PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
  • ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๖ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลเพื่อพระนิพพาน
ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๖ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศ ... รูปภาพ 1
  • Title
    ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๖ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลเพื่อพระนิพพาน
  • เสียง
  • 10999 ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๖ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลเพื่อพระนิพพาน /lp-kanha/2022-06-11-07-36-13.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
วัด/สถานที่บรรยายธรรม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ชุด
ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • Tags
    นิพพาน | วิสุทธิ | ศีล | ความดับทุกข์ | ทางสายเอก | สภาวะ
  • โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.) ในวันเสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ  วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๖ ศีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลเพื่อพระนิพพาน นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ พระพุทธศาสนาของเรา เป็นสากลศาสนา ศาสนาสากล เพราะว่าเป็นคำสอนเรื่องธรรมชาติ เป็นคำสอนในสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ตัวธรรมชาตินี่แหละ เป็นศาสนา เช่น ธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นศาสนาอะไร? ไม่มีศาสนาอะไรเลย เป็นสากลศาสนา ท่านสอนให้รู้จักความจริงของชีวิต ความจริงของธรรมชาติ ความจริงของในเรื่องของกรรม และกฎแห่งกรรม เป็นต้น สอนไม่ให้หลงระเริงอยู่ในธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ที่มันมารวมตัวเป็นร่างกายของเรานี้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนอย่างนี้ จึงเป็นศาสนาสากล ไอน์สไตน์เรียกว่า ศาสนาแห่งจักรวาล เพราะว่าสอนความจริงที่มีอยู่แล้ว แล้วก็ค้นพบในความเป็นจริงของสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราผู้อยู่ในพุทธศาสนา จึงต้องศึกษา เพียรประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปนอกลู่นอกทาง ที่เปรียบเหมือนกับเป็นแขนง ถ้ายังเข้าใจว่า มีคำสอนอื่นๆ ที่คิดว่าพ้นทุกข์ได้ แสดงว่ายังไม่เข้าถึงความเป็นพุทธะจริงๆ เพราะฉะนั้น การศึกษาคำสอนของพุทธเจ้ามากเท่าไหร่ ก็จะรู้จักความจริงของชีวิต ความจริงของกายของใจมากเท่านั้น ธรรมชาติสากลอย่างเช่นว่า การกวักมือเรียก เป็นภาษาอะไร? ถ้าเป็นภาษาไทยก็เรียกกวักมือ เป็นภาษาอื่นเขาก็เรียกอย่างอื่นของเขาของแต่ละประเทศ แต่อาการกวักมืออย่างนี้แหละ จะเป็นภาษาจีน ภาษาฝรั่ง ภาษาแขก ภาษาพม่า ภาษาอินเดีย พอเขาเห็น เขาก็รู้ว่า เขาเรียกเรา คนจีนเห็น ฝรั่งเห็น แขกเห็น เขมรเห็น เราเห็น เขาเรียกว่าเรียก เพราะมันเป็นอาการที่รู้กันทั้งโลกว่า นี่คือการเรียก มันเป็นอาการสากล กิเลสก็ยังเป็นสากล เวลาเกิดความโลภขึ้นมาอาการเดียวกันหมด ต้องอยากได้ โกรธขึ้นมาก็อาการเดียวกันหมด มีอาการเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะฉะนั้น ของแต่ละประเทศจึงส่งออกได้ เพราะการกิน การใช้ การบริโภคเหมือนๆ กัน ลมหายใจก็ใช้อากาศเดียวกัน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่ในโลกนี้ก็ใช้อันเดียวกัน เพราะฉะนั้น กิเลสอันเดียวกัน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด แล้วพระพุทธเจ้าสอนสิ่งอยู่ในธรรมชาติมีอยู่ในโลก แต่เรานี้เข้าไปไม่ถึงความเป็นจริงนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปรู้ความจริง ความจริงที่เข้าไปรู้นั้นแหละ มันจะทำลายกิเลสออกไปโดยลำดับ พระพุทธศาสนาที่แท้จริงนี้ เราจะเข้าถึงได้ ก็โดยเราต้องเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นจริง ธรรมชาตินั้นอยู่ที่ไหนล่ะ? อยู่ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบตรงนี้แหละ ที่เป็นที่สุดแห่งโลก ที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งเหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อยู่ในกาย อยู่ในใจเรานี่เอง จะเรียกได้ว่า ตัวเรานี่แหละเป็นพระไตรปิฎก ถ้าเรารู้ความจริงของกาย ของใจอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยวิปัสสนาปัญญาจริงๆ รู้เหตุผลในธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมากเท่าไหร่ เราก็จะรู้จักพุทธะมากเท่านั้น เราก็จะรู้จักพระไตรปิฎกมากเท่านั้น จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ ความหมดจดได้มากเท่านั้น เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนตลอด ๔๕ พรรษา รวมลงที่อริยสัจ ๔ ทั้งหมด ให้รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทั้งนั้นเลย ดังนั้น ในวันนี้ จะได้อธิบายถึงเรื่องวิสุทธิ วิสุทธิหมายถึง ถ้าเราแปลตรงๆ ก็บอกว่าความหมดจด แต่ถ้าแปลให้ลึกๆ ลงไปนี้ หมายถึงพระนิพพานอันปราศจากมลทินทั้งปวงที่บริสุทธิ์ที่สุด เพราะว่าคำว่าวิสุทธิก็เป็นชื่อๆ หนึ่งของพระนิพพาน ดังที่ได้อธิบายไว้เมื่อวาน สุชฌันติ สัตตา ราคาทิมะเลหิ เอตายาติ วิสุทธิ วิเคราะห์ว่า สภาวะเป็นเหตุผลจดจากมลทิน คือราคะเป็นต้น ของสัตว์โลก จึงชื่อว่าวิสุทธิ วิสุทธิแปลว่าความหมดจด เป็นความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ เป็นธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไป จนกระทั่งบรรลุจุดมุ่งหมายคือพระนิพพาน แล้วก็ควรจะรู้ต่อไปด้วยว่า บริสุทธิ์ในอะไร? คำว่าวิสุทธิ บริสุทธิ์ สะอาด หมดจด เป็นความหมายเดียวกัน คือบริสุทธิ์ สะอาด จากกิเลสที่เป็นไปในทางกาย กายก็ต้องบริสุทธิ์ บริสุทธิ์สะอาดจากกิเลสที่เป็นไปในทางจิต แสดงว่าจิตก็ต้องบริสุทธิ์ บริสุทธิ์สะอาดจากกิเลสที่เป็นไปในทางปัญญา ปัญญาก็ต้องบริสุทธิ์ด้วย หรือถ้าจะย่อลงก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาที่บริสุทธิ์นั่นเอง แต่ว่าความจริงแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา มันมีทั้งบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น วิสุทธิ ๗ ที่จะได้มาอธิบายขยายความ ต่อเนื่องจากเป็นอันเดียวกัน เนื้อเดียวกันของทางสายเอกนี้ คือความหมดจดจากกิเลสทั้ง ๓ ประการ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างหยาบ อย่างกลาง แล้วก็อย่างละเอียด เป็นไปในทั้งทางกาย แล้วก็ทางจิต ทางปัญญา ถ้าหมดจดชนิดศีล ถ้าศีลเราหมดจด เป็นการหมดจดจากกิเลสอย่างหยาบ เพราะว่ากิเลสอย่างหยาบนี้ สามารถให้บริสุทธิ์ได้ด้วยศีล เมื่อมีศีลก็เท่ากับว่ากิเลสอย่างหยาบ จะไปฆ่าเขา ไปลักขโมยของๆ เขา ไปประพฤติผิดในกาม พูดจาไม่ดี ทำสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มันจะหมดไป อันนี้คือกิเลสอย่างหยาบ ถ้าหมดจดชนิดสมาธิ ก็เป็นการหมดจดจากกิเลสอย่างกลาง หมดจดชนิดปัญญา เป็นการหมดจดจากกิเลสอย่างละเอียดที่เป็นอนุสัยที่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน อยู่ที่เราต้องทำเป็นลำดับๆ จากตทังคะฯ ละเป็นขณะๆ จนกระทั่งวิขัมภนะฯ ด้วยกำลังของสมาธิ กดข่มเอาไว้ จนกระทั่งเป็นสมุจเฉทปหาน คือละแบบถอนรากถอนโคนไม่เหลือเชื้อ วิสุทธิเป็นธรรมะกว้างขวางมาก เป็นทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้นต้องไปด้วยวิสุทธิ ต้องไปด้วยความบริสุทธิ์ ต้องไปด้วยความหมดจดจากกิเลส ทางไปนิพพานที่เราทราบ แล้วก็ได้อธิบายขยายความมาอย่างละเอียด นั่นก็คือ สติปัฏฐาน ๔ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อยู่ในสติปัฏฐาน ๔ เมื่อผลของการปฏิบัติเป็นวิปัสสนาฌาน ก็จะพัฒนาจนกระทั่งถอนรากถอนโคนด้วย เหล่านี่แหละ เป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน คนเรานี้ เราปรารถนาพระนิพพาน เราก็ต้องรู้จักพระนิพพาน ซึ่งก็ได้อธิบายสภาวะพระนิพพานเมื่อวาน แล้วก็ทางประพฤติ ทางปฏิบัติ ตั้งแต่ปฏิปฐาน ๔ จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ต้องชำระให้หมดจดจริงๆ จึงจะไปได้ วิสุทธิ ๗ ได้แก่ ศีล ศีลวิสุทธิ-ความหมดจดแห่งศีล จิตตวิสุทธิ-ความหมดจดแห่งจิต ทิฏฐิวิสุทธิ-ความหมดจดแห่งความเห็น กังขาวิตรณวิสุทธิ-ความหมดจดแห่งการก้าวล่วงความสงสัย มรรคามรรคญาณวิสุทธิ-ความหมดจดด้วยการเห็น เป็นปัญญาที่หยั่งรู้ว่าเป็นทางหรือไม่ใช่ทาง ปฏิปทาญาณทัศนวิสุทธิ-ความบริสุทธิ์ที่เป็นการเห็นปฏิปทาเครื่องปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วก็อันสุดท้ายข้อที่ ๗ ญาณทัศนวิสุทธิ เป็นตัวผล ความหมดจดด้วยปัญญา จากการประพฤติการปฏิบัตินี้ ในวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ คือ แต่ละข้อจะเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน จะเจริญอย่างเดียว ทำข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ต้องต่อเนื่องเป็นขั้นๆ ไป ต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยลำพัง ศีล เป็นปัจจัยแก่ความบริสุทธิ์แห่งจิต จิตเป็นปัจจัยแก่ความบริสุทธิ์แก่ปัญญาอย่างนี้ เรื่องนี้ ครั้งหนึ่งในพระปุณณมันตานีบุตร ซึ่งเป็น อาจารย์ของพระอานนท์ เป็นผู้แสดงธรรม แล้วพระอานนท์ฟัง จนกระทั่งบรรลุเป็นพระโสดาบัน แสดงว่าพระปุณณมันตานีบุตรนี้เป็นอาจารย์ของพระอานนท์โดยตรง ในการทำให้พระอานนท์ได้ดวงตาเห็นธรรม จากการฟังธรรมกถาวัตถุ ๑๐ จากพระปุณณมันตานีบุตร แล้วชื่อเสียงของพระปุณณมันตานีบุตรนี้ ก็เป็นที่เลื่องลือนามอุโฆษในสมัยนั้น ครั้งหนึ่งได้พบกับพระสารีบุตร ซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ท่านก็สนทนากันในเรื่องวิสุทธิ ๗ ที่จะเป็นสิ่งที่นำบุคคลไปสู่พระนิพพาน ท่านพระปุณณมันตานีบุตร จึงเปรียบวิสุทธิทั้ง ๗ นี้ อุปมาเหมือนกับเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระราชาแห่งกรุงสาวัตถี เสด็จจากเมืองสาวัตถีไปยังเมืองสาเกตุ ทรงใช้รถถึง ๗ ผลัด ๗ ต่อ จะกล่าวว่า ทรงใช้รถคันใดคันหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังเมืองสาเกตุไม่ได้ เพราะระยะเวลาของคนที่เดิน ของสัตว์ที่ลาก ของพาหนะไปไม่ไหว เพราะสมัยนั้นต้องเดินทางด้วยทางเกวียน ทางเท้า แล้วก็เป็นราชรถ แค่นั้นเอง ต้องใช้รถถึง ๗ ต่อ ๗ ผลัด ก็คือ ต้องทรงใช้รถคันหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไปอีกคันหนึ่ง จนครบ ๗ ผลัด เพื่อเดินทางไปถึงเมืองสาเกตุ เพราะฉะนั้น วิสุทธิทั้ง ๗ นี้ จึงเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ศีลเป็นปัจจัยแก่ความบริสุทธิ์แห่งจิต ความบริสุทธิ์แห่งจิตจึงเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงอนุปาทาปรินิพพาน คือ ความดับกิเลสด้วยความไม่ยึดมั่น ถือมั่น เป็นเช่นนี้ ทีนี้ข้อแรก สีลวิสุทธิ หมายถึงความหมดจดแห่งศีล การรักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์ มันก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ เราลองสังเกตดูว่า ทำไมนั่งแล้วฟุ้งซ่าน นั่งแล้วไม่สงบ นั่งยังไงก็ไม่เป็นสมาธิ แสดงว่า ศีลไม่ดี ศีลไม่บริสุทธิ์ หรือต้องอาบัติ ยังมีอาบัติติดอยู่ เป็นเครื่องขวางกั้น ไม่ให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เพราะฉะนั้น ในการประพฤติการปฏิบัติธรรมนี้ จึงต้องชำระศีลให้หมดจด ศีลที่หมดจดเหมือนกับภาชนะที่สะอาดใบใหญ่ สามารถบรรจุน้ำสะอาดได้มากมาย แต่ถ้าศีลไม่หมดจดนี้ เหมือนภาชนะเล็กด้วย สกปรกด้วย ใส่ได้นิดเดียว แล้วน้ำมันก็สกปรก มองไม่เห็นอะไร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเริ่มต้นจากศีลให้หมดจดก่อน แม้กระทั่งในโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าเริ่มต้นว่า ให้ละชั่ว แล้วจึงทำดี จากนั้นจึงทำจิตของตนให้ผ่องใส ก็เป็นไปในทางแนวเดียวกัน ต้องทำเป็นขั้นๆ เป็น step อย่างนี้แหละ เพราะคนส่วนใหญ่ ส่วนมาก ชอบทำบุญอยู่แล้ว ทำบุญมันทำง่าย แต่ละบาปมันละยาก เพราะบาปต่างๆ นี้ ต้องละได้ด้วยศีล เมื่อไม่มีศีล ก็เท่ากับว่าไม่ได้ละบาป พอไม่ละบาป ทำบุญมันก็ไม่ถึงที่ สติ สมาธิ มันก็ไม่เกิด ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโลกเป็นอย่างนี้กัน ดังนั้นแล้ว ศีลนี้แหละจึงสำคัญที่สุด ศีลนี้ตั้งแต่ระดับมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ จนกระทั่งถึงนิพพานสมบัติ คนนั้นจะถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์โดยศีล จะไปสู่สุคติด้วยศีล “สีเลนะ นิพพุติง ยันติ” นิพพุตะ ถึงความดับกิเลสได้ก็ด้วยศีล แล้วทีนี้ ศีลต้องเป็นให้ศีลที่เป็นความหมดจดจริงๆ ศีลที่ไม่วิสุทธิ ที่ไม่เป็นความหมดจดนั้นเป็นศีลอย่างไร? คือศีลที่รักษาเพื่ออยากได้บุญ อยากได้กุศล ได้ไปเป็นคนร่ำคนรวย หากเรารักษาศีลหรือว่าทำบุญทำทานการกุศลใดๆ ก็แล้วแต่นี้ โดยมีเจตนาเป็นไปเพื่อความสุข เพื่อความร่ำรวย เพื่อความเฮง เพื่อได้เลื่อนตำแหน่ง เพื่ออย่างนั้น เพื่ออย่างนี้ หรือเพื่อความต้องการในอารมณ์ที่เป็นไปในทางโลก ศีลนั้นมันก็ไม่บริสุทธิ์ที่จะเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน จึงเป็นศีลที่อยู่ในระดับโลกิยะ เพราะว่ากิเลสมันเป็นปัจจัยให้รักษาศีล เพราะหวังผลประโยชน์ ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้กระทั่งพระ ถ้าหากรักษาพระวินัย ทำเป็นเคร่ง เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำนู่น ทำนี่ ด้วยอาการเคร่งครัด ด้วยการหวังผลประโยชน์เพื่อให้เขามาศรัทธา มุ่งหวังลาภสักการะ และเสียงเยินยอ นี่ก็ต้องอาบัติ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่สรรเสริญ แล้วก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง ถ้าคนเรารักษาศีลเพื่ออยากได้นั่น อยากได้นี่ ก็แสดงว่า จริงอยู่นี้ มันไม่ได้ผิดศีล แต่เจตนาไม่บริสุทธิ์ ดังนั้น เจตนาต้องบริสุทธิ์ จึงจะเป็นปัจจัยแก่มรรคผลพระนิพพาน คือต้องรักษาแบบไหน? รักษาเพื่อให้หมดจดบริสุทธิ์ เพื่อเป็นฐาน ให้สมาธิ ให้ปัญญาเกิด ตั้งใจเช่นนี้ แล้วโดยเฉพาะในฝ่ายศีลของพระนี้ จะต้องเป็นศีลที่ถือเพื่อปรารถนาพระนิพพาน ศีลบริสุทธิ์จริงๆ ท่านจัดไว้ ๔ อย่าง อย่างแรก ปาฏิโมกขสังวรศีล อย่างที่ ๒ อินทรียสังวรศีล อย่างที่ ๓ อาชีวปาริสุทธิศีล แล้วก็อย่างที่ ๔ ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีล ๔ อย่างที่บริสุทธิ์นี้เป็นปาริสุทธิศีล คือไม่ได้เจือด้วยกิเลสตัณหา คือเป็นการรักษา เป็นการประพฤติแบบผู้มีปัญญา ผู้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างบารมีเพื่อพระนิพพาน ตั้งแต่เล่าพุทธประวัติมาหลายครั้งมาก เวลาพระพุทธองค์ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พอตั้งเสร็จแล้ว เวลาทำกุศลทำทานบารมีหรือทำบุญทุกครั้ง ไม่ได้ปรารถนาเพื่อความเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เพื่อเป็นเทวดาหรือเป็นพรหมเลย ปรารถนาอย่างเดียว คือ เพื่อเป็นสัมมาสัมพุทธะ เพื่อเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตั้งใจไว้ในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ การรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ความหมดจด ไม่ด่างพร้อยในศีลทั้งหลาย เจตนาที่จะงดเว้นจากความชั่วแล้วก็ทุจริต ความสำรวมระวังในการที่จะไม่ล่วงละเมิด โดยการงดเว้นไม่ล่วงละเมิดบาปทางกาย ๓ อย่าง ก็คือศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๕ บาปทางกายข้อแรกคือ เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น คือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ทุจริตโกงกินคอรัปชั่น ประพฤติผิดในการแสวงหาความสุขในทางที่ผิด ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร แล้วก็กินเหล้าเจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน มันรวมอยู่ในศีลข้อ ๓ แล้วก็รวมอยู่ในกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ก็คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ งดเว้นจากมโนทุจริต ๓ คือ การประพฤติไม่ดีทางใจ คือการเพ่งเล็งอยากได้ของเขา จิตคิดโลภ แล้วก็จิตคิดโกรธ พยาบาทปองร้าย แล้วก็มีความเห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด เจตนางดเว้นไม่ทำบาป ๑๐ อย่างนี้ จึงจะเป็นสีลวิสุทธิ พร้อมทั้งความสำรวมระวังกาย วาจา ใจ จึงเป็นสังวรศีล เป็นการสำรวมระวังให้เกิดความบริสุทธิ์หมดจด ไม่ด่างพร้อยในศีลของตนเอง อันนี้สำหรับฆราวาส คือ งดเว้นจากบาป ๑๐ ประการที่เป็นอกุศลกรรมบถนั่นเอง สำหรับของพระหรือของใครก็ตาม ปาฏิโมกขสังวรศีล จึงเท่ากับว่า สำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา ผู้ที่อยู่ในภาวะของตนๆ จะศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ หรือว่าศีล ๓๑๑ ต้องถึงความสำรวมระวัง ศีล ๒๒๗ ข้อ ที่ได้อธิบายมาในพรรษาตั้งแต่แรกนี้ รวมอยู่ในข้อนี้ คือปาฏิโมกขสังวรศีล ต้องสำรวมระวังรักษา จึงจะเป็นศีลได้ การสำรวมระวังรักษากายวาจาตามพระปาฏิโมกข์ โดยสมาทานตั้งอยู่ในวิรัติ คำว่าวิรัติเวรมณี แปลว่า เจตนางดเว้น เป็นศีลที่บริสุทธิ์ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา ภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น เพราะบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นไปเพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จากสังสารวัฏ เพราะเป็นคำปฏิญาณตนของผู้บวชทุกคนนะ ปฏิญาณตนตั้งแต่ขอบวชจากหน้าพระอุปัชฌาย์ “เอสาหัง ภันเต สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตังฯ” เป็นต้นนี้ เป็นการปฏิญาณเลยว่า ขอบวชเพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่เพื่อมุ่งลาภสักการะ เสียงเยินยอ มุ่งอะไรต่างๆ เพราะให้สัจจะวาจาเอาไว้แล้วตั้งแต่ขอบวชนี้ว่าจะทำอย่างนี้ๆ แล้วก็ต้องถึงพร้อมด้วยอาจาระ แล้วก็โคจร มารยาท แล้วก็การประพฤติการปฏิบัติ โดยไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่เกิดทางกาย ไม่ล่วงละเมิดในสิ่งที่เกิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิดนี้กล่าวว่าเป็นอาจาระ ถึงพร้อมด้วยการโคจร ก็หมายถึงว่า สำรวมในการโคจร คือการท่องเที่ยวไปของจิต หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวไปในทางกาย ท่านแยกไว้อย่างละเอียด ๓ อย่าง อุปนิสสยโคจร คือการโคจรซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะ ๑๐ ประการ คือ พิจารณาว่าทำแล้วย่อมได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ยังไม่เคยฟัง พิจารณาว่าทำแล้วย่อมทำคำสอนของพุทธเจ้าที่ฟังแล้วนี้ให้แจ่มแจ้งมากขึ้น ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาว่าประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วนี้สิ้นความสงสัย พิจารณาว่าย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง พิจารณาแล้วย่อมทำจิตให้ผ่องใส พิจารณาว่ากัลยาณมิตรนี้ ย่อมยังให้เจริญด้วยศรัทธา แล้วก็พิจารณาในศีล พิจารณาในสุตตะ คือการศึกษาเล่าเรียนมาก พิจารณาในจาคะ คือการเสียสละ พิจารณาในปัญญา อันนี้คือ เป็นการสำรวมในเครื่องอยู่ การงานต่างๆ ของบุคคลที่พิจารณาในข้อปฏิบัติในประการนี้ จะเป็นการช่วยทำให้การรักษาศีลในขั้นปาฏิโมกข์นี้ เป็นไปได้สะดวกดี เพราะพิจารณาในทุกๆ เรื่องก่อนว่า สิ่งใดกระทำแล้วเป็นไปเพื่อละกิเลส จึงกระทำ สิ่งใดกระทำแล้ว เป็นไปเพื่อการสะสม เป็นไปเพื่อการบำรุงกิเลส ก็งดเว้นเสีย โคจรอย่างที่ ๒ อารักขโคจร คือการไปในที่ต่างๆ นี้ สำหรับนักบวชก็ให้กำหนด ไม่ให้มองสอดส่าย สำรวมระวัง ไม่เหลียวดูสิ่งที่ล่อตาล่อใจต่างๆ ไม่ดูสตรี ไม่ดูบุรุษอย่างนี้ คือ มีความอารักขา รักษาดูแลตน รักษาสำรวมกายใจนี้ไปในที่ต่างๆ ให้ดี แล้วก็โคจรที่ ๓ คือ อุปนิพันธโคจร คือการโคจรเดินทางไปในที่ต่างๆ สำรวมระวัง ผูกจิตไว้กับเครื่องอยู่ อารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เจริญสติปัฏฐานก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นผู้มีความเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย ตั้งอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย มีความประพฤติปฏิบัติเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความดับในกาม พระเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและการโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในศีลในสิกขาบททั้งหลาย ผู้นั้นย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลาย เพื่อความดับกาม เพื่อดับภพชาติ ปฏิบัติเพื่อสิ้นตัณหา เพื่อสิ้นความโลภ เพื่อดับภพภูมิ จุติจากสภาพนี้แล้วเป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้เช่นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เช่นนี้ ปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ จึงเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นอย่างอื่น ไม่ได้เป็นไปเพื่อลาภยศ เมื่อสำรวมระวังสมบูรณ์เช่นนี้ จึงทำให้ศีลวิสุทธิข้อแรกเกิดขึ้น แล้วก็ศีลอย่างที่ ๒ อินทรียสังวรศีล อันนี้สำคัญมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ สำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้ดี รู้จักสำรวม เพราะถ้าไม่สำรวมแล้ว อารมณ์ ๒ อย่างมันจะแทรกเข้ามา อภิชฌาโทมนัส คือความชอบ ไม่ชอบ อยากมองอะไรก็มอง เบิ่งตามองสุดลูกหูลูกตา อยากฟังอะไรก็ฟังเต็มที่ อยากดม อยากกิน อยากสัมผัส อยากคิดอะไรก็คิดสุดโต่ง คิดไปสุดเลย โดยไม่มีการสำรวมระวังอินทรีย์เช่นนี้ จึงต้องน้อมเข้ามา มีสติสัมปชัญญะ จึงจะเป็นสีลวิสุทธิได้ ตา เวลาจะเห็นอะไรนี้ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าขญะได้ยิน เมื่อสักแต่ว่า สักแต่ว่า ได้อย่างนี้ พวกความรักใคร่ ความโกรธ ความหลงนั้น มันจะครอบงำไม่ได้ หรือถ้ามันเข้ามาในใจแล้ว มันจะออกไปไวๆ ศีลที่จะเป็นอินทรีย์สังวรนั้น โดยไม่เข้าไปยึดถือในขณะที่เห็น ในขณะที่เห็นนี้ ก็เป็นเพียงแค่เห็น หยุดอยู่เพียงแค่นั้นไม่ยึดถือโดยนิมิต ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ จึงกล่าวได้ว่าเป็นอินทรีย์สังวร คำว่าเห็นรูปในตา ความจริงแล้วนี้ ลูกตามันไม่ได้เห็น แต่สิ่งที่เห็นคือ จักษุวิญญาณ คือจิตวิญญาณที่มันอาศัยอยู่ที่ลูกตา ตรงนั้นแหละเป็นตัวเห็น เพราะร่างกายมันเห็นไม่ได้ จิตมันเห็นได้ แต่ลำพังจิตอย่างเดียวมันเห็นไม่ได้ มันต้องอาศัยรูป คือร่างกาย ในการเห็น ในการได้ยิน มันอาศัยกันและกัน จิตกับกายมันเกี่ยวเนื่องกันเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเวลาที่เห็นรูปด้วยตา ผ่านเข้ามาทางจิต ไม่ยึดถือในนิมิต คือไม่ยึดถือนิมิตว่าเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง จะสวย ไม่สวย หล่อ ไม่หล่อ ดี ไม่ดีนี้ เมื่อมันปรุงแต่งเข้าไปอย่างนั้นแล้ว มันก็จะเกิดอารมณ์ ๒ อย่าง ชอบ ไม่ชอบ การไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะหมายความว่า ไม่ยึดถือในกิริยาอาการต่างๆ เช่นว่า ยิ้มสวย เวลายิ้มก็มีลักยิ้ม กิริยาที่หัวเราะก็น่ารัก อย่างนี้เป็นต้นนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่ายๆ จึงต้องหยุดอยู่เพียงแค่การเห็นนะ ถ้าไม่เช่นนั้น มันก็จะปรุงสารพัดเลย มันปรุงแต่ง พอปรุงแต่งมากแล้วเป็นทุกข์ เมื่อบุคคลมีสติในการสำรวมระวังอยู่ ก็จะสามารถกั้นอกุศล คือกิเลสที่มันจะเกิดขึ้นจากการเห็นการได้ยินเป็นต้นได้ บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์นี้ ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาบ้านไม่ดี พอเวลาฝนตกมานี้ ตัวก็เปียก คล้ายกับกิเลสที่มันรั่วไหลเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันรั่วรดจิตใจเสมอ ตนก็ต้องเช็ดน้ำตาเรื่อยไป เพราะมันเสียใจ พลัดพรากจากคนรักของรัก ประสบพบเจอกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก จะโทษใครได้ ต้องโทษตัวเอง เพราะว่าตัวเองนี้ เปิดประตูบ้าน คือประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับแขกเอง ทำอาคันตุกะวัตรในเรื่องกิเลสดีเกินไปหน่อย อยากได้อะไรก็ดู อยากฟังอะไรก็ฟัง เพราะฉะนั้น พอมันเข้ามาแล้ว เหมือนคนที่นั่งอยู่ในอาคารนี้ ถ้าหลังคาไม่ดี ฝนก็ตกลงมาเปียก ก็ต้องเช็ดพื้นบ้าง เช็ดตัวบ้าง เพราะตัวมันเปียก เพราะฝนมันสาด ฝนมันรด เราก็เช่นเดียวกันนี้ เมื่อไม่ปิดกิเลส ไม่ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก ปิดตา ปิดใจ ปิดในที่นี้หมายถึงว่าสติ สติ เพียงแต่สักว่า สักว่า เมื่อสักว่าไม่ทัน ก็ต้องเช็ดน้ำตา เช็ดด้วยความเสียใจ เพราะกิเลสมันเข้ามาแล้ว ถ้าหากว่าผู้ที่มีการสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ดี เหมือนกับคนที่สร้างบ้าน เป็นวิศวกรที่ชาญฉลาด มุงหลังคาไว้อย่างดี ฝนมันก็ไม่รั่วลงมารดตัว ตนก็ไม่ต้องไปเช็ดน้ำฝน นี่ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการสำรวมอินทรีย์แล้ว กิเลสทั้งหลายมันก็ไม่รั่วเข้ามาในใจ เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน อกุศลธรรมต่างๆ บาปต่างๆ มันก็ไม่เกิดขึ้น ศีลอย่างที่ ๓ ที่จะทำให้ศีลวิสุทธิ คือ อาชีวปาริสุทธิศีล คือว่า เว้นการทำการพูด ที่เกี่ยวเนื่องด้วยมิจฉาชีพ มีความเป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้ที่ต้องการให้อาชีวปาริสุทธิศีลบริสุทธิ์นั้น ต้องงดเว้นจากการประพฤติหลอกลวงทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงชีวิตของตนเอง อาชีวปาริสุทธิศีลนี้ ท่านเรียกว่า ปะริเยฏฐิสุทธิ เพราะเป็นความบริสุทธิ์โดยการแสวงหา สำหรับพระเองนี้มีข้อระเบียบมากมาย ภิกษุผู้ละอเนสนา คือการแสวงหาอันไม่สมควร แล้วให้ปัจจัยทั้งหลายเกิดขึ้นโดยความเป็นธรรมโดยสม่ำเสมอ ความบริสุทธิ์ โดยการเว้นจากการประพฤติหลอกลวงทุกชนิด เช่นว่า อวดคุณวิเศษที่ไม่มีอยู่ในตัวเอง อวดว่าเก่งอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ เป็นผู้มีฤทธิ์อย่างนั้น มีฤทธิ์อย่างนี้ แม้กระทั่งทำเครื่องรางของขลังขึ้นมา เอามาขาย แล้วก็อวดโฆษณาเกินจริงว่ายิงไม่เข้า ฟันไม่ออก ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ อวดสารพัดอย่างนี้ ถ้ามันไม่จริง ก็เท่ากับว่า อวดคุณวิเศษที่ไม่มีอยู่ในตัวเอง ปาราชิก ก็เพราะว่า มันล่อแหลมมากเรื่องเหล่านี้ อวดคุณวิเศษที่ไม่มีอยู่ในตัวเอง ก็เท่ากับว่า แสวงหาในสิ่งที่ไม่สมควร เพราะหลอกเขากิน แล้วก็ยังมีการพูดเคาะ พูดเลียบเคียง ต่อลาภด้วยลาภ ถือว่าเป็นการแสวงหาอาชีพที่มันไม่บริสุทธิ์สำหรับภิกษุ พูดเคาะคืออะไร? ชมอย่างนู้น อย่างนี้ เพื่อให้เขาเอาของมาให้ พูดเลียบเคียง ก็คือคนที่ขอของเก่งๆ เลียบเคียงไปทางนั้น เลียบเคียงไปทางนี้ รู้จักพูด เป็นการขอด้วยความไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าเจตนามันแอบแฝง เจตนาไม่ดี พระพุทธเจ้ายังบอกเลยว่า เป็นการเลี้ยงชีพด้วยความไม่บริสุทธิ์สำหรับพระ ต่อลาภด้วยลาภ เอาของน้อยไปต่อของใหญ่ ให้ของเขาไปเพื่อหวังผลประโยชน์กลับคืนมา ถือว่าเป็นการแสวงหาไม่บริสุทธิ์สำหรับพระ สิ่งของปัจจัยที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์นั้นมี ๓ อย่าง คือ ได้มาด้วยการบิณฑบาต ถือว่าเป็นปัจจัยที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพราะหามาด้วยกำลังของปลีแข้ง ๒ ได้มาโดยที่ทายก ทายิกา เลื่อมใสในคุณธรรมของภิกษุ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จึงถวาย ได้มาโดยมีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นี่ก็ถือว่าเป็นของบริสุทธิ์ การรักษาข้อนี้ให้บริสุทธิ์นี้ ถึงแม้ชีวิตของท่านจะตกล่วงไป ท่านก็ไม่ยอมให้ศีลนี้ขาด สำหรับผู้ที่รักษาศีลอย่างดีนะ แต่คนธรรมดาๆ ปุถุชนเต็มขั้น ยังมีกิเลส ก็ต้องเสียดายเป็นธรรมดา ต้องกลัวตายด้วยอำนาจของกิเลส แต่ผู้ที่มุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน หรือเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านไม่กลัว อะไรๆ ที่ไม่ถูกต้องด้วยพระวินัยแล้ว ท่านจะไม่ยอมกระทำเลย แม้ชีวิตของท่านจะตกล่วงไปด้วยการไม่กระทำนั้นๆ ท่านก็ยอม อย่างนี้ จึงเป็นสีลบริสุทธิ์ไม่ได้เจือด้วยกิเลส ที่สุดของศีลนั้น ท่านบอกว่ามี ๓ อย่างนะ มีลาภเป็นที่สุด มีญาติเป็นที่สุด มีชีวิตเป็นที่สุด เป็นยังไงล่ะ? มีลาภเป็นที่สุดคือ เมื่อได้ลาภสักการะ เห็นแก่ของ เห็นแก่เงิน เห็นแก่ทอง เห็นแก่การได้ พอเห็นแก่การได้ ความละโมบโลภมากเข้ามา ศีลมันก็พลันหมดไป หมดเรื่องศีลกัน มันสุดแค่นี้ เพราะเห็นแก่ลาภ สุดแค่ญาติ มีญาติเป็นที่สุด หมายความว่า ญาติพี่น้องกันแท้ๆ เราจะไม่ช่วยเหลือกันได้ยังไง ก็ต้องช่วยกัน เพราะไม่ใช่คนอื่น ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิดอยู่เต็มเปา แต่เห็นแก่ญาติ โกหกช่วยเหลือ แบบนี้ศีลก็หมดไป เพราะมีญาติเป็นที่สุด เรื่องศีลไม่ต้องถือเอาญาติเป็นใหญ่เช่นนี้ เรื่องศีลที่เอาญาติเป็นใหญ่ ศีลมันก็หมดไป มีชีวิตเป็นที่สุดก็เหมือนกับว่า จะตายแล้วนี้ เขามาขู่ มาเข็ญ เอาศีลไม่ได้ ต้องเอาชีวิตไว้ก่อน คือถ้าฉันไม่ฆ่าเขา เขาก็ต้องมาฆ่า สรุปแล้วไปฆ่าเขาก่อน ด้วยการรักษาชีวิตไว้ แบบนี้ศีลก็หมดไป เรียกว่าศีลมันถึงที่สุด แต่ว่าพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ท่านตั้งมั่นในศีล เรียกว่าอริยกันตศีล ที่เป็นองค์คุณแห่งพระโสดาบันเป็นต้น ท่านเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจะถือว่าชีวิตของท่านไม่สำคัญเลย ชีวิตนั้นเป็นไปเพื่อทุกข์ แต่ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า พระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ความหลุดพ้นในวัฏสงสาร ยอมตาย แต่ไม่ยอมผิด ที่บอกว่า พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม แบบนี้จึงจะเป็นความบริสุทธิ์อย่างถึงที่สุด ต่อไป อย่างที่ ๔ ปัจจัยสันนิสิตศีล เว้นจากการอาศัยปัจจัยที่ผิด คือหมายความว่า ได้สิ่งของอะไรมานี้ ไม่มีปัญญาในการบริโภคใช้สอย ข้อนี้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัส แล้วก็มารวมไว้ในหมวดนี้ เพราะว่าเป็นของสำคัญ ต้องมีปัญญาในการบริโภค หลวงพ่อใหญ่ก็สอนอยู่เสมอ บริโภคใช้สอยอะไรต้องมีปัญญา คือ ไม่ยึด ไม่ติด ไม่หลงอยู่ในของนั้น มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็เพื่อฉลาด บริโภคใช้สอยอะไรแล้วก็ต้องฉลาด หมายความว่า มีปัญญาในการบริโภคปัจจัย ๔ เพื่อเป็นการเว้นจากการบริโภคใช้สอยด้วยตัณหา ด้วยความอยาก ด้วยความหลง ปัจจัยสันนิสิตศีลเป็นการพิจารณาปัจจัย ๔ ก่อนที่จะบริโภค คือใช้สอยหรือพิจารณาในขณะบริโภคใช้สอย หรือบางทีลืม พิจารณาหลังจากที่ใช้สอยปัจจัยทั้ง ๔ แล้วก็ได้เช่นกัน การพิจารณาปัจจัยทั้งสี่นั้นโดยความเป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น เป็นของปฏิกูล เพียงแค่อาศัย เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ความหิวกระหาย เพียงเพื่อบำบัดทุกข์ ไม่ใช่บริโภคเพื่อความสวยงาม เพื่อหลงระเริง เพื่อความเมามันเกิดกำลังพลังทางกาย ไม่ใช่เพื่อความเป็นไปเพื่อตัณหา เพื่อราคะ ดังนั้น ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีลที่อาศัยการพิจารณาปัจจัย ๔ การบริโภค ท่านอธิบายว่ามี ๔ อย่าง อย่างแรกไถยบริโภค บริโภคแบบโจร ไถยะ แปลว่าโจร ใครชอบไถคนอื่นแสดงว่าเป็นโจร บาลีแปลว่าไถยะ มันก็มาเข้ากับภาษาไทยนี่ ชอบขูดรีด ชอบไถคนอื่น ก็คือโจร ไถยบริโภค คือบริโภคแบบโจร หมายถึงว่า คนที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย กินของเขา บริโภคของเขา เหมือนลักกิน ขโมยกิน อย่างที่ ๒ อิณบริโภค บริโภคด้วยความเป็นหนี้ หมายถึงว่าผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ที่มีศีลดี แต่ไม่ได้พิจารณา แล้วบริโภคใช้สอยไป จึงเป็นหนี้ ทายัชชบริโภค อย่างที่ ๓ บริโภคแบบทายาท คือการบริโภคของผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นการบริโภคโดยความเป็นทายาท คือเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เพราะว่าข้าวทุกเม็ด น้ำทุกหยด ที่อยู่ที่อาศัยเป็นของพระพุทธเจ้า เป็นบารมีของพระพุทธเจ้า หลวงพ่อพูดเสมอ แล้วก็บริโภคอย่างที่ ๔ คือ สามีบริโภค บริโภคแบบเจ้าของ หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ ท่านเป็นเจ้าของไทยธรรม เป็นเนื้อนาบุญที่สุดของโลก ทำไมเป็นบริโภคแบบเจ้าของล่ะ? เพราะว่า สิ่งที่เขามาถวายให้ เอามาทำบุญกับพระอรหันต์ แก่พระอริยเจ้านี้ มันยิ่งสะท้อนย้อนกลับเป็นทวีคูณ จึงเท่ากับว่าเป็นการบริโภคโดยความเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น คนก็เลยแห่แหน ทำกับพระพุทธเจ้า ทำกับพระอรหันต์ ทำกับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้า เพราะมีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ไพศาลนั่นเอง ดังนั้นแล้ว ศีลทั้ง ๔ นี้ จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยการสำรวมระวัง จะเห็นว่า มีคำว่าสังวรอยู่ ๒ ข้อ ปาฏิโมกขสังวรศีลนี้ จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดง แสดงอาบัติ ในส่วนของที่อาบัติที่ต้องแสดง เช่น ทุกกฏ ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย ทุพภาสิต ถ้าหนักกว่านั้น(สังฆาทิเสส) ก็ต้องไปอยู่กรรม อยู่ปริวาส ถ้าปาราชิกก็ไม่บริสุทธิ์แล้ว ไม่เหลือความเป็นพระอยู่แล้ว อินทรียสังวร เรียกว่าสังวรสุทธิ คือบริสุทธิ์ได้ด้วยการสำรวมระวัง นี่เป็นเรื่องของจิตของใจ อยู่ในสติปัฏฐานด้วยเรื่องนี้ แล้วก็อาชีวปาริสุทธิศีลนี้ บริสุทธิ์ได้ด้วยการแสวงหาด้วยความถูกต้อง ได้มาด้วยความเป็นธรรม แล้วก็อย่างที่ ๔ บริสุทธิ์ได้ด้วยการมีปัญญาในการพิจารณา การสำรวมระวัง อันนี้คือ ที่ว่ามา ๔ ข้อเป็นเรื่องของพระ ทีนี้ศีลของคฤหัสถ์นี้ ไม่ได้พิสดารเหมือนของพระ เพียงแต่รักษาศีล ๕ หรือว่า ศีล ๘ จัดเป็นศีลที่หมดจดอยู่แล้ว แม้ว่าศีล ๕ แล้วก็ศีล ๘ จะมีบางข้อที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นสีลวิสุทธิ คือหมดจดเหมือนกัน สำหรับฆราวาสเมื่อรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ ศีล ๘ บริสุทธิ์ ก็เท่ากับว่ามีศีลวิสุทธิแล้ว เพราะมีการรักษา แล้วก็งดเว้นเสมอกัน ผู้รักษาศีล ๕ นี้ เมื่อจะรักษาให้หมดจดบริบูรณ์ ไม่เพียงรักษาศีล ๕ ข้อที่ปรากฏโดยตรงเท่านั้น แต่ยังต้องงดเว้นวจีทุจริตอีก ๓ ข้อเพิ่มด้วย เพราะศีลข้อ ๔ ที่บอกว่า มุสาวาทา งดเว้นจากการพูดเท็จ ก็เลยเป็นคนซื่อ ไม่โกหก แต่ว่าเป็นคนปากติดระเบิด ติดอาก้า ปากไม่ดี พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ แต่ไม่ได้โกหกนี่ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันต้องบริสุทธิ์ด้วยเป็นวจี วจีสุจริต ๔ อย่างนี่ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ จึงจะบริสุทธิ์จริงๆ แบบนี้เป็นต้น ศีลของคฤหัสถ์ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพนี้ ก็ไม่เหมือนกับศีลของภิกษุนะ เพราะว่า ภิกษุมีข้อละเอียดมากมาย แต่สำหรับฆราวาสแล้ว จะพิจารณาหรือไม่พิจารณาก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าอาชีพต้องเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นอาชีพที่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น คือเป็นสัมมาอาชีวะนั่นเอง ส่วนอินทรียสังวรศีลนี้ ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นได้ยากสำหรับภิกษุผู้ไม่ได้เจริญภาวนา เพราะอยากมองอะไรก็มอง อยากฟังอะไรก็ฟัง อย่างนู้นอย่างนี้ เพราะไม่มีสติเป็นเครื่องรักษา ไม่มีสติเป็นเชือก ไม่มีภาวนา ไม่มีเครื่องอยู่ จึงไม่ต้องกล่าวถึงกรณีในคฤหัสถ์ โดยทั่วไปในเรื่องของอินทรียสังวรจะไม่เกี่ยวกับคฤหัสถ์ แต่เป็นเกี่ยวข้องกับนักบวชเท่านั้น ส่วนปัจจัยสันนิสิตศีล บริโภคใช้สอยอะไรนี้ จึงต้องพิจารณาเหมือนกัน ถ้าไม่พิจารณาแล้ว มันจะไม่เต็มไปด้วยความพอ มันจะเต็มไปด้วยความอยาก อยากได้อะไร จริงอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินของเรา แต่พออยากโน่นอยากนี่ มันก็สะสมไปมากขึ้น มากขึ้น คนโลภมันจึงไม่อิ่มเต็มไปด้วยตัณหา บางคนสำคัญว่า ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ความจริงแล้ว ศีลมันต้องบริสุทธิ์อยู่เสมอ จึงจะเป็นฐานให้สมาธิ ให้ปัญญาเกิดได้ เพราะฉะนั้น ศีลจึงสำคัญมาก อย่างที่บอกว่า พึงรักษาศีลให้ดี ตามรักษาศีลในกาลทุกเมื่อ มีศีลเป็นที่รัก เหมือนกับนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เหมือนคนที่มีตาข้างเดียวรักษาตาข้างนั้นไว้ แล้วก็เหมือนกับแม่ที่ทะนุถนอมลูกน้อยคนเดียว ต้องรักษาศีลในระดับนั้นนะ ศีลเราจึงจะบริสุทธิ์ได้ ไม่ใช่เหยาะๆ แหยะๆ ย่อหย่อนอ่อนแอ ศีล ๕ สำหรับฆราวาส คฤหัสถ์นี้เป็นของมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ก็ตาม เอาง่ายๆ ศีล ๕ มีมาก่อนพระพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า วิธีการที่งดเว้นจากบาปมีองค์ประกอบ คืออยู่ในศีล ๕ นี่เอง ที่ทำให้สัตว์ผู้เวียนว่ายตายเกิดได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จึงเอาของจริงตรงนี้มาบอกว่า ผู้ที่ไม่โหดร้าย ไม่ใจหยาบ ไม่มากรัก ไม่ปากชั่ว ไม่มัวเมา คือเป็นผู้มีศีล ๕ เป็นคุณธรรมที่ทำให้ได้มนุษย์สมบัติ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเอาความจริงเรื่องนี้มาสอน เพราะมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว ถ้าไม่เช่นนั้น ในโลกจะมีคนได้ยังไง เพราะว่าคนที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ ต้องเป็นผู้ที่เคยมีศีล ๕ มาก่อน อันนี้ไม่ใช่กฎของพระพุทธเจ้า แต่เป็นกฎธรรมชาติ แล้วพระพุทธเจ้าเอามาบอกเรา ผู้รักษาศีล ๕ นี้ จึงเป็นพื้นเป็นฐาน ที่จะทำให้สมาธิให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ ประโยชน์และโทษของการรักษาศีล ๕ นี้ ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสภาวะปกติที่มีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว ดังนั้นแล้ว ผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล ๕ การประพฤติการปฏิบัติธรรมจึงไม่ก้าวหน้า เพราะไม่มีฐานของความเป็นคนเหลืออยู่ ไม่มีฐานของความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ เมื่อใจไม่เป็นมนุษย์ จะมาต่อเติมไปต่อยอดความเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะว่าจิตมันอยู่ในระดับคน อยู่ในระดับสัตว์เดรัจฉาน มีความสุขเพียงแค่เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องสืบพันธุ์ วนเวียนอยู่แค่นั้น ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน หรือมีความโกรธ อาฆาต พยาบาท มาดร้าย จิตอยู่ในระดับสัตว์นรก มีแต่ความโลภ อยู่ในระดับเปรต ดังนั้นแล้ว เมื่อร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจมันอยู่ในภพภูมิที่ต่ำ จึงมาต่อยอดเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องชำระจิตของตนนี้ ให้เป็นมนุษย์สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะต่อยอดเป็นพระอริยเจ้าได้ แล้วถ้าความผิดของเขาไม่ได้ทำอนันตริยกรรม ๕ มา ไม่ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ไม่ฆ่าพระอรหันต์ ไม่ทำร้ายพระพุทธเจ้า ไม่ทำสงฆ์ให้แตกกัน ไม่ประทุษร้ายภิกษุณี คือไม่ข่มขืนภิกษุณี แล้วก็ไม่ว่าร้ายพระอริยเจ้า ที่เป็นอริยุปวาท ถ้าเขาไม่ทำสิ่งเหล่านี้แล้ว การปฏิบัติธรรมของเขาก็ก้าวหน้า แต่ถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไม่อาจที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ เพราะมีสิ่งที่เป็นอันตรายที่ขวางกั้น นั่นคืออนันตริยกรรม แล้วก็ประทุษร้ายภิกษุณี แล้วก็กล่าวร้าย ว่าร้ายพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดังนั้น ทำไมจึงต้องมีการขอขมา ขอขมาครูบาอาจารย์นี้ เพราะบางทีเราคิดไม่ดีต่อท่าน เราพูดไม่ดีต่อท่าน จึงต้องมีการขอขมา ขอขมาลาโทษนะ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการอริยุปวาท กล่าวร้ายว่าร้ายพระอริยเจ้า การบรรลุธรรมอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่เกี่ยวกับนักบวชประชาชน เพราะคำว่าพระก็หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ อย่างผู้ที่มาบวช เป็นแต่เพียงภิกษุอยู่ ยังไม่ใช่พระแท้ ประชาชนต้องให้พากันเข้าใจ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ แล้วก็ต้องเป็นพระกันได้ทุกคน ถ้าเราพากันมีศีล ๕ หยุดอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง วันพระก็ถือศีลอุโบสถ เป็นต้น พระนั้นถึงเป็นความบริสุทธิ์ที่ปราศจากซึ่งตัวซึ่งตน เราต้องรู้จักพระที่แท้จริง คือ พระธรรม คือพระวินัย สละคืนซึ่งตัว ซึ่งตน เราไม่มีตัว ไม่มีตัวตน เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นหลัก มีความสุขในการดำเนินชีวิต เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ระดับต้น เป็นศีล ๕ พรหมจรรย์ระดับกลางก็คือศีล ๘ ศีล ๑๐ พรหมจรรย์ระดับสูงก็คือศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑ แล้วก็ศีลที่มาในปาฏิโมกข์ รวมถึงศีลที่อยู่ในพระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันเป็นแค่หลักเฉยๆ มันเยอะแยะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นอุปกรณ์สำหรับสละคืนซึ่งตัว ซึ่งตน เพื่อไม่มีทิฐิมานะ อัตตา ตัวตน จึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า พระวินัย เพื่อให้กุลบุตรลูกหลานเข้าใจ เพราะว่าไม่ต้องพากันไปคิดอะไรมาก เพียงแต่ปฏิบัติตาม ก็จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติ มันก็ฉลาดขึ้น เพราะว่าศีลเป็นพื้นเป็นฐานของความตั้งมั่นในธรรม ถ้าเราไม่มีศีล ธรรมมันก็ไม่เกิด ถ้าเราไม่มีธรรม ปัญญามันก็ไม่เกิด เพราะว่าเรายังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เพราะยังปรุงแต่งอยู่ เราจะข้ามวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องมียานพาหนะที่บริสุทธิ์ที่ดี ก็คือวิสุทธิที่ ๗ นี้ ไม่มีตัวตนแอบแฝง เราจะได้สละคืนซึ่งตัวซึ่งตนที่ประกอบด้วยปัญญา พระนิพพานต้องบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม เป็นผู้ที่เที่ยงตรง ไม่คดงอ เป็นคนไม่ลูบคลำ เพราะเป็นผู้ที่สร้างบารมี นี้เป็นธรรมเครื่องบริสุทธิ์ของความเป็นพระอริยเจ้าโดยตรง ไม่ข้องแวะ เป็นธรรมะที่หยุดก่อนวัฏสงสาร ลาก่อนวัฏสงสาร เมื่อวานได้อธิบายถึงพระนิพพาน การดำเนินถึงพระนิพพานนี้ พระนิพพานนี้เป็นของสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ ปราศจากซึ่งตัวซึ่งตน ไม่มีหลงใหล ทุกท่านทุกคนถึงมาเข้าใจเรื่องพระนิพพานให้ถูกต้อง การปฏิบัติเราก็ต้องให้มันถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีอวิชชาที่หลงเหลืออยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง รู้จุดหมายปลายทาง ไม่ได้ตั้งอยู่ในเพลิดเพลินความประมาท พระอริยเจ้าเบื้องต้นอย่างพระโสดาบัน ผู้ปฏิบัติน้อย ปฏิบัติมาก ได้บรรลุถึงพระนิพพานจุดสูงสุดต่างกัน เรื่องความประพฤติของเรา ที่สำหรับประชาชนคือศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นศีลเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่ระดับกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายบ้านเมืองมีไว้สำหรับห้ามคนทำผิด ติดคุก ติดตะราง ผิดพระวินัยก็ติดคุกเหมือนกันนะ ติดคุกอะไร? ติดคุกในวัฏสงสาร ถ้ายังไม่ต่อยอด คุกกว้างใหญ่ไพศาลที่ไม่ให้เราออกจากวัฏสงสาร เราทุกท่านถึงต้องรักษาศีลเพื่อพระนิพพาน ต้องไปต่อยอด จากศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา เราอย่าไปกลัว อย่าไปกลัวว่ารักษาศีล ๕ ศีล ๘ จะไม่พออยู่ พอกิน พอใช้ อย่าไปคิดอย่างนั้น ถ้าไปคิดอย่างนั้นเขาเรียกว่า ลูบคลำในศีล ในข้อประพฤติ ข้อปฏิบัติ เรียกว่ายังไม่ใช่ศีลเพื่อพระนิพพาน มันไม่เกี่ยวกับคนอื่นรู้ไม่รู้ เพราะการปฏิบัติธรรมมันเน้นมาที่ใจของตัวเอง เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนแห่งมรรคผลแห่งพระนิพพาน ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติตัวเอง ทุกคนให้ทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ จะได้มีศีลเสมอกัน มีสมาธิเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน เราเดินจงกรมนั่งสมาธิ หรือทำความดีทุกอย่าง บางทีถ้าพระที่ต้องอาบัตินี้ ทำอะไรให้เขาเลื่อมใส ไม่ว่าจะเดิน จะเหิน จะนั่ง จะนอน ทำอะไรถ้าตั้งใจผิด เพื่อให้เขามาเลื่อมใส ก็อาบัติ เพราะท่านไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน มุ่งเพื่อให้เขาสรรเสริญเยินยอ เพื่อผลประโยชน์ คือความเคารพนับถือ มันก็ตัวตนอยู่แล้ว ไม่ใช่เพื่อบริสุทธิคุณ ไม่ใช่เพื่อความเมตตาจริงๆ คนไทยที่เป็นชาวพุทธนี้ มีความเชื่อ หลายคนเชื่อว่า การจะบรรลุมรรคผลนิพพานต้องรอหลังตายไปแล้ว แล้วก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพหลายชาติ จึงจะถึงพระนิพพาน ดังนั้น จึงพากันทำสืบๆ มา แบบว่า เมื่อทำบุญเสร็จแล้ว ก็มักจะตั้งจิตอธิษฐานกันว่า “นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ อะนาคะเต กาเล” ขอให้บุญที่ข้าพเจ้าทำไว้นี้ จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ พอไปตั้งไว้ในอนาคตโน้นเทอญ ก็ไม่รู้จะไปสำเร็จเมื่อไหร่ เพราะตั้งไกลเกินไป ทั้งๆ ที่คนสมัยพระพุทธเจ้า ไม่มีอธิษฐานกันอย่างนี้เลย หากแต่ท่านอธิษฐานกันว่า เวลาใส่บาตรพระอริยเจ้า ทำบุญกับพระพุทธเจ้า ทำบุญกับพระอรหันต์ หรือว่าทำความดีกับพระที่ไหนก็ตาม ท่านจะอธิษฐานว่า “ตุมเหหิ ทิฏฐะธัมมัสสะ ภาคี โหมิ” แปลว่า “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีส่วนได้รู้แจ้งเห็นจริง ในธรรมที่ท่านได้บรรลุแล้วด้วยเถิด คนมีปัญญาขอแบบนี้” อย่างเขาบริจาคเพื่อเอาหน้าเอาตา ก็ไม่ได้เพื่อมรรคผลนิพพาน บริจาคด้วยผลประโยชน์ คือให้เขามานับถือ เพื่อเอาชื่อเอาเสียง เอาชื่อ ดังนั้น พอบริจาคแล้วนี้ บางคนไม่ประกาศชื่อ ไม่ติดชื่อไว้ตามป้าย เครียดเลย เพราะว่าตั้งเป้าผิด บริจาคเพื่อเอาหน้าเอาตา เพื่อเอาชื่อเสียง ไม่ได้เพื่อ ขจัดความตระหนี่ เพื่อมรรคผลนิพพาน พวกสัตว์ที่ดุร้ายนี้ มันจะยอมผู้ที่เสียสละ พวกเสือ พวกช้าง พวกกระทิง งูจงอาง หรือคนที่ดุร้าย มันจะสยบสำหรับผู้ที่เป็นผู้ให้ ผู้ที่เสียสละ ผู้ที่เสียสละจากใจ จากความบริสุทธิ์ ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอย่าไปกลัวอดตาย อดอยาก ลำบาก ในใจของเรานี้ต้องตั้งมั่นในพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน ในพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งพระนิพพาน ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เราก็เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ ไปนิพพานไม่ได้ เพราะว่าตัวตนยังเหลืออยู่ เราลองดู ต้องให้เข้าอกเข้าใจจริงๆ ถ้ายังมีตัวตนเหลืออยู่ อย่างเช่นว่า มีโยมสมัยยากจน ให้ทานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเห็นภัยในวัฏสงสาร คนรวยเป็นมหาเศรษฐีแล้วนี้ พอรวยขึ้นมา เป็นมหาเศรษฐีอยากได้หน้า อยากได้ตา อยากออกสื่อ อยากออกโทรทัศน์ จุดประสงค์มันเปลี่ยนไป ไม่ใช่ศาสนาพุทธ มันได้แค่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทวดา หลงประเด็น ปัญญาไม่เกิด แต่อวิชชาเกิดแทน ความประพฤตินี ยังไม่ได้เป็นศีลบริสุทธิ์หมดจด เพื่อที่จะเป็นยานพาหนะ ที่มุ่งไปสู่มรรคผลพระนิพพาน เราจึงต้องมาชำระศีล ที่เป็นสีลวิสุทธิ ให้หมดจด ตั้งเป้าตั้งเจตนาที่รักษาเพื่อมรรคผลพระนิพพานจริงๆ จึงจะเป็นฐานแรก เป็นสีลวิสุทธิ เป็นความบริสุทธิ์แห่งแรก ที่จะนำพาไปถึงความบริสุทธิ์ คือพระนิพพานจริงๆ ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษา ให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลพระนิพพานในปัจจุบันนี้เทอญ

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service