แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๒๓ ออกแบบโครงสร้างของชีวิตจิตใจ ตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารู้ว่าความสุขความดับทุกข์นั้นอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเเละปฏิบัติถูกต้อง หมู่มวลมนุษย์ทุกคนถ้าเข้าใจเเละปฏิบัติสามารถเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ได้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เเล้ว ก็ต้องวางโครงสร้างวางหลักการ กระบวนการ เพื่อนำหมู่มวลมนุษย์เข้าสู่ไลน์ คิดว่าจะไปโปรดใปสั่งสอนใคร เพราะการเผยเเพร่นี้ ถ้าเข้าใจเเละเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันเป็นไปได้ 100% เพราะอันนี้เป็นหลักเหตุหลักผลตามหลักวิทยาศาตร์ เเละสิ่งที่ดีกว่าประเสริฐกว่าวิทยาศาตร์ก็คือ เข้าถึงธรรมะ ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าเราทำตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาตรส์มันก็ยังมีตัวมีตนอยู่ มันยังตกอยู่ในสัญชาตญาณอยู่ เป็นมนุษย์ที่เก่ง เป็นมนุษย์ที่ฉลาด เป็นมนุษย์ที่รวย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเผยเเผ่วางหลักการให้ท่านคนรวย คนจน เข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ได้ ไม่มีใครที่จะดับทุกข์ไม่ได้หรอก เพราะความทุกข์มันอยู่ที่ใจ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง โครงสร้างของพระพุทธเจ้าละเอียดมาก มีอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างเรามีกระดูก มีเส้นเอ็น มีตับไต มีเนื้อและเลือด หุ้มห่อด้วยหนัง ที่ประกอบด้วยร่างกายมนุษย์มีโครงสร้าง อาคารบ้านช่องมันก็มีโครงสร้าง พระพุทธเจ้าวางโครงสร้าง ก็คือระเบียบธรรมวินัย ที่งามเบื้องต้นคือศีล งามในท่ามกลางคือสมาธิ งามในที่สุดคือปัญญา ที่ประกอบด้วยการประพฤติการปฏิบัติที่เป็น เอกายโน มัคโค เมื่อโครงสร้างอย่างนี้มันก็ไปตามโครงสร้าง คนเราถ้าตามอย่างนี้มันจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้มี ธรรมะของพระพุทธเจ้าจึงเป็นอมตะ ปิดอบายมุขอบายภูมิ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักฐาน ทรงวางโครงสร้างใช้เวลา ๔๕ ปี
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน จริยาปิฎก ว่า “ไม่ใช่ว่าลูกทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเรา ไม่ใช่ว่ามัทรี ไม่เป็นที่รักของเรา พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เราจึงได้ให้บุตร ธิดา ภรรยา อันเป็นที่รักของเราเป็นทาน”
ความหมายนัยหนึ่งของความรัก คือ การให้ การเสียสละแบ่งปัน ขอบเขตความรักของแต่ละคนมีมากน้อยต่างกัน บางคนรักแต่ตนเอง จนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว ไม่สนใจคนรอบข้างว่าจะเป็นอย่างไร บางคนรักพ่อรักแม่ รักทุกคนในครอบครัว รวมไปถึงหมู่ญาติ บางท่านใจกว้างมากไปกว่านั้น รักคนทั้งประเทศทั้งโลกเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขเหมือนๆ กัน
ส่วนพระบรมโพธิสัตว์ท่านมีปัญญามาก มีมหากรุณาไม่มีที่เปรียบ นอกจากรักครอบครัว รักบุตรธิดาหรือภรรยาแล้ว ท่านยังรักสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความปรารถนาจะให้สรรพสัตว์ ได้พ้นทุกข์ มีดวงตาเห็นธรรม เพราะผู้ที่ประพฤติพลาดพลั้ง ถูกอกุศลเข้าสิงจิต จึงกระทำความผิด ได้พลัดหลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ท่านอยากให้สรรพสัตว์เหล่านั้นได้พ้นจากความทุกข์ทรมาน อีกทั้งอยากให้ผู้ที่กำลังเสวยบุญในเทวโลกและพรหมโลกทั้งหมด ได้พบความสุขอันเป็นอมตะ คือ พระนิพพาน ไม่อยากให้เสียเวลาในการสร้างบารมีอีกต่อไป
ด้วยความรักและเมตตาอันไม่มีประมาณ ทำให้ท่านต้องฝึกฝนตนอย่างยิ่งยวด จนได้รับการกล่าวขานว่า ท่านเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ผู้สร้างบารมีเพื่อหวังจะได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต แม้พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะรักบุตรภรรยาหรือมารดาบิดา แต่ท่านรักโพธิญาณมากกว่า เพราะตระหนักดีว่า หากภพชาติใดที่ท่านได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านย่อมสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับหมู่ญาติทั้งหลาย รวมทั้งสั่งสอนมนุษย์และเทวดาให้พบกับอมฤตธรรม ตามปกติท่านจะมีคุณสมบัติที่พิเศษ ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเอกบุรุษ ที่เราควรมาศึกษากัน
คุณสมบัติ ๑๐ ประการของพระโพธิสัตว์เจ้า คือ
๑. เป็นผู้ไม่ติดในของรักของชอบของคนอื่น ใจจะติดในการสร้างบารมีเพื่อมุ่งไปสู่อายตนนิพพานเพียงอย่างเดียว
๒. ท่านเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในสิ่งของภายนอก ยินดีที่จะมุ่งสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น
๓. เป็นผู้ยินดีในความเสียสละ คือ ยินดีในการให้ มากกว่าการเป็นผู้รับจากคนอื่น ท่านเป็นยอดนักเสียสละ นักสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริง
๔. สามารถปล่อยวางได้ง่าย ไม่ผูกโกรธ ไม่ถือสาหาความ ไม่เอาเรื่องใคร มีแต่จะเอาบุญอย่างเดียว
๕. เป็นคนจริง ไม่มีความคิดกลับกลอก คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น
๖. เป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทเลินเล่อ จนเสียการเสียงาน ท่านจะทำงานทุกอย่าง ไม่ว่างานนั้นจะเป็นของท่านเองหรือทำให้คนอื่น จะทำอย่างพิถีพิถัน ไม่มีความลำเอียงในใจ
๗. เป็นผู้ที่คิดใหญ่ ใจกว้าง ประดุจท้องมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล
๘. เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปรู้ตามได้ยาก เพราะท่านมีความคิดเหนือวิสัยของปุถุชนทั่วไป คือ มีจิตใจสูงส่ง คิดจะช่วยเหลือคนอื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์ ส่วนคนทั่วไปคิดเพียงว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด
๙. ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก สามารถทำของยากให้ง่าย ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะเรื่องใหญ่มีเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น และช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากความเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
ประการสุดท้าย คือ ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้นำในการสร้างบารมี มีความคิด คำพูดและการกระทำที่ประเสริฐเหนือกว่าคนอื่น มักแสดงออกในลักษณะของความเป็นผู้นำตลอดเวลา จะสังเกตเห็นว่า ประวัติการสร้างบารมีที่เราศึกษาในชาดก ไม่ว่าท่านจะถือกำเนิดเป็นอะไร จะมีลักษณะของความเป็นผู้นำมาโดยตลอด จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด
ในเรื่องการบำเพ็ญเพียร เพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามพระนาคเสนเถระว่า “พระโพธิสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเหมือนกันทั้งหมด หรือทำเฉพาะพระโคดมโพธิสัตว์เท่านั้น” พระเถระตอบว่า ไม่เหมือนกันหมด ทำเฉพาะบางพระองค์เท่านั้น ส่วนพระโคดมโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญภาวนา ถึงขั้นต้องทำทุกรกิริยา เพราะท่านได้ประพฤติผิดทางวจีกรรมไว้ ในสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า ได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์ว่า “การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน เพราะการตรัสรู้ธรรม เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง” ด้วยวิบากกรรมนั้น ท่านจึงได้เสวยทุกข์ในการทำความเพียร โดยต้องใช้เวลาในการแสวงหาโมกขธรรม นานถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้ธรรม
พระเจ้ามิลินท์ยังมีความสงสัย จึงถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่ตรงกับคุณลักษณะของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย” พระเถระตอบว่า “พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีความแตกต่างกัน ๔ อย่าง คือ ต่างกันด้วยตระกูล เวลาที่สร้างบารมี พระชนมายุและประมาณของพระสรีรกาย แต่พระพุทธเจ้าทั้งปวงไม่ต่างกันด้วยพระรูปลักษณะ ตบะ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะกับเวสารัชญาณ ๔ ทศพลญาณ ๑๐ พุทธญาณ ๑๔ พุทธธรรม ๑๕”
สรุปว่า พระพุทธเจ้าทั้งปวงเสมอกันด้วยพุทธธรรม เพราะผลแห่งการฝึกฝนอบรมตนอย่างยิ่งยวดของพระบรมโพธิสัตว์นั่นเอง แม้จะมีความแตกต่างกันในส่วนที่เป็นโลกียะ แต่กำลังบุญบารมีที่ได้สั่งสมมา บางพระองค์สร้างบารมีมา ๒๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป บางพระองค์ ๔๐ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป บางพระองค์เป็นนักสร้างบารมีประเภทวิริยาธิกะที่รักเพื่อนมนุษย์มาก หวังจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงใช้เวลาสร้างบารมียาวนานถึง ๘๐ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป เพราะฉะนั้น ตระกูลของท่าน การบำเพ็ญทุกรกิริยา พระชนมายุ และประมาณของพระสรีรกายจึงแตกต่างกันตามกำลังบารมี สำหรับโลกุตตรสมบัติอันประเสริฐของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา เวสารัชญาณหรือทศพลญาณ เป็นต้น จะไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้เป็นผลที่เกิดจากความเพียร ความรักและความเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง
มื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น “เจ้าชายสิทธัตถะ” ถือว่าเป็นพระชาติสุดท้ายที่จะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
ผู้ให้การสนับสนุนดูแลอุปัฏฐากเมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทุกรกิริยาที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม คือ ปัญจวัคคีย์ประกอบด้วยโกณฑัญญะ ภัททิยะ วัปปะ มหานามะ และอัสสชิ ได้เอาใจ “ออกห่าง”และ “หนีไกล” ไปอยู่ยังอีกเมืองหนึ่งคือเมืองพาราณสีด้วยเหตุที่ไม่อาจ “ทําใจ” ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติของพระโพธิสัตว์จากการทรมานตนให้ลำบากเป็นการปฏิบัติในทางสายกลางแต่หลังจากการไปของปัญจวัคคีย์ไม่นานพระโพธิสัตว์ได้บรรลุเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”ผู้เป็นศาสดาเอกของโลกที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันพระจันทร์เต็มดวง เดือน ๖
เมื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว พระพุทธองค์ทรงพระดำริจะแสดงธรรมโปรดแก่ “อุทกดาบส”
และ “อาฬารดาบส”ผู้เคยให้แสงสว่างในกาลก่อน แต่ดาบสทั้งสองได้ “สิ้นบุญ” ไปไม่นาน พลาดโอกาสฟังธรรมแล้วนําปฏิบัติเพื่อ “ขยี้กองทุกข์” เข้าสู่พระนิพพานอย่างน่าเสียดาย
จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงระลึกถึงอุปการคุณของนักบวชทั้งห้า ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ปรนนิบัติรับใช้ใน “ยามยาก”ลำบากตรากตรําเตรียมน้ำร้อน น้ำเย็น และปัจจัยเครื่องอาศัยอื่นๆ “เทใจ” เชื่อว่าพระโพธิสัตวจ์ะบรรลุอมตะธรรมด้วยการทรมานตน จนในที่สุดก็ต้องตีจากไป ทำให้โกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม ที่ครั้งหนึ่งเคย “ยกมือ” ต่อหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นสียงเดียวที่แตกต่างจากคนอื่น “ฟันธง” ว่า เจ้าชายองค์น้อยผู้มีชันษาเพียง ๕ วัน ในครั้งนั้น จะออกบวชและได้บรรลุธรรมอย่างแน่นอน ทำให้การเดินทางจากพุทธคยาของนักบวชทั้งห้ามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันจึงเต็มด้วยความรู้สึกที่หลากหลายทั้งอ้างว้างวังเวง สลับกับความสลดหดหู่เป็นระยะๆ
นอกจากนั้นการอธิษฐานจิตที่มีฐานใหญ่คือศรัทธาในการเสด็จมาโปรดปัญจวัคคีย์ของพระพุทธองค์เป็นการอธิษฐานเพื่อ “เปิดมิตร ปิดศัตรู” เพราะผลแห่งปฐมเทศนาและทุติยเทศนาทำให้ปัจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงเป็นเสมือนการเปิดมิตรของพระพุทธองค์ที่เกิดจากการเปิดใจของปัญจวัคคีย์ น้ำเสียงอารมณ์และการแสดงออกของปัญจวัคคีย์ตั้งป้อมเป็น “ศัตรู” ต่อพระพุทธเจ้าในการพบกันครั้งแรกที่เจาคันฑีสถูป ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับภายหลังที่นักบวชทั้งห้าได้ฟังธรรมแล้วเป็นการ “ปิดศัตรู” อย่างถาวร
เรื่องราวในพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดนักบวชทั้งห้า จึงทำให้เกิด “พุทธานุสติ” มีปิติแผ่ซ่านในดวงจิต ทำให้การอธิษฐานเกิดพลัง “บริวาร” เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าได้ทรงสถาปนา “สํานักงาน” แรกของพระพุทธศาสนา ทําให้ “ปฐมเทศนา” กลายเป็น “ปฐมเหตุ” ของการมี “บริวาร” ที่เข้ามาช่วยงาน “บริหาร” พุทธบริษัทจนแผ่กว้างทั่วทั้งชมพูทวีป ในครั้งพุทธกาลและทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน
โครงสร้างของหลวงปู่มั่นที่บำเพ็ญพุทธบารมีมา เสียสละพระโพธิญาณ เป็นพระอรหันต์สาวก ผู้ปฏิบัติตามค่อยพัฒนาขึ้น ถึงมีผู้บรรลุธรรม ปฏิบัติทางตามสายนี้ มันก็มีมากขึ้น
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก ท่านเป็นพระป่าผู้เป็นที่รู้จักและเป็นพระอาจารย์คนสำคัญของหลายสำนักการปฏิบัติธรรม หลวงปู่มั่นไม่เคยถือสมณศักดิ์หรือสมบัติใดๆ นอกจากในพุทธบัญญัติไว้ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าท่านเป็นพระแท้ผู้ควรค่าแก่การยึดเป็นแบบอย่างที่แท้จริง
หลวงปู่มั่น เกิดเมื่อ วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามณรในสำนักวัดบ้านคำบง บวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะมีอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า "เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก" เมื่ออายุได้ 23 ปี ท่านเข้าบชที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ฝึกปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล จากนั้นหลวงปู่มั่นก็นิยมออกธุดงค์ตลอดเวลา ท่านได้บรรลุธรรมอย่างเด็ดขาดในการธุดงค์ และยกย่องกันว่าท่านเป็นผู้ที่เป็นเลิศในการธุดงค์ ประมาณปี 2450 - 2453 ท่านได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่เขาพระงามบ้าง ถ้ำสิงโตบ้าง ต่อมา ท่านได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำสาริกา ที่นั่นท่านได้ตระหนักว่าตนเคยปรารถนาพุทธภูมิ (เคยตั้งจิตจะเป็นพระพุทธเจ้าในชาติก่อนๆ) ท่านจึงได้ถอนความปรารถนานั้นเสีย
ต่อมาท่านขึ้นไปที่ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร 1 พรรษาได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง (เวลานี้จึงเป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์) ท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์ให้หลวงตาปลัดเกตุ เพียงรูปเดียวเท่านั้นเพราะความเกรงใจผู้นิมนต์ซึ่งกำลังป่วยหนัก ต่อมาท่านจึงได้สละตำแหน่ง เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ท่านจึงหนีธุดงค์เข้าป่า หลวงปู่มั่นอาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ถ้ำพวง ฯลฯ แล้วออกไปพำนักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง 11 ปี
ในปี พ.ศ. 2478 ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ใกล้ดอยแม่ปั๋ง ท่านได้พูดกับลูกศิษย์คือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า "ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตะกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ลูกหาได้บ้างเท่านั้น..."
ใน 5-7 พรรษาสุดท้ายของชีวิต ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ เวลานั้นจึงเป็นเวลาที่ได้สอนศิษย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาภายหลังศิษย์ของท่านเหล่านั้นได้กลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทสายพระป่าแผ่ไปไกลในวงกว้าง จนทำให้ได้รับสมัญญานามจากบรรดาศิษย์ทั้งหลายว่า "พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" ผู้สมควรเอาเป็นแบบอย่างทุกประการ
โครงสร้างของหลวงพ่อเจ้าคุณพุทธทาสภิกขุ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เขาได้มาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม ๔ ประโยคอยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันนั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ
ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาสและคณะธรรมทานจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๕ จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทาง และได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน
ท่านเจ้าคุณพุทธทาสนี้เป็นพระที่ดีที่สุดในโลก พูดหลักเหตุหลักผล ของพุทธเเท้ๆ เเต่ต่อมาโครงสร้างถือว่ายังไม่เเข็งเเรง เพราะพระภิกษุอ่อนเรื่องพระวินัย มันไปทางนักปรัญญามากเกิน มันไม่ได้ลงภาคปฏิบัติอย่างละเอียด ผู้บรรลุธรรมเลยน้อยลง เหมือนผู้ที่ตรัสรู้ เเล้วก็สอนคนอื่น ก็เพราะว่ามันไม่มีโครงสร้างที่เเข็งเเรง เราต้องเข้าใจ
ทำไมพระที่จบเปรียญเก้า หรือจบ ดร.ทั้งหลายถึงไม่บรรลุธรรม มันไม่มีโครงสร้าง มีเเต่ความรู้ความเข้าใจ มันเก่งเเต่ปริยัติ เเต่ว่าไม่มีภาคประพฤติปฏิบัติ การประพฤติการปฏิบัติมันขาดตอน เค้าเรียกว่า มันสูญพันธุ์
ทุกคนต้องมาจัดการกับตัวเอง ต้องมาทำโครงสร้างขึ้นมา ถ้านั้นมันไม่ได้หรอก มันไม่มีเหตุมีผล ที่เราจะได้บรรลุธรรม เข้าถึงธรรม เพราะรู้ว่าธุรกิจนี้มันดี เเต่ว่า ไม่มีทุนที่จะทำ ไม่มีเงินที่จะลงทุน นี้ก็รู้ว่าธรรมะดี เเต่ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เมื่อเรามาคิดดู มันเป็นไปได้ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีการศึกษาทุกคนต้องมาเสียสละ มากตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เราจะเป็นพระวัดบ้านวัดป่าก็ต้องเข้าสู่ไลน์เดียวกัน ถ้าเราเข้าสู่อริยมรรค เราจะเป็นชาวบ้าน เราก็ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ พรหมจรรย์เบื้องต้นคือ ศีล 5 พรหมจรรย์นักบวช ศีล 10 ศีล 227 ศีลมาในพระวินัยปิฏก 21,000 พระธรรมขันธ์ อย่างนี้เป็นต้น
ทุกคนต้องเสียสละ ถ้าเรามีความสุขในการเสียสละทุกอย่างมันไม่มีปัญหาหรอก ถ้าอย่างนั้นการปกครอง การบริหารมันก็ไปไม่ได้ มันไปไม่ถูกทาง จะเป็นอัตตาธิปไตย ประชาธิปไตย ที่เอาอาสวะเอากิเลส มียึดมั่นถือมั่น หลายคนมันก็ไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ธัมมาธิปไตย ต้องเข้าสู่สัจจะธรรมความเป็นจริง พัฒนาทั้งใจพัฒนาทั้งเทคโนโลยี ต้องไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องมีสงครามอีกต่อไป สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ข้าวของเเพง น้ำเเพง ขาดเเคลนอาหาร ครอบครัวปัญหาเเตกเเยก หย่าร้าง
ทุกคนต้องกลับมาหาตัวเอง มีสติสัมปชัญญะ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน มันใช่ตัวเราที่ไหน มีเเต่อวิชชาความหลง ปั่นหัวเราไม่เป็นท่า ไม่เป็นกระบวนเลย เราต้องมีความเห็นถูกต้อง ตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะได้เป็นผู้กตัญญูกตเวที เราจะได้มีความสมัครสมานสามัคคีกัน เราจะไม่มีอนันตริยกรรม สังฆเภท ถ้าเราไม่เอาธรรมะ ไม่เอาความยุติธรรมไม่เอาธรรมเป็นหลัก สังฆเภทก็จะเป็นมหาสังฆเภท ยิ่งไปกันใหญ่
คนเราต้องมีโครงสร้างในจิตใจ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เเล้วมาบอก โครงสร้างให้ดำเนินชีวิตสู่หนทางอันประเสริฐ เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 มันเกี่ยวกับสภาวะความเป็นจริง อย่างเรามีครอบครัว เราต้องคิดเรื่อง DNA ฝ่ายผู้หญิง ฝ่ายผู้ชายต้องได้มาตรฐาน เพราะมันมีโครงสร้าง ลูกเราเกิดมาก็มีโครงสร้างให้เรียนหนังสือ ส่งไปเรียนในเมืองกรุงหรือต่างประเทศ อย่างนี้เรียกว่าโครงสร้าง เเต่นี้เป็นโครงสร้างภายนอก เเต่พระพุทธเจ้าท่านให้เราสร้างโครงสร้างทั้งภายนอกเเละภายในให้มันเป็นสายกลาง ถ้าโครงสร้างเราไม่ดี อาคารมันก็พัง ประเทศไหนที่มีเเผ่นดินไหว ต้องมีโครงสร้างที่ดี ถ้าโครงสร้างชีวิตไม่ดี ชีวิตก็พังเช่นกัน
โครงสร้างต้องเกิดจากการประพฤติการปฏิบัติของเรา เราดูโครงสร้างครอบครัวไหนที่พ่อเเม่วางโครงสร้างไม่ได้ ไม่ได้ทำตามพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำตามพระอรหันต์ ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ครอบครัวก็ไม่มีความสุข ไม่ได้เอาความถูกต้องเป็นหลัก เเต่เอาอารมณ์เป็นหลัก มันไปไม่ได้ ต้องเริ่มจากพ่อจากเเม่ ให้ลูกให้หลานเราเติบโต ส่งไม้ผลัดให้เหมือนนักกีฬาลู่วิ่งจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เราดูโครงสร้างใครมันก็จะไปอย่างนั้น เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นไปตามการกระทำ เพราะโครงสร้างมันไม่ดี
อย่างพระที่อยู่วัดบ้าน ไม่ว่าพระในอำเภอ พระในจังหวัด พระในเมืองกรุง ถ้าเอาอารมณ์เป็นหลัก ธรรมวินัยไม่เเข็งเเรง เหล็กเส้นไม่ใหญ่โต เหล็กอะไรไม่เเข็งเเรง สเต็งปูนไม่สูง เสาเข็มไม่ลึก มันก็เห็นเหมือนที่เรารู้ๆ อยู่ มันมาจากโครงสร้าง โครงสร้างเราเป็นสถาปนิกยังไม่พอ ต้องเข้าถึงวิศวะ เข้าถึงการประพฤติการปฏิบัติ ต่อให้เรียนมาอย่างสวยหรู ถ้าไม่มีการประพฤติการปฏิบัติก็ยังไม่ได้ ไม่เข้าถึงกฏเเห่งกรรม ยังเป็นเพียงคนรับจ้างเขียนเเบบ ไม่ใช่เจ้าของบ้าน โครงสร้างของเราต้องเป็นทั้งสถาปนิก ทั้งวิศวะกรรม เป็นผู้ที่ทำงานปฏิบัติงาน เมื่อโครงสร้างไม่ดี มันก็เป็นได้เเต่เพียงโจรห่มผ้าเหลือง เพราะพระพุทธเจ้าทำโครงสร้างไว้ พระวินัยทุกข้อ เราก็ไม่ถือพระวินัยของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้ มันไม่ได้ มันเสียหาย เพราะเราเห็นเเต่ตัวอย่างเเบบอย่างที่ไม่ดี เเบบอย่างที่ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ สายพันธุ์มันเสียหาย มันต่อไปถึงครอบครัว ไปถึงการบ้านการเมือง เพราะสายพันธุ์เเห่งความเห็นเเก่ตัวมันไม่ดี เราต้องละลายพฤติกรรมที่อยู่ในตัวเรา ทุกคนก็ทำอย่างนี้ๆ ทำพร้อมกันหมดทั้งโลก พร้อมกันได้วันเดียวเลย เพราะการสื่อสารมันถึงกัน
เราทุกคนต้องมีปัญญา เดินไป ปฏิบัติไป ให้เป็นปัจจุบัน ชีวิตของเราก็จะดี อินทรีย์บารมีแก่กล้า ไม่เสียเวลาที่มาบวชมาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนต้องทวนกระแสกิเลส ทวนกระแสอารมณ์ เดินไปตามธรรมะ เราถึงจะเข้าถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่เราควรจะได้รับ ในฐานะที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาบวชมาประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติของเราต้องให้มีทุกหนทุกแห่งทุกอิริยาบถ ต้องมีศีล ๕ ระดับพื้นฐาน การมีศีล ๕ บริสุทธิ์ก็เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของพระโสดาบันนั่นแหละ ต้องพัฒนาตนเองให้ฉลาดขึ้น ข้อวัตรข้อปฏิบัติดีขึ้น พัฒนาใจขึ้นไปก็เป็นสกทาคามี ตำแหน่งอันเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้ ก็มาจากการประพฤติการปฏิบัติของเราไม่มีใครสามารถแต่งตั้งให้ได้ ขึ้นอยู่ที่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องคนเราต้องฉลาด และต้องปฏิบัติดีไปพร้อมกันเป็นทางสายกลาง