แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๙ การกำหนดรู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในการบรรยายทางสายเอกถึงความดับทุกข์ ก็มาถึงหมวดของสภาวะธรรม ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ ๕ หมวดด้วยกัน วันนี้จะขึ้นหมวดขันธ์กับอายตนะ การกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตรงที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ก็คือ ภิกษุตามรู้ในสภาวะธรรม อุปทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นสภาวะธรรมอยู่ ภิกษุตามรู้สภาวะธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นสภาวะธรรมอยู่อย่างไร คำว่าสภาวะธรรมในขันธ์ ๕ ที่เราสวดมนต์กันทุกวันๆ ที่บอกว่า “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา” ว่าโดยรวบยอด ความยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ นี่แหละ มันเป็นตัวทุกข์ ปกติลำพังขันธ์ ๕ มันจะไม่ได้ทุกข์ แต่เพราะจิตที่เข้าไปยึดว่า เป็นขันธ์ของเรา เป็นอุปาทานขันธ์นี้ สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกที่เข้าใจกันว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นความจริงในระดับสมมติ แต่ความจริงในระดับลึกลงไป ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงขันธ์ ที่เป็นรูป แล้วก็นาม รวมกันเข้าเป็นกลุ่ม รูปกับนาม ภาษาเรียกง่ายๆ ก็คือ กายกับใจ ภาษาธรรมะเรียกว่า รูปกับนาม รูปก็คือสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สัมผัสจับต้องได้ ส่วนนามก็คือเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ความเป็นจริง เขาบอกว่า เปรียบได้เหมือนกับรถยนต์อันเป็นที่รวมส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ยาง รถ ล้อ ที่นั่ง เครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ตัวถังรถ แล้วก็เปรียบเหมือนกับบ้าน บ้านที่เราอยู่อาศัย เรียกกันว่าตัวบ้าน มันมีทั้งหลังคา มีทั้งพื้น มีทั้งเสา มีทั้งโครง มีทั้งกระเบื้อง มีทั้งเพดาน เป็นชิ้นส่วนต่างๆ จึงรวมกันเป็นบ้าน ร่างกายคนก็เช่นเดียวกัน การจะมารวมกันเป็นร่างได้ มันก็ต้องมาจากชิ้นส่วนต่างๆ ในวันก่อนๆ แยกชิ้นส่วนของอาการ ๓๒ ในเรื่องของกายอย่างเดียว แต่วันนี้ แยกทั้ง ๒ อย่างก็คือ รูปกับนาม ก็คือ กายกับใจ ดังที่ท่านบอกว่า แน่ะมาร ท่านเห็นผิด เชื่อว่าสัตว์มีอยู่หรือ สมมุติว่าสัตว์นี้เป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ ในกองสังขารนี้ จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย เปรียบเหมือนกับเมื่อรวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จึงสมมุติเรียกกันว่ารถ สมมุติเรียกกันว่าบ้านฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ ก็จะสมมุติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา ก็มีฉันนั้น โดยแท้จริงแล้ว ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้เข้าใจความจริงของชีวิตในระดับลึกที่สุด จนเหลือเพียงขันธ์ ๕ จึงตรัสการเจริญสติปัฏฐานในหมวดขันธ์ไว้เพื่อละความยึดติดในตัวในตน เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นโครงสร้างของทางร่างกายของตนเองแล้ว ความไม่รู้ ความหลงทั้งหลาย มันก็จะค่อยๆ จางคลายดับไป แล้วอนุสัยกิเลสที่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดานที่มันแทบมองไม่เห็นนี้ ที่มันเป็นตัวก่อทุกข์ เป็นตัวสร้างภพสร้างชาติ มันก็จะถูกขจัดไปได้จนเด็ดขาด ส่งผลให้บรรลุความหลุดพ้นอย่างแท้จริง
ขันธ์ คำว่าขันธ์แปลว่า หมู่ แปลว่ากอง หมายถึงว่า การรวมตัวกันของรูป-นาม ที่จำแนกเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต อยู่ภายใน หรือภายนอก หยาบ หรือละเอียด ทรามหรือประณีต อยู่ไกลหรือว่าอยู่ใกล้ ที่เราสวดกันนี้ “อัชฌัตตัง วา พะหิตธา วา” ภายในหรือภายนอก หยาบหรือรายละเอียด “โอฬาริกัง วา สุขุมัง วา หีนัง วา ปะณีตัง วา” หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต “ยัง ทูเร วา สันติเก วา” อยู่ใกล้หรือว่าอยู่ใกล้ อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นว่าเป็นเรา เป็นของๆ เรา รวมกันเป็นอุปาทานขันธ์ จึงเป็นที่มันยึด มันยึดว่ากาย ว่าใจเป็นของเรา ทีนี้ แยกเป็นชิ้นส่วน ๕ ส่วนด้วยกัน ขันธ์ ๕ แต่ คำว่าขันธ์นี้ บางภพภูมิก็มีขันธ์ๆ เดียว แต่มนุษย์เราหรือแม้กระทั่งเทวดา ภพภูมิอื่นๆ มี ๕ ขันธ์ ที่ว่ามีขันธ์ๆ เดียวก็คือ อสัญญสัตตพรหม ที่มีแต่รูปกาย แต่ไม่มีจิต เพราะตอนที่เป็นนักพรตเป็นโยคี บำเพ็ญสมาธิ แล้วก็มีความเข้าใจว่า การมีจิตนี้ การมีรูป รูปร่างกายนี้มันไม่เท่าไหร่ แต่การมีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความคิด มีความปรุงแต่ง มีความจำ มีการรับรู้ ในการเห็น ในการได้ยินต่างๆ นี้มันทุกข์เหลือเกิน ขอไปเกิดแบบไม่มีจิตได้ไหม ด้วยกำลังฌานของท่าน เกิดเป็นอสัญญสัตตพรหม พรหมลูกฟัก อยู่อย่างนั้น ๕๐๐ มหากัป นี่คือภพภูมิที่มีขันธ์ๆ เดียว คือรูปขันธ์
ส่วนขันธ์ ๔ ขันธ์ ก็คือว่า เป็นอรูปพรหม ตัดร่างกายออกไป มีแต่เพียงจิตใจ แต่จิตใจนั้นมันก็มีเวทนา มีความรู้สึกดีใจ เสียใจ สัญญามีความจำ ระลึกได้ แล้วก็สังขารปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความรับรู้ ถึงแม้ว่าจะมองไม่เห็น หูไม่ได้ยิน กลิ่นไม่รู้รส จมูก กาย ลิ้นไม่มี แต่ยังมีใจที่เป็นวิญญาณ เพราะฉะนั้น จึงมีขันธ์ ๔ขันธ์
ขันธ์ ๕ ขันธ์ของเราในภพภูมิมนุษย์นี้ ขันธ์กองแรกคือรูปขันธ์ หรือว่ารูป คำว่ารูป ไม่ใช่ภาพถ่าย ไม่ใช่ picture รูปในที่นี้ก็คือร่างกาย สสารหรือว่าปรมาณูเล็กๆ ภายในร่างกายที่มันแปรปรวนด้วยภายในภายนอก ความเย็นความร้อน ความหิวความกระหาย สัมผัสของยุง เหลือบ ริ้น ไร หมายถึงว่า ธาตุทั้ง ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบด้วยรูปที่อาศัยอยู่มารวมกันเป็นร่างกาย ร่างกายคน ของร่างกายสัตว์ทั้งหลาย เกิดมาจากสมุฏฐานทั้ง ๔ มาจากกรรม กรรมในอดีต แล้วก็จิตปรุงแต่งสร้างมา เป็นตัวนำไปสู่ภพภูมินั้นๆ ภพภูมินี้ๆ ฤดูกาล แล้วก็อาหารที่ทำให้ร่างกายนี้อยู่ได้ ไม่ได้เกิดมาโดยลำพังอย่างใดอย่างหนึ่ง การเกิดของรูปหรือว่าร่างกายนี้ เกิดเป็นกลุ่มๆ เป็นหมวดๆ เป็นมัดๆ ซึ่งเรียกว่ารูปกลาป หรือว่ารูปกะลาปะ รูปกลาปนี่เอง เขาบอกว่า เป็นรูปที่ละเอียดที่สุด เล็กที่สุดนะ คำว่ากลาปของรูปนั้น มีขนาดเท่ากับเม็ดปรมาณู ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แล้วท่านก็ได้แสดงถึงขนาดของเม็ดปรมาณู โดยเทียบส่วนของศีรษะของเหา โดยอนุมานนิรนัยดังนี้ ซึ่งท่านแสดงไว้เป็นพันๆ ปีมาแล้ว ในเรื่องของปรมาณูว่า “ฉัตติงสะปะระมาณูนะเมโกนุจะ ฉะติง เต ตัชชะรี ตาปิ ฉัตติงสะ ระถะเรณู จะ ฉัตติงสะ เต ลิกขา ตา สัตตะ อูกา ตา ธัญญมาโสติ สัตเต” หมายความว่า ๑ เมล็ดข้าวเปลือก เราลองนึกภาพตามนะ เมล็ดข้าวเปลือก ๑ เมล็ด ซอยออกเป็น ๗ ส่วน เท่ากับ ๗ ศีรษะเหา ตัวเหาซอยออกไป เมล็ดข้าวเปลือก เหมือน ๗ ส่วน เท่ากับศีรษะของตัวเลน ตัวเหา อูกา ๑ ศีรษะเหาเท่ากับ ๗ ลิกขา - รอยขีด ๑ ลิขา อณูของรอยขีด เท่ากับ ๓๖ ละอองเกสรดอกไม้ - รถเรณู ๑ รถอณู หรือ ๑ รถเรณูนี้ เท่ากับ ๓๖ ดัชชารี ดัชชารีหมายถึงว่า เหมือนกับแสง แสงสายฟ้าฟาด ที่เรายังพอมองเห็นอยู่ แปร๊บๆๆ ๑ ดัชชารี ๑ ละอองสายฟ้าเท่ากับ ๓๖ อณู ตอนนี้มองไม่เห็นแล้ว ๑ อณูเท่ากับ ๓๖ ปรมาณู ๑ ปรมาณู เท่ากับ ๑ กลาปของรูปกาย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าศีรษะของเหา หรือเมล็ดข้าวเปลือกที่ท่านนับไล่ลงมานี้ ที่มันเล็กสุดแล้วนี้ เม็ดปรมาณู หรือว่ารูปกลาปมันยังเล็กกว่านั้นอีก เล็กกว่าศีรษะเหาหลายล้านเท่า จึงถือว่า ไม่มีอะไรเล็กกว่านี้อีกแล้ว ท่านใช้กล้องอะไรส่องสมัยนั้น ท่านใช้กล้องของญาณอภิญญา ในการรู้สิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะพระสัพพัญญุตญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
หนึ่งปรมาณูนั้น เป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ทีสอนกันในพระพุทธศาสนา ลองเปรียบเทียบกันดูกับปรมาณูในทางวิทยาศาสตร์ ว่า จะมีขนาดแตกต่างกันอย่างไร? คืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขาเป็นคนค้นพบพลังงานที่เล็กที่สุดที่เรียกกันว่าอะตอม นักวิทยาศาสตร์ไทย จะแปลคำว่าอะตอมอะไรดีหนอ? ที่มันเป็นภาษาคนไทยเข้าใจง่ายๆ เลยแปลว่าปรมาณู ก็ยังไม่เข้าใจอีกเพราะเป็นภาษาบาลี ปรมาณูมาจากคำว่าปรม ที่แปลว่ายิ่งที่สุดแล้ว ยิ่งที่สุด อณูแปลว่าเล็ก ปรมาณูมาสนธิกัน มันจะแปลว่า อณูที่มันเล็กที่สุด เขาถึงให้ความหมายของคำว่าอะตอม การศึกษาเรื่องปรมาณูในพุทธศาสนานี้ มุ่งหมายเพื่อจะให้เห็นว่า รูปทั้งหลายนั้นเป็นธาตุ มันมาจากธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ให้มันมารวมกันเข้า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มันเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ที่มองเห็นไม่ได้นี้ มาประชุมรวมกัน แล้วก็เกิดขึ้นด้วยอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เกิดมาจากการดลบันดาลขึ้นของใคร มีการสลายตัวอยู่ตลอดเวลา ในวินาทีหนึ่งนี้ตั้งมากมาย เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงการเกิด-ดับของรูปมันมีอยู่ทุกๆ วินาที แต่เรามองไม่เห็น เราจะสังเกตได้ก็ตอนส่องกระจกทีหนึ่งนี้ ทำไมแก่ลง ทำไมมันชราลง ทำไมมันเหี่ยว ทำไมมันย่น ทำไมมีริ้วรอย ทำไมมีเท้ากา อะไรเกิดปรากฏขึ้นมานี้ เพราะมันมีความเปลี่ยนแปลง แต่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่นานๆ เปลี่ยน แต่มันเปลี่ยนทุกๆ วินาที เพราะมันเป็นหน่วยเล็กๆ ที่มันเป็นปรมณูแล้วมันมารวมกันเข้า มันไม่ได้ติดกันนะ มันมีช่องว่าง เรียกว่า ปริเฉทรูป เป็นช่องว่างคั่นระหว่างปรมาณูเล็กๆ เหล่านี้ มันไม่ได้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่เพราะเราเห็นแบบนี้ เราเลยสำคัญว่า มันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะจิตเรายึดอย่างนี้มาตลอด มันล้วนแต่เป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้น ดำรงอยู่ชั่วคราว มันดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่มีหยุด ไม่มีใครที่มีความสามารถไปบังคับ ยับยั้งให้มันหยุดการเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะมันเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเช่นนี้แล้ว จึงจะเอาเป็นที่พึ่งอันถาวรไม่ได้ เพราะมันเป็นทุกข์
ความสำคัญของปรมาณูในพุทธศาสนาอีกบางประการที่จะละเลยไม่กล่าวเสียไม่ได้ก็คือว่า ในปรมาณูหนึ่งนั้น หรือว่าหนึ่งรูปกลาปนั้น หรือนักวิทยาศาสตร์เขาเรียกว่าอะตอมนี้ เขาบอกว่าอะตอมเล็กที่สุดแล้ว แล้วเขาก็ยังแบ่งออกเป็นนิวตรอน โปรตอน อะไรนะที่เขาแบ่งไป แต่ว่า พระพุทธศาสนาเรา ในคำสอนพุทธบอกว่า ๑ ปรมาณู หรือว่า ๑ รูปกลาปนั้น มันไม่ใช่สิ้นสุดแค่นั้น มันยังมีองค์ประกอบอยู่ตั้ง ๘ อย่าง คือมหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส แล้วก็โอชะ รวมกันอยู่ตั้ง ๘ อย่างเรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ มันจะแยกจากกันไม่ได้ ถ้ามี ๑ ปรมาณู หรือว่ามี ๑ อะตอม ๑ รูปกลาป มันต้องมีองค์ประกอบ ๘ อย่างนี้อยู่เสมอ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ท่านอธิบายความสงสัยของคนที่บอกว่า ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีเทวดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมกัน ขยายวงออกไปถึง ๑๒ โยชน์ เทวดามากมายอย่างนั้นมาอยู่อย่างไร หลวงปู่ดุลย์ก็อธิบายง่ายๆ ว่า ๑ ปรมาณูนี้ เทวดาอยู่ได้ตั้ง ๘ องค์ เพราะกายท่านละเอียด ท่านสามารถให้กายของท่านละเอียดเล็กกว่าปรมาณูได้อีก ดังนั้น เวลาที่พุทธเจ้าแสดงธรรมแต่ละครั้ง เช่น แสดงธรรมจักรครั้งแรก ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พรหม ๑๘ โกฏิบรรลุธรรม ถ้าเป็นคนเรานี้ ๑๘ โกฏิ ก็คือ ๑๘๐ ล้าน จะนั่งตรงไหนหมด แต่เพราะท่านมีกายละเอียดแบบนี้แหละ ดังนั้น ทุกๆ อณูในอากาศ สามารถอยู่ได้หมด ท่านเลยบอกว่า พรหม ๑๘ โกฏิบรรลุธรรม เทวดานับไม่ถ้วน ที่มาฟังธรรมจักรของพระพุทธเจ้าครั้งนั้นแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมพร้อมกับท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ หมื่นโลกธาตุเลยหวั่นไหว ด้วยเหตุนี้นี่เอง ดังนั้น เราจึงจะเข้าใจว่า เรื่องความละเอียดเป็นเช่นนี้ ทีนี้ ที่สอนเรื่องปรมาณู พูดถึงเรื่องปรมาณูก็เพื่อจะให้เข้าใจว่า มันมาจากธาตุต่างๆ รวมกัน มันไม่ใช่เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นเนื้อหนังมังสาแบบที่เราเห็นด้วยตาเปล่านี้ อันนี้คือเรื่องของรูป
ต่อไปเวทนา เวทนาคือสภาวะ หรือสุข รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ แบบที่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานไปหลายวันก่อน
ต่อไปสัญญา สัญญาขันธ์ก็คือว่าสภาวะที่จำได้ ว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เวลาที่เราเห็นปุ๊บ เรารู้เลยว่าเขาชื่ออะไร คนนี้ชื่อนาย ก นาย ข มาจากโน่น มาจากนี่ เพราะอะไร? เพราะสัญญาขันธ์มันทำงาน เพราะมันจำได้ มันจดจำเอาไว้ในจิต มันฝังเอาไว้ในชิป คือใจนี่แหละ คือสัญญาขันธ์
ต่อไปสังขาร สังขารขันธ์ สังขารไม่ใช่ร่างกาย แต่สังขารหมายถึงสภาวะที่ปรุงแต่ง ก็คือความคิดนี่เอง ที่มันปรุงแต่งใจไปต่างๆ นี้ ชอบไม่ชอบ โกรธ โลภ สารพัดอารมณ์นี้ที่มันปรุงแต่งไป เรียกว่า สังขารขันธ์
อันสุดท้าย คือ วิญญาณ ไทยเราไปตีความหมายผิด วิญญาณบอกว่าผี ตายแล้ววิญญาณออกจากร่าง ลอยไปลอยมาเหมือนละครหลังข่าว แต่ความเป็นจริงแล้ว วิญญาณในที่นี้หมายถึง การรับรู้ สภาวะรับรู้อารมณ์ทางทวารที่เหมือนกับประตู ๖ บาน ที่เราเป็นเจ้าของบ้าน เวลาอะไรเข้ามา เราก็เห็นหมดแหละ ประตูช่องนี้เอาไว้ดู ประตูช่องนี้เอาไว้ฟัง ประตูช่องนี้เอาไว้รู้กลิ่น ประตูช่องนี้เอาไว้รู้รส ประตูช่องนี้เอาไว้ถูกต้องสัมผัส ประตูช่องนี้เอาไว้คิด เวลาอะไรมันเข้ามาก็รู้หมด ซึ่งตัวรู้นี่แหละเรียกว่าวิญญาณขันธ์คือตัวรู้ เพราะฉะนั้น คนเป็นๆ นี่แหละจึงมีวิญญาณ คนตายแล้ววิญญาณมันก็ไม่มีแล้ว เพราะมันเหลือแต่รูปขันธ์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หมดไป เพราะเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ ตัวอย่างเช่น เวลาอ่านหนังสือ วิญญาณหรือจิตนี้แหละ ทำหน้าที่อ่าน โดยเห็นอักษรทางตา สัญญาทำหน้าที่จำได้รู้ความหมายของตัวอักษรนั้นๆ ถ้าเราจำไม่ได้ เราจะอ่านหนังสือไม่ออกเลย แต่เพราะว่าเราเรียนมาตั้งแต่เล็กๆ เราก็เลยรู้ว่า ก-ไก่ ซึ่งตัวแบบนี้กลมๆ เรียกว่า ก-ไก่ ถ้าคนต่างประเทศที่เขาไม่เคยเห็น เขาอ่านไม่ออก เพราะเขาไม่ได้มีความจำในเรื่องนี้ แต่พอเรามีความจำในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ เราจึงรู้ว่านี่คือ ก-ไก่ เลยอ่านภาษาไทยได้ง่ายเพราะจำ ตามันเห็น จิตมันอ่านผ่านดวงตานี่แหละ สัญญาทำหน้าที่ในการจำได้ แล้วก็รู้ความหมายนั้นๆ ไปเรื่อยๆ เวทนา ความรู้สึก ทำหน้าที่ตอบสนอง เป็นความรู้สึกที่ดี รู้สึกมีความสุขในขณะอ่าน หรือว่ารู้สึกเศร้า หรือบางทีรู้สึกเฉยๆ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กำลังอ่านอยู่ สังขารทำหน้าที่ตั้งใจอ่านต่อไป หรือว่าจะหยุดอ่านด้วยความขี้เกียจก็ได้ เพราะมันปรุงแต่ง ตอนนี้ง่วงแล้วนอนซะหน่อย ตอนนี้ไม่อยากอ่าน ตอนนี้อ่านต่อไปดีกว่า มันปรุงแต่ง อันนี้คือยกตัวอย่างง่ายๆ
ขันธ์ ๕ มันทำงานทั้งวันนะ แต่ละวันนี้เป็นล้านครั้งนับไม่ถ้วน ที่มันปรุงแต่งแต่ละวัน การแสดง ขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้านี้ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อประกาศความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ในสมัยพุทธกาล มีลัทธิจำนวนมากเชื่อเรื่องอัตตาตัวตน ว่าอาตมัน หรือว่า ตัวตน มีอยู่ในคน มีอยู่ในสัตว์ มีอยู่ในพืช เป็นนามธรรมเที่ยงแท้ไม่ตาย แม้คนสัตว์จะตายแล้ว ก็ล่องลอยไปเกิดใหม่ อันนี้ความเชื่อผิดๆนะ บางลัทธิก็บอกว่ามีขนาดเล็กเท่ากับปรมาณูสถิตอยู่ที่หัวใจ บางลัทธิก็บอกว่า มีขนาดเท่ากับร่างกาย เมื่อร่างกายเล็ก อาตมันก็เล็ก ตัวตนก็เล็ก เมื่อร่างกายเติบโตมันก็เติบโตตามไปด้วย บางลัทธิก็เห็นว่ามีขนาดเดียว ซึ่งความเห็นเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น เพราะไม่ได้เห็นจริงๆ แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ เรื่องของกายของใจนี้ ที่มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยตามวงจรของปฏิจจสมุปบาท ตามเหตุตามปัจจัยมาจากปฏิจจสมุปบาท ที่เราพูดกันๆ นี้ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้มันถึงดับ มันเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน เป็นปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ ๕ เหล่านี้ไม่ใช่อัตตา และไม่มีอัตตานอกเหนือไปจากขันธ์ทั้ง ๕ ความเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ นี้ จึงให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนได้โดยตรงๆ เพราะมันก็ทำหน้าที่ของมันไปตามเหตุตามปัจจัย ในเมื่อมันมีถูกปรุงขึ้นมา ด้วยกรรม ด้วยจิต ด้วยฤดูกาล ด้วยอาหาร มันทำงานของมันไป โดยปราศจากตัวตนเราเขา แต่พอความเห็นผิดนี้ว่ามีตัว มีตน จึงเป็นทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดขึ้นมา ท่านบอกว่า หลักธรรมของพระพุทธองค์ เน้นการดำเนินไปของขันธ์ ๕ ตามเหตุตามปัจจัย เมื่อไม่มีเหตุปัจจัย ขันธ์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังที่วงจรปฏิจจสมุปบาทสายดับ ที่มันดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงอวิชชาดับ เมื่อเหตุปัจจัยมันดับ มันก็ทำงานต่อไม่ได้
เหตุเกิดขึ้นของรูป ในวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า มีเหตุ ๔ ประการคือ อวิชชาความหลงนี่แหละ ความไม่รู้ว่ามันแปรปรวนเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ตัณหา-ความยินดีพอใจ กรรม-กรรมดีและกรรมชั่วที่ก่อให้เกิดรูปหลากหลาย อาหาร-สิ่งที่ก่อให้เกิดผล อาหารมีอยู่ ๔ อย่าง กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน เป็นข้าวสุก ขนมสด เป็นอะไรต่างๆ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ผัสสะที่มันกระทบเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการกระทบ ผัสสะมันก่อให้เกิดเวทนา ความรู้สึกยินดีพอใจ เวทนานั้นก็เป็นตัณหาความอยาก มันยึดไปอย่างนี้ ตัณหา อุปาทาน มันก็ยึด ยึดแล้วมันก็ก่อภพก่อชาติ ต่อไป อาหารอย่างที่ ๓ คือมโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนา ความตั้งจิตตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นบุญ เป็นบาป แล้วมันก่อให้เกิดภพชาติ แล้ววิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ก่อให้เกิดรูปนาม กายใจ ในขณะที่เหตุเกิดของเวทนาสัญญาสังขาร อันนี้ท่านพูดละเอียดๆ
ที่นี้วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือว่า ท่านบอกว่าให้รู้ว่านี่คือรูป มันเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ เวทนา ความรู้สึก เวลาความดีใจเกิดขึ้น มันพักเดี๋ยว มันก็ดับไป แม้กระทั่งความเสียใจที่เราบอกว่า แบกโลกไว้ทั้งใบ หาทางออกไม่ได้ เราสังเกตดูดีๆ แล้วมันก็เกิดขึ้นแป๊บ เดียวแล้วมันก็ดับไปนะ เพราะมันมาแทนที่ด้วยอารมณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ สัญญาก็เช่นเดียวกัน ความจำนี้ มันเกิดแล้วมันก็ดับ สังขารความคิดความปรุงแต่งนี้ อันนี้ชัดเลย แต่ละวันนี้ เราคิดเป็นร้อยเรื่องพันเรื่องหมื่นเรื่อง เรื่องนี้ดับไป เรื่องมันเกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไปอีก สังเกตง่ายๆ วิญญาณความเกิดขึ้นของความรู้สึกต่างๆ ผู้ปฏิบัติที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่า ลมหายใจนี้ มันก็เป็นเพียงกองรูป รูปที่มันเคลื่อนไหวได้ เพราะเนื่องด้วยกาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง ลมหายใจก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเราอยู่ในลมหายใจอันนั้น ถ้าลมหายใจมันเป็นของเราจริงๆ นะ คงจะเป็นอมตะ คงจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลมหายใจมาอยู่กับร่างกายนี้ได้ตลอด แต่ทำไมคนถึงตาย เพราะลมหายใจมันก็ไม่ใช่เรา เมื่อถึงเวลามันหยุดทำงาน เหตุปัจจัยมันคงที่ มันสมบูรณ์ หรือว่ามันหมดอายุขัยเมื่อไหร่ มันก็สลาย มันก็หมดไปตามหน้าที่ของมัน ดังนั้น ลมหายใจมันจะไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มีเขาอยู่ในลมหายใจอันนี้ ลมหายใจมันก็มีสภาพไม่เที่ยง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็ดับไปตามธรรมชาติ สูดหายใจเข้าไป จนกระทั่งมันออกมา มันก็สังเกตอย่างหยาบๆ ให้รู้ได้ง่ายๆ เช่นนี้ ลมหายใจเข้าดำเนินไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็สิ้นสุดลง จึงเกิดลมหายใจออก ลมหายใจออกดำเนินไปชั่วขณะ แล้วก็สิ้นสุดลง จึงหายใจเข้าใหม่ การกำหนดรู้อย่างนี้ รับรู้อย่างนี้ เป็นการรู้รูปขันธ์ รู้ร่างกาย รู้ลม รู้ความเกิดดับของรูป ในบางขณะที่กำหนดรู้ลมหายใจนี้ บางทีเรารู้สึกความสบาย หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย มันเกิดจากสติ สมาธิ ที่มันเกิดจากลมหายใจ เราก็รู้อารมณ์นั้นๆ ว่าสบาย ว่าตอนนี้สบาย อิ่มอกอิ่มใจ ดีใจ หรือว่าเกิดความง่วง เกิดความขุ่นเคือง เกิดความฟุ้งซ่าน ก็ให้รู้ตามนั้น อะไรชัด รู้ตามนั้น จึงจะเป็นการเจริญสติ
ต่อไป หมวดต่อไป ผู้ปฏิบัติที่กำหนดขันธ์ ๕ นี้ เราก็รู้ชัดๆ อยู่แล้ว ว่ามันทำงานอย่างไร ให้รู้เพียงง่ายๆ นะ เราไม่ต้องจำชื่อมันเยอะ รู้แค่ว่ากายกับใจก็พอ เพราะว่าที่ได้อธิบายนี้ คือจำแนกของพระพุทธเจ้า จำแนกของครูบาอาจารย์ ที่สอนในพระพุทธศาสนาว่า ให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่เราเลยจริงๆ เพราะว่ามันเกิดมาจากปรมาณูจริงๆ มารวมกัน ไม่มีเรา ไม่มีเขาอยู่ในขณะนี้ เมื่อเรารู้ชัดเช่นนี้ รู้ด้วยปัญญานี้ มันจะทำให้เราเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แต่ถ้ารู้จากการอ่าน รู้จากการจำ อ่านอย่างไร รู้อย่างไร กิเลสมันเท่าเดิม เพราะมันไม่ได้เกิดจากภาวนา บางทีรู้มาก กิเลสมากอีกว่า ฉันรู้ ฉันเข้าใจ อีโก้เพิ่มขึ้นมา ตัวมานะเพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันเกิดจากการเจริญสติ เจริญสมาธิ แล้วมันจะสงบ มันจะพัฒนาไปเป็นขั้นๆ จนกระทั่งเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ยึด ไม่ถือ ว่ามันเป็นเรา เป็นของๆเรา เราต้องการปัญญาเช่นนี้
หมวดต่อไป คือ หมวดอายตนะ การกำหนดรู้อายตนะ พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ แล้วก็ทรงแสดงอายตนะ ๑๒ ไว้ อายตนะแปลว่าอะไร แปลว่าที่อาศัยของจิต และนามธรรมที่มันเกิดร่วมกับจิต จำแนกออกเป็นภายนอก ภายใน อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีทุกคน อายตนะภายนอก คือ มันกระทบเข้ามาจากข้างนอก รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ เห็นได้ว่าอายตนะเหล่านี้มันเป็นที่ตั้งของจิต กับสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ก็คือเจตสิกนั่นเอง ถ้าไม่มีตา ไม่มีรูป จิตที่รู้ว่าอารมณ์ผ่านดวงตาก็จะปรากฏไม่ได้ มันต้องทำงาน ท่านก็จำแนกเห็นง่ายๆ มีธาตุรับ มีธาตุกระทบ มีธาตุรู้ ธาตุรับก็คือ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวรับ เพราะมันเป็นภายใน มันอยู่กับกายเรา ธาตุกระทบก็คือ มาจากข้างนอก เวลาที่ตากระทบกับสิ่งข้างนอก หรือว่าสิ่งข้างนอกมันมากระทบกับตานี้ ลำพังถ้ามีลูกตาอย่างเดียวมองไม่เห็น ศพมองไม่เห็น คนตายเลยมองไม่เห็น สำคัญที่สุดคือธาตุรู้ คือตัววิญญาณ จิตที่รู้อารมณ์ผ่านดวงตานี่แหละ มันทำหน้าที่ทำให้รู้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น เมื่อมีรูปมาปรากฏทางตา จิตที่เห็นรูปทางตานี้ เรียกว่าจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตาย่อมทำหน้าที่โดยอาศัยตาในการเห็น คนตาบอดไม่สามารถเห็นได้ คนตาบอดมีจิตไหม? มี จิตก็มี รูปภายนอกก็มี แต่ว่าประสาทตาไม่มี เพราะมันบอด ธาตุทั้ง ๓ คือ ธาตุรับ ธาตุกระทบ ธาตุรู้ มันทำงานไม่ครบถ้วน คนตายมีดวงตา มีรูปจากข้างนอก แต่ไม่มีจิต ดังนั้น เพราะไม่มีตานี่แหละ มันจึงสื่อผ่านไปถึงประตูใจไม่ได้ ประสาทตานั้น ท่านก็อธิบายง่ายๆ ว่า จักขุประสาท หรือว่าประสาทตานี้ เป็นเยื่อบางๆ ดุจปุยนุ่น ที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำมัน แล้วก็เยื่อบางๆ เหล่านี้ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ถึง ๗ ชั้น โตประมาณเท่ากับศีรษะเหา จุดเล็กๆ ตรงกลางตาดำ ถ้าใครไม่เคยเห็นเหา เอาตัวหมัดก็ได้ หมัดที่มันอยู่กับสุนัข ตัวมันก็ใกล้เคียงกัน จุดเล็กๆ ที่อยู่ตรงกลางตาดำ นั่นแหละคือที่อาศัยเกิดของจักขุประสาท เพราะฉะนั้น ตาขาวทั้งรูปมองไม่เห็น ตาดำทั้งอันก็มองไม่เห็น จุดเล็กๆ ที่เป็นเยื่อบางๆ ซ้อนกันอยู่ ๗ ชั้น ตรงกลางตาดำนั่นแหละ เป็นที่จักขุประสาท การที่จิตจะรู้ว่าตอนนี้เห็นอะไร กำลังเห็นสี เห็นแสง เห็นต้นไม้ เห็นใบหญ้า เห็นคนฟังธรรม อย่างนี้ก็คือการทำงานของมัน มันอาศัยเกิดตรงนี้
ต่อไป โสตประสาท ประสาทหู มันอยู่ภายในช่องหูสำหรับรับคลื่นเสียง สัทธารมณ์แปลว่าคลื่นเสียง มีรูปร่างเป็นวงๆ คล้ายวงแหวน แล้วก็มีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงเรื่อๆ อยู่โดยรอบ มีโสตประสาทปกคลุมแผ่ไปทั่วในบริเวณนี้ เป็นที่รับเสียง แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ คือวิญญาณทางหู จะรู้เสียงก็ตรงนี้แหละ
ต่อไป ฆานประสาท ประสาทที่อยู่ในจมูกนี้ อยู่ภายในช่องจมูก มีรูปร่างเหมือนกับเท้าแพะ เท้าแพะก็รูปหัวใจยาวๆ หน่อย อยู่ตรงนี้ ตรงโพรงจมูก มีความใส เป็นเครื่องรับสัมผัสกลิ่น มีความสามารถในการรับอารมณ์คือกลิ่น วิญญาณทางจมูกที่รู้กลิ่นมันจะเกิดตรงนี้
ต่อไป ชิวหาประสาท วิญญาณทางลิ้นอยู่ท่ามกลางลิ้น มีรูปร่างเหมือนกับปลายกลีบดอกบัว เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีความใส เป็นเครื่องรับสัมผัสรส สามารถรู้รส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต่างๆ อยู่ตรงนี้ที่อาศัยเกิด
กายประสาท ประสาททางกาย เป็นรูปที่เกิดมาจากอำนาจของกรรม มีความใส สำหรับรับสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กายประสาทนี้ มีอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่มันหนาๆ จะไม่มีกายประสาท เพราะกายประสาทมันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาจับผมก็ไม่รู้สึกอะไร จับเล็บก็ไม่ค่อยรู้สึกอะไร กับขนก็ไม่รู้สึกอะไร จับฟันก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะกายประสาทมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ลึกเข้าไป นี้คือเป็นที่อยู่ของวิญญาณทางกาย ที่รู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง
เวลาคนเรานี้ เมื่อเห็นหน้าของคน เราก็พูดกันว่าเห็นๆ ในทันทีที่มอง แต่อย่างไรก็ดี คลื่นของแสง ก็หาใช่ว่าจะสะท้อนจากใบหน้ามากระทบกับจิต ที่ประสาทตาพร้อมกันในทันทีทันใดทั้งหมด เพราะจิตจะต้องรับอารมณ์ทีละอารมณ์เท่านั้น ในวิถีหนึ่งๆ รูปคือคลื่นแสงมากระทบกับจิตประสาทที่ตา จะเกิด-ดับไป ๑ ขณะ ต่อจิตที่เกิด-ดับถึง ๑๗ ขณะ ในการเห็นครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้นี่เอง รูปคือคลื่นของแสง ที่สะท้อนมาจากใบหน้าของคนใดคนหนึ่งที่เรามอง จึงสะท้อนจากจุดต่างๆ บนใบหน้า แล้วมากระทบกับจิตที่อยู่ประสาทตาทีละจุดๆ จากดวงหน้า คิ้ว จมูก ปาก แก้ม คาง ผม มองรวมกันไปแล้วจึงเป็นหน้าของคนนั้น คนนี้ เพราะมันปรุงแต่งไปแล้วว่า คนนี้ชื่ออะไร คนนั้นชื่ออะไร เพราะสัญญาขันธ์มันทำงาน มันจึงรู้ว่า นายนั้น นางนี้ คนนั้นอย่างนั้น คนนั้นอย่างนี้ รู้ภูมิหลังไปหมด เพราะว่าเรารู้ข้อมูลของเขาอยู่แล้ว ใจมันจำไว้อยู่ แล้วจิตมันจำไว้อยู่แล้ว จิตจะรับอารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น จะรับสองอารมณ์พร้อมกันไม่ได้ เช่น เห็น ก็พร้อมกันตรงจุดตรงปาก จะเห็นเฉพาะปากนะ จะไม่ได้เห็นตา แต่เนื่องจากความไวของจิตนี้ มันนับไม่ได้ มันนับไม่ทัน ท่านบอกว่าลัดนิ้วมือหนึ่ง มันเกิด-ดับตั้ง ๑๘ โกฏิขณะ มันไวมาก ไวกว่ากำลังของแสงอีก เพราะฉะนั้น เราจึงตามไม่ทัน พอเห็นพรวดเดียวมันก็เห็นไปหมดเลยนี้ รู้เป็นคนนั้น คนนี้ พร้อมกับที่จะปรุงแต่งด้วย ว่าชอบ ไม่ชอบ สวย ไม่สวย หล่อ ไม่หล่อ ดี ไม่ดี ดูไปหมด ปรุงแต่งไปหมด เพราะว่าตามไม่ทันตั้งแต่ขณะที่เห็น ดังนั้น อารมณ์คือรูปนี้ มันคือคลื่นของแสงที่สะท้อนเข้ากระทบกับจิตที่ประสาทตา จึงเข้ากระทบทีละหนึ่ง ๆๆ เป็นจำนวนมาก จิตมันก็จะเข้ารับการกระทบ เกิด-ดับสืบต่อกันไป จึงรู้สึกว่ามันเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ อารมณ์เหล่านี้ ผู้เห็นยังตัดสินว่าเป็นอะไรไม่ได้ สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น มันจึงเป็นอารมณ์แท้ๆ เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นความจริงแท้แน่นอน เพราะคลื่นของแสงมันก็มีจริง คือ ตามธรรมชาติ แล้วก็จิตที่รู้อารมณ์ก็มีอยู่จริง แต่พอเราตามไม่ทัน การที่จะเท่าทันมีอย่างเดียวคือ เจริญสติ มันจะสักแต่ว่าเห็นได้ ไม่อย่างนั้น มันจะปรุงแต่งครบเลย ผู้ชาย ผู้หญิง คนนั้น คนนี้ ชอบ ไม่ชอบ ปรุงแต่งพรวดไปเลย หลง พร้อมที่จะหลง โมหะ อวิชชาก็คือความหลง ความไม่รู้ ความโง่นี้ มันก็จะเกิดตรงเห็น ตรงได้ยินนี้แหละ เพราะมันไม่ทัน
เสียงก็เช่นเดียวกันนะ เวลาที่คลื่นของเสียงมากระทบกับจิตประสาทหูแล้วนี้ มันต้องได้ยินอย่างแน่นอน ได้ยินมันจึงมีจริง แล้วจิตมันก็ไปรับรู้ แต่บุคคลทั้งหลายหาได้เข้าใจเช่นนี้ไม่ กลับสร้างมโนภาพขึ้น แล้วก็หลงใหลในมโนภาพของตนเอง จึงทำให้เกิดชอบ ไม่ชอบ หลงขึ้นมา โดยไม่ได้รู้สึกตัวว่า แท้จริงมันก็คือมีแค่เสียงสูงๆ ต่ำๆ เป็นแค่คลื่นเสียงเท่านั้นเอง มันเป็นรูปธรรมกับจิตที่ได้ยินแค่นั้นเองที่รู้ มีแต่กับเหตุผล มีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ แต่เพราะเราปรุงแต่งไปแล้วว่า คำนี้เขาด่าเรา เช่นว่า เขาว่าเราว่า เจ้าเป็นคนเลว ๔ พยางค์ ถ้าลองซอยคำออกมานี้ เจ้าคำหนึ่ง เป็นคำหนึ่ง คนคำหนึ่ง เลวคำหนึ่ง แต่เพราะความไว จิตไปรู้กับเสียงที่ได้ยิน มันก็เลยรวบเข้ามาเลยว่า เขาด่าเรา แล้วจิตมันก็จำได้เลยว่า นี่มันเป็นคำหยาบ ลองเอาคำนี้ไปด่าคนต่างประเทศ เขาก็ไม่รู้เรื่องนะ เพราะว่า เขาไม่ได้มีความจำในคำแบบนี้ สัญญาความจำในเรื่องของคำด่าแบบนี้ไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลที่ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยินได้นี้ อะไรมันจะมากระทบจิตไม่ได้ เป็นแค่ลมผ่านหู เป็นเพียงแค่คลื่นเสียงเท่านั้น แต่เพราะเราตามไม่ทันก็ปรุงแต่งไปว่าชอบ ไม่ชอบ เสียงดี เสียงไม่ดี เสียงไพเราะ ไม่ไพเราะ เขาด่าเรา เขาว่าเรา ปรุงแต่งไปสารพัด แล้วสุดท้ายตัวเองทุกข์ เพราะว่ายึดเอาไว้
จิตมันเป็นธรรมชาติรู้ มันไม่ใช่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย หรือไม่ได้เป็นสิ่งของอะไรต่างๆ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มันเกิดขึ้น มาจากเหตุ มีแต่เหตุกับผลเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไปในทันใดนั้นเอง แต่ผู้เห็นนี้กลับหลงผิดคิดเอา สร้างมโนภาพให้เป็นไปต่างๆ แท้ๆ แล้วนี้ โดยอาศัยอดีตของตนเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ เพราะความหลง เช่นคำว่า ที่เขาพูดว่าเราว่า เจ้าเป็นคนเลว ความจริงนี้ ๔ พยางค์นี้มันไม่ได้พูดพร้อมกันนะ เจ้าคำหนึ่ง เป็นคำหนึ่ง คนคำหนึ่ง เลวคำหนึ่ง พอคำว่าเจ้า พอพูดเสร็จมันก็ดับไป คำว่าเป็นมันก็ต่อขึ้นมา คำว่าเป็นดับไป คนมันก็ต่อขึ้นมา แล้วคำว่าคนดับไป คำว่าเลวก็ต่อขึ้นมา แต่เพราะจิตเราไปยึดว่า เขาด่าเราว่าเป็นคนเลวแบบนี้ ความจริงแล้ว มันเป็นอารมณ์อดีตปัจจุบัน อดีตปัจจุบัน ไปเรื่อยๆ แบบนี้ มันดับ เกิดดับ เกิดดับ การเห็นการได้ยินมันเป็นเช่นนี้ การได้กลิ่น การรู้รสถูกต้องสัมผัสก็เป็นคล้ายๆ กัน มันเกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเราถูกโมหะ อวิชชานี้ คือความโง่ ความหลงมาปิดบังอำพรางเอาไว้ เพราะมันเกิด-ดับรวดเร็วเหลือเกิน จนไม่สามารถจะเห็นความเป็นจริงที่มันเป็นปรมัตถ์ เป็นความเป็นจริงของธรรมชาติได้ นอกจากผู้ที่เจริญสติ เจริญกรรมฐาน เจริญสติปัฏฐานเท่านั้นจึงจะรู้เท่าทันเห็นได้ นี่แหละคือวิธีอย่างวิเศษสุดที่พระพุทธองค์ทรงมาสอน สอนที่จะให้คลายความยึดมั่นถือมั่น คลายความยินดี คลายความไม่ชอบใจ “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง” นี้ กำจัดความชอบไม่ชอบ ในกายในใจได้ สตินี้มีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง การเจริญสติระลึกรู้อายตนะภายในภายนอกนี้ จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรม เห็นโลกทัศน์ภายในภายนอกว่า ไม่ใช่ตัวตน มีเพียงกระบวนการเชื่อมโยงกันโดยความเป็นธาตุรับ ธาตุกระทบ ธาตุรู้ ปราศจากตัวเรา ของเรา ที่เที่ยง เป็นสุข บังคับบัญชาได้ ผู้ที่ไม่อาจแยกแยะขอบเขตของการทำงานแบบนี้ได้ ย่อมหลงผิด ปรุงแต่งสิ่งที่ใจรับรู้ตลอดเวลา ส่งผลให้กิเลสสั่งสมพอกพูนขึ้น แต่ผู้ที่กำหนดรู้ด้วยสติปัญญา พิจารณาอย่างถูกต้อง ย่อมไม่ทำปฏิกิริยาปรุงแต่งด้วยความชอบหรือไม่ชอบ จะส่งผลให้กิเลสอ่อนกำลังลง จนในที่สุด จะถูกละได้เด็ดขาดด้วยมรรคญาน มีโสดาปันติมรรค เป็นต้น
ในหมวดนี้ พระพุทธองค์สอนให้ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ตา รูป แล้วก็กิเลสที่มันเกิดขึ้นในขณะเห็น ความจริงแล้ว การเจริญสติระลึกรู้ในขณะเห็น ก็คือการกำหนดรู้สภาวะธรรมเป็นหลัก เห็นสักแต่ว่าเห็น หรือว่าเห็นหนอก็ได้ สักแต่เห็น เพราะมันเป็นการเห็นเท่านั้น พอมันเห็น สักแต่ว่าเห็นได้ มันจะไม่เข้าสู่ใจ แล้วมันจะไม่ได้ปรุงแต่งว่า เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง จะไม่ได้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เพียงแค่เห็นเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรต่างๆ ให้เป็นสักแต่ว่า เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสระบุการกำหนดรู้สภาวะเป็นหลักๆไว้ แก่ท่านพระพาหิยะที่ว่า “ตสฺมา ติห เต พาหิย เอวํ สิกฺขิตพฺพํ ทิฏฺเฐ ทิฏฺฐมตฺตํ ภวิสฺสติ สุเตสุตมตฺตํ ภวิสฺสติ มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสตีติ เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺขิตพฺพํ” พาหิยะ เพราะเหตุนั้นนั่นแล เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจากเห็นเพียงแต่เห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินจักเป็นเพียงแต่สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย จักเป็นเพียงแต่ว่าสักแต่ว่ารู้ เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ ก็เป็นสักแต่ว่ารู้อารมณ์ พาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล เมื่อเป็นแต่สักว่าๆ นี้ เมื่อนั้นเธอจะไม่มีในอดีต จะไม่มีในอนาคต จะมีแต่ปัจจุบัน นี่แหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ของเธอ” พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ ท่านพระพาหิยะเจริญวิปัสสนาในขณะที่ฟังตาม จิตท่านก็บรรลุมรรคผลตามลำดับ เป็นพระอรหันต์ในขณะที่ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในขณะที่เสด็จบิณฑบาต พระพุทธเจ้าตรัสสั้นๆ แค่นี้ ผู้ปฏิบัติสามารถรู้เท่าทันสภาวะเห็นได้ ก็จะมีเพียงสภาวะเห็นโดยไม่มีรูปร่างของสิ่งที่เห็น แล้วกิเลสที่มันผูกรัด ชอบ-ไม่ชอบ ที่จะปรุงแต่งในเรื่องของกาม จะปรุงแต่งในเรื่องของปฏิฆะ ความขุ่นเคืองขัดใจมันจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราตัดมันทัน แต่ถ้าใจรับรู้ไปถึงรูปร่างของสิ่งที่เห็นแล้ว มันก็จะคิดปรุงแต่ง แล้วก็ตอบสนองความรู้สึกของตน ส่งผลให้ความรู้สึกชอบ-ไม่ชอบเกิดขึ้น คนทั่วไปก็มักจะไม่สำคัญว่า ตานี้เห็นรูปพรรณสันฐาน แท้ที่จริงแล้ว อารมณ์ที่มันเห็นทางตาก็คือสีต่างๆ แสงต่างๆ เท่านั้นเอง ไม่ใช่รูปพรรณสัณฐาน เพราะรูปพรรณสัณฐานมันสมมุติขึ้นมาจากสัญญาที่เราจำได้ว่า นี่คือผู้ชาย นี่คือผู้หญิง แบบนี้เรียกว่าสวยนะ แบบนี้เรียกว่าขี้เหร่ แบบนี้เรียกว่า perfect นะ แบบนี้เรียกว่ารับไม่ได้นะ อย่างนี้ เพราะว่าจิตมันจำเอาไว้แบบนี้ เพราะฉะนั้น มันก็เลยปรุงแต่งไปสารพัดที่เห็น
ท่านก็อธิบายขยายความอีกว่า ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฐํ ยํ ทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ. อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห พชฺฌมาโน น มุจฺจติ.
บุคคลดูสิ่งใด ไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งใดไม่เชื่อว่าดูสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็น ย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น ฟังแล้วอาจจะงงๆ คำว่า “บุคคลดูสิ่งใดไม่ใช่ว่าเห็นสิ่งนั้น” หมายความว่า บุคคลดูรูปร่างสัณฐานด้วยความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน ย่อมเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานเป็นหลัก ไม่เห็นรูปารมณ์ที่เห็นสีต่างๆ ซึ่งเห็นด้วยตา ดังนั้น เลยบอกว่า ดูสิ่งใดไม่เชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น เพราะว่า เห็นแบบจำหมดเลยว่า เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ แต่ไม่ได้เห็นของจริงๆ ว่า มันเป็นเพียงแค่กายกับใจ เป็นเพียงแค่ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ มันมาประชุมรวมกัน เลยบอกว่า ดูสิ่งใดไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น เพราะไม่เห็นของแท้ เห็นสิ่งใดไม่ชื่อว่าดูสิ่งนั้น หมายความว่า สิ่งที่บุคคลพบเห็น คือ คลื่นแสง หรือว่าสี ที่มันเป็นสีต่างๆ นี้ แต่เขาไม่ได้ดูด้วยปัญญาจักษุตามความเป็นจริง เลยบอกว่า เห็นสิ่งใดแต่ไม่ได้ดูสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็นย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น หมายถึงว่า เมื่อเขาไม่เห็นสภาวะที่มีจริง คือมันเป็นเพียงแค่อาการเห็น เป็นเพียงแค่ตาเห็นรูป จิตรับรู้ แล้วก็สิ่งที่เข้ามากระทบ เป็นเพียงแค่คลื่นแสง เป็นเพียงแค่สีต่างๆ เท่านั้นเอง เมื่อไม่เห็นสภาวะความเป็นจริงเช่นนี้ ย่อมหลงติดในอัตภาพร่างกาย แล้วก็ถูกกิเลสสังโยชน์มันผูกรึงรัดเอาไว้ ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเป็นตน เมื่อติดอยู่ก็หลุดพ้นไปไม่ได้
ในปัจจุบัน มีบางแห่งสอนในขณะเห็น ให้พิจารณาว่า ตาเห็นเป็นรูป สีเป็นรูป จิตที่เห็นเป็นนาม การพิจารณาแบบนั้นมันไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นวิปัสสนึก คือนึกตาม มันเป็นปัญญาแบบคิดๆ มันไม่ใช่ปัญญาแบบพิจารณา แบบสติ สมาธิที่ไปรับรู้ ปัญญาแบบนี้ มันมีวิธีเดียวที่จะให้เกิดขึ้นได้ เจริญสติ เจริญสมาธิ มันจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของมัน นอกจากนั้น ปัญญาจากการเรียนรู้ ที่เป็นปัญญาจากสุตมยปัญญา ปัญญาจากการคิดวิเคราะห์ เป็นจินตามยปัญญา ยังไม่ใช่วิปัสสนา เพราะมันยังไม่ใช่การเห็นแจ้ง แต่เป็นวิปัสสนึก คือนึกเอา คิดเอาเอง เพราะไม่ได้เกิดมาจากประสบการณ์ภายในตนเอง ปัญญาทั้งสองนั้นมันพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อได้รับข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา หรือว่าพิจารณาทบทวนในภายหลัง แต่วิปัสสนามันจะเป็นปัญญาจากการอบรมจิต เป็นญาณปัญญาเห็นความเป็นจริง เป็นญาณทัศนะ ปัญญารู้เห็น ปัญญารู้แจ้ง ด้วยปัญญาจักษุ สมาธิ สติ มันจะเกิดโดยลำดับเมื่อมันคมชัดขึ้นมา แบบที่ได้อุปมาเสมอๆ ที่ว่า เหมือนเราเคาะ สมัยก่อน ท่านอุปมาว่าเคาะพิมพ์ดีด เพราะคนสมัย ๔๐-๕๐ ปีต้องเคาะพิมพ์ดีด เคาะพิมพ์ดีดทีละตัวๆ นี้ กว่าจะได้หนังสือเป็นเล่มๆ ปัจจุบันก็อุปมาง่ายๆ คือเคาะคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ต้องเคาะเป็นหมื่นครั้ง เป็นล้านครั้ง กว่าจะได้หนังสือเล่มหนาๆ เล่มหนึ่ง สมมุติว่าหนังสือเล่มนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ดูว่าต้องเคาะกี่ครั้ง กว่าจะได้หนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้น เราทำไปปฏิบัติไปนี้ ไม่ต้องสงสัย ได้หรือไม่ได้ มันได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องวางใจให้เป็นนะ อย่าวางใจผิด ส่วนใหญ่จะเอาความอยากเป็นตัวนำ พอเอาความอยากเป็นตัวนำแล้ว ปัญญามันไม่เกิด เพราะวางจิตผิด เอาความโลภเป็นตัวนำ แต่ต้องเอาฉันทะเป็นตัวนำ ฉันทะที่เป็นตัวอิทธิบาท ยินดี พอใจในสิ่งที่ทำ ทำให้สุดๆ ไปเลย จะได้ ไม่ได้ ช่างหัวมัน แต่ทำแบบนี้ ปฏิบัติแบบนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สติ สมาธิ ปัญญา มันก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ย่อมจะชัดแจ้งในอารมณ์ที่มากระทบในขันธ์ ๕ ในอายตนะ ๑๒ เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดรู้เท่าทันเช่นนี้ ก็จะสามารถเห็นกระบวนการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นนี้ มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นเพียงแค่การทำงานของของขันธ์ เป็นการทำงานของอายตนะ
ดังนั้น ดังคำหลวงพ่อที่บอกว่า เรามีตาก็เพื่อฉลาด มีหูก็เพื่อฉลาด มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็เพื่อฉลาด เอาทวาร เอาอายตนะเหล่านี้ เอามาเป็นอุปกรณ์ให้เกิดความฉลาดจริงๆ จึงจะได้ผลจากการปฏิบัติ ผู้ที่เกิดมา ผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ก็ต้องมีขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่ครบองค์ประกอบ ขันธ์แต่ละขันธ์ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองทุกขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกี่ขันธ์ ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เราทุกคนก็ต้องเอาอุปกรณ์อย่างดี คือ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ นี้ เอามาพิจารณาเพื่อให้เป็นวิปัสสนา เพื่อให้ธาตุขันธ์จะได้เป็นธาตุขันธ์บริสุทธิ์ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้มันถูกต้อง เราทุกคนจะได้เข้าใจ จะได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ใช้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มาพัฒนาให้ใจของเราได้เกิดปัญญา เกิดภาวนา การปฏิบัติเน้นลงที่ปัจจุบัน เราจะเน้นอย่างนี้ ทุกอย่างมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราเอาสิ่งที่มันไม่มั่นคง ที่มันเปลี่ยนแปลงตลอดนี้ ให้เกิดปัญญา อย่าให้มันมีอวิชชา เกิดความหลง เพื่อจะได้ตัดกระแส ตัดวงจรแห่งการสร้างบาป สร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัย การปฏิบัติของเราที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ นี้ ต้องให้เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็เพื่อฉลาด เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพราะว่าที่มันมีปัญหา มันเกี่ยวกับใจของเราที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่บำรุงจิตใจ ไม่ได้ให้อาหารใจ ก็คือ ไม่ได้ให้อารมณ์ของพระนิพพาน เราไปให้แต่อารมณ์ของมนุษย์ ไปให้แต่อารมณ์ของสวรรค์อยู่ทุกๆ วัน มันก็ไม่เกิดปัญญา เราต้องรู้จุดหมายของเรา คือ พระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นมันจะลงในรูป ในเวทนา ในสังขาร ในวิญญาณ สภาวะธรรมของร่างกายมนุษย์ ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อดูแลธาตุขันธ์ พัฒนาจิตใจ ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ลูกหลานว่า มนุษย์เรานี้เป็นผู้ประเสริฐ ต้องทำอย่างนี้ๆ
พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ที่สอนเน้นหนักไปในเรื่องของทุกข์ ชี้ให้เห็นถึงทุกข์ ความดับทุกข์ วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ วิทยาศาสตร์ทางจิตทางใจ ชาวโลกทั้งหลายมองเข้าไปไม่ถึง แล้วก็สอนให้เห็นหนทางที่จะพ้นไปจากทุกข์ไม่ต้องแก้ปัญหาให้ชีวิตอีกต่อไป นั่นก็คือ ต้องมาเจริญสติ มาเจริญปัญญา ตัวการสำคัญที่สุด ที่มันเป็นต้นเหตุให้คนโง่ คนหลง ทำให้ทุกข์เกิดขึ้นมา แล้วก็ให้รู้จักทำลายต้นเหตุเหล่านั้นด้วย พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักทุกข์ก่อนนะ ไม่ได้สอนให้รู้จักสุขเลย สอนให้รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหา คือความอยาก ความดับทุกข์ก็มีอยู่ แล้วก็วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ คือเส้นทางนี้ อริยมรรคมีองค์ ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นในเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต พร้อมทั้งแนะแนวทางเอาไว้ให้ด้วยว่า จะแก้ปัญหา คือทำลายโมหะ ทำลายอวิชชา ณ ตรงนี้คือ ณ ปัจจุบัน ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่รู้กลิ่น ในขณะที่รู้รส ในขณะที่ถูกต้องสัมผัส ในขณะที่คิด รู้ตรงนี้ ณ ปัจจุบันขณะ รู้ตรงนี้แหละ มันจะเป็นตัวการสำคัญที่จะตัดวงจรได้ ความรู้สึกที่เห็น ได้ยิน เป็นต้นนี้ มันเป็นตัวการทำให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์โศกโรคภัย ก็ยึดเอาไว้ว่า เราเห็น เราได้ยิน เราชอบ เราไม่ชอบ เขาด่าเรา เขาว่าเรา เขานินทาเรา เขาสรรเสริญเรา สารพัดอารมณ์ที่มันเป็นอาคันตุกะกิเลสที่มันจรเข้ามา ในประตูตา หู จมูก ลิ้น กายใจนี้ เราต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี อาวาสิกวัตร ต้องรู้เท่าทัน พอรู้เท่าทันด้วยสติแล้ว เราก็ไม่รับแขก เพราะมันเป็นแขก คือกิเลส รู้แล้วเราไม่รับเอาไว้ เพราะมันเป็นของไม่ดีนี่ จะเอาเข้าบ้านทำไม แต่ส่วนใหญ่นี้มีน้ำใจมากเกินไป กิเลสไม่กิเลส เปิดเข้ามาในบ้านหมด สุดท้ายทุกข์เอง เสียใจจากการเห็น ทุกข์ใจจากการเห็น ทุกข์ใจจากการฟัง ทุกข์จากการได้กลิ่นรู้รสสัมผัส มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่พอความทุกข์มันไม่ค่อยปรากฏ เราก็เลยเห็นว่ามันเป็นสุข ทั้งที่จริง แล้วทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ แต่เพราะเราไม่รู้เท่าทัน เราจึงต้องเวียนว่ายตายเกิด ก่อภพก่อชาติแบบนี้ ผู้มีปัญญาพิจารณาปัญหาของชีวิต ก็จะกำหนดพิจารณาด้วยปัญญา คือโยนิโสมนสิการ พิจารณาแจ้งตามอารมณ์ต่างๆ ที่มันมาปรากฏชัด ทำให้บ่อยๆ ทำให้ชำนาญจนเป็นวสี ดูเหมือนไม่ยาก แต่ความเป็นจริงพอไปปฏิบัติจริงๆ นี้ ทำอย่างไรจึงจะสักแต่ว่าเห็นได้ จึงจะสักแต่ว่าได้ยินได้ มันเป็นของยาก แต่อะไรที่มันยาก ทำมากๆ มันก็จะง่าย ต้องทำให้เป็น พหุลีกะตา ทำบ่อยๆ ทำมากๆ ไม่มีอะไรที่เกินวิสัยของมนุษย์ ถ้ามันทำยาก คงไม่มีพระอริยเจ้า แต่พระอริยเจ้า พระอรหันต์มีอยู่มากมายตั้งแต่พุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะท่านพิจารณาเห็น รู้เท่าทัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หยิบใบไม้ในป่าประดู่ลาย หยิบขึ้นมากำมือหนึ่ง ต่อหน้าภิกษุจำนวนมาก แล้วก็ถามว่า ใบไม้ในป่ากับใบไม้ในกำมือนี้ อันไหนมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใบไม้ในป่ามีจำนวนมากกว่า ใบไม้ในมือของพระพุทธองค์มีจำนวนน้อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จะแสดงธรรมเฉพาะที่เป็นส่วนน้อยที่เหมือนใบไม้ในกำมือนี่แหละ ที่สามารถดับทุกข์ได้จริงๆ เพราะสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้านี้ ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่นำมาสอน เหมือนใบไม้ในกำมือที่มันมีประโยชน์ในการดับทุกข์ ปัญหาเรื่องชีวิต แล้วก็ความพ้นทุกข์ ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า จึงสอนแต่เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ แล้วก็วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ แม้จะเป็นเพียงใบไม้ในมือซึ่งเป็นส่วนน้อย ถึงกระนั้น ผู้ที่จะเข้าถึงแก่นแท้และกว้างขวางลึกซึ้งจริงๆ ต้องใช้เวลามากมาย อาจจะตลอดชีวิตก็ยังทำไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเวลาในการอบรมบ่มอินทรีย์ ทำที่นี่ และเดี๋ยวนี้ จึงจะได้ประโยชน์จริง ดับทุกข์ได้จริง ณ ปัจจุบันขณะจริงๆ จึงไม่เสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