แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๖ กำหนดรู้เวทนาความรู้สึกต่างๆ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในช่วงนี้ องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็ได้เมตตาให้บรรยายในเรื่องของการประพฤติการปฏิบัติ-ทางสายเอกเข้าสู่ความดับทุกข์ ถึงความดับทุกข์ นั่นก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง วันนี้จะขึ้นหมวดที่ ๒ ก็คือเวทนานุปัสสนาปฏิปัฏฐาน การตามกำหนดรู้เวทนา คำว่าเวทนา แปลว่าการเสวยอารมณ์ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า feeling หรือว่า sensation การเสวยอารมณ์หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ความรู้สึกนั้นเอง แต่ภาษาไทยเราเอาจะมาใช้ในความหมายที่ผิดไป เป็นความเจ็บปวดบ้าง ความสงสารบ้าง เช่น สมเพชเวทนา แต่ในภาษาบาลีความหมายของพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็คือ ความรู้สึก รู้สึกทางกาย รู้สึกทางใจ มีอยู่ ๓ อย่างด้วยกันก็คือว่า รู้สึกสบายกาย รู้สึกไม่สบายกาย รู้สึกเฉยๆ บางแห่งท่านก็บอกว่ามี ๕ อย่าง คือ รู้สึกสบายกาย สบายใจ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แล้วก็เฉยๆ
อย่างแรก สุขเวทนาหรือว่า present feeling สุขเวทนา ความรู้สึกสบายกาย รู้สึกสบายใจ เป็นความโล่ง เบาสบาย หรือว่าความรู้สึกอันเป็นสุขทางใจ ที่เป็นโสมนัส ดีใจ เบิกบานใจ โสมนัสยินดี ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้เจริญสติ ก็ต้องกำหนดรู้อาการนั้นๆ แล้วทีนี้ ประการต่อมา ทุกขเวทนา แต่ทีนี้ขออธิบายลึกๆ ของสุขเวทนา คือความรู้สึกสบายกายสบายใจ ตอนเริ่มแรกแห่งการปฏิบัติ มักจะไม่ค่อยปรากฏอาการชัดเจน แต่ต่อมาๆ เมื่อเจริญสติมากขึ้นๆ มันจะเห็นชัดในเรื่องของความปวด ความเจ็บ ปกติแล้ว มันก็มีมาตั้งแต่เกิดแล้ว ความรู้สึกต่างๆ เรานั่งนานๆ มันก็เจ็บ มันก็ปวด เป็นเหน็บ เป็นชา ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา ปวดแข้ง ปวดโน่น ปวดนี่ ปวดตามร่างกาย อาการปวดเหล่านี้ คือ เวทนา แต่มันเป็นเวทนาในฝ่ายที่เราไม่ชอบ ความปวดเราไม่ชอบอยู่แล้ว พอมันนั่งกันนาน มันปวด มันเกิดความขัดใจ เป็นโทมนัสเป็น โทสะ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือบางครั้ง มันเบากายเบาใจ มันโล่งไปหมดเลย มันโล่ง มันเบา มันปีติ มันเอิบอาบ ซาบซ่าน เป็นอาการของความสุขทาง กายแล้วก็ความสุขทางใจ ที่มันร่วมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ในช่วงแรกๆ นี้ นักปฏิบัติควรกำหนดรู้ตามอาการนั้นๆ โดยไม่รับรู้ถึงร่างของขา หรือว่าของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสมาธิพอสมควรแล้ว จึงเกิดความปีติ ความโสมนัส บางทีถึงขนาดขนลุก น้ำตาไหลหรือว่าเห็นแสงสว่าง ในขณะที่สติรู้อาการนั้นๆ ตามความเป็นจริง
เวทนาต่อมา ทุกขเวทนา painful feeling painful ก็คือความเจ็บความปวด ทุกขเวทนา ความรู้สึกที่มันเป็นทุกข์ทางกาย เจ็บ ปวด เมื่อย ชา คัน ร้อน เย็น จุก เสียด เหนื่อย หรือว่าความรู้สึกทางใจ ที่มันเป็นไปในทางฝ่ายที่เราไม่ชอบ เศร้าโศก เสียใจ กลัว ไม่สบายใจ ร้อนใจ วิตกกังวล ผู้ปฏิบัติต้องรู้ตามทุกขเวทนา ตามอาการนั้นๆ ตามที่มันเป็นจริง จะรู้อย่างไร? ครูบาอาจารย์ท่านก็ให้อุบาย คือว่า มีคำบริกรรม คำบริกรรมสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ ท่านบอกว่า เหมือนกับคนที่กำลังหัดว่ายน้ำ คนว่ายน้ำไม่เป็น จำเป็นต้องมีห่วงยางในการหัดว่ายน้ำให้เป็น พอว่ายน้ำเป็นแล้ว ห่วงยางก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เหมือนกับผู้ปฏิบัติธรรมในการเริ่มต้น บางสิ่งบางอย่างต้องมีคำบริกรรม เช่น พุทโธนี้ พุทโธ ก็คือคำบริกรรม เพราะการที่จะดูลมเฉยๆ ดูได้ไม่กี่คู่ หายใจเข้าหายใจออกๆ ฟุ้งอีกแล้ว คิดอีกแล้ว เครียดอีกแล้ว ง่วงอีกแล้ว สารพัดอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า ให้มีคำบริกรรมพุทโธ แต่ไม่ใช่ท่องนะ แต่ว่าพุท-นี้ ความรู้สึกหลักๆ ต้องอยู่ที่ลมหายใจเข้า โธ-ความรู้สึกหลักๆ อยู่ที่ลมหายใจออก แต่พอเมื่อสติ สมาธิ มันชัดเจน มันคมชัดมากขึ้น คำบริกรรมมันจะหายไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกลัวว่าจะติดคำบริกรรม ทุกๆ อาการในการเจริญสติ สำหรับเบื้องแรกในการเจริญสติ ถ้าเราสติยังไม่คมชัด เพียงแค่รู้ มันยังไม่พอ มันยังไม่เห็นชัดในอาการนั้นๆ ท่านก็เลยให้มีคำบริกรรม ร้อนก็รู้ว่าร้อน ปวดก็รู้ว่าปวด อย่างเช่น ถ้าสายหลวงพ่อ มหาสี สยาดอว์ เขาบอกว่า ปวดท้อง ปวดหนอ จุกเสียดหนอ เสียใจหนอ ไม่สบายหนอ คิดหนอ ฟุ้งหนอ แต่ทีนี้ คำบริกรรมมันอยู่ที่บัญญัติของแต่ละประเทศ เพราะคำพูดสื่อความหมาย มันแตกต่างกันออกไปที่เข้าใจ ดังนั้น คำบริกรรม จึงเป็นเหมือนกับห่วงยางสำหรับคนหัดว่ายน้ำ พอว่ายน้ำเป็นแล้ว ว่ายน้ำแข็งแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยอีกต่อไป ในเบื้องแรกแห่งการปฏิบัติ ท่านจึงให้อุบายโดยการใช้คำบริกรรม เจ็บปวด เมื่อย ชา คัน ร้อน เย็น จุกเสียด เหนื่อย เศร้าโศก เสียใจ กลัว ไม่ชอบใจ สารพัดอารมณ์นี้ รู้ตามนั้น เพียงแค่รู้สักแต่ว่ารู้ถ้า มันรู้ไม่ชัดก็ใส่คำบริกรรมเข้าไป แบบที่เราเข้าใจนี่แหละ จะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ใส่ได้หมด แต่ว่าที่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องรู้อาการนั้นๆ ให้มันชัดเจนกว่าคำบริกรรม ทุกขเวทนามันเห็นง่าย ในการเจริญสติ พระพุทธเจ้าตรัสสอนจากของหยาบๆ ที่มันเห็นง่ายก็คือเรื่องกายก่อน กายทุกคนมันเห็นง่าย ตั้งแต่ที่ได้อธิบาย ๔-๕ วันที่ผ่านมา ในหมวดของการดูกาย ทีนี้ลึกเข้ามาหน่อย เป็นส่วนที่มองไม่เห็น แต่เรารับรู้รู้สึกได้ โดยเฉพาะทุกขเวทนาความเจ็บปวดที่มันเกิดขึ้นในขณะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งอิริยาบถในชีวิตประจำวัน ที่มันมีความเจ็บ ความปวดตลอดเวลานี้ ให้รู้ตามนั้น เพราะเราไม่มีความสามารถจะไปบังคับมันได้ ไม่มีใครๆ ในโลกนี้ จะไปบังคับร่างกายไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวด ไม่ให้แก่ ไม่ให้เฒ่า ไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เราเป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดูเวทนา
อย่างต่อมา คือ อุเบกขาเวทนา ภาษาอังกฤษบอกว่า indifferent feeling indifferent คือ เฉยๆ เป็นความรู้สึกที่มันเป็นกลางๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เวทนาประเภทนี้ ความรู้สึกแบบนี้ ไม่เด่นชัดเหมือนกับสุขเวทนา แล้วก็ทุกขเวทนา แต่มันมักจะปรากฏขึ้นหลังจากที่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา คือความสบายใจ สบายกาย ทุกข์กาย แล้วก็เสียใจนี้ มันหายไป ความรู้สึกเป็นกลางๆเฉยๆ มันจะเกิดขึ้น จัดว่าเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เหมือนกับอวิชชาความหลงนี้ มันเกิดพร้อมกับความโลภ ความโกรธนะ มันเกิดพร้อมกัน แต่เราไม่รู้หรอก เพราะความโลภมันชัด ความโกรธมันชัด เวลาที่เราโกรธใครสักคน เวลาที่อยากได้อะไรสักอย่างหนึ่งนี้ ทั้งที่มันมีอวิชชาเป็นองค์ประกอบ เพราะว่าอวิชชานี้เป็นพ่อเป็นแม่ของกิเลสทั้งปวง เวลาความโลภ ความโกรธ มันเกิดขึ้นมา มีไหม-มี อวิชชาเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว แต่เรามองไม่เห็น อุเบกขาก็เช่นเดียวกัน เป็นความเป็นกลางๆ นี้ มันมองไม่เห็น อวิชชา พอเวลาความไม่รู้มันเกิดขึ้น มันจะทำหน้าที่ปกปิดโทษ ทำให้โง่ ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง ทำให้หลงนั่นเอง เวลาโลภก็ไม่รู้ว่าโลภ เวลาราคะเกิด รักชอบใครขึ้นมาแบบผิดปกติ มันก็ไม่รู้ เพราะว่ามันปิดเอาไว้ คือความโง่ ความหลง อวิชชาตัวนี้มันปิดเอาไว้ คนเราจึงบอกว่า ความรักมันทำให้คนตาบอด โกรธใครขึ้นมาก็ทำให้คนใจบอดเหมือนกัน มันข่ม มันไม่รู้อารมณ์ตัวเอง ความโกรธเกิดขึ้น ทำไมไม่รู้ว่าโกรธล่ะ? ทั้งที่ลงไม้ลงมือด่ากันไปแล้ว เพราะอะไร? ก็เพราะอวิชชามันปิดบังเอาไว้ ฉันใดฉันนั้น อุเบกขาความเฉยๆก็เช่นเดียวกัน มันไม่ชัดในเวลาปกติ แต่มันจะปรากฏขึ้นในภายหลังจากที่ความสุขความทุกข์มันหายไปแล้ว
แล้วทีนี้ท่านก็แยกย่อยให้ละเอียดไปอีกว่า สุขนี่หรือความรู้สึกที่มันเป็นสุข ยังแบ่งออกได้อีก ๒ คือสุขที่อิงกาม สุขที่อาศัยกาม กับสุขที่ไม่อาศัยตัวกาม สุขที่อาศัยกามคุณนี้ก็คือ ความยินดีพอใจในกามคุณ ๕ รูปก็สวย เสียงก็ไพเราะ กลิ่นก็หอม อาหารก็อร่อย ถูกต้องสัมผัสก็ดี ต่างๆเหล่านี้ มันเป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ทุกคน เป็นสิ่งที่คนรัก ตนรักพอใจ อยู่ภายในภายนอกร่างกาย แบบนี้เขาเลยเรียกว่า เป็นความสุขที่มันอาศัยกาม มันต้องอาศัยสิ่งภายนอกเป็นเหยื่อล่อในทางโลก โดยเฉพาะที่มันเข้ามาทางตา เข้ามาทางหู เข้ามาทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันเป็นประตูทั้ง ๖ เป็นทวาร ทวารตา ทวารหู ทวารจมูก ทวารลิ้น ทวารกาย ทวารใจ พอมันเข้ามาแล้ว เวลาเราเห็น เวลาเราได้ยิน เวลาได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส คิดอะไรออกไปนี้ มันจะเอิบอาบ ซาบซ่าน ยินดีพอใจ ติดใจในอารมณ์นั้นๆ เพราะมันเป็นสุขเวทนา ความรู้สึกชอบ ความรู้สึกสบาย ใช่เลย มันเกิดขึ้นแบบนี้ คือ เป็นความสุขที่มันอิงกามคุณ ต่อไป ความสุขที่ไม่อิงกาม ท่านก็บอกว่า เป็นความปีติใจ เอิบอิ่มใจ เป็นความโสมนัสยินดีที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรมที่อบรมจิตด้วยการตามรู้ลมหายใจอานาปานสติ หรือว่ามีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถต่างๆ หรือว่า พิจารณาอสุภะ เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่งดงาม แล้วมันเบื่อ พอมันเบื่อ ปีติมันเกิด ความอาจหาญ ความเอิบอิ่มในธรรมมันเกิดขึ้น เช่นนี้ เป็นความสุขที่มันไม่ต้องอาศัยกาม เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่มันเกิดสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม
ต่อไป ความทุกข์ก็แบ่งเป็น ๒ เหมือนกัน ความทุกข์ที่อาศัยกามกับความทุกข์ที่ไม่อาศัยกาม ความทุกข์ที่มันอาศัยกามนี้ เราก็เห็นง่ายๆ เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ อารมณ์สารพัดอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ส่วนใหญ่มันเป็นไปในทางที่ลบนะ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ เวลาอยากเสพกามคุณ อยากไปนั่น ไปนี่ อยากเห็นรูปสวยๆ งามๆ อยากฟังเสียงไพเราะๆ อยากได้กลิ่นรู้รส แต่มันไม่ได้ดั่งใจ มันก็เป็นอารมณ์ที่ไม่ชอบเกิดขึ้นมา หรือว่าการคิดถึงความหลังที่เราเคยเจ็บ เคยปวด เคยเสียใจ เคยพลัดพราก แล้วมันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แบบนี้เรียกว่า เป็นทุกข์ที่มันอาศัยกามคุณ แล้วทุกข์ที่มันไม่อาศัยกามเป็นอย่างไร? ท่านก็บอกว่า เป็นความเสียใจในการเจริญสติ ในการปฏิบัติวิปัสสนาของผู้ที่ไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติมาเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่เห็นก้าวหน้าเลย เสียใจ ทำไมนั่งสมาธิไม่สงบ ทำไมไม่ได้อย่างนั้น ไม่ได้อย่างนี้ ทำไม?? จนกระทั่งทำไมไม่บรรลุสักที? ความเสียใจเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น เรียกว่า เป็นความเสียใจที่มันไม่อาศัยกามคุณ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรู้สึกเหล่านี้ พระพุทธเจ้าไม่ให้เราตาม ให้เราเพียงแต่รับรู้ เพียงแต่เป็นผู้รู้ ผู้ดู ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่
