แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ว่ายวนในทุกข์ ดุจฉายหนังม้วนเก่า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระ หะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เราทุกคนผู้ที่มาบวชคือผู้ที่โชคดี เราได้ปฏิบัติ ให้ทุกคนมีความสุข ให้ทุกท่านตั้งใจ เพราะเวลาที่เป็นปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งพระเก่า พระใหม่ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจเข้าถึงมาตรฐานของพระพุทธเจ้า มาตรฐานของธรรมวินัย ปรับกาย ปรับวาจา ปรับใจ เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจทั้งหมด เราเอามาใช้ เอามาปฏิบัติ ให้มีความสุขด้วยกัน ทุกท่านทุกคน
วัด คือ ศูนย์รวมของผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพานให้ทุกท่านพากันเข้าใจอย่างนี้ ร่างกายของเราคือส่วนหนึ่ง ใจของเราก็ส่วนหนึ่ง ร่างกายของเรามีการกิน การนอน การพักผ่อน เป็นอิริยาบถต่างๆ อาหารทางใจ คือ ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และมาสอนว่า มนุษย์เราต้องพัฒนาทางกายและใจ เพื่อไปสู่ทางสายกลาง มีศีล สมาธิ และปัญญา สิ่งที่เสพติดสิ่งที่หลงมันนำทุกคนเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนต้องมารู้จักว่า เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติด้วยความจำเป็น ทุกคนอย่าได้ขอโอกาสบริโภคกามไปเรื่อย มันก็ฉายหนังม้วนเก่าย้ำแล้วย้ำอีก ด้วยความเคยชิน ทุกคนต้องจิตใจเข้มแข็ง จิตใจตั้งมั่น มีสติสัมปชัญญะ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกก็สบาย มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำงาน ขยัน เสียสละ รับผิดชอบ เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกท่านทุกคนต้องกระฉับกระเฉง ทุกคนมันเก่ง แต่ที่ไม่เก่ง เพราะไม่เสียสละ ความเป็นพระมันอยู่ที่เราเสียสละ เสียสละทิฐิมานะ อัตตาตัวตน เสียสละสิ่งที่มันเป็นสิ่งเสพติด มันเป็นสิ่งที่ทุกคนได้เสพทางจิตใจ เราต้องเสียสละมันออกไป เน้นที่ปัจจุบัน เพราะว่าการปฏิบัติของเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน อดีต เราก็ต้องลบให้เหลือศูนย์ อยู่ที่ปัจจุบัน ใจเราก็จะโล่งสบาย ละอดีตให้หมด เพราะอดีตมันเหมือนกับการติดหนี้ ติดสิน ถ้าเราทำอะไรให้มันติด เรียกว่า คาร์ ที่แปลว่า รถ มีรถมันก็เหมือนกับมีชาติ มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีความตาย มีความพลัดพราก เหมือนคนที่ชอบเดินทาง ว่าจะไปภาคเหนืออย่างนี้ ไปลงจังหวัดลำปาง ทีนี้เราก็เพลินไป นอนหลับไป รถก็พาไปถึงเชียงใหม่ อย่างนี้เขาเรียกว่า หลง หลงไปหลับไป ความเพลิดเพลินมันพาเราหลง
ทุกท่านทุกคนต้องพากันมาทวนกระแส ทวนอารมณ์ อานาปานสติต้องรู้ให้ชัดเจน เรามาบวช เพื่อมาฉลาด ถ้าเราไม่ฉลาด ก็ไม่ใช่พุทธะ จึงต้องตั้งมั่นในระเบียบ ในวินัย มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติที่จะมาจัดการกับอวิชชากับความหลง ต้องใช้ความปฏิบัติติดต่อกันไป เรามาบวช ข้อวัตรข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญา มันจะเปลี่ยนแปลงเรา เรามาบวชเราก็มาแก้ไขปัญหาในตัวเอง จัดการกับตัวเองโดยเฉพาะ ไม่ต้องไปมีตัว ไปมีตน ไปมีสักกายทิฐิอีกแล้ว เราจะแก้ไขสิ่งภายนอกสิ่งต่างๆ ได้ ก็ต้องแก้ไขจากตัวเองก่อน อย่าให้รูปมาครอบงำใจเรา อย่าให้เสียงมาครอบงำใจเรา อย่าให้กลิ่นมาครอบงำใจเรา เพราะเราต้องเสียสละออกไป ทุกอย่างมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อย่าให้สิ่งต่างๆครอบงำใจของเราได้
พระพุทธเจ้าให้เราทำใจเหมือนกับน้ำบนใบบัวให้ได้ น้ำมันกลิ้งไปกลิ้งมา แต่ไม่สามารถจะติดที่ใบบัวได้ พระใหม่พระเก่าก็พากันประพฤติปฏิบัติ เป็นประชาชนอยู่ที่บ้าน ก็พากันประพฤติ พากันปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นใจของเรามันก็จะกลับไปทางเก่า ร่องเก่า รอยเก่า จึงต้องมีศีลเป็นเครื่องอยู่ มีสมาธิเป็นเครื่องอยู่ มีปัญญามีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ให้ได้ ผู้ที่มาบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือมากกว่านั้น ต้องพากันตั้งใจเต็มที่ มาบวชอย่าไปกะว่าจะสึก ถึงแม้เราจะมีกำหนดเวลา แต่เราก็อย่าคิดไปว่าจะสึกวันนั้น สึกวันนี้ ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ อย่าทำให้ประชาชนเสียเวลามากราบมาไหว้เรา ให้เรารู้ เราเห็น ถ้ามาเป็นพระแต่ไม่เอาศีล มันก็ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่เป็นพระก็ว่าตัวเองเป็นพระ ไม่เป็นสงฆ์ก็ว่าตัวเองเป็นสงฆ์ บวชมาไม่ได้มาเสียสละอะไรอย่างนี้ ก็ไม่เอานะ เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่าไปคิดว่าซิกแซ็กไป ซิกแซ็กมา เดี๋ยวก็ครบ ๑๕ วัน ครบ ๑ เดือน ครบ ๓ เดือน แบบนี้ไม่เอา ความคิดแบบนั้น เป็นความคิดของโจร คนเราจะเก่งเท่าไหร่ มันก็ไปไม่รอด ต่อให้มีใบปริญญาตรี โท เอก จะกี่ใบ มันก็ไปไม่รอด มันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหามันอยู่ที่มิจฉาทิฐิ คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด เลี้ยงยักษ์ เลี้ยงมาร เลี้ยงอสุรกาย เลี้ยงเปรต เลี้ยงสัตว์เดรัจฉานไว้ในใจของเรา เราต้องพากันทำงาน ปฏิบัติให้เป็นทีม ฝึกกันไว้ ฝึกอานาปานสติ เราจะไปคุยเรื่องบ้าน เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องธุรกิจ เพราะเรามันมีเชื้อเก่าอยู่แล้ว มันไม่ได้ มาปรึกษาหาความรู้กับหลวงพ่อใหญ่ พอฉันอาหารเสร็จ ก็มาปรึกษา มาหาความรู้กับหลวงพ่อใหญ่ทุกๆ วัน จะได้เก่ง จะได้ฉลาด
การจะเป็นคนดีได้ ต้องไปหาพระพุทธเจ้า ไปหาพระอรหันต์ ไปหาผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อเอามรรคผลพระนิพพาน คนไม่เอามรรคผลนิพพาน อย่าไปหา เพราะว่าอย่างไรมันไม่ถูก ชีวิตคนเรามันจะก้าวหน้าได้ อยู่กับพ่อแม่ที่เป็นคนดี มีเพื่อนฝูงเป็นคนดี คบกับบัณฑิต คบคนดี คนที่ฉลาด ข้อวัตรกิจวัตรเป็นสิ่งที่เราจะได้ฝึกการเสียสละ ทำวัตร กราบพระ สวดมนต์เสียงดังฟังชัด นั่งสมาธิก็ตั้งใจ นั่งหายใจเข้าก็ชัดเจน หายใจออกก็ชัดเจน อยู่กับตัวเอง ฝึกอานาปานสติ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ต้องสู้กับตัวเองให้ชัดเจน บางทีฟังแล้วมันอาจจะหลับใน เพราะฉะนั้นจึงต้องอด ต้องทน ต้องรู้ให้เท่าทัน ตี ๓ ไม่อยากลุก เราก็ต้องฝืน ต้องทน ต้องตื่นมาทำความเพียร บิณฑบาตก็ต้องไปบิณ เดินให้สุดสาย พวกที่ไม่สุดสาย คือ พระแก่ พระที่ป่วย พระที่จะกลับมาทำกิจสงฆ์ เราต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง รู้จักหน้าที่ของใครของมัน เพราะปัจจุบัน ให้ทุกคนเป็นคนฉลาด เพราะคนฉลาด มันอยู่ที่ปัจจุบัน
คนเรารู้มากมายก่ายกอง แต่เราต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เน้นที่ปัจจุบัน เราจะได้จับหลัก จับประเด็น ปัจจุบันเราต้องเอาตัวเองให้อยู่ว่า คิดอะไรมันไม่ดี อันไหนไม่ดี เราก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ต้องรีบฝืน รีบทน อย่าไปทำ เพื่อนที่เราอยู่ด้วย เข้ากันได้ เพื่อนรุ่นเดียว บวชรุ่นเดียวกัน ก็ดูแลกันเทคแคร์กัน แต่อย่าไปทำชั่วอย่างเขา ถ้าหากเขาไม่ดี เข้ากับรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ เข้ากับเพื่อนรุ่นน้องให้ได้ เราต้องเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อย่าไปมีโลกส่วนตัว อย่าไปยึดมั่นถือมั่น อย่าไปคิดถึงพี่ คิดถึงน้อง คิดถึงหลาน มันทำตัวเองให้มีความสุข ความดับทุกข์ไม่ได้ ต้องเอาปัจจุบันให้ดีที่สุด จิตใจเราจะได้ก้าวไปเลย พากันทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
เรื่องของเสนาสนะวัตร พวกห้องน้ำห้องสุขา ศาลา ต้องดูแลความสะอาด รวมทั้งกุฏิที่พัก ต้องดูแลความสะอาด ทะนุถนอม ของใช้ของสงฆ์ ต้องรู้จัก อย่าไปทำอะไรเสียหาย ที่นอนต้องเก็บให้สะอาดเรียบร้อย จะได้ฝึกเป็นนิสัย อย่าเห็นแก่ตัว บางทีบ้านก็เหมือนกับส้วม หรือเป็นโกดังเก็บของเก่า สกปรก ไม่ได้ มันเป็นคนเห็นแก่ตัว เวลาพูดจา สนทนากับผู้ที่บวชก่อน ก็ประนมมือ อ่อนน้อมถ่อมตน เหมือนกับพระพุทธเจ้า อ่อนน้อมถ่อมตน ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์ ผู้ที่อยู่จุดที่สูงสุด เราลองสังเกตดู ล้วนแต่มีบุคคลผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนทั้งสิ้น
ในกัมมวิภังคสูตร อย่างหนึ่งที่พระพุทธองค์บอกว่า ทำไมคนเราเกิดในตระกูลต่ำ ทำไมบางคนเกิดในตระกูลสูง สาเหตุมีอยู่ว่า บุคคลที่เกิดในตระกูลสูง เพราะว่าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คนที่เกิดในตระกูลต่ำเพราะว่าเป็นคนเย่อหยิ่ง จองหอง กระด้างกระเดื่อง ถือเนื้อถือตัว อีโก้มาก จริงอยู่ กิเลสตัวมานะ คือ อีโก้ ถือตัวถือตน มันมีทุกคน ดังนั้นจึงต้องมาควบคุมด้วยความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า “นิวาโต” วาโต หรือ วาตะ แปลว่า ลม นิ แปลว่า เอามันออกไป นิวาโต จึงแปลว่า ไขลมออกไป ลมอะไร ลมจองหอง ลมเย่อหยิ่ง ลมแห่งความถือตัว เหมือนอึ่งอ่าง มันจะพองตัว เพราะฉะนั้นคนเราเช่นเดียวกัน เวลาอีโก้มาก ทิฐิมานะมาก มันจะพองตัว จิตใจมันจะพอง ถือตัว ถือตนมาก สักกายทิฐิมาก มันจะพอง ดังนั้นจึงไขลมมันออกไป เอาลมมันออกไป ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนนี่เอง
ความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นมงคลอย่างสูงสุด ในมงคล ๓๘ ประการ ดังนั้น คนที่อยู่สูง บุคคลที่ทำตัวให้เล็กที่สุดจะกลายเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือผู้ที่จะทำตัวให้เล็กที่สุด จนไม่มีตัวไม่มีตนเลย บุคคลนั้นจึงเป็นคนน่านับถือ ไม้สูงย่อมลู่ลมบน คนอยู่เหนือคนต้องอ่อนน้อมถ่อมตนให้เป็น ยอดไม้สูงๆ ถ้ามันแข็งทื่อ ลมพัดมาไม่กี่ครั้ง มันก็หัก เพราะมันลู่ลม มันจึงอยู่ได้ เหมือนต้นข้าว ต้นกล้าอย่างนี้ เพราะมันลู่ลม มันถึงดำรงอยู่ได้ ผู้อยู่เหนือคน ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนให้เป็น จึงเป็นผู้ที่น่ารัก เป็นผู้ที่น่านับถือ เป็นผู้ที่น่ากราบไหว้อย่างแท้จริง พวกก๋า พวกกร่าง เป็นคนพาล เป็นอันธพาล เราต้องรู้จักถอดมันออกไปจากใจ เราต้องรู้จักอุปถัมภ์ อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ให้เป็น อย่ามัวแต่เอาสงบ เวลาบิณฑบาตไม่รับบาตรใคร มัวเอาแต่สงบ เอาแต่ขวนขวายเพื่อที่จะได้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้เสียสละ เอาแต่สงบบางทีมันก็ไม่สงบนะ เขาเรียกว่า เห็นแก่ตัว คนเราพูดดีๆ คิดดีๆ ทำดีๆ มันก็สงบ สงบไม่ใช่ช้าๆ เซื่องๆ ซึมๆ เมื่อพูดดี คิดดี ทำดี คนเรามันก็สงบได้ เราจะได้รู้หลัก ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติทางจิตใจอย่างนี้แหละ
พ่อแม่ทุกคนส่วนใหญ่ เป็นคนรวย หรือยังไม่รวยก็โอ๋ลูก ส่วนใหญ่คนรวยโอ๋ลูกจนเด็กเสียคน พ่อแม่บางคน ลูกไปปล้นร้านทอง ก็ไปว่าร้านทองโหดร้าย ไปยิงลูกชาย แทนที่จะตบบ้องหูตัวเองว่า ไม่ไปสอนลูก แล้วยังจะไปว่าเจ้าของร้านทองยิงอีก เราจึงต้องประพฤติปฏิบัติ อยู่กับปัจจุบันให้เป็นเปลาะๆ เลื่อนไปเรื่อยๆ ในปัจจุบันอย่างนี้ เราคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ อย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าเรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ว่าเรา ความคิด มันเป็นเซ็กส์ทางความคิด ทางอารมณ์ เราต้องจัดการทางความคิดทางอารมณ์ เราอย่าไปคิดว่า เฮ้ย... อย่างนี้มันมากเกินไป อย่าไปคิด มันจะไม่มีเซ็กส์ทางความคิด ไม่มีเซ็กส์ทางอารมณ์ ถ้าอย่างนั้น มันจะบวชแต่กาย แต่ใจเราไม่ได้บวช เมื่อใจไม่ได้บวช มันก็ไม่ได้ผลอะไรจากการมาบวชเลย
การฝึกใจให้สงบเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่วัด อยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ที่ไหนทุกหนทุกแห่ง เราต้องทำใจของเราให้สงบ คนเราถ้าใจไม่สงบ สติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์ การทรงตัวทางจิตทางใจมันก็ไม่แข็งแรง ไม่แข็งแกร่ง จิตใจของเราย่อมซวนเซไปกับสิ่งภายนอก สิ่งแวดล้อม ไปอยู่กับเรื่องอดีต มีความวิตกกังวล ไปอยู่กับอนาคต ในเรื่องที่จะสร้างสรรค์ให้ชีวิตมันดีขึ้น ยิ่งดิ้นรนก็ย่อมมีทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคน กลับมามีสติสัมปชัญญะ ให้ใจเราทุกๆ คนอยู่กับเนื้ออยู่กับตัว เราเดินก็อยู่กับการเดิน เรานั่งก็อยู่กับการนั่ง เรานอนก็อยู่กับการนอน คำว่า “อยู่” หมายถึงว่า ใจของเราไม่ส่งไปในที่อื่น สติอยู่กับเนื้อกับตัวนั่นเอง
คนเราขาดสตินาทีหนึ่ง ก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง การเจริญสติสัมปชัญญะนี้ จึงเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา เพื่อเราจะได้เป็นตัวของตัวเอง ความสุขอันไหนก็สู้ความสุขที่ใจของเราสงบเย็นไม่ได้ เพื่อเราจะได้เป็นตัวของตัวเอง เราทุกๆ คนใจมันร้อน ใจมันไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ใจมันไม่สงบ มันไปอยู่กับอนาคต บางทีมันก็ไปอยู่กับอดีต อยู่กับความสงบไม่ได้ ไม่เป็น อยู่กับเนื้ออยู่กับตัวไม่ได้ ไม่เป็น ทุกท่านทุกคนต้องมาฝึก เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ ถ้าใจของเราไม่สงบไม่เย็น ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราจะไม่มีความสุข ไม่มีความดับทุกข์ ไม่มีความอบอุ่นทางจิตทางใจได้เลย
ทุกวันนี้เราเอาความสุขความอบอุ่นจากพ่อจากแม่ จากเพื่อนจากฝูง จากทรัพย์สมบัติ จากข้าวของเงินทอง จากสิ่งภายนอกต่างๆ เราไม่ได้เอาความสุข ความสงบ ความดับทุกข์ ในการกลับมาหาเนื้อ มาหาตัว มาหาจิตหาใจ เราจะทำอะไร พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะ เป็นพื้นฐานของชีวิต ความสงบ ความดับทุกข์ มันจะตัดกระแสกรรม กระแสเวร กระแสแห่งวัฏสงสารนี้ได้ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหาความสงบ กลับมาหาสติสัมปชัญญะของเราให้มันสมบูรณ์ให้ได้ ใจของเรามันถึงจะเย็น เราวิ่งวุ่นตามอารมณ์ วิ่งตามสิ่งภายนอกนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่จบไม่สิ้น มันมีความบกพร่องอยู่เป็นนิจ ได้เท่าไหร่มันก็ไม่พอ ถมเท่าไหร่มันก็ไม่เต็ม ชีวิตของเรามันเต็มไปด้วยความทุกข์ ความยาก ความลำบาก ไม่มีหลัก ไม่มีจุดยืน เป็นเพราะใจของเรามันไม่สงบ
พระพุทธเจ้า ท่านให้เรารู้เวทนา ความรู้สึก Feeling ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นทางใจ ไม่ว่าจะเป็นความดีอกดีใจ เสียใจ จะเป็นทุกข์ทางกาย ไม่สบายกาย หรือว่าสุขทางกาย สบายกายเหล่านี้ หรือว่าความรู้สึกเฉยๆ เราต้องมารู้จัก รู้แล้วเราจะไม่ได้ตามเวทนาความรู้สึกไป ไม่ต้องไปนึก ไปคิดอะไร มันจะสุข มันจะทุกข์ ก็ให้มันเป็นแต่เพียงเวทนาความรู้สึกเท่านั้น เราไม่ต้องไปดิ้นรน ไม่ต้องไปปรุงแต่ง เราจะไปเปลี่ยนแปลงสุข เปลี่ยนแปลงทุกข์มันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ไม่ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ เพราะอนัตตามันบังคับบัญชาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นสัจธรรม เป็นความจริง สุขมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ทุกข์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปปรุงแต่ง พยายามให้ใจของเราหยุด ใจของเราไม่ปรุงแต่ง ธรรมชาติมันเป็นของบริสุทธิ์ เราอยากให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามใจของเรา มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ ใจของเรามันก็ไม่สงบ เราจะมาเปลี่ยนแปลงธรรมะ เปลี่ยนแปลงธรรมชาติ มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หน้าที่ของเราคือทำใจของเราให้มันสงบ อย่าได้วิ่งตามอารมณ์ เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเราสงบ ความชอบมันก็ต้องเล่นงานเรา ความไม่ชอบมันก็ต้องเล่นงานเรา ถ้าเราไปตามอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้ที่สุด ๒ ทาง คือความชอบ ความไม่ชอบ ความเพ่ง ความเผลอ หรือจะบอกว่า สุดโต่งไปทางกาม สุดโต่งไปทางทรมานตน รู้แล้วให้มันเกิดสติเกิดปัญญาทุกๆ ครั้งไป เราจะได้พัฒนาจิตพัฒนาใจ ท่านให้เราฝึกจิตฝึกใจ ด้วยการเอาสิ่งเหล่านี้มาฝึกจิต ฝึกใจ ให้ใจของเราสงบในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีความสุข ถ้าไม่มีความทุกข์ ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราก็ไม่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิตฝึกใจ เพื่อจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ เพื่อจะได้ปล่อยได้วาง
ความทุกข์ของเราเป็นสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเราไม่เอามาคิด มันก็ไม่ทุกข์ ความสุขของเรามีอยู่ ถ้าเราไม่ไปหลงไปเพลินในความสุขนั้น จิตใจของเราก็ไม่มีทุกข์ สุขหรือทุกข์ย่อมเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เพื่อให้จิตใจของเราได้รับได้สัมผัส เพื่อจิตใจของเราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ คนเราต้องมีการอบรมบ่มอินทรีย์ ถ้าไม่มีการอบรมบ่มอินทรีย์ ผลมันก็ย่อมไม่เกิด ความสุขทางสวรรค์ที่พวกเรากำลังแสวงหากันอยู่นี้ มันเป็นความสุขทางเนื้อหนัง เป็นความสุขที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า มันไม่ใช่จุดมุ่งหมายของพระองค์ท่าน ท่านมีเมตตาเผยแพร่สัจธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเอาของจริงมาบอกมาสอนว่าเป้าหมายในการเป็นมนุษย์รวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือเป้าหมายแห่งสวรรค์ มันก็ยังเป็นการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพียงรับรู้ เราทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อย่าได้ตามอารมณ์ไป อย่าได้พากันไปยึดไปถือ ถ้าเราไปยึดไปถือแล้ว มันก็ย่อมให้โทษแก่เรา เราคิดมาก ปรุงแต่งมาก มันจะทำให้เราเครียด ทำให้เราเป็นโรคประสาท เป็นโรคกระเพาะ เป็นโรคหัวใจ บางคนอาจจะเป็นโรคจิต ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ถึงเป็นธรรมะที่ให้เราทุกๆ คนได้ปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้เฉยๆ ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ ไม่ให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ให้เราเพลิน ท่านให้เรารู้จักเหยื่อของโลก เหยื่อของโลกมีอะไรบ้าง เหยื่อของโลก เหยื่อของโลกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง เหล่านี้เป็นเหยื่อ เหยื่อภายนอก เหยื่อภายในได้แก่ เวทนา ความรู้สึกที่มันเป็นความสุข ความสะดวก ความสบาย ที่พวกเราทั้งหลายกำลังพากันติดอยู่นี้ เมื่อมันติดสุขติดสบายแล้ว ทุกคนมันจะเอาแต่ความสุข ไม่อยากอบรมบ่มอินทรีย์ ความขี้เกียจขี้คร้านมันเลยมาครอบงำ มันจะเอาแต่การปล่อยวาง มันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการปล่อยวาง ความรู้สึกที่ใจของเราติดในความสุข มันครอบงำจิตใจของเรา ให้เราทำความเพียร มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ไปเรื่อยๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันย่อมผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความสุขมันตั้งไว้ไม่นานหรอก ไม่เกิน ๗ วัน มันต้องผ่านไปแล้ว ความทุกข์ก็เหมือนกัน มันตั้งอยู่ไม่นานหรอกไม่เกิน ๗ วัน มันก็ต้องผ่านไป ให้เรารู้เราเข้าใจ พยายามอย่าไปปรุง ไปเสริม ไปแต่ง เพื่ออินทรีย์บารมีของเราจะได้แข็งแรง สติสัมปชัญญะเราจะได้สมบูรณ์ ความคิดของเราก็เหมือนกัน คนเรามันยังไม่ตาย ยังมีลมหายใจอยู่ เขาย่อมคิดของเขาตลอดเวลา ถ้าเราไม่คิดก็ชื่อว่าเราเป็นคนพิกลพิการ สมองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราวุ่นวายตามความคิด มันจะคิดอะไรช่างหัวมัน เราอย่าไปสานเรื่อง สานราว ให้มันเป็นเรื่องเป็นราว อย่าไปวุ่นวายตามความคิด อย่าไปส่งเสริม อย่าไปตามความคิด เราจะฝึกสติสัมปชัญญะ เรามาหยุดตัวเอง เบรกตัวเอง ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก เราไม่ทำตามความคิด การอบรมความดีอินทรีย์ของเรา มันก็แก่ มันก็กล้า ใจของเรามันก็ต้องเย็นแน่นอน มันคิดอะไรก็ช่างหัวมัน เราก็เฉยๆ คิดดี คิดชั่ว คิดถูก คิดผิด ก็เฉยๆ ไว้ก่อน
คนเรานี้ชอบเพลิดเพลินในความคิด ชอบหลงในความคิด คิดแล้วก็ทำตามความคิด มันก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวเป็นตน เป็นวัฏสงสาร อยู่ดีๆ มันไม่มีทุกข์ก็ไปหาเรื่องหาราว หาความทุกข์ให้ตัวเอง ไปหาความทุกข์ให้ตัวเองว่า ชีวิตนี้ทำไมมันยาก มันลำบากแท้ เราจะไปโทษใคร เพราะเราคิดแล้วก็ทำตามความคิด มันเลยมีลูก มีหลาน มีเหลน มีอะไรสารพัดอย่าง แล้วเราก็มาโทษตัวเองว่า เรามันทุกข์ มันทุกข์แล้วก็ไปโทษสิ่งต่างๆ อีก ไปโทษว่าฝนมันตกมากเกินไป ฝนตกน้อยเกิน อากาศร้อนเกิน อากาศหนาวเกิน ไปพูดว่าลูกมันไม่ได้ตามใจ หลานมันก็ไม่ได้ดั่งใจ อยากรวยมันก็ไม่รวย มันมีแต่เจ็บ แต่ป่วย มีแต่ไข้ สารพัดโรค ไปโทษว่าคนโน้น คนนี้ไม่ดี ไปโทษแต่ปลายเหตุ ไม่ได้มาโทษตัวเอง เพราะตัวเองมันคิด แล้วก็ทำตามความคิด มันมีความเกิด มันก็ต้องมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากอย่างนี้แหละ มันมีความทุกข์ เพราะว่าเราไปคิดแล้วก็ทำตามความคิด เพราะฉะนั้นความคิด ความปรุงแต่ง หรือว่า สังขาร มันจึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อมาสงบ ความคิดความปรุงแต่ง คือมาระงับสังขารเสียได้ จึงจะเป็นสุขอย่างยิ่ง “เตสังวูปสโมสุโข” พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักความคิด อย่าให้ความคิดของเรา มันมีอิทธิพลกดดันเรา ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ นี่คือการปฏิบัติธรรม ความคิดเรา ถือว่ามันเป็นสิ่งเสพติด ถ้ามันไม่ได้คิด มันจะตายให้ได้ มันจะชักดิ้นชักงอ พระพุทธเจ้าท่านให้เราอด ให้เราทน เพื่อใจของเราจะได้สงบ ใจของเราจะได้เย็น ท่านให้เราฝึกเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะนั่นแหละ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทุกอย่างมันจะมารวมที่ตัวสติ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะก็ชื่อว่า เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
การเจริญสติ คือ การเจริญศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา การประพฤติการปฏิบัติของเรานี้ ถือว่าเป็นหนทางอันประเสริฐ เป็นการอบรมบ่นอินทรีย์ สร้างบารมี สร้างความเพียร เรามาแก้ที่จิตที่ใจ ดีกว่าไปแก้สิ่งภายนอก ไปแสวงหาสิ่งภายนอก เราทำไป ปฏิบัติไป ให้ดับทุกข์ในหัวจิตหัวใจ ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ คนเรา เมื่อมันเข้าใจว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ใช่ของเรา บ้านเรือนทรัพย์สมบัติก็ไม่ใช่ของเรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่ของเรา เข้าใจว่าทุกอย่างก็ไม่ใช่ของเรา เมื่อคิดอย่างนี้ใจของเรามันก็เบื่อ มันจะหมดกำลังจิตกำลังใจ เราก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะคนเราที่เกิดมามันมีแต่จะเอา เมื่อมันไม่ได้เอา มันเลยท้อแท้ เหี่ยวแห้ง ว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร เกิดมาเพื่ออะไร งานก็ไม่อยากทำ แขนขามันจะยกไม่ขึ้นแล้ว เพราะมันไม่มีเราไม่มีของเรา ความคิดอย่างนี้ มันเป็นความคิดเห็นที่ผิด เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัว ชีวิตนี้มันหมดรสหมดชาติใช่ไหม ถ้าเรามันยังมีรส มันก็มีชาติ ชาติก็คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก เมื่อทุกอย่างมันไม่ใช่ของเรา ให้เรามาเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อมาสร้างบารมี เพื่อมาเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ เกิดมาเพื่อมาเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ มีความสุขในการเสียสละ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราไม่ทำตามอารมณ์ ไม่ทำตามความคิดของเราอีกแล้ว จิตใจของเราจะได้มีพลัง จิตใจของเราจะได้แข็งแรง ไม่ติดในความสุข ความสะดวกความสบายเหมือนแต่ก่อน เพราะว่าความสุขความสบายอย่างนั้น ถือว่าเป็นความหลง นี่เรายังไม่ถึงขั้นปฏิบัติธรรมที่เราเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวของเรา ทีนี้แหละเรามาปรับใจเข้าหากัน เสียสละ เรามาปรับตัวเข้าหาธรรมะ ธรรมชาติเป็นของบริสุทธิ์ที่ปราศจากความโลภ ปราศจากความโกรธ ปราศจากความหลง ปราศจากตัว ปราศจากตน เรามาคืนทุกอย่างสู่ธรรมชาติ คืนสู่ดิน คืนสู่น้ำ คืนสู่ลม คืนสู่ไฟ คืนสู่ธรรมชาติ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเพียงปรากฏการณ์
สรุปง่ายๆ หากเรายังเข้าใจว่าทุกอย่างมันไม่ใช่ของเรา จากความคิด จากการฟัง จากการจำ จะกลายเป็นคนเบื่อ เบื่อโลก เบื่อแล้วมันก็ไม่อยากทำอะไร เป็นคนจิตใจเหี่ยวแห้ง เป็นคนเห็นผิด มีความเห็นแก่ตัว เลยเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ปล่อยวางแบบไม่ถูกต้อง ปล่อยวางอย่างนี้ หลวงพ่อชาบอกว่า ปล่อยวางอย่างวัวอย่างควาย ปล่อยวางอย่างสัตว์เดรัจฉาน เพราะมันไม่เอา ไม่เอาแบบว่า เป็นความหลง เป็นความเห็นแก่ตัว เป็นความขี้เกียจขี้คร้าน เลยเป็นการเอาความขี้เกียจขี้คร้านมาเป็นการปล่อยวาง อย่างนั้นไม่ถูกหลัก ไม่ถูกประเด็นของพระพุทธเจ้า ต้องให้ปัญญา ที่รู้ว่า ไม่มีเรา ไม่มีของเรา เป็นผลมาจากการประพฤติจากการปฏิบัติ เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาไปเรื่อย ผลของมันจะแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดแก่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรน่ายึด ไม่มีอะไรน่าถืออีกต่อไปแล้ว มันแจ้งแก่ใจ ไม่ได้มาจากความคิด หากคิดแล้วตรัสรู้ได้ คนทั้งโลกไม่ต้องทำความเพียรหรอก คิดเอา เพราะว่าเราฟังเรื่องนี้ กี่รอบ ฟังเรื่องไม่มีตัวไม่มีตน ฟังเรื่องมาละสักกายทิฐิ ฟังเรื่องไม่มีตัวกูของกู ฟังกี่รอบ หลายร้อยหลายพันรอบ แต่ว่าทำไมมันยังย่ำอยู่กับที่ เพราะว่า มันยังไม่ได้ออกมาจากเป็นปฏิเวธ ไม่ได้ออกมาจากปัญญา จากการประพฤติ จากการปฏิบัติ ปัญญาจากการฟัง ปัญญาจากการคิด หากไม่นำไปต่อยอด มันจะเป็นเพียงความรู้ในหนังสือ เป็นแต่เพียงนักปรัชญา เรียนมากรู้มาก แต่ว่าไม่ได้เอามาทำ เอามาปฏิบัติ สุดท้ายสิ่งที่เรียนมา เลยเป็นปริยัติงูพิษ เหมือนการจับงูที่หาง มันก็มาฉกกัดตัวเอง เพราะไม่ได้เอามาทำเอามาปฏิบัติ เรียนเพื่อจะไปซิกแซ็ก เรียนเพื่อจะไปคดโกง เรียนเพื่อจะไปเอาลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่ง สารพัดอย่าง นั่นคือปริยัติงูพิษ จะมากัดตัวเอง แล้วก็ไปโมเม ลงความเห็นว่า มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว มีอยู่สมัยพระพุทธเจ้าโน่น อยู่ในสมัยเมื่อพันปีก่อนโน้น ไปเอาอัตโนมัติ คือ ความเห็นของตนเอง ไปลงว่า มันไม่มีแล้ว ตราบใดที่ยังมีการประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าตรัสรับรองอย่างนี้ชัดเจน เพราะฉะนั้น ต้องให้ความรู้สึก ที่ไม่มีตัวไม่มีตน มันออกมาจากใจ แจ่มแจ้งประจักษ์ชัดแก่ใจจริงๆ ดวงตาปัญญาแบบนี้มันเป็นตาปัญญาที่ “วีระชัง วีตะมะลัง” มันปราศจากมลทิน ปราศจากฝุ่นละอองธุลี คือกิเลส ปัจจุบันเราเป็นเหมือนคนตาบอด เรามารักษาดวงตา หยอดตาด้วยยาวิเศษ คือ ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า หยอดไปๆ รักษาไปด้วยการประพฤติปฏิบัติ เจริญสติสัมปชัญญะ เจริญอานาปานสติ สุดท้ายตาบอดจะหาย ธรรมจักษุ ตาปัญญาจะเกิดขึ้น เราอย่าเอาความอยากเป็นตัวนำ ถ้าอยากเมื่อไหร่มันจะไม่ได้อะไรเลย นั่งสมาธิก็อยากสงบ มันจะไม่สงบ อยากบรรลุมันไม่ได้บรรลุหรอก เพราะเราทำเพื่อจะเอา ทำเพื่อจะมีตัวมีตน เมื่ออยากเป็น อยากโน่นอยากนี่เมื่อไหร่ มันจะมาบล็อกตัวเองเลย เพราะฉะนั้นท่านเลยบอกว่า จงปฏิบัติไป ทำไป อย่าไปอยากเป็นอะไรเลย เป็นอะไรมันก็ทุกข์ทั้งนั้น อย่าอยากเป็นอะไร แม้กระทั่ง อย่าอยากเป็นพระอรหันต์ เพราะเอาความอยากไปนำหน้าแล้วมันจะไม่เป็น หลวงพ่อชาท่านพูดชัดเจนว่า “อย่าอยากเป็นอะไรเลย อย่าอยากเป็นพระพุทธเจ้า อย่าอยากเป็นพระโพธิสัตว์ อย่าอยากเป็นพระอรหันต์ เมื่ออยากเป็น มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น” แล้วทีนี้ทำอย่างไร เราตั้งเป้าไว้ อธิฐานบารมี ตั้งจุดสูงสุดเลยว่าพระนิพพาน แล้วเราทำไป ปฏิบัติไป เสียสละไป ความเสียสละที่จะไม่เอานี่แหละ มันจะทำให้ได้โดยอัตโนมัติในตัวของมันเอง ยิ่งเอามันยิ่งหมด สละให้หมดมันยิ่งได้ ดูอย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์เราเป็นตัวอย่าง เพราะท่านไม่เอา ท่านเสียสละ มันยิ่งมา มันยิ่งได้ แต่ตรงกันข้าม คนที่จะเอา ทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะเอา มันยิ่งไม่ได้ เพราะไอ้ความอยาก ความโลภมันเป็นตัวบล็อก เป็นตัวขวางกลั้น ปิดบังหมด
ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องมาปรับตัว ปรับใจ เข้าหาธรรมะ เข้าหาธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่ปราศจากความโลภ ปราศจากความโกรธ ปราศจากความหลง ปราศจากตัวปราศจากตน เรามาคืนทุกอย่างสู่ธรรมชาติ คืนสู่ดิน สู่น้ำ สู่ลม สู่ไฟ สู่ธรรมชาติ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ เราไม่ทำตามใจเหมือนแต่ก่อนแล้ว เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง จิตใจของเรามันจะเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง มีแต่พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราอบรมบ่มอินทรีย์ไปอย่างนี้ เพราะเรารู้เท่านี้ไม่พอ เราต้องอบรมบ่มอินทรีย์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ที่เรารู้เราเห็น เราเป็นเพียงนักปรัชญาเท่านั้น เรายังต้องอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ นี่เป็นเพียงธรรมะเบื้องต้น ที่เราทุกๆ คนจะต้องเข้าใจ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ละเอียด ประณีต ไม่ใช่วิสัยของนักคิด ที่จะคิดๆ เอาได้ เป็นของที่ประณีตยิ่ง และเป็นสิ่งที่บัณฑิตจะรู้ได้ ถ้าใจของเราสงบ ทุกท่านทุกคนจะรู้ได้ด้วยตนเอง ใจของเราถึงจะมีความสุข มีความอบอุ่น ทุกๆ ท่านทำได้ปฏิบัติได้ ความสามารถของคนมันไม่ต่างกันหรอก ขอให้มีความตั้งมั่น ตั้งอกตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติ ไม่มีอะไรที่จะมาเปลี่ยนแปลงเราได้ นอกจากการประพฤติปฏิบัติของเราเอง เราทำดีเราก็ย่อมได้ดี เรามีสติสัมปชัญญะ การปฏิบัติของเรามันจะถูกต้อง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ที่สติสัมปชัญญะ พระอรหันต์ท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านจึงเข้าถึงอริยบุคคล คือบุคคลผู้ประเสริฐ พระอรหันต์ก็คือบุคคลคนหนึ่ง แม้แต่ในอดีตหรือปัจจุบัน คือ บุคคลคนหนึ่งเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านให้น้อมเข้ามาหาตัวเรา ที่เจริญสติ สัมปชัญญะ เพื่อเอาศีล เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าให้เรามาฝึกปล่อยฝึกวาง เพราะร่างกายเขาก็บ่งบอกแล้วว่า เขาไม่ใช่ของเรา ความเป็นเด็กมันหายไปจากเรา ความเป็นวัยรุ่นมันก็หายไปจากเรา ความเป็นหนุ่มเป็นสาวมันก็หายไปจากเรา ความเป็นวัยกลางคนมันก็หายไปจากเรา สุดท้าย ความแก่มันก็หายไปจากเรา ในที่สุดมันก็หายไปจากเราจริงๆ เพราะว่าเขาได้เผาเราไปเรียบร้อยแล้ว
เรามาปรับที่ใจ เอาความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ใจ เราไม่ต้องไปเอาความสุขทางกาย ทางเนื้อหนัง ซึ่งมันเป็นของที่ไม่จีรังยั่งยืน ชีวิตของเราที่ยังอยู่นี้ ถือว่าเหลือน้อยแล้ว ต้องฝึกปล่อย ฝึกวาง เราทุกคนเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา เวลาจากไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป เราจะมาตกนรกทั้งเป็นที่เรายังไม่ตายไปทำไม ลูกหลานมันจะรวยจะจนก็ช่างหัวมัน มันจะมีปัญหาอะไรก็ช่างหัวมัน ตัวเราก็ยังเอาตัวไม่รอด ไม่ต้องคิดอะไรให้มันเป็นทุกข์อีก ร่างกายของเรามันจะเจ็บก็ช่างมัน มันจะแก่ก็ช่างมัน มันจะตายก็ช่างมัน ใครเขาจะว่าเราดีเราชั่ว จะว่าจะจนจะรวย ก็ช่างมัน ต้องมาฝึกปล่อย ไม่ต้องรู้มาก ไม่ต้องคิดมาก กลับมามีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ท่องพุทโธ อยู่กับพุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เราแก่ เราต้องยอมรับในความแก่ของเรา เราเจ็บต้องยอมรับในความเจ็บของเรา เราจะตายก็ต้องยอมรับในความตายของเรา เราอยากไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย เราก็ต้องตกนรกทั้งเป็น พระพุทธเจ้าท่านว่าเราไม่รู้จักธรรมะ แต่ก่อนนี้เราเป็นเด็ก ทำมาหากิน แข็งแรง เอาความสุขทางร่างกาย เอาความสุขในการเล่น เอาความสุขในการเที่ยว เอาความสุขในการกิน การดื่ม การเสพ แต่นี้เราต้องตัดให้หมดเรื่องภายนอก เพราะสุขอันไหนก็ไม่สู้เรากลับมาหาความสงบไม่ได้ ไม่มี เราถือว่าผลไม้มันกำลังสุกงอมแล้ว ถือว่าร่างกายของทุกคนนี้ มันแก่เฒ่า แก่ชราแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ เรามาเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ อบรมบ่มอินทรีย์ สมองเรามันจำอะไรไม่ได้ ก็ช่างหัวมัน เพราะสัญญา ความจำทั้งหลายทั้งปวง มันก็ไม่เที่ยง มันก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ให้ดับทุกข์ทางจิตทางใจในปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปคิดว่า ตัวเองมันจะแข็งแรง คิดว่าตัวเองจะหนุ่มขึ้น จะสาวขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งแก่ ยิ่งเฒ่า ยิ่งหง่อมแล้ว อย่าไปแก้ที่ร่างกาย ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจของเรา คนเรา ถ้าจิตใจมันสงบ โรคภัยมันก็สงบ ถ้าจิตใจมันไม่สงบ โรคภัยมันก็จะกำเริบ คนเรา กายของเรามันแก่ มันเจ็บ มันตาย ถ้าเราเอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทางร่างกายมาพัฒนาจิตใจของตัวเอง เพื่อสร้างพระนิพพาน ให้เกิดขึ้นที่จิตที่ใจว่า เราตามความอยาก ตามความต้องการ ตามอารมณ์ไปไม่ได้ มันทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด เราสงสารตัวเอง เราสลดสังเวชตัวเอง ที่ตัวเองเวียนว่ายตายเกิด เราจะมารับจ้างเสพสุข เสพสบาย ในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ แล้วทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดนั้น มันเป็นสิงที่น่าสมเพชเวทนาตัวเองมาก ที่มันออกไปข้างนอกเยอะๆ จิตที่มันส่งออกไป ข้างนอกเยอะๆ มันทำให้เราผิดศีล ผิดธรรม ทำให้ทำร้ายคนอื่น ทำให้เราเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรม ตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะเอาพระพุทธเจ้า เอาพระธรรม เอาพระอริยะสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นที่ตั้ง จะไม่เอากิเลส ไม่เอาความอยากความต้องการเป็นที่ตั้งอีกแล้ว อดเอา ทนเอา เพราะสร้างความดี สร้างบารมี
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราพากันมาอยู่วัด เราต้องมาอบรมบ่มอินทรีย์ เจริญสติสัมปชัญญะ พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าพากันไปพูดมาก อย่าพากันคลุกคลี เรื่องพูดเรื่องคุย มันไม่มีวันจบ เรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องอะไรต่างๆ นั้น มันไม่จบ ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ว่าตัวเองมันบกพร่องตรงไหน ต้องสมาทานแล้วจะได้ปรับปรุง เราจะได้เป็นแบบพิมพ์ให้ลูกให้หลาน ลูกหลานเขาจะได้มีความสุขว่าพ่อแม่เขามีศีลมีธรรม สงบเย็น พ่อแม่เขาเดี๋ยวนี้ใจดีมาก ใจเย็นมาก มีหัวใจที่ติดแอร์คอนดิชั่นแล้ว ไม่หลงเรื่องร่ำเรื่องรวย เรื่องไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่แล้ว เพราะคนเราถ้าใจมันสงบ มันก็ไม่สนใจอย่างอื่นหรอก เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจสงบ บางทีคนเรามันคิด คิดนะว่า เดี๋ยวมันแก่เกิน มันจะไปเที่ยวเมืองนอกไม่ได้ อันนี้แสดงว่า เราไม่รู้จักเรื่องพระนิพพาน เรารู้จักแต่ความสุขภายนอก ถือว่าเรายังเป็นคนบาปอยู่ เป็นคนมิจฉาทิฐิอยู่ เป็นคนเดือนมืดอยู่ เป็นคนไม่สว่างไสวอยู่ เราอย่าไปหาสวรรค์ไกล นิพพานไกล บางทีไปแสวงหาบุญ ประเทศอินเดีย หาสวรรค์นิพพาน มันก็อยู่กับเราชีวิตปัจจุบัน ถ้าใจของเรามันมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ อยู่ที่ไหน ก็คือพระนิพพานที่อยู่กับเรา ณ ปัจจุบัน ไม่ต้องไปแสวงหาไกล อย่าไปแสวงหาตามใจตามกิเลส แล้วบอกตัวเองว่า ไปหานิพพาน นั่นไม่ใช่ ต้องกลับมาอยู่กับจิตกับใจที่มีความสงบเย็น อยู่กับสติสัมปชัญญะ สงบเย็นเป็นพระนิพพานอยู่อย่างนี้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่านให้เป็นผู้ปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