แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๕ พิจารณากายโดยความเป็นธาตุ ๔ และพิจารณาป่าช้า ๙
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พรเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลงนั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ผู้ที่มาบวชใพระพุทธศาสนาที่จะเป็นพระอริยเจ้าต้องรู้แจ้งในกาย พระพุทธเจ้าถึงบอกให้ผู้ที่จะเป็นอุปัชฌาย์ เป็นครูบาอาจารย์ให้สอนพระกรรมฐาน ก็คือ พิจารณาร่างกาย เพราะมันจะได้เป็นพื้นเป็นฐาน ถ้าเราไปเอาไปเวทนา เอาจิต เอาหมวดธรรม แต่ถ้ายังไม่รู้แจ้งในกายนี้ ก็ไม่ได้เป็นภาคบังคับ จึงต้องพิจารณากายให้ชัดเจน แจ่มแจ้ง ในร่างกายของเราก็คืออาการ ๓๒ จะได้เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ตั้งจิตตั้งใจ เพราะอันนี้เป็นงานของผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ไม่ว่าผู้ที่เป็นนักบวช หรือว่าเป็นประชาชนคนชาวพุทธ ก็ต้องรู้แจ้งในกาย จะได้ละสักกายะทิฐิ ละซึ่งตัวซึ่งตน เพราะคนเรานี้ ติดในร่างกาย ปัญหาใหญ่ของพระที่ไม่ก้าวหน้าก็มีอยู่ ๒ อย่าง ก็คือเรื่องผู้หญิง แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับเงิน เรื่องสตางค์ ความเสื่อม จึงอยู่กับเรื่องผู้หญิง แล้วก็เรื่องเงินเรื่องสตางค์ ถ้าเป็นนักบวชผู้หญิงก็คือการเกี่ยวข้องกับบุรุษเพศ แล้วก็เรื่องเงินเหมือน
กัน เพราะการท่องเที่ยวในวัฏสงสารนี้ คือมันไม่รู้แจ้งในสัจธรรมตามความเป็นจริง เพื่อเราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนในสนใจนะ เพราะเรานี้ท่องเที่ยวในวัฏสงสารก็เพราะว่าความไม่รู้จริง ผู้ที่บวชนี้ก็ยังไม่รู้ข้อวัตรข้อปฏิบัติของตัวเอง บวชมาแล้วก็นึกว่ามาปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ คือการบวช พระพุทธเจ้าถึงได้มีหลักการภาวนา เพื่อความรู้แจ้งจะได้ลาจากวัฏสงสาร เพราะว่าศาสนาพุทธของเรานี้มุ่งพระนิพพาน ไม่ได้มุ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัตินี้ เป็นแค่ทางถนนผ่าน พรหมโลกก็เป็นทางถนนที่เราต้องเดินผ่าน เหยียบผ่านไปเลย ให้พากันตั้งใจฟัง อย่าพากันหลับ ให้มันเกิดภาวนา เกิดวิปัสสนา อย่าไปคิดว่าตัวเองรู้แล้ว รู้แล้วนี่ มันยังไม่รู้หรอก ถ้ารู้จริงรู้แจ้ง ก็ได้เป็นพระอริยเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เพราะทุกคนยังตั้งอยู่ในความประมาท หลักการในการภาวนาวิปัสสนา ให้เห็นเป็นชิ้น เป็นส่วน เพราะว่าที่มันเป็นรูปเป็นร่าง เราก็พิจารณาร่างกายตัวเอง พิจารณาร่างกายของคนอื่น ก็ให้เปื่อยเน่า เป็นปฏิกูล อย่างที่เมื่อวานที่ได้แยกชิ้น เหมือนกับเป็นการชำแหละ ชำแหละกายแต่ละคน แยกเป็นชิ้น ๆ ออกมา ได้ ๓๒ ส่วนเป็นอาการ ๓๒ เราจะได้เห็นสภาวะธรรมที่แท้จริงว่า มันเป็นส่วนที่มาประชุมกันเป็นร่างกาย ทุกอย่างล้วนแต่ปฏิกูล มันไม่สวยไม่งามอะไร แย่เลยนะ เท่านี้ก็ต้องมีภาระเพิ่ม ต้องดูแลความสะอาด รักษาความสะอาด เป็นภาระต้องใช้เงินใช้สตางค์เยอะแยะ ที่ต้องดูแลธาตุขันธ์ที่มันสกปรก เป็นการจัดฉากเฉยๆ เพื่อปกปิดสิ่งที่มันโสโครกปฏิกูลที่อยู่ในกายของเรา
ต่อมา การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๖ หมวด แล้วก็มี ๑๔ วิธีด้วยกัน ได้บรรยายวิธีอานาปานสติดูลมหายใจไปแล้ว แล้วก็วิธีดูอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน สัมปชัญญะรู้เนื้อรู้ตัว เมื่อวาน ธาตุมนสิการ ก็คือการพิจารณาอาการ ๓๒ โดยความเป็นของปฏิกูล ส่วนในวันนี้ ก็จะเป็นเรื่องของกำหนดรู้ธาตุทั้ง ๔ ธาตุมนสิการนี้ ชื่อว่าเป็นการพิจารณาธาตุ หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจตุธาตุววัฏฐาน จตุแปลว่า ๔ ธาตุก็คือธาตุ ววัฏฐาน การกำหนดรู้ กำหนดฐานให้รู้ธาตุทั้ง ๔ ในบทก่อน พระพุทธองค์ให้พิจารณาว่า ร่างกายนี้มันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ในบทนี้ ทรงตรัสสอนอีกวิธีหนึ่ง โดยให้พิจารณาว่า รูปร่างของกายนี้ มันประกอบขึ้นมาจากองค์รวมของธาตุอันว่างเปล่าจากความเป็นตัวเป็นตน คำว่าธาตุ ธาตุแปลว่าสภาวะ คือสภาพที่ว่างเปล่า ไม่ใช่บุคคล ตัวเรา ของเรา ธาตุในทางธรรมนั้น เป็นเพียงสภาวธรรม ไม่ใช่สมมติ ซึ่งใช้สื่อสารกันจนเข้าใจว่าเป็นก้อนอัตภาพมนุษย์ ที่เราเข้าใจกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ออกจากท้องพ่อท้องแม่ว่า อันนี้เรียกว่าคน อันนี้เรียกว่าสัตว์ อันนี้เรียกว่าผู้ชาย อันนี้เรียกว่าผู้หญิง มีชื่อเรียกหมด มันเป็นสมมติที่มันคลุมความจริง ปิดความจริงทั้งหมดเอาไว้ แต่โดยความเป็นจริงแล้วนี้ มันไม่มีอะไรเลย เป็นแค่องค์ประกอบของธาตุมารวมกัน แล้วก็มีจิตวิญญาณมาครองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็ต้องส่งคืนแก่โลก การพิจารณาให้เห็นโดยความเป็นธาตุทั้ง ๔ นี้ มีประโยชน์ก็คือ เพื่อให้ละวางความเห็นผิด ว่าเป็นตัวเป็นตน โดยให้เข้าใจว่า มีเพียงธาตุเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี ธาตุดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ธาตุทางเคมีร้อยกว่าชนิดในจักรวาล หรือธาตุที่อาจถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ แต่มันคือธาตุธรรมชาติ ดังนั้นในบทนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตามที่มันตั้งอยู่ โดยความเป็นธาตุว่าเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่มีอยู่ในกาย ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง เห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายนอกบ้าง ภายในบ้าง เห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง เห็นธรรมคือความเสื่อมทั้งเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง มีสติตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงเพื่อความรู้ เพื่ออาศัยระลึกเท่านั้น ตัณหาคือความอยาก ทิฐิและก็ความเห็นผิดในตัวเราจะสูญสิ้นไป จะเป็นผู้ไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไรๆ ในโลก จึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อันนี้ คือที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้ก็จะแยกย่อยๆ ออกมาว่า ธาตุทั้ง ๔ นี้ ส่วนไหนเป็นอะไร ธาตุทั้ง ๔ นั้น มันรวมอยู่เป็นกลุ่มในทุกๆ ชีวิต แล้วก็ไม่มีชีวิต ธาตุดิน ส่วนที่เป็นธาตุดินนี้ มันมีลักษณะทั้งอ่อนและก็ทั้งแข็งอยู่ในตัว ส่วนที่เป็นธาตุอื่นก็เช่นเดียวกัน เช่นว่า วัตถุที่มันแข็ง เช่นไม้นี้ มันก็ย่อมมีทั้งความแข็งมากกว่าความอ่อน วัตถุที่อ่อนเหมือนน้ำ มันก็มีความอ่อนมากกว่าความแข็ง ในโต๊ะตัวหนึ่งที่มันไม่มีชีวิตนี้ โต๊ะตัวหนึ่งที่เราใช้ มันไม่ใช่มีเพียงแค่ธาตุดิน ธาตุไม้อย่างเดียว แต่มันมีธาตุทั้ง ๔ ประกอบรวมกันอยู่ คือลักษณะที่มันแข็งๆ เป็นธาตุดิน ลักษณะที่มันเกาะกุม รวมกันให้มันติดกันยึดกันไว้ มันคือธาตุน้ำ เพราะธาตุน้ำมันมีลักษณะเกาะกุม เอิบอาบ ซึมซาบ ลักษณะเย็นก็เป็นธาตุไฟ ลักษณะตึงที่มันตั้งอยู่ได้เป็นธาตุลม แม้กระทั่งที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ปูนที่เรานั่งนี้ มันไม่ใช่มีเฉพาะธาตุดินอย่างเดียว ปูน อิฐ หิน พวกนี้ คือธาตุดินก็จริง แต่สิ่งที่มันยึดให้มันติดๆ กันไว้คือธาตุน้ำ มันเอิบอาบ มันซึมซาบ ให้มันยึดกันไว้ ความเย็นที่พื้นคือธาตุไฟ แล้วมันคงที่อยู่ได้ มันตึงอยู่ได้ คือธาตุลม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรในโลก ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ทั้งนั้น
แล้วทีนี้ ร่างกายของเรานี้ เมื่อวานได้กล่าวถึงอาการ ๓๒ ที่เป็นธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้ำ ๑๒ ธาตุดินตั้งแต่เกศา จนมาถึง มัตถลุงคัง มันสมอง แต่เวลาเราสวดนี้ จะเอาไว้เป็นข้อสุดท้าย มุตตังมัตถลุงคัง แต่ความจริง มัตถลุงคังต้องย้ายกลับมาเป็นข้อที่ ๒๐ คือธาตุดิน เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำนี้มันก็จะไปจบตรงน้ำมูตร ก็คือน้ำปัสสาวะ อาการ ๓๒ จึงมีแค่ ๒ ธาตุ คือธาตุดิน กับธาตุน้ำ แต่ทีนี้ร่างกายคนนี้ มีชีวิตอยู่ได้ มันต้องมีอายุ มีไออุ่น มีจิต ดังนั้นแล้ว จึงต้องมีธาตุลม ธาตุไฟ ทำงานเพิ่มเติมเข้ามา เป็นอาการ ๔๒ ธาตุดินก็คืออาการ ๒๐ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไขกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า แล้วก็มันสมอง นี่คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ๑๒ ก็คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ แล้วก็ปัสสาวะนี่คือธาตุน้ำ ทีนี้มันก็ยังมีธาตุภายในสำหรับคนมีชีวิต ธาตุไฟมี ๔ อย่าง คือ ไฟที่มันทำให้อุณหภูมิในร่างกายเราคงที่ ความเย็นในร่างกายเราก็คือธาตุไฟ เรียกสีตะเตโช ปาจกะเตโช ก็คือธาตุไฟที่มันเผาผลาญอาหารเรา เวลาเรารับประทาน เรากิน เราดื่ม เราเคี้ยวอะไรนี้ อันนี้มันมาช่วยเราย่อย แล้วอีกธาตุหนึ่งก็คือ อันหนึ่งก็คือ ชีรณะเตโช ไฟที่มันทำให้เราแก่ ทำให้เราเปลี่ยนแปลง มันเผา ธาตุไฟในกายมันเผา เผาให้มนุษย์เรานี้มีร่างกายที่มันทรุดโทรม แก่ลงเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้ตลอดทุกๆ เวลาทุกๆ อนุวินาที แล้วก็ธาตุลม มี ๖ ลมพัดขึ้นเบื้องบน เวลาเราเรอขึ้นมา ลมพัดลงเบื้องล่าง ก็คือเวลาผายลม ลมในช่องท้อง ลมในลำไส้ที่ช่วยเคลื่อนอาหาร ที่มันผลักดันอาหาร ที่เรารับประทานเข้าไป มันย่อยในลําไส้เล็ก แล้วมันก็ไปออกในลำไส้ใหญ่ ธาตุลมเป็นตัวเคลื่อน เป็นตัวผลักดัน แล้วก็ลมที่มันมันอยู่ทั่วร่างกายเรา เวลาที่เราขยับมือ ขยับแขน ก้าวเดินไปได้ นี่คือธาตุลมทำงาน แล้วก็สุดท้ายคือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
พระสูตรใดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องธาตุ ๔ มีอยู่หลายสูตรด้วยกัน แต่ในสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนลูก ก็คือสอนพระราหุล ในมหาราหุโลวาทสูตร ทรงสอนเรื่องอาการ ๔๒ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี้ อย่างชัดเจน ปฐวีธาตุ ทำอย่างไรจึงจะเห็นโดยความเป็นธาตุ ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน ในตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาต โดยมีพระราหุลตามเสด็จไปเบื้องหลัง พระพุทธเจ้าผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับพระราหุลว่า ให้มองรูปเวทนา สัญญาสังขาร และวิญญาณ ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งชอบตามความเป็นจริง ทั้งในที่มันเป็นอดีต เป็นอนาคต และก็ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภายใน หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ไกลหรือว่าอยู่ใกล้ “อัชฌัตตัง วา พะหิทธา วา” แล้วก็หยาบหรือประณีต เลวหรือประณีต หยาบหรือละเอียด ใกล้หรือว่าไกลว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นก็ไม่ใช่อัตภาพของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา โดยเฉพาะรูปที่มันอยู่ในร่างกายของเรา เป็นของเฉพาะตน เป็นของตามธาตุ ตามธรรมชาติ เป็นของแข็ง เป็นของหยาบ ทั้งของแข็งของหยาบที่มันอยู่ในตัวเรา มันก็ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่อัตตาตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาจนเห็นเช่นนี้ มันจะเกิดความเบื่อหน่ายในธาตุ ในร่างกาย มันจะคลายความกำหนัดในอาโปธาตุ เห็นธาตุน้ำ เราจะเห็นได้อย่างไร? สมมุติเวลาเรานั่ง เวลาเราเดินจงกรมก็ได้นะ เวลาเราเดินจงกรม เวลาเท้าเรานี้ บางทีมันก็เหยียบ เหยียบมันก็แข็งบ้าง บางทีมันก็นุ่มบ้าง บางทีมันก็เหมือนแฉะๆ บางทีมันก็เหมือนกับเบา บางทีมันก็ร้อน บางทีมันก็เย็น หรือแม้กระทั่งขณะเรานั่งก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เวลาเรานั่ง ถ้ามันเกิดไอร้อนขึ้นมานี้ มันเป็นอาการของธาตุไฟ หรือบางทีมันเย็นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มันก็คือความเย็นของธาตุ ก็คือธาตุไฟ หรือบางทีมันแข็ง มันทื่อไปหมด เหมือนเป็นก้อนๆ อะไรสักอย่าง ที่มันหนักไปทั้งตัว นี่คืออาการของธาตุดิน บางทีมันเหมือนกับมันแฉะๆ ไปหมด ทั้งที่เวลาเราเดิน หรือว่าเวลาเรานั่งนี้ พื้นมันก็ไม่เปียก แต่ทำไมเวลาเหยียบลงแล้ว หรือเวลานั่งอยู่ มันรู้สึกเย็นๆ รู้สึกเปียกๆ รู้สึกแฉะๆ เพราะตอนนั้น ธาตุน้ำมันมาปรากฏชัด โดยปกติแล้วนี้ ธาตุทั้ง ๔ มันมีอยู่ครบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าธาตุไหนมันจะปรากฏชัด
เราจะดู ไม่ดู จะสังเกตหรือไม่สังเกต ธาตุมันก็ทำงานโดยความเป็นธาตุ กาย ใจ มันก็ทำงาน ทำหน้าที่ของมันไป ทีนี้ การที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณานี้ ตรงนี้ เพื่ออะไร? เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า กายใจของเรานี้ มันมาประกอบจากธาตุทั้ง ๔ มันไม่ใช่เป็นตัวเราเลยแต่ทีนี้ ความโง่อะไรที่มันมาบังเราไว้ ที่เราไม่เห็นความไม่เที่ยง เพราะความสืบต่อ โดยปกติ จิตเราจะเกิดดับ-เกิดดับ-เกิดดับตลอด แม้กระทั่งธาตุมันก็ทำงานเกิดดับ-เกิดดับตลอด แต่เราไม่เห็น เพราะเรามองทีไร มันก็สืบต่อไปตลอด เวลาเราคิด มันก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวไป ไม่เห็นมันเกิด-ดับตรงไหนเลย สันตติปิดบังอนิจจัง ความสืบต่อมันปิดบังความไม่เที่ยงเอาไว้ แต่เมื่อสติสมาธิเกิด มันจะไปพิจารณาเห็นว่า มันเกิดดับนะ เหมือนกับหลอดไฟที่มันทำงานนี้ มันไม่ใช่เป็นไฟติดตลอด แต่มันเกิดดับ-เกิดดับ-เกิดดับไวมาก จนเห็นเป็นแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน กายใจคนก็เป็นเช่นนี้ ที่ภาษาธรรมบอกว่า ลัดนิ้วมือหนึ่ง มันเกิดดับแสนโกฏิขณะ มันไวมาก พลังจิตมันไวที่สุดในโลก ไวกว่าพลังงานพันปีแสงอีก มันไวที่สุด แล้วจิตมันก็ควบคุมยาก มันดิ้น มันซ่าน มันพล่านไปตามอารมณ์ต่างๆ แล้วสิ่งที่มันปิดบังความทุกข์เอาไว้ ก็คือว่า การเปลี่ยนอิริยาบถ เวลาเรานั่งนานๆ พอมันปวดขึ้นมา ชาขึ้นมา เราก็ขยับแล้ว เพราะเราหนีทุกข์ เพราะเรากลัวมัน เดินจงกรมไป ตั้งใจว่าชั่วโมงหนึ่ง เดิน ๑๐ นาที ๑๕ นาที ปวดแข้งปวดขาก็พักแล้ว เพราะว่ากลัวทุกข์ เวลานั่ง ตั้งใจชั่วโมงหนึ่งนี้ ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ขยับเลย พอไม่ขยับ มันจะเห็นทุกข์จริงๆ มันขาไม่หัก นั่งจนมันผ่านเวทนาไปได้ เจ็บปวดเท่าไหร่นะ เพราะมันถึงที่สุดมันก็ต้องดับไป พอมันถึงที่สุดจนเจ็บ จนปวด มันก็ต้องคลายลงๆๆ จนกระทั่งมันหาย แต่เพราะเรากลัว เพราะเรากลัวเจ็บ กลัวจะเป็นนั่นเป็นนี่ กลัวจะใจขาด ก็เลยยกธงขาว ขยับก่อน เลยไม่เห็นทุกข์ ดังนั้น อิริยาบถมันจึงบังทุกข์เอาไว้ เราขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว ก็เพราะว่า กลัวความทุกข์ต่างๆ
แล้วต่อมา ที่มันปิดบังความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไว้ก็คือ การที่เรามีความสำคัญว่า มันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างเช่นกายนี้ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นอนัตตา เป็นอย่างไร? ก็คือลักษณะนี้แหละ เพราะมันเป็นธาตุทั้ง ๔ มันมารวมกันเข้า มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน แต่พอเราสำคัญว่ามันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นกายเป็นใจของเรา เราก็ยึดอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังยึดว่า ร่างกายเรามันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่เห็นตรงไหน ที่มันบอกไม่มีตัว ไม่มีตน จับไปมันก็เป็นตัว เป็นตน เป็นเลือด เป็นเนื้อ มีความอ่อน ความนิ่มไปหมดนะ ตรงไหนไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นชัดๆ นี้ จะเห็นกายในกายได้นี้ มันต้องเอาสติไปเห็น ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ ตาเนื้อปกติมันเห็นใกล้แค่บางอย่าง แล้วมันก็จะบอดตลอดเวลา ตาเนื้อนี้มันเห็นได้แค่บางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่ตาเนื้อไม่เห็น ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีอยู่ จักษุหรือว่าดวงตา มีตั้ง ๕ อย่าง ตาเนื้อ ตาปัญญา ตาทิพย์ ตาพระพุทธเจ้า ตารอบคอบ เหล่านี้ ดังนั้น เราจึงต้องเห็นด้วยตาปัญญา สิ่งเหล่านี้
แล้วตาปัญญาเอามาจากไหน? ไม่ได้เอามาจากการคิด ไปเอามาจากการฟัง แต่มาจากการภาวนา สติ สมาธิ เมื่อมันรวมกันมากเข้า-มากเข้า มันจะทำให้เห็นสิ่งนี้ที่มันปิดบังเราเอาไว้ เหมือนกับเราจะแหวกจอกแหน ที่มันคลุมสระเอาไว้นี้ เราไม่สามารถจะเอามือแหวกได้ เราต้องแหวกด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา การที่เราเจริญสติ เจริญสมาธินี้ มันคือการสั่งสมกำลัง เราไม่ต้องคิด ไม่ต้องอยาก ถ้าอยากเมื่อไหร่มันไม่ได้ ถือตัว ถือตนอะไรนี้ ถ้าเอาตัวอยากเป็นตัวนำ อยากบรรลุ อยากสงบ อยากนิ่ง อยากโน่น อยากนี่ ไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าตั้งจิตไว้ผิดตั้งแต่แรก ทำด้วยใจดีใจสบาย ทำด้วยหายใจเข้า หายใจออกสบาย หายใจเข้าหายใจออกมีความสุข ทำด้วยไม่เอาอะไร แล้วมันจะได้มาโดยอัตโนมัติ อย่างเช่นว่าเราอยากได้หนังสือสักเล่มหนึ่ง พันกว่าหน้านี้ คิดดูว่าต้องเคาะ keyboard กี่ครั้ง สมัยก่อนก็คือเคาะพิมพ์ดีด ปัจจุบันก็คือเคาะคีย์บอร์ดกี่ครั้ง ถึงจะได้หนังสือเล่มนี้ เป็นแสนเป็นล้านครั้ง การที่เราเจริญสตินี้ เป็นการที่เราเคาะ keyboard ที่ละครั้งๆ ไป ต้องอาศัยความต่อเนื่อง พอมันเต็มที่ มันบริบูรณ์เมื่อไหร่ มันจะปรากฏให้เราเห็น ไม่อยากเห็นมันก็ต้องเห็น เพราะว่าธรรมชาติมันจัดสรรอย่างนั้นแล้ว เมื่อจิตถึงสภาพนี้ สติ สมาธิ อยู่ในจุดนี้ มันจะเห็นสิ่งนี้ มันเป็น step ของมันอย่างนี้
การประพฤติการปฏิบัติธรรมนี้ สภาวธรรมจึงไม่ได้เขียนไว้ในตำรา เพราะในปริยัติ ท่านบอกชื่อเอาไว้ก็จริง แต่พอการปฏิบัติจริงๆ บางทีมันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ เพราะมันเรียกไม่ได้ แต่มันเห็น มันรู้ ดังนั้น การที่เราพิจารณากายของเราให้มันเห็นแจ้ง นี่แหละคือขุมทรัพย์มหาศาล
ครั้งก่อนที่เคยอธิบาย ที่บอกว่า โรหิตัสสะพรหม ตามหาที่สุดของโลก จนร้อยปี เขาสิ้นอายุขัยก็หาไม่เจอ นักวิทยาศาสตร์คนก่อนก็คือโรหิตัสสะพรหมนี้ อยากหาที่สุดโลก หาไม่เจอ จนเขาตายไป จนมาเกิดเป็นพรหม แล้วก็ถามพระพุทธเจ้าว่า ที่สุดของโลกอยู่ตรงไหน? พระพุทธเจ้าบอกตรงนี้ ชี้ไปที่กาย ที่ใจนี้ “อิมัสมิง เยวะ พยามมัตตะกเฬวเร สะสัญญิมหิ สมนเก” เราย่อมบัญญ้ติโลก ก็คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อยู่ในร่างกายนี้ “อิมัสมิง เยวะ พยามมัตตะกเฬวเร” อยู่ในร่างกายนี้เอง “พยามมัตเต” อันมีประมาณวาหนึ่ง กว้างศอก ยาววา หนาคืบนั่นแหละ “สะสัญญิมหิ”ที่มีสัญญา คือมีความจำ “สมนเก” ที่มีใจ ต้องมีกาย ต้องมีใจสมบูรณ์ทั้งสอง จึงเอามาปฏิบัติธรรมได้ ถ้ามีแต่ร่างกายอย่างเดียว ไม่มีใจ ก็ปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนกับซากศพที่มันใช้งานไม่ได้ ถ้ามีแต่ใจอย่างเดียว มันก็ดูกายไม่ได้ อย่างเช่นอรูปพรหมนี้ หูก็ไม่มี ตาก็ไม่มีนะ ดังนั้น กายใจที่เรามีนี้จึงเป็นขุมทรัพย์มหาศาล
แล้วทีนี้ พระพุทธองค์ก็สอนพระราหุลต่อ ก็คือว่า โดยอุปมา เจริญภาวนาให้มันเสมอด้วยธาตุ แผ่นดิน น้ำ ไฟ ลมนี้ ความชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้น มันก็จะครอบงำจิตของผู้กำลังเจริญภาวนานั้นๆ ไม่ได้ ถ้าเราพิจารณาโดยความเป็นธาตุ เมื่อคนทั้งหลายทิ้งของไม่สะอาด หรือว่าทิ้งของสะอาด ของสะอาด เช่น พวกดอกไม้ ของหอม ของไม่สะอาด เช่น พวกอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำหนอง เลือด ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินมันก็ไม่มีความอึดอัดระอา หรือว่ารังเกียจของเหล่านั้นเลย เมื่อคนทั้งหลายเอาน้ำมาล้างของสะอาด หรือของไม่สะอาด น้ำ มันก็ไม่เห็นมีความอึดอัดระอาหรือว่ารังเกียจของเหล่านั้นเลย ลม เวลามันพัด มันพัดทั้งของสะอาด ของไม่สะอาดทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำหนอง และเลือด ลมมันก็ไม่เห็นมีความอึดอัดระอา หรือว่ารังเกียจของเหล่านั้น ไฟ เวลามันเผา มันก็ไม่ได้เลือกเผาเฉพาะของสะอาด มันเผาหมด ทั้งของสะอาด ไม่สะอาด มันก็ไม่เห็นมีความอึดอัดระอา หรือว่ารังเกียจของเหล่านั้น ดังนั้น ของสะอาด ของไม่สะอาด จะไม่ทำให้แผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม มีความอึดอัดระอา หรือว่ารังเกียจ เมื่อต้องสัมผัสด้วย เช่นเดียวกันกับความชอบใจ ไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นกับผู้กำลังเจริญสติ เจริญสมาธิ ต้องทำจิตให้เสมอแผ่นดิน จิตเสมอกับน้ำ จิตเสมอกับไฟ จิตเสมอกับลม แต่ส่วนใหญ่ เรามักจะตาม เราไม่ตัด เราก็จะต่ออารมณ์ พอเวลามันมีผัสสะอะไรมากระทบ เจ็บนิด เจ็บหน่อย ใจมันก็ปรุงแต่งไปแล้ว ว่าจะตายไหม จะขาหักไหม จะเป็นโน่นเป็นนี่ไหม มันปรุงแต่งใจ พอปรุงแต่งใจแล้ว อะไรเกิดขึ้น? ความไม่ชอบเกิดขึ้น ก็อยากจะเปลี่ยนท่าบ้าง อยากจะนอนบ้าง ไม่อยากปฏิบัติต่อบ้าง อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจะสอนเสมอว่า อย่าทำตามใจตามอารมณ์ เพราะ มันปรุงแต่งตลอด ตามความคิด ตามความอยาก ตามสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น วางใจให้เป็นกลาง จะความชอบใจ ไม่ชอบใจมันเข้ามา ให้เราเป็นเพียงผู้รู้ ผู้ดู เพราะเราไปบังคับอะไรมันไม่ได้อยู่แล้ว จะบังคับไม่ให้มันคิด จะบังคับไม่ให้มันเจ็บ จะบังคับไม่ให้มันปวด จะคิดดี หรือคิดไม่ดี เราอย่าไปเสียใจ แต่เอาจิตที่มันคิดดีไม่ดีนั้น เอามาเป็นที่ตั้งให้เกิดสติได้ เมื่อสติรู้เท่าทันแล้ว การที่คิดดีคิดไม่ดี มันจะหยุดไป ปัญญาก็เกิด เอาของไม่ดีมาให้เกิดความดี เช่น ความปวดนี้มันเป็นของไม่ดี พอเรารู้เท่าทันความปวดแล้ว ก็เกิดของดีได้ การพิจารณาของสกปรก ของเน่าเหม็นในร่างกายของเรา รู้อยู่แล้วว่าของเน่า ของเหม็นมันเป็นของไม่ดี แต่เราเอามาพิจารณาให้เกิดของดี คือ เกิดสติ เกิดปัญญา
นี่แหละคืองานของพระพุทธเจ้า งานของพระอรหันต์ งานของผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อที่จะเป็นพระอริยะเจ้า ดูกาย ดูใจ แยกเป็นชิ้นๆ ชำแหละเป็นชิ้นๆ ชำแหละอย่างไร? ท่านบอกว่า เมื่อสาธยายหรือว่ากำหนดรู้อาการ ๔๒ ก็คือธาตุ ๔ โดยอนุโลม ปฏิโลม ก็คือตาม ทวน กลับ ตาม ทวน กลับ วิธีดูเขาบอกว่า สภาวะแข็งมันคือธาตุดินนะ สภาวะที่มันเกาะกุม ที่มันไหล ที่มันเอิบอาบ ที่มันซึมซาบ นี่เป็นธาตุน้ำนะ ความร้อน ความเย็น เป็นธาตุไฟนะ คือเรารู้ตามนั้น การที่มันตึง ตึงกับหย่อน เป็นการทำงานของธาตุลม ดังนั้น จึงเป็น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง มีแข็งกระด้างด้วยนะ แข็งกระด้าง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นี่แหละ ที่เราพูดกัน มันก็คือการทำงานของธาตุ ๔ หยาบกระด้าง คือธาตุดิน ตัวเรามันมีหมด หยาบก็มี กระด้างก็มี แข็งก็มี อ่อนก็มี เย็น-ร้อน เย็นไม่ใช่ธาตุน้ำนะ เย็นคือธาตุไฟ เย็น-ร้อนคือธาตุไฟ ไหลเกาะกุมนี่คือธาตุน้ำ ที่มันไหลเวียนไปได้ ที่มันหนึบ ที่มันหนืด ที่มันเหนียว นี้คืออาการของธาตุน้ำ แล้วก็ตึงกับหย่อน คือธาตุลม เวลาเราตึงคอ ตึงบ่า ตึงไหล่ คือธาตุลมไม่ปกติ เพราะฉะนั้น เมื่อเรากำหนดได้เช่นนี้ เท่ากับว่า เราสามารถรู้เห็นธาตุได้หยาบๆ เมื่อพิจารณามากเข้าๆ จะเห็นชัดเจน แยกเป็นชิ้นเป็นส่วน
ท่านบอกว่า เมื่อสาธยายอาการ ๔๒ ตามลำดับ จิตของนักปฏิบัติย่อมรับรู้อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่มันเด่นชัดมากที่สุด อะไรชัด รู้อันนั้นนะ แต่เราอย่าดูแบบมั่วไปหมดนะ ไม่อย่างนั้นมันจะตีกัน อะไรชัดรู้อันนั้น เหมือนกับเวลาเราจะจ้องมองอะไรสักอย่าง ตรงที่เราโฟกัสมันจะชัดที่สุด ที่เหลือมันจะเป็นภาพเบลอๆ แต่เราไม่ได้สนใจ เราโฟกัสเฉพาะตรงที่มันชัดที่สุด อะไรที่มันเกิดขึ้นกับใจ กับกายเรานี้ อะไรมันชัดที่สุด กำหนดดูรู้ตามอันนั้น ในขณะนั่ง มันไม่ได้ชัดเฉพาะกาย ใจมันก็ชัด ลมมันก็ชัด สมมุติเราดูลมเป็นพื้นฐาน แต่พอเวลาขณะที่เรานั่งสมาธิไปนานๆ นะ ความฟุ้งเกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้น เราก็ไปดูรู้ตามความคิด ความฟุ้งจนมันดับไป แต่ไม่ใช่ตามมันนะ รู้ว่ามันคิด รู้ว่ามันฟุ้ง พอรู้แล้วมันจะดับไป แต่ไม่ได้ตาม เวลาง่วง เราก็ดูความง่วง ง่วงในที่นี้ก็คือว่า ใส่ใจไปเลย พระพุทธเจ้าท่านสอนวิธีหลายๆ อย่างนะ แต่ถ้าตามมันไปๆ เดี๋ยวมันก็จะหลับ แต่ตามในที่นี้ ใช้จิตดูความง่วง ในขณะเจ็บ เกิดความเหน็บ ความชาขึ้นมา ก็ดูอาการปวดเหล่านั้น ถ้าอยากเห็นชัดๆ ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า อย่าไปขยับ มันไม่ตาย อย่าไปขยับ จะได้เห็นกันนะ ถ้าเราไม่ชนะ มันก็ชนะเรา ดังนั้น เราต้องให้เห็นเช่นนี้ อดทน ดูบริกรรมไป แล้วในที่สุดนะ ที่เด่นชัดที่สุดนั่นแหละ ในขณะที่มันจิตจดจ่ออยู่กับอารมณ์นั้นๆ หนึ่งเดียวจิตย่อมตั้งมั่นในสภาวะของธาตุของอารมณ์นั้นๆอย่างชัดเจน บรรลุขณิก
สมาธิคือ สมาธิชั่วขณะในวิปัสสนา ซึ่งมีกำลังเทียบเท่ากับอุปจารสมาธิ สมาธิที่มันใกล้เข้ามากับองค์ฌาน เป็นอารมณ์ของสภาวธรรม ท่านบอกว่า ความจริงของวิปัสสนานั้นมีกำลังเสมอกับอุปจารสมาธิในขณะบรรลุวิปัสสนาญาณ เทียบเท่ากับปฐมฌานในขณะบรรลุมรรคผล แต่เพราะว่าวิปัสสนานี้ มันมีอารมณ์หลากหลาย เพราะเราไม่ได้ดูอย่างเดียว เราดูอันที่มันชัดที่สุด มันก็เลยย้ายไปย้ายมา ดังนั้น มันจึงใช้ขณิกสมาธิ แต่ขณิกสมาธิต้องอาศัยความต่อเนื่อง แต่ถ้าอัปปนาสมาธิ มันแนบแน่นเป็นองค์ฌาน อันนั้นมันดิ่ง มันนิ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าขณิกสมาธินี้ มันเป็นเหมือนกับไปเรื่อยๆ มันต้องอาศัยความต่อเนื่อง ถ้ามันหยุดแล้ว อารมณ์มันก็หาย ไม่มีอารมณ์ทำต่อไป บางทีก็เบื่อก็เซ็ง ไม่เห็นก้าวหน้าเลย ท่านก็อุปมาให้ฟังว่า คนฆ่าวัวหรือว่าลูกมือของคนฆ่าวัวผู้ขยัน แต่พอเวลาเขาฆ่าวัวเขาก็ชำแหลออกมาเป็นกองเนื้อ นั่งอยู่ที่ตลาด แล้วก็ขาย ภิกษุก็เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายของเรานี่แหละ ตามที่มันตั้งอยู่โดยความเป็นธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทีมันมีอยู่ในกายนี้ เมื่อคนเลี้ยงวัว นำวัวไปสู่โรงฆ่าสัตว์ ผูกวัวไว้ แล้วก็ฆ่าวัว แล้วก็ดูวัวที่ถูกฆ่า ตอนนั้น เขายังมีความสำคัญว่าเป็นวัวอยู่ แต่พอเมื่อไหร่ที่มันชำแหละเป็นเนื้อออก แยกเป็นชิ้น เป็นส่วน อันนี้สันใน อันนี้ส่วนมัน อันนี้ส่วนเนื้อ อันนี้ส่วนตับ ไต ไส้ พุง นั่งขายอยู่ ตอนนั้นความเป็นวัวมันหายไป มันรู้สึกแต่ว่าเราขายเนื้อวัว เราขายไส้วัว ขายตับ ไต ขายไส้ ขายสันใน ขายลิ้นวัว ฉันใดก็ฉันนั้น ภิกษุเมื่อยังไม่ได้พิจารณาว่าเป็นธาตุ ก็ย่อมมีความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเรา ของเรา แต่เมื่อใดที่เราพิจารณาโดยความเป็นธาตุแล้ว จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นธาตุ อุปมาง่ายๆ เหมือนรถยนต์ที่เราขับ มันเป็นรถยนต์ เพราะมันมีองค์ประกอบอย่างนี้ พอไปสู่อู่ซ่อมรถ แยกชิ้นส่วนออก ล้อก็ไปทางหนึ่ง ประตูก็ไปทางหนึ่ง พวงมาลัยไปทางหนึ่ง กระโปรงหน้า กระโปรงหลังไปทางหนึ่ง เครื่องไปทางหนึ่ง มันแยกไปๆ ความเป็นรถมันก็ไม่มีอยู่แล้ว เพราะมันแยกชิ้นส่วนออกหมด
ร่างกายคนก็ให้พิจารณาเช่นนั้น เมื่อหยั่งเห็นเช่นนี้ ทำเช่นนี้ ฝึกพิจารณาร่างกาย สักแต่ว่าโดยความเป็นธาตุ มีเพียงแค่ธาตุทั้ง ๔ เวลาเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ทำอากัปกิริยาต่างๆ ให้มันเห็นโดยความเป็นธาตุ เห็นในที่นี้ ไม่ใช่เห็นจากความจำ แต่มันเป็นการเห็นจริงๆ เห็นแบบนี้ปัญญาก็จะเกิด เมื่อปัญญาเกิด มันจะคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่นไปโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องอยาก ไม่ต้องท่อง มันจะคลายไปตามหน้าที่ของมัน นี่คือหมวดการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ธาตุมนสิการ
หมวดต่อไปท่านบอกว่า พิจารณาป่าช้า ๙ ป่าช้า ๙ ในที่นี้หมายถึงว่า ซากศพของคนนี้พิจารณา ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ขึ้นสีเขียว น้ำเหลืองไหลบ้าง น้อมมาสู่กายเราว่า เราก็ต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้ มันเห็นง่ายขึ้น ตรงที่ว่า มันมีภาพให้ดู มีวีดีโอให้ดู แต่มันก็สู้ของจริงไม่ได้ เพราะว่าความกลัว ความหดหู่ อารมณ์อะไรต่างๆ แม้กระทั่งกลิ่นนี้ มันต่างกัน สู้ดูของจริง พิจารณาของจริงไม่ได้ ความหมายของนวสีวถิกาบรรพ หรือว่าหมวดนวสีวถิกะ หรือว่าแปลว่าป่าช้านี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำในหมวดการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นหมวดสุดท้าย ก็คือการดูป่าช้า ๙ หรือว่า ซากศพทั้ง ๙ อย่าง เช่นตอนหนึ่ง พระจูฬปันถก ที่ปัญญาทึบมาก ท่องบาลี ๒ บรรทัด เป็นพรรษาก็ท่องไม่ได้ เพราะบุพกรรมของท่านที่ไปดูถูก น่าจะเป็นพระอริยเจ้าท่านหนึ่งที่จำอะไรไม่ได้ บุพกรรมนั้นจึงทำให้ท่านท่องบาลีบทเดียวจำไม่ได้ จนพี่ชายไล่สึก แต่ท่านก็ไม่อยากสึก จนมาเจอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลยให้อุบายกรรมฐาน ให้ผ้าขาวผืนหนึ่ง ให้ท่านลูบไปๆ ท่านก็ภาวนาไปนะ เป็นการเพ่งกสิณ โดยเฉพาะกสิณสีขาว แล้วก็ยกจิตขึ้นสู่ภาวนาในภายหลังตรงที่ว่า จากสีขาวพอลูบไปๆ มันเปื้อนเหงื่อ เปื้อนของสกปรกที่มือตนเอง จากผ้าขาวมันก็กลายเป็นผ้าเปื้อน จิตของท่านหลุดพ้นไปตามลำดับบรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่ก็คือการพิจารณาคล้ายๆ กัน
แล้วทีนี้ ตรงที่ว่าป่าช้านี้ ที่เขาเรียกว่าป่าช้าก็เพราะว่า มันเป็นที่อยู่ของซากศพ จุดหมาย จุดประสงค์ก็คือ ให้พิจารณาซากศพนั่นเอง ในหมวดที่ผ่านมาพิจารณาร่างกายโดยอาการ ๓๒ แล้วก็โดยความเป็นธาตุ ๔ พอมาตอนนี้ พิจารณาซากศพ แต่ว่าเป็นกายของบุคคลอื่น ทำไมในกรรมฐานพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้พิจารณากายของคนอื่นที่ยังเป็นอยู่ล่ะ? เพราะกามราคะมันจะฟุ้งขึ้น ขนาดซากศพนี้เวลาพระจะพิจารณายังไม่ให้พิจารณาซากศพของเพศตรงข้ามเลย กามมันจะฟุ้งขึ้น เพราะในเรื่องของต้นบัญญัติปาราชิก ก็ยังมีต้นบัญญัติหนึ่งที่บอกว่า ภิกษุไปข่มขืนศพ เพราะอะไร? ก็เพราะความกำหนัดนี่แหละ ดังนั้น เวลาจะพิจารณาซากศพ ก็คือ ต้องเป็นซากศพที่เป็นเพศเดียวกัน เพื่อไม่ให้กามราคะมันฟุ้งขึ้น ความจริงแล้วร่างกายของคน หรือว่าสัตว์นี้ จะมีชีวิตอยู่ได้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง ก็คือ อายุ มีอายุนะ ทำให้ชีวิตเราดำเนินไปได้ อย่างที่ ๒ ไออุ่น ไออุ่นก็มาจากธาตุไฟ แล้วก็ ๓ คือวิญญาณ จิตวิญญาณ แต่พอตายลงไปนี้ ไออุ่น อายุวิญญาณไม่มี มันก็เหลือแค่ความเป็นธาตุเท่านั้นเอง เพราะมันปราศจาก ๓ อย่างนี้ อายุมันไม่เดินหน้าต่อแล้ว ไออุ่นมันก็หายไป ลมหายใจมันหายไป แล้วก็วิญญาณมันก็ออกจากร่างไป เป็นร่างของคนตาย การเจริญหมวดนี้ คือไปดูซากศพ ณ ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก เพราะว่าตายปุ๊บก็เอาใส่โลงเลย แล้วก็ได้ดูนิดเดียวตอนก่อนจะเผา แต่สมัยก่อนเขาบอกว่า ศพนี้มีค่ามากดังแก้วมณี สำหรับผู้ที่เจริญอสุภกรรมฐาน ท่านอุปมาอย่างนั้นเลยนะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อออกจากวัฏสงสารนี้ ซากศพมีค่าประดุจแก้วมณี เพราะมันหาดูยาก ศพอย่างแรก ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด แล้วก็อย่างที่ ๒ ศพที่ฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง เหยี่ยวมาจิกกิน ฝูงแร้งมาจิกกิน นกอีลุ้มมาจิกกิน หมู่สุนัขมากัดกิน หมู่เสือมากัดกิน หมู่สุนัขจิ้งจอกมากัดกิน แล้วก็หมู่หนอนต่างๆ ขึ้นยั้วเยี้ยๆ ไปหมดพิจารณา แล้วก็อย่างที่ ๓ ศพที่เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อ มีเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ อย่างที่ ๔ ศพที่เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ ไม่มีเลือดแล้ว แต่ยังมีเส้นเอ็นอยู่ ศพอย่างที่ ๕ เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ แล้วก็อย่างที่ ๖ เป็นกระดูก ไม่มีเส้นเอ็นรัด ที่มันเรี่ยรายกระจัดกระจายอยู่ไปคนละทาง เท้าไปทาง ขาไปทาง แขนไปทาง แล้วก็ ๗ ศพที่เป็นกระดูกสีขาว คือตายทิ้งไว้นานนะ เปรียบเทียบเหมือนกับสีหอยสังข์ แล้วก็อย่างที่ ๘ ศพที่เป็นกองกระดูกเรียงรายอยู่แล้ว เกิน ๑ ปีขึ้นไป ๙ ศพที่เป็นกระดูกผุ จนเป็นผงแล้ว
วิธีปฏิบัติโดยย่อในการเพ่งซากศพก็คือ ท่านบอกว่า การเดินไปดูซากศพนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมควรไปดูซากศพเพียงคนเดียว ทำไมต้องไปคนเดียว? ในขณะไป ก็ควรใส่ใจกับกัมมัฏฐานหลักอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จะเป็นพุทโธ หรือว่าระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือแผ่เมตตาก็ว่าได้ หรือว่าจะเจริญร่างกายว่า ไม่สวยไม่งาม ในขณะไปนี้ ควรสำรวมอินทรีย์ ไม่เหลียวซ้ายแลขวา เพราะว่า จิตมันจะปรุงแต่งนะ เพราะมันเห็นอะไรเป็นเงาตะคุ่มๆ แล้ว มันก็จะหลอนตัวเอง แล้ววิ่งหนี เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้สำรวม เดินมุ่งตรงไปตรงซากศพเลย แล้วก็สังเกตว่า ตรงไหนเป็นทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก ตะวันตกก็พอ แต่อย่ามองแบบชมนกชมวิว เพราะว่า มันจะปรุงแต่งเป็นผีหลอก แล้วก็อย่างที่ ๒ ท่านบอกว่า การแลดูซากศพนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรอยู่ใต้ลม เพื่อไม่ให้ได้กลิ่นศพ เพราะมันจะอ้วก ไม่ควรอยู่เหนือลม เพราะกลิ่นตัวมนุษย์นี้ มันจะทำให้อมนุษย์ที่มันสิงอยู่ในศพไม่พอใจ จึงควรยืน หรือนั่งในที่เหมาะสม ไม่ไกลนักไม่ใกล้นัก ถ้าอยู่ใกล้ศพเกิน อาจจะทำให้เกิดความกลัว ถ้าอยู่ไกลเกิน ก็มองเห็นไม่ชัดเจน เวลาดู ยืนอยู่ช่วงกลางตัว ไม่อยู่บนหัว หรือบนเท้า เพราะว่าดูไม่ถนัด ต้องอยู่ช่วงกลางตัว แล้วก็กำหนดสิ่งที่อยู่รอบซากศพ เมื่อเดินไปพบซากศพแล้ว กำหนดว่า ตรงนั้นเป็นก้อนหิน ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นจอมปลวก เพราะว่าเวลาจิตของนักปฏิบัติตั้งมั่นนี้ ในความไม่สวยไม่งามของซากศพได้แล้ว บางทีนี้ จิตมันจะสร้างนิมิต อาจจะเห็นเป็นซากศพมันลุกเดินขึ้นมา ทั้งที่ความจริงแล้ว มันไม่ได้เดินได้หรอก เพราะมันก็เหมือนต้นไม้ เหมือนจอมปลวก เหมือนภูเขานั่นแหละ มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่มันเป็นนิมิต จิตมันปรุงแต่งขึ้นมา มันสร้างขึ้นมามันเป็นภาพจินตนาการ ศพเดินเข้ามาหาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องกำหนดให้ดี จนกระทั่งเป็นอุคคหนิมิต คือนิมิตติดตา แล้วก็ภาวนาต่อไป ไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าช้ายาว ไปดู มองจนจำติดตานี้ พอจะนึกกี่ครั้งๆ ก็ให้มันติดตาตลอด แล้วก็ เวลาดู ก็ดูสีผิวของศพด้วยว่า เป็นสีดำ สีขาว เพศ คำว่าเพศในที่นี้ ก็คือ ช่วงวัย เป็นช่วงวัยกลางคน วัยต้น วัยปลาย ศพคนแก่ คนหนุ่ม คนสาว แล้วก็ตรงศีรษะ ตรงคอ ตรงมือ ตรงเท้า เป็นอย่างไร ส่วนนั้นส่วนนี้ คือพิจารณาเจาะให้ละเอียด เจาะให้ละเอียดเลยนะ เหมือนกับเราต้องการอยากดูอะไรที่มันชัดๆ นี้ ต้องมีกล้องจุลทรรศน์ zoom คือดูให้ละเอียด แล้วจำให้มันติดตา พอติดตามาแล้ว หรือว่าในขณะเพ่งดูนี้ ก็กำหนดบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นศพขึ้นอืด ท่านก็บอกว่า อุทธุมาตกังๆๆ ถ้าเราว่าบาลีไม่ได้ ก็ศพขึ้นอืด-ศพขึ้นอืด แบบนี้ จนกระทั่งมันตั้งมั่นเป็นสมาธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง พอนิมิตติดตาเกิดขึ้น แม้จะหลับตานอนก็ยังเห็นซากศพอย่างชัดเจน ในระยะนี้ มันจะปรากฏเป็นอารมณ์น่ากลัว เพราะทุกคนนี้ เป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่ากลัวผี ทุกคนนะ ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว แต่ทีนี้ พอมันตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปรากฏเป็นปฏิภาคนิมิต อารมณ์บัญญัติใหม่มันก็จะปรากฏทันใจเหมือนเดิม ในระยะนี้ นักปฏิบัติจะไม่รู้สึกกลัวสิ่งที่พบเห็นทางใจ ความกลัวมันจะคลายลง เป็นการบรรลุอุปจารสมาธิ พัฒนาไปเรื่อยๆ มันก็จะแน่นเป็นอัปปนา เป็นองค์ฌาน
เห็นไหมว่า ซากศพนี้ มันมีค่าดังแก้วมณีดังที่ท่านได้อุปมาเอาไว้ ศพไหนที่มันเป็นมีค่าดังแก้วมณี เขาบอกว่า ศพขึ้นอืด เพราะศพขึ้นอืดนี้ มันอยู่แค่ไม่กี่วันนะ วันหนึ่ง วันสอง วันสาม มันยังสดอยู่ พอในช่วงที่ขึ้นอื่นนี้ มันมีเวลาแค่ไม่กี่วันนะ เพราะเวลาผ่านไป ๓ - ๔ วัน มันก็จะยุบแล้ว น้ำเลือด น้ำเหลือง มันไหลไปคนละทาง ธาตุน้ำก็ซึมไปสู่ธาตุน้ำ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย ลมกับไฟมันออกไปตั้งแต่ตายแล้ว พอสุดท้าย มันก็จะกลายสลายคืนสู่ดิน น้ำสู่น้ำ ดินสู่ดิน ดังนั้น ท่านเลยบอกว่า ศพที่พองอืด จึงมีค่ามหาศาลเหมือนแก้วมณีทรงค่าสำหรับคนตกยาก ที่เปรียบดังนักปฏิบัติผู้ต้องการจะพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ แล้วทีนี้ การที่เราพิจารณาตั้งแต่กายเรา หรือแม้กระทั่ง ถ้ามีของมาให้ดู เช่น ซากศพนี้ ตั้งจิตให้แน่วแน่ แล้วก็น้อมมาสู่เราว่า เราก็จะต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน มันได้กรรมฐานหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาความตาย การพิจารณาซากศพ มันได้หลายๆ อย่าง
แล้วทีนี้ การที่เราจะชัดเจนในการปฏิบัติเช่นนี้ ท่านก็บอกว่าต้องมีองค์ประกอบเหมือนที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นเมื่อหลายวันก่อนว่า “อาตาปี สมฺปชาโน สติมา” ๓ ตัวนี้ เหมือนกล้องจุลทรรศน์ ที่เราทำให้เราเห็นกาย เห็นใจ ทำให้เราเห็นอาการ ๓๒ ได้ชัด เห็นธาตุ ๔ ได้ชัด เห็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ชัด การเจริญสติปัฏฐาน ๔ องค์ องค์ประกอบ ๓ อย่างนี้มีอยู่ทุกๆ หมวด คือ อาตาปี มีความเพียร ใส่ใจ ตั้งใจจริง เพียรเผากิเลส อาตาปีคำนี้ เพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น สัมปชาโนคือมีปัญญาหยั่งเห็น หรือจะแปลว่าสัมปชัญญะ รู้เนื้อรู้ตัวก็ได้ สติมา แปลว่ามีสติอย่างต่อเนื่อง มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญาหยั่งเห็น มีสติอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดสมาธิ พอสมาธิมันตั้งมั่น น้อมสู่ไตรลักษณ์ มันก็จะเป็นปัญญาทันที พิจารณาไปเช่นนี้ๆ จิตมันจะคลาย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการเจริญสติปัฏฐานในหมวดกายนี้ ๑๔ วิธี ดังที่ได้อธิบายมาทั้งหมดนะ ตั้งแต่เริ่มจากดูลมหายใจ การที่ดูอิริยาบถ ๔ ดูอิริยาบถย่อยในหมวดสัมปชัญญะพิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาโดยความเป็นธาตุ ๔ เป็น ๕ แล้วก็ซากศพ ๙ เป็น ๑๔ พอดี ๑๔ วิธีนี้ คืออยู่ในหมวดกาย นี่แหละคืองานของทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นงานของผู้ที่มาบวช หรือว่าผู้ที่อยู่บ้าน อยู่ครองเรือน ที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้เป็นลูกพระพุทธเจ้า ก็คืองานที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยภาวนาวิปัสสนา เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะคนเรานี้ จะเกิดนานเท่าไหร่ มันก็ไม่สามารถหมดกิเลสสิ้นอาสวะได้ คนอายุ ๘๐ - ๙๐ ปี ก็ไม่หมดกิเลสไม่สิ้นอาสวะ ถึงแม้ร่างกายจะแก่เฒ่าแล้ว กิเลสนั้นมันก็ไม่สามารถจะหมดไป ๗๐ - ๘๐ นะ จริงอยู่ ร่างกายไม่ไหว แต่ใจมันฮึดสู้ ก็คือ กามมันก็ยังแข็งแรงอยู่เลย กามราคะก็แรง โทสะก็แรง มันแรงทุกๆ คนนะ ไม่ใช่ว่าแก่เฒ่าแล้วกิเลสจะหดหาย มันยังมีอยู่เท่าเดิม
ดังนั้นแล้ว จึงให้ทุกท่านทุกคนพากันภาวนาร่างกาย ภาวนาให้มันเป็นส่วนจนเห็นชัดเจน ถ้าไม่อย่างนั้น ราคะ โทสะ โมหะ มันก็ไม่หมด คนที่ปฏิบัติธรรมที่ยังไม่รู้หลักปฏิบัติชัดเจน ก็ท้อใจว่า ทำไมอายุเรา ๗๐ - ๘๐ ปีแล้ว ราคะทางจิตใจมันยังไม่หมด มันหมดไม่ได้นะ เพราะว่ายังไม่รู้แจ้งในร่างกาย มันยังเห็นกลายเป็นของสวยของงาม ศาสนาพุทธคือศาสนาที่มีปัญญา เราต้องพัฒนาปัญญา เรามาพัฒนาความประพฤติของเรา ว่า สิ่งนี้ไม่ให้คิด สิ่งนี้ไม่ให้พูด สิ่งนี้ไม่ให้ทำ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องความฉลาด ไม่ใช่เรื่องปรัชญา จะต้องประพฤติต้องปฏิบัติให้มันติดต่อเนื่องกัน อันนี้เป็นงานของเราทุกๆ คนนะ ไม่ว่าผู้ที่บวช หรือผู้ไม่ได้บวช เราจะไม่ได้ไปแก้ที่ปลายเหตุ เหมือนที่กำลังถกเถียงกันว่า ให้มีกฎหมายทำแท้ง ให้มีกฎหมายคุมกำเนิดนี้ เพราะอันนั้นมันคือการไปแก้ปลายเหตุ เราต้องมาแก้ที่ใจของเราให้มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อจะให้พระได้ภาวนาวิปัสสนา ให้โยมได้ภาวนาวิปัสสนาจะได้ประพฤติปฏิบัติกัน เราจะได้ไม่เลี้ยงโจรเลี้ยงสิ่งไม่ดีไว้ในใจตัวเอง โจรก็คืออวิชชาคือความหลง ทุกคนต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติ นี้เป็นงานที่เราทุกคนที่จะต้องได้เป็นพระอริยเจ้า เพราะศาสนาพุทธเรานี้พัฒนามนุษย์ให้เป็นพระอริยเจ้า จนกระทั่งสูงสุดคือ ดับทุกข์ คือพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