แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๒๕ อย่าไปมัวแต่สร้างพระภายนอก ต้องฉลาดสร้างพระภายใน ถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้ วันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ พระพุทธเจ้าให้เราสร้างพระ เพราะการสร้างพระนี้ได้บุญเยอะ พระนี้ก็คือพระธรรม สิ่งที่จะเป็นพระธรรมได้ เราก็ต้องมีพระวินัย เข้ามาสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ไลน์ของพระอรหันต์ คือเข้าสู่ทางเดิน เข้าสู่เส้นทาง ตามรอยบาทพระศาสดา เข้าถึงพระศาสนาที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา
เราทุกท่านทุกคนจึงต้องพากันสร้างพระ ประชาชนก็พากันสร้างพระ ผู้ที่มาบวชก็พากันสร้างพระ ให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน รู้ว่าอันไหนผิด อันไหนถูก อันไหนดี อันไหนชั่ว
เราต้องเข้าสู่ความคิด เข้าสู่คำพูด เข้าสู่การกระทำของเราในปัจจุบัน เพราะการประพฤติการปฏิบัติของเราทุกคน มันอยู่ที่ปัจจุบัน การพัฒนาของเรา ส่วนใหญ่มันอยู่ที่การอยู่การกิน สิ่งอำนวยความสะดวก ที่ที่การกระทำของเรานั้นย่อมไม่เป็นบาป จึงต้องพัฒนาไม่ให้เป็นบาป ต้องเป็นบุญเป็นกุศล นั่นคือการพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เรารู้จักแต่การสร้างพระพุทธรูป สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ มหาเจดีย์ใหญ่โตมโหฬาร ทั้งที่จริง พระที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจของเราทุกๆ คน ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็จะไม่เข้าใจคำว่า “ศาสนา” มัวแต่ไปคิดแต่ว่า พระต้องเป็นแต่พระพุทธรูป ต้องเป็นพระเครื่องที่แขวนอยู่ที่คอ อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ทุกคนจึงต้องพากันเข้าใจ เราต้องปฏิบัติที่บ้านของเรา ที่ทำงานของเรา ที่ครอบครัวของเรา ผู้มาบวชที่วัด ปฏิบัติอยู่ที่วัด สิ่งไหนมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ด้วยการปฏิบัติรู้ตัวทั่วพร้อม ด้วยความไม่ประมาท เราจะพากันไปหาแต่แก้ไขคนอื่น เป็นพ่อเป็นแม่ก็ไปแก้ไขแต่ลูก แก้ไขแต่หลาน แต่ละคนไม่แก้ตัวเองเลย เป็นเจ้าคณะปกครองก็ไปแก้ไขแต่คนอื่น นั่นคือหลักการที่ล้มเหลว
พระพุทธเจ้า ท่านจะประกาศพระศาสนา จะสั่งสอนบุคคลอื่นได้ พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ ยี่สิบอสงไขย แสนมหากัป กว่าจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า ถึงแม้ท่านยังเป็นพระโพธิ์สัตว์อยู่ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง
เป็นเจ้าอาวาส บางทีก็เป็นเจ้าอารมณ์ไป เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค สังฆาธิการทั้งหลาย ต้องล้มเหลวแน่ๆ เพราะไปแก้ที่คนอื่น จึงต้องมาแก้ที่ตัวเอง แต่ทุกคนน่ะ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องรู้ว่า อันไหนมันผิด อันไหนมันถูก อันไหนมันดี อันไหนมันชั่ว ต้องแก้ที่ตัวเอง ต้องเข้าใจให้ถูก ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เราอย่าไปหน้าด้านหน้าทน ไปหาแก้แต่คนอื่น เราฟันไม่หายก็ถือว่าโชคดีแล้ว เพราะมันทำไม่ถูกต้อง
จะเป็นข้าราชการ จะเป็นพระ จะเป็นข้าราชการ จะเป็นสังฆาธิการ จะเป็นตั้งแต่กระดาษ ตั้งแต่บริหารเอกสารจะมีประโยชน์อะไร อันนี้คือความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้เกิดจากอรรถ จากพยัญชนะ มันเป็นอัตตาธิปไตย ไม่ใช่เป็นธรรมาธิปไตย เราต้องรู้จัก ต้องละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ต้องเข้าสู่ธรรมาธิปไตย ต้องละประชาธิปไตยที่เอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเป็นธรรมาธิปไตยเท่านั้น
สติสัมปชัญญะของเราต้องสมบูรณ์ เราถึงจะพ้นจากอคติทั้ง ๔ พ้นจากสิ่งที่ไม่ควรจะไป ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะกลัว คนเราให้เข้าใจ ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง
พวกที่เป็นชาวไร่ชาวสวน มันถึงจะมีความสุขพอๆ กัน เราจะไปจัดการแต่ภายนอก พวกติดอบายมุขอบายภูมิพวกนี้มันใจอ่อน พวกนี้เปรียบเสมือนกับหมาแก่ ที่มันกินเนื้อแต่ปาก มันอร่อย มันไม่ยอมวาง ทั้งที่ฟันมันก็ไม่มี เคี้ยวก็ไม่ได้ มันก็อมอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เหมือนหมาแก่กินกระดูกน่ะ มันไม่มีอะไรกินหรอก มันหลงเหงือกตัวเอง มันเลือดออกได้กลิ่นคาวเลือด ความปรุงแต่งมันทำให้เราหลง เราจึงต้องมารู้จักความคิด มารู้จักอารมณ์
หลายคนก็มาถามเรื่องสภาวธรรม
สภาวธรรมอะไร ศีล ๕ ก็ไม่ได้ ศีล ๕ ก็ไม่เอา สมาธิก็ไม่เอา จะเอาแต่สภาวธรรม เอาอะไร? เขาเรียกว่า “เรายังปฏิบัติเพื่อเจ้าโลก เพื่ออารมณ์ เพื่อยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เสียสละอะไร”
ปฏิบัติเพื่อเจ้าโลกก็คือปฏิบัติเพื่อกาม ปฏิบัติตามตัณหา ปฏิบัติเพื่อความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ปฏิบัติเพื่อการเวียนว่ายตายเกิด เจ้าโลก อย่างในคติของศาสนาพราหมณ์ เขาถือว่า พระศิวะ พระพรหม หรือว่าพระวิษณุ พระนารายณ์เป็นใหญ่ แล้วแต่ลัทธิไหน ถ้าลัทธิที่ถือพระพรหม ก็ว่าพระพรหมเป็นใหญ่ ลัทธิที่ถือพระนารายณ์ ก็คือว่า ไวษณพ หรือว่าพระวิษณุเป็นใหญ่ ลัทธิที่ถือพระศิวะ ก็บอกว่า พระอิศวร พระศิวะเป็นใหญ่ เลยบูชาศิวลิงคะ หรือว่าศิวลึงค์ ที่เป็นเจ้าโลก แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือการบูชาความหลง บูชากาม บูชาความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง บูชาการเวียนว่ายตายเกิด บูชาวัฏสงสาร
เพราะฉะนั้น พระอยู่ในวัดเรา ต้องพากันปฏิบัติเอามรรคผลนิพพาน ทุกๆ คน ต้องพากันทำงานเป็นทีมทั้งวัดเลย เอาเหมือนนักกีฬา ถ้าองค์ไหนปฏิบัติไม่ได้ ก็คัดออก เราไม่ถือว่าลูกคนนี้เป็นลูกเถ้าแก่ ลูกคนนี้ก็ลูกคนรวย เราไม่ต้องเอาอย่างนั้น ปฏิบัติแบบศีลไม่เสมอกัน สมาธิไม่เสมอกัน อย่างนั้นปัญญามันไม่เกิดหรอก มันยังมีระบบครอบครัวอยู่ ให้รู้ตัวนะ พระเก่าองค์ไหนไม่ได้มาตรฐาน ก็ให้พัฒนาตนเอง ถ้ามันทุกข์ยากลำบากตามพระพุทธเจ้าไม่ไหว ก็สึกมันไปเสีย ไม่ต้องอาศัยศาสนาอยู่
หลวงพ่อถึงให้ทำงานเป็นทีม ให้ปลุกกันตั้งแต่เช้า ตั้งแต่ตี ๓ ตี ๓ ถึงไปปลุกกัน ตี ๒ อย่าเพิ่งไปปลุกนะ ถ้าตี ๓ แล้วต้องปลุก ทุกคนต้องปลุกกัน ไม่งั้นมันจะเป็นหมาแก่ที่ฟันเกือบจะไม่มี ได้แต่เคี้ยวเนื้อ กามมันก็เป็นอย่างนั้น ต้องดึงจากความง่วงเหงาหาวนอน เพราะว่านี่คือการสนามปฏิบัติ สนามฝึก ไม่ใช่ที่ที่จะมาตามใจ ตามอารมณ์ ให้มีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ต้องทำใจอย่างนี้
เราอย่าไปคิดว่า มาบวช ทำไมมันทุกข์แท้ ความคิดอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง มันเป็นความเห็นแก่ตัว ความคิดแบบนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐินะ รู้หรือเปล่า
เวลานั่งฝึกอานาปานสติ หายใจเข้ารู้ชัดเจน หายใจออกรู้ชัดเจน อย่าเอาแต่การนั่งหลับ เอาสมาธิที่เราเอาใจแยกจากเวทนา แยกจากอารมณ์ แยกจากความยึดมั่นถือมั่น อยู่กับอานาปานสติ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน อยู่กับตัวผู้รู้ที่ปราศจากการปรุงแต่ง เพราะทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจะโง่ไปถึงไหน เราจะหลงไปถึงไหน ทุกท่านทุกคนจึงต้องมาเสียสละ
ไม่ต้องไปถามว่า มันหลับไป เฮ้ย... ถ้าหลับไปก็ต้องตั้งใจใหม่ เอาใหม่ ความสุขมันเคลิ้มๆ หลับๆ ไปไม่รู้ตัว การพักผ่อน ถ้าเรามีจิตใจเป็นหนึ่ง เป็นเอกคตา อย่างนี้ก็ได้พักผ่อนอยู่แล้ว แล้วพักผ่อนได้ดียิ่ง มีคุณภาพดียิ่งกว่าการนอนเป็น ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง นอนทั้งวันซะอีก บางทีนอนมากฝันมาก ตื่นมาก็เหนื่อย เพราะจิตไม่พักผ่อน จิตไม่ได้เป็นหนึ่ง ไม่ได้เป็นเอกคตา
แต่ถ้าเรามีจิตใจเป็นหนึ่ง สติ สมาธิตั้งมั่น อย่างนี้มันได้พักผ่อนในตัว เช่น พระอรหันต์ ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ใจอยู่กับตัวผู้รู้ จิตเป็นหนึ่ง ท่านก็ได้พักผ่อนทางสมอง พระอรหันต์เข้าสมาบัติ ๗ วัน ออกจากสมาบัติท่านยิ่งกระปรี้กระเปร่า
เราจึงต้องพากันมาสร้างพระ ความเป็นพระที่ถูกต้อง ให้เกิดขึ้นกับเราทุกๆ คน พระ คือผู้เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน ไม่มีเราไม่มีเขา มีแต่ความว่างปล่อย ปราศจากตัวตน ต้องสร้างอย่างนี้ พระคือผู้ที่ไม่มีนิวรณ์
นิวรณ์ ๕ ย่นย่อก็คือ โลภ โกรธ หลง
ตัวกามฉันทะ ก็คือตัวราคะ ตัวโลภ
พยาบาท ผูกอาฆาต มันก็คือตัวโทสะ
ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน
อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย มันก็คือโมหะ คือความหลง
ถ้าสร้างพระพุทธรูปองค์แท้ ต้องสร้างอย่างนี้ แต่ถ้าหากสร้างพระพุทธรูป สร้างพระพุทธเจ้าแบบเป็นองค์แทน ก็ต้องสร้างออกมาแบบสวยๆ ดูแล้วก็เป็นรูปที่สงบ เพื่อที่ทุกคนจะได้มองพระพักตร์ ได้ระลึกถึง อย่าไปให้มันขลัง มันศักดิ์สิทธิ์เลย เราจะสร้างองค์น้อยๆ ไว้ในเจดีย์ มันก็คิดไปเรื่อย คิดไปตามอารมณ์ พวกเจ้าอารมณ์ทั้งหลาย พอคนมาเห็นทีหลัง ก็ไปคิดว่ามันขลังมันศักดิ์สิทธิ์ ก็หลงไปเรื่อย ไม่ได้มาสร้างพระที่ขลังที่ศักดิ์สิทธิ์ในใจตัวเอง
ที่เราเรี่ยไรเงินกันก็เพราะว่าพระไม่ได้มาตรฐาน เหมือนพวกข้าราชการ นักการเมือง ถ้าโกงกินกันเยอะ คนเขาก็ไม่พอใจที่จะนับถือ ก็ไม่ยินดีที่จะมาเสียภาษีให้ หากพระประพฤติที่ไม่ได้มาตรฐาน ใครจะนับถือล่ะ
