แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๓๘ ศีลอบรมให้เกิดสมาธิ สมาธิอบรมให้เกิดปัญญา จิตที่ซักฟอกด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนให้มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย มีสติมีสัมปชัญญะ เพื่อเข้าสู่ภาคการประพฤติภาคการปฏิบัติ การให้ทาน ให้ข้าวของเงินทอง สิ่งภายนอกได้บุญได้กุศลน้อยกว่า การประพฤติการปฏิบัติ ให้ทุกคนมีความเห็นถูกต้อง ให้เข้าใจถูกต้อง เเล้วพากันปฏิบัติให้ถูกต้อง ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเเล้วปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราดูตัวอย่าง อย่างพระพุทธเจ้า ท่านไม่มีอะไรเลย เเต่ท่านมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เเล้วท่านปฏิบัติถูกต้องอยู่ที่ปัจจุบัน
ถ้าเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะเป็นคนรวย เราจะเป็นคนจนนี้ก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติได้พอๆกัน การรักษาศีลนั้น ถึงได้บุญได้กุศลเยอะ มากกว่าการถวายทาน เพราะว่ามันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องการประพฤติการปฏิบัติ เรื่องสมาทาน เรื่องความตั้งใจ การให้ทานข้าวของเงินทองสิ่งที่เราช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็ถือว่าได้บุญเยอะอยู่ เเต่ก็ยังไม่ได้มากเท่ากับการรักษาศีล เพราะการรักษาศีลนี้ มันเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติในเรื่องของตัวเอง ศีลของพระอรหันต์คือศีลที่เจตนา อันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เป็นศีลที่เสียสละซึ่งสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน
การรักษาศีลของพระอรหันต์ถึงไม่มีซิกเเซก ซิกเเซก หมายถึง ว่าเรายังเอาตัวเอาตนอยู่ เราอาจจะรักษาทางกาย เเต่ทางใจไม่มีเจตนาที่จะงดเว้นจริง เช่นเรามาบวช เราไม่ได้เอามรรคผลนิพพาน ทำเครื่องหมายโกนหัวนุ่งห่มผ้าเหลือง ผ้ากาสาวพัสตร์ ไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน ก็ถือว่าจิตใจยังไม่ถูกต้อง ยังมีการซิกเเซกอยู่ ยังหวังผลประโยชน์ทางวัตถุอยู่ พวกที่มาบวชเป็นพระเป็นเณรเป็นเเม่ชี พวกที่มาอยู่วัด เเต่ไม่ได้เอามรรคผลนิพพาน คือพวกนี้แหละ ถือว่าเป็นพวกที่ซิกเเซก คืออันไหนที่หลบหลีกเลี่ยงได้ก็จะหลบหลีกเลี่ยง เช่นว่า ขอโอกาสว่ารู้เเล้ว เเต่ขอโอกาสยังไม่ตั้งอกตั้งใจ ขอโอกาสอย่างนี้ ถือว่าซิกเเซก ถึงตีสามเค้าตีระฆังเเล้ว เเต่ได้ยินเสียงระฆัง ไม่ยอมลุก รอถึงตี 4 ก่อน ถ้าไปเร็วเราก็ต้องไปนั่งสมาธิ ไม่อยากนั่งสมาธิ นอนต่อ อย่างนี้ถือว่าซิกเเซก ทำอะไร ไปช้ากว่าเวลา หรือว่าหาเรื่อง พวกที่จัดการตั้งเเต่เรื่องภายนอก ไม่จัดการตัวเอง เป็นพวกที่ซิกเเซกเหมือนกัน พวกที่จะไปสอนเเต่คนอื่น ศาสนาเค้าเน้นพระนิพพาน ไม่ใช่เน้นสวรรค์ เน้นความรวย ถ้าเราจะมาซิกเเซกไปซิกเเซกมาอย่างนี้มันก็ไม่ได้ผล ถ้าเราไม่ซิกเเซก ก็คือ เราไม่ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ นึกว่าถ้ามีเงินเเล้วมันจะเเก้ปัญหาได้ เเต่มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเท่ากับว่าเรายังประพฤติผิดในกาม ศาสนาพุทธต่อยอดจากสามัญชนเพื่อเป็นพระอริยเจ้า เน้นที่จิตที่ใจ เน้นเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทั้งการดำรงชีพ เเละพัฒนาใจไปพร้อมๆกัน ต้องทำอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่มีการปฏิบัติเลย ศีลสมาธิปัญญา มันต้องไปร่วมกัน มันถึงจะเเก้ปัญหาได้ การปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่อง มันจะเข้าเป็นสัมมาสมาธิไปโดยธรรมชาติที่กลมกลืน ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ไปเอาความสุขก็เเต่ภายนอก ไม่เอาความสุขที่จิตใจ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น "พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า "สมมุติสงฆ์" พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น "พระ" ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ "พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า "การถวายวิหารทาน" แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน" อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น "โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ" ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "ธรรมทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ"
๑๕ . การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ "การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู" ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ "ละโทสะกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน
การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเองก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ
๑๖. การให้อภัยทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๕ แม้เพียงครั้งเดียว
๑๗. การถือศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๘ แม้จะถือเพียงครั้งเดียว
๑๘. การถือศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล ๑๐ คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
๑๙. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แล้ว รักษาศีล ๑๐ ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาที่มี ศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม
๒๐. การอุปสมบทเป็นภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ ข้อไม่ด่างพร้อย ๑๐๐ ปี ผลบุญยังน้อยกว่า ผู้มีจิตสงบในฌาน แม้เพียงไก่กระพือปีก
การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น
ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า "ผู้ใดแม้จะทำสมาธิจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงทีว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม" ดังนี้ จะเห็นได้ว่าวิปัสสนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม้ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุนหรือเสียทรัพย์แต่อย่างใดแต่ก็ได้กำไรมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทานเหมือนกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบกับศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนาปัญญา
แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลายยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแล้วแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุดก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้าเพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพานก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียวไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนาให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้
ส่วนใหญ่เราอยู่กับการงานภายนอก กับเรื่องราวต่างๆ งานทำสมาธิ คือ การทำใจให้สงบ สงบอยู่กับการหายใจเข้า สงบอยู่กับการหายใจออก สงบกับการรู้ลมเข้าสบาย... รู้ลมออกสบาย...
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามีความอยาก ถ้าเราอยากให้มันสงบ มันจะไม่สงบ เพราะว่าสมาธิต้องปราศจากนิวรณ์ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านให้เราทำงานกับการหายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็สบาย... หายใจออกก็สบาย... ปล่อยวางทุกอย่าง จนจิตของเราเป็นหนึ่ง อยู่กับการไม่คิดอะไร อยู่กับการหายใจเข้าหายใจอย่างเดียว
การฝึกสมาธินี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเรานะ เพราะว่าคนเรานี้ มีบ้านมีที่อยู่อาศัยเป็นที่พักของกาย จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน ต้องมีที่พักของใจ ที่พักของใจของเราทุกๆ คน พระพุทธเจ้าให้เราพักกับความสงบ สิ่งที่ง่ายที่สุดพระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้พักกับลมหายใจ
พระพุทธเจ้าถ้าท่านจะพักผ่อนท่านก็เข้านิโรธสมาบัติ ก็เริ่มต้นจากหายใจเข้าสบาย...ออกสบาย... จนจิตใจของท่านเข้านิโรธสมาบัติ
ถ้าเราเจริญแต่ปัญญาอย่างเดียว จิตใจของเราไม่ได้ฝึกสมาธิ ใจของเรามันไม่สงบ มันไม่เย็น เพราะคนเรานี้มันชอบคิดมาก มันชอบฟุ้งซ่าน จิตใจมันหยุดไม่เป็น พักผ่อนไม่เป็น แม้คนเราพักผ่อนนอนหลับ มันก็ฝันไปเรื่อย ถ้าใจเรามีสมาธิใจของเรามันจะเย็นลง ความเครียดต่างๆ มันจะลดลง
พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาสอนพระ เวลาฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ทุกขเวทนามาก ร่างกายมันต้องการพักผ่อน พระพุทธเจ้าท่านสอนพระให้นั่งสมาธิ ทำสมาธิทำไมถึงให้นั่งสมาธิตอนนั้น...? สมาธิเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ไม่ตามอารมณ์ทางกายไป ไม่ให้ตามอารมณ์ภายนอกไป ฝึกจิตใจให้มันแยกออกจากกาย ถ้าเราไปทำตามความง่วงเหงาหาวนอน แสดงว่าเราไม่ได้ฝึกแยกใจออกจากกาย
ท่านให้ถือโอกาสให้มาฝึกจิตใจของเรา เพราะความสุขความสงบที่แท้จริง คือทำใจให้ปราศจากนิวรณ์ จิตใจที่ถูกนิวรณ์ครอบงำแล้วทำอะไรตามนิวรณ์ เป็นจิตใจมีความทุกข์มาก
พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ นิวรณ์ต่างๆ จะครอบงำจิตใจของท่านไม่ได้ ไม่ว่าความง่วงเหงาหาวนอน ความเจ็บไข้ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้มันจะครอบงำจิตใจของท่านไม่ได้ เพราะว่ากายก็เป็นส่วนของกาย ใจก็เป็นส่วนของใจ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราฝึกสมาธิเป็นที่อยู่ของใจ
ส่วนใหญ่คนทุกคนเก่งในเรื่องอื่นนะ แต่ไม่เก่งในเรื่องทำจิตทำใจให้สงบ
พระพุทธเจ้าท่านทำสมาธิเป็นตั้งแต่น้อยๆ ตั้งแต่เป็นเด็กๆ อายุ ๗ ขวบ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พุทธประวัติ...สมัยไปแรกนาขวัญกับพระบิดา ท่านนั่งคอยพระบิดาทำพิธี ท่านนั่งสมาธิจนเกิดแสงรุ้งแสงรัศมี จนเกิดอัศจรรย์ จนพระบิดาเข้ามากราบ ประวัติศาสตร์ในครั้งสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธ ปรินิพพาน ท่านบรรทมสีหไสยา ท่านก็เข้าสมาธิเหมือนกัน เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จน 'เนวสัญญานาสัญญายตนะ' ถอยกลับไปกลับมา แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระอนุรุทธะตามเข้าสมาธิดูว่า พระพุทธเจ้าท่านเข้าปรินิพพานอย่างไร? พระอนุรุทธะท่านเป็นผู้เลิศทางหูทิพย์ตาทิพย์
การฝึกสมาธินี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทุกท่านทุกคนต้องฝึก ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือฆราวาสญาติโยม ถ้าเราไม่ฝึก มันจะไม่มีสมาธิ ไม่เป็น
สมาธิ ต้องอาศัยการฝึก ฝึกเข้าสมาธิให้มันได้นานๆ ฝึกจิตใจอยู่กับลมเข้าลมออกให้มันได้นานๆ ฝึกปล่อยวางกายให้มันได้นาน ฝึกปล่อยวางสิ่งภายนอกให้มันได้นานๆ
สมาธิ คือความสุข ความดับทุกข์ของทุกท่านทุกคน คนเรานี้ถ้าไม่มีสมาธิ ในชีวิตประจำวันของเรามันจะไม่สงบ ปกติแล้วจิตใจของเรามันอยู่เฉยๆ ไม่เป็น อยู่นิ่งไม่เป็น ต้องหาที่อยู่ให้เขา สิ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือ ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าไม่อย่างนั้นก็คิดเรื่อยเปื่อย พเนจรไปเรื่อย คิดไม่หยุด คิดจนเป็นโรคประสาท
ถ้าเราฝึกบ่อยๆ เรื่อยๆ มันจะค่อยชำนิชำนาญ ชีวิตของเราในชีวิตประจำวันมันมีโลกธรรมมากระทบกับใจของเราตลอดเวลา เดี๋ยวก็มีสุขเดี๋ยวก็มีทุกข์ มียศเดี๋ยวมันก็เสื่อมยศ มีลาภ เสื่อมลาภ มีสรรเสริญ มีนินทา มันมีอย่างนี้อยู่ในใจของเราตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ถ้าจิตใจของเราไม่มีสมาธิ จิตใจของเรามันจะวิ่งตามโลกธรรมทั้งวันทั้งคืน เราจำเป็นต้องมีสมาธิ มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวนะ จิตใจของเราถึงต้องได้รับการพัฒนา จิตใจของเรามันต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องอบรมปัญญา
อบรมปัญญาอย่างไร...?
เมื่ออารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เราก็ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์นั้นๆ นั่นแหละ คือการอบรมปัญญา เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นกับใจของเรา เราก็ตามไป... แสดงว่าเราเปรียบเสมือนรถคันหนึ่งที่ไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง ที่หลวงตามหาบัวท่านว่า 'สมาธิอบรมปัญญา' จากพระพุทธพจน์ที่ว่า “สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จิตใจย่อมมีความอบอุ่น การภาวนาไม่เป็นกังวลแล้วจิตก็ลงสงบได้ง่าย นี่อันหนึ่ง สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาเมื่อสมาธิคือความสงบใจเป็นเครื่องหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ” ท่านว่าอย่างนี้ คือ เราอย่าตามอารมณ์ไป อย่างเรานั่งสมาธินี้ เราก็รู้ลมเข้าให้สบาย... รู้ลมออกให้สบาย... บางทีเราก็ลืมไปนะ ตามวิตกวิจารณ์ไป ตามปีติสุข เอกัคคตาจนลืมเนื้อลืมตัว ไปปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัว เขาเรียกว่า ตามนิมิตตามอารมณ์ไป เรานั่งอยู่อย่างนี้แหละ.... เดี๋ยวโลกธรรมก็มาหาเราแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักก็ตามมันไป
โลกธรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเหตุให้เราได้ฝึกใจ ทำใจของเราให้สงบ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ปัญญาของเราจะเกิดได้ เกิดจากการปฏิบัติ ระดับผู้ประพฤติ ปฏิบัติธรรมให้เกิดความชำนิชำนาญในเรื่องจิตเรื่องใจ
สิ่งต่างๆ ที่เกิดกับเรานี้ที่มันเป็นโลกธรรม เราต้องขอบคุณเขา ที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ปฏิบัติใจฝึกใจ การปฏิบัติของเรา อิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าการเดิน การนั่ง การนอน การทำงาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาอิริยาบถนั้นๆ มาฝึกใจของเรา
ฝึกอย่างไรล่ะ...? "ฝึกให้ใจของเราอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ"
คนเรานะ ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจของเรามันสงบ มันเป็นวิธีที่ง่ายๆ นะ ถ้าเรารู้จัก ฐานทั้ง ๔ ของเราทุกคนมันได้แก่ อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ใจมันอยู่กับอิริยาบถนั้น เพราะใจของเรามันพุ่งแรงนะ มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อเรามาอยู่กับเนื้อกับตัวใจของเรา มันจะสงบขึ้น เย็นขึ้น
สำหรับคนที่เป็นโรคประสาท เป็นโรคกระเพาะ มีจิตใจฟุ้งซ่าน ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ท่านยังไม่ให้เรานั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้ฝึกสมาธิด้วยการเป็นคนที่เสียสละ มีความสุขในการเสียสละ ฝึกเสียสละ มาทำงานภายนอก เช่น งานทำความสะอาด ดูแลต้นไม้ ดายหญ้า รดน้ำต้นไม้ กวาดถนนหนทาง กวาดบ้าน กวาดกุฏิ ทำความสะอาดห้องน้ำห้องสุขา เพื่อให้ใจมันมีบุญมีกุศล
เพราะคนเรานะเมื่อทำดี จิตใจมันสงบ ถ้าเราเดินจงกรมก็เดินให้ร่างกายมันแข็งแรง อย่าไปต้องการความสงบ ถ้าเรานั่งสมาธิ เราก็นั่งสมาธิเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยวาง เราอย่าไปเอาความสงบ เราทำวัตรสวดมนต์ก็ตั้งใจสวด สวดให้มันดีให้มันเพราะ อักขระพยัญชนะให้ชัดเจน เพราะการสวดดีๆ กราบดี ๆ ไหว้พระดีๆ มันเกิดความสงบ ถ้าใครจิตใจมันยังไม่สงบก็ทำฐานภายนอกให้มันดี อย่างเช่น ผู้หญิงนี้ก็ช่วยเขาทำอาหาร ล้างภาชนะ ทำความสะอาด มันมีงานทำเยอะแยะ
นักปฏิบัติธรรมอย่าได้เข้าใจผิดนะว่า ทำงานภายนอกไม่ได้ปฏิบัติธรรม...!
"งานภายนอกนั่นแหละ คืองานปฏิบัติธรรม" เป็นงานที่เสียสละ ละความเห็นแก่ตัวเป็นงานที่เจริญสติ เจริญสมาธิ เป็นงาน "สมาธิอบรมปัญญา" ถ้าเราไปเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจหมด มันอาจจะเครียดได้ เพราะว่าฐานจิตใจเราไม่มี
อีกประการหนึ่ง เรายังมีความเข้าใจผิดกันมากอยู่ พากันไปโทษสิ่งภายนอกอยู่ ว่าสิ่งภายนอกมันมีปัญหา ว่าปัญหามันมาจากสิ่งภายนอก ความเป็นจริงสิ่งภายนอกไม่มีปัญหา ปัญหาต่างๆ มันเกิดกับใจของเรา ที่มันไม่ฉลาด มันเอาปัญหาต่างๆ ภายนอกมาเป็นปัญหาที่ใจของเรา
ที่จริงแล้ว สิ่งภายนอกมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจของเราไม่มีปัญหา ให้อินทรีย์บารมีของเราแก่กล้า
การแสวงหาสัปปายะทั้ง ๔ ต้องเข้าใจดีๆ มันอยู่ที่ใจของเรา ที่จะแก้ไขทุกอย่างให้มันสัปปายะ เราจะได้หมดปัญหาชีวิต ถ้าเราแก้ที่จิตที่ใจของเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีแต่คุณแต่ประโยชน์ หมายถึงว่า เราอยู่ที่ไหนเราจะสบายหมด เราจะไม่มีปัญหา ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ เราจะได้ไม่ไปโทษสิ่งภายนอก เพราะว่าปัญหาทุกอย่างนั้นอยู่ที่ตัวเรานี้เอง ถ้าใจของเราไม่มีปัญหา ทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาเดินตามอริยมรรค อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดีก็อย่ไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ปรับตัวเอง หาศีลหาธรรม คือทางสายกลาง อย่าเอาตนเป็นใหญ่