แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๒๖ ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่มีทิฏฐิมานะ จะทำให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่และครองใจคน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าให้เราสร้างพระ เพราะสร้างพระนี้ได้บุญเยอะ พระนี้คือ พระธรรม ที่จะเป็นพระธรรมได้ เราต้องมีพระวินัย เข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ไลน์ของพระอรหันต์ เข้าถึงพระศาสนาที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา เราทุกคนต้องพากันสร้างพระ ประชาชนก็พากันสร้างพระ ผู้ที่มาบวชก็พากันสร้างพระ ให้มีสติสัมปชัญะสมบูรณ์รู้ตัวทั่วพร้อม
พระพุทธเจ้า จะเป็นเทวดาเเละมนุษย์ก็ไปว่าให้ท่านไม่ได้ เพราะท่านไม่ได้เอาตัวตน เราดูตัวอย่างหลวงตาบัว หลวงพ่อชา หลวงปู่มั่น เจ้าคุณพุทธทาส ท่านเอาธรรมะเป็นหลัก คนหลายล้านก็ไม่มีความเป็นธรรมเท่ากับท่าน เราต้องคิดดู ถ้าเอาธรรมเป็นหลัก ไม่ต้องไปประชุมอะไรหรอก อย่างลีกวนยู คนเดียวก็พาสิงคโปร์เป็นตัวอย่างเเบบอย่างของเอเซีย มีระเบียบมีวินัย มีคุณธรรม ในหลวง ร.9 ในหลวงมหาภูมิพลคนเดียวเป็นตัวอย่างเเบบอย่างของคนทั้งโลก เพราะท่านเอาธรรมเป็นหลัก ไม่เอาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยยังพลาดได้ เพราะยังเเค่นิติบุคคล การทำตามพระธรรมพระวินัย คือ การไม่ทำตามใจ ที่ใจของเรายังเป็นใจอัธยาศัย เป็นใจหลง ใจยึดมั่นถือมั่น ต้องสละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมให้ชัดเจน หายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกรู้ชัดเจน
คนเราทุกคนน่ะมันทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก เขาเรียกว่า เจ้าโลก เจ้าทิฏฐิมานะ คนเรามีทิฏฐิมานะมาก มันถึงนอนไม่หลับ เกิดมาเพื่อจะมาเอา ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก เป็นการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องรู้จักว่า เราทุกคนต้องแก้ไขนะ มีความสุขที่จะแก้ไข อย่าไปดื้อตาใสไปเรื่อยไม่ได้เนาะ หลวงพ่อว่าตรงๆ อย่างนี้แหละนะ ไม่เสียเวลาฟัง เวลาพูด หลวงพ่อเห็นแต่เจ้าอาวาส มีแต่เจ้าอารมณ์ทั้งนั้นเลย
คนเราน่ะ ทำอย่างนี้น่ะ มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็พากันรู้ให้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ให้ชัดเจน รู้ว่าอันไหนดี อันไหนชั่วอันไหนผิด อันไหนถูก เราก็ทำแต่สิ่งที่ดีๆ อย่างนี้นะ เราจะได้แก้ไขตัวเองน่ะ เป็นนักปกครองต้องปกครองตัวเองก่อน ไปปกครองคนอื่น ก็ได้แต่เขียนเอกสาร ไปเรียนแค่เขียนเอกสารเฉยๆ มันแก้ประเทศไม่ได้ มันเลยเห่ากันเอ๋งอั๋งๆ เพราะว่ามันแย่งของกัน
ช่างหัวมัน เราต้องรู้จักว่าที่พึ่งของเรา คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าน่ะไม่ใช่นิติบุคคล ตัวตนเราเขา พระพุทธเจ้า คือพระธรรมที่ย่อยเป็นพระวินัย 21,000 ธรรมขันธ์ อย่างนี้น่ะ เราเอามาแก้ที่ตัวเรานี่
