แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๓๙ งานทำใจให้สงบนั้น เป็นงานเบาและทำยาก แต่ให้ผลเป็นความสุขความดับทุกข์ได้มากที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนฝึกสมาธิ ส่วนใหญ่ไม่มีสมาธิกัน พระเราส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีสมาธิ เณรเราส่วนใหญ่ก็ไม่มีสมาธิ คุณแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ส่วนใหญ่ก็ไม่มีสมาธิ ญาติโยมส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยจะมีสมาธิ เราส่วนใหญ่น่ะอยู่กับความสงบไม่ค่อยจะเป็น
การทำสมาธินี้เป็นเรื่องใหญ่...เป็นงานใหญ่ งานทำไร่ ทำนา ทำสวน ทำเกษตรกรรม งานก่องนสร้าง งานค้างานขาย งานเป็นคุณครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นคุณหมอ เป็นพยาบาล งานเหล่านี้ถือว่า งานง่าย แต่งานใหญ่งานสำคัญน่ะ คือ งานทำใจให้สงบ งานทำใจให้เป็นสมาธิน่ะ เป็นงานเบาแต่มันเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด งานทำสมาธิงานที่ทำใจให้สงบนี้แหละ ถือเป็นงานยากเป็นงานลำบาก
ใจของเรานี้จะให้มันสงบสักสองสามนาทีอย่างนี้ก็ยากลำบาก เหมือนเราเอาปลาขึ้นจากน้ำเอามาไว้ที่บนบกนี้...มันดิ้น การทำใจให้สงบนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดน่ะ ถ้าใจของเราสงบแล้วปัญหาต่างๆ มันไม่มี
ใจของคนเราทุกๆ คนนี้ต้องฝึกนะ ถ้าไม่ฝึกมันไม่ได้ มันไม่สงบ ต้องหาวิธีให้มันสงบน่ะ ถ้าเราปล่อยไปธรรมดาๆ มันก็เป็นธรรมดา เป็นใจที่ยังไม่ได้ฝึก
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้นั่งสมาธิเพื่อฝึกใจ นั่งสมาธิเหนื่อย ก็ให้เดินจงกรม เดินจงกรมเหนื่อยก็ให้เราไปนั่งสมาธิ พยายามอยู่กับความวิเวก ไม่พูด ไม่คุย ไม่คลุกคลี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งภายนอกทิ้งสิ่งภายนอกหมด
เรามาอยู่วัดหลายๆ คนนี้ ก็ให้เราทำใจเหมือนกับเราอยู่คนเดียว ไม่พูดไม่คุยกับใคร ไม่สนใจใคร ถ้ามันไม่จำเป็นก็ไม่พูด เพราะว่าเรามีเวลาน้อย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมองหน้าใครนั่นแหละดี
ถึงเวลามานั่งสมาธิกับเพื่อนกับหมู่คณะ เราก็นั่งเหมือนกับเราอยู่ คนเดียวนี้ คนอื่นเค้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวเค้า คนอื่นเค้าจะพูดจะคุย เค้าจะเข้าจะออกก็ช่างหัวเค้า เราถือว่าเป็นธรรมชาติ ถ้าได้ยินเสียงก็ให้ถือว่าเป็นเสียงดนตรีธรรมชาติก็แล้วกัน
ฝึกใจของเราปล่อยฝึกใจของเราวาง วางเรื่องอดีต วางเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เราต้องปล่อยวางหมดน่ะ เราถอนสมมุติออกจากใจของเรา ถอนความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชายออกจากใจของเราหมด เรามีหน้าที่หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ปล่อยวางหมด พักผ่อนสมองเรา เพื่อใจของเราจะได้สงบ
คนเราต้องฝึกสมาธิ... พระพุทธเจ้าน่ะ ก่อนท่านจะตรัสรู้ท่านก็เข้าสมาธิ ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ จนระลึกชาติได้ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเอง ท่านปล่อยวางทุกอย่าง ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ก่อนที่ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านก็เข้าสมาธิเหมือนกัน ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ถอยกลับไปกลับมาแล้วค่อยเสด็จดับขันธ์ระหว่างฌานที่ ๔ กับฌานที่ ๕ นี้แสดงให้ทุกท่านทุกคนให้เข้าใจนะว่าต้องฝึกใจให้เป็นสมาธิ
คนเรามันฉลาดมากมันเก่งน่ะแต่มันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นะ เวลาเจ็บป่วยเวลาใกล้จะตายน่ะ ญาติพี่น้องก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ เงินทองก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ คุณหมอ คุณพยาบาล ยารักษาโรคก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ สิ่งที่จะช่วยเหลือเราได้ ก็คือ ทำจิตใจของเราให้สงบ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ให้ทุกคนเตรียมพร้อมไว้ ตอนถึงเวลาแล้วเราจะได้เอาสมาธิของเราออกมาใช้งานได้ อย่างคนเราอยู่ดีๆ ก็สบายหรอก แต่ถ้ามีใครมาชัดใจก็มีความทุกข์ เมื่อสิ่งภายนอกมันไม่ได้ตามใจก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเราอ่อนสมาธิ เราอ่อนการฝึกจิตฝึกใจ
ญาติพี่น้องตายก็เป็นทุกข์ พ่อแม่ลูกหลานตัวเองตายก็เป็นทุกข์ มันเพราะอะไร...? เพราะเราไม่ได้ฝึกใจของเราให้มีสมาธินะ
ทุกๆ คนน่ะต้องฝึกสมาธิให้มากๆ นะ มีหลายคนดูแล้วก็เป็นคนดี เป็นคนเก่งและก็นิสัยดี เปี่ยมด้วยบุญด้วยกุศล แต่เสียที่ไม่ค่อยฝึกสมาธิ ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ น่าเสียดายชีวิตของเค้าการดำเนินชีวิตของเค้า เพราะเค้ายินดีในสิ่งที่พื้นๆ เรื่องการให้ทาน การรักษาศีล การสังคมสงเคราะห์ แต่เค้าขาดการฝึกจิตฝึกใจของเค้าเพื่อให้เกิดสมาธิ
ประเทศไทยเรานี้แหละ พระก็มีประมาณสามแสนรูป แต่จะหาพระที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันน่ะสักพันรูปนี้ก็ยังหาได้ยากนะ เพราะเรามาติดในความสุขที่มันเป็นวัตถุ เราไม่ได้เข้าถึงคุณถึงประโยชน์ในการฝึกจิตฝึกใจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่เราที่ตัวเรา
วันหนึ่งๆ ไม่รู้ทำอะไรต่ออะไร แต่ว่าไม่มีการฝึกสมาธิ พระเราก็ยังหาได้ยากหาลำบาก ยิ่งโยมน่ะยิ่งหาได้น้อยนะ
เรามาคิดๆ ดูน่ะ สิ่งภายนอกถึงมันจะสะดวกสบาย ถึงมันจะดีน่ะ มันก็ยังดับทุกข์ยังไม่ได้อย่างแท้จริง ไม่เหมือนการฝึกสมาธิ
การแก้อะไรก็ถือว่ามันแก้ง่าย แต่ว่ามาแก้จิตแก้ใจแก้ตัวเองนี้ มันถือว่าเป็นเรื่องแก้ยากนะ ทำไมมันถึงแก้ยาก....? เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทวนโลก ทวนกระแส ทวนอารณ์ ถ้าเราไม่อดทน เราไม่มีความเพียร ถ้าเราไม่มีสมาธิจริงน่ะ เราไปไม่รอด ไปไม่ไหว
ทุกคนทำไมถึงเป็นอย่างนั้น...? ปัญหานี้เค้าตอบว่า ทุกคนมันติดความสุข ติดความสะดวก ติดความสบาย มันติดในอดีตที่ผ่านมา อดีตที่ผ่านมาแล้ว มันก็เปรียบเสมือนความตาย คือเราตายจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว เมื่อเราตายแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คนทิ้งอดีต ถ้าใครไม่ทิ้งอดีตที่ผ่านมา ก็ถือว่าเรานี้กำลังทำบาป กำลังเป็นคนบาปนะ
สติทุกๆ คนต้องเร็ว ต้องว่องไว เราพบเจอกับสิ่งที่มันทำให้เราหดหู่ สังเวช ถ้าเราตามอารมณ์ ตามสิ่งที่พบเห็นกับสิ่งที่เค้าเรียกว่า เป็นอดีต เราก็ต้องเศร้าโศกหรือว่าน้ำตาไหล ถ้าเรามีสติทันอย่างนี้แหละ
