แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราต้องรู้จักหน้าตาสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่น เอาตัวเอาตนเป็นใหญ่ เราต้องมาอาศัยศีลสมาธิปัญญา ในการเสียสละ สำหรับประชาชนก็คือศีล 5 สำหรับพระก็คือศีล 227 ในพระปาฏิโมกข์ 21,000 พระธรรมขันข์มีในพระวินัยปิฏก ทุกคนถ้าเราจะเอาสักกายทิฏฐิ เอาตัวเอาตนอันนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันผิดพลาด ถือว่าเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่มีใครเก่งหรอก ถ้ามีตัวมีตน จึงต้องละ สักกายะทิฏฐิ พากันมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน
เราทุกคนต้องเข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เข้าสู่พระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ไว้ก่อนแล้ว เราจะได้เป็นผู้งามในเบื้องต้นคือศีล คือธรรมมะวินัย งามในท่ามกลางคือความตั้งมั่นหนักแน่น เค้าเรียกว่าอยู่ที่ทาง super highway เราไม่ต้องเป็นคนใจอ่อน ที่เราทำมาตลอดหลายแสน หลายล้านชาติ มันทำไม่ถูก เพราะเราไปแก้ปัญหาตั้งแต่ภายนอก เราวิ่งตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ทำให้ตัวเราเสียหาย ทำให้ครอบครัว ประเทศชาติเราเสียหาย ทุกคนต้องกลับมาหาสติ หาสัมปชัญญะ ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชน ทุกคนก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะทุกอย่างมันต้องไปอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี
เราต้องรู้จักพระศาสนา พระศาสนาคือความสุข ความดับทุกข์ คนเราจะมีความสุข ความดับทุกข์ได้ก็เพราะละสักกายะทิฏฐิ ละตัว ละตน มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม เห็นว่าทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป มันไม่แน่ ไม่เที่ยงอะไรสักอย่าง เราก็ถือโอกาส ถือเวลา ที่อายุขัยของเราไม่เกิน120 ปี ก็ต้องจากโลกนี้ไป ให้ทุกท่านทุกคนพากันมีฉันทะ มีความพอใจ มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันของเรา ที่ดำเนินชีวิต เราจะเอาแต่รวย เอาแต่สะดวกสบาย อันนั้นมันเป็นเพียงยารักษาโรค บรรเทาทุกข์ ไม่ใช่งานหลัก เราต้องเข้าใจ สงสารเรา สงสารญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเรา เราพากันหลงผิดทางอะไรอย่างนี้ไม่ได้
ทางโลก ทางธรรมต้องไปพร้อมกัน ทางโลก หมายถึงร่างกาย ทางธรรม หมายถึงจิตใจ พัฒนาไปพร้อมๆ กัน เราต้องมาเข้าหาทางของพระพุทธเจ้า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง โดยคนเราต้องไม่คิดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ ต้องมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้า หายใจออกก็ให้มันชัดเจนอย่างนี้ กุศลก็คือเราทำ เราไม่โง่แล้ว เราฉลาดแล้ว ไม่ตามอารมรณ์ไป ไม่ตามความคิดไป เรามามีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ เข้าสู่ไลน์อย่างนี้ ถ้างั้นใจของเรามันเป็นแก็งค์ เป็นโจร เป็นมหาโจรนะ เราไม่ต้องไปหาโจรที่อื่นหรอก มันเสียเวลา เราไม่ต้องไปแก้คนอื่น เพราะคนอื่นก็เรื่องของเค้า ให้เค้าแก้ของเค้าเอง เราไม่ต้องไปคุมคนอื่น ตัวเองยังคุมตัวเองไม่ได้ ไปคุมคนอื่นมันก็ไม่ได้หรอก เดี๋ยวฟันเราหาย พวกนั้นนะถ้าจะวัดกำปั้น มันหนักกว่าเราอีก
ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเจ้าหัวขโมยคนหนึ่งรูปร่างซอมซ่อมอซอ นอนคลุมโปงอยู่ในศาลาริมทางใกล้ประตูเมืองโดยมีเท้าเปื้อนโคลนตมโผล่มานอกผ้า ถึงเช้าก็ยังไม่ตื่น คนเดินผ่านไปมาก็เห็นเขา แต่ไม่มีใครสนใจและคร้านที่จะคุยด้วย เพราะคิดว่าเป็นคนจรจัดเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ไม่มีที่ทางเป็นหลักแหล่ง แต่ปรากฏมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุมงคลเป็นคนใจบุญมาก และชอบใจในการบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างถาวรสถานมากมายในพระพุทธศาสนา โดยไม่มีความเสียดายในทรัพย์สักนิด ประวัติคร่าวๆ ของเศรษฐีสุมงคลได้สร้างวิหารขึ้นในเนื้อที่หลายร้อยไร่ สวยงามอลังการ ขนาดพื้นที่วัดยังปูด้วยอิฐทองคำเต็มพื้นที่ทั้งหมด เสร็จแล้วจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่
วันหนึ่งเศรษฐีใจบุญคนนี้ได้มุ่งหน้าไปวัดเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่เช้าตรู่ เผอิญเดินผ่านไปทางที่โจรนั้นนอนคลุมโปงอยู่ก็พูดขึ้นคนเดียวว่า เจ้าคนนี้มีเท้าเปื้อนโคลนตม คงจักเป็นคนนักเที่ยวยามค่ำคืน แล้วกลับมานอน
เจ้าหัวขโมยได้ยินเสียงของเศรษฐีก็เปิดหน้าดูว่าใครกันที่กล้าว่าตนขนาดนี้ เมื่อรู้แล้วก็ผูกพยาบาทอาฆาตและคิดหาทางเอาคืนเศรษฐีให้สาสมแก่ความแค้นที่ฝังลึก
สิ่งแรกที่โจรเจ้าอารมณ์มุ่งหมายคือ ต้องการทำให้เศรษฐีเสียใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งถ้าน้ำตาไหลออกมาเป็นสายเลือดได้ก็คงจะสมแค้น
เขาเริ่มต้นแผนร้ายด้วยการไปเผานาข้าวของเศรษฐีเป็นพันเป็นหมื่นไร่ โดยอาศัยจังหวะที่ข้าวออกรวงเหลืองอร่าม รอวันเก็บเกี่ยวรอมร่อแล้วจัดการเผาให้วอดในพริบตา
จะกี่ครั้งๆ จนครั้งที่ 7 เศรษฐีก็ไม่ได้แสดงความเสียใจออกมาให้เห็นแม้แต่ครั้งเดียว ก็ยิ่งทำให้เจ้าหัวขโมยโกรธแค้นเศรษฐีมาก รอโอกาสทำการแก้แค้นด้วยวิธีการอื่น โดยการไปตัดเท้าโคของเศรษฐีจนหมดคอก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐีสะทกสะท้านใจ
เศรษฐีได้สั่งซื้อโคเข้ามาเลี้ยงใหม่ก็ถูกเจ้าโจรตัดขา ทำอย่างนี้ 7 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเคียดแค้นใจให้เศรษฐีแม้แต่นิดเดียว (โอ้ จิตใจทำด้วยอะไรเนี่ย) กลายเป็นว่าความเคียดแค้นใจได้บังเกิดขึ้นในใจของโจรขี้โกรธแต่คนเดียว เขาเต็มไปด้วยโทสะ เฝ้าคิดร้ายต่อผู้อื่น เมื่อเศรษฐีไม่โกรธไม่สนใจ ตนเองกลับยิ่งทุรณทุรายด้วยความแค้น
ความโกรธเกิดขึ้นในใจแทบคลั่ง ทำให้โจรชั่วต้องคิดหาวิธีที่ลึกซึ้งกว่านั้นด้วยการไปตีสนิทกับคนใกล้ชิดของเศรษฐีเพื่อต้องการถามถึงสิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดในชีวิต และคำตอบที่ได้จากคนใกล้ชิดของเศรษฐีที่โจรชั่วต้องการก็สัมฤทธิ์ เพราะเขารู้แล้วว่าสิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นพระคันธกุฎีที่เศรษฐีสร้างถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า
เจ้าหัวขโมยสกปรกนึกกระหยิ่ม คิดว่าเห็นทีแผนการครั้งนี้จักต้องสำเร็จซะที ว่าแล้วก็รอโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกไปบิณฑบาต เข้าพื้นที่จัดการทุบหม้อน้ำดื่ม น้ำใช้ และจุดไฟเผาพระคันธกุฎี ก่อนจะหลบหนีไปดักซุ่มดูความเคลื่อนไหวของเศรษฐีเพื่อดูอาการของเศรษฐี