คนเราน่ะ จะรวยจะจนน่ะ มันไม่ใช่สิ่งที่ดับทุกข์ สิ่งที่ดับทุกข์ คือที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุข มีความดับทุกข์ในปัจจุบัน มีสติ รู้ลมเข้าชัดเจน ลมออกชัดเจน รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นปรากฏการณ์ อีกไม่นานมันก็ผ่านไปอย่างนี้ เราต้องรู้จัก มันจะเป็นเครื่องดึงดูดเราไปเหมือนเราเป็นคนไม่มีเจ้าของ เราไม่มีภาวนาวิปัสสนา เราไม่แยกกายแยกจิต มีอย่างที่ไหนล่ะ ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย คนบ้าแล้วเนาะ แต่คนบ้าไม่รู้เองเป็นคนบ้านะ หลวงพ่อสังเกตดูคนบ้านะ เช่น ที่โรงครัวเราตั้งอาหารเยอะๆ คนบ้ามันจะไปเลือกเอาแต่ของอร่อยนะ ดีไม่ดีน่ะ ไม่มองคนข้างหลังด้วย มันว่าบวชก่อน อะไรก็เอาเกือบหมด อย่างนี้ก็มีนะ อย่างนั้นก็ชั่งหัวมัน อย่าถือสาคนบ้าเนาะ หลวงพ่อพูดอย่างนี้ก็ชัดเจนดีเนอะ คนบางคนน่ะไม่ฉลาดเลย มาอยู่วัดน่ะ พระเทศน์ดีๆ ก็ไม่ออกมาฟัง ทำไมโง่ขนาดเนาะ เรียนก็เรียนมาสูง สนใจแต่เรื่องเจ็บเรื่องป่วยของตัวเอง
ไม่ว่าเราจะเป็นผู้มาบวช หรือว่าเป็นคุณพ่อคุณเเม่เป็นข้าราชการเป็นนักการเมือง ทุกๆท่านทุกคน ทุกศาสนาต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นพระ เราจะเคารพคนอื่นก็เพราะท่านผู้นั้นเป็นพระ เราจะต้องเคารพพ่อเคารพเเม่ เพราะว่าพ่อเเเม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ความรู้ความเข้าใจมันเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก มาก็พอๆ กัน
เราไม่ต้องพากันไปก๋าไปกร่าง ขึ้นเสียงขึ้นอะไรถือว่าตัวเองบวชมาหลายปี ถือว่าตัวเองบวชก่อน อย่างนี้ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ สอนให้ทุกคนสละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ปกครองตัวเองให้ได้ เราถึงจะมีสิทธิ์ที่จะปกครองคนอื่นได้ เพราะหลวงพ่อเห็นพระบวชก่อนขึ้นเสียงกับพระใหม่ พยายามที่จะจัดการเค้า พยายามที่จะข่มเค้า เห็นพระที่ความรู้ไม่ค่อยมี ใช้พรรษามากไปขู่พระใหม่
เพราะพระที่แท้จริงนั้น ยิ่งบวชมานาน ยิ่งไม่ก๋าไม่กร่าง ไม่มีทิฏฐิมานะ อย่าเป็นเหมือนพวกเจ้าคุณ หรือนักปกครองที่ยังไม่รู้จักคำว่าศาสนา เช่น พระบ้านนอกไปเดินเอกสาร ทั้งด่าทั้งตะคอก จะไปต่างประเทศ ต้องไปขอใบ ศตภ. ไปหาก็ถูกพระผู้ใหญ่ตะคอกเหมือนหมูเหมือนหมา ก็ต้องใช้วิธีการที่ฉลาดกว่าพวกนี้ ต้องให้คุณหญิงคุณนายเเต่งตัวสวยๆ เสริมสวยไปเดินเรื่องเดินเอกสารให้ หรือให้ไกด์ให้เจ้าของทัวร์ไปเดินเรื่องให้ เพราะว่าพระพวกนี้เค้าเรียกว่า มีส่วนได้ส่วนเสียกับพวกเจ้าของทัวร์ เวลาอย่างนี้ก็มีน้ำร้อนน้ำชา มีผ้าป่ากฐินไปให้บ้านเกิดเมืองนอน เค้าก็มีวิธี เพราะพวกนี้เป็นพวกที่เงินซื้อได้ อย่าให้เป็นอย่างนั้น พระอยู่ในวัดเราอย่าให้มีใครก๋ากร่างขึ้นเสียงขึ้นอะไร ข่มเหงรังเเกพระที่บวชมาใหม่
คนเราเค้าอยากเห็นพระแท้ ขนาดเรื่องมงคลตื่นข่าวรู้ว่าองค์นี้เป็นพระอรหันต์ เค้ามองเห็นเค้ายังขนลุกขนพอง เค้าได้ยินชื่อ เค้าได้เห็นอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเราไม่ต้องไปขู่ใคร ขึ้นเสียงกับใคร ไปข่มเค้าว่า เราบวชก่อน มันต้องฟัง! มีอะไรต้องอันนี้ก่อน อย่าพากันไปฟ้องหลวงพ่อใหญ่ พฤติกรรมอย่างนี้มันไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งที่หยาบสกปรก ไม่ควรมีอยู่ในหมู่อริยสาวกของพระพุทธเจ้า ดูตัวอย่าง ผู้จัดการท่านหนึ่ง เงินเดือนมากกว่าล้าน เค้าจะไม่มีทิฏฐิมานะ จะมานั่งข้างหน้าโชว์ เค้าอยู่เค้าดูเเลห่างๆ เค้าไม่เอาเเบบโชว์ฟอร์ม เค้าเอาความรู้ความสามารถดูเอา
ผู้ที่จะมาบวชต้องคิดว่ามาเปลี่ยนเเปลงตัวเอง เพราะว่าเป็นโอกาสของเราที่จะได้เปลี่ยนตัวเอง พวกนี้ชอบไปข่มกัน บางทีมันจะตีกัน จะชกกัน มันต้องไม่ไปข่มใคร ต้องจัดการตัวเอง เพราะคนเราทุกคนก็มีตาอยู่เเล้ว มีหูอยู่เเล้ว ต้องละเสียซึ่งตัวซึ่งตนต้อง ละเสียพวกการเป็นเจ้าพ่อเจ้าเเม่ เจ้ายักษ์ เจ้ามาร เจ้าเปรต เจ้าผี ที่มันมีอยู่ในตัวในตน อย่าให้มันโง่ไปมากกว่านี้ มันน่าเกลียด
ดูอย่างตัวอย่างในหลวงมหาภูมิพล ท่านไม่มีทิฏฐิมานะอะไร ตัวอย่างกรมสมเด็จพระเทพฯ ไม่มีทิฏฐิอะไร ท่านเสียสละ เพื่อประโยชน์สูงสุดของมหาชนทั้งหลาย “ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุด ก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด” ความอ่อนน้อมถ่มตนที่ทำให้ท่านเกิดในตระกูลสูงส่ง และความอ่อนน้อมถ่อมตน ก็เป็นวาสนาติดตัวที่ข้ามภพข้ามชาติมา
บางทีนักการเมืองบางพวก ถือว่าเป็นพวกที่ทำตัวน่าเกลียดเกิน ต้องทำตัวใหม่ ลามปามไปนะพวกนั้น เพราะเราต้องเป็นผู้ที่เสียสละ ถ้าไม่เสียสละเราถือว่ามีความผิด เราเป็นพ่อเป็นเเม่ อย่าขู่เเต่ลูกเเต่หลานเเต่อะไร มันก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉานที่มันข่มขู่มเหงตัวที่ด้อยกว่า ตัวไหนก็มีกำลังสู้ตัวอื่นไปเรื่อย
ถ้าไปข่มเหงรังแกกันเช่นนั้น มันไม่ใช่พระอะไร เพราะเราไม่ได้เป็นตัวอย่างเเบบอย่าง ชอบไปเเก้ไขเเต่คนอื่น อันนี้เป็นความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง พระเรามันข่มกันเดี๋ยวมันจะตีกัน มันจะบังคับพระใหม่ พระใหม่เค้าทำไม่ได้ เค้าก็เฉยๆ เดี๋ยวพระใหม่เค้าต่อยเอาอีก เพราะว่าพระผู้น้อยยิ่งกำปั้นหนัก เพราะยังหนุ่มเเน่น กำปั้นพระผู้เฒ่าสู้กำปั้นเด็กไม่ได้นะ พระอายุ 20-30 เเข็งเเรงกว่าพระอายุ 40-50 นะ เพื่อที่จะจัดการกับความอหังการ เพื่อให้ใจเย็นขึ้น บางทีคนที่ปากไม่ดี ปากระเบิดมันถึงมีปัญหา บางคนอยากเป็นหัวหน้า อยากเป็นประชาสัมพันธ์ เเต่มันเป็นไม่ได้ ไปอยู่ที่ไหนก็มีเเต่ปัญหา เพราะเป็นคนที่จะเอาเเต่ไปเเก้คนอื่น ไม่มีที่ดินจะอยู่เเล้ว เพราะว่าหนักแผ่นดินคนพวกนี้
คนเรามันต้องเป็นพระ เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เป็นพระศาสนา ต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก หายใจเข้ารู้ตัวชัดเจน เราต้องมาสร้างพระอย่างนี้ เพราะอันนี้ได้บุญได้กุศลเยอะ
พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ให้เรายึดมั่นถือมั่นปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติ เปรียบเสมือนเราจะข้ามทะเล จะข้ามมหาสมุทร เราจะข้ามวัฏฏสงสารก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมียาน ต้องมีข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ถ้าเราจะข้ามมหาสมุทรเราจะไปปล่อยเรือ เราก็จมน้ำตาย เราจะไปว่า เราไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น...ไม่ได้!
