แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.) ในวันศุกร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๕ ความหมายและสภาวะแห่งพระนิพพาน นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจในเรื่องของพระนิพพาน พระนิพพานอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ใจของเราที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ พระนิพพานไม่ใช่เป็นผัสสะ ไม่ใช่เป็นเมือง ไม่ได้เป็นวิมาน หรือว่าอีกมิติหนึ่งอะไร การที่จะอธิบายพระนิพพาน จึงอธิบายไม่ได้ เพราะไม่มีบัญญัติ สมมุติก็เข้าไม่ถึง ผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จึงจะได้สัมผัสกับพระนิพพานเอง ด้วยตัวของตนเอง เหมือนกับการรับประทานอาหารนี้ จะอิ่มก็รู้ด้วยตน ไม่ใช่รับประทานอาหารเองแล้วไปถามคนอื่นว่า เขาอิ่มหรือยัง เพราะพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ๕๐๐ ปีเศษถึงมีพระพุทธรูป เพราะว่าพระที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นความบริสุทธิ์ ปราศจากความปรุงแต่ง อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ทุกท่านทุกคนจึงต้องพากันปฏิบัติเอง ผู้ที่รับเป็นพยานในการได้บรรลุธรรมนี้ จึงมีแต่พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ เป็นต้นฉบับ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ที่จิตท่านบริสุทธิ์จริงๆ ในโลกเรานี้ นานแสนนานกว่าก็จะได้มีผู้บำเพ็ญบารมีพิเศษสำเร็จมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเป็นผู้รู้แจ้งโลก พระพุทธเจ้ามีหลายประเภท พระพุทธเจ้าของเรานี้ ทรงบำเพ็ญบารมีมาด้านปัญญาธิกะ บำเพ็ญบารมีมา ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป โดยใช้เวลาคิดอยู่ในใจ ๗ อสงไขย เปล่งออกมาทางวาจา ๙ อสงไขย แล้วก็เปล่งทั้งวาจา พร้อมกับการกระทำทางกาย หลังจากได้รับพุทธพยากรณ์อีก ๔ อสงไขยแสนมหากัป รวมเป็น ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ทรงบำเพ็ญพุทธบารมี ใช้ระยะเวลานานนับไม่ถ้วน เพื่อเป้าหมายสูงสุดอะไรบางอย่าง ขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์นั้น ก็ต้องมีจิตใจที่แน่วแน่ต่อมรรคผลพระนิพพาน ต่อพระสัมมาสัมโพธิญาณ ในสมัยก่อนพุทธกาลจนมาถึงยุคก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ คำว่านิพพานนี้ เป็นคำที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิตประจำวันในเรื่องของความดับทุกข์ ความสงบ หรือว่าความเย็นอะไรบางอย่าง แต่เมื่อผู้ที่แสวงหาการพักผ่อนทางวิญญาณรับคำนี้มาใช้ ความหมายก็เปลี่ยนไปอีกนัยหนึ่งตามสติปัญญาที่เจ้าลัทธิในยุคนั้นจะค้นพบความสงบเย็นของจิตใจได้ เพราะนิพพานแปลว่าความสงบเย็น ครั้งหนึ่งที่เคยเล่าว่า จุดหมายสูงสุดของศาสนาเชน นิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสดามหาวีระ ที่เป็นนักบวชเปลือย เป้าหมายสูงสุดของเขาก็เป็นนิพพานเหมือนกัน แต่นิพพาน จะเป็นนิพพานจริงๆ จะเป็นนิพพานระดับไหน ก็อยู่ที่ปัญญาของเจ้าลัทธิ หรือว่าของศาสดาองค์นั้นๆ แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็ยังสื่อถึงความดับเย็น สงบเย็นอยู่นั่นเอง แต่เหตุที่ทำให้จิตใจเย็นลงนั้น มีแตกต่างกันไป บางยุคบางสมัยก็พบว่า ความสุขที่เกิดจากกามารมณ์ หรือความสุขที่เกิดจากฌานสมาบัตินั่นแหละ คือนิพพานสูงสุด ความหมายนี้คือ เอาสมาธิไปนิพพาน พระพุทธองค์เมื่อออกบวชใหม่ๆ ก็ได้เดินทางไปศึกษาเรื่องพระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของสังคม นักศึกษา นักปราชญ์ ผู้ค้นหาความสงบทางจิตวิญญาณในยุค ในสมัยนั้น จนได้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติ ก็คือสมาบัติ ๘ ที่เป็นนิพพานขั้นสุดท้าย ที่มีสอนอยู่ในสำนักของอุทกดาบสรามบุตร เพราะยุคนั้น คือว่าสมาบัติ ๘ นี่คือนิพพานแล้ว เพราะไปต่อไม่ได้ เพราะมันตัน เพราะมันสุดแค่นั้นแหละ ก้าวต่อไปไม่ได้ แต่พระองค์เองก็เห็นว่า ไม่ใช่นิพพานที่แท้จริง พอออกจากสมาบัติ กิเลสมันก็ยังมีอยู่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ยังมีอยู่ เพียงแค่ถูกกดทับไว้ด้วยกำลังของสมาธิ ฌาน สมาบัติ แค่นั้นเอง จากนั้น พระองค์จึงได้ลาจากอาจารย์ไปศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองเกือบ ๖ ปี จนได้ตรัสรู้สัจธรรม ค้นพบนิพพานที่แท้จริง ไม่ใช่นิพพานที่มีสอนกันอยู่อย่างที่แล้วๆ มา เมื่อพระพุทธองค์ได้ค้นพบความสงบเย็นอันสูงสุดกว่าความสุขที่เกิดจากกาม หรือความสุขที่เกิดจากฌาน สมาบัติ ก็ได้บัญญัติเรียกภาวะนั้นว่า นิพพานด้วยเช่นกัน แต่ได้อธิบายความหมายแบบใหม่ว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหาจัดเป็นนิพพาน เพราะในยุคนั้น ศาสดาเจ้าลัทธิบางลัทธิก็บอกว่าความสุขสูงสุดทางกามารมณ์เป็นนิพพาน สุขสูงสุดจนไม่ต้องการอะไรนี้เป็นนิพพาน บางคนบางท่านก็บอกว่าสมาบัติ ๘ นี่แหละเป็นนิพพาน แต่พระพุทธเจ้าทรงมาค้นพบความจริงอันประเสริฐอันนี้ จึงมาให้ความหมายของนิพพานใหม่ว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหาจัดเป็นนิพพาน ส่วนมรรควิธีที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งซึ่งพระนิพพาน นั่นก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดนั่นเอง สุดท้ายพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ความจริงตามธรรมชาติ ๔ ประการคือ อริยสัจ ๔ นั่นเอง ก็คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องตรัสรู้ หมายถึงพระพุทธเจ้าทุกพระองค์นี้ ต้องตรัสรู้ในเรื่องเดียวกัน ดังที่ได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดนี้ ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาลก็จักตรัสรู้ความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมด จักตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการตามความเป็นจริง จากตรงนี้ จะเห็นว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าในอดีต พระพุทธเจ้าปัจจุบัน คือพระองค์นี้ หรือพระพุทธเจ้าในอนาคต ก็จะมาตรัสรู้อันเดียวกันนี่แหละ คืออริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์นี้ ให้รู้จักความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา ความจริงอันประเสริฐคือความดับทุกข์ ก็คือการดับตัณหา นิโรธนี่แหละคือนิพพาน แล้วก็มรรควิธี ก็คือหนทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ในบรรดาอริยสัจ ๔ นี้ ธรรมขั้นสูงสุดคือนิโรธ นิโรธสัจ ได้แก่พระนิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ” ที่แปลว่า ภิกษุทั้งหลายมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือทางสายกลางนี้ ข้อปฏิบัติตามทางสายกลาง ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดญาณปัญญา เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง “อะภิญญายะ” เพื่อความรู้ยิ่ง “สัมโพธายะ” เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ “นิพพานายะ” เป็นไปเพื่อพระนิพพาน จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีวัตถุประสงค์หลักก็คือ ชี้แนะ พาหมู่สรรพสัตว์ข้ามพ้นจากวัฏสงสาร เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน นิพพานจึงเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาเรา คำว่านิพพานมาจากคำว่า “นิ”กับคำว่า “วานะ”รวมกันนะ แปลง ว-แหวน เป็น พ-พาน ซ้อน พ-พาน เข้ามา เป็นนิพพาน สันสกฤตใช้คำว่านิรวานะหรือว่า นิรวาน แปลว่า สภาวะธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา หรือสภาวะธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วนี้ ย่อมไม่มีตัณหา ดังนั้น นิพพานจึงแปลได้หลายความหมาย เช่นว่า ออกจากเครื่องร้อยรัด คือตัณหา คือสรรพสัตว์พากันจมอยู่ ติดอยู่ในวัฏสงสาร เพราะมีเครื่องร้อยรัด มีเครื่องผูกมัดไว้ซึ่งก็ได้แก่ตัณหานี่เอง นิพพานแปลว่า ดับ ดับไฟคือกิเลส สรรพสัตว์ในสากลโลกนี้เดือดร้อนเพราะถูกไฟเผา ไฟคือราคะ เผาใจ ราคะมันเป็นไฟเย็นนะ มันไม่มีความร้อน มันติดแน่น มันมีโทษน้อยแต่มันละได้ยาก ไฟคือราคะนี่ ไฟคือโทสะ มันร้อน มองเห็น มีโทษมาก แต่มันดับไปง่าย ไฟคือโมหะนี้ มีโทษมากด้วย ดับยากมากด้วย แล้วก็ความหมายของนิพพานมีความหมายคือสิ้นเชื้อ แปลว่าสิ้นเชื้อ เชื้อที่มันก่อภพก่อชาติให้ได้รับความทุกข์ต่างๆ ที่เรียกว่าอนุสัยนี้ คือกิเลสที่มันนอนดองอยู่ในขันธสันดานของปวงชน คือ ราคะ โทสะ โมหะ แล้วก็นิพพานแปลว่า ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง หมายความว่า เครื่องเศร้าหมองนั้นก็คือ สังกิเลส มีทิฏฐิ ความเห็นผิด ความริษยา ความตระหนี่ ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความลังเลสงสัย ความโกรธ ความหลง ความไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป มานะ ความถือตัวนี้ เมื่อเข้าถึงนิพพานแล้ว ความเศร้าหมองต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีเลย นิพพานจึงแปลว่า ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง ในสังคมปัจจุบันเรานี้ รวมถึงนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาหลายท่าน ก็ให้ความหมายของนิพพาน ผิดบ้าง ถูกบ้าง บางคนก็ตีความหมายนิพพานผิดๆ จนทำให้เพี้ยนกันพอสมควร มีพระบรมสารีริกธาตุปลอม พระธาตุปลอม มีของปลอมขึ้นมาเยอะของปลอมเป็นส่วนใหญ่ บางทีอาจารย์ใหญ่ๆ ลูกศิษย์ลูกหาเยอะๆ ลูกศิษย์ลูกหาก็พากันทำพระธาตุปลอมขึ้นมา เรื่องพวกนี้เราอย่าไปสนใจ ไม่ได้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อมรรคผลพระนิพพาน หลวงพ่อพุทธทาสท่านก็บอกว่า ต่อให้เป็นพระบรมสารีริกธาตุหรือพระธาตุ ก็คือเศษกากเดนของธาตุขันธ์ที่ดับไปเท่านั้นเอง อย่าไปสนใจ ให้เราสนใจในเรื่องของอริยสัจ เป็นความจริงอันประเสริฐที่นำไปสู่ความดับทุกข์ เป็นประโยชน์มากกว่า ดังนั้น บางคนบางท่านที่ตีความหมายพระนิพพานผิดไปนี้ ซึ่งก็จะเป็นอันตราย เป็นภัยต่อพระพุทธศาสนา พระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด กว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดนี้ บางคนก็ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจในหลักการนี้ด้วยประสบการณ์ตรง พระศาสดาจึงทรงแสดงหลักการนี้ไว้ให้ชัด เท่าที่จะใช้ภาษาสื่อสารให้สติปัญญาของผู้ที่ปฏิบัตินี้เข้าใจได้ ถ้าไม่เช่นนั้น ผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป แทนที่จะบรรลุพระนิพพานของพระพุทธศาสนา ก็จะกลายเป็นนิพพานของฮินดูไป หรืออาจจะเข้าถึงฌานสมาบัติแล้วก็เข้าใจว่านี่เป็นพระนิพพาน หรือปฏิบัติไป รู้สึกว่าจิตไปเข้ารวมกับสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นแดน เป็นตัว เป็นตนนี้ บางทีถึงกับไปกราบพระพุทธเจ้าบนแดนนิพพาน ไปเห็นนู่นเห็นนี่บนแดนนิพพาน ซึ่งเป็นความหมายที่เพี้ยนไปแล้ว เพราะพระนิพพานเป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน พระนิพพานนี้เที่ยง ไม่เป็นทุกข์ เพราะอยู่เหนือการปรุงแต่ง สิ่งใดที่มันยังมีการปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรม สิ่งนั้นมันจึงไม่เที่ยง เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา พระนิพพานไม่มีสังขาร คือไม่มีการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น พระนิพพานจึงเที่ยง พระนิพพานไม่มีขันธ์ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งจึงไม่เป็นทุกข์ เพราะไม่มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความแปรปรวน แล้วก็นิพพานนี้ อยู่ในการเรียกว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นแล้ว พระนิพพานจึงเป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน นิพพานนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ปุถุชนไม่สามารถจะรู้อธิบายได้ เพราะเป็นโลกุตระธรรม คือธรรมเพื่อพ้นจากโลก ปุถุชนไม่สามารถจะเข้าถึงได้ อธิบายได้ด้วยแนวคิดหรือตรรกะของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม สามารถศึกษาได้จากพระไตรปิฎก ครูบาอาจารย์ ผู้ที่ท่านเข้าถึงจริงๆ แล้วก็มีชื่อหรือว่าไวพจน์ ความหมายของนิพพานปรากฏอยู่มากมาย ชื่อของพระนิพพานนี้ มีอยู่เกือบ ๕๐ ชื่อ ซึ่งเป็นการอธิบายขยายความ นอกจากนี้ ก็ยังมีปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้แทนชื่อพระนิพพาน เช่น คำว่า “ปรมตฺถสารํ” สาระประโยชน์สูงสุดคือนิพพาน “วิปลฺลํ”ความสุขอันไพบูลย์คือนิพพาน “วิวฏฺฏํ” นิพพานคือธรรมที่ออกไปจากวัฏฏะ แล้วก็ “ธมฺมมุตฺตมํ” นิพพานคือธรรมอันสูงสุด “สปฺปุริสธมฺมํ” นิพพานคือธรรมะของสัตบุรุษ “เนกฺขมฺมาภิรติ” นิพพานคือความยินดีในเนกขัมมะ “อคตํ ทิสํ” นิพพานคือทิศที่ไม่เคยไป “สารํ” นิพพานชื่อว่าสาระ “ปรมตฺถํ” ประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน “อโรคํ” นิพพานคือความไม่มีโรค “ราควิราโค” นิพพานเป็นธรรมเพื่อสำรอกราคะ “มทนิมฺมทฺทโน” นิพพานเป็นธรรมที่ย่ำยีความมัวเมา “ปิปาสวินโย” นิพพานเป็นธรรมที่บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์ “อาลยสมุคฺฆาโต” นิพพานเป็นธรรมที่ถอนเสียซึ่งความอาลัยในกามคุณอารมณ์ “วฎฺฎปจฺเฉโท” นิพพานเป็นธรรมที่ตัดเสียซึ่งการเวียนไปในวัฏฏะทั้ง ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก ให้ขาดไป “เสฎฺฐํ” นิพพานเป็นธรรมที่ควรสรรเสริญโดยพิเศษ เป็นของประเสริฐที่สุด มีมากมายที่เป็นชื่อในพระไตรปิฎก นิพพานนี้เป็นชื่อหรือว่าไวพจน์ มีปรากฏในอนาสวาทิสูตรมากที่สุด ดังกล่าวมาแล้วว่า นิพพานที่เป็นเป้าหมายสูงสุด พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้ได้ใช้ระยะเวลา ๔๕ พรรษา ในการใช้ภาษามนุษย์ ในยุคนั้นก็คือภาษามคธ หรือภาษาบาลีในการสั่งสอน เพื่อให้สรรพสัตว์เข้าสู่อุดมธรรม คือธรรมอันสูงสุด ดังนั้น ภาวะแห่งการดับกิเลสอย่างหมดจดมีอยู่ มีภาวะเดียว แต่ภาษาที่จะทำให้เข้าใจได้นั้นมีจำนวนมาก บางแห่งพระพุทธองค์ก็ทรงอธิบายพระนิพพานด้วยการอุปมาเพราะยากแก่การอธิบายให้เข้าใจ เพราะปุถุชนผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลสนี้เข้าไม่ถึง เช่นชื่อว่า “อสงฺขตํ” แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทั้ง ๔ คือ ไม่ได้เกิดจากกรรม ไม่ได้เกิดจากจิต ไม่ได้เกิดจากฤดูกาล ไม่ได้เกิดจากอาหาร ปรุงแต่งขึ้นมา นั่นคือพระนิพพาน “อสังขตะ” จะอธิบายว่าความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ ไร้ซึ่งสิ่งที่ปราศจากเหตุปัจจัยในเรื่องของโลกีย ได้แก่โลกุตระนั้นเอง หรือว่า “อนนฺตํ” แปลว่าธรรมที่ไม่พินาศ นิพพานไม่มีความเสื่อมสลายไปตลอดกาลจึงชื่อว่าอนันตะ หรือว่า แปลว่า เพราะไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีกำหนดขอบเขต เมื่อเข้าถึงธรรมชนิดนี้ จึงไม่เสื่อมถอยกลับมาสู่ธรรมอันเลวคือโลกียะอีกต่อไป ชื่อว่า “อนาสวะ” คือเป็นผู้หมดกิเลสอาสวะ อาสวะมี ๔ อาสวะคือกาม อาสวะคือภพ ภพชาติ ความมีความเป็น อาสวะ คือทิฏฐิ ความเห็นผิด อาสวะคืออวิชชา คนเหล่าใดนี้ละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ทำให้ไม่มีเกิดขึ้นต่อไปได้อีก คนเหล่านั้นแหละ เรียกว่า เป็นผู้หมดจดจากอาสวะ นั่นก็คือพระอรหันตขีณาสพ พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพาน เป็นที่สละความถือมั่น บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้วมีความรุ่งเรือง ดับสนิทในโลก เพราะฉะนั้น ชื่อนี้ก็จึงเป็นความหมายของพระนิพพาน แล้วก็ความหมายคำว่า “สจฺจํ” แปลว่าสัจธรรม นิพพานชื่อว่าสัจจะ เพราะว่า เป็นเหตุสิ้นไปแห่งราคะ ไม่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เป็นสัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดมีบารมีธรรม ผู้นั้นก็ย่อมเข้าถึงสัจธรรมอันนั้น นิพพาน ชื่อว่า “ปารํ” แปลว่า สามารถสงบความเร่าร้อนเพราะทุกข์ในสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิด หรือ “ปารํ” จะแปลว่าฝั่งก็ได้ เป็นผู้ทำลายฝั่งแห่งวัฏสงสารคือ การไปเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ นิพพานชื่อว่า “นิปุณํ” แปลว่าธรรมอันละเอียด ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่ปุถุชนยากจะเข้าถึงได้ แล้วก็เป็นมรรคจิตมีสภาพชำระกิเลสออกไป จึงชื่อว่า “นิปุณํ” แล้วก็ชื่อว่า “สุทุทฺทสํ” ก็คือเป็นธรรมที่ประชาชนมองเห็นได้ยากยิ่ง ไม่สามารถจะเห็นได้ ขึ้นชื่อว่า “สุทุทฺทสํ” แล้วก็ “อชชฺชรํ” ธรรมที่ไม่คร่ำครึ คือเป็นสิ่งที่ชาวโลกปรารถนาอยู่ทุกกาลทุกสมัย คือความดับ ความสงบความเย็นนี้ ไม่ล้าสมัย ผู้ใดเห็นภัยในวัฏสงสารในคราวใด คราวนั้น นิพพานจึงเป็นที่ปรารถนาของคนในสมัยนั้นๆ คำว่า “อนตํ” แปลว่า ธรรมที่ไม่มีน้อมไปในวัฏสงสาร ชื่อว่า “ธุวะ” คือ เป็นธรรมที่มั่นคง ไปสู่เป็นอารมณ์ของมรรคจิต แสดงถึงจิตของผู้เข้าถึงนิพพาน แล้วก็สภาพแห่งนิพพานนั้นมั่นคง ไม่กลับวนเวียนไปในวัฏสงสารอีก นิพพานชื่อว่า “อปโลกิต” แปลว่าธรรมที่ไม่เลือนหาย นิพพานถึงความเป็นธรรมไม่เลือนหายเพราะมีอยู่ตลอดกาล มี ๒ อย่างก็คือ ไม่เลือนหายไปไหน เพราะเป็นสัจธรรมสากล เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ อะไรที่โลกนี้มี แต่นิพพานไม่มี ปราศจากสภาพที่อยู่บนโลกนี้ “อนิทสฺสนํ” ธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตา เป็นการปฏิเสธการเข้าถึงนิพพานโดยการที่สัมผัสทางกาย ทางตา หู จมูก ลิ้น แต่มีสภาพเข้าถึงโดยการน้อมใจเข้าไปรู้ได้เท่านั้น นิพพานชื่อว่า “นิปฺปปญฺจา” แปลว่า ธรรมที่ไม่ทำให้การเวียนว่ายตายเกิดของเหล่าสัตว์เนิ่นช้า คือยืดยาวออกไป เป็นการสื่อถึงจิตของพระอรหันต์ คือไม่มีกิเลสที่ทำให้เนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ ตัวนี้ ที่มันทำให้การเดินทางของทุกคนชะงักลงไปก็เพราะตัณหา คือความอยาก มานะความถือตัวถือตน ทิฏฐิความเห็นผิด โดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เข้าใจผิดปฏิบัติผิด นิพพานชื่อว่า “สนฺตํ” คือเป็นธรรมเครื่องสงบจากราคะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น นิพพานหมายถึง สอุปาทิเสสนิพพาน คือ กิเลสดับไป แต่ว่าธาตุขันธ์ยังเหลืออยู่ เหลือแต่ความสงบ นิพพานชื่อว่า “ปณีตํ” หมายถึง ความเป็นประธาน เป็นธรรมที่ประณีต ที่ปุถุชนบนโลกนี้สัมผัสไม่ได้ ชื่อว่า “สิวํ” เพราะว่า ธรรมอันเกษมหรือผู้กลัวภัยในวัฏฏสงสารพึงเสพ พึงเข้าไปปฏิบัติ พระอรหันต์ที่หมดกิเลสดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข นิพพานชื่อว่า “เขมํ” แปลว่าเกษม ภาษาสันสกฤตใช้คำว่าเกษม บาลีใช้คำว่าเขมะ แปลว่าสิ้นจากโยคะ กิเลสที่มันร้อยรัด ได้แก่กาม ภพ ชาติ มิจฉาทิฏฐิ แล้วก็อวิชชา ทำลายโลภะ โทสะ โมหะ การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปนี้จึงมีแก่พระอรหันต์เท่านั้น นิพพานชื่อว่า “ตัณฺหักขะโย” คือเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา การทำลายตัณหาให้หมดสิ้นไป บังเกิดแก่พระอรหันต์เท่านั้น อันนี้จะเป็นชื่อของพระนิพพาน นิพพานชื่อว่า “อจฺฉริยํ” ธรรมที่ต้องประพฤติให้ยิ่งๆ หากย่อหย่อนอ่อนแอ จะไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงมีไว้สำหรับผู้ที่ประพฤติอย่างแรงกล้าต่อเนื่องเท่านั้น นิพพานชื่อว่า “อพฺภุตํ” แปลว่า ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน คือพระศาสนาทั้งหลายในโลก ไม่ได้ค้นพบมาก่อน พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนิพพานด้วยบารมีที่ได้สร้างที่ได้ทำมาด้วยสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว นิพพานชื่อว่า “อพฺยาปชฺโฌ” แปลว่า ธรรมที่ทุกข์เบียดเบียนไม่ได้ ไม่มีความพินาศ เป็นสภาพให้หมดจากการบีบคั้นกดดันจากกิเลส แล้วก็ภพชาติ เพราะว่าชาติมันก็เป็นทุกขสัจ เพราะฉะนั้น ทุกข์ก็เบียดเบียนไม่ได้ นิพพานชื่อว่า “วิราโค” แปลว่าปราศจากราคะ สงบระงับสังขารทั้งปวง สลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา คลายกำหนัด ดับสนิท ปราศจากตัณหา ดังนั้น วิราคะ แปลว่า หมดราคะก็ถึงพระนิพพาน นิพพานชื่อว่า “สุทฺธิ และวิสุทฺธิ ”แปลว่า หมดจดจากมลทิน คือกิเลส นิพพาน นี้ทำให้สัตว์หมดจดจากมลทิน คือราคะ เป็นต้น จึงชื่อว่า วิสุทธิ ผู้บริสุทธิ์ไม่มีกิเลส ปราศจากความเศร้าหมอง จิตน้อมไปเพื่ออาสวักขยญาณเพื่อความหมดสิ้นไปแห่งอาสวะ เมื่อมีหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้น รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น เมื่อบริสุทธิ์หมดจด ทั้งหมดทั้งมวล ก็จะถึงนิพพาน นิพพานชื่อว่า “วิมุตติ และมุตฺติ” แปลว่า พ้น พ้นโดยพิเศษ พ้นจากอะไร? พ้นจากอัตตาตัวตน พ้นจากอินทรีย์ ๒๒ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ เขาจึงหมายถึงพระอรหันต์ที่ละสังขารไปแล้วเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานชื่อว่า “อนาลโย” อนาลยะ แปลว่า ธรรมที่ปราศจากตัณหา ผู้ที่ปราศจากตัณหาไม่มีความอาลัยในตัณหา จึงเป็นผู้เข้าถึงพระนิพพาน สัมผัสพระนิพพาน คำว่า “ทีปํ” นิพพาน แปลว่า ทีปัง แปลว่าเป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ ผู้ที่ถูกห้วงน้ำในสังสารวัฏพัดพาไป เป็นประดุจเกาะ เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ที่ถูกกระแสคลื่นพัดพาไป เพราะว่าวัฏสงสารมันน่ากลัว นิพพานจึงชื่อว่าเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งที่ปลอดภัยในวัฏสงสาร นิพพานชื่อว่า “ตาณํ เลณํ” ตานังแปลว่าธรรมเป็นเครื่องรักษา ธรรมเป็นเครื่องต้านทานอกุศล ต้านทานบาป ปกป้องบุคคลให้พ้นจากอบายภูมิ เป็นต้น นิพพาน ชื่อว่า เลณัง แปลว่า ธรรมที่หลบซ่อน หลบหลีกจากภัยในวัฏสงสาร นิพพานจึงเป็นที่หลีกเร้นภัยแห่งวัฏสงสารที่น่ากลัว นิพพานชื่อว่า “สรณํ” คือเป็นที่พึ่งของพระอริยะ นิพพานจึงเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ได้แก่มรรคจิต ๔ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามีมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค แสดงว่า จิตที่เข้าถึงนิพพานนั้น ย่อมสัมผัสได้ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป นิพพานชื่อว่า “ปรายนํ” ธรรมที่พระอริยเจ้าเข้าถึง ปุถุชนเข้าถึงไม่ได้ นี่คือยกตัวอย่างชื่อของพระนิพพาน ความจริงมีมากมายที่แสดงความหมายของพระนิพพาน นิพพานนี้เป็นอสังขตธรรม ปราศจากสิ่งที่ปรุงแต่ง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ แล้วก็เป็นภาวะที่ดำรงอยู่ได้เอง โดยที่ไม่ได้เป็นผลลัพธ์มาจากการสร้างสรรค์ปรุงแต่งจากสิ่งใด แต่นิพพานมีอยู่ มรรควิธีที่จะทำให้ถึงนิพพานก็มีอยู่ แต่มรรคก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้นิพพานเกิดขึ้น แท้จริงแล้ว นิพพานนี้เป็นธรรมชาติที่บุคคลจะพึงถึงได้ด้วยมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้น นิพพานไม่ใช่ทำให้มรรคเกิด เราต้องทำให้เกิดเอง เมื่อถึงที่สุด จึงจะเป็นสภาวะ เป็นผล คือพระนิพพาน ดังนั้น สัทธรรม ๓ จึงประกอบด้วย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิเวธแปลว่า การเห็นแจ้ง เห็นแจ้งตลอดด้วยปัญญาอันเป็นผลของการปฏิบัติ มรรคมีองค์ ๘ อยู่ในการปฏิบัติ ปฏิเวธคือผลของการปฏิบัติ ตั้งแต่ฌาน อภิญญา สมาบัติ จนกระทั่งสูงสุดคือนิพพานเป็นผล แล้วก็นิพพานนี้ทำให้เกิดขึ้น เราต้องทำได้อย่างเดียว นิพพานทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวไม่มีต้น ทำได้อย่างเดียวคือ ทำให้ปรากฏภาวะออกมาเท่านั้น ทางเดียวที่ทำได้ คือ เห็นแจ้งแทงตลอดในสิ่งๆ นั้น นี่คือนิพพาน ที่หมายเอาความสิ้นไปแห่งตัณหาที่แท้ที่สมบูรณ์ แตกต่างจากนิพพานที่เจ้าลัทธิศาสนาในยุคนั้นได้ค้นพบ หรือผู้ใดที่ตีความของพระนิพพานผิดไป ก็ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้าทรงหมายถึงความสิ้นไปแห่งตัณหา ในคัมภีร์อิติวุตตกะ ในพระไตรปิฎกนี้ แบ่งพระนิพพานออกเป็น ๒ ประเภทคือ สอุปาทิเสสนิพพาน คำว่าอุปาทิ แปลว่า ขันธ์ ๕ นั่นเอง หมายถึงว่า กิเลสที่ถือครองนี้ ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา เป็นของของเรานี้ ดับไป หมดสิ้นไป แต่ยังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ ในอริยสัจที่บอกว่า อุปาทานขันธ์นี้ ขันธ์ ๕ การยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นขันธ์ ๕ นี้ มันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่นิพพานมันดับคำว่าอุปาทานออกไป จึงเหลือแต่ขันธ์ ๕ เพราฉะนั้น พระอริยเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเข้าถึงกิเลสนิพพาน กิเลสดับไป แต่ร่างกายยังอยู่ แล้วท่านก็ใช้ธาตุขันธ์อันบริสุทธิ์ของท่านนั้น ทำประโยชน์แก่โลก ทำประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย แล้วก็อีกประเภทหนึ่งคือ อนุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลสไม่มีขันธ์เหลืออยู่เลย ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ เมื่อสิ้นชีวิตลงไปก็ได้ชื่อว่า บรรลุถึงอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานอันแรกจึงหมายถึงว่า ตายก่อนตาย ในความหมายของหลวงพ่อพุทธทาส กิเลสตาย กิเลสนิพพาน แต่ตัวยังอยู่ เป็นการตายก่อนตาย สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังเหลืออีก ๑ นิพพาน ก็คือว่า ธาตุนิพพาน ซึ่งธาตุนิพพานจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหมดสิ้นพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนาถึงกาลเวลาจะอวสานลงไปนี้ พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ต้องบอกว่า อยู่ในทั้งจักรวาล เพราะไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์อย่างเดียว อยู่ในพรหมโลกก็มี เพราะว่ากระดูกหน้าผาก กระดูกไหปลาร้าข้างซ้ายของพระพุทธเจ้าอยู่ที่พรหมโลก พระเขี้ยวแก้ว กระดูกไหปลาร้าข้างขวา แล้วก็พระทนต์ซี่ต่างๆ อยู่สวรรค์ แล้วก็พระธาตุต่างๆ จะมารวมตัวกันที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประดุจดังวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เปล่งฉัพพรรณรังสี แล้วก็จะสูญสลายไปเป็นอากาศธาตุ เป็นการประกาศว่า พระศาสนาหมดสิ้นไปจากโลกนี้แล้ว นี่เรียกว่าธาตุนิพพาน ทีนี้พระพุทธเจ้านี้ นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังได้ตรัสเรียกภาวะที่กิเลสถูกระงับไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถูกระงับด้วยฌานสมาบัติ หรือมีปัญญาพิจารณาธรรมความรู้ให้เกิดขึ้นว่า ราคะ โทสะ โมหะ ที่มันเกิดขึ้นแล้วนี้ มันมีแต่จะทำให้ตนเอง คนอื่น เดือดร้อนลำบาก หรือทำทั้งตนเองและคนอื่นให้ลำบากเดือดร้อน ปัญญาคือความรู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฝ่ายเดียวนี้ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ครั้นเมื่อละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ก็ไม่คิดไปในทางที่จะทำลายตนเอง หรือทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หรือทำทั้งสองฝ่ายให้เดือดร้อน จึงไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ พระพุทธองค์ตรัสเรียกภาวะที่กิเลสดับไป ด้วยการกำหนดรู้เท่าทันนี้ เป็นตทังคนิพพาน คือนิพพานชั่วคราว หลวงพ่อพุทธทาสเรียกว่านิพพานชิมลอง คือชิมไปทุกๆ อิริยาบถ ทุกๆ ลมหายใจ ทุกวันเราสามารถทำให้เกิดตทังคนิพพานได้ คือดับ นิพพานแปลว่าดับ ดับความคิด ดับการคิดไม่ดี การพูดไม่ดี ดับการทำไม่ดีก็เป็นนิพพานชิมลอง หลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนเรื่องนิพพานมากมาย จนในยุคนั้น เขาหาว่าท่านบ้า เพราะท่านเอาเรื่องที่คนเขาไม่ได้พูดถึงกันคือนิพพานมาสอน เพราะในยุคที่หลวงพ่อพุทธทาสไปอยู่สวนโมกข์นี้ ไม่ค่อยมีการพูดถึงนิพพานเลยนะ มีแต่เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องปลุกเสก เรื่องทำอย่างที่เราทราบกันนั่นแหละ วัตถุมงคลต่างๆ มีแต่ของพวกนี้ทั้งนั้นเลยนะ แต่หลวงพ่อพุทธทาส ฉีกออกมาจากสังคมในยุคนั้น สอนเรื่องนิพพาน คนก็เลยไปใส่ความท่านว่าเป็นบ้าบ้าง เป็นคอมมิวนิสต์บ้าง ปลุกระดมบ้าง สารพัดนะ สุดท้ายความจริงก็คือความจริง ของจริงก็คือของจริง ชื่อของท่านก็เป็นอมตะจนทุกวันนี้เป็นบุคคลที่ชาวโลกยกย่อง ยูเนสโกยกย่องให้ท่านเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลก ที่เป็นพระก็มีหลวงพ่อพุทธทาส มีหลวงปู่มั่น แล้วก็สมเด็จสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส น่าจะ ๓ องค์ที่ UNESCO ยกย่อง นิพพาน ท่านแบ่งนิพพานออกเป็น ๓ ระดับคือ ตทังคนิพพาน นิพพานด้วยการกำหนดรู้องค์นั้นๆ ในขณะนั้น สอง วิกขัมภนนิพพาน นิพพานที่ปรากฏแก่จิตโดยการบังคับไว้ แล้วก็สมุจเฉทนิพพาน เป็นนิพพานที่แท้ ที่สมบูรณ์ ถอนรากถอนโคน ถอนรากเหง้าของกิเลสออกไป นิพพานที่ปรากฏแก่จิต โดยที่กิเลสได้หมดสิ้นไปจริงๆ นี้ ทั้งสมมติฐาน ซึ่งก็ได้แก่นิพพาน นิพพานทั้ง ๓ นี้ สรุปแล้ว ๒ อันแรก ที่ดับด้วยการกำหนดรู้เป็นคราวๆ ไป กับด้วยการข่มไว้นี้เป็นชั่วคราว แล้วก็นิพพานที่แท้จริง ก็คือว่า ต้องถอนรากถอนโคน ตทังคนิพพาน และวิกขัมภนนิพพาน ที่เป็นนิพพานชั่วคราวนี้ หลวงพ่อพุทธทาสก็บอกว่า เป็นนิพพานชิมลอง หรือว่านิพพานชั่วสมัย สามายิกนิพพาน ชั่วสมัย ส่วนสมุจเฉทนิพพาน หรือปรินิพพาน จัดเป็นนิพพานที่แท้ ที่สมบูรณ์ นิพพานทั้ง ๓ ระดับนี้ ว่าโดยคุณสมบัติที่เกิดขึ้นแก่จิตแล้ว ถือว่าเป็นนิพพานที่แท้จริง แต่ต้องอาศัยการสั่งสม อุปมาได้เหมือนกับการที่เรากำหนดรู้ มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันนี้ ความคิด ความปรุงแต่ง มันดับไปชั่วขณะ จะเรียกว่าการดับ ดับชั่วคราว เห็นการเกิด-ดับ ก็คือ เห็นนิพพาน ทุกๆ ขณะ เป็นนิพพานชิมลอง อาศัยการสะสมให้มันเต็มที่ เหมือนการเคาะคีย์บอร์ดทีละตัวๆ จนกระทั่งครบเป็นเล่ม ถ้าเราจะได้เล่มนิพพานนี้ ต้องพิมพ์มากมายขนาดนี้ เราก็ต้องนิพพานชิมลองเป็นคราวๆ ไปเรื่อยๆ ที่รู้การเกิด-ดับ แม้ว่านิพพานในความหมาย การตีความ หลวงพ่อพุทธทาส ท่านให้สนใจตรงนี้ คือว่า สภาวะที่ไม่มีกิเลส หลุดพ้นจากอหังการ มมังการ ก็คือ ตัวกู ของกู ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ท่านไม่ได้สนใจว่า จะถกประเด็นว่า นิพพานมีอยู่อย่างไร มีอยู่ที่ไหน แต่ให้สนใจว่านิพพานนี้ คือสภาวะที่ไม่มีกิเลส เย็น ไม่มีกิเลสที่นี่และเดี๋ยวนี้ ซึ่งสามารถจะสัมผัส หรือเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือความดับตัวกูของกู ด้วยอำนาจของสิ่งที่บังเอิญประจวบเหมาะ ความดับตัวกู เพราะมีการบังคับไว้ด้วยกำลังสมาธิ แล้วก็ต้องมาต่อยอด ดับตัวกูของกู ด้วยการกระทำตามทางปัญญา เพราะฉะนั้น การได้สัมผัสกับภาวะที่จิตใจว่างจากกิเลส และความทุกข์ แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ความสงบในขั้นต่ำๆ อย่างนี้ เป็นการสะสม จะมีประโยชน์มากที่สุด เพราะเมื่อได้ชิมลอง หรือสัมผัสอยู่บ่อยๆ เป็นพหุลีกตา กระทำให้มากไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นอุปนิสัยปัจจัย นำไปสู่การบรรลุถึงนิพพานที่แท้นั่นเอง ดังนั้นแล้ว หลวงพ่อพุทธทาสจึงกล่าวว่า บางครั้งการจะได้สัมผัสกับภาวะแห่งนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ จะต้องเริ่มต้นจากการฝึกหัดลดตัวกูของกูเสียก่อน ใช้คำว่าหัดตายเสียก่อนตาย หัดตายเสียก่อนตาย อย่างน้อยหัดเป็นคนที่ไม่มีอะไร สิ้นเนื้อประดาตัว คือให้หมดตัวตัวกู ของกู เสียก่อนแต่ที่จะตาย “ตายเมื่อตายย่อมกลายไปเป็นผี ตายไม่ดีเป็นที่ผีตายโหง ตายทำไมเพียงให้เขาใส่โลง ตายโอ่โถงนั่นคือตายเสียก่อนตาย ตายก่อนตายมิใช่กลายเป็นผี แต่กลายเป็นสิ่งที่ไม่สูญหาย นั่นคือความตายที่ไม่ตาย มีความหมายไม่มีใครได้เกิดแล” ความตายที่ไม่ตายคือพระนิพพาน ไม่มีใครได้เกิด เพราะไม่ต้องไปเกิดอีกแล้ว ดับทุกข์หมดทุกข์ จึงต้องหัดที่จะตายก่อนตาย ให้เข้าใจขึ้นมาว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละ เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด ย้ำเป็นตะติยัมปิว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด หลวงพ่อใหญ่เราท่านก็บอกว่า เสียสละอัตตาตัวตน เสียสละตัวกูของกูออกไป จิตมันก็จะว่าง นิพพานเป็นโลกุตระ แปลว่า พ้นจากโลก ดังนั้นแล้ว นิพพานจึงไม่สามารถอธิบายด้วยสิ่งใดๆ ในโลกได้ พระบรมศาสดาจึงพยายามสื่อให้มนุษย์ได้ทราบด้วยวิธีการต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือการอุปมานิพพาน การอุปมาชัดเจนที่สุด อย่างเช่นว่า จิตผู้สัมผัสนิพพาน เปรียบเหมือนกับหยาดน้ำบนใบบัว เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม เปลวประทีปดับหมดทั้งเปลว ประทีป ไข แล้วก็ไส้ จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบดังหยาดน้ำบนใบบัว คือบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ติด คือไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน คือเป็นผู้ไม่ติด แล้วก็ไม่ติดแน่นด้วย ไม่ติดพัน แล้วก็ออก สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัวฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “มุนี ไม่ติดพันในรูปที่เห็น ไม่ติดพันในเสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ผู้รับรู้ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัวฉันนั้น” นี่แหละคืออารมณ์ของพระนิพพาน แล้วก็เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ติดที่ปลายเหล็กแหลม ขันธ์ทั้งหลายนี้ถึงการทรงตัวอยู่ ไม่ได้แตกไป แล้วกองขันธ์ก็ไม่ได้มีในอนาคต ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่ เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลมฉันนั้น อุปมาตรงนี้ คือให้อธิบายว่า จิตของพระอรหันต์นี้เปรียบดังเหล็กแหลม ส่วนอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ ประดุจดังเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่มันเล็กมาก เมื่อเอาเมล็ดผักกาด ต่อให้หว่านเป็นกำเป็นกำ ใส่ที่ปลายเหล็กแหลม เหล็กแหลมนั่นมันก็มีโอกาสเพียงแค่สัมผัสปลายยอดเหล็กแหลม แล้วมันก็ขึ้นกลิ้งตกลงไปทันที จิตของท่านก็เหมือนกันนะ สัมผัสอารมณ์ แต่ไม่ได้รับอารมณ์เข้ามา เพราะเพียงแต่ว่า สักว่า เพียงแต่สักว่าเท่านั้นเอง สักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่ารู้อารมณ์ แล้วไม่ติดพัน ไม่ยินดีพัวพันอยู่ในอารมณ์นั้นๆ แล้วก็อุปมาเหมือนกับเปลวประทีปที่ดับไป พระพุทธองค์ตรัสอุปมาอนุปาทิเสสนิพพานนี้ เหมือนกับเปลวประทีปดับลง อยู่ในท่อนสุดท้ายของรัตนสูตรว่า “ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง เต ขีณะพีชา อะวิรุฬหิฉันทา นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป” พระขีณาสพเหล่าใด สิ้นภพชาติเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่ามีพืช พืชพันธุ์คือเมล็ดพันธุ์ ยางเหนียว คือตัณหาที่จะนำไปเกิดนี้ สิ้นไปแล้ว ไม่มีฉันทะที่จะงอกขึ้นมาอีก “อะวิรุฬหิฉันทา” เป็นปราชญ์ย่อมดับสนิท เหมือนกับประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ หมายความว่า เมื่อเปลวประทีปดับลง ย่อมหมดทั้งไข หมดทั้งไส้เทียน เมื่อพระอรหันต์เสียชีวิต ก็คือละสังขารไปแล้ว จิตและก็รูปกายย่อมดับลงไป ไม่มีเกิดในภพภูมิอีกต่อไป การอุปมาทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นการตีความสภาวะแห่งพระนิพพาน ตรงบทรัตนสูตร ที่พอถึงท่อนนี้แล้วจุ่มเทียนดับลงไปนะ ในบางแห่งแต่ที่เจริญพุทธมนต์ จุดเทียนมาตลอด แล้วก็พอถึงท่อนนี้ แล้วก็พอเห็นตรงท่อนที่ว่า “นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป” จุ่มเทียนดับไป เพื่อเป็นปริศนาธรรม ให้รู้ว่ามันดับไปอย่างนี้ ก็อุปมาเหมือนกับไส้เทียนนั่นแหละ ไม่มีไส้เทียน ไม่มีไขเทียน ไม่มีเชื้ออีกต่อไป อุปมาทั้ง ๓ ประการนี้ จึงเป็นการตีความสภาวะแห่งนิพพานได้ อุปมาน้ำบนใบบัว เมล็ดพันธุ์ผักกาดบนปลายเหล็กแหลมก็คือ สอุปาทิเสสนิพพาน คือ การที่ดับกิเลสแล้ว ยังมีร่างกายอยู่ ต่อให้อะไรแต่ละวันที่มันผ่านเข้ามา มันก็กลิ้งออกไปเหมือนน้ำบนใบบัว เหมือนเมล็ดผักกาดที่มันไม่ติดที่ปลายเหล็กแหลม แล้วก็อุปาทิเสสนิพพาน ก็คือ ดับ ดับธาตุขันธ์ ดับกิเลสไปด้วย เหมือนกับเทียนนี่เอง ด้วยประการฉะนี้ จึงทำให้ตีความสภาพแห่งนิพพานนี้ได้ใกล้เคียงที่สุด แม้ภาวะจิตของปุถุชนจะยังไม่ได้สามารถถึง หรือว่าสัมผัสนิพพานได้ ก็ให้เข้าใจตามนี้ ดังนั้นแล้ว นิพพานถึงไม่ใช่ภพภูมิ หรือว่าเป็นแดนดินถิ่นฐาน ซึ่งมีอยู่แล้วในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ณ เวลานี้ แล้วจะพยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะ หรือคุณภาพของจิตใจมีอยู่ในตัวของแต่ละคน นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความเห็น หรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไร หรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็ยังเป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น นิพพานก็ยังมีอยู่ จะเชื่อไม่เชื่อ นิพพานก็ยังมีอยู่ ยังคงอยู่ แล้วก็คือนิพพานนี้ เข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง บรรยาย หรือว่าด้วยการขบคิด เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า สภาพนิพพานเป็น “อตกฺกาวจโร” ไม่ใช่วิสัยของนักปราชญ์ ไม่ใช่วิสัยของนักคิด จะเอามาถกเถียงเป็นนักปรัชญาไม่ได้ ถ้าอย่างนั้น นักปรัชญากรีกโรมันคงเป็นพระอรหันต์กันหมดแล้ว เพราะว่าเป็นนักคิดทั้งนั้นเลย โสเครติส เพลโต อริสโตเติล โสเครติสอยู่ในยุคหลังพระพุทธเจ้านิดเดียวนี้ เป็นนักคิดนักเขียนที่ชาญฉลาด แต่ว่าเป็นนักปรัชญา แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็น“อตกฺกาวจโร” ไม่ใช่การคิดเอา ต่อให้พรรณนาอย่างหยดย้อยเพียงไรนี้ มันก็รู้ไม่ได้ เหมือนรสอาหารนี่แหละ ต่อให้พรรณนาว่าอร่อยอย่างนั้น อร่อยอย่างนี้ มันรู้ไม่ได้หรอก ต้องได้ลิ้มรส ต้องได้ชิมเอง จึงจะรู้เอง ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือว่าออกไปอยู่นอกโลก พระพุทธ เจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านบรรลุนิพพานแล้วทั้งนั้น แต่ท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ เอาร่างกายธาตุขันธ์บริสุทธิ์นี้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ ช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้ได้รับความพ้นทุกข์ต่อไป พระนิพพานจึงมีอยู่ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับคณกโมคคัลลานพราหมณ์ ที่พระพุทธเจ้าแสดงเส้นทางจนถึงพระนิพพานนี้ แล้วพราหมณ์ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อนิพพานก็มีอยู่ พระองค์ที่เป็นผู้แสดงทางก็ยังมีอยู่ หนทางก็ยังมีอยู่ แล้วสาวกของพระองค์ถึงนิพพานหมดไหม? พระพุทธเจ้าก็เลยย้อนถามกับคณกโมคคัลลานพราหมณ์ว่า พราหมณ์ เราจะถามท่าน หนทางที่จะไปกรุงราชคฤห์จะมีอยู่ไหม? มีอยู่ เหมือนกับคนหนึ่งที่ฉลาดในการเดินทาง บอกทางไปสู่เมืองราชคฤห์ บอกว่าไปอย่างนี้ๆ นะ ไปเจอบ้านนั้น จะไปเจอตรงนั้น เจอตรงนี้ ให้เดินผ่านตรงนี้ไป ไปเจอภูเขา เจอแม่น้ำ เจอหมู่บ้าน ตำบลนั้น ตำบลนี้ หนทางก็ยังมีอยู่ ผู้บอกทางก็ยังมีอยู่ แต่ว่าผู้ที่เดินทางไม่ใช่จะถึงทุกคนนะ บางคนก็แวะซ้าย แวะขวา เจอนั่น เจอนี่ ชมดอกไม้ริมทาง แวะซ้าย แวะขวา ก็เลยไม่ถึงสักที แต่บางคนตั้งใจเดินทางลิ่วๆ ตามที่เขาบอก ก็ถึงพระนิพพานได้ พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า พราหมณ์ ฉันใดก็ฉันนั้น ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ เราผู้ชักชวนก็ยังอยู่ แต่สาวกของเรา แม้เราจะกล่าวพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ พราหมณ์เอย ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้เล่า เพราะเราก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น เป็นแต่เพียงผู้บอก องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์เราก็เป็นแต่เพียงผู้บอก ทำแทนไม่ได้ ปฏิบัติแทนไม่ได้ นิพพานมีอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเห็นหรือว่าสัมผัสได้ อุปมาเหมือนกับมีกองขยะทั้งหลายที่มันมีกิเลส ตัณหาอันเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ให้เกิดอุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์ มันปกปิดบดบังไม่ให้มองเห็นนิพพานบนเส้นทางข้างหน้า หน้าที่ของเราที่จะต้องพึงปฏิบัติก็คือ อย่าไปเพิ่มขยะ เพราะขยะคือกิเลส เรามีมากพออยู่แล้ว มันสะสมทุกวันๆ ด้วยสภาวะสิ่งแวดล้อม ขยะคือกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ขยะคือกิเลส ตัณหา มันสะสมขึ้น สะสมขึ้น ตามอายุขัย ตามอายุพรรษากาล เราจึงอย่าเพิ่มขยะกิเลสตัณหาใหม่เข้าไปอีก แล้วก็ต้องขยัน หมั่นตัก หรือว่าทำลายขยะเก่าๆ คือกิเลส ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่นเก่าๆ ออกจากเส้นทางนี้ หมายถึงออกจากจิตของเรา โดยการปฏิบัติทางปัญญา ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เมื่อนั้นนิพพานก็จะประจักษ์แก่ใจของเรา จึงควรปฏิบัติเพื่อให้แสงแห่งพระนิพพาน ได้ทอแสงขึ้นแต่จิตของเรา เช่นนี่แหละ จึงจะเป็นประโยชน์ จึงจะเป็นโอกาส จึงจะเป็นความสามารถที่เราจะมาพัฒนาตนเอง ดังนั้นแล้วนี้ พระพุทธศาสนาของเรา จุดมุ่งหมายก็คือพระนิพพาน หยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ถ้าเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมนี้ ก็ยังต้องเกิดอีก แต่ก็เป็นหนทางผ่าน ศาสนาพุทธจึงมาต่อยอดทุกๆ ศาสนา เพราะยังมีตัว มีตน มีเรา มีเขา พุทธะแท้ๆ จึงเป็นความบริสุทธิ์ ปราศจากตัวตน ประกอบด้วยทาน ศีล สมาธิ ปัญญา พระนิพพานจึงปราศจากตัวตน ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ในปัจจุบัน ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ความสุขจึงจะเกิดขึ้นแก่เราทุกๆ นาที ไม่เสียโอกาส เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นพระภายใน คือ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้ได้ คือพระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ ประชาชนก็เป็นพระได้ รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ ประพฤติปฏิบัติให้ปราศจากตัวตน สลัดคืน บอกคืนตัณหา เอาธรรมะเป็นหลัก เป็นใหญ่ จึงจะเป็นชีวิตที่ประเสริฐด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และสูงสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานก็จะปรากฏเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน ไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