สุดท้ายก็ทำเครื่องรางของขลังออกมาขาย ออกมาเร่ขาย ต้นทุนถูก แล้วก็ไปประโคมข่าวไปอัพราคา อ้างสรรพคุณอย่างนั้น สรรพคุณอย่างนี้ ขายกฐินขายผ้าป่ากัน บางทีคนหากฐินได้ ๒ ล้าน ก็แบ่งกันครึ่งหนึ่ง วัดครึ่งหนึ่ง ผู้หาครึ่งหนึ่งก็เพราะพระมันไม่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่พระธรรม ไม่ใช่พระวินัย
พวกนักปกครองก็ต้องเข้าใจ ระบบในหมู่บ้านแต่ละครอบครัวก็พร้อมที่จะดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระ แต่ถ้าพระไม่ได้เป็นพระ ใจยังเป็นฆราวาสอยู่ ใครอยากจะอุปถัมภ์อุปัฏฐาก
เพราะฉะนั้น การมาสร้างพระ ต้องสร้างความเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย ให้เกิดขึ้นในใจจริงๆ ต่อให้สร้างองค์ใหญ่โตมโหฬารพิสดารขนาดไหน มรรคผลนิพพานไม่เกิดหรอก ถ้าหากตั้งใจผิด เอาแต่หน้าตา เอาแต่ชื่อเสียง เอาแต่คิดว่ามีบารมีมาก นั่นแหละคือการเพิ่มอีโก้ให้กับตัวเอง ทิฏฐิมานะขี่คออยู่ก็ไม่รู้ตัว เพราะเอาอีโก้ออกมาอวดกันว่าบารมีมาก เพราะค่านิยม ไปวัดบารมีกันตรงที่วัตถุ คิดว่าสร้างอะไรได้มากสร้างอะไรใหญ่โตแล้วบารมีมาก แต่ถ้าหากบารมีแห่งมรรคผลนิพพานไม่อยู่ในหัวใจมันก็จบกัน เพราะไม่ได้ตามพระพุทธเจ้าเลย
การสร้างพระพุทธรูปจริงๆ นั้นไม่ได้มีตั้งแต่พระพุทธกาล สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็ไม่มี เริ่มจะมีการสร้างขึ้นมาในช่วง พ.ศ.๕๐๐ หรือ พ.ศ.๕๕๐ เมื่อชาวกรีก ในชมพูทวีป ตอนนั้นเรียกชาวต่างแดนว่า ชาวโยนาห์หรือว่าชาวโยนก พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ หรือว่าพระเจ้ามิลินท์ เป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธาระ หรือปัจจุบันก็คือ เป็นดินแดนของอัฟกานิสถาน ติดมาจนถึงแคชเมียร์ ตรงที่มีพระพุทธรูปบามียัน ตรงนั้นแหละ จากนั้นพระเจ้ามิลินท์ก็แผ่อาณาเขตไปทั่วบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป สร้างเมืองหลวงเป็นที่ประทับ ที่เมืองสาคละ หลังจากที่ได้พบกับพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ท่านหนึ่ง นามว่าพระนาคเสน จึงมีเรื่องราวแห่งการตั้งคำถามของพระเจ้ามิลินท์ต่อพระนาคเสน จนทำให้พระเจ้ามิลินท์เลื่อมใสในพระศาสนา คำถามคำตอบ ปุจฉาวิสัชนาซึ่งถูกเขียนบันทึกเป็นหนังสือ แล้วก็แปลเป็นภาษาต่างๆ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากเรื่องนี้ก็คือ “มิลินทปัญหา” ได้มีการสร้างสถาปัตยกรรม ประติมากรรมทางพระพุทธศาสนามากมายในแคว้นคันธาระ ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปนั้น ก็มีลักษณะต่างๆ ตามพุทธประวัติ พระพุทธรูปแรกๆ จึงเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ นั่นเอง
พระพุทธรูปเกิดขึ้นครั้งแรก เรียกรูปแบบของพระพุทธรูปนี้ว่า แบบคันธาระ โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวกรีกนับถือในยุโรปโรมันเอามาสร้าง พระพุทธรูปแบบคันธาระจึงมีใบหน้าแบบชาวฝรั่งชาวกรีก จีวรก็เป็นริ้ว เหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก เช่น เทพเจ้าซูส เทพเจ้าอพอลโล เป็นต้น ต่อมาในภายหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ถึง ๑๒ ก็มีคตินิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นขนาดเล็กๆ จุในพระเจดีย์ แล้วก็มีการพัฒนาสถาปัตยกรรมเรื่อยมา ในช่วงของมถุรา ก็พัฒนามาระดับหนึ่ง จนกระทั่งถึงสมัยคุปตะ ในช่วงนี้มหายานเต็มตัว คุปตะก็จะมีเทพเจ้ามากมาย ปั้นเอาไว้เคียงข้างกับพระพุทธรูป แล้วก็มาเป็นยุคของปาละ ปาลวะ สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อิทธิพลของกรีกลดลง พระพุทธรูปที่ทำขึ้นสมัยหลัง ก็มีลักษณะแตกต่างจากเทวรูปของกรีกมากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะตามแต่ที่นายช่าง สถาปนิก วิศวกร แต่ละยุคจะจินตนาการขึ้นเองบ้าง จินตนาการจากที่ผู้อื่นบอกเล่าบ้าง อย่างไรก็ตาม ลักษณะของพระพุทธรูปในยุคหลัง จะมีลักษณะซึ่งแสดงอิทธิพล ๒ อย่าง ปรากฏอยู่ในองค์พระพุทธรูปก็คือ
เวลาจะทำสิ่งต่างๆ เช่น ถนนหนทาง ตึก อาคารสถานที่ ย่อมประสงค์ที่จะนำชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง วีรบุรุษ หรือปูชนียบุคคลนั้นๆ มาเป็นชื่อสถานที่ที่ตั้งขึ้น ขนาดสนามบินในอินเดียก็ยังตั้งชื่อตามนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของอินเดีย คือนางอินทิรา คานธี อย่างนี้เป็นต้น
เพราะว่าภาพหรือว่าชื่อนี้ติดตาตรึงใจนายช่างผู้จะทำพระพุทธรูป ในขณะที่คิดจะสร้างพระ เขาก็มีภาพประทับใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจก่อนแล้ว บางครั้งนายช่างเองก็ไม่รู้ตัวว่า ได้นำเอาภาพประทับใจนั้นออกมาเป็นแบบในการสร้างพระพุทธรูป หรือบางครั้งคนที่มีชื่อเสียง สั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูป นายช่างก็ประสงค์จะเอาใจคนที่ว่าจ้าง เพื่อจะได้ทิป เพื่อจะได้รางวัล เวลาทำพระพุทธรูปขึ้นมาก็ทำหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับผู้ว่าจ้างของตนนั่นแหละก็มี เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปแต่ละยุคแต่ละสมัย จึงมีความแตกต่างกันออกไป ตามแต่จินตนาการของนายช่าง