ฝ่ายเศรษฐีเมื่อรู้ข่าวพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้จึงรีบเดินทางมาดู แต่แทนที่เศรษฐีจะแสดงออกถึงความเสียใจ มีน้ำตาเล็ดลอดออกมา เศรษฐีก็ได้ทำ|สิ่งที่คนทั้งหลายไม่คาดคิดด้วยการปรบมือหัวเราะอย่างมีความสุข
สร้างความงุนงงปนแปลกใจให้กับหมู่คนที่มามุงดู รวมถึงเจ้าโจรสกปรกนั้นด้วย จนทำให้คนคนหนึ่งในนั้นต้องถามเศรษฐีว่าพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ขนาดนั้นทำไมต้องปรบมือหัวเราะด้วย
และคำตอบที่ทุกคนได้ยินก็คือการที่เขาต้องหัวเราะและปรบมือนั้น เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างพระคันธกุฎีหลังใหม่ถวายพระพุทธเจ้า คราวนี้เราจะสร้างพระคันธกุฎีใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก
โจรได้ยินเช่นนั้น เมื่อทีเด็ด ถูกเศรษฐีเด็ดทิ้งอย่างง่ายดาย ก็แค้นใจอย่างหนัก เฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเศรษฐีให้ได้ เมื่อเศรษฐีสร้างกุฏิหลังใหม่เสร็จ ก็จัดงานฉลอง โจรได้ช่องทาง จึงเหน็บมีดปลายแหลมไว้ หวังจะลอบสังหารเศรษฐี แล้วแทรกตัวปะปนมากับฝูงชน ฝ่ายเศรษฐี ปลื้มปีติใจในผลแห่งทานนี้มาก ประกาศกับฝูงชนว่า "ท่านทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าได้บุญใหญ่ในวันนี้ ก็เพราะมีคนได้เผาพระคันธกุฎีหลังเก่าไป ถ้าหากไม่มีเขา ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้บุญใหญ่เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าจึงขอแบ่งส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"
โจรร้ายได้เห็นน้ำใจของเศรษฐี ก็ละอาย เสียใจในความผิดของตน จึงเข้ามาคุกเข่ากราบขอขมาท่านเศรษฐี เศรษฐีก็ให้อภัย การฉลองก็ดำเนินต่อไป ต่อมาโจรขอฝากตัวเป็นลูกน้องเศรษฐี แต่เศรษฐีปฏิเสธ บอกว่า แค่พูดนิดเดียวโจรโกรธขนาดนี้แล้ว ต่อไปถ้าเป็นลูกน้อง ตนจะไปตำหนิอะไรโจรได้ เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด
ผลแห่งกรรมชั่วนั้น ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต (เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว พุ่งสูงขึ้นเท่าต้นตาล ทำการเผาร่างของอชครเปรตอย่างมิปราศรัยเหมือนหนึ่งว่าต้องการจัดการร่างนั้นให้ย่อยยับในพริบตา สาเหตุแห่งกรรมที่นำให้มาเกิดเป็นอชครเปรตนั้น มาจากความเป็นบุคคลที่มีจิตโกรธแค้น การผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้ายในบุคคลที่ไม่มีจิตคิดร้ายต่อตัวเอง ทำให้ต้องมาเกิดเป็นเปรตดังกล่าว
พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมของเปรตนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาลทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ แต่ภายหลัง เร่าร้อนอยู่เพราะกรรมอันตนทำแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฺฌติ เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ.
อันคนพาล ทำกรรมทั้งหลายอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ (สึก) บุคคลมีปัญญาทราม ย่อมเดือดร้อน ดุจถูกไฟไหม้ เพราะกรรมของตนเอง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อถ ปาปานิ ความว่า คนพาลหาใช่ทำบาปทั้งหลายด้วยสามารถแห่งความโกรธอย่างเดียวไม่ แม้ทำอยู่ก็ไม่รู้สึก แต่เมื่อทำบาปอยู่ จะชื่อว่าไม่รู้ว่า "เราทำบาป" ย่อมไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ย่อมไม่รู้" เพราะความไม่รู้ว่า "ผลของกรรมนี้ มีชื่อเห็นปานนี้."
ผลมาจากสักกายทิฏฐิตัวเดียว ที่ยึดมั่นถือมั่นว่า เขาว่าให้เรา เขาด่าเรา ที่ทำให้เขาได้รับวิบากกรรมเห็นปานนี้ เพราะมีเรามีเขาจึงมีปัญหา เมื่อหมดเราหมดเขาก็จะหมดปัญหา
ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ถือว่ายังเป็นเสขบุคคล คือบุคคลที่ยังต้องศึกษาและประพฤติปฏิบัติ ทุกคนพากันทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกของตัวเอง อย่างนี้พระพุทธเจ้า ตรัสว่ายัง ตั้งอยู่ในความประมาท ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน เป็นผู้ที่ยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นผู้ไม่มีที่พึ่งที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่เราทุกคน พากันพึ่งวัตถุ เป็นส่วนใหญ่ นอกจากพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ถึงจะมีที่พึ่ง เป็นผู้รู้ทาง กำลังก้าวไปตามทางสายกลางที่เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
เราสังเกตดู พระภิกษุเราส่วนใหญ่ยังเข้าสมาธิกันไม่ค่อยได้ มีแต่พากันตามนิวรณ์...ไป พระเก่าพระใหม่ส่วนใหญ่ก็ยังเข้าสมาธิกันไม่ได้ งานของนักปฏิบัติธรรมก็มีดังที่ได้กล่าวอธิบายไว้เมื่อวานนี้ ผู้ที่บวชมา ต้องพากันมาเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ที่เรียกกันว่าวัดๆ ไม่ได้หมายถึงกุฏิวิหารลานเจดีย์ ที่พักที่อาศัยนะ วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 เรียกว่าวัตรปฏิบัติ ที่อยู่ที่อาศัยเสนาสนะเรียกว่าอาราม ยังไม่ใช่วัดยังไม่ใช่ข้อวัตรปฏิบัติ
เราต้องมาตัดความกังวลอันเป็นปลิโพธออกไป ...เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ 10 อย่าง ที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปลิโพธ (ความกังวล) 10 ปลิโพธ เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเหตุกังวล, ข้อติดข้อง; ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดีมี ๑๐ อย่าง คือ ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่ ๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฎฐาก ๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ ๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ ๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงานเช่น การก่อสร้าง ๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื้อด้วยกิจธุระ ๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วย เป็นต้น ๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน ๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนา เท่านั้น)
เพราะฉะนั้น ตัดความกังวลให้หมด เวลาเราจะปฏิบัติกรรมฐาน ให้คิดว่าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง นอกจากธรรมะเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง ผู้อื่นไม่สามารถช่วยอะไรได้ เราเป็นผู้ผู้เดียวเท่านั้น ที่จะสร้างที่พึ่งให้แก่ตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า แนวความคิดในการตัดปลิโพธ ความห่วงกังวล ต้องตัดไปให้หมด อย่าไปมัวพะวงห่วงนั่นห่วงนี่ เพราะถ้ามัวห่วงกังวลก็จะทำให้กรรมฐานไม่ก้าวหน้า
การปฏิบัติกรรมฐาน ต้องมีตัวเองเป็นที่พึ่ง เรียกว่า การตัดปลิโพธ โดยปลิโพธ ก็มีทั้งการห่วงอาวาสที่อยู่ ห่วงตระกูล ห่วงลาภ ห่วงหมู่คณะ ห่วงการงาน ห่วงการเดินทางไกล ห่วงญาติสนิทมิตรสหาย การเจ็บป่วย หรือแม้แต่การศึกษาเล่าเรียน เป็นรูปแบบฉบับที่ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้อธิบายในเชิงปฏิบัติ คือ เลิกห่วงชาวบ้าน แล้วก็ห่วงตัวเองให้มากๆ เพราะว่าตัวเราเองนั้น ถ้าตายก็ยังไม่แน่ใจได้เลยว่าจะพ้นนรกหรือเปล่า เพราะว่าเรายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ก็ต้องตัดปลิโพธในเชิงปฏิบัติ
เราจะตัดปลิโพธ...ความกังวลได้ เราต้องสละคืนสักกายทิฏฐิ ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา เราต้องคืนสู่ธรรมชาติคืนสู่ธรรมชาติ เมื่อสมัยครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าแสดงธรรม แจ่มแจ้งไพเราะเพราะว่าทรงแสดงออกจากใจออกจากพระนิพพาน คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็บรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน ในขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมก็ส่งกระแสจิตไปตามกระแสเสียงแห่งพระธรรมเทศนา อันเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาในพระตถาคตเจ้า ที่เป็นตถาคตโพธิศรัทธา เจริญปัญญาในขณะนั้นๆก็ได้บรรลุธรรมกันมากมาย ถึงแม้คนที่หัวไม่ดีก็บรรลุธรรมได้ คนเราไม่ต้องไปรู้อะไรมากมายหรอก แต่ให้รู้ความจริง มีหนาวมีร้อนมีกลางวันกลางคืนมีสุขมีทุกข์มีดีใจมีเสียใจ มีสมหวังมีผิดหวัง ถ้าเราฟังโอวาทธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เกิดความศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ที่พระองค์ทรงสอน ว่าอย่าไปคิดแบบนี้ อย่าไปพูดแบบนี้ อย่าไปทำแบบนี้ มันก็เป็นของง่ายๆ เมื่อคนเรามีศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใส มีความไว้วางใจ ก็พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม
การบรรลุธรรมเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องของเจตนาของความตั้งใจ เป็นเรื่องสลัดคืนซึ่งตัวซึ่งตน เป็นความเบื่อหน่ายที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะการเกิดบ่อยๆ มันเป็นภาระเป็นทุกข์ ความเกิดมาจากไหนล่ะ ความเกิดก็มาจากใจของเรานั้น ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไป เป็นสาเหตุแห่งความเกิด เราต้องพากันเข้าใจนะ การประพฤติปฏิบัติธรรม มันก็ไม่ใช่ของยาก ที่มันยาก เพราะเราจะไปเอาตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของเรา มันเลยกลายเป็นของยาก เพราะว่าพระนิพพานไม่ใช่เรื่องตามใจของตัวเอง ไม่ใช่ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตัวเอง
ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกัน ผู้ที่มาบวชทั้งผู้ที่อยู่ที่บ้านก็ยังไม่เข้าใจ เราดูการดำเนินชีวิตของบรรพชิตและของประชาชน อย่างพวกมีการเรียนการศึกษา อย่างพวกที่เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีอย่างนี้ ทุกคนก็แสวงหาสิ่งที่เป็นการตามใจของตัวเอง เป็นนายทุน พระภิกษุก็เป็นนายทุน พากันลงทุน ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่จุดมุ่งหมายไม่ได้มุ่งมรรคผลพระนิพพาน หวังในกามหวังในวัตถุ
การเรียนการศึกษาก็เป็นการลงทุน เพื่อหวังในกาม หวังในวัตถุ มนุษย์เราถึงมีปัญญาไม่สมบูรณ์แบบ ทีนี่แหละ ความเห็นผิดเข้าใจผิดมันไปเล่นงานเราทีหลังนะ เช่น พ่อตายแม่ตาย ญาติพี่น้องตาย ที่นี่แหละมีความทุกข์สารพัด อันเกิดจากการพลัดพรากจากคนรักของรัก เขาไม่ยกยอปอปั้น เขาไม่เคารพนับถือ อย่างนี้มันเครียด ก็เป็นทุกข์ เพราะว่าไม่มีธรรมะเลย มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น มีแต่อวิชชา มีแต่ความหลง ตามที่เรามีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องมันเล่นงานเรา ทุกคนถึงต้องพัฒนาทั้งสองอย่างพัฒนาทั้งการเรียนการศึกษาการทำงานและพัฒนาใจไปพร้อมๆกัน ต้องพากันฝึกสมาธิให้มากขึ้น สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นในธรรมในพระนิพพาน ต้องกลับมาหาตัวเองว่า ศีล 5 ของเรานี้หน่ะ ที่ได้ตั้งใจ ตั้งเจตนา มันเต็ม 100% หรือยัง ถ้ายังไม่เต็ม 100% หน่ะ มันเป็นพระอริยะเจ้าไม่ได้นะ ชื่อว่าเรายังมีอวิชชายังเป็นคนหลงอยู่นะ ถ้าเราคิดว่าปฏิบัติขนาดนี้พอไหม คิดแบบนี้แสดงว่ามันยังไม่พอหรอก เหมือนคนที่สงสัยตัวเองว่า ปฏิบัติธรรมได้ขั้นไหนแล้วหน่ะ แล้วไปถามครูบาอาจารย์ ถ้ายังมีความคิดแบบนี้ มันลังเลสงสัยอยู่ ยังมีวิจิกิจฉาอยู่
ศีล 5 ของเราต้องให้ได้ 100% ศีล 8 ที่เรารักษาก็ต้อง 100% อย่าให้มันดำๆ ด่างๆ มัวๆ หรือว่าลังเลสงสัยในศีล 227 อย่างนี้เป็นต้น เราจะได้สร้างวัดที่แท้จริงคือวัตรปฏิบัติ ทุกคนหน่ะ ไม่ว่าไทยจีนไม่ว่าฝรั่งทุกประเทศให้ความสำคัญของวันเกิด จัดงานวันเกิด ฉลองกัน รู้หรือเปล่าว่า ความหมายหน่ะ เราเกิดมาเป็นผู้ประเสริฐ เพื่อเราจะได้มุ่งมรรคผลนิพพาน คนเราเวลาตายมันเอาคืนมาไม่ได้นะ เวลาแก่ก็เอาคืนมาไม่ได้ เวลาผ่านไปก็เอาคืนมาไม่ได้ ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเองให้มีศีล 100% อย่าให้มีความลังเลสงสัย สัมมาสมาธิความตั้งมั่นก็เหมือนกัน เราอย่าไปคิดว่าถ้ารักษาศีลอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะทำมาหากินได้ยังไง ความคิดอย่างนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นความเห็นผิด เป็นวิจิกิจฉา มันเป็นความลังเลสงสัย เป็นสีลพตปรามาส ลูบคลำในศีล ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่หลงในตัวในตน เราอย่าไปเชื่อมัน
ชีวิตของเราชีวิต อย่างนักบวชมันไม่ต้องห่วง พระพุทธเจ้าไม่ได้พาเราห่วงเรื่องฉัน เรื่องอยู่ เรื่องอาหาร ให้เน้นที่ใจเข้าถึงจิตถึงธรรม เราจะไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องอนาคต ไม่ต้องไปสนใจเรื่องเจ้าอาวาส ไม่ต้องสนใจเรื่องประธานสงฆ์ เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง ความคิดอย่างนี้มันถือว่าโง่มาก มันปิดพระนิพพาน เขาตั้งชื่อว่าชื่อนู้นชื่อนี้ เขานินทาก็ยังเครียด เขาสรรเสริญก็ดีใจ มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์พอสมควร มันไม่ใช่ที่พึ่ง มันไม่ใช่ความฉลาด
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติที่ปัจจุบัน ปัจจุบันคือการปฏิบัติของเรา คือเราต้องพัฒนาทั้งจิตใจพัฒนาทั้งเทคโนโลยี ต้องมีความสุขในการเสียสละ คนไม่เสียสละเขาเรียกว่าคนไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ถึงจะอยู่องค์เดียวก็ดีกว่าอยู่กับมหาโจร จะให้หลวงพ่อสร้างวัดเป็นหลายร้อยวัดก็ไม่ยาก แต่จะให้สร้างเจ้าอาวาสนี้มันสร้างยาก อดีตที่ผ่านมาถือว่าเป็นประสบการณ์ ปัจจุบันเราต้องยกใจสู่ธรรมวินัย เข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน มีความสุขในการเสียสละ คนเราเสียสละไม่ได้ เขาเรียกว่า สักกายทิฏฐิ มีตัวมีตน เราเสียสละเราก็มีความสุข อันไหนไม่ดีเราไม่คิด อันไหนไม่ดีเราไม่พูด มีความสุขในการทำวัตร ทำกิจวัตร อริยมรรคมีองค์แปด เราคิดดีๆ ก็เป็นธรรม เราพูดดีๆ ก็เป็นธรรมวินัย เรากิริยามารยาทดีๆ ก็เป็นวินัย เราไม่ถือพรรคถือพวก ไม่ถือทิฏฐิมานะ เอาธรรมเอาพระวินัย เราจะได้ไม่ต้องกลัวใคร ไม่มีอะไรให้กลัว เพราะเราคิดดีๆ เราพูดดีๆ เราทำดีๆ จะเป็นปัจจุบันธรรม ต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นธรรมะ เป็นวินัย จะเป็นเหมือนหลวงปู่มั่นได้ เหมือนหลวงพ่อชา เหมือนหลวงตามหาบัว เหมือนเจ้าคุณพุทธทาสได้ เราต้องทำอย่างนี้ ให้มีความสุข
อย่าไปตามใจตัวเอง อย่าไปตามอารมณ์ตัวเอง อย่าไปตามความรู้สึกตัวเอง อย่าไปตามสิ่งแวดล้อม เพราะว่าฐานของพระศาสนามันเปลี่ยน ฐานของโลกมันเปลี่ยน ทุกคนเอาตัวตนเป็นใหญ่ ทำตามอัธยาศัย ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึก นึกว่ามันถูกต้อง มันไม่ถูกต้อง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราต้องกลับมาหาอานาปานสติ หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข คนเรามันไม่ได้อยู่ที่รวยที่จน ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันถึงจะมีความสุขมาก เดินก็มีความสุข นั่งก็มีความสุข นอนก็มีความสุข ต้องพัฒนาอย่างนี้ ที่มันแล้วก็ให้แล้วไป ช่างหัวมัน มันไม่สายหรอก คนเราถึงจะมีชีวิตอยู่แม้แต่ลมหายใจเดียว ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องดีกว่าที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปี เราต้องมีความสุข เราจะไปทำอะไรเพื่อจะเอา เพื่อจะมีเพื่อจะเป็น มันโรคประสาทพอแล้ว จะไปเพิ่มโรคประสาทอีก ตัวตนก็มีมากแล้ว จะไปเอาตัวตนมากขึ้นอีก ความเป็นพระแท้จะได้เกิดแก่เรา จักษุจะได้เกิดแก่เรา
เราเป็นแต่เพียงภิกษุผู้ขออย่างนี้ไม่เอา เราเป็นโจรในพระศาสนา พากันนุ่งผ้ากาสาวพักตร์ ปลงผมห่มผ้าเหลือง มันเป็นพระไม่ได้ เพราะพระคือพระธรรมคือพระวินัย ต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุข เทศน์ก็เทศน์ออกจากใจ ออกจากความเป็นจริง เพราะธรรมะไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ให้มันครบองค์ เรามีตาก็เพื่อฉลาด มีหูก็เพื่อฉลาด มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจก็เพื่อฉลาด ถ้าเราปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด จะปรับตัวให้เอง ถ้าเราพูดดีๆ มันไม่ตายหรอก กิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน เราไม่ต้องไปก๋าไปกร่าง คำว่าเถระ มันคือ ละตัวละตน ละทิฏฐิมานะ ไม่ได้อยู่ที่บวชนานนะ บวชนานไม่ใช่เถระเพราะยังถือนิสัยตัวเองอยู่ ไม่ได้ถือนิสัยพระพุทธเจ้า เราต้องเข้าใจอย่างนี้ เมื่อก่อนเราคิดว่าพระบวชนานคือพระเถระมันไม่จริง เราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกนั้นไม่ใช่เถระ เราอย่าไปอนุโลมพระวินัยเล็กๆน้อยๆ มันจะเป็นมหายาน นึกว่าตัวเองมีปัญญา ทิ้งพระวินัย เป็นบางส่วน ใหม่ๆ ยังมีพระอรหันต์มากก็ดีอยู่ ทีนี้พวกที่ทำตามอาจารย์ที่เป็นปุถุชนสามัญชน มันเลยเสียหาย ต้องเอาใหม่ เราต้องทวนกระแส ต้องแก้ที่ตัวเอง เราจะมีวัดอย่างโง่ๆ มีกุฏิวิหารอย่างโง่ๆ เราอย่าโกนหัว ห่มจีวรอย่างโง่ๆ เราต้องเอาปฏิปทา เอาความรู้สึกที่เป็นความรู้สึกของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้ามาไว้ในใจของเรา เราต้องทำอย่างนี้ให้มันสมศักดิ์ศรีหน่อย
ต้องมีสติปัญญา เพราะจะต้องบริโภคทุกอย่างด้วยสติ ด้วยปัญญา เราทำอย่างนี้ ทำอะไรให้มีความสุข เราคิดไปในเรื่องอะไรต่างๆ เขาเรียกว่าก่อภพก่อชาติ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ รู้จักก็อย่าไปวุ่นวาย อย่าไปปรุงแต่ง ถ้ารู้จักแล้วไปปรุงแต่ง เวลาละก็ละแบบโง่ๆ ละแบบไม่เห็นหน้ากัน ละแบบพวกข้าพวกฉัน คนเราจะเอาพระนิพพานเป็นตัวตน เราต้องรู้จักความคิดความปรุงแต่ง การละแบบปล่อยปะละเลยมันไม่ใช่ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้จัก พอรู้จักก็ไม่ต้องไปวุ่นวาย สติสัมปัชชัญญะเราไม่สมบูรณ์เพราะเรามีตัวมีตน เราต้องเข้าใจ หลวงปู่มั่นเราก็เห็นอยู่ หลวงพ่อชาเราก็เห็นอยู่ หลวงตามหาบัวเราก็เห็นอยู่ เจ้าคุณพุทธทาสเราก็เห็นอยู่ ท่านก็มีให้ดูเป็นแบบอย่าง ท่านก็มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ให้ตัวตนของเราเป็นเลขศูนย์ไปเลย อย่าไปก๋าอย่าไปกร่าง อย่าไปนั่งพิงหมอน ไม่ได้เป็นเถระอะไรหรอก เถระเดี๋ยวนี้หายาก เพราะยังถือตัวตนอยู่ ไม่ได้เอาธรรมวินัย เราอย่าไปคิดว่าไม่เป็นไร เราเดินทางสายกลางตามอัธยาศัยอย่างนี้ไม่ได้ มันเป็นตัวอย่างไม่ดี เราก็บอกโยมบอกประชาชน เราต้องพากันเดินตามพระพุทธเจ้า 100% เรามาสร้างวัดสร้างวา ถึงจะเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อส่วนรวม และต่อกุลบุตรลูกหลาน
เราไม่ได้เอาผลประโยชน์คือความหลงเป็นที่ตั้ง เราทุกคนต้องเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ ตื่นมาไม่อยากกราบพระก็ต้องกราบพระ ตื่นมาไม่อยากทำงานก็ต้องทำงาน นี้แหละมันถึงจะมีความสุข คนเรามีความสุขในการทำงาน ในการปฏิบัติธรรมเป็นอันเดียวกัน ไปแยกกันไม่ได้ เราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ทุกคนก็สร้างปัญหาให้กับตัวเอง ให้กับครอบครัว ให้เข้าใจง่ายๆอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ปฏิบัติ เดี๋ยวท่านก็ออกจากใจ ออกจากความประพฤติของท่าน ออกจากพระนิพพาน มีคำพูดง่ายๆบอกว่า ครอบครัวเรามันขี้เกียจขี้คร้านเป็นอบายมุข อบายมุขก็คือนำไปสู่อบายภูมิคือมีหนี้มีสิน เราไม่ขยัน ไม่ประหยัด ไม่ซื่อสัตย์ ไม่กตัญญู เรามันก็มีปัญหา เราไม่มีศีล ไม่มีธรรม วงศ์ตระกูลของเราก็ไม่มั่นคง ลูกหลานมันก็แย่งมรดกกัน ลูกหลานเถียงกัน มันเกี่ยวกับพ่อกับแม่ แต่ตัวเองก็มีแต่อบายมุข อบายภูมิ เรายังไม่ตายก็ตกนรกแล้ว คนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ความสุขอยู่ที่ใจของเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่ระบบแห่งการหมดหนี้หมดสิน
คนเรามีผัวมีเมียคนเดียวก็ถือว่าโง่อยู่แล้ว เราอย่าไปคิดอะไร เราต้องรู้จักความคิดความปรุงแต่ง ที่เราต้องการมีเพื่อนก็เรื่องหาผลประโยชน์ คนเราถ้ามีเพื่อนไม่ดี ก็ไม่ต้องมีเพื่อนสักคนดีกว่า เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็มีอยู่กับเราอยู่แล้ว พระธรรมก็มีอยู่กับเราอยู่แล้ว พระอริยสงฆ์ก็มีอยู่กับเราอยู่แล้ว กวาดตาดก็มีความสุข บิณฑบาตก็มีความสุข ต่อยอดไปเรื่อยๆ อันไหนไม่ดีก็ไม่คิด อานาปานสติกับพุทโธก็อันเดียวกัน หายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข หายใจเข้าสบาย ออกสบาย ทำไมมันสบายอย่างนี้ รู้จักความคิดรู้จักความปรุงแต่ง มันต้องพัฒนาอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่อย่างนี้เขาเรียกว่าปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ มันใจดี ใจสบายไปเรื่อย เพราะว่าต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เจ้าอาวาสให้เอาใหม่ พระทุกรูปให้เอาใหม่ อย่าไปตามใจ ตามอารมณ์ตัวเอง ถึงเวลาบิณฑบาตก็ไปบิณฑบาต ถึงเวลากวาดวัดก็กวาดวัด ให้มีความสุข ทำไมมันมีความสุขอย่างนี้ เพราะว่าเรารู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ ไม่วุ่นวายไม่ปรุงแต่ง เราเสียสละ ไม่เอาตามใจ ไม่เอาตามอารมณ์ มันผิดมันเสียหายมันเสียเวลา
เราคิดไปเรื่อย มันเป็นความคิดเฉยๆ เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ คนเราไปคิดยังไงก็ทำตามมันไม่ได้หรอก เพราะว่าเราจะหยุดวัฏฏะสงสาร เราก็ฉลาดขึ้น ผู้หญิงจะสวยหรือไม่สวย ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง เราก็ไม่มีปัญหาอะไร มันอยู่ที่เราไปปรุงแต่ง เลยมีปัญหา รูปมันก็คือรูป เวทนาก็คือเวทนา มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ใจก็คือใจ ไม่มีปัญหา เพราะมันรู้จัก รู้จักแล้วก็อย่าไปวุ่นวาย เพราะเราบริโภคกามคุณ มาหลายภพหลายชาติมันก็ยินดี มันเล่นงานเรายิ่งกว่ายาม้า ยาอี ยาไอซ์อีก เราต้องมารู้จักวัฏฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน เราไม่ต้องไปเชื่อใคร เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระที่แท้จริงจะได้เกิดในตัวเรา เราต้องกตัญญูกตเวที เพราะข้าวทุกเม็ดเป็นของพระพุทธเจ้า น้ำทุกหยดมันเป็นของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ที่อาศัยก็เป็นของพระพุทธเจ้า เราต้องกตัญญูกตเวทีในบารมีของพระพุทธเจ้า เรามาทำภพชาติให้มันสิ้นซาก เราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวที ต่อยอดให้ลูกให้หลานให้ถูกต้อง เราไม่ต้องไปสนใจ ตำแหน่งที่แต่งตั้งมันไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องปฏิบัติเอง ทุกคนต้องปฏิบัติเอง ต้องได้มรรคได้ผลเอง ไม่มีใครแต่งตั้ง พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีตั้ง 20 อสงไขย แสนมหากัปป์ ไม่มีใครแต่งตั้งให้ท่านได้ เราอย่าไปเมาหมัด โลกธรรมมันต่อยเราจนเมาหมัด ให้รู้จัก ให้ทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้