) หลังจากพระพุทธองค์อนุญาตการถือพระอุปัชฌาย์แล้ว ทรงแสดงวัตรที่พระอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริกพึงปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม ในระหว่างที่ถือนิสัยในสำนักของพระอุปัชฌาย์อยู่นั้น พระพุทธองค์กำหนดให้สัทธิวิหาริกกระทำวัตรต่อพระอุปัชฌาย์เรียกว่า อุปัชฌายวัตร เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นความประพฤติโดยเอื้อเฟื้อต่อพระอุปัชฌาย์ ๕ ประการ คือ ๑) ปรนนิบัติดูแลและคอยอุปัฏฐากรับใช้ ให้พระอุปัชฌาย์ได้รับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ทั้งการทากิจวัตรส่วนตัว การดำเนินชีวิตและการทำกิจการต่างๆ เพื่อสังคม ๒) รับการศึกษาอบรมมารยาทและศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความเคารพ หากศิษย์มีมรรยาทดี แตกฉานในพระธรรมวินัย ประพฤติดีปฏิบัติชอบก็ย่อมจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาประกาศชื่อ เสียงของพระอุปัชฌาย์ในทางหนึ่งด้วย ๓) คอยอารักขาหรือป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่พระอุปัชฌาย์ ๔) คอยรักษาน้ำใจและมีความเคารพในพระอุปัชฌาย์ ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ให้เกียรติท่าน จะเดินทางไปไหนต้องบอกลา เมื่อกลับมาก็ต้องมากราบรายงานตัว จะทำการสงเคราะห์คนอื่นหรือรับการสงเคราะห์จากคนอื่นก็ต้องแจ้งให้ท่านรับทราบด้วย เพื่อไม่เป็นการข้ามหน้าข้ามตาท่าน ๕) เมื่อพระอุปัชฌาย์อาพาธต้องคอยรักษาพยาบาล คอยดูแลท่านจนกว่าจะหายดี
อุปัชฌายวัตรที่กล่าวมานี้จัดเป็นการอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ ที่จะก่อให้เกิดความสะดวกสบายแก่พระอุปัชฌาย์ พร้อมกันนั้นก็เป็นสื่อสัมพันธ์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สัทธิวิหาริกด้วย นั่นคือจะได้รับการศึกษาอบรมจากพระอุปัชฌาย์เป็นการตอบแทน ถือเป็นการสร้างความผูกพันทางธรรมให้แก่บุคคลทั้งสองฝ่าย ให้มีความใกล้ชิดกันและได้ระลึกถึงอุปการะที่ได้กระทำต่อกันแม้กาลเวลาผ่านไปก็จะไม่อาจลืมได้
สำหรับผู้บวชใหม่ที่ยังต้องถือนิสัย กล่าวได้ว่าเป็นกิจคือมีความผูกพันให้ต้องทำเกี่ยวกับระเบียบของการถือนิสัย แต่สำหรับผู้พ้นนิสัยแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นวัตร คือทำตามที่มีฉันทะในการที่จะทำ ไม่เป็นการบังคับ การอุปัฏฐากในที่นี้ ถ้าพิจารณาระเบียบของการถือนิสัยจะเห็นว่า น่าจะมีความมุ่งหมายพิเศษอยู่ประมาณ ๒ ประการ คือ ๑) การทำให้หมดความถือตัว เพราะพระวินัยที่เกี่ยวกับการถือนิสัยไม่มีการยกเว้นให้สิทธิพิเศษแก่สัทธิวิหาริกหรืออันเตวาสิกรูปใดเป็นพิเศษ ดังนั้น กุลบุตรผู้เข้ามาบวชไม่ว่าจะมาจากชาติตระกูลสูง เช่น มาจากวรรณะกษัตริย์ก็ยังต้องทำหน้าที่อุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ที่แม้จะเป็นคนสามัญ ความมุ่งหมายอันนี้พอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นประโยชน์ด้านการทำลายความกระด้างด้วยมานะ หากสัทธิวิหาริกถือตัวจัดไม่ยอมทำการอุปัฏฐากพระอุปัชฌาย์ ย่อมยากที่จะได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างเต็มที่
๒) หวังจะให้เกิดความสนิทสนมมีความสามัคคี การได้ทำอุปการะต่อกันนั้นย่อมนำมาซึ่งความสนิทสนม ความเป็นกันเอง ตลอดจนถึงจะเป็นโอกาสให้ได้รับโอวาท คำสั่งสอนที่พิเศษกว่าธรรมดา และเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่บัณฑิตได้วางไว้แต่ในอดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน (พุทธทาสภิกขุ, 2537)
หลังจากภิกษุใหม่มาขอนิสัยหรือกล่าวคำขออาศัยอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์แล้ว พระอุปัชฌาย์จะต้องตระหนักในหน้าที่ของตน ด้วยการรับภาระที่จะปกครองและดูแลให้ภิกษุนั้นได้รับการศึกษาอบรมจนกว่าจะมีสติปัญญาปกครองดูแลตนเองได้ พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์กระทำวัตรต่อสัทธิวิหาริกเรียกว่า สัทธิวิหาริกวัตร เป็นข้อปฏิบัติที่พระอุปัชฌาย์จะใช้ในการปกครองและเป็นแนวทางแห่งการศึกษาสาหรับสัทธิวิหาริก ๔ ประการ คือ ๑) เอาธุระในการให้การศึกษาอบรมแก่สัทธิวิหาริก ให้ครบทั้งข้อสิกขา 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และด้านสาชีพ คือ สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกันมีความประพฤติเสมอกัน มีความสามัคคีกัน ๒) สงเคราะห์ด้วยบาตรจีวรและบริขารอื่นๆ จากนั้นคอยให้ความช่วยเหลือด้วยกิจที่พอจะช่วยได้ ๓) คอยปกครองดูแลและอารักขาป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่สัทธิวิหาริก ให้ศิษย์รักษาตนอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้อย่างมั่นคง ๔) เมื่อเกิดอาพาธก็เอาใจใส่พยาบาลจนตลอดชีวิต รอจนกว่าจะหาย (วิ.ม. (ไทย) 4/67/88-92)
วัตรที่พระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกพึงปฏิบัติต่อกันจะเห็นว่า ข้อวัตรทั้งหลายเป็นข้อกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายได้พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งการพึ่งพาอาศัยกันนี้ถูกกำหนดไว้ในพระวินัยกำหนดเป็นกิจสำคัญที่ต้องทำตอนอุปสมบทเรียกว่า การขอนิสัย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการบัญญัติอุปัชฌายวัตรและสัทธิวิหาริกวัตรให้ปฏิบัติต่อกันแล้ว แต่ปรากฏว่า มีภิกษุบางรูปไม่ยอมปฏิบัติตาม พระพุทธองค์จึงมีพุทธานุญาตให้ทำการประณามได้ด้วยการห้ามไม่ให้เข้ามาหา ไม่ให้มาทำการอุปัฏฐาก หรือให้ขนบริขารออกไปจากที่อยู่ ทั้งนี้เพื่อให้สัทธิวิหาริกนั้นสำนึกแล้วยอมขอขมาโทษ จึงมีข้อกำหนดว่า ภิกษุผู้ไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌาย์ เมื่อถูกประณามแล้วจะต้องขอขมาพระอุปัชฌาย์ หากไม่ยอมขอขมาต้องอาบัติทุกกฎ ฝ่ายอุปัชฌาย์เมื่อสัทธิวิหาริกสานึกได้แล้วมาขอขมา ต้องรับคำขอขมา หากไม่ยอมรับคำขอขมา ต้องอาบัติทุกกฎ มีข้อควรระวังว่า การประณามนั้นต้องทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ พระอุปัชฌาย์ต้องไม่ประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ หากประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบต้องอาบัติทุกกฎ (วิ.ม. (ไทย) 4/68/94)
จะเห็นได้ว่า การถือนิสัยอุปัชฌาย์และอาจารย์ เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงเห็นความสำคัญ แม้ในเบื้องต้นจะเน้นไปที่การฝึกมารยาทหรือความเรียบร้อยในการเป็นอยู่ แต่ทรงมีพระประสงค์จะให้สัทธิวิหาริกกับพระอุปัชฌาย์มีความยำเกรง ความกลมเกลียว ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงกล่าวได้ว่าการถือพระอุปัชฌาย์มีส่วนสำคัญในการสร้างความสงบเรียบร้อยและความสมานสามัคคีในหมู่สงฆ์
พระในเมืองไทยหรือหลายๆ ประเทศที่เราเห็นในภาพรวม ยังไม่ได้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เรียกว่า ถือนิสัยของตัวเอง อันนี้คือความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ คือประชาธิปไตยแบบทำตามอัธยาศัย ตามอารมณ์ ยังไม่ใช่พระธรรมวินัย เรามีเหตุผลไปคัดค้านพระพุทธเจ้าอย่างนี้มันไม่ถูก เรามีทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนมาก ไปคิดว่าสมัยนี้ไปทำอย่างนี้ไม่ได้ ไปทำอย่างนู้นไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าพากันมาบวชสิ เพราะเราทุกคนต้องพากันกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เพราะน้ำทุกหยด เมล็ดข้าวทุกเมล็ด อาหารทุกอย่าง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คือบารมีของพระพุทธเจ้า ทุกคนต้องมาต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้เป็นศาสนาที่แท้จริง อย่างได้มีแอบแฝงซึ่งตัวซึ่งตน ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ไม่หลงประเด็น เราจะได้ไม่เพลิดเพลินตั้งอยู่ในความประมาท เราจะได้ไม่เสียเวลา หลงบริโภคกามคุณ มันไม่ได้ มันต้องอยู่ในความเพลิดเพลิน ในความประมาท ทุกคนอย่าเอาความสุขในความหลง ต้องเอาความสุขที่เกิดจากปัญญาที่เราทุกคนพากันเสียสละ ให้มีความสุขมีความพอใจในการเสียสละ
พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกตัวเอง ให้เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอาให้ลงสู่พื้นฐานของพระพุทธเจ้า สละซึ่งตัวซึ่งตน อยู่ในวัดนี้มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นประธานเราทุกคนต้องเอาอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มีข้อวัตร มีข้อปฏิบัติ สมัครสมานสามัคคีกัน ทำอะไรก็ให้เหมือนๆกัน ทุกคนอย่ามาอยู่วัดเพื่ออาศัยพระศาสนามาหาอยู่ หาฉัน หาบริโภค ทุกคนต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีเพื่อสืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมีมา ความกตัญญูกตเวทีเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่งของชีวิต เราต้องรู้จัก เพราะทุกอย่างเกิดจากเหตุเกิดจากผล เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี
เราต้องรู้จักว่าวัฏฏะสงสารคืออะไร คือการหลงในตัวในตน หลงในวัตถุ ศาสนาเลยไปศาสนวัตถุไปหมด มีแต่โบสถ์ มีแต่วิหาร ลานเจดีย์ หนักไปทางเครื่องรางของขลัง หนักไปทางวัตถุนิยม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราเน้นทางจิตทางใจ พัฒนาไปทั้งวัตถุและจิตใจไปพร้อมๆ กัน จะได้เป็นคนทันโลกทันสมัย จะได้ไม่หลงในโลกโลกีย์ ไม่หลงในการเสพกาม ที่เรามีความเกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์ เขาเรียกว่าเรามีเพศสัมพันธ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ เราพากันมีแต่การเสพสมกับแต่วัตถุ มันทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงอยู่
เราต้องเข้าหาผู้รู้ ต้องเข้าหาพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้ามาอยู่ในใจ ให้พระธรรมมาอยู่ในใจ ให้พระอริยสงฆ์มาอยู่ในใจ ให้พัฒนาจิตใจทั้งคนเป็นพระเป็นโยม ทั้งศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 เราอย่าไปเอาเหตุผลมาอ้างอย่างนู้นอย่างนี้ เพราะธรรมะมันของเหนือเหตุเหนือผลอยู่แล้ว เหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง คือตัวคือตนคือการแก้ตัว เราต้องกตัญญูกตเวที ต่อยอดสืบทอดพระพุทธเจ้า เราต้องกระตือรือร้น ทุกท่านทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพราะข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด ของใช้ของสอย ที่อยู่ที่อาศัยล้วนแต่เป็นบารมีของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา เราต้องทำลายแก๊งโจร แก๊งมหาโจร ทำลายคนพาล อันธพาลในตัวเอง
ผู้ที่มาบวชตลอดชีวิตก็ให้ตั้งใจ ผู้ที่จะสึกออกไปก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพราะต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ให้มันมีความสุขที่สุดในโลกเลย การจะเป็นพระที่แท้จริงได้ ต้องประพฤติปฏิบัติเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาแต่งตั้ง การที่เรามาบวชเป็นพระ แต่งตั้งให้เราเป็นภิกษุ แต่งตั้งภายนอกยังไม่เพียงพอ ต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นพระภายใน ตามพระธรรมวินัย ด้วยการอบรมกายวาจาใจ ด้วยศีลสมาธิปัญญา เราจะได้ไม่หลงเปลือก หลงกระพี้ เราจะเอาทุกสิ่งทุกอย่างให้มารวมเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ เป็นต้นไม้ที่มีผลดกหนาให้ฝูงนกฝูงกามาพักพิงอิงอาศัย เรามาอาศัยผลไม้ของพระพุทธเจ้าบริโภค เราไม่ปลูก มันไม่ได้ ต้องมาปลูกด้วยการประพฤติปฏิบัติ การปลูกเป็นของง่ายแต่การดูแลรักษา การประพฤติปฏิบัติเป็นของยาก จึงต้องตั้งใจในการฝึกฝนตนเอง ด้วยความขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป
เพราะธรรมคือสิ่งเดียวกันน่ะ ถ้าใครปฏิบัติก็เหมือนกันหมด อย่างเราเป็นพระอย่างนี้ เราก็ต้องหายใจเหมือนกับประชาชน พักผ่อนเหมือนประชาชน พัฒนาทั้งไอคิว อีคิวเหมือนกันหมด ผู้ที่ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด คือผู้ที่นำตัวเองและนำผู้อื่น ถ้าใครไม่ปฏิบัติก็เรียกว่า "ทาส" ทาสรับใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตั้งอยู่ในโมหะบารมี โทสะบารมี โลภะบารมี
เราสร้างวัดสร้างวา สร้างไปทำไม? เราสร้างวัดสร้างวาก็เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเราจะได้สร้างอริยมรรคมีองค์แปดให้เกิดขึ้นที่กายวาจาใจของเรา เราสร้างบ้านสร้างเรือนก็เพื่อจะได้สร้างอริยมรรค เราจะเอาแต่เปลือก เราไม่เอาแก่น ไม่เอาสาระนั้นไม่ได้ ไม่ถูกต้อง เราเป็นพระ ก็พากันปฏิบัติให้เต็มที่ เราเป็นประชาชนก็ปฏิบัติให้เต็มที่ อย่าไปแยกธรรมะออกจากหน้าที่การงาน เอาธรรมะกับการงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พึ่งอันประเสริฐของเราคือพึ่งธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ได้แก่อริยมรรคมีองค์แปด ที่อื่นนั้นเราพึ่งไม่ได้หรอกนะ ที่พึ่งของเราที่แท้จริงน่ะคือธรรมวินัย ให้พากันเข้าใจให้ชัดเจน