แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.) ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๔ ผู้ประหารกิเลสสังโยชน์ได้ จึงเป็นพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ ประเภท นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ พระคือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นผู้รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับทุกข์ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มีศีลมากมายทั้งข้อใหญ่ ข้อกลาง ข้อเล็ก เรียกว่าพระวินัย เพื่อให้ทุกคนจะได้สละซึ่งตัวซึ่งตน เพราะความเป็นพระของแต่ละท่านแต่ละคน คือพระธรรมวินัย ศีลก็ดี พระวินัยก็ดี ถือเป็นยาที่ออกจากวัฏสงสาร สังสารวัฏ เราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเองเป็นเพียงสัญชาตญาณ เป็นได้แต่เพียงคน นี่คือการเวียนว่ายตายเกิด พระโสดาบันจึงเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นผู้ที่เที่ยงแท้ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์ ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่มาบวช อยู่ที่เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง คำว่าพระแท้ๆ ท่านนับตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี จนไปถึงพระอรหันต์ สำหรับประชาชนจะเป็นพระอริยะเจ้าได้ ตั้งแต่พระโสดาบันไปจนถึงพระอนาคามี ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องมาบวช ความเป็นพระที่เราเห็นนักบวช เห็นคนปลงผมห่มผ้าเหลือง อันนี้ยังไม่ใช่พระ เป็นแต่เพียงภิกษุ ให้เราเข้าใจว่า ความเป็นพระนั้นอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนมีเจตนา มีความตั้งใจ ตั้งจุดหมายปลายทาง เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อพระนิพพาน คือพระโสดาบัน ไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ลูบๆ คลำๆ ถอยหน้าถอยหลัง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อวานได้อธิบายถึงเรื่องเกี่ยวกับสังโยชน์ที่เป็นกิเลสที่มันร้อยรัดใจ ๑๐ ประการ ทีนี้จะได้อธิบายละเอียดถึงพระอริยบุคคล ๔ ประเภท พระอริยบุคคล ๔ จำพวก พระโสดาบัน หมายถึง ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่าโสตะ เป็นชื่อของพระอริยเจ้า เป็นชื่อของผู้ที่เข้าถึงกระแส คำว่าโสตะ แปลว่ากระแส หรือว่าเป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่สมบูรณ์ บุคคลที่บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เรียกว่า พระโสดาบัน บทสวดตอนหนึ่งในสังฆคุณที่ว่า “จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา” แปลว่า อริยบุคคล ๔ คู่ คือบุคคล ๘ จำพวก คือพระโสดาบัน ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี-บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามีผล พระอนาคามี-บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล แล้วก็พระอรหันต์-บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล จึงเป็นคู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ นั่นก็คือ เป็นตัวมรรคตัวผล ในบรรดา ๔ คู่ ๘ จำพวก คู่บุรุษคู่ที่ ๑ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ในคำว่าโสดาปัตติมรรคจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมจักษุ หมายถึงดวงตาเห็นธรรม คือโสดาปัตติมรรคญาณหรือธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม คือการบรรลุโสดาปัตติมรรค ที่กำหนดรู้อริยสัจ ๔ คำว่าดวงตาเห็นธรรม เป็นประตูด่านแรกที่พระอริยบุคคลจะต้องผ่านด้วยกันทั้งหมด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเปล่งอุทานนี้ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่าได้รู้แล้ว คือได้บรรลุโสดาบัน ก็คือ ได้ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ เมื่อท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ในธรรมจักรฯ ก็เขียนไว้ว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญทั้งหลายเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทรงอุปมาดวงตาเห็นธรรมนี้ เหมือนกับท้องฟ้าในสารทกาลก็คือในฤดูใบไม้ร่วง ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเมฆหมอก ไม่มีฝุ่นละออง ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินเกิดแก่อริยสาวก พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งทัศนะ อริยสาวกย่อมละสังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวกู ของกู ความเห็นว่าเป็นตัวตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย แล้วก็สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นในศีลพรต เปรียบเสมือนกับท้องฟ้าแจ่มใสปราศจากเมฆหมอก ในสารทกาล คือในฤดูใบไม้ร่วง ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปทั่วท้องฟ้า ขจัดความมืดมัวที่อยู่ในอากาศทั้งหมด ส่องแสง แล้วก็แผดแสง และส่องสว่างอยู่ อันนี้คือคำอุปมาที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาให้เห็นง่ายๆ ว่าธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ดวงตาเห็นธรรมที่มันไร้ธุลีนี้เป็นอย่างไร แล้วท่านก็กล่าวถึงคุณธรรมของพระโสดาบันที่ว่า “ปฐพฺยา เอกรชฺเชน สคฺคสฺส คมเนน วา สพฺพโลกาธิปจฺเจน โสตาปตฺติผลํ วรํ” โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นพระราชาพระองค์เดียวในแผ่นดินหมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าการไปสู่สวรรค์ก็คือการเป็นเทวดา ประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวงก็หมายความว่า ประเสริฐกว่าการเป็นท้าวมหาพรหม จะเห็นได้ว่า พระโสดาบันนี้ มีภาวะที่ประเสริฐกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นสมบัติ ทีมนุษย์ไขว่คว้าแย่งชิงกัน การที่มนุษย์ได้เป็นพระราชาถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญ เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีอย่างมาก แต่ถ้าบุคคลนั้นได้เป็นพระโสดาบันถือว่าคุณธรรมเหนือกว่าพระราชา สาเหตุที่เหนือกว่าพระราชา ก็เพราะว่าพระราชา หรือแม้จะเป็นเทวดา เป็นพรหมก็ยังไม่พ้นไปจากอบายภูมิ คือไม่พ้นจากนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน แต่พระโสดาบันพ้นจากอบายภูมิ ท่านอธิบายเกี่ยวกับคุณธรรมพระโสดาบันให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ถึงแม้จะมีฐานะเป็นผู้เป็นใหญ่ในเมืองนั้น ก็ไม่พ้นจากอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น ส่วนการที่บุคคลได้เป็นพระโสดาบันเป็นการปิดประตูอบายภูมิ อย่างน้อยก็ไม่บังเกิดในภพที่ ๘ ธรรมะที่ทำให้บุคคลเป็นพระโสดาบันนั่นก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในวันก่อนๆ ถ้าปราศจากอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นเหล่านี้ได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อน สุภัททะ ในธรรมวินัยใดไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ก็ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใดมีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้นมีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ สุภัททะ ธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จึงมีอยู่ ลัทธิอื่นว่างเปล่าจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย” ตรงนี้แหละ ตรงที่รับรองว่า ถ้ายังมีการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่นี้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททะ เราเจริญวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้วนับมาได้ ๕๑ ปี ก็คือจนวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์ คือตอนที่พระพุทธเจ้าพระชนมายุได้ ๘๐ ปี ตรัสกับสุภัททะที่เป็นสาวกองค์สุดท้ายนี้ จนเวลาที่พระพุทธองค์จะหมดลมหายใจตอนนั้นแหละ พระพุทธองค์ทรงตรัสออกมา เพราะออกบวชตอนอายุ ๒๙ แสวงหาโพธิญาณ บำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ ปี ประกาศพระศาสนา ๔๕ ปี รวมเป็น ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมที่เป็นเครื่องนำออก ไม่มีนอกแต่ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่ได้มีในลัทธิอื่น เพราะฉะนั้น ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย จากคำรับรองตรงนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ใครก็ตาม ใครในโลกนี้ก็ตามที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อยู่ ย่อมเข้าถึงความเป็นพระแท้ เป็นพระอริยบุคคลได้เช่นกัน นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสถึงแว่นธรรม ว่าสามารถที่จะพยากรณ์ตัวเองได้ว่า จะไม่ไปเกิดในนรก ข้อความว่า แว่นธรรมนี้เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ ก็เพื่อประสงค์จะเป็นการสำรวจตนเอง พยากรณ์ตนเองได้ด้วยตนเองว่า เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก สิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในสัตว์เดรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่จะให้ไปเกิดในเปรต หมดสิ้นเหตุที่จะให้ไปเกิดในอบายทุคติวินิบาตแล้ว เราเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ หรือว่าสำเร็จการตรัสรู้นี้ในวันข้างหน้า เพราะพระโสดาบันนั้นไม่มีความลังเลสงสัยในข้อประพฤติข้อปฏิบัติของตนเอง ในหนังสือนามรูปวิถีวินิจฉัย ได้กล่าวถึงการเกิดของวิถีจิตของบุคคลที่ได้โสดาปัตติมรรค ท่านก็แสดงไว้ละเอียดของการข้ามโคตร โคตรภู ข้ามโคตรจากปุถุชน จนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ท่านบอกว่า บุคคลที่ได้โสดาปัตติมรรคนี้ เกิดขึ้นนี้ จะเกิดได้ใน ๑๗ ภพภูมิ เว้นอบายมุข ๔ เว้นชั้นสุทธาวาส ๕ เกิดใน ๑๗ ภพภูมิ ก็คือว่ากามสุคติภูมิ ๗ หมายถึง มนุษย์ เทวดา ๖ แล้วก็รูปภูมิ ๑๐ หมายถึงว่าพรหมโลก ๑๐ ชั้นแรก ยกเว้นอสัญญสัตตาพรหม ก็คือพรหมลูกฟัก ที่ว่ามีแต่รูปขันธ์ แต่ไม่มีนามขันธ์ แล้วก็สุทธาวาส ๕ ที่เป็นภพภูมิของพระอนาคามีเท่านั้น การเกิดขึ้นแห่งโสดาปัตติมรรควิถี ของบุคคลผู้ที่มีปัญญาแก่กล้ามีดังนี้ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมกำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้น ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลและนิพพานนั้น ต้องเห็นความเกิด-ดับ เพราะว่านิพพานแปลว่าดับ เห็นความเกิด-ดับของไตรลักษณ์อย่างชัดเจนที่สุด และเห็นความไม่เที่ยง ตั้งอยู่ ดับไป เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความเป็นอนัตตา ของอะไรล่ะ? ของรูปธรรม นามธรรม ก็คือ ของกาย ของใจนี้ ในขณะนั้น ภวังคจิตที่มันไหวได้เกิดขึ้น ๒ ขณะ คือ “ภวังคจลนะ” แล้วก็ “ภวังคุปัจเฉทะ” อันนี้เป็นชื่อนะ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับลง ต่อจากนั้น “มโนทวาราวัชชนจิต” จิตที่ใคร่ครวญ ที่เกิดขึ้นในทวารใจนี้ เกิดขึ้น รับสภาพรูปและนาม แล้วก็ดับลง ในลำดับนั้น “มหากุศลญาณสัมปยุตชวนจิต” ๔ ดวง เกิดขึ้น ๓ ขณะ ในขณะนั้น อุปจาร แล้วก็อนุโลมรับอารมณ์ที่เป็นรูปนามดับลง ตรงนี้แหละ ส่วนโคตรภูก็คือการข้ามโคตรจากจิตปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า รับพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยฐานะที่เป็น “อาวัชชนจิต” คือจิตที่ใคร่ครวญของโสดาปัตติมรรค ทำลายเชื้อชาติปุถุชนแล้วดับไป มันคือการเกิดขึ้นนี้ มันไม่ใช่เกิดขึ้นธรรมดา มันเป็นการเกิดขึ้น แล้วก็ทำลายเมฆหมอก คืออวิชชา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำลายอวิชชาหมดไป แต่มันทำให้เบาบางลงไป มันทำลายความยึดมั่น ถือมั่นว่า เป็นตัวกู ของกู ทำลายความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำลายการประพฤติที่ย่อหย่อนอ่อนแอที่เป็นสีลัพพตปรามาส มันเกิดขึ้นแป๊บเดียวแล้วมันก็ดับไป รับพระนิพพานเป็นอารมณ์นะ ต่อจากนั้น โสดาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ รับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตรงนี้แหละที่ว่าเห็นกระแส โสตะ ที่ว่ากระแส กระแสแห่งพระนิพพาน พอมันรับ ๑ ขณะ พร้อมกับประหารสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส โดยไม่เหลือ แล้วก็ดับลงไป ต่อจากนั้น โสดาปัตติผลจิตก็เกิดขึ้น ๓ ขณะ รับอารมณ์พระนิพพาน แล้วก็ดับลงไป ต่อจากนั้นก็เป็นภวังคจิต ตอนนี้จะเห็นได้ว่า มรรคผลนั้นเกิดต่อกัน โดยไม่มีระหว่างคั่น โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น รับอารมณ์พระนิพพาน เห็นความเกิด-ดับอย่างชัดเจน ทำลายโคตรปุถุชนออกไป ทำลายความยึดมั่น ถือมั่นว่าตัวกู ของกู ทำลายความลังเลสงสัย ทำลายการประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอออกไป แล้วมันก็ดับไป จากนั้นก็เป็นโสดาปัตติผล แล้วเกิดขึ้นเพียงแค่ ๓ ขณะจิต แล้วมันก็ดับไป จะเห็นว่ามันไวมาก จนแทบมองไม่เห็น รู้ไม่ทัน เพราะว่าจิตมันเกิด-ดับไว แต่อันนี้ท่านแยกย่อยละเอียดๆ ให้ฟัง ที่อยู่ในพระอภิธรรมในเรื่องของจิต การละสังโยชน์ของพระโสดาบันมี ๒ อย่าง คือ ละเด็ดขาดที่เป็น “สมุจเฉทปหาน”กับ “ตนุกรปหาน” ก็คือว่า ละได้โดยทำให้เบาบาง โสดาปัตติมรรค โสดาบันนี้ ละได้เด็ดขาดก็คือ เรื่องของสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเราของเรา วิจิกิจฉา แล้วก็สีลัพพตปรามาส แล้วก็ละความริษยา ละความตระหนี่ออกไป แล้วทีนี้ก็ทำ สังโยชน์ที่เหลือนี้ มันมีอยู่ แต่ว่ามันเบาบางลงไป พระโสดาบันยังมีเรื่องของกามคุณ แต่ว่า เรื่องของกามราคะของท่านนั้น จะไม่เป็นเหตุให้ตกอบาย เพราะท่านจะไม่ผิดศีล ๕ อย่างนี้เป็นต้น พอคุณธรรมแห่งความเป็นพระโสดาบันเกิดขึ้นนี้ ท่านบอกว่า คุณธรรมแห่งโสดาปัตติมรรคนี้ จะละกุกกุจจนิวรณ์ คือความรำคาญใจ ปกตินิวรณ์มันจะมี ๒ ตัว ตรงนี้ อุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ โสดาบันละความรำคาญใจไปได้ แต่ยังมีความฟุ้งซ่านอยู่ เพราะความฟุ้งซ่านที่เป็นอุทธัจจะนี้ จะละได้ก็ตอนเป็นพระอรหันต์ แต่กุกกุจจนิวรณ์นี้ ละด้วยโสดาบัน แล้วก็ละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อุทธัจจกุกกุจจะ ได้เด็ดขาด ดังที่ว่ามา ส่วนกามราคะ ก็คือเรื่องของกามคุณ ยินดี พอใจในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ในเรื่องของกามคุณ แล้วก็ปฏิฆะความขุ่นข้องหมองใจนี้ จะละได้ในส่วนที่จะให้ไปเกิดในอบาย คือยังมีความโกรธอยู่ ยังมีเรื่องของกามราคะอยู่ แต่การที่มีของท่านนั้นจะไม่ทำกรรมหนักที่จะไปเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ แล้วก็โสดาปัตติมรรคที่เกิดขึ้นนี้ จะละทำลายมิจฉัตตธรรม ๔ ประการ ก็คือว่า มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดจะไม่มีอยู่เลย เพราะเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์ มุสาวาท ที่เป็นมิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวาจา จะถูกละไปโดยอัตโนมัติ เพราะว่า พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์ เมื่อมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ก็เท่ากับว่า ไม่เป็นคนที่พูดจาหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดโกหก ไม่ผิดศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ก็เท่ากับว่า เป็นผู้มีสัมมากัมมันตะสมบูรณ์ แล้วเรื่องของอาชีพ ก็ต้องเป็นอาชีพบริสุทธิ์อยู่แล้ว เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นนี้ จะทำลายมัจฉริยะ คือความตระหนี่ ๕ ประการออกไป คือ อาวาสมัจฉริยะ-การหวงแหนวัด ที่อยู่ที่อาศัย กุลมัจฉริยะ-ความหวงแหนญาติมิตรศิษย์ยานุศิษย์ ทายกทายิกา ลาภมัจฉริยะ-การหวงแหนในลาภสักการะ วัณณมัจฉริยะ-การหวงแหนในความสวยความงาม เกียรติยศชื่อเสียง แล้วก็ธัมมมัจฉริยะ-การหวงแหนในวิชาความรู้ของตน โสดาปัตติมรรคที่เกิดขึ้น จะทำลายความตระหนี่เหล่านี้ออกไปทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยการให้ เป็นผู้ยินดีในการให้ เป็นผู้มีมืออันล้างไว้ตลอดเพื่อให้ แล้วก็ความที่เห็นผิด คลาดเคลื่อน ที่เป็นวิปลาส ที่ว่าเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของที่ไม่มีตัวตนว่ามีตัวตน เห็นของที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของที่ไม่สวยงามว่างาม ความวิปลาสเหล่านี้จะหายไปหมด เพราะถูกทำลายด้วยโสดาปัตติมรรค แล้วโสดาปัตติมรรคจะทำลายอคติ ๔ พระโสดาบันจะไม่มีความลำเอียง จะไม่มีความลำเอียงเพราะชอบคนนั้น เกลียดคนนี้ จะไม่มีความลำเอียงเพราะว่าไม่ชอบ จะไม่มีความลำเอียงเพราะหลง เพราะโง่ หูเบา อย่างนี้ไม่มี จะไม่มีความลำเอียงเพราะว่าเกรงกลัวอำนาจบาตรใหญ่ นี่คือโสดาปัตติมรรค มันทำลายอคติ ๔ ไปได้ เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับว่าพระโสดาบันไม่มีความลำเอียง แล้วโสดาปัตติมรรคนี้จะประหาร ก็คือทำลายอกุศลกรรมบถ ๕ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท สุราเมรยะ คือมันรวมอยู่ในนี้อยู่แล้ว แล้วก็มิจฉาทิฏฐิ ทำลายหมด ปัญญาที่อยู่ในโสดาปัตติมรรค ท่านเปรียบเหมือนกับสายฟ้าแลบ เพราะว่า เห็นพระนิพพานชั่วขณะหนึ่ง ที่รับอารมณ์พระนิพพานในขณะที่ประหารกิเลสนั่นเอง จึงชื่อว่าผู้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน โสตะ กระแส อาปันนะ แปลว่าผู้เข้าถึง โสตาปันนะหรือโสดาบัน จึงแปลว่าผู้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เห็นพระนิพพานจริงๆ นั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบพระโสดาบันนี้ เหมือนลูกโคตัวน้อยๆ นี้ กำลังว่ายตัดกระแสน้ำว่า เหล่าลูกโคผู้มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดีแม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบันก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป จึงไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ คือจะสำเร็จพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สรุปว่า โสดาปัตติมรรคทำลายสังโยชน์ดังที่ได้อธิบายมานี้ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีบรรพชิตคฤหัสถ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกานี้ สำเร็จพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ภรรยาของนายพรานกุกกุมิตร พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้นนี้ แต่ก็ล้วนมีการครองเรือน เลื่อมใสในพุทธศาสนา ในขณะที่อยู่บ้านครองเรือนนั่นแหละ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาไม่มี ไม่มีความคิดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา รู้ความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง คือเป็นผู้อยู่ในโลก ไม่หลงโลก ไม่ติดอยู่ในโลก ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกนั่นเอง ไม่มีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในกรรม ในผลของกรรม ไม่มีการปฏิบัติผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงตนอยู่ในกรอบของ ศีล สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญประโยชน์ของตน แล้วก็ประโยชน์ของผู้อื่น บริจาคทานเป็นประจำ ลักษณะของผู้ที่เป็นพระโสดาบันนี้ การที่จะทราบลักษณะของพระโสดาบันได้นั้น บุคคลผู้นั้นจะต้องมีลักษณะที่แตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดา บุคคลนั้นจะมีลักษณะที่โดดเด่น เรียกว่า โสดาปัตติยังคะ องค์คุณแห่งพระโสดาบัน ๔ ประการ “ยสฺส สทฺธา ตถาคเต อจลา สุปติฏฺฐิตา” เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า คือไม่หวั่นไหวเลย ต่อให้มีใครมันจ้างเป็นล้านๆ นะ ให้เลิกนับถือพระพุทธเจ้า ก็ไม่ทำเด็ดขาด เพราะมีความเลื่อมใสอย่างหมดหัวใจในพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้านี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดี เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็เป็นผู้จำแนกธรรม เลื่อมใสอย่างสุดหัวใจ จากนั้น ท่านบอกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ซึ่งจะเปรียบเทียบได้กับ “อุชุภูตัญจะ ทัสสะนัง” มีความเห็นตรง มีความเห็นถูก ว่าพระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่เป็นวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน เป็นของเฉพาะตน แล้วก็ “สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ” เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณาทาน ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์นี้ หมายถึงว่า เลื่อมใส ปักใจในพระอริยบุคคลในพระอริยะเจ้าทั้งหลาย แล้วก็อย่างที่ ๔ “สีลัญจะ ยัสสะ กัลยาณัง อะริยะกันตัง ปะสังสิตัง” เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ หมายถึงว่า ถ้าเป็นฆราวาสก็มีศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นสามเณร สามเณรี ก็มีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ อันนี้หมายถึงนักบวช แต่ว่าหมายถึงประชาชนนะ มีศีล ๕ ศีล ๘ บริสุทธิ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ องค์ประกอบ ๔ อย่างนี้แหละ เป็นเหมือนกับแว่นธรรม แว่นส่องพิจารณาว่า ใครเป็นพระโสดาบัน วัดตรงนี้ ดูกันตรงนี้ ของจริงจะไม่พูด ที่พูดมักจะไม่ใช่ของจริง ผู้ที่มีคุณธรรมอยู่จริงๆ ท่านจะไม่อวดตัวเอง ท่านจะเป็นผู้ที่สำรวมอยู่ แต่ถ้าออกป่าวประกาศโปงๆ ว่า เป็นนู่นเป็นนี่ แสดงว่าไม่ใช่ของแท้ ให้เราเข้าใจ เพราะฉะนั้น ศีลท่านจึงบริสุทธิ์ในการครองเรือน แล้วตอนนี้มีคำถามตรงหนึ่งว่า แล้วภรรยาของนายพรานนี้ อยู่กับสามีผู้เป็นนายพราน จริงอยู่ นางสำเร็จโสดาบันตั้งแต่ยังสาวๆ แล้วถ้าสามีใช้ให้ไปหยิบธนู ไปหยิบหอก ไปหยิบปืนมาล่ะ ผิดศีลไหม? แล้วทีนี้ท่านก็อธิบายว่า จิตของนางนี้ไม่ยินดีในการฆ่าสัตว์ ไม่ได้สั่งให้สามีไปฆ่าสัตว์เพื่อนำมาขาย แต่นางทำตามหน้าที่ของภรรยาเท่านั้น นี่คือท่านอธิบายไว้ที่ว่า มีโสดาบันผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นภรรยาของนายพราน สอดคล้องกับลักษณะของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ท่านทำบุญเป็นประจำไม่เคยขาดนะ ถึงว่าจะไม่มีทรัพย์ในการทำบุญ เพราะว่าช่วงหนึ่งท่านตกอับ คนกู้ไปก็ไม่เอามาคืน ทรัพย์สมบัติที่ฝังไว้หายไป ถูกโกงไปอีก ช่วงหนึ่งท่านตกต่ำมาก ตกต่ำคือทรัพย์สมบัติร่อยหรอ แต่ว่าท่านก็ไม่เคยหยุดในการให้ จากที่เคยให้อาหารประณีต ก็เหลือเพียงแค่ข้าวปลายเกวียน แล้วก็น้ำผักดองแค่นั้นเอง แต่ท่านก็ยังให้ไม่เคยขาด จนเทวดาที่อยู่ประตูเรือนมาเตือนสติท่านไม่ให้ทำทาน ท่านถึงกับขับไล่เทวดา ชี้หน้าเลยว่า ให้ออกมาจากบ้านของเรานะ เพราะพระโสดาบันจะไม่มีใครมาให้หวั่นไหวในเรื่องพวกนี้ได้ จนกระทั่งท่านก็ได้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายคืนมาทั้งหมด ก็สามารถทำทานได้อย่างสมบูรณ์จนตลอดชีวิต ในเรื่องตรงนี้แหละ พระพุทธองค์จึงทรงมีพระวินัยบัญญัติเกี่ยวกับว่า ถ้าญาติโยมที่เป็นอริยบุคคลที่เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี แต่ว่าบ้านเขายากจน พระอย่าไปบิณฑบาตบ่อย อย่าไปบิณฑบาตเป็นประจำ เพราะว่า เขายอมอดนะ เขามีอะไรเขาจะใส่บาตร เขายอมอด แต่ให้พระได้ฉัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงออกพระวินัย ห้ามพระไปบิณฑบาตในบ้านของพระอริยเจ้าที่ยากจน ให้ไปเฉพาะที่เขานิมนต์ไปบางเวลา แต่อย่าไปบิณฑบาตเป็นประจำ มีปรากฏอยู่ในพระวินัยในข้อปาฏิเทสนียะ แล้วทีนี้ ตรงนั้นที่ยกมาให้ฟังก็คือ ตอนที่อุปติสสะ หรือว่าพระสารีบุตรนี้ ตอนที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วก็ไปเล่าให้กับโกลิตะก็คือพระโมคคัลลานะ สหายรักของตนฟัง ทั้งสองไม่เคยเจอพระพุทธเจ้า แต่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างสุดหัวใจ เพราะว่าดวงตาเห็นธรรมของท่านนี้ มันทำให้ทำลายความเห็นผิดไปโดยอัตโนมัติ มีความเลื่อมใสปักใจ แต่ก่อนที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็คิดถึงอาจารย์ กตัญญู ด้วยความกตัญญู เลยไปชวนอาจารย์ แต่อาจารย์ก็ไม่ไป บอกว่า คนฉลาดก็ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าเถอะ คนโง่ๆ มาอยู่กับเรานี่ ตรงนี้ แสดงให้เห็นว่า ปกติแล้ว คนเราส่วนใหญ่จะเชื่ออาจารย์ แต่พอคุณธรรมที่เป็นโสดาบัน ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องจริงๆ เกิดขึ้นนี้ ท่านยินดีที่จะเปลี่ยนในสิ่งที่ตนเคยถือผิดๆ มาในลัทธิของปริพาชก ถึงกับไปชวนอาจารย์ ขอร้อง วิงวอน ให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่อาจารย์ไม่ไป ตรงนี้ก็เป็นเครื่องชี้วัดว่า ท่านเป็นอย่างไร คุณธรรมเป็นอย่างไร ประเภทของพระโสดาบัน ท่านบอกว่า ในพระไตรปิฎก อธิบายประเภทของพระโสดาบันมี ๕ ประเภทด้วยกัน ประเภทแรก เอกพีชี คือเกิดอีกครั้งเดียวก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะมีญาณปัญญาแก่กล้า ประเภทที่สอง โกลังโกละ ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล ก็คือจะเกิดอีกแค่ ๒ - ๓ ชาติ แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ประเภทที่สาม สัตตักขัตตุปรมะ ไม่เกิน ๗ ชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมินี้ ในมนุษย์ ในเทวดาอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ อย่างที่สี่ ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามธรรม แล้วก็ห้า สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา มี ๕ ประเภท ดังข้อความว่า เอกพีชี มีอินทรีย์อ่อนกว่าพระสกทาคามี ส่วนโกลังโกละโสดาบัน มีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโสดาบันประเภทแรก แล้วก็พระโสดาบันแบบ ๗ ชาติ จะมีอินทรีย์อ่อนกว่าพระโสดาบันที่เหลือ ๒ - ๓ ชาติ แล้วพระโสดาบันที่เป็นธัมมานุสารีผู้แล่นไปตามธรรม มีอินทรีย์อ่อนกว่าสัตตักขัตตุปรมะ สัทธานุสารี อินทรีย์อ่อนกว่าธัมมานุสารี ท่านก็อธิบายว่า ธัมมานุสารี ในที่นี้หมายถึงว่า ผู้ที่กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล คือ จิตยกสู่ระดับจะเป็นโสดาบันแล้ว เราจะเห็นได้ว่า คู่ที่ ๑ โสดาปัตติมรรคนี้ คือยังไม่ได้เป็นโสดาบันสมบูรณ์ แต่จะเป็นแน่นอน โสดาปัตติมรรคบุคคล สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา คือปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้าบรรลุผล เมื่อบรรลุผลแล้ว ก็จะเป็นสัทธาวิมุต หลุดพ้นได้ด้วยศรัทธา เป็นต้น ดังนั้นแล้ว ในรัตนะสูตร ท่านก็กล่าวชัดเจน ตรงตอนหนึ่งที่บอกว่า “เย อริยสจฺจานิ วิภาวยนฺติ คมฺภีปรญฺเญน สุเทสิตานิ กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา น เต ภวํ อฏฺฐมาทิยนฺติ” แปลว่า พระโสดาบันเหล่าใด รู้แจ้งอริยสัจ ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งทรงแสดงแล้ว ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง “กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา” นี้ ยังมีความประมาทมากอยู่บ้าง แต่ “น เต ภวํ อฏฺฐมาทิยนฺติ” ท่านเหล่านั้นจะไม่มีภพชาติที่ ๘ เพราะการันตีแล้วว่า ๗ ชาติเท่านั้น อยู่ในรัตนสูตรที่เราสวดกัน แล้วท่อนต่อมาบอกว่า “สหาวสฺส ทสฺสนสมฺปทาย ตยสฺสุ ธมฺมา ชหิตา ภวนฺติ สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ สีลพฺพตํ วาปิ ยทตฺถิกิญฺจิ” ตรงนี้ ที่บอกว่า พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ประการได้แล้ว เพราะถึงความพร้อมแห่งญาณทัศนะ สังโยชน์๓ประการหมดไป คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส “จตูหปาเยหิ จ วิปฺปมุตฺโต” เป็นผู้หลุดพ้นจากอบายภูมิ ๔ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็ “ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตํ” จะเป็นผู้ไม่กระทำฐานะที่มันเป็นกรรมหนัก ๖ อย่างอีกต่อไปแล้ว นั่นคือ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตพระพุทธเจ้าให้ห้อ ทำสังฆเภท แล้วก็เข้ารีตศาสนาอื่น ถือว่าเป็นฐานะหนัก ๖ อย่าง อย่างแรกเป็นอนันตริยกรรม ๕ พระโสดาบันจะไม่ทำ นี่คือเป็นข้อความที่ปรากฏในรัตนสูตร แล้วท่านก็บอกว่า ถึงแม้ว่าพระโสดาบันจะทำอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจไปบ้าง ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความประมาทที่ยังมีอยู่ แต่ท่านก็จะไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้ เรากล่าวว่า ผู้เห็นบทแล้ว คือผู้เห็นพระนิพพานแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้ นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี ปรากฏในรัตนสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอานนท์ตอนที่เสด็จไปไวสาลี ก็คือการปฏิบัตินั่นแหละ จนกระทั่งที่เป็นรัตนะ เป็นแก้วมณีอันล้ำค่า จนกระทั่งถึงความเป็นโสดาบัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นแล้ว คุณธรรมแห่งพระโสดาบันก็จะมีดังที่ว่ามานี้ทั้งหมด ต่อไป พระอริยบุคคลอย่างที่สอง คือ พระสกทาคามี สกทาคามีแปลว่าผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว สะกิ แปลว่าครั้งเดียว แปลว่าผู้กลับมาเกิดเพียงครั้งเดียว หมายถึงว่า ผู้ที่จะกลับมาเกิดอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ผู้ได้บรรลุสกทาคามีผลนี้ ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ ได้เหมือนพระโสดาบัน แล้วก็ทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ ประการ คือกามราคะ แล้วก็โทสะ ปฏิฆะให้เบาบางลงไปตามวาสนาบารมีที่ตนได้เคยสั่งสมอบรมมา สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ด้วยกำลังแห่งอินทรีย์ ๕ ที่เสมอกัน ประเภทของพระสกทาคามี มี ๓ จำพวก คือ ผู้บรรลุผลในกามภพ ก็คือในสวรรค์ ๖ ชั้น หรือว่าผู้บรรลุในขณะเป็นพรหม หรือว่าบรรลุในอรูปพรหม ท่านว่าอย่างนั้น ในอภิธัมมัตถสังคหะได้กล่าวไว้ว่ามี ๕ จำพวก คือ พระสกทาคามีบางพวกสำเร็จตอนเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วก็จุติจากเทวดามาเกิดในโลกมนุษย์อีกครั้ง แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระสกทาคามีบางพวกสำเร็จเป็นพระอนาคามีในมนุษย์แล้ว กระทำความเพียรเจริญวิปัสสนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ในมนุษยโลกนี่เอง แล้วก็สกทาคามีบางจำพวก สำเร็จตอนเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทพ แล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในเทวโลกนั้นเอง สังเกตได้จากเหล่าเทพทั้งหลาย ที่มาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วก็บรรลุกันมากมาย แล้วก็พระสกทาคามีบางจำพวกสำเร็จเป็นเทพ สำเร็จเป็นพระสกทาคามี แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในเทวโลกนั้นเอง พระสกทาคามีบางจำพวกเป็นเทพเจ้า เป็นพระสกทาคามีบุคคลในเทวโลก จุติจากเทวโลก มาอุบัติในโลกมนุษย์ แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในโลกมนุษย์นี้เอง มี ๕ จำพวก ท่านอธิบายไว้ ต่อไป อริยบุคคลจำพวกที่ ๓ ก็ คือ พระอนาคามี อะนะ แปลว่าไม่ อาคาเมะแปลว่าไม่กลับมา แปลว่าผู้ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว no come back ไม่กลับมาอีกแล้ว อนาคามี ผู้ไม่กลับมาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก จะไม่เกิดในโลกมนุษย์ ไม่เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้นที่เกี่ยวข้องด้วยกามคุณอีกแล้ว แต่จะเกิดในพรหมโลกอย่างเดียว แล้วก็นิพพานในพรหมโลกนั้นเลย ท่านจะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้อีก ๒ ข้อ คือ ละกามราคะ แล้วก็ละปฏิฆะ คือความขุ่นข้องหมองใจ ขัดเคืองใจ ที่เป็นกิเลสอย่างละเอียด พอท่านละสังโยชน์เบื้องต่ำได้แล้ว สังโยชน์เบื้องสูงอีก ๕ คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาอีก ๕ นี้ มีอยู่ แต่ท่านก็จะทำให้เบาบางลงไป พระอนาคามีนี้ จึงเป็นผู้ที่ละสังโยชน์ได้อย่างนี้ ประเภทของพระอนาคามี มีอยู่ ๕ ประเภท คือ ประเภทแรก อันตราปรินิพพายี หมายถึงว่า ผู้นิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงครึ่ง เพราะว่าสุทธาวาส พรหมโลกชั้นสุทธาวาส อายุไม่ใช่น้อยๆ นะ อย่างชั้นต้นๆ นี้ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา ชั้นแรก อวิหา ถ้าจำไม่ผิด มีอายุตั้ง ๑,๐๐๐ มหากัป เท่ากับว่า โลกแตกดับไปแล้วพันครั้ง ท่านถึงจะนิพพาน ท่านถึงจะดับไป เพราะอะไร? เพราะว่ารูปราคะ อรูปราคะนี้ คือรูปราคะ อรูปราคะ คือความยินดีพอใจในรูปฌานนี้มีกำลังมาก เมื่อมีกำลังมากจึงทำให้อายุของพรหมนี้ยืนยาวดังที่ได้อธิบายไว้เมื่อวาน เพราะฉะนั้น ประเภทแรกมีอายุยังไม่ทันถึงครึ่งในภพภูมิของสุทธาวาส ๕ นี้ ก็นิพพานไป ประเภทที่ ๒ อุปหัจจปรินิพพายี คือ ผู้ที่จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุเกินครึ่งไปแล้ว ประเภทที่ ๓ อสังขารปรินิพพายี หมายถึงผู้ที่จะปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ประเภทที่ ๔ สสังขารปรินิพพายี หมายถึงผู้ที่จะปรินิพพานต้องใช้ความเพียรมาก แล้วก็ ๕ อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบน คือ จะไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ ก็คือจะเลื่อนชั้นสูงขึ้นไปเป็นชั้นอกนิฏฐ เป็นพรหมโลกชั้นสูง นี่คือประเภทของพระอนาคามี ต่อไป พระอรหันต์ ประเภทสุดท้ายนั่นก็คือ พระอรหันต์ที่เป็นอริยบุคคล ผู้เป็นสมณะที่ ๔ พระอรหันต์ มีความหมาย เหตุที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ แปลว่า ผู้ห่างไกล อรห อะระหะโต ก็เป็นหนึ่งในพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลส แปลอย่างนี้แหละ ผู้ห่างไกลจากกิเลส แล้วกิเลสตัวไหน? ท่านก็บอกว่า กิเลสที่เป็นอนุสัย ๗ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย สีลัพพตปรามาส การประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ ราคะ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง มานะ ความถือตัว ถือตน ห่างไกลจากกิเลสที่มันนอนเนื่องในสันดาน ที่เป็นอนุสัย ๗ ตัวนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลส นี่คือความหมายแรก ความหมายที่ ๒ แปลว่า ผู้กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ความหมายที่ ๓ แปลว่า เป็นผู้หักซี่กำแห่งสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดได้แล้ว ความหมายที่ ๔ เป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างพิเศษของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วก็อย่างที่ ๕ ความหมายอย่างที่ ๕ แปลว่า ผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง เพราะคำว่า “อะระหะโต” “อรห” หรือคำว่า “รโห” เราคงจะเคยได้ยิน คำว่า รโหฐาน แปลว่าที่ลับ รโหฐาน แปลว่าที่ private ที่ส่วนบุคคล รโห แปลว่า ที่ลับ คำเดียวกันนี้ “อะระหะ” แปลว่า ไม่มีที่ลับ หมายถึงว่า ไม่มีความลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่ต้องปกปิด จึงเป็นความหมายของพระอรหันต์ แล้วคำว่าพระอรหันต์จะแปลว่า ผู้ลอยบาป ผู้ข้ามถึงฝั่ง ดำรงอยู่บนบกฝั่งแห่งพระนิพพาน เป็นชื่อของพระอรหันต์นั่นเอง เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งความรู้ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความเร่าร้อน ไม่รู้จักเศร้าโศก พ้นแล้วในทุกๆ สิ่ง ละกิเลสเครื่องร้อยรัดได้แล้วทุกกรณี มีสติสมบูรณ์ ไม่กระวนกระวายใจ ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ไหนๆ ในโลก เป็นผู้ไม่หวังอะไรๆ แล้ว ความหมายของพระอรหันต์บริสุทธิ์ลึกซึ้งอย่างนี้นี่เอง ในคัมภีร์มิลินทปัญหา กล่าวถึงเวทนาของพระอรหันต์ว่า คือพระเจ้ามิลินท์ถามพระนาคเสน พระนาคเสนก็ตอบพระเจ้ามิลินท์ไป ได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่ว่า เวทนา คือความรู้สึกทางกายของพระอรหันต์ที่ว่า พระอรหันต์นี้ เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ เพราะท่านไม่ได้มีความเป็นไปในกับเวทนานั้นๆ เจ็บก็เจ็บไป ป่วยก็ป่วยไป แต่ใจท่านไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยไปด้วย เป็นแต่เพียงความรู้สึกเท่านั้น พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในสิ่ง ๑๐ อย่างก็ คือความเย็น ต่อให้เย็นยังไงร่างกายมันก็เป็นอย่างนั้น ความร้อน ความหิว ความกระหาย การถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ การที่ต้องนอนหลับ ชรา คือความแก่ พญาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วย มรณะ ความตาย ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ เรียกว่า สิ่งที่มีอยู่ในกาย เป็นไปอยู่ตามกาย หมุนไปตามกาย จิตของพระอรหันต์อาศัยกาย พระอรหันต์ก็ไม่มีอำนาจทางกาย การที่พระอรหันต์ไม่เสวยเวทนาทางใจ ก็เพราะว่า พระอรหันต์ท่านได้อบรมจิตไว้ดีแล้ว เวลาได้รับทุกขเวทนา คือความเจ็บ ความปวด ก็จะมองเป็นแต่เพียงอนิจจัง ผูกจิตไว้ในเสา คือสมาธิ แล้วจิตก็ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว มีแต่กายเท่านั้นที่มันเป็นไปตามอำนาจของเวทนา เพราะมันเป็นเรื่องของการทำงานของธาตุ ของขันธ์ จิตของพระอรหันต์จึงไม่หวั่นไหวไปตามกาย เพราะจิตของท่านนี้มั่นคงไม่หวั่นไหว เปรียบเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ เมื่อถูกลมพัดกิ่งก้านและใบ กิ่งก้านใบมันไหวไปตามลม แต่ลำต้นมันก็ไม่ได้หวั่นไหว ผู้เป็นพระอรหันต์ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานะ อนุสัย ภวราคะอนุสัย อวิชชาอนุสัยหมดสิ้นไปอย่างราบคาบ พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบพระอรหันต์เหมือนกับโคจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงโคว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงนี้ เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดีฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้นเหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภาวะสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ จึงชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมาร ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี” นี่คือความเป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์นี้ ตอนหนึ่งของพระอานนท์บอกว่า บุคคลใดบรรลุซึ่งธรรมอันสูงสุดอันประเสริฐ คือพระนิพพานนี้ ย่อมเป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง ต่อความเย็น ความร้อน หิวกระหาย สัมผัสร้ายอันเกิดจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง อดกลั้นได้อย่างสงบต่อถ้อยคำล่วงเกิน ถ้อยคำเสียดสี คำด่าว่าของผู้อื่น เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากอาพาธ ความเจ็บป่วยประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกล้าแข็ง ทำให้หมดความรำคาญ ยากที่บุคคลทั่วไปจะทนได้ แต่พระอรหันต์ทนได้ เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่ออารมณ์อันมายั่วยวน เป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ โมหะได้อย่างเด็ดขาด มีกิเลสอันน้ำใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกได้แล้ว เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ของที่ทายกผู้มีศรัทธาจะทำบุญ ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ประเภทของพระอรหันต์มีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน ประเภทแรก สุกขวิปัสสก อย่างที่ ๒ สมถยานิก ประเภทแรก ท่านบอกว่า เจโตวิมุติ ผู้ได้บำเพ็ญสมถมา ได้ฌานมาก่อนแล้ว ภายหลังได้ต่อยอดเป็นวิปัสสนาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือท่านผู้บำเพ็ญเฉพาะทางวิปัสสนา เมื่ออรหันต์มรรคเกิดขึ้นแล้ว ฌานก็จะอุบัติขึ้นในขณะเดียวกันนั้นเองด้วยอำนาจแห่งปุพพาธิการ ก็คืออธิการเก่า หรือว่าของเก่านั่นเอง ฌานก็มา ปฏิสัมภิทาก็มา วิชชา ๓ อภิญญา ๖ มาหมด ประเภทนี้คือ เป็นประเภทของพระอรหันต์ผู้เป็นเจโตวิมุติ ท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ ฌานลาภีบุคคล สำเร็จฌานสมาบัติ ได้บรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ มีคุณสมบัติในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ บางท่านพิเศษก็คือ จะบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานในธรรม ในอรรถ ในภาษา ในปฏิภาณไหวพริบ ประเภทที่ ๒ ปัญญาวิมุติ พระอรหันต์ก็คือว่า ท่านผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วนๆ ไม่ได้บำเพ็ญสมถมาก่อน เมื่ออรหัตตมรรคอุบัติขึ้น ฌานก็ไม่มีเกิดขึ้นร่วมด้วย ท่านเหล่านี้จึงเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก คือผู้ที่แห้งแล้งจากฌาน ไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ แต่ว่าจิตท่านหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ผลแห่งการปฏิบัติที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการบรรลุมรรคผล พระนิพพาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลแห่งพรหมจรรย์ ผลแห่งความเป็นสมณะ คือโสดาปัตติผล สกทาคามีผล อนาคามิผล อรหัตผล การบรรลุธรรมนี้ จึงเป็นการตัดสังโยชน์ กิเลสที่ร้อยรัดใจตามลำดับ ตั้งแต่สังโยชน์เบื้องต่ำ จนกระทั่งถึงสังโยชน์เบื้องสูง แล้วก็ท้ายที่สุด คือการตัดสังโยชน์ให้หมดไปจากจิตใจ อยู่ในอารมณ์ที่เป็นสุข เพราะไม่มีเครื่องผูกมัดเหล่านั้น ใจจึงเป็นอิสระจากสิ่งที่ผูกมัดทั้งปวง ให้เราเข้าใจอย่างนี้ เราต้องเอาพระนิพพาน ไม่ใช่เอาแต่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือเอาพรหมโลก อันนี้เป็นแต่เพียงถนนผ่าน เหยียบผ่าน เป็นยานพาหนะนำผ่าน เราต้องใช้ยานพาหนะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดำรงชีวิตในชีวิตประจำวันด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ สมัยนี้ ถ้าเทียบกับพุทธกาลนี้ ถ้าจะว่าดีก็ดีกว่า เพราะสมัยนี้ ไปรถ ไปเครื่องบินหมดแล้ว แต่ก่อนต้องเดินเท้า ต้องใช้คานแบกหาม ต้องใช้เกวียน ห้องน้ำก็ตามสุขา ตามป่า ลำเนาไพร ตามทุ่งนา แต่ทุกวันนี้เปลี่ยนไปหมดนะ พัฒนาการ วิวัฒนาการดีขึ้น การปฏิบัติไม่ล้าสมัย เพราะเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ประพฤติปฏิบัติเมื่อใด ก็สำเร็จเมื่อนั้น มันอยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ที่ปัจจุบัน ที่เราเอาธรรมะมาใช้ ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคน เอาแต่สวรรค์ เอาแต่อะไร เอาแค่นั้น มันแค่ฉลาดนิดหน่อย ไม่ใช่ฉลาดอย่างแท้จริง มันยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ถึงความดับทุกข์ เราต้องได้สวรรค์อยู่แล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้ ก็ต้องเดินผ่านไป เหยียบผ่านไป พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราเสียสละ ถ้าไม่เสียสละเราก็ไม่ร่ำรวย ผู้ที่เสียสละถึงร่ำรวย ผู้ที่เสียสละถึงจะเป็นผู้ที่มีทั้งทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายใน โลกียทรัพย์และโลกุตรทรัพย์ แล้วก็อริยทรัพย์สมบูรณ์ ถ้าไม่เสียสละไม่ให้ทานในอดีต พระอรหันต์บางรูปเป็นพระอรหันต์ก็จริง แต่ไม่มีบริขาร ไม่มีบาตร ไม่มีจีวร เพราะอะไร? เพราะไม่มีกุศลในเรื่องของทาน ท่านไม่เคยให้ ท่านไม่เคยเสียสละในเรื่องของทานเอาไว้ เป็นพระอรหันต์ก็จริง หรือแม้แต่กระทั่งพระโลสกติสสเถระที่เคยเล่านี้ ท่านเป็นผู้ไม่ให้ด้วย ไปกีดกันลาภของพระอรหันต์องค์ก่อนด้วย จึงทำให้เกิดมาในปัจจุบันเป็นพระอรหันต์ก็จริง แต่ว่าไม่เคยกินอิ่มแม้แต่มื้อเดียว พระอรหันต์ก็มีบารมีในเรื่องของทานต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของทานบารมีในอดีต เพราะฉะนั้น บารมี ๑๐ ของพระพุทธเจ้านี้ จึงต้องน้อมเข้ามาใส่ตัวเอง บารมีเริ่มต้นจากการให้ก่อน เพราะอะไร? กำจัดความตระหนี่ ตระหนี่ในเรื่องของที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่ในธรรม เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น โสดาบันจึงเป็นผู้ไม่มีความตระหนี่เลย เอาคุณธรรมของท่านมาดู มาใช้ ทานบารมีจึงเริ่มจากทาน มาเป็นศีลบารมี ปัญญาบารมี เนกขัมมบารมี ไปเรื่อยๆ ไล่ไปเรื่อยๆ ขึ้นต้นด้วยทาน เพราะฉะนั้น เราต้องดูตัวอย่างพระอริยเจ้าบางคน เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี แต่ยากจน พระพุทธเจ้า มีพระวินัย ก็คือ ห้ามไม่ให้ภิกษุไปรับบิณฑบาตบ้านของท่านบ่อยๆ เพราะ ถึงแม้พระอริยเจ้าท่านจะยากจน แต่ท่านก็เป็นผู้เสียสละ ดังนั้นแล้วนี้ เราจึงต้องทำคู่กันไปนะ ทานบารมี ศีลบารมี ปัญญาบารมี เพื่อตีคู่กันไป เพราะว่าจะได้เป็นผู้ที่มีเสบียงเอาไว้เลี้ยงตัว เป็นผู้มีเสบียงในการเดินทาง เพราะในการเดินทางเวียนว่ายตายเกิดนี้ สำคัญมาก เหมือนเวลาเราจะไปต่างประเทศ ต้องมีเครดิต ถ้ามีเงินมาก มีเครดิตมาก ก็เท่ากับว่าอยู่ต่างประเทศได้อย่างไม่ลำบาก เราเดินทางไปปรโลก ปรโลกก็เหมือนต่างประเทศ เพราะเราไปในภพภูมิอื่นโดยไม่รู้จักใคร ถ้าไม่มีเสบียงไว้เลี้ยงตัวก็ต้องไปทำใหม่ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ต้องตกระกำลำบาก แต่ทำไมบางคนถึงมีมาก ก็เพราะว่า ทานบารมีของเขาทำมาดี ดังนั้น เราจึงต้องมาต่อยอดนะ เมื่อมีทานบารมี มีสมบัติพร้อมแล้ว เราต้องต่อยอด ให้สูงขึ้นไป มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ที่สำคัญ ต้องเป็นนิพพานสมบัติ ทำไมบางคนนี้เกิดมา เขาไม่เคารพนับถือ ก็เพราะว่าเป็นคนโกหกมดเท็จ มุสาวาทเอาไว้มาก บางคนเกิดมาในตระกูลสูง สกุลต่ำ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น ให้เราเข้าใจเอาไว้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราต้องปรับพื้นปรับฐาน แล้วคุณธรรมที่จะทำให้เป็นองค์ประกอบที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นพระโสดาบันจนถึงเป็นพระอรหันต์ คือปัญญาวุฒิธรรม ๔ ประการ ๑. สัปปุริสังเสวะ อันแรกเลยนี้ คบหาท่านผู้ทรงธรรม ทรงปัญญา เป็นกัลยาณมิตร เริ่มแรกเลยว่า ต้องให้คบคนดีก่อน ๒. สัทธัมมัสสวนะ สดับพระสัทธรรม ใส่ใจเล่าเรียนศึกษาให้ได้ธรรมะที่แท้จริง ท่านบอกว่าสัทธัมมัสสวนะ ฟังธรรมะที่เป็นของจริงของแท้ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ใช่ธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตลกโปกฮา เป็นธรรมะไม่ใช่ของจริงนะ ๓. โยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยแยบคาย พิจารณาหาเหตุผลโดยถูกวิธี ๔. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมถูกหลัก ให้ธรรมย่อยคล้อยกับธรรมใหญ่ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตและความหมาย จึงจะเป็นปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม สี่ประการนี้แหละ จะพัฒนาจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ นี่คือ ได้อธิบายเรื่องของพระอริยเจ้าที่เป็นสมณะชั้น ๔ เป็นคู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ ซึ่งเราทุกคนสามารถพัฒนาข้ามโคตรจากปุถุชนไปเป็นพระอริยเจ้าได้ อยู่ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพียรประพฤติปฏิบัติ ก็จะไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน มีดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลพระนิพพานในไม่ช้านานนี้เทอญ