แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๓๓ การบวชมีหลายเป้าหมาย บวชอย่างไรให้ได้แก่นของพรหมจรรย์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือรู้แจ้งความจริงตามสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เองอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรยิ่งกว่า) เป็นคำสอนที่เกิดจากพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า การตรัสรู้ของพระองค์ได้เป็นแสงสว่างให้แก่ชาวโลก ได้นำพาจิตวิญญาณของมนุษย์สู่สันติ พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า “สรรพสิ่งในสกลจักรวาลดาเนินไปตามธรรมชาติด้วยการอิงอาศัยกันเป็นลูกโซ่.. เมื่อสิ่งนี้มี...สิ่งนี้จึงมี.. เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ความเป็นไปของสรรพสิ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ”
เมื่อพระองค์นำสิ่งที่ได้ตรัสรู้ที่เรียกว่า “พระธรรม” มาสั่งสอนชาวโลก ได้มีผู้ศรัทธาเข้าใจ เชื่อฟัง ประพฤติปฏิบัติตาม คนเหล่านั้นพอใจอยู่กับพระองค์และติดตามพระองค์ ก็ได้รู้แจ้งในธรรมตามกาลังสติปัญญาของตนๆ เรียกผู้เชื่อฟังเหล่านั้นว่า “สาวก” ในกาลต่อมาพระองค์ทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นเปลี่ยนสถานภาพของตนจากผู้ครองเรือนมาเป็นผู้ออกจากเรือน เรียกว่า “ภิกษุ” ซึ่งคำๆ นี้แปลว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร (การเวียนตายเวียนเกิด) ด้วยพระดำรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทาที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าบุคคลผู้นั้นได้เป็นภิกษุถูกต้องบริบูรณ์แล้ว การบวชในพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รูปแบบการบวชได้เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยมีเป้าหมายของการบวชคือ “นิพพาน” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังคำขานนาคที่ว่า (เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง - ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว พระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น) (อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ, อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา, ปัพพาเชถะ มัง ภันเต, อะนุกัมปัง อุปาทายะ - ท่านขอรับ กระผมขอบรรพชา ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ ผ้ากาสาวะนี้ ให้กระผมบวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องสลัดออกจากความทุกข์)
คำว่า “บวช” มาจาก ป+วช แปลว่า การเว้นทั่ว, เว้นความชั่วทุกอย่าง หมายถึงการบวชทั่วไป เป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบท เดิมคาว่าบรรพชา หมายความว่าบวชเป็นภิกษุ เช่น เสด็จออกบรรพชา อัครสาวกบรรพชา เป็นต้น ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า “บรรพชา”หมายถึงการบวชเป็นสามเณร ถ้าบวชเป็นภิกษุใช้คำว่า “อุปสมบท” แต่บางครั้งก็ใช้ควบคู่กันไปว่า บรรพชาอุปสมบท
การบวช ใช้กับคนที่ปลีกตัวออกจากเรือน คือ สละชีวิตแบบชาวบ้านไปสู่วิถีแห่งบรรพชิต โดยมีความมุ่งหมายเพื่อทาให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ในตอนหนึ่ง ว่า “เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้ แน่แท้”
ดังนั้น การบวช จึงหมายถึงการนำพาตนให้พ้นไปจากภาวะของความเป็นฆราวาส ซึ่งหมายถึงการถือเพศเป็นภิกษุสามเณร ด้วยการดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสกิเลส พร้อมกันนั้นก็มีการฝึกฝนอบรมตนเองทางกาย วาจาและใจให้สูงยิ่งขึ้นไป จวบถึงภาวะของความพ้นทุกข์
การบวชต้องบวชที่แท้จริง บวชทั้งกายทั้งใจเข้าสู่กระบวนการ เข้าสู่ธรรมะวินัย เข้าสู่กระแสมรรคผลพระนิพพาน เอาตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เอาตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ การบวชหรือการสร้างวัดหรือการมีพระศาสนาถึงจะได้ยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ นาคบวชก็เป็นนาคที่อยู่ในโอวาทของพระอาจารย์สมัย เอาตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยมีพระอาจารย์สมัยเป็นหลักเป็นผู้นำ เพราะอาจารย์สมัยคือพระผู้ที่เสียสละ เอาพระธรรมเอาพระวินัยเอามรรคผลพระนิพพาน การที่จะได้มาบวชได้ฝึกอย่างนี้ก็ไม่มีโอกาส ถ้าเราไปตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามอัธยาศัยนั้น ถือว่าเราไม่ได้บวช บวชแต่กาย ไม่รู้จะไปบวชทำไม จึงต้องมาทวนกระแส มีศรัทธามีความสุขมีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติโดยการฝึกตน ให้เป็นธรรม เป็นวินัย กาลเวลาของเรามันจะได้ประโยชน์ เพราะทุกคนต้องนำตัวเองออกจากวัฏฏะสงสาร เราก็รู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว ดูด้วยตา ฟังด้วยหู รู้ด้วยใจว่า รุ่นพี่หรือรุ่นที่ผ่านมา บางทีไม่ได้ผล เสียเวลาในการบวช เพราะมีพระดีๆ มีพระเป็นตัวอย่างยาก
การบวชเป็นของยาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังพระบาลีที่ว่า ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา การได้บรรพชาเป็นของหาได้ยาก เพราะการบวชที่แท้จริง ตามความหมายแห่งธรรมก็คือ การเว้นจากการประพฤติ ที่เดิมๆ ที่เราเคยทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตนเอง ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่ยังไม่ได้บวช การบวชบรรพชาที่ได้ประโยชน์จริงๆก็คือ การไม่ทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกตนเอง ต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง เป็นหลัก ในการขัดเกลา กาย วาจา ใจ โดยการอบรมด้วยธรรมวินัย อบคือทำให้ร้อน ทำให้กิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เร่าร้อน รม คือทำให้หอม ทำให้กาย วาจา ใจ หอมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดังกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร ? พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้น คือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไรๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัยบ้าง หนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่างๆ บ้าง พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ ดังนี้
อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น
อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภสักการะและสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่า จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น
อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น
อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมะขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น
อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ อย่างที่ ๕ นี้ จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์
