แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๗ การกำหนดรู้จิตให้แจ่มแจ้ง
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรมความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้ เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในช่วงนี้เป็นการบรรยายภาคประพฤติภาคปฏิบัติในเรื่องของทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ วันนี้จะขึ้นหมวดการดูจิต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามกำหนดรู้จิต ลักษณะของจิต จิตก็คือ สภาวะที่รู้สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยผ่านประตูที่เป็นทวาร เป็นประตู ๖ บาน เหมือนกับคนที่นั่งอยู่ในบ้านนี้ สามารถมองดูสิ่งที่อยู่นอกบ้านผ่านประตูทั้ง ๖ นี้ การรู้สึกผ่านตาเป็นการเห็น การรู้เสียงผ่านหูเป็นการได้ยิน การรู้กลิ่นผ่านจมูกก็เป็นการรู้กลิ่น การรู้รสผ่านลิ้นเป็นการลิ้มรส การรู้สิ่งที่สัมผัสผ่านร่างกายเป็นการถูกต้องสัมผัส แล้วก็การรับรู้ทางใจเป็นการนึกคิด แต่เดิมทีนี้ จิตมีธรรมชาติประภัสสรก็คือผุดผ่องใสตามปกติเหมือนน้ำที่ใสสะอาด คำว่าประภัสสรนี้คือ ใส ผุดผ่อง แต่ยังมีกิเลสอยู่นะ เพียงแต่มันใส มันผุดผ่อง เพราะเป็นเพียงสภาวะแค่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และก็นึกคิดเท่านั้น ปราศจากการปรุงแต่งหรือว่าตอบสนองต่อสิ่งที่พบอยู่ แต่จิตนั้น ต้องประกอบกับนามธรรมอีกอย่างหนึ่งเสมอ ที่เรียกกันในภาษาธรรมะว่าเจตสิก “เจตสิก” แปลว่า สภาวะที่ปรุงแต่งจิต เมื่อเจตสิก สภาวะที่ปรุงแต่งจิตเข้ามา ดังนั้น จิตจึงเศร้าหมองไปด้วยอำนาจของเจตสิกฝ่ายดำ ก็คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ แล้วก็โมหะ ความหลง เป็นต้น เหมือนน้ำที่มันใสสะอาด ขุ่นมัวด้วยโคลนตม ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ตาของเรานี้เห็นสีอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตของทุกคนก็จะทำหน้าที่รู้สีเป็นอารมณ์ แล้วก็ตัวความโลภ มันก็จะทำให้รู้สึกชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ความโลภทำให้ชอบ โทสะความไม่ชอบนี้ มันทำใจเราให้ไม่ชอบ เจตสิกฝ่ายดำมากจะทำให้เสียศูนย์ ขาดจากความเป็นกลางอยู่เสมอๆ หลอกล่อให้หลง ยั่วยวนให้รัก ให้พอใจ หรือว่าไม่พอใจตามการปรุงแต่งของจิตแต่ละคน แล้วก็จะเพิ่มพูนกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับดินพอกหางหมู จิตที่ไม่ได้อบรมไว้ดีแล้ว คือจิตที่ไม่ได้ฝึก หมายถึงว่าจิตที่ไม่ได้เจริญสติ เจริญสมาธินั่นเอง ย่อมทำให้ทุกผู้ทุกคน ติดอยู่ในบ่วงของกิเลส ส่วนจิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมส่งผลให้เป็นอิสระ หลุดพ้นได้โดยพลัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ ภาวิตํ ปาตุภูตํ มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ ยถยิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ” หมายความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่บุคคลอบรมแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวงเหมือนกับจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่บุคคลอบรมดีแล้ว “จิตฺตํ ภิกฺขเว ภาวิตํ ปาตุภูตํ มหโต อตฺถาย สํวตฺตตีติ” ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะฉะนั้น จากพระพุทธพจน์ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าตรงนี้เท่ากับว่า พลังจิตยิ่งใหญ่ที่สุด จะนำคนไปสู่อบายก็ได้ จะนำคนไปสู่เบื้องสูง เป็นสวรรค์ เป็นพรหมโลกก็ได้ หรือว่าจะให้หมดจดหมดกิเลสดับทุกข์ เข้าถึงพระนิพพานก็ได้ ด้วยอำนาจของจิต กำลังจิต พลังจิต ดังที่บอกว่า “การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี้ จึงเป็นงานดูจิต เหมือนมีมิตรคอยเตือนเพื่อนคอยสอน ยิ่งตามรู้ก็ยิ่งรู้ทางจิตจร จะยืนเดินนั่งนอนสำรวมตน ระวังตัวกลัวภัยอันใหญ่หลวง ภพทั้งปวงข้องอยู่ทุกแห่งหน รู้รับทุกข์รู้รับโทษรู้อดทน รู้ดิ้นรนเพื่อรอดจากอวิชชา หวังสิ่งใดก็จะได้ดังใจหวัง กุศลจิตมีพลังเสกสรรหา สมาธิตั้งมั่นเกิดปัญญา ได้วิชชาทำลายทุกข์สุขอนันต์” มาจากการฝึกจิตนี่แหละ
แล้วจิตก็มีอยู่หลายๆ ประเภทด้วยกันในหมวดของสติปัฏฐาน จิตมันเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ให้เห็นตามนั้น จิตมีราคะ แล้วก็ไม่มีราคะ คำว่าราคะหมายถึงว่า ความกำหนัด ความยินดีที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ แต่ในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางเพศอย่างเดียว แต่หมายถึง ความยินดีพอใจในกามที่มันเข้ามาทางประตู ๖ บาน ที่มันเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นกามคุณ ๕ ตั้งแต่รูปนี้ รูปก็ต้องสวย ต้องดีที่มันติดอกติดใจ เสียงก็ต้องไพเราะเสนาะโสต กลิ่นก็ต้องหอมเย้ายวน อาหารถูกต้องสัมผัสก็ต้องอร่อย ต้องเลิศ กายถูกต้องสัมผัสก็ต้องดีต้องอ่อนต้องนุ่ม เป็นกามคุณ ๕ เมื่อใจที่มันไปติดตรงนั้น เรียกว่าเป็นราคะ แปลว่าชอบ แปลว่าย้อม ราคะแปลว่าย้อม มันย้อมใจเอาไว้ ให้มันชุ่มฉ่ำอิ่มเอิบซาบซ่าน มันเป็นอย่างนั้นตลอด แล้วผู้ปฏิบัติ ผู้ที่กำลังฝึกจิต เจริญสติ เจริญสมาธินี้ เมื่อจิตมันมีราคะ หรือไม่มีราคะ ก็ต้องรู้ตามสภาพนั้นๆ เพียงแต่แค่รู้ เมื่อมีราคะก็ให้รู้เท่าทัน หรือถ้าหากสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ท่านก็บอกว่า ให้ใส่คำบริกรรมเข้าไป เช่นว่า ชอบไม่ชอบ รู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกตามนั้น รู้เท่านี้แล้วนี้ เหมือนกับเรากำลังตามมันทัน แล้วมันจะหยุดลงทันที แต่ส่วนใหญ่เรามักจะตามมันไป แต่ไม่หยุดมัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นสัญชาตญาณของคนทุกคนอยู่แล้ว ในเรื่องของราคะ