พระพุทธรูปในปัจจุบัน ชาวพุทธให้ความเคารพศรัทธา บางแห่งก็มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธชินราช อย่างนี้เป็นต้น ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้น มีตำนานเล่าขานกันมา มากบ้างน้อยบ้าง สุดแท้แต่ความศรัทธาของชาวบ้าน แต่สิ่งที่เหมือนกันของรูปเปรียบของพระพุทธเจ้านี้ ที่สังเกตเห็น ก็จะมีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน
๑. พระเศียรจะแหลม มีคำถามว่า ทำไมพระพุทธรูปจึงมีพระเศียรแหลม ในเมื่อพระพุทธเจ้าของเราก็เป็นมนุษย์ บางทีในพระไตรปิฎกก็ยังมีสมณะพราหมณ์บางคนเรียกพระพุทธเจ้าว่าสมณะโล้น แสดงว่าพระพุทธเจ้าศีรษะโล้น ไม่ได้มีศีรษะแหลมอะไร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เขาสร้างพระพุทธรูป เพื่อให้คิดเป็นปริศนาธรรม พระเศียรที่แหลมนั้น ถอดความหมายหมายถึงสติปัญญาที่เฉียบแหลม ในการดำเนินชีวิต สอนให้ชาวพุทธแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ใช้อารมณ์ หากใช้ปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงทำ ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลย
๒.ลักษณะที่สอง พระกรรณจะยาว พระกรรณจะยานก็คือหูยาน แต่ในลักษณะแห่งบุรุษ ๓๒ เช่นที่บอกว่ามีฝ่าเท้าตั้งแนบสนิทดี แล้วก็ในฝ่าเท้ามีจักรลักษณะคือลักษณะแห่งกงจักร เป็นต้น คือหมายถึงว่าเวลายืน จะแนบลงกับพื้นเต็มทั้งฝ่าเท้า ฝ่าพระบาทจะไม่เว้า จะไม่หนักส้น จะไม่หนักปลายคือจะราบ แนบสนิทติดกันดี รอยพระพุทธบาทที่สร้างกันขึ้นมา จึงต้องทำเป็นรูปรอยฝ่าเท้าเต็มๆ ไม่มีอุ้งเท้า เว้าแหว่งให้เห็นเป็นรอยเท้าคนทั่วไปเวลาเดินย่ำไปมา เวลาทำมักจะทำเป็นลวดลายธรรมจักรอยู่ตรงกลาง มหาปุริสลักขณะข้ออื่นๆ ก็มี ซึ่งได้แก่ว่า ส้นเท้ายาว นิ้วมือนิ้วเท้ายาว แข้งเหมือนกับแข้งของเนื้อทราย ยืนตัวตรง ไม่โค้งลำตัว จะใช้ฝ่ามือลูบได้ถึงเข่า แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงว่า ติ่งหูยาวหรือว่าหูยานเลย
ดังนั้น เรื่องหูยานจึงไม่ได้เกี่ยวกับลักษณะแห่งมหาบุรุษ หากแต่นายช่าง ผู้สร้างพระพุทธรูปตั้งแต่โบราณทำส่วนติ่งหูยื่นยาวนี้ เพื่อสื่อถึงชาติกำเนิดดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงเป็นคนในวรรณะกษัตริย์ คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน ตามประเพณี ของพระจักรพรรดิ พระราชา เจ้าชาย เจ้าหญิง ย่อมสวมต่างหู หรือว่าตุ้มหูที่มีน้ำหนักมาก ถ่วงหูไว้ จนติ่งหูยื่นยานลงมา ลักษณะเช่นนี้คงนับถือในสมัยนั้นว่าเป็นความงาม แล้วก็เป็นความรู้สึกที่เป็นใหญ่เป็นโต
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวช จึงต้องทรงตัดมวยผม ที่เป็นสัญลักษณ์ของคนชั้นสูง แล้วก็ถอดเครื่องประดับร่างกายต่างๆ ออกจนหมดสิ้น รวมถึงตุ้มหูนั้นด้วย หากแต่เนื้อส่วนติ่งหูที่เคยถูกถ่วงน้ำหนักไว้ จนยาวนานถึง ๒๙ ปี ทำให้ติ่งหู ยืดยานด้วย แล้วก็ไม่อาจจะหดกลับคืนไปได้ จึงยังคงยื่นยาวอยู่เช่นนั้น
ถ้าสังเกตให้ดี นายช่างที่เข้าใจคติเรื่องนี้ นอกจากจะทำส่วนปลายพระกรรณ คือติ่งหูของพระพุทธรูปให้ยื่นยาวลงมาแล้ว ยังแสดงให้เห็นร่องผ่าตรงกลาง ยาวลงมาเกือบตลอดติ่งหูที่ว่านั้นด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า นี่คือร่องรอยที่หลงเหลือตกค้างจากการสวมใส่ต่างหูเป็นเวลานาน อันสื่อถึงพระราชสถานะของพระองค์ก่อนทรงผนวชนั่นเอง
ศิลปะคันธาระ ศิลปะก่อนๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์จะเห็นว่า ติ่งหูของพระพุทธรูปจะที่มีร่องตรงกลาง ลักษณะว่าเคยใส่ตุ้มหูถ่วงมาก่อน ดังนั้น การที่พระกรรณยานหรือว่าหูยาน เป็นปริศนาธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ ให้ชาวพุทธเป็นคนหูหนัก อย่าเป็นคนหูเบา ต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงนั่นเอง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องคิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอันแยบคายแล้วจึงเชื่อ
ในหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพราะว่าฟังกันตามๆ มา อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะว่าเราเห็นว่ามันใช่ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะว่าข่าวล่ำลือ อะไรพวกนี้เป็นต้น
๑๐ อย่าง ต้องมีหลักในการพิจารณา อย่าเป็นคนหูเบา เชื่ออะไรง่ายๆ คนหูเบาเชื่ออะไรง่ายๆ นั่นก็คือคนโง่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักคิด พิจารณา ไตร่ตรอง ด้วยสติปัญญาอันแยบคายแล้วจึงเชื่อ
ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ต้องเชื่อในกรรมและผลของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราต้องเชื่อมั่นในหลักเหตุหลักผล เชื่อว่าบุคคลหว่านพืชเช่นใดก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เชื่อว่าสุดท้าย คนๆ เดียวที่จะสามารถทำให้เราสุขหรือว่าทุกข์ดีหรือเลวได้คือตัวเราเอง แล้วก็ชีวิตเราจะเสื่อมทราม หรือเจริญรุ่งเรืองก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอกหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ คำพูด การคิดของตนเอง นี่คือหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
๓.ลักษณะที่สาม พระเนตรมองต่ำ พระพุทธรูปที่สร้างโดยทั่วไปจะมีพระเนตร มองลงที่พระวรกายของพระองค์ หรือมองไปในระยะที่ไม่เกิน ๒ เมตรข้างหน้าอย่างในพระอุโบสถในของวัด ในศาลาของวัดทั่วไป จะนั่งมองดูพระวรกาย ไม่ได้มองดูหน้าต่าง หรือมองดูประตูพระอุโบสถ ว่าจะมีใครเข้ามาไหว้บ้าง ไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นปริศนาธรรมสอนให้คนเรา รู้จักมองตนเอง พิจารณาตนเองก่อนเสมอ ตักเตือนแก้ไขตนเองก่อน ไม่ใช่คอยจับผิดผู้อื่น คอยแต่เป็นผู้พิพากษาว่าความผู้อื่น ซึ่งตามปกติของคนแล้ว มักจะมองเห็นความผิดพลาดของบุคคลอื่น แต่ลืมมองความผิดพลาดของตนเอง โทษคนอื่นเท่าภูเขา โทษของเราเท่าเส้นผม เพราะมันเป็นอย่างนั้นลืมมองตนเอง ทำให้เสียเวลาเสียโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ใครเล่าจะตักเตือนตัวเราได้ดีกว่าตัวเราเอง จึงมีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้รู้จักเตือนตนเองว่า “อตฺตนา โจทยตฺตานํ” จงเตือนตนด้วยตนเอง
จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด
จงเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน
ตนแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ
พระเนตรที่มองต่ำ คือการสอนให้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่เหม่อฝัน ฝันเฟื่องถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือมัวหลงอยู่ในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีวันหวนกลับมา ตาที่มองลงต่ำ จะช่วยย้ำเตือนใจเราว่า “กลับมาก่อนเถิด กลับมาอยู่กับลมหายใจที่ปลายจมูก เพราะนั่นคือบ้านที่แท้จริง คือความสงบอบอุ่นในใจ”
๔.ลักษณะที่สี่ พระพักตร์อันสงบนิ่ง ใบหน้าที่สงบนิ่งหมายถึงว่า ไม่หวั่นไหวกับปัญหาต่างๆ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ให้ความรู้สึกเย็น สบายใจต่อผู้ที่พบเห็นเสมอ
๕.ประการที่ห้า รอยยิ้มจากพระโอษฐ์ หมายถึงปริศนาจากปากที่มีรอยยิ้มเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ แล้วก็เข้าใจความจริงของโลก อย่างที่มันเป็น ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่อะไรคงทนถาวร ไม่มีอะไรเป็นของเรา เป็นของเขาอย่างแท้จริง ฉะนั้นผู้ที่เข้าใจความจริง จะสามารถสงบนิ่งอยู่ได้ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่วิ่งไปตามกระแสโลกจนเหนื่อยเกิน และสามารถใช้ชีวิตอย่างเบิกบาน ในท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ เพราะมีสัจธรรมเป็นที่พักพิง รู้จักโลก เข้าใจโลก แต่เป็นผู้ไม่ติดโลก จึงเป็นผู้ที่มีใบหน้าที่เบิกบาน เพราะเป็นผลแห่งความเป็นผู้รู้และเป็นผู้ตื่นนั่นเอง
ที่กล่าวมาทั้ง ๕ ประการนี้เป็นการสอนโดยใช้ปริศนาธรรม จากพระพุทธปฏิมา จากพระพุทธรูป เป็นสื่อการสอนใจตนเอง หากไม่เข้าใจก็มัวแต่ว่า เป็นความขลังเป็นความศักดิ์สิทธิ์ มีแต่การไปบนบานสานกล่าว เซ่นไหว้ บวงสรวง สารพัดอย่างที่จะงมงายทำกัน
ดังนั้นเมื่อเรามีปัญหาอะไร แก้ไขไม่ได้คิดไม่ตก กลับมาหาตัวเอง กราบพระ ไหว้พระสวดมนต์ หายใจเข้าสบาย หายใจออกให้สบาย เมื่อกราบที่พระพุทธปฏิมา หรือจะไม่มีพระพุทธรูปอยู่บ้าน อยู่ห้องเลย กราบพระที่อยู่ในใจ มองเห็นพระเศียรที่แหลม สอนใจตนว่า อย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ใจเย็นๆ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ในโลกนี้ ไม่มีอะไรแก้ไขไม่ได้ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ ด้วยสติปัญญา
สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดมันจะเกิดปัญหา ต้องแก้ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลม เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา ที่พระองค์ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาทุกอย่าง โดยเฉพาะแก้ปัญหาทุกข์ จนกระทั่งรู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ และรู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ จึงแก้ปัญหาในวัฏสงสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ
เวลามองเห็นพระกรรณยาน คือหูยานก็บอกตนเอง สอนตนเองว่า สุขุมเยือกเย็น มีเหตุผลเข้าไว้ อย่าไปหูเบาใจง่าย อย่าปล่อยใจไปตามอารมณ์ หรือว่าหุนหันพลันแล่น เดี๋ยวจะผิดพลาดได้ ต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เชื่อในสิ่งที่มีเหตุมีผลไม่ใช่ว่าใครที่ตนเองชอบพอ เขาเลียแข้งเลียขาหน่อยก็เชื่อเขาไปหมด นี่คือพวกที่ไม่หนักแน่น พวกหูเบาใจง่ายนั่นเอง
เห็นสายพระเนตรที่มองต่ำ ก็รู้จักบอกตนเองสอนตนเองว่า กลับมามองตนเองมั่งนะ อย่าไปมองคนอื่นมาก เดี๋ยวมันจะใจไม่สบาย การมองตนเองบ่อยๆ จะได้พิจารณาตนเอง ปรับปรุงตนเองและแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
เห็นพระพักตร์อันสงบนิ่ง ก็บอกตนเองว่ าอย่าไปหวั่นไหว ไหวหวั่นกับปัญหาต่างๆ ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ให้ใจดีใจสบายไว้
เห็นรอยยิ้มจากพระโอษฐ์ ก็บอกตนเองว่า ให้มีรอยยิ้มกับผู้อื่นบ้าง อย่าไปบึ้งตึงกับคนอื่น
กราบพระด้วยสติปัญญาและจิตใจที่ชื่นบาน นี่เรียกว่ายิ่งกราบยิ่งฉลาด หากไม่เข้าใจยิ่งกราบมันก็ยิ่งโง่ เพราะไปติดในความขลังความศักดิ์สิทธิ์ไม่เข้าใจอะไรกันเลย แล้วก็พากันสร้างแต่พระพุทธรูปภายนอก สร้างแต่พระภายนอก เต็มบ้านเต็มเมือง เกลื่อนเมืองไปหมด ไม่มีคนดูแลรักษา เพราะไม่รู้จักพระภายใน จึงต้องกราบแบบนี้ เข้าใจแบบนี้ จึงจะเรียกว่ายิ่งกราบยิ่งฉลาด สมกับเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานที่แท้จริง
มนุษย์เราเป็นผู้ฉลาด สามารถ มีปัญญา สามารถที่จะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีๆ พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องมาปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ชีวิตของเราที่มันไม่ได้รับความสำเร็จในชีวิต ก็เพราะเราทำตามจิตตามใจของตัวเอง ไม่เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เอาแต่ความถูกใจเป็นใหญ่ ไม่เอาความดีเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่
ถ้าเราทำตามใจของเรา จิตใจของเรามันก็ยิ่งร้อน ยิ่งทวีคูณ สิ่งไหนที่ข้าพเจ้าชอบ ข้าพเจ้าก็จะเอา สิ่งไหนข้าพเจ้าไม่ชอบ ข้าพเจ้าก็ไม่เอา ก็เป็นอย่างนั้น
เราทุกๆ คนที่เกิดมา มีคุณสมบัติที่เราจะต้องได้รับ ก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะเราไม่ชอบเลย ไม่ต้องการเลยแต่ทุกคนก็ต้องได้ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงต้องปรับจิตปรับใจเข้าหาธรรมะ ทุกคนต้องมาชอบความแก่ ความเจ็บ ความตายและความพลัดพราก ยอมรับว่านี่คือสัจธรรม นี่คือความจริง คือสิ่งที่ทุกๆ คนต้องได้รับอย่างแน่นอน ทุกคนไม่อยากเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แต่ทุกคนก็ย่อมได้สิ่งนั้นๆ
พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราสนใจเรื่องความชอบ ความไม่ชอบ พยายามทำจิตทำใจของเราให้มันสงบ สิ่งไหนที่เรามีปัญหา นี่ก็คือความชอบไม่ชอบนี่แหละ จิตใจเรามันถึงไม่สงบ
พระพุทธเจ้าเทศน์เรา บอกเรา สอนเราเรื่องการเสียสละ เสียสละขนาดไหน เสียสละจนขนาดที่เราไม่มีตัวไม่มีตนโน่นแหละ ถ้าเรายังมีตัวมีตนอยู่ ก็ย่อมมีความทุกข์ เรามีความทุกข์ ก็เพราะเรามีตัวมีตน ทุกท่านทุกคนนั่นน่ะ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว ไม่ได้เป็นพระ หรือไม่ได้เป็นโยม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ที่อวิชชาคือความหลงของเรานี้ มันมาปรุงแต่งจิตใจให้เราทำบาปทำกรรม ไม่มีที่หยุด ไม่มีที่ยั้ง
ใจของเรา มันมีแต่จะเอา มันจะเอาความสุข มันเป็นผู้เอามาตั้งหลายภพหลายชาติแล้ว แม้แต่เกิดมาเราก็พอที่จะสังเขปได้ มันเริ่มเอาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว เมื่อออกมาก็มาเอากับคุณพ่อคุณแม่อีก มาเอาวัตถุสิ่งของ เอาเงินเอาทอง เอาการเลี้ยงดู อุปัฏฐาก เมื่อเจริญวัยเป็นนักเรียนวัยศึกษา มันก็จะเป็นผู้เอา เอากับเพื่อนบ้าน เอากับสังคม มีแต่จะเอาๆ จะมาหาความสุขกับคนอื่น บนความทุกข์ของเขา
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเรา ให้เราเป็นผู้เสียสละ มาเป็นผู้ให้ เป็นคนขยัน เป็นคนไม่ขี้เกียจ มาหยุดตัวเอง มาเบรกตัวเองว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตจิตใจของข้าพเจ้าใหม่ จะเป็นคนขยันสุดๆ เสียสละอย่างสุดๆ จะมาละอัตตา มาละตัวละตน จะไม่เป็นคนฟรีสไตล์มักง่าย ตามอัธยาศัย ตามใจตัวเอง มีโลกส่วนตัว เอาตัวตนเป็นใหญ่ เป็นประธานน่ะมันไม่ถูก ต้องมาพิจารณาตัวเองว่าตัวเองได้เสียสละอะไรบ้าง ตัวเองได้ให้ความสุขกับพ่อกับแม่หรือยัง ตัวเองได้ให้ความสุขแก่ครอบครัวแล้วหรือยัง ตัวเราเองได้ให้ความสุขแก่หมู่คณะ แก่สังคม แก่ประเทศชาติแล้วหรือยัง คนเรามันต้องเสียสละ ถ้าไม่เสียสละ ตัวเองก็ไม่มีความสุข ยิ่งคนอื่นเขาก็ยิ่งเดือดร้อน ถ้าเราไม่เสียสละ ครอบครัวของเราแย่เลยแหละ ทุกคนก็แย่ไปหมด เพราะเกิดจากเราเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เป็นคนไม่เสียสละ มีแต่จะได้มีแต่จะเอา ไม่รู้จักทำใจให้สงบ