ต่อไป อุเบกขาก็มี ๒ เช่นเดียวกัน คือ อุเบกขาที่มันอาศัยกามคุณ คือ ความรู้สึกที่มันเป็นกลางต่อกามคุณ เพราะเสพสุขจากวัตถุนั้นจนชาชิน เราลองดู บางทีเสพกามมากๆ หรือว่าสุขมากๆ รู้สึกเฉยๆ ทั้งที่ตอนแรกๆ ที่เราได้มา ที่เราประสบพบเจอนี้ มันรู้สึกว่า มันเยี่ยมยอด มันดี มัน feel เหลือเกิน แต่พอเวลาผ่านไปๆ มันชาชิน ซี่งข้อปฏิบัติแบบตันตระ พุทธมหายานแบบตันตระที่เป็นพุทธยุคสุดท้ายของอินเดียก่อนที่จะเสื่อมไปนี้ เขาก็เอาวิธีคล้ายๆ แบบนี้ อยากกิน กินไปเลย อยากมีเมียมีไปเลย อันนี้คือพระ อยากเสพกามเสพเลย อยากกินเหล้ากินเบียร์กินไปเลย กินให้มันพอ จนมันอุเบกขา แบบนี้มันไม่ใช่อุเบกขาแบบทางธรรม มันเป็นอุเบกขาที่มีความโลภแอบแฝงอยู่ มันเป็นอุเบกขาที่มีกิเลสแอบแฝงอยู่ มันชั่วครั้งชั่วคราว พอมันอยากอีก มันก็ต้องต้องการอีก มันก็ต้องอยากได้ อยากเห็น อยากดู อยากฟัง อยากกิน อยากเสพอีก เพราะ มันเป็นอุเบกขาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะมันจะอาศัยกามคุณ ต่อไป ที่เป็นอุเบกขาแบบไม่อาศัยกามคุณนี้ ก็คือว่า เป็นความวางเฉย ในขณะรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจคิดนึกอะไร เพียงแต่ว่ารู้ สักแต่ว่า สักแต่ว่า เหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนท่านพาหิยะว่า “พาหิยะ เมื่อใดแล เมื่อเธอเห็น สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส กายถูกต้องสัมผัส เพียงแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ เมื่อเธอเป็นแต่สักว่าอย่างนี้ เธอจะไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต จะมีแต่ปัจจุบัน นี่แหละคือที่สุดแห่งทุกข์ของเธอ” พาหิยะฟังเท่านี้จบ จิตท่านก็เจริญวิปัสสนาในขณะที่ฟัง บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที ฟังเท่านี้ เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน เหมือนกับจิตของพระอรหันต์นี้ ท่านเห็นเหมือนเรานี่แหละ แต่มันจะเข้ามาในใจท่านไม่ได้ เพราะมันสะท้อนกลับไป เพราะมันเข้ามาไม่ได้ เพราะท่านมีเครื่องอยู่ คือ สติสัมปชัญญะ มีเครื่องอยู่ คือ อานาปานสติ ทุกๆ ลมหายใจ ทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้กลิ่น การรู้รส ถูกต้องสัมผัส ท่านก็อยู่ในโลกเดียวกับเรา แต่ว่าสิ่งพวกนี้ มันมาทำอะไรท่านไม่ได้ เพราะท่านมีเครื่องอยู่ มันก็กระเด็นออก กระเด็นออก แต่พวกเราทั้งหลาย ที่เป็นปุถุชนเต็มขั้น หรือว่าส่วนใหญ่ยังเป็นปุถุชนนี้ มันก็จะน้อมเข้ามา เข้ามาในใจแล้วก็ปรุงแต่งสารพัด ที่มันเป็นผัสสะ พอมันเป็นผัสสะเข้ามากระทบทางทวาร ๖ มันก็เป็นความรู้สึกปรุงแต่งไปแล้ว ชอบไม่ชอบ ๒ อารมณ์นี้ พอชอบ-ไม่ชอบ มันก็จะเป็นกระบวนการต่อไป คือ ตัณหา ตัณหาแล้วก็ยึดมั่น มันเป็นวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่มันทำหน้าที่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในเรื่องของกายนี้ มันเป็นสิ่งที่ชัดเจน แต่ในเรื่องของเวทนา ในเรื่องของจิต และสภาวธรรมต่างๆ มันแยกแยะ มันต้องใช้กำลังของสติ สมาธิ ในการเห็นจริงๆ เป็นการที่ไม่ได้เห็นด้วยตาเนื้อ ไม่ใช่เห็นด้วยการคิด แต่เห็นด้วยการประจักษ์แจ้ง เห็นด้วยปัญญา ขณะที่เรากำลังหายใจเข้า หายใจออก กำลังเดิน ยืน นั่ง หรือนอน ทุกๆ อย่างนี้ เราสามารถเป็นการเจริญสติปัฏฐาน แต่ในขณะนั้น มันก็มีอารมณ์ต่างๆ ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ ในกิริยาอาการต่างๆ ผู้ปฏิบัติก็ต้องกำหนดความรู้สึกนั้นๆ ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ต่อต้าน ไม่ไปดึงมาไว้ คือ ไม่ไปต่อไปเติมมัน ที่หลวงพ่อชาบอกว่า ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด ทุกหยุดเพราะปล่อย ส่วนใหญ่เราจะตาม เราจะยืดมัน พอยืด พอตามมัน เราไม่ตัด ไม่ตัดที่อารมณ์ปัจจุบัน ที่ว่า สักว่า สักว่า เจ็บก็สักแต่ว่าเจ็บ ดีใจก็สักแต่ว่าดีใจ เสียใจก็สักแต่ว่าเสียใจ แต่ส่วนใหญ่ พอตาม พอตามมาแล้ว ทุกข์มันก็เกิดขึ้นมา มันเป็นกระบวนการอย่างนี้
คนทั่วไปในชีวิตประจำวันนี้มักจะรับรู้รูปร่างสัณฐานของร่างกาย ตามสื่อความหมายตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีแต่สมมุติบัญญัติมาครอบคลุมเอาไว้ตลอด ตั้งแต่ตื่นมา ก็เราตื่น เราเห็น เรากิน เราบิณฑบาต เราทำโน่น ทำนี่ เป็นเราสารพัด ที่มันตรึงเอาไว้อย่างนี้ แต่การที่เรามาเจริญสติ เจริญวิปัสสนานี้ เพื่อที่จะลอกการยึดถือที่มันเป็นสมมติตรงนี้ออกไป เพื่อที่จะได้เห็นแก่นจริงๆ ในเบื้องแรกนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นหยั่งรู้ลักษณะพิเศษของกาย ของใจ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การยืน การนอน การนั่ง การดูกายดูใจนี้ มันสัมพันธ์กันตลอดเวลา ตั้งแต่ที่เราดูอิริยาบถ ๔ ในขณะที่เรารู้ว่า ตอนที่เรานั่ง เราเดินนี้ ธาตุดินมันมีลักษณะอ่อน ลักษณะแข็ง ในขณะที่เรายกเท้าเดิน มันเบา ความเบา ความหนัก ก็คืออาการของธาตุดิน ในขณะที่เราย่างเท้าไป มันเป็นลักษณะผลักดัน คือ อาการของธาตุลมมันทำงาน ในขณะที่เราเหยียบเท้าลงไป มันก็หนักอีก ก็เป็นอาการของธาตุดิน มันมีทั้งแข็ง ทั้งเย็น ทั้งเหนียว ทั้งหนึบ มันสารพัด ธาตุ ๔ มันทำงานตลอดให้เราเห็น สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ด้วยสติที่มันคมชัด แล้วการที่เราพิจารณา เจริญสติ เจริญสมาธิ ให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เฉยๆ ต่อมาจึงเห็นว่า อารมณ์เหล่านี้ ความทุกข์ ความสุข เฉยๆ เหล่านี้ มันก็เกิด-ดับตลอดเวลา ในขณะที่เราดีใจอะไรสักเรื่อง มันไม่ได้ดีใจแบบแช่อย่างนั้นทั้งวันนะ มันดีใจเดี๋ยวเดียวมันก็หมดไป แม้กระทั่งเสียใจ ก็เสียใจเดี๋ยวเดียวมันก็หมดไป ในขณะที่เรานั่งเจ็บๆ ปวดๆ นี้ มันก็พักเดียว มันก็หายไป ทุกอย่างมันเกิด-ดับ เกิด-ดับ ตลอดเวลา การที่เรามาให้เห็นความเกิด-ดับ เกิด-ดับ นี่แหละ มันคือเป็นวิปัสสนา มันเห็นอารมณ์ของไตรลักษณ์ มันเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเห็นบ่อยๆ เช่นนี้ เห็นมากๆ เช่นนี้ มันเป็นการสะสมกำลังสติ กำลังสมาธิ เหมือนที่อุปมาเมื่อวาน เหมือนกับว่า ที่เราจะได้หนังสือสักเล่มใหญ่ๆ ที่มีพันหน้า เราต้องเคาะคีย์บอร์ดกี่ครั้ง เป็นแสนเป็นล้านครั้ง กว่าจะได้หนังสือที่มันมีตัวหนังสือเต็มหน้าทุกๆ หน้า พันหน้าเล่มหนึ่ง การที่เราเจริญสติสมาธิ ๑ ครั้ง เหมือนกับเคาะคีย์บอร์ดทีหนึ่ง กว่ามันจะเต็มนี้ มันต้องอาศัยเวลา อาศัยความติดต่อๆ เนื่อง อาศัยกำลัง เมื่อกำลังมันเต็มที่ เหมือนกับหนังสือเล่มนี้บริบูรณ์ มันก็จะปรากฏผลเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นวิปัสสนาปัญญามาให้เราเห็นแจ้งตามความเป็นจริงของกาย ของใจ ทำลายกำแพงแห่งสมมุติบัญญัติ ที่เราสมมติกันก็เป็นเรา เป็นตัวกู ของกู เป็นของคนนั้น เป็นของคนนี้ เปรียบได้กับคนที่ต้องการแก่นไม้นี้ จะต้องผ่า ต้องถากเปลือกไม้ ถากเนื้อไม้ ฟันๆ จนกระทั่งไปถึงแก่นมันได้ เปลือกไม้ ท่านบอกว่า เหมือนกับสมมุติบัญญัติ ที่เราเรียกๆ กันนี้ เราตื่น เราเห็น เราได้ยิน มือเรา อันนั้นอันนี้เป็นของของเรานี้ เหมือนกับเปลือกไม้ เนื้อไม้เหมือนกับสภาวธรรม ที่เวลาเราเจริญสติ สมาธิ ปัญญาญาณ มันเกิดสติปัญญา มันเกิดเป็นสภาวธรรม แล้วสุดท้ายไปเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง นั่นคือแก่นไม้ อุปมาง่ายๆ เช่นนี้
แล้วก็เด็กที่เกิดมากำลังดื่มนม หรือว่าคนทั่วไปเข้าใจความสุข โดยมีตัวมีตนว่า เรากำลังเสวยความสุขอยู่ แล้วมันก็เที่ยง มันก็เป็นสุขตลอดเวลา มันบังคับบัญชาได้ เราสามารถควบคุม control ความสุขของเราได้ ส่วนใหญ่คิดแบบนี้ แล้วก็คิดกันอย่างนี้มาตลอดด้วย จึงหาวิธีด้วยการควบคุม control ด้วยอาการต่างๆ ไปซื้อ ไปเสพ ไปกิน ไปดื่ม ไปเที่ยว ไปเล่น เพื่อควบคุมคอนโทรลความสุขของตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความสุขเหล่านี้ มันก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่างเลย มันเดี๋ยวเดียวก็หมดไป เดี๋ยวเดียวมันก็หมดไป ความทุกข์ก็เหมือนกัน ต้องการจะบำบัดทุกข์ด้วยการไปกิน ไปดื่ม ไปเที่ยว ไปเล่น จริงอยู่ ทุกข์มันหายไปเพราะว่าเราลืมมัน แต่พอมันกลับมาเหมือนเดิม มันก็ทุกข์อีกแล้ว เพราะอะไร? เพราะว่าเราไม่ได้ถอนรากถอนโคนมันออกไปด้วยมีดที่มันคมกล้า คือวิปัสสนาปัญญา ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดรู้ ต้องรู้สุขเวทนาตามความเป็นจริง แล้วก็จะเข้าใจว่าสุขเวทนามันก็เป็นเพียงความรู้สึกที่ดี เมื่อได้รับอารมณ์ที่ตนพอใจ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ใช่บุรุษสตรี ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ดังนั้น จึงไม่มีคนเสวยเวทนา มันเป็นแค่เพียงความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น จิตไปรู้ความรู้สึกคือเวทนาเกิดขึ้น แล้วก็มีจิตตัวรู้ มันมีอยู่แค่นี้เอง แต่เพราะเรายึด ยึดแบบนี้มานมนานแล้วหลายภพหลายชาติ ในเวทนาทั้งสามประเภทนี้ ผู้ปฏิบัติจะกำหนดรู้ทุกขเวทนาเป็นความเจ็บปวดทางกาย เจ็บปวดในขณะนั่งเป็นเวลานานๆ เราไม่ต้องไปนั่งหาเวทนา เวทนามันมีอยู่แล้ว เราอย่าไปขยับ ตั้งใจไว้เลยว่า นั่งสมาธิชั่วโมงนี้ จะไม่ขยับเด็ดขาด สมมุติถ้ามันง่วงตัวงอลงไป ก็ค่อยๆ ยืดขึ้น ยืดขึ้น จะเจ็บจะปวด จะชาขนาดไหน อย่าไปขยับ แบบนี้ถึงจะเห็นชัดๆ แต่เรากลัวมัน เราจะไปขยับหนีมัน เจ็บหน่อยหนึ่งก็พลิก เจ็บหน่อยหนึ่งก็ขยับ แบบนี้เวทนาก็ไม่เห็น เพราะว่าทุกขเวทนา เราไปหนีมันด้วยการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เมื่อเราเห็นมันจริงๆ จะเห็นความเป็นจริงของความทุกข์ มันคือสภาพที่ไม่น่าปรารถนาจริงๆ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความเจ็บปวด ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อหลีกเลี่ยงเวทนา แล้วควรกำหนดรู้ทุกขเวทนานั้นโดยวางใจเป็นกลาง โดยไม่มีความอยากที่จะให้มันหาย อยากหายมันก็ไม่หายหรอก เพราะเราบังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าเราสั่งมันได้ มันก็จะหยุดตรงนั้นแหละ จงหายปวดนะ มันคงจะหายทันที แต่เพราะเราสั่งมันไม่ได้ หรือเราจะอยากให้เวทนามันอยู่อย่างนี้ตลอด อย่าหายนะ เราก็สั่งมันไม่ได้อีก เพราะมันถึงที่ มันก็ต้องหายไป หรือจะคิดว่าระงับให้ได้ เพราะความคิดอย่างนั้น คิดที่มันอยากอย่างนั้น คือ ความคิดที่มันเป็นความโลภ ที่อยากให้สุขเวทนาแช่อยู่ หรือไม่อยากให้ความทุกข์ ความเจ็บ ความปวด มันอยู่อย่างนี้ ให้มันหายไวๆ มันก็คืออาการของความโกรธ เป็นอาการของโทสะ คือ ความไม่ชอบ ขัดใจ ขุ่นเคืองใจ อาการที่วางใจไม่เป็นเหล่านี้ มันเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ทำให้ขาดสติที่รู้เท่าทันต่อเวทนาที่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพราะเราจะหนีมัน หรือว่าเราอยากจะให้มันสุข มันดีใจอย่างนี้ตลอด พอตัวโลภ ตัวโกรธมันเกิดขึ้นมา มันก็บังแล้ว มันจะไม่ให้เห็นชัด เมื่อรู้สึกว่ามีความเจ็บปวดมากๆ อย่าไปเกร็งร่างกาย หรือว่าไปเคร่งเครียด กำหนดรู้นี้ จดจ่ออยู่ที่อาการปวดอย่างชัดเจน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดที่เส้นเอ็น หรือปวดที่กระดูก ให้เพียงแค่รู้ แค่ดู หรือมีคำบริกรรมก็ได้ ปวดๆๆ แต่เราอย่าไปไล่ เพราะอย่างไรก็ไล่ไม่ออก อย่าไปเสียใจกับมัน อย่าไปทุกข์ใจกับมัน แบบนี้ เมื่อเราปฏิบัติแบบนี้ มากขึ้นๆ จะสามารถแยกกาย แยกใจ แยกจิต แยกเวทนาได้ เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า ที่ท่านแยกกาย แยกใจ แยกเวทนา แยกจิตของท่านได้ ปวดก็ปวดไป เจ็บก็เจ็บไป เพียงแค่รู้ แต่ไม่มีเราเจ็บ เราปวดพ่วงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ไม่ทุกข์ บางคนส่วนใหญ่ก็จะเคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่าง เพื่อจะเปลี่ยนท่านั่ง เพื่อที่จะขับไล่ทุกขเวทนา แต่หากกายยังไม่สงบ มันเคลื่อนไหวอยู่เสมอ สติมันก็ไม่สามารถสงบได้เช่นกัน เพราะขาดสติในการรู้ ขาดสติในการที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ ขาดสติในการที่จะจดจ่ออยู่กับอาการ มันจึงไม่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่เรากำหนดว่านั่ง ๑ ชั่วโมงนี้ ไม่จำเป็นไม่ต้องเปลี่ยนท่านั่ง หรืออย่างมาก เปลี่ยนครั้งหนึ่งก็พอ เพื่อที่จะให้เห็นทุกขเวทนาได้อย่างชัดๆ เวทนาเหล่านี้ ความรู้สึกเหล่านี้ มันเกิดมาจากผัสสะ คือ เกิดมาจากสิ่งที่กระทบ มันสืบเนื่องกันมาเป็นกระบวนการ เป็นวงจร ตามที่ได้อธิบายไว้นานมาแล้วในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท เมื่อมีผัสสะสิ่งที่เข้ามากระทบ มันจะเป็นอารมณ์ชอบ-ไม่ชอบ แล้วมันก็จะปรุงแต่งขึ้นมา พอปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว มันมีตัณหา ตัณหาอยาก ถ้าชอบก็เก็บเอาไว้ อยากมีอยากเป็น พอไม่ชอบ มันก็ไม่อยากมีไม่อยากเป็น อย่างนี้ เพราะตัณหามันเหมือนยางเหนียว มันยึดเอาไว้ มันก็จะพ่วงเข้าไปเป็นอุปาทานว่า เรา เราเห็น เราดีใจ เราชอบ เราไม่ชอบ เมื่อยึดมั่น มันก็เกิดความมี ความเป็น เป็นภพ เมื่อมีความมี ความเป็นเช่นนี้ มันก็เกิดขบวนการต่อมา เป็นเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศก เสียใจ แล้วก็วนกลับมาที่อวิชชา ความไม่รู้เหมือนเดิม มันจึงเป็นวงจร cycle of life วงจรปฏิจจสมุปบาท วงจรชีวิต แต่ละวันนี้ ปฏิจจสมุปบาท วงจรนี้เกิดขึ้นแก่เรานับไม่ถ้วน เพราะเรารู้ไม่ทัน ตามไม่เท่าทัน การกำหนดรู้เวทนานี้ มีประโยชน์ เพื่อที่กำจัดตัณหา ที่มันเกิดจากเวทนา เวลาสุขเวทนามันเกิด มันเกิดความพอใจในสุขที่ได้รับอยู่ แล้วก็ทำให้อยากได้และรับความสุขอย่างนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่พอใจกับความสุขเดิมว่ามันเลิศ ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลยว่า ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ คนโลภก็ไม่อิ่มเต็มด้วยตัณหา มันไม่เคยเต็ม ทุกขเวทนามันก่อให้เกิดความที่อยากจะพ้นไปจากทุกข์ที่ประสบอยู่ เพราะทุกคนนี้ล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ ไม่อยากอยู่อย่างนี้ ไม่อยากเป็นอย่างนี้ แล้วก็อุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ มันก็ก่อให้เกิดความอยากที่ได้รับสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งตนเคยได้หรือว่าคาดหวังเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดรู้เวทนาในเวทนาตามหลักของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้จึงเป็นการตัดวงจรของสังสารวัฏอย่างแท้จริง เมื่อตัณหาไม่เกิด เมื่อเราตัด ตัดตรงเวทนาได้ ตัณหามันก็ไม่เกิด ตัณหาไม่เกิด อุปทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ มันก็ไม่มี เป็นการตัดทุกๆ ขณะที่เรามีสติ มีสมาธิ ตัดทุกๆ ขณะจิต เพราะฉะนั้น จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ปฏิจจสมุปบาท มันเกิดขึ้นทุกขณะจิตเราเลย ที่เราปรุงแต่งอะไรสักเรื่อง
ทีนี้ ท่านบอกถึงวิธีอดทนต่อทุกขเวทนานี้ ในขณะที่เรานั่งนานๆ เดินจงกรมนานๆ ปฏิบัตินานๆ มีวิธีอดทนอยู่ ๓ อย่าง อย่างแรก สู้แบบเผชิญหน้า จดจ่ออยู่ที่อาการเจ็บ อาการปวด กำหนดจี้ลงไปในสถานที่มันปวดมากที่สุด เหมือนกับการสู้รบแบบเผชิญหน้าไม่ยอมถอย วิธีนี้ ค่อนข้างจะเหน็ดเหนื่อย เพราะว่าต้องใช้พลังจิตจดจ่อมาก แต่ก็มีประโยชน์ในการเห็นลักษณะพิเศษของเวทนาได้เร็ว ยิ่งรู้ตามที่มันเป็น มันจะเห็นชัดเลยว่า ก้อนเจ็บๆ ที่มันปวดอยู่นี้ มันไม่ใช่ก้อนเดียวเหมือนของเรานะ มันเป็นการทำงานของเวทนาที่มันเหมือนกับเครื่องจักรกลที่มันทำงานไวมาก เหมือนกับมันติดเครื่องตลอดเวลา จนแทบรู้ไม่ทัน พอมันถึงที่สุด มันจะค่อยๆ เบาลง มันจะจางลงๆๆๆ จนกระทั่งมันหายไป บางทีมันก็ออกไปทางเท้า บางทีมันก็ออกไปทางแข้ง บางทีมันก็เหมือนกับออกไปทางขา บางทีมันก็เหมือนกับออกไปทางลำตัว พอความปวดหายไป ปีติจะเกิด มันรู้สึกเย็นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย บางทีเกิดขนลุก น้ำตาไหล ปีติมันเกิด มันเป็นสภาวธรรมที่มันตามกันมา เมื่อตอนสู้กับเวทนา ผ่านเวทนาไปได้ ปีติมันก็ตามมา มันเป็นกระบวนการเช่นนี้ ต่อไปท่านบอกว่า สู้แบบกองโจร สู้อย่างไร? สู้แบบกองโจร กำหนดเวทนา เปลี่ยนไปกำหนดอารมณ์อื่นบ้าง เหมือนกับกองโจรที่มันซุ่ม ตอนนี้รู้สึกว่า ความปวดมันเบาไป ก็ไปดูจิต จิตที่มันชอบ-ไม่ชอบ จิตที่มันโกรธ หรือว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจ หรือว่าดูความง่วง แต่ในขณะที่มีเวทนาความเจ็บ ความปวดเกิดขึ้น ความง่วงมันจะไม่มีเลยนะ เพราะความเจ็บ ความปวดมันมีกำลังมากกว่าความง่วง ความง่วงจะหายไป ถีนมิทธะไม่ครอบงำ ในขณะนั้น ถ้าหากความเจ็บปวดมันจางลง เราก็ไปดูอารมณ์อื่นที่มันชัด ดูกลับไปกลับมา ท่านบอกว่า เหมือนกับคนเดินทางกลางแดด เวลาเหน็ดเหนื่อยก็ไปเข้าพักใต้ร่มไม้ชั่วคราว แล้วก็เดินทางต่อ อันนี้สู้แบบกองโจร ต่อไปคือ สู้แบบถอยทัพ หรือว่ายกธงขาว สักแต่ว่ารู้ว่าเวทนา คือกำหนดจดจ่อต่อเนื่องแล้วนะ เหมือนคนว่ายน้ำที่เกาะท่อนไม้ลอยไปตามกระแสน้ำ โดยไม่ต้องใช้กำลังว่าย เมื่อทนต่อเวทนานั้นๆ ไม่ได้ พึงเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นเดินจงกรมนั่ง ๒ ชั่วโมงก็แล้ว ๓ ชั่วโมงก็แล้ว เวทนามันก็ไม่ดับ โดยเฉพาะทุกขเวทนา ความปวดความเจ็บนี้มันไม่ดับ ก็ลุกเดินจงกรม แต่ทีนี้พอเรานั่ง เราไม่ต้องหาเวทนานะ เพราะเวทนามันมีหลายอารมณ์เหลือเกิน ดีใจ สุขใจ มันก็เป็นเวทนา เราก็ดูมันไป อะไรชัด กำหนดรู้อาการนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเป็นคนที่ชัดเจนในเวทนา มีตอนหนึ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าถึงประวัติของพระองค์ก่อนที่จะบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธองค์ประทับนั่งถึง ๑๒ ชั่วโมง นั่งอย่างเดียว ไม่ได้ลุกเดินจงกรมนะ นั่งตั้งแต่เริ่มต้นปฐมยาม คือ ตั้งแต่ ๑๘:๐๐ น.พระอาทิตย์ตกดิน ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าหากยังไม่บรรลุ จะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เด็ดขาด พญามารจะมาขับไล่ พระองค์ก็เฉย นั่งทั้งคืน จนกระทั่งบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในเวลาเช้า แสดงว่าพระองค์ท่านนั่งตลอดเลย ๑๒ ชั่วโมง ไม่หลับด้วย ในปัจจุบันนี้ ก็มีการตำหนิว่า การอดทนต่อทุกขเวทนา ต่อความเจ็บ ความปวดในขณะเดินจงกรมนั่งสมาธินี้ เป็นอัตตกิลมถานุโยคหรือเปล่า เป็นการทรมานตนให้ลำบากหรือเปล่า แต่เราต้องเข้าใจจริงๆ ว่า อัตตกิลมถานุโยค คือมันสุดโต่งในเรื่องของการปฏิบัติ แต่อันนี้ เราปฏิบัติเพื่อรู้เวทนา ถ้าเราหนีเวทนาจะเห็นเวทนาได้อย่างไร นั่งไปเลย อย่างครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว จนกระทั่งหลวงพ่อใหญ่เรานี้ ท่านทำความเพียรแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน บางทีไม่หลับไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ๗ วันก็มี เพื่ออะไร? ต่อสู้กับเวทนา บางท่านนะ นั่งสมาธิริมหน้าผาเลย ถ้าหลับเมื่อไหร่จะตกหน้าผาตาย ต่อสู้ขนาดนั้น ต่อสู้กับความเจ็บปวด จะตายก็ตายไป ขอให้ได้บรรลุธรรม ท่านเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค เพราะท่านจะเห็นเวทนา ต้องการจะรู้เวทนาด้วยปัญญา แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนว่า ตามรู้เวทนาสลับกัน เป็นต้นว่า รู้เวทนาภายใน ว่าเป็นเวทนาบ้าง เห็นเวทนาภายนอก ว่าเป็นเวทนาบ้าง รู้เห็นเวทนาทั้งภายในภายนอก ว่าเป็นเวทนาบ้าง