แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๒๐ การทำตามอัธยาศัย ทำให้เป็นผู้พ่ายแพ้ตลอด เพราะขาดสติสัมปชัญญะ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สภาวะของใจทุกๆ คน เรียกว่า สภาวะที่เกิดจากความไม่รู้ เกิดจากความหลง เราทุกคนถึงได้พากันประพฤติ พากันปฏิบัติตามอัธยาศัย ในโลกนี้ หรือในวัฏฏะสงสารนี้ ล้วนแต่ทุกท่านทุกคนทำตามอัธยาศัย เปรียบเสมือนจะเป็นคนเดียวกันทั้งหมดเลย ที่เรียกว่า ท่านอัธยาศัย พระก็พระอัธยาศัย โยมก็โยมอัธยาศัย เราถึงมารู้เรื่องกฏแห่งกรรม เราต้องปฏิบัติให้เป็นขาขึ้น อย่าเป็นขาลง ปฏิบัติขาขึ้น ได้แก่ยานพาหนะ ยานพาหนะของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่ศีล ได้แก่สมาธิ ได้แก่ปัญญา ต้องทำจากตัวผู้รู้ เรียกว่าพุทธะ ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ
อย่างนักเรียนอย่างนี้ผู้ที่ก้าวหน้า ก็ย่อมมีความสุข ในการอ่านหนังสือ ในการท่องหนังสือ เวลาไปโรงเรียนก็ไปโรงเรียนตั้งแต่เช้า อย่างวัด อย่างพระวินัย 227 ทุกๆ คนก็ต้องมีความสุขในการรักษาพระวินัยนะ แล้วก็ที่มาจากพระไตรปิฏก 21,000 ธรรมขันธ์ เราต้องมีความสุขในการรักษาศีล ที่ครูบาอาจารย์เห็นเรา เข้าศาลาช้าๆ ทำอะไรก็หลังเวลาอย่างนี้ ถือว่าอันนี้แหละไม่ได้ ไม่ถูก มันก็ยังเป็นอัธยาศัย ทุกๆ ท่านทุกคนก็ต้องพากันปรับปรุง ต้องไปให้ก่อนเวลา การที่รับผิดชอบอย่างนี้เค้าเรียกว่าสัมมาสมาธิ เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระต่างประเทศที่เค้ามาบวชที่วัดเรา บวชปฏิบัติ ทุกๆ รูปส่วนใหญ่เค้าจะมาก่อนเวลา อย่างน้อยก็ 5 นาที การเคารพในเวลาอย่างนี้ เรียกว่าเคารพในพระวินัย เคารพในกฏหมายบ้านเมือง อันนี้มันเป็นการปฏิบัติขาขึ้น ขึ้นสู่ยาน ได้แก่ศีล สมาธิ ได้แก่ปัญญา สติสัมปชัญญะ ทุกคนต้องให้มันเตรียมพร้อมไว้ เตรียมพร้อมที่จะให้มันรวดเร็วว่องไว ทำไมเราเห็นรูปเราก็ชอบ เห็นรูปเราไม่ชอบ แสดงว่าสติสัมปชัญญะมันช้าเกิน เป็นนักมวยที่ต่อยช้าเกิน พระอรหันต์ท่านมีสติสัมปรัชญะสมบูรณ์ท่านเตรียมพร้อม ถ้าเราไม่ฝึกอย่างนี้นะ จิตใจของเราไม่อาจสามารถที่จะก้าวหน้าได้ เพราะเราเป็น “ผู้แพ้ตลอด” เพราะว่าสติสัมปชัญญะเราไม่สมบูรณ์ สัมมาทิฏฐิเราไม่รู้จักทุกข์ แล้วก็เราก็ปล่อยให้เราต้องช้ากว่าเวลา และก็ไม่ทันเวลา เราเลยไม่มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ถ้าเป็นนักเรียน นักเรียนอยู่กลางแถว อยู่หางแถว ในความรู้ความเข้าใจ และอยู่ในการปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติมันต้องเอาจริงเอาจัง ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่าเอาตัวตนเป็นเดิมพัน อย่าไปทำตามอัธยาศัย คุณมีชื่อมีใจของคุณน่ะนะ ท่านมีชื่อมีใจของท่านนะ คือ ท่านชื่ออัธยาศัย ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก อันนี้คือโมฆะบุรุษ บางคนก็คิดว่าตัวเองเจริญสติสัมปชัญญะเก่ง ท่านก็รู้ในใจของท่านอยู่แล้วว่า ท่านเห็นรูปท่านชอบไม่ชอบ นั้นแสดงว่าสติสัมปชัญญะท่านไม่ดี อานาปาสติท่านยังไม่สมบูรณ์ ท่านปล่อยให้มันดีใน เสียใจ สติสัมปชัญญะอย่างนี้ยังไม่พอ ท่านต้องทำจิตใจของท่านให้เกิดปัญญา คือให้เห็นทุกข์ เห็นเหตุเกิดทุกข์ เราจะได้ทำข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เพราะเรายังยินดีในการที่มีตัวตนอยู่ เพราะพระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณากาย เอาผมออกให้หมด สมมุติว่าเอาผมออกให้หมด เอาหนังออกให้หมด เอาเนื้อออกให้หมด ทำอย่างนี้แหละให้มันติดต่อกันหลายๆ อาทิตย์ พร้อมกับทำจิตใจให้สงบไป
แต่นี่แสดงว่าปัญญาท่านอ่อน ใจของท่านยังดีใจ เสียใจ ยังไม่เข้าถึงสภาวะธรรม ยังไปตามอัธยาศัยอยู่ มันเป็นสภาวะของอวิชชา ของความหลงอยู่ เราเจอรูปสวยๆ ใจของเราก็ชอบอย่างนี้แสดงว่าสติเรามันช้าเกิน สติสัมปชัญญะของเรามันช้าเกิน อานาปานสติของเรามันอ่อน การฝึกอย่างนี้มันไม่ติดต่อต่อเนื่อง ความรักความชัง มันก็ยังเปลี่ยนแปลงเราอยู่
พวกมนุษย์ที่ยังเป็นสามัญชน ยังไม่รู้จักความสุข ความดับทุกข์ทางจิตใจ ไปรู้แต่ความสุขความดับทุกข์ทางวัตถุ เราดูจากภาพบ้านเมืองสังคม ก็จะมืดบอด ก็จะไม่รู้จักว่าความสุข ความดับทุกข์ อยู่ที่เรารู้จักสภาวะธรรมตามเป็นจริง เค้าแต่งรูปมาสวยๆ เค้าแต่งรูปมาหล่อๆ นี้ เพื่อมาประโลมจิตใจของเราให้เราหลง ให้เรายินดี เวทนาก็เหมือนกัน ถ้าเราสติสัมปรัชญญะไม่ดี สติไม่ดี สัมปชัญญะไม่ดี ไม่มีทางที่เราจะแก้ไขตัวเองได้
ปัจจุบันนี้เรายังปล่อยให้ตัวเองเข้าศาลาช้า ไปอะไรช้า โอ๋...มันสับปงกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าเป็นนักบวชก็จะมาบวชเอาอะไร ยังไม่รู้อริยสัจ 4 เลย ยังไม่รู้ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติเลย ท่านต้องฝึกเจริญสติสัมปชัญญะให้มากขึ้น ให้ถี่ขึ้นนะ ทำความรับผิดชอบท่านให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น ถ้าอย่างนั้นท่านไม่สามารถที่จะแยกรูป แยกนาม แยกกาย เวทนา จิต ธรรมได้ เพราะว่ามันออกมาช้าเกิน ต้องฝึกเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานให้มากขึ้น ก็ตามสภาวะธรรม รู้ชัด
ที่เค้าแต่งทรงผมมาสวยๆ แต่งหน้า แต่งตา ไปเสริมจมูก หรือว่าเวทนาทุกอย่าง เค้าเรียกว่าอันนี้เป็นการสร้างความประเล้าประโลม เพื่อมาเห็นสัจจะธรรม เราก็ไม่รู้ว่าอันนั้นน่ะคือระเบิด อันนั้นคือระเบิดที่มันระเบิดเรา ถ้าเราไม่มีสติ มีสัมปชัญญะ เราก็จะเข้าไลน์ของอวิชชา เข้าไลน์ของพญามาร นี้เรายังไม่รู้เรื่องมาร เรื่องอะไรต่างๆ เลย รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อาหารที่อร่อย คือสิ่งที่ประเล้าประโลม เป็นเหยื่อของพญามาร นี้แสดงว่าอานาปานสติทุกท่านทุกคนมันอ่อน เมื่ออานาปานสติอ่อนปัญญามันจะเกิดได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยภาวนา ลมหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง อาหารเก่าอาหารใหม่ก็ไหลไปไหลมา เราก็เอาพวกนี้มาเจริญปัญญาก็ได้ ทุกๆ อย่างก็ผ่านมา ผ่านไปปตลอดเวลา หาใช่ตัวหาใช่ตนไม่ เราจะได้จัดการ เพราะสติมันช้า แสดงว่ามันไม่รู้อริยสัจ 4 มันไม่ได้ขึ้นนั่งรถ นั่งเครื่องบิน การที่จะขึ้นรถ ขึ้นเครื่องบิน ปัจจุบันเราก็ต้องธรรมวินัยแน่นอน ข้อวัตรกิจวัตรแน่นอน เราก็ต้องทำติดต่อกันหลายอาทิตย์
ผู้มาบวชอย่างนี้ก็ เดือนนึงยังถือว่าน้อยเกิน ต้องพลิกตัวเองให้เต็มที่เลย ต้องเน้นไปอย่างนี้ เพราะว่าเราจะให้กายบวชแต่ว่าใจไม่ได้บวช ใจไม่ได้เข้าสู่ระบบของพระพุทธเจ้า มันไม่สมควร เราจะเอาตัวอย่างของพระที่บวชมา 99.9% เค้าเอาศาสนาหาเลี้ยงชีพ หาอยู่หากิน เพราะการปฏิบัติตนฝึกตนนี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ คนที่พูดให้เราฟังได้หรืออะไรได้ มันหาค่าหาประมาณไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราจะไม่รู้ว่าสิ่งไหนดี ไม่ดี เราก็ต้องปรับตัวเข้าหาเวลา หาธรรม เพื่อสิ่งที่ดี ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ผู้เก่าก็จะไม่ก้าวหน้า ผู้ใหม่ก็จะไร้ประโยชน์
มันไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น ไม่มีข้อแม้ว่าเข้าห้องน้ำอยู่ หรือว่ายังปฏิบัติไม่ได้ เพราะต้องดูแลลูก ดูแลธุรกิจหน้าที่การงาน ไม่มีเหตุผลใดใดทั้งสิ้น เพราะความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่เป็นน้อง ไม่มีอัธยาศัย ถ้าเราจะไปเอาเหตุผล ไปต่อรองมันก็แนวเดียวกับพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นมีเหตุผลถึงได้ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า พวกที่โกงบ้าน โกงเมือง โกงอะไร หรือว่าพวกที่มาเอาศาสนาหาอยู่ หาฉัน เค้าคงมีเหตุผลของเค้า เราต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เราต้องหยุดทำตามอัธยาศัย พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าผู้ที่จะไม่ต้องอาบัติ มีแต่ภิกษุบ้า บ้า100% นะ ผู้ที่ป่วย ป่วยที่ไม่ต้องไปตามเวลา เพราะว่ามันไปไม่ได้ คนพวกนี้ถึงจะไม่ต้องอาบัติ นิสัยเรามันอยู่ในระบบความเสื่อม ระบบเป็นคนรวยติดสุขติดสบาย เป็นมนุษย์ไม่รู้คุณค่าของความเป็นมนุษย์พากันติดความสุข ความสบาย รู้จักแต่ความสุขทางมนุษย์รวย กับที่เป็นเทวดาได้หลงในทิพย์วิมาน มันสายตาสั้นเกินแล้ว มันต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ ตัดเลนส์ใหม่แล้ว เลนส์นั้นมันเสื่อมเกินเนอะ ต้องเปลี่ยนเลนส์ใหม่วัดสายตาใหม่แล้ว
เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา เพื่อให้มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น..? พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสอนเราว่า "สิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น คือการไม่ทำบาปทั้งปวงและทำบุญกุศล สร้างความดี สร้างบารมี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท"
พื้นฐานในการทำความดีได้แก่ การรักษาศีล รักษาพระวินัยทำกิจวัตร ข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้ป้องกันเราไม่ให้ทำบาปทั้งปวง ทั้งบาปเล็ก บาปกลาง บาปใหญ่ ศีลจะปิดอบาย เพราะพระพุทธเจ้าวางระบบระเบียบทั้งความคิด ทั้งคำพูด และการกระทำ
เราดูตัวอย่างครั้งพุทธกาล พระอรหันต์ พระอริยเจ้าไม่มีใครผิดศีล ไม่มีใครผิดพระวินัย วินัยเล็กๆ น้อยๆ ปฏิบัติได้อย่างหมดจด นอกจากมี 'พระอลัชชี' ที่อาศัยพระพุทธศาสนา ที่ศรัทธาประชาชนเลื่อมใสพากันแอบแฝงเข้ามาบวช
ดูตัวอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น เรื่องศีล เรื่องพระวินัย ท่านปฏิบัติได้ทุกอย่างทุกข้อ... รู้ว่าอันไหนผิด ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ พระครั้งพุทธกาล หรือหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น ท่านบวช ท่านปฏิบัติเพื่อมุ่งหวัง 'มรรคผลนิพพาน' อย่างเดียว ไม่เอาความสุขในการฉัน ในการพักผ่อน ไม่เอาความสุขในการคลุกคลีเน้นความสงบความวิเวกในการภาวนา
พระรุ่นเก่าๆ พระกรรมฐาน ก่อนหน้านี้ ๕๐ ปี ๖๐ ปีแล้ว ท่านปฏิบัติขลัง ศักดิ์สิทธิ์ แต่ละวัดเงียบสงบ สะอาด ตอนค่ำจะมืดได้ยินแค่เสียงจั๊กจั่นเรไรมันร้อง พระอยู่ด้วยกัน ๔๐-๕๐ รูป อยู่กันเป็นปี ๒ ปี ๓ ปี ก็ไม่รู้ว่าพระองค์นั้นชื่ออะไร มาจากไหน มีธุรกิจหน้าที่อะไร...? ไม่รู้... แต่ละท่าน แต่ละรูป มุ่งความสงบวิเวก ไม่พูด ไม่คุย บางรูปพระส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพระรูปนั้นคุยเลย
การประพฤติการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้องอาศัยความสงบวิเวก ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเอง ถึงจะมีหมู่คณะหลายสิบองค์ก็มีความสงบอยู่กับตัวเอง ต้องอาศัย 'สมาธิ' พอสมควร เพื่อจะได้พิจารณาชีวิตจิตใจของตัวเอง
ชีวิตที่ผ่านมานั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง ที่เราจะต้องแก้ไขมีสิ่งใดบ้างที่เราจะต้องเพิ่มเติม เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ทำวัตรสวดมนต์บ้าง ทำความสะอาดกุฏิ ห้องน้ำ ห้องสุขา ทำทุกอย่างเพื่อความดี เพื่อคุณธรรม เพื่อเสียสละ เพื่อไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น
"ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสั่งสมกองกิเลส ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ทำทุกอย่างเพื่อบารมี เพื่อเสียสละ... แต่ก่อนทำเพื่อจะเอา เอาสิ่งของ เอาความสุข เอาหน้าเอาตา มันมีแต่จะเอา ให้เราทำเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยวาง ไม่มีทิฏฐิมานะ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เอา ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเอานั้น 'ต้องอาบัติ'
อย่างเรารักษาศีล นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้คนอื่นยอมรับนี้ ก็ผิดศีลแล้ว ทำความสะอาดวัด เพื่อให้เขาเคารพเลื่อมใสนี้ ก็ผิดแล้ว
ถ้าเราไม่ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธินี้ ก็ผิดแล้ว ถ้าเราไม่กวาดวัด ดูแลเสนาสนะให้สะอาด ก็ผิดอีก พระพุทธเจ้าท่านป้องกันกิเลสทุกแง่ทุกมุม
ฉันข้าวฉันอาหารก็ให้มีสติสัมปชัญญะ เพราะข้าวนั้นพระพุทธเจ้าให้ฉันเป็นยารักษาโรค ไม่ให้เผ็ดเกิน เค็มเกิน หวานเกิน ให้ธาตุขันธ์พอเป็นไปได้ เป็นยารักษาโรค
ท่านไม่ให้ติดเรื่องฉัน... 'ติด' ก็หมายถึงชอบนั่นแหละ 'ติด' ก็คือไปไม่ได้ เหมือนรถติดหล่ม คนเป็นอัมพาต หรือคนตาบอดมันไปไม่ได้
อาหารก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "เป็นเพียงปัจจัยอาศัยเพื่อให้เราฝึกพัฒนาตัวเอง ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่พระนิพพาน"
ทุกวันนี้ ทางโลกทางสังคมเขาพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องความเอร็ดอร่อย รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อำนวยในการใช้ทุกอย่างเพื่อให้จิตใจเราเข้าถึงสวรรค์ตั้งแต่ที่เรายังไม่ตาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทั้งพระทั้งโยมพากันหลง ไม่เห็นความสำคัญในการรักษาศีล การปฏิบัติธรรม การพัฒนาตัวเองไปสู่มรรคผลนิพพาน
จิตใจไปทางโลกน่ะ มันหยาบ มันฟุ้งช่าน หัวใจของเราเลยมุ่งอยู่กับเรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เราเลยพากันเพลินกับเรื่องทำมาหากิน เรื่องความสุข ลืมพัฒนาเรื่องศีล เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา
พระสงฆ์องค์สามเณร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันเดินทางผิด เดินคนละทาง ต้องหันหลังกลับ เดินตามพระพุทธเจ้า "เราเชื่อตัวเองมากก็มีปัญหามาก เชื่อตัวเองน้อยก็มีปัญหาน้อย"
ความสุข ความสะดวกสบาย ความเอร็ดอร่อยนั้น ไม่มีที่ยั้ง...ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เหมือนไฟลุกอยู่ เอาเชื้อเพลิงใส่เท่าไหร่ก็ไม่ดับมีแต่ทวีคูณ ชีวิตของเราวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดี๋ยวก็ตกนรก เดี๋ยวก็ขึ้นสวรรค์ บวกลบแล้ว ตกนรกมากกว่า
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเดินสายกลาง ความชอบ ความไม่ชอบก็อย่าไปสน เอาธรรมวินัยเป็นหลัก
ชีวิตของเราก็เหมือนนาฬิกา เดินตามเวลาตลอด ชีวิตของเราก็ต้องเดินตามศีล ตามวินัยตลอด ไม่มีข้อแม่ใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเวลาทำอะไรก็ทำ จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ทำ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือปฏิปทาของพระพุทธเจ้า
ผู้ที่เจริญปัญญา ผู้ฉลาด ต้องฝึกปล่อย ฝึกวาง ฝึกเสียสละ อย่าไปติดเรื่องอาหาร เรื่องพักผ่อน เรื่องความสะดวกสบาย มันทำให้เราไม่ฉลาด
สมาธิของเรามันต้องแข็งแรง ไม่ขึ้นกับรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ต้องขึ้นกับธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะไม่มีหลักการ ไม่มีจุดยืน ยิ่งบวชนาน เข้าวัดนาน ก็ยิ่งโง่มาก เพราะไม่ทำตามพระพุทธเจ้า
การที่เราขาดบิณฑบาต ขาดทำวัตสวดมนต์นั่นแหละ ศีลด่าง ศีลพร้อย ไม่มาตีสามนั่นแหละ ศีลด่าง ศีลพร้อย
ถ้าผิดศีล เราก็เห็นแก่ตัว เราไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ละตัวตน การบวชของเราก็ถือว่า 'แอบแฝงบวช' ถึงแม้มีศรัทธาในการบวช แต่สมาธิไม่แข็งแรง อ่อนแอ
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสมาธิแข็งแรง ไม่ให้หลงทางโลกทางวัตถุ ถึงแม้เราจะปลงผม นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่จิตใจของเรามันก็ยังไม่เป็น 'พระ' เพราะใจยังติด ยังหลง ยังมีทิฏฐิมานะมาก ความประพฤติของเรายังไม่ใช่ ไม่ถูก...
ถ้าเราไม่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อ 'มรรคผลนิพพาน' ปฏิปทาเราย่อมย่อหย่อน คำเทศน์คำสอนที่บริสุทธิ์ก็กลายเป็นทางอามิสบูชา มันไม่ใช่ปฏิบัติบูชา "เป็นพระ เป็นสมณะ พระพุทธเจ้าท่านให้ปฏิบัติบูชา ไม่ให้เอาอามิสบูชา ไม่ให้เราบูชาอามิส"
เราบวชหลายพรรษา เราต้องเดินอยู่ข้างหน้าเขา เวลาบิณฑบาต เราทำอะไรก็อยู่ข้างหน้า ถ้าเราเป็นผู้ทุศีล ศีลด่างพร้อย คนเดิมตามหลัง นั่งฉันข้างหลัง ก็ไม่มีความสุข เขาฝืนใจกราบ ฝืนใจไหว้
ให้ทุกคนมาคิดดูว่า..."ชีวิตของเราต้องสร้างประโยชน์ตน คือพระนิพพาน ไม่ใช่มาสร้างอามิส"
จิตใจของคนเราทุกคนมันอยากไปข้างนอก ทุกคนมันอยากไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ อยากไปเยี่ยมโยมคนนั้นคนนี้ ไม่ได้ไปก็อยากโทรศัพท์ วันหนึ่งๆ กิเลสมันเผา มันอยู่กับสมาธิไม่เป็น ใจไม่ได้กลับมาหาตัวเอง ใจอยู่ข้างนอก พระพุทธเจ้าให้หยุดใจตัวเอง มันอยากคิด อยากพูด อยากทำ ก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ มันอยากไป ก็ไม่ไป เราปล่อยใจมาก บาปก็มาก กิเลสก็ใหญ่โต คุมไม่อยู่...
"วัชพืชเมื่อเล็กๆ มันก็ถอนง่าย ถ้ามันใหญ่หลายโอบน่ะ มันถอนไม่ขึ้นเลย ต้องอาศัย 'ศีล สมาธิ ปัญญา"
ถ้าเราจะเอาแต่หลบซ้าย หลบขวา หลบหน้า หลบหลัง ถ้าเราเป็นหนี้ หนี้เราก็ไม่หาย เมื่อเรายังมีกิเลส หลบไปทางไหนก็ไม่หาย เราลองคิดดู ถ้าเราผัดวันประกันพรุ่ง ก็ยิ่งทำให้เสียเวลา เมื่อเราเป็นผู้ที่บวชมานาน ปฏิปทาของเราไม่มาตรฐานเหมือนพระพุทธเจ้าตั้งไว้ ส่วนตัวก็เสียหาย ส่วนรวมก็เสียหาย
พระพุทธเจ้าถึงให้เราย้อนดูว่า... ชีวิตของเราต้องทำตัวให้มีประโยชน์ต่อตนเอง และมีประโยชน์ต่อคนอื่น
การประพฤติปฏิบัติธรรมมันต้องลงแรง ลงทุน ด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ได้ทำด้วยความลำบากด้วยตนเองชื่อว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ
"ศาสนาพุทธมีวัดอยู่ทุกๆ หมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดบุคลากร คือ พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ"
เราเป็นพระกรรมฐานรุ่นใหม่ เห็นรุ่นเก่าใส่ผ้าเก่าๆ คล้ำๆ ถือบาตรใหญ่ๆ เราก็ทำตามท่านเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เอาทั้งหมด "พระกรรมฐาน' ท่านเน้นสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำความเพียร" ท่านอยู่กันสงบ ๆ
แต่พระกรรมฐานรุ่นใหม่ เปลี่ยนจากความสงบเป็นความวุ่นวาย มีทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก มีทั้งคอมพิวเตอร์ มีทุกอย่างที่โลกมี ขาดอยู่อย่างเดียวคือ 'กางเกง..'
"เพราะการบวชมุ่งนิพพานน่ะเป็นของยาก"
ญาติโยมก็ได้อาศัยพระสวดมาติกาบังสุกุล ทำบุญบ้าน ทำพิธีต่างๆ พระดีบ้าง... ไม่ดีบ้าง... โยมก็พากันปลง 'ช่างหัวมัน'
ศาสนานั้นไม่เสื่อม วัดวาอารามไม่เสื่อม แต่พวกเรากำลังพากันเสื่อมจากศาสนา
พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันคิดดีๆ ไม่ให้พากันทำสิ่งที่ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พระเรา เขาให้เครดิตสูง พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็กราบเรา ทุกคนต้องกราบเรา เมื่อเขาพากันกราบเรา พระพุทธเจ้าให้เราพากันมาตรวจดูว่า เราสมควรกราบหรือยัง เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าหรือยัง...?
ถ้าเรารู้แล้ว... มรรค ๘ ก็รู้แล้ว อะไรก็รู้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ ไม่ยอมละ ไม่ยอมปฏิบัติ หัวใจของเรามันมีแต่เปรต มีแต่ยักษ์ แต่มาร มันเข้าไปสิงหมดแล้ว มันใจกล้า หน้าด้าน ไม่ละอายต่อบาป ที่ให้โยมพ่อโยมแม่กราบ ที่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่กราบ ให้พระเณรกราบ
"ทุกอย่างมันแก้ได้ เพียงแค่เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เดินตามพระพุทธเจ้าให้ตรงทาง" แผลในใจจะค่อยหาย ค่อยตื้นขึ้น การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตทางใจจะดีขึ้น แข็งแรงขึ้น วัดนั้นๆ ก็จะเกิดความเจริญ สงบร่มเย็น เหมือนกับพระพุทธเจ้ายังอยู่กับเรา ถ้าเราไม่คิด...ปล่อยไปอย่างนี้แหละ ก็เหมือนกับหมีกินผึ้ง' สมาธิเราน้อย ศีลก็ด่างพร้อย ปัญญาจะคิด...จะละ...ก็นิ่งเฉย มันแก้ไม่ได้
เราอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจปฏิบัติ ถ้าอยู่กับเพื่อน ถ้าย่อหย่อนไม่เอาเพื่อนก็ได้ เดี๋ยวจะกอดคอกันตาย จะเอาแต่ปริมาณไม่ได้ ไม่ถูกต้อง
เพราะว่าพระในวัดนั้นไม่มี มีแต่โจร มีแต่มหาโจร มีแต่กลุ่มแต่แก๊ง โจรมันอยู่ที่ไหน..? "โจรมันก็อยู่ในใจของเรา ถ้าไม่พากันพิจารณาดีๆ"
พระพุทธองค์ตรัสถึง ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาอุปมากับท่อนไม้ลอยน้ำ
ขอยกบางส่วนของพระสูตรมาเสนอ โดยเน้นที่ถ้อยคำสำนวนบาลีที่กล่าวถึงผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาอุปมากับท่อนไม้ลอยน้ำ ซึ่งเป็นคติที่น่าคิดน่าตรึกตรอง เป็นอนุสติสำหรับบรรพชิต เป็นหลักคิดสำหรับชาวบ้าน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับแทบฝั่งแม่คงคาในเขตเมืองโกสัมพีพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งอันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่คงคา ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นหรือไม่ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่คงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ไม่จมเสียในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เน่าภายใน ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่ทะเลได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะกระแสน้ำแห่งแม่คงคาลุ่มลาดไหลไปสู่ทะเล ข้อนี้ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เป็นผู้เน่าในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พวกเธอจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะสัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
และได้ตรัสว่า ฝั่งนี้ ได้แก่ อายตนะภายในหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจฝั่งโน้น ได้แก่ อายตนะภายนอกหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ จมในท่ามกลาง คือ นันทิราคะ ความผูกพันกับสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ ความทะนงตน
ถูกมนุษย์จับไป หมายถึง ภิกษุผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา นั่นคือ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์อย่างไม่เหมาะสม
ถูกอมนุษย์ยึดเอาไว้ หมายถึง ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์
ถูกกระแสน้ำวนดูด ความเพลิดเพลินในกามคุณห้า
ความเป็นของเน่าในภายใน หมายถึง ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย นั่นคือ การเสแสร้งทำเป็นผู้ทรงศีล ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ทรงศีลโดยแท้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนคน อื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคือพระนิพพาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชัดเจนอยู่แล้ว เราเอาพระธรรมคำสอนนั่นแหละมาประพฤติปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน สิ่งภายนอกให้ทุกคนตัดออกให้หมด ทิ้งอดีตอนาคต สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ตัดออกไปให้เป็นศูนย์ มาโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เพื่อให้เป็นธรรมะล้วนๆ ปราศจากตัวตน จึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ กายจึงจะวิเวกได้ จิตจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายจึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด