PAGODA

  • Create an account
  • Forgot your username?
  • Forgot your password?
or

Connection

Your e-mail is required to ensure the proper functioning of the Website and its services and we make a commitment not to reveal it to third parties

  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมชื่อผู้ใช้?
  • ลืมรหัสผ่าน?

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
  • ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๒ การกำหนดรู้ความดับทุกข์และทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์
ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๒ การกำหนดรู้ความดับทุกข์แล ... รูปภาพ 1
  • Title
    ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๒ การกำหนดรู้ความดับทุกข์และทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์
  • เสียง
  • 10995 ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๒ การกำหนดรู้ความดับทุกข์และทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์ /lp-kanha/2022-06-11-01-27-36.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share

ผู้ให้ธรรม
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
วัด/สถานที่บรรยายธรรม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ชุด
ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]

  • Tags
    รู้ทุกข์ | ดับทุกข์ | ทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์ | ทุกข์ | ความดับทุกข์ | ทางสายเอก
  • โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.) ในวันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ณ  วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๒ การกำหนดรู้ความดับทุกข์และทางปฏิบัติถึงความดับทุกข์ นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกข์รูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายในเรื่องของทางสายเอกถึงความดับทุกข์ ก็ถึงหมวดสุดท้าย โดยเฉพาะในเรื่องของสติปัฏฐาน ที่เป็นมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นทางสายเอก เพื่อมุ่งสู่ความดับทุกข์ หมวดสุดท้ายเป็นเรื่องของการกำหนดรู้อริยสัจ ๔ เมื่อวานได้อธิบายถึงเรื่องทุกข์ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์ วันนี้ขึ้นสัจจะที่ ๓ อริยสัจข้อที่ ๓ นิโรธสัจจะ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือความดับทุกข์เป็นไฉน ได้แก่ความดับสนิทโดยสิ้นเชิง ความสละ ความปล่อยวาง ความหลุดพ้น แล้วก็ความไม่พัวพันในตัณหานั้นๆ” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมจักรฯ พระพุทธองค์ทรงแสดงความดับทุกข์ว่า เป็นความดับตัณหา เพราะตัณหาคือเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นจะดับทุกข์ได้ก็คือ ดับตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อจะละตัณหาที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ข้อ ต่างจากคำสอนของสมัยโน้นที่ทำกันมาคือคำสอนของนิครนถ์ ลัทธิจารวาก ซึ่งมุ่งสอนในการทำให้ร่างกายอ่อนกำลัง แล้วก็แตกดับไปด้วยการบำเพ็ญอัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการแก้ไขในทางปลายเหตุ ไม่ใช่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ต่อให้จะทรมานกายเจียนตายเพียงใด กิเลสก็ยังคงอยู่ตามเดิม แต่โยคีนักพรตสมัยโน้นนิยมทำกันมา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยลองวิธีนี้ในการบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ไม่สำเร็จ ความดับทุกข์นี้ มีได้ด้วยความดับตัณหาโดยแท้ ส่วนความดับทุกข์โดยวิธีอื่นจากนี้ คือดับตัณหานี้เป็นเพียงความดับชั่วขณะ เหมือนการเปลี่ยนอิริยาบถที่เรานั่งนานๆ ด้วยการเหยียด ด้วยการสลับท่านั่ง ดู เดิน นั่ง การบริโภคอาหารในเวลาหิว การบริโภคยาในเวลาเจ็บไข้ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้ดับทุกข์ได้เพียงชั่วขณะ แต่ไม่อาจดับทุกข์ได้ตลอดไป ซึ่งสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในเรื่องของปัจจัย ๔ สมัยก่อนในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เรื่องเครื่องนุ่งห่ม สมัยก่อนหายาก ต้องทำมาจากขนสัตว์ ต้องทอเอง แต่สมัยนี้หาง่าย ที่อยู่ที่อาศัยก็ไม่ต้องไปอยู่ในถ้ำ ไม่ต้องไปอยู่บ้านดินเหมือนสมัยก่อน ทุกอย่างก็พัฒนาขึ้น อาหารการกินก็พัฒนาในเครื่องอุปกรณ์ ในการแสวงหา ในการปรุง แล้วก็ยารักษาโรคก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก วิวัฒนาการเหล่านี้เพื่ออะไร? เพื่อบำบัดทุกข์ ทุกข์ในร่างกายที่มีอยู่ทุกๆ คนทุกคนในโลกรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ตัวเราก็รักสุขเกลียดทุกข์ ตัวเรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกเดียวกัน ดังนั้น จึงมีวิธีมากมายที่จะบำบัดทุกข์ แม้กระทั่งคนที่บำบัดทุกข์ด้วยการตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ที่ไปหลงทางอบายมุข ไปกินเหล้า กินยาเสพติด ไปเที่ยวกลางคืน ไปเที่ยวผู้หญิง แล้วก็ไปการเล่นพนันพวกนี้ เพื่ออะไร? ใจมันมีทุกข์ แต่มันหาทางออกไม่ได้ ก็เลยไปหาทางออกด้วยวิธีนี้ เพื่อให้มันลืมทุกข์ชั่วคราว แต่พอกลับมาอยู่คนเดียวเหมือนเดิม หรือว่าตัวคนเดียวเหมือนเดิม ก็ทุกข์เหมือนเดิมอีก เพราะฉะนั้นแล้ว มันจึงไม่ใช่วิธีดับทุกข์ที่แท้จริง พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า จะดับทุกข์ได้นี้ ต้องดับที่ตัวตัณหา ในพุทธพจน์ข้างต้นที่ปรากฏในธรรมจักรฯ จาโค แปลว่าความสละ ปฏินิสสัคโค แปลว่า ความปล่อยวาง มุตติ แปลว่าความหลุดพ้น อนาลโย ความไม่พัวพัน ทั้ง ๔ คำนี้ เป็นคำไวพจน์ ก็คือเป็นคำขยายของคำว่า “อเสสะ วิราคะ นิโรโธ” คือ ความดับสนิทโดยสิ้นเชิง หรือความดับสนิทโดยไม่เหลือเชื้อ “โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ” ตัวนี้แหละ คือความดับสนิทโดยไม่เหลือเชื้อ แล้วท่านก็อธิบายคำนี้ว่า จาโค คือความสละ ปฏินิสสัคโค ความปล่อยวาง ความสลัดคืน มุตติ ความหลุดพ้น อนาลโย ความไม่มีอาลัย ก็คือไม่พัวพันในตัณหานั้นๆ ความดับตัณหานี้จะดับได้จริงๆ ดับได้เด็ดขาด ดับของแท้ ก็คือ ต้องดับด้วยวิปัสสนาญาณ มรรคญาน ญาณที่เป็นมรรคเป็นผล เหมือนแสงสว่างที่ปรากฏ แล้วก็ทำลายความมืด เมื่อตัณหาถูกกำจัดได้โดยเด็ดขาด รูป นาม หรือว่ากายกับใจที่เป็นตัวก่อภพก่อชาติที่มันเป็นผลของตัณหาย่อมไม่เกิดขึ้น จัดว่าผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุนิโรธสัจ ความจริงแล้ว ความดับตัณหาด้วยอรหัตมรรคเป็นการละตัณหาได้อย่างเด็ดขาด เหมือนกับถอนรากของต้นไม้ ถอนขึ้นหมด หรือเหมือนกับว่า เมล็ดพันธุ์มันหมดเชื้อที่จะงอกขึ้นได้อีกต่อไป ในที่นี้เป็นหลักด้วยอุกกัฏฐนัย คือ นัยที่กล่าวถึงสิ่งสูงสุด แต่ยังหมายถึง ความดับตัณหาในระดับของโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีด้วย เพราะดับเหมือนกัน อยู่ที่ดับอยู่ในระดับไหน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดว่า เห็นหนอ ในขณะที่สักแต่ว่าเห็น เห็นสักแต่ว่าเห็นตรงนี้ จิตไปรู้แค่อาการเห็น ไม่ได้ปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้ปรุงแต่งว่าเป็นเรา เป็นเขา จะสวย จะงาม จะดี ไม่ดี เราแค่เพียงอาการเห็นนี้ ที่อธิบายไว้วันก่อนๆ ที่ว่า ตามองเห็นรูป แล้วจิตวิญญาณมันทำงาน ธาตุรับ ธาตุกระทบ ธาตุรู้ ๓ ธาตุทำงาน เพราะฉะนั้น จึงมีอาการเห็นขึ้นมา มันเป็นแต่เพียงอาการที่ธาตุภายนอก ธาตุภายในมันทำงาน การที่เราเพียงแค่รู้ สักแต่ว่าเห็น แล้วหยั่งเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของตา ของรูปที่มาปรากฏ แล้วก็ของจิตที่รู้นั้น เพราะการเห็นมันเกิดขึ้นนิดเดียว แล้วมันก็ผ่านไป การเห็นชนิดนี้ในเพียงเสี้ยววินาทีนั้น จัดว่าเป็นการละอวิชชาได้ชั่วขณะและความเห็นผิดได้ชั่วขณะ เป็นตทังคนิโรธ คือละได้ชั่วขณะ เมื่อละอวิชชาได้ ตัณหาที่ยินดีพอใจในขณะเห็นย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเราตัด เราไม่ต่อ เห็นปุ๊บตัดปั๊บ เราไม่ได้ไปต่อไปเติม ไปเสริมไปแต่งมันขึ้นมา จัดว่าละตัณหาได้ชั่วขณะเช่นเดียวกัน เมื่อตัณหาไม่มี ความยึดมั่นและก็การทำกรรมดีกรรมชั่วมันก็ไม่มี แล้วผลที่เกิดจากกรรม อันได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน พวกนี้ มันย่อมดับไปตามลำดับ ตามวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ เป็นเช่นนี้ ปฏิจจสมุปบาทก็ยังมีแค่ ๒ สายนี้ สายเกิด กับสายดับ เพราะฉะนั้น พระนิพพาน คือความดับ ความเย็น ดับอะไร? ก็คือดับ ดับนี่แหละ ดับความปรุงแต่ง ดับความคิด ดับรูปธรรม นามธรรม การที่เรามีแต่เพียงอาการสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่ารู้รส สักแต่ว่าๆ นี้ มันไม่มีอดีต มันก็มีอนาคต มีแค่ปัจจุบันขณะ ปัจจุบันธรรมจริงๆ จึงเป็นที่สุดแห่งทุกข์อยู่ตรงนี้ มันย่อมดับไป ในขณะที่ตัณหาดับนี้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ การละตัณหาด้วยวิปัสสนาเป็น ตทังคนิโรธ คือละชั่วครั้งชั่วคราวไป จะเป็นปัจจัย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุการละตัณหาได้อย่างเด็ดขาด เป็นสมุจเฉท หรือสมุจเฉทนิโรธ หรือสมุจเฉทประหาร คือ ดับได้อย่างสนิท ถอนรากถอนโคน ไม่กลับฟุ้ง ไม่กลับฟูขึ้นมาอีก ท่านบอกว่า โสดาปัตติมรรคญาณ หรือว่าญาณในโสดาปัตติมรรค ญาณของพระโสดาบันนี้ ละตัณหาที่ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ แล้วก็ดับทุกข์ในอบายภูมิ พร้อมด้วยทุกข์ในการเกิดมากกว่า ๗ ชาติ ในสุคติภูมิ เพราะว่าท่านเหลือแค่ ๗ ชาติเอง มรรคญาณที่เกิดขึ้นนี้ อันเป็นการละที่เห็นไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะใดก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบรรลุอรหันต์กันหลายท่า บางท่านก็ท่าเดิน บางท่านก็ท่ายืน บางท่านก็ในขณะเดินจงกรม บางท่านในขณะนั่งสมาธิ บางท่านในขณะนอน สำเร็จสีหไสยาสน์ก็มี บางท่านแม้ขณะคู้แขนเหยียดแขนก็มี พระอานนท์ เป็นท่าที่ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถ ๔ ท่าในขณะที่กำลังเอนนอน ท่านพิจารณาว่า ตอนนี้ทำความเพียรหนักเกินไป จะไปพักสักหน่อย แต่ในขณะที่ท่านเดินจากที่จงกรมมาที่เตียงนี้ สติท่านไม่ได้ขาด ท่านจดจ่อต่อเนื่องทุกๆ อารมณ์ทุกๆ อิริยาบถ แม้กระทั่งการเดินมา การคู้ การเหยียด สติท่านตามทุกๆ อิริยาบถ ในขณะท่านนั่งลง ท่านก็รู้ว่านั่ง ยกขาขึ้นก็รู้ว่ายก แล้วท่านกำลังจะเอนตัวลงนอน จิตท่านก็รู้ตัวตลอด ในขณะที่ขายกพ้นจากพื้น หลังยังไม่แตะพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน จิตของท่านก็หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ตอนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว ความดับของจิตของท่านเกิดขึ้นอีก ๓ ขณะ ดับด้วยสกทาคามีมรรค ตับด้วยอนาคามีมรรค และก็ดับด้วยอรหันตมรรค จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น การเกิดดับของจิตมันไวมาก เพียงขณะที่ท่านเห็นมันชั่วครู่เดียวนี้ จิตของท่านก็หลุดพ้นได้ เพราะฉะนั้นแล้ว มันนิดเดียวในความเกิดดับ สกทาคามีมรรคญาณละตัณหาอย่างหยาบ แล้วก็ดับภพในการเกิดมากกว่า ๒ ชาติในสุคติภูมิ ส่วนญาณระดับอนาคามีมรรคนี้ ละตัณหาอย่างละเอียดและดับทุกข์ในการเกิดมากกว่า รูปภูมิ อรูปภูมิ แล้วก็อรหัตมรรคญาณ ละตัณหาที่เหลือทั้งหมด ดับทุกข์ในวัฏสงสารได้ทั้งหมด มรรคญาณทั้ง ๔ นี้ คือญาณในมรรค ในผลนั่นแหละ มิได้รับเอาความดับตัณหาเป็นอารมณ์ แต่เอาความดับของรูปธรรม นามธรรม คือความดับของกาย ของจิตทุกๆ ขณะนั่นแหละเป็นอารมณ์ พอมันดับ ตัณหาที่มันเป็นยาง เหนียว ที่มันเกาะอยู่ มันก็จะดับไปด้วย จึงเป็นนิพพาน จิตที่ประกอบด้วยมรรคญาณนี้ รับเอาความดับของรูปธรรม นามธรรม หรือว่ากาย กับใจ คือพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามหลักฐานในคัมภีร์มิลินทปัญหา ที่พระนาคเสนได้วิสัชนาตอบปัญหาให้กับพระเจ้ามิลินท์ที่ว่า “ตัสสะ ตัง จิตตัง อะปะราปะรัง มะนะสิกะโรโต”เป็นต้น หมายความว่า เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมนั้น กำหนดรู้อย่างต่อเนื่อง จิตดังกล่าวย่อมล่วงกระแสรูปนามที่เป็นไปไม่ขาดช่วง คือเป็นกระแสต่อเนื่อง หยั่งลงสู่ภาวะที่ไม่มีกระแสรูปนาม มหาบพิตรผู้ปฏิบัติชอบ บรรลุความไม่มีแห่งกระแสรูปนาม เรียกว่า ย่อมทำพระนิพพานให้แจ้ง นี่คือการตอบปัญหาของพระนาคเสนที่เป็นพระอรหันต์ ท่านตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์เช่นนี้ หมวดสมุทัยที่กล่าวมาแล้วเมื่อวาน พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า ตัณหาเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ดำรงอยู่ในรูปนาม ก็คือ อยู่ในกายในใจนี้ ที่น่ายินดีพอใจ มีทวารทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูรับ แล้วก็มีอารมณ์ทั้ง ๖ เหมือนกับแขกผู้มาเยือน คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็ความคิดนึกต่างๆ และก็วิญญาณ ๖ ก็คือ ตัวรู้ วิญญาณทางตาทำให้เห็น ทางหูทำให้ได้ยิน เป็นต้นนี้ ต่อมาในหมวดนี้ นิโรธสัจ ก็ทรงแสดงว่า ตัณหาดังกล่าวถูกละได้ แล้วก็ดับอยู่ในรูปนามเหล่านั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมหยั่งเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่า มันเป็นความไม่เที่ยง มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ตามความเป็นจริง วิปัสสนาย่อมสามารถละตัณหาได้ในขณะนั้น โดยปราศจากความพอใจที่กำลังประสบอยู่ เริ่มจากทวาร อันเป็นที่ปรากฏของอารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบทวาร ก็คือ เช่นว่า ตาเราเห็นรูป แล้วจึงเป็นตัวรับรู้ ที่มันเกิดผัสสะกันเข้ามา แล้วสัญญา ใจนี้ สัญญามันทำหน้าที่รู้ แล้วก็การกระทำโดยเจตนา หลังจากนั้น จึงเกิดเป็นตัณหา เป็นความอยากในสิ่งนั้นๆ เมื่อเกิดตัณหาความอยากแล้ว จิตมันก็ทำงานต่อ เป็นเกิดวิตก ก็คือ การเริ่มต้นของความคิด ในสิ่งที่ตนชอบ แล้วก็ตามมาด้วยวิจารณ์ คือ การวนเวียนคิดถึงสิ่งนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คิดวนไปวนมา นี่แหละคือผู้ปฏิบัติการของตัณหาที่พอใจในตาที่เห็น หูได้ยิน