แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๑ การกำหนดรู้ทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างละเอียด
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พอแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในช่วงนี้เป็นการบรรยาย ในภาคของการประพฤติการปฏิบัติทางสายเอกถึงความดับทุกข์ ในหมวดของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วันนี้จะขึ้นหมวดสุดท้ายก็คือ หมวดสัจจะ นั่นก็คือ การกำหนดรู้อริยสัจทั้ง ๔
เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดมุ่งหมายปลายทางคือพระนิพพาน พระนิพพานอยู่ที่ไหน พระนิพพานอยู่ที่ใจของเรา ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลักดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ถ้าเราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เรียกว่าเป็นการสร้างวงจรแห่งวัฏสงสาร พระพุทธเจ้านี่ เพียงแต่เราได้ยินชื่อก็ได้บุญได้กุศลอย่างหาที่สุดหาประมาณไม่ได้ ได้ทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีหลายล้านชาติ เพื่ออบรมฝึกฝนประพฤติปฏิบัติตัวเอง เมื่อประสบความสำเร็จ จึงมาบอกมาสอน เราไม่ต้องไปค้นคว้าอะไร เพียงแต่เราถือนิสัยพระพุทธเจ้า เอาพระธรรมเป็นหลัก เอาพระวินัยเป็นใหญ่ ใจของเราจะได้เป็นพระ พระพุทธเจ้าจึงให้เรารู้จักความจริงของชีวิตที่เป็นสัจจะ ความจริงอันประเสริฐ อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจจะ แปลว่า ความจริง อริยสัจ จึงแปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่งก็คือ ภิกษุตามรู้ในสภาวะธรรมคืออริยสัจ ๔ ว่าเป็นสภาวะธรรมอยู่ ภิกษุตามรู้ในสภาวะธรรมคืออริยสัจ ๔ ว่าเป็นสภาวะธรรมอยู่อย่างไรเล่า คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ตามเป็นจริงว่า นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุให้เกิดทุกข์ นี้คือความดับทุกข์ นี้คือทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์”
ในโลกนี้มีพระศาสนา แล้วก็คำสอนหลากหลายตามความเชื่อ ตามความยึดถือ ตามความนับถือในแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นศาสนาเทวนิยม เทวนิยมก็คือว่า นิยมเทพเจ้า เน้นการบูชาอ้อนวอนพระเจ้า ศาสดาในหลายศาสนานั้นจะกล่าวอ้างถึงการได้ติดต่อ หรือว่าได้พบกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องยากเกินจะพิสูจน์ได้ นอกจากนี้ การได้พบแล้วก็การอยู่ร่วมกับพระเจ้าตามคำสอนจะมีได้ก็เมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ที่เหมือนกับว่า ไปอยู่กับพระเจ้าหลังความตายเป็นนิรันดร์ เปรียบเสมือนกับยาที่รักษาโรคได้เมื่อคนไข้เสียชีวิตแล้ว ข้อนี้ต่างจากคำสอนในศาสนาพุทธที่มุ่งให้ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ รู้แจ้งเห็นประจักษ์อริยสัจ ๔ คือความจริงอันประเสริฐในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ต้องรอให้ตาย โดยอาศัยศักยภาพของมนุษย์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเพียร ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนขอ แต่เป็นการลงมือทำ อริยสัจ ๔ คือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ มีลักษณะไม่แปรปรวน โดยสภาวะเฉพาะของตน กล่าวคือ ทุกขสัจ ก็คือความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์นี้ เป็นสภาพไร้แก่นสาร สมุทัยเป็นมูลเหตุของทุกข์ ส่วนนิโรธเป็นความดับของทุกข์ แล้วก็มรรค เป็นเส้นทางที่จะบรรลุความดับทุกข์อันนั้น ว่าโดยโลกุปมา คือการเปรียบเทียบในทางโลกแล้ว ทุกขสัจหรือว่าความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์นี้ เหมือนกับโรค อุปมาง่ายๆ เหมือนกับเราป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง ทุกคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้วทุกคน ถึงแม้จะไม่มีอาการปวดหัวเลย ก็ต้องมีโรคสังขาร โรคแก่ โรคเจ็บ โรคตาย โดยเฉพาะโรคเจ็บนี้ เป็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ต้องฉีดวัคซีน ต้องกินยา ต้องไปหาหมอ ความทุกข์เปรียบเหมือนกับโรค สมุทัยที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ เหมือนกับเชื้อโรค เมื่อตัวเรามีเชื้อโรค โรคมันก็ต้องเกิดขึ้นมา เวลาที่เจ็บไข้ไม่สบาย แสดงว่าร่างกายมันรับเชื้อเข้าไป อาจจะเป็นเชื้อหวัด เชื้อโน่นเชื้อนี่ หรือแม้กระทั่งเชื้อโควิด นิโรธสัจ ความดับทุกข์เปรียบเสมือนกับความมีสุขภาพดี คือหายจากโรคนั้นๆ แล้วมรรคสัจ ก็เหมือนกับว่าการรักษาโรค ต้องรักษาอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะหายจากโรคนี้ ความเข้าใจในเรื่องอริยสัจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจอริยสัจแล้วจะสามารถหลีกเลี่ยงจากทุกข์ ด้วยการกำหนดรู้ และหลีกเลี่ยงให้พ้นจากเหตุให้เกิดทุกข์ ด้วยการละ อีกทั้งยังสามารถรู้แจ้งความดับทุกข์ โดยอาศัยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางอันประเสริฐ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องกำหนดรู้ขันธ์ ๕ พยายามละอวิชชาตัณหา คือความหลง ความไม่รู้ พร้อมทั้งเจริญสมาธิ และปัญญาให้รู้แจ้ง สู่ความเป็นอิสระจากกิเลส
ธรรมเทศนาครั้งแรก คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พุทธเจ้าทรงแสดงมาจบลงที่อริยสัจ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ดังนั้น หมวดสุดท้ายแห่งการเจริญสติปัฏฐานจึงจบลงที่อริยสัจ ๔ อริยสัจนี้มีเพียงแค่ ๔ ประการ เพราะไม่มีสภาพอื่นที่บุคคลพึงหยั่งเห็นซึ่งพ้นไปจากความเป็นจริงเช่นนี้ เหตุเกิด ความดับ แล้วก็เหตุแห่งความดับ ของรูปธรรม นามธรรมนี้ ธรรมทุกประเภทสามารถรวมเข้าในอริยสัจ ๔ ช่วง ๔๕ พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้ล้วนแล้วแต่รวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น เหมือนกับรอยเท้าสัตว์ทุกชนิดที่สามารถเอามาวางรวมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด เพราะไม่มีรอยเท้าสัตว์ตัวไหนใหญ่ไปกว่าเท้าช้าง ดังข้อความในมหาหัตถิปโทปมสูตร ความว่า “ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ของสัตว์เหล่าผู้ท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกย่อมกล่าวว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะอะไร? เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าใหญ่ฉันใด ท่านผู้มีอายุทั้งหลายกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหมดย่อมถึงการนับเข้าในอริยสัจ ๔ ฉันนั้น ในอริยสัจ ๔ เหล่าไหน ก็คือ ความจริงอันประเสริฐที่เป็นทุกข์ ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ ความจริงอันประเสริฐที่เป็นความดับทุกข์ และทางดำเนินเพื่อให้ถึงความดับทุกข์นี่เอง” การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าตลอด ๔๕ พรรษา เน้นที่การประกาศอริยสัจทั้ง ๔ แต่เป็นการแสดงโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจ ก็คืออุปนิสัยของผู้ฟังในแต่ละโอกาส ในพระสูตรแรกของพระพุทธศาสนาเรา ก็คือธรรมจักรฯ ก็ได้แสดงอริยสัจ ๔ ไว้เป็นหลัก ดังนั้น อริยสัจ ๔ จึงเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมด ซึ่งในสามัญญผลสูตร เป็นต้น ท่านเรียกว่า สามุกกังสิกเทสนา คือการเทศน์ที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงด้วยพระองค์เอง แล้วไม่มีสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ที่จะแสดงอริยสัจได้ก่อน เพราะอริยสัจเป็นผลแห่งการค้นคว้า เป็นผลแห่งการวิจัย เป็นผลแห่งการทดลองของพระพุทธเจ้าทีทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ จึงมาค้นพบอันนี้
อริยสัจ ๔ เหล่านี้เป็นความจริงของชีวิต เริ่มตั้งแต่สิ่งที่ควรกำหนดรู้ ก็คือทุกข์ ถ้าพระพุทธองค์มิได้ตรัสความจริงนี้ ก็ไม่มีใครสามารถบรรลุความหลุดพ้นได้ เพราะส่วนใหญ่สอนกันในเรื่องให้รู้จักความสุข หาแต่ความสุข ทำอย่างไรจึงจะมีสุข ทำอย่างไรถึงจะมีมาก เมื่อชาวโลกไม่ได้กำหนดรู้สภาวะธรรมของขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือกายกับใจ จึงมีความหลงติดอยู่ในสมมุติบัญญัติ สิ่งที่โลกสมมุติกันเอาไว้ ตั้งแต่เกิดมา เราก็ติดอยู่ในสมมุติ สมมุติเรียกว่าอันนี้มือ อันนี้พ่อ อันนี้แม่ อันนี้เรียกว่าตา หู จมูก ปาก อันนี้เรียกว่านั้น เรียกอันนี้ โตขึ้นมา ก็ติดสมมุติของคนอื่นอีก สามีเรา ภรรยาเรา แฟนเรา ลูกของเรา เพื่อนของเรา ติดบัญญัติเหล่านี้เหมือนถูกอวิชชาห่อหุ้มเอาไว้ ทำให้ไม่อาจที่จะค้นพบความจริงของชีวิต ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ แล้วก็มีใจครองอันนี้ นอกจากนั้น ชาวโลกก็ยังไม่เข้าใจเหตุเกิดของทุกข์ ความดับทุกข์ แล้วก็ทางแห่งความดับทุกข์อีกด้วย ตราบใดที่ยังไม่อาจจะเห็นอริยสัจ ตราบนั้น ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ภพแล้วภพเล่า
การเห็นในที่นี้เห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เห็นจากการอ่าน ถ้าจะว่าเห็นจากการอ่านนี้ ในหนังสือเรียนแล้วก็มี ตั้งแต่ชั้นประถมแล้วที่สอนเรื่องพุทธศาสนา สอนบอกว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ เราก็อ่านนะ ทุกข์เป็นอย่างไร สมุทัย นิโรธเป็นอย่างไร มรรคเป็นอย่างไร แต่มันก็ยังเฉยอยู่นะ กิเลสแต่ก็ยังเท่าเดิม ทุกข์ก็ยังเท่าเดิม แถมยังเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุขัย เพราะอะไร? เพราะไม่ได้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยตาใน คือตาปัญญา เราเห็นแต่ด้วยตาภายนอก คืออ่านหนังสือเอา แล้วก็คิด การอ่าน การฟัง การคิดอย่างเดียวมันไม่ช่วยอะไรได้ ไม่อย่างนั้นคงบรรลุกันทั้งโลก คงไม่มีใครมาทำผิดอะไรนะ แต่เพราะเนื่องจากว่าปัญญาเหล่านี้ มันต้องเกิดจากการภาวนา ที่เห็นรู้ตามลำดับขั้นมานี้ ตั้งแต่เทศน์มาตั้งแต่ ๑๐ วันที่แล้ว เรื่องของทางสายเอกนี้ จะพัฒนามาตามลำดับ ตามความสุขุมลุ่มลึกของจิต ให้เห็นของหยาบๆ คือกาย จนกระทั่งมาเห็นเวทนา เห็นจิต จนกระทั่งมาเห็นถึงสภาวธรรมทั้งหลาย ถ้าไม่เห็น ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดภพแล้วภพเล่า ดังที่พุทธเจ้าตรัสว่า " จตุนฺนํ ภิกฺขเว อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สํสริตํ มมญฺเจว ตุมฺหากญฺจ" เราและท่านทั้งหลาย คือตอนนั้นพระพุทธเจ้าตรัสตอนการเดินทางสุดท้าย ที่เสด็จออกจากกรุงไวสาลี แล้วก็หันไปมองไวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย นาคาวโลก แล้วก็หันมาตรัสกับกลุ่มภิกษุ เหตุการณ์นี้เกิดอยู่ในช่วงเดียวกัน หันมาตรัสกับภิกษุทั้งหลายที่ตามเสด็จด้วยถ้อยคำนี่แหละ ที่ว่า “จตุนฺนํ ภิกฺขเว อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา” เราและเธอทั้งหลายนี้ ต้องท่องเที่ยวเร่ร่อน “สนฺธาวิตํ สํสริตํ” “สํสริตํ” ก็คือคำว่า สาระ หรือคำว่าสงสาร เราและเธอ ต้องท่องเที่ยวเร่ร่อนไปสิ้นทางอันยาวไกล ยาวนาน หาเบื้องต้น หาที่สุดไม่ได้ เพราะ“อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา” เพราะมิได้รู้แจ้ง แทงตลอด ก็คือเห็นตลอดอริยสัจ ๔ นี่เอง สาเหตุ ตัวอย่าง คำสอนบางอย่างที่กล่าวถึงอริยสัจ ๔ ชัดเจน เช่นตอนที่อุปปติสมานพหรือว่าพระสารีบุตร ได้ฟังเทศน์ครั้งแรกจากอาจารย์คนแรกของท่าน คือพระอัสสชิ แล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ทำไมฟังข้อความแค่นี้ถึงได้เห็น "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านั้น และตรัสถึงความดับไปของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ทรงมีการตรัสเช่นนี้” ท่านฟัง เกิด-ดับ แค่นี้เอง ฟังว่า เหตุเกิด กับเหตุดับ แล้วท่านพิจารณาตาม ข้อความสั้นๆ ซึ่งเราฟังแล้วบางทีก็งงๆ ทำไมท่านถึงได้บรรลุธรรม ท่านอุปติสสะมีปัญญามากเป็นแต่ทุนเดิม ท่านฟังข้อความสั้นๆ ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด หรือว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ นั่นก็หมายถึงขันธ์ ๕ คือกายกับใจเรานี้ ซึ่งเกิดมาจากตัณหา แม้ว่าพระอัสสชิมิได้ระบุว่า ธรรมดังกล่าวคืออะไร เหตุเกิดคืออะไร แต่อุปติสสมาณพก็เข้าใจว่า ธรรมดังกล่าวนั้นก็คือขันธ์ ๕ คือกายกับใจนี่เอง แล้วก็เหตุเกิดก็คือตัณหา เพราะสมมุติบัญญัติตามหลักภาษาสันสกฤตถือว่า เป็นสิ่งไม่มีเบื้องต้น เนื่องจากเป็นบัญญัติของคนสมัยก่อนสืบทอดกันมา จึงถือว่าไม่มีเหตุเกิดแต่อย่างใด ดังนั้น สิ่งที่มีเหตุเกิดก็คือ สภาวะธรรม หรือว่าปรมัตถธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ นั่นเอง อันนี้เหตุเกิดมาจากตัณหา เป็นความทะยานอยาก ที่ชอบติดใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือเหตุเกิดของขันธ์ ๕ แล้วก็ข้อความว่า ความดับไปของธรรมเหล่านั้น นั่นก็คือความดับของขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์ แล้วก็เหตุให้เกิดทุกข์ คือทุกข์สมุทัย ขันธ์ ๕ นี้ เป็นทุกขสัจ คือความจริงอันประเสริฐ ก็คือทุกข์ที่ควรกำหนดรู้
ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกลียดที่กลัว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องไปละมัน ต้องรู้ทุกข์ก่อน เหมือนกับเราจะจะจับโจรนี้ ต้องรู้หน้ารู้ตามันก่อน ตำรวจจะจับผู้ร้ายก็ต้องมีภาพสเก็ต ต้องมีข้อมูลของคนร้าย ว่าเป็นอย่างไร ถึงจะจับโจรได้ เราก็เช่นเดียวกัน หมอจะรักษาโรคก็ต้องรู้ก่อนว่าโรคคืออะไร สมุฏฐานมาจากไหนจึงจะรักษาโรคนั้นได้ มนุษย์เราก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้จักหน้าตาของทุกข์จึงจะไปละทุกข์ได้ ต้องรู้จักปัญหา แล้วก็รู้จักเหตุเกิดของปัญหา คือสมุทัย แล้วจึงจะไปละของมันได้ แต่เราหนีมัน หนีอย่างไร? หนีด้วยการไปติดสุขสบาย แสวงหาความสุขทุกสิ่งทุกอย่างมาเพื่อบำรุงบำเรอกาม ก็เพื่อที่จะปิดบังทุกข์ ไม่อยากเจอ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากปวด ไม่อยากเป็นนั่น ไม่อยากเป็นนี่ ไม่อยากแก่ ก็ต้องหาทางหนีความแก่ มีศัลยกรรมมากมาย ไปดึง ไปร้อยไหม ก็เพื่ออะไร? หนีความแก่ หนีความเจ็บ ก็ไปทำโรงพยาบาลมากมาย หนีความแก่ ความเจ็บ สุดท้าย ความตายมันหนีไม่พ้นทุกคน ดังนั้น ทุกข์ เราไม่ต้องหนี ต้องรู้จักหน้า รู้จักตามัน แล้วก็เหตุเกิดของมัน ก็คือสมุทัยนี้ ตรงข้อความว่าความดับของธรรมเหล่านั้น คือท่านอุปติสสะรู้โดยความนัยเลยว่า ขันธ์ ๕ นี้ เป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะมันเป็นทุกข์ ตัณหามันเป็นเหตุเกิด เป็นสิ่งที่ต้องละ ความดับ คือนิโรธ ต้องทำให้แจ้ง อุปติสสมานพเข้าใจข้อความเหล่านี้ด้วยปัญญาของตนที่สั่งสมอบรมบารมีมาถึง ๑ อสงไขยแสนกัป ผู้ที่จะเป็นปัญญา เป็นบุคคลระดับอัครสาวกนี้ ต้อง ๑ ใน ๔ ของพระพุทธเจ้า หลังจากได้รับพุทธพยากรณ์ในการสร้างบารมี ๑ อสงไขย ๑ แสนกัป ตั้งแต่พระอโนมทัสสีพระพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนามา ท่านจึงเข้าใจแนวทางอันนี้ เมื่อท่านเข้าใจครบว่าเหตุเกิดคืออะไร สาเหตุคืออะไร และก็ความดับคือนิโรธ แล้วจิตของท่านก็พิจารณาตาม โดยการเจริญมรรคอยู่ในใจ ฟังข้อความนี้จบลงนะ ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน นี่คือความจริงอันประเสริฐ
ทีนี้อธิบายขยายความของคำว่าทุกขสัจ ทุกข์เป็นอย่างไร อริยสัจคือทุกข์เป็นไฉน เราสวดกันเป็นประจำอยู่แล้วในบทธรรมจักรฯ มีคำแปลด้วย ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย การประสบพบกับอารมณ์อันไม่ชอบก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ไม่ได้อารมณ์ที่ปรารถนา ปรารถนาอะไรไม่ได้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยตรงแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ นี่เองเป็นตัวทุกข์ อันนี้คือทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แล้วก็ตรัสอธิบาย ทุกขสัจที่มันเป็นความทุกข์ทางกาย เริ่มต้นมาจากต้นตอเลยคือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พร้อมด้วยความทุกข์ใจที่ประสบกับสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ การแสดงทุกข์ในเรื่องนี้มิใช่มุ่งแสดงชีวิตในเชิงลบ แต่ให้เข้าใจอุบัติ เหตุการของทุกข์ แล้วจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมนี้พากเพียรปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่ให้มองโลกในแง่ร้าย แต่ในที่นี้ หมายถึงให้เห็นความเป็นจริง ดังนั้น การแสดงทุกข์นี้ จึงเป็นไปในทางเชิงบวก คือให้ได้ปัญญา พระพุทธองค์จึงทรงเปรียบเสมือนกับนายแพทย์ผู้รู้สาเหตุของโรค บอกถูกโรค เหตุเกิดของโรค รักษาโรค มียารักษาคืออย่างนี้ แล้วก็จะทำอย่างไรจึงจะรักษาหาย ทรงบอกอย่างนี้แก่คนไข้ทุกคน เราคือคนไข้ พระองค์มิใช่แพทย์ผู้บอกเฉพาะโรคแก่ผู้ป่วย แล้วมิได้รักษาให้หายจากโรคนั้น การลงมือทำกินยา การเยียวยารักษาคนไข้ต้องทำเองนะ เพราะว่าหมอเป็นแต่เพียงผู้บอก จะกินยาแทนไม่ได้ จะไปบำบัดแทนไม่ได้ พอแม่ครูบาอาจารย์ ไล่ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามา พระอรหันต์ จนมาถึงพอแม่ครูบาอาจารย์นี้ เป็นแต่เพียงผู้บอก บอกโรคแล้ว การลงมือกินยา กับการเยียวยารักษาเป็นหน้าที่ของพวกเรา ทุกข์ในอริยสัจนี้ เป็นสภาวะที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง คือมีไว้ให้รู้ ไม่ให้ยึดติด พอใจด้วยตัณหา และก็เห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตนด้วยความเห็นผิด ซึ่งโดยเฉพาะอุปทานขันธ์ ๕ ที่เป็นตัวยึดว่า กายใจนี้เป็นเรา เป็นของของเรานี้ ผู้ปฏิบัติธรรมมีหน้าที่กำหนดทุกข์ เพื่อให้เข้าใจลักษณะอย่างชัดเจนว่า รูปมันมีสภาวะที่แปรปรวน รูปกายนี้ คือร่างกายนี้ มันมีสภาพที่แปรปรวนตลอดเวลา เวทนามีความรู้สึก สัญญามีสภาพที่จำได้หมายรู้ สังขารมีสภาพปรุงแต่ง แล้วก็วิญญาณมีสภาพรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ และเพื่อให้ยังเห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของอุปาทานขันธ์ ๕ ในลำดับต่อมา
คำว่าทุกข์น่ะ เราจะเห็นอยู่ในหมวดธรรมหลายประการ ใช้ในความหมายโดยสรุปได้ ๓ ประการ ทุกขเวทนาเป็นอย่างหนึ่ง ทุกข์ในไตรลักษณ์เป็นอย่างหนึ่ง ทุกข์ในอริยสัจเป็นอย่างหนึ่ง คำว่าทุกข์ในความหมายแรก ในทุกขเวทนาแปลว่า สภาพที่ทนได้ยาก อย่างตอนนี้ พอเรานั่งนานขึ้นๆ ชักจะปวดขา บางทีก็เป็นเหน็บชา บางทีก็ง่วง บางทีก็ตัวโยก ตัวโยกในที่นี้ไม่ใช่จากปีตินะ จากความหลับ จากถีนมิทธะนะ มันก็เป็นทุกข์ ที่เจ็บโน่น เจ็บนี่ เป็นไข้ไม่สบาย หรือนั่งนานๆ มันก็เป็นทุกข์นี้ เดี๋ยวก็ตึง เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เกร็งนี้ อาการเหล่านี้ มันคือสภาพที่ทนได้ยาก เป็นทุกขเวทนา ทุกข์เวทนาทางกายมันเกิดขึ้นแล้ว มีทุกขเวทนาทางใจตามมาคือ รู้สึกไม่สบอารมณ์ ไม่พอใจกับความเจ็บ ความปวดอันนั้น มันตีคู่กันมา นี่คือทุกขเวทนา แล้วก็ทุกข์ในไตรลักษณ์ คือสังขารรูปนามทั้งหมด หมายถึงกายใจทั้งหมดนี้ มันมีสภาพน่ากลัว ถูกบีบคั้น ด้วยความเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ผู้ปฏิบัติธรรมที่หยั่งเห็นทุกข์ในไตรลักษณ์ ย่อมรู้สึกว่า กายใจมันเป็นของน่ากลัวไม่น่ายินดี หรือรู้สึกถึงสภาพบีบคั้นของรูปนาม ก็คือกายกับใจ ตามนัยนี้ ความหมายของทุกข์ในไตรลักษณ์ก็คือ สภาพน่ากลัว สภาพที่ถูกบีบคั้น ต่อไปคำว่าทุกข์ในอริยสัจนั้น แปลว่า สภาพว่างเปล่าอันน่ารังเกียจ คืออุปาทานขันธ์นี้ จิตที่เรายึดมั่นว่ามันเป็นกายของเรา เรารู้สึก เราเจ็บ เราปวด เราเห็น เราได้ยิน เราจำได้ ที่มันเป็นเรา เป็นเรา ที่อธิบายไว้ชัดเจนในหมวดของขันธ์ ๕ เมื่อ ๓-๔ วันก่อนนี้ มันเป็นสิ่งไม่มีแก่นสาร แล้วก็น่ารังเกียจ ในวิสุทธิมรรคท่านก็วิเคราะห์ให้ดูว่า กุจฉิตัง ขัง สำเร็จรูปเป็นทุกขัง ทุกข์คือสภาพว่างเปล่าอันน่ารังเกียจ เพราะฉะนั้นแล้ว ความหมายของคำว่าทุกข์ในหมวด ๓ ทุกขเวทนา ก็คือ สภาพที่มันทนได้ยาก มันมองเห็นง่าย ละเอียดขึ้นมาอีก ทุกข์ในไตรลักษณ์ สภาพที่บีบคั้นนี้ ต้องเห็นด้วยจิตที่มันละเอียดขึ้นมา แล้วยิ่งทุกข์ที่เป็นอริยสัจนี้ แทบจะมองไม่เห็น ต้องเห็นด้วยวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาปัญญาจริงๆ
ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ท่านก็แบ่งจำแนก ๑๑ ประเภท ที่เราสวดมนต์กันทุกวันนั่นแหละ ความเกิด ความแก่ ความตาย เศร้าโศก คร่ำครวญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ พบกับสิ่งที่ไม่ชอบ พลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ไม่ได้รับสิ่งที่ปรารถนา นี่คือความทุกข์ แล้วพระพุทธเจ้าก็อธิบายทีละอันๆ ว่า ชาติ คือความเกิดนี้ เป็นอย่างไร ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่ง ลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ๕ การได้อายตนะ ๑๒ ครบ อายตนะครบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคน หรือมนุษย์หรือสัตว์ ของสัตว์เหล่านั้น อันนี้เรียกว่าชาติ เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ แล้วชราเป็นอย่างไร? คือภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ คือร่างกาย ในหมู่คน และสัตว์เหล่านั้น อันนี้เรียกว่าชรา มรณะ ความตายเป็นอย่างไร? ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ตรงภาษาบาลีจะใช้คำว่าจุติ จุติแปลว่าตาย จุติแปลว่าเคลื่อน มิใช่แปลว่าเกิด อุบัติแปลว่าเกิด เคลื่อนแปลว่าตาย ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ กาละคือถึงแก่เวลา ความทำลายแห่งขันธ์ ๕ การทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดไปแห่งอินทรีย์คือชีวิต จากหมู่สัตว์ คนเหล่านั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ โสกะคือความโศกเป็นไฉน? ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผากใจภายใน ความแห้งผากภายในของผู้ประกอบด้วยความพิบัติ คือความวิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกสภาพทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าโสกะ คือความเศร้าโศก ปริเทวะเป็นอย่างไร? ความคร่ำครวญ ร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของผู้ร่ำไรรำพัน ของผู้ที่ประกอบด้วยภัยพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกสภาพทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ คือความคร่ำครวญ ทุกข์เป็นไฉน? ความลำบากทางกาย ไม่สำราญทางกาย การเสวยอารมณ์มันไม่ดี ที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส สัมผัสทางกายที่ไม่ดี อันนี้เรียกว่าทุกข์ คือทุกข์กาย โทมนัส ทุกข์ใจเป็นไฉน? ความทุกข์ทางจิต ไม่สำราญทางจิต เสวยอารมณ์ที่ไม่ดี ที่เป็นทุกข์ ซึ่งเกิดมาแต่ใจที่มันคิดไม่ดี สัมผัสในเรื่องไม่ดี อันนี้เรียกว่าโทมนัส คือความเสียใจ อุปายาสะเป็นไฉน? ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของผู้คับแค้น ของผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว เรียกว่า อุปายาส การประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์เป็นไฉน? คือการประสบความพรั่งพร้อมร่วมระคนด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือว่าด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากกิเลส ซึ่งมีแก่ผู้นั้น นี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์เป็นไฉน? ความไม่ประสบ ไม่พรั่งพร้อม ไม่ร่วม ไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือว่ากับบุคลคนผู้ที่ดีกับเรา ผู้ปรารถนาสิ่งเกื้อกูล ปรารถนาความสุข คือมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตรสหาย สามีภรรยา สายโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น พลัดพรากจากบุคคลเหล่านี้ นี่คือพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์เป็นอย่างไร? คือ ปรารถนา ความปรารถนานี้ ย่อมบังเกิดแก่ผู้ที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา ก็คิดว่า โอ อย่างไรหนอ เราถึงจะไม่แก่ เราถึงจะไม่เจ็บ เราถึงจะไม่ตาย ปรารถนาอย่างนี้แล้วมันก็ไม่ได้ดั่งใจหรอก มันก็เป็นทุกข์ หรือปรารถนาว่า อย่าเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้นนี้ มันก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อๆ แล้ว การยึดติด ยึดมั่น ถือมั่นว่า กายใจนี้ เป็นเรา เป็นตัวกู ของกูนี้ มันเป็นทุกข์ทั้งหมดเลย ทุกข์มีเพราะยึด เพราะเรายึดกาย ยึดใจเราเอาไว้ ว่าเป็นตัวเรา ของเรา เป็นตัวกู ของกู ทุกข์มันเลยมี ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ด้วยตัณหา ทุกข์มากเพราะพลอย ใส่ใจยินดี ทำตามอารมณ์ของตัณหา ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ดังนั้น อาการของทุกข์ที่ว่ามาทั้งหมด จึงเป็นอย่างนี้
ต่อไป อริยสัจข้อที่ ๒ คือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร? คือความผูกพันที่ก่อให้เกิดภพใหม่ ตัณหา “โปโนพฺภวิกา” ก่อให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดีพอใจ “นนฺทิราคสหคตา” คือนันทิ แล้วก็ความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ “ตตฺรตตฺราภินนฺทินี” ความพอใจในกามคุณ คือกามตัณหา ความพอใจโดยเห็นผิดว่า ภพชาติมันเที่ยง เป็นภวตัณหา ความพอใจโดยเห็นผิดว่า คนเรานี้ตายแล้วสูญ คือวิภวตัณหา สมุทัยนี้ เป็นเหตุเกิดของทุกข์ที่ก่อให้เกิดขันธ์ ๕ ก่อให้เกิดร่างกาย เป็นการสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างโรงงาน สร้างภพ สร้างชาติ สร้างโครงเรือนนี้ ที่พระพุทธเจ้าเคยเย้ยกามคุณว่า “นายช่างผู้กระทำเรือน คือตัณหานี้ เราเห็นหน้าเห็นตาของเจ้าแล้ว เจ้าจะทำความระยำให้เราไม่ได้อีกต่อไป” ก็คือเห็นตัวตัณหานี่แหละ มันสร้างบ้านให้เรา สร้างภพชาติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สิ้นสุด ความเข้าใจในสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เหมือนกับการค้นหาสมมติฐานของโรค แล้วจึงดำเนินการรักษาด้วยอุบายอันชาญฉลาด เหตุเกิดของทุกข์ดังกล่าวก็คือ ตัวตัณหาที่มีสภาพอยากได้สิ่งต่างๆ เพื่อสนองความต้องการ เหมือนกับความหิว ความกระหายนี้ ตัณหาจึงมีลักษณะ ๓ ประการ ที่ปรากฏในธรรมจักรฯ ที่บอกว่า “โปโนพฺภวิกา” ก่อให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดีพอใจ คือนันทิราคะ แล้วก็เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ “ตตฺรตตฺราภินนฺทินี” ลักษณะของข้อแรก ที่บอกว่าก่อให้เกิดภพใหม่ หมายถึงว่า การก่อให้เกิดภพใหม่ คือตัณหา เป็นความพอใจในภพชาติ ย่อมก่อให้เกิดภพใหม่ด้วยแรงกรรม เหมือนรากไม้ที่มันเป็นมูลเหตุให้เกิดต้นไม้ แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว จะถูกล้มโค่นลงไปแล้ว มันก็ยังต้องงอกเกิดขึ้นมาใหม่ได้ เพราะว่ารากมันยังอยู่ เพราะมันยังไม่ได้ถอนรากถอนโคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ยถาปิ มูเล อนุปทฺทเว ทฬฺเห ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปูนเรว รูหติ เอวมฺปิ ตณฺหานุสเย อนูหเต นิพฺพตฺตตี ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ” หมายความว่า เมื่อรากปราศจากอันตรายยังมั่นคงอยู่ หมายความว่ารากมันยังแข็งแรงอยู่ ต้นไม้ที่ถูกตัดแล้ว ก็ย่อมกลับมางอกขึ้นได้อีกฉันใด เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อของตัณหาไม่ได้ ทุกข์ก็ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ ในเวลาใกล้เสียชีวิตนั้น ทวาร หรือว่าประตูใจ ประตูใจคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันจะดับไปก่อน เราจะเห็นง่ายนี้ ชัดเลย ตาไม่ทำงาน หูจะดับ จมูกไม่รู้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส กายจับต้องไม่ได้ เหมือนกับเจ้าชายนิทรา ใจมันจะดับไปทีหลัง มันจะออกไปทีหลัง สมองจะหยุดทำงานทีหลัง เมื่อจิตไม่อาจรับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านบานประตูทั้ง ๕ คือ ประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะรับทางประตูใจ หรือว่ามโนทวารอย่างเดียว เหมือนเงาภูเขาที่มันปกคลุมแผ่นดินในเวลาเย็น
สิ่งที่จิตรับรู้ซึ่งปรากฏในขณะใกล้เสียชีวิตนี้ มีลักษณะ ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งตามกรรมที่ทำไว้เสมอมา ทำมาตลอดเลย ทำจนเป็นอุปนิสัย เป็นสันดาน หรือว่าทำในเวลาใกล้เสียชีวิต อย่างแรกกรรม กรรมเป็นคำกลางๆ แปลว่า เจตนาที่จะทำกรรมดี หรือกรรมชั่ว เช่น เจตนาในการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม หรือเจตนาในการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ในการปากไม่ดี เป็นต้นนี้ อย่างที่ ๒ กรรมนิมิต คือ บุคคล หรือว่าสิ่งของที่มันเนื่องด้วยการกระทำกรรมของเรา เช่น อาหารใส่บาตร ดอกไม้ที่บูชาพระ หรือว่าการได้จับไม้กวาด กวาดถนน การได้ทำความสะอาดวัด กุฏิ วิหาร หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ในการฆ่าสัตว์ เช่น เห็นปืน เห็นหน้าไม้ เห็นของไม่ดีที่เราทำเอาไว้ เป็นต้น อย่างที่ ๓ คตินิมิต คือ ลักษณะของภพที่จะไปเกิด เช่น ทิพยวิมานบ้าง ไฟนรกบ้าง ภูเขาป่าไม้บ้าง ครรภ์ของมารดาบ้าง การเห็นทิพยวิมาน เห็นของสวยๆ งามๆ นี้ ท่านบอกว่าเป็นคตินิมิตของผู้ที่จะไปสวรรค์ การเห็นไฟนรก เป็นคตินิมิตของผู้ที่จะไปเกิดในนรก การเห็นภูเขาป่าไม้เป็นคตินิมิตของผู้ที่จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย การเห็นครรภ์มารดาเป็นคตินิมิตของผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ แบบนี้เรียกว่าคตินิมิต พระพุทธองค์ทรงแสดงกลไกของการปฏิสนธิในภพใหม่ว่า “อิติ โข อานนฺท กมฺมํ เขตฺตํ ดูก่อนอานนท์ด้วยเหตุนี้นี่แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นนาเป็นไร่” เขตตัง เขตตะ เป็นภาษาบาลีแปลว่าเขต เป็นภาษาสันสกฤต ก็คือเกษตร เขตกับเกษตร ความหมายเดียวกันก็คือพื้นที่ “กมฺมํ เขตฺตํ” กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่เป็นนา “วิญฺญาณํ พีชํ” วิญญาณชื่อว่าเป็นเมล็ดพืช “ตณฺหา สิเนโห” ตัณหาชื่อว่าเป็นความชุ่มชื้น เวลาจะปลูกหรือว่าเวลาสิ่งอะไรที่มันจะงอกขึ้นไป โยนเมล็ดพันธุ์สักอย่างลงในแผ่นดิน ได้รับความชุ่มชื้นจากดินฟ้าอากาศ จากน้ำฝน มันก็งอกขึ้นมา ตัณหาเหมือนกับความชุ่มชื้นของดินฟ้าอากาศ กรรมเหมือนกับพื้นที่ เหมือนกับดิน แล้วก็วิญญาณนี้คือเมล็ดพืช กรรมดี หรือกรรมชั่วเหมือนกับไร่กับนา ถ้าบุคคลยังมีกรรมเหล่านั้น ยังสร้างกรรมดีกรรมชั่วอยู่นี้ ปฏิสนธิก็ย่อมเกิดไปได้เรื่อยไป เหมือนไร่นาอันเป็นที่เพาะปลูก ถ้ากรรมดังกล่าวไม่มี การปฏิสนธิก็ไม่เกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่า พระอรหันต์ ยังมีกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ในภพก่อนๆ จึงได้รับผลในภพสุดท้าย เช่นว่า พระสีวลีมีลาภมาก พระพากุละเถระที่อายุ ๑๖๐ ปีนี้ มีสุขภาพดี ไม่เคยแม้กระทั่งปวดหัวเลย พระโลสกติสสเถระไม่อาจจะฉันอาหารอิ่มท้องสักมื้อหนึ่ง ที่เคยเล่าไว้ในวันก่อนๆ พระโมคคัลลานะถูกโจรทุบจนเสียชีวิต หรือแม้กระทั่งพระพุทธองค์นี้ ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ต้องถ่ายเป็นโลหิต ต้องเวียนพระเศียร ต้องปวดหลัง เพราะว่ากรรมเก่าไม่อาจส่งผลในภพต่อไป เนื่องจากไม่มีวิญญาณ แล้วก็ตัณหาเป็นเครื่องอุปถัมภ์ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์บางท่าน ในชาติสุดท้ายท่านจึงได้รับกรรมแรงๆ เพราะมันจะเอาคืนไม่ได้แล้ว เป็นชาติสุดท้ายแล้ว บางองค์ก็ต้องเป็นโน่น เป็นนี่ สารพัดที่จะเป็น แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าของเราเอง แสดงธรรมเทศน์ไปนานๆ ปวดหลัง ต้องให้พระอานนท์ปูลาดผ้าสังฆาฏิ ให้พระอานนท์ถวายการนวด แล้วพระสารีบุตรแสดงธรรมต่อในบางคราว เพราะอะไร? ในอดีตครั้งหนึ่ง เคยทำคู่ต่อสู้หลังหัก เป็นนักมวยปล้ำ เศษกรรมมันติดมา พระองค์ต้องเวียนพระเศียรบ่อยๆ เพราะครั้งหนึ่ง เกิดเป็นลูกชาวประมง เห็นคนทุบหัวปลาแล้วยินดี ไม่ได้ทุบเองนะ เห็นคนทุบแล้วรู้สึกชอบใจ สนุกเหลือเกิน เลยทำให้เศษกรรมนี้มันติดมา ทำไมพระองค์ต้องถ่ายเป็นเลือด ตอนที่วันสุดท้าย ที่เสด็จจากบ้านนายจุนทะไปจนถึงสาลวโนทยาน เพราะครั้งหนึ่งเป็นหมอ หมอเบี้ยวค่ารักษา แล้วก็ประกอบยาพิษให้เขา ด้วยเศษกรรมนี้ จึงทำให้พระองค์ต้องปักขันทิกาพาธ ถ่ายเป็นเลือด เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ก็ต้องมีกรรมเป็นของของตัว กรรมมันตัดไม่ได้ เลยอุปมาเหมือนกับถ้ากรรมที่เราทำนี้ เหมือนกับเกลือ เกลือช้อนหนึ่งถ้าใส่น้ำแก้วหนึ่งนี้มันเค็ม ถ้าเกลือช้อนหนึ่งถ้าใส่น้ำในโอ่งนี้ ความเค็มหายไป แต่เกลือก็ยังอยู่ไหม? อยู่ แต่มันถูกเจือจาง ท่านเลยเปรียบเสมือนกับกรรมชั่วที่ทำเอาไว้ ถ้าไม่มีกุศลมาหนุนนี้ มันก็จะให้ผลเหมือนกับความเค็มที่อยู่ในน้ำแก้วหนึ่ง แต่ถ้าหากมีกุศลกรรมมาช่วย มาเกื้อมาหนุน กรรมมันก็จะอ่อนกำลังลง แต่มันยังมีอยู่ มันยังคอยให้ผลอยู่แล้ว ตัณหามีสหายคือกรรม กรรมกับตัณหาประกอบร่วมกันแล้ว ก่อให้เกิดภพใหม่ได้ แต่ตัณหาเป็นเหตุหลัก เพราะเป็นมูลเหตุที่แท้จริงในการก่อกรรม ดังนั้น พระพุทธองค์จึงไม่ตรัสว่า เหตุแห่งทุกข์คือกรรม แต่ตรัสว่าเหตุแห่งทุกข์คือตัณหา เพื่อแสดงถึงมูลเหตุของการเกิดทุกข์ แล้วทีนี้พระพุทธองค์ตรัสถึงว่า “โปโนพฺภวิกา” ระบุถึงการเวียนว่ายตายเกิดไว้โดยตรง ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แม้ในคำลงท้ายของพระสูตรนั้น พระพุทธองค์ตรัสถึงการไม่เกิดภพใหม่ว่า
“ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ นัตถิทานิปุ นัพภะโวติ” นี่คือเป็นการรับรองเลยว่า ไม่มีเชื้อ ไม่มีภพใหม่ที่จะไปเกิดอีก เพราะต่อไปไม่มีเหมือนกับไม่มีเมล็ดพืช เหมือนกับไม่มีความชุ่มชื้นคือตัณหา ปัญญารู้เห็นได้แก่ตถาคตว่า ความหลุดพ้นของเราไม่พินาศแล้ว ไม่กำเริบแล้ว “อะกุปปา เม วิมุตติ อะยะมันติมา ชาติ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” “นัตถิทานิปุ นัพภะโว ภพใหม่ชาติใหม่ไม่มีอีกต่อไป” ลักษณะของตัณหาที่ประกอบด้วยความยินดีพอใจนี้ หมายถึงว่า ตัณหามีธรรมชาติติดใจในสิ่งที่ตนเองต้องการ เหมือนน้ำย้อม หรือว่าน้ำมันที่มันสัมผัสกับผ้า แล้วมันก็ซึมซับอยู่อย่างนั้น ยากที่จะเอาออก มันจึงเป็นยางเหนียว คนที่เกิดความโลภจึงไม่เคยอิ่มเต็มด้วยตัณหา เพราะมันชุ่มอยู่ในจิต มันติดหนึบอยู่ในจิตแล้ว ยิ่งกว่ากาวใดๆ แล้วก็ลักษณะประการสุดท้ายของตัณหาก็คือ “ตัตราภินันทินี ความเพลิดเพลินในภพ ในอารมณ์นั้นๆ” หมายถึง ตัณหาทำให้หลงผิด เข้าใจผิดว่า ภพภูมิ หรือว่าความมีความเป็น หรือว่าอารมณ์นั้นๆ มันเป็นของดี น่าเพลิดเพลิน เหมือนกับโซ่ตรวนที่มันผูกไว้มั่นนี้ เหล่าสัตว์จึงเพลิดเพลินไปด้วยอำนาจของตัณหา เช่น คนที่มีฐานะร่ำรวยก็ย่อมพอใจสถานภาพของตนว่า มีความสุขสมบูรณ์กว่าคนอื่น แม้คนยากจนก็พอใจในสถานภาพของตนเช่นเดียวกัน จึงทำงานเลี้ยงชีพตามสมควร ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นนะ จะเกิดในภพภูมิใดๆ ก็จะยินดีพอใจในภพภูมิของตนนั้นๆ เพราะสิ่งที่นำมาเกิดนี้ ในปฏิสนธิแรกที่อยู่ในครรภ์มารดาที่เหมือนกับหยาดน้ำมันใสๆ เหมือนน้ำมันงาที่สะบัด ๗ ครั้ง เอาขนวัวจุ่มในน้ำมันสะบัด ๗ ครั้ง จุดใสๆ เล็กๆ ที่แทบมองไม่เห็นนี้ จุดกำเนิดแรกของคน แล้วมันไม่ได้มีแค่นั้นนะ มันมีปฏิสนธิจิต มีภวนิกันตโลภชวนะโลภะจิต คือความยินดีพอใจในภพชาติของตนมาตั้งแต่วินาทีแรกที่มาปฏิสนธิในครรภ์ของแม่แล้ว หยาดน้ำใสๆ มันเป็นแค่ละอองปรมาณูแค่นั้นเอง จุดแรกของคนนี้ ผ่านมา ๗ วัน ใสๆ เหมือนน้ำล้างเนื้อ อีก ๗ วันต่อไป กลายเป็นลิ่มเลือด อีก ๗ วันต่อไปเป็นปุ่มแข็งๆ อีก ๗ วันต่อไปเป็น ๕ ปุ่ม ๕ ปุ่มก็คือ หัว แขน ๒ ข้าง ขา ๒ ข้าง ผ่านไปก็จะมีอวัยวะเพศ มีตา หู จมูก ปรากฏขึ้นมา นี่คือกำเนิดแรกของคนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจน ซูมให้เราเห็นยิ่งกว่ากล้องจุลทรรศน์เสียอีก กล้องจุลทรรศน์ปัจจุบัน หรือว่าเครื่องเอกซเรย์ หรือเครื่องฉายรังสีนี้ กว่าจะรู้ว่าท้องได้นี้ ต้องผ่านไปแล้ว ๒ เดือน ๓ เดือน คนที่ท้องน่าจะรู้ ต้องผ่านไป ๒-๓ เดือน ถึงจะรู้ว่าตัวเองท้อง แต่พระพุทธเจ้ารู้ตั้งแต่จุดกำเนิดแรกของคน ว่าเป็นอย่างนี้ แล้วมีจิตที่นำมาเกิด มีปฏิสนธิจิต แล้วก็มีความยินดีพอใจในภพชาตินี้ มันติดอยู่ เพราะฉะนั้น เกิดเป็นใครก็เลยยินดีพอใจในอย่างนั้น เกิดเป็นคน ก็พอใจในความเป็นคน เกิดเป็นสัตว์ก็ยินดีพอใจในความเป็นสัตว์ ในสมัยหนึ่งนะ พระโพธิสัตว์เรานี้ คือพระพุทธเจ้า อดีตชาติท่านก็เล่าให้ฟังว่า เป็นคนเข็ญใจอยู่ใกล้แม่น้ำจำปา ท่านได้เห็นสมบัติของพญานาคจัมเปยยะ แล้วเกิดความพอใจ จึงให้ทาน รักษาศีล และปรารถนาอยากเกิดเป็นพญานาค ต่อมาเมื่อเสียชีวิตแล้ว ความปรารถนาท่านก็สำเร็จเกิดเป็นนาคราชจริงๆ อยู่บนบัลลังก์นาค ท่านก็พบว่า ตนนี้มีรูปร่างเป็นงูใหญ่ขดอยู่ เกิดความสังเวชใจว่า ไม่น่าปรารถนาความเป็นพญานาคเลย น่าจะปรารถนาสวรรค์สมบัติที่มันสูงกว่านี้ ที่มันดีเยี่ยม ต่อมาท่านได้พบกับนางนาค คือนาคตัวเมียที่แปลงร่างงดงามเหมือนนางอัปสร มาฟ้อนรำปรนเปรอ เกิดความพอใจแล้วก็แปลงร่างเป็นเทพบุตรอภิรมย์กับนางนาคเหล่านั้น จะเห็นว่า แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็เพลิดเพลินอยู่ในภพภูมิของตน มันลืมไปหมดแล้วล่ะ หนอนก็ยินดีในความเป็นหนอน จะเป็นใครก็ยินดีในภพภูมิของตน เพราะว่าตัณหานี่แหละมันเป็นยางเหนียว มันให้ “ตัตราภินันทินี” เพลิดเพลินอยู่ในภพ อยู่ในอารมณ์นั้นๆ
พระพุทธเจ้าแบ่งตัณหาเป็น ๓ กามตัณหา คือความพอใจในกาม พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส รูปก็ ต้องสวย ต้องดี เสียงก็ต้องไพเราะ กลิ่นก็ต้องหอม อาหารต้องอร่อย ถูกต้องสัมผัสต้องดีไปหมดนี้ นี่เรารู้อยู่แล้ว เพราะเทศน์บ่อยเรื่องนี้ แล้วภวตัณหา ความพอใจ โดยความเห็นผิดว่า ภพชาติมันเที่ยง เป็นความเข้าใจผิด เป็น สัสสตทิฏฐินะ เห็นว่ามันเที่ยง เห็นว่ามันเที่ยงแล้วอย่างไร? ก็คือว่า ยึดมั่นถือมั่นว่า วิญญาณนี้มันอยู่ตลอดไป เพียงแค่หลังความตายได้ไปอยู่กับพระเจ้า เป็นความเห็นผิด เป็นความอยากแบบนี้ คิดว่า วิญญาณของตนจะดีเสมอไป ไม่ต้องไปทุกข์ทรมานอะไร จัดเป็นภวตัณหา อยากมี อยากเป็น คืออยากเป็นในภพภูมิที่สูงๆ เห็นภพภูมิว่าเที่ยง แล้ววิภวตัณหา คือความพอใจเห็นว่า มันขาดสูญ พอคิดว่าตัวเองเกิดมาชาติเดียวแล้วนี้ ก็ทำเต็มที่เลย อยากกินก็กิน อยากเสพก็เสพ อยากชั่วก็ชั่ว สุดหัวใจนะ อยากฆ่าก็ฆ่า อยากจะโกงกินคอรัปชั่นก็ทำเต็มที่ อยากผิดลูกผิดเมียใครก็ทำ พูดตามใจ ตามอารมณ์นี้ ศีลข้อ ๔ ไม่เหลือเลย อยากเสพยาเสพติด สุรา เต็มที่ พวกนี้มีเยอะ พวกที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนา ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แล้วก็เชื่อว่าตัวเองได้เกิดมาชาติเดียว ตายชาติเดียว จะทำอะไรก็ทำไป ไม่มีชาติใหม่อีกแล้วนี้ แบบนี้มีอยู่เยอะมาก นี่คือวิภวตัณหา มีอยู่ในใจของทุกคน เพราะฉะนั้นแล้ว เหล่านี้แหละคือเหตุให้เกิดทุกข์ สรุปความว่า กามตัณหาเป็นความพอใจในกามคุณ ๕ แม้กระทั่งว่า อยากเป็นคนรวย อยากเป็นโน่น เป็นนี่ อยากมีตำแหน่งยศใหญ่โตนี้ ก็อยู่ในกามตัณหา ภวตัณหา คือความพอใจที่ประกอบด้วยความเห็นว่าเที่ยง แล้วก็วิภวตัณหา ความพอใจที่ประกอบว่า ตัวเองนี้ตายแล้วสูญ อยากทำอะไรก็ทำไป บาปไม่มี บุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี อย่างนี้ ตัณหาทั้ง ๓ ประเภทดังกล่าวนี้ เป็นเหตุ เป็นต้นตอให้คนเราทุกคนต้องเกิดทุกข์ มันเกิดขึ้นในใจ แล้วมันก็ตั้งอยู่ในกาย อยู่ในใจที่มันน่ายินดีน่าพอใจ จำแนกออกเป็น ๑๐ กลุ่มด้วยกัน คือทวาร ๖ มันซ่านไปในทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนเราเปิดประตูบ้านรับแขกเต็มที่ อยากเห็นอะไร อยากดูอะไรก็ดู อยากฟังอะไรก็ฟัง อยากดมอะไรก็ดม อยากกินอะไรก็กิน หลวงพอเลยบอกว่า คนเรานี้ ปัจจุบันนี้แหละ อะไรไม่บาปไม่ดู ดูของบาปๆ ดูอะไรเราก็รู้อยู่แล้ว ดูของบาปๆ ฟังแต่ของบาปๆ อะไรไม่บาปไม่อยากฟัง กินแต่ของบาปๆ อะไรไม่บาปไม่อยากกิน กินสัตว์ใหญ่ กินสารพัดสัตว์ ร่างกายคนจึงเป็นเหมือนกับป่าช้า สารพัดซากสัตว์มันรวมอยู่ในนี้ อะไรไม่บาปไม่กิน อะไรไม่บาปไม่อยากทำ เพราะตัณหามันดึงไปทำ มันอยาก ส่วนใหญ่จะเป็นวิภวตัณหานี้ เห็นว่าตัวเองนี้ ไม่ต้องมีกรรมอะไร ไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องมีสวรรค์ เพราะไม่เชื่อไง พอไม่เชื่อ ทำก็ทำเต็มที่ ทวาร ๖ อารมณ์ ๖ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดต่างๆ เข้ามาในใจ มันก็ประกอบด้วยเหตุเหล่านี้ คือตัณหา วิญญาณ ๖ การรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ ๖ ได้แก่ สัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวทนา ๖ คือ ความรู้สึกที่มันเกิดจากสัมผัสทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัญญา ๖ความหมายรู้ พอมันรู้สึก มันสัมผัส จับต้องแล้วมันก็จำได้ว่า อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบ อันนี้ของคนนั้น ของคนนี้ เราเห็นคนนั้น เห็นคนนี้ กลิ่นของคนนั้น ของคนนี้ อันนี้หอม อันนี้เหม็น ใจมันจำเอาไว้ สัญญา ๖ ที่มันเข้ามาทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดในใจ สัญเจตนา ๖ ได้แก่ ความจำนงหมายมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในความคิดต่างๆ ตัณหา ๖ คือความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ คือความคิดต่างๆ วิตก ๖ อันได้แก่ ความตรึกตรอง ถึงแต่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดต่างๆ วิจารณ์ แปลว่า ความตรอง ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ความคิดต่างๆ ๑๐ กลุ่มเหล่านี้ มันคือการแยกย่อย ที่ท่านซอยมาให้ดู ให้ละเอียดให้ดูว่า การที่ตัณหาของคนนี้ มันเกิดมาอย่างนี้ๆๆ ตัณหาที่เกิดขึ้น แล้วมันก็ตั้งอยู่ในกองรูป กองงาน ก็คือกองกาย กับใจ ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ โดยสำคัญว่า ตาของเรางาม รูปที่เราเห็นมันก็สวยงาม การรู้อารมณ์ทางตามันก็กระจ่างชัดเจน แล้วสำคัญว่า หูของเรางาม เสียงที่เราได้ฟังก็มันไพเราะเสนาะโสต การรู้อารมณ์ทางหูมันก็ไม่กระจ่างชัดเจน แล้วก็สำคัญถึงจมูกว่า จมูกเรางาม ถ้าไม่งามก็ต้องไปเสริมดั้ง หรือว่ากลิ่นที่เราดมนี่มันหอม เลยมีการผลิตน้ำหอมขึ้นมามากมาย ขายเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน น้ำหอมก็เพื่อมาบำรุงบำเรอกามทางจมูก การรู้อารมณ์ทางจมูกเรามันชัดเจน มันดีเหลือเกิน ลิ้นของเรางาม อาหารที่เรากินเข้าไปก็อร่อยเหลือเกิน อันนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกคนส่วนใหญ่ติดอยู่แล้วในรสชาติของอาหาร ไกลแค่ไหนก็ต้องไป อยากกินอาหารจังหวัดนี้ ก็ต้องนั่งเครื่องบินไปกินก็มี อยากกินโจ๊กฮ่องกง ก็ต้องบินไปกินที่ฮ่องกงก็มี แบบนี้เป็นต้น เพราะว่า ความติดใจในรสอาหาร กายของเรางามเหลือเกิน การถูกต้องสัมผัส ผู้ชายผู้หญิงที่ผ่านเข้ามานี้ มาติดเนื้อหนังมังสาแนบแน่นนี้ มันรู้สึกดีเหลือเกินที่มันติด มันเป็นตัณหาทั้งนั้น ที่มันเอิบ มันอาบ มันซึมซาบเอาไว้ มันเหมือนกับเป็นยางเหนียวติดหนึบเราเอาไว้นี้ นอกจากนี้ การกระทบต่างๆ ที่มันเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจนี้ มันทำให้เกิดตัณหา มันทำให้ตัณหามันเกิดขึ้น แล้วตัณหามันก็ตั้งอยู่ตลอดเวลา แล้วก็การสัมผัสทางอายตนะทั้ง ๖ นี้ มันทำให้เกิดเวทนา ในวงจรของปฏิจจสมุปบาท ท่านก็ได้แจงละเอียดยิบย่อยถึงวงจรของการเกิดอารมณ์ต่างๆ เป็นอย่างไรขึ้นนี้ ตั้งแต่มันปรุงแต่งมาเป็นลำดับ อายตนะ ๖ ทำงาน สฬายตนะ พอมันมีอายตนะ ๖ เหล่านี้ มันก็ต้องมากระทบอายตนะข้างนอก เป็นผัสสะ แล้วมันก็อีกอยาก ชอบ ติดใจ เป็นอารมณ์ เป็นความรู้สึกดี ไม่ดี ผัสสะ เวทนา แล้วมันก็ยึด มันอยาก ด้วยอารมณ์ของตัณหา จากนั้นก็ยึดว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ว่าเราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น หรือว่าคนนั้นงาม คนนี้เสียงไพเราะ คนนี้หอมเหลือเกิน คนนี้อร่อย หรือว่ากายถูกต้องสัมผัสน่าจะดี อย่างนี้ มันปรุงแต่งไปสารพัดด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา ของเรา เป็นของคนนั้น เป็นของคนนี้ พอมันยึดแล้ว มันก่อภพ ก่อชาติ ก่อวัฏสงสาร เมื่อมันมีภพชาติ มันก็ต้องมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีเศร้าโศก มันก็เป็นวงจรกลับมาที่เดิม คือ อวิชชา ความไม่รู้เหมือนเดิม มันจึงเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ ด้วยความไม่รู้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตัณหานั้น เกิดขึ้นในที่ใด ตั้งอยู่ในที่ใด สภาพใดน่ายินดีพอใจในโลก คำว่าในโลกก็คือ ในกาย ในใจ สภาพนั้น คือที่ซึ่งตัณหาเกิดขึ้นแล้วก็ตั้งอยู่ พระพุทธเจ้าจึงมาให้เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ ให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์
ทุกๆ คน ต้องรู้จักว่าอันนี้เป็นสภาวะธรรม ทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ไม่ไปตาม เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นเรา มันเป็นแต่สภาวะธรรม เป็นแค่กระบวนการที่ติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเรามีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ มันก็จะตัดกระแสในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นการตัด ตัดอย่างไรล่ะ? เมื่อเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง จะตัดด้วยอนิจจัง เพราะมันไม่แน่ ไม่เที่ยง ตัดด้วยทุกขัง มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันต้องทุกข์แน่ๆ อันนี้มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ต้องดับไป เราจะไปตามมันไม่ได้ เราต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญามาใช้ในปัจจุบัน
วันนี้จะอธิบายเฉพาะอริยสัจ ๒ ข้อ เพราะว่าเนื้อหายาวมาก ข้อทุกข์กับเหตุให้เกิดทุกข์ก่อน จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานี้ ท่านให้เรามุ่งไปพระนิพพานสิ่ งที่เราดีใจ เราเพลิดเพลิน เราต้องการทุกวันนี้ มันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ เป็นอารมณ์ของสวรรค์ อันนี้ยังไม่ใช่ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธต้องมาต่อยอด ต่อยอดจากศาสนาอื่นๆ เพราะว่าอย่างพระพุทธเจ้านี้ แต่ก่อนก็ถือศาสนาพราหมณ์ และพ่อแม่บรรพบุรุษก็เป็นศาสนาพราหมณ์ รุ่นต่อรุ่น พราหมณ์ก็ไปได้แค่ความสงบ ฌานสมาบัติ ๘ ไปได้แค่พรหมโลก แต่มันไปต่อไม่ได้ ดับทุกข์ในใจไม่ได้ เราต้องมาตัดกรรม ตัดเวร ตัดภัย มันอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องตัดอก ตัดใจ ตัดกรรม ตัดเวร ตัดความอาลัยอาวรณ์ในโลกนี้ออกเสียให้ได้ ถ้าเราไม่ตัด มันก็ไปไม่ได้ สติสัมปชัญญะ เราต้องเอามาใช้งาน มาทำงาน เราต้องไปอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นมันไม่มีภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติอะไรเลย อย่างคนเรานี้ พระพุทธเจ้าบอกสอนให้ถูกแล้ว การพิจารณากายอย่างนี้ คนเราถ้าใจมันมีนิมิตในใจนี้ ส่วนนี้มันไม่สะอาดอย่างนี้นะ เขาเรียกว่าจับนิมิตได้ แต่เราพยายามที่จะให้มันเป็นตัวเป็นตน ให้มันเป็นของสวยของงาม ความเป็นจริงมันไม่มีตัว ไม่มีตน แต่เราก็ยังดื้อด้าน จะให้มันมีตัวมีตนให้ได้ เพราะอวิชชาความหลง เพราะนิมิตทางธรรมมันไม่เกิด เพราะเราปล่อยวางธรรมะ เราไม่ได้เอาธรรมะ เหมือนกับเราอยู่บ้านนี้ แขกมา เราก็ตามแขกไปเสียหมดเลย ทิ้งบ้านทิ้งเรือน ให้มันร้างไปอย่างนี้ เราจึงต้องกลับมาอยู่กับกาย อยู่กับใจ อยู่กับสติ อยู่กับสมาธิ อยู่กับปัญญา นี่แหละคือตัวทำงานของเรา จึงไม่เสียโอกาส เราต้องพิจารณาความจริงอันประเสริฐเหล่านี้ให้เห็นจริงๆ เห็นแจ่มแจ้งด้วยตาปัญญา จึงจะรู้ถึงทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็จะได้ประพฤติปฏิบัติตามวิธีให้ถึงความดับทุกข์ คือ พระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พอแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