ทีนี้จิตมีโทสะ หรือว่าไม่มีโทสะ จิตที่หงุดหงิด ไม่พอใจ ที่โกรธ ที่อาฆาต ขุ่นเคือง หรือว่าปองร้าย ที่มันขัดอกขัดใจนี้ คือจิตที่มันประกอบด้วยโทสะ ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้จิตใจดังกล่าว ด้วยการรู้เท่าทันว่า ตอนนี้กำลังโกรธ หรือจะโกรธหนอๆ ก็ได้ จนกระทั่งมันดับไป แบบนี้แหละจึงชื่อว่าชนะใจ ชนะอารมณ์ได้ เพราะว่ารู้เท่าทันมันได้ด้วยสติ มันก็จะหยุดอัตโนมัติ เพราะว่าอย่างไรเสียมันก็ไม่ตั้งแช่อยู่นาน เมื่อรู้เท่าทันด้วยสติ มันก็ดับไปทีละคราวๆ อะไรเกิดขึ้นใหม่ก็รู้เท่าทันตามนั้น
ต่อไปจิตที่มีโมหะ ไม่มีโมหะ คำว่าโมหะ มันคือความหลง หรือแม้กระทั่งความฟุ้งซ่านก็จัดเป็นความหลง หรือความสงสัย เราก็รู้ตามนั้นแหละ สงสัย จะคิด จะฟุ้งนี้ โดยที่ไม่รู้อารมณ์ ก็รู้เท่าทันตามนั้น หรือว่าแม้กระทั่งจิตมันผ่องใส จิตมันไม่มีโมหะ ก็ให้รู้ เพียงแต่เป็นผู้รู้ ผู้ดู
ต่อไป จิตหดหู่จิตฟุ้งซ่าน หดหู่ เซื่องซึมนี้ แล้วก็จิตที่มันซัดส่าย จิตที่มันฟุ้งซ่าน จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ก็รู้ตามนั้นแหละ หรือแม้กระทั่งที่มันเป็นสภาพจิตที่ดี ที่มันสูงกว่านั้น จิตที่ตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น จิตที่ถูกความฟุ้งซ่านครอบงำไม่ได้ หรือว่าจิตที่ถูกความฟุ้งซ่านครอบงำอยู่ หรือจะเป็นจิตที่ดี จิตไม่ดี ให้รู้ตามนั้น จะใส่คำบริกรรม หรือไม่ใส่นี้ เพียงแค่เป็นผู้รู้ ผู้ดู สำคัญ
ต่อไปเบื้องสูง เช่นว่า มหัคคตจิต เป็นจิตสำหรับผู้ที่บรรลุองค์ฌาน จิตที่มีกำลังมาก จิตที่มีพลังอันยิ่งใหญ่ จิตที่มีจิตอื่นเหนือกว่า หรือว่าจิตที่ไม่มีจิตอื่นเหนือกว่า จิตจะสูง จิตอย่างไรก็ให้รู้ตามนั้น อันนี้สำหรับผู้ที่บรรลุองค์ฌาน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ตรงที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานก็เท่ากับว่า ให้รู้ตามที่มันเป็น จะเป็นจิตที่มันมีกิเลส คือมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ จิตที่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ง่วงซึม หรือแม้กระทั่งจิตที่มันเป็นสภาพที่ดี คือจิตไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน จิตที่ใส จิตที่ผ่องใส จนกระทั่งจิตที่เป็นฌานนี้ ให้รู้เท่าทันตามนั้น ให้เห็นตั้งแต่ที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เมื่อน้อมเข้ามาสู่ความเกิดดับ เกิดดับได้นี้ จึงเป็นวิปัสสนา เป็นการพิจารณาให้เห็นถึงไตรลักษณ์ ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติสมัยก่อนนี้ที่ท่านทำฌานมาก่อน กำลังสมาธิดีๆ ท่านจะไม่ติดสมาธิ ถ้าคนที่เป็นนี้ ที่ได้พระพุทธเจ้ามาต่อยอดให้ บางท่านได้สมาบัติ ๘ ได้ฌาน ๔ ฌาน ๕ บางคนบางท่านก็นึกว่า นี่แหละคือนิพพานของเรา เพราะติดในกำลังจิตสูงๆ ที่มันสงบราบคาบ กิเลสก็ไม่ฟุ้งขึ้นมา เพราะมันสงบ กามราคะ โทสะ มันถูกกดเอาไว้ด้วยอัปปนาสมาธิ สมาธิมันแนบแน่นเป็นองค์ฌานจนเหมือนกับกิเลสไม่ฟูขึ้น จึงคิดว่า บรรลุแล้ว กิเลสไม่เห็นมีนี่ เช็คแล้วก็ราคะไม่มี โทสะก็ไม่มี ท่านก็เลยคิดว่าบรรลุแล้ว ทั้งที่มันเป็นกำลังของสมาธิที่แนบแน่น พอได้พระพุทธเจ้ามาสะกิด หรือแม้กระทั่งอย่างเช่นหลวงตามหาบัว ที่ท่านติดสมาธิ ติดฌานนี่แหละ อยู่หลายปี จนได้หลวงปู่มั่นมาให้อุบาย บอกว่าความสุขในสมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟัน
แล้วทีนี้ การจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา คือท่านบอกว่า เอากำลังสมาธินี้เป็นบาทเป็นฐาน เจริญวิปัสสนา เป็นบาทเป็นฐานอย่างไร? พิจารณาให้เห็นความเกิดดับขององค์ฌานนั้นๆ ของสมาธินั้นๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาวะใดก็แล้วแต่ ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่มันตั้งอยู่มั่นคงถาวร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทุกๆ ขณะ เมื่อพิจารณาตรงนี้ ก็เอาสมาธิเป็นบาทเป็นฐานเจริญวิปัสสนา ท่านก็ได้บรรลุกันมากมาย วิธีปฏิบัติท่านก็บอกว่า การปฏิบัติธรรมนี้ เป็นวิธีฝึกจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ มีความบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง การกำหนดรู้จิตตามหลักจิตตานุปัสสนาจึงสำคัญมาก ดังพระสารีบุตร พูดกับเพื่อน คือพระโมคคัลลานะว่า “อิธาวุโส โมคฺคลฺลาน ภิกฺขุ จิตฺตํ วสํ วตฺเตติ โน จ ภิกฺขุ จิตฺตสฺส วเสน วตฺตติ โส ยาย วิหารสมาปตฺติยา อากงฺขติ ปุพฺพณฺหสมยํ วิหริตุ ํตาย วิหารสมาปตฺติยา ปุพฺพณฺหสมยํ วิหรติ” แปลว่า ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในศาสนานี้พึงควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของจิต ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุผู้ควบคุมจิตของตนเช่นนี้ พึงยังป่าสาระให้งดงาม ในตรงนี้หมายความว่า ที่ว่ายังป่าสาระให้งดงามก็คือ จิตนี้ สภาพจิตนะ ถ้าควบคุมให้อยู่ในอำนาจได้ เหมือนกับช้างที่มันตกมันนี้ หรือเรามีเชือกอย่างดี ผูกช้าง ผูกลิง ผูกอะไรก็ได้ที่มันจะพล่านไปยังที่ต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจได้ นี่แหละจึงเป็นผู้ที่ฝึกตนได้อย่างแท้จริง ตรงพระพุทธพจน์ตรงที่บอกว่า “ทนฺโต เสฎฺโฐ มนุสฺเสสุ” ผู้ฝึกตนเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ ฝึกตนในที่นี้หมายถึงว่า ฝึกจิตให้อยู่ในอำนาจ เมื่อมีความโกรธ มีความโลภ มีความหลงเกิดขึ้น ก็สามารถรู้เท่าทัน แล้วก็ระงับมันได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนเรื่องการดูจิต ที่บอกว่า จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตที่มันส่งออกนอกตัว ส่งออกนอกตัวเมื่อไหร่นี้ มันจะมีการซัดส่ายแล้ว ชอบ-ไม่ชอบ เป็นอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะจิตส่งออกนอก จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ผลจากจิตที่ส่งออกนอก คือ อาการต่างๆ ที่มันปรุงแต่งเข้ามา ชอบ-ไม่ชอบ ดีใจ-เสียใจ คือทุกข์ คือตัวทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค คือทางแห่งความดับทุกข์ ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ พอผลเกิดขึ้นจากการเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนี้ มันจะดับ มันจะจาง มันจะคลาย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น มันคือนิโรธ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนง่ายเช่นนี้ การกำหนดรู้จิตที่มีราคะเป็นต้นตามหมวดนี้ เป็นการระลึกรู้จิตที่พึ่งดับไปไม่นาน เพราะว่า เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติ รู้เท่าทัน จิตดังกล่าวนั้นก็ย่อมดับไป เพราะว่า จะเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือไม่เป็นอกุศล จะเป็นบุญ หรือเป็นบาป มันจะเกิดร่วมกันในจิตดวงเดียวไม่ได้ ในขณะที่จิตดี แสดงว่าตอนนั้นจิตมันไม่มีบาป ถ้าจิตมีบาป แสดงว่าตอนนั้นจิตมันไม่มีความดี เพราะ ๒ ตัวนี้ มันอยู่ร่วมกันไม่ได้ เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ ความดีกับความชั่วมันอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากจิตมีกุศล จิตมีสติ มีสมาธิ ความไม่ดีที่เป็นอกุศล ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะเข้าแทรกแซงไม่ได้ในขณะนั้นๆ แต่ตราบใดที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เต็มหัวใจนี่ ตอนนั้น มันก็ยากอยู่ที่จะให้กุศลเข้าไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้อุบายง่ายๆ คือสติ ให้รู้เท่าทัน ด้วยการเป็นผู้รู้ ผู้ดู ท่านก็บอกว่า โดยกุศลนี้ เหมือนกับความสว่าง ส่วนอกุศลหรือว่าบาป ก็เหมือนกับความมืด แล้วก็จิตของเขาก็จะรับรู้อารมณ์เพียงอย่างเดียว เมื่อเรามีสติรู้เท่าทัน เรื่องที่คิดอยู่มันก็จะหายไปเอง ไม่สามารถคิดพร้อมกันสองเรื่องในขณะเดียวกันได้ ถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่า เมื่อตะกี้นี้คิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ตนชอบ มันก็เป็นอดีตไปแล้ว แล้วก็รู้ว่ามีความชอบปรากฏขึ้น แต่ไม่ใส่ใจต่อเรื่องที่ตนชอบ ก็จัดว่า ได้กำหนดรู้เท่าทันจิตที่มีราคะแล้ว การกำหนดรู้ในลักษณะนี้ ชื่อว่า เป็นการติดต่อต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน คือปัจจุบันธรรม ที่มันต่อเนื่องกันมานั่นเอง
จิตที่มีราคะเป็นต้น ถ้ามันประกอบด้วยความฟุ้งซ่าน ก็ทำให้จิตของผู้ปฏิบัติ มันจะซัดส่ายไปจากสภาวธรรมปัจจุบัน ความฟุ้งซ่านก็คือว่า ความรู้สึกว่ากำลังคิดเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับบุคคลสถานที่ การกำหนดรู้ความฟุ้งซ่านที่เรากำลังคิดอยู่นั้น คือมันคิดผสมปนเปไปหมดนะ ในขณะที่นั่ง มันไม่ได้คิดเรื่องเดียว มันคิดสารพัดสับไปสับมาๆ เหมือนเราดูหนังหลายๆเรื่องพร้อมกัน มันมึนไปหมดนะ มันเป็นความฟุ้งซ่าน เมื่อความฟุ้งซ่านอย่างนี้เกิด เราก็กำหนดสตินี้ตรงที่ความฟุ้งซ่านนั่นเอง กำหนดอย่างไร? เพราะอย่างไรเราเรียกชื่อมันไม่ถูกนะ ก็บอกว่ากำลังฟุ้งๆ หรือฟุ้งหนอๆ ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง คิดก็รู้ว่าคิด รู้ตามที่มันเป็น แต่เราอย่าสักแต่ว่าบริกรรม ถ้าบริกรรมอย่างเดียวนี้ มันจะทำให้บัญญัติปิดบังปรมัตถ์ หมายความว่า สิ่งที่สมมุตินี้ มันปิดบังของจริงเอาไว้ เพราะจากที่อธิบายมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ที่บอกว่า เราตั้งแต่เกิดมานี้ มีแต่สมมติมันพอกพูนเอาไว้ เหมือนกับฟองไข่ที่มันหุ้มเนื้อในของไข่เอาไว้ มันบังอย่างนี้ตลอดเลย ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อะไรๆ มันก็เป็นสมมุติไปหมด ไม่เห็นความจริง เพราะฉะนั้น ในขณะที่จะบริกรรม เช่นบริกรรมพุทโธ หรือบริกรรมอะไรก็แล้วแต่ ต้องให้จิตที่มันเป็นรู้อาการนั้นๆ ชัดเจนกว่าคำบริกรรม พุทโธก็ต้องให้จิตที่มันไปรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ชัดเจนกว่าพุทโธ จะบริกรรมว่า ขณะเดินจงกรมนี้ ก็ต้องให้คำบริกรรมมันจางไม่ชัดเท่ากับจิตที่ไปรู้ ไปดู ในขณะที่กำลังเดิน ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำอะไรก็แล้วแต่ จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ดู มันต้องชัดเจนกว่าคำบริกรรมเสมอๆ จึงจะได้ผล ขณะที่กำหนดความฟุ้งซ่านอยู่ จิตของเราก็ต้องรับรู้ความรู้สึกที่มันคิดฟุ้งซ่าน ไม่ใช่รับรู้บัญญัติ ก็คือ เรื่องที่กำลังคิดอยู่นี้ ความรู้สึกที่มันคิดฟุ้งซ่านนั้น มันเป็นสภาวธรรม ส่วนเรื่องที่กำลังคิดอยู่ คิดเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนนั้นคนนี้ มันเป็นบัญญัติ ก็คือเรื่องที่ตั้งชื่อขึ้นมา อารมณ์ของสติในการปฏิบัตินี้ มันต้องเป็นสภาวธรรม เป็นของจริงๆ นะ ไม่ใช่บัญญัติ อย่างเช่นว่า ขณะที่เราเห็นอาหารที่ชอบ อาการคิดว่าชอบมันย่อมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสภาวธรรมของความโลภ ที่มันเกิดขึ้นเป็นสัญชาตญาณอยู่แล้ว ส่วนอาหารที่เราชอบ มันเป็นบัญญัติ เราก็ต้องกำหนดอาการที่ชอบ ไม่ใช่อาหาร เมื่อเห็นอาหารที่ไม่ชอบ การคิดที่ไม่ชอบมันก็ย่อมเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นสภาวธรรมของความโกรธ อาหารที่เราไม่ชอบนั้นมันเป็นบัญญัติ ก็คือ เรื่องที่คนตั้งชื่อขึ้นมา เราต้องกำหนดที่อาการไม่ชอบ ไม่ใช่กำหนดที่ตัวอาหาร สมมุติเห็นไก่ย่าง เราจะบอกว่าชอบไก่ย่าง ชอบไก่ย่าง แบบนี้แสดงว่าเราไปบัญญัติแล้ว มันผิด ต้องมากำหนดดูที่อาการชอบนี้ อยากกิน อยากกิน อยากกิน หิว หิว ประมาณนี้แหละ ถ้าเราบอกว่าเห็นไก่ย่าง ชอบไก่ย่าง ไก่ย่างนี้ แสดงว่าติดในอารมณ์ของบัญญัติ ติดในการที่เราอยากกินไก่ย่าง อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นแล้ว เอาสิ่งที่มันปรากฏชัดๆ อาการชอบ-ไม่ชอบ
แต่ละวันนี้ เราลองสังเกตดู มันเกิดขึ้นมากมายอารมณ์เหล่านี้ เมื่อเรามีสติรู้เท่าทัน มันก็จะดับเป็นเรื่องๆ แล้วเราได้อะไร? ได้สติ ได้สมาธิ ความก้าวหน้ามีไหม?-มี สังเกตง่ายๆ อารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันเบาบางลง เรื่องบางเรื่องนี้ ถ้าเราได้ยิน เราได้ฟังนี้ มันต้องโกรธมาก แต่ทำไมพอเรารับรู้ มันรู้สึกนิดเดียว แล้วมันก็หายไปหรือรู้สึกเฉยๆ เพราะว่ามันคือความก้าวหน้า ท่านอุปมาง่ายๆ เหมือนกับด้ามมีดของช่างไม้ ช่างไม้นี้ เวลาเขาจะตัดไม้ เขาก็จะกำด้ามมีดฟันไม้ทุกวันๆๆ ในขณะที่เขาจับด้ามมีดนี้ ด้ามมีดมันก็จะสึกกร่อนลงทุกวันๆ ช่างไม้เขารู้ไหมว่า วันนี้ด้ามมีดมันกร่อนไปเท่าไหร่ มันกร่อนไปกี่เปอร์เซ็นต์ รอยมือมันประทับไปกี่เปอร์เซ็นต์นี้ เขาไม่รู้หรอก เขารู้แต่ว่า ด้ามมีดมันค่อยๆ สึกกร่อนไปๆ รอยมือที่มันจับมันก็ชัดขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ผู้ที่เจริญสติ เจริญสมาธิ ความก้าวหน้ามันก็จะเพิ่มขึ้นๆ แต่เราไม่รู้หรอกว่า วันนี้มันเพิ่มเท่าไหร่ กิเลสหมดไปเท่าไหร่ เราไม่รู้ แต่รู้ว่ามันหมดไปๆ เท่านี้พอ
แล้วทีนี้ท่านบอกว่า ผู้ปฏิบัตินี้ไม่ควรหงุดหงิด หรือว่าปฏิเสธอารมณ์ที่มันเป็นด้านลบ เช่น ความฟุ้งซ่าน เช่น ความง่วงเหงาหาวนอน เราต้องเอาอารมณ์ที่เราไม่ชอบเหล่านี้เอามาเป็นฐานให้สติเกิด เอาของไม่ดีให้เป็นฐานให้เกิดของดี ความฟุ้งซ่าน ความง่วงเหงาหาวนอนมันเป็นของไม่ดี เพราะมันเป็นอาการของอกุศล แต่เมื่อเราสติรู้เท่าทันนี้ ก็เท่ากับว่า เอาของไม่ดี เป็นฐานให้เกิดของดี เพราะว่าได้สติ ได้สมาธิ เพราะฉะนั้นอย่าไปหงุดหงิด อย่าไปเครียดว่า ทำไมเราต้องโกรธ ทำไมเราต้องง่วง ทำไมเราต้องฟุ้งซ่าน เมื่อเรามีจิตยังไม่ตาย มันก็ต้องคิดธรรมดา ก็ต้องฟุ้งธรรมดา ก็ต้องมีอารมณ์แบบนี้ธรรมดา เอาเหล่านี่แหละมาเป็นฐานให้สติเกิด ก็จะได้บุญได้กุศลมากมาย ต้องรู้เท่าทัน ท่านบอกว่า เมื่อเรากำหนดรู้เท่าทันได้เช่นนี้ ความฟุ้งซ่านมันก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป เหมือนกับเราดูหนังฟิล์มขาดบ่อยๆ หนังสมัยก่อน หนังกลางแปลงที่ฟิลม์มันขาด หรือฟิล์มมันกระตุก ดูไปก็กระตุกๆ เพราะว่าสติมันรู้เท่าทัน สุดท้าย คนดูก็เสียอารมณ์ เซ็ง ก็ไม่อยากดูต่อ เพราะว่าหนังมันขาดตอน หรือเหมือนกับทีวีสมัยก่อนที่เป็นเสาอากาศสูงๆ ยิ่งอยู่จังหวัดห่างๆ ไกลๆ นี้ สัญญาณไม่ค่อยดี ยิ่งดูละครดูหนังนี้ มันขาดอารมณ์ สัญญาณ เอ้า ดูชัดๆ เอ้า มันซ่าอีกแล้ว เดี๋ยวก็กลับมาชัด มันก็ซ่าอีกแล้ว คนดูก็เสียอารมณ์ เพราะว่ามันไม่ติดต่อต่อเนื่อง ฉันใดก็ฉันนั้น หรือเหมือนกับรถม้าที่มันถูกกระชากบังเหียนบ่อยๆ มันก็จะวิ่งไปได้สม่ำเสมอไม่ออกนอกทาง ขั้นตอนการกำหนดความรู้ ความฟุ้งซ่านนั้นแตกต่างกันตามกำลังของสมาธิ ในเบื้องแรกอาจจะคิดอยู่นาน กว่าจะรู้เท่าทันได้ แต่ทีนี้ พอมันเท่าทันมากขึ้นๆ มันชำนาญ มันเป็นวสี พอคิดปุ๊บ รู้เท่าทัน ดับไปเลย แสดงว่าเป็นความก้าวหน้าเกิดขึ้นแล้ว สุดท้ายคือ มันต้องอาศัยความติดต่อต่อเนื่อง มีข้อสังเกตในการปฏิบัติ การคิดเช่นว่า คิดเป็นเรื่อๆ จนจบเรื่องหนึ่ง แล้วก็ต่อไปเรื่องอื่นโดยขาดสติกำหนดรู้ นี่แสดงว่าเผลอๆ เพราะว่าไม่รู้เท่าทัน มันก็ปรุงแต่งไปทั้งวัน หรือว่า เมื่อคิดจบเรื่องแล้วจึงรู้สึกตัวว่ากำลังคิดนะ เราก็กำหนด หรือว่าบริกรรมว่าคิดๆ ก็ได้ หรือว่า คิดยังไม่จบเรื่อง แล้วก็รู้สึกตัว สติรู้เท่าทัน กำหนดได้ก่อน นี่แสดงว่ามีกำลังมากขึ้น สติ สมาธิมีกำลังมากขึ้น หรือบางทีคิดเป็นประโยค เช่นว่า ครอบครัวเป็นไงบ้างหนอ บ้านเป็นไงบ้างหนอ พ่อแม่เป็นไงบ้างหนอ สบายดีไหม คิดถึงประโยคๆ เป็นเรื่องๆ แล้วก็ต่อไปคิดเป็นคำๆ เช่นว่า กำลังจะขึ้นคำว่าครอบครัว มันก็ทัน แล้วก็หยุด หรือว่านาย ก นาย ข คนนั้น คนนี้ แล้วมันก็หยุดไป แสดงว่าสติมันทันมากขึ้นๆ หรือคิดเป็นพยางค์ กำลังจะขึ้นว่าครอบ... พอทันปุ๊ป มันหยุดเลย ยังไม่เป็นคำ มันชัดมาเรื่อยๆ หรือในระยะนี้ ความคิดมันยังไม่เกิดขึ้น แต่เกิดจิตที่มันต้องการจะคิดฟุ้งซ่าน แล้วก็รู้เท่าทันจิตที่มันอยากคิด ยิ่งรู้ได้ขนาดนี้ แสดงว่าสติมันเท่าทันมากขึ้น ละเอียดมากขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องให้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มันขึ้นอยู่ที่ใจ เจตนานี้จึงเป็นกรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลตั้งใจแล้วจึงกระทำกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ เจตนาคือความอยาก อยากที่จะทำ มันคือจิตที่มันคิดปรุงแต่งเอาไว้ มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จด้วยใจ เมื่อใจไม่ดี จะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด มันก็ออกมาไม่ดี แต่ถ้าหากใจดีใจสบาย จะคิด จะพูด จะทำ สิ่งใด มันก็ออกมาดี ผู้ปฏิบัตินะ รับรู้อาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มันเกิดขึ้นนี้ ให้อยากรู้ชัดเจนว่า แม้กระทั่งความคิดที่มันแทรกเข้า มาความฟุ้งซ่านที่มันปรากฏเกิดขึ้นมา ความเครียด ความตึง ความชอบ ไม่ชอบ ที่มันเกิดขึ้นมานี้ มันก็เป็นเพียงแค่อาการ ที่มันจรเข้ามา มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา ความฟุ้งก็ไม่ใช่เรา ความเครียดก็ไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความชอบไม่ใช่เรา ความไม่ชอบก็ไม่ใช่เรา และไม่มีเราอยู่ในอาการเหล่านี้ ความรู้สึกเช่นนี้ จะเป็นการกำจัดสักกายทิฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกู ของกู ตัวเรา ของเราได้ทีละระดับๆ ไป เป็นการสะสม สมมุติว่า อุปมาว่า เราจะตัดสักกายทิฐิ คือ ความยึดมั่นว่าตัวกู ของกูนี้ มันต้องใช้ดาบขนาดใหญ่ แล้วมันต้องคมมาก ถ้าสติเราไม่มีแล้ว ก็เหมือนกับเรามีดาบ แต่ว่ามันทื่อๆ สันหนาอย่างนี้ ฟันอย่างไรก็ฟันไม่ขาด การที่เรากำหนดสติ เจริญสติไปเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นการกำลังลับมีดให้มันคบ พอมันคมได้ที่เมื่อไหร่ มันก็จะตัดฉับเป็นสมุทเฉทประหาร ตัดขาดสะบั้นความเป็นตัวกู ของกู ออกไป จะไม่เหลือความยึดมั่น ถือมั่นอะไรอยู่เลยในโลก สุดท้ายมันคือต้องอาศัยการสะสม มันต้องอาศัยกำลัง ต้องอาศัยการอบรมบ่มอินทรีย์ การกระทำติดต่อต่อเนื่อง ไม่กระทำแบบหยุดๆ หย่อนๆ ตั้งแต่ชาคริยานุโยคที่อธิบายบรรยายมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ มันต่อเนื่องเป็นอันเดียวกันหมด เพราะมันคือธรรมที่มันเกื้อหนุนส่งเสริมกันและกัน ในการพัฒนากายพัฒนาใจเช่นนี้ ให้มีความรู้สึกว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา ไม่มีเราอยู่ในอาการนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาการฟุ้ง อาการเครียด ความรู้สึกเช่นนี้แหละ มันจะกำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกู ของกู เพราะรู้ว่า มีแต่เพียงอาการฟุ้งซ่าน มีแต่เพียงอาการคิด แล้วก็จิตที่รู้อยู่เท่านั้น ไม่มีอัตตาตัวตนใดๆไม่มีเราคิด ไม่มีเราเครียด ไม่มีเราโกรธ ไม่มีเราชอบ-ไม่ชอบ หลังจากนั้นก็ย่อมเกิดปัญญารู้แจ้งความเกิด-ดับของจิตอย่างรวดเร็ว ของอาการฟุ้ง แล้วก็อาการจิตที่กำหนดรู้ ปัญญาที่เห็น ปัญญาที่เกิดนี้ได้ อย่างเห็นความเป็นไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่าน ผู้ที่หยั่งเห็นความเกิด-ดับของจิตอย่างนี้ ย่อมปราศจากความยึดมั่นถือมั่นในโลกที่มันเป็นอุปาทานขันธ์ ที่มันยึดขันธ์ ๕ ตั้งแต่เดิมว่า กายเรา เวทนาของ เราเจ็บ เราปวด สัญญาของเรา เราจำได้ สังขารขันธ์ของเรา เราคิด แม้กระทั่งวิญญาณของเรานี้ เรารู้สึกนะ เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เรารู้รส อาการเหล่านี้มันจะค่อยๆถูกเปิดออกๆ จนกระทั่งถูกตัดขาด เมื่อถูกตัดขาดเช่นนี้ ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสร้างภพชาติมันก็ไม่มี เพราะจะไม่ทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสร้างภพชาติ จึงบรรลุความพ้นทุกข์ด้วยการเจริญจิตเช่นนี้ ด้วยการเห็นจิตเช่นนี้ ตรงนี้ เท่ากับว่า ต้องอาศัยกำลังของสติ ของสมาธิ เพราะไม่ใช่ของการคิด ธรรมะของพระพุทธเจ้า การเจริญสติ สมาธิ ไม่ใช่มาจากการคิด ไม่ใช่มาจากวิปัสสนึก ถ้ามันนึกเอาได้ คงบรรลุไปแล้ว คนที่เรียนรู้ปริยัติทั้งหลาย เจนจบพระไตรปิฎกทั้งหลายก็คงบรรลุไปแล้ว นักคิด นักปรัชญาทั้งหลายคงจะบรรลุธรรมไปแล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่อาศัยการคิด การอ่าน แต่มันต้องอาศัยการภาวนา เป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ เจริญสมาธิ ที่อาศัยความติดต่อๆเนื่อง เป็นอย่างนี้
ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ศาสนาพุทธยังไม่เกิดขึ้นในโลก มีเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี ยืนดูคนที่สัญจรไปมาอยู่ เขาก็ได้พบสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินผ่านมา ชายคนนั้น เศรษฐีคนนั้นเห็นความงามของผู้หญิงนางนั้นแล้ว เกิดความพอใจ เพราะขาดสติชั่วขณะ แต่เมื่อรู้ว่าได้อกุศลจิต คือ จิตคิดไม่ดีเกิดขึ้นที่ไปอยากได้เมียของคนอื่น พอมันรู้เท่าทัน มันสลดจิตสลดใจ แล้วจิตที่มันประกอบด้วยการที่เขารู้เท่าทันอย่างนั้น เขาได้เกิดสมาธิแน่วแน่ขึ้น เกิดปัญญาหยั่งเห็นความเกิด-ดับของจิต บรรลุวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ เรื่องนิดเดียวนี้ เพียงแค่พลิกเข้ามา น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจให้เห็นความเกิด-ดับ แม้กระทั่งอารมณ์ที่ไปชอบเมียชาวบ้าน อารมณ์ที่ไปชอบผู้หญิง ชอบผู้ชาย ชอบคนนั้น ชอบคนนี้ เหล่านี้ เอามาทำเป็นกรรมฐานได้หมด
ทุกชีวิตที่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ประพฤติปฏิบัติของเราให้ถูกที่ เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร คือเรายังเป็นผู้มีอวิชชา ผู้ที่ไม่มีอวิชชาก็คือพระอรหันต์ เราต้องปฏิบัติกับจิตใจของเราให้ถูกต้อง เพราะที่เราเวียนว่ายตายเกิด เพราะความไม่รู้ เพราะความไม่เข้าใจ ให้ทุกคนทุกท่านพากันเข้าใจว่าทุกคนเกิดมาที่ยังมีอวิชชา มันมีจิต แต่จิตนั้นมันก็ยังประกอบด้วยความหลงอยู่ เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตัวเองให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน เราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตัวเองเป็นได้แค่เพียงคน ทำตามสัญชาตญาณแล้วก็ต้องพัฒนา เพราะว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง มันไม่แน่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน โดยเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ตั้งอยู่ในความถูกต้อง ความปฏิบัติของทุกท่านจึงมีอยู่ในปัจจุบัน อดีตทุกคนปฏิบัติไม่ได้ อนาคตทุกคนก็ปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนต้องกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน ที่ผ่านมา มันทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่ล้านชาติ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ทันท่วงที พระพุทธเจ้าก่อนท่านจะเสด็จดับขันปรินิพพานท่านสอนไม่ให้เราประมาท ไม่ให้เพลิดเพลิน เพราะว่าทางที่เราจะได้ไปนี้ มันมีอยู่หลายภพภูมิ หลายกลุ่ม หลายชาติ ให้ถือว่าเรามีภาระหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เดินทางด้วยสติ ด้วยปัญญา เรารู้เราเข้าใจแล้ว เราก็ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจ ด้วยเจตนา เพราะรูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนามันก็ไม่มีเที่ยง อะไรๆ มันก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันตามเราไปไม่ได้ เราต้องรู้จักใจของเรา เราต้องปฏิบัติเพราะความสุขความดับทุกข์นี้ มันอยู่ในตัวของเราในปัจจุบันนี้แหละ
เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องเดินตามพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นคือธรรมะที่มีความเห็นถูกต้อง จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง สละคืนแล้วซึ่งตัวซึ่งตน ถึงเรียกว่า เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ก็คือที่เราไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกตัวเอง พระพุทธเจ้าจึงคือผู้ที่ตั้งมั่นในธรรม ศาสนาพุทธไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่วิหาร ไม่ใช่วัด อยู่ที่ใจทุกคนที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในปัจจุบัน เราจะเป็นพระ เป็นนักบวช เป็นประชาชน เราก็ประพฤติปฏิบัติได้หมด เรามันเจ็บปวดขนาดไหน มันเกิดแก่เจ็บตาย ทำให้เรามีหนี้มีสิน ทำให้เราต้องไปสู่อบายภูมิ เพราะการดำรงชีวิตเรามันเป็นอบายมุข เพราะความเห็นแก่ตัว เราต้องพากันรู้จักจิต เราต้องให้จิตของเรามีปัญญาอย่าไปหลง ต้องใจเข้มแข็ง เอาตัวเองมาประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะว่าเราก็สงสารตัวเอง สงสารคนอื่นทั่วไปหมด มันเป็นความพินาศ ความฉิบหาย ที่เราไม่เห็นถูกต้อง ไม่เข้าใจถูกต้อง เรายังไม่เข้าใจความดับทุกข์ที่แท้จริง เราเอาเพียงสวรรค์ เพียงความสุข ความสะดวกสบาย เราดูตัวอย่างประเทศที่เจริญแล้ว เอาแต่วัตถุ เอาแต่อารมณ์ต่างๆ เป็นแค่สวรรค์ เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สวรรค์เราก็ต้องผ่านอยู่แล้ว เราต้องใจเข้มแข็ง เพราะเทวดาจะเกิดมาเป็นมนุษย์ มันก็ยาก มนุษย์จะเกิดมาเป็นมนุษย์อีก มันก็ยาก พรหมตกนรกก็มีมากมาย เพราะอะไร? เพราะบางครั้งใจจะตกต่ำ มันหลงประเด็น เราถึงต้องรู้จักอาการของจิต ของใจ แต่ไม่รู้จักตัวเองหรอก ปล่อยให้ตัวเองคิดไป ไม่มีระเบียบในการคิด ว่าอันนี้คิดไม่ได้ อันนี้ตามอารมณ์ไม่ได้ อันนี้นี่ คนคิดอย่างนี้ มันไม่มีระเบียบในการคิดเหมือนกับเด็กไม่รู้จักไฟ มันไม่รู้จักไฟ ไปจับไฟมันก็ร้อน เรียกว่าไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราทุกคนมาใช้สังขารร่างกายนี้ ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราจะได้พัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราจะพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่เป็นบาป พัฒนาทั้งใจ หรือว่าจิตของเรานี้ไป ชีวิตของเราต้องดี ต้องสง่างาม เพราะคนเราไม่ตายไม่ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เราจะไปเร้าใจของเราทำไม เร้าอารมณ์ของเราทำไม เราทำไป ปฏิบัติไป เดินไปทีละก้าว ทานข้าวทีละคำ นำตัวเองออกจากวัฏสงสาร ทำไปอย่างนี้ๆ จากพ่อไปสู่ลูก จากลูกไปสู่หลาน สู่เหลน โลกมันก็จะน่าอยู่ ไม่ใช่พากันตกนรก เปรียบเสมือนคนมีหูก็อันตราย มีตาก็อันตราย พระพุทธเจ้าถึงสอนชฎิล ๓ พี่น้องว่า ตามันก็เป็นไฟ หูก็เป็นไฟ จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นไฟ เพราะว่ามันร้อน ร้อนด้วยไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ตามอารมณ์ตามอะไรไป อย่างนี้เราก็อันตราย เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไป คนไม่มีพลัง สิ่งภายนอกก็ดึงไป เพราะภาคปฏิบัติของเรายังอ่อนอยู่ รู้อยู่แต่มันยังทำไม่ได้ แสดงว่า การประพฤติการปฏิบัติของเรามันยังไม่ชำนาญ สติสัมปชัญญะเรายังไม่พอ ใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ ต้องอาศัยกาล อาศัยเวลา ถ้าอย่างนั้น เราจะมีประโยชน์อะไรที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วก็มาเสียชาติเกิด จิตมันมาจากอาการของขันธ์ทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ของเขา ตาก็ทำหน้าที่ของเขาคือเห็น หูก็ทำหน้าที่ในการฟัง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะได้พัฒนาจิตให้ดี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เขาไม่ได้พัฒนาจิตเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ แถมยังเร้าใจ เร้าอารมณ์ ยังไปเสพสมอารมณ์นั้นๆ อีก เพราะการเสพมันเริ่มมาจากจิตนี้แหละ กรรมต่างๆ มันก็มาจากผัสสะที่ไม่มีปัญญา ผัสสะที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิ จิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ เมื่อจิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันก็เอากาย วาจา ใจนี้ ไปสร้างบาป สร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัย แล้วก็เห็นเป็นเรื่องดี เห็นผิดเป็นถูก เห็นผิดเป็นดี มีแต่จะสร้างปัญหา การกระทำของเรา การเดินทางของเรา คือที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ เรียกว่า พรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมาทันจิต ทันใจ รู้จิต รู้ใจ ขอยกเรื่องของบุคคลหนึ่ง จิตตหัตถะ นายจิตตหัตถะ หรือพระจิตตหัตถะ แปลว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจของจิต เป็นชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งเขาเลี้ยงโค โคหาย เที่ยวหาโคอยู่ในป่า พอไปพบวัวในเวลาเที่ยงแล้ว ต้อนมันเข้ามาในฝูงก็รู้สึกหิว จึงเข้าไปสู่วิหารอันเป็นที่อยู่ของภิกษุแห่งหนึ่ง ด้วยคิดว่า จะต้องได้อะไรกินเป็นแน่ เพราะเข้าไปสู่ที่อยู่ของนักบวช พวกภิกษุเห็นเขาหิว จึงให้อาหารที่เหลือจากที่ฉัน เวลานั้นภิกษุมีอาหารเหลือเฟือมาก เพราะบิณฑบาตก็ได้มาก อาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เมื่อเขากินอาหารเสร็จจึงถาม แล้วก็ได้ความว่า แม้วันธรรมดาที่ไม่มีกิจนิมนต์ ก็มีอาหารมากมายอย่างนี้เสมอ เขาก็เกิดความคิดว่า ตัวเรานี้ ตื่นเช้ามา ทำงานทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารประณีตที่เหลือจากพระในวันนี้เลย เราจะเป็นคฤหัสถ์ไปทำไม บวชดีกว่า บวชเพราะเห็นแก่กิน เพราะว่าในวัด เห็นอาหารดีๆ อาหารเลิศๆ ทั้งนั้น ก็ขอบวชกับภิกษุ เมื่อเขาบวชแล้ว ตั้งจิตตั้งใจปฏิบัติดีต่อภิกษุทั้งหลายจนเป็นที่รักของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้อาศัยลาภสักการะที่เกิดขึ้น ไม่นานก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้นมา จากที่ผอมๆ ก็อ้วนขึ้นๆ พออ้วนขึ้นมาแล้ว จิตของเขานี้คิดถึงเมียเก่า เพราะว่าตัวเองมาบวชนี้ ภรรยาก็ยังมีอยู่ ยังไม่ได้บอกเลิกเลย คิดถึงภรรยา แล้วสึกก็ออกไป เมื่อไปทำงานหนักเข้าๆ ซูบผอมอีก จึงมาหาพระเพื่อขอบวช พระบวชให้ เขาก็บวชๆ สึกๆ อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง ขณะนั้น ภรรยาเขาก็ตั้งครรภ์ วันหนึ่งเขากลับจากทำงานในป่า วางเครื่องไถ วางอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในบ้านแล้ว คิดว่า เหนื่อยเหลือเกิน จะไปเอาผ้าเหลืองที่เก็บไว้ในบ้านนี้ เอาไปบวชอีกเป็นครั้งที่ ๗ พอทำงานเหนื่อยทีไร หิวทีไร ผอมทีไร คิดถึงแต่การบวช เพราะว่าอยู่ดีกินดี จึงจะไปเอาผ้ากาสาวพัสตร์ที่เก็บไว้ในบ้าน เดินเข้าไปในบ้าน เปิดประตูเข้าไป ผงะเลย เห็นภรรยานอนหลับอยู่ ผ้าของเธอก็หลุดลุ่ย น้ำลายก็ไหลออกจากปาก กรนดังครืดๆ ปากก็อ้าด้วย พุงโตด้วย เพราะว่ากำลังตั้งท้อง อาการนั้นมันปรากฏแก่จิตของเขา เหมือนกับศพที่มันขึ้นอืด เพราะน้ำลายไหล กรนดังครืดๆ และทีนี้คนท้องนี้ เหมือนกับศพขึ้นอืด เขาก็คิดแต่ว่า ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เราบวชมามากมายหลายครั้ง ๖ ครั้งแล้ว แต่เพราะอาศัยสรีระร่างกายของผู้หญิงคนนี้ จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ เราจะไปบวช ไม่กลับมา อีกแล้ว คือตอนนี้เหมือนกับคิดได้อย่างเด็ดขาด เขาก็เลยไปหยิบผ้าเหลืองมา แล้วก็เอาคาดพุงเอาไว้แล้วก็เดินลงจากบ้านก้มหน้าก้มตาไป แม่ยายของเขาอยู่บนบ้านหลังข้างๆ เห็นอาการของนายจิตตหัตถะ ประหลาดใจ จึงเข้าไปดูในบ้าน เห็นลูกสาวนอนหลับอยู่ด้วยอาการอย่างนั้น สภาพแบบนั้น จึงปลุกให้ตื่น แล้วก็ตีลูกสาว บอกว่า นังโง่ ตื่นเถอะ ผัวของเอ็งไปแล้ว มัวแต่นอนกรนอยู่นี่แหละ คราวนี้เขาคงจะไม่กลับมาแล้วกระมัง ลูกในท้องของเอ็งจะทำอย่างไร เดี๋ยวจะท้องไม่มีพ่อ ลูกสาวก็โกรธแม่นะ ไล่ให้แม่ไป บอกว่า แม่ออกไปเถอะนะ เขาก็ทำอย่างนี้ตั้ง ๕ - ๖ ครั้งแล้ว สุดท้ายเดี๋ยวเขากลับมาเอง นายจิตตหัตถะออกจากบ้านไป ก็บ่นพึมพำๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์หนอ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มันเบื่อ จิตมันเบื่อ เบื่อในร่างกายของภรรยาที่เคยหลงมาตลอด มันเบื่อ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เดินบ่นพึมพำๆ ไปอย่างนี้ บรรลุโสดาบัน เพราะอะไร? เพราะจิตมันเบื่อ เบื่อเต็มที่ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด แล้วมันเบื่อจริงๆ จิตบรรลุโสดาบัน แล้วเขาก็บรรลุ แล้วเขาก็ไปถึงวัด ไปขอบวช แต่พระทั้งหลายก็เอือมระอากับการบวชของเขาเต็มที ๖ ครั้งแล้วสึกไป ก็พูดว่า จิตตหัตถะเอ๋ย พวกเรานี้บวชให้ท่านไม่ได้อีกแล้ว ความเป็นสมณะของท่านไม่มีประโยชน์อะไรหรอกนะ ท่านบวชๆ สึกๆ นี้จนหัวเหมือนกับหินลับมีดแล้ว เพราะหัวมันโล้น มันเตียน บวชๆ สึกๆ ทรงผมก็เป็นทรงพระอย่างเดียว นายจิตตหัตถะก็เว้าวอน มิได้ท้อถอยอะไรนะ เขาก็ขอบวชอีกครั้งเดียวเท่านั้น ขอให้ท่านอนุเคราะห์ผมด้วยเถิด ในที่สุดก็บวชให้เป็นครั้งที่ ๗ แต่ในการบวชครั้งนี้ เขามีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่สึกอีก แล้วก็สมความตั้งใจ เขาก็ได้สำเร็จอรหันต์ภายใน ๒-๓ วันเท่านั้น เพราะมันเบื่อหน่ายในร่างกาย เห็นร่างกายภรรยาของตนเอง เปรียบประดุจดังอสุภะ จากที่เคยเป็นคนโลเล เมื่อถึงคราวจริงเข้า ก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อมั่น ดังนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นจิตตหัตถะที่บวชได้พักหนึ่งก็สึกไป ก็เลยถามเชิงล้อเลียนว่าท่าน เอท่าน ทำไมครั้งนี้บวชได้นานจัง ไม่อยากสึกอีกหรือ อยู่ทำไม แล้วจะสึกเมื่อไหร่ อะไรอย่างนี้ แซวกัน ก็ตอบว่า เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้ามีความเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกิเลส แต่บัดนี้ข้าพเจ้าตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าไม่ต้องไปอีกแล้ว ภิกษุพอได้ฟังดังนั้น โอ พูดแบบนี้นี่ อวดมรรค อวดผลนี่ ก็เลยเหมือนกับจะปรับปาราชิก อวดอุตริหรือเปล่า เพราะพูดแบบนี้มันเป็นอาการของพระอริยเจ้า จึงพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตตหัตถะ ลูกของเราไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง บัดนี้ บุตรของเราละบุญละบาปได้แล้ว แล้วจึงตรัสเป็นพระคาถาว่า “อนวฏฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปลปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติฯ” เป็นต้น หมายความว่า ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย เหมือนไม้หลักปักเลน ภัยคือความกลัว ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตที่ราคะไม่ซึมทราบ คือไม่ถูกราคะย้อม มีจิตที่ถูกความโกรธ คือโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญ ละบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ การที่พระพุทธองค์ตรัสเช่นนี้ เท่ากับว่า เป็นการรับรองในความเป็นพระอรหันต์ของเขา ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายก็สนทนาธรรมกันในเรื่องนี้แหละ ก็พูดกันว่า ท่านทั้งหลายนี้ ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันหยาบนัก กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้ กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชๆ สึกๆ ทำให้ต้องบวชเป็นครั้งที่ ๗ สึกถึง ๖ ครั้ง พระศาสดาทรงสดับจึงตรัสว่า ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้เป็นของหนัก เป็นของหยาบนัก “กิเลสา นามะ ภาริยา” ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้เป็นของหนัก เป็นของหยาบนัก ถ้าหากกิเลสมันจะนับเป็นตัวเป็นตนได้แล้วไซร้ จักรวาลนี้ก็คงจะแคบไป พรหมโลกก็คงจะต่ำไป เพราะไม่เพียงพอบรรจุกิเลสได้เลย พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้
ปัญญาที่เห็นแจ้งในโลกุตระไม่บริบูรณ์แก่ผู้ที่มีจิตไม่มั่นคง คลอนแคลนอยู่เสมอ เป็นคนจับจดทำอะไรไม่จริงจัง คนที่ทำอะไรไม่จริง เพราะว่าจิตไม่มั่นคงนั่นเอง ดังนั้นท่านเลยอธิบายว่า เหมือนฟักเขียวที่ตั้งไว้บนหลังม้า มันก็กลิ้งไปกลิ้งมา บางคราวก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า บางคราวก็เป็นคนสึก บางคราวก็เป็นคนเลื่อนลอย ไปบูชาเทพบ้าง ไปบูชาพญานาคบ้าง ไปบูชาโน่นนี่นั่นบ้าง คือมันหลักลอย ไม่เลื่อมใสจริงๆ หาเอาความแน่นอนอะไรไม่ได้ บวชก็ไม่ได้เป็นพระจริงๆ เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ได้ประกอบด้วยธรรมของคฤหัสถ์จริงๆ เพราะจิตมัวแต่กลับกลอกอยู่นั่นเอง จะทำความดีก็ไม่แน่ใจว่าความดีจะได้ผลจริงหรือเปล่า จึงไม่กล้าทำ ปล่อยเวลาให้ล่วงไปๆโดยเปล่าประโยชน์ แก่ตายโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะศึกษาเล่าเรียนเพียรปฏิบัติก็ลังเลอยู่ ไม่รู้จะจับอะไรดี จึงไม่ได้สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้น จากพุทธพจน์ตรงนี้ ที่ว่าไม่รู้พระสัทธรรมก็คือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์นี่แหละ จนกระทั่งไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้สติปัฏฐาน คือ ไม่รู้โพธิปักขิยธรรม ที่ธรรมให้ถึงความหลุดพ้น ภัยคือความกลัวย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตที่ไม่ถูกราคะครอบงำ ไม่ถูกโทสะครอบงำ โดยเฉพาะราคะความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม มันจะซึมซาบเอิบอาบอยู่ตลอด โดยปกติแล้ว จิตของมนุษย์จิตธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ มันจะซึมซาบเอิบอาบ เต็มไปด้วยราคะอยู่เสมอ มีความกระหาย มีความอยาก เพราะเหตุว่าจิตของคนธรรมดาสามัญชนนี้ มันจะซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้เอง จะสังเกตเห็นว่า คนหนุ่มคนสาว หรือใครก็แล้วแต่ พอเวลาพูดคุยกันถึงเรื่องเพศตรงกันข้าม หรือแม้กระทั่งพระก็เช่นเดียวกัน พูดถึงเรื่องเพศตรงกันข้ามที่มันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนนี้ พูดกันได้ยืดยาวเป็นวันๆ คุยกันได้เป็นหลายชั่วโมง ไม่รู้เบื่อหน่าย คุยกันเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อน ในที่สุดก็มักจะเวียนวนกลับมาหาเรื่องราคะเสมอ เพราะมันเป็นเรื่องที่ชอบ ในเรื่องของเพศตรงกันข้ามนี้ มันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ มันเป็นที่ตั้งแห่งความชอบ แล้วมันก็สารพัดที่มันจะย้อมใจ แต่พอราคะมันลดลงไป ความกลัวมันก็พลอยลดลงไปด้วย เหมือนกับในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะราคะมันแห้งไป ความกลัวมันก็เหือดแห้งไปด้วย ในโลกสมัยใหม่เรานะ มีกิจกรรมบำรุงบำเรอราคะมากมาย เป็นการค้าอันเป็นไปในท่วงท่าทำนองส่งเสริมราคะ มีอยู่มากมายสุดจะพรรณนาได้ กิจกรรมแล้วก็การค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยได้กำไรอันงาม เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกใจคน คนส่วนมากชอบแบบนั้น โดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการก็ย่อมต้องการสิ่งที่บำบัด เมื่อมีสิ่งเร้าก็ต้องการสิ่งที่ตอบสนอง เหมือนกับเมื่อเราหิวน้ำก็ต้องการดื่มน้ำ แต่พออิ่มน้ำแล้ว มีน้ำอยู่ตรงหน้าก็ไม่อยากกินอีกต่อไป วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นก็คือ การดับความกระหาย เพื่อที่จะไม่ได้ต้องตอบสนอง หาทางบำบัดกันด้วยวิธีป้องกันบ่อยๆ ก็คือการเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา คนธรรมดายังต้องทำบุญบ้าง บาปบ้าง เพราะจิตของเรามันต้องการ แม้บางคนจะไม่ต้องการทำบาป แต่ก็ต้องทำบาปลงไป เพราะสู้แรงกระตุ้นภายในไม่ได้ สู้สิ่งที่มันยั่วเย้าภายนอกไม่ไหว เมื่อทำความดี ก็ต้องการผลดีตอบแทน ก็คือติดดี อยากได้ อย่างดี อยากมี อยากเป็นนั่นเอง มันเป็นสภาพปรุงแต่งจิตเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้น มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นแหละ ที่ท่านไม่ต้องการบุญ ไม่ต้องการบาป ท่านจึงเป็นผู้ที่ลอยบุญ ลอยบาปได้ เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นในอะไรๆ ท่านจึงสอนเสมอว่า อย่าติดดี อย่าติดชั่วนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว จิตมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญมากที่สุดด้วย ที่เราต้องมาเรียนรู้ ที่เราต้องมาได้ดู โคลนมันเกิดจากน้ำ มันย่อมสะอาดด้วยน้ำฉันใด บาปเกิดจากจิต ย่อมหมดจดด้วยจิตฉันนั้น คือต้องเอาจิตนี่แหละมาดูจิต ให้เห็นจิต จึงจะเกิดความหมดจด ผุดผ่องแผ้วได้ พระพุทธองค์ท่านทรงตรัส ภาษิตชัดในมรรคา ตรัสถึงซึ่งปัญญา ผู้จิตนั้นไม่มั่นคง แส่ส่ายฟุ้งซ่านไป ความเลื่อมใสไม่หยั่งลง ปัญญามิอาจตรง พระสัทธรรมคงไม่บริบูรณ์ แต่ผู้อันราคะและโทสะไม่พอกพูน ละทั้งบุญบาปสูญ กิเลสมูลไม่ติดพัน วัตถุกามกิเลส ไม่เป็นเหตุเภทภัยอัน อันตรายต่อพรหมจรรย์ ผัสสะนั้นเป็นเพียงกิริยา เพราะเหตุท่านละแล้ว ไม่อาจแผ่วภัยพาลมา ตื่นรู้อยู่ทุกครา นี้ธรรมาแห่งพุทธธรรม
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