จมูกรู้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจคิดนึก มันเป็นการยิบย่อยขนาดนี้นะ พอเห็นปุ๊บนี้ มันจะเกิดกระบวนการทันทีคือ มันรับเข้ามา ผัสสะเข้ามา มันจะเกิดสัญญา สัญญาที่มันจำได้อยู่แล้วว่า อันนี้คือคนที่เราชอบ อันนี้คือคนที่เราหมาย อันนี้คือคนที่เราเกลียด อันนี้ คือคนนั้น คือคนนี้ จิตมันจำได้อยู่แล้วว่า ใครเป็นใคร แล้วมันก็จะตรึกเข้ามาเป็นวิตก ตรึกก็คือนึก จากนั้น มันเป็นวิจาร คือคิดแล้ว คิดซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำไปซ้ำมาเพียงแค่ไม่กี่ขณะ มันก็จะเป็นตัณหาทำงานทันที คือ ตัดสินใจว่าชอบ ไม่ชอบ พอมันชอบ มันก็จะอุปาทานยึดเอาไว้ คิดเอาไว้ว่า แฟนเรา สมบัติเรา ของของเรา แม้กระทั่งเสื้อผ้าเรา อันนั้น อันนี้ของเรา เป็นเรา เป็นเขาไปหมด เพราะว่าอุปาทานทำงาน ทำงานปุ๊บแล้วนี้ พอมันยึดไว้แล้ว มันเหมือนกับเก็บอะไรเอาไว้มากๆ ซึ่งมันต้องมีโกดังอยู่นี้ ตัวโกดังหรือว่าสร้างโรงงาน สร้างภพภูมิ มันก็เลยสร้างภพภูมิ เป็นการสร้างภพชาติ เพราะว่า สิ่งที่มันเก็บไว้ในใจมันเยอะเหลือเกิน ไม่รู้จะไประบายออกตรงไหน โกดังขนาดใหญ่ ภพชาตินี้มันไม่พอจุอยู่แล้ว มันก็ต้องไปก่อภพชาติใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ วนอยู่อย่างนี้ กลับมาที่เดิม เพราะไม่รู้ ไม่รู้มันก็หลงทำอย่างนี้ แต่ละวันๆ วงจรเหล่านี้เกิดขึ้นกับกายกับใจเรามากมาย ดังนั้น พระพุทธองค์จึงสอนวิธีง่ายๆ คือ ให้ตัด อย่าไปต่อ ให้ตัด อย่าไปต่อ ตัดเพียงแค่การเห็น ตัดเพียงแค่การได้ยิน ตัดเพียงแค่การรู้กลิ่น สักแต่ว่าๆ ทีนี้จะสงสัยว่า ถ้าทำแบบนี้ จะทำการทำงานได้อย่างไร? จะทำโน่นทำนี่ได้อย่างไร? ต้องทำได้ เพราะว่า เพียงแต่ว่า สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าทำ แต่ว่าเราไม่ได้ยึด ไม่ได้ยึดว่า เป็นของของ เรา หลวงพ่อพุทธทาส ท่านพูดง่ายๆ ว่า ทำด้วยจิตว่าง ทำด้วยจิตว่าง หลวงพ่อใหญ่ท่านก็บอกว่า ทำด้วยเสียสละ นั่นแหละคือเสียสละตัว เสียสละตน เสียสละความยึดมั่น ถือมั่น จิตว่าง มันว่างเปล่าจากการยึด ว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำลงไป จึงเป็นเพียงแค่กิริยา แต่ถ้ายังตัดตัณหาไม่ได้ สิ่งที่ทำไป จะดี จะชั่ว มันก็ต้องมีภพภูมิเป็นที่รองรับ เพราะว่ามันมีผลของกรรมดีกรรมชั่ว แต่ถ้าตัณหาถูกทำลายด้วยความเป็นพระอรหันต์แล้ว สิ่งที่ท่านทำลงไปนั้นคือทำด้วยกิริยาจิต จิตที่เป็นกิริยาอย่างเดียว ไม่ประกอบด้วยบุญ ไม่ประกอบด้วยบาป เป็นจิตของพระอรหันต์ เป็นต้น ตรงนี้คือในเรื่องของการดับ ในเรื่องของการดับ นิโรธสัจ ต้องดับอย่างนี้ คือดับตัณหา แล้วต่อไป อริยสัจข้อสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงแสดงมรรคสัจ คือความจริงอันประเสริฐอันเป็นเส้นทางแห่งการดับทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์เป็นไฉน ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง กล่าวคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ ความตั้งมั่นชอบ ชาวพุทธนี้ เมื่อทำบุญทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง มีปัญญามักจะอธิษฐานขอให้บรรลุพระนิพพานโดยพลัน การอธิษฐานดังกล่าวย่อมส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีได้ แต่ไม่อาจทำให้บรรลุพระนิพพานตามที่ได้มุ่งหวังไว้ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้นจึงจัดว่าเป็นทางสายกลางที่อำนวยผลให้บรรลุพระนิพพานในปัจจุบันชาติได้ จะขออย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำ จริงอยู่ มีความเห็นถูกก็คือ จะเอาพระนิพพาน อยากได้พระนิพพาน อยากบรรลุพระนิพพาน แต่เราต้องรู้วิธีการ ต้องรู้เส้นทางเดิน เส้นทางปฏิบัติ ทำอย่างไรจึงจะถึงพระนิพพาน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้ นั่นก็คือ มรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เปรียบเหมือนกับราชรถที่มุ่งหน้าไปสู่อมตะมหานคร คือพระนิพพาน คือความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ในอัจฉราสูตรมีเรื่องเล่าว่า พระภิกษุรูปหนึ่ง พากเพียรปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเสียชีวิตลงในขณะเดินจงกรม ท่านเดินจงกรม จิตของท่านก็แน่วแน่ ฟุบลง ตายในขณะนั้น มรณภาพในขณะนั้น ด้วยจิตที่เป็นกุศล จิตที่เปี่ยมด้วยสติ สมาธิ ปัญญาในขณะเดินจงกรมนั้น กุศลส่งให้ท่านเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ท่านเองไม่รู้ว่าเสียชีวิตแล้ว นางอัปสรก็คือผู้หญิงนางฟ้านี้เข้ามาใกล้ ก็ห้ามนะ อย่ามาใกล้อาตมา เดี๋ยวอาตมาอาบัติ เพราะท่านยังไม่รู้ว่าตัวเอง ยังคิดว่าเรายังเป็นพระอยู่เหมือนกับในอดีตชาติ นางอัปสรก็คือ เหล่านางฟ้าเลยได้นำกระจกมาให้ท่านส่องดู ท่านเห็นอัตภาพร่างกายตัวเองตอนนี้ ผ้ากาสาวพัสตร์ไปไหน บาตร จีวร ไปไหน เห็นแต่ร่างกายตนที่เปลี่ยนไป ท่านก็เสียใจนะ ไม่ใช่ดีใจนะ ไปเกิดเป็นเทวดา เสียใจมากว่าตนปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพื่อที่เป็นประโยชน์สูงสุด เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระศาสนา ไม่ใช่เพื่อไปเกิดในสวรรค์ ไปเกิดเป็นพรหม จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเสียใจพร้อมกับนางอัปสรทันที แล้วกราบทูลว่า อุทยานชวนหลง อันกลุ่มนางอัปสรประโคมดนตรี ประโคมขับร้อง มีหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว ทำไฉนจึงจะหนีไปให้พ้นจากที่นี่ได้พระพุทธเจ้าข้า ทั้งที่อุทยานในสวรรค์นี้ ชื่อบอกอยู่แล้วว่า เป็นที่หลงใหล เป็นที่สวยงามมาก ที่สวยงามในโลกมนุษย์เทียบไม่ได้ จะเป็นสวิตเซอร์แลนด์อะไรก็เทียบไม่ได้ กับอุทยานของสวรรค์ อุทยานของสวรรค์ เช่นว่า อุทยานจิตรลดา อุทยานนันทวัน อุทยานปารุสกวัน เหล่านี้เป็นต้น เป็นชื่อของสวนที่อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทพบุตรท่านนี้ ท่านบอกว่า ชวนหลง กลุ่มนางอัปสรประโคมดนตรีขับร้อง มีหมู่ปีศาจสิงอยู่ ทำไฉนจึงจะหนีให้พ้นไปจากที่นี่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ทางตรงเป็นทางอริยมรรคนั้น ทิศที่ไม่มีภัยเป็นพระนิพพานนั้น รถที่ไม่มีเสียงดัง รถที่ไม่มีเสียงดังนั้นหมายถึงว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วยกงล้อแห่งธรรม คือ ความเพียร มีหิริ ความละอายชั่วกลัวต่อบาปเป็นพนักพิงของรถ มีสติเป็นตัวถังของรถ เรากล่าวโลกุตรธรรมคือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้ ที่มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง คือวิปัสสนานำหน้า เป็นสารถี คือ คนขับ ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด พาหนะแบบนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือเป็นชายก็ตาม เขาย่อมไปสู่พระนิพพานด้วยยานพาหนะนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้าตรัสตอบเขาเช่นนี้ ในเรื่องนี้ เทพบุตรเปรียบว่า นันทวันอุทยานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชื่อว่าโมหะ คืออุทยานที่ชวนลุ่มหลง มีกลุ่มนางอัปสรที่เหมือนกับหมู่ปีศาจ ความจริงแล้ว นางฟ้ารู้อยู่แล้วว่าสวยงาม เวลาใครๆ สวยหน่อย ก็มักจะพูดว่าสวยปานนางฟ้า ทั้งที่ไม่เคยเห็นนางฟ้า แสดงว่านางฟ้าสวยมาก แต่เทพบุตรท่านนี้ ท่านเป็นอดีตพระที่มีปัญญา ท่านก็บอกว่า กลุ่มนางอัปสรที่เหมือนหมู่ปีศาจ ประโคมขับร้องให้หลงระเริงในกามคุณ เหตุใดจึงจะหนีให้พ้นไปได้ พระพุทธองค์จึงแสดงธรรมแก่เขา ทีนี้ขยายความทีละอัน ทางตรงในการออกจากอุทยานที่มันชวนหลงใหลนี้ ก็คือ ทางมรรคมีองค์ ๘ ที่เธอได้ดำเนินอยู่แล้ว ในขณะที่เป็นภิกษุในอดีตชาติของเธอ ทิศที่ไม่มีภัย อันเป็นจุดมุ่งหมายของการพ้นไป คือพระนิพพานที่เธอได้มุ่งหวังเอาไว้ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าคือพระนิพพาน แล้วภิกษุรูปนี้ก็ไม่หลงใหลในบ่วงมาร เพียรประพฤติปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อยู่แล้ว ไม่ใช่ตั้งพระนิพพานไว้ แต่ว่าบอกจะเอานิพพาน จะเอานิพพาน แต่การประพฤติการปฏิบัติไม่เอานิพพานนั้น ไม่ใช่ภิกษุรูปนี้ ท่านตั้งเป้าหมายไว้คือพระนิพพาน แล้วการประพฤติการปฏิบัติของท่านก็มีมรรคมีองค์ ๘ เพราะท่านมรณภาพลงขณะที่เดินจงกรม รถที่จะนำออกจากอุทยานอันชวนหลง ไม่มีเสียงดัง แม้คนจำนวนมากขึ้นนั่ ก็ไม่ส่งเสียง นั่นคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ กงล้อของรถที่จะทำให้รถนี้มันวิ่งไปได้คือความเพียร ความเพียรทางกาย ความเพียรทางใจของผู้ปฏิบัติธรรม พนักพิงของรถ เบาะพิง คือหิริโอตตัปปะ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อเกิดกิเลสในขณะขาดสติ ระลึกรู้สภาวะธรรมปัจจุบัน เหมือนกับพนักพิงนี้ ที่ป้องกันไม่ให้คนนั่งหน้าหงายหลัง พนักพิงมาช่วยไว้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะเป็นพนักพิงแล้วตกรถแน่นอน ตายน้ำตื้นเพราะว่าขาดหิริโอตตัปปะ ต่อไป ผนังของรถคือสติที่ป้องกันไม่ให้อกุศล คือบาปเกิดขึ้นในจิต เปรียบได้กับผนังของรถที่ป้องกันอาวุธ ป้องกันภัย ป้องกันแดด ป้องกันฝนจากภายนอก สารถี คนขับรถให้ก็คือ สัมมาทิฏฐิอันเป็นข้อแรกขององค์มรรค อันได้แก่วิปัสสนา เพราะวิปัสสนาที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องนี้ เป็นคำนำหน้าโลกุตรธรรมทั้งหมด เหมือนนายสารถีผู้ฉลาดขับรถไปก่อน เพื่อเบิกทางนำหน้ารถ อันเปรียบเหมือนกับโลกุตรธรรม ยานพาหนะมีประโยชน์เพื่อให้ผู้ขับขี่ไปถึงจุดหมายปลายทาง ความเข้าใจเรื่องยานพาหนะอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้ขึ้นขับขี่ก็ไม่อาจทำให้บรรลุถึงจุดหมายได้ เหมือนกับผู้เรียนมารู้ว่ารถเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างนี้ มีพนักพิง มีหุ้ม มีล้อ มีตัวเครื่อง แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ก็คือ เหมือนกับไม่ได้ไปนั่งรถ เมื่อนั่งรถแล้ว นั่งเฉยๆ นี้ไม่ได้ ต้องมีน้ำมัน น้ำมันกับล้อที่จะหมุนไปได้ มันหมายถึงความเพียรทางกาย ความเพียรทางใจ ความเพียรทางกายเหมือนล้อหมุน ความเพียรทางใจเหมือนเติมน้ำมัน อุปมาง่ายๆ รถมันถึงจะวิ่งไปได้ วิ่งมุ่งตรงไปสู่พระนิพพาน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ มันก็เดินหน้าไปไม่ได้ ในกรณีเดียวกันนี้ ความเข้าใจในปริยัติ ในการเรียนการศึกษา เป็นการศึกษาวิธีขับขี่ แต่การปฏิบัติธรรมเหมือนการลงมือขับขี่เอง บุคคลใดจะเป็นหญิงหรือชายก็ตามได้ขับขี่ยานคือ อริยมรรคเหล่านี้ บุคคลนั้นย่อมไปสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมระลึกรู้เท่าทันสภาวะธรรมปัจจุบันที่เป็นขันธ์ ๕ ก็คือ กองรูป กองเวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ รู้สึกเฉยๆ กองสัญญา ความจำได้ หมายรู้ กองจิต หรือว่ากองสภาวะธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านก็ย่อๆ มาให้แค่ ๔ เองว่า กองรูปก็คือ อยู่ในหมวดกาย กองเวทนา ก็คือในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน กองจิตที่เหมือนกับสังขาร วิญญาณนี้ แล้วก็สภาวะธรรมต่างๆ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้น กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริงตามลำดับวิปัสสนาญาณ จนกระทั่งถึงมรรคผล สัมมาสังกัปปะคือความคิด คิดถูก น้อมจิตไปสู่สภาวะธรรม เหมือนกับการเล็งเป้าในเวลายิงธนู สัมมาวาจา งดเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ ในขณะนั้น ในขณะที่เรามีสติรู้เท่าทันกำหนดรู้อะไรอยู่บางอย่างในอารมณ์กรรมฐาน เราก็ชื่อว่ามีสัมมาวาจาโดยอัตโนมัติ สัมมากัมมันตะ งดเว้นจากการทำร้ายคนอื่น เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ตรงนี้ มันก็ไม่มี สัมมาอาชีวะ งดเว้นจากความทุจริตทางกาย ทางวาจา อันเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ เพียรจดจ่อในสภาวะธรรมปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง สัมมาสติ ระลึกรู้เท่าทันสภาวะธรรมได้อย่างชัดเจน โดยปราศจากสมมติใดๆ สัมมาสมาธิ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ไปในอดีตหรืออนาคต ประคองเช่นนี้แหละ จึงเหมือนกับการขับขี่ยานพาหนะที่ขับไปเรื่อยๆ เพื่อมุ่งไปสู่พระนิพพาน ไม่เลี้ยวซ้าย แลขวา ไม่แวะเที่ยวนั่น แวะเที่ยวนี่ กินนั่นกินนี่ มุ่งตรงไป สัมมาวาจาเป็นต้น นั่นคือการพูดชอบเป็นต้น เป็นอริยมรรคข้อแรกที่เกิดขึ้นก่อน พระผู้ปฏิบัติธรรมนี้ได้สมาทานศีลก่อนปฏิบัติ เพื่อให้ความประพฤติทางกาย ทางวาจา บริสุทธิ์ ส่วนอริยมรรค ๕ อย่างอื่น เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติสั่งสมอบรมในเวลาเจริญวิปัสสนา เมื่อเป็นดังนี้ เขาย่อมได้ชื่อว่าเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ในเวลาปฏิบัติธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความเห็นอย่างนั้นของเขาเป็นสัมมาทิฏฐิ ความตั้งมั่นอย่างนั้นของเขาเป็นสัมมาสมาธิ อนึ่ง กายกรรม วจีกรรมและการเลี้ยงชีพของเขา ย่อมหมดจดอย่างยิ่งก่อน อริยมรรคมีองค์ ๘ ของเขาย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนาด้วยประการฉะนี้ ในขณะที่เราปฏิบัติธรรม เราลองสังเกตดูนะ ศีลเราสมบูรณ์ เมื่อศีล ๕ สมบูรณ์ แสดงว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เราสมบูรณ์ แล้วยังมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ คิดดี พยายามที่จะให้ติดต่อต่อเนื่อง ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นๆ จดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้นๆ เพราะฉะนั้น มรรค ๘ สมบูรณ์ ในขณะที่เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หรือพุทโธ หรือจะเดินจงกรมอะไรก็แล้วแต่นี้ ในขณะที่ขณะจิตจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับอารมณ์นั้นๆ มรรค ๘ สมบูรณ์ นี่แหละคือมรรค ๘ เราได้อยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว ไม่ต้องลังเลว่า มรรคข้อไหน อันนี้คืออะไร อย่าไปสงสัยมาก ทำไป ปฏิบัติไป รายละเอียดของอริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นตั้งแต่สัมมาทิฏฐิเป็นต้นไป มีดังนี้ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นชอบในที่นี้ ก็อย่างเดียวกับที่เราสวดธรรมจักรฯ นั่นแหละคือเห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ แล้วก็ความรู้ในการดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ จัดว่าเป็นปัญญาที่เป็นผลของการอบรมสั่งสมอริยมรรคอื่นๆ ความเห็นชอบอย่างนี้แหละ ก็คือความเข้าใจถูกต้องในเรื่องกรรม แล้วก็ผลของกรรมอีกด้วย ผู้ที่มีความเห็นชอบอย่างนี้ ย่อมพากเพียรอบรมจิตเพื่อบรรลุความหลุดพ้น ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ความเห็นชอบนี้ เป็นอันดับแรกของอริยมรรค เพราะเป็นประธาน ก่อให้เกิดอริยมรรคที่เหลือ ถ้าขาดความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มรรคที่เหลือมันก็จะไม่เกิด เพราะสัมมาทิฏฐิ เหมือนกับเป็นพ่อเป็นแม่ของมรรคที่เหลือ เหมือนกับศีลนี้เป็นพ่อเป็นแม่ของสมาธิ ปัญญา สัมมาทิฏฐิที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ก็คือว่า ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐินี้ เป็นประธานในอริยมรรคทั้ง ๗ นั้น เป็นประธานอย่างไรเล่า? เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะคือความคิดถูกจึงเกิดขึ้น เมื่อมีความคิดถูก สัมมาวาจาจึงเกิดขึ้น เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงเกิดขึ้น เมื่อมีการทำถูก การประกอบอาชีพถูกจึงเกิดขึ้น เมื่อมีการประกอบอาชีพถูก ความพยายามในทางที่ถูกจึงเกิดขึ้น เมื่อมีความพยายามในทางที่ถูก สัมมาสติจึงเกิดขึ้น เมื่อสัมมาสติเป็นสัมมาญาณ ญาณในการพิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริงเกิดขึ้น สัมมาวิมุตติ ความหลุดพ้นโดยชอบจึงเกิดขึ้นอย่างนี้ สัมมาทิฏฐินี้ ท่านก็ได้จำแนกความเห็นถูกเอาไว้ ๖ ประเภท คือ อย่างแรก กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในเรื่องกรรมและผลของกรรม อย่างที่ ๒ ฌานสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในเรื่องของฌาน มีปัญญาเข้าใจในองค์ฌานที่ปรากฏอย่างชัดเจน อย่างที่ ๓ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในวิปัสสนา คือหยั่งเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง เป็นการละกิเลสได้ทุกๆ ขณะที่กำหนดรู้ เหมือนการตัดต้นไม้ ที่มันตัดไปๆๆ หลายครั้งเดี๋ยวมันก็ขาดเอง อย่างที่ ๔ มัคคสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบในมรรค อย่างเห็นความดับของรูปนาม กายใจนี้อย่างชัดเจน เป็นการละกิเลสได้โดยเด็ดขาด เหมือนกับการเผาต้นไม้ที่ตัดแล้วให้หมดสิ้นไป อย่างที่ ๕ พละสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในผล อย่างเห็นความดับของรูปนามต่อจากมรรค อย่างที่ ๖ ปัจจะเวกขณสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบในการพิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละได้แล้ว แล้วก็กิเลสที่ยังเหลืออยู่ นี่คือที่ท่านแสดงเสริมเข้ามา ต่อไป สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ความคิดชอบ อย่างแรก คือความดำริในการออกจากกาม ดำริในการหลีกเลี่ยงจากกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กล่าวคือ บำเพ็ญกุศลทางใจทั้งหมด ตั้งแต่การออกบวช ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญสมถะภาวนาเพื่อบรรลุฌาน เจริญวิปัสสนาภาวนาเพื่อบรรลุพระนิพพาน ตลอดไปจนถึงการเข้าฌาน เมื่อบรรลุฌานแล้วหรือว่าเข้าผลสมาบัติแล้ว ก็บรรลุมรรคแล้ว ก็รู้ตามนั้น นี่คือความดำริชอบ ความดำริในการไม่พยาบาท คือ ดำริในการไม่ผูกโกรธต่อบุคคลอื่น ได้แก่ ความเมตตา ปรารถนาดีต่อบุคคลอื่นอย่างจริงจังโดยไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทน ผู้เจริญเมตตาภาวนาจัดว่า ประกอบด้วยความเห็นถูกต้อง ประกอบด้วยความคิดที่ถูกต้อง ความดำริอย่างที่ ๓ คือคิดในการไม่เบียดเบียนต่อบุคคลอื่น ทางกาย ทางวาจา นี่คือตัวกรุณา คือความสงสาร บุคคลผู้เจริญกรุณาจัดว่าเป็นการประกอบด้วยความคิดอย่างนี้ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาแล้วเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง จัดว่าได้เจริญความคิดในการออกจากกาม เพราะจิตของเขาปราศจากความยินดีในสิ่งที่กำหนดรู้ แล้วก็หยั่งเห็นด้วยสติสัมปชัญญะ อีกทั้งยังประกอบด้วยความคิดที่เหลือ คือ มีเมตตากรุณา เพราะไม่ได้คิดพยาบาท หรือว่าเบียดเบียนต่อบุคคลใดๆ ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่ประกอบด้วยความดำริชอบทั้งสามประการ องค์มรรคข้อต่อมา สัมมาวาจา การเจรจาชอบนี้ เป็นการงดเว้นบาปทางคำพูด งดเว้นจากการพูดเท็จด้วยการพูดความจริง งดเว้นจากการพูดส่อเสียดด้วยการพูดสมานฉันท์ให้เขาสมานสามัคคี งดเว้นจากการพูดคำหยาบด้วยการพูดอย่างสุภาพอ่อนหวาน งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อด้วยการพูดคำที่มีประโยชน์ ผู้ที่สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือแม้กระทั่งศีล ๒๒๗ ที่มีอยู่แล้วนี้ นับว่า งดเว้นจากมิจฉาวาจาเหล่านี้ เพราะศีล สิกขาบทก็ได้กำหนดอยู่แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนาก็ได้งดเว้นเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ที่ได้บรรลุมรรค จัดได้ว่า เจริญอริยมรรคข้อนี้โดยสมบูรณ์ ทุกขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนาอยู่ กิเลสที่ต้องการจะทำให้พูดเท็จ เป็นต้น ย่อมไม่เกิดขึ้น นับว่า เขาสามารถกำจัดมิจฉาวาจาได้ด้วยการละทุกๆ ขณะอยู่เสมอ ต่อเมื่อเมื่อบรรลุมรรคผลแล้ว ก็จะกำจัดมิจฉาวาจาเหล่านี้ได้โดยเด็ดขาด กล่าวคือ พระโสดาบันขจัดมุสาวาท เพราะพระโสดาบันจะไม่พูดโกหกเลย พระอนาคามีกำจัด ปิสุณวาจา และผรุสวาจา คือ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ส่วนพระอรหันต์ กำจัดสัมผัปปลาปะ คือกำจัดการพูดเพ้อเจ้อออกไปได้อย่างเด็ดขาด แม้ข้อความเหล่านี้จะกล่าวไว้ในอรรถกถา แต่ก็ควรทราบว่า พระโสดาบันนี้ ก็สามารถกำจัดคำพูดส่อเสียด เป็นต้น ที่ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ ท่านจึงไม่ไปเกิดในอบายภูมิด้วยผลของมิจฉาวาจา เพราะศีลของท่านสมบูรณ์นั่นเอง สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ เป็นการงดเว้นจากบาปทางกาย คือ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม จัดเป็นการไม่เบียดเบียนคนอื่นทางกาย ด้วยการไม่ทำร้ายร่างกาย แล้วก็ชีวิต ไม่ทำลายทรัพย์สิน แล้วก็ไม่ล่วงละเมิดผัสสะที่มีเจ้าของ ต่อไปสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ การงดเว้นจากบาปทางกาย ๓ แล้วก็บาปทางวาจา ๔ ที่กล่าวไว้ข้างต้น อันเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ โดยเลี้ยงชีพด้วยสัมมาชีพอยู่ตามสมควร ตัวอย่างของมิจฉาชีพ เช่นว่า การฆ่าสัตว์เพื่อบริโภคหรือนำไปขาย จัดเป็นมิจฉาชีพทางกาย ส่วนการฆ่ายุงหรือมดจัดเป็นอกุศลทางกายตามปกติ ไม่ใช่มิจฉาชีพ แต่การฆ่าสัตว์บริโภคเองหรือนำไปขายจัดเป็นมิจฉาชีพ เพราะว่าองค์มรรคก็บอกอยู่แล้ว ศีลข้อ ๑ ก็ผิดแล้ว เอาไปขายก็ผิดต่ออีก เป็นอาชีพที่เป็นมิจฉาอาชีวะสำหรับคฤหัสถ์ สำหรับพระ มิจฉาอาชีวะของพระเจ้าคือว่า ไม่บิณฑบาต หรือว่าไปประจบคฤหัสถ์ เลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่ไม่สมควร เช่น ไปทำเดรัจฉานวิชา เหล่านี้เป็นมิจฉาอาชีวะของนักบวช ต่อไป สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบ คือ สร้างความพอใจในความพากเพียรด้วยการเห็นประโยชน์ “ฉนฺทํ ชเนติ” ที่เราสวดกันนี้ ลงมือปฏิบัติด้วยความเพียรทางกายและใจ “วายมติ” รักษาความเพียรที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำเนินต่อไป “วิริยํ อารภติ” แล้วก็ประคับประคองจิตให้พากเพียรอยู่เสมอ ไม่ย่อท้อ “จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ” แล้วก็ตั้งจิตไว้ด้วยความเพียรอันสูงสุดที่ยอมให้ร่างกายเอาชีวิตเป็นเดิมพันเลยคือ ต่อให้ร่างกายเหลือเพียงเอ็น หนัง กระดูก จะให้เลือดเนื้อเหือดแห้งไปก็ตาม จะไม่ลดความเพียรลงถ้ายังไม่ได้บรรลุธรรม แบบนี้เรียกว่า “ปทหติ” ความเพียรชอบก็คือ ความเพียรเพื่อละบาป ความเพียรเพื่อละอกุศลนั่นเอง ความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ ความเพียรเพื่อละบาปเก่า ความเพียรเพื่อทำกุศลใหม่ แล้วก็ความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า ความเพียรไม่ทำบาปใหม่ก็คือว่า ความพยายามในการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ที่เคยทำมาก่อน แม้จะได้เห็นหรือว่าได้ยินว่า คนอื่นทำไว้ เหมือนความพยายามรักษาตนไม่ให้เกิดโรคเช่นผู้ป่วยรายอื่น เหมือนตอนนี้ เรารู้ว่าเขาติด covid เราก็ต้องรักษาตัวเองไม่ให้ติดตามเขา ก็หมายถึงว่า เป็นความเพียรเพื่อไม่ทำบาปใหม่นั่นเอง ความเพียรเพื่อละบาปเก่า อกุศลเก่ามี ๒ ประการ ที่ได้ทำมาแล้ว เป็นการล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา คือเป็นวีติกกะมะ แล้วก็เป็นความคิดไม่ดีทางใจ เป็นเรื่องของกาม เรื่องของพยาบาท เรื่องของความเบียดเบียน ที่มันเป็นปริยุฏฐานกิเลส แล้วก็พร้อมทั้งอกุศลที่มันฝังลึกอยู่ในกมลสันดานที่รอโอกาสเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยที่เป็นอนุสัยกิเลส เพราะฉะนั้น ท่านเลยบอกว่า วีติกกมกิเลส ก็คือศีล การพูดไม่ดี การทำไม่ดีนี้สามารถหยุดได้ด้วยศีล ๕ ศีล ๘ ส่วนกิเลสทางใจที่มันหยาบๆ เช่น ความคิดไม่ดีในเรื่องของกามคุณ ความพยาบาท ความเบียดเบียนนี้ละด้วยกำลังของสมาธิ ส่วนอนุสัยกิเลสที่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดานนี้ จนไปถึงอวิชชานี้ อนุสัย ๗ นี้ สามารถละได้ด้วยปัญญา โดยเฉพาะวิปัสสนาปัญญาที่เป็นมรรคผล จึงจะละขาดได้ ตรงนี้เป็นวิธีการประพฤติการปฏิบัตินะ เป็นความเพียร ส่วนความเพียรที่ว่า เพื่อทำกุศลใหม่ ก็คือว่า พยายามในการทำกุศลที่ยังไม่ได้ทำ เช่น การให้ การเสียสละ การรักษาศีล การเจริญสมถวิปัสสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจริญวิปัสสนา จัดเป็นการสะสมเมล็ดพันธุ์แห่งมรรคผลนิพพานไว้ในกระแสจิต กุศลเป็นธนาคารบุญอันยิ่งใหญ่ของชาวโลก ผู้ที่เดินทางไกลจะต้องแสวงหาเสบียงมากมายติดตัวไปฉันใด ผู้ที่เดินทางอยู่ในสังสารวัฏวัฏสงสาร ก็ต้องมีกุศลคอยช่วยค้ำจุนอุปถัมภ์ฉันนั้น เพราะกุศลนี้ เหมือนเสบียงที่ช่วยอุปถัมภ์ในภพต่อไป แม้ทานและศีลจะไม่อาจส่งผลให้บรรลุนิพพานโดยตรง แต่ก็ช่วยอุปถัมภ์ให้มีโอกาสในการปฏิบัติธรรม เพราะทานส่งผลให้มีทรัพย์ ศีลส่งผลให้มีสุขภาพดีและมีอายุยืน ส่วนผู้ที่ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมด้วยอำนาจกุศลที่ทำไว้นี้ ก็อาจปฏิบัติธรรมได้ในภพนั้นๆ ตามสัญญาเก่าที่เคยสั่งสมอบรมมา ส่วนใหญ่พรหมกับเทวดาที่มาฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็คือ มีของเก่ามาทั้งนั้นแหละ พอไปฟังพระพุทธเจ้านิดเดียวก็บรรลุธรรมกันมากมาย เพราะท่านมาต่อยอดของเก่าของท่าน ทุกขณะที่ผู้ปฏิบัติธรรมได้เจริญสติ ระลึกรู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง จัดได้ว่า ทำความเพียรในการไม่ทำบาปใหม่ ละบาปเก่า เพราะไม่ได้กระทำบาปใดๆ ในขณะนั้น แล้วก็กระทำความเพียรในการทำกุศลใหม่ เมื่อไม่เคยเจริญวิปัสสนาภาวนามา อีกทั้งกระทำความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า เมื่อได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เพิ่มขึ้นไป แม้กระทั่งสติ สมาธิ ปัญญานี้ มันไม่ใช่มีอยู่แค่ด่านนี้ มันมีต่อไปอีกเรื่อยๆ จึงจะเป็นอารมณ์ใด มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ถ้าใจเราไปจำแต่อารมณ์นั้นๆ อยากสงบเหมือนเมื่อวาน อยากสงบนิ่ง ดิ่ง เป็นอารมณ์เดียวเหมือนปีที่แล้ว แสดงว่าคิดถึงแต่อารมณ์เก่าๆ นะ มันก็ไม่ก้าวหน้า เพราะติดของเก่า พอมันได้ ก็วาง เพียงแค่รู้แค่นั้นเอง ต่อให้เป็นสภาวะธรรมที่ดี หรือไม่ดีอย่างไร มันก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จะเป็นมรรคผล ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเช่นนี้ สติที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ สัมมาสติ องค์มรรคข้อที่ ๗ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนั่นก็หมายถึงว่าสติปัฏฐานนี่เอง รวบยอดมาอยู่ในตรงนี้แหละ ในองค์มรรคข้อสุดท้ายนี้ องค์มรรค ๒ ข้อสุดท้าย คือ สติ สัมมาสติก็คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔ พิจารณากาย เวทนา จิต พร้อมทั้งสภาวธรรมต่างๆ ที่ได้อธิบายมาทั้งหมด ไม่ใช่การนึกถึงความดีในอดีตที่เป็นสมมติบัญญัติ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สัมมาสติ ความระลึกชอบ โดยคำว่าสัมมา ใช้ในความหมายไม่ผิดพลาด ก็คือ ถูกต้องนั่นเอง ตรงกันข้ามกับมิจฉา ก็คือ ผิดพลาด ต่อไปสัมมาสมาธิ ท่านกล่าวไว้อย่างสูงสุดเลย ก็คือองค์ฌาน สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นอย่างสูงสุด คือ ที่ว่าเป็นองค์ฌาน เพราะว่าสภาวะเพ่งอารมณ์อย่างเดียว โดยปราศจากความซัดส่ายฟุ้งซ่าน สิ่งที่เป็นอารมณ์ของฌานนี้เป็นสมมุติบัญญัติเท่านั้น เช่นว่า อานาปานสติ การอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก คำว่าลมหายใจ มันก็เป็นสมมุติบัญญัติ เรารู้สมมุติบัญญัติเพื่อไปเห็นของจริง คือ ปรมัตถ์ คือ มันมีเพียงแค่ลมหายใจที่เป็นธาตุลม กับจิตตัวรู้เท่านั้นเอง เราเอาสมมุติไปจับปรมัตถ์ สมมุติที่เรารู้กันว่าลมหายใจ สมมุติที่เรารู้ว่า เราเดิน เราโน่น เรานี่ เอาสมมุติไปจับบัญญัติ ตอนนี้เห็น ตอนนี้ได้ยิน คำว่าเห็น คำว่าได้ยิน มันก็คือบัญญัติ แต่จิตที่รู้ มันต้องรู้ชัดกว่าบัญญัติ ก็คือว่า อาการอย่างนี้เห็นนะ อาการอย่างนี้ได้ยินนะ อาการอย่างนี้คือลมหายใจนะ อาการอย่างนี้คือการกำลังก้าวเดินนะ คือ เอาบัญญัติไปจับปรมัตถ์ อารมณ์ที่รู้นั้นต้องชัดกว่าบัญญัติจึงจะเกิดผล ผู้ที่จะบรรลุฌานได้ ต้องตัดขาดจากกามและอกุศลทั้งหลาย เมื่อเพ่งฌานจนบรรลุฌานที่ ๑ แล้ว จะมีวิตก วิจาร ก็คือตรึก นึก คิด เคล้าอยู่ในอารมณ์นั้นๆ มีความรู้สึกอิ่ม ดื่มด่ำ พร้อมทั้งความสบายกาย คือ สุขเวทนา จิตตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ ผู้ที่บรรลุฌาน ๑ จะมีร่างกายทุกส่วนชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ซ่านด้วยปีติและสุขเกิดจากความสุขสงบสงัด เขาบอกว่า เหมือนก้อนจุนท์ ผงทาตัวนี้ ที่ใส่ไว้ในภาชนะสำริด แล้วพรมน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก็มียางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมดไม่กระจายออก ต่อมา เมื่อวิตก