ถ้าเรามาหยุดตัวเอง มากระตุ้นตัวเองอย่างนี้แหละจิตใจของเราก็จะสงบขึ้นเย็นขึ้น การเปลี่ยนตัวเองนี้มันเปลี่ยนยาก เพราะธรรมะภาคปฏิบัติ ทุกอย่างมันต้องทวนกระแสหมด มันจะว่ายตามน้ำ ตามความต้องการ ตามใจ ตามอารมณ์ ตามอัธยาศัย ตามสิ่งแวดล้อมไป มันไม่ได้ คนเราเอาชนะอะไรมันไม่ประเสริฐ มันไม่ดี เท่ากับที่ชนะใจตนเอง ชนะอารมณ์ตนเอง ชนะคนอื่นเป็นหมื่นครั้ง ก็ไม่สู้ชนะใจตัวเองเพียงครั้งเดียว
การรักษาศีล ให้ทุกคนเข้าใจว่า ก็คือการพากันมาเสียสละ ไม่ใช่เราจะพากันมาเอา เราพากันมาเสียสละ การทำสมาธิก็คือการเสียสละเหมือนกัน สมาธิก็แปลว่าจิตใจตั้งมั่น ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีความโลภ ความหลง คือการปล่อยการวาง การไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น คืนธรรมชาติสู่ความเป็นจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้มีไม่ได้เป็น มันเป็นของบริสุทธิ์ผุดผ่อง ที่เรามันสุขมันทุกข์ก็เพราะ “เรา” มันเป็นตัวบงการ
ใครบงการล่ะ? กิเลสในใจบงการให้ทำอย่างนั้น บงการให้ทำอย่างนี้ บงการให้อยากไปโน่นอยากไปนี่ บงการให้คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ กิเลสบงการแต่เรายังไม่รู้ตัว เพราะเรายินดีที่จะเป็นลูกน้องมัน เป็นบริวารของมัน คอยรับค่าจ้างคือกามคุณ แล้วก็อิ่มไปวันๆ คอยให้มันบงการอย่างนี้ ชีวิตมันไม่มีอิสระเลย ตัวที่จะให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ถูกมันบงการไปหมด
ทำสมาธินี้ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาเข้าใจว่าคือการการละนิวรณ์ ย่อๆ ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ในจิตใจของเรา ใจของเราไม่สงบ ใจของเรามันร้อน ใจของเรามันคิดมาก เพราะเต็มไปด้วยความอยาก เผาด้วยความวิตกกังวล เผาด้วยความอยาก ความต้องการ ความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท อิจฉา ตาร้อน มันเผาเรา เรายังไม่ตาย มันก็เผาเราทั้งเป็นแล้ว
ท่านเลยว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ไม่ต้องไปหาทีหลังตอนตายหรอก อยู่ในใจเรานี่แหละ
พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเรา ให้เข้าหาความสุขความดับทุกข์ เข้าหาความสงบในปัจจุบัน เรื่องทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่เป็นความอยากความต้องการทั้งนั้น ที่มันมาเผาเรา ท่านให้เรามาเจริญสติสัมปชัญญะ ให้จิตใจของเราสมบูรณ์ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปรู้อะไรมาก รู้ตัวเองในปัจจุบัน อันไหนมันดีเราก็คิด อันไหนมันดีเราก็พูด อันไหนมันดีเราก็ทำ อันไหนไม่ดีเราก็ไม่คิด อันไหนไม่ดีเราก็ไม่พูด อันไหนไม่ดีเราก็ไม่ทำ เพราะว่าสิ่งที่ดี-ไม่ดี ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกอย่างมันก็แปรเปลี่ยนไปจากไปหมด สิ่งที่ดีมันก็จากไป สิ่งไม่ดีเลวร้ายแค่ไหนมันก็ต้องจากไป ทุกอณู ทุกวินาที ทุกลมหายใจ ทุกเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน
เราทุกคนจึงต้องมาทำใจให้สงบให้เย็น ไม่ต้องวิ่งตามอารมณ์ ไม่ต้องไปวิ่งตามโลก ตามเจ้าโลก ถ้าไปวิ่งตามอารมณ์ ตามโลกว่าทำไมๆๆ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้
เราไม่ต้องเอาดีเอาชั่ว เอาผิดเอาถูกกับสิ่งภายนอกนะ สิ่งภายนอกก็ถือว่านี่แหละมันเอาธรรมะมาให้เรา ว่าสิ่งอันนี้มันไม่น่าเป็น มันก็เป็น ถ้าเราคิดอย่างนี้แหละ ใจของเรามันก็จะหยุด มันก็จะเย็น เราจะได้กลับมาแก้ไขตัวเอง มามองตัวเอง ไม่ได้ไปคิดเรื่องภายนอก ยุ่งแต่เรื่องภายนอกแก้แต่เรื่องภายนอก
ทุกท่านทุกคนให้ถือเอาโอกาส ถือเอาเวลานี้ ที่เราได้มาบวช มาประพฤติมาปฏิบัติธรรม มาอบรมบ่มอินทรีย์ ให้จิตใจของเรามีอินทรีย์บารมีแก่กล้าขึ้น ต้องอาศัยความอดความทน อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ คนเราเมื่อไม่ได้ตามใจก็ต้องมาแก้ที่ใจ เพราะสิ่งที่มีปัญหาก็คือใจที่มันมีปัญหานี่แหละ จึงต้องทำใจของเรา ให้มันสงบให้ได้ ใจของเรามันก็ค่อยๆ เกิดปัญญาว่า ธรรมะมันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ถ้าเราทำตามใจตามอารมณ์ ชีวิตนี้มันก็มีแต่ผิดหวัง โลกนี้ก็ย่อมมีแต่การเห็นแก่ตัว ถือพรรคถือพวก ถือชั้น วรรณะ ชาติตระกูล เอาดีใส่แต่ตัว เอาสุขใส่แต่ตัว เอาความทุกข์ให้คนอื่น มันไม่ถูกต้องเลย มันไม่ยุติธรรมเลย ใครคิดได้มาก ใครวางแผนได้ดีกว่ากัน ใครวางแผนได้ดีกว่าคนอื่น ก็เอาเปรียบคนอื่น ขาดความเป็นธรรม ขาดความยุติธรรม
อาชีพบางทีก็ไม่ยุติธรรมนะ ขายเหล้า ขายเบียร์ ขายปืน ขายอาวุธ ทำบ่อนคาสิโน ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสิ่งเสพติด เพราะว่าอะไร เพราะว่ามีความเห็นแก่ตัวมาก บางคนก็คิดนะ คิดว่าเราเป็นคนเสียสละมากๆ เป็นคนดีมีศีลมีธรรม เราก็ถูกคนอื่นเอาเปรียบ เราก็เสียเปรียบ ถ้าเราคิดอย่างนั้น มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นกิเลส กิเลสในตัวเราคิด มันเป็นกิเลสคิด เป็นกิเลสบงการ มันไม่ใช่ธรรมะ
คนเรานี้ ความสุขมันต้องได้จากการเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ อันเกิดจากความสงบ เราดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ วันหนึ่งพระองค์บรรทมเพียง ๔ ชั่วโมง อีก ๒๐ ชั่วโมงทรงเสียสละ เพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ท่านก็ได้รับแต่ความสุข
ถ้าเรามาคิดว่า ก็เรามันไม่ใช่พระพุทธเจ้านิ เราจะปฏิบัติเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก เราคิดอย่างนั้นคิดไม่ได้ คิดไม่ถูก เรามีความคิดเห็นผิดมากๆ นะ การทำตามใจตัวเองนั้นน่ะ คือการสร้างปัญหา ถ้าเราเป็นคนเสียสละ เป็นคนดี ครอบครัวเราก็ย่อมมีความสุข องค์กรของเราก็ย่อมมีความสุข ประเทศชาติก็ย่อมมีความสุข ทุกคนก็มีความต้องการ ต้องการคนดี
สิ่งที่สำคัญน่ะ อยู่ที่เราทุกคนมีความเห็นแก่ตัวและก็ไม่ยอมเสียสละ ไม่ยอมลดมานะ ละทิฏฐิ มีแต่การเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ตัวเอง เอาแต่อัธยาศัยตัวเอง ธรรมะที่จะให้เราเป็นพระเบื้องต้น ก็คือการมาลดมานะ ละทิฏฐิ ละความเห็นแก่ตัว ไม่เอาความสุขทางวัตถุ ไม่เอาความสุขทางเนื้อหนัง ลาภ ยศ สรรเสริญ จะเอาความสุขทางทำความดี มีศีล มีธรรม เอาความสุขทางการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการเสียสละ
เรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เขามาพร้อมกับความดีของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปอยากไปต้องการ อย่างเขาให้เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงด๊อกเตอร์ ก็เพื่อให้เป็นคนดีเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจขี้คร้าน อย่างเขาให้เราเรียนหลักสูตรนักธรรมตรี ไปจนถึง ป.ธ.๙ ก็เพื่อเป็นคนดีเป็นคนเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว
โลกเราที่มันร้อนอยู่นี้เพราะอะไร ก็เพราะเราทุกๆ คนมีความเห็นแก่ตัว มันถึงได้สร้างปัญหา เราทำความดี มันมีแต่ความสงบ มีแต่ความเย็นนะ ไม่มีใครมาได้เปรียบเรา เราไม่ได้มาเสียเปรียบใครหรอก การชนะจิตชนะใจตัวเองได้ คือการชนะข้าศึกทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเราอย่างนี้
ในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกท่านทุกคนจะฝึกจะได้ปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสอาสวะของตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัด หรือจะอยู่ในบ้าน อยู่ที่ไหนๆ ทุกคนต้องปฏิบัติตัวเองทั้งหมด เราจะอยู่ที่ไหนเราก็ต้องแก่ เราก็ต้องเจ็บ เราก็ต้องตายทั้งหมดนะ สัจธรรมคือความเป็นจริง ไม่ได้ยกเว้นให้ใคร
ความสุขน่ะ มันเป็นสิ่งเสพติดทุกคนมันชอบมันติด เราทุกคนจำเป็นต้องทำจิตใจเฉยๆ เดินหน้าประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่า “ติด” ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันไปไม่ได้ รถติดมันก็ไปไม่ได้ อะไรติดมันก็ไปไม่ได้ แล้วถ้าใจของเราติดล่ะ ติดหล่ม หล่มกาม บ่อกาม ติดโน่นติดนี่ติดนั่น มันไปไม่ได้นะก็เพราะมันติด จิตใจของเราจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้าไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ทิ้งไว้เบื้องหลัง อย่าไปเสียดมเสียดาย อาลัยอาวรณ์อะไรมันเลย แข็งใจสู้มัน มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ถือว่าเราได้มาเดินตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐยิ่งกว่านี้ จงดีใจ จงภูมิใจในตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติของตัวเองว่า เราได้เดินทางมาดีแล้ว ถูกต้องแล้วชื่อว่า “สุคโต” เป็นผู้ปฏิบัติธรรมด้วยความสุข อยู่กับความสุข จะไปก็ไปด้วยความสุข สงบเย็น เป็นพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้เป็นผู้ปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งบวรพุทธศาสนา เป็นผู้มีปัญญาได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลนิพพานด้วยกันทุกท่านเทอญ