แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.) ในวันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๓ เข้าใจในสังโยชน์ ๑๐ กิเลสที่รึงรัดมัดผูกเราไว้ในวัฏสงสาร วันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย วันนี้เป็นวันพุธที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในวันนี้ก็เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระองค์ได้สวรรคตมาเป็นเวลา ๕ ปีแล้ว พระองค์ท่านเป็นผู้ที่เสียสละ ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ที่เสียสละมากที่สุดให้สำหรับประชาชนชาวไทย ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองราชสมบัติ พระองค์ก็ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ตามคำสัตย์ปฏิญาณที่เป็นปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม” จากนั้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ จนมาถึงปี พุทธศักราช ๒๕๕๙ รวมแล้ว ๗๐ ปีเต็มๆ ที่ได้ทุ่มเทพระวรกายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนชาวไทย เราจะเห็นได้จากที่เป็นรูปธรรมก็คือ โครงการในพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะสมัยก่อนย้อนหลังไปเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อน ประเทศไทยเราก็อยู่ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วก็เพิ่งจะผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านไปไม่นาน เศรษฐกิจในยุคนั้นตกต่ำมาก คอมมิวนิสต์ก็เข้ามาในประเทศไทย แต่พระองค์ก็ไม่ได้สู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ว่าต่อสู้กับความยากจน ตรงไหนที่พระองค์เสด็จไป ตรงนั้นความเจริญจะเกิดขึ้นมา เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝาย เขื่อน ถนนหนทาง แม้กระทั่งฝนหลวง ก็เพื่อบําบัดทุกข์บํารุงสุข เพราะว่าทุกคนคือลูกของพระองค์ เพราะฉะนั้นแล้ว ในวันนี้ในครบรอบแห่งการสวรรคต ๕ ปี พวกเราก็ได้น้อมใจเพื่อที่ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน ตามรอยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในเรื่องของความเสียสละ ในเรื่องของความที่พระองค์ทรงสนพระทัยในธรรมด้วย เราจะเห็นภาพจากที่เสด็จไปที่ไหนนี้ จะไปกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ หลวงตามหาบัว ทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่พระองค์เสด็จไป เสด็จไปบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ แล้วก็จะไปแวะกราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเพื่อสนทนาธรรม ดังนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ที่เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง แล้วก็เป็นพระ ผู้ที่มีพระอยู่ภายในจริงๆ ความเป็นพระในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แล้วก็พระอรหันต์ สำหรับพระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามี ประชาชนก็ทำได้ ปฏิบัติได้ สำหรับพระอรหันต์เป็นผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์เท่านั้น หรือถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศฆราวาสก็ต้องออกบวช เพราะเพศฆราวาสที่เป็นหีนเพศนี้ ไม่สามารถจะรองรับคุณวิเศษยิ่งใหญ่อย่างความเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านตัดสังโยชน์ได้ทั้งหมด ๑๐ ประการ สำหรับพระโสดาบันตัดได้ ๓ พระอนาคามีที่เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ก็เพราะว่าติดอยู่ที่มานะ รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ อวิชชา ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่มานะ ความถือตัวถือตน สำคัญว่าเก่ง เพราะถ้าสำคัญว่าเสมอเขา อันนี้ก็ยังมีตัว มีตนอยู่ ยังไม่ได้ เพราะว่ายังมีความยึดมั่น ถือมั่น ยังมีความปรุงแต่ง เพราะปัญญา ยังไม่ใช่เป็นปัญญาบริสุทธิคุณ ยังมีตัวมีตนอยู่ เมตตายังไม่ใช่เมตตาบริสุทธิคุณ กรุณาก็ยังไม่ใช่กรุณาบริสุทธิคุณ เมื่อ ๑๒ วันที่ผ่านมา ได้บรรยายในเรื่องของการประพฤติ ภาคปฏิบัติที่ลงรายละเอียดลึกซึ้งในเรื่องของทางสายเอก ในวันนี้ก็จะได้อธิบายถึงเรื่องกิเลส สังโยชน์ ที่เป็นเครื่องร้อยรัดใจทั้งหลาย เพราะว่าการที่เราจะประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐานนี้ ก็เพื่อที่จะมาถอดโซ่ล่าม ถอดเชือกที่รัดกาย รัดใจเราเอาไว้ ผูกเอาไว้ในวัฏสงสาร ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักหน้า รู้จักตาของมัน รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ถ้าหากเรารู้จัก ดังนั้นแล้ว ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้ให้ความหมายของคำว่าสังโยชน์ ที่เป็นกิเลส ที่พระอริยเจ้าตัดได้ ถอนรากถอนโคนได้เป็นลำดับไป สังโยชน์หมายถึงเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ ที่มันมัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ ท่านให้ความหมายไว้ว่า เป็นเครื่องผูกพันสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพ ไปวัฏทุกข์ ในวัฏสงสาร เป็นเครื่องพันธนาการ เพราะว่าสังโยชน์เหล่านี้ ย่อมตามผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพชาติ อีกนัยยะหนึ่ง ก็เชื่อมภพไว้ด้วยภพ รวมถึงการผูกมัดบุคคลผู้ที่มีสังโยชน์ไว้ด้วยกรรม แล้วก็วิบากอันเป็นทุกข์ ด้วยลำดับของภพ ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณ ฐิติ ๗ สัตตาวาส ๙ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้เคยอธิบายไว้ในวันก่อน ยิ่งไปกว่านั้น สังโยชน์ก็ทำให้เหล่าสัตว์นี้จมลงในวัฏสงสาร จมแล้วจมอีกอย่างโงหัวไม่ขึ้น ก็จะวนเวียนเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารออกมาจากวงจรไม่ได้ สังโยชน์เป็นธรรมชาติที่ผูกสัตว์ไว้ ไม่ให้ออกไปจากวัฏทุกข์ได้ เสมือนหนึ่งเชือกที่ผูกโยงสัตว์หรือว่าวัตถุสิ่งของไว้ไม่ให้หลุดไป มีคำที่ท่านแสดงให้ความหมายว่า “สังโยเชนติ พันธันตีติ สังโยชนานิ” ธรรมเหล่าใด ย่อมผูกสัตว์ทั้งหลายไว้ ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าสังโยชน์ เป็นอกุศลธรรม ตามธรรมดานี้ ในสันดานของปุถุชน ผู้ที่ยังหนาแน่นเต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลาย ย่อมมีธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่เปรียบเสมือนกับเชือกเส้นใหญ่ ๑๐ เส้นด้วยกัน ทำการผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เชือก ๑๐ เส้นเหล่านี้ ก็ได้แก่สังโยชน์นั่นเอง ในบรรดาเชือกทั้ง ๑๐ เส้น ที่เป็นสังโยชน์ทั้ง ๑๐ หากว่า เส้นใดเส้นหนึ่งมีอาการตึงขึ้นแล้ว สังโยชน์เส้นนั้นก็จะนำสัตว์นั้นให้ไปเกิดในภพภูมิที่เกี่ยวข้องกับสังโยชน์นั้นๆ โดยอาศัยกรรมที่สัตว์เหล่านั้นกระทำไว้ หลวงพ่อพุทธทาสได้ให้ความหมายของสังโยชน์ไว้อย่างเข้าใจง่ายๆ ว่าสังโยชน์ แปลว่าเครื่องผูก เครื่องล่าม เหมือนกับโซ่ หรือว่าตรวน หรือว่าขื่อ หรือว่าคา เครื่องล่าม เครื่องผูก เครื่องจำ สิ่งที่มันผูกจิตไว้ให้ติดอยู่ในกิเลสในความทุกข์ ในวัฏฏะกล่าวคือ ผูกให้ติดไว้กับสิ่งที่จะเป็นทุกสิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะมันมีสังโยชน์ผูกติดไว้กับสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่ผูกพันเต็มที่อย่างพร้อมพรั่ง คือผูกพันไว้กับโลก ให้ติดอยู่กับโลก หรือผูกเย็บจิตใจสัตว์ไว้อย่างยิ่งโดยที่ไม่รู้สึกกลัว คนเราจะถูกผูกมัดรัดรึงด้วยสิ่งที่เรียกว่าสังโยชน์ สิ่งใดที่ผูกมัดจิตไว้ สิ่งนั้นจึงเป็นสังโยชน์ แล้วสิ่งที่ผูกมัดจิตใจได้ นั้นก็คือ ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกู ของกู ตัวเรา ของเรา ที่มันยึดไว้เหนียวแน่น สังโยชน์นี้ ท่านเปรียบอุปมาให้เห็นภาพชัดๆ ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนกับเชือกที่มันผูกวัวไว้กับหลัก ซึ่งถูกตอกไว้บริเวณคอก คอยเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้มันเดินไปไหน ลักษณะของสังโยชน์ที่เข้าไปพัวพันไว้ในการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพบ้าง เหมือนเชือกนั้นคอยดึงไว้เป็นชั้นๆ ดึงจากพรหมลงต่ำมาสู่เป็นเทวดาก็ได้ ดึงจากเทวดาลงต่ำไปสู่อบาย นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็ได้ คือมันตึงลง ดึงจากคนลงสู่อบายก็ได้ ก็เพราะว่าสังโยชน์นี่แหละเป็นเครื่องพันธนาการ เป็นก้อนหินที่มันผูกเท้าให้หยุดอยู่กับที่ ไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปไหนได้ เป็นอุปสรรคขัดขวางเอาไว้ ไม่ให้พัฒนาตน ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นเครื่องฉุดคร่าให้ตกไปในเบื้องต่ำ เป็นอย่างนี้นี่เอง แล้วก็เปรียบเหมือนกับเครื่องมือล่าสัตว์ คือ เบ็ดที่มันเกี่ยวปากปลา เหมือนกับด้ายที่ผูกติดขานก เวลาไปดักนก ลักษณะที่ผูกเอาไว้อย่างนี้ มันทำให้สูญเสียอิสรภาพอย่างสิ้นเชิง หนีไปไหนไม่ได้ อย่างไรก็ต้องถูกฉุดรั้งกลับมาในที่สุด สังโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่เราเห็นง่ายๆ มากที่สุดก็คือ คิหิสังโยชน์ สังโยชน์ของคฤหัสถ์ หมายถึง ความผูกพัน คือความใคร่ในวัตถุสิ่งของอันได้แก่ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็เป็นเครื่องผูกนะ บุตร ภรรยา สามี ก็เป็นเครื่องผูก ข้าทาสบริวารก็เป็นเครื่องผูก กามคุณทั้ง ๕ รูปก็ต้องสวย ต้องหล่อ เสียงต้องไพเราะ กลิ่นต้องหอม อาหารต้องอร่อย ถูกต้องสัมผัสต้องอ่อนต้องนุ่ม ต้องดี เป็นเครื่องผูกทั้งหมด เพราะมันทำให้ผูกพัน แล้วก็รักใคร่ เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวผูกมัดไว้ไม่ให้ออกไปจากทุกข์ ดังที่ปริพาชกชื่อวัจฉโคตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดม คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนบางคนนี้ ผู้ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ หลังจากตายแล้ว จะทำที่สุดแห่งทุกข์คือนิพพานได้ มีอยู่หรือไม่?” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “วัจฉะ คฤหัสถ์ที่ยังละสังโยชน์ของคฤหัสถ์ไม่ได้ หลังจากตายแล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้นั้น ไม่มีเลย” เพราะมันไม่ใช่ผูกเฉพาะภพนี้ภพเดียวนะ มันผูกต่อไปเรื่อยๆ เพราะมันจำเอาไว้ในจิต มันฝังเอาไว้ในชิพ คือสัญญาขันธ์ มันจำเอาไว้ตลอดว่า เราผูกพันกับคนนี้ ผูกพันกับสิ่งนี้ ผูกพันกับของเหล่านี้ มันจึงวนเวียนๆ เกิดอยู่ในบริเวณแถวนั้นแหละ เพราะว่าจิตมันยึด จิตมันผูกเอาไว้ ดังนั้น ท่านเลยบอกว่า “มีบุตรหนึ่งเกี่ยว พันคอ ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้ ภริยาเยี่ยงอย่างปอ รึงรัด มือนา สามห่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร” มีลูกเหมือนกับพันคอไว้ “ปุตโต คีเว” มีทรัพย์สมบัติเหมือนกับผูกเท้าเอาไว้ “ธะนัง ปาเท” แล้วก็ มีสามีมีภรรยาเหมือนกับรัดมือเอาไว้ “ภริยา หัตเถ” เพราะฉะนั้นเวลาคนตาย คติของคนโบราณจึงมัดตราสัง ๓ เปราะ มัดที่คอ เป็นความหมายว่า เป็นบ่วงที่รักลูก รักหลาน ห่วงลูก ห่วงหลาน มัดที่มือ หมายถึงว่า เป็นบ่วงที่รักสามี รักภรรยา มัดตราสังตรงข้อเท้า หมายถึงว่า ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงไร่ ห่วงนา ห่วงรถ ห่วงทรัพย์สมบัติใดๆ ที่มีอยู่นี้ ใครติดอยู่ ๓ ห่วงนี้ ไปนิพพานไม่ได้ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารร่ำไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสตรงหนึ่งว่า “เราไม่เรียกเครื่องผูก คือ โซ่ ตรวน ขื่อ พันธนาการใดๆ นี้ ว่าเป็นเครื่องผูกที่มั่นคงถาวรแข็งแรงเลย แต่เรากล่าวเรียกเครื่องผูก คือบุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัตินี่แหละ เป็นเครื่องผูก” หย่อนๆ แต่แก้ได้ยาก คือ คนที่มีแล้วจะรู้สึกว่ามันไม่ได้ผูก แต่มันผูกมาก ห่วงมาก เครียดมาก ทุกข์ทรมานมาก ก็เพราะว่าบ่วงเหล่านี้ สังโยชน์เหล่านี้ แล้วสังโยชน์ที่มันเป็นนามธรรม คือมองไม่เห็น พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ๑๐ ประการ แบ่งเป็น ๒ ระดับตามความหยาบแล้วก็ความละเอียดของกิเลส ๕ ข้อแรกเป็นกิเลสอย่างหยาบๆ เรียกว่าโอรัมภาคิยสังโยชน์ แล้วก็สังโยชน์อย่างอย่างละเอียด ๕ ข้อสุดท้าย อุทธัมภาคิยสังโยชน์ รวมๆ แล้วมีทั้งหมด ๑๐ ประการ สังโยชน์อย่างหยาบ โอรัมภาคิยสังโยชน์นี้ สังโยชน์เบื้องต่ำ คือกิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบมี ๕ อย่าง ทำให้ถือปฏิสนธิอยู่ในกามภพเท่านั้น เป็นเครื่องผูกพันไม่ให้เกิดในภูมิชั้นสูงได้ ซึ่งเมื่อระงับหรือว่าละได้ ย่อมเกิดในสุทธาวาสได้ ย่อมถึงโลกุตรสุขนิพพานได้ อย่างแรกนะ สักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกู ของกูนี่ ตัวแรกเลย สักกายทิฏฐิ เป็นประธานแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ สักกายทิฏฐิเป็นตัวเป้งเลย เป็นประธาน “สักกายะ” แปลว่า กายของตน สะ มานำหน้าคำว่ากายะ จะมีความหมายเท่ากับว่า มีตัวมีตน กายะ ก็คือ ร่างกายนี่แหละ สักกายทิฏฐิ จึงแปลความหมายว่า มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตน ทิฏฐิ เป็นคำกลางๆ ความเห็น ถ้าเห็นในฝ่ายดี เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เห็นในฝ่ายไม่ดี เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ เหมือนกับคำว่ากรรมนี้ เป็นคำกลางๆ จะเป็นกุศลกรรม กรรมฝ่ายดี จะเป็นอกุศลกรรม กรรมฝ่ายไม่ดีก็ได้ เพราะฉะนั้น สักกายทิฏฐิ จึงเป็นความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน เป็นปกติของปุถุชน ด้วยอะไรล่ะ? ด้วยอวิชชาคือความหลง มันมีมาตั้งแต่กำเนิด มีสักกายทิฏฐินี้ ที่ได้อธิบายไว้นะว่า ตั้งแต่เกิดมาในท้องแม่ มีปฏิสนธิจิตมา แล้วมันก็มีตัวยินดีพอใจในภพชาติติดมาด้วย พอเกิดมาจากท้องแม่ พอจำความได้ ยึดมาจากสัญชาตญาณ ยึดมาตลอด ว่าของเรา มือเรา พ่อเรา แม่เรา ของเล่นของเรา ตั้งแต่ตัวเล็กๆ จำมาอย่างนี้ตลอด จนโตขึ้นมา ความยึดมั่นถือมั่น มันก็เก็บสะสมมาเรื่อยๆ ตามอายุขัย อายุมากขึ้นๆ ก็ยึดมากขึ้นๆ ถ้าไม่คลาย ความคิด ความเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อ ในเรื่องกายว่าเป็นตัวเป็นตนนี้ มันมีอยู่อย่างนี้ แล้วก็ไม่เห็นเลย เพราะอะไรถึงไม่เห็น? เพราะยังไม่มีความเข้าใจด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่มีความเข้าใจแจ้งด้วยวิปัสสนาปัญญา เพราะฉะนั้น การที่เราเจริญสติปัฏฐานที่อธิบายมาตั้ง ๑๐ กว่าวัน ก็เพื่อที่จะมาถอดถอนความเป็นตัวเป็นตน ถอดถอนสักกายทิฏฐิ ในขณะที่เราอยู่กับลมหายใจได้ จิตจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับพุทโธ จดจ่อต่อเนื่องอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในขณะนั้น “สัตตูปะลัทธิง ปะชะหะติ” ละความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา มันไม่มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ ในขณะที่จิตจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับลมหายใจ “อัตตะสัญญัง อุคฆาเฏติ” มันเพิกถอนความเป็นตัวกู ของกูไปได้ชั่วขณะ แล้วก็เป็นสติปัฏฐาน เป็นกรรมฐานภาวนา เพราะฉะนั้น ในครั้งหนึ่งที่เรากำหนดสติ รู้ลมหายใจ หรือว่ากำหนดสติ รู้อาการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ได้ มันเกิดการถอนสักกายทิฏฐิไปอัตโนมัติไปชั่วขณะหนึ่ง แต่มันเป็นการถอนเป็นคราวๆ มันไม่ได้เป็นการถอนแบบถอนรากถอนโคน หรือว่าขาดสะบั้นไป เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยความติดต่อต่อเนื่อง อุปมาเหมือนกับการเคาะคีย์บอร์ด ที่ต้องเคาะบ่อยๆ เป็นแสนครั้ง ล้านครั้ง กว่าจะได้หนังสือเล่มหนึ่ง เราทำไป ปฏิบัติไป มันไม่ได้เสียหาย เพราะว่ามันเก็บสะสมเอาไว้ เป็นกำลังแห่งสติ เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งสติปัญญา เราเก็บไปอย่างนี้ ตัวแรก สักกายทิฏฐิ มันติดใจมานาน สังโยชน์อย่างที่ ๒ วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในพระรัตนตรัย โดยเฉพาะในพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ค้นคว้ามายาวนานถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป นำมาบอก นำมาสอน เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับเรื่องความเกิดของทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ แต่สงสัยว่า ใช่-ไม่ใช่ หรือแม้กระทั่งว่า ลังเลสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมนี้ปฏิบัติได้ผลจริงไหม พระอรหันต์ พระอริยะเจ้ามีอยู่จริงไหม สงสัยในเรื่องของบุญของบาป สงสัยเรื่องนรก สวรรค์ เอาง่ายๆ คือ ไม่เชื่อนั่นเอง จึงสงสัย ไม่เชื่อว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีอยู่จริง ไม่เชื่อว่าบุญคุณของพ่อแม่ ไม่เชื่อนรกสวรรค์ ไม่เชื่อของบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อเรื่องผิด เรื่องถูก เพราะมีความเห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด พอไม่เชื่อ มันก็เกิดความลังเลสงสัย ไม่เชื่อถือ ก็จะค้นหาสิ่งที่มันตอบสนองต่อกิเลสของตน หาการปฏิบัติใหม่ๆ หาลัทธิใหม่ๆ หาวิธีใหม่ๆ หาอาจารย์ใหม่ๆ ที่มันเข้ากับกิเลสของตัวเอง ไม่ใช่เข้ากับธรรม เข้ากับกิเลสของตัวเอง เพราะตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก จึงเป็นการค้นหา วิ่งเข้าหาสิ่งผิดๆ ด้วยอวิชชา แล้วก็จะวนเวียน วนเวียนอยู่อย่างนี้ ลังเล เป็นคนวิตกจริต เพราะว่าสงสัยมาก ครุ่นคิดมาก การที่จะแก้ไขให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่กระจ่างสว่างขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาปัญญา โดยเฉพาะโสดาปัตติมรรคนี้ จะกำจัดความลังเลสงสัยไปได้ ดังนั้น วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่บั่นทอนปัญญาไม่ให้เกิด จึงทำให้ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายไว้กับทุกข์ ต่อไปอย่างที่ ๓ สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นถือมั่นในศีล ก็คือ ข้อปฏิบัติ ก็คือ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ แล้วก็ข้อวัตร ข้อปฏิบัติแบบผิดๆ สีละก็คือศีล พต แปลว่าข้อวัตร ปรมาส แปลว่าลูบคลำ ลูบคลำก็คือว่า ทำไม่จริงไม่จังในเรื่องของศีลกับข้อวัตร ประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ รวมหมายถึงว่า ทำแบบตามๆ กันด้วยความงมงาย อันเกิดมาจากความไม่เข้าใจในธรรมตามความเป็นจริง และปฏิบัติเป็นไปตามความเชื่อ ความยึดถือ หรือว่าตามประเพณีที่สืบทอดต่อๆ กันมา โดยขาดปัญญาพิจารณาเนื่องด้วยการพิจารณาอย่างแจ่มแจ้ง เช่น บางคนก็บอกว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยการประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้ จะปฏิบัติอย่างนี้ บางคนก็ไปทรมานตนเอง บางคนก็ไปทำย่อหย่อนอ่อนแอ บางคนก็ไปบูชาจอมปลวกบ้าง ไปบูชาเครื่องรางของขลัง ตะกรุด ผ้ายันต์ บางคนก็ไปบูชาเทวดา บูชาป่า บูชาเขา คิดว่าตัวเองจะหลุดพ้น บางพวกก็บูชาไฟ สารพัดที่จะทำกันมา เพราะว่าคิดว่าตัวเองจะหลุดพ้น จะพ้นจากทุกข์ได้ด้วยวิธีอย่างนี้ ซึ่งความคิดเหล่านี้มีมาเป็นพันๆ ปี หลายพันปีก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นมาอีก จะเห็น แม้กระทั่งว่า อียิปต์ทำมัมมี่เพราะอะไร? เพราะเชื่อว่าจะฟื้นคืนชีพ ทำมัมมี่ พันผ้าๆ เอาไว้ ควักตับไตไส้พุงออกทั้งหมดนะ ใส่โถเอาไว้ แล้วก็ฝังศพเอาไว้ ด้วยความเชื่อว่า จะฟื้นคืนชีพจะกลับมาในร่างเดิมอีก นี่ก็เป็นความเห็นผิด เข้าใจผิด เป็นแล้วก็อ้อนวอนต่อเทพเจ้าต่างๆ เทพไอยคุปต์ เทพอานูบิส เป็นต้น เพื่อที่จะให้ฟื้นคืนจากความตาย เพื่อที่จะพ้นจากทุกข์ มีอย่างนี้มาตลอดทุกๆ อารยธรรมของโลก กรีก โรมัน ก็อ้อนวอนเทพเจ้า ประเทศไทยเราก็อ้อนวอน ทุกวันนี้ยังออนวอนนะ ขนาดมีพุทธเข้ามาแล้ว ก็ยังอ้อนวอน ทำตามๆ กัน ไหว้ผี ไหว้สาง ทำอะไรก็ดูฤกษ์ ดูยาม เพราะว่ากลัว กลัวไปหมดนะ ที่บอกว่าห้ามเผาผีวันศุกร์ ห้ามโกนหัววันนั้นวันนี้ คนโบราณเชื่อกันมา ความจริงแล้ว เผาวันไหนก็ไหม้วันนั้น แต่ว่าเชื่อว่าห้ามเผาผีวันศุกร์ ห้ามวันนั้น ห้ามวันนี้ เพราะความเชื่อยึดถือที่ทำตามกันมา จนมันฝังใจ บอกว่าอย่าทำนะ ทำไม่ได้ เดี๋ยวมันจะขะลำ อันนี้ภาษาอีสาน เดี๋ยวมันจะผิดผี เดี๋ยวมันจะเป็นนู่นเป็นนี่ เพราะว่ามัวแต่ดูฤกษ์ ดูยาม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสุปุพพัณหสูตรที่ว่า “สุนักขัตตัง สุมังคะลัง สุปะภาตัง สุหุฏฐิตัง สุขะโณ สุมุหุตโต จะ สุยิฏฐัง พรัหมะ จาริสุ” ก็คือ ที่เราสวดชยันโตนั่นแหละ ความหมายง่ายๆ ก็คือว่า สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่า ฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งเรืองดี ขณะดี ยามดี และบูชาดี ในการประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค สิทธิโชคก็คือโชคสำเร็จ วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ความปรารถนาของเขาก็เป็นสิทธิโชค สัตว์ทั้งหลายกระทำกรรมที่เป็นสิทธิโชคแล้ว ย่อมได้ผลประโยชน์อันเป็นสิทธิโชค นี่คือคำแปลที่อยู่ในบทชยันโตตรงนี้ เพราะฉะนั้น ทำกรรมดีเมื่อใดก็ได้ผลดีเมื่อนั้น ไม่ต้องไปดูฤกษ์ ดูยาม ที่คนไปถามหลวงพ่อปัญญานันทะ จะขึ้นบ้านใหม่ให้หลวงพ่อดูฤกษ์ให้ หลวงพ่อก็ถามว่า โยม บ้านโยมสร้างบันไดหรือยัง บอกว่าทำแล้ว ขึ้นได้เลยนะ เพราะบันไดก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไป ดูฤกษ์ ดูยาม ถ้ามัวแต่คอยฤกษ์ คอยยาม เสียการเสียงานหมดเลย เอาฤกษ์สะดวก ทำดีเมื่อใดก็ได้ผลดีเมื่อนั้น แต่ถ้าหากไปทำชั่วนะ ต่อให้เป็นฤกษ์ที่ดีที่สุดนะ เป็นวันธงชัย วันอธิบดี เป็นมหัทธโนฤกษ์ ราชาฤกษ์ เทวีฤกษ์ เป็นสมโณฤกษ์ ทำกรรมชั่วอย่างไร มันก็ชั่วอยู่ดี เพราะทำกรรมไม่ดี เพราะฉะนั้นแล้ว สีลัพพตปรามาสนี้ ก็หมายถึงว่าความที่ไปยึดมั่นถือมั่นในเรื่องผิดๆ ในเรื่องที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อมรรคผล พระนิพพาน ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความหลุดพ้น การยึดมั่นถือมั่นในธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ พระโสดาบันจะตัดไป เพราะว่าโสดาปัตติมรรคที่ตัดกิเลสในใจท่านนี้ จะตัดสังโยชน์ ๓ ข้อนี้หมดไป คือ ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกู ของกู ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ในเรื่องของบาปบุญคุณโทษ แล้วก็เรื่องสีลัพพตปรา มาสมาก การประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันท่านจึงไม่เป็นผู้ประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ เพราะว่าศีล ๕ ท่านมีโดยอัตโนมัติ เป็นผู้มีคุณธรรม เพราะการปฏิบัติของท่านจะต่อเนื่องตลอด ต่อไป สังโยชน์อย่างที่ ๔ ก็คือ กามราคะ ความกำหนัดยินดีด้วยกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสถูกต้อง ความใคร่ ความปรารถนา ติดอกติดใจ เป็นวัตถุกาม น่าใคร่ เป็นเหตุให้เกิดความใคร่ เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมันเป็นความปรารถนาที่มันอยู่ในใจ มันย้อมใจทุกคน คำว่าราคะแปลว่าย้อม ย้อมใจด้วยกามคุณ มันมีในสัญชาตญาณทุกๆ คน ตั้งแต่เด็กๆ ตอนเด็กๆ จำความได้ ความรู้สึกเหล่านี้มันก็ไม่มี อย่างมากก็แค่เล่นของเล่น ชอบกินนู่น กินนี่ ก็แค่นั้น พอโตขึ้นมา โตขึ้นมา ด้วยสภาพแวดล้อม ด้วยการไปเกี่ยวข้องกับแวดล้อม กามราคะมันก็จะฟูขึ้นมา แล้วก็ด้วยสภาพร่างกายที่พร้อม กามราคะข้างนอกพร้อม มันจึงเป็นแบบนี้กันมาก กามราคะนี้ มันย้อมใจให้ติดอกติดใจยินดีอยู่ในเรื่องของกามคุณ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ รวมถึงการชอบมองอะไรสวยๆ งามๆ ชอบฟังอะไรเพราะๆ ชอบดมอะไรหอมๆ ชอบกินอะไรอร่อยๆ ชอบยินดีพอใจในการถูกต้องแบบนี้ ชอบสัมผัสแบบนี้ ชอบของนุ่มๆ นิ่มๆ แบบนี้ แบบนี้คือมันย้อมใจมาตลอด สิ่งเหล่านี้มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ จริงอยู่เป็นสัญชาตญาณ แต่มันเป็นสัญชาตญาณแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมาทำมาสอนให้ทวนกระแส ถ้าไม่ทวนกระแสสิ่งเหล่านี้ก็ดับทุกข์ไม่ได้ ก็จะต้องตามทุกข์อยู่เรื่อยไป บางคนก็ทำทั้งๆ ที่รู้นี้ เพราะว่าฝืนความรู้สึก ฝืนสัญชาตญาณในใจตัวเองไม่ได้ ทำทั้งๆ ที่รู้นี้ เลยมีแต่ความเจ็บปวดรวดร้าวทรมานใจ ปวดเจ็บหัวใจอยู่ทุกเช้าค่ำ เจ็บทุกข์ทรมานอย่างนี้อยู่ในวัฏสงสาร ก็เพราะว่ายินดีพอใจด้วยกามราคะ สิ่งเหล่านี้จะดับไปได้ด้วยอนาคามีมรรค พระอนาคามีละกามได้ ส่วนสกทาคามีทำให้เบาบางลงไป ทำเรื่องของกาม เรื่องของความโกรธ ให้เบาบางลงไป แต่พระอนาคามีท่านละได้อย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้น พระอนาคามีที่เป็นญาติโยม ท่านจึงถือศีล ๘ โดยอัตโนมัติ เพราะท่านไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการแต่งเนื้อแต่งตัว แต่งหน้าทาปากทำผม ไม่ดูการละเล่น ไม่ดูหนังฟังเพลง เพราะฉะนั้น ศีล ๘ ของท่านจึงบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ สำหรับพระอนาคามีที่เป็นฆราวาสญาติโยมอย่างเช่นฆฏิการะอุบาสก ที่เป็นสหายเพื่อนรักของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ในสมัยพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ฆฏิการะเป็นอนาคามี เป็นอุบาสกอนาคามี แต่ยากจน ทำมาหากินอย่างไร เงินก็ไม่จับ ไม่จับเงิน แต่ว่าปั้นหม้อ ไม่ขุดดินเองด้วย เพราะว่าจะไปทำให้สัตว์ที่อยู่ในดินนั้นตาย เคร่งเหมือนพระนั่นแหละ เอาง่ายๆ นะ ถือศีลเหมือนกับพระ เพียงแต่ว่าอยู่ในเพศฆราวาส ไม่ขุดดิน จะเอาดินที่มันพังมาตามตลิ่งนี้ เอามาปั้นหม้อ แล้วเอาไปแลกข้าว แลกวัตถุสิ่งของไปเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ไม่จับเงิน ไม่ขุดดิน ไม่พรากของเขียว ศีลท่านบริสุทธิ์มาก อย่างนี้เป็นต้น ต่อไป สังโยชน์อย่างที่ ๕ คือ ปฏิฆะ ปฏิฆะมันเป็นเป็นกิเลสที่อยู่ในตระกูลโทสะ แต่มันละเอียดมาก คือความกระทบกระทั่งในใจ หงุดหงิด ขัดเคือง ขุ่นมัว ขุ่นข้องใจ อันเกิดจากความคับแค้น ไม่ได้ตามใจปรารถนา มันเป็นปฏิฆะ คือมันขัดใจ ขุ่นเคืองใจ มันเป็นอนุสัย เป็นอาสวะกิเลส มันยังคงมีอยู่ในระดับขันธ์ ๕ เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ มีคนไปถามหลวงปู่ดูลย์ว่า หลวงปู่โกรธไหม หลวงปู่ดูลย์ก็ตอบว่า มี-แต่ไม่เอา แล้วมันก็ดับไปเอง มันกระทบเข้ามา แต่ท่านไม่เอา มันก็กระเด็นออกไป เพราะว่าท่านไม่ยึดเอาไว้ในใจของท่าน แล้วมันก็เกิดมา แล้วมันก็ดับไปเอง มันจึงหมายถึงว่า เกิดขึ้นแต่ในระดับกระบวนการ การดำเนินชีวิตของขันธ์ ๕ ที่มันทำงาน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันทำงานตามธรรมดา ตามธรรมดา เมื่อไม่คิด ไม่ปรุง ไม่แต่ง มันก็จะดับไปเอง เป็นเช่นนี้ แล้วก็ปฏิฆะนี้จะละได้ด้วยอนาคามีมรรค อนาคามีผล พระอนาคามีท่านจึงไม่มีความโกรธ พอไม่มีเรื่องของกาม ไม่มีเรื่องของความโกรธ ท่านจึงไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก จะไปเกิดที่ชั้นสุทธาวาส ๕ แล้วก็จะนิพพานที่นั่น ต่อไป สังโยชน์ ๕ ข้อสุดท้าย เป็นของละเอียดยิ่งที่จะละได้ด้วยอรหัตมรรค อรหัตผล สังโยชน์ข้อที่ ๖ ก็คือ รูปราคะ ก็คือรูปฌาน ความติดใจ ยินดีพอใจในเรื่องของฌาน เอาง่ายๆ ก็คือ ติดสุขในสมาธิ ติดสมาธิ ติดฌานนั่นเอง เพราะว่ามันเป็นของที่ละเอียดมาก มันเป็นสุขที่ละเอียดมาก เลยติดอกติดใจอยู่ในนั้น กามราคะมันยังเห็นง่ายๆ แต่ว่าในรูปราคะ ความยินดีพอใจในรูป ฌานมันเป็นของละเอียด จะละได้ก็ด้วยความเป็นพระอรหันต์ อรูปราคะ สังโยชน์อย่างที่ ๗ หมายถึง อรูปฌาน การติดใจ ติดเพลิน ติดใจอยากในรสอันประณีต อันละเอียดยิ่งขึ้นในสิ่งที่เป็นอรูปอันวิจิตร ไม่มีตัว ไม่มีตน รูปร่างสัมผัส เป็นการสัมผัสได้ด้วยจิตนั่นเอง เช่น อรูปฌาน เป็นการติดเพลินยึดมั่นในสุข เวทนาอันแสนสบาย หรือว่าถูกใจ ติดใจ ยินดี พอใจ เป็นเรื่องของอรูปฌาน มันละเอียดอ่อน มันนอนเนื่องยิ่งกว่ารูปราคะเสียอีก เพราะมันมองไม่เห็น แม้แต่ในอรูปราคะในพระนิพพาน แม้ในช่วงแรกๆ ยังไม่ละ พระพุทธองค์ก็ทรงสอนให้น้อมรำลึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ อุปสมานุสสติ เป็นหนึ่งในอนุสติ ๑๐ อารมณ์ของพระนิพพานมายึด เอามาพิจารณา เอามาเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นแม้ในพระนิพพาน กล่าวคือ ด้วยเป็นสิ่งของที่ต้องละในที่สุดเช่นกัน เนื่องด้วยความเป็นอรูปราคะอย่างนั้นเอง ที่แม้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นกำลังแก่จิตในการดำเนินการปฏิบัติเพื่อวิปัสสนาในช่วงการละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ แต่ในที่สุด ก็ต้องใช้สัมมาญาณจากการเจริญวิปัสสนาในการละอรูปราคะแม้ในพระนิพพานนี้ ก็หมายถึง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในพระนิพพาน เพราะไม่เอาอะไร ไม่ยึดอะไรเลย ไม่เอาบุญ ไม่เอาบาป ไม่ยึดมั่น ถือมั่นในอารมณ์ทั้งหมด จึงเป็นสภาวะดับ สภาวะเย็น คือพระนิพพาน ส่วนในความสุขในทุกข์นั้น ท่านก็ไม่เอา เพราะฉะนั้น หลวงพ่อพุทธทาส ท่านให้ความหมายว่า สังโยชน์ ๒ อย่างคือ รูปราคะ อรูปราคะนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับกาม คือไม่ได้หมายถึงวัตถุกาม แต่มันเกิดมาจากการเพ่งรูป เพ่งสิ่งที่ไม่รูป เป็นธรรมดาอยู่เองที่มันเกิดสุขเวทนาอันละเอียด อันประณีต มันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นขั้นละเอียดขั้นประณีต ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ดังที่ว่า อายุของพวกพรหมนั้นยืนยาว เป็นกัปๆ เป็นพันกัป แสนกัปทีเดียว ในข้อนี้ก็หมายความว่า เพราะว่าความพอใจในรูปราคะ อรูปราคะ หรือความที่เป็นพรหมนี้ มีกำลังเหนียวแน่นลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้น อายุของพรหมแต่ละชั้นๆ นี้ จึงยาวนานเป็นกัปๆ เป็นมหากัปๆ เลย คือโลกแตกแล้วแตกอีก แตกแล้วแตกอีก พรหมก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้น ด้วยความยึดมั่นถือมั่นของพรหมทั้งหลาย ท้าวมหาพรหมทั้งหลาย จึงคิดว่าตัวท่านเองเป็นอมตะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนะ เพราะว่าโลกระเบิดไปแล้ว โลกถูกทำลายไปแล้ว กี่รอบ กี่รอบ ท่านก็ยังอยู่ ในชัยยะมงคลคาถาข้อสุดท้าย ทุคคาหะ ทิฏฐิฯ หมายถึงว่า ท้าวผกาพรหมนี้ คิดว่าตัวท่านเองเป็นอมตะ เพราะว่า จะกี่ชาติๆ ก็เห็นแต่ตัวเองเป็นมหาพรหมอยู่ตรงนั้น จนพระพุทธองค์ไปให้สติแก่เขา ไปสั่งสอนแก่เขา เพราะฮินดูเอง ความเชื่อมั่นของพราหมณ์เองก็บอกว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก เพราะว่า เห็นแต่ท้าวมหาพรหม จะกี่ยุคกี่สมัย ก็เห็นแต่ท้าวมหาพรหม ก็เลยเชื่อว่าพรหมลิขิต พรหมสร้างโลก ทั้งที่จริงแล้ว ท้าวมหาพรหมทั้งหลาย เมื่อหมดบุญก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารต่อไป เพราะกิเลสยังมีอยู่ เพียงแต่ว่า โดยความเป็นท้าวมหาพรหมนั้น ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องของกามเท่านั้นเอง ต่อไป สังโยชน์ข้อที่ ๘ คือ มานะ ไม่ใช่ความขยันขันแข็ง ภาษาไทยเอามาใช้ผิด มานะ หมายถึง ความถือตัวถือตน ความหยิ่งทะนงตน ก็คืออึโก้นั่นแหละ เป็นความยึดมั่นถือมั่น ถือตัวถือตนว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา แล้วก็ยังจำแนกไปอีกได้ ๙ ประเภท เป็นมานะทั้ง ๙ คือ เป็นผู้เลิศกว่าเขา ก็สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ดีอยู่แล้ว ก็ยังถือตัวถือตนว่าดีอยู่อีก ติดดี เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา คือดีอยู่แล้ว ก็สำคัญตนว่าเสมอเขา ก็เป็นไปในฝ่ายที่ติดดี เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา อย่างที่ ๔ เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอกับเขา แล้วก็เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา อย่างที่ ๗ เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา แล้วก็เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา ตีตนเสมอท่าน แล้วก็เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา มานะ ๙ ละยาก อย่างหยาบๆ นี้ พอละได้ อย่างละเอียดๆ นี้ จะละได้ก็ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น เพราะว่าความคิดที่ว่าดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขานี้ ต่างล้วนแต่เป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดความทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น ถ้าโยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาใส่ใจโดยแยบคายนี้ จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่าดีกว่า ด้อยกว่า เสมอเขาขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใด จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์ ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์อีก เพราะฉะนั้น ตัวอีโก้ทั้งหลายนี้ มันจึงเป็นสังโยชน์ เพราะมันรัดใจเอาไว้ ดึงใจเอาไว้ เราไม่ต้องสังเกตคนอื่นนะ สังเกตตัวเรานี่แหละว่าเป็นอย่างไร ต่อไป สังโยชน์อย่างที่ ๙ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านความปรุงแต่งในเรื่องต่างๆ ชนิดละเอียด คือ ยังคงมีความนึกคิดปรุงแต่ง เพียงแต่ว่าความฟุ้งซ่านนั้น ไม่ได้ก่อทุกข์ก่อโทษก่อภพก่อชาติอย่างรุนแรง ที่มันถี่ยิบหรือว่ามันบ่อยเช่นกับปุถุชน ดังนั้น อุทธัจจะของพระอนาคามี จึงยังคงมีสภาพพลิ้ว ไม่สงบ เป็นเหมือนกับระลอกความฟุ้งซ่านรำคาญบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นปุถุชนเต็มขั้นก็ฟุ้งตลอดเวลา นั่งสมาธิก็ฟุ้ง เดินจงกรมก็ฟุ้ง ฟุ้งทั้งวัน คือคิด คิดนู่น คิดนี่ คิดสารพัดในเรื่องของคนอื่น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมาให้มีเครื่องอยู่ ก็คือ อารมณ์กรรมฐาน อยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจ ต่อไป อย่างที่ ๑๐ อวิชชา สังโยชน์ข้อสุดท้าย ความไม่รู้ เข้าใจตามความเป็นจริง ตลอดจนการปฏิบัติให้มีสติรู้เท่าทัน อวิชชาความไม่รู้จริง มี ๘ อย่าง อวิชชา๘ โดย ๔ ข้อแรกคือไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อวิชชาอย่างที่ ๕ คือ ไม่รู้ในอดีต คือไม่รู้ระลึกชาติ ไม่รู้จักภพภูมิที่เคยเกิด เคยเป็นในภพชาติต่างๆ ที่ผ่านมา ที่มันก่อให้เกิดความยึดมั่น ถือมั่น ที่เป็นอุปาทานนี้ เมื่อไม่รู้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนสติ มันก็ทำให้ไม่มีความเบื่อหน่าย ทั้งที่จริงแล้วนี้ ในวัฏสงสารเคยเกิดเคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น แต่ทำไมมาในปัจจุบัน ยังจะเป็นกันอีก ก็เพราะว่าไม่รู้ว่าอดีตเคยเป็นมาแล้ว เลยอยากเป็นเศรษฐี เลยอยากเป็นใหญ่ เป็นนู่น เป็นนี่ อยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง สารพัดนะ หิวทรัพย์สมบัติ หิวแสง หิวนู่น หิวนี่ หิวความเป็นใหญ่ สารพัดที่จะหิว เพราะว่า ไม่รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น มันปิดบังเราเอาไว้ นี่คือว่า ไม่รู้อดีต ต่อไปอย่างที่ ๖ อวิชชาอย่างที่ ๖ คือความไม่รู้ในอนาคต การไม่รู้ในอนาคตก็คือ ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องของการเกิด การดับ ของขันธ์ ๕ ว่าล้วนแต่เป็นเหตุเป็นปัจจัย เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอไม่รู้เช่นนี้ เลยทำให้หลงทำผิด คิดว่าตัวเองเกิดมาชาติเดียว แล้วก็ตายไป ไม่ต้องเกิดอีก แบบนี้ก็เป็นความเห็นผิด ต่อไปอย่างที่ ๗ คืออวิชชา คือความไม่รู้ ทั้งในอดีต และอนาคตปนกัน แล้วก็อย่างที่ ๘ สำคัญมากเลย ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท อวิชชาตัวนี้ คือไม่ทราบ ไม่รู้ กระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ กระบวนการของการดับไปของทุกข์ จึงไม่รู้จักอาสวะกิเลส ตลอดจนปัญหา แล้วก็อุปาทานที่มันแอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต ที่มันมีต้นตอมาจากอวิชชานี้ มันก็เป็นกระบวนการปรุงแต่งมาเรื่อยๆ มีอวิชชา สังขาร วิญญาณ นาม รูป สฬายตนะ อายตนะ ๖ พอมันมากระทบ มาสัมผัส เป็นตัณหา เป็นอุปาทานเหล่านี้ ที่มันเป็นกระบวนการเหล่านี้ พอไม่รู้ มันก็หลงทำไป เป็นกิเลสกรรมวิบาก วนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงสิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์ดังนี้ว่า “เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นความพอใจเนืองๆ ที่มันเป็นปัจจัย เป็นเหตุแห่งสังโยชน์ ตัณหาย่อมเจริญ ความอยากมันก็เจริญขึ้น เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ความยึดมั่นถือมั่นมันจึงมี เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเป็นเหตุเป็นปัจจัย ภพชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติมันจึงมี เพราะความเกิด มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย มันจึงมีความแก่ความตาย ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความทุกข์ ความเสียใจ และก็ความคร่ำครวญ มีความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์” เปรียบเสมือนกับ ประทีปน้ำมัน หรือว่าตะเกียงที่มันพึงติดไฟได้ ก็เพราะว่าอาศัยน้ำมัน แล้วก็ไส้ เมื่อคนเติมน้ำมันใส่ไส้เข้าไป ไฟดวงนั้นมันก็จะติดอยู่ได้ทุกๆ ระยะ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะว่าตะเกียงนั้นมันได้อาหารก็คือน้ำมัน คือได้เชื้อ มันจึงลุกโพลงอยู่ตลอดกาลนาน อุปมาเหมือนกับสังโยชน์กิเลสที่ร้อยรัดนี่แหละ จึงเห็นได้ว่า โดยเฉพาะตัณหานี้แหละมันเป็นตัวนำ เป็นวงจรปฏิจจสมุปบาท นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่ส่งเสริมสนับสนุน คือทำงานร่วมกันกับสังโยชน์ ๑๐ อาการนี้ เป็นกลุ่มอกุศลธรรมบาปต่างๆ ๑๔ หมวด อันได้แก่อาสวะ ๔ กิเลสที่มันหมักหมมอยู่ในสันดาน มันนอนเนื่องหมักหมม ที่เราเรียกว่าอาสวะ อาสวะ คือภพชาติ อาสวะคือความเห็นผิด อาสวะคืออวิชชา อาสวะ โอฆะ กิเลสที่เปรียบเสมือนกับห้วงน้ำ โยคะ สภาวะที่มันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ตัวเดียวกัน กิเลสตัวเดียวกัน แล้วก็ยังมีอนุสัย มีนิวรณ์ ๕ ที่ได้อธิบายไปแล้ว มันก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คล้ายๆ กัน อนุสัย ๗ ที่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มันก็อย่างเดียวกัน อนุสัย ๗ มีอะไรบ้าง ก็คือ มีกามราคะ มีปฏิฆะ ตัวเดียวกันเลยกับสังโยชน์ ๑๐ ทิฏฐิ ก็คือความเห็นผิด วิจิกิจฉา มานะ ความถือตัว ถือตน เพราะว่าราคะ ยินดีพอใจในภพชาติ อวิชชาเป็นอนุสัย ๗ มันก็อย่างเดียวกัน กิเลส ๑๐ ธรรมชาติที่มันทำให้ใจเราเศร้าหมอง เร่าร้อน เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป ที่เกิดพร้อมกับกิเลสเหล่านั้น มันจึงมีความเศร้าหมองเร่าร้อนไปด้วย เพราะว่าตามธรรมดาของจิตใจ กิริยาอาการของบุคคลทั้งหลาย ถ้าไม่ได้เกิดเกี่ยวข้องกับความโลภ ความโกรธ เป็นต้นแล้ว บุคคลถึงจะรู้สึกว่ามีใจสบาย มีใจดี รูปร่างหน้าตาผ่องใส ไม่มีความเดือดร้อน เป็นที่สบายตาสบายใจแก่ผู้พบเห็น แต่ถ้าจิตใจนี้มันเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้นแล้ว จิตใจก็เศร้าหมอง รูปร่างหน้าตาก็ไม่ค่อยจะผ่องใส แต่เพราะว่าสงบระงับไปด้วยกำลังของบางอย่าง เช่น กำลังของสมาธิ ดังนั้น คนมีสติ มีสมาธิ ใบหน้าจึงผ่องใส ยิ่งคนที่ตัดกิเลสได้แล้ว ใบหน้า อินทรีย์ท่านยิ่งอิ่มเอิบ ผ่องใสตลอดเวลา กิเลส ๑๐ ท่านก็แยกแยะออกให้เห็น แต่ความจริงมันก็คือกลุ่มเดียวกันนั่นแหละ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฐิมานะ ความถือตัวถือตน ทิฏฐิ คือความเห็นผิด วิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ถีนะ ความง่วงเหงาหาวนอน ง่วงๆ ซึมๆ เบลอๆ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อหิริกะ อโนตตัปปะ คือความไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ท่านแยกออกมาให้ดูเป็นกิเลส ๑๐ แล้วก็ยังมีมิจฉัตตธรรม สิ่งที่เป็นความเห็นผิดตรงกันข้ามกับสัมมัตตธรรม ที่เป็นความชอบ เอาง่ายๆ คือที่มันตรงข้ามกับอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือในตระกูลของมิจฉาทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ เหล่านี้เป็นต้น โลกธรรม ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ก็อยู่ในวงจรเดียวกันของสังโยชน์ มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ถี่เหนียว ๕ อย่าง อาวาสมัจฉริยะ-ตระหนี่ที่อยู่ที่อาศัย หวงกุฏิ หวงเสนาสนะ หรืแม้กระทั่งหวงบ้าน หวงช่อง กุลมัจฉริยะ-ตระหนี่ตระกูล หวงญาติ หวงโยม หรือว่าหวงคนนั้น หวงคนนี้ ลาภมัจฉริยะ-ตระหนี่ลาภสักการะ วรรณมัจฉริยะ -ตระหนี่วรรณะ แล้วก็ธัมมมัจฉริยะ-ตระหนี่ในธรรม หวงธรรมอีก จะบอกจะสอนยังจะกั๊กเอาไว้ อย่างนี้เป็นต้น ไม่สอนไม่บอกเต็มที่ ตระหนี่ธรรม ต่อไปวิปลาส วิปลาสเราก็รู้ๆ อยู่แล้ว ก็คือความที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คือความเข้าใจผิด เห็นผิดในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เข้าใจผิดเห็นผิดในสิ่งที่เป็นสุขว่าเป็นทุกข์? เข้าใจผิด เห็นผิด จำในสิ่งที่ผิดๆ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่า เป็นตัวเป็นตน แล้วก็มีความเห็นผิด เข้าใจผิด ในสิ่งที่ไม่สวยไม่งามว่ามันงาม แล้วก็อคติ ๔ ความลำเอียง ๔ ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะกลัว ก็อยู่ในตระกูลสังโยชน์ มันทำงานร่วมกัน แล้วก็มูลกิเลส ๓ ก็คือโลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำงานร่วมกัน กับสังโยชน์ เพราะฉะนั้นแล้ว พระโสดาบัน มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความเห็นเหมือนกับเราฉายเอ็กซเรย์ในการเวียนว่ายตายเกิด พอเห็นอย่างนั้น เห็นด้วยตาปัญญา การเห็นของท่านนั้น มันสามารถทำลายถอนรากถอนโคนสังโยชน์ ฉายเอ็กซเรย์ในร่างกายนี้ เห็นหมด รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้ว่าหนทางนี้แหละเป็นหนทางไป ต้องเพิ่มความเพียร ต้องเพิ่มข้อวัตร ข้อปฏิบัติ มีความตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ มีการประพฤติปฏิบัติไม่งมงาย ไม่ถือฤกษ์ดี ยามดี ไม่ได้เอาโบสถ์ เอาวิหาร เอาเจดีย์ หรือว่าเอาพระพุทธรูปเป็นตัวศาสนา เพราะว่าพระศาสนาก็คือการเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางอื่นมันไปไม่ได้ ถึงจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีมันก็ไปไม่ได้ การประพฤติการปฏิบัติของพระสกทาคามีก็ชำนาญขึ้น มากกว่าพระโสดาบัน เพราะไม่หลง เขานินทา เขาสรรเสริญนี้ พวกนี้ก็เป็นเรื่องโลกธรรม เป็นสิ่งที่ผู้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเวียนอยู่ ติดอยู่ พระอนาคามีก็ต้องละ ละกาม ละความโกรธ เราต้องเข้าใจแบบนี้ เพราะศาสนาอื่นเขาเอาแต่สวรรค์ เอาแต่พรหมโลก เอาแต่วัตถุ แต่ศาสนาพุทธไม่ใช่อย่างนั้น ต้องไปไกลกว่านั้น มุ่งมรรคผลพระนิพพาน ถึงจะอยู่กับโลก อยู่กับอะไร เราก็อยู่แบบไม่ติดโลก อยู่แบบเข้าใจโลก อยู่แบบผู้ชนะโลก อยู่แบบเหนือโลก แต่ไม่ใช่หนีโลกนะ หนีอย่างไรก็หนีไม่ได้ เพราะเราอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่แบบผู้เข้าใจโลก อยู่แบบผู้ชนะโลก นั่นก็คือชนะกิเลสนั่นเอง อยู่ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา มีความประพฤติไปทางที่ถูกต้อง เป็นผู้ที่ไม่ยินดีในกาม ไม่มีความสัมพันธ์ในเรื่องกาม ถ้าเป็นประชาชนปฏิบัติธรรมมะอยู่ที่บ้าน เพราะการประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ไหนก็ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่สถานที่ เพราะความสงบมันอยู่ที่ใจ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจต้อง ปฏิบัติต้องในปัจจุบัน เราต้องไปตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะอันนี้เป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมะที่เหนือโลก คือเหนือการเวียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่โลกียธรรม ไม่ใช่อยู่ในโลกโลกีย์ เป็นภาวนาวิปัสสนา ไม่ใช่แบบหินทับหญ้า แบบสติปัญญา เป็นการเดินอริยมรรคทุกอิริยาบถ เป็นผู้ที่เสียสละ ผู้ที่เข้ามาบวชปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ถือว่ายังไม่ใช่พระ เป็นแต่เพียงภิกษุ ถ้าไม่มุ่งมรรคผลพระนิพพาน เป็นผู้ที่ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นได้แต่เพียงผู้ขอ ขอเขากินไปวันๆ เป็นผู้ทำลายพระศาสนา เพราะว่าไม่เป็นผู้ที่กตัญญูกตเวที อาหารทุกอย่าง ของใช้สอยทุกอย่าง เป็นบารมีของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ที่อาศัย ที่เขากราบไหว้ มาจากบารมีของพระพุทธเจ้า ความกตัญญูกตเวทีจึงเป็นเรื่องใหญ่ ให้ผู้ที่มาบวชพากันเข้าใจ เราจะเอาพระพุทธศาสนาหากินหาเลี้ยงชีพมันไม่เหมาะสม ไม่ควร ทำให้พระพุทธศาสนาเสียหาย ความเป็นพระนี้ ก็ให้โยมเข้าใจว่า ความเป็นพระนี้ โยมก็สามารถเป็นพระได้ เป็นพระในใจ คือ พระธรรม พระวินัย เป็นพระอริยเจ้า ถ้าเป็นโยมก็ถือศีล ก็อันเดียวกัน เพราะอันนี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ เพราะว่าศีลของพระนี้ย่อย วินัยของพระก็เลยมากมาย แต่ว่าศีลของโยม ศีล ๕ ศีล ๘ นี่แหละ คือจุดมุ่งหมายสู่ความเป็นพระอริยเจ้าเช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่เอาศีลเอาธรรม เราก็เป็นพระแท้ๆ ไม่ได้ เราต้องสละคืนซึ่งทิฐิมานะอัตตาตัวตน เพราะการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่ไม่น่าเพลิดเพลินไม่น่ายินดี ทางโลกนี้ ยิ่งรู้มากก็ยิ่งผูกมัด ทางธรรมยิ่งรู้ชัดยิ่งหลุดพ้น ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