วิจาร ดับไป วิตก วิจาร ก็คือความสุข ก็คือความใส่ใจ นึกแล้ว นึกอีกในอารมณ์นั้นๆ ดับไป โดยไม่มีความคิดใดๆ เหลืออยู่ มีเพียงความรู้สึกเป็นสุขทางกาย และความผ่องใสแห่งจิต นี่คือฌานที่ ๒ ผู้ที่บรรลุฌานนี้ จะมีร่างกายทุกส่วนชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิ เหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน ซึ่งไม่ใช่เพราะถูกกระทบจากแรงภายนอก เนื่องจากไม่มีทางให้น้ำไหลเข้ามาได้ ทั้งด้านทิศเหนือ ใต้ ออก ตก ทั้งฝนด้านบนก็ไม่ตกเพิ่มเข้ามา แต่ก็มีสายน้ำเย็นผุดขึ้นมาจากห้วงน้ำนั้น ทำให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนใดของห้วงน้ำทั้งหมดนั้น ที่น้ำเย็นไม่ได้สัมผัสเลย หลังจากนั้น ความอิ่มใจจะหมดไป เมื่อปีติมันดับไป เหลือแต่เพียงความสุขทางกายที่เกิดจากสมาธิ นี้เป็นฌานของผู้ที่บรรลุฌานที่ ๓ จะมีร่างกายทุกส่วนชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ เหมือนดอกบัวที่จมอยู่ในน้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซึม อยู่ด้วยน้ำเย็นตลอด ยอด แล้วก็เหง้า ไม่มีส่วนใดของดอกบัวที่น้ำเย็นไม่ได้สัมผัสเลย ต่อมาในฌานที่ ๔ ความรู้สึกสบายกาย สบายใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ จะหายไปหมด มีแต่เพียงความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ เป็นอุเบกขา แล้วก็ความสงบที่เป็นดิ่ง เป็นอารมณ์เดียว ตั้งมั่นอยู่ ผู้ที่บรรลุฌาน ๔ จะมีร่างกายทุกส่วน แผ่ซ่านไปด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีร่างกายส่วนใดของเขาที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วมิได้สัมผัส นี่คือความรู้สึกของฌาน ๔ ในที่นี้ พระพุทธองค์ตรัสฌาน ๔ ไว้โดยสูงสุดในสัมมาสมาธิ แต่ว่าการที่เราเจริญอริยสัจ ๔ นี้ เท่ากับว่าเราเข้าใจนิโรธและมรรคอย่างถ่องแท้ เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้เจริญสมถะ เจริญสมาธิ จนได้ฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อออกจากฌานแล้วเจริญวิปัสสนา โดยเอาฌาน และสมาธิเป็นบาท ย่อมได้บรรลุในขณะนั้นๆ การดำเนินปฏิบัติด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งนี้ เพราะว่าความดับทุกข์ แล้วก็ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ ไม่ใช่ธรรมที่จะต้องกำหนดรู้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นสภาวธรรมที่ปุถุชนยังไม่ได้เข้าถึง ดังที่ท่านอธิบายว่า การสดับความเข้าใจและความต้องการจะบรรลุอริยสัจ ๒ อย่างหลังคือนิโรธกับมรรคที่เป็นของจริงๆ นี้ จัดเป็นการกำหนดรู้โดยปริยาย อีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติธรรมที่ระลึกรู้สภาวะเห็นเป็นต้น ในปัจจุบันขณะ เป็นผู้กำหนดรู้ทุกข์ แล้วก็ละเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความพอใจในการเห็น ในการได้ยิน อีกทั้งรู้แจ้ง นิโรธ คือ ความดับทุกข์ที่เป็นตทังคนิโรธ คือดับไปชั่วขณะ แล้วก็อบรมมรรคภาวนา คือมรรคมีองค์ ๘ ในระดับโลกิยะ ตามนัยนี้ ก็ได้ชื่อว่า เจริญอริยสัจ ๔ ในขณะเดียวกันได้ ถึงแม้ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า แต่เราก็ต้องฝึกไปอย่างนี้ เพราะคือทางเดินของพระอริยเจ้า การเจริญธัมมานุปัสสนาหมวดสัจจะนี้ เหมือนกับการเจริญสติปัฏฐานอื่นๆ คือ เน้นกำหนดรู้สัจจะภายในเป็นหลัก เมื่อสัจจะภายในปรากฏชัดเจน สัจจะภายนอก ความจริงภายนอกก็จะปรากฏชัดเจนด้วย ดังที่พระพุทธองค์นี้ ที่ตรัสถึงสัจจะ ๔ คืออริยสัจ ๔ ว่า ไม่ได้มีอยู่ที่ไหน แต่มีอยู่ที่ร่างกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ที่มีใจครองนี่เอง ที่พระพุทธองค์ตรัสแก่โรหิตตัสสะพรหมที่ว่า “อปิจาหํ อาวุโส อิมสฺมึเยว พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก โลกญฺจ ปญฺญาเปมิ โลกสมุทยญฺจ โลกนิโรธญฺจ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติฯ ดูก่อนท่าน เราย่อมบัญญัติโลกก็คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับของโลก ก็คือความดับทุกข์ และปฏิปทาข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ในอัตภาพที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา แล้วก็มีใจครองนี้เท่านั้น” นี่คือ ต้องดูอยู่ภายใน ส่งจิตเข้ามาในกาย ในใจ ถ้าส่งจิตออกนอกแล้ว ไม่เห็น แต่ว่าตัวอย่างสัจจะภายนอก ซึ่งอาจจะปรากฏชัดเจนได้ในบางขณะ เช่น ในครั้งที่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพระโสนกะ ผู้เป็นสหายของพระโพธิสัตว์ ที่เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดินอรินทมะ ได้เห็นใบไม้เก่าร่วงหล่นจากต้นสาละ แล้วเกิดปัญญาเห็นแจ้ง รู้เห็นความเกิดดับของอาการเคลื่อนไหวภายนอก ในที่สุดได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ แล้วก็ในกรณีที่นางปฏาจาราเถรี เห็นน้ำล้างเท้าไหลไปในขณะล้างเท้า แล้วก็เห็นความเกิดดับของน้ำที่ไหลไป ข้อนี้ก็เป็นการเห็นความเกิดดับของอารมณ์ภายนอกในบางโอกาส แต่ส่วนใหญ่ ต้องดูกาย ดูใจ ของเรานี่เอง การเจริญสติปัฏฐาน ๔ พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดก็ตาม เจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ตลอด ๗ ปี เธอหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คือ อรหัตตผล คือความเป็นพระอรหันต์ในอัตภาพนี้ ในชาตินี้ หรือเมื่อยังมีความยึดมั่นหลงเหลืออยู่ ก็จะบรรลุอนาคามี อย่าว่าแต่ ๗ ปีเลย ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ตลอด ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน หรือครึ่งเดือน เขาก็พึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ หรือ ถ้ายังมีความยึดมั่นหลงเหลืออยู่ ก็จะบรรลุเป็นพระอนาคามี อย่าว่าแต่ครึ่งเดือนเลย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ตลอด ๗ วัน เขาพึงบรรลุหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหันต์ในชาตินี้ หรือเมื่อยังมีความยึดมั่นหลงเหลืออยู่ ก็จะบรรลุอนาคามี ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้ หนทางเดียว ที่ทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ล่วงพ้นจากความโศกและความร่ำไรรำพันคร่ำครวญไปได้ ดับทุกข์ และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรค และเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้ คือสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ เพราะศาสนาส่วนใหญ่นี้ จะเอาแต่แค่สวรรค์ เอาแค่พรหมโลก พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักทุกข์ เพราะว่าความสะดวกสบายอย่างไรแม้จนกระทั่งถึงสวรรค์ พรหมโลก ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด พรหมโลกที่สงบนิ่งใจ ไม่วุ่นวาย ก็เป็นเพียงแค่พรหมชั้นต่างๆ ต้องพัฒนาไปให้หมดเอาอวิชชา หมดตัว หมดตน ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมได้ ต้องรู้จักอริยสัจ ๔ ภาคปฏิบัติ ก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติอยู่ปัจจุบัน เราก็ชื่อว่า ไม่มีการปฏิบัติ การปฏิบัติก็ตั้งอยู่ในความไม่เพลิดเพลิน ความไม่ประมาท เพราะการปฏิบัติจะได้รับความสุขไปเรื่อยๆ อานาปานสติของเรานี้ จะต้องมีเรื่อยๆ อย่างเราประชุมกันในสมาคมต่างๆอย่างนี้ เราไม่ได้พูด บางทีคนส่วนใหญ่มันอยู่ไม่ได้ เขาก็จะอยู่กับการพูดคุยกับเพื่อน อยู่กับการเล่นโทรศัพท์ เล่นอะไร มันไม่ได้อยู่กับตัวเอง มันต้องอยู่กับตัวเอง คือ สติสัมปชัญญะ การเจริญอานาปานสติ ถ้าอย่างนั้นมันไม่มีเครื่องอยู่ ไม่รู้จะอยู่อย่างไรนะ อย่างบางทีมานั่งเฝ้าครูบาอาจารย์ ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะว่าไม่มีอานาปานสติ ไม่มีพุทโธ ไม่มีรู้หนอ ไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ การเกี่ยวข้องกับการพูด การพูดของเราก็ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ แล้วก็มีการพูดดีๆ เพราะคำพูดมันสำคัญ เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม สังคมต้องเป็นไปเพื่อนิพพาน เพื่อความสมัครสมานสามัคคี เขาเข้าใจกันก็เพื่อเป็นครอบครัว เพื่อความสามัคคี ถ้าทะเลาะกันก็เป็นกรรมหนัก ขนาดสงฆ์ทะเลาะกันนี้ แตกแยกกัน ไม่ทำสังฆกรรมกันนี้ เป็นกรรมหนักถึงอนันตริยกรรม เป็นสังฆเภท สังคมเราอาศัยกันก็เพื่อสมัครสมานสามัคคีกัน เวลาเราทำงานอะไรก็ให้มีความสุขอยู่ในนั้น เพราะความสุขของเราก็มีความสุขในปัจจุบัน เราทำงานเพื่อพระนิพพาน เพื่อความดับไม่เหลือแห่งตัว แห่งตน เราจะไปเอาอะไร เรามีความรู้ระดับหนึ่งแล้ว บางทีมันทำงานก็อยากจะมีเงินมีทอง มีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้ เพื่อเอาไว้ให้ลูกให้หลาน ความคิดแบบนี้ เป็นแค่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นสวรรค์ เพราะมันมีโทษอยู่ เพราะคนไม่มีปัญญาคิด แสดงว่าไม่รู้อริยสัจ ๔ จริงๆ คนเราน่ะ มันเห็นแก่ตัวมาก จนคิดไม่ออก นึกว่าไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ดื่มของมึนเมานี้ มันจะไปรอดได้อย่างไร ขนาดนี้ก็ยังเอาตัวไม่รอด เรียกว่าคนไม่รู้จักทุกข์ เพราะว่ายังโง่อยู่ ไปแก้ที่ภายนอก ไม่แก้ที่ตัวเอง ต้องเป็นคนมีความสุขในการขยัน ในการเสียสละ อดทน รับผิดชอบ เพราะมันมีความสุขอยู่แล้ว คนเราถ้ามีความสุขในการทำงาน ขยัน รับผิดชอบ ประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญู มันจะไปจนได้อย่างไร เครดิตก็ดีด้วย เหมาะที่จะเป็นผู้ที่ทรงเกียรติด้วย เหมาะที่จะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผู้นำด้วย เหมาะที่จะเป็นพระที่สมบูรณ์ด้วย ที่ทำมาหากิน ประเทศไทยเรานี้ มีไร่ มีนา มีสวน ทำเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องเข้าสู่ระบบความขยัน ความรับผิดชอบ คนเราขยันยังไม่พอ ต้องประหยัด ถ้าเราไม่ประหยัด มันก็ทำลายทรัพยากรของดินฟ้าอากาศ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่มีความสุขในปัจจุบันอย่างนี้ เราก็จะยังฟุ้งซ่านอยู่อย่างนี้ มันไม่มีความสุขหรอก มันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมหาเศรษฐีก็ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย ยังพลัดพราก เพราะจุดหมายของเราคือไม่ใช่มหาเศรษฐี ไม่ใช่ความเป็นใหญ่อะไรๆ เราดูสิ มหาเศรษฐีอะไรต่างๆ เห็นไหม ประธานาธิบดีอเมริกา แก่งแย่งกันน่าเกลียด หรือว่าประเทศไหนๆ นี้ ถ้าได้มาจากการแก่งแย่งกัน ได้มาแล้วก็กลัวจะหายไป ส่วนใหญ่นอนไม่ค่อยหลับหรอก เพราะกลัว เราอย่าไปหลง มันไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติอะไร ผู้ทรงเกียรติหมายถึงผู้ที่เสียสละ ผู้ที่เอาพระนิพพานเป็นที่ตั้ง เช่นครั้งพุทธกาล ประชาชนที่ทรงเกียรติอย่างเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา วิสาขอุบาสกเหล่านี้ เพราะว่า ท่านเป็นพระอนาคามี สกทาคามี พระโสดาบันอย่างนี้นะ ไม่ใช่ผู้ที่ไปโกงกินคอรัปชั่น เป็นผู้ทรงเกียรติ ไปยืมคำเขามาใช้ว่าท่านนั้น ท่านนี้ เกร่อไปหมด มันเป็นตำแหน่งสมมุติเป็นหัวโขน มันเป็นตำแหน่งแต่งตั้ง ไม่ใช่ตำแหน่งที่เสียสละที่ออกมาจากใจ ออกมาจากพระนิพพาน จึงต้องมีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่น คนเราจะใจอ่อนไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเสียสละซึ่งตัว ซึ่งตน เราต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง ในความเป็นธรรม ความยุติธรรม เพราะว่า ความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่เป็นน้องกับใคร เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม ประกอบด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เข้าสู่ความเป็นธรรม ยุติธรรม ไม่ถือพรรค ถือพวก ใจเราต้องไปตามหลักเหตุ หลักผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ แล้วก็ต้องเหนือวิทยาศาสตร์ คือจิตใจของเราเป็นธรรม จิตใจของเราต้องรู้จักว่า ความปรุงแต่งมันเป็นความทุกข์ มันจะไปอย่างนี้ พัฒนาไปอย่างนี้ เราต้องไม่ติดในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือแม้กระทั่งพรหมสมบัติ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ปฐพฺยา เอกรชฺเชน สคฺคสฺส คมเนน วา สพฺพโลกาธิปจฺเจน โสตาปตฺติผลํ วรงฺ” โสดาปัตติผล คือความเป็นพระโสดาบันนี้ ยังประเสริฐกว่าความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าความไปสู่สวรรค์ คือประเสริฐกว่าสวรรค์สมบัติ และประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง ความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง ท่านหมายถึงความเป็นท้าวมหาพรหม เพราะคนในโลกส่วนใหญ่ว่า ท้าวมหาพรหมนี้ใหญ่สุดแล้ว เพราะเป็นพระเจ้าผู้สร้าง แต่ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นพระโสดาบันประเสริฐกว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าสวรรค์สมบัติ และประเสริฐกว่าพรหมสมบัติ ถ้าเราไปคบพระอรหันต์ คบพระอริยเจ้า ไปปฏิบัติตามท่าน เราก็จะได้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้าตามท่าน การประพฤติ การปฏิบัติธรรมของเรา ต้องเริ่มพัฒนาที่ใจให้น้อมไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้ อริยมรรคที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ เป็นทางอันประเสริฐ สามารถให้บุคคลผู้เดินไปตามทางเส้นนี้ถึงซึ่งความสุขสงบเย็นเต็มที่ เป็นทางเดินไปสู่อมตะ ถ้าภิกษุหรือว่าใครๆ ก็ตาม พึงอยู่โดยชอบ ปฏิบัติดำเนินตามมรรคาอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้อยู่ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ เมื่อใด บุคคลเห็นสักแต่ว่าเห็น ฟังสักแต่ว่าฟัง รู้สักแต่ว่ารู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงแต่สักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้น จิตก็จะว่างจากความยึดถือ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่ จงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องตัวเรื่องตนเสียได้ ด้วยประการฉะนี้ เราจะเบา สบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกข์ท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกข์ท่านจงเป็นสุขทุกข์สถาน อันตรายใดๆไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service