เราก็ทิ้งมันไป ละมันไป เราไปใจอ่อนน่ะ มันได้อะไร มันมีแต่ความเสียหาย คนอื่นเค้าจะดี มันก็เรื่องของเค้า เค้าจะชั่ว มันก็เรื่องของเค้า เราช่วยเหลือไม่ได้
ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ที่ตาเรากระทบ หูของเราได้ยิน ที่เราได้สัมผัสเกี่ยวข้องน่ะให้เรามีสมาธิ มีความเข้มแข็ง อย่าให้มันมาหมุนจิตหมุนใจของเรา ให้ใจของเราเป็นสุขเป็นทุกข์... เราจะเป็นคนไม่มีสมาธิ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ตัวของเรามันก็เลย...ขึ้นอยู่กับวัตถุ สิ่งภายนอก เรามีใจก็ไม่เกิดปัญญา มีสมองก็ไม่เกิดปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่น อย่าได้หวั่นไหว ง่อนแง่นคลอนแคลน โยกคลอนไปกับสิ่งภายนอก
การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าท่านให้ใจของเราอยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอดีตน่ะท่านให้เราทิ้งหมด ถ้าเราไม่ทิ้งอดีต เราจะเป็นคนไม่มีปัญญา ถ้าเราไม่ทิ้งอดีต เราก็จะเป็นลูกหนี้ เราจะเป็นหนี้อยู่ตลอดกาล ถ้าเราไปคิดว่ามันทำลำบาก มันทำลำบาก จริง...มันทำลำบาก แต่มันจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อพัฒนาจิตใจของเรา
"เวรกรรม เราต้องระงับด้วยการตัดกรรมตัดเวร ไม่ใช่เราเอามาผูกเอามามัดไว้ในจิตใจของเรา" พยายาม 'เจริญสติปัฏฐาน' ให้ใจของเรามันอยู่กับกาย ถ้าเราไม่อยู่กับกายก็อยู่กับเวทนา ถ้าเราไม่อยู่กับเวทนาก็อยู่กับใจของเราน่ะ
ถ้าเราไม่อยู่กับใจของเราก็ให้มันอยู่กับธรรมะ ธรรมะ คือทุกอย่างที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พยายามเจริญสติปัฏฐานให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเราเย็น
การเจริญสติปัฏฐานน่ะ ทุกท่านทุกคนเจริญได้หมดนะ อย่างเราเดินอย่างนี้ก็ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว เรานั่งก็ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวทิ้งอดีตให้หมด เรานอนใจก็อยู่กับเนื้อกับตัว เราทำการทำงานก็ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ฝึกไปปฏิบัติไปเดี๋ยวใจของเรามันก็สงบ ใจของเรามันก็เย็น
ถ้าเราไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามกิเลสตัวเอง เดี๋ยวไม่นานใจของเรามันก็เย็น ที่เรามันไม่เย็น มันมีปัญหาก็เพราะว่าเราทำตามใจตัวเอง ตามกิเลสของตนเอง
ทุกท่านทุกคนน่ะ...มันมีความต้องการเยอะ มีความอยากเยอะ ไม่ว่าเราจะเป็นใครมันไม่ไว้หน้าเลย ทั้งพระทั้งเณรทั้งญาติโยม ความอยากมันมากมายก่ายกองจริง ๆ ถ้าเราไม่มาฝึกสมาธิ ไม่มาเจริญสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ นี้ มันหยุดไม่ได้ มันเย็นไม่ได้
ปัญหาของเราทุกๆ คน เราอย่าไปโทษคนอื่นนะ เราอย่าไปโทษสิ่งภายนอก อย่าไปโทษสังคม อย่าไปโทษคุณพ่อคุณแม่ อย่าไปโทษหัวหน้า อย่าไปโทษเพื่อน ทุกอย่างมันอยู่ที่เราไม่ได้ปฏิบัติ เราไม่ได้แก้ไขตัวเอง สิ่งภายนอกนี้มันเหมาะมันสมควรแล้วที่จะให้เราได้ฝึกได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีสิ่งภายนอกอย่างนี้ไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติ
ปัญหาต่างๆ ให้เราแก้ที่ตัวเรา แก้ที่การกระทำของเรา...