ตามรู้สภาวะที่มันเกิดขึ้นกับเวทนา ว่าเป็นเวทนาบ้าง ตามเห็นความดับในเวทนา ว่าเป็นเวทนาบ้าง ตามรู้สภาวะทั้งเกิดขึ้น-ความดับในเวทนาบ้าง แบบนี้แหละ จึงจะเห็นเวทนาในเวทนา เห็นความเกิด-ดับ การเห็นความเกิด-ดับเช่นนี้ ท่านบอกว่า “โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ” คนที่มีชีวิตอยู่เป็นร้อยปี แต่ไม่เห็นความเกิดขึ้นและก็ความดับ เกิด-ดับของอะไร? ของกายของใจ ของรูปธรรมนามธรรมนี้ แม้มีชีวิตอยู่เป็นร้อยปี แต่ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ยังไม่ประเสริฐสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่เห็นความเกิด-ดับของรูปธรรมนามธรรม เห็นความเกิด-ดับของกายของใจ เห็นอย่างไรนี้? เห็นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เห็นตรงนี้ไม่ใช่เห็นด้วยการฟัง ไม่ใช่เห็นด้วยการคิด ด้วยการนึกเอานะ แบบนั้นมันเป็นวิปัสสนึก แต่ต้องเห็นด้วยวิปัสสนา เห็นแจ้งด้วยสติ ด้วยปัญญาจริงๆ การเห็นแบบนี้ มันตัดภพตัดชาติ ตัดวัฏสงสาร ท่านเลยบอกว่า มีชีวิตอยู่วันเดียว ยังประเสริฐกว่าคนอายุเป็นร้อยปี แต่ไม่เห็นของเหล่านี้ ไม่เห็นความเกิด-ดับ ครั้งหนึ่งนี้ ผู้ที่ไม่ได้กำหนดรู้ทุกขเวทนาก็ย่อมจะมีความสำคัญว่า ตัวเองเจ็บ กูเจ็บ กูปวด เวลาเป็นไข้ไม่สบายขึ้นมา มันก็เจ็บทั้งกาย เจ็บทั้งใจ กายก็ป่วย ใจก็ป่วย แต่ผู้ที่กำหนดรู้ แล้วเกิดสมาธิในระดับหนึ่ง สามารถจะครอบงำทุกขเวทนาความเจ็บ ความปวด โดยรู้เห็นว่า มันเป็นสภาวะทนได้ยาก(ทุกข์) จิตที่กำหนดรู้ มันก็เป็นนามธรรมส่วนหนึ่ง พอเห็นเช่นนี้ มันจะเห็นแต่กายมันเจ็บ แต่ใจไม่เจ็บด้วยนะ มันเจ็บกาย แต่ใจไม่เจ็บ กายมันป่วย แต่ใจไม่ป่วย คือแยกกาย แยกใจให้ได้ เพราะในขณะที่จิตไปรับรู้ในความเจ็บ ความปวด ในความป่วยไข้ไม่สบายของเรานั้น ในขณะจิตที่ไปรับรู้ ที่มันประกอบไปด้วยสติ สมาธิ ตอนนั้น มันไม่มีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มันไม่มีความรู้สึกว่าเราเจ็บ ความว่าเราเจ็บ กูเจ็บ กูปวด มันหายไปชั่วขณะหนึ่ง มันมีแค่อาการเจ็บ กับจิตที่ไปรู้ ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นความเจ็บทางกาย แต่ใจไม่เจ็บ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนท่านนกุลบิดา(คฤหบดี) เป็นอุบาสกนะว่า “คฤหบดี ร่างกายนี้ มีสภาพกระสับกระส่าย ถูกหนังห่อหุ้มเอาไว้เหมือนกับฟองไข่ เพราะว่าบุคคลใดที่ดูแลรักษาบริหารขันธ์ร่างกายนี้แล้วจะพูดว่า มันไม่มีโรคเลย แม้เพียงชั่วครู่ คนนั้นถ้าหากไม่เป็นคนโง่แล้ว เขาจะไม่พูดอย่างนั้น” ตรงความหมายว่า คนที่กำลังดูแลร่างกาย รักษาร่างกาย ดูแลธาตุขันธ์ของตัวเองอยู่นี้ จะบอกว่า มันไม่เจ็บไม่ปวดแม้เพียงชั่วครู่เดียวเลยนี้ไม่มีเลย นอกจากเขาจะโง่ ส่วนใหญ่แล้วก็จะโง่อยู่นะ เพราะไม่เห็น ไม่เห็นมันทุกข์ตรงไหนเลย มันก็สบาย เพราะเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายมากมาย ที่มันมาบำบัดทุกข์ ที่นอนก็ดี ที่อยู่ก็ดี อะไรๆ ก็ดีไปหมดแหละ มันไม่เห็นทุกข์ แต่ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นอย่างนี้ เมื่อท่านศึกษาอยู่อย่างนี้ แม้ว่าร่างกายของเราจะเจ็บอยู่ แต่ใจของเราจะไม่เจ็บตามไปด้วย ท่านพึงศึกษาปฏิบัติอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนอุบาสกคนนี้เช่นนี้ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติที่รับรู้ว่ามีเพียงอาการปวด ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ว่ามันเป็นขาปวด ตรงนั้น ตรงนี้ปวด สมมุติเรานั่งสมาธิ มันเห็นง่ายที่สุดคือเจ็บปวดตรงขานี้ เมื่อดูเวทนาไปชัดเจนมากขึ้นๆ ขามันจะหายไป เหมือนกับขาไม่มีอยู่เลยนะ แข้งมันหายไปตรงไหน โคนขาหายไปไหน ทำไมมันมีแต่ความปวด ตรงนี้แหละ คือเราเห็นชัดว่า มันมีแต่เวทนา มันมีแต่ความปวด แล้วก็จิตที่ไปรับรู้ ตรงนั้นเป็นการแยกกายแยกใจได้ชั่วครู่หนึ่ง ถ้าทำได้มากขึ้นๆ พอเวลาเกิดความเจ็บป่วยขึ้นจริงๆ กายป่วยก็จริง แต่ใจจะไม่ป่วยด้วย เหมือนกับพระปธานิยะที่ท่านนอนป่วยหนัก เกลือกกลิ้งไปมาด้วยความเจ็บปวด ขณะนั้นก็มีลมพุ่งขึ้นจากท้องถึงหัวใจ ลมมันแรงมาก เพราะว่าความป่วยของท่าน ความแรงของลมนั้น ทำให้ท้องของท่านแตก ลำไส้ของท่านไหลออกมากองที่เตียง ท่านก็ไม่ได้กระวนกระวาย ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ต้องไปหาหมอ ต้องไปอะไร ท่านก็กำหนดรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ดูเวทนาความเจ็บปวด เพราะว่าท่านอยู่คนเดียว ต่อให้ไปรักษาอย่างไร มันก็ไม่หายอยู่ แล้วเอาวิกฤตให้เป็นโอกาส ดูเวทนา ดูไปๆ จิตของท่านก็จาง ก็คลาย เบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตท่านก็หลุดพ้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ หรือเหมือนกับเรื่องในอดีตที่ว่า พระที่ท่านถูกเสือกัด ท่านก็รู้แล้วว่าท่านไม่รอด ท่านก็ไม่ได้กระวนกระวายใจกระเสือกกระสน ท่านก็ดูเวทนา เอาวิกฤตให้เป็นโอกาส จนท่านได้บรรลุธรรม
การที่เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น เห็นความเกิด-ดับ เกิด-ดับอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงจินตนาการที่มันอยู่บนสมมติฐานว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา แต่มันเป็นการรู้แจ้งเห็นประจักษ์จริงด้วยประสบการณ์ ด้วยการฝึกกาย ฝึกใจ เมื่อเห็นเช่นนี้ มันจะเป็นเพียงแต่ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้น มันดำรงอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็หายไป การเห็นเช่นนี้ๆ ต่อมา ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นเวทนา ว่ามันเกิดขึ้น แล้วมันก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เหมือนกับจุดเล็กๆ อณูเล็กๆ หรือว่าเครื่องจักรอะไรที่มันทำงานอย่างละเอียดยิบ มันสุดจะพรรณนาได้ การเห็นอย่างนี้แหละ เป็นการรู้ความเกิด-ดับของเวทนาอย่างแท้จริง ให้เรากำหนดเข้าใจดูเวทนาเช่นนี้ จึงจะเป็นเวทนาสติปัฏฐาน
เรื่องเวทนานี้ คนยังไม่ตาย สัตว์ไม่ตาย มันก็ต้องมีเวทนา เวทนานี้ดี ถ้าไม่มีเวทนา มันก็ไม่มีมรรคผลนิพพาน เวทนาเป็นเครื่องหมาย เป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ให้เราได้พัฒนาใจ ถ้าคนเราไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ หรือเฉยๆ มันก็ปฏิบัติไม่ได้ เราทุกคนต้องข้ามสัญชาตญาณ เราต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ จนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ให้เรารู้จักเวทนา ใจของเราต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ต้องอยู่กับปัจจุบัน เราอย่าได้หลงไปตามเวทนา เราต้องเอาเวทนานี่แหละมาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อให้มันได้ทำงาน ไม่ให้มันสร้างโรงงานภพชาติ คนเรานะ ถ้าไปตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เขาเรียกว่ามีเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์นี้ ส่วนใหญ่เราจะรู้จักแต่เพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงผู้ชาย เพศสัมพันธ์ของพวกกระเทยพวกตุ๊ดพวกทอมอะไรนี้ ที่จริงการมีเพศสัมพันธ์อย่างนั้น มันเป็นเพศสัมพันธ์แบบหยาบๆ ที่จริงการมีเพศสัมพันธ์ทางอารมณ์ ทางความคิด ในอาหารการกินอย่างนี้ มันก็คือการมีเพศสัมพันธ์กับอารมณ์ เวลาเราชอบอาหารอร่อย แสดงว่ามีเพศสัมพันธ์ในรสอาหาร เวลาชอบมอง แสดงว่ามีเพศสัมพันธ์ในการมอง เพราะมันชอบ เวลาชอบฟังอะไรไพเราะๆ ดมอะไรหอมๆ มันคือการมีเพศสัมพันธ์ตามอารมณ์ต่างๆ เราต้องรู้จักว่า อันนี้มันไม่ใช่พระนิพพาน มันเป็นแค่มนุษย์ เป็นแค่สวรรค์ เพราะเรื่องอาหารการกิน การอยู่ มันเป็นสิ่งที่จะให้มนุษย์เราพิจารณาให้เกิดปัญญา เพื่อให้เราสุขภาพเราดี แข็งแรง อาหารมันมี ๒ อย่าง อาหารทางกาย ได้มาจากโภชนาการบริโภค แล้วเราอย่าไปหลงในเวทนา อย่าไปหลงในความคิด หลงในความรู้สึก มันไม่ได้ ต้องเข้าสู่วิปัสสนาจะได้รู้จักเบรกตัวเอง หยุดตัวเอง เราอย่าให้ความเคยชินที่มันเป็นเพียงสัญชาตญาณที่เวียนว่ายตายเกิด เราต้องมาหยุดตัวเอง เพราะทุกอย่างมันตามไปไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง นำเราสู่ความทุกข์ นำมาสู่การเวียนว่ายตายเกิด เวทนาทางจิตทางใจ ส่วนใหญ่เรามักจะรู้จักแต่เวทนาทางกาย แต่ไม่รู้จักเวทนาทางใจ พระพุทธเจ้าให้ใจของเราฉลาด ใจของเรามีปัญญา ทุกคนต้องอย่าลืมว่า เราต้องกลับมาหาตัวผู้รู้ กลับมาหายใจเข้าให้มันมีความสุข หายใจออกให้มีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย ให้มันรู้ตัวเอง ไม่ให้หลงเวทนา เห็นไหม เขาตามอารมณ์ตามความคิดไป เรื่องเหล้าก็ดี เรื่องยาเสพติดก็ดี มันไม่ได้แก้ปัญหา มันเป็นอบายมุข นำเราไปสู่อบายภูมิเวียนว่ายตายเกิดต่างๆ
ถึงโอกาสแล้ว ถึงเวลาแล้ว ที่พวกเราทุกคนจะได้มาประพฤติปฏิบัติกัน เพราะชีวิตของเราคือการประพฤติการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ความสุข ความดับทุกข์ทางด้านจิตใจ ที่เราไปตามอารมณ์ ตามเวทนาไป มันไม่ใช่ความสุข มันเป็นการประหารเรา มันบั่นทอนความดีของเรา เวทนาคือภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องเอาทุกๆ อย่างในอิริยาบถทั้ง ๔ มาประพฤติปฏิบัติ เราจะได้รู้จักข้อวัตร ข้อปฏิบัติ เราจะได้รู้จักว่าความเป็นพระ มันต้องทำอย่างนี้ มันปฏิบัติอย่างนี้ ถึงเป็นพระได้ ไม่ใช่เรามาโกนหัวนุ่งห่มผ้าเหลืองแล้วถึงจะได้เป็นพระ มันต้องเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เพื่อจะได้แก้จิต แก้ใจ แก้อารมณ์ แก้ความรู้สึก เราต้องใจแข็งตัดสังโยชน์ตัวเอง เราทำไป ปฏิบัติไป เราก็จะได้รู้จักว่า อารมณ์ของสวรรค์ว่า โอ๊ย อย่างนี้มันเป็นทางผ่านเฉยๆ จะได้รู้จักอารมณ์ของพรหมโลก มันเป็นทางผ่านเฉยๆ ต้องพัฒนาให้ไปสู่พระนิพพาน เพราะความประพฤติอยู่ที่เรามีปัญญาที่รู้จักเวทนา รู้จักความรู้สึก เวทนามันก็เปรียบเสมือนเทวทูตมาบอกให้เราได้ทำจิตทำใจว่าใจอย่างนี้อย่าไปคิดนะ อย่าไปขยับนะ อย่าให้เขามาหลอกได้นะ เหมือนจะชกมวย ถ้าใครต่อยช้ามันก็แพ้ การประพฤติการปฏิบัติก็เหมือนกัน เรื่องจิต เรื่องใจต้องว่องไว ถ้าปฏิบัตินานๆ ไป ก็จะชำนาญ เพราะเรามีการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เรารู้ว่าอันไหนไม่ดี รู้ว่าอันไหนขี้เกียจ มันไม่ดี ความขี้เกียจคือเวทนาที่มันติดสุขติดสบาย ผลัดวันประกันพรุ่ง มันไม่ดี ที่ไปติดเหล้าเมายาเจ้าชู้ มันเป็นเวทนาที่มันเป็นทุกข์ มันทำให้เรายากจนมีหนี้มีสิน เราจะได้รู้จักอบายมุขอบายภูมิของตัวเอง เราจะได้หายโง่ ไม่มีใครมาหลอกลวงเราได้
เวลาจะสุขจะทุกข์ มันก็คือเวทนา ไม่ได้มากไปกว่านั้น เราต้องมารู้จัก ถ้าเรายังพอใจในความสุข ความทุกข์ มันก็ยังมีสุข มีทุกข์ จะสุข จะทุกข์ มันก็คือเวทนาตามความรู้สึกทั้งนั้น ให้เราไปพัฒนาใจ ทุกคนต้องทำต้องปฏิบัติ งานของเราไม่ใช่จะมีเวลาว่างนะ เวลาที่จะไปคิดเรื่องคนโน้นเรื่องคนนี้ เวลาที่จะไปเล่นโทรศัพท์ ไลน์ สำหรับพระเรานี้นะ เราต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติ เราถึงจะไม่เสียเวลา ไม่ช้าอย่างนี้ ไม่ใช่ฉันแล้วนอน ฉันแล้วพักผ่อน ตื่นขึ้นมาก็ดูโทรทัศน์ฟังเพลง มันไม่ใช่อย่างนั้น ความสุขความดับทุกข์ของเรา คือเราประพฤติพรหมจรรย์ ทำพระนิพพานให้แจ้ง เราถึงจะสมศักดิ์ศรีที่เราเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งไหนไม่เสียหายเท่ากับที่เราเพลิดเพลิน ประมาท ตั้งอยู่ในความหลง สิ่งที่จะทำให้เราเสียหายก็คือเรื่องที่เรามาหลงในเรื่องร่างกาย เราเป็นผู้ที่มาบวช สิ่งที่เศร้าหมองก็คือเรื่องผู้หญิง เรื่องเงิน เรื่องสตางค์ สตรีจึงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ เป็นมลทินเพราะว่าเอาใจเข้าไปเกี่ยวข้อง ยินดีพอใจ ติดอกติดใจ พวกนี้มันก็เป็นอารมณ์ของมนุษย์ ของสวรรค์ทั้งหมด ให้เรารู้จัก แม้แต่พวกที่ชอบสงบ สงบอย่างเดี๋ยวมันก็เป็นอารมณ์ของพรหมโลก ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การภาวนาวิปัสสนา เราอย่าไปสนใจมันเลยเรื่องผู้หญิง พวกที่เป็นนักบวชผู้หญิงหรือพวกที่เป็นสตรี อย่าไปสนใจมันเลยเรื่องบุรุษ เพราะเราโง่มาแล้ว จะไปโง่ต่อ มันคงไม่เหมาะไม่สม เราต้องพัฒนาตัวเอง เราต้องพัฒนาปฏิบัติตัวเองอย่างนี้ เราไม่ต้องเป็นห่วงหรอกเรื่องเงิน เรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องเงิน เรื่องทอง สำหรับนักบวช เพราะว่าเรื่องนี้มันขึ้นอยู่ที่การเสียสละของเรา มันอยู่ในธรรมในวินัยที่เรามุ่งมรรคผลพระนิพพาน สิ่งนี้มันมาเองโดยธรรมชาติ เราอย่าไปเป็นเปรตยินดีในเงินในสตางค์ ในข้าวของเงินทองอย่างนี้นะ คือว่าเรายังไม่ตาย แต่เราเป็นเปรตทั้งเป็น เป็นเปรตประจำบ้าน เปรตประจำวัด นี่แหละเราต้องกลับมาดูตัวเองสิว่า ใจมันเป็นเปรตไหม ให้มันเป็นธรรม เป็นวินัย มันถึงจะมีศักดิ์มีศรี ศักดิ์ศรีก็คือศีลธรรมนั่นแหละ ศักดิ์ศรีก็คือมงคล เราเห็นพระพุทธเจ้าเป็นมงคล เราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ยิ่งเป็นมงคล ตัวเรานี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นพระ เราปฏิบัติอย่าไปคิดว่า เป็นไม่ได้ ทำไม่ได้ คิดอย่างนั้นมันไม่ถูก เพราะสมัยพุทธกาลก็หายใจเหมือนกัน พักผ่อนเหมือนกัน มันเป็นความจริงที่มันเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะว่ามันไม่ได้ปฏิบัติ ทั้งวัดบ้านวัดป่า มันก็ปฏิบัติได้ทั้งหมด อย่าเป็นมิจฉาทิฐิ อย่าไปคิดว่ามรรคผลนิพพานมันล้าสมัย คิดอย่างนั้นมันไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะธรรมวินัยเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้ผลเมื่อนั้น เราจะได้พัฒนาทางเทคโนโลยี พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน เราอย่าไปดูถูกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่ามันล้าสมัยแล้ว คิดแบบนี้ มันคิดแบบคนขี้โกง คิดแบบคนโง่ คนไม่ฉลาด เพราะใจมันเป็นสีดำ ใจมันเป็นสีกา ใจมันเป็นสีเงินไปแล้ว ถ้าคิดเรื่องผู้หญิง ใจมันก็เป็นสีกาคือสีดำ มันดำ มันมืด มันบอด เหมือนกับมีสีหมึก สีกา มาปิดใจเอาไว้ มันบอดจากปัญญา บอดจากความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะว่าใจเป็นสีกา เราต้องพัฒนาใจของเราว่าเรื่องนี้ไม่ดี เรื่องนี้ไม่ถูก ไม่ใช่ไปเปลี่ยนพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดึงเข้ามาหาตัวเอง เราจะไปเอาแต่เวทนาที่เป็นความสุข อย่างนี้มันหลงสวรรค์ ตรงๆ เลย กินของอร่อยทุกอย่าง มันเป็นของบาปทั้งนั้นเลย อาหารอร่อยมันก็มาจากปาณาติบาต เราต้องหยุดทำบาป
เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ปัจจุบันนี้ เราต้องเป็นปัจจุบันธรรม เราอย่าไปคิดว่าหน้าที่อย่างนั้นมันเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เป็นหน้าที่ของพระอรหันต์ มันไม่ใช่หน้าที่ของใครหรอกนะ มันเป็นหน้าที่ของเรา ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ผู้ที่มาบวช ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ที่อยากจะดับทุกข์นี้ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพราะธรรมะมันเปลี่ยนแปลงเราได้ทุกคน เราต้องกระปรี้กระเปร่า เราดูสิ คนที่ด้อยพัฒนาทางกาย ด้อยพัฒนาทางภายนอก ทำอะไรก็ซ่าๆ เซ่อๆ อย่างประเทศญี่ปุ่น ทำอะไรก็คล่องแคล่วว่องไวกว่าเรา อย่างประเทศเกาหลี เมื่อก่อนล้าหลังกว่าเราหลายปี แต่เดี๋ยวนี้เขาทันสมัยกว่าเราซะอีก ทำอะไรก็คล่องแคล่ว การประพฤติการปฏิบัติต้องทำอะไรกระตือรือร้น เขาทำอะไรคล่องแคล่วว่องไว แต่เน้นสวรรค์ แต่ทำอะไรนี้ คล่องแคล่ว เราต้องทำ ว่องไวเพื่อเสียสละ เขารีบเร่งเพื่อจะเอา มันถึงได้ฆ่าตัวตายเยอะ มีปัญหาเรื่องฆ่าตัวตายเยอะ เพราะมันเครียด เราต้องฝึกคล่องแคล่วว่องไว อย่าไปติดสมาธิ นึกว่าใจเย็น ทำอะไรช้าๆ อย่างที่สำนักของท่านมหาสี สยาดอว์ ที่เข้าปฏิบัติกัน ฝึกให้ยกเท้าช้าๆ ยกมือช้าๆ ทำอะไรช้าๆ นี้ อันนั้นคือ ฝึกสมาธิเพื่อเป็นฐานของวิปัสสนา เพราะว่าใจคนนั้นมันไว ใจคนมันเผาให้มันร้อน ท่านเลยให้เราเย็นด้วยการพาทำให้ช้าๆ อย่างนี้นะ อันนี้มันเป็นการฝึกชั่วครั้งชั่วคราว แต่ในชีวิตจริงนี้ เราจะไปทำช้าๆ อย่างนั้นไม่ได้ มันจะไปทันกินได้อย่างไร เหมาะสำหรับพระคุณเจ้าผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่มีงานอะไร มีแต่งานมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว เหมาะสมอย่างนั้น แต่ว่าจิตใจของเรานี้ ต้องรวดเร็วว่องไว คล่องแคล่วในปัจจุบัน เอาศีล เอาปัญญา มาใช้ปฏิบัติในปัจจุบัน ให้รู้จักว่า เราต้องมาแก้จิตแก้ใจของเรา เพราะใจของเรามันซึมเชื่องช้า เราจะได้ยินเขาพูดบ่อยๆ ว่า ใจเย็นๆ อย่างนี้ ใจเย็น มันมี ๒ อย่างนะ อันหนึ่งมันหมายถึงไม่ได้ตามใจ ตามความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเผาตัวเอง มันเลยใจเย็น ใจเย็นอีกอย่างหนึ่งคือ เอาสมาธิเป็นพระนิพพาน ก็จะทำอะไรช้าๆ เราต้องทำอะไรเร็ว เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราต้องมีความสุขในการเสียสละ การประพฤติการปฏิบัติมันต้องรวดเร็วว่องไวในจิตในใจที่จะต้องจัดการตนเองในปัจจุบันว่า อันนี้ไม่คิด อันนี้จะคิดไม่ได้ มันอืดอาดก็รีบทำ เราจะได้เอาศีล สมาธิ ปัญญาไปประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เข้าใจว่าใจเย็น คำว่าใจเย็น ไม่ใช่ทำอะไรช้าๆ อย่างนั้นนะ มันไม่ทันกิน ทำอย่างนั้นเราไม่มีปัญญานะ เราจะล้าหลังมาก ไม่ทันกิเลสสักที ไม่ทันอารมณ์สักที ไม่ทันเวทนาสักที ไม่ทันอาการของจิตสักที มันจะเกิดธรรมะได้อย่างไร มันจะเกิดศีลได้อย่างไร จะเกิดปัญญาได้อย่างไร
ให้พากันเข้าใจ ทุกท่านทุกคน จะได้งามในเบื้องต้นคือศีล งามในท่ามกลางคือสมาธิ งามในที่สุดคือสติ คือปัญญา งามอย่างนี้ ให้เราทำอย่างนี้ อินทรีย์บารมีของเราถึงจะเริ่มแก่กล้าได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ มันจะเป็นอินทรีย์ จะสืบต่อๆ เนื่องกันไป มันจะไปได้ ใจของเราจะมีพลัง มีพลังมาก เขาเรียกว่าใจของเรามันจะมีพลังยิ่งกว่าช้างสาร เพราะมันมีอินทรีย์ มีพละ ใจของเรามีอิทธิบาท มีพลังอย่างนี้นะ ใจอย่างนี้สามารถระเบิดวัฏสงสารได้ ดับไม่เหลือแห่งกิเลสอาสวะได้ ใจของเราจะมีศรัทธา เพราะว่ามันรู้แล้วว่า ความดับทุกข์ของมนุษย์มันอยู่ที่ทำตามพระพุทธเจ้า มันก็จะดึงไปได้ ทางอื่นมันไปไม่ได้หรอก ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี มันก็ไปไม่ได้ เพราะ มันหยุดเวียนว่ายตายเกิดไม่ได้ เราต้องมาปรับอินทรีย์ให้เป็นพละ เป็นแรงส่ง เราจะได้มีศรัทธามั่นคงในการประพฤติในการปฏิบัติ ไม่เสียเวลาไปทำโน่นทำนี่ด้วยความประมาท
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