แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๓ บวชกายบวชใจ ปฏิบัติทั้งกายทั้งใจ จึงเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ที่แท้จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ในวันนี้ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม มีการบวชสามเณรเป็นพระภิกษุ ๙ ท่าน ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจคำว่าพระ พระนี้หมายถึงพระธรรมพระวินัย ๒๒๗ข้อ ที่มาในพระปาฏิโมกข์และมาในพระวินัยปิฏก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คำว่าพระนี้ไม่ใช่นิติบุคคล เรา เขา เป็นผู้ที่จะเสียสละทุกอย่าง ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ เรียกว่าพระธรรมพระวินัย ความดีทั้งหมดที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ คือความเป็นพระ ผู้ที่มาบวชให้พากันเข้าใจ พากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องเอาศีล สมาธิ เอาปัญญา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้มาปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าคือธรรมะ (อธิบายพระพุทธเจ้า) ทุกท่านทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เข้าหาข้อวัตร ข้อปฏิบัติ เราจะได้บุญ ได้ทั้งกุศล การให้ทานเป็นการให้ภายนอก แต่การบวชเป็นพระก็คือให้ทานภายใน ละเสียซึ่งวัฏฏะสงสาร หรือว่าการเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกท่านทุกคนมีความสุขในการเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย บวชทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ เพราะเราแตกต่างจากประชาชนแล้ว ที่เราเห็นกันในเมืองไทยหรือหลายๆ ประเทศ ยังไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่มาตรฐานของพระอรหันต์ พวกนี้ยังไม่ถึงพระ ถึงแค่ภิกษุ เราต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ เราไปทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเองไม่ได้ นั้นไม่ใช่พระ เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันจะไม่มีทุกข์ เพราะอันนี้เราได้ทำถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ต้องทำติดต่อกันเหมือนลมหายใจ เราจะไปคิดสะเปะ สะปะ เหมือนที่เราเป็นฆราวาสไม่ได้ เน้นที่จิตที่ใจ ที่เจตนา เพราะเราบวชเริ่มจากใจ เริ่มจากเจตนา
เราต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจมันจะบวชแค่กาย ไม่ได้บวชใจ เพราะว่าใจยังคิดไปตามสัญชาตญาณ ไปยินดีในความขี้เกียจขี้คร้าน ไปยินดีในความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ยังยินดีในกาม ใจมันยังไปมี sex ไปมีเพศสัมพันธ์ทางอวิชชา ทางความหลง อันนั้นมันไม่ได้ อันนี้มาบวชถือว่าบวชแต่กาย แต่ใจไม่ได้บวช
พระพุทธเจ้าท่านก่อนจะได้เป็นพระพุทธเจ้าท่านอธิษฐานที่จิตที่ใจ ว่าท่านต้องเสียสละ ปกติน้ำมันจะไหลไปทางต่ำ การประพฤติปฏิบัติมันต้องทวนกระแส เพราะใจเรามันเป็นโยม เป็นฆราวาส มันอยู่กับความเห็นแก่ตัว ใจของเรามันจมอยู่ได้อบายมุข อบายภูมิ แต่เราไม่เอาแล้ว ถ้าเราเอาก็ยังมี sex ทางอวิชชา ทางความหลง มี sex ทางความคิด ทางอารมณ์ เราต้องกลับมาหาสติ สัมปชัญญะ กลับมาหาลมหายใจเข้าให้รู้ชัดเจน ลมหายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน ลมหายใจเข้าสบาย ออกสบาย แต่ก่อนเราเคยอยู่แต่สิ่งภายนอก อยู่แต่หน้าที่การงาน อยู่แต่กับเพื่อนกับฝูง อันนี้มันไม่ได้ มันอยู่กับสิ่งภายนอก มันไม่ได้อยู่กับสภาวะธรรมที่หยุดตัวเอง ที่กลับมามีสติ สัมปชัญญะ ต้องกลับมาหาตัวเอง กลับมาหายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน มาหายใจเข้าท่องพุธ หายใจออกท่องโธ
มันต้องเปลี่ยนวิถีจิต กาย วาจา ใจ ของเราใหม่ เรื่องอดีตลบให้เป็นเลขศูนย์ เรื่องอนาคตก็ลบให้เป็นเลขศูนย์ มันก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ ถ้าเเม้เราจะบวชวันเดียวก็ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน บวชจนตายก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ปกติเราเห็นพระตามวัดบ้าน เขาไม่ปฏิบัติกัน เราก็ยังถือว่าไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ปกติพระคุณเจ้า พระคุณเณร เขาก็มีโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เฟสบุ๊ค ก็ถือว่าไม่ใช่มาตรฐานของพระพุทธเจ้า ยังยินดีในทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ยังเป็นผู้ที่มีอวิชชา มีความหลง เราไม่เอา เพราะเวลาเรามีค่า มีราคา มีความสำคัญ เราต้องบวชให้มันเกิดบุญ ให้เกิดความดีที่บริสุทธิ์ ให้เกิดกุศลคือสติ ปัญญา ตามพระพุทธเจ้า เรื่องโทรศัพท์มือถือเราก็ไม่เอา พ่อแม่มาเยี่ยม ญาติพี่น้องมาเยี่ยม เราก็ต้องอดทนไม่ต้องโทร มีอะไรก็ให้ทางบ้านจัดการให้ เราไม่ต้องเลี้ยงมหาโจรไว้ในตัวเรา ทำอะไรต้องทำจริง อย่าไปลูบคลำเป็นสีลพัตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตร
พวกบุหรี่ที่เราติด เราก็ถือโอกาสนี้มาฝึก พวกนี้ต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ถึงจะเบรคตัวเองได้ เราทุกคนนี้เบรคยังอ่อน ไม่แข็งแรง ไม่ดี เราต้องเบรคตัวเอง ด้วยครูบาอาจายร์ท่านห้าม เราก็ต้องห้ามตัวเอง เรียกว่าเรามาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เราถือนิสัยของเราไม่ได้ เราต้องปรับตัวเองเข้าหาเวลา ปรับตัวเองเข้าหาข้อวัตร กิจวัตร ต้องใจเข้มแข็ง เราเคยอยู่กับกามคุณ ต่อไปเราต้องอยู่กับท่องพุธ โธ อยู่กับสติ สัมปชัญญะ ถ้าอยู่กับการคุยไร้สาระ มันก็เสียเวลาเจริญอานาปานสติ เสียเวลาท่องหนังสือ อ่านหนังสือ
เวลาเราสึกไปก็ให้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ เหมือนกับเราเป็นโควิดกัน เมื่อเรารักษาโควิดไปแล้ว ให้มันมีภูมิต้านทานแข็งแรง ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เวลาสึกไปแล้วจะได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ไปเลย
เราทุกคนนี้โชคดีพระเจ้าอยู่หัว ให้เราลาบวชได้ เราบวช เรามาฝึกปฏิบัติตัวเองให้เต็มที่ อย่าไปออมมันไว้ ต้องเต็มที่ กระปรี้กระเปร่า
คำว่า “ใจเย็น” นี้หมายถึง ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล ไม่ใช่ทำช้าๆ เซ่อๆ เบลอๆ แล้วใจเย็นไม่ใช่ เหมือนคนมีหนี้ มีสินนี้ ถึงจะทำช้าๆ ดอกมันก็ขึ้นนะ ถ้าเราคิดดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ ใจมันถึงจะเย็น ทุกคนเก่งหมดถ้าพากันมาเสียสละ ผู้ที่ไม่เก่งคือผู้ที่ไม่เสียสละ
ชีวิตคนเราผ่านมามันผิดพลาดเยอะ การบวชนี้ถือว่ามีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ฝึกใจ ฝึกตนต้องมาช่วยเหลือตัวเองเต็มที่ ถึงจะเป็นพระธรรม พระวินัย เป็นพระศาสนา การบวชของเราถึงจะส่งบุญส่งกุศลให้ถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงประชาชนคนทำบุญใส่บาตร ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่ ตัวเองยังเอาตัวเองไม่รอด การกระทำไม่ใช่การเล่นหนัง เล่นละคร มันเป็นชีวิตจริงๆ ให้มีสติสัมปัชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เวลาทำวัตร สวดมนต์ก็เสียงดังฟังชัด การกราบพระก็ต้องทำด้วยความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ต้องใจอยู่กับเนื้อกับตัวเต็มที่ พ่อแม่ทุกคนก็พากันดีใจ ลูกเราหลานเราจะได้ฝึกตัวเองเต็มที่ อย่าไปกลัวเขาเหนื่อย เขาผอม เขาตาย
จิตใจของเรามันส่งออกไปข้างนอก จะให้มันอยู่กับลมหายใจเข้า ใจออก มันก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่ามันชำนิชำนาญในเรื่องอารมณ์ของสวรรค์
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นโทษเป็นภัยสำหรับเรา ถ้าเรามีอารมณ์อย่างนี้มากๆ มันเลยเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไปคิดในสิ่งไม่น่าคิด มันบวช...มันก็บวชแต่กาย ใจมันไม่ได้บวช มันมาอยู่วัดปฏิบัติธรรมมันมาแต่กาย แต่ใจมันไม่ได้มา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราบวชทั้งกาย บวชทั้งใจ ผู้ที่บวชกายไม่ได้ ก็ให้บวชใจนะ เราบวชกายนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ถ้าเราไม่บวชทั้งกายทั้งใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันเน้นเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ มารู้เรื่องจิตเรื่องใจ รู้อารมณ์ รู้สิ่งที่จะต้องแก้ในตัวเรานี้ บวชพระหลายปี อยู่วัดหลายปีมันก็ไม่ได้เรื่องนะ เพราะว่ามันไม่ได้บวชใจ มาอยู่วัดหลายปี มันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติใจ
พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน ท่านเน้นให้เราพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะความแก่มันก็เข้ามาถึงเราทุกวัน ความเจ็บ ความตาย ก็เข้ามาทุกวันนะ อีกสักวันมันต้องถึงเราแน่นอน เดี๋ยวเราก็มาคิด ในใจเราเองว่า เราบวชมาหลายปีแล้วจิตใจเราเองก็ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลยน่ะ มันจะมีอะไร มันจะเป็นอะไรล่ะ เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย
คนเรามันมีความหลง เมื่อมีความหลงแล้วมันก็มีความอยากความต้องการแล้วก็พยายามสร้างเหตุสร้างปัจจัย เพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองเข้าถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน รู้จักตัวเอง ให้พากันมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ พระอรหันต์น่ะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ 'กิเลส' คือความอยาก ไม่สามารถที่จะไปแทรกแซงจิตใจของท่านได้
การเจริญสติสัมปชัญญะของเราทุกๆ คนนี้ เป็นสิ่งที่ดีแล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็น พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน ให้มีสติสัมปชัญญะ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ส่วนใหญ่น่ะเราไม่ค่อยมีสติสัมปชัญญะ ใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกกิเลสมันครอบงำ ถูกกิเลสมันกดดันให้กระทำการต่างๆ โดยไม่เหมาะไม่ควรน่ะ "ไม่มีเรื่องก็พากันไปทำเรื่อง ไม่มีปัญหาก็พากันไปทำปัญหา"
แรงเหวี่ยงของ กิเลส' หรือ 'ความอยาก' ของเรานี้ มันกดดันให้สัตว์โลกทั้งหลายพากันทำบาปทำกรรมโดยไม่รู้สึกตัวเอง เลยคิดว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาชนคนส่วนใหญ่ยอมรับ ยอมรับในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยอมรับในอาชีพที่เอาความสุขจากความทุกข์ของคนอื่น... ยอมรับในการบริโภควัตถุ ข้าวของ เงินทอง สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย
เพราะว่าทุกคนน่ะ มันทำเหมือนกัน คล้ายๆ กันพระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกเราว่า... "เราทำไม่ถูกต้องนะ...!
ให้พากันมามีสติสัมปชัญญะให้ดีๆ ให้สมบูรณ์ เพราะความสุข ความสงบ ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเราไม่ถูกกิเลส คือความอยากมาครอบงำแล้วให้ทำตาม คนเราน่ะถ้ากายมันอยู่นี่ แต่ 'ใจ' มันไปคิดเรื่องอื่นนั้นน่ะ มันไม่มีความสุข มันไม่มีความสงบนะ
ทุกท่านทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพัฒนาจิตใจของตัวเอง พยายามแก้ปัญหาที่จิตที่ใจของตัวเองให้ได้
เราทุกๆ คน มาเอาหน้าที่เอาการงาน เอาข้อวัตรปฏิบัตินี้เพื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเจริญสติสัมปชัญญะ ให้สติสัมปชัญญะเราสมบูรณ์ "ใจส่งออกน่ะ คือ ใจที่เป็นทุกข์นะ..."
เมื่อเราส่งออกมากๆ น่ะ ออกชิเจนในสมองเรามันก็ไม่สมบูรณ์ เราก็ไม่สามารถที่ควบคุมตัวเองได้น่ะ การนั่งสมาธิก็ดี การเดินจงกรมก็ดี การทำกิจวัตรต่างๆ ก็ดีน่ะ ก็เพื่อให้ทุกคนกลับมาหาตัวเอง เพื่อทำสติสัมปชัญญะของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะเราทุกๆ คนน่ะ ไม่ค่อยได้ปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเองเลย มีแต่ทำตามความอยากความต้องการ แล้วก็บริโภควัตถุที่ได้ตามต้องการก็พากันหลงเหยื่อ หลงวัฎฎสงสาร
ทุกท่านทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกตัวเอง เพราะว่าปัญหาต่างๆ น่ะ ทุกคนต้องแก้ได้ด้วยการฝึกใจของตัวเอง เค้าพากันขยัน พากันอดทนทำมาหากิน ศึกษาหาความรู้ จุดประสงค์ก็เพื่อที่เค้าจะได้บริโภคความสุข มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีหน้ามีตาในสังคม เค้าพากันมุ่งประเด็นไปอย่างนี้นะ ตัวเองสบายยังไม่พอ ลูกหลานญาติพี่น้องก็ให้สบาย สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่ายังไม่ใช่เรื่องที่ดับทุกข์นะ 'เรื่องที่ดับทุกข์' น่ะทุกคนต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมบ่มอินทรีย์เพื่อให้สติสัมปชัญญะนี้มันสมบูรณ์มีกำลัง ไม่ให้ความหลงมันมาบงการ มาจัดการเรา
พลังอะไรทุกอย่าง...ก็สู้พลังของ 'สมาธิ' ไม่ได้ ถ้าเราทุกคนมีสมาธิแล้ว เราทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไร ที่จะมาครอบงำเราได้
สิ่งต่างๆ น่ะที่เรารู้เราเห็นในสังคม... ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มาครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรามีสมาธิมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นตัวของตัวเอง
เราทุกคนทำดี มันก็จะรู้แจ้งว่าได้ดีน่ะ ปัญหาต่างๆ เราทุกคนแก้ได้ แต่ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะกิเลสของเรานี้มันจะพาเราสร้างบาปสร้างกรรม ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่แต่เราหยุดมันไม่ได้ เราหยุดมันไม่ได้หรอก... เพราะเราไม่มีกำลังพอ ไม่มีสมาธิพอ สติสัมปชัญญะเรามันน้อย มันไม่สมบูรณ์ ต้องอดต้องทนน่ะ มันอยากคิดเราก็ไม่คิดน่ะ ต้องทำอย่างนี้ เรื่องที่เราอยาก... เราไม่ต้องคิดน่ะ หลายๆ วัน ใจของเรามันก็เย็นได้ ถ้ามันไม่เย็น เราไม่คิดเรื่องนี้ เราอย่าเปิดรูรั่วให้มันไหลมันซึม ธรรมะภาคปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำอย่างนี้แหละ คือ การไม่ทำบาปทางใจทั้งปวง
กายของเรา วาจาของเราน่ะ การเดินเหินของเรานี่แหละ มันเป็นอากัปกิริยาของใจนะ มันเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง เพื่ออำนวยให้ใจของเราสะดวกในการทำงานของใจ ใจของเรานี้มีปัญหามากๆๆๆ นะ ถ้าทุกคนไม่ตั้งใจฝึก ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดตัวเองได้นะ
เราต้องอด... ต้องทน... ต้องฝืน... ต้องปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทุกคนเอาความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นการปล่อยวาง เราทุกคนมันอินทรีย์อ่อนน่ะ เลยพากันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการวางปล่อย เป็นความไม่ยึดไม่ถือนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกไม่ต้องน่ะ การปล่อยวางอย่างนั้นน่ะเป็น อาการที่จิตใจไม่มีกำลัง "เมื่อไม่มีกำลังแล้วมันก็หมดแรง เร่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้น" เพราะเรายังมีความเห็นผิด เราคิดว่าเราไม่เอาอะไรแล้วเราปล่อยวาง เราเลยไม่ทำความเพียร เราไม่ฝืน ไม่อด ไม่ทน
วินัยที่พระพุทธเจ้าบังคับเราน่ะ เราต้องปรับใจหาพระวินัย ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นน่ะให้เราปรับใจเข้าหาปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องให้ต่อเนื่องกันน่ะ พยายามเอาปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปมองไกล เดี๋ยวนี้ก็ปัจจุบันน่ะ แม้มันจะผ่านไปข้างหน้าอีกหลายปี มันก็เป็นปัจจุบันน่ะ เพราะพระอาทิตย์ หรือดวงจันทร์เท่านั้นน่ะที่มาบอกเวลา แต่ที่จริงแล้วใจของเราถ้าไม่อยู่กับสิ่งแวดล้อม เราอยู่กับภาคปฏิบัติมันก็เป็นปัจจุบันไปตลอด...
"การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงไม่มีอดีต...ไม่มีอนาคต...ไม่มีกลางวัน กลางคืนน่ะ เป็นการทำหน้าที่ที่ดีที่สุด อย่างนี้แหละ คือการอบรมบ่มอินทรีย์"
เราอย่าไปมองข้ามในความคิดจิตใจของเราในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราคิดว่าไม่เป็นไรน่ะ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... มันห้ามมรรคผลพระนิพพานเราหมด "ฝุ่นนี้มันไม่ใหญ่หรอก แต่ถ้ามันเข้าตาเรา เราก็มีปัญหาเหมือนกัน"
พยายามหยุด พยายามนิ่ง พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว ให้สติของเรามันดีมันสมบูณ์ เราถึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไปในทางที่ดีได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนท้ออกท้อใจ ว่าเป็นคนมีบุญน้อยมีวาสนาน้อย ชาตินี้ไม่มีบุญ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุธรรมเหมือนกับเค้า
"ทุกคนมันก็เหมือนกันหมดน่ะ มันอยู่ที่ความคิด อยู่ที่การปฏิบัติน่ะ" การปฏิบัติมันก็ไม่ใช่ยากแต่เราต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ
การอบรมบ่มอินทรีย์มันก็เหมือนกับเราเพาะเลี้ยงต้นไม้แล้วก็ปลูกต้นเล็กๆ น่ะ เราพยายามให้น้ำ ให้ปุ๋ยแสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน เดี๋ยวต้นไม้ก็โตเอง มันโตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันโตกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้ แต่รู้ว่ามันโต
การประพฤติการปฏิบัติน่ะเราอย่าไปสนใจใคร คนอื่นเค้าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ช่างเค้า เพราะคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวข้องกับเรา เรื่องคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น เค้าทำดีเค้าทำชั่วมันก็เป็นเรื่องของเค้า เค้าไม่รู้ไม่เห็นเราว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ไม่เป็นไร เราไม่ต้องคอยให้ใครมาชมเรา เพราะใจของเราไม่มีใครรู้หรอก มีแต่ตัวเรารู้เท่านั้น เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่ได้มุ่งโลกธรรม คอยมาให้ใครสรรเสริญ
ให้เราทุกคนเน้นมาหาตัวเอง ถึงจะเกี่ยวข้องกับคนอื่น ในชีวิตประจำวัน ข้อวัตรปฏิบัติ เค้าจะทำหรือไม่ทำ เค้าจะมาหรือไม่มา เราอย่าไปสนใจเค้า "เดี๋ยวเราจะเอาดีเอาชั่วของเค้ามาเผาเราอีก"
รู้จักปล่อยรู้จักวางว่าจะให้คนอื่นเค้าเหมือนเรามันคงไม่เหมือนน่ะ ถ้าเหมือนกันหมดคนก็ได้บรรลุธรรมทั้งโลกเหมือนกันหมด มันไม่เหมือนนี่แหละมันถึงเป็นอย่างทุกวันนี้
เรื่องความสุขในการกิน...การอยู่...การนอนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรมอบรมบ่มอินทรีย์ เราไม่ต้องมาติดมาหลง ความอร่อยมันก็ต้องผ่านไปแค่ลิ้นน่ะ ความสุขความสบายในการพักผ่อนก็บรรเทาทุกข์ไปไม่กี่ชั่วโมงน่ะ
"สิ่งเก่ามันผ่านไป สิ่งใหม่มันก็ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดดีๆ อย่าได้พากันหลง"
คนเราน่ะถ้าไม่ได้บริโภครูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คือว่า ชีวิตนี้ไม่มีรส รู้มั้ยว่าถ้ามี 'รส' มันก็มี 'ชาติ' มันต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด เราก็อยากพากันมี 'รสชาติ' รสชาติมันจะพาให้เรามีความเกิดทางจิตทางใจนะ
สติสัมปชัญญะของเราก็ให้มันแข็งแรง
สติ คือ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ก็คือ ตัวปัญญา
สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัว 'ศีล' ถึงเป็นตัว 'สมาธิ' ถึงเป็นตัว 'ปัญญา' น่ะ เค้าจะได้ชัขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มี "พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะ มันมีค่า มีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคือ 'อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน' ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพานน่ะ มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ
ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิด ว่าถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาติ อย่าไปคิดอย่างนั้น...!
คิดอย่างนั้น คือ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพ สร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง "ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์" ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ
'การเวียนว่ายตาย' เกิดนี้... มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่างๆ แล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดีๆ พากันทบทวนตัวเองดีๆ น่ะ
พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อ พากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหา 'ธรรมะ' ไม่ทำตามความอยาก... ความต้องการ... ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มี 'สัมมาทิฏฐิ' มีความเห็นถูกต้อง แล้วก็พยายามปฏิบัติอบรมบ่มอินทรีย์น่ะ
ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้าด้วยไม่คิดในสิ่งที่เรากำลังอยากน่ะ ๗ วัน ใจของเรามันก็จะเย็น อย่างกลางก็ ๗ เดือน หรืออย่างมาก ก็ไม่เกิน ๗ ปีน่ะ
ทุกท่านทุกคนต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันหมดทุกคน ถ้าผู้นั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ เราไม่นำมาประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเป็น 'โมฆบุรุษ' เป็นบุรุษที่เปล่าประโยชน์ "ให้ทุกท่านทุกคนกลับมาดูตัวเองนะ ว่าเราเป็น...โมฆบุรุษ หรือว่าเป็นโมฆสตรีมั้ย...?"
ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติน่ะ ก็ให้เรารู้เลยว่า เราเป็นโมฆะ ถึงจะอายุเกิดนาน...มันก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะบวชนาน...ก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะรู้มาก...ก็ไม่มีประโยชน์ บริโภคปัจจัยสี่ก็มีแต่บาปแต่กรรม
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... เหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งที่กำลังบริโภคเหล็กแดงๆ น่ะ การที่เราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้มันก็ยิ่งกว่าบริโภคเหล็กแดงๆ ซะอีก
บวชนานไม่นานไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้บวชมาแล้ว มีเจตนาตั้งใจในการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ พระบวชนานถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็สู้พระใหม่ๆ ที่บวชระยะสั้นแต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ ผู้มีความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง