แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๕ ยิ่งเสียสละ ยิ่งปล่อยวาง "จะยิ่งว่างเบา" ถ้ายิ่งจะรับเอา มันยิ่งเป็นทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อวานนี้ได้พูดเรื่องธรรมะวินัยให้พระเก่าพระใหม่เขาเข้าใจ ให้ทุกท่านทุกคนพากันมีฉันทะ มีความพอใจมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนน่ะ เน้นที่ปัจจุบันเพราะเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นโอกาสดีที่สุด เพราะในชีวิตของเราทุกคนนะ มันไม่อยากละ ไม่อยากปล่อย ไม่อยากวาง เพราะเรามันเอาทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราละสักกายะทิฏฐิ อย่ามีทิฏฐิ อย่ามีตัวตนน่ะ ที่ว่าเราต้องอ่อนน้อมเหมือนพระพุทธเจ้าเหมือนพระอรหันต์ เรามาอยู่ก่อนมาก่อนน่ะ ต้องมาละซึ่งสักกายะทิฏฐิ คือการเห็นแก่ตัวนะ เพราะคนเรามันไม่อยากตายจากภพจากชาติ เพราะมันติดในรส แล้วมันก็สำเร็จรูปในชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พวกเราก็จะพากันฉายหนังม้วนเก่า วนไปมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ พากันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติทุกคนนะ พระเก่าพระใหม่ไม่ต้องถืออภิสิทธิ์ว่าเราเป็นพระเก่าพระใหม่นะเราต้องละเสียทั้งตัวทั้งตน เราก็เอากายเอาวาจาด้วยใจด้วยเจตนา สู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะพอเรารู้ เราเข้าใจแล้ว เราเอาตรงปฏิบัติ
ปฏิบัตินี้ก็หมายถึงศีลธรรม เราทานอาหาร เรารู้จักก็แต่บริโภคอาหารกาย เราไม่รู้จักบริโภคอาหารทางใจ ที่เราติดในรูปเสียงกลิ่นรส ติดในลาภยศสรรเสริญ แล้วก็ติดในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มันเป็นอาหารของอวิชชา เป็นอาหารของความหลง เป็นอาหารให้ก่อภพก่อชาติ เราทุกคนต้องพากันมามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้ เพราะทุกคนไม่มีใครหายใจให้เรา ไม่มีใครทานข้าว อาบน้ำ เดินเหินให้เรา นี่เป็นธรรมะภาคประพฤติภาคปฏิบัติ แม้เป็นประชาชนที่อยู่ในบ้านนี้ก็ต้องพากันปฏิบัติอย่างนี้ เป็นพรหมจรรย์คือศีล ๕ เป็นพรหมจรรย์ของผู้ที่ยังไม่ได้บวช ถึงท่านอยู่บ้าน ต้องปฏิบัติที่บ้าน
คนเราต้องมีความสุขในการทำงาน เพราะงานก็คือความสุขของเรา เราจะได้พัฒนาทั้งใจพัฒนาทั้งการอยู่การกิน นี่ก็เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่าไปทำอย่างที่เขาทำกัน เรียนหนังสือก็เพราะเพื่อจะมีที่อยู่ที่อาศัยการกินมีบ้านมีรถมีลาภมีสรรเสริญ แต่ไม่ได้มีสัมมาทิฏฐิ นี่มันระดับธรรมดา เป็นสัญชาตญาณ ไม่ใช่ระดับสัมมาทิฏฐิ คนเรานี่ทำไปทุกข์ไป ถึงเป็นโรคประสาทถึงเป็นโรคจิต เป็นโรคทรัพย์จาง ไม่ได้เข้าถึงความพอเพียงเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีความสุขในปัจจุบันอย่างนี้แหละ
พวกพระพวกเณรเรามาอยู่วัดให้ถือโอกาสพิเศษ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ ระบบของประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อพรหมจรรย์ เพื่อที่จะกลับมาหาอริยมรรคมีองค์ ๘ ในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้ และทุกคนเก่งหมด มีความสามารถหมด ที่เรานี้ไม่ฉลาด เพราะเราไม่เสียสละ ถ้าเราเสียสละอย่างนี้ ตัวตนของเราไม่มี เราก็ไม่เก้อเขิน ที่เราทำอะไรเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ เพราะตัวตนเรามันเยอะ เหมือนผู้ใหญ่บ้านตกจากบ้านสู่พื้นดินเกือบถึงถนนแล้ว เขาก็ถามว่าเป็นอะไร ตัวเองก็บอกว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้บอกว่าเจ็บแทบตายเลย ไม่ได้ตอบตามเป็นจริง มันก็อยู่ที่ความยึดมันถือมั่น
ทุกคนต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะนะ สตินี่คือ รู้ได้ว่าอันนี้ชั่ว อันนี้ผิด อันนี้ถูก สัมปชัญญะคือตัวปัญญา ว่าเราต้องตัด เราต้องละ เราต้องเลิก เราต้องเสียสละ เพื่อทำให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบัน จะได้เดินไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี ให้เข้าใจ ความเครียดของเราจะได้ลดน้อยลง
คนเราน่ะ ไปพัฒนาแต่เทคโนโลยีอย่างนี้ มันไม่เข้าใจ อย่างนี้มันทำเพื่อตัวเพื่อตัน อย่างประชาชนนี่นะ ทำไร่ทำนาทำสวนก็รังเกียจกัน เพราะมันทำแล้วปวดหลังปวดเอวปวดขา หน้ามันดำอย่างนี้แหละ เขาไม่รู้จักว่าความสุขความดับทุกข์เนี่ย เราต้องมีความสุขในการเสียสละ หน้ามันดำเราก็ใช้ผ้าปิดหน้าปิดตาใช้หมวกก็ได้ แต่เราต้องรู้จักความหมายนะ เราต้องมีความสุขในการทำงาน เราสงสารตัวเราเองหรือตัวคนอื่น ว่ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันน่าสมเพชเวทนากับเราเองกับคนอื่น ที่มันไม่รู้จักธรรมะ เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่เราเห็นความถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขที่ทำเกษตรกรรม ไม่ใช่วิ่งตามอารมณ์ จนกลายเป็นหนุ่มโรงงานสาวโรงงาน กินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง
เราเข้าใจนะความสุขความดับทุกข์น่ะ มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในชีวิตประจำวัน เราจะได้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราจะได้จนอย่างมีความสุขรวยอย่างมีความสุข ทำไมมีความสุขหล่ะ ก็หมายถึงว่ามีความสุขและมีปัญญา เราไม่หลงไปเรื่อยที่เขาว่า ติดในรสอาหารติดในรสภัตตาคารติดในทุกอย่าง เราใช้รถที่ยี่ห้อดีๆ ใช้ที่ก็แอร์ดีๆ เลย เราก็ต้องใช้ที่หัวจิตหัวใจของเรา เพราะเราเพียงใช้สุขภาพร่างกายไม่เกิน 100 ปี ก็ต้องจากไป เราจะไปเอาหน้าเอาตาอะไร “เอาหน้า” สุดท้ายหน้าเราก็ต้องแก่ แก่ยังไม่พอ ก็หน้าเจ็บ หน้าตาย เราต้องพากันเข้าใจ ผูกเนคไทใส่สูตร พวกเป็นท่าน ท่านไม่จริง เป็นท่านอวิชชาท่านความหลง ท่านนี้ก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เนี่ย สององค์นี้เราเรียกท่าน หรือว่า ผู้มีพรหมวิหารทั้ง ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีสติสัมปะชัญญะที่สมบูรณ์ มีศีล
ทุกท่านทุกคนต้องพัฒนานะ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็สบาย หายใจออกก็สบาย หายใจเข้าก็พุธ หายใจออกก็โท เราอย่าไปกับความเคยชิน เราต้องมาหากับสติสัมปชัญญะ เพราะลมหายใจเป็นทั้งความสงบเป็นทั้งวิปัสสนา
เราต้องเสียสละ อย่ามีโลกส่วนตัวเยอะ อย่างนี้แหละ โลกส่วนตัวมันก็ได้แค่สมาธิ คนสมาธิมากน่ะยิ่งเป็นฮิตเลอร์นะ ใช่มั้ย ฮิตเลอร์เลย ตั้งมั่นในการปราบปรามคนอื่น ไปฆ่าคนอื่น ไม่ได้จัดการกับตัวเอง สมาธิรุนแรง ไม่กลัวตายเลย สมาธิต้องเป็นสัมมาสมาธิ มีความสุข เรามาอยู่วัดก็มีความสุข หายใจออกมีความสุข จะหายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ให้สติสัมปชัญญะมันอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าไปอยู่แต่กับความคิด คิดไปไม่ได้อะไร ได้แต่โรคประสาท
เราต้องทำในปัจจุบันนี่ เราเป็นประชาชนเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เราต้องเอาใหม่ พระพุทธเจ้าท่านขยันนะ วันหนึ่งท่านทำงาน 20 ชั่วโมงนะ บรรทมเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้นเอง เราก็ต้องเสียสละอย่างนี้แหละ เราก็จะมีความสุขไปในตัวอยู่แล้ว เราเป็นประชาชนยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ก็พักผ่อนสัก 5-6 ชั่วโมง พวกที่อยู่ทางบ้านก็ 7-8 ชั่วโมงก็พอ ตอนนอนก็พากันนอน อย่าพากันโสเหร่กัน พากันไปเล่นแต่โทรศัพท์ เล่นแต่อะไรกัน มันเป็น sex ทางอารมณ์ sex ทางความคิด เราต้องหยุด เราต้องเบรค เราต้องรู้จักมามีสติสัมปชัญญะ หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบายอย่างนี้นะ เราต้องมีความคม เราต้องตัดให้ได้ ก็คือให้เลิกเสีย เมื่อเลิกก็ต้องมีภาคปฏิบัติเพื่อจะเลิกให้ได้ เขาฟักไข่กันสามอาทิตย์ แต่เราเป็นคนกิเลสมาก มันต้องพัฒนาไปมากกว่านั้น นั่งสมาธิตอนเช้า ตอนกลางคืน มันก็ง่วงเหงาหาวนอน มันฟังเทศน์ก็อยากจะหลับ เจริญอานาปานสติรู้ลมเข้าชัดเจน รู้ลมออกชัดเจน ถ้ามันสงบก็เอาลมไว้ที่ท้อง ท้องพองเราก็รู้ ท้องยุบเราก็รู้ ถ้าท้องยุบท้องพอง ให้มันละเอียดไปอีก ก็เอาสติไว้ในหน้าอก รู้ชัดเจน เราจะถึงสติออกจากหัว ออกจากสมอง สมองเราจะได้พักผ่อน เขาเรียกว่าเราเข้าสมาบัติ มันเป็นอย่างนั้น
เราต้องพัฒนาให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เราจะมาบวชโกนหัวเล่นๆ ให้เวลามันผ่านไป โดยเวลากินเราไม่ได้ปฏิบัติ เราก็ไม่ได้กินเวลา เพราะเราไม่ได้ฝึกไม่ได้ปฏิบัติ ดูๆ แล้วทุกคนระบบสมอง สติปัญญา มันก็ไปได้ทุกคน เมื่อเข้าใจแล้วก็พากันประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้ครูบาอาจารย์มาบังคับเรา เราก็ต้องบังคับตัวเองด้วยอย่างนี้นะ พระเก่าที่ผ่านๆ มาถือว่ายังใช้ไม่ได้ ถ้าใช้ได้ มันก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เถระมันยังไม่ละนะ มันยังมีสักกายทิฏฐิ ยังมีตัวมีตนอยู่ มันน่าสมเพชตัวเองอยู่ เราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเหมือนพระพุทธเจ้า อย่าเอาตัวตนเป็นหลัก
พวกคนอยู่วัดนานก็ต้องปรับตัวเอง อยู่วัดนานได้ยังไง จะมาเป็นหมู เห็ด เป็ด ไก่ จิ้งจก ตุ๊กแกวัดอยู่ไม่ได้นะ เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเพราะทุกคนต้องเอามรรคผลนิพพาน มีศีลเสมอกัน มีสมาธิเสมอกัน มีปัญญาเสมอกันอย่างนี้
การประพฤติปฏิบัติธรรมมีหลายคนหลายท่านมีความสงสัยว่า ตัวเองปฏิบัติถูกหรือเปล่า เพราะว่าการปฏิบัติที่ผิดนั้นทำให้เดินทางผิดและเสียเวลา
การปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านให้เดินทางสายกลาง เอาศีลเป็นหลัก เอาธรรมเป็นหลัก ศีล คือทางสายกลาง ธรรม คือทางสายกลาง คนเรามันมีตัวมีตน มันไม่เดินทางสายกลาง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นประธาน
การปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องปรับตัวเองเข้าหาศีลหาธรรม ข้อวัตรปฏิบัตินี้เป็นปลีกย่อย มันได้แก่พระวินัย ที่เราทำวัตรสวดมนต์ ทำกิจวัตรต่างๆ จัดว่าเป็นศีล
ศีลนี้คือการจัดการเรื่องทางกาย เพื่อที่จะเข้ามาหาทางจิตใจ เพราะว่าคนเราใจมันไม่มีตัวไม่มีตน มันต้องอาศัยกายอยู่ การปฏิบัติศีลต้องมาปฏิบัติที่กาย "การมาปฏิบัติที่กาย ก็คือการปฏิบัติที่ใจนั่นแหละ"
ผู้ปฏิบัติตามศลถือว่าปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติตามทางสายกลาง มีเจตนาที่จะงดเว้นในศีลทุกๆ ข้อ ศีลนี่แหละ ถ้าเราไม่มีเจตนา ถ้าเราทำผิดโดยไม่ตั้งใจ เป็นอันว่า ไม่ผิดศีล
ถ้าเราสงสัยอยู่แล้วฝืนทำลงไป ถึงแม้จะไม่ผิดศีลโดยตรง มันก็ ผิดศีลในข้อที่สงสัย ยกตัวอย่างเช่น เราเดินไปเหยียบแมลงตายโดยที่เราไม่ตั้งใจ เราก็ไม่ผิดศีล ให้ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้คิดอย่างนี้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามศีลแสดงว่าเราปฏิบัติถูก
การปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติเพื่อละความเห็นแก่ตัว เพราะเรามีตัวมีตนมาก มันถึงต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด มันมีอัตตาตัวตนมาก มันถึงมีภพมีชาติ มีการเวียนว่ายตายเกิด
การประพฤติปฏิบัติธรรม ให้ทุกๆ ท่าน ทุก ๆ คนเน้นการเสียสละ เน้นการละความเห็นแก่ตัว การรักษาศีล ก็ให้เป็นผู้เสียสละละความเห็นแก่ตัว ละความมักง่ายของตัวเองเสียสละไม่ตามใจตัวเอง
ความคิดของเราก็เหมือนกัน บางอย่างก็เป็นยาพิษ บางอย่างก็เป็นธรรมโอสถ... สิ่งไหนมันเป็นไปไม่ได้ เราก็อย่าไปคิดมัน เสียเวลา เสียสมองเปล่าๆ เช่น เราอยากได้ดวงอาทิตย์ อยากได้ดวงจันทร์ อยากได้ดวงดาว เราก็อย่าไปคิดมัน เพราะคิดไปแล้วมันก็ไม่ได้
เราคิดไม่อยากให้มันแก่ คิดไม่อยากให้มันเจ็บ คิดไม่อยากให้มันตายอย่างนี้ "เราคิดแล้วมันก็ไม่เป็นไปตามความคิด เราคิดแล้วมัน ไม่ได้อะไร แล้วเราจะไปคิดไปทำไม...?"
เราคิดอยากให้เรารวยมันก็ไม่ได้ เราก็ได้ตามอัตภาพตามการงาน เราคิดอยากได้วันละพันมันก็ไม่ได้ อยากได้มากก็ต้องเพิ่มกิจการงานขึ้นอีก
ไม่ใช่คิดไปให้ตัวเองเป็นทุกข์ ถ้าเราคิดไม่เป็นมันก็ทำร้ายตัวเอง หาความทุกข์ให้กับตัวเอง อยู่ดีๆ ก็หาเรื่องหาราวให้กับตัวเอง ลักษณะในการคิด พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดอย่างนี้
การงาน ก็ให้ทำการงานที่ชอบ เป็นการงานที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ปกติคนเราในชีวิตประจำวัน มันก็ทำแต่สิ่งที่เก่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ มันต้องนอน ต้องมีที่อยู่ที่นอน มันต้องจัดที่นอน ดูแลที่อยู่ที่นอน ดูแลห้องน้ำห้องสุขา ทำอย่างนี้ทุกวัน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความสุขในการทำการทำงานอย่างนี้
เวลาเรากวาดบ้านก็ดี ทำอะไรทุกอย่างก็ดี ก็ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ใจของเราอยู่กับการกระทำสิ่งนั้น เราทำช้า ทำเร็ว ก็ให้ใจเรามีสติ...แล้วแต่เวลามันจะเร่งรัด ให้เราเอาสติ เอาสมาธิ เอาการกระทำของเราเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม ลงรายละเอียดให้กับตัวเองให้มากขึ้น
เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ... เราทำอะไรอย่าไปหวังผลตอบแทน อย่าไปหวังคำว่าขอบคุณ มันมีความทุกข์ ถ้าเราหวังผลมันมีความทุกข์ ถ้าเราหวังคำว่า 'ขอบคุณ' ให้เราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ จิตใจของเราจะได้สงบ จิตใจของเราจะได้เย็นอยู่กับการทำงาน
คนส่วนใหญ่ไม่รู้นะว่าการทำงาน คือการปฏิบัติธรรม การทำงาน คือการทำความดี การทำงาน คือการเสียสละ การทำงาน คือการฝึกตัวเอง ฝึกสติ เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรม คือการเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่นมันแค่ขั้นตอนหนึ่ง แต่ชีวิตของคนเรามันมีหน้าที่ที่มองเห็นเป็นหลักใหญ่ๆ ตั้ง ๘ อย่าง ยังมีคนเข้าใจผิดเยอะว่าไม่มีเวลารักษาศีล ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมเลย... ฮันนี้ก็เพราะว่าเราไม่เข้าใจเรื่องพระศาสนา ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรม
ในทุกหนทุกแห่งในโลกนี้นั่นคือการปฏิบัติธรรม...
เราปฏิบัติธรรมในที่ทำงาน เราปฏิบัติธรรมในที่บ้านของเรานั่นแหละ... เขาอย่าไปมีช้อแม้ว่าอยู่ในที่ทำงานปฏิบัติไม่ได้ มันมีแต่เรื่องวุ่นวาย
พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาตรัสบอกพวกเราว่า ถ้ามันไม่มีสิ่งวุ่นวายต่างๆ เหล่านี้แล้ว เราจะรักษาศีลไปทำไม เราจะมีโอกาสทำใจของเราให้มันสงบหรือ เราจะมีโอกาสทำใจของเราให้มันเย็นหรือ?
ในบ้านในสังคมมันต้องมีทั้งคนดีคนไม่ดี เราจะได้มาปรับที่ใจ ปรับที่การกระทำ ปรับที่คำพูดของเรา
เราจะไปรอให้ปัญหาต่างๆ ให้มันหมด มันก็ไม่หมด เพราะมันเป็นโลก เป็นวัฏฎสงสาร พอเรื่องเก่าจบเรื่องใหม่ก็มาอีกเหมือนกับตัวเรานี้แหละ วันนี้ก็ทานอาหาร วันต่อไปก็ต้องทานอีก มันไม่จบ...
เราอย่าไปทุกข์ไปร้อนกับสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งนี้มันก็ไม่ดี สิ่งนั้นมันก็ไม่ดี เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรายึดเราถือ สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาทางตาทางหู ถ้าเราเอามาแบกมายึดมาถือมันก็ทุกข์มาก ทุกข์จากขันธ์ ๕ มันก็ทุกข์มากอยู่แล้ว ทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจของเรามันก็มากอยู่แล้ว เราก็ยังเอาทุกข์ของคนอื่นมาแบกอีก
ที่เรามีปัญหา ที่เรามีความทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรายังไม่รู้จัก เราเที่ยวไปแบกเอาทุกข์ของเขา ไปคิดแทนเขา เราเข้าไปมีส่วนร่วมหมด อย่างนี้เขาเรียกว่า 'เป็นผู้เกิดมาแบกโลก'
เรื่องเมตตานี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเราทุกคนต้องเจริญเมตตามากๆ เพราะทุกคนที่อยู่ในครอบครัว อยู่ในที่ทำงาน อยู่ในสังคม เขาก็มีทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งการดำรงชีวิตอยู่ เขาจะผิดบ้าง เราก็ต้องรู้จักสงสารเขา ให้ความเมตตาให้กำลังใจกัน อย่าไปช้ำเติมกัน
เรานี่คิดผิดนะ...! เราเผาตัวเองยังไม่พอ เรายังไปเผาคนอื่นอีก อย่างนี้แสดงว่าเราตกหม้อนรกตั้งแต่ยังไม่ตายนะ ถ้าตายแล้วก็ต้องตกหม้อใหม่อีก เรื่องสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวใกล้ตัวอย่าไปมองข้าม
เรื่องคำพูดนี้สำคัญมาก มีประโยชน์มาก ถ้าพูดดีก็เจริญ เจริญทั้งด้านจิตใจ เจริญทั้งหน้าที่การงาน ส่วนใหญ่แล้วเราได้รับอิทธิพลจากพ่อจากแม่ จากเพื่อนฝูง จากสังคมต่างๆ ในเรื่องการพูด พระพุทธเจ้าท่านให้เราระวังตัวเองในเรื่องความคิดกับเรื่องคำพูด
ปัญหาต่างๆ ที่เรามองเห็น ที่มันเกิดการขัดเคือง เกิดการแตกแยก เกิดความไม่สามัคคีนั้นมันเกิดมาจากคำพูด ยกตัวอย่างเช่น โคนันทวิศาล สมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์เกิดเป็นโค นามว่าโคนันทวิศาล เป็นโคมีรูปร่างสวยงาม มีพละกำลังมาก มีพราหมณ์คนหนึ่งได้เลี้ยงและรักโคนั้นเหมือนลูกชาย โคนั้นคิดจะตอบแทนบุญคุณการเลี้ยงดูของพราหมณ์ ในวันหนึ่งจึงได้พูดกับพราหมณ์ว่า "พ่อ...จงไปทัพนันกับโควินทกเศรษฐีว่า โคของเราสามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มที่ผูกติดกันให้เคลื่อนไหวได้ พนันด้วยเงินหนึ่งพัน กหาปณะเถิด"
พราหมณ์ใด้ไปที่บ้านเศรษฐีและตกลงกันตามนั้น นัดเดิมพันกันในวันรุ่งขึ้น
ในวันเดิมพัน พราหมณ์ได้เทียมโคนันทวิศาลเข้าที่เกวียนเล่มแรก เพื่อลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มที่ผูกติดกันซึ่งบรรทุกทราย กรวด และหินเต็มลำ แล้วขึ้นไปนั่งบนเกวียน เงื้อปฏักขึ้นพร้อมกับตวาดว่า..."ไอ้โคโกง ไอ้โคโง่ เจ้าจงลากเกวียนไปเดี๋ยวนี้" ฝ่ายโคนันทวิศาลเมื่อได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้นก็คิดน้อยใจว่า "พราหมณ์เรียกเราผู้ไม่โกง ว่าโกง เรียกเราผู้ไม่โง่ ว่าโง่" โคนันทวิศาลจึงยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว ดังนั้นพราหมณ์จึงแพ้พนันเงินหนึ่งพันกหาปณะ ปลดโคแล้วก็เข้าไปนอนเศร้าโศกเสียใจอยู่ในบ้าน
ส่วนโคนันทวิศาลเห็นพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจเช่นนั้น จึงเข้าไปปลอบและกล่าวว่า "พ่อ...ฉันอยู่ในเรือนของท่านตลอดมา เคยทำภาชนะอะไรแตกไหม เคยเหยียบใครๆ เคยถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในที่อันไม่ควรหรือไม่ เพราะเหตุใดท่านจึงเรียกเราว่าโคโกงโคโง่ ครั้งนี้ถือเป็นความผิดของท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของฉัน บัดนี้... ขอให้ท่านไปเดิมพันใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยเงินสองพันกหาปณะ ขออย่างเดียว ท่านอย่าได้เรียกฉันว่าโคโกงโคโง่ ท่านจะได้ทรัพย์ตามที่ท่านปรารถนา ฉันจะไม่ทำให้ท่านเศร้าเสียใจ"
ดังนั้น พราหมณ์จึงได้ทำตามที่โคนันทวิศาลบอก ในวันเดิมพัน พราหมณ์จึงพูดหวานว่า..."นันทวิศาลลูกรัก เจ้าจงลากเกวียนทั้งร้อยเล่มนี้ไปเถิด" โคนันทวิศาลได้ลากเกวียนร้อยเล่มที่ผูกติดกัน ด้วยการออกแรงลากเพียงครั้งเดียวเท่านั้น...ทำให้เกวียนเล่มสุดท้ายไปตั้งอยู่ที่เกวียนเล่มแรกอยู่ ทำให้พราหมณ์ชนะพนันด้วยเงินสองพันกหาปณะ พระพุทธองค์เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า คำหยาบ ไม่เป็นที่ชอบใจของใครๆ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน" แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า "มนุญฺญเมว ภาเสยฺย นามนุญฺญํ กุทาจนํ มนุญฺญํ ภาสมานสฺส ครุภารํ อุททฺธริ ธนญฺจ นํ อลาเภสิ เตน จตฺตมโน อหูติ ฯ บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะในกาลไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระอันหนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจเพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย"
ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าเจ้าของโคไม่ฉลาดในการใช้คำพูด... อย่างเรานี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นคุณพ่อคุณแม่ เวลาใช้คำพูดกับลูก ใช้คำพูดกับผู้บังคับบัญชาก็ขาดความเคารพ ขาดความยำเกรง พูดตรงไปตรงมา พูดขวานผ่าซาก น้ำเสียงก็ไม่ไพเราะ บางครั้งก็พูดดีอยู่ แต่พูดมากเกินไป
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้พูดมากเกิน... ถ้าใครพูดมากก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธๆ ให้บริกรรมว่า "หายใจเข้าก็อย่าพูดมาก หายใจออกก็อย่าพูดมาก"
ลูกเราโตพอสมควรก็รู้จักพูดให้กำลังใจยกยอปอปั้นให้เขาได้กำลังใจ เราจะเอาแต่ว่า..เอาแต่บ่นเขา...มันไม่ได้ส่วนใหญ่มันร้อนรน...กลัวลูกหลานทำออกมาไม่ได้ดี พ่อแม่บางคนนี้บ่นเก่งยิ่งกว่าพระสวดมนต์อีก พระสวดเก่งๆ ยังสู้พ่อแม่บ่นไม่ได้
เราต้องพัฒนาตนเองเรื่องคำพูด เด็กมันจำจากพ่อจากแม่ เพราะยิ่งพ่อแมใช้คำศัพท์ที่กลุ่มผู้ดีเขาฟังไม่ได้ เด็กมันติดนะ ศัพท์ต่างๆ นี้เราต้องมาตัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์กับบุคคลที่อยู่รอบข้างเรา
เราทุกคนส่วนใหญ่มันพกระเบิดแต่ไม่รู้ว่าตัวเองพก บางคนพกตั้งหลายลูก ระเบิดมันอยู่ที่ปาก จึงเรียกว่า 'ปากระเบิด' เช่น เราพูดไม่ดี พูดไม่เพราะ คนที่พูดแบบนี้เป็นลักษณะของเปรต ของยักษ์ ของมารของอสุรกายที่มันมาอยู่ในตัวของเรา
ความรู้เรื่องพูดนี้ก็สำคัญ... คนที่พูดดีมีประโยชน์ ถ้าเราพูดดีนี้ ผู้บังคับบัญชาก็เคารพรักนับถือ เพื่อนฝูงก็รัก ลูกน้องบริวารก็รัก ที่เราเรียนจบ ดร. มา ถ้าเราพูดไม่ดี ไม่ถูกต้อง เราก็ปกครองใครไม่ได้ ปกครองได้ก็ไม่กี่คน เพราะถึงแม้เราจะมีความรู้มากแต่ในใจเขารับไม่ได้
คนบางคนเป็นคนที่เก่ง เป็นคนฉลาด มีความสามารถ พูดจาฉะฉานแต่ว่าอาภัพ เพราะเป็นคนที่ไม่ระมัดระวังเรื่องคำพูด คบค้าสมาคมกับใครๆ ไม่กี่ปีเขาก็พากันตีตัวออกห่าง มันเพราะอะไร..? ก็เพราะคำพูดนะถ้าพูดด้วยความเมตตาออกจากใจ พูดด้วยความปรารถนาดี ผู้ฟังก็ฟังออก มันรับได้ "คำพูดมันเหมือนกัน อันหนึ่งมันออกจากปาก อันหนึ่งมันมาจากใจแล้วถึงออกจากปาก ...."
พระพุทธเจ้าท่านให้พัฒนาเรื่องคำพูด สิ่งที่แล้วก็แล้วไป เช่นเราเป็นเจ้านาย เราก็ชอบหลงตัวเอง ใครพูดใครแตะต้องก็ไม่ได้ ให้เราเอาอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านพูดดี พูดเพราะพูดอ่อนน้อมถ่อมตน สมกับที่ทุกคนต้องกราบไหว้ คำพูดใดพูดเพื่อที่จะให้เกิดความสามัคคี เราก็เอาความสามัคคีเป็นหลัก ถ้าอันไหนมันจะแตกแยก ให้เราหยุดให้เรานิ่ง ถึงแม้ใครจะมาพูดหาเสียงหาคะแนน เราฟังแล้วก็แล้วไป
คนเรามันต้องการความรัก ต้องการเครดิต เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น เราไปอยู่ที่ไหนต้องมีบุคคลประเภทนี้อยู่ทุกหนทุกแห่ง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราจิตใจหนักแน่น จิตใจไม่หวั่นไหว อย่าเป็นคนหูเบา ถ้าหูเบาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไม่ได้ เป็นคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ เรื่องใหญ่ก็ให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเล็กก็ให้เป็นเรื่องเล็ก เพราะสิ่งต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เรื่องความสามัคคีต้องมีในครอบครัวของเรา ต้องมีในที่ทำงานของเรา ครอบครัวที่มันล่มสลายก็เพราะพ่อแม่ชอบทุ่มเถียงกัน อย่างนี้ เขาเรียกว่า 'เผาครอบครัว' ถ้าเป็นโรงเรียน เป็นที่ทำงาน ก็ให้พากันรู้ไว้ว่า พากันเผาบ้านเผาเมือง' พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้ไว้ว่ามันเป็นบาบใหญ่ เป็น 'มหาบาป' ถึงแม้คิดไว้ในใจมันก็เป็นบาปอยู่แล้ว
เรามองดูแต่ละประเทศที่มันมีสงคราม ที่มันมีปัญหา อย่างประเทศเราทุกวันนี้ที่มันเดินขบวนกันบ่อยๆ นั้น มันกำลังเดินทางเข้าสู่อนันตริยกรรม มันเป็นกรรมหนัก
ถ้าเราจะเอาความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว มันไม่จบเรื่องวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องทะเลาะกัน ต้องเอาความเมตตากัน สงสารกันระเบียบก็ดี วินัยก็ดี มันเป็นการจัดสรรหมู่มวลมนุษย์ให้เกิดความสงบสุข คนมีกิเลสมาก มีความโลภมาก มันต้องมีระเบียบวินัย แต่บางคนก็หาช่องโหวในระเบียบวินัยมาทะเลาะกัน
เรื่องความสามัคคีนี้สำคัญ บางทีพ่อบ้านแม่บ้านมองหน้ากันไม่ได้ มันต้องกลับไปแก้ตัวใหม่ หรืออย่างในที่ทำงาน คนอื่นเขาทะเลาะกัน เราก็ต้องรู้จักเฉยๆ ไว้ เพราะไม่อย่างนั้นมันไม่จบ "ปัญญามันใกล้เคียงกัน...!"
ปัจจุบัน คนเราไม่ถึงอนาคตหรอก มันจะเป็นปัจจุบันอย่างนี้ เราต้องจัดการเราในปัจจุบัน อย่างนี้น่ะ หลวงพ่อพุทธทาสถึงบอกว่า เดี๋ยวนี้ผมจำอะไรไม่ได้นะ ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ปัจจุบัน อย่างนี้น่ะ
ปัจจุบันน่ะ เราแทนที่จะเป็นคนบึ้งตึงอยู่ เราก็เข้ากับเพื่อนก็ได้ เข้ากับเจ้านายก็ได้ เข้ากับลูกน้องก็ได้ อะไรอย่างนี้แหละ ข้างบนก็ไม่ติด ตรงกลางก็ไม่ติด ข้างล่างก็ไม่ติด มันครบสูตรเลย แทนที่อยู่ใกล้กัน จะรักกัน กลับเห็นคนนั้นนิสัยไม่ดี ก็เครียดขึ้นมาเลย ตัวเองนี่แย่ ที่ไม่ลบอดีตเป็นเลขศูนย์
ความสามัคคีทำให้องค์กรเราเจริญ ทำให้ประเทศชาติเราเจริญ เหมือนกับนิ้วมือหลายนิ้วนี้ช่วยกันทำประโยชน์ได้ ที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เพื่อจะปรับปรุงตัวเรานะ เมื่อเรา กลับไปบ้านกลับไปที่ทำงานเราก็ต้องเอาใหม่ เราจะได้ละบาปและบำเพ็ญบุญใหม่...