การบวชจึงหลายจุดประสงค์จำนงหมาย ดังคำโบราณที่ว่า บวชหลบบวชลี้ บวชหนีวัฏสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกหาบาป บวชคาบเหล็กไฟ บวชไปทำพุทธพาณิช บวชติดเรื่องโลกๆ บวชนั่งโงกงมแก่ ตามคำที่ว่ามาทั้งหมดนี้ การบวชหนีวัฏสงสาร มุ่งมรรคผลนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง เป็นการบวชที่ประเสริฐสุด พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
ที่วัดไหนไม่เอาตามพระพุทธเจ้า 100% อย่าไปบวช บวชแล้วได้บุญน้อย หรือไม่ก็ได้บาป เพราะเราทุกคนต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างนี้แหละ ต้องยกจิตยกใจเข้าสู่ภาคสนาม ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ คนเราต้องมีฉันทะมีความพอใจในการกระทำ อิทธิบาทธรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในสิ่งทั้งปวง อย่าไปบวชเหมือนที่ส่วนใหญ่เขาทำกัน การบวชเน้นที่จิตที่ใจ ไม่ได้เน้นที่กายภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแห่รอบโบสถ์แห่รอบศาลา ไม่ได้จัดงานบวชมีกินเลี้ยงมีมหรสพ ถ้าทำอย่างนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า การบวชต้องทำง่ายๆ เรียบง่ายมากที่สุด เน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา เน้นที่การปฏิบัติ ยังไงช่วง covid มารวมตัวกันเยอะก็ไม่ดี ต้องเข้าใจ พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนต้องเข้าใจ ให้คิดในใจเลยว่า ลูกของเรานี้โชคดี ได้มาประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เราจะจัดงานแบบเอาหน้าเอาตาไปทำไมกัน หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ว่า
แม้แต่พิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่า การจัดสำหรับคาวหวานผลหมากรากไม้เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีได้ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด
พิธีรีตองต่างๆ ทำนองนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้าง ก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้ว ไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้
เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป เช่นการบวชก็กลายเป็นเรื่อสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆ ที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น ในบางถิ่นบางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วย เป็นการหาทางร่ำรวยเสียคราวหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือทำลายศาสนา
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่ วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทาง จนกระทั่งบัดนี้เลยมีเนื้องอก ก้อนโตๆ อย่างมากมาย
ให้ทุกท่านพากันรู้จัก ทั้งผู้ที่บวชเป็นพระ เป็นแม่ชี ผู้ถือศีล ประชาชน ว่าเราจะปฏิบัติยังไงในการดำเนินชีวิต พระพุทธเจ้าผู้ที่ประเสริฐบำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาบอกมาสอน ให้ทุกคนพากันปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน เพราะความสุขความดับทุกขืไม่ได้อยุ่ที่อนาคต มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันคิดกระทำสิ่งใด อนาคตก้เป็นไปอย่างนั้นเพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง เราต้องรู้จักความดับทุกข์ชั่วคราว และ ความดับทุกข์ถาวร
ความดับทุกข์ชั่วคราวได้แก่ ข้าวของ เงินทอง ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ยานพาหนะที่มีเงินมีสตางค์อย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่าความดับทุกข์ชั่วคราว ความดับทุกข์ที่ถาวร ได้แก่ จิตใจของเราที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องมาพัฒนาที่ใจ มาแก้ที่จิตที่ใจ พร้อมกันการดำรงชีพไปพร้อมๆ กัน ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ เราดูคนประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเขมร ประเทศฝรั่ง เขาไม่รู้จักความดับทุกข์ที่เป็นอมตะถาวร เขาเอาแต่ความดับทุกข์ชั่วคราว แล้วยังสร้างปัญหาให้กับตัวเอง ให้ทุกคนพากันเข้าใจ พากันตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เราจะได้มีพระรัตนตรัยในบ้าน ในครอบครัว ในที่ทำงานของเรา ขอให้ทุกท่านทุกคนรู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราถึงจะแก้ปัญหาได้ดี ได้ถูกต้อง
หายใจเข้าให้รู้ชัดเจน หายใจออกให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ มีความสุขในการทำงาน เสียสละ เน้นเข้าหาปัจจุบัน คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ คิดก่อนใช้จ่าย ใช้เงิน ใช้สตางค์ เน้นที่ปัจจุบัน อย่าเป็นคนตามอารมณ์ตามกระแส จะเป็นคอมมิวนิสต์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เป็นประชาธิปไตยก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่เอาธัมมาธิปไตย เราต้องรู้จักธรรม สภาวะธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย พัฒนาทั้งไอคิวคู่กับความเสียสละ พัฒนาอีคิวคือความประพฤติที่จะเอาธรรมะเป็นหลัก พัฒนาทั้งอาร์คิว
ต้องเข้าใจในคำว่า พระศาสนา เราทุกคนจะได้มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์อยู่ในตัว เพราะเราทำถูกต้องมันขลัง มีศักดิ์สิทธิ์ เราจะไปหาภายนอก พระธาตุภายนอก เพราะว่ารูปพระพุทธเจ้ามันก็ขลัง ศักดิ์สิทธ์อยู่แล้ว เราไม่ต้องเอาพระธาตุอะไรไปใส่เดี๋ยวมันยุ่ง เดี๋ยวเขาให้พระธาตุปลอมไปใส่ในพระแก้ว พระทองคำ เพราะพระมันศักดิ์สิทธ์ในตัวอยู่แล้ว เราทุกคนต้องกราบพระ ไหว้พระ สวดมนต์ ไม่อย่างนั้นมันก็อยู่ระดับเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน (พูดเรื่องความสมัครสมานสามัคคี) พัฒนาใจของเรา
ทุกคนให้เป็นพระ อย่าไปตามสัญชาตญาณ มันเกิดขึ้นมาอยากมีสามี ภรรยา หากินของอร่อย สุดท้ายก็ แก่ เจ็บ ตายไปเฉยๆ ไม่ได้เกิดสติ เกิดปัญญา เดี๋ยวก็ไปบ่นว่ามันทุกข์ สร้างปัญหาให้กับตัวเอง เราต้องพัฒนาใจของเรา ทุกๆคน เดี๋ยวนี้สามารถที่จะฟังธรรมตามอินเตอร์เนตที่หลวงพ่อบอกสอนทุกวันได้ ทุกคนต้องรู้จักประหยัด เอาความดับทุกข์ที่ใจ ใจที่มีสติสัมปชัญญะ ใจที่ไม่ปล่อยให้ตัวเองฟุ้งซ่านปรุงแต่ง จนสมองมันระเบิด จนมันอกแตกตาย บางสิ่งมันจะกลายเป็นความสุขทางกาย ไม่ได้พัฒนาความสุขทางจิตใจเลย
เหมือนพระพุทธเจ้า ท่านให้ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว ถ้าฉันสองครั้งก็คือพระป่วย พระแก่ๆ พระหนุ่มๆก็ทำตาม จนมีประเพณีฉันเพล เช่น น้ำปานะนี้สำหรับพระป่วย ที่ท่านทำอย่างนี้เพื่อที่จะให้ทุกคนได้พัฒนาจิตใจ ไม่ใช่มันเหนื่อยนิดเดียวก็พากันไปฉัน ไปดื่มเลยไม่ได้พากันทำใจให้สงบ ปฏิปทาที่ย่อหย่อนอ่อนแอทำให้กลายไปในทางที่อ่อนไป อย่างพระนี้ไม่ให้รับเงิน รับสตางค์ ให้โยมปวารณาเอง ว่าขาดเหลืออะไร ไม่ให้เก็บเงิน เก็บตังค์ เพื่อให้ทุกคนได้ทำจิตทำใจ ใจของเราจะได้ไม่มีอะไรแอบแฝง ความใจอ่อน อ่อนแอนี้มันทำให้เราตกต่ำไปเรื่อยๆ พระกรรมมัฏฐานรุ่นเก่าๆปฏิปทาเคร่งครัดมาก ไปไหนก็ต้องเดินไป ไม่ขึ้นรถ ไม่ขึ้นเรือ ถ้าใจอ่อนก็ต้องให้เอาเงินใส่กาน้ำ แล้วกลายมาใส่ในย่าม พอมาใส่ในย่ามก็บอกไม่ได้จับเงิน มันเลยอ่อนไปเรื่อยๆ
ปฏิปทามันกลายพันธุ์มา มันเสื่อมไปโดยไม่รู้ตัว เพราะอะไร พระพุทธเจ้าท่านวางหลักการไว้ดีอยู่แล้ว ให้พระฉันวันละครั้งเพื่อจะได้ทำใจ พูดเรื่องอาหาร น้ำปานะ คนเราถึงแม้มันจะเหนื่อยถ้าเราไปคิดมันก้ไม่มีทุกข์อะไร นั่งทั้งคืนไม่คิดว่าเหนื่อยมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม จะยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ มันก็มีแต่ความสุข ความดับทุกข์ ไม่เกี่ยวอะไร พระพุทธเจ้าท่านถึงมีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทำไมฉันวันละครั้งมันไม่หิวหรอ ? เพราะความปรุงแต่งมันบีบคั้นทุกคน ธาตุขันธ์มันกดดัน บางคนอดข้าวหลายๆ วัน 1 เดือน หรือ 2 เดือน หรือ 3 เดือน ไม่ฉันข้าว ถ้าใจเขาสงบ ใจเขารู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ เขาก็จะเหนื่อยน้อยหรือผอมน้อย
พวกยาอย่างผลมะขามป้อม ผลสมอ มันค่อยๆ กลายไปเรื่อย บางทีอยากจะให้อร่อยๆ ก็มาตำ เลยเอาหลายอย่างมาทำปรมัตถ์ สมอก็เอาไปเชื่อม มะขามป้อมก็เอาไปเชื่อม เอาไปแช่อิ่ม มันเลยกลายไปอาหารไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนแต่ก่อนประเทศไทยพระยังไม่ฉันโกโก้ มีพระฝรั่งมาบวชในประเทศไทยก็พาพระไทยดื่มโกโก้ โกโก้มันไม่อร่อยก็ใส่เนยเทียม พัฒนาไปเรื่อย มันจะค่อยๆ กลายไปเพราะเราใจอ่อน ที่จริงข้าวต้มนี้ให้สำหรับคนป่วย ไปๆ มาๆ ก็เลยเป็นฉันเพล พระดังๆ ในเมืองไทยไปเมืองนอกกลายเป็นฉันสองเวลา คือเช้ากับก่อนเที่ยงไปโดยไม่รู้ตัว
ให้เรามีสติ มีสัมปชัญญะ เราไม่จำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือ มีโทรทัศน์ เราเป็นพระที่มาบวชใหม่ เราก็มีอาการที่วิ่งมาตามความเร็วสูงแล้วมาหยุด มาจะกระอักเลือด อกแตกตาย มันจะเป็นครั้งแรกที่ใจมันชอบวุ่นวาย มันไม่ชอบความสงบ มันไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ มันตามอารมณ์ ตามความคิด พวกนี้สมองมันจะระเบิดกระอักเลือด ดึงมาหาอานาปานสติ เพราะต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์หรือเป็นเดือน ที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง มันจะค่อยๆนิ่งลงๆ แล้วเข้าถึงความว่างจากความเคยชิน ว่างจากตัวตน ต้องอาศัยเวลา
ถ้ารู้หลักการ ก็จะรู้อาการใจเป็นอย่างนี้ อาการกายเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้เอง สติสัมปชัญญะมันถึงจะสมบูรณ์
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ย่อหย่อนอ่อนแอ ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะบวชหลายปี หรือว่าเป็นพระเถระ ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็มีแต่สร้างกรรมให้แก่ตัวเองและเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้ สัจธรรม คือ ความจริง เค้าไม่ได้มีว่าพระเก่า พระใหม่ ถ้าใครไปจับไฟก็ร้อนทั้งพระใหม่ พระเก่า
ส่วนใหญ่ผู้ที่มาบวชถ้าไม่เอาธรรมไม่เอาวินัย ไม่มุ่งหวังผลพระนิพพาน ศีล 5 ก็ไม่ได้หรอก เพราะมันยังโกหกประชาชนอยู่ มันยังโกหกพระพุทธเจ้าอยู่ ยังไม่ได้กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ศีล 5 ก็ไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เต็มที่เต็มร้อย ศีลข้อที่ 4 ก็เป็นข้อที่โกหกหลอกลวงอยู่แล้ว ภิกษุที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีล 5 ก็ไม่ได้หรอก ให้เข้าใจอย่างนี้นะ ถ้ายังคิดตามใจไปในเรื่องอะไรต่างๆ คือยังเสพกามทางใจ ถ้ามันเสพทั้งทางกายก็นับว่าหยาบเกินแล้ว พระพุทธเจ้าจึงให้เน้นธรรมะมาที่ใจมาที่เจตนา อันไหนไม่ดีไม่คิด เราจะได้หยุด เสพกามทางจิตใจ ทุกคนจะได้บวชใจ เรามาบวชแล้ว ถ้ายังคิดในเรื่องผู้ย่าผู้หญิงเรื่องกินเรื่องเที่ยว นี่คือใจยังเสพกาม อันนั้นมันคือระบบทางจิตใจที่มีความชั่ว เป็นระบบครอบครัว ที่ใจมันยังไม่ได้บวช คนเราถ้าใจยังไม่ได้บวช บวชแต่ทางกายมันก็เผาตัวเอง ถึงต้องให้เราได้บวชได้อุปสมบททั้งกายทั้งใจจริงๆ อย่าให้มันเป็นแค่ศาสนพิธี บวชมาแล้วเวลาสึกไปก็ต้องต่อยอดไป เพราะชีวิตเราคือชีวิตที่ประเสริฐ ต้องปฏิบัติต่อเนื่องกันไปอย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พยายามทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ให้มีความสุข กายอยู่ที่ไหนก็ให้ใจมันอยู่ที่นั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขาดสติ ๑ นาที ก็บ้า ๑ นาที อย่าไปหลงทางวัตถุ เราหลงมาหลายภพหลายชาติแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปโง่ ให้วัตถุกามคุณมันเผาจิตเผาใจ ต้องหยุดตัวเอง อดกลั้นอดทน ถ้าเราไม่อดกลั้นอดทน จิตใจของเรานี้ไม่มีทางที่จะสงบ ไม่มีทางที่จะเย็นได้ เพราะจิตใจของเรามันตกอยู่ในอำนาจของความมืด คือกามคุณทั้งหลาย มันหลงวัตถุ ของออกมาใหม่ๆ มันก็ยิ่งหลง
เรามาบวชมาปฏิบัตินี้ต้องตัดใจ ต้องข่มใจ ฝืนกิเลส ฝืนใจของตัวเอง ทำทุกวัน ปฏิบัติทุกวัน "ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ 'ความรู้เราท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด' เพราะไม่มีการปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจ" ต้องเอาสติสัมปชัญญะมาฝึกกาย นั่ง เดิน บริโภคอาหารก็ให้รู้แล้วก็ให้มันสงบ อย่าให้มันวุ่นวาย เพราะใจของเรานี้มันหยุดไม่เป็น มันสงบไม่เป็น บังคับตัวเองให้มันเย็นไว้นะ ที่เราว่าขยัน มันยังไม่ขยัน ที่มันกลัวยากลำบาก กลัวเจ็บ กลัวปวด แสดงว่าเรายังไม่ขยัน
'โลกส่วนตัว โลกอัตตาตัวตน' พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนหยุดไว้ก่อน ให้มาปรับใจเข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ เราทุกคนพ่อแม่เราก็ดีใจ ญาติพี่น้องเราก็ดีใจ ว่าลูกหลานมาประพฤติปฏิบัติธรรมะคงจะช่วยให้เราดีได้ เจริญได้ ทุกท่านเค้าพากันคิดอย่างนี้นะ
บวชมาทุกคนเค้ากราบเราหมด ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้สมกับการที่รับกราบ รับไหว้ รับอัญชลี เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็ไม่ค่อยเจริญ อุปสรรคปัญหามาก ถ้าเราบวชมาเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็เจริญ แล้วในชีวิตประจำวันก็เจริญไปด้วย ทุกอย่างนั้นมันก็จะดีหมด เพราะธรรมะช่วยเราได้บุญกุศลที่จะได้ส่งถึงพ่อแม่ บูชาพระคุณบุคคลที่ประเสริฐ จึงต้องบวชบวชให้มันได้บุญจริง เพราะการประพฤปฏิบัติมันมีผล มันมีความหมาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ประเสริฐมาก
ดังนั้น ผู้บวชจึงต้องมีความเคารพรักในพระธรรมวินัยมากๆ มุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการบวช เพราะการบวชเป็นพระ เป็นสมณะนั้น เหมือนดาบสองคม ดังพระบาลีที่ว่า “กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ นิรยายูปกฑฺฒติ” หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือฉันใด ความเป็นสมณะที่ลูบคลำไม่ดี คือประพฤติไม่ดี ย่อมฉุดคร่าลงในนรกฉันนั้น
บวชนานไม่นานไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้บวชมาแล้ว มีเจตนาตั้งใจในการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ พระบวชนานถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็สู้พระใหม่ๆ ที่บวชระยะสั้นแต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ ผู้มีความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง