แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๘ ความหมดจดแห่งความเห็นถูก และการก้าวข้ามความสงสัย เป็นเหตุปัจจัยเพื่อพระนิพพาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ก็จะได้บรรยายต่อจากคราวที่แล้ว ในเรื่องของวิสุทธิทั้ง ๗ ซึ่งเป็นทางแห่งความหมดจดความบริสุทธิ์ในการชำระศีล ในการชำระจิต แล้วก็ชำระปัญญาให้เป็นของที่บริสุทธิ์ เพื่อไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ถ้าไม่บริสุทธิ์ ก็ถึงไม่ได้ ไปไม่ได้ ในเรื่องของระดับของปัญญา วิสุทธิข้อที่ ๓ ถึงข้อที่ ๗ ๕ ข้อนี้ เป็นเรื่องของปัญญา ชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ ซึ่งท่านก็จัดไว้ง่ายๆ ก็คือ ในหมวดของปริญญา
เราจะรู้ว่าปริญญานี้แปลว่า ภาษาทางโลกก็บอกว่า เป็นใบประกาศ เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่นจบมาแค่ไหน จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียน ๔ ปี ทำโปรเจคส่ง ก็ได้ปริญญาตรี ทำวิทยานิพนธ์ เรียงบ้างเล็กน้อย ก็จบปริญญาโท ปริญญาเอก เรียนแล้วก็ทำดุษฎีนิพนธ์ก็จบ แต่อันนั้นเป็นปริญญาทางโลก เรียนจบกี่ใบๆ กิเลสยังเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคืออีโก้ คือถือตัวถือตนว่า จบสูง รู้มาก เพราะฉะนั้น อันนั้นเป็นปริญญาตรีทางโลก เป็นโลกิยะปัญญา ไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ แต่ปริญญาของพระพุทธเจ้านี้มีอยู่ ๓ ประการ ปริญญาแปลตรงๆ แปลว่ารู้รอบ ปริ แปลว่ารอบ ญา ญ-หญิง สละอา แปลว่ารู้ รู้รอบ กำหนดรู้ มีอยู่ ๓ ระดับด้วยกันคือ การรู้ กำหนดรู้ด้วยสิ่งที่รู้ อยู่ในขั้นรู้จัก แล้วก็ปริญญาที่ ๒ อยู่ในขั้นพิจารณา ปริญญาที่ ๓ อยู่ในขั้นที่ละได้ ต้องรู้ พิจารณา แล้วก็ละให้ได้ จึงเป็นปริญญา ๓ เป็นปริญญาของพระพุทธเจ้า
ประการแรก ญาตปริญญา คือ การกำหนดรู้ ให้เป็นสิ่งที่รู้แล้วก็รู้จักให้ดี รู้ตามสภาวะลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง เมื่อรู้ เช่นว่า รู้ว่าเวทนาเป็นอย่างนี้ รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สังขารการปรุงแต่งเป็นอย่างนี้ สัญญา ความจำเป็นอย่างนี้ วิญญาณความรู้ทางอารมณ์ต่างๆ เป็นอย่างนี้ ให้รู้จักขันธ์ ๕ เอาง่ายๆ ก็คือ รู้กาย รู้ใจของตัวเอง รู้จักมันให้ดี มารู้จักตรงนี้ ถึงจะพิจารณาถึงจะละทุกข์ได้ เพราะการจะดับทุกข์ไม่ใช่เป็นกำหนดรู้ที่อื่น รู้ของภายนอก มีแต่เพิ่มเติมกิเลสให้กับตัวเอง ลองสังเกตดูง่ายๆ ชีวิตประจำวันเรานี้ ส่วนใหญ่ส่งจิตออกนอก ส่งจิตออกนอก ไปรู้เรื่องคนนั้นบ้างเรื่องคนนี้บ้าง สารพัดข่าวสารที่รับมาในแต่ละวันๆ สุดท้าย ฟุ้งซ่าน เวลารู้เรื่องของคนอื่นก็มีแค่ ๒ อารมณ์ อภิชฌาโทมนัส ก็คือชอบ ไม่ชอบ ยินดี ยินร้าย เห็นของดีก็ชอบ เห็นของไม่ดีก็ปฏิฆะ ขุ่นเคือง ไม่ชอบ ทำไมทำอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนี้ ดับทุกข์ไม่ได้ เวลาเครียดขึ้นมานี้ ไปฟังเพลงบ้าง ไปดูหนังบ้าง เล่นเกมส์บ้าง เล่นโน่นเล่นนี่บ้าง มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ เพราะทุกข์มันไม่ใช่อยู่ที่ภายนอก มันอยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ดังนั้น ญาตปริญญา ต้องรู้จักกายรู้จักใจตัวเองให้ดีก่อน
ปริญญาขั้นที่ ๒ ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา คือ ขั้นพิจารณา ให้รู้จริงๆ โดยความเป็นจริงของธรรมชาติที่อยู่ในไตรลักษณ์ให้ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน บังคับบัญชาไม่ได้ การเห็นแบบนี้พิจารณาให้เห็น ไม่ใช่ปัญญาจากการฟัง ปัญญาจากการคิด แต่ว่า พิจารณาจากจิตที่มันมีศีล มีสมาธิ ที่มันหมดจดมาตามลำดับ ตั้งแต่ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ พอมันมีพื้นฐานอย่างนี้ ก็จะพัฒนาให้ทิฏฐิวิสุทธิ ปัญญาวิสุทธินี้ใสขึ้นตามลำดับ กระจ่างชัดแจ้งขึ้นตามลำดับ
ปริญญาอย่างที่ ๓ ก็คือ ปหานปริญญา คือการกำหนดรู้หรือว่าปริญญาในขั้นละให้ได้ เมื่อรู้ชัดเจนว่ากายใจมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอย่างนี้ เกิดความเบื่อหน่าย แล้วก็ใคร่จะพ้นไป มันจะตัดโดยลำดับ การจะตัดได้ เอาอะไรตัด? มีดก็ตัดไม่ได้ จะตัดด้วยความคิดก็ตัดไม่ได้ ต้องตัดด้วยตัวปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่มันเป็นผลผลิต เป็นผลที่เกิดจากการที่มีศีลดี แล้วก็จิตดี ตั้งแต่ศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ พัฒนามาจนเป็นผลพวงคือตัวปัญญา นี่แหละคือจะไปตัดไปละได้
การที่เรามาประพฤติมาปฏิบัติธรรม ก็คือการสั่งสมปริญญา เป็นปริญญาของพระพุทธเจ้า เป็นปริญญาที่เรียนรู้เพื่อที่จะดับทุกข์ เรียนรู้เพื่อที่จะละ เพื่อที่จะตัดภพ ตัดชาติ ตัดวัฏสงสาร หมดทุกข์ ไม่ต้องมาร้องไห้เจ็บปวดชอกช้ำอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป ดังนั้นแล้ว เมื่อเข้าใจเช่นนี้ การที่เราประพฤติมาปฏิบัติธรรม มาที่วัดนี้ ก็เพื่อต้องการจะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างไร? ก็ปฏิบัติอย่างนี้แหละ ที่ได้อธิบายเป็นลำดับมานี้ ต้องรู้ กำหนดรู้ เป็นปริญญาขั้นแรก ขั้นที่ ๒ ขั้นพิจารณา ขั้นที่ ๓ ให้ถึงขั้นละได้ ทีนี้ในปริญญา ๓ นี้ จริงอยู่เป็นโลกิยะ มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ คือกายใจเรานี่เอง เป็นกิจในอริยสัจ ๔ ข้อที่ ๑ คือทุกข์ ในทางปฏิบัติ วิสุทธิข้อ ๓ ถึงข้อ ๖ คือตั้งแต่ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ก็คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือการรู้จักกายใจของตนอย่างดี แล้วก็กำหนดรู้ว่าอะไรเป็นเหตุเกิดขึ้น เป็นเหตุดับไปของกายของใจนี้ ปัจจยปริคคหญาณนี้เป็นภูมิแห่งญาตปริญญา ปริญญาขั้นแรก ตั้งแต่สัมมสนะถึงอุทยัพพะ พิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งถึงเห็นความเกิดดับของรูปนาม เป็นภูมิแห่งตีรณปริญญา ปริญญาขั้นพิจารณา แล้วก็ ภังคานุปัสสนาญาณ ตั้งแต่เห็นแต่ความดับๆๆๆ ขึ้นไป จะเป็นภูมิแห่งการละได้
วันนี้ จะอธิบายทิฏฐิวิสุทธิ คือ เป็นวิสุทธิข้อที่ ๓ เป็นเรื่องของความหมดจดแห่งทิฏฐิ ทิฏฐินี้เป็นคำกลางๆ จะเป็นเห็นผิดก็ได้ เห็นถูกก็ได้ มิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิด สัมมาทิฏฐิคือเห็นถูก เพราะฉะนั้น ความหมดจดแห่งทิฏฐิตรงนี้ก็เท่ากับความบริสุทธิ์แห่งปัญญาสัมมาทิฏฐินั่นเอง คือความรู้เข้าใจ มองเห็นกาย มองเห็นใจเรานี้ตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนนั้น เป็นคนนี้เสียได้ ก็จะเริ่มดำรงอยู่ในความไม่หลงผิด กล่าวคือ กำหนดได้ว่าอะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น รูป แสง สี มันเป็นรูปธรรม จริงอยู่ เรามองไม่เห็น แต่ว่ามันเป็นอายตนะภายนอกที่มันเข้ามา ดวงตา แล้วก็มีจิตวิญญาณที่มันอาศัยอยู่ที่ตา เป็นนามธรรมที่มันเป็นตัวเห็น การที่เรารู้อย่างนี้เป็นการกำหนดทุกขสัจ ให้รู้จักทุกข์ ปัญญาที่มีความเห็นถูก หรือว่ารู้ถูกตามความเป็นจริงโดยปราศจากกิเลส คือเห็นกายกับใจเรานี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจใดๆ แม้กระทั่งไม่อยู่ในอำนาจของตน ถ้าอยู่ในอำนาจจริง เราคงจะบังคับไม่ให้คิด บังคับไม่ให้เครียด บังคับไม่ให้เจ็บ บังคับไม่ให้ป่วย บังคับไม่ให้แก่ บังคับไม่ให้ตาย เราบังคับอะไรมันไม่ได้เลย แสดงว่าเราไม่มีอำนาจอะไรเลยอยู่ในกายในใจนี้ ทั้งที่เราก็ต้องอยู่กับมันทุกวันๆ ต้องพามันกินข้าว พามันอาบน้ำชำระร่างกาย ไปเที่ยวก็พามันไป ไปโน่นไปนี่ก็พามันไป แต่ไม่มีอำนาจเหนือมันเลย เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติสร้างมาอย่างนี้ มันก็แปรเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ เราจึงต้องรู้เห็นด้วยปัญญาจริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขาเลย เป็นเพียงแค่ก้อนธาตุธรรมชาติรวมกันขึ้นมา มีจิตวิญญาณ คือมีใจมาอาศัยอยู่ เราจึงควรศึกษาถึงเงื่อนไขการกำหนดรู้รูปนาม ก็คือ กายกับใจ นี่แหละเป็นตัวกรรมฐานที่จะชำระทิฐิของเราให้หมดจดที่เป็นทิฏฐิวิสุทธิได้
ความหมายของทิฏฐิวิสุทธิ ท่านกล่าวไว้ว่า การหยั่งเห็นรูปคือสภาพที่มันแปรปรวน เห็นนามคือสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ สภาพรู้อารมณ์ก็คือใจตามความเป็นจริงที่มันปรากฏอยู่จริงๆ นี้ ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งการเห็นชอบ ผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดรู้ ทำให้เกิดสมาธิตั้งมั่น เห็นรูปนามขันธ์ ๕ ก็คือ เห็นกาย เห็นใจ เมื่อเห็นจริงๆ จึงชื่อว่า เป็นญาณ คือเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากความเห็นแจ้งตามความเป็นจริง จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ของยาก ไม่ใช่ของเหนือความคาดหมาย แต่ว่ามันเป็นผลแห่งการกำหนดรู้ มีสติ มีสมาธิอยู่กับการรู้กาย รู้ใจ มีสติ มีสมาธิ อยู่กับพุทโธ อยู่กับหายใจเข้า หายใจออกนี้ ปัญญาที่เห็นชัดเจนเหล่านี้จะปรากฏเกิดขึ้นมาเมื่อสมาธิได้ที่ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นรูปนามขันธ์ ๕ ด้วยปัญญา จึงเรียกได้ว่าผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติถึงนามรูปปริจเฉทญาณ สามารถกำหนดรู้ ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นกาย อะไรเป็นใจ เห็นจากปัญญา ไม่ใช่เห็นจากการฟัง ไม่ใช่เห็นจากการคิด พอการรู้การเห็นเช่นนี้แล้ว มันจะครอบงำความรู้สึกเดิมๆ ที่เราติดมาตั้งแต่เกิดว่า เป็นตัวกู ของกู เป็นตัวของคนนั้น เป็นตัวของคนนี้ ซึ่งเรารู้สึกอย่างนี้มาตลอด จะลุก จะเดิน จะยืน จะนอน จะนั่ง ก็เป็นตัว เป็นเรา เป็นของเรา ตัวเรา ของเรา ตัวกู ของกู ยังไม่พอนะ ของพ่อเรา แม่เรา ของแฟนเรา ของลูกเรา ของหลานเรา ของคนนั้น ของคนนี้ เป็นตัวเป็นตนไปหมด เมื่อเป็นตัวเป็นตนยึดอยู่อย่างนี้ สักกายทิฏฐิมันก็เลยครอบเอาไว้ ปัญญามันไม่ปรากฏเกิดขึ้น เมื่อเรากำหนดรู้ชัดเจนทุกๆ อิริยาบถที่เราสามารถน้อมมาสู่การพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ การเดิน การนอน การนั่งทุกๆ ทุกๆ อิริยาบถ แม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ ห้องสุขา การกำหนดรู้นี้ทำให้ความยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนมันหายไป เพิกถอนความยึดว่าเป็นตัวกูของกูออกไปได้ นี่แหละจึงจะทำให้ทิฏฐิวิสุทธิ ความเห็นบริสุทธิ์ของเราปรากฏเกิดขึ้นจนเป็นวิปัสสนาญาณด่านแรก
ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อถึงตรงนี้แล้วนี้ จะทำให้มีสติ มีความตั้งมั่นจดจ่อต่อเนื่องอย่างชัดเจน แม้ในบางครั้งที่กำหนดรู้อยู่นั้น ความฟุ้งซ่านปรากฏขึ้น ก็จะมีสติรู้สภาวะนั้นๆ เท่าทัน แล้วก็จะเห็นชัดเจนว่า อาการต่างๆ ที่มันมาปรากฏ เวลาเรานั่ง เวลาเดิน หรือแม้กระทั่งเวลาอะไร เช่นว่า อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง พวกนี้เป็นธาตุลมนะ อาการนี้เป็นธาตุน้ำ อาการนี้เป็นธาตุไฟอยู่ในกายอย่างนี้ รูปละเอียดมันอาศัยรูปหยาบเกิดขึ้น รูปหยาบๆ เราสามารถมองเห็น แต่รูปละเอียดคือมันซ่อนอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานหมวดแรกท่านจึงตั้งชื่อว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย งงอีก อะไรหนอ? กายในกาย? ยังมีกายในกายอีกหรือ? ก็คือ เห็นรูปละเอียดที่มันอาศัยรูปหยาบเกิดขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ สี แสง เป็นสิ่งที่ถูกเห็น จักขุประสาท มันก็เป็นรูปใสๆ นี้ ที่มันเห็นสีได้ เสียงเป็นสิ่งที่ถูกได้ยิน โสตประสาทที่มันอยู่ในแก้วหูนี่แหละ เป็นรูปใสๆ ที่มันทำให้ได้ยิน กลิ่นเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ ฆานประสาทที่มันอยู่ในโพรงจมูก ที่มันมีรูปร่างเหมือนกับกีบเท้าแพะ ตรงโพรงจมูกนี้ ที่เป็นที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณ ตรงนี้เป็นตัวให้ได้กลิ่น รสเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ชิวหาประสาทที่อยู่ตรงกลางลิ้น ชิวหาวิญญาณมันทำให้รู้รสต่างๆ ลำพังลิ้นมันไม่รู้เรื่องอะไร อาหารมันก็ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ตัวรู้ก็คือตัววิญญาณที่มันไปซ่อนอยู่ในอวัยวะส่วนต่างๆ ความเย็น ความร้อน ความอ่อน แข็ง หย่อน ตึงต่างๆ ที่เราสัมผัสกระทบเข้ามา กายประสาทมันอยู่ทั่วร่าง เป็นรูปใสๆ ที่มันสัมผัสกับความร้อน ความอ่อน ความเย็น เป็นต้น กายวิญญาณมันอยู่ทั่วร่าง จึงทำให้ได้รู้สึกต่างๆ หัวใจ หทัยวัตถุ เป็นที่อาศัยของความนึกคิด มโนวิญญาณเกิดขึ้นตรงนี้ เลยทำให้ความนึกคิดต่างๆ ปรากฏเกิดขึ้นมา ท่านอุปมาง่ายๆ ให้เห็นง่ายๆ ก็คือ เมื่อร่างกายยังมีอยู่ การสมมติว่าเป็นสัตว์บุคคลก็มีได้ เหมือนคำว่ารถมีได้เพราะ ประกอบส่วนต่างๆ เข้ารวมกัน ดังที่ได้อธิบายไว้ชัดเจนในการแยกธาตุแยกขันธ์ในวันก่อนๆโน้น คนที่เรียกว่าคน คนเรียกว่ามนุษย์นี้ พอแยกชิ้นส่วนออก มันก็ไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ ตรงนี้เป็นตา ตรงนี้เป็นแขน ตรงที่เป็นขา ตรงนี้เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นเนื้อ เป็นเอ็น กระดูก ชื่อเรียกของมันก็มีอยู่แล้ว ความเป็นคนก็หายไป เหมือนกับรถยนต์ ตรงนี้เป็นล้อ ตรงนี้เป็นประตู ตรงนี้เป็นพวงมาลัย ตรงนี้เป็นเบาะ อะไรต่างๆ มารวมกันเข้าเรียกว่ารถ พอแยกออก แยกออก ความเป็นรถก็หายไป
ดังนั้นแล้ว จึงให้เห็นง่ายๆ ว่า เหมือนกับสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการถูกต้องสัมผัส ความรู้สึก ความจำว่ามันคือใคร เป็นอะไร เสียงอะไร เห็นอะไร กลิ่นเหม็น กลิ่นหอม ของอะไร ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นเพราะจิตวิญญาณมันทำงาน เสียงกลองเกิดขึ้นได้อย่างไร? เสียงกลองนี้เรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เราได้ยินเสียง มันเกิดขึ้นมาจากเหตุ ๒ อย่าง ก็คือ มีกลอง มีคนตี เสียงกลองจึงเกิดขึ้น การเห็น การได้ยินก็เช่นเดียวกัน การเห็นเพราะว่ามีดวงตาที่เป็นจักขุประสาทนี้ มีจิตวิญญาณรู้อยู่ตรงนี้ พอมองแล้วมันเห็น เห็นรูป เห็นแสง เห็นสี เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นโน่น เห็นนี่ เห็นนั่น ถ้าลำพังมีแค่วัตถุภายนอกกับลูกตาเฉยๆ แต่ไม่มีตัวรู้ มันก็มองไม่เห็น ถ้าอย่างนั้นคนตายก็คงเห็นแล้วนะ คนตายก็มีลูกตาเหมือนกัน เปิดตาเขาดู เขาก็มองไป แต่เขามองไม่เห็น เพราะว่าจิตวิญญาณตัวรู้ มันไม่อยู่แล้ว อุปมาเหมือนกับเสียงกลองที่มันเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุ ๒ อย่าง การที่คนเราจะเห็น เห็นผู้ชาย เห็นผู้หญิง ได้ยินเสียงโน่น ได้ยินเสียงนี่ ก็เพราะว่ามันเกิดจากองค์ประกอบกายกับใจมาร่วมกันทำงาน กายกับใจก็คือ ใจรู้ สิ่งที่มันเป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นปาก อะไรต่างๆ มันทำงานของมัน มันจึงมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ต้องให้เห็นชัดเจนเช่นนี้ด้วยปัญญา จึงจะแยกกาย แยกใจ แยกรูป แยกนาม แยกได้อย่างนี้ ไม่ใช่แยกแบบการคิดการท่อง แต่ว่าเป็นการรู้ด้วยปัญญา นี่แหละปัญญาญาณเกิด วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น
ดังนั้นแล้ว เมื่อเราพิจารณาเช่นนี้ แล้วก็ต้องให้เห็นชัดขึ้นไปอีกว่า แม้กระทั่งการเห็น การได้ยินนี้ มันก็ไม่ใช่ว่าจะแช่อยู่อย่างเดียว มันมีตั้ง ๓ ขณะจิต คือ อุปาทขณะ ขณะเกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะตั้งอยู่ ภังคขณะ ขณะดับลง อุปาท ฐีติ ภังค เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นอย่างนี้ทุกๆ สภาวะอาการ สังเกตให้เห็น เราจะสังเกตไม่สังเกต จะรู้ไม่รู้ ทั้งวันมันก็ทำงานอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราใส่ใจน้อมใจเข้าไปดู เข้าไปรู้ เข้าไปดูแล้ววิปัสสนาญาณจะเกิด ปัญญาจะเกิด เพราะมันเห็นความจริง วิปัสสนา ชื่อบอกอยู่แล้วว่า เห็นจริงๆ เห็นของแท้ ไม่ใช่เห็นของปลอม เห็นอะไร? ก็เห็นกาย เห็นใจนี่แหละ ผู้ปฏิบัติที่รู้เห็นรูปนามที่ปรากฏขึ้นในขณะนั้นอย่างแจ่มชัด จะทำให้เข้าใจกิริยาอาการต่างๆ แต่ละวันนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน การนั่ง การคู้ การดื่ม เป็นต้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีเพียงแค่รูปกายอย่างเดียว หรือมีเพียงแค่นามแค่จิตอย่างเดียว การรู้เห็นจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพราะว่าการรวมกันเข้าของรูปกับนาม กายกับใจ ผู้ปฏิบัติที่เห็นอย่างนี้ก็ย่อมเข้าใจว่า คนทั้งหลายนั้นมีเพียงแค่ขันธ์ ๕ รูปนามแค่นั้นเอง ตัวตน บุคคล เรา เขา คนนั้น คนนี้ไม่มีอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ เพียงแต่สมมติเรียกกันขึ้นมาว่า เป็นนาย ก นาย ข นางสาวนั้น นางสาวนี้ เป็นคนนั้น เป็นคนนี้เพราะสมมุติขึ้นมา แล้วเราก็ติดในสมมุติ ก็ยึดเข้าไปว่า คนนั้นแฟนเรา คนรักของเรา เป็นโน่น เป็นนี่ เป็นนั่น ก็เพราะอุปาทานนี่แหละ มันจับ มันยึด อุปาทานขันธ์ ๕ เราเองยังไม่พอ ยังไปอุปาทานขันธ์ ๕ ของคนอื่นอีก เช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร เพราะว่ายึดมากขนาดนี้ คนยังไม่พอ ยังเป็นสมบัติพัสถานอีก รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็เป็นของเราไปหมด เพราะฉะนั้น ทุกข์ทั้งนั้นเลย ดังนั้นแล้ว จึงต้องเห็นแจ้งตามความเป็นจริง เห็นกายเห็นใจนี่ มันเป็นองค์ประกอบเกิดขึ้นมาจากรูปจากนามแค่นั้นเอง เมื่อเห็นชัดแจ้งเช่นนี้ ความเห็นของเราจึงจะหมดจด เป็นทิฏฐิวิสุทธิ
ต่อไป วิสุทธิข้อที่ ๔ ในเรื่องของญาตปริญญาในขั้นรู้จัก กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ กังขา แปลว่าข้อสงสัย วิตรณะ ข้ามพ้น ความหมดจดที่ข้ามพ้นความสงสัยได้ สงสัยอะไร? สงสัยสารพัด ลองดูก็แล้วกัน แต่ละวัน วิจิกิจฉา สงสัยทั้งวัน ใช่ ไม่ใช่ โน่น นี่ นั่น เกิดขึ้น บางทีเราตามมันไม่ทันหรอก ทั้งที่มันมีอยู่ ซ่อนอยู่ แอบอยู่ ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้เหตุเกิดขึ้นของรูปของนามได้ว่า กายใจนี้ รูปธรรมนามธรรมนี้ ล้วนเกิดจากเหตุจากปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน นี่ดึงเข้ามาปฏิจจสมุปบาทได้ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้มันจึงมี จึงจะสิ้นสงสัยในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต ตรงนี้จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจ คือรู้เหตุให้เกิดทุกข์ ต้องเข้าใจปัญหาตรงนี้ เป็นปัญญาที่ต่อเนื่องมาจากทิฏฐิวิสุทธิ มีความเชื่ออย่างแน่นอนแล้วว่า ในอดีตก็มีการเวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว ในอนาคตก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ถ้ายังทำเหตุของการเกิดอยู่ ผู้ปฏิบัติจะหมดความสงสัยในเรื่องภพชาติ ทั้งชาติที่แล้ว ชาตินี้ หรือว่าชาติหน้าจากทิฏฐิวิสุทธิที่เกิดขึ้น ญาณในขั้นก่อน นามรูปปริจเฉทญาณนี้ คือเพียงรู้ความแตกต่างของรูปกับนามว่า กายกับใจเป็นอย่างนี้ๆ แต่ไม่รู้ว่า รูปกับนามเหล่านั้นมีต้นตอมาจากไหน มีเหตุปัจจัยมาจากไหน ความหมดจดแห่งญาณ ความบริสุทธิ์แห่งปัญญาที่เป็นสิ่งที่จะก้าวล่วงความสงสัยนี้ ความบริสุทธิ์เพราะหายสงสัย คือขณะที่พิจารณาอยู่จะพบเพียงเหตุและผล ที่ล่วงมาแล้วก็เพียงเหตุแล้วก็ผล ต่อไปก็จะมีเพียงแต่เหตุกับผล ก็คือเหตุกับปัจจัยเท่านั้นเอง ความรู้เหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากกำลังสติ สมาธิเป็นขั้นตีรณปริญญา คือ รู้สามัญลักษณะของไตรลักษณ์ ภิกษุผู้ปรารถนาจะบรรลุวิสุทธิในการก้าวล่วงความสงสัยนี้คำนึงถึงการค้นหาเหตุปัจจัยของรูปกับนามนั้นอยู่ เหมือนนายแพทย์ผ่าตัดผู้ฉลาด พอเห็นโรคแล้ว ก็ค้นหาสมุฏฐานของโรคได้ว่า โรคเหล่านี้ต้นตอมาจากอะไร? เหมือนหมอเก่งๆ หลายคนนี้ บางคนก็เพาะเชื้อ เอาเชื้อนี่แหละไปเพาะเชื้อ ก็รู้ว่าเชื้อมาจากไหน ทำวัคซีนฉีดเข้าไป เห็นว่าปวดหัวตัวร้อน เป็นนั่นเป็นนี่ ก็รู้เลยว่าสมมติฐานคือต้นเหตุมันมาจากไหน นี่คือหมอผู้ฉลาด หรือว่าเหมือนคนที่มีเมตตา พอเห็นเด็กเล็กอ่อนวัยนอนหงายแบเบาะอยู่ในข้างทาง ก็จะคำนึงถึงแม่ของเด็กนั้นว่า เด็กนี้เป็นลูกของใคร ท่านอุปมาไว้
ในวิสุทธิที่หมดความสงสัยได้นี้ เมื่อกำหนดรูปนามกายใจจนเข้าใจมากขึ้นแล้ว ก็จะรู้ว่า กายกับใจของเรา รูปนามเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ เพราะเหตุเพราะปัจจัย เรียกว่าปัจจยปริคหญาณ รู้เหตุรู้ปัจจัย คือรูปอันใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะจิตมันสั่ง จิตมันสั่งให้เดิน จิตมันสั่งให้ยืน จิตมันสั่งให้นั่ง จิตมันสั่ง นามอันใดเกิดขึ้น จะเป็นความคิด ความรู้สึกชอบไม่ชอบ ก็รู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร ก็เพราะว่ามีการกระทบ เป็นการผัสสะ ตามประตูต่างๆ ประตูตา ประตูหู ประตูจมูก ประตูลิ้น ประตูกาย ประตูใจ ไม่เกี่ยวกับการสร้างหรือว่าการดลบันดาลของใครให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จะไปวิงวอนขอว่า ขอให้หายเครียด ขอให้อย่าเป็นโรคจิตเป็นโรคประสาท ขออย่าให้ทุกข์จากการเห็น ทุกข์จากการฟัง อย่างนั้นขอไม่ได้ เพราะว่ามันเกิดจากความปรุงแต่งของแต่ละคนเอง เมื่อมีเหตุอย่างนี้ เหตุจากการกระทบผัสสะตามประตูตามทวารต่างๆ นี้ ไม่เกี่ยวกับการสร้างการดลบันดาลของใครให้เกิดขึ้น สามารถตัดสินได้ว่าแม้ชาติก่อน ตนก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ปัจจุบันก็เป็นมาเกิดมาด้วยเหตุด้วยปัจจัย แล้วก็ความสันทัดที่มีอยู่ ก็กำลังสร้างเหตุเพื่อการเกิดในชาติหน้า ด้วยกรรมปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ชาติหน้าจึงมีเหตุปัจจัยที่กำลังรอส่งผลเช่นกัน แม้คนอื่น สัตว์อื่นก็ไม่พ้นไปจากเหตุปัจจัยเช่นนี้เหมือนกัน เพราะว่า เมื่อใดที่ยังมีตัวสร้างเหตุ มีตัวก่อภพก่อชาติคือตัณหา มันก็ยังมีการเกิดอยู่ร่ำไป ผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้สภาวะรูปนามในปัจจุบัน ขณะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมรู้ว่า มันมีทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันก็เกิดจากเหตุจากปัจจัยทั้งนั้น ญาณตัวนี้ ปัญญาตัวนี้ที่รู้ความจริงของรูปนามที่เกิดขึ้นภายในตน ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวะธรรมปัจจุบันแล้ว ที่ว่าสติสมาธิติดต่อต่อเนื่อง แยกได้ว่า กายส่วนหนึ่ง ใจส่วนหนึ่ง แล้วก็รู้เลยว่า มันจะทำงานต่อเนื่องกันนี้ มันไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ มันต้องมีเหตุคือจิตมันสั่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา” นี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง สภาวะธรรมทุกอย่าง มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จด้วยใจ เมื่อมีใจดีก็จะพาไม่ทำดี เมื่อมีใจไม่ดีก็พาให้ทำไม่ดี นี่แหละคือเหตุ อย่างเวลาเราอยากเดิน จิตมันสั่ง จิตมันสั่งแล้วก็ทำให้ธาตุลมในกายทำงาน ขาก็ยกขึ้น ก้าวไปได้ ตอนนี้อยากยกแขน จิตมันก็สั่ง สั่งให้ยกขึ้นได้ ถ้าจิตไม่สั่ง มันยกขึ้นไม่ได้หรอก เพราะมีเหตุหมด อย่างตอนนี้ จิตก็สั่งให้ยกกระดาษ จิตสั่งให้มองโน่น มองนี่ จิตสั่งหมดเลย มันเป็นปัจจัยของกันและกันอย่างนี้ จิตสั่งจึงทำให้กายทำงาน รู้เห็นเช่นนี้ จึงจะทำให้ปัญญาบริสุทธิ์ขึ้นปัญญาชัดขึ้น
ในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายว่า อนึ่ง ญาณปัญญาที่ข้ามพ้นความสงสัยในอดีตปัจจุบันอนาคต ด้วยการกำหนดปัจจัยเหตุปัจจัยของรูปนามนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดด้วยการข้ามพ้นความสงสัย จะไม่สงสัยอีกต่อไป ความเกิดของรูปในปัจจุบัน มันก็คือมาจากจิต ฤดูกาล อาหาร แล้วก็กรรมด้วย เห็นได้ง่ายๆ ประจักษ์ได้ง่ายๆ เหตุในอดีต คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานที่เคยหลงเคยชอบ เคยยึดมั่นถือมั่น แล้วก็กรรมอะไรก็ไม่รู้ เพราะว่าเรื่องกรรมนี้เป็นอจินไตย เรารู้ไม่ได้อยู่แล้วว่ากรรมอะไรทำมาจึงทำให้มีผลเป็นอย่างนี้ๆ แต่เราก็พอจะทราบเหตุได้ว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้ได้มาเกิดมนุษย์นี้เพราะมีศีล ๕ เป็นต้น เหตุปัจจัยที่ทำให้น้อมเข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม เพราะว่าเราสร้างเหตุในอดีตไว้จึงทำให้ส่งผลเข้ามาสู่สภาวะมาสู่สภาพแวดล้อมเช่นนี้ เหตุปัจจัยส่งมา เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ความหลงนี้ พุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าตรงหนึ่งที่บอกว่า “ทิฏฐิ จ อุชุกา” ความเห็นที่ถูกต้อง พิจารณาถึงอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้วก็กรรมที่ปรากฏในปัจจุบันแล้ว จึงสามารถรู้เห็นปัจจัยในอดีตเหล่านั้นได้
อวิชชามี ๒ ประเภท ในนี้ท่านก็ขยายไว้ ๒ แต่อวิชชาในอนุสัยท่านก็แยกละเอียดออกไปเป็น ๘ แต่ตรงนี้มี ๒ คือ อัปปฏิปัตติอวิชชา คือ ไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติ ความไม่รู้ในทุกข์ ไม่รู้ในรูปในนาม แล้วก็คิดว่ามันเป็นของเที่ยง ทุกข์เป็นของดี ไม่เข้าใจในเหตุให้เกิดทุกข์ว่ามันคือตัณหา ปรารถนาสิ่งเหล่านั้นร่ำไป เพราะไม่ปฏิบัติจึงไม่รู้นะ แค่อ่านมันไม่รู้หรอก ลองดูสิ เราเรียนพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ประถม ก็อ่านอยู่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็ท่อง แต่มันเป็นอย่างไร? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะเราไม่ได้เข้าถึง ไม่ได้เห็นแจ้งด้วยตาปัญญา เพียงแค่อ่าน เพียงแค่เห็นจากตาเนื้อ มันก็สักแต่ว่าเห็นแค่นั้นแหละ สักแต่ว่าอ่านแค่นั้น มันไม่ได้เข้ามาสู่ใจจริงๆ ด้วยการเจริญปัญญา ด้วยญาณจักษุ ด้วยตาปัญญา ด้วยปัญญาจักษุ เพราะฉะนั้น จึงเหมือนเดิม เรียนเท่าไหร่ก็เหมือนเดิม อ่านเท่าไหร่ก็เหมือนเดิม เพราะว่าไม่ได้พิจารณาจริงๆ ด้วยสติ ด้วยสมาธิ
อวิชชาประเภทที่ ๒ คือ มิจฉาปฏิปัตติอวิชชา ไม่รู้เพราะปฏิบัติผิด ปฏิบัติจริงแต่ว่าปฏิบัติผิดทาง ปฏิบัติในทางหลงงมงาย ขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างไรก็ไม่มีทางรู้หรอก หลงไปใหญ่ ก็จะเข้าใจเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ อวิชชาทั้งสองประเภทนี้หยั่งลึกอยู่ในจิตของปุถุชนทั่วไป แม้การศึกษาหลักธรรม เรียนพระไตรปิฎกก็ไม่อาจขจัดความโง่เหล่านี้ออกไปได้ คนทั่วไปจึงขวนขวายให้ตนนี้อยู่ดีมีสุข ต้องการสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดีอยู่ร่ำไป อีกทั้งยังพากเพียรเพื่อให้กายให้ใจของตนเป็นสุขมากขึ้นๆ สารพัด เพราะตามตัณหาไม่ทัน ตัณหามันอยากให้ได้ อยากให้ดี อยากมี อยากเป็น อะไรก็ตามมันไป เพราะตามมันไม่ทัน เพราะปัญญาจากการอ่าน ปัญญาจากการคิด มันช่วยไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาจากภาวนาเท่านั้น
ดังนั้นแล้ว บุคคลเหล่านี้จึงสำคัญผิดว่า ผู้ที่ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว คงจะไม่รู้สึกหรือว่ารับรู้อะไรได้ คงไม่พบเจอกับใครได้ จึงทำให้กลัวการบรรลุพระนิพพาน กลัวจะไม่เจอหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง กลัวจะไม่ได้เจอคนรัก สงสาร สงสารวัฏสงสาร สงสารความทุกข์ของตัวเอง ก็ด้วยอวิชชานี้แหละ อีกทั้งยังตำหนิว่า พระนิพพานนี้ มันเป็นการตายที่ไม่มีความสุข ตำหนิคนที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานว่า ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ เปล่าประโยชน์ ไปเดินหาอะไร ไปนั่งหาอะไร เดินกลับไปกลับมา ไปนั่งหลับตาเฉยๆ ได้อะไร เข้าใจผิดไปเยอะ กลัวว่านิพพานจะไม่ได้เจอใคร กลัวนิพพานจะไม่ได้รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ แบบนี้ อะไรล่ะทำให้คิดแบบนี้? อวิชชาก็คือความโง่นี่แหละ โง่ที่มันฝังลึกมาในกมลสันดานที่มันสะสมมาทุกภพทุกชาติ นอกจากนั้น คนทั่วไปย่อมเพลิดเพลินยินดีอยู่ในรูป นาม แล้วก็ภพชาติ โดยสำคัญผิดว่า เป็นสิ่งที่ดีงาม มันเป็นตัณหา ย่อมยึดมั่นเพื่อให้มีความสุข ตราบเท่าที่ยังหลงเพลิดเพลินยินดี หลงในที่นี้ นันทิอย่างนี้ ก็คืออุปาทาน แล้วก็ย่อมทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ตนยึดมั่นนั้น ยิงๆ ขึ้นไป เมื่อทำแล้ว มันก็เลยเป็นกรรม ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ต้องให้รู้ว่า ตัณหา อุปาทาน แล้วกรรมในปัจจุบันขณะ ก็รู้เห็นได้โดยประจักษ์ เขาจะได้เห็นโดยประจักษ์ว่ารูปนามในภพนี้เกิดจากกรรมดีในภพก่อน แล้วก็จะรู้ได้ว่า รูปนามเหล่านี้ มันยังมาจากอวิชชา ความโง่ ตัณหา ความอยาก อุปาทาน แล้วก็ยึดไว้ เมื่อมีเช่นนี้ มันก็เลยทำให้เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นกิเลสกรรมวิบาก มันก็เลยวนอยู่ในสังสารวัฏ โงหัวไม่ขึ้น ผู้ที่ปฏิบัติจนสามารถล่วงพ้นความสงสัยเหล่านี้ ที่ว่าถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งการก้าวล่วงความสงสัย หรือว่าปัจจยปริคหญาณ ญาณปัญญาที่สามารถกำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปกับนาม ของกายกับใจนี้ย่อมพ้นจากความสงสัย ๘ ประการคือ ๑ ความสงสัยในพระพุทธเจ้า ไม่มีแล้ว ไม่มีอีกต่อไปความคิดแบบนี้ ๒ ความสงสัยในพระธรรม ความสงสัยในพระสงฆ์ ความสงสัยในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความสงสัยในอดีตชาติ ความสงสัยในอนาคต ความสงสัยในปัจจุบัน และก็ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกันไม่ขาดสายที่ทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อเรารู้เหตุ รู้ปัจจัย รู้ว่ามันทำงานต่อเนื่องกันเช่นนี้ สิ่งนี้มี สิ่งนี้มันจึงมี เมื่อรู้เช่นนี้จึงทำให้ความสงสัยเหล่านี้หมดไป เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยมากขึ้น เลื่อมใสจริงๆ ด้วย ไม่สงสัยในศีล สมาธิ ปัญญา ชาตินี้ชาติหน้าชาติปัจจุบันก็ไม่สงสัย แล้วที่สำคัญคือ ไม่สงสัยในปฏิจจสมุปบาท สรุปความว่า แม้จะมีความสงสัยอเนกประการก็ตาม แต่เมื่อถึงกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว เห็นแจ้งในญาณตรงนี้ ก็จะพ้นจากความสงสัย คือสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วก็สงสัยในปัจจัยในเหตุเกิดขึ้นแห่งรูปกับนาม ผู้ที่ข้ามพ้นความสงสัย คือได้ปฏิบัติจนได้แจ้งกังขาวิตรณวิสุทธินี้ ผู้นั้นจะได้ความเบาใจ ได้ที่พึ่งที่อาศัยในพระพุทธศาสนา มีคติอันเที่ยง ชื่อว่า จูฬโสดาบัน เพราะว่าโสดาบันจริงๆ ท่านจะกำจัดความสงสัยได้ทั้งหมด คือตัววิจิกิจฉา แต่ว่าพอญาณปัญญาตรงนี้เกิดขึ้น วิสุทธิตรงนี้มันบริสุทธิ์ ความหมดจดจากการล่วงความสงสัยเกิดขึ้นนี้ ปิดอบายภูมิได้ชาติหนึ่ง คติเที่ยงแท้ว่าไปสู่สุคติแน่นอน เลื่อมใสศรัทธามั่นคงในพระศาสนามากขึ้น ท่านจึงเรียกว่า จูฬโสดาบัน จูฬะหรือจุลละ แปลว่าน้อยๆ little, little จุฬะ หรือคำว่าจูฬะ จูฬโสดาบันก็คือว่า เป็นเบื้องต้นแห่งความเป็นโสดาบันเต็มๆ
ในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า “อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏโฐ นิยตคติโก จูฬโสตาปนฺโน นาม โหติ” ผู้ที่เจริญวิปัสสนา เพียบพร้อมด้วยญาณนี้ ด้วยปัญญาอย่างนี้ ย่อมได้รับความเบาใจ “ลทฺธสฺสาโส” แล้วก็ได้ที่พึ่ง “ลทฺธปติฏโฐ” ในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงชื่อว่า “จูฬโสตาปนฺโนนาม” จึงชื่อว่าจูฬโสดาบัน “นิยตคติโก” มีคติที่เที่ยงแท้ ก็คือว่าจะไปสุคติภูมิแน่นอน ปิดอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ในชาติหน้า แต่ชาติต่อไปไม่รู้ ก็ต้องดูเหตุปัจจัยอีกว่า จะไปต่อยอดไหม หรือว่าจะไปตัดยอด ด้วยการทำตามใจตามอารมณ์ ตามความรู้สึกต่อไป ความเบาใจอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา คือ ตัวผลเป็นพระอริยผล ส่วนที่พึ่งอย่างแท้จริงคืออริยมรรค แม้ผู้ปฏิบัติธรรมในระดับนี้จะยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ก็ยังเป็นผู้ดำรงอยู่ในปฏิปทาที่จะทำให้บรรลุมรรคผลอย่างแน่นอน จึงกล่าวได้ว่า เป็นผู้ได้รับความเบาใจ แล้วก็ได้รับที่พึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่กำหนดรู้รูปนามตามความเป็นจริง รู้ด้วยญาณแรก นามรูปปริจเฉทญาณ แยกกาย แยกใจ แล้วก็เกิดความปีติปราโมทย์จึงได้ความเบาใจ ส่วนผู้ที่กำหนดรู้เหตุเกิดของรูปกับนาม ของกายกับใจนี้ที่เป็นปัจยปริคหญาณย่อมขจัดความเห็นผิดว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีผู้เนรมิตหรือว่าสัตว์เหล่านั้นเกิดได้เอง หรือว่าพระเจ้าสร้าง หรือว่าพรหมลิขิตเหล่านี้ ความคิดเหล่านี้จะหมดสิ้นไปเป็นต้น เขาย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธาที่มั่นคง ไม่เสื่อมไปด้วยสัมมาทิฏฐิ จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ได้รับที่พึ่ง ดังที่อธิบาย ท่านอธิบายต่อว่า ผู้เจริญวิปัสสนาที่ไม่เสื่อมไปจากกังขาวิตรณวิสุทธินี้ แม้จะไม่ได้แทงตลอด คือยังไม่ได้เห็นแจ้งในมรรคผลเบื้องสูง แต่ก็มีสุคติภูมิเป็นเบื้องหน้า เพราะถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอันสมบูรณ์ฝ่ายโลกียะ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นผู้ที่จะไปเกิดในสุคติภูมิแน่นอน ดังนั้น จึงชื่อว่า จูฬโสดาบัน ตรงที่ว่าไม่เสื่อม ตรงนี้คือว่า ปราศจากความเห็นผิดชั่วครู่ เห็นผิดว่ามีตัวมีตน ความลังเลสงสัยหมดสิ้นไปที่อยู่ในระดับกังขาวิตรณวิสุทธินี้ จึงเรียกว่าจะไปเกิดในสุคติแน่นอน แต่ความหมดจดนี้ยังเป็นโลกิยะนะ ยังไม่แน่นอน ยังขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพจิต ถ้าไปเจอของล่อแหลม ไปเจอของล่อลวง หลงไปอีก ญาณก็ตก เหมือนสมาธิมันก็เสื่อมได้ ญาณปัญญาเหล่านี้ ถ้าตราบใดยังเป็นโลกิยญาณ ก็ต้องขึ้นๆ ลงๆ อยู่ที่การปฏิบัติ เหมือนตอนนี้มาอยู่วัด ทำไมสติสมาธิดีเหลือเกิน ทำไมออกไปข้างนอก มันเสื่อมอีกแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เพราะมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วตรงที่ว่า ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา บริบูรณ์ หมายความว่า บุคคลนั้นจะไปเกิดสุคติภูมิได้แน่นอน เพราะในขณะปฏิบัติ ขณะที่รู้เห็นอย่างนี้ มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ทำให้มีความเพียรในการรักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา แต่ถ้าเขาหยุด หยุดการเจริญวิปัสสนา ตามใจตามอารมณ์ไป ก็เสื่อมจากศีล สมาธิ และปัญญา แล้วก็จะไม่ใช่ผู้ที่จะไปเกิดในสุคติแน่นอน จูฬโสดาบันหายวับไปเลย เพราะมันเสื่อมลงแล้ว
ดังนั้น ผู้ที่จะบริบูรณ์ด้วยวิสุทธินี้ คือแสดงว่า อยู่ในระหว่างที่สติ สมาธิ สมบูรณ์ อยู่ในช่วงที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติการปฏิบัติธรรมนี้ไม่ใช่อยู่วัดนะ อยู่ไหนๆ เราก็ทำได้ สามารถไปต่อยอด สามารถไปทำให้ได้ตลอด อารมณ์กรรมฐานต้องรักษาไว้ เหมือนเรากินข้าว เราก็ต้องกินทุกวัน รักษาอารมณ์กรรมฐานก็เหมือนให้อาหารใจ ต้องให้ทุกวัน ไม่อย่างนั้นมันก็เหี่ยวแห้งฝ่อไปในที่สุด เมื่อรักษาระดับได้เช่นนี้ มันก็จะทำให้ต่อยอดพัฒนาได้ขึ้นไปๆ ผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรประมาทว่า โอ เราเป็นจูฬโสดาบันแล้ว ไม่ต้องตกนรกอีกแล้ว พอแล้ว ความคิดแบบนี้แหละ มันจะทำให้หลงระเริง ประมาทพลาดพลั้ง สุดท้ายก็ปิดอบายภูมิไม่ได้ เพราะตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก มีหลักฐานในพระบาลีท่านก็แสดงว่า แม้พระโพธิสัตว์ ในอดีตชาติของท่านนี้ พระโพธิสัตว์คือพระพุทธเจ้าเรานี้ จะได้บรรลุถึงสังขารุเปกขาญาณที่สูงกว่ากังขาวิตรณวิสุทธิ แต่ยังเป็นโลกิยะญาณ อย่างไรก็ไม่ได้หลุดพ้นจากอบายภูมิได้ บางทีท่านก็ไปเกิดเป็นสัตว์ บางทีท่านก็ไปเกิดเป็นพญานาค เหล่านี้เป็นต้น สำหรับคนทั่วไปนี้ที่มีศรัทธาความเพียรไม่มั่นคง อีกทั้งบรรลุเพียงกังขาวิตรณวิสุทธิ ล่วงพ้นความสงสัยดังที่ว่ามานี้ คงเป็นไปไม่ได้ว่าจะไปเกิดในสุคติภูมิอย่างเดียวแน่นอน ผู้ที่ต้องการพ้นไปจากอบายมุขโดยเด็ดขาด จึงต้องควรพากเพียรปฏิบัติเพื่อละสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่า มีตัวมีตนด้วยโสดาปัตติมรรค คือโสดาบันจริงๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ ฑยฺหมาเนว มตฺถเก สกฺกายทิฏฺฐิปฺปหานาย สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเชติ ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร พึงเจริญสติอยู่ เพื่อกำจัดสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่า เป็นตัวกู ของกู เหมือนคนที่กำลังถูกหอกแทงอยู่ที่อก หรือถูกไฟเผา” ฉะนั้น อุปมาตรงนี้ก็เหมือนกับว่า คนที่กำลังถูกหอกพุ่งปักลงมาที่อกเลยนี้ สิ่งแรกที่เขาควรทำก็คือ ต้องรีบดึงมันออก รักษาแผล แต่คนที่มีปัญญาน้อย เขาก็จะบอกว่า เดี๋ยวๆ อย่าเพิ่งเอามันออกนะ ไปถามก่อนว่าใครยิง ยิงทำไม ทำไมต้องยิง หอกมียาพิษไหม ทำไม ทำไม มัวแต่ทำไม สุดท้ายตายคาที่ เพราะว่ามัวแต่ทำไม ทำไม ไม่รู้ว่าสิ่งที่รีบทำก็คือ ต้องรีบถอนหอกออกจากอก เหมือนกับคนที่ถูกไฟไหม้บนหัว ไฟไหม้ผมอยู่นี้ สิ่งที่รีบทำที่สุดก็คือ ต้องเอาไฟดับให้ได้ แต่คนปัญญาน้อยก็จะบอกว่า อย่าเพิ่งดับนะ ไปหาเหตุก่อนว่า ใครมาเผาหัวตัวเอง ทำไมไฟลุกอย่างนี้ ใครมาจุด มาจุดทำไม ทำไมต้องทำแบบนี้ แบบนี้ สุดท้ายถูกไฟคลอกตาย ดังนั้น สิ่งแรกนะ ถ้ายังมีตัวกู ของกู ยังมีตัว มีตน อยู่นี้ อย่างไรก็ไม่พ้นไปจากไฟนรก ยังไม่พ้นไปจากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ยังไม่พ้นไปจากเปรต อสุรกาย สิ่งที่ควรเร่งรีบทำก็คือ กำจัดตัวกูของกู สักกายทิฏฐิให้ออกไปให้ได้ จึงจะเหมือนกับผู้ฉลาดที่ถูกหอกปักอยู่ตลอดเวลา ถูกไฟคลอกศีรษะอยู่ตลอดเวลา เราก็อยู่ในสภาพนั้น ถูกหอก คือ ราคะ โทสะ โมหะ ปักอกอยู่ ถูกไฟ คือราคะ ที่มันเป็นไฟเย็นอาบอยู่ทั่วใจ ถูกไฟโทสะเผาอยู่ทุกวัน ถูกไฟโมหะ ไฟความโง่ ความหลง เผาอยู่ทุกวัน เราจึงต้องรีบดับไฟ ต้องรีบถอนมันออก ก่อนที่ตัวจะตาย
จิตใจของเรา สองคำนี้ ก็ถือว่าเป็นอันเดียวกันได้ เพราะว่าใจที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นใจที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ เป็นใจที่มีอวิชชาเป็นพื้นฐาน แต่ใจที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ก็เป็นใจที่บริสุทธิ์ที่ประกอบด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าถึงต้องให้เราพัฒนาจิตใจ จิตใจของเราต้องมีปัญญา ปกติแล้ว เราเจอผัสสะที่มากระทบ อายตนะภายนอก ภายในอย่างนี้ มันก็จะไปตามสัญชาตญาณ เราทุกคนต้องมาพัฒนาใจของตัวเองในปัจจุบัน ปกติแล้ว ความเคยชินอย่างนี้ ความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ ทรงไว้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ทรงไว้ซึ่งความหลง เพราะมันเป็นอย่างนั้น เราถึงต้องมาเจริญภาวนา ให้ใจของเราเกิดปัญญา ให้ใจของเราเข้าสู่ปัญญา สู่วิปัสสนา เพราะว่าคนเราจะก้าวหน้าได้ ก็ต้องภาวนาให้เกิดปัญญา เราเอาสิ่งที่เรารับรู้ในปัจจุบันนี้น้อมเข้าสู่ไตรลักษณ์ เมื่อตาเห็นรูปอย่างนี้ มันก็ไม่อยากพิจารณาเข้าสู่พระไตรลักษณ์ มันมักจะปรุงแต่ง ชอบไม่ชอบ เราต้องมาเข้าสู่ไตรลักษณ์ เข้าสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะยินดีเพลิดเพลิน ย้อมจิตย้อมใจ ปัจจุบันเราถึงเอาใจของเรามาทำงาน เป็นการทำงานทางจิตทางใจในปัจจุบัน เรามีตาก็เพื่อฉลาด มีหูเพื่อฉลาด มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจก็เพื่อฉลาด เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์อะไร เพราะร่างกายนี้ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปีทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป การทำความเพียรของเรา การปฏิบัติธรรมของเรา อย่างพระนะ พระพุทธเจ้าถึงให้มีศีลมากมายจนนับไม่ไหว จึงได้แยกย่อยเป็นสิกขาบทต่างๆ เพื่อจะให้รู้แง่มุมในสิ่งต่างๆ ว่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้น ทุกอย่างมันตั้งอยู่ ทุกอย่างมันดับไป ถ้าเราตามไปก็ถือว่าไปตามสัญชาตญาณแล้ว เรามาภาวนาเพื่อตัดภพตัดชาติ อย่างประชาชนอย่างนี้ก็ให้เอาศีล ๕ เป็นหลัก เน้นที่เจตนาทุกคน มันอยู่ที่เจตนา เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยเจตนา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ไม่ได้ปฏิบัติเลย ปล่อยเวลาของเราให้เพลิดเพลินให้ลุ่มหลงไป อะไรเป็นความเนิ่นช้า นั่นคือความเพลิดเพลินคือความประมาท เราจะไปประมาทอยู่ไม่ได้ เราต้อง fighting กับตัวเอง เพราะชีวิตเราเป็นชีวิตที่ประเสริฐมาก เราทำอย่างนี้แหละ ทุกคนก็จะได้ดีหมดทุกคน เราทำอย่างนี้มันก็ไปเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน มันจะฉลาดเร็วเพราะเป็นปัจจุบัน นี่เราเล่นไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ มันจะบรรลุธรรมได้อย่างไรเพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ
คนเราทุกคนต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ประชาชนกับพระก็มีสิทธิ์ประพฤติปฏิบัติทางจิตใจได้พอๆ กัน เราจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าท่านไม่ท้อแท้ บำเพ็ญพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ เพราะท่านมีความสุขในการที่จะพัฒนาใจ พัฒนาพระนิพพาน อย่างการเรียนหนังสือทุกวัน ทำไมมันเครียดแท้ เพราะเราน่ะ ปัญญาของเราไม่บริสุทธิ์ เราจะเรียนเพื่อจะเอามาทำมาหากิน เอามาเพื่อทำงาน เรียนเพื่อจะเอาใบประกาศ แม้แต่เรียนธรรมะก็เครียด เพราะว่าเรียนเพื่อตัวเพื่อตน การเจริญปัญญาอย่างนั้น มันเป็นปัญญาที่ทำร้ายตัวเอง เพราะเราดูแล้ว เพราะคนเราปัญญาจะเกิดขึ้นได้มันต้องเรียน ต้องศึกษาต้องปฏิบัติ ปัญญามันต้องไม่มีตัวไม่มีตน มันถึงจะไม่เครียด มันถึงจะเป็นปัญญาแบบหัวใจติดแอร์คอนดิชั่น แต่เพราะเป็นมิจฉาทิฐิ นึกว่าการเรียนเพื่อศึกษา เพื่อเอายศ เอาตำแหน่ง เอาเจ้าอาวาส เอาพระครู เอาเจ้าคณะ เอาปริญญา เอาใบประกาศต่างๆ เพราะเราเน้นเพื่อความยึดมั่นถือมั่น เพื่อความเห็นแก่ตัว มันเป็นความเห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ความเครียดมันถึงเกิดมา ความเครียดมันทำให้แย่เลย ทำให้คนเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งทางร่างกายก็มาจากความเครียด มาจากอาหาร มาจากอากาศ ที่สำคัญมาจากจิตใจนี่แหละ
มนุษย์เราต้องเจริญปัญญา แต่ปัญญาต้องเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เราจะพัฒนาตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อจะเสียสละ คนเรามันเห็นแก่ตัว เพื่อผู้อื่นอย่างนี้ มันไม่อยากทำอย่างนี้นะ ทุกคนก็จะทำเพื่อตัวเอง เพื่อพ่อเพื่อแม่ เพื่อครอบครัว เพื่อพรรคพวก มันไม่เครียดมันจะอยู่ได้อย่างไร เพราะว่าเป็นมิจฉาทิฐิ เราเสียสละ เราก็ได้บ้าน ได้รถ ลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะบุคคลที่ควรเคารพกราบไหว้ก็คือผู้ที่เสียสละ ผู้มีศีล มีศิลปะในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ที่ละความเห็นแก่ตัว มีความตั้งมั่นในความดี เพราะอันนี้มันเข้าใจผิดกันมาก เรียกว่าการศึกษามันเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง เพราะเราเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะทำความดีก็เพื่อความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ความดี ไม่ใช่ความดีที่บริสุทธิ์ มีตัวมีตนแอบแฝง
ให้ทุกคนทั้งผู้ที่แก่เรียนและผู้ที่ไม่แก่เรียนพากันเข้าใจ เพราะพระพุทธศาสนาคือพุทธะ ก้าวไปไกลกว่านั้น ก้าวไปไกลกว่าคลื่น 4G 5G 10G 100 G แล้ว ในการทำธุรกิจหน้าที่การงาน เราก็จะรู้แจ้งทีละอย่างไปเลย เป็นคนที่รู้เหตุรู้ผลอย่างนี้ เก่งในปัจจุบัน บางทีรู้แต่เก่งข้างนอก แต่ว่าปัจจุบันไม่ได้เป็นปัจจุบันธรรม ยังเอาปัญญาไปใช้ในทางสวรรค์ ในทางมนุษย์ ในทางทำมาหากิน ยังเป็นปัญญาโลกีย์อยู่ อย่างบางคนก็คิดเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ ย้อนไปได้หลายร้อยปี หลายพันปี เป็นหมื่นปี คิดได้ในการตรวจสอบวัตถุ ย้อนยุค บางคนก็คำนวณไว้ข้างหน้าว่า ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ปัญญานั้นจะเก่งขนาดไหนมันก็ยังเป็นโลกิยะปัญญา ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกุตระ คือ หลุดพ้นจากโลก จากวัฏสงสาร ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นความบริสุทธิ์ เราต้องเอาปัญญานั้นมาย่อย มาปฏิบัติให้เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ เพราะว่าทิฏฐินี้ ถ้าเป็นปุถุชนก็มีทิฐิเหมือนกัน พระอริยเจ้าก็มีทิฏฐิเหมือนกัน แต่ว่าพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฏฐิบริบูรณ์ ปุถุชนก็มีทิฐิเหมือนกัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
การที่เราพัฒนาเทคโนโลยีอะไรๆ นี้ มันก็เป็นปัญญาเพื่อวัตถุ ถ้าเราเอาปัญญานั้นมาพัฒนาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญานั้นก็ถือว่าใช้ได้ เพราะว่ามีรถ มีเรือ มีเครื่องบิน มีคอมพิวเตอร์ อย่างนี้มันดีอยู่แล้ว มันสะดวกอยู่แล้ว ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่เหนือวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่เสมอ ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์ เพื่อจะได้ให้ปัญญาสัมมาทิฏฐิได้ตั้งอยู่ได้นาน ยุคพระศรีอาริย์จะตั้งได้นานถึง ๘ หมื่นปี ศาสนาของพระโคดมเรานี้ตั้งอยู่ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี การพัฒนาของปัญญานี้ ถ้าเราปัญญาไม่มี มันก็จะเอาวัตถุกับจิตใจมาใช้ด้วยกันไม่ได้ เหมือนพระเจ้า พระสงฆ์ที่มีความเป็นอยู่ทุกวันนี้ การพัฒนาใจมันไม่ได้ก้าวหน้าเท่าทันวัตถุ ทำให้ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นคนที่ไม่ทันสมัย ไม่ทันสมัยก็คือว่า หลงนั่นแหละ หลงทางนั่นแหละ ไม่ได้พัฒนาจิตใจให้ทันโลก ไปหลงเอาความร่ำรวย ไปหลงในลาภ ยศ ตำแหน่ง สรรเสริญ ไปหลงเอาสวรรค์เป็นที่ตั้ง ถ้าเราไม่พัฒนาอย่างนี้ คือไม่พัฒนาใจกับกาย พัฒนาภายนอกภายในไปพร้อมๆ กัน เราก็แย่เลย เราไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารอร่อยที่แท้จริง ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งรถ ได้นั่งเครื่องบินที่ประกอบด้วยปัญญาเลย เพราะปัญญาที่แท้นี้ มันมีน้อยมันมีไม่เพียงพอที่จะให้ปัญญาญาณเกิด ที่จะให้ความบริสุทธิ์เกิด เพราะในปัจจุบันนี้ เราไม่ได้เอาธรรมะกับวัตถุไปพร้อมๆ กัน เราจึงต้องมาพัฒนาปัญญาของเรานี้ให้บริสุทธิ์ ปริญญาภายนอกเราเรียนมาพอแล้ว เราต้องมาเรียนปริญญาของพระพุทธเจ้า ปริญญา ๓ ปริญญาที่เรียนรู้จัก เรียนเพื่อกำหนดรู้ พิจารณา แล้วก็เรียนเพื่อจะละ วิสุทธิจึงจะเป็นปัญญาบริสุทธิ์ตามลำดับไปๆ จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่าน ปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