แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๑๐ การกำหนดรู้โพชฌงค์ องค์แห่งการบรรลุธรรม ๗ ประการ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายในเรื่องของทางสายเอกถึงความดับทุกข์ วันนี้ก็เป็นหมวดของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในเรื่องของโพชฌงค์ องค์ประกอบแห่งการบรรลุธรรม
มนุษย์เราทุกๆ คนนี้ คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดมุ่งหมายปลายทางคือพระนิพพาน พระนิพพานอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้องและต้องเพียรประพฤติเพียรปฏิบัติ ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่จะเป็นเส้นทางสู่ความหลุดพ้น สู่ความดับทุกข์ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงเป็นเอกายนมรรค คือทางสายเอก ทางสายตรง ทางสายสั้น ไม่ต้องอ้อมไปอ้อมมา โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตรของพระพุทธเจ้าที่ได้บรรยายตั้งแต่ ๘ - ๙ วันที่ผ่านมานั้น เหมือนกับเป็นการลุ่มลึกไปตามลำดับ เหมือนมหาสมุทรที่จะมีความลุ่มลึกไปตามลำดับ จนตรงกลางที่สุดจะเป็นจุดที่ดิ่งที่ลึกที่สุด ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีการประพฤติมีการปฏิบัติเป็นลำดับขั้นไป ลาดลุ่มลึกไปตามลำดับ ดังนั้นแล้ว ทางสายนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ต้องการความหลุดพ้น ผู้ต้องการมรรคผลพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดนั้นต้องเพียรปฏิบัติเพื่อให้ถึงให้ได้ จิตของทุกคนนี้ มีสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ด้วยการเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส แล้วก็นึกคิด จึงเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ตามปกติ แต่เมื่อนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต แล้วก็สัญญาความจำที่เป็นสัญญาขันธ์ ทำหน้าที่หมายรู้ แล้วก็สังขารทำหน้าที่ปรุงแต่งให้ตอบสนองในทางลบ หรือว่าทางบวก ก็คืออารมณ์ชอบ ไม่ชอบ จึงทำให้จิตนั้นเศร้าหมอง จิตไม่บริสุทธิ์ มีแต่ความทุกข์กระวนกระวายใจ
สืบเนื่องจากที่ได้บรรยายเมื่อวานในเรื่องของการดู การกำหนดรู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ที่มันมาปรากฏทางประตูต่างๆ แล้วมันก็จะเข้าสู่หน้าต่าง คือหัวใจ ปรุงแต่งไปสารพัด แต่การเจริญโพชฌงค์จะช่วยให้สภาพจิตใจนั้น กลับคืนสู่สภาพบริสุทธิ์ ด้วยกระบวนการเจริญสติ ที่รับรู้สภาวธรรมปัจจุบันเป็นหลัก คำว่าโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งการตรัสรู้ มาจากคำว่าพุทธะ กับคำว่าอังคะ มาสนธิกัน พุทธะ แปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานก็ได้ การบรรลุธรรมก็ได้ มาจากธาตุตัวเดียวกัน พุธฺ ธาตุ อยู่ที่การแปลงตัว การทำตัว เอาสละอุ เป็นสระโอ แปลงธ เป็น ชฺฌ เป็นโพชฌะ บวกกับคำว่า อังคะ เป็นโพชฌังคะ องค์แห่งการตรัสรู้ หรือว่าโพชฌงค์ เป็นองค์ประกอบที่ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเกิดปัญญาหยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ก่อให้เกิดวิชชา คือความรู้ยิ่ง คือความรู้พร้อม แล้วก็วิมุติหลุดพ้นในที่สุด พระพุทธองค์ตรัสว่า โพชฌงค์เป็นธรรมที่น้อมไปสู่พระนิพพาน เหมือนแม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรตามปกติ การกำหนดรู้โพชฌงค์นั้นคล้ายกับการกำหนดรู้นิวรณ์ โดยการกำหนดรู้นิวรณ์ เป็นการระลึกรู้นิวรณ์ที่มีอยู่หรือว่าไม่มีอยู่ พร้อมทั้งเหตุเกิดแล้วก็เหตุดับ พร้อมทั้งเหตุไม่เกิดขึ้นของนิวรณ์เป็นลำดับสุดท้าย การกำหนดรู้โพชฌงค์เป็นการระลึกรู้โพชฌงค์ที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ เหตุเกิด แล้วก็เหตุที่ทำให้เพิ่มพูนองค์ประกอบอันนี้ให้มากขึ้น
องค์แห่งการตรัสรู้อย่างแรก “สติ” เราจะจำได้ว่ามีบทสวดหนึ่ง คือโพชฌังคปริตร “โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา วิริยัมปีติปัสสัทธิ สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต” ตรงนี้หมายถึง โพชฌงค์ ๗ ประการ สวดอย่างเดียวไม่ได้ผล ที่สำคัญ ต้องน้อมมาประพฤติ น้อมมาปฏิบัติ เพราะว่าเป็นธรรมะชั้นสูง องค์แห่งการตรัสรู้อย่างแรกก็คือโพชฌงค์ อย่างที่หนึ่งก็คือตัวสติ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด ตรงกับสัมมาสติในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นมหาสติในสติปัฏฐาน ถ้าปราศจากสติเสียแล้วนี้ผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่อาจก้าวหน้า บนหนทางแห่งการปฏิบัติได้ ถ้าเจริญสติระลึกรู้สภาวะธรรมปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อสติปรากฏอยู่ นิวรณ์มันก็จะเข้ามาแทรกจิตไม่ได้ เพราะจิตมันเกิดดับ มันไม่ได้เกิดร่วมกัน มันแค่อารมณ์เดียวกับ เอกจิตตัง-จิตหนึ่งเดียวเท่านั้นน่ะที่มันเกิดดับ เกิดดับ อยู่ที่ว่ากุศลหรืออกุศล ถ้าสิ่งที่เป็นกุศลเกิดขณะนั้น อกุศลคือพวกนิวรณ์ ๕ พวกเรื่องของกาม พยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัยจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าอกุศลคือ กิเลสเกิด สติมันก็แทรกไม่ได้ เพราะฉะนั้น กุศลมันเลยไม่เกิด ถ้าสติปรากฏอยู่ นิวรณ์มันจึงเกิดไม่ได้ แม้โพชฌงค์อื่นก็ปรากฏโดยความเป็นผลของสติ สติจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งองค์ประกอบอันนี้ สติเป็นพื้นฐานของโพชฌงค์อื่นๆ แล้วจะเห็นได้ว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่เป็นเส้นทางแห่งการบรรลุธรรมนี้ ที่อุปมาเหมือนกับการย่างพระบาทเดิน ๗ ก้าวในคราวครั้งแรกประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ประสูติจากพระครรภ์ของพระพุทธมารดา แล้วเสด็จพระดำเนินได้ ๗ ก้าวแล้วก็กลับเป็นเด็กเหมือนเดิม ถอดความเป็นธรรมมาธิษฐาน บางคนก็บอกว่า จะเผยแผ่ธรรมไปได้ ๗ แว่นแคว้น แต่ถ้ามองลึกเข้ามานี้ คือธรรมะ ๗หมวดที่ไปสู่ความหลุดพ้น นั่นก็คือ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดทั้งมวลรวมอยู่ในมหาสติปัฏฐาน โพชฌงค์ก็อยู่ในนี้ อริยสัจ ๔ ที่เป็นอริยมรรคก็อยู่ในนี้ อินทรีย์พละก็อยู่ในนี้ เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานนี้จึงครอบคลุมไว้ทั้งหมด เริ่มต้นมาตั้งแต่อานาปานสติแล้ว สติเป็นพื้นฐานของโพชฌงค์อื่น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทุกเวลา ทุกโอกาส ไม่มีความยิ่งหย่อนเหมือนกับวิริยะและสมาธิ ที่อาจจะยิ่งหย่อนกว่ากันได้ ที่ความเพียรกับสมาธินะ ที่มันต้องปรับให้เสมอกันในเรื่องของอินทรีย์ ปัญญากับศรัทธาต้องปรับให้เสมอกัน แต่สติตรงกลางนี้นี้เหมือนนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้วกลางคือสตินี้ สูงเท่าไหร่ยิ่งดีที่สุด มากเท่าไหร่ยิ่งดีที่สุด ไม่มีขาดไม่มีเกิน โพชฌงค์อีก ๖ ประการนั้น แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม โดยการหยั่งเห็นธรรม คือธรรมวิจยะ หรือธรรมวิจัย วิริยะ-ความเพียร ปีติ-ความอิ่มอกอิ่มใจ ปัสสัทธิพวกนี้ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ เป็นกลุ่มองค์ธรรมที่ควรเจริญเมื่อวิริยะน้อยกว่าสมาธิ ส่วนความสงบ-ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขาเป็นกลุ่มองค์ธรรมที่ควรเจริญให้มากเมื่อวิริยะมากกว่าสมาธิ ที่บอกว่าเมื่อวิริยะน้อยกว่าสมาธิก็เท่ากับว่า ติดในความสงบ มีความสงบมาก ความใส่ใจในความเพียรน้อย เมื่อจิตสงบมาก ควรดึงกลับเข้ามาพิจารณาธรรม เพื่อให้เกิดปัญญา เพิ่มวิริยะเข้าไป เพิ่มปีติเข้าไป ไม่เช่นนั้นก็จะติดสุข แช่อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ เป็นการติดอารมณ์สมาธิ ติดอยู่ในพรหมโลก ที่โยคีทั้งหลาย อาจารย์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๒ อาฬารดาบส อุทกดาบส ท่านก็ติดอยู่ตรงนี้ ไปต่อไม่ได้เพราะถือว่าเป็นทางสุดแล้ว แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า มันเป็นทางตัน คือมันไปต่อไม่ได้ มันสุดแค่พรหมโลก มันไปต่อไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็เลยมาต่อยอด ต่อยอดด้วยการเจริญตามโพชฌงค์นี่แหละ ก็อยู่องค์ประกอบนี้ ถ้าวิริยะมากกว่าสมาธิ แบบนี้จะเกิดความฟุ้งซ่าน จะเกิดอารมณ์อะไรต่างๆ นี้ ดังนั้น จึงต้องประคองใจให้กลับเข้าสู่ความสงบเป็นปัสสัทธิ เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา เพราะฉะนั้น โพชฌงค์ ๗ นี้ สติเป็นประธาน ส่วนที่เหลืออีก ๖ ปรับตามอินทรีย์ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ๓ อันแรกนี้ ถ้าหากความเพียรน้อย สมาธิมาก เจริญอันนี้ อีก ๓ ข้อสุดท้ายปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา มุ่งไปทางความสงบ ถ้าหากวิริยะมาก สมาธิน้อย เจริญอันนี้
ในจักรพรรติสูตรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่ในโลก เมื่อมีพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะไม่มีใครนำมาสอน เพราะอะไรล่ะ? รู้ไม่ถึง เพราะว่าปัญญาเหล่านี้ ต้องมาจากปัญญาที่ค้นคว้าสั่งสมอบรมบารมีนับล้านๆ ชาติ การสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าก็คือการค้นคว้า การสะสม การเก็บพลัง ค้นคว้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาพระชาติสุดท้ายนี้ ผลการค้นคว้าจึงถึงที่สุด วิมุติหลุดพ้น องค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้น ก็เมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้น ท่านบอกว่าเปรียบได้กับรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดินี่คือเป็นราชาเหนือราชา เป็นพระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถปกครองซีกโลก ปกครองค่อนโลก หรือจะปกครองโลกก็ได้ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิอุบัติขึ้นมานี้ จะมีของคู่บุญ ๗ อย่าง เรียกว่า รัตนะ ๗ ประการ ก็คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว นางแก้วคู่พระทัยก็คือเป็นองค์ราชินี แล้วก็เป็นคฤหบดีแก้ว แล้วก็ขุนคลังแก้ว คฤหบดีแก้ว ขุนคลังแก้ว บางที่เขาบอกว่าเป็นทหารเอกฝ่ายทหาร กับฝ่ายพลเรือนที่เป็นยอดของขุนพล ฝ่ายหนึ่งเป็นแม่ทัพแก้ว อีกคนหนึ่งก็เป็นนายกแก้ว ดังนั้น ช้างแก้วเป็นต้นนี้จะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อจักรแก้วปรากฏเป็นสิ่งแรก โพชฌงค์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อสติปรากฏขึ้นก่อน โพชฌงค์องค์อื่นๆ ก็จะตามมา เปรียบเหมือนกับมงคลสูตรของพระพุทธเจ้านี้ ต้องเริ่มต้นจากการไม่คบคนพาลก่อน มงคลข้อต่อมาถึงจะมี ถึงจะเกิด ถ้าคบคนพาลเมื่อไหร่นี้ ถือว่าปิดทางตัวเอง มงคลต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฉันใดฉันนั้น องค์ประกอบข้อต่อมาต่อจากสติก็คือ ธัมมวิจยะ หรือว่าธรรมวิจัยนั่นเอง วิจัยแปลว่าค้นคว้า แปลว่าเลือกเฟ้น แปลว่าค้นคว้าวิจัย เพราะเราเข้าใจคำนี้ว่าวิจัยคืออะไรโดยเฉพาะผู้เรียน เรียนปริญญา ปริญญาตรีก็ต้องทำวิจัย เป็นสารนิพนธ์ ปริญญาโทก็ทำวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกก็ต้องทำวิจัยเป็นดุษฎีนิพนธ์ แต่อันนั้นคือวิจัยทางวิชาการ เป็นวิจัยในตำรับตำรา แต่วิจัยในตรงนี้จะเกิดต่อเมื่อมีสติที่มันสมบูรณ์ ที่มันคมชัด ที่มันแก่กล้า ธรรมวิจัยแปลว่าการรู้เห็นสภาวะธรรมอันเป็นรูปเป็นนาม รูปนาม แปลภาษาเข้าใจง่ายๆ ก็คือ กายกับใจ สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่มองไม่เห็น ภาษาธรรมเรียกว่า รูปกับนาม หรือว่ากายกับใจ เป็นปัญญาหยั่งเห็นอย่างแท้จริงว่า อันนี้เป็นรูป อันนี้เป็นนาม เป็นความเกิดขึ้น นี้เป็นความดับไป เช่น ในขณะที่เรากำหนดรู้ลมหายใจนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจได้ว่า ลมหายใจ เป็นรูปที่รู้อารมณ์ไม่ได้ ลมหายใจมันไม่รู้อารมณ์นะ ส่วนจิตที่ตามรู้ลมหายใจนี้ เหมือนเงาติดตามตัว เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ได้ ลมหายใจเข้ามันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไป จึงเกิดลมหายใจออก ลมหายใจออกเกิดขึ้นแล้ว ดับไป จากนั้นจึงเกิดลมหายใจเข้า ลมหายใจพร้อมทั้งจิตที่กำหนดรู้ มีสภาวะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เห็นเช่นนี้ จึงเป็นธรรมวิจัยอย่างแท้จริง ให้เห็นความเกิดดับของรูปธรรมนามธรรม น้อมเข้ามาสู่การพิจารณา น้อมเข้ามาสู่ไตรลักษณ์ ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องธรรม สืบค้นธรรมที่เป็นธรรมะวิจัย
ท่านก็ยกตัวอย่าง พระมหานาคเถระ เจ้าสำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง มีความรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก สามารถตอบคำถามของพระธรรมทินมหาเถระ ผู้เป็นลูกศิษย์ได้ถึง ๑,๐๐๐ ข้อ โดยไม่ผิดแม้แต่ข้อเดียว ท่านก็คิดว่าตนมีปัญญาหลุดพ้นแล้ว ลูกศิษย์ก็เลยให้ท่านอาจารย์เนรมิตช้างดุๆ วิ่งเข้ามาหาท่าน สรุปแล้ว ท่านตกใจกลัวช้างนั้น ความกลัวเกิดขึ้น แล้วท่านก็ลืมสตินะ ลุกพรวดขึ้นจากอาสนะเลย กลัวช้างมาเหยียบ ลูกศิษย์จึงดึงจีวร แล้วกล่าวให้สติอาจารย์ว่า อาจารย์ ธรรมดาพระอรหันต์จะไม่ตกใจนะ ให้สติพระอาจารย์ หรือหวาดกลัวต่อภัยมิใช่หรือ พระอรหันต์นี้จะไม่ตกใจ จะไม่หวาดกลัวต่อภัยอะไรเลย เมื่อท่านได้สติจึงกราบลูกศิษย์ เพราะลูกศิษย์ท่านเป็นพระอรหันต์ ภูมิปัญญาของพระอรหันต์นี้ บางสิ่งบางอย่าง ปุถุชนตอบไม่ได้ เพราะมันลึกซึ้ง มันลุ่มลึกเข้าไม่ถึง แต่เนื่องจากว่าพระอาจารย์มหานาคเถระ ท่านทรงพระไตรปิฎกเชี่ยวชาญในปริยัติ ตอบปัญหาได้ถึงพันข้อ ก็เข้าใจว่าจิตคงจะหลุดพ้นแล้ว ลูกศิษย์ก็เลยให้อุบายนั่นแหละ ลองเนรมิตช้างดุๆ มา ว่าจะกลัวไหม สรุปแล้วกลัว ลูกพรวดเลย พอท่านได้สติ ช้างเนรมิตมันก็หายไป
นิมิตคือจิตมันสร้างขึ้นมาเอง เหมือนคนกลัวผี แล้วก็ปรุงแต่งไปสารพัด สร้างนิมิตเป็นตัวเป็นตน เหมือนกับว่า เป็นเงามหึมา มาปรากฏอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นิมิตคือจิตสร้างขึ้นมา จิตมันสร้างภาพ สร้างมโนภาพตามจินตนาการ อยู่ที่ว่าจะเป็นนิมิตในฝ่ายไหน ถ้ามันเกิดจากกำลังของสมาธิ เกิดกำลังจากการเจริญวิปัสสนานี้ จะเป็นปีติ เป็นนิมิต เป็นแสงสว่าง อย่าไปติดตรงนั้น ถ้าติดตรงนั้นมันไปต่อไม่ได้ เหมือนกับคนเล่นเกมส์ เทียบง่ายๆ นะ มันมีด่านสารพัดด่าน แล้วมันติดอยู่เฉพาะด่านนี้ ทั้งที่ด่านหน้ามันก็มี แต่ว่าติดอยู่แค่ด่านนี้ มันไปต่อไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้ว ครูบาอาจารย์จึงสำคัญมากในการเป็นผู้ให้กรรมฐาน สอนกรรมฐาน สอบอารมณ์ ซ้อมอารมณ์ต่างๆ ธรรมะวิจัยนี้ตรงกับสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญาจากการเรียนรู้ หรือปัญญาจากการคิดวิเคราะห์พิจารณา ไม่ใช่เป็นปัญญาแบบนักปรัชญา แต่เป็นปัญญาที่หยั่งเห็นสภาวธรรม และเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติเท่านั้น เพราะธรรมวิจัยเป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน จากสติธรรมดาให้เป็นมหาสติ เริ่มปรากฏตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๔ คืออุทยัพพยญาณ ปัญญาที่เห็นความเกิดดับของรูปธรรมนามธรรม ที่มันเห็นความเกิดดับอย่างเร็วนี้ แม้กระทั่งการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หรือเวทนา หรือแม้กระทั่งจิตนี้ มันเกิดดับเร็วมาก เห็นสภาวะแบบนั้น ที่มันเหมือนกับเครื่องยนต์ หรือมันกับเครื่องอะไรที่มันติดดับไวๆ เห็นอย่างนั้น คือเห็นความเกิดดับ จึงประเสริฐ ที่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่า คนมีอายุอยู่เป็นร้อยปี แต่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปธรรมนามธรรม ก็สู้คนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวแต่เห็นความเกิดดับของรูปธรรมนามธรรมไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะว่ามีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับมีชีวิตที่ตายแล้ว เพราะว่าประมาท แต่คนมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวแต่เห็นของพวกนี้ มันเห็นแล้ว มันเป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดวัฏสงสาร ไม่ยึดมั่นถือมั่น คลายความกำหนัด ธรรมวิจัยก่อให้เกิดโพชฌงค์ที่ ๓ คือวิริยะ วิริยะสัมโพชฌงค์ คือความเพียร ตอนนี้ซึ่งตรงกับสัมมาวายามะในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นความเพียรทางกาย แล้วก็ความเพียรทางใจ เหมือนกับรถจะวิ่งไปได้ต้องอาศัยล้อทั้งคู่ ความเพียรในที่นี้เป็นความอุตสาหะที่มีกำลัง จึงเป็นอาตาปี อาตาปะเป็นความเพียรเผากิเลส ไม่ใช่ความเพียรที่ย่อหย่อน มีความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ความเพียรนี้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ คือความง่วงโดยตรง แสดงว่าในขณะที่นั่งหลับความเพียรหย่อนมาก อาตาปีหายไปไหนหมดไม่รู้ จากที่คิดว่าจะมีความเพียรเผากิเลส ตอนนี้กิเลสมันเผาสารพัดเลยนะ นั่งหลับอยู่อย่างนี้ แต่ที่นี้ อาตาปีเป็นองค์ประกอบที่เล่ามาตั้งแต่วันแรกๆ แล้วว่า จะให้สติธรรมดาที่มันเป็นสัญชาตญาณจะเจริญเป็นมหาสติได้นั้น มันต้องมี “อาตาปี สมฺปชาโน สติมา” เพราะฉะนั้น อาตาปีนี้จึงใช้มาตลอด เป็นพื้นเป็นฐานเสมอ จนมาถึงหมวดนี้ มีความเพียรเผากิเลส มันใส่ใจ จึงให้เกิดวิริยะตัวนี้
โพชฌงค์ต่อมาอันเป็นผลจากวิริยะ คือปีติ ความอิ่มใจ เป็นสุข อิ่มเอิบอย่างท่วมท้นตลอดร่างกาย มีความดื่มด่ำซาบซ่าน ดื่มด่ำซาบซ่านตัวนี้ด้วยความปีติในธรรม เต็มไปด้วยความสุข ซึ่งมันเหนือกว่าความสุขในกามมาก ความสุขในกามที่มนุษย์ทั้งหลายหลงว่า มันเลิศที่สุดแล้ว เลิศสุดในปฐพีแล้ว ก็ยังสู้ความปีติในธรรม ความอิ่มเอิบอิ่มซาบซ่านในธรรมไม่ได้ เพราะกามสุข ต่อให้สุขขนาดไหนมันก็เหมือนกับเนื้อติดฟัน มันไม่อิ่มหรอก เนื้อติดฟันน่ะ ลองคิดดู นิดเดียว กลืนเข้าไปมันก็ไม่ได้อิ่มอะไร มันนิดเดียวจริงๆ แต่เมื่อไปเทียบกับสุขจากความสงบ สุขจากฌาน โดยเฉพาะบรมสุขคือพระนิพพานแล้ว มันเทียบกันไม่ได้เลย มีขนลุกน้ำตาไหล เหมือนเห็นสายฟ้าแลบบ้าง เหมือนมีคลื่นกระแสไฟฟ้าปรากฏทั่วร่างกายบ้าง ในขณะที่เจริญสติ เจริญสมาธิ ในขณะที่นั่งสมาธิเดินจงกรม หรือว่าทำอะไรก็แล้วแต่ที่มันประกอบด้วยสติสมาธินี้ มีอาการขนลุก น้ำตาไหล เหมือนกับสายฟ้าแลบบ้าง เหมือนมีคลื่นกระแสไฟฟ้าปรากฏในร่างกายบ้าง บางทีรู้สึกตัวเบาสบายเหมือนลอยไปในอากาศบ้าง มีความเย็นปรากฏทั่วร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งบ้าง เป็นลักษณะของปีติทั้ง ๕ ปีติเล็กๆ น้อยๆ เช่น คันยิบยิบยับเหมือนมดกัด แต่ความจริงมันไม่ใช่มด หรือเป็นอาการขนลุกน้ำตาไหลพวกนี้ เป็นอาการของขุททกาปีติ-ปีติเล็กๆ น้อย ขณิกาปีติ-ปีติชั่วขณะ ก็ลักษณะเดียวกัน โอกกันติกาปีติ- ปีติที่มันซึมซับมากขึ้นมาอีก ตัวมันเบา บางทีเหมือนกับลอยขึ้น แล้วมันก็ลอยขึ้นมาจริงๆ ก็มีนะ สมัยก่อนเมื่อไม่นานนี้ก็มี ที่บางทีปีติมันมาก ตัวมันเบานี้จนเหมือนกับนั่งสมาธิติดเพดาน แต่ความจริงมันไม่ใช่อภินิหารอะไร มันเป็นอาการของปีติ ท่านก็เล่าให้ฟังว่า สามเณรน้อยนะรูปหนึ่ง หลายสิบปีมาแล้ว นั่งสมาธิลองนี่แหละ เพราะว่ามันสุขเหลือ ปีติ ๔ มันขึ้น ท่านหลับตาอยู่นี่ กายมันเบาจนมันไปปรากฏอีกที่หนึ่ง ที่บ้านของตัวเอง แต่พอลืมตาขึ้นมา กลับไม่ได้ เพราะสมาธิมันออกแล้ว ปีติมันเสื่อม ก็เลยต้องเดินกลับวัด ที่ท่านครูบาอาจารย์ท่านเล่ามา อาการของปีติมันเล็กน้อยนะ ที่มันเป็นตัวเบา บางทีก็เป็นปีติโลดโผนโลดโผน บางทีเหมือนกับกบกระโดดก็มี มันกระโหย่งขึ้นมา คือมันคุมไม่ได้ บางทีตัวโครงเครง เหวี่ยงเป็นลูกข่างเลยก็มี บางทีกระโดดขึ้นเลยก็มี เป็นอาการของปีติที่สติไม่ทัน มันก็จะแสดงอาการอย่างนั้น หรือมันจะปีติซาบซ่านทั่วทั้งร่างกาย เหมือนกับเอาน้ำเย็นมันราดทั่วเลย เหล่านี้ก็เป็นอาการของปีติที่มันเกิดจากกำลังของสมาธิ พอปีติเกิดแล้ว เหมือนกับเรามาถึงด่านนี้ มันเป็นความสนุกของเรื่องจิตนะ ที่มันเป็นด่านไปเรื่อยๆ เหมือนเจอด่านนี้ ก็ต้องมีด่านต่อไป
ปีติย่อมก่อให้เกิดโพชฌงค์อย่างที่ ๕ คือปัสสัทธิ คือความสงบกาย สงบใจ พอปีติเหล่านี้เกิดขึ้นนี้ มันจะดิ่ง มันจะนิ่ง มันจะแนบแน่น เหมือนมีเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีเสียงมารบกวนเลย แม้เสียงภายนอกนี้จะปรากฏดังแค่ไหนก็ตาม แต่มันจะสงบอยู่กับกายอยู่กับใจ เหมือนกับอยู่คนเดียวในโลก เสียงฝนตกก็ไม่ได้ยิน เสียงฟ้าผ่าก็ไม่ได้ยินแบบนี้ มันเป็นปัสสัทธิ แต่จิตของผู้ปฏิบัติธรรมนี้ เหมือนกับปิดรับสัญญาณเสียงไว้ ทำให้เกิดความสงบกายสงบใจ ไม่ถูกสิ่งภายนอกรบกวน ปัสสัทธินี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่านรำคาญใจ แล้วก็จะทำให้ก่อเกิดสมาธิที่แนบแน่น
ต่อมา องค์ประกอบที่ ๖ แห่งโพชฌงค์ เมื่อสงบแล้วมันก็จะตั้งมั่นที่สุด คือเป็นสมาธิ ความตั้งมั่นของจิต มีอารมณ์เดียว การเจริญสมาธิเพื่อบรรลุฌานมีหลายรูปแบบ ๔๐ วิธีทำเพ่งกสิณ ทั้งดูลมหายใจ เป็นต้น แต่สมาธิดังกล่าวก็ยังเป็นโลกียสมาธิ หรืออย่างมากก็เป็นได้แค่โลกียฌาน มันขึ้นๆ ลงๆ มันเสื่อมได้นะ ถ้าหากเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา เสื่อม เมื่อก่อนเคยมีฤทธิ์ เคยทำโน่นทำนี่ได้ พอมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องเงินเรื่องทองเข้ามา ความโลภเกิดขึ้นมา หายหมดเลย เพราะกิเลสมันคลุมเอาไว้ มันไม่ใส มันไม่สว่าง แล้วก็ยังส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป เพราะว่าแค่โลกียฌาน เหมือนฤทธิ์ของพระเทวทัตที่เคยได้นะ แปลงเป็นงู เอางูมาพันแขนพันขาให้เจ้าชายอชาตศัตรูดู ไปทางอากาศด้วย โลกียฌานทำได้ขนาดนั้น แต่พอเกิดความโลภครอบงำ อยากจะบริหารหมู่คณะ แล้วโดยเฉพาะกรรมหนัก คือยุยงสงฆ์แตกกัน ทำให้ฌานเหล่านี้เสื่อมไปหมด เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ แม้ผู้ที่เกิดเป็นพรหมในพรหมโลก ก็มีชีวิตอยู่ด้วยแรงกรรม มันมีขอบเขตสิ้นสุด เมื่อกรรมสิ้นแรงส่ง ก็อาจจะเวียนมาเกิดในโลกมนุษย์ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือบางทีพวกลงนรกเลยก็ได้ถ้ากุศลกรรมเก่ามันแรง ส่วนสมาธิในโพชฌงค์นี้ ตรงกับสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยความเห็นถูก เข้าใจถูก เป็นสมาธิที่มีกำลังเสมอกับอุปจารสมาธิ ในขณะที่ได้วิปัสสนาญาณ เทียบเท่าปฐมฌานในขณะบรรลุมรรคผล ชื่อว่า ขณิกสมาธิ-สมาธิชั่วขณะนี้มีอารมณ์หลากหลายตามปัจจุบันขณะนั้นๆ ไม่ใช่หมายความว่าสมาธิที่ตั้งมั่นชั่วขณะเพราะมีกำลังตามที่กล่าวไว้แล้ว ถึงจะเป็นชั่วขณะเดียวมันแต่มันต้องติดต่อเนื่อง เหมือนกับกระแสน้ำที่มันไหลไม่ขาดสาย มันจึงจะเกิดปัญญา ถ้ามันเป็นสมาธิแบบติดๆ ขัดๆ เหมือนกิ้งก่าที่มันไปหน่อยหนึ่งแล้วก็หยุด หรือเราจะเสียบปลั๊กหุงข้าว พอข้าวกำลังจะเดือด ถอดปลั๊กออก เสียบใหม่ ข้าวไม่ได้กิน หุงไม่สำเร็จ เพราะอะไร? เพราะเปรียบเหมือนกับคนที่มีความเพียรไม่ติดต่อเนื่อง การเจริญสติไม่ติดต่อเนื่อง ปัญญามันก็ไม่เกิด เพราะพวกนี้ใช้ขณิกสมาธิ สมาธิเล็กน้อย แต่ว่าต้องอาศัยความต่อเนื่อง อย่างนี้เป็นต้น
ต่อไปองค์ประกอบสุดท้ายคือ อุเบกขา ความวางเฉย วางเฉยในการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันที่ปรากฏโดยสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องปรับศรัทธากับปัญญาและปรับวิริยะกับสมาธิให้สมดุลกัน เพราะอินทรีย์เหล่านั้นมีสภาวะสมดุลไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยอำนาจของโพชฌงค์ทั้ง ๖ ที่ผ่านมาแล้ว เพราะมันปรับมาเสมอๆ จนกระทั่งมาถึงองค์สุดท้ายนี้ เกิดอุเบกขา ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนกับสารถี คนขับรถนั่งอยู่บนรถม้า ที่วิ่งไปตามคำสั่ง โดยไม่ต้องลงแส้ ไม่ต้องแทงปฏักหรือบังคับรถ แต่รถมันก็แล่นไปสู่ที่หมายตามที่สารถีสั่งได้ เหมือนกับปัจจุบันเรานี้ ขับรถบนทางตรง ถนนที่มันตรงดิ่งเลยนี้ เราไม่ต้องไปควบคุมพวงมาลัย ไม่ต้องไปเหยียบ ไม่ต้องไปอะไรมาก ไม่ต้องไปแตะเบรกอะไรเลย แค่จับพวงมาลัยไว้ มันคือการวางอุเบกขา ไม่ต้องไปลงแส้ ไม่ต้องไปลงปฏัก เปรียบเหมือนกับเราไม่ต้องหักซ้าย หักขวา ไม่ต้องไปแตะเบรก ไม่ต้องไปเข้าเกียร์นั้นเกียร์นี้ ขับไปเรื่อยๆ นี่คืออุเบกขาในโพชฌงค์
ทีนี้ พระพุทธเจ้าก็สอนวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติอย่างไรจะให้โพชฌงค์เกิด พระภิกษุในศาสนานี้ เมื่อสติมีอยู่ในจิตที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ ก็รู้ว่าสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ภายในจิตของเรา เมื่อไม่มี ก็ให้รู้ว่าไม่มี สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นด้วยวิธีใด ก็ต้องรู้ชัดถึงเหตุเกิด ต้องเข้าใจในเหตุเกิด แล้วสติสัมโพชฌงค์จะเพิ่มพูนด้วยวิธีอย่างไร ก็ต้องรู้ชัดวิธีอันนั้น เพื่อที่จะพัฒนาองค์ประกอบองค์แห่งการตรัสรู้เหล่านี้ให้สมบูรณ์ เมื่อองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้คือสติ ปรากฏอยู่ในขณะปัจจุบันเพียงเสี้ยววินาทีนั้นๆ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้ชัดว่า มีสติอยู่ภายในจิต เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ยอมรับความจริงว่า บัดนี้สติไม่มีอยู่ในจิต ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอรหันตมรรค สติจะมีความบริบูรณ์ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับสนิท โดยไม่มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นเลย เพราะอรหันตมรรค คือความเป็นพระอรหันต์ของท่านถอนรากถอนโคนกิเลสหมดแล้ว
เหตุของสติก็คือ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การพิจารณาใส่ใจโดยแยบคาย สติที่สะสมไว้ด้วยการปฏิบัติธรรมในครั้งก่อนนี้จะอำนวยผลให้เกิดสติในเวลาต่อมา เราไม่ต้องเสียใจทำไมวันนี้สติไม่ดีเลย ทำไมวันนี้นั่งไม่สงบเลย อย่าไปคิดถึงอารมณ์เก่า ต่อให้มันผ่านไปแค่วินาทีเดียวมันก็เป็นอดีตไปแล้ว อย่าไปคิดถึงอารมณ์ตอนที่นั่งเมื่อวาน อารมณ์ที่เคยได้เมื่อปี ๒ ปี ก็ยังไปคิดถึงว่า เมื่อก่อนเราเคยได้ ทำไมตอนนี้ไม่ได้ แล้วก็มาเกลียดตัวเอง มาโทษตัวเองอีก ทำไมมันไม่ได้อย่างนี้ เราต้องสร้างเหตุปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่มันเคยได้นี้ มันก็ไม่ได้หายไปไหน มันเก็บอยู่ในสัญญาขันธ์ มันสะสมไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราเคาะคีย์บอร์ด พิมพ์ไปทีละตัวทีละตัว พิมพ์ไปแล้วถามว่ามันหายไหม? มันก็ไม่หาย มันก็ได้หน้าหนังสือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าวันนี้ขี้เกียจพิมพ์ วันนี้พิมพ์ได้มาก วันนี้พิมพ์ได้น้อย วิริยะมากก็พิมพ์ได้มากหน่อย วิริยะน้อยก็พิมพ์ได้น้อยหน่อย อุปมาอย่างนั้น ง่ายๆ ตรงนี้ แต่สติ กำลังของสติสมาธิมันจะสะสมไปเรื่อยๆ ในการปฏิบัติธรรม แล้วก็อาจจะเป็นสติสมาธิในครั้งก่อนจะทำให้เกิดผลสติในโอกาสต่อมา หรือว่าเพราะกุศลในอดีตเป็นเหตุที่มีกำลังทำให้กุศลอื่นเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน ท่านบอกว่า “สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา” สติจำปรารถนาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะเมื่อใดปราศจากสติเสียแล้ว เมื่อนั้น งานทั้งปวงก็เสียเพราะความประมาทเข้ามาแทรก กิเลสเข้ามาแทรก สติของจริงที่เป็นมหาสตินั้น ไม่ใช่ฝึกง่ายๆ เพราะว่าสติในสัญชาตญาณเรามีกันอยู่แล้ว ขับรถก็สติ เดินก็สติ ถ้าไม่มีสติ มันก็ล้ม ตกบันได ลื่นหกคะเมน หรือไม่ก็ทำโน่นทำนี่ มันก็ไม่สำเร็จ แต่ว่านั่นมันคือสติสัญชาตญาณ แต่สติที่มันพัฒนาเป็นมหาสติปัฏฐานนี้ มันมีองค์ประกอบอย่างที่ว่านี้ มีความเพียรใส่ใจ มีความรู้เนื้อรู้ตัว ระลึกได้อยู่ในอารมณ์นั้นๆ แล้วทุกท่านนี้ต้องพยายามแล้วพยายามอีกที่จะให้มีสติ แต่มันก็เผลอไปบ่อยที่สุด จำเป็นจะต้องฝึกจิตให้มีสติ ใครมีสติสมบูรณ์มาก ผู้นั้นชื่อว่าประสบความสำเร็จในการฝึกสติอย่างมาก อย่างพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นนี้ ท่านประสบความสำเร็จในการฝึกสติ มีสติสมบูรณ์ที่สุดร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่พลั้งไม่เผลอ เพราะฉะนั้น ก่อนจะเป็นพระอรหันต์ท่านก็เป็นปุถุชนเหมือนเรานี่แหละ แต่ท่านพัฒนาความเพียรท่านยิ่งยวด ประวัติของครูบาอาจารย์ จนกระทั่งถึงประวัติของพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา และน้อมมาสู่ตัวเอง เพื่อที่จะเพียรเหมือนอย่างท่าน เหตุเพิ่มพูนสติคือ เหตุที่ทำให้สติที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์ขึ้นตามลำดับจนกระทั่งบรรลุธรรมมี ๔ ประการ หนึ่ง เจริญสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือใครมีสติสัมปชัญญะอยู่นี้ การที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาลนั้น เราจะต้องทำอะไรด้วยการใคร่ครวญช้าๆ อย่ารวดเร็ว ทำติดต่อๆ เนื่อง รับรู้ตลอดเวลาในทุกๆ อิริยาบถ สติต้องเร็ว สติสัมปชัญญะต้องเร็ว ไม่ว่าจะเดินช้าหรือเดินเร็วนี้ สติต้องไม่หลุด อย่างที่สอง หลีกเลี่ยงผู้ที่มิได้เจริญสติ คนไหนที่มีสติฟั่นเฟือนหลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ เซื่องๆ ซึมๆ เซ่อๆ เบลอๆ นี้ ก็ห่างคนนั้นเสีย ท่านบอก อย่าไปใกล้คนเหล่านั้น พอนานๆ ไปนี้ เราจะติดโรคเหล่านั้นได้ เพราะว่า เป็นความจริงเลยว่า คบคนเช่นใดย่อมเป็นคนเช่นนั้น เป็นอย่างนั้นเสมอ ถ้าจิตใจยังไม่แข็งแรงพอ ยังไม่มีมรรคผล ยังไม่ได้เป็นอริยะ มันพร้อมอยู่แล้วที่จะเอนไปทางนั้นก็ได้ เอนไปทางนี้ก็ได้ คบคนเช่นใดเป็นคนเช่นนั้น ถ้าคบคนที่ทำอะไร เซ่อๆ เบลอๆ งงๆ เซื่องๆ ซึมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ พวกนี้ จะติดเขา เพราะฉะนั้นต้องเว้น อย่าเข้าใกล้ เว้นไว้ แต่คบด้วยความสงสาร แนะนำเขา ในบางครั้งบางคราว ต้องให้ห่างไว้ ไม่อย่างนั้นจะติดเอาได้ ประการที่สาม คบหากับผู้ที่เจริญสติ พยายามคบหากับคนที่มีจิตใจมั่นคง แล้วเราจะไว สติจะดี จะฉลาด จะคล่องแคล่วว่องไวเหมือนอย่างเขา ทำไมองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ถึงสอนเรื่องนี้ ทำอะไรต้องคล่องแคล่วว่องไว สติต้องสม่ำเสมอ ก็เพราะนี้แหละ เพราะท่านต้องการให้เราทุกคนเพิ่มพูนสติ ไม่เป็นทาสของอาการเซื่องๆ ซึมๆ เบลอๆ งงๆ พวกนี้ ประการที่สี่ น้อมใจในการเจริญสติ ให้พยายามปลูกกำลังใจ ให้เห็นคุณค่าของการมีสติ มีจิตใจน้อมไปในเรื่องนี้ ขวนขวายในเรื่องนี้อยู่เสมอตลอดชีวิตของเรา แล้วสติสัมโพชฌงค์มันก็จะก่อตัวพัฒนาไปเรื่อยๆ จะสำเร็จในการงานทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นงานทางโลกงานทางธรรม
ในทำนองเดียวกัน ธรรมวิจัยที่เป็นการหยั่งเห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริงนี้ เมื่อมีอยู่ก็ให้รู้ เมื่อมันไม่มีก็ให้รู้ แล้วต้องรู้ถึงเหตุเกิด แล้วก็เหตุเพิ่มพูน เหตุเพิ่มพูนธรรมวิจัยมีอยู่ ๗ ประการ
อย่างแรกไต่ถาม ถ้าเราสงสัยแล้ว ก็ให้ไต่ถามท่านผู้รู้ อย่างมาปฏิบัตินี่ เราก็มาไต่ถามครูบาอาจารย์เพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้งขึ้น ถ้าสงสัยแล้วไม่ถาม บางทีเก็บไว้ ๓ วัน ๔ วันผ่านไป มันจะเสียเวลาในการปฏิบัติ แต่ถ้าไต่ถามทีเดียว แล้วก็ใช้ได้ไปนานๆ นี้ เพราะจะได้ความแจ่มแจ้งเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ธรรม เพราะท่านผู้ที่เคยปฏิบัติผ่าน หรือเคยศึกษาเล่าเรียนมาโดยตรงนี้ ย่อมเข้าใจสภาวธรรมได้ชัดกว่าผู้ที่กำลังเริ่ม เริ่มธรรมวิจัย คือการพิจารณาธรรม การมีครูบาอาจารย์จึงสำคัญที่สุด ไม่ต้องไปเสียเวลาค้นคว้าอีก อย่างคนเรานี้ เอาง่ายๆ ที่เราทำอยู่ในปัจจุบันก้าวหน้ามาได้มากนี้ จากสมัยก่อนนี้ ห้องน้ำต้องเข้าตามข้างทาง ต้องใช้ส้วมหลุม ปัจจุบันห้องน้ำอยู่ในห้องนอนเลย เพราะอะไร? เพราะเราต่อยอดคนโบราณ ต่อยอดปัญญาของคนโบราณที่ทำไว้แล้ว เพราะว่าคนโบราณเขาวิจัยเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เรื่องเครื่องนุ่งห่ม แม้กระทั่งเรื่องรถ เรื่องโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มันคือการต่อยอด พัฒนามาจากคนโบราณที่เขาคิดเอาไว้ จนมาสะดวกสบายทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุดเลยเรื่องครูบาอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นหัวใจของนักปราชญ์ในการสอบถาม สุ-จิ-ปุ-ลิ ฟัง คิด พินิจพิจารณา สงสัยถาม
อย่างที่สอง ทำวัตถุภายนอกและภายในให้เรียบร้อย หมายความว่า ผู้ปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าของตนให้เรียบร้อยไม่รกรุงรัง ดูงามตา อย่างในบ้านของเรานี้ เก็บกวาดให้เรียบร้อย ตู้เตียงสิ่งของภายในบ้านให้เรียบร้อย ไม่รกรุงรัง จิตมันก็จะเห็นแต่ความเรียบร้อย อย่างนี้เรียกว่าทำวัตถุภายนอกให้เรียบร้อย วัตถุภายในไม่ว่าจะเป็นผมเผ้า แปรงฟัน ตัดเล็บ คือชำระเนื้อตัวให้สะอาดสะอ้าน มันบ่งบอกถึงจิตใจ ทำไมองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านถึงเน้นเราให้เรื่องความสะอาด เพราะมันคือการขัดเกลาใจ พัฒนาใจ ถ้ามองตรงไหนก็มีแต่ขี้หมา มองตรงไหนก็มีแต่ขยะ มองตรงไหนก็มีแต่หยากไย่ มีแต่ขยะ แบบนี้ใจเรามันไม่เจริญใจนะ ใจมันก็เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น อันนี้นี้เป็นพื้นฐานง่ายๆ หลวงพ่อเคยบอกเสมอเลยว่า ทำความสะอาดยังไม่เป็น เก็บขยะยังไม่เป็น แยกขยะยังไม่เป็น จะไปนิพพานได้อย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะมันการฝึกสติมันเป็นเหตุเพิ่มพูนให้สติ ให้ธัมมวิจยะนี้ ธรรมวิจัยมันเจริญขึ้น อยู่ในองค์ประกอบนี้ดีเอง
ต่อไป ปรับอินทรีย์ให้สมดุลกัน ข้อที่ ๓ ปรับอินทรีย์ให้สมดุลกัน อินทรีย์ ๕ นี้เหมือนกับ ๕ นิ้วนี้ เริ่มต้นด้วยศรัทธา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน เสมอกัน ศรัทธามาก ปัญญาไม่มี กลายเป็นคนงมงาย ใครบอกอะไรมาเชื่อหมด ก็ไปหลงแต่ในเดรัจฉานวิชา เพราะอะไร? มีศรัทธาแต่ว่ามันโง่ ขาดปัญญา ปัญญามากไปแต่ขาดศรัทธา จะไม่เชื่อคนอื่นเลย เชื่อแต่ตัวเองอย่างเดียว กลายเป็นคนที่อัตตาธิปไตย เอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น ศรัทธาปัญญาจึงต้องเสมอกันเป็นการปรับ ปรับอินทรีย์ให้มันสมดุลกัน ต่อไปวิริยะ-ความเพียร กับสมาธิตัวที่ ๔ มันต้องสมดุลกัน เหมือนนิ้วชี้กับนิ้วนางนี้ ที่มันเสมอกัน ถ้าวิริยะมากสมาธิน้อย ก็เป็นคนฟุ้งซ่าน สมาธิมากวิริยะน้อย กลายเป็นคนติดสงบ ง่วงๆ ซึมๆ เบลอๆ งงๆ เพราะขาด จึงต้องปรับให้เสมอกัน สติอยู่ตรงกลางสำคัญที่สุดนะ ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีเกินไม่มีขาด เปรียบง่ายๆ เหมือน ๕ นิ้วเรานี่แหละ ศรัทธาเป็นเหตุให้เกิดวิริยะ วิริยะหนุนให้เกิดสติ สติหนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิหนุนให้เกิดปัญญา ทุกอย่างมันต้องปรับให้สมดุลกัน มันจึงจะเป็นกำลัง เป็นพละ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นี้ จึงจะหนุนให้โพชฌงค์นี้สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น การปรับอินทรีย์จะหนุนโพชฌงค์ทุกข้อ ให้เพิ่มพูนโพชฌงค์ทุกข้อ
ต่อไป วิริยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ คือความเพียรอันเป็นธรรม อันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ข้อที่ ๓ นี้ท่านหมายถึงว่า ความเพียรนี้ เป็นความเพียรไปในทางกาย และเป็นไปในทางจิต ความเพียรที่เป็นไปทางกาย ขวนขวายไม่ทอดธุระ เช่น ขยันในการเดินจงกรม ขยันในการนั่งสมาธิเป็นต้น ส่วนความเพียรอันเป็นไปในทางจิต ย่อมให้สำเร็จในสัมมัปปธาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ ก็ดึงมาอยู่ในองค์นี้แล้ว เป็นอย่างไร? ๑.เพียร สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปมันเกิดขึ้นในกมลสันดาน บาปที่มันยังไม่เกิดก็ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เป็นความเพียร ๒. ปหานปธาน เพียรที่จะละบาปที่มันเกิดขึ้นแล้ว ที่มันมีอยู่แล้ว บาปในใจมีอยู่ทุกคนน่ะ อยู่ที่จะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผย เพียรพยายามที่จะละ ต่อไป ๓. ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น กุศลที่ยังไม่มี เช่น สมาธิปัญญายังไม่เกิด ให้มันเกิดขึ้น แล้วก็ ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาความดีก็คือกุศลนั้นให้คงอยู่ตลอดไป สัมมัปปธานจึงดึงมาอยู่ตรงนี้ มันเป็นเนื่อง เป็นอันเดียวกันหมดนะ ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน เป็นโพธิปักขิยธรรม โพชฌงค์ มรรค ๘ เป็นเนื้อเดียวกันหมด เพราะว่า เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกันและกัน
เหตุให้เกิดวิริยะสัมโพชฌงค์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่ามีอยู่ ๓ ประการคือ ๑. อารัมภธาตุ ธาตุคือการเริ่มพากเพียร ความเพียรที่บุคคลเริ่มตั้งแต่ครั้งแรก ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของความเพียร ถ้าขาดธาตุตัวนี้ คนจะไม่ทำงาน เพราะขาดการเริ่มต้น ๒. นิกกมธาตุ คือ ความพากเพียรออกไปจากความขี้เกียจขี้คร้าน ขี้เกียจขี้คร้านติดสุขติดสบาย ตามใจตามอารมณ์ มันมีเป็นพื้นฐานของทุกๆ คน ทำไมพ่อแม่ครูบาอาจารย์เราถึงพูดคำนี้ทุกวัน มีปรากฏอยู่ในทุกๆ คำเทศน์เลย ขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบาย ตามใจตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ที่อาตมาเทศน์มาปีหนึ่ง เฉลี่ยประมาณปีหนึ่ง มีคำเหล่านี้อยู่เกือบทุกวัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเรามันติดสุขสบาย ติดขี้เกียจ ติดขี้คร้าน ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้น นิกกมธาตุ ความพากเพียรออกไปจากความเกียจคร้าน เพราะเมื่อมีอารัมภธาตุ ความเพียรเป็นเหตุเริ่มต้นแล้ว มันต้องต่อเนื่องไป เมื่อเริ่มต้นทำความเพียรแล้ว จิตก็จะออกจากความเกียจคร้านไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เป็นความเพียรที่ต่อออกมาจากเดิม ๓. ปรักกมธาตุ คือความพากเพียรที่จะกล้าหาญก้าวไปข้างหน้าไม่ถอยหลังกลับ บากบั่น ไม่หยุด เป็นความเพียรที่สืบต่อมาจากความเพียรที่ออกจากขี้เกียจขี้คร้านแล้ว เพราะว่า ถ้าไม่มีความเพียรตัวนี้ คนก็จะท้อถอย หยุดอยู่กับที่ เกิดความเกียจคร้าน ประสบอุปสรรค หรือไม่ประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แม้จะมีความเพียรเริ่มต้น แต่มันไม่ต่อเนื่องนี้ ท่านบอกว่า เหมือนกับคนที่เริ่มออกจากบ้านไปทำงาน แล้วก็อาจจะหยุด ไม่เดินหน้าต่อไป หรือกลับบ้านไม่ยอมไปทำงานเลย เพราะขาดความเพียร หรือว่าเด็กที่ไปเรียนหนังสือ ไปโรงเรียนก็ลาพ่อแม่นะ ที่ไปเรียนหนังสือ พอเดินไปถึงกลางทาง ขี้เกียจ อยากดูทีวี อยากโน่นอยากนี่ กลับบ้านเฉยๆ มันคือความเพียรที่มันไม่ต่อเนื่องนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงต้องหนุนกันและกัน ถ้ามันขี้เกียจขี้คร้านขึ้นมา ฮึดสู้ขึ้นมา สร้างกำลังใจให้ตัวเอง “วิริเยนทุกฺขมจฺเจติ” คนจะล่วงความทุกข์ได้ เพราะความเพียร
เหตุเจริญความเพียรยังมีอีก ๑๑ ประการคือ ๑. ระลึกถึงความน่ากลัวของอบายภูมิ ถ้าเรายังขี้เกียจขี้คร้านอยู่อย่างนี้ มันยังปิดอบายให้ตัวเองไม่ได้นะ มันจะต้องมีนรก มีสัตว์เดรัจฉาน มีเปรต อสุรกาย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ให้กลัวภัยในวัฏสงสาร มันจะเกิดความเพียรขึ้นมา ฮึดสู้ขึ้นมา เห็นประโยชน์ของความเพียร ๓. พิจารณาว่าความเพียรนี้เป็นทางดำเนินไปของพระอริยเจ้าทั้งหลาย แล้วก็ ๔. เคารพในก้อนข้าวของชาวบ้าน หมายความว่า เคารพในอาหารบิณฑบาต เราอาศัยข้าวของชาวบ้านกินอยู่นี้ ถ้ายังขี้เกียจขี้คร้านจะบาปขนาดไหน มันจะเกิดกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมา แล้วก็ ๕. พิจารณาความยิ่งใหญ่แห่งมรดกธรรม อันนี้เป็นมรดกธรรมของพระศาสดา ๖. พิจารณาความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ๗. พิจารณาความประเสริฐของวงศ์ตระกูล วงศ์ตระกูลในที่นี้หมายถึงความประเสริฐแห่งอริยวงศ์ พุทธวงศ์ วงศ์ของพระพุทธเจ้า วงศ์ของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เป็นวงศ์ตระกูลที่บริสุทธิ์หมดจด เพื่อที่จะมุ่งไปสู่มรรคผลพระนิพพาน แล้วก็ ๘. พิจารณาความประเสริฐของเพื่อนพรหมจรรย์ เพื่อนเรายังทำได้ เพื่อนเรายังขยันแบบนี้ จะมัวขี้เกียจขี้ขลาดอยู่ได้ไง มันจะเกิดความฮึดสู้ขึ้นมา ๙. หลีกเลี่ยงจากคนขี้เกียจขี้คร้าน คนขี้เกียจขี้คร้านอย่าไปคบมัน เดี๋ยวมันจะติด หลวงพ่อก็บอกว่า คบคนขาดทำวัตรก็ขาดทำวัตรตาม คบคนไม่บิณฑบาตก็ขาดบิณฑบาตตาม คบคนไม่ทำข้อวัตรกิจวัตรก็ไม่ทำข้อวัตรกิจวัตรตามเขา เพราะคบคนขี้เกียจ แล้วก็ ๑๐. คบหากับคนที่ปรารภความเพียร ที่ขยันหมั่นเพียรสม่ำเสมอ แล้ว ๑๑. น้อมใจไปเพื่อให้เกิดความเพียร ความเพียรที่เป็นวิริยะจึงจะสมบูรณ์
ต่อไป เหตุเพิ่มพูนปีติคือความอิ่มอกอิ่มใจ อิ่มเอิบอาบซาบซ่านหัวใจด้วยกำลังของสติ สมาธิ ที่มันพิจารณา ที่มันพัฒนามานี้ ๑-๓.นึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คือคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณพระสงฆ์ ปีติมันก็เกิด ครูบาอาจารย์เรา อย่างหลวงตามหาบัวหรือหลายๆท่านนี้ ท่านอ่านพุทธประวัติน้ำตาไหลพรากเลย เพราะอะไร? ซาบซึ้งในพุทธคุณ ซาบซึ้งในพระธรรม หลายๆ ท่านฟังเรื่องของพุทธเจ้า ปีติน้ำตาไหลเพราะอะไร? เพราะซาบซึ้ง ระลึกถึงคุณของพระพุทธคุณ ของพระธรรมคุณ ของพระอริยสงฆ์ เกิดปีติขึ้นมา ยามใดท้อ ยามใดเกิดความขี้เกียจขี้คร้าน ยามใดเกิดความไม่อยากก้าวหน้านี้ นึกถึงหน้าครูบาอาจารย์ไว้ นึกถึงหน้าพระพุทธเจ้าไว้ ความเพียรมันจะเกิด ปีติมันจะเกิด จะทำให้ก้าวหน้าต่อไป จะทำให้อยากประพฤติปฏิบัติต่อไป ต่อไป ๔.ระลึกถึงศีล ๕. ระลึกถึงการบริจาคทาน ๖. ระลึกถึงเทวดา ๗. ระลึกถึงความสงบจากกิเลส เจ็ดอย่างนี้ คือ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ อุปสมานุสสติ เจ็ดข้อนี้จะเป็นเหตุให้เกิดปีติ ๘. ก็คือหลีกเลี่ยงจากคนหยาบกระด้าง ๙. คบหาคนที่นุ่มนวล ๑๐.พิจารณาข้อความในพระสูตร หรือว่าบทธรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่เรานึกมาแล้วนี้ จะทำให้เกิดปีติ ๑๑. น้อมใจไปเพื่อความปีติปราโมทย์
ต่อไป ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ จะทำให้เกิดได้ ท่านก็บอกว่ามีสองอย่างนะ ปัสสัทธิ คือสงบกายกับสงบจิต สงบกายนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าร่างกายเรานั่งสงบนิ่งอยู่อย่างเดียว แต่คำว่าสงบกายในที่นี้ทำให้จิตเยือกเย็น สงบเวทนา สงบสัญญา สงบสังขาร คือไม่วุ่นวาย ไม่ปรุงแต่ง ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ไม่วุ่นวายใจ สัญญาต่างๆ มีลักษณะสงบเรียบ ถ้ากายสงบ แต่ว่าใจไม่สงบ ก็ยังไม่เป็นปัสสัทธิ ปัสสัทธิต้องสงบกาย สงบใจ สงบทั้งสองตัว จิตปัสสัทธิ สงบจิตแน่วแน่เยือกเย็น คนบางคนเย็น ใครด่าใครว่าก็ไม่อยากโกรธเลย คือมันเย็นมากกว่าที่จะร้อน เหมือนกับคนอยู่ในน้ำเพราะมันเย็น ใจที่เย็นแบบนี้ มันเหมือนอยู่ใต้น้ำแข็ง เพราะว่ามันไม่หวั่นไหว เพราะมันสงบ อะไรก็มากระทบไม่ได้ เพราะมันสงบแล้ว เพราะว่ามันเย็นแล้ว ใครด่าก็เฉย ใครจะว่าก็เฉย ใครจะชมก็เฉย เพราะมันสงบมันเย็น เพราะฉะนั้น ใครที่ได้ปัสสัทธินี้จึงมีความสงบเย็น ในบาลีท่านบอกว่า สัตโต มีความสงบ อเสจนโก ไม่รดน้ำก็เย็นได้ เพราะว่ามันสงบ บางคนรดน้ำเป็นตุ่มๆ อาบน้ำหมดเป็นถังๆ ยังไม่หายร้อนเลย เพราะใจมันร้อน ยังไม่เกิดปัสสัทธิ แต่พอเกิดปัสสัทธิ ต่อให้อยู่กลางแดดใจมันก็เย็น เพราะไม่รดน้ำก็เย็นได้ มันเกิดจากความสงบ เหตุเพิ่มพูนก็คือว่า เหตุจะให้เพิ่มพูนปัสสัทธิท่านบอกว่า ๑. บริโภคอาหารอันเพียงพอ อาหารที่เหมาะแก่ธาตุขันธ์ ๒. ได้รับอุณหภูมิที่สบาย ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป ๓. อิริยาบถที่สบายก็คือว่า ปรับเสมอ ยืน เดิน นั่ง นอน สมดุลกัน ๔. มีความเพียรไม่ยิ่งไม่หย่อน เป็นทางสายกลาง ๕. หลีกเลี่ยงจากผู้ที่มีกายเร่าร้อน ก็คือว่า คนไหนที่มีจิตใจหวั่นไหวง่าย วุ่นวาย ขี้โกรธ ขี้โมโห ห่างคนนั้นไว้ ห่างเขาไว้ ๖. คบหากับบุคคลผู้ที่มีกายสงบเย็น คนที่ใจสงบระงับ คนไหนที่เยือกเย็น ด่าไม่ค่อยโกรธ ใจเย็น ก็คบคนนั้นแหละ มันสบาย คนบางคนเมื่อเข้าใกล้เราแล้ว เราเย็น มีลักษณะเหมือนกับพระจันทร์ เพราะ เย็น น่านั่งใกล้ บางคนนี่ร้อนนะ เข้าใกล้ไม่ค่อยได้ ลักษณะเหมือนดวงอาทิตย์ เข้าใกล้นิดเดียว ต้องถอยออกมา เหมือนกองไฟ เพราะใจเขาร้อนๆ ไม่อยากจะคุยเพราะมันจะร้อน แล้วอย่างสุดท้ายคือน้อมใจเพื่อให้เกิดปัสสัทธิ คือใจเราต้องอยากจะมีความสงบ ไม่วุ่นวาย (๗)
ต่อไป สมาธิสัมโพชฌงค์ เมื่อมีจิตมีกาย มีใจที่มันสงบแล้ว มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่าย มันเชื่อมโยงกัน เกี่ยวเนื่องเป็นอันเดียวกัน มันก็จะพัฒนาเป็นสมาธิมาตามลำดับ เหตุที่เพิ่มพูนสมาธิก็คือมี ๑๑ อย่าง ก็คือ ๑.ชำระร่างกายให้สะอาด สะอาดทั้งภายนอกภายในเหมือนกับข้อแรก ๒. ปรับอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ ๓. ฉลาดในอารมณ์กรรมฐาน รู้ว่าอันไหนที่มันทำให้เราก้าวหน้า เช่น ดูลมหายใจแล้วก้าวหน้า ก็ทำอันนั้นต่อไป ๔. ข่มจิตที่มันฟูเกินไป คือมันฟุ้งซ่านเกินไป ก็ข่มมันให้ได้ ๕. ประคองจิตที่มันท้อถอย ๖. ยกจิตที่หดหู่ให้ร่าเริง ตอนไหนจิตท้อไม่อยากปฏิบัติ อยากกลับบ้าน อยากสึก อยากโน่นอยากนี่ ปลุกใจให้มันเข้มข้น ให้มันฮึกเหิม ให้มันอาจหาญ ๗. วางเฉย วางเฉยในจิตที่มันสม่ำเสมอกัน แล้วก็ ๘. หลีกเลี่ยงผู้ไม่มีสมาธิ ๙. คบหาผู้มีสมาธิ ๑๐. พิจารณาฌานและวิโมกข์ ๑๑. น้อมใจไปเพื่อสมาธิ
ต่อไปข้อสุดท้าย อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ผู้นั้นจะยกจิตผ่านเข้าไป วางเฉยเป็นอุเบกขา จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มันจะเป็นอุเบกขา เอกัคคตา อารมณ์เดียวกับวางเฉย คือไม่มีสุข ไม่มีปีติแล้ว เพราะว่าผ่านมาแล้ว จะวางเป็นกลาง ไม่ติดในปีติ ไม่ติดในสุข วางเฉยในอารมณ์ มีแต่ความแน่นิ่ง ดิ่งในอารมณ์นั้นๆ จิตเป็นอารมณ์เดียว นี่คือองค์ฌานของฌานที่ ๔ อุเบกขาเอกัคคตา อุเบกขานั้นมีหลายอย่าง จะอุเบกขาแบบไหน มีถึง ๑๐ ชนิดด้วยกัน ถ้าอุเบกขาในพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หมายถึงอุเบกขาในสัตว์ ในบุคคล ถ้าเรามีพรหมวิหาร เราวางเฉย บางทีช่วยเขาไม่ได้ก็ต้องวางเฉย แต่ถ้าอุเบกขาในเวทนา ที่บอกว่าสุข ทุกข์ เฉยๆ หมายความว่า นั่นคือไม่สุข ไม่ทุกข์ นี่คืออุเบกขาในเวทนา ส่วนอุเบกขาในโพชฌงค์นี้ หมายถึงอุเบกขาในธรรม ไม่ต้องไปจัดมัน เมื่อจิตมันสงบแล้ว ไม่ต้องไปจัดมันอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวเสีย มันเป็นอุเบกขา นิ่งอยู่แล้ว ไม่มีดีใจ เสียใจ มีแต่ตัวสติสัมปชัญญะอยู่ มีสติ มีญาณกำกับอยู่ด้วย นี่แหละจึงเป็นคุณเบื้องต้นแห่งวิปัสสนา เบื้องหน้าแต่อริยมรรค ฉะนั้น จิตตอนนี้นิ่งเฉย วางเฉยในสภาวธรรม เหตุให้เกิดอุเบกขามี ๕ ประการคือ วางเฉยในบุคคล วางเฉยในสิ่งของ หลีกเลี่ยงจากผู้ที่ยึดติด ผูกพันในบุคคล ในสิ่งของทั้งหลาย เดี๋ยวมันจะเป็นเหมือนเขา คบหากับผู้ที่ไม่ยึดติด ไม่ผูกพันในบุคคล ในสิ่งของ น้อมใจไปเพื่อให้เกิดความวางเฉย
จะเห็นว่า เหตุให้เกิด เหตุเพิ่มพูนองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ที่เป็นโพชฌงค์ทั้งหมดนี้ จะพอสรุปว่า ดังที่ว่ามานี้ ต้องหลีกเลี่ยงคนพาล คบบัณฑิตให้เป็น แล้วก็ต้องปรับอินทรีย์ให้สมดุลทุกๆ ข้อ ทำกายทำใจ ให้มันสงบ ให้มันสะอาด กายใจถ้ามันสกปรกนะ มันก็ไม่ก้าวหน้า การพิจารณาโพชฌงค์นี่เอง เป็นเหตุให้การตรัสรู้ธรรมได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น โพชฌงค์ หรือว่าสัมโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ จึงเป็นธรรมะที่หนุนต่อการปฏิบัติกรรมฐานของผู้ที่เข้าสู่การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้สภาวะธรรมภายในภายนอก ทั้งภายในภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปติดต่อกันอย่างรวดเร็ว รู้ชัดสภาวธรรมเป็นความจริงของชีวิต เชื่อมโยงเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่ให้ยึดติดผูกพัน ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่นไปได้ สติ เป็นคู่ปรับกับอวิชชา ท่านก็จัดโพชฌงค์มันเป็นคู่ปรับกับอนุสัยกิเลสอย่างไร อนุสัย ๗ โพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นคู่ปรับกันนะ เหมือนฝ่ายดำฝ่ายขาว สติจะเป็นคู่ปรับกับอวิชชา ธัมมวิจยะจะเป็นคู่ปรับกับสักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาส การพิจารณาธรรม มันจะเป็นคู่ปรับกับความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกูของกู ความลูบคลำในศีล วิริยะเป็นคู่ปรับกับความลังเลสงสัย ปีติเป็นคู่ปรับกับความขุ่นเคืองใจ ปัสสัทธิเป็นคู่ปรับกับกามราคะ สมาธิเป็นคู่ปรับกับรูปราคะ อรูปราคะ แล้วก็ความฟุ้งซ่าน อุเบกขาเป็นคู่ปรับกับมานะ คือความถือตัวถือตน สติความระลึกนี้ มันจะทำลายม่านโมหะ คือความหลง คืออวิชชา ตรงนี้เราเข้าใจ ธัมมวิจยะ การพิจารณาธรรมนี้ มันย่อมทำลายตัวกูของกู ยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของของเรานี้ลงเสียได้ แม้กระทั่งความยึดมั่นในศีล มันก็จะถูกทำลายไป วิริยะ ความแกล้วกล้าของจิตจะเป็นคู่ปรับกับถีนมิทธะก็ได้ เพราะว่ามันเป็นคู่ปรับกัน แม้กระทั่งเป็นคู่ปรับกับความลังเลสงสัย ปีติ แช่มชื่น เอิบอิ่มใจ มันย่อมดับสิ้นไปซึ่งความพยาบาท และปฏิฆะ ความขุ่นเคืองลงได้ ปัสสัทธิ สงบกาย สงบใจนี้ ย่อมทำให้กามราคะที่มันเกิดขึ้นมา ปกตินี้ กามมันไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ มันอยู่ที่จิตต่างหาก พอจิตมันไปคิดว่า มันสวย มันงาม มันชอบ ไม่ชอบ มันก็เลยดึงเข้ามาหาตัว พอกายใจมันสงบ มันจะไม่คิดถึงอารมณ์เหล่านี้ จึงจะเป็นคู่ปรับของกามราคะ สมาธินี้ ความตั้งมั่น จะเป็นคู่ปรับกับรูปราคะ อรูปราคะ ความยินดีพอใจในการเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ส่วนอุเบกขาความวางเฉยเป็นคู่ปรับของมานะ ความเย่อหยิ่งถือตัว แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสสรุปไว้เลยว่า ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วย่อมทำให้มาก ทำให้มากแล้ว ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ จึงเกี่ยวเนื่องกันไปเช่นนี้ โพชฌงค์ที่บุคคลทำให้มาก กระทำให้มาก ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน ในสมัยหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ อาพาธ ได้รับความลำบาก ก็แสดงโพชฌงค์ ๗ ให้ท่านทั้งสองฟัง เกิดความชื่นชมยินดี โรคก็หายไปในบัดดล ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เองนี้ ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะ สวดโพชฌงค์นั้นถวายโดยความเคารพ พระองค์ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัยหายจากพระประชวรโดยฉับพลัน อาพาธของท่านเหล่านั้นหายไปได้ ไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลสที่ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้วถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา นี่คืออานิสงส์แห่งการเจริญโพชฌงค์
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