การที่เราจะไปพระนิพพาน เราจะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติที่ขลังศักดิ์สิทธิ์ มันจะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทุกท่านทุกคนตั้งใจประพฤติปฏิบัติกัน ยกตัวอย่างเช่น เราเดินทางไกลกลับมาเหนื่อยๆ แล้วก็ปล่อยวางไม่ทำข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า "เราทำอย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย ไม่ถูกต้อง มันชอบอ่อนแอ ชอบตามใจตนเองคนเรานี่"
ต่อจากนี้ไปเราก็ต้องพยายาม ถ้าไม่พยายามไม่ได้! ที่ผ่านมาหลายปีก็รู้ว่า ตัวเองมันยังไม่ขลัง ไม่ศักดิ์ ไม่สิทธิ์ ชอบตามใจ ชอบฟรีสไตล์ มันฉลาดจริง มันเก่งจริง แต่ว่ามันยังใช้ไม่ได้นะ ทีแรกก็คิดว่าตัวเองฉลาด คิดว่าสัมมาปฏิปทาทางสายกลาง แต่คิดไปคิดมาแล้วมันไม่ใช่สายกลาง มันต้องแก้ไขตัวเองปรับปรุงตัวเอง ตอนเช้าตีสามมันยังอ่อนแอ มันยังง่อนแง่นคลอนแคลน มันยังไม่สู้ มันยังไม่ปรับปรุงตัวเองเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันยังเป็นคนขี้ขลาด มันยังเป็นคนกลัวอยู่มาก อยากเจริญ อยากก้าวหน้า แต่ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ มันเก่ง มันหลีกเลี่ยงแก้ตัวเก่ง มันฉลาดมาก มันมารยาสาไถย ท่านบอกเราว่า "ข้อวัตรปฏิบัตินี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ท่านอย่าเป็นคนอ่อนแอ ถ้าเรารักตนเอง เมตตาตนเอง เราต้องทำข้อวัตรปฏิบัติให้เข้มแข็ง"
พระพุทธเจ้าท่านรักเรา เมตตาเรา สงสารเราเห็นเราเหน็ดเราเหนื่อยในการสู้ทนทำความเพียร ในการประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติมันยาก มันลำบาก แต่ด้วยเหตุจำเป็น เพราะสิ่งที่ยากลำบากมากกว่านั้นก็คือ การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสาร ท่านจึงเมตตาสงสารพวกเรา "ถึงจะเหน็ดถึงจะเหนื่อย ก็ให้พากันประพฤติปฏิบัติ"
เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเมตตาเรา เราก็ต้องเมตตาตัวเอง ทุกท่านทุกคนให้เพิ่มความหนักแน่น ความเข้มแข็งให้กับตนเอง ให้กับปฏิปทาของตัวเอง การปฏิบัติ มันไม่ใช่ของง่าย มันไม่ใช่ของกล้วยๆ มันต้องแลกด้วยชีวิต ทำความดีมันต้องแลกด้วยชีวิต ทำไมถึงว่าอย่างนั้น ก็เพราะเราต้องสู้ ต้องอด ต้องทน ต้องบากบั่น
ถ้ามันจะตาย ก็ให้มันตายด้วยการทำความดี อย่าให้ตัวเองต้องติเตียนตนเองว่า "ตัวเองนี้มันแย่ แค่นี้ก็ยังไม่ออกไปนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ให้มันตายไปเลย ตายในการทำความดี"
อย่าถืออภิสิทธิ์ว่า ตัวเองเดินทางไกล อย่าไปถืออภิสิทธิ์ว่าตัวเองทำงานสงฆ์ ทำกิจสงฆ์ ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะได้อย่างหนึ่ง มันก็เสียอีกอย่างหนึ่ง ความเคยชินที่พวกเราและท่านปฏิบัติมา...แสดงว่ามันอ่อนแอ แสดงว่ามันไม่รอบคอบ มันเลยจะไปในร่องเก่า ไปในทางเก่า
แม้แต่ถืออภิสิทธิ์ว่า เรานี้มันก็บวชมาหลายพรรษา มันทำมามากแล้ว "ก็ต้องให้โอกาสผมบ้าง" "แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี่ มันไม่ได้ให้โอกาสเราหรอกนะ!"
ครูบาอาจารย์ท่านให้เราถือขลัง ให้ศักดิ์ให้สิทธิ์ในเรื่องอย่างนี้ จะแสดงถึงความแข็งแรงแข็งแกร่ง เป็นหลักเป็นเกณฑ์ให้กับพระรุ่นน้อง หรือผู้บวชมาภายหลังว่า "พระเขาไม่อ่อนแอกันเน๊าะ เขาไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เอาสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี้ มาเป็นที่อ้าง"
คนที่ฉลาดมันบกพร่องในส่วนนี้ มันมีปัญหาในส่วนนี้ มันมีเหตุมีผล "ที่แท้จริง งานนี้เราแพ้เสียแล้ว เราเสียรู้มาตั้งหลายปีแล้ว"
เอาชีวิตนี้ถวายต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระสงฆ์ อย่าได้ติดสุขติดสบาย อย่าได้พากันหลง มันจะได้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เราอย่าพากันหลง หลงทางมันเสียเวลา ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คน ต้องผ่านในเรื่องนี้ ความผิดพลาดก็ถือว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ของพวกเรา ถ้ามันไม่โง่ มันก็ไม่ได้ฉลาด
พระพุทธเจ้าท่านให้เราลงรายละเอียดทางจิตทางใจ เราอย่าไปคิดว่า "เราแย่แล้ว เราตายแน่ มันจะไปพระนิพพาน หรือว่ามาทำทุกรกิริยากันแน่เนี่ย"
ความคิดอย่างนี้ แสดงว่าอาการของจิตของใจเรามันอ่อนแอ เมื่อร่างกายของเรามันไม่สบาย เราต้องทำใจของเราให้สบาย ให้เราพยายามมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา เราแก้อย่างไร? เราก็ต้องมาแก้ที่ใจของเราที่มันทุกข์ ที่มันยาก ที่มันลำบาก เพราะใจของเรามันฝืน เพราะใจของเรามันต่อต้าน เพราะมันไม่พอใจ มันเคยบริโภคแต่ "อารมณ์ทางโลกียะ" มันเคยบริโภคแต่อารมณ์ของสวรรค์ เมื่อจะให้มันบริโภคอารมณ์ของ 'พระนิพพาน' คือ สิ่งที่ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ คือจิต คือใจ 'จิตใจ' ที่มีแต่ความสงบ ไม่ปรุงแต่ง ไม่วุ่นวาย ถ้าเราเอาแต่ความสุขทางเนื้อทางหนัง ทางอยู่ ทางกินนี้ล่ะก็... "มันไม่ใช่ที่สุดแห่งกองทุกข์"
เราเดินจงกรมทั้งวันถ้าเราไม่ปรุงแต่ง เราจะทุกข์ไหม? "เราก็ไม่ทุกข์"เรานั่งสมาธิทั้งวันถ้าเราไม่ปรุงแต่ง เราจะทุกข์ไหม? มันก็ไม่ทุกข์ มันมีแต่ความสงบ มันมีแต่ความดับทุกข์
ถ้ามันเจ็บมันก็แค่ตาย ให้เรารู้จักรู้แจ้งยอมรับสภาพตามความเป็นจริง เราไม่ต่อต้าน ไม่ปรุงแต่งอะไรทั้งนั้น ความทุกข์จะมาจากไหน ลักษณะความคิดแบบนี้ มันทำให้ตัวเองเกิดสัมมาทิฏฐิ เกิดความฉลาด
สักกายทิฏฐิ ก็คือ การถือตัวถือตนของเรานี้มันมีมาก พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณาร่างกายของเราเยอะๆ มากๆ แยกออกเป็นชิ้นๆ เหมือนอะไหล่รถยนต์ จนหมด แล้วก็ประกอบใหม่ นักปฏิบัติต้องทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำทุกวัน มันจะได้บรรเทาทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน
"พยายามฝึกปล่อยฝึกวางสลับกันไปนะ" เราทำอย่างนี้ดูเหมือนจะไม่ได้อะไร... ไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่การประพฤติปฏิบัติแบบนี้ มันเกิดสาระมาก เกิดประโยชน์มาก ทำไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องใจร้อน มันต้องอาศัยระยะเวลา เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์บารมีของเราให้แก่กล้า เราปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ ใครจะรู้ ใครจะเห็น หรือไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร
การให้ 'สติ' เรื่องความอ่อนแอที่จะได้ปรับปรุงปฏิปทา' ที่ครูบาอาจารย์ได้มอบหมายมาให้บรรยายนี้ดีมาก เรื่องปฏิปทานี้สำคัญ พระรูปไหน.. เณรรูปไหน... โยมคนใด...ที่จะก้าวหน้านั้น ชี้ขาดได้เลยว่า ปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เป็นพระอริยเจ้าก็ขึ้นอยู่ที่ข้อวัตรปฏิบัติ ขึ้นอยู่ที่ปฏิปทา
เราก็ดูหลายๆ ท่าน หลายๆ องค์ ท่านน่าจะไปได้ดี น่าจะโด่งดัง แต่มีความประมาท ย่อหย่อนอ่อนแอ อนุโลมปฏิโลมให้กับธาตุกับขันธ์ ให้กับญาติกับโยม ก็เลยประพฤติปฏิบัติไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที ไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตัวเองตั้งไว้ ที่ตัวเองคิดไว้
พระพุทธเจ้าท่านไม่ประมาท ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านไม่ประมาท ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์ ท่านไม่มีอ่อนแอเลยนะ แม้แต่วาระจิตก็ไม่รู้สึกอ่อนแอหวั่นไหวเลย
นักปฏิบัติทุกท่านทุกคนต้องมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว อย่าไปสนใจความสุขในสวรรค์ ความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ความเอร็ดอร่อย ความสุขในลาภ ในยศในสรรเสริญ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "สิ่งนี้มันอันตราย มันอร่อยมาก แต่ว่าสิ่งนี้มันอันตรายมาก นักปฏิบัติของเราถ้ามาติดสุขติดสบายนี้มันแย่มาก มันใช้ไม่ได้"
หนทางสายนี้ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คน ต้องผ่านแล้วก็ต้องผ่านได้ ต้องอาศัยความอดความทน ความพากความเพียร ความตั้งมั่นในปฏิปทาของเรา หนทางอื่นไม่มี มันมีทางนี้ทางเดียว "เอกายโน มัคโค" มรรค คือ ข้อปฏิบัติ
ท่านจะไปพระนิพพาน ถ้าท่านไม่ละ ถ้าท่าน ไม่ปล่อย ถ้าท่านไม่วาง ใครจะมาละ ใครจะมาปล่อยมาวางให้ท่าน "ท่านจะหนีไปไม่ได้นะ ท่านคิดว่าท่านจะหนีไปเหรอ..." ความแก่ความเจ็บ ความตาย ท่านหนีไม่ได้เมื่อเราหนีไม่ได้เราจะหนีมันทำไม เราต้องผ่านด่านนี้ให้ได้นะ เราต้องอดทน ต้องทนยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าท่านมอบไว้ให้เรา เราจะประพฤติปฏิบัติข้อวัตรให้สบายใจ ให้มันมีความสุข ไม่ว่าเราจะทำวัตรสวดมนต์ก็ให้ใจมันมีความสงบ ก็ให้ใจมันมีความสุข ไม่ว่าเราจะเดินจงกรมก็ให้มีความสุข ความสงบ ไม่ว่าเราจะนั่งสมาธิภาวนาก็ให้ใจมันมีความสุข ความสงบ
อนาคตที่จะรุ่งเรืองสดใส มันอยู่ที่ปัจจุบันนี้ เมื่อปัจจุบันมันดี อนาคตมันก็ดี เมื่อปัจจุบัน...ใจมันมีนิพพาน อนาคต...ใจก็มีพระนิพพาน เมื่อจิตใจมันย่อหย่อน มันตกต่ำ มันยินดีแต่ความสุขทางเนื้อ ทางหนัง ทางลาภ ยศ สรรเสริญ จิตใจมันก็ตกต่ำ ครั้งแรกมันสวรรค์หรอก ต่อไปมันก็ลงนรก
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า "จิตวาระสุดท้ายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราไปเกิด" ท่านถึงให้เราคิดแต่สิ่งที่ดีๆ พูดแต่สิ่งที่ดีๆ ทำแต่สิ่งที่ดีๆ เราต้องมีความดีที่ก้าวหน้าออกไป ให้ไปข้างหน้า นี่คือการสร้างบารมีอบรมอินทรีย์ให้แก่กล้า ไม่ใช่มาอาลัยอาวรณ์ วันนี้ก็คิดดี พูดดี ทำดี พรุ่งนี้ก็มาอาลัยอาวรณ์ เดี๋ยวมันก็เดินหน้า เดี๋ยวมันก็ถอยหลัง อย่างนี้มันจะได้อะไร....
