แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๗ จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิตเพื่อพระนิพพาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในวันนี้จะได้เป็นการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องของวิสุทธิ ๗ เป็นความหมดจด เป็นการชำระศีล ชำระจิต จนกระทั่งถึงชำระปัญญาให้หมดจดบริสุทธิ์ผุดผ่องใส เพื่อเป็นเครื่องถึงมรรคผลพระนิพพาน
การชำระจิตในเรื่องของจิตตวิสุทธิ เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง คนเราเรื่องการประพฤติปฏิบัตินี้สำคัญ เพราะการเรียนการศึกษานี้มันดี จะเป็นหนังสือธรรมะ จากพระไตรปิฎก จากครูบาอาจารย์ จากการฟัง เพื่อเป็นบารมีที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติ แต่เราต้องเอามาประพฤติปฏิบัติ ต้องมีเจตนา บางทีที่บวชหลายๆ พรรษา บวชเรียนสูงๆ บวชมาไม่ได้ปฏิบัติ บวชมาทำแต่ผิดศีล ผิดพระวินัย ใจเลยเป็นใจที่สกปรก เรียกว่า จิตสกปรก เอาความรู้ความเข้าใจไปใช้ในสิ่งสกปรก หาเงินหาสตางค์ หากาม สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ศาสนา เป็นอวิชชา เป็นความหลง ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เรียกว่าทำกิจไม่ถูก คือกิจที่ไม่ได้มุ่งมรรคผลพระนิพพาน อย่างเราเข้าห้องน้ำ ห้องสุขา เพื่อไปถ่ายของเสียออกจากร่างกายของเรา ที่ตาเราเห็นรูป หูเราฟังเสียง เราก็ต้องเสียสละไป มันถึงจะเกิดปัญญา เพื่อผัสสะ เมื่อผัสสะมันเกิดขึ้นมา ก็เพื่อให้เราเกิดปัญญา เราก็ต้องเสียสละ รู้ว่าอันไหนไม่ดี เราก็อย่าไปคิด อย่าไปทำอีก เราทำกิจในปัจจุบัน เราจะพูดจาปราศรัย ก็คือการทำกิจที่เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน มันจะเป็นสิ่งที่ระเบิดความเห็นแก่ตัว ระเบิดอัตตาตัวตนไปในตัว ไม่ว่าสิ่งที่ดี ไม่ดี เราก็ต้องระเบิดด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ให้เป็นศีล เป็นสมาธิ ปัญญา พากันไปให้สมบูรณ์ในปัจจุบัน เพราะการประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่ปัจจุบัน เราจะเข้าใจว่า การประพฤติปฏิบัตินี้ปฏิบัติอย่างไร? ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติเลย เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบัน ที่เกี่ยวกับใจ จิตใจของเราต้องรีบทำ รีบจัดการ ใจของเรารักใคร โกรธใคร ชอบใคร หลายปีก็ยังไม่ปล่อยไม่วาง มันจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมได้อย่างไร เพราะว่ามันผ่านไปหลายวัน หลายเดือน หลายปีแล้ว เรายังไม่เสียสละออกไปจากใจ เราจะไปอวด ไปคุยว่า เราปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่การปฏิบัติธรรม เพราะจิตมันเกิด-ดับในปัจจุบันนับไม่ถ้วน จิตมันทำงานสนั่นหวั่นไหวทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานสนั่นหวั่นไหว เราก็ต้องรู้จักจิต จิตที่มันเกี่ยวข้องอย่างนี้ เราต้องให้จิตของเรามีปัญญา เราต้องให้ปัญญาแก่จิตแก่ใจ เรียกว่าอาหารทางใจ จึงจะได้พัฒนาตัวเองไป มรรคเราจะได้สมบูรณ์ เราจะได้เข้าถึงความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ถ้าเราพัฒนาไปแบบนี้ เราจะไปมีโอกาสฟุ้งซ่านที่ไหน จะมีโอกาส line โทรศัพท์ที่ไหน เพราะงานของเราในปัจจุบันมันก็มีเยอะอยู่แล้ว ผู้ที่ยังเป็นเสขบุคคล บุคคลผู้ที่ยังต้องประพฤติปฏิบัติ มันงานเยอะอยู่แล้วมันจะมีงานที่ไหนไป line โทรศัพท์เล่น ไปฟังเพลงเล่น ไปนินทาชาวบ้านเล่น เป็นบาปเป็นกรรม
การปฏิบัติของเรานี้ยิ่งปฏิบัติ ก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งปฏิบัติ ก็ยิ่งใจสงบ ใจเย็น เหมือนน้ำลึก น้ำลึกตั้งหลายโยชน์ ถึงแม้เราดูแล้วมันจะไหลช้า แต่มันลึก เขาเรียกว่า ปัญญากับสมาธิมันจะไปด้วยกัน น้ำสุดลูกหูลูกตามันลึกหลายพันเมตร มันไหลโดยที่เราไม่รู้จักว่ามันไหล เราต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา ใจผู้ปฏิบัติถึงจะสงบเย็น ยิ่งเป็นพระอริยเจ้าระดับกลาง ระดับสูง ก็ยิ่งสงบเย็น เย็นในที่นี้ไม่ใช่น้ำแข็ง เขาเรียกว่าอวิชชามันเผาเรา มันไม่มีกำลัง มันหมดกำลัง มันก็จะสงบเย็น เขาเรียกว่าบริสุทธิ์ทางจิตใจ ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร แก้ไขที่ปัจจุบันนี้ ที่กายที่ใจของเรานี้ ต้องชำระให้บริสุทธิ์หมดจด สะอาด เป็นวิสุทธิ วิสุทธิข้อที่ ๒ คือจิตตวิสุทธิ หมายถึง จิตที่มีความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส จิตตวิสุทธิ ว่าโดยเนื้อความก็ได้แก่ สมาธิวิสุทธินั่นเอง สมาธิวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ หรือว่าสมาธิวิสุทธิ ต้องเป็นไปเพื่ออานิสงส์ที่เป็นปัจจัยแก่การพ้นทุกข์เท่านั้น เป็นไปเพื่อมรรคผลพระนิพพานเท่านั้น สมาธินี้จึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์ ถ้าทำสมาธิเพื่อจะได้มีความสุขต้องการให้จิตสงบ ความเข้าใจเช่นนี้ สมาธินั้นก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะไม่ได้มีเจตนาที่ความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน หน้าที่ของสมาธิในสติปัฏฐานนั้นก็คือ การทำลายอภิชฌา และโทมนัส อภิชฌาโทมนัสก็คือ ความยินดียินร้ายที่มันอยู่ในจิตใจ หรือว่าเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องสัมผัส จิตคิดนึกอารมณ์นี้ มีผัสสะเข้ามา ยินดียินร้าย ซึ่งศีลไม่สามารถทำลายความรู้สึกนึกคิดได้ ศีลมันเพียงแต่กันไม่ให้แสดงออกทางกาย ทางวาจาเท่านั้น แต่ว่าใจนี้ มันยังคุกรุ่นไปด้วยอารมณ์เหล่านี้ จะโลภก็ยังมี จะโกรธใครก็ยังเก็บ ผูกพยาบาท ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ละ ไม่วาง เพราะว่าไม่ได้ฝึกสมาธิให้เกิดขึ้น นิวรณ์ธรรมเกิดขึ้นในระดับจิตใจ ขณะที่นึกคิดถึงเรื่องราวที่เป็นอดีตหรืออนาคต ถ้าขณะใดจิตตั้งมั่นในอารมณ์ปัจจุบันเป็นสมาธิแล้ว นิวรณ์ คือความชอบใคร ไม่ชอบใคร ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แม้กระทั่งความง่วงเหงาหาวนอนมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
สมาธิมี ๓ ประเภท เป็นสมาธิที่เข้าถึงระดับจิตตวิสุทธิมี ๓ ประเภทด้วยกันคือ ประเภทแรก ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิที่ใช้ในการเจริญวิปัสสนา เป็นความตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะ เมื่อจิตจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับอารมณ์ของกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลมหายใจ หายใจเข้า ลมหายใจออก รู้อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ก็คือ อารมณ์ที่มันเป็นของจริงๆ เป็นของแท้ๆ ไม่มีสมมุติ ไม่มีสมมุติว่าเราหายใจ ลมหายใจของเรา มีแต่เพียงลม มีแต่เพียงอาการ อารมณ์ปัจจุบันที่เป็นรูปนาม อย่างต่อเนื่องปราศจากนิวรณ์ ในขณะที่อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีกำลังเสมอกันแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา แบบนี้แหละ จึงเป็นขณิกสมาธิ
อย่างที่สอง อุปจารสมาธิ สมาธิใกล้ฌาน สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่นเป็นสมาธิที่อยู่ในขั้นมหากุศล แต่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ อุคคหนิมิตก็คือ นิมิตที่ยึดถือเอา เช่น ลมหายใจ หรือว่ามีอารมณ์กรรมฐานต่างๆ เช่นว่า พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พิจารณาอสุภะ เหล่านี้เป็นต้น นิวรณ์ต่างๆ นิวรณ์ที่มันเป็นเครื่องกั้นไม่ให้เกิดสมาธิ ไม่ให้เกิดปัญญา พวกกามฉันทะ พยาบาท ความยินดีพอใจเรื่องของกาม ความพยาบาทขุ่นเคือง ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความง่วงเหงาหาวนอน มันก็จะสงบเงียบลง เพราะมีกำลังสมาธิเข้ามาแทนที่ อุปจารสมาธิที่มันเป็นสมาธิที่อยู่ในระดับกามาวจร คืออยู่ในระดับของกามภูมินี้จะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียงที่เกิดขึ้น ในขณะที่จิตปราศจากนิวรณ์แล้ว หรือสามารถรับรู้พุทธคุณ เป็นต้น ได้อย่างชัดเจน ก็หมายถึงว่า เป็นสมาธิในกสิณ ๑๐ เป็นสมาธิที่เกิดจากการพิจารณาอสุภะ ๑๐ เป็นสมาธิที่เกิดจากการพิจารณาอาการ ๓๒ คือกายคตาสติ สมาธิเกิดจากอาณาปานสติ แม้กระทั่งการเจริญพรหมวิหาร ๔ เจริญเมตตา เป็นต้น รูปกรรมฐาน ๔ เป็นต้นเหล่านี้ เป็นสมาธิที่ใกล้องค์ฌาน
สมาธิอย่างที่ ๓ คือ อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นสมาธิที่อยู่ในขั้นมหัคคตกุศลจิต จิตที่เปี่ยมด้วยกุศลที่มีกำลังอย่างยิ่งใหญ่ แล้วก็นิวรณ์ต่างๆ นี้จะถูกละไปเป็นวิกขัมภนปหาน ด้วยการกดข่ม จะไม่ฟูขึ้น องค์ฌานทั้งหลายเกิดขึ้นจะมีกำลัง เพราะองค์ฌานทั้งหลายเกิดมีกำลังนี้เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น สมาธิในระดับที่ ๓ นี้ที่เป็นอัปปนานี้ คือสมาธิในองค์ฌาน จนบางครั้งรู้สึกว่า ที่พราหมณ์เข้าใจกันว่าเป็นนิพพาน เพราะมันข่มกามราคะไว้ ข่มความโกรธเอาไว้ เหมือนกับหินทับหญ้า หญ้ามันไม่สามารถงอกเงยขึ้นได้ แต่รากมันยังอยู่ รากมันยังไม่ตาย เปรียบเหมือนกับกิเลสทั้งหลายนี้ ถูกกดข่มเอาไว้ด้วยกำลังของสมาธิ แต่ว่ารากเหง้าของมันคือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จนถึงอวิชชานี้ มันยังมีอยู่ เมื่อยกหินขึ้นเมื่อใด กิเลสมันก็ฟูขึ้นเมื่อนั้น
สมาธินั้นจะประณีตขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยลำดับสภาวะจิตที่มีกำลังสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌาน ลำดับของฌานนั้นก็มีหลายขั้น ยิ่งสูงขึ้นไป ซึ่งมันทำหน้าที่ แต่สมาธิมันก็ยังเป็นอยู่ในไตรลักษณ์ คือตรงที่ว่าเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ มันก็ต้องมีขึ้นๆ ลงๆ ถ้ายังเป็นโลกียสมาธิแล้ว ก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามกำลังจิตของอกุศลที่เข้ามาแทรก สมาธิทั้ง ๓ ขั้นนี้ คือ ขณิก อุปจารและอัปปนานี้ ขณิกสมาธิเป็นไปได้ทั่วไป ในอารมณ์ทั้ง ๖ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ย้ายอารมณ์ไปทวารต่างๆ ด้วยเหตุใดก็ตาม ขณิก
สมาธิจะติดตามไปด้วยเสมอคือ ในขณะที่ผู้มีสติจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับการทำหน้าที่ หรือการทำงานของกายของใจทุกๆ อิริยาบถ เวลาเห็นก็รู้ว่าเห็น ได้ยินก็รู้แต่ว่าได้ยิน เวลาเจ็บ เวลาปวด เวลาเป็นอะไร ก็รู้ตามนั้น ตอนนั้นแหละ ขณิกสมาธิมันก็เกิดขึ้น เวลาที่เราไปดูที่อื่น เช่น ตอนนี้ดูความปวด ตอนนี้ดูความฟุ้งซ่าน ตอนนี้ดูจิต ขณิกสมาธิมันก็จะติดตามไปเสมอ ขณิกสมาธิดังกล่าวนี้ จึงเป็นปัจจัย เป็นบาท เป็นฐาน แก่การเจริญวิปัสสนา เพราะการเปลี่ยนอารมณ์ที่เป็นไปตามเหตุผลนี่เอง ที่เป็นเหตุให้เห็นความเกิดขึ้น ความดับไปของอารมณ์ แล้วก็ของจิตได้ ถ้าหากไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์แล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจถึงสภาวะของความเกิด ความดับของจิตได้ ดังนั้น จึงต้องต่อยอด พระพุทธเจ้าจึงต้องต่อยอด ไม่ใช่ให้แช่นิ่งติดอยู่ในความสงบ ติดอยู่ในสมาธิ คือต้องพิจารณาให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะสมาธิจะมีกำลังมากแค่ไหน อย่างไรก็ต้องมีเข้า มีออก มีเกิด มีดับ ทุกๆ สภาวะไป ความเกิดของจิตนี้ ในอารมณ์หนึ่งๆ นั้นรวดเร็วมาก จนไม่ทันเห็นความดับของจิตได้ จึงคิดว่า อารมณ์มีอยู่ ดังนั้น สมาธิที่แน่วแน่ มันจึงไม่เป็นบาทแก่วิปัสสนา เพราะมันแนบแน่นเกินไป เพราะมันสูงเกินไป เพราะฉะนั้น เจริญวิปัสสนานี้ อัปปนาสมาธิ ถึงไม่ได้เป็นบาท เป็นฐานเท่าที่ควร นอกเสียจากว่า ผู้ที่ฌานสูงๆ แล้ว จะน้อมเข้ามาสู่วิปัสสนาเอง แล้วก็ไม่เป็นเหตุให้เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของจิตและอารมณ์
ความสามารถในการรู้ทุกข์ในจิตหรือในอารมณ์นั้นๆ ไม่อาจรู้ด้วยสมาธิ แต่จะรู้ได้ด้วยปัญญาเท่านั้น จิตที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน จึงเป็นฐานให้เห็นความเกิดขึ้น ความดับไปของอารมณ์ต่างๆ ได้ ผู้บำเพ็ญเพียร จะโดยสมถะ คือโดยสมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี สิ่งสำคัญนี้อยู่ที่อารมณ์ที่ใช้ในการพิจารณา ต้องศึกษาว่าอารมณ์อย่างไรอย่างไรนี้ จึงจะเป็นปัจจัยแก่วิปัสสนา อารมณ์อย่างไรเป็นปัจจัยแก่สมถะ สมาธิที่เป็นจิตตวิสุทธินี้ จะต้องเป็นไปในอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะจะทำลายกิเลส คือตัวอภิชชา โทมนัส คือความยินดี ยินร้าย ถ้าสมาธิไม่มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์แล้ว จะทำให้เกิดความสงบ มีความสุข มีความพอใจ ติดอยู่แต่ในความสงบ หรือความสุขนั้นๆ เพราะว่า สมาธิสุข ฌานสุขนี้ มันสูงกว่ากามสุขมาก ดังนั้นจึงแช่ จึงติดอยู่ ทั้งที่สมาธิสุข หรือฌานสุขก็ยังไม่ใช่ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงต้องต่อยอด จึงต้องต่อยอดไป ความพอใจในสมาธิ ว่ามันสงบเหลือเกิน มันนิ่งเหลือเกิน มีความสุขเหลือเกินนี้ มันก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่มันอาศัยสมาธิเกิดขึ้น สมาธิเช่นนี้จึงไม่สามารถทำลายอารมณ์วิปลาสได้ วิปลาสก็คือ ความเห็น เห็นว่ามันเที่ยง เห็นว่ามันสุข เห็นว่ามีตัวตนนี้ สมาธิไม่สามารถทำลายอารมณ์เหล่านี้ ต้องใช้แต่ปัญญา สำหรับการเจริญวิปัสสนาของผู้ที่ได้ฌาน มีวิธีทำอย่างไร? ที่เรามักจะได้ยินกันว่า ยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนา คือเอาฌานเป็นบาท พิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ แล้วมรรคผลก็เกิด เวลาที่แปล แปลหนังสือจะเจอคำเหล่านี้เยอะ นั่นหมายความว่า ในองค์ฌานนี้ จะมีองค์ประกอบเยอะ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกคือการตรึกในอารมณ์ การใส่ใจในอารมณ์ เมื่อแนบแน่นก็จะมีปีติ อิ่มอกอิ่มใจมากับสุข แล้วก็นิ่งเป็นอารมณ์เดียว ที่เป็นเอกัคคตา ผู้ที่ได้ฌานนี้ มักจะติดในสุข เพลิดเพลินในสุข ความสุขนี้เกิดจากปีติเป็นเหตุ ฉะนั้น การยกองค์ฌานนี้ จึงอาศัยการเพ่งปีติ ซึ่งเป็นองค์ฌาน แล้วก็เป็นนามธรรมนั่นเอง ธรรมชาติของปีตินั้น จะเพ่งหรือไม่เพ่ง ก็มีการเกิดดับ แม้จิตที่เป็นสมาธิก็มีการเกิดดับ ปีติซึ่งอาศัยจิตที่ได้ฌานแล้ว ยิ่งเกิดดับรวดเร็วมาก ปีตินั่นแหละ จะแสดงความเกิดดับให้ปรากฏแก่ผู้เพ่งพิจารณา เมื่อเห็นว่า ปีติมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตก็จะดำเนินไปในอารมณ์ของวิปัสสนา ด้วยอำนาจของการเพ่งลักษณะของปีติ แต่ว่าไม่ใช่เพ่งอารมณ์ของบัญญัติ อารมณ์กรรมฐานที่เป็นวิปัสสนาเข้าสู่ไตรลักษณ์ก็จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือพระวักกลิ พระวักกลิ ที่ท่านบวชมา เพราะว่าติดในรูปของพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า ก็เลยคิดว่า พระพุทธเจ้านี้งดงามเหลือเกิน งดงาม คือสมบูรณ์ด้วยลักษณะของมหาบุรุษ ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นพุทธลักษณะทุกวัน บวชดีกว่า ท่านก็เลยบวช บวชในที่นี้ เพราะว่าบวชด้วยความศรัทธา แบบติดในรูป พอเวลาจะไปไหน จะเดิน จะนั่งนี้ ก็จะไปอยู่แต่ในมุมที่สามารถมองเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกวันๆ พูดง่ายๆ คือ ไปแอบดู พระพุทธองค์ก็ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด แต่ยังไม่ได้ตักเตือนอะไร รอเหตุปัจจัย รอความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ จนกระทั่งอินทรีย์ของท่านจะเต็ม ก็คือบารมีแห่งมรรคผลจะเต็ม พระพุทธเจ้าก็เลยใช้ไม้แข็ง เลย ขับไล่วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ คือบวชมานี้ มีแต่มาดูรูปสวยๆ งามๆ มาแต่ดูของที่เป็นอาหารทางตาจะมีประโยชน์อะไร พระพุทธองค์ก็เลยขับไล่ให้หลีกออกไปเสีย เหมือนกับให้ออกไปจากวัดเลย พระวักกลิเสียอกเสียใจมากเลย เพราะว่าหลงพุทธเจ้า แล้วก็มาถูกขับไล่ด้วยถ้อยคำแรงๆ อย่างนี้ ก็คิดว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยชีวิต ตายดีกว่า ก็เลยขึ้นไปบนยอดเขา เพื่อที่จะดิ่งทิ้งตัวลงมาตาย จะเป็นเขาคิชฌกูฏ หรืออาจจะหุบเหวทิ้งโจรที่ราชคฤห์นั่นแหละ พระพุทธองค์ก็มาปรากฏตรงหน้า เป็นพุทธนิมิตรปรากฏตรงหน้าว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตรงนี้ ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ท่อนจบตรงนี้แหละ แล้วก็ปลอบโยนพระวักกลิ ปลอบโยนให้ท่านเบาใจ ตอนแรกใช้ไม้แข็ง ตอนนี้ใช้ไม้อ่อนแล้ว พระวักกลิการเกิดปีติอย่างเต็มที่ ใจที่เต็มไปด้วยปีติ ดีอกดีใจที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามาปลอบโยน แล้วท่านก็เอาไปปีติที่มีกำลังมากนั่นแหละ มาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ข่มปีติ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปของปีติ น้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาเป็นวิปัสสนาจริงๆ ท่านก็ได้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ณ ตรงนั้น นี่คือใช้ปีติเป็นอารมณ์ พระวักกลิ พระพุทธเจ้าจึงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย คือเป็นผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา ศรัทธา วิมุตติ
แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งที่เคยเล่ามานานแล้ว ก็คือพระมหาศิวะ ที่เป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน เป็นอาจารย์สอนพระไตรปิฎกด้วย สอนลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์ถึง ๖๐,๐๐๐ องค์ พระมหาศิวะอยู่ที่เกาะลังกา สอนลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์ถึง ๖๐,๐๐๐ องค์ แต่ว่าตัวท่านเองยังเป็นปุถุชนเต็มขั้น ลูกศิษย์ก็เลยอยากมาให้สติอาจารย์ ก็เลยเข้าไปกราบ แล้วก็ถามว่า อาจารย์ เมื่อไหร่อาจารย์จะมีเวลาไปเจริญกรรมฐานบ้าง พระอาจารย์ก็เล่าให้ฟังเลยว่า ตารางกิจวัตรนี้ ตั้งแต่เช้าต้องทำอะไรบ้าง ต้องสอนคาบนั้นคาบนี้ ต้องบริหารหมู่คณะ เป็นเจ้าคณะ ต้องบริหารงานรัดตัวตั้งแต่เช้ายันค่ำ ยันดึกยันดื่น ลูกศิษย์ก็เลยเตือนสติคำหนึ่งสั้นๆ ว่า อาจารย์งานยุ่งขนาดนี้ คงจะไม่มีเวลาว่างตาย คงจะไม่มีเวลาว่างตายเป็นแน่ มัจจุราชคงจะเอาอาจารย์ไปกินไม่ได้ เพราะอาจารย์ไม่ว่างเลย ให้สติ แล้วท่านก็กลับไป กราบอาจารย์แล้วก็กลับไป ท่านก็มานึกขึ้นได้ทีหลังว่า เอ ลูกศิษย์มาให้สติเรานี่ ว่างตาย ใครจะไปว่างตาย เพราะว่าความตายนี้ มันเข้ามาได้ทุกขณะ ต่อให้ว่าง ไม่ว่าง มันก็พร้อมจะตาย ทำงานอยู่ก็ตาย ทำนู่น ทำนี่อยู่ ก็ตายได้ เมื่อความตายมาถึงเข้า ท่านก็เลยคิดว่า อย่างเรานี้ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทรงจำพระไตรปิฎก สอนพระไตรปิฎก ๓ วันก็บรรลุแล้ว ท่านก็เลยไปปฏิบัติธรรมจริงจัง อำลาหมู่คณะเลยว่า จะไปปฏิบัติธรรม ๓ วัน จะเอามรรคผลให้ได้ ๓ วันผ่านไป มีตัวมานะนี่แหละ ego ว่า คนอย่างเรา ๓ วันก็ได้แล้ว จาก ๓ วันก็ไม่ได้ ต่อสักหน่อย เป็น ๓ เดือนก็ไม่ได้อีก ๓ ปีก็แล้ว ยังเหมือนเดิม จนผ่านไปๆ แล้วท่านก็สู้นะ จน ๓๐ ปี แต่ก่อนนั้นนี่ ออกพรรษาทุกปีๆ ท่านก็จะร้องไห้หน้าถ้ำที่ท่านบำเพ็ญเพียร เราปฏิบัติเข้มข้นขนาดนี้ ไม่เห็นได้บรรลุอะไรเลย ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้นเหมือนเดิม ท่านมาร้องไห้หน้าถ้ำทุกปีๆ จนปีที่ ๓๐ นะ เทพธิดาที่สถิตอยู่ต้นไม้หน้าถ้ำ เห็นพระเถระร้องไห้ในวันออกพรรษา นางก็เลยร้องไห้ตามบ้าง พระเถระก็เลยถามว่า ใครมาร้องไห้ตรงนี้ นางก็เลยบอกว่า เห็นพระคุณเจ้าร้องไห้ ถ้าร้องไห้ก็คงจะได้สักมรรคสักผล ท่านก็ได้สติขึ้นอีกนะว่า การร้องไห้จะช่วยอะไรได้ แล้วท่านก็ย้อนรำลึกถึงว่า ตั้งแต่บวชมานี้ จนเป็นมหาเถระขนาดนี้ ศีลท่านบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์จริง แต่ท่านไม่ได้มาต่อยอดด้วยสมาธิ ปัญญา ศีลบริสุทธิ์ และท่านก็เอาความที่ท่านเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์นี่แหละ ปีติก็เกิด เกิดจากคุณของศีล ปีติเกิดอย่างใหญ่อย่างหลวง แล้วท่านก็ข่มกำลังของปีติ เอาปีตินี่แหละเป็นฐาน พิจารณาให้เห็นความเกิด-ดับของปีติ แล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์หน้าถ้ำนั่นเอง เพราะพอบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งมวลก็เหาะมาทางอากาศ เพื่อที่จะมาล้างเท้า มากราบ มาสรรเสริญคุณของอาจารย ว่าตอนนี้ อาจารย์ของเราพ้นแล้ว ตรงนี้ ที่ยกมาก็คือให้เห็นว่า องค์ฌานนี้ ผู้ที่ได้ฌานก็สามารถเอาปีติที่เป็นความเกิด-ดับเห็นชัดเจนนี้ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้
แท้จริงแล้วนี้ โลกุตรธรรม คือมรรคผลพระนิพพาน เป็นมรดกธรรมของพระพุทธองค์ แม้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุธรรมเหล่านั้น ก็คือ ศีล สมาธิและวิปัสสนา จึงเป็นมรดกธรรมของพระพุทธเจ้าโดยปริยาย นอกจากนี้ กุศลทั้งหมดที่กระทำเพื่อการบรรลุพระนิพพาน มีทาน มีศีลเป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นมรดกธรรมโดยปริยายเช่นกัน เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมในอนาคต ดังนั้น สาวกของพระบรมศาสดา จึงควรเพียรปฏิบัติเพื่อรับเอามรดกธรรมโดยตรง แล้วก็โดยอ้อม อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์นี้ทรงประสงค์ให้ได้รับมรดกโดยตรง ที่เป็นมรรคผลพระนิพพาน พร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา วิปัสสนา ที่เป็นเหตุให้บรรลุธรรมในปัจจุบันชาติ ดังนั้นแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงเตือน ทรงแนะนำพระโปฐิละไว้ พวกเราทั้งหลายที่เป็นลูกของพระพุทธเจ้า จึงควรมุ่งการบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ คือเอานิพพานในชาตินี้ เป็นจุดหมายของชีวิต ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “น สีลพฺพตมตฺเตน พาหุสจฺเจน วา ปน อถวา สมาธิลาเภน วิวิตฺตสยเนน วา ผุสามิ เนกฺขมฺมสุขํ อปุถุชฺชนเสวิตํ ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ” ภิกษุเอย เพียงมีศีลาจารวัตร เพียงมีภูมิปริยัติคงแก่เรียน เพียงพากเพียรปฏิบัติจนได้ฌาน เพียงอยู่ในสถานอันสงบสงัด ได้รับสุขของพระอนาคามี หรือว่าได้รับสุขของพระอนาคามีที่สามัญชนทั่วไปไม่ได้สัมผัส ถ้าขจัดกิเลสไม่ได้หมด เธออย่าพึงนิ่งนอนใจเลย ตรงพระพุทธดำรัสนี้ ตรัสสอนเหล่าภิกษุผู้ที่มีศีลสมบูรณ์เป็นต้น หรือแม้กระทั่งผู้ที่คงแก่เรียนจบปริยัติอย่างสูงแค่ไหนก็ตาม หรือว่าได้ฌาน ได้สมาบัติ หรือว่าปลีกวิเวกอยู่ในสถานที่อันสงบสงัด หรือว่าเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน สกทาคามีจนถึงอนาคามี พระพุทธเจ้าก็สอนว่า อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะกิเลสมันยังเหลืออยู่ อย่าได้นิ่งนอนใจ ในภิกษุเหล่านั้นนี้ บางรูปก็คิดว่า ตนนี้มีศีลหมดจด ไม่นานคงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จึงนิ่งนอนใจไม่ทำต่อ บางรูปก็คิดว่า ตนถือธุดงค์บ้าง เป็นพหูสูตเล่าเรียนมาก บ้างบรรลุสมาบัติ ๘ บ้าง อยู่ในวัดป่าที่เงียบสงบสงัดบ้าง หรือบรรลุเป็นอนาคามีแล้วบ้าง ก็คิดว่าตนอาจจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ไม่ยาก จึงนิ่งนอนใจ พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำว่า อย่านิ่งนอนใจ จนกว่าจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
จิตตวิสุทธินี้จะบริสุทธิ์ได้ แต่ว่าอุปสรรคของสมาธิ ท่านก็สรุปไว้ ๖ ประการ อุปสรรคที่ทำให้ไม่เกิดสมาธิ พระสารีบุตรกล่าวถึงอุปสรรคของสมาธิ แล้วก็วิธีกำจัดไว้ให้ ๖ ประการคือ อุปสรรคคืออะไร? การคิดถึงแต่เรื่องอดีต อย่างที่ ๒ คาดหวังถึงแต่อนาคต อย่างที่ ๓ ความหดหู่ใจ ท้อถอยใจ อย่างที่ ๔ ความพยายามอย่างยิ่ง อย่างที่ ๕ ความปารถนาความยิ่ง อย่างที่ ๖ ความท้อถอย เหล่านี้ อย่างแรก การคำนึงถึงอดีต จิตที่คำนึงถึงอดีตเป็นอย่างไร? ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแต่เรื่องที่เคยไปกิน ไปเที่ยว ไปดื่ม ไปเสพ ไปนู่น ไปนี่ ภิกษุหลีกเลี่ยงอดีตอารมณ์นั้นแล้ว ตั้งจิตไว้ในปัจจุบันอารมณ์ คือพระพุทธเจ้าให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อตั้งจิตไว้ในปัจจุบันได้อย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่านซัดส่าย สิ่งที่เคยเห็น สิ่งที่เคยได้ยิน ได้รู้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส เคยนึกคิดมาก่อนนี้เป็นอารมณ์อดีตทั้งหมด แม้จะผ่านไปเพียงแค่นาทีเดียว มันก็คืออดีต จิตที่คำนึงถึงแต่อารมณ์ที่เคยรับรู้มานั้นนี้ ตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน คือ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเช่น ในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ กำลังเจริญกรรมฐานนี้ ผู้ปฏิบัติ ก็จริงอยู่ นั่งตัวตรงดิ่ง ท่าดี แต่ว่าใจนี้คิดสารพัดเลย อารมณ์อดีตบ้าง อนาคตบ้าง หวนคิดถึงแต่สิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยรู้กลิ่น เคยลิ้มรสสัมผัส หรือว่านึกย้อนไปถึงวันก่อนๆ เดือนก่อน ปีก่อน หรือว่านึกหวนถึงการปฏิบัติที่ดี หรือว่าไม่ดีในช่วงเวลาปฏิบัติธรรมอยู่ หรือว่านึกถึงสิ่งที่ตนลืมกำหนดรู้ แล้วก็พิจารณาว่า อารมณ์ดังกล่าวเป็นรูป เป็นนาม เป็นกาย เป็นใจ เป็นสติ ปรากฏชัด หรือไม่ปรากฏชัด อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้อดีตอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะที่รู้ตัว แล้วตั้งจิตไว้ในปัจจุบันอารมณ์ ที่อุปมาเหมือนกับแมลงมุมที่มันชักใยนี้ มันจะอยู่ตรงกลางรังของมัน พอเวลามีอะไรมันติดที่รังของมัน จะเป็นมด เป็นแมลง มันก็จะกระโดดไปกิน แล้วก็จะกลับมาตรงกลางของมันเหมือนเดิม อุปมาเหมือนกับเรามีอารมณ์กรรมฐานหลัก ก็คืออยู่ที่อารมณ์ปัจจุบันที่มันชัดที่สุด เช่น ลมหายใจเป็นต้น หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หรือว่าอยู่กับพุทโธอยู่ตรงนี้ พอเวลาฟุ้ง ก็รู้ว่าฟุ้ง ไปกำหนดดูความฟุ้งจนมันหาย มันดับไป มันจางคลายไป กลับมาที่อารมณ์หลักเหมือนเดิม หรือเวลาเจ็บ เวลาปวด ก็ไปรู้ ไปดู จนมันจาง มันคลาย แล้วก็กลับมาที่อารมณ์หลัก แต่อย่าไปขับไล่นะ เพราะอย่างไรเราก็ไม่มีสิทธิ์ขับไล่มันได้ เพราะเป็นอนัตตาทั้งหมด จะบังคับไม่ให้ฟุ้ง จะบังคับไม่ให้คิด จะบังคับไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ทำไม่ได้เลย เพราะ เราไม่ได้เป็นใหญ่ในกายในใจของตัวเอง ถ้าเป็นใหญ่จริ คงจะบังคับมันได้ บังคับไม่ได้ แต่เราต้องฝึกมัน ฝึกให้รู้เท่าทัน “ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ” ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายผู้ที่ฝึกตน ฝึกตนในที่นี้หมายถึงฝึกจิต ฝึกจิตให้รู้เท่าทันจึงจะเป็นผู้ประเสริฐได้
อุปสรรคอย่างที่ ๒ ของการเกิดสมาธิก็คือ การคาดหวังถึงอนาคต จิตที่คาดหวังอนาคตย่อมซัดส่าย ภิกษุย่อมหลีกเลี่ยงอนาคตอารมณ์ อารมณ์ในอนาคตนั้น แล้วก็ดึงมาใส่ใจในอารมณ์ปัจจุบันอย่างเดียว เมื่อใส่ใจอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่าเรา ถ้าเราออกไปตรงนั้น เราจะไปเห็นอย่างนั้น จะไปได้ฟังอย่างนี้ จะไปกินอาหารอร่อยแบบนั้น เป็นอาหารภัตตาคารหรูอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น นึกคิดอย่างนั้นแหละ ชื่อว่าเป็นอารมณ์ในอนาคต จิตที่มันคาดหวังอารมณ์ดังกล่าวนี้ ซัดส่ายไม่สงบนิ่ง นั่นแหละ มันเป็นอย่างเดียวกับอารมณ์อดีต แต่เพียงแต่ว่าปรุงแต่งถึงอนาคต ก็คือเพ้อฝัน เป็นการจินตนาการ เมื่อขณะรู้ตัวแล้ว ดึงกลับมาหาอารมณ์ปัจจุบัน อารมณ์หลักของเรา เช่น นั่งก็รู้ว่านั่ง หรือว่าเดินจงกรม หรือว่าหายใจเข้า หายใจออกสบาย
ดีงกลับมาตรงนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตก็จะดำรงมั่นไม่ซัดส่าย
อุปสรรคอย่างที่ ๓ คือความหดหู่ จิตที่หดหู่นี้ ย่อมตกไปสู่ความเกียจคร้าน พอหดหู่ท้อถอย ก็ขี้เกียจขี้คร้าน ภิกษุประคองจิตนั้นแล้ว ย่อมละความเกียจคร้าน เมื่อประคองจิตไว้อย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความซัดส่าย ในบางขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรม กำลังสมาธิเดินจงกรม หรือว่าแม้กระทั่งทำอะไรก็แล้วแต่ ที่กำหนดอารมณ์กรรมฐานนี้ รู้สภาวธรรมปัจจุบันได้ไม่ชัดเจน หรือไม่มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความหดหู่แล้ว ไม่อยากทำต่อไปแล้วนี้ ความเกียจคร้านมันก็จะเกิดขึ้นในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดรู้ให้เท่าทันความเกียจคร้าน ขี้เกียจให้รู้ว่าขี้เกียจ ให้รู้ความเกียจคร้านที่มันเกิดขึ้น แล้วก็ละให้ได้ ถ้าละไม่ได้ด้วยการกำหนดรู้ ก็ควรประคองจิตให้มีกำลังใจไม่ท้อถอย คือเป็นการประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง เมื่อเกิดความหดหู่ เกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติธรรม ไม่ยินดีในการภาวนานี้ มีบุคคลมากมาย ไม่อาจปฏิบัติธรรมได้ต่อ เพราะถูกความเบื่อหน่ายครอบงำ เบื่อหน่ายในที่นี้ ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แต่มันเบื่อหน่ายจากความขี้เกียจ ผู้ที่สามารถปฏิบัติธรรมเป็นเวลานานๆ จึงมีจำนวนน้อยมาก คนทั่วไปนี้จึงเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ ดังพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสที่เมืองอาฬวีแก่ธิดาช่างหูกกับประชาชนคนนั้นว่า “อนฺธภูโต อยํ โลโก ตนุเกตฺถ วิปสฺสติ สกุนฺโต ชาลมุตฺโตว อปฺโป สคฺคาย คจฺฉติ.” โลกนี้มืดมนนัก น้อยคนจะเห็นแจ้ง น้อยคนจะไปสวรรค์ จะหลุดพ้น เหมือนนกที่มันติดตาข่ายนายพรานแล้ว น้อยตัวที่จะหลุดรอดไปได้ ท่านก็อธิบายว่า น้อยคนจะไปสวรรค์ หมายความว่า น้อยคนจะไปสวรรค์ ไปนิพพาน ผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรม ที่เจริญวิปัสสนา เจริญสติอยู่นี้ บางขณะจะกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันได้ไม่ชัดเจน หรือไม่ก้าวหน้า ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในการภาวนา เมื่อเกิดสภาวะดังกล่าว ความเพลิดเพลิน ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติ มันจะอันตรธานหายไป ส่งผลให้ไม่อาจปฏิบัติธรรมต่อไปได้ เมื่อเป็นแบบนี้ เขาก็จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไม่ได้เลย อาการแบบนี้ คือตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไป แม้ผู้ที่ไปเกิดในอบายภูมิ เราต้องมองดูว่า เราโชคดีขนาดไหนได้มาเกิดเป็นคนแล้วนี้ ผู้ที่ไปเกิดในอบายภูมินี้ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ต้องรับผลกรรมตามสมควร ไม่มีโอกาสได้เจริญวิปัสสนาเลย เช่น ปลาที่มันติดอยู่ในแหแล้ว ก็ต้องถูกฆ่า วัว ควาย ที่ถูกเชือด หมาวัด แมววัด มันอยู่ในวัดก็จริง เราดูนี้ ไม่เห็นหมาเห็นแมวเดินจงกรม ไม่เห็นหมาเห็นแมวนั่งสมาธิ มันก็แค่ตามทำตามสัญชาตญาณของมัน ไม่เห็นจิ้งจกตุ๊กแกมันมาแบบวิ่งสมาธิ ไม่มี มันมีแต่ทำตามสัญชาตญาณ เรามองดูว่า อบายสัตว์มันทรมานอยู่ในเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องสืบพันธุ์ เรื่องนอน อยู่แค่นี้ มรรคผลไม่เกิด อย่าว่าแต่มรรคผลเลย ปัญญาสักนิดมันก็ไม่เกิด มีแค่สัญชาตญาณ ขนาดเป็นสัตว์ชั้นสูง อย่างเช่น พญานาค ที่เป็นสัตว์ขั้นเทพนี้ ก็ยังไม่สามารถจะทำมรรคผลให้เกิดในชาตินั้นได้ เพราะว่าอัตภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ไม่มีความสมบูรณ์พร้อม พญานาคเขาอยากเกิดเป็นคนจะตาย เพราะว่าคนนี้ เอาร่างกายที่มันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เอามาทำมรรคผลให้เกิด แต่คนเราก็เข้าใจผิดนะ อยากไปเป็นพญานาคกัน หลงไปตามกระแสเขา เพราะฉะนั้นแล้ว พอเกิดความหดหู่ เกิดความท้อถอย ให้พิจารณาอย่างนี้ จะช่วยยกจิตให้ฮึกเหิม ให้มีกำลังได้ ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา อย่าประมาท อย่าเกียจคร้าน ถ้ามัวประมาทอยู่ ก็จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไม่ได้ เมื่อหลุดพ้นไปไม่ได้ ก็นั่นแหละ วนเวียนอยู่ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เปรต อสูรกาย ซึ่งเราก็เคยเกิด เคยเกิด เคยเป็น เคยไปท่องเที่ยวมาหมดแล้ว เพราะว่าเราคือนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวในวัฏสงสารนี้ ไปมาหมดแล้ว ในขณะนั้นน่ะ แม้จะร้องไห้รำพัน ก็ไม่มีใครช่วยเหลือได้ บัดนี้ ได้เกิดเป็นมนุษย พบกับพระพุทธศาสนา ได้พบกับคำสอนแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า เป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมอันประเสริฐ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเตือนไว้ว่า “ฌาย ภิกฺขุ มา จ ปมาโท มา เต กามคุเณ ภมสฺสุ จิตฺตํ มา โลหคุฬํ คิลี ปมตฺโต มา กนฺทิ ทุกฺขมิทนฺติ ทยฺหมาโน” จงเจริญภาวนาเถิดภิกษุ อย่ามัวประมาท อย่าปล่อยใจให้หลงใหลในกามคุณ อย่าประมาทแล้วกลืนกินก้อนเหล็กแดง อย่าปล่อยให้ความทุกข์เผาผลาญ แล้วคร่ำครวญว่า โอ ทำไมมันทุกข์อย่างนี้ จากพระพุทธดำรัสตรงนี้ เป็นการพิจารณาให้เห็นภัยในวัฏสงสาร ผู้ปฏิบัติพิจารณาประโยชน์ของการเจริญวิปัสสนาได้บ้าง กล่าวคือ การเจริญวิปัสสนา การเจริญสติสมาธิ เจริญสติปัฏฐานนี้มีประโยชน์เพื่อให้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน หลุดพ้นจากทุกข์ในอบายภูมิแล้วก็สังสารวัฏ ประโยชน์ดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นได้เลยด้วยความเพียรที่มันย่อหย่อนอ่อนแอ แม้การแสวงหาเงินแสวงหาทองนี้ แสวงหาทรัพย์เป็นหมื่นเป็นล้าน ไม่ใช่ว่ากินๆ นอนๆ แล้วเงินจะได้นะ มันต้องทำงาน ต้องใช้ความพยายามมากจึงจะรวย คนที่ยอมลำบากทำงาน ๑ วัน แล้วอยู่สบาย ๑ ปี เขาย่อมทำงานด้วยความเต็มใจ คนที่ยอมลำบากทำงาน ๑ เดือน แล้วอยู่สบายชั่วชีวิตก็จะตั้งใจทำงานนั้น ในกรณีเดียวกัน ถ้าเรามาตั้งใจว่ายอมลำบากพากเพียรเจริญวิปัสสนา ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง ครึ่งปีบ้าง เป็นต้น แล้วหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารทั้งปวงได้ ก็จัดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า คุ้มสุดคุ้มแล้วนะ คุ้มค่ากว่าประโยชน์ทางโลกอย่างมากมาย ดังนั้น จึงควรพากเพียรเจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนา ด้วยความเพียร ด้วยความไม่ประมาท อีกอย่างหนึ่งนี้ ผู้ปฏิบัติควรพิจารณาหนทางดำเนินไปของพระอริยเจ้าทั้งหลายคือการเจริญวิปัสสนานี้ ไม่ใช่ทางเดินไปของคนสามัญที่มัวประมาทเกียจคร้านอยู่ แต่เป็นทางดำเนินไปของพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระอริยสาวกทั้งหลาย ผู้ที่ดำเนินไปตามทางนี้ จึงได้ชื่อว่า ตามรอยบาทของพระอริยะเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงควรเพียรปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นเครื่องดำเนินไปของพระอริยะทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติที่เป็นภิกษุ ก็ควรมีความเคารพในก้อนข้าว คือในอาหารในปัจจัยสี่ของชาวบ้าน หมายความว่า ชาวบ้านนี้พากันแสวงหาทรัพย์ ทำงานงกๆ เงิ่นๆ ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ทำงานทั้งวันทั้งคืนนี้ บางคนเสี่ยงตาย กว่าจะได้เงินมาเลี้ยงชีพ แล้วพวกเขาก็ใช้สอยทรัพย์ที่ตนหามาได้พอสมควร แต่สละทรัพย์สมบัติ ถวายสิ่งของที่ดีที่เลิศแก่ภิกษุ ของบางอย่างตัวเองไม่กล้ากิน แต่กล้าที่จะนำมาถวายพระ การสละทรัพย์ให้ทานดังกล่าวนี้ให้แก่คนที่ไม่ใช่ญาติมิตรตัวเองด้วย ไม่ใช่เป็นการตอบแทนอุปการคุณ ไม่ใช่ให้ทานโดยมุ่งหวังลาภ ยศ เกียรติยศ สรรเสริญ สุข อะไร แต่พวกเขาคิดว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เราให้ทานแก่ท่านเหล่านี้ เราคงจะได้บุญมาก ท่านหวังอย่างนี้ โยมเขาหวังอย่างนี้ เขาจึงยอมทำบุญเสียสละทรัพย์สมบัติมากมายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ถวายทานแด่ภิกษุ พอเขาคิดอย่างนี้ เขาก็เลยยอมเสียสละมากมาย ดังนั้นนี้ ถ้าหากภิกษุรับของเขามาแล้ว ไม่ได้ทำผลทานของเขาให้มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ไพศาล ก็จะเหมือนกับคนที่ขโมยกิน ที่เป็นไถยะบริโภค ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัยอยู่ในใจ กินไป บริโภคไป ก็เหมือนกินโดยความเป็นขโมยผู้มีศีล แต่ถ้าบริโภคด้วยการไม่พิจารณา ก็เหมือนบริโภคด้วยความเป็นหนี้ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติจริงๆ จึงชื่อว่าบริโภคด้วยความเป็นลูกของพระพุทธเจ้า การคิดอย่างนี้ขึ้นมาก็ทำให้ฮึดสู้ในการเพียรประพฤติ เพียรปฏิบัติมากขึ้น ตามนัยนี้ เมื่อเราพิจารณาดังนี้ เราก็จะทำให้เกิดความฮึกเหิมในการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาได้ ภิกษุจึงควรคิดเสมอว่า ชาวบ้านนี้ เขาเชื่อถือข้อวัตรข้อปฏิบัติของเรา เขาจึงถวายปัจจัย ๔ มา เขาไม่ได้หวังสิ่งใดจากเราเลย เพียงปรารถนาความสุขในมนุษย์ สวรรค์ และนิพพาน เราบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ อย่างไม่ลำบากด้วยความเย็น ด้วยความร้อน ความหิวกระหาย ไม่ต้องเดือดร้อนในการแสวงหาปัจจัยสี่ มีโอกาสในการปฏิบัติคำสอนของพระบรมศาสดาอย่างอิสระ อย่างเต็มที่ ชาวบ้านทั้งหลายจึงมีอุปการะคุณแก่เรา ถ้าเรามัวประมาท เกียจคร้านอยู่ ไม่เพียรเจริญศีล สมาธิ แล้วก็วิปัสสนาปัญญาให้บริบูรณ์ ชาวบ้านก็จะได้รับผลจากการให้ทานไม่มาก แล้วเราก็จะบาปด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงควรหมั่นเจริญกรรมฐานยิ่งๆ ขึ้นไป
พระพุทธองค์ตรัสว่า กุลบุตรผู้ที่บวชด้วยศรัทธา ควรจะปรารภความเพียร ถึงขนาดว่า หนัง เอ็น กระดูก จงเหลืออยู่ก็ตาม เนื้อ และเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปก็ตาม เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลที่ควรบรรลุด้วยกำลังความเพียร และความบากบั่นของลูกผู้ชายแล้ว การหยุดยั้งความเพียรจะไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบรรลุมรรคผลอันประเสริฐ ย่อมไม่มีด้วยอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาที่ย่อหย่อนอ่อนแอเลย แต่การบรรลุมรรคผลอันประเสริฐย่อมมีได้ด้วยอินทรีย์ ๕ ที่แก่กล้าสูงสุด ดังนั้น พวกเธอจงปรารภความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อให้ได้รับธรรมที่ยังไม่ได้รับ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้กระทำให้แจ้ง พวกเธอพึงสำเหนียกศึกษาว่า โดยประการดังนี้ การบวชของพวกเรานี้ จะไม่เป็นหมัน มีผลมีกำไร อนึ่ง พวกเราใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และก็ยารักษาโรคของบุคคลเหล่าใด ทานนั้นของบุคคลเหล่านั้น เราทั้งหลายจะมีผลมาก ที่เขาถวายให้ในเราทั้งหลายนี้จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงสำนึกไว้ในใจอย่างนี้ ภิกษุผู้เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ควรทำสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท นอกจากความเคารพในก้อนข้าวของชาวบ้านที่กล่าวมานี้ นักปฏิบัติควร ความประเสริฐที่ได้เป็นทายาท คือ เป็นผู้รับมรดก คือ โลกุตรธรรม คือ มรรคผลนิพพานจากพระพุทธเจ้า พิจารณาความประเสริฐแห่งพระบรมศาสดานี้ กว่าจะได้ตรัสรู้ แล้วนำสิ่งประเสริฐเหล่านี้มาแนะนำสั่งสอน พิจารณารำลึกนึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พิจารณาถึงความหมดจดแห่งศีลของตัวเอง หรือว่าได้ฟังพระสูตรที่น่าเลื่อมใส เพื่อที่จะทำให้ใจฮึกเหิม เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาตามวิธีเหล่านี้แล้ว หรือหลายอย่าง ความหดหู่ท้อถอยจะหมดไปจะเกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรมในขณะนั้น จิตจะตั้งมั่นแน่วแน่ สามารถกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันได้
ต่อไป อุปสรรคของสมาธิอย่างที่ ๔ คือ ความพยายามอย่างยิ่ง จิตที่มันพยายามยิ่งนี้ ย่อมตกไปสู่ความฟุ้งซ่าน ภิกษุผ่อนจิตนั้นแล้ว ย่อมละความฟุ้งซ่าน เมื่อผ่อนจิตอย่างนี้ จิตย่อมไม่ถึงความชัดส่าย ในบางขณะนี้ ตั้งใจเกินไป ตั้งใจเกินพอดี คือว่า วิริยะมาก แต่สมาธิไม่เท่าทัน เป็นเรื่องของการปรับอินทรีย์ ตั้งใจเกินกำหนดพอดี โดยคิดว่า จะรับรู้เท่าทันทุกสภาวธรรมปัจจุบันที่เกิดขึ้น เมื่อนั้นนี้ ฟุ้งซ่านว่า เราจะต้องรู้ให้เท่าทันทุกๆ ขณะ บางทีก็ลืมกำหนดไปบ้าง หรืออาจคิดว่า เราพยายามจนสุดความสามารถแล้ว ทำไมจึงไม่ก้าวหน้ามากกว่านี้ ความฟุ้งซ่านทั้งต้นนี้ ทำให้สติไม่ต่อเนื่องในปัจจุบัน เพราะว่า เราก็ทำสุดๆ แล้วนี้ ทำไมยังเท่าเดิม ทำไมเรายังแช่อยู่ในอารมณ์เดิม ก็เพราะว่ามีความฟุ้งซ่านตัวนี้แหละ มันเข้ามาแทรกซ้อนอยู่ ความพยายามยิ่งเกินไป จึงเป็นอุปสรรคประการหนึ่ง จึงต้องผ่อนลงมา ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น เราจึงต้องปรับปรับอินทรีย์ ผ่อนจิต เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกว่า ตนมีความเพียรมากเกินพอดี ผ่อนจิตด้วยการพิจารณาว่า สภาวธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ได้อยู่ในบังคับของตน และแม้จะพยายามมาก ก็ไม่อาจก้าวหน้าได้ เพราะความก้าวหน้าในการปฏิบัติขึ้นอยู่กับเหตุ ปัจจัย ไม่ใช่การรู้สึกนึกคิด ดังนั้น การกำหนดรู้ตามสมควร ไม่ตึงจนเกินไป ผ่อนจิตอย่างนี้ จึงทำให้วิริยะลดลง จะส่งผลให้จิตตั้งมั่น มีสมาธิอย่างรวดเร็ว นี่คือของการปรับอินทรีย์
อุปสรรคอย่างที่ ๕ ก็คือ ความปรารถนายิ่ง จิตที่ปรารถนายิ่ง ย่อมตกไปสู่ความพอใจ ภิกษุรู้จิตนั้นแล้ว ย่อมละความพอใจ เมื่อละความพอใจอย่างนี้ จิตก็จะไม่ถึงความซัดส่าย ในบางขณะ ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ สติรู้เท่าทันสภาวธรรมได้เป็นอย่างดี ก็เกิดความปรารถนาที่จะบรรลุความก้าวหน้า เช่นว่า วิปัสสนาญาณสูงขึ้นไป จนถึงมรรคผลนี้ อยากแบบนี้ ปรารถนาแบบนี้เป็นโลภะ เพราะเอาโลภะเป็นตัวนำ ขณะนั้นก็ต้องกำหนดรู้ว่า อยาก ตอนนี้จิตมันอยากนะอยากบรรลุนะ อยากได้ ยิ่งอยากให้มันสงบมันก็ไม่สงบนะ ยิ่งอยากบรรลุมากเท่าไหร่มันก็ไม่บรรลุนี้ เพราะจะเอาความโลภดึงมาไม่ได้ วางเมื่อไหร่นี้ เดี๋ยวมันจะมาเอง ต้องจิตว่าง เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ดังนี้ ย่อมละความโลภ ด้วยการกำหนดรู้เท่าทัน สติต้องให้เท่าทัน จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ
อุปสรรคอย่างที่ ๖ ก็คือ ความท้อถอย จิตท้อถอย ย่อมตกไปสู่ความไม่พอใจ ภิกษุรู้จิตนั้นแล้ว ย่อมละความไม่พอใจ เมื่อละความไม่พอใจอย่างนี้ จิตก็จะไม่ถึงซัดส่าย ผู้ที่ปฏิบัติธรรมนานหลายวัน หลายเดือน หรือบางทีหลายปีนี้ อาจจะเกิดความท้อถอยเมื่อไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ จนกระทั่งคิด คิดจะเลิกปฏิบัติไปเลย ความท้อถอยดังกล่าว มันจะเกิดร่วมกับความไม่พอใจ ความไม่พอใจก็คือโทสะนั่นเอง มันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงของสมาธิ ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดรู้ความท้อถอย ซึ่งทำให้อยากจะออกจากการปฏิบัติ อยากจะออกวัดไปแล้ว อยากจะไปเที่ยวแล้ว ต้องรู้ให้เท่าทันซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าจะหายไป ความท้อถอยหายไป จิตก็จะสงบนิ่ง มีสมาธิ
ผู้ปฏิบัติที่กำจัดอุปสรรคของสมาธิ ๖ ประการ ตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว ไม่คำนึงถึงอดีต ไม่คาดหวังถึงอนาคต ปราศจากความหดหู่ ไม่พยายามยิ่งหรือปรารถนายิ่ง ไม่ท้อถอย สามารถรู้เท่าทันรูปนามกายใจในปัจจุบันขณะได้อย่างชัดเจนในขณะนั้น สมาธิที่ตั้งมั่นย่อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีกิเลสเจือปน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ ในปฏิสัมภิทามรรค ท่านก็พูดต่อว่า ความตั้งมั่นในอารมณ์ ๔ ประการ ซึ่งมีวิปัสสนาอยู่ประเภทหนึ่ง ก็คือ ความตั้งมั่นในการให้ ในขณะเสียสละ ความตั้งมั่นในอารมณ์ของสมถะ คือในขณะที่สมาธิแน่วแน่ ความตั้งมั่นในสภาวะดับไปของรูปนาม แล้วก็ความตั้งมั่นในความดับสนิทของรูปนาม ก็คือ ของกาย ของใจ ของสภาวะธรรมทั้งหมด จิตของผู้ที่กำจัดอุปสรรค ๖ ประการแล้ว ไม่คำนึงถึงอดีต ไม่หวังถึงอนาคต เป็นต้น จะสามารถกำหนดรู้เท่าทันสภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันได้อย่างชัดเจน วิปัสสนาก็จะเกิดขึ้น วิปัสสนาจิตที่หมดจดปราศจากนิวรณ์อย่างนี้ย่อมตั้งมั่นในอารมณ์ปัจจุบัน ไม่แปรเปลี่ยนไปด้วยกิเลสที่มันแทรกเข้ามา พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเน้นเรื่องจิตเรื่องใจที่บริสุทธิ์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธบารมีมานี้ ก็เป็นเรื่องจิตที่ตั้งมั่น จิตใจเป็นพระนิพพานที่สะอาด บริสุทธิ์ใจนี่แหละ ถ้าเป็นใจของพระอริยเจ้า ก็เป็นใจบริสุทธิ์ตามคุณธรรม ถ้าเป็นพระโสดาบัน ก็บริสุทธิ์ระดับหนึ่ง ถ้าเป็นใจของพระสกทาคามีก็ระดับหนึ่ง ใจของพระอรหันต์ก็บริสุทธิ์มาก บริสุทธิ์ถึงที่สุด คำว่าจิตนี้ ก็หมายถึงตัวผู้รู้ ความรู้มันก็มีอยู่ในหลายระดับ อย่างประชาชนคนทั่วไป ก็อยู่ในระดับของคน ระดับของความเป็นคน ธรรมวินัย ประดิษฐานในจิตของพระอริยเจ้า ก็เป็นของบริสุทธิ์ ตามระดับของกิเลสสังโยชน์ ที่ตัด ที่ละไปได้ เราถึงต้องเอาจิต เอาความประพฤตินี้ ให้ประกอบด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ เช่นของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์จะทรงทำอะไร จิตก็ชื่อว่าเป็นจิตพุทธะ เป็นพุทธะจิต ไม่ว่าท่านคิด ท่านพูด ท่านทำอะไร ก็เป็นสิ่งที่ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์ เช่นว่า ทรงบิณฑบาต ทรงแสดงธรรม ทรงสอนเทวดา ทรงตรวจดูสัตว์โลก กิจต่างๆ ออกมาจากจิตที่เปี่ยมด้วยมหากรุณา มหาเมตตา มหาปัญญาที่บริสุทธิ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ตั้ง
เราทุกคนถึงจำเป็นต้องพัฒนาจิตใจ เพื่อให้ใจมันเกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ มันต้องอาศัยการประพฤติ การปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบัน เพราะเราต้องให้เกิดทั้งศีล เกิดทั้งสมาธิ เกิดทั้งปัญญาในปัจจุบัน เราถึงจะไม่เสียเวลา โดยอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก คนเรานี้เสียเวลา เพราะไม่รู้ว่าอันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญ การพัฒนาจิตใจนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การฝึกจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าทุกๆ อย่าง ใจของเราก็เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วก็เกิดการประพฤติการปฏิบัติ เรียกว่าศีล เกิดความตั้งมั่น หรือว่าเป็นการสมาทานเอาไว้นี้ คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ จึงเป็นสัมมาสมาธิ คนเราถ้าประพฤติปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน มันไม่นานหรอกนะ ย่อมได้ผลอย่างแน่นอน เพราะว่า การปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง คนเราส่วนใหญ่ เวลาเห็นรูป เวลาฟังเสียงนี้ จะมีใครพิจารณาให้เข้ามาสู่อนิจจัง สู่ทุกขัง อนัตตาบ้าง ส่วนใหญ่มีแต่จะปล่อยไปตามสัญชาตญาณเฉยๆ แต่ถ้าเราพัฒนาจิตใจ พัฒนาจิตใจให้ถูกต้อง เราจะไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เพราะอันนี้ มันเป็นอาหารของการเวียนว่ายตายเกิด ที่อันไหนบาป แล้วก็ทำ อันไหนมันบาป ก็จะพูด อันไหนมันบาปก็จะคิด นี่แหละมันคืออาหารของการเวียนว่ายตายเกิด ที่บอกว่าตายแล้วไปไหน ก็คือไปสู่ที่ชอบ ไปยังที่ชอบๆ มันก็ชอบคิดแต่ในสิ่งที่เป็นภพภูมิ ที่มันกำลังหลงอยู่ การประพฤติปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นงานของเราโดยเฉพาะ
พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเดรัจฉานคาถา เดรัจฉานวิชชา ต้องเข้าสู่ทางสายเอก สู่การเจริญสติปัฏฐาน คนเรามันก็ขาดตอนนี้แหละ เช่น เอาเวลาที่เราจะเจริญสติ สมาธิเจริญกรรมฐาน ไปเล่นโทรศัพท์ ไปเล่น line พระที่มีโทรศัพท์มือถือ มีอินเทอร์เน็ต facebook นี่ ถึงไปมรรคผลพระนิพพานไม่ได้ เพราะเป็นเดรัจฉานกถา เพราะว่านี่มันไม่ใช่ทางเดินของพระอริยเจ้า ทุกคนต้องเห็น ต้องมีปัญญา ต้องใจเข้มแข็ง เพราะว่าการจะเอาสิ่งที่มันยากสุดออกจากจิตใจ ต้องอาศัยความเพียร เหมือนกับหมอที่เขาผ่าตัดสมอง ต้องอาศัยใจเย็นๆ มือนิ่งๆ ทำช้าๆ หลายชั่วโมงกว่าจะผ่าตัดสำเร็จ คนฟุ้งซ่านมันทำไม่ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องมีการปฏิบัติติดต่อเนื่อง ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติเลย มันจะไม่มีทางไปทางมา เพราะเราไม่รู้เรื่องปฏิบัติ เรื่องปฏิบัติมันต้องเข้าใจอย่างนี้ ความเพียรของเราถึงจะได้ติดต่อต่อเนื่อง เพราะเราทำอะไร ก็ทำเพื่อทำจิตให้พัฒนา อย่างเราทำของหยาบๆ อย่างเช่นว่า กวาดวัด ทำอะไรๆ ช่วยดูแลทำความสะอาด ทำกิจวัตรนี้ อันนี้คือทำภายนอก แต่การทำภายใน คือ เรามีตาก็เพื่อฉลาด ก็เพื่อจะได้ทำจิตที่เป็นมรรคเป็นผล หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ต้องเอาออกมาใช้ เอามาทำงาน เอามาภาวนา เพราะคนเราน่ะ มันต้องเดินทีละก้าว ทานข้าวทีละคํา ทําทีละอย่างในปัจจุบันของการปฏิบัติ พระเรามันถึงจะได้เป็นพระธรรม ถึงจะเป็นพระวินัยได้ ถึงจะเป็นพระอริยะสงฆ์ได้ ดูพื้นฐานของพระในประเทศ หรือว่าต่างประเทศเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นพระอริยเจ้า ไม่เหมาะสมที่จะบรรลุธรรม ถ้าอย่างนั้นเขาจะเรียกว่าธรรมอันยิ่งเหนือมนุษย์ได้อย่างไร
อุตตริมนุสสธรรมคือ ธรรมอันยิ่งเหนือมนุษย์ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่จะเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนนี่แหละ ผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ให้เป็นอริยชนได้ เราจะได้เข้าใจเรื่องจิตตวิสุทธิ พัฒนาจิตให้บริสุทธิ์ เรื่องประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องของเรา คนเรานจะได้เชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คนเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ อย่างนี้ จะมีความเชื่อมั่น การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ เหมือนเราจะข้ามมหาสมุทรอย่างนี้ เราต้องมีความเชื่อมั่นในยานพาหนะที่เราจะไป ยานก็คือการกระทำอย่างนี้แหละ เพราะธรรมะเป็นของละเอียด ของลึกซึ้ง ไม่ใช่ของคนที่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมะที่ปราศจากนิวรณ์ นิวรณ์ไม่มี เพราะว่าทางไปนิพพานมันต้องผ่านอุปสรรค มันต้องผ่านสิ่งที่ยั่วยวน ที่เขาเรียกว่าสวรรค์ ลาภ ยศ สรรเสริญ ความสุข ความสะดวก ความสบาย มันเป็นเพียงถนนที่เราจะเหยียบผ่าน สิ่งเหล่านี้ มันจะทำให้ใจของเราหลง เพราะดูแล้ว การทำกิจวัตร ข้อวัตร สวดมนต์นี้ คำว่ากิจนี้ ก็คือกิจหน้าที่ของเสขบุคคล บุคคลที่ต้องศึกษา ต้องเข้าใจ แล้วก็บุคคลที่จะต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ ถ้าอย่างนั้น บวชมาแล้วก็ไม่รู้เรื่อง นึกว่ามาโกนหัวแล้วมาบวช มีพระอุปัชฌาย์ มีพระมาสวดครบองค์สงฆ์แล้วเป็นพระ อย่างนั้นยังไม่ใช่ ต้องปฏิบัติ ต้องเข้าสู่กระบวนการแห่งการประพฤติ การปฏิบัติ ชำระศีลให้เป็นศีลวิสุทธิ ชำระจิตให้หมดจด เป็นจิตตวิสุทธิ เช่นนี้ เพื่อที่จะได้เป็นฐานให้ปัญญา เป็นปัญญาวิสุทธิให้หมดจดต่อไป จึงจะเป็นปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรคสัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านทุกคนเทอญ