แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๖ กลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับชั่วให้เป็นดี ด้วยมีธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกคนไม่รู้สภาวะของกิเลส สภาวะความยึดมั่นถือมั่น สภาวะความเห็นแก่ตัว สภาวะเอาแต่ใจตัวเองเอาแต่อารมณ์ตัวเอง เราถึงต้องเวียนว่ายตายเกิด อันนี้ไม่ใช่สภาวะธรรมนะ เมื่อรู้แล้วก็อย่าท้อแท้ ให้รู้จักหน้ารู้จักตาของอวิชชา ของความหลง เพราะเรามาบวชมาปฏิบัติ เราก็เป็นสามัญชนเป็นปุถุชน เราต้องรู้จักว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงการดับทุกข์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน เราทุกคนนี่นะต้องเข้าถึงสภาวะธรรม ปัจจุบันธรรม
พระเก่าต้องทำอย่างนี้ พระใหม่ก็ต้องทำแบบนี้ เพราะคำว่าพระเนี๊ยะ คือผู้ที่รู้สภาวะธรรมที่มันปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ทุกอย่างนะ มันมีเกิดขึ้นนะ เดี๋ยวมันก็มีผ่านไป เรามองดูก็เหมือนสายน้ำ แม่น้ำหรือมหาสมุทรก็มาจากเม็ดฝนน้อยๆ มารวมตัวกัน เราต้องรู้จักว่านี่คือสภาวะของอวิชชาของความหลง ถ้าเราไม่รู้จัก มันก็จะหลงเอาสิ่งนั้นๆ เป็นตัวเป็นตน ที่ผ่านมามันก็หลงจนเป็นตัวเป็นตน ก่อภพก่อชาติมา เราต้องรู้จักสภาวะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราถึงเข้าสู่สภาวะธรรมที่สละเสียซึ่งสักกายะทิฏฐิ ที่สลัดความยึดมั่นถือมั่น ความเป็นตัวเป็นตน เพราะคนเราน่ะ มันตายทุกลมหายใจเข้าออกนะ มันแก่ทุกลมหายใจเข้าออก มันเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันก็จะพัฒนาตัวเอง
เรามาจากโลกของประชาชนโลกของชาวบ้าน เราต้องพากันเข้าใจ พากันมาประพฤติ พากันปฏิบัติ เราจะเอาอย่างเก่า หรือมันก็จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไงใช่ไหม เราต้องพากันมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันจะไปเปลี่ยนเวลาไหน ถ้าไม่เปลี่ยนที่ปัจจุบัน จะไปขอโอกาสบริโภคกามได้ที่ไหนหล่ะ เราทุกคนต้องใจเข้มแข็ง คนเราต้องรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์รู้จักข้อปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ เน้นที่ปัจจุบัน เราทุกคนต้องพากันช่วยกัน เพราะวัดนี้คือศูนย์รวมมรรคผลพระนิพพาน ถึงเรียกว่า “วัด” ถึงเรียกว่า “ข้อวัตรข้อปฏิบัติ”
เพราะฉลาดแล้ว เราก็นึกว่าเราฉลาด แต่เราก็แพ้ภัยตัวเองนะ เพราะว่าความขี้เกียจขี้คร้านความง่วงเหงาหาวนอน เราก็ต้องรู้จักว่าอันนี้มันเป็นกามในใจของเรา เราย่าไปหง๋อมัน อย่าไปใจอ่อน เราต้อง Fighting เราทุกคนต้องผ่าน พระพุทธเจ้าทำได้ เราก็ต้องทำได้ พระอรหันต์ทำได้ เราก็ต้องทำได้ เพราะตัวอย่างมันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าเราเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ปฏิบัติตามพระธรรม ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์นะ ก็จะเป็นอมตะ
เพราะคนเราหน่ะรู้ว่าอันนั้นไม่ดีก็ยังไปคิดมัน ถ้าเราปล่อยให้มันคิดไป ทำให้เรามี sex ทางความคิด ความคิดก็จะมีมาเรื่อยๆ ออกลูกออกหลานทางความคิดมาเรื่อยๆ เราเนี่ยใหญ่โต เป็นภิกษุเถระนะ ภิกษุเถระเนี่ย มันคนละอย่างกับพระเถระ พระเนี่ยหมายถึง พระโสดาบันไปถึงพระอรหันต์ ภิกษุเถระเนี่ย มันกลายเป็นอลัชชีโดยที่ไม่รู้ตัว
การปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เพราะการฝึกการเรียนหนังสือ มันเรียนให้เก่ง มันก็เก่งขึ้นฉลาดขึ้น การปฏิบัติก็เหมือนกัน แต่เน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีพระพุทธเจ้าทุกลมหายใจ มีพระธรรมทุกลมหายใจ มีพระสงฆ์ทุกลมหายใจ จะนั่งจะนอนก็มีแต่ธรรมะวินัย เราก็จะได้แปลกใจตัวเองว่า โอ้...ทำไมมันเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ มันต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ จะมาจากไหนไม่สำคัญนะ ถ้าเราทำดีทำถูกต้อง ถ้าเรายอมรับตัวเองได้ คนอื่นก็ยอมรับเราได้ คนมันจะดีไม่ได้ดี เพราะชาติตระกูล ชาติตระกูลก็เป็นแค่ DNA ถ้าเราตั้งใจมันก็คงไม่ถึง ๗ ชั่วคนหรอก อย่างมากก็แค่ ๓ ชั่วคน เพราะว่าไปติดสบาย
ทุกๆ คนจะต้องมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ถ้าอันไหนมันไม่ดี ก็ชอบคิด อันไหนไม่ดีก็ชอบพูด การคบค้าสมาคมในระดับเดียวกันไม่ก็ต่ำกว่า ไม่อยากคบกับคนเก่งกว่าเรา เพราะเราไม่ถึงเขาเลย พอไปพูดไปคุยไปเสวนากับเขาไม่ได้ เราคิดแบบนั้นไม่ได้
เราจะเป็นคนดีก็เพราะมีพ่อแม่ดี มีโรงเรียนดี มีคุณครูที่ดี เรากลับไปที่กุฏิห้องนอน ถ้าไม่มีพระพุทธรูปก็ไม่เป็นไร เรากราบหัวนอนก็ได้ เพราะเรามีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ เราจะกราบเราก็กราบพระพุทธเจ้าที่อยู่ในใจ เราจะลงมาทำข้อวัตรกิจวัตรก็กราบตรงที่หัวนอน เราจะเดินไปเดินมาเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ที่ไม่ได้กราบพระไม่ได้
การห่มจีวรก็ต้องห่มให้ได้มาตรฐานทุกครั้งอย่ามักง่าย นุ่งห่มสบงก็ต้องให้ได้ปริมณฑลนะ อย่าไปต่ำเกินอย่าสูงเกิน สูงเกินมันโป้มันเปลือย ผ้าจีวรซ้อนสังฆาฏิ เมื่อบิณฑบาตกลับมาก็ต้องพับผ้าสังฆาฏิ พับจีวร ผึ่งแดดนิดหน่อย แล้วก็พับให้เหมือนผ้าสังฆาฏิ แล้วก็วางพาดบนแขนดีๆ พวกที่มามัดจุกแบบนี้ มันสำหรับพระบวชใหม่ พระบวชใหม่ก็นึกว่าเป็นมาตรฐาน แต่มันไม่ใช่นะ มันต้องพับให้เรียบร้อย เวลากลับมา เราก็เอามาพาดบ่า เอามาพาดไว้ที่แขนนะ จีวรสังฆาฏิเราก็ต้องเคารพนอบน้อมเพราะอันนี้ก็เปรียบเสมือนธงชัยของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ เรามีผ้าจีวรเนี่ยผีก็กลัว เทวดาก็เคารพนับถือ เพราะอันนี้เป็นเครื่องหมายของผู้บวชเพื่อละกิเลสทิ้งอาสวะ เรามาบวชใหม่เนี่ย ที่พระเก่าเอาผ้ามารัดอกให้เวลาจะบวช เพื่อกันผ้าจะหลุด การห่มผ้า พระเก่าพระพี่เลี้ยงก็บอก อย่าปล่อยผ่านไปนะ
การสะพายบาตรเนี่ย ที่ถูกต้องก็เหมือนเอาสายคล้องบาตรมาคล้องแล้วเอาบาตรอยู่ด้านหน้านะ เอามือปิดฝาบาตรที่มันจะกระเด็นจะร่วง เก็บบาตรเราก็ต้องทำให้เรียบร้อย อย่าไปทำเหมือนพระวัดบ้านนะ วัดบ้านที่ไม่ได้ฝึกนะ ข้าวก็เต็มบาตร จะไปบิณฑบาตก็ค่อยไปเอาออกค่อยไปทำความสะอาดอย่างนี้ไม่ได้ มันไม่ถูกนะ วางบาตรในกุฏิ ก็วางให้ดี วางระดับเอวขึ้นมาถึงหัวอย่าไปวางที่ปลายเท้า เพราะนี่คือวัตถุที่เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้านะ พระกรรมฐานนี้เขาฝึก เดี๋ยวนี้ดีมีบาตรสแตนเลสนะ เมื่อก่อนเป็นบาตรเหล็กที่ต้องบ่มด้วยไฟหน่ะ ไปกระเทาะอะไรหน่อยก็เป็นรอยแล้ว ถ้าเอาบาตรที่เขาทำขายเขาก็ทาน้ำมันตั้งอิ๊ว มันก็มีสารเคมี พระวัดบ้านเขาถึงไม่นิยมฉันในบาตรเพราะมันมีสารเคมี
เราก็ฝึกสติสัมปชัญญะนะ นิสัยเราชอบคุยกันเนาะ เวลาเดินกลับกุฏิก็เดินให้ห่างหน่อย เราจะได้ท่องพุท-โธ มัวแต่คุยกัน ก็ไม่ได้ท่องพุทโธนะ เวลาอยู่กุฏิก็ฝึกเจริญอานาปานสติ ท่องพุทโธ เดินจงกรม เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้พากันคุยเดรัจฉานกถานะ พวกคุยกัน ที่ไม่ใช่เรื่องมรรคผลนิพพาน คุยกันเพื่อฆ่าเวลาไปเฉยๆ เนี่ย มันไม่ได้ มันไม่ได้ฝึกใจให้มันสงบ เราต้องท่องพุทโธให้ใจสงบ
เราฝึกให้ตัวเองเปลี่ยนไป พ่อแม่ก็ดีอกดีใจเป็นกองเชียร์ ให้ลูกชายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อย่าให้ผู้ใหญ่ผิดหวังเพราะเราเป็นคนถือ ไม้ผลัดต่อ เปรียบเสมือนนักกีฬาวิ่ง พวกเหล้าพวกบุหรี่ ตั้งใจมาบวชแล้วก็ตั้งใจอธิษฐานเลย พวกเรื่องเหล้าเรื่องบุหรี่ สตรี การพนัน พวกไพ่ ไฮโลตัดไปเลย อย่าให้มาอยู่ในตiะกูลเรานะ มันจะเป็นตระกูลคนพาลนะ เป็นตระกูลขี้เหล้าขี้เบียร์มันไม่ดีนะ เราอย่าไปเห็นดีเห็นงามกับการกระทำที่สังคมยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย เรื่องที่จะไปติดสาวติดอะไรเนี่ย คนเราต้องรู้จักว่าอันไหนมันคิดได้ คิดไม่ได้ บอกไว้เผื่อเวลาลาสิกขานะ อยู่ในวัดก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคิดนะ เราเน้นฝึกที่ปัจจุบันก่อน ให้มันผ่านประถม ผ่านมัธยม ผ่านอุดมศึกษาในภาคประพฤติภาคปฏิบัติก่อน ปัจจุบันไม่ผ่านเราก็ไม่ได้ใบประกาศนะ
เราต้องขึ้นสู่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า มาตรฐานของประเทศไทยหน่ะ ไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า เพราะเราดูแล้ว มันมาตรฐานของผู้ที่มาอาศัยวัดเฉยๆ เรามาอาศัยวัดก็เพื่อจะมาฝึกตนเองเพื่อจะมุ่งมรรคผลพระนิพพาน ต้องขึ้นสู่มาตรฐานแบบนี้นะ
ความสุขความดับทุกข์ของเราต้องอยู่ที่ปัจจุบันนะ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง หายใจเข้าหายใจออกก็ให้ชัดเจน หายใจเข้าหายใจออกก็ให้สบาย ไม่อย่างนั้นคนที่ไม่รวยไม่มีสตางค์เขาจะมีความสุขได้อย่างไร มันเป็นความคิดความหลงนะ ยิ่งพระพุทธเจ้าทรงปล่อยวางไม่มีวัตถุไม่มีอะไรเลยนะ ทำไมทรงมีความสุขมากกว่าใครในโลก พระอรหันต์ก็ไม่มีอะไรเลย เขาเสียสละนะ ไม่เหมือนพระทุกวันนี้สะสมอะไรไว้สำหรับพรุ่งนี้ สำหรับอีกหลายวัน
ความสุขมันอยู่ที่เราอยู่ในปัจจุบัน ให้เข้าใจ เราจะได้รู้จักความดับทุกข์ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้มันก็ไม่ถูกนะ ทำไมมันทำไม่ถูก ก็เพราะว่ามันไม่รู้ไม่เข้าใจ เราจะมาเอาอย่างผู้ที่มาอาศัยวัดไม่ได้
ต้องมาทำประโยชน์ตนประโยชน์คนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เรามารักคนอื่นเท่ากับเรารักเรามากกว่าคนอื่น เพื่อเอาธรรมะวินัยเป็นหลัก ความสำคัญของเรามันอยู่ที่ปัจจุบันนะ ปัจจุบันที่เราคิดอย่าไงพูดอย่างไงทำอย่างไง สำคัญที่ปัจจุบัน เราทิ้งตัวตน ต้องมาเอาธรรมเป็นหลัก
หลายคนเนี่ย พ้ายแพ้ให้กับตัวเองไปหลายอย่าง มันต้องจัดการกับตัวเอง บางคนหน่ะ ยังไม่บวช ก็ติดเหล้าติดการพนันติดเพื่อนติดฝูงติดสิ่งเสพติดอย่างนี้ ก็คือเราพ้ายแพ้ ก็ต้องเอาใหม่ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ โบราณเขาถึงให้บวชเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง 3-4 เดือน จำพรรษา รับกฐิน จะได้มีเวลาฝึกติดต่อกัน พวกที่จะบวช 1 เดือนหรือ 15 วัน การปฏิบัติติดต่อกันมันน้อยเกิน พวกที่บวชมานานๆ พวกที่อาศัยวัดปฏิบัติติดต่อกันคงไปได้ไกลนะ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ปฏิบัติก็กลายเป็นคนอาศัยวัดอยู่เฉยๆ เพราะเราสู้เขาในโลกข้างนอกไม่ได้ เลยต้องอาศัยวัดเป็นที่หาเลี้ยงชีพ
การประพฤติการปฏิบัติธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน 'มาแก้ที่กาย' คือ การกระทำของเรา อันไหนไม่ดีไม่ถูกต้อง ไม่ให้เราทำ ถึงเราจะเคยทำที่แล้วๆ มาต้องหยุด 'มาแก้ที่วาจา' คือ คำพูดของเรา อันไหนไม่ดีเราอย่าไปพูด มาเปลี่ยนคำพูดเราใหม่ มาปรับปรุงคำพูดใหม่ เพราะคนเราทุกคนมันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้... แม้แต่เราพูดดี เราพูดถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราพูดมากเกิน มาเปลี่ยนแปลงความคิด...' อันไหนมันไม่ดีก็อย่าไปคิด มันอยากคิดเราก็ไม่คิด แม้สิ่งนั้นมันดี ถ้ามันมากเกินท่านก็ไม่ให้เราคิด ให้อดให้ทน ถ้าเราไม่อดไม่ทนน่ะ แม้เราจะมีความรู้เราจะเป็นคนฉลาดน่ะ เราก็ไม่อาจสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีไปไม่ได้
ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแก่เรานี้ มันไม่ใช่มาจากคนอื่น มันมาจากตัวของเราเองเกิดจากการกระทำของเราเอง เราทุกๆ คน ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ต้องพากันอดพากันทน ให้ทุกท่านทุกคนน่ะทำใจให้สงบ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มาพินิจพิจารณาตัวเองว่า กาย วาจา ใจของตัวเองส่วนไหนมันบกพร่อง เราจะได้แก้ในส่วนนั้นๆ เพื่อจะให้การแก้ปัญหาของเรานั้นถูกต้อง สิ่งอื่นๆ ให้ทุกท่านทุกคนถือว่ามันเป็นโอกาสที่ให้เราได้ฝึกจิตใจ สร้างบารมี สร้างความดีสร้างคุณธรรม
ประการแรก... ต้องให้ 'ใจ' ของเราสงบ ต้องให้ 'สติสัมปชัญญะ' ของเราสมบูรณ์ สติ นั่นแหละคือ 'ศีล' 'สมาธิ'
สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว นั่นแหละคือตัว 'ปัญญา'
ถ้าเราไม่มีสติ เราไม่มีสมาธิ การทรงตัวของเรามันก็ทรงตัวไม่ได้เพราะใจของเราไม่สงบ
'ความอยาก' ของเราน่ะมันมีกับเราทุกๆ คนนะ มันเผาหัวจิตหัวใจของเรา...เป็นเปลวเพลิงเปลวไฟ ร้อนรนไปหมด "เรายังไม่ตายน่ะมันก็ถูกความอยาก ความต้องการนี้เผา..."
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักใจตัวเอง รู้จักอารมณ์ตัวเอง เพื่อจะได้หยุดตัวเอง เพื่อให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเรามันเย็น เพื่อจะได้ให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์
คนเราน่ะ ถ้าใจของเรามันอยู่กับอนาคต มีความหวังอยู่กับอนาคตน่ะ ทุกคนย่อมมีความทุกข์แน่ เราพยายามมาแก้กาย วาจา ใจของตัวเองในปัจจุบัน เพื่อเป็นคนไม่วิ่งตามความคิดตามอารมณ์
'ปัจจุบัน' เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขตัวเอง... พระพุทธเจ้าน่ะท่านให้เราทุกคนไม่ต้องมีความอยาก ไม่ต้องมีความต้องการ 'ต้องเป็นคนขยัน ต้องเป็นคนเสียสละ'
คนเรานี้แหละถ้าคิดว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ใช่ของเราน่ะ มันเลยไม่อยากทำอะไร เพราะเรายังมีความเห็นผิด เรายังไม่เข้าใจ เมื่อไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเลยปล่อยมันเลยวาง ความขี้เกียจขี้คร้าน ความง่วงเหงาหาวนอนมันเลยมาครอบงำเรา ให้เราไม่อยากทำอะไร อยากอยู่ว่างๆ อยากอยู่เฉยๆๆๆ เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า.... เมื่อทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราน่ะ เราต้องขยัน เราต้องเสียสละ เราต้องเป็นผู้ให้แก่คนอื่น เพราะเราทุกๆ คนน่ะไม่อยากให้คนอื่น เพราะทุกอย่างเป็นของเรา เป็นของพ่อ ของแม่ ของญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเรา มันมีเราทั้งนั้น เมื่อมันมี 'เรา" เมื่อไหร่ มันก็ต้องทุกข์ทันที
“เราพยายามพากันมาเสียสละ งานนี้เป็นงานใหญ่ งานนี้เป็นงานละอัตตาตัวตน เป็นงานละสักกายทิฏฐิ ถือเนื้อถือตัวถือตน”
ความรู้สึกที่มันเป็นตัวเป็นตนนี้ มันทำให้ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอย่างไม่มีที่จบที่สุด เรามีความรู้สึกในการพักผ่อนที่สบาย เรามีความรู้สึกในการลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ เรามีความรู้สึกฟังเสียงไพเราะ เรามีความรู้สึก ในการเห็นรูปสวยๆ น่ะ ความรู้สึกอย่างนี้ ท่านเรียกว่า 'อัตตาตัวตน' น่ะ มันทำให้ทุกคนยึดมั่นถือมั่น ทำให้ทุกคนหลงในเหยื่อ หลงในความสุข มันเป็นเหตุแห่งความเพลินแห่งความเพลิดเพลิน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...."ในหมู่สัตว์โลกมวลมนุษย์ทั้งหลายน่ะ... พากันเพลิดเพลินอยู่ หลงอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่" เพราะว่านี้มันเป็นเหยื่อของโลกให้คนติดอยู่ในโลก
สิ่งเหล่านี้น่ะมันทำให้สติสัมปชัญญะของเราทุกคนไม่สมบูรณ์ทำให้ไขว้เขว... ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรงเพื่อจะหยุดตัวเอง เบรกตัวเอง ที่จะได้อบรมบ่มอินทรีย์ ให้มันติดต่อ...ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย จะไม่ได้ปล่อยเวลาให้จิตใจของเราไปหมกมุ่นครุ่นคิด...ลุ่มหลง...จมอยู่ในสงสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คนจะต้องตัด จะต้องละ จะต้องวาง
ทุกๆ ท่าน ทุกคนน่ะพยายามอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏสงสารน่ะ อย่าให้สิ่งต่างๆ มันมาครอบงำจิตใจของเรา ความรู้สึกที่ว่า... เป็นตัวเรา เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงวงศ์ตระกูลนี้ หรือวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ น่ะ สิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่กับสื่อมวลชน ที่มันกำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้อย่าให้มันมาครอบงำจิตครอบงำใจของเราได้ ให้มีสติสัมปชัญญะไว้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะผ่านไปเอง
ข้อสำคัญ 'สมาธิ' ของเราต้องแข็งแรง ใจ' ของเราต้องแข็งแรง เราต้องเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาทุกๆ อิริยาบถ เพราะการปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่การนั่ง การเดิน การนอน มันอยู่ที่หัวใจของเราที่มันอยู่ทุกหนทุกแห่งน่ะ คือ การกระทำของเรา
การกระทำของเรานั้น มันมีทั้งรูปแบบ นอกรูปแบบ เราทุกคนต้องปฏิบัติได้ ทำได้ทุกหนทุกแห่ง เราทุกคนต้องทำได้ เราไม่ต้องรอกาล รอเวลา รอสถานที่
ปฏิบัติใหม่ๆ เราก็อาจจะคิดว่าเป็นของยาก เพราะเราต้องฝืนความรู้สึก ฝืนความเคยชิน ที่จิตใจของเรามันไหลลงไปที่ต่ำ เหมือนกับน้ำ ที่มันใหลจากภูเขาสูงตั้งเก้าสิบองศา อันนี้มัน เป็นความรู้สึกของเรา นี้มันเป็นกรรมของเรา ที่มันพากันติดความสุข ติดความสบาย
เราเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้แก้ตัวเอง สนองความอยากความต้องการจนมันเป็นความเคยชิน ใจ' ของเรานี้แหละ ถ้ามันนึกคิดขึ้นมาเราต้องหยุดทันที ถ้าเราปล่อยให้มันคิดสองครั้ง สามครั้ง สี่ครั้ง มากๆ เข้าน่ะ ทุกคนไม่มีใครเก่งที่จะหยุดมันได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง" "การไม่ทำบาปในทางความคิดด้วยประการทั้งปวง"
เรามองดูสิ่งหยาบๆ ที่เรามองเห็นน่ะ อย่างคนเค้าติด บุหรี่ ติดเหล้า ติดยาม้ายาอีอย่างนี้ เพราะเค้าเป็นคนใจอ่อน ทำตามความรู้สึกนึกคิด ใจแข็งไม่พอ หรือขาดสติเพราะว่าไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเค้ายับยั้งจิตไม่นึกไม่คิด ทุกคนก็สามารถที่จะละได้ หยุดได้
คนเราน่ะที่มันโกรธถึงกับแสดงความก้าวร้าว ถึงด่า ถึงว่า ถึงตี ถึงฆ่าน่ะ...เพราะเราไม่ได้หยุด ไม่ได้ยับยั้งตัวเอง จนทำให้ทุกอย่างมันเสียหาย 'ความคิด' นี้แหละมันมีทั้งคุณและโทษนะ อันไหนที่จะทำให้เรามันตกต่ำน่ะ ทุกคนต้องให้รู้ด้วยตัวเอง อดเอาทนเอา ฝืนเอา เพื่อให้มันเกิดมรรค...เกิดปฏิปทา...ผลมันถึงจะเกิดได้
ถ้าเรารู้เฉยๆ ... เข้าใจเฉยๆ น่ะ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการอด ไม่มีการทนน่ะ ทุกคนจะเป็น 'อริยชน' ไปไม่ได้
เราเห็นคนฉลาดเห็นคนเก่ง แต่ทุกคนก็หมดสภาพ เพราะแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ถูกกิเลสมันถลุง ถูกกิเลสมันครอบงำ จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่นิ่ง ทุกๆ คน ต้องถือว่าเป็นคนโชคดีเป็นคนที่มีโอกาสเพื่อจะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติ เพื่อจะได้ทบทวนจิตใจให้ตัวเองเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ "เพราะว่า 'พระนิพพาน' มันไม่ได้อยู่ไกล มันอยู่ที่จิตที่ใจของเราในชีวิตประจำวัน"
ความเคยชินของคนทุกคนน่ะ เค้าเรียกว่า 'กรรมเก่า' ดูๆ แล้วคนนั้น ๆ น่ะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยเก่า 'มันก็เหมือนเก่า' เพราะว่าไม่มีภาคปฏิบัติเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกๆ คน ถึงต้องไปเน้นที่จิตที่ใจ ถึงจะได้ทำประโยชน์ตนแล้วก็เป็น 'ประโยชน์ท่าน' ไปในตัวด้วยความไม่ประมาท
ทุกท่านทุกคนอย่าไปหา... ความสุข ความดับทุกข์ที่มันไม่ได้แก้ไขตัวเรา 'มันเสียเวลา' อย่างเราพากันอยู่ไปวันๆ ด้วยการทำงาน ถ้าเราไม่ได้แก้ไขตัวเอง ไม่ได้ปรับปรุงตัวเองน่ะ ท่านว่า... "มันเป็นการเสียเวลานะ"
'ใจ' ของเรานี้แหละมันผัดวันประกันพรุ่ง มันขอโอกาส ขอเวลาไปเรื่อยแหละ 'มันอุทธรณ์' ไปเรื่อย ความคิดของเรา นี้มันมีมาตั้งแต่เราจำความได้ ต่อไปมันก็คิดอย่างนี้แหละ มันไม่ยอมแก้ไขตัวเอง มันไม่ยอมประพฤติปฏิบัติน่ะ ทั้งที่ทุกๆ คนมีโอกาส มีเวลาที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง
บางคนบอกว่าไม่มีเวลาเพราะงานมาก ไม่มีเวลาที่จะปลีกตัวไปอยู่วัด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "มันไม่ใช่อย่างนั้น" เราจะทำงาน หรือว่าอยู่ที่บ้านในครอบครัวในสังคม นั่นแหละคือการประพฤติการปฏิบัติ คือการแก้จิตแก้ใจของเรา เพื่อให้จิตใจของเราจะได้เกิดมรรคเกิดผล
เรื่องของคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น เค้าไม่ปฏิบัติก็ช่างเขา แต่เราต้องสร้างความดีสร้างบารมีทุกหนทุกแห่ง ปรับใจของเรา ปรับคำพูดของเรา ปรับการกระทำของเรา เพื่อกาย วาจา ใจของเราจะได้เป็นศีลเป็นธรรมอยู่ทุกหนทุกแห่ง
เราอย่าไปคิดว่า เราปฏิบัติขวางโลก ปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น กลัวคนอื่นเค้าว่า การปฏิบัติธรรมนั้นน่ะมันไม่ขวางคนอื่น คนอื่นเค้าไม่ว่า เพราะในโลกนี้เค้าต้องการ 'คนดี'
เค้าให้เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนจบดอกเตอร์ เพื่อให้เราเป็นคนที่สียสละและมีคุณธรรม เค้ารับเราเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเราจะได้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม เสียสละ รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เค้าให้เราเป็นผู้จัดการน่ะ เพื่อเราจะได้เป็นคนที่ "เสียสละ มีคุณธรรม รับผิดชอบ"
เค้าแต่งตั้งให้เราเป็นโน่นเป็นนี้น่ะ เรายังไม่รู้เหรอว่าเค้ามอบให้เราเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนมีคุณธรรม เป็นคนที่เสียสละ "ให้เรา ทุกคนรู้นะว่า ทุกคนเขาต้องการให้เราเป็นคนดี"
เราทำดีก็กลัวไม่พออยู่พอกิน กลัวเสียเปรียบ กลัวคนเอาเปรียบ อันนี้เป็นความคิดเห็น ที่ผิดพลาดมาก นี่เรายังไม่รู้จักความดีความถูกต้องที่แท้จริง เราอย่าไปเอา 'โลกธรรม' ให้มาครอบงำจิตใจของเราให้มันขุ่นมันมัว เราอย่าเอาคนอื่นเป็นที่ตั้ง เอาสังคมที่ยังไม่ได้มาตรฐานเป็นที่ตั้ง ต้องเอาความดี ความถูกต้อง ความเสียสละเป็นที่ตั้ง ต้องเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ มีความสุขความสงบ ความร่มเย็นอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนทำอะไรทั้งที่บ้านที่ทำงาน การประพฤติการปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเข้าใจอย่างนี้ จะได้พากันประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง สร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรมกัน "การประพฤติการปฏิบัติน่ะพระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่ตัวเองอย่างนี้"
ให้ทุกคนน่ะ... พินิจพิจารณาศึกษาทำความเข้าใจ อย่าไปเข้าข้างตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาธรรม" เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง อยู่ที่บ้านก็รักษาศีล ๕ ไหว้พระ เรานั่งสมาธินี้แหละ... เราอย่าไปอยากให้มันสงบ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ถ้าอยากให้สงบเราต้องเป็นทุกข์แน่
เรานั่งสมาธิ ก็คือ นั่งสมาธิ ไม่ใช่อยากให้มันสงบ เรามีหน้าที่หายใจเข้าก็ให้รู้สบาย มีหน้าที่หายใจออกก็ให้รู้สบาย ความสงบนั้นเค้าเกิดของเค้าเอง เป็นของเค้าเอง มีโอกาส มีเวลาอันสมควร พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เรามาวัด มาเข้ากรรมฐานกัน เพื่อบำเพ็ญ "เนกขัมมะบารมี" เพื่อเอา ความสุขความดับทุกข์ทางจิตใจ เพื่อจิตใจของเราจะได้ปราศจากนิวรณ์ทั้งหลายทั้งปวง