แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง อาสาฬหบูชา วันปฐมเทศนาอริยสัจ ปฐมอุบัติอริยสงฆ์ ปฐมครบองค์พระรัตนตรัย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
๑. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
๒. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก
๓. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ ภายหลังจากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบท ยกขึ้นเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
๔. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ คือ มิใช่เพียงแค่ตรัสรู้ธรรมเพียงพระองค์เดียวอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในครั้งพุทธกาล หลังจากพระศาสดาตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ แล้วทรงเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขจากการหลุดพ้นเป็นเวลา ๔ สัปดาห์ พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปประทับ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธ (ต้นไทร) พระองค์ทรงรำพึงถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่งตรรก คือคิดเอาไม่ได้ หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา เป็นธรรมละเอียดยิ่ง แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมากยินดีในอาลัย คือกามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้นยากนักที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาทและพระนิพพาน ซึ่งมีสภาพบอก คืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ เราจะพึงแสดงธรรมหรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้วคนอื่นรู้ตามไม่ได้ เราก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้อันบุคคลผู้เพียบแปล้ไปด้วยราคะ โทสะ จะรู้ให้ดีไม่ได้เลย บุคคลที่ยังยินดีพอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืดคือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง เห็นได้ยากนี้” ทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงน้อมพระทัยไปเพื่อเป็นผู้อยู่สบาย ขวนขวายน้อย ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรม.
ขณะนั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบถึงพุทธดำริจึงชักชวนเหล่าเทพจากเทวโลกเข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง เมื่อได้สดับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหมแล้ว ลำดับนั้น พระมหากรุณาซึ่งฝังอยู่ในพระกมลอันบริสุทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อขนเวไนยสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพ คือความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ได้เตือนพระทัยให้หวนรำลึกถึงพระปฏิญญา ซึ่งพระองค์ทรงให้ไว้แก่โลก พระทัยกรุณาได้ทูลพระองค์ว่า "ธรรมอันไม่บริสุทธิ์ที่คนมีมลทินคิดกันปรากฏอยู่แคว้นมคธนานมาแล้ว ขอพระองค์จงเปิดประตูเพื่อให้บุคคลเดินเข้าไปสู่แดนอมตะเถิด คนทั้งหลายต้องการฟังธรรม ซึ่งพระองค์ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้ว ขอพระองค์ผู้ไม่โศก มีปัญญาดี จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทซึ่งสำเร็จด้วยธรรม แล้วมองดูหมู่สัตว์ผู้ยังก้าวล่วงความโศกไม่ได้ ถูกชาติชราครอบงำคร่ำครวญอยู่ พระองค์เป็นประดุจผู้ยืนอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ โปรดลุกขึ้นเถิดพระมหาวีระผู้ชนะสงครามภายในแล้ว พระองค์ผู้ประดุจนายกองเกวียนผู้สามารถนำสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงอันตราย พระองค์เป็นผู้ไม่มีหนี้ ขอเสด็จเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมเถิด ผู้รู้ตามจักมีเป็นแน่แท้"
พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุ ได้มองเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุคือกิเลสน้อยก็มี มากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี อินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีบ้าง อาการชั่วบ้าง ให้รู้ได้โดยง่ายบ้าง ให้รู้ได้โดยยากบ้าง เหมือนดอกบัว ๓ เหล่าในสระน้ำ พระองค์จึงทรงปรารภกับพระองค์เอง ด้วยความกรุณาในหมู่สัตว์ว่า "เราได้เปิดประตูอมตธรรมแล้ว ผู้อยากฟังจงเงี่ยโสตลงเถิด ทีแรกเราคิดว่าจะลำบากเปล่า จึงไม่คิดจะกล่าวธรรมที่ประณีตง่ายๆ ฯ"
(ในพระไตรปิฎกมี ๓ เหล่า เฉพาะเวไนยสัตว์ ในอรรถกถามี ๔ เหล่า มาจากบุคคล ๔ ประเภท) คือ อุคฆฏิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีแก่กล้า สติปัญญาดีและมีกิเลสเบาบาง เพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาโดยย่อก็สามารถบรรลุมรรคผลได้โดยฉับพลัน เปรียบเหมือนดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว พอถูกแสงอาทิตย์ยามเช้าก็บานทันที วิปจิตัญญู บุคคลผู้มีอุปนิสัยวาสนาบารมีปานกลาง มีกิเลสและปัญญาปานกลาง ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรมซ้ำหรือได้ฟังอรรถาธิบายอีกทั้งได้รับคำแนะนำ ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำซึ่งจะบานในวันต่อไป เนยยะ บุคคลผู้มีวาสนาบารมีน้อย มีสติปัญญาน้อย มีกิเลสหนา เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมบ่อยๆ ได้กัลยาณมิตรคอยแนะนำพร่ำสอน พยายามทำความเพียรไม่ขาดหมั่นเจริญสมถวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำมีโอกาสที่จะบานในวันต่อๆ ไป ๓ จำพวกแรกเรียกว่าเวไนยสัตว์ (ผู้แนะนำสั่งสอนได้) ส่วนปทปรมะ เป็นอเวไนยสัตว์ (ผู้ไม่อาจแนะนำสั่งสอนได้) แปลว่า ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่บุคคลที่เขาพร้อมที่จะฟัง หรือไม่ยินดีที่จะฟัง ฟังๆ ก็สักแต่ว่าฟังไป อาจจะรู้ อาจจะเข้าใจ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางพฤติกรรม ตอนเริ่มศึกษาปฏิบัติธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลง หนาแน่นอย่างไร ปฏิบัติธรรมมาจนแก่จนเฒ่าแล้ว ก็คงเป็นอย่างนั้น หรืออาจจะแรงกว่า เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
พระพุทธองค์ทรงพระพุทธองค์ทรงพระดำริจะแสดงธรรมโปรดแก่ “อุทกดาบส” และ “อาฬารดาบส”ผู้เคยให้แสงสว่างในกาลก่อน แต่ดาบสทั้งสองได้ “สิ้นบุญ” ไปไม่นาน พลาดโอกาสฟังธรรมแล้วนําปฏิบัติเพื่อ “ขยี้กองทุกข์” เข้าสู่พระนิพพานอย่างน่าเสียดาย
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นักบวชทั้งห้า ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ปรนนิบัติรับใช้ใน “ยามยาก” ลำบากตรากตรําเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น และปัจจัยเครื่องอาศัยอื่นๆ “เทใจ” เชื่อว่าพระโพธิสัตวจ์ะบรรลุอมตะธรรมด้วยการทรมานตน จนในที่สุดก็ต้องตีจากไป ทำให้ท่านโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ที่ครั้งหนึ่งเคย “ยกมือ” ต่อหน้าพระที่นั่งของพระเจ้า สุทโธทนะ เป็นสียงเดียวที่แตกต่างจากคนอื่น “ฟันธง” ว่า เจ้าชายองค์น้อยผู้มีชันษาเพียง ๕ วัน ในครั้งนั้น จะออกบวชและได้บรรลุธรรมอย่างแน่นอน ทำให้การเดินทางจากพุทธคยาของนักบวชทั้งห้ามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันจึงเต็มด้วยความรู้สึกที่หลากหลายทั้งอ้างว้างวังเวง สลับกับความสลดหดหู่เป็นระยะๆ
พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงเห็นว่าท่านทั้ง ๕ เป็นผู้มีสติปัญญามาก มีกิเลสเบาบาง ควรแก่การตรัสรู้ และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ขณะนี้ท่านทั้ง ๕ อยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี จึงตกลงพระทัยเสด็จไปตรัสปฐมเทศนาโปรด พระพุทธองค์ทรงเสด็จเดินจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ จนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน คือ อิสิ + ปตน + มฤค + ทาย +วัน คือ ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่ฝูงเนื้อ เป็นสถานที่ประชุมตกลงของเหล่าฤๅษีโยคีทั้งหลาย
- เป็นที่แสดงปฐมเทศนา คือ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
- เป็นที่เกิดสังฆรัตนะ ครบพระรัตนตรัย และแสดงพระสูตรมากถึง ๓๓ พระสูตร
- เป็นที่เกิดของวันอาสาฬหบูชา - เป็นที่เกิดขึ้นแห่งอุบาสกอุบาสิกา ที่ถือพระรัตนตรัยครบ ๓ นั่นคือ บิดามารดาแห่งพระยสะ - เป็นที่ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา สถานที่นี้เป็น ๑ ในอวิชหิตสถาน ๔ แห่ง ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในภัทรกัปนี้
พาราณสี นครเก่าแก่ที่สุดของอินเดียที่ไม่เคยล่มสลาย กระทั่งชื่อว่า เป็นเมืองหลวงของวัฒนธรรมแห่งภารตชน ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองหลวงของแคว้นกาสี ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงคา เป็นเมืองที่พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากทูลเสนอชื่อให้มาปรินิพพาน ๑ ใน ๖ เมือง
คำว่า “พาราณสี” วรุณะ+อสี ทั้งสองคำนี้ เป็นชื่อของแม่น้ำ เมื่อนำมารวมกันจึงได้คำว่า “พาราณสี” ส่วนในมหากปิลชาดก ที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาวานร มาจากคำว่า วานร+สีสะ = วานรสีสะ = วานรสี
พาราณสีเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ ๑ ใน ๗ เมืองของอินเดีย คือ ๑. หริทวาร์ ๒. อุชเชนี ๓. อโยธยา ๔. มถุรา ๕. ทวารกะ ๖. กาญจีปุรัม ๗. พาราณสี
พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยมาเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ณ เมืองนี้ ๔๒๗ ชาติ เกิดเป็นนกพิราบ, นกยงู, นกแขกเต้า, แร้ง, กา, หงส์, ช้าง, ม้า, โค, หมู, เสือ, ลิง, ราชสีห์, สุนัข, กวาง, ลา, มนุษย์, ราชา, อำมาตย์, ปุโรหิต, พ่อค้า, มาณพ, ฤๅษี, ดาบส, นายควาญช้าง ฯลฯ ในทศชาติมาเสวยพระชาติ ๒ ครั้ง คือ พระเตมีย์และพระสุวรรณสาม
ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พาราณสีจะมีนามว่า “เกตุมดี” ราชานามว่า “สังขะ” พระศรีอาริยเมตไตรย จะเสด็จอุบัติในตระกูลพราหมณ์ พระเจ้าสังขะก็ได้อุปสมบทสำเร็จพระอรหันต์ มนุษย์จะมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ส่วนผู้หญิงสาวมีอายุ ๘,๐๐๐ ปี จึงจะมีสามีได้
เมื่อพุทธองค์เสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พวกปัญจวัคคีย์มองเห็นแต่ไกลก็บอกกันว่า “โน่นไง! ผู้คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากมาแล้ว พวกเราอย่าไปสนใจ ปูแต่อาสนะไว้ให้ก็พอ ไม่ต้องลุกขึ้นต้อนรับ” ว่าแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น แต่พอพระองค์เสด็จเข้าใกล้ ต่างคนต่างลืมสัญญาที่ให้กันไว้หมด ลุกขึ้นรับบาตรและจีวร แต่ปากยังแข็งอยู่ พูดทักทายพระพุทธองค์ว่า “อาวุโสโคตมะ” เทียบกับคำไทยก็คงเป็น “ว่าไง คุณโคตมะ” อะไรทำนองนั้น พระองค์ตรัสว่า “พวกเธออย่าพูดเช่นนี้กับตถาคต เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” พูดยังไงๆ ปัญจวัคคีย์ก็ไม่เชื่อ “ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลายเป็นคนเห็นแก่กินยังมาพูดว่าได้บรรลุ ไม่เชื่อเด็ดขาด”
“ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา พวกเธอเคยได้ยินตถาคตพูดคำนี้บ้างไหม” พระพุทธองค์ย้อนถาม
ปัญจวัคคีย์อึ้ง “เออ จริงสินะ พระองค์ไม่เคยพูดเลย คราวนี้พูดขึ้นมา แสดงว่าคงจะจริงมั้ง”
เหล่าปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ฟังถ้อยคำยืนยันอย่างหนักแน่น จึงยินยอมเชื่อฟังและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์
ขั้นตอนที่หนึ่ง พูดถึงการปฏิบัติที่ไม่พึ่งการกระทำ หรือ “ทางที่ไม่ควรดำเนิน” ๒ ทาง คือ การปล่อยกายปล่อยใจให้สนุกเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) แนวทางนี้เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยโค” แปลตามตัวว่าการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข ก็หมายถึงการติดอยู่ในการเสพสุขทางเนื้อหนังมังสา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ทรงสอนว่าไม่ควรเดินทางสายนี้ เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”
อีกทางหนึ่งที่ไม่ควรเดินตามก็คือ การทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนต่างๆ เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” อันหมายถึงการบำเพ็ญตบะต่างๆ ที่นิยมทำกันในสังคมอินเดียยุคโน้น เพราะเป็นทุกข์ไม่ใช่สิ่งประเสริฐและไม่มีประโยชน์
ทั้งสองทางนี้ท่านเรียกว่า “ทางสุดโต่ง” หรือ “ทางตัน” (อันตะ = สุดโต่ง, ตัน) ทางแรกก็หย่อนเกินไป ทางที่สองก็ตึงเกินไป กามสุขัลลิกานุโยคนั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นไปที่ลัทธิโลกายตะ หรือลัทธิวัตถุนิยมอินเดีย ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ทรงเน้นไปที่ลัทธิเชน (นิครนถ์) ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร
ทรงแสดงข้อปฏิบัติทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติ อันเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ดีเพื่อความดับตัณหา เพื่อพ้นไปจากข้าศึก คือ กิเลส เป็นทางของพระอริยเจ้าผู้ละจากสภาวะฆราวาสออกบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว พึงปฏิบัติตามหนทางสายกลางนี้เท่านั้น ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ มัชฌิมาปฏิปทานี้เป็นแนวปฏิบัติอันเป็นปัจจัยให้เจ้าชายสิทธัตถะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้า และทำให้ประจักษ์แจ้งในอริยสัจ ๔ อันประกอบด้วย ๑. ทุกขอริยสัจ คือ ทุกข์อย่างแท้จริง ๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ เหตุให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง ๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง
ญาณทัสนะหรือปัญญาอันรู้เห็นในอริยสัจ ๔ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ของพระองค์นั้นหมดจดดีแล้วพระพุทธองค์จึงทรงกล้ายืนยันว่า พระองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมทั้งในโลกมนุษย์ เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อาสวกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นอีกแล้ว พระชาตินี้เป็นที่สุด จะมีภพใหม่อีกก็หาไม่
ครั้นเมื่อสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลงแล้ว แผ่นพื้นปฐพีก็กัมปนาทป่วนปันหวั่นไหวไปทั่ว ประดุจเครื่องจักรยนต์กำลังทำงาน มหาสมุทรก็บันลือลั่นด้วยเสียงคลื่นอันซัดด้วยแรงลม เขาพระสุเมรุก็โอนอ่อนน้อมค้อมลงดุจดังจะก้มศิโรตม์น้อมถวายอภิวาทนมัสการ เสียงสนั่นครั่นครื้นตลอดถึงพรหมโลก ประกอบกับแสงสว่างกระจ่างไปในอนันตโลกธาตุบดบังรัศมีแห่งเทพบุตรและเทพธิดา อินทร์พรหมทั้งปวงความมหัศจรรย์ต่างๆ บังเกิดขึ้นมากมายเป็นอเนกอนันต์
ในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลงนั้น พรหมทั้งหลายจำนวนสิบแปดโกฏิ เทพยดาอื่นๆ อีกเป็นอันมาก และท่านโกณฑัญญะ มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุพระโสดาปัตติมรรคพระโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันผู้ประหารเสียซึ่งอาสวกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา
สักกายทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน เป็นต้น วิจิกิจฉา หมายถึง ความสงสัยเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย สีลัพพตปรามาส หมายถึง ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตรคือถือว่า เพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญา รวมทั้งการถือศีลและวัตรอย่างงมงาย โดยสักแต่ว่าทำตามๆ กันไป หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลงแล้ว พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าต่างก็มีจิตชื่นชมยินดีในพระพุทธภาษิตของพระองค์ยิ่งนัก เหล่าเทพยดาทั้งหลายต่างก็ร้องป่าวประกาศให้ได้ยินขึ้นไปว่า อันว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรอันประเสริฐหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้นี้ เหล่าสมณะ พราหมณ์ เทพยดา มาร และพรหม พวกใดพวกหนึ่งในโลกนี้มิอาจแสดงได้ แต่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้ปรากฏในราวป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสีในกาลบัดนี้แล้ว
เมื่อเหล่าเทพยดาทั้งหลายร้องป่าวประกาศกัน ดังขึ้นไปถึงเทพยดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกาเทวโลกนั้น เหล่าเทพยดาในชั้นจาตุมหาราชิกาก็ป่าวประกาศกันกึกก้องให้ได้ยินต่อขึ้นไปถึงเทพยดาในชั้นดาวดึงส์ เทพยดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์ก็ช่วยกันประกาศต่อๆ ไปให้ได้ยินขึ้นไปถึงเทพยดาชั้นยามา เทพยดาแต่ละชั้นๆ ก็ป่าวประกาศต่อๆ ไปจนถึงชั้นดุสิตตราบเท่าถึงอกนิฏฐภวัคคพรหม พร้อมกันนั้นโลกธาตุนี้ก็กึกก้องกัมปนาทปันป่วนหวั่นไหวไปทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ตลอดทั่วทุกทิศานุทิศ แสงสว่างโชติช่วงอันยิ่งใหญ่ก็ปรากฏไปทั่วโลกธาตุ ล่วงลบกลบเทวานุภาพของเทพยดาทั้งหลายในโลก
ลำดับนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเปล่งอุทานวาจาชมเชยว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ" แปลว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญ โกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมแล้วๆ" และพระบรมพุทธอุทานวาจานี้ได้กลายเป็นชื่อของพระโกณฑัญญะในกาลต่อมาว่า พระอัญญาโกณฑัญญเถระ อรรถาธิบายในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็จบลงแต่เพียงเท่านี้
พระบรมพุทธอุทานวาจาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนั้น ย่อมเป็นการยืนยันในอริยผล เป็นพระโสดาบันบุคคลของท่านโกณฑัญญะในขณะนั้นแล้ว พร้อมกันนั้นย่อมเป็นการประกาศความมหัศจรรย์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐสุด ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วให้สัตว์ทั้งหลายได้รับทราบกันทั่วอนันตโลกธาตุ ซึ่งนอกจากจะสามารถกำจัดความแคลงใจสงสัยของเหล่าปัญจวัคคีย์แล้ว ยังจะเป็นกำลังใจอันยิ่งใหญ่ให้นักบวชทั้ง ๕ นั้น เร่งน้อมรับและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างเคร่งครัด
ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นท่านแรก จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกวันนี้ว่า หรือ “วันพระธรรมจักร” อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรกและ “วันพระสงฆ์” คือ วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
หากจะย้อนรำลึกถึงประวัติของนักบวชโกณฑัญญะ คงจะจำได้ว่า ท่านเป็นบุคคลคนเดียวกันกับโกณฑัญญพราหมณ์ ซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในบรรดาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทำนายลักษณะของสิทธัตถกุมาร จากเกียรติประวัติของท่านในครั้งนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าโกณฑัญญพราหมณ์เป็นผู้มีการศึกษาดีทั้งทางโลกและในเรื่องฌานสมาบัติ เพราะเป็นผู้เดียวที่ทำนายว่าสิทธัตถกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับการศึกษาปฏิบัติฌานสมาบัติในช่วงเวลาประมาณเกือบ ๖ ปี ที่ออกบวชตามปฏิบัติรับใช้พระสิทธัตถะนั้นโกณฑัญญพราหมณ์น่าจะได้บรรลุฌานสมาบัติขั้นสูงแล้ว ครั้นเมื่อได้รับการชี้แนะจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็สามารถบรรลุอริยผลเป็นโสดาบันบุคคลท่านแรกในพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นประจักษ์พยานสนับสนุนว่า พระพุทธองค์ทรงเป็น สัมมาสัมพุทโธ คือ ผู้ตรัสรู้เองอย่างแท้จริง และธรรมที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งประเสริฐสุดจริง ยังไม่เคยมีสมณพราหมณ์ผู้ใดในสมัยนั้นล่วงรู้มาก่อนเลย
อนึ่ง การที่พรหมทั้งหลายจำนวนมากมายบรรลุโสดาปัตติผล ในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลงนั้น ย่อมแสดงอย่างชัดแจ้งว่า ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งประเสริฐสุดโดยแท้ ไม่มีคำสั่งสอนในลัทธิใดๆ เทียบเท่า แม้พรหมซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด และผู้ที่จะได้ไปบังเกิดเป็นพรหมนั้น จะต้องเคยเจริญฌานสมาบัติมาก่อน เช่นนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า พรหมทั้งหลายยังมิได้เป็นอริยบุคคล ทั้งยังขาดความรู้ในเรื่องอริยมรรคอริยผล เมื่อจุติจากพรหมโลกแล้วยังจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารอีกมิรู้จบสิ้นเช่นเดียวกับชาวโลกทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ในวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาธัมมจักกกัปวัตตนสูตรนั้น คงจะทำให้เข้าใจได้ว่า การที่สัตว์ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็ดี การได้ไปบังเกิดในพรหมโลกก็ดี หรือแม้การที่พระโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม บรรลุอริยผลเพียงได้ฟังพระธรรมเทศนาในเวลาอันสั้นก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการสั่งสมกุศลธรรมมาโดยตลอด ซึ่งอาจจะเป็นการสั่งสมข้ามภพข้ามชาติ ประกอบกับการสั่งสมในปัจจุบันชาติ และแม้การสั่งสมบุญกุศลนั้นจะนานแสนนานเพียงใดก็ตาม หากไม่มีโอกาสพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนอันถูกต้องแม่นยำตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้ว การบรรลุอริยผลถึงซึ่งความหลุดพ้นของเหล่าสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้เลย
อนึ่ง ทั้งๆ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยตรัสเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งหมด แต่ก็มีพระโกณฑัญญะเพียงผู้เดียวที่บรรลุอริยผลเป็นพระโสดาบันบุคคลส่วนนักบวชอีก 4 รูปนั้นยังมิได้บรรลุอริยผลอันใดเลย เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะบารมีของแต่ละท่านแก่กล้าต่างกัน ตามประวัติของพระโกณฑัญญะนั้นปรากฏว่า เมื่อครั้งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนี้ ครั้งนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะบังเกิดเป็นชาวนาผู้มีอันจะกิน มีชื่อว่า มหากาล ทำนาแต่ละคราวก็สามารถขวนขวายนำผลผลิตไปทำอาหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์หมู่ใหญ่ได้ถึง ๙ ครั้ง ตามลำดับแห่งความงอกงามของรวงข้าว กล่าวคือ ครั้งแรกถวายทานเมื่อข้าวเป็นน้ำนม ครั้งที่สองถวายทานเมื่อข้าวเป็นลูกหวายครั้งที่สามเมื่อเกี่ยวครั้งแรก ครั้งที่สี่เมื่อมัดต้นข้าวเป็นกำ ครั้งที่ห้าเมื่อทำเป็นฟ่อน ครั้งที่หกเมื่อขนเข้าลาน ครั้งที่เจ็ดเมื่อขนเข้าลอมเป็นวง ครั้งที่แปดเมื่อนวด ครั้งที่เก้าเมื่อขนเข้ายุ้ง
ทุกครั้งที่ถวายทานก็ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ตนได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นคนแรกก่อนคนทั้งปวง ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์เบื้องหน้า ลักษณะการสร้างกุศลกรรมดังกล่าวแล้วได้สั่งสมเป็นนิสัยเช่นนี้ สืบมาทุกภพทุกชาติ เมื่อมีโอกาสสร้างกุศลธรรม ท่านโกณฑัญญะก็เร่งกระวีกระวาดทำก่อนผู้อื่น ทำด้วยความจริงใจ ทำอย่างทุ่มเท ไม่ใช่ทำอย่างเสียไม่ได้วาสนาบารมีที่ท่านสั่งสมมาดีตั้งแต่ภพชาติในอดีต ประกอบกับวาสนาบารมีที่บำเพ็ญในปัจจุบันชาติของท่าน ได้ส่งผลให้พระโกณฑัญญะบารมีแก่กล้าเหนือกว่านักบวชทั้งหลาย
ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง ท่านจึงตื่นก่อนผู้อื่น ได้บรรลุอริยผลก่อนนักบวชร่วมทางอีก ๔ รูปส่วนนักบวชทั้ง ๔ รูปนั้น แม้มิได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอันใด ท่านก็มิได้รู้สึกท้อแท้ แต่กลับทวีความเลื่อมใสศรัทธา เคารพเทิดทูน และเพียรพยายามปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ยิ่งขึ้นอีก ดังปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกว่าในเวลาต่อมาอีกไม่นาน เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งหมดก็ได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอรหันตสาวกรุ่นแรกในพระพุทธศาสนา
ในการเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ของพระพุทธองค์นั้นเป็นการ “เปิดมิตร ปิดศัตรู” เพราะผลแห่งปฐมเทศนาและทุติยเทศนาทำให้ปัจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงเป็นเสมือนการเปิดมิตรของพระพุทธองค์ ที่เกิดจากการเปิดใจของปัญจวัคคีย์ น้ำเสียงอารมณ์และการแสดงออกของปัญจวัคคีย์ตั้งป้อมเป็น “ศัตรู” ต่อพระพุทธเจ้าในการพบกันครั้งแรกที่เจาคันฑีสถูป ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับภายหลังที่นักบวชทั้งห้าได้ฟังธรรมแล้วเป็นการ “ปิดศัตรู” อย่างถาวร ทําให้ “ปฐมเทศนา” กลายเป็น “ปฐมเหตุ” ของการมี “บริวาร” ที่เข้ามาช่วยงาน “บริหาร” พุทธบริษัทจนแผ่กว้างทั่วทั้งชมพูทวีป ในครั้งพุทธกาลและทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน
วันนี้ ๑๑ โมงเช้า บวชพระ ตอนเย็น เวลา ๑๘.๐๐ น. เข้าศาลาทำวัตรสวดมนต์ เวลา ๑๙.๐๐ น. ฟังธรรม หลังจากนั้นทำพิธีถวายพานดอกไม้สักการะพระรัตนตรัย แทนการเวียนเทียน ทุกท่านทุกคนเป็นผู้ที่ประเสริฐมาก ประเสริฐพิเศษ ประเสริฐจริงๆ ต้องพากันประพฤติการปฏิบัติ ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เพราะชีวิตของเราส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ต้องจากโลกนี้ไป เวลาของเราคือเวลาที่ประพฤติที่ปฏิบัติธรรม เพราะอาหาร การรับประทาน การฉัน สิ่งอำนวยความสะดวก ถือว่าเปรียบเสมือนสิ่งที่เอามาเป็นยา ที่จะอำนวยความสุขทางร่างกาย พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีสติมีปัญญาไม่ให้มาหลงเหยื่อ ถ้างั้นเราจะเป็นคนรับจ้างมาเกิด
เราทุกคนต้องมีปัญญา เดินไป ปฏิบัติไป ให้เป็นปัจจุบัน ชีวิตของเราก็จะดี อินทรีย์บารมีแก่กล้า ไม่เสียเวลาที่มาบวชมาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนต้องทวนกระแสกิเลส ทวนกระแสอารมณ์ เดินไปตามธรรมะ เราถึงจะเข้าถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่เราควรจะได้รับ ในฐานะที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาบวชมาประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติของเราต้องให้มีทุกหนทุกแห่งทุกอิริยาบถ ต้องมีศีล ๕ ระดับพื้นฐาน การมีศีล ๕ บริสุทธิ์ก็เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของพระโสดาบันนั่นแหละ ต้องพัฒนาตนเองให้ฉลาดขึ้น ข้อวัตรข้อปฏิบัติดีขึ้น พัฒนาใจขึ้นไปก็เป็นสกทาคามี ตำแหน่งอันเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้ ก็มาจากการประพฤติการปฏิบัติของเราไม่มีใครสามารถแต่งตั้งให้ได้ ขึ้นอยู่ที่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องคนเราต้องฉลาด และต้องปฏิบัติดีไปพร้อมกันเป็นทางสายกลาง