ขึ้นชื่อว่า 'ความผิด' พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิด แม้แต่เราคิดก็ยังไม่ได้ เพราะว่าพระนิพพานมันเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เราปกบิดคนอื่นได้ แต่เราปกปิดตัวเองไม่ได้ อินทรีย์บารมีของเรามันยังอ่อน ยังไม่แก่กล้า ให้เราถือนิสัย ถือวินัยของพระพุทธเจ้าไว้ ให้มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าไว้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าพาเราทำอย่างนี้ อย่างนี้ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์
ให้ทุกท่านทุกคน ตั้งใจดีๆ อธิษฐานจิตให้ดีๆ ให้มีหลัก ให้มีเกณฑ์ แล้วก็บังคับตัวเองอย่าให้คนอื่นบังคับ "การบังคับตัวเองเขาเรียกว่า ศีล" เมื่อ 'ศีล' เข้าถึงจิต ถึงใจ ถึงเจตนา สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติ ที่มันเป็นกฎของธรรมชาตินั้น มันจะเกิดขึ้นมาเอง ปัญญาตัวที่ดับทุกข์ที่แท้จริงมันถึงจะเกิดศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อาการที่มันรักษาศีล อาการที่มันนั่งสมาธิ อาการที่มันทำข้อวัตรปฏิบัติก็กลัว นี้ก็คือ "อาการของกิเลสที่มันกลัว" มันกลัวที่จะหมดภพหมดชาติ มันกลัว มันอาลัยอาวรณ์ มันไม่อยากไปพระนิพพาน มันอยากจะขออยู่ต่อ
เหมือนเราเกิดมานี้ ถึงจะทุกข์ยากลำบากด้วยการดำรงธาตุดำรงขันธ์ทั้งการทำมาหากิน แต่ทุกๆ คน มันก็ไม่อยากตาย
กิเลส อวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน มันก็ไม่อยากตายเหมือนกัน มันติดอดีต ติดภพติดชาติ มันติดพ่อ ติดแม่ ติดลูกติดหลาน มันติดสมบัติข้าวของเงินทอง มันติดมาก ติดจริงๆ นี้คือเรื่องอวิชชา เรื่องความหลง เรื่องตัว เรื่องตน เรามันถึงเป็นคนอ่อนแอ มาบวชมาปฏิบัติ มันก็ไม่ยอมปฏิบัติ เขาแต่งตั้งให้เป็นพระก็ไม่ยอมเป็นพระ
"อุปัชฌาย์กรรมวาจา คณะสงฆ์ สวดจนเหนื่อย ถ้าเราคิดดูดีๆ นะ เราก็ยังชื่อว่าเป็นพระแต่งตั้ง หรือว่ายังเป็นพระปลอมอยู่ มันเป็นพระที่ตัวหนังสือนะ ไม่ได้เป็น 'พระที่จิตที่ใจ' มันยังมาต่อต้านคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วมันก็มาละเมิดคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวไว้ว่า "ในอนาคตจะมีบุคคลที่มาเอาพระพุทธศาสนา เป็นที่ทำมาหากิน ด้วยการสมัครรับแต่งตั้งว่าจะเป็นสุปฏิปันโน ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติดีผู้ปฏิบัติชอบเพื่อสิ้นอาสวะ แต่แล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติทำตามที่ให้สัจจะคำมั่นสัญญาไว้ จะด้วยเจตนาก็ดี จะด้วยไม่เจตนาก็ดี จะด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี"
ขอให้ทุกๆ ท่านได้พิจารณาตัวเอง ว่าตัวเองได้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตรงต่อพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้วหรือยัง ถ้ายัง... พวกเราและท่าน ให้ยกระดับจิตใจ ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มิฉะนั้น เราจะได้ชื่อว่า เป็น 'พระปลอมทางจิตทางใจ' เดี๋ยวนี้ท่านกำลังเป็นแค่ 'พระจริงทางกาย' เรานี่แหละ ที่ยังเป็นพระหนุ่ม หรือว่าเป็นพระแก่ๆ เรานี่แหละ จะเป็นครูบาอาจารย์
เมื่อเรา...จิตใจของเราไม่เป็น 'พระ' เราจะเอาอะไรไปเป็นครูบาอาจารย์เล่า?
ปฏิปทาที่เข้มแข็ง หนักแน่น เด็ดเดี่ยว ทุกท่านทุกคนต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้แล้ว ถ้าเราไม่ตั้งใจแล้วเราสมควรแล้วหรือ...ที่จะบริโภคอาหาร ปัจจัยสี่ของประชาชน มันสมควรแล้วหรือ...ที่จะให้ประชาชนเขากราบ เขาไหว้
เขาไหว้ 'พระ' นะ พระ...ก็พระจริง ไม่ใช่...พระปลอม
พระปลอม คือ "พระอลัชชี' พระไม่มีความละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ละเมิดพระวินัย เมื่อละเมิดพระวินัยแล้วก็ละเมิดธรรม ถึงจะห่มผ้าเหลืองโกนหัว มันก็เป็นได้แต่เพียง 'พระแต่งตั้ง' เราที่เป็นพระสมมุติด้วยกันก็ไม่อยากกราบ โยมก็ไม่อยากกราบ อยากไหว้ กราบไหว้ตามโลกสมมติ มันก็ฝืนใจ
เราเป็นญาติเป็นโยมก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราบริโภคปัจจัยสี่ ข้าวของ เงินทอง มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
เราเกิดมาทั้งที ในชาตินี้เราต้องทำความดีให้ถึงที่สุด อย่าให้สิ่งไม่ดีมาทำลายพระศาสนาอันบริสุทธิ์ เราใช้ชีวิตไม่เกิน ๑๒๐ ปี ก็จากโลกนี้ไป เราจึงต้องมาคิดดีพูดดีทำดี เพื่อมาสร้างแสงสว่าง คือ มรรคผลนิพพานให้แก่ตนเอง ให้แก่ศิษยานุศิษย์ ให้แต่กัลยาณมิตรผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เพราะพระมหาเถระทั้งหลายก็มาจากพระเด็กๆ ที่จะไปเป็นพระผู้ใหญ่ในอนาคต สมัยเด็กๆ อาจจะหย่อนไปบ้าง แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องมาปรับปรุงแก้ไข จะไปทำเหมือนตอนเป็นเด็กไม่ได้
ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ว่ามานี้ ไม่ได้ว่าให้พระนะ พระคือพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ จะไปว่าไปกล่าวให้ท่านไม่ได้ หากไปกล่าวจาบจ้วงล่วงเกินท่าน ก็เป็นอริยุปวาทันตราย คือการกล่าวร้ายพระอริยเจ้า ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่งในการขัดขวางต่อการบรรลุพระนิพพาน ถึงขนาดว่า หากพระอริยเจ้าที่เราเคยกล่าวล่วงเกินนั้น ท่านละสังขารไปแล้ว หากยังไม่ได้ขอขมาท่าน ต้องไปขอขมาต่ออัฐิของท่านจึงจะพ้นโทษได้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะ แต่ที่กล่าวมานี้ คือกล่าวถึงผู้หลงผิดปฏิบัติผิด ตามอวิชชาความหลง ตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก ตามมิจฉาทิฏฐิของตนเอง เลยเป็นอลัชชี ที่ได้พากันลาสิกขาบท ลาจากศีลจากวินัยของพระพุทธเจ้าไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ร่างกายจะครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ก็ตาม เพราะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน ทุกคนถ้ามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องไม่มีคำว่าสาย ถึงแม้จะอายุ ๘๐ – ๙๐ ปี ก็ไม่มีคำว่าสาย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
โย จ วสฺสสตํ ชีเว ทุสฺสีโล อสมาหิโต เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย สีลวนฺตสฺส ฌายิโน ฯ
ผู้มีศีล มีสมาธิ ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของคนทุศีล ไร้สมาธิ
มุนีผู้ประเสริฐกล่าวเรียกผู้ที่มีความเพียรอยู่อย่างนี้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน ว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็น่าชม