เราปฏิบัติธรรมนี้นะ ทุกท่านทุกคนอย่าเข้าใจว่ามันขัดกับโลก ขัดกับสังคมนะ ปฏิบัติธรรมนี้แหละช่วยเหลือโลก ช่วยเหลือสังคม เป็นแบบพิมพ์ เป็นตัวอย่าง ในโลกของเราน่ะ ถ้ามีบุคคลอย่างนี้มันทำให้โลกสงบโลกร่มเย็น ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา โลกาย่อมพินาศ
ทุกวันนี้น่ะ มันไม่มีแบบพิมพ์ มันไม่มีตัวอย่างนะ ประชาชนส่วนใหญ่ถึงเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ วิ่งตามทางโลก วิ่งตามทางวัตถุ เป็นหนี้เป็นสิน มีปัญหาเยอะแยะเลยก็เพราะว่าเราไม่ได้แก้ไขตัวเอง ไม่ได้แก้ไขเรื่องจิตเรื่องใจ
อย่างครอบครัวเราครอบครัวหนึ่งอย่างนี้ มีพ่อแม่แล้วก็ลูกๆ ถ้าพ่อแม่พยายามแก้ที่จิตที่ใจ ทีนี้แหละลูกเรามันก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าพ่อแม่ก็คือแบบพิมพ์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ เพราะว่าพ่อแม่เป็นหลัก เป็นจุดยืน ถ้าเราไม่มีคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักเป็นจุดยืนนี้... ก็ยากลำบากอยู่เหมือนกัน
เราทุกๆ คนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้พากันคิดดีๆ นะ ทำไมเราถึงจะมีความสุข มีความดับทุกข์ ครอบครัวของเราทำอย่างไรถึงจะเกิดความสุข เกิดความอบอุ่น สรุปแล้วมันก็ต้องมาที่ตัวเรา มาแก้ที่ตัวเรา อันไหนไม่ดีก็ต้องปรับปรุงแก้ไขหมด ถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไขน่ะ...ไม่ได้ มัวแต่ไปถือฟอร์มอยู่นั่น
เราทุกคนต้องกลับมาดูตัวเองว่า...ตัวเองเป็นคนรับผิดชอบในความดีมากพอหรือยัง ความเพียร ความขยัน ความอดทนมีพอหรือยัง
ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญกตเวทีของเรามีพอหรือยัง ศีลของเรามันบกพร่องมั้ย ตัวเองติเตียนตัวเองได้มั้ย มันต้องกลับมาหาตัวเองอย่างนี้นะ เพราะอันนี้มันเป็นสูตรความดี สูตรตายตัวที่ทุกคนจะต้องพึงประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราวิ่งหาความสุข ความดับทุกข์อย่างอื่นมันแก้ไม่ได้ เราทำอย่างนี้ดีมากประเสริฐมาก เรตติ้งในความเป็นมนุษย์ของเรามันก็ยิ่งสูงขึ้น ในตัวเราและก็ครอบครัวของเรา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก...
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพิจารณาตนเอง ว่าเรานี้มีสมาธิเพียงพอหรือยัง มีความสุข มีความอบอุ่น มีความร่มเย็นในครอบครัวแล้วหรือยัง...?
ถ้ายัง... พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปแก้ที่อื่นนะ เราต้องทำใจตัวเองให้มันสงบ อย่าไปแก้ภายนอก เมื่อใจของเราสงบ ปัญหาทุกอย่างมันก็จบไป
พระก็ดี โยมก็ดี พากันหลงในวัตถุภายนอก หลงในอารมณ์ที่มันเป็นสวรรค์น่ะ ไม่ได้พัฒนากาย วาจา ใจของตัวเองให้มันสงบ จะทำอะไรก็มีแต่จะเอา เรียนหนังสือก็เพื่อจะเอา ทำงานก็เพื่อจะเอา ทุกอย่างมันมีแต่จะเอา ถ้าเราเป็นผู้ที่มีแต่จะเอา ตัวเราจะมีความสุขได้อย่างไร? ครอบครัวของเราจะเกิดความสุขความอบอุ่นได้อย่างไร?
ให้เรามาตรวจดูตัวเองว่า อย่างตัวเองเป็นโยมอย่างนี้ ศีล ๕ ของตัวเองมันดีแล้วหรือยัง เรามันกลับมาแก้ไขตัวเองหรือยัง ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิหรือเปล่า มันต้องแก้ไขตัวเองถือว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเป็นปัญหาที่รีบด่วน ถ้าเรารอให้เรารวย รอให้เราไม่มีภาระ มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะความอยากของทุกคนนั้นน่ะ มันเลี้ยงเปรตไว้ในใจตั้งหลายตัว "เปรตมันอิ่มไม่เป็น มันเต็มไม่เป็น ถ้ามันอิ่มเป็น มันพอเป็น เราก็ไม่เรียกมันว่า 'เปรต"
เราทุกๆ คนน่ะมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง มีพระธรรมคำสั่งสอนที่ประเสริฐ มันเสียอย่างเดียว มันตั้งอยู่ในความประมาท ทุกๆ คน เราไม่ต้องไปว่าให้ใคร แม้แต่ตัวผู้พูดเองมันก็ตั้งอยู่ในความประมาท มันไม่มองเห็นตัวที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มองเห็นเวลาทุกวินาทีเป็นเวลาที่ประเสริฐที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเอง
เราทุกๆ คนน่ะ ส่วนใหญ่ยังมีความคิดเห็นว่าเราปฏิบัติไม่ได้ เราไม่มีโอกาส เราไม่มีเวลา พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเราว่า ทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน
มรรคมีองค์ ๘ คือหนทางที่ประเสริฐ ในชีวิตของประจำวันทุกคน ต้องเกี่ยวข้องกับอริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นจากความคิดน่ะ เริ่มจากไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม
การงานทุกอย่างนั้นน่ะ คือการปฏิบัติธรรมของเราทุกๆ คน สิ่งที่มันไม่ใช่การปฏิบัติธรรม...มันไม่มี แต่เราไปคิดว่า การปฏิบัติธรรม คือการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญวิปัสสนาน่ะ อันนั้นก็จริงอยู่ อันนั้นมันส่วนหนึ่ง แต่การปฏิบัติของเราต้องปฏิบัติทุกอย่าง ให้มันมีศีล มีธรรม มีคุณธรรม
เพราะชีวิตของเราทุกคนต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติ...ไม่ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติมันมีปัญหาแน่ ที่เรามีปัญหาก็เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนคิดให้ดีๆ นะว่า การประพฤติปฏิบัติ มันมีกับเราทุกๆ คน แต่ที่เราไม่มีไม่เป็น ก็เพราะว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ ไม่เห็นความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติ เราเห็นความสำคัญของ ข้าวของ เงินทอง ลาภยศสรรเสริญ แทนที่เราจะได้ข้าวของ เงินทอง ลาภยศสรรเสริญ ได้ทั้งคุณธรรม เรากลับได้แต่วัตถุ มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมดุล
เราตรวจดูตัวเอง ถ้าอันไหนมันไม่ดี ถ้าเราแก้ไขมันต้องดีหมด มันจะไม่ดีมันเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราถือฤกษ์ดียามดี ไม่ถืออะไรต่างๆ น่ะ ให้ถือการกระทำความดีของเรา ทำดีมันดีแน่...ไม่ต้องขอพรมันก็ได้พร
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมา ท่านไม่ถือชาติ ไม่ถือตระกูล ไม่ถือวรรณะ ไม่ถือฤกษ์ดี ยามดี ท่านให้ถือความดี ต้องมั่นใจต้องแน่ใจใน ความดี ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ อย่างสุขภาพของเรามันไม่ดีอย่างนี้
ท่อนแรกของชยปริตรเป็นการกล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า จนเอาชนะมารทั้งหลายแล้วบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนท่อนหลังได้นำข้อความมาจาก สุปุพพัณหสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ซึ่งเป็นพระสูตรที่ตรัสสอนให้ถือว่าการทำดีด้วยกาย วาจา ใจ นั่นแหละ เป็นมงคลเป็นฤกษ์ดียามดีที่สำคัญที่สุด
สุปุพพัณหสูตร [๕๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจา ประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ประพฤติสุจริตด้วยวาจาประพฤติสุจริตด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว จงได้รับความสุข จงงอกงามในพระพุทธศาสนา จงไม่มีโรค ถึงความสุข พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ
ในคำเป็นต้นว่า สุนกฺขตฺตํ วันที่คนทั้งหลาย บำเพ็ญสุจริตธรรมทั้ง ๓ ให้บริบูรณ์ ชื่อว่าเป็นวันที่ได้การประกอบฤกษ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า วันนั้น มีฤกษ์ดีทุกเมื่อ วันนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นวันทำมงคลแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า วันนั้นมีมงคลดีทุกเมื่อ
บทสวดมนต์นี้เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ฟัง เพื่อให้ประสบความสำเร็จเหมือนพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทรงเอาชนะนะมารทั้งหลายตรัสรู้ ณ โคนต้นโพธิ์ พระองค์ผ่านการทดสอบบารมีมานับไม่ถ้วน จนชาติสุดท้ายถึงประสบผลดังปรารถนา คนเราก็จะประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความพากเพียรพยายาม ไม่ใช่เกิดจากฤกษ์ยาม ดวงชะตาหรือฟ้าลิขิตแต่อย่างใด
ที่สำคัญการกระทำหรือพฤติกรรมของเราเองนั่นหละที่ลิขิตชีวิตของเรา ที่เรียกว่า "กรรมลิขิต" ดังคำกลอนที่ว่า
มิใช่เทวาจะมาอุ้มสม ไม่ใช่พระพรหมจะมาเสกสรร
ไม่ใช่ศุกร์เสาร์หรืออาทิตย์จันทร์ จะมาบันดาลให้เราชั่วดี
อันกรรมลิขิตชีวิตของคน ยากดีมีจนสุดแต่วิถี
กฎแห่งกรรมทำดีต้องได้ดี ถ้าทำชั่วก็มีแต่ไปอบาย
ชีวิตของเราจึงอยู่ในกำมือเรา ผิดพลาดอะไรมา อย่าไปโทษคนอื่น ให้โทษตัวเองจะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวของเรา
เป็นการสอนให้มนุษย์มีความฉลาดเกิดสติปัญญา ไม่งอมือ งอเท้า ไม่รอโชควาสนาหรือราชรถมาเกย แต่ให้ลงมือทำความดีด้วยตนเอง และความดีจะส่งผลเอง การทำดีจึงเป็นหน้าที่ของคน ส่วนการให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม การถือฤกษ์ถือยามนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด เพราะฤกษ์ยามไม่สามารถสร้างประโยชน์ใดๆ ได้ ผู้ถือฤกษ์ถือยามก็พลอยพลาดจากประโยชน์ไปด้วย
มีคนจำนวนมากที่ขาดปัญญา มัวแต่ถือฤกษ์ถือยาม รอเวลาสร้างความดี จนบางทีก็ไม่มีโอกาสได้สร้างความดี เพราะมัวแต่รอฤกษ์งามยามดี อันนั้นเป็นลักษณะของคนเขลาขาดปัญญา แทนที่จะได้ทำคุณงามความดีในเมื่อโอกาสเหมาะมาถึง แต่เพราะมัวถือฤกษ์ถือยาม จึงพลาดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านไม่ให้ถือกฤกษ์ถือยาม ทำความดีเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์งามยามดีเมื่อนั้น ทำความชั่วเมื่อไหร่ เป็นฤกษ์ไม่ดีเมื่อนั้น ไม่ใช่จะไปดูดาวบนท้องฟ้า ดูการโคจรของดวงดาว วันนั้นดี วันนี้ไม่ดี เช้าดี บ่ายไม่ดี อะไรทำนองนี้
ถ้ามัวแต่ถือฤกษ์อยู่อย่างนี้ ย่อมพลาดประโยชน์ที่ควรได้ควรถึงไปได้ง่ายๆ เพราะแทนที่จะได้สร้างประโยชน์เดี๋ยวนี้ กลับต้องมานั่งรอฤกษ์อยู่ เวลาก็ล่วงเลยไป ถ้าตายก่อนก็จบกันเท่านั้นเอง
ในนักขัตตชาดก กล่าวไว้ว่า "ประโยชน์มักล่วงเลยคนที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ความพร้อมในปัจจุบันแล้วเกิดประโยชน์นั่นแหละ คือฤกษ์ยามที่ดีที่สุด ดวงดาวก็ช่วยอะไรไม่ได้"
ถ้าเราฝึกให้เราเป็นคนใจดีมีความสุข เป็นคนที่มีศีล มีธรรม มีระเบียบมีวินัย แล้วออกกำลังกาย ทานอาหารที่ไม่ได้ทำให้เราเกิดโรคเกิดภัย ทุกวันนี้น่ะ คนเค้าเป็นโรคเป็นภัยกันเยอะ ทั้งโรคจิต โรคประสาท โรคมะเร็ง โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มันก็เกี่ยวกับใจ เกี่ยวกับอารมณ์ เกี่ยวกับอาหาร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นความสำคัญทางจิตใจ แล้วให้ความสำคัญในเรื่องทานอาหาร ให้เราให้ความสำคัญในการออกกำลังกาย เรื่องจิตเรื่องใจนี้... ก็คือการปฏิบัติธรรม เรื่องทานอาหารนี้ก็เรื่องปฏิบัติธรรม เรื่องการออกกำลังกายนี้ก็เรื่องการปฏิบัติธรรม คนเรานี้แหละสร้างปัญหาให้กับตัวเองเนอะ... ทำให้ตัวเองเป็นโรคประสาท โรคจิต โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
อาหารที่เราบริโภคนี้ มีแต่ของทอดของผัดทั้งนั้นนะ ของมัน ของเผ็ด ของเค็ม ของหวาน ขนมนมเนยล้วนแต่เราทำร้ายตัวเอง ทำร้ายครอบครัวตัวเอง ทำกันทั้งบ้านทั้งเมืองน่ะ ของอันไหนไม่อร่อยก็ไม่อดฝืนไม่ทนที่จะรับประทาน ออกกำลังกายก็ขี้เกียจ สมาธิก็ไม่ทำ ไม่รู้จักทำใจสงบ มีแต่เราทั้งนั้นนะ ที่ทำร้ายตัวเองน่ะ ทำร้ายตัวเองยังไม่พอ ยังทำร้ายครอบครัวเราอีกนะ
ของเหล่านี้ทุกๆ ท่านทุกคนก็ต้องบริโภค แต่ว่ามันมากเกิน มันเผ็ดเกิน เค็มเกิน หวานเกิน มนุษย์นี้เราถึงเป็นผู้อยู่ยากกินยาก พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราทุกๆ คนว่าต้องเป็นผู้ที่อยู่ง่าย กินง่าย ลูกของเราหลานของเรานี้น่ะ...มันติดอร่อย ถ้าไม่ให้มันกินอร่อยมันกินไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ไม่วางระบบในการรับประทานอาหารน่ะ
ของทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเอาเข้าในร่างกายของเราน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพินิจพิจารณานะ ให้มีสติสัมชัญญะ ให้รู้จักอันไหนควรบริโภค ไม่ควรบริโภค อย่าเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ปากแก่ท้อง พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติมาก ถ้าเรามันเคยทานอย่างนี้ เคยบริโภคอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้ มันยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้นะ ถ้าทุกคนไม่สมาทาน ไม่ตั้งใจน่ะ
สิ่งเหล่านี้แหละมันเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เราอย่าไปคิดว่า ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรมเท่านั้นเป็นการปฏิบัติธรรม การประพฤติในชีวิตประจำวันของเรานี้แหละ คือการประพฤติปฏิบัติธรรม
ทุกคนต้องมีสติ ทุกคนต้องมีเบรก ต้องเป็นคนประหยัด เป็นคนไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ตามใจตัวเองถึงจะเกิดสมาธิ เกิดสติ เกิดปัญญาได้ เราอย่าไปเอาความสุขทางร่างกายอย่างเดียว เราต้องเอาความสุขทาง จิตใจไปพร้อมกัน ถึงจะเกิดความสุขเกิดความถูกต้องได้