แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๔ พิจารณาอาการ ๓๒ โดยเป็นของน่ารังเกียจ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้จะได้พูดถึงเรื่องกาย การพิจารณากายซึ่งอยู่ในหมวดหนึ่ง ของการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานหลักที่เป็นทางหมดจด ทางดับทุกข์ ทางดับความเศร้าโศก จนกระทั่งทางบรรลุมรรคผลนิพพาน โดยเฉพาะเรื่องกายนี้ เพื่อให้เข้าใจในภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ตอนที่เราบวชมาครั้งแรกพระอุปัชฌาย์ท่านก็จะให้กรรมฐาน ๕ ทีเรียกว่า ตจปัญจกกรรมฐาน กรรมฐานที่มีหนังเป็นที่ ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ทำไมต้องพิจารณา? เพราะว่าให้เป็นเครื่องอยู่อย่างหนึ่ง เพราะปกติผู้บวช จะบวชตอนอายุ ๒๐ เป็นส่วนใหญ่ตามพระวินัย แล้วอายุ ๒๐ ปีนี้ ยังอยู่ในวัยที่เป็นวัยรุ่น วัยที่กำลังเป็นหนุ่ม แล้วสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับวัยนี้ก็คือเรื่องกามราคะ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงให้กรรมฐานแก่ผู้ที่บวชมา จนกระทั่งเป็นบัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ ให้กรรมฐานเหล่านี้ ในการพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในภายนอกทั้งหมด พอเป็นเนื้อ เอ็น กระดูกนี้ มันอยู่ข้างใน มันมองไม่เห็น แต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้ ๕ อย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่ปกปิดอยู่ในภายนอก เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่างาม คนทั้งโลกจะบอกว่างามหมด ผมสวย เล็บสวย ฟันงาม แล้วก็ขนงาม แล้วก็บางที หนัง โดยเฉพาะเนื้อหนังมังสา ผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ ผิวคล้ำเหล่านี้ ความงามของคนมันปรากฏที่ผิวหนัง พอถลกหนังออกก็ไม่เหลืออะไรให้ดูแล้ว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาสิ่งที่มันปกปิดของเน่าเหม็นเหล่านี้ พิจารณาให้ขาด พิจารณาให้แตก พิจารณาให้ละเอียด เพื่อที่จะได้กำจัดกามราคะไปได้ อาการ ๓๒ นี้ เป็นสิ่งสำคัญมากนะ ทั้งพระ ทั้งภิกษุณี แม่ชี สามเณร สามเณรี ทั้งผู้ปฏิบัติธรรมที่ถือศีล ๘ ก็ต้องพิจารณาให้แตก พิจารณาให้ขาด อาการ ๓๒ เพราะว่า เป็นเครื่องที่จะนำเราไปสู่มรรคผลพระนิพพาน เพราะการที่เวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะความไม่รู้ ก็เพราะความหลง ก็เพราะความยึดติดในสิ่งเหล่านี้ๆ ยึดติดว่าเป็นของเรา ของเขา เราอย่าได้คิดว่า เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน หรือว่า รู้แล้ว รู้แล้ว ถ้าหากเรารู้จริงนี้ คงจะเป็นพระอริยเจ้ากันหมดแล้ว หลวงพ่อบอกเช่นนี้ ถ้ารู้จริง ถ้ารู้จริงๆ คงจะเป็นพระอริยเจ้ากันหมดแล้ว คงไม่ติด ไม่ยึด ไม่หลงหัวปักหัวปำกันอยู่แบบนี้ ดังนั้น จึงต้องตั้งอกตั้งใจฟัง อย่าได้พากันหลับนะ เพื่อให้เกิดปัญญา เกิดวิปัสสนา ในการพิจารณาอาการทั้ง ๓๒ มีตัวอย่างการพิจารณา โดยเริ่มต้นที่การพิจารณาผมก่อน
ในการพิจารณาผมนี้ ก็ให้ดูผมที่เขาตัดทิ้งไว้ หรือว่าดูผมของตัวเอง ที่มันร่วง ที่มันหล่น หรือว่ามันตกอยู่ในน้ำ ตกอยู่ในอาหารก็ใช้ได้เหมือนกัน เมื่อดูแล้ว ก็ให้พิจารณาดูถึงสี พิจารณาถึงสิ่งที่มันปรากฏ พิจารณาถึงที่ตั้ง พิจารณาถึงโอกาส แล้วก็โดยที่สุด พิจารณาโดยความเป็นปฏิกูล คือเป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นของเน่าเหม็น คือเป็นของปฏิกูล ปฏิกูลโดยสี ปฏิกูลโดยที่มันตั้งอยู่ ปฏิกูลโดยกลิ่น ปฏิกูลโดยที่อยู่อาศัยและปฏิกูลโดยโอกาส อย่างแรก เกศาคือผม ผมท่านก็อธิบายว่า มีทั้งสีดำ สีแดง สีขาว เป็นยาว ทรงกลม มีจำนวนประมาณ ๙ ล้านเส้น เกิดในทิศเบื้องบนแห่งร่างกาย อยู่ในหนังสดที่หุ้มกะโหลกศีรษะ ด้านข้างทั้งสองกำหนดเอาบนหู จนมาถึงกรอบหน้าผาก ด้านหลังแค่คอ ตัดต่อเป็นโอกาสของผมทั้งหลาย โดยผมนี้ กำหนดต่ำกว่าพื้นราบของตน มันเข้าไปในหนังหุ้มศีรษะประมาณเท่าปลายเมล็ดข้าวเปลือก คือรากผมนี้ มันจะหยั่งลึกเข้าไปประมาณปลายเมล็ดข้าวเปลือก แล้วก็ ท่านก็บอกว่า โดยเฉพาะการกำหนด โดยปกติ ผมจะเป็นของงาม เป็นของหลงใหล เป็นของชอบของคนเราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงมีร้านทำผม ร้านตัดผม อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตัดผมเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดูแล เป็นแชมพู เป็นครีมนวด เป็นหมักอะไรต่างๆ บางทีทำผม ต้องบางทีทำเป็นหมื่นๆ เป็นแสนๆ ต้องตีกระบังอะไรอย่างนี้ เป็นต้น เพื่ออะไร? เพราะว่า เพราะดูเป็นของสวย ของงาม แต่พอมันหล่นลงมาปุ๊บ สมมุติว่ามันหล่นลงในอาหารนี้ แม้กระทั่งผมของตัวเอง หรือว่าเป็นผมใครก็แล้วแต่ มันจะกลายเป็นว่า อาหารมีผมตกลงมาแล้ว เอาออกไปเสีย ไม่กล้ากิน ทำไมไม่กล้ากิน? เพราะว่า ใจของเราด้วยสัญชาตญาณว่า ถ้ามันออกมาจากร่างกายแล้วนี้ มันดูไม่สวยไม่งาม ตกลงมาในน้ำที่เราจะดื่ม ถ้ามีเส้นผมอยู่ก็ไม่กล้ากิน อยู่ในอาหาร ถ้ามีเส้นผมอยู่ก็ไม่กล้ากิน แต่ทำไมเวลามันอยู่บนหัวคน มันดูสวยดูงามไปหมด ถ้าผ่านไปสักวันหนึ่งโดยไม่ได้สระผม สมัยก่อน ยังไม่มีสระผม บอกว่ายังไม่ได้ทาน้ำมัน ไม่ได้ทาน้ำหอม มันก็มีกลิ่นน่ารังเกียจ ดังนั้น จึงต้องสระทุกวัน ๆ แล้วเขาก็บอกว่า ผมนี้ ถ้าเอาไปเผาไฟ กลิ่นเหม็นมาก กลิ่นผมคนเหม็นมาก มันปฏิกูลมาก เพราะฉะนั้น พิจารณาให้ถึงความเป็นของเน่าเหม็น เป็นสิ่งปฏิกูล มันน่ารังเกียจ เวลาเราจะบริกรรมว่า เกศาๆ หรือผมๆ นี้ เราไม่ได้สักแต่ว่าท่อง แต่เราพิจารณา อีกใจหนึ่ง นึกถึงผมที่มันอยู่บนศีรษะเรา ที่มันหยั่งลงไปในรากผมนี้ แล้วมันก็มีโรคเกี่ยวกับศีรษะมามากมาย โรคเชื้อรา คัน เป็นสารพัด โรคที่เกี่ยวกับศีรษะ ขี้กลาก ขี้เกลื้อน พวกนี้ หรือแม้กระทั่งผมร่วงต่างๆ เป็นโรคของศีรษะ เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นรังของโรคจริงๆ
ต่อมา คือขน โลมา ขนปกติมีประมาณ ๙๐,๐๐๐ ขุม ที่อธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค ไม่ดำแท้เหมือนผม แต่เป็นดำปนเหลือง มีปลายน้อมลง ก็คือมันลู่ลงๆ อยู่ทั่วตัว ยกเว้นแต่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ที่ไม่มีขน เพราะฉะนั้น ก็เป็นบ่อเกิดของความเน่าเหม็น เหงื่อ โดยเฉพาะเหงื่อไคล มันก็ไหลออกมาตามรูขุมขน
ต่อไป เล็บ นขา มี ๒๐ อัน เล็บมือ เล็บเท้า มีรูปร่างเหมือนกับเกล็ดปลา อยู่ในปลายนิ้วมือทั้งหลาย นิ้วมือ หรือว่านิ้วเท้านี้ ก็ต้องตกแต่งปกปิดของที่อยู่ร่างกายเราด้วยการทา ทาสี ตกแต่งเล็บ ร้านตัดเล็บ ตัดผม พอมันอยู่ที่มือนี้ มันดูสวย ดูงาม มันดูเป็นของน่าชม ยิ่งคนรักกันนี้ ปานจะกลืนกินเลยแหละ แต่พอตัดเล็บออกมา ก็ไม่เห็นมีใครเอามาเก็บไว้ หรือเอามาชิม หรือว่าเอามาเป็นที่ระลึก เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นของสกปรก ต่อไปฟัน ทันตา ฟันทั้งหลายมีจำนวน ๓๒ ซี่ บางคนก็ ๒๘ - ๒๙ ซี่ มีสีขาวฟัน ๔ ซี่ตรงกลาง เป็นฟันแถวล่าง เขาบอกว่ามีรูปร่างเหมือนน้ำเต้าที่เขาตั้งเรียงกันไว้บนก้อนดินเหนียว ฟันหน้ามี ๔ ซี่ ทั้งบนทั้งล่าง มีรากฟันซี่ละรากเดียว ทรวดทรงเหมือนกับดอกมะลิตูม ฟันกรามจะมีรากสองง่าม ปลายฟันก็มีสองง่าม ที่นี้พอเข้าไปข้างในอีก ในสุดรากก็จะมี ๔ ง่าม แล้วก็ปลายมี ๔ เหมือนกัน เราลองสังเกตดูดีๆ ส่วนหนัง ตโจ หนังที่ห่อหุ้มร่างกายทั้งหมด มีผิวสีต่างๆ ทั้งผิวดำ ผิวคล้ำ ผิวเหลือง ผิวขาว ซึ่งเมื่อลอกออกจากร่างกายทั้งหมดมาปั้นเป็นก้อน ท่านบอกว่าจะได้ก้อนขนาดเท่ากับเมล็ดของพุทรา เมล็ดพุทราอินเดีย ไม่ใช่พุทราพันธุ์ไทย พอลอกออกมาก็จะมีสีขาวทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนดำ คนขาว คนเหลือง นิโกร หรือว่าฝรั่ง พอลอกหนังออกมาแล้ว เป็นเหมือนกันหมด จะขาวเหมือนกันหมด เหมือนเวลาถูกไฟลวก ถูกไฟไหม้ผิวนี้ มันจะลอกออกมา เห็นเนื้อข้างในขาวๆ วิธีกำหนดหนังนี้ สมมุติว่า เราจะพิจารณาตรงส่วนปาก ตโจๆ นี้ ก็นึกถึงตรงบริเวณปาก ได้ทั่วร่างกาย จะเป็นผิวหนังตรงบริเวณหน้า ผิวหนังบริเวณแขน ผิวหนังหลัง ผิวหนังอก ผิวหนังลำตัว ผิวหนังทั้งหมดของร่างกาย เมื่อมีคำบริกรรม ก็ต้องพิจารณาส่วนๆ นั้นไปด้วย โดยพิจารณาเป็นของปฏิกูล เป็นของไม่สวยไม่งาม
ส่วนต่อมาคือ มังสัง คือ เนื้อ เนื้อมี ๙๐๐ ชิ้น บอกว่ามีสีแดงเหมือนดอกทองกวาว เนื้อปลีแข้งนี้ จะมีรูปร่างเหมือนกับข้าวสุก ในห่อใบตาล เนื้อขามีรูปร่างเหมือนกับลูกหินบด เนื้อสะโพกมีรูปร่างเหมือนกับก้อนเส้า ก้อนเส้าที่เอาไว้ก่อไฟสมัยก่อน เนื้อหลังจะมีรูปร่างเหมือนกับแผ่นตาลงบ อันนี้คือคำอุปมาเก่าๆ หน่อย แล้วมันตั้งอยู่หุ้มกระดูก ๓๐๐ กว่าท่อน อันนี้คือเนื้อ หุ้มกระดูกอยู่ ๓๐๐ กว่าท่อน
ส่วนต่อมา ส่วนที่ ๗ คือ เอ็น นหารูคือ เอ็น เอ็นนั้นบอกว่ามี ๙๐๐ เส้น มีสีขาว หรือมีสีเหมือนน้ำผึ้งอ่อนๆ แล้วก็เส้นเอ็นใหญ่นี้จะรึงรัดร่างกายตั้งแต่ส่วนบน ตั้งแต่คอลงไปทางข้างหน้า ๕ เส้น ไปทางข้างหลัง ๕ เส้น ทางข้างขวา ๕ เส้น ทางซ้าย ๕ เส้น แม้ที่รึงรัดมือขวา ทางข้างมือก็ ๕ เส้น แล้วก็รึงรัดไปจนถึงหลังเท้า รวมแล้วเป็นเส้นเอ็นใหญ่ ๖๐ เส้น เอ็นที่รัดร่างกาย หยั่งลงไปในเป็นเอ็นรากเหง้า หรือว่าเรียกกันว่า น่าจะเป็นเอ็นร้อยหวาย แผ่คลุมตำแหน่งต่างๆ ในร่างกาย มีรูปร่างเหมือนกับเชือกดักหมู ที่เล็กกว่านั้นก็มีรูปร่างเหมือนกับเชือกเส้นเล็ก เส้นเอ็นอื่นๆ ที่มันเล็กกว่านั้น ก็มีรูปร่างเหมือนกับสายพิณ เอ็นเล็กๆ มันมีเอ็นใหญ่ แล้วก็เอ็นน้อยนะ เอ็นใหญ่ ๙๐๐ เอ็นน้อย ๙ พัน เอ็นน้อยๆ มันก็มารึงรัด ผูกเข้าไป เป็นเหมือนกับเชือกที่มันชัก เวลาที่หุ่นกระบอก จะมีเชือกชักอยู่ข้างหลัง ก็คือเหมือนเส้นเอ็นเรานี่แหละ ที่มันคอยรึงรัด ทำให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ก็เพราะว่า ธาตุลมมันผลักเอ็น เอ็นมันก็ผลักโน่น ผลักนี่ให้ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ แล้วมันก็ยึดอยู่ทั่วร่างกาย พิจารณาเป็นของไม่สวยไม่งาม
ต่อมา กระดูก อัฐิ-กระดูก กระดูกทั้งหลาย ยกเว้นกระดูกฟัน เป็นกระดูกทั่วร่างกาย มีประมาณ ๓๐๐ ท่อนดังนี้ กระดูกมือ ๖๔ ท่อน กระดูกเท้า ๖๔ ท่อน กระดูกอ่อนที่ติดเนื้ออยู่ ๖๔ ท่อน กระดูกเท้าสองท่อน กระดูกข้อเท้าข้างละ ๒ ท่อน กระดูกแข้ง ข้างละสองท่อน กระดูกเข่าข้างละ ๑ ท่อน กระดูกขาข้างละ ๑ ท่อน แล้วก็มีกระดูกสันสะเอวอีกสองท่อน กระดูกสันหลังอีก ๑๘ ท่อน กระดูกซี่โครง ๒๔ ท่อน กระดูกหน้าอก ๑๔ ท่อน กระดูกหัวใจอีก ๑ ไหปลาร้าอีก ๒ สะบักอีก ๒ กระดูกต้นแขนอีก ๒ กระดูกปลายแขนอีก ๒ ก้านคออีก ๗ ท่อน กระดูกคางอีก ๒ กระดูกจมูก ๑ กระดูกเบ้าตา ๒ กระดูกหู ๒ หน้าผาก ๑ กระดูกกระหม่อม ๑ กระดูกกะโหลกศีรษะ ๙ ท่อน ทั้งหมดเป็นสีขาว ทำไมท่านอธิบายละเอียดอย่างนี้ ทั้งที่สมัยก่อน ไม่ได้มีการวิวัฒนาการแบบปัจจุบัน แต่เป็นพันๆ ปีมาแล้ว ทำไมท่านถึงอธิบายได้ละเอียดยิบ ด้วยปัญญาญาณ แล้วกระดูกทั้งหลายนี้ พิจารณาเป็นความไม่สวยไม่งาม
แล้วต่อมาเยื่อในกระดูก คือมันอยู่ในชั้นในกระดูกอีก อยู่ในกระดูกทั้งหลาย แล้วเขาบอกว่ามีรูปร่างเหมือนกับยอดหวายที่เขาลนไฟ แล้วสอดเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ นี่คือเยื่อในกระดูก ส่วนต่อมา เป็นอวัยวะที่มัน ตับ ไต ไส้ พุง
ทีนี้ ต่อมา ๑๐ ไต วักกัง เป็นก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียว มีสีแดงเหมือนกับสีเม็ดทองหลางป่า มีอยู่ตรงลูกสะบ้าคู่ของเด็ก มีรูปร่างเหมือนกับลูกสะบ้าคู่ของเด็กเล็กๆ หรือว่ามีรูปร่างเหมือนกับผลมะม่วงแฝดติดกัน เราลองนึกถึงลูกมะม่วงที่มันติดกัน นั่นแหละคือรูปร่างที่เหมือนกับไต เป็นก้อนเนื้อที่ติดอยู่กับเส้นเอ็นใหญ่ เส้นเลือดใหญ่ ซึ่งโคนเป็นเส้นเดียว ออกจากหลุมคอ ก็คือช่วงคอนี้หน่อยหนึ่ง แล้วก็แตกเป็น ๒ เส้น รัดไว้โอบเนื้อหัวใจ คือส่วนไต
ที่นี้ต่อไป ส่วนหัวใจ หทยัง เนื้อหัวใจ ท่านอธิบายไว้ละเอียดมาก ท่านบอกว่า มีสีแดงเหมือนกับสีหลังกลีบดอกบัวแดง มีรูปร่างเหมือนกับดอกบัวตูมที่เขาปลิดกลีบชั้นใน ชั้นนอกออก แล้วก็ตั้งคว่ำลง ดอกบัวตูมคว่ำลง ภายนอกเกลี้ยงเกลา ภายในนี้เหมือนกับภายในแห่งเยื่อบวบขม บวบขมมันจะเป็นใยๆ ไปหมดเลย พวกคนมีปัญญาเฉลียวฉลาด หัวใจจะเป็นรูปดอกบัวแย้มหน่อยหนึ่ง ปลายมันจะแย้มออกหน่อยหนึ่ง ส่วนพวกของคนปัญญาน้อย รูปร่างจะเหมือนดอกบัวตูมปิดสนิท ภายในเนื้อหัวใจนั้นจะมีหลุมขนาดเล็ก จุเมล็ดดอกบุนนาคได้ เป็นที่ขังเลือด เลือดเลี้ยงหัวใจนี้ขังโลหิตประมาณครึ่งอุ้งมือเรียกว่าน้ำเลี้ยงหัวใจ แล้วก็เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุ และมโนวิญญาณ ก็คือว่าเป็นที่เกิดของใจ เป็นที่เกิดของเวลาที่คิดอะไรต่างๆ แล้วก็บอกว่าเลือดของคนราคะจริตจะเป็นสีแดง ของคนโทสะจริต มีความโกรธมากๆ จะเป็นสีดำ ของคนโมหะจริต จะเป็นสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ พวกคนวิตกจริต จะเป็นสีเหมือนกับเยื่อถั่วพู คนสัทธาจริตจะเป็นสีเหมือนดอกกรรณิการ์ ส่วนคนที่มีปัญญาจริตนี้ จะผ่องใสไม่หมองมัว อยู่ระหว่างกลางนมทั้งสองภายในร่างกาย นี่คือที่ตั้งของหัวใจ
ต่อมา ส่วนที่ ๑๒ ก็คือ ยกนัง ก็คือ ตับ เป็นแผ่นเนื้อสองแฉกมีสีแดง พื้นเหลืองไม่แดงจัด มีโคนเป็นแผ่นเดียว ปลายเป็น ๒ แฉก มีรูปร่างเหมือนกับใบทองหลาง ถ้าตับของพวกคนโง่จะมีตับเป็นแผ่นแผ่นเดียวเท่านั้น ของคนมีปัญญาจะมีตับเป็นแผ่นย่อมๆ แยกออกไปเป็น ๒ แฉก ๓ แฉก ตั้งอยู่ระหว่างนมทั้งสองค่อนไปทางขวา อธิบายละเอียดมาก
แล้วก็ ๑๓ พังผืด กิโลมะกัง พังผืด ได้แก่เนื้อเยื่อสำหรับหุ้มมี ๒ ประเภท โดยแยกเป็นพังผืดปกปิด แล้วก็พังผืดเปิดเผย พังผืดทั้งสองอย่างนั้น มีสีขาวเหมือนกับผ้าเปลือก ผ้าฝ้าย แล้วก็มันก็จะปกปิด จะหุ้มเนื้อหัวใจ หุ้มไต ถ้ามันอยู่ตรงที่มันไม่เปิดเผย ก็คืออยู่ในส่วนเบื้องล่างของร่างกาย ยึดเนื้อใต้หนังอยู่ทั่วร่างกายทั้งพังผืด ก็คือกันการบอบช้ำ ของอวัยวะส่วนต่างๆ ไม่ให้มันติดเป็นพืดเดียวกัน มีพังผืดเหมือนกับเป็นตัวคั่นๆ ไว้
ต่อไป ส่วนที่ ๑๔ คือ ม้าม ปิหกัง ได้แก่เนื้อที่เป็นลิ้นอยู่ในท้อง มีสีครามอ่อน มีรูปร่างเหมือนกับลิ้นวัว มีขั้วยาวประมาณ ๗ นิ้ว ติดอยู่เบื้องบนของพื้นท้องทางซ้ายของหัวใจ ฝั่งนี้ ถ้าม้ามหลุดออกมาภายนอกของร่างกายเพราะถูกทำร้ายด้วยอาวุธเป็นต้น ก็จะตาย ที่เราจะได้ยินคำว่าม้ามแตก ก็คือตาย
ต่อไป ส่วนที่ ๑๕ คือ ปอด ปับผาสัง เนื้อปอด จะมีเนื้อย่อยๆ ชิ้นเล็กๆ ๓๒ ชิ้นติดกันอยู่ มีสีแดงเหมือนกับผลมะเดื่อที่สุกยังไม่จัด มีรูปร่างเหมือนกับขนมหนาๆ ที่เขาตัดไม่เรียบ ถ้าหากอดอาหาร ไฟธาตุในร่างกายนี้จะเผาเนื้อปอดให้มันเหี่ยว เนื้อปอดเป็นของไม่มีรส เป็นเนื้อที่มันซีดเผือดเหมือนกับก้อนใบไม้ที่เคี่ยวแล้ว ใบไม้ที่ต้มนี้มันจะซีดๆ จนจืดปิดหัวใจแล้วก็ตับ ห้อยติดอยู่ระหว่างนมทั้งสองภายในร่างกาย นี่คือส่วนปอด
ต่อไป ส่วนที่ ๑๖ คือ ไส้ใหญ่ อันตัง ได้แก่ ลำไส้นั่นเอง ไส้ใหญ่ของผู้ชายยาวประมาณ ๓๒ ศอก ของผู้หญิงยาวประมาณ ๒๘ ศอก ขดไปมาเป็น ๒๑ ทบ มีสีขาวเหมือนกับก้อนกรวดหรือว่าปูนขาว ท่านบอกว่ามีรูปร่างเหมือนกับงูหัวขาด งูตัวยาวๆ ตัดหัว รูปร่างเป็นอย่างนั้น รูปร่างเหมือนกับงูหัวขาดที่ขดไว้ในรางเลือด ท่านอุปมาให้เห็นชัดๆ ภายในร่างกาย ตั้งอยู่ภายในร่างกาย มีปลายส่วนหนึ่งอยู่ที่ลำไส้น้อย แล้วก็ปลายอีกส่วนหนึ่งอยู่ตรงทวารหนัก ตรงถ่ายอุจจาระ เพราะว่าเบื้องบนมันติดอยู่ที่ไส้น้อย เบื้องล่างติดอยู่ที่ทวารหนัก
ต่อไป ส่วนที่ ๑๗ คือ อันตคุนัง ไส้น้อย คือไส้ที่มันเป็นสายพันอยู่ตามขนดไส้ใหญ่ มีสีขาวเหมือนกับรากบัว ไส้น้อยมันจะยึดลำไส้ใหญ่ มัดอยู่ด้วยกัน อยู่ในระหว่างแห่งขนดไส้ใหญ่ ๒๑ ทบ เหมือนเชือกเล็กๆ ที่มันเย็บร้อยไปตามระหว่างแห่งขดเชือกสำหรับเช็ดเท้า ท่านอธิบายเช่นนั้น นี่คือไส้น้อย
ต่อไป ๑๘ อาหารใหม่ อุทริยัง อุทรแปลว่าท้อง อุทริยัง ท่านแปลว่า อาหารที่อยู่ในท้อง อาหารใหม่ก็คือว่า สิ่งที่มันอยู่ในกระเพาะอาหารนั่นเอง ท่านเรียกว่าอาหารใหม่ หมายเอาสิ่งที่กินเข้าไป ดื่มไป เคี้ยวไป รูปร่าง สี มันก็เหมือนกับอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นแหละมันอยู่ในกระเพาะ ภายในเขาบอกว่า มันเป็นขรุขระเหมือนผ้าซับระดูที่เปื้อน แล้วห่อเศษเนื้อไว้ หรือเป็นเหมือนข้างในของผลขนุน กระเพาะนี้เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน คำว่า หมู่หนอนในที่นี้หมายถึง ตัวพยาธิ มีมากมายถึง ๓๒ ตระกูล เช่น พยาธิปากขอ คัณฑูปาทกะ-พยาธิตัวกลม ตาลหีรกะ-พยาธิเสี้ยนตาล สูจิมุขกะ-พยาธิตัวจี๊ด พยาธิปากเข็ม ปฏตันตุกะ-พยาธิตัวแบน สุตตกะ-พยาธิเส้นด้ายเป็นต้น มีอธิบายไว้ละเอียดยิบ ท่านบอกว่า มันอาศัยอยู่กันคราคร่ำเป็นกลุ่มๆ ไป เมื่อของกิน มีข้าว มีน้ำ เป็นต้นนี้ ไม่มีอยู่ในท้อง พยาธิมันก็จะพากันหิว มากัดกินลำไส้ กัดกินกระเพาะอาหาร จึงทำให้เจ็บปวดในท้อง ไม่สบาย ที่เป็นโรคกระเพาะ พออาหารตกลงไป พวกพยาธิก็จะพากันชูปาก ตาลีตาลานเข้าแย่งอาหารที่คนกลืนลงไป ๒ - ๓ คำแรกในท้องนี้ เขาบอกว่าเหมือนกับบ่อน้ำครำที่สกปรก เต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ น้ำลาย เนื้อ หนัง กระดูก เอ็น แหลกเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่หมักหมมอยู่ เมื่อธาตุไฟ ปาจกเตโช ธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารนี้ทำการย่อย มันก็จะขึ้นเป็นฟองปุดๆๆ มีสีเขียวคล้ำๆ ต่างๆ มีกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจ อาหารที่ถูกบดเคี้ยวด้วยฟันนี้ผสมกับน้ำลาย ปนกับน้ำดี ปนกับเสมหะไม่ผิดอย่างนั้นเลย มันคล้ายๆ กับ ไม่ผิดกับอาเจียนของสุนัขที่มันยังเป็นฟองฟอด มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยเต็มไปหมด อาหารทั้งหมดที่กินเข้าไปนั้น มันจะเป็น ๕ ส่วน ส่วนหนึ่งถูกหนอนพยาธิกิน ส่วนหนึ่งถูกธาตุไฟเผาไหม้ไป ส่วนหนึ่งไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อีกส่วนหนึ่งขับไปเป็นปัสสาวะ อีกส่วนหนึ่งขับไปเป็นอุจจาระ ส่วนที่ไปเลี้ยงร่างกาย พอเลี้ยงเสร็จแล้ว มันก็จะไหลออกมาเป็นขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้ต่างๆ ตามร่างกายตามทวารทั้ง ๙ ตา ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ หู ๒ ทวารหนัก ทวารเบา มันก็จะขับออกมา เป็นขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ปากเหล่านี้
ต่อไป ส่วนที่ ๑๙ อาหารเก่าใช้คำว่า กรีสัง ก็คืออุจจาระนั่นเอง มันก็มีสีเหมือนกับอาหารที่เรากลืนเข้าไป แต่พอมันผ่านไปๆ สีมันก็จะเปลี่ยนไป มันจะค้าง มีรูปร่างเหมือนกับกระเพาะ ถ้าไปค้างอยู่ที่ลำไส้ มันก็จะมีรูปร่างเหมือนลำไส้ พอเวลาถ่ายออกมาก็จะเป็นรูปทรงเหมือนลำไส้นั่นแหละ เหมือนกับกระบอกไม้ไผ่ สูงประมาณ ๘ นิ้ว อยู่ที่ปลายไส้ใหญ่ ในระหว่างใต้สะดือและโคนข้อสันหลัง ซึ่งเป็นที่ที่ของกิน มีน้ำ มีข้าว เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง มันตกลงไปในกระเพาะอาหารใหม่ๆ พอธาตุไฟในท้องมันเผาผลาญปุดเป็นฟองฟอด มันก็จะเป็นของละเอียด เหมือนถูกบดด้วยหิน แล้วมันก็ไหลลงไปตามลำไส้ ไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ เป็นของหมัก แล้วเขาบอกว่า เหมือนกับดินสีเหลืองที่เขาขย้ำใส่ในปล้องไม้ไผ่ อธิบายง่ายๆ หรือว่าเปรียบเหมือนกับน้ำฝนที่มันตกลงจากเบื้องสูง ไหลบ่าไปสู่ ที่ลุ่ม ที่ดอน อย่างนั้นเหมือนกัน
ต่อไป ส่วนที่ ๒๐ คือ มันสมอง มัตถลุงคัง กองเยื่อที่มันตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ มีสีขาวเหมือนเห็ด แต่ก็ไม่ได้ขาวเท่านมข้น สีพอๆ กับนมสด ก็มีรูปร่างเหมือนกับกะโหลกที่มันอาศัยอยู่นั่นแหละ เป็นแนวประสาน ๔ แนวภายในกะโหลกศีรษะ ตั้งรวมกันอยู่เหมือนกับก้อนแป้งในกะโหลกศีรษะนั้น
ต่อไป ส่วนที่ ๒๑ ก็จะเป็นส่วนน้ำ ยี่สิบส่วนที่ว่ามาเป็นส่วนของธาตุดินทั้งหมดต่อไป ตั้งแต่ส่วนที่ ๒๑ จนถึงส่วนที่ ๓๒ มันจะเป็นส่วนของธาตุน้ำ ปิตตัง ได้แก่ ดีหรือว่าน้ำดี มี ๒ อย่างคือ ดีที่มีฝัก กับดีไม่มีฝัก ดีที่มีฝัก เขาบอกว่ามีสีเหมือนกับน้ำมันผลมาซางข้นๆ ดีที่ไม่มีฝักมีสีเหมือนกับดอกพิกุลเหี่ยว มันจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน ดีที่ไม่มีฝักมันจะซึมซาบไปทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ๆ พ้นจากเนื้อคอ คอขึ้นไปนี้ ดีมันจะไปไม่ถึง พวกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ดีมันซึมซาบไปไม่ได้ แล้วก็หนังที่มันกระด้างแห้งผาก เหมือนกับหยาดน้ำมันที่มันซึมซาบไปทั่วน้ำ ถ้าน้ำดีกำเริบ ที่บอกว่าดีกำเริบ จะเป็นคนหรือสัตว์มันก็จะชัก ทำให้ตาเหลืองวิงเวียน เกิดอาการช็อค ตัวสะทกสะท้านเป็นผื่นคัน ถ้าดีที่มันมีอยู่ในฝัก ขังอยู่ในฝักดี ซึ่งเป็นเหมือนกับรังบวบขมขนาดใหญ่ แนบตับ อยู่ในระหว่างหัวใจกับปอด ถ้ามันกำเริบขึ้นมาจะเป็นบ้า ที่เรียกว่าดีแตก จิตใจจะแปรปรวน ละทิ้งหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป สิ่งที่ไม่น่าทำก็ทำได้ คำที่ไม่น่าพูดก็พูดได้ สิ่งที่ไม่น่าคิดก็คิดได้ นี่คือคนบ้า แสดงว่าดีในท้อง ดีในตัวนี้ มันกำเริบด้วย มันมาถึงจิตด้วย
ต่อไป ส่วนที่ ๒๒ คือ เสมหัง ก็คือเสมหะ ก็คือเสลดนั่นเอง เสลดมีอยู่ในร่างกาย ท่านบอกว่า เสลดทั่วร่างกายเรานี้ มีมากประมาณบาตรใบหนึ่ง มีขนาดเต็มบาตรใบหนึ่ง บ้านขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ น่าจะบาตรขนาดลาง มีสีเหมือนกับน้ำใบแตงหนู ก็คือเป็นสีใสๆ เมือกๆ หรือว่าเข้มข้นกว่านั้น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นท้อง ในเวลาที่กลืนอาหารลงไปนี้ พออาหารมันตกลงถูกเสมหะในลำคอ เสมหะมันก็จะขาดออกเป็นช่องให้อาหารผ่าน แล้วมันก็จะหุ้มกลับมาตามเดิม เหมือนกับสาหร่าย หรือว่าจอกแหนที่เวลาเราโยนก้อนหินโยนไม้ลงไป มันก็จะแหวกออก แล้วก็จะหุ้มกลับมาเหมือนเดิม ถ้าเสมหะน้อยไป ท้องก็จะส่งกลิ่นดังซากศพน่าเกลียดยิ่งนัก เหมือนฝีแตก หรือเหมือนไข่ไก่เน่า ท้องก็จะส่งกลิ่นเหม็น ทำให้เรอออกมาเหม็นๆ พอพูดออกมาก็จะพลอยเป็นปากเหม็นไปด้วย แล้วก็ผู้นั้นก็จะถูกต่อว่า ว่าทำไมปากเหม็น ทำไมเรอเหม็น แต่ถ้าเสลดมีเพิ่มมากขึ้นแล้ว มันก็จะปิดกั้นกลิ่นซากศพที่อยู่ในท้องได้ เขาบอกว่า เสลดที่อยู่ตรงช่วงนี้ มันอุปมาเหมือนกับกระดานปิดส้วม เพราะมันปิดไม่ให้เหม็น เพราะฉะนั้น นี่คือข้อดีของเสลด มันปิดไม่ให้กลิ่นอาหารที่มันอยู่ในท้องนี้มันฟุ้งขึ้นมา
ส่วนต่อมา ส่วนที่ ๒๓ คือ บุพโพ บุพโพคือน้ำหนอง ในร่างกายที่มีชีวิตอยู่นี้ น้ำหนองในร่างกายของคนที่มีชีวิต มีสีเหมือนกับใบไม้เหลือง แต่ถ้าในร่างกายของคนตาย มีสีเหมือนกับน้ำข้าวบูดข้นๆ สีมันต่างกัน มันมีที่อยู่ไม่แน่นอน มันไม่ได้ประจำอยู่ในที่ใด มันจะอยู่ทั่วแหละ แต่ในเวลาที่มันเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย เช่น ถูกหนามตำ ถูกอาวุธ ถูกไฟลวก ตรงไหนมีเลือดไปคั่ง น้ำเหลืองมันก็จะเกิดอยู่ในที่นั้นๆ
ต่อไป ส่วนที่ ๒๔ คือ โลหิตัง ก็คือเลือด มี ๒ อย่างคือ เลือดข้น กับเลือดจาง เลือดข้นนี้จะมีสีเหมือนกับน้ำครั่งข้นๆ ส่วนเลือดจางก็จะมีสีเหมือนกับน้ำครั่งใส ครั่งที่เป็นครั่งแดงนะ โลหิตเกิดขึ้นทั่วร่าง โลหิตข้นจะเกิดขึ้นในเบื้องบนร่างกาย โลหิตจางจะเกิดในเบื้องบน และก็เบื้องล่างของร่างกาย โลหิตจางนี้จะไหลซึมชุ่มทั่วร่างกายไปตามกระแสเส้นโลหิตทั้งในอวัยวะทั้งปวงของร่างกาย ยกเว้นผิวหนังที่มันกระด้างแล้วก็แห้ง เช่น ผม ขน ฟัน จะไม่มีเลือด เลือดข้นจะท่วมอยู่ภายใต้ตับ มีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ค่อยๆ ซึมไปบนไต หัวใจ ตับ ปอด แล้วก็ทำให้ไต หัวใจ ตับ ปอดนี้ มันชุ่มอยู่เสมอ ถ้าไม่ชุ่ม อาบไปทั่วหัวใจ ตับ ปอด และม้ามนี้ คนทั้งหลายก็จะเกิดกระหายน้ำ ถ้าเลือดมันข้น เลือดมันน้อย เพราะฉะนั้น จึงต้องดื่มน้ำบ่อยๆ ก็เพื่อให้เลือดมันเวียนสม่ำเสมอ
ส่วนต่อมา ส่วนที่ ๒๕ คือ เสโท เหงื่อ คือธาตุน้ำที่มันไหลออกตามช่องขุมขน มีสีเหมือนกับน้ำมันใสๆ เหงื่อมันไม่มีที่เกิดประจำ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมันอบอ้าวเพราะร้อนไฟ ร้อนแดด หรือว่าความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล หรือว่าเป็นไข้นี้ มันก็จะไหลออกมาตามช่องขุมขน แล้วก็ผมด้วย ทั่วร่างกาย ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้กำหนดเหงื่อ พึงกำหนดเหงื่อตามที่มันเต็มขุมขน แล้วก็ขนนั่นเอง
ต่อไปส่ วนที่ ๒๖ คือ เมโท มันข้น เขาบอกว่า มีสีเหมือนกับขมิ้นที่ถูกที่ผ่าออกมา สีเหลืองๆ อ่อนๆ สำหรับคนอ้วน จะมีรูปร่างเหมือนกับผ้าเก่าเนื้อหยาบ มีสีเหมือนกับขมิ้นที่วางไว้ระหว่างหนังกับเนื้อ สําหรับคนผอม จะมีรูปร่างเหมือนกับผ้าเก่าเนื้อหยาบสีเหมือนกับขมิ้นที่วางซ้อนกันไว้ ๒ - ๓ ชั้น ติดเนื้อแข้ง เนื้อขา เนื้อหลังที่ติดกระดูกสันหลัง เนื้อช่องท้อง เกิดทั่วร่างกาย ของคนอ้วนจะอยู่ระหว่างหนังและเนื้อ ส่วนคนผอมจะติดเนื้อต่างๆ เอาง่ายๆ คำว่ามันข้นก็คือไขมันนั่นเอง เมโท นี้ก็คือชั้นไขมัน แล้วก็มันเอามาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นของน่าเกลียดแล้วก็เหม็นมาก น้ำมันหมูยังมาทำอาหารได้ น้ำมันคนเอาไปทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากคนที่ทำคุณไสย จะเอาน้ำมันคน เอาไปทำในสิ่งที่ผิดๆ หน่อย เช่น น้ำมันพราย เป็นต้น เพราะมันเอามาทำประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นของเหม็นน่าเกลียดปฏิกูล
ต่อไป ส่วนที่ ๒๗ คือ น้ำตา อัสสุ น้ำตา ก็คือธาตุน้ำที่มันหลั่งออกมาจากดวงตาทั้งหลาย เป็นน้ำใสๆ อันนี้เราเห็นอยู่แล้ว ทุกคนร้องไห้ทุกคนอยู่แล้ว เห็นชัดเจน อยู่ในกระบอกตา เวลาใดที่เกิดความดีใจ หัวเราะใหญ่ น้ำตามันก็ไหลนะ หรือว่าเกิดเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ มันก็ไหล หรือว่ากินอาหารที่แสลงเข้าไป เช่น ของเผ็ดๆ นี้ มันก็ไหล เมื่อใดหรือว่าถูกสิ่งที่มันทำให้น้ำตาไหล เช่น ควัน ฝุ่นละออง เป็นต้น มันกระทบเข้ามา น้ำตาก็ไหลเต็มเบ้าตา ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะกำหนดน้ำตาก็พึงกำหนดเอาตามที่มันอยู่เต็มเบ้าตา
ต่อไป ส่วนที่ ๒๘ คือ วสา มันเหลว มีสีเหมือนกับน้ำมันมะพร้าว หรือว่ามีสีเหมือนกับน้ำมันที่ราดลงไปในน้ำข้าวนี้ โดยมากมันจะอยู่ในฝ่ามือ หลังมือ ฝ่าเท้า หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก แล้วก็บ่า แต่ว่าไม่ได้ละลายอยู่ในที่เหล่านี้ทุกเมื่อ เมื่อไหร่ตำแหน่งเหล่านั้นเกิดอบอ้าว เพราะร้อนจากไฟ ร้อนจากแดด ผิดอากาศ เป็นไข้ ธาตุพิการนี้ มันเหลวมันจะไหลออกไปในที่เหล่านั้น เหมือนหยาดน้ำมันที่มันซ่านไปบนน้ำที่ใส่ไปในเวลาอาบ มันกระจายไปหมดอย่างนั้น
ต่อไป ส่วนที่ ๒๙ เขโฬ หรือว่า เขฬะ คือน้ำลาย เป็นธาตุน้ำที่ผสมกันเป็นฟองขึ้นในปาก มีสีขาวเป็นฟองน้ำ อันนี้เราเห็นอยู่แล้ว มันไหลออกมาจากกระพุ้งแก้มทั้งสอง แล้วก็ขังอยู่ที่ลิ้น น้ำลายมันจะขังอยู่ที่กระพุ้งแก้มทั้งสอง ก็ต่อเมื่อคนเห็นหรือว่านึกถึงอาหาร หรือว่าเอาอาหารที่ร้อนจัด เผ็ด เค็ม เปรี้ยว ใส่เข้าไปในปาก หรือว่าเมื่อใดหัวใจของคนนี้มันละเหี่ยหรือเกิดความสะอิดสะเอียน น้ำลายมันจะเกิดขึ้นมา มันจะไหลออกมาจากกระพุ้งแก้ม ขังอยู่ที่ลิ้น น้ำลายที่อยู่ตรงโคนลิ้นมันจะเป็นน้ำลายข้น ส่วนที่มันอยู่ปลายลิ้นจะเป็นน้ำลายเหลว เมื่อใดเอาของกินใส่เข้าไปในปาก น้ำลายมันก็จะไหลเอิบอาบเข้าไปจนทั่วของนั้ๆนไม่รู้จักหมด เหมือนบ่อทรายที่มีน้ำไหลซึมตลอดเวลา เวลาที่เรารับประทานอาหาร เพราะฉะนั้น ต่อให้เป็นรับประทานของแห้ง รับประทานของที่มันแค่นๆ ของที่เป็นผงๆ นี้ พอเข้าไปในปาก น้ำลายมันก็จะออกมาๆ เพื่อมาหล่อหลอมให้มันกลืนเข้าไปง่ายๆ นี่คือกลไกของร่างกาย
ต่อไป ส่วนที่ ๓๐ สิงฆานิกา น้ำมูก คือธาตุน้ำที่มันไม่สะอาด ไหลออกมาจากมันสมอง น้ำมูกมันไหลออกมาจากมันสมอง มีสีเหมือนกับที่เราเห็นนั่นแหละ ใสๆ บ้าง ข้นๆ บ้าง อยู่เต็มช่องจมูก ไม่ได้อยู่ประจำนะ เมื่อใดที่คนร้องไห้หรือว่ากินของแสลง หรือว่าอากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นมันในสมอง มันก็จะกลายเป็นเสมหะ แล้วมันก็จะไหลเคลื่อนจากภายในศีรษะ ส่งมาตามช่องเพดานจมูกจนเต็มช่องจมูก หรือมันเอ่อล้น มันไหลล้นออกมาจากช่องจมูกบ้าง เปรียบเหมือนกับคนห่อนมเปรี้ยวไว้ในใบบัว แล้วใช้หนามแทง ใช้หนามแทงข้างล่างนะ หยาดนมเปรี้ยวมันก็จะหยดออกมาจากช่องนั้น น้ำมูกก็เหมือนกันแหละที่มันไหลออกมาจากมันสมอง มันก็มาจนถึงช่องจมูก เพราะมันไหลออกมา
ต่อไป ๓๑ ไขข้อ ลสิกาได้แก่ ซากที่มีกลิ่น เป็นมันภายในร่างกาย ภายในข้อต่อต่างๆ ลสิกา ก็คือน้ำมันข้อต่อ มีสีเหมือนกับยางดอกกรรณิการ์ ตั้งอยู่ภายในข้อต่อ ๑๘๐ แห่งทั่วร่างกาย คอยทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อกระดูกทั้งหลาย สำหรับคนที่มีไขข้อน้อย เมื่อผู้นั้นลุกขึ้น นั่งลง ก้าวไปข้างหน้า ถอยหลัง กลับ คู้แขน เหยียดแขน กระดูกมันก็จะลั่นเป็นเผาะๆ เหมือนกับเราหักนิ้ว เสียงจะเป็นอย่างนั้น ถ้ามีน้ำมันไขข้อน้อย เขาบอกว่า แม้ผู้นั้นเดินทางไกลเพียง ๑-๒ โยชน์ ประมาณ ๓๐ กม. ธาตุลมก็จะกำเริบ เนื้อตัวก็ย่อมเมื่อยขบ แต่สำหรับผู้ที่มีไขข้อมาก น้ำมันไขข้อมาก กระดูกทั้งหลายของผู้นั้นก็จะไม่ลั่น เพราะความเคลื่อนไหวมีลุก มีนั่ง เป็นต้น แต่เมื่อเขาเดินทางไกล ธาตุลมก็ไม่กำเริบ เนื้อตัวก็ไม่เมื่อยขบ ถ้าหากมีน้ำมันไขข้อมาก
ต่อไป อันสุดท้าย ส่วนที่ ๓๒ มุตตัง มุตตัง ก็คือ มูตร น้ำปัสสาวะนั่นเอง มีสีที่เรารู้อยู่แล้ว เขาบอกว่าอยู่ภายในหัวไส้ หัวไส้หรือว่ากระเพาะปัสสาวะ เวลาเข้าไปสู่กระเพาะ มันไม่มีทางไหลเข้าไปนะ แต่มันซึมเข้าไป มันไม่ได้มีช่องไหลเข้าไปช่องใดช่องหนึ่งเหมือนอุจจาระ แต่น้ำปัสสาวะมันจะซึมซาบเข้าไป เหมือนกับบ่อน้ำซับ มันจะเข้าไปซับอยู่จนเต็ม แล้วทีนี้พอมันเต็ม มันก็จะเกิดความขวนขวายอยากถ่ายปัสสาวะ
อาการ ๓๒ นี้ เจริญเติบโตขึ้นมาด้วยการรับประทานอาหาร ด้วยการพักผ่อน มีอายุขัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้กี่ปี ถ้ามีบุพกรรมดี ไม่ได้ทำปาณาติบาต อายุก็ไม่เกินร้อยปี หรือมากกว่านั้นนิดๆ หน่อยๆ เจริญตามวัย ตามอาหาร ร่างกายนี้ทุกส่วนมันก็มาจากสิ่งที่สกปรก เราลองคิดดูว่าเกิดมาจากสิ่งสกปรกตรงไหน เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่าอสุจิ สุจิแปลว่าสะอาด อสุจิแปลว่าไม่สะอาด แปลง่ายๆ เมื่ออสุจิไม่สะอาด แสดงว่าเราก็เกิดมาจากของไม่สะอาดนั่นเอง ดังนั้น ร่างกายเรานี้จึงมีสิ่งสกปรกสิ่งปฏิกูลมากมาย ต้องทำความสะอาด ถ้าไม่ทำความสะอาดไม่ได้ มนุษย์เราได้รับการพัฒนา มีบ้าน มีที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นชุดผู้ชาย ชุดผู้หญิง แยกเป็นเพศชาย เพศหญิงชัดเจน ในการแต่งกายแต่งตัว ในการใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันก็เป็นเหมือนกันหมด คือ มันสกปรก มันปฏิกูล มันเน่า มันเหม็น มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ถ้ายังไงมันก็ต้องเป็นไปยังไปอย่างนี้
ตามกฎของไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าจึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เอาร่างกายนี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เราอย่ามาหลงในสวรรค์ อย่าไปหลงในความสุข ความสะดวกสบาย สิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงที่เราบรรเทาทุกข์ ที่จะพัฒนาตัวเองออกจากวัฏสงสาร เราทุกคนนี้มีความหลงมาแล้วหลายร้อยหลายพันหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านชาติ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาบอกมาสอน ให้เราพากันหยุดเวียนว่ายตายเกิด โดยมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เป็นอริยมรรคทางอันประเสริฐ พระพุทธเจ้าทรงสรุปการเดินทางของเราไว้ ก็คือ ทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ตรงนี้ เราจะได้ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เราต้องเข้ามาหาหมวดธรรมที่เป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ เรามาพิจารณากาย อาการ ๓๒ ก็อยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาให้เห็นกายในกาย พิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน เราอย่าได้ไปหลงในกายของตัวเอง เราอย่าไปหลงในกายของคนอื่น เราต้องมีพระพุทธเจ้าในใจของเรา มีพระธรรมในใจของเรา มีพระอริยสงฆ์ในใจของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นทางเดินผ่าน ทางสร้างบารมี เราจะได้ใช้อิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน เอามาประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงเรา เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านไปตลอดเวลา เราต้องพัฒนาตัวเอง เพราะไม่มีใครปฏิบัติให้เรา ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ พัฒนาให้เราได้ เราทุกคนต้องมีจุดยืน เราต้องรู้ เพราะการปฏิบัติของเรานั้น ต้องมีอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง อานาปานสติเราเจริญทุกๆ เมื่อ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน หายใจเข้าสบาย ออกสบาย เพื่อที่จะเรียกสติกลับคืนมา เพราะสติสัมปชัญญะนี้ ตัวปัญญาต้องไปพร้อมกัน ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มันไม่ขัดกับธุรกิจหน้าที่การงานของเราหรอก แต่ก่อนเราทำงานเพื่อความหลง แต่นี่เราทำงานเพื่อความไม่หลง แต่ก่อนมันมีโทษ ต่อไปนี้ มันจะมีคุณด้วยการประพฤติ การปฏิบัติ เราเป็นนักบวช เป็นประชาชน เราก็ทำอย่างเดียวกัน ทุกคนต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง อย่าไปใจอ่อน เพราะคนเรานี้ เจอรูปก็ทำให้เราใจอ่อน ฟังเสียงก็ทำให้เราใจอ่อน เราต้องผ่านมันไป เราประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ชำนิชำนาญ เพราะว่าผิดมันต้องเป็นครู ถูกมันก็ต้องเป็นครู ต้องทำให้ชำนิชำนาญเป็นวสี จะเป็นสัญญาขันธ์ ถ้าเราคิด คนเราถ้าคิด เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทำติดต่อกันหลายๆ อาทิตย์ มันก็จะติดอยู่ในสัญญาขันธ์ในสิ่งที่ดี ถ้าเราทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก มันจะเป็นความหลง มันก็จะติดอยู่ในสัญญาขันธ์คือความจำในทางที่หลง คนทางโลกทางวัฏสงสาร เขาหาแต่เงิน หาแต่สตางค์ หาแต่ลาภ แต่ยศ อย่างนี้มันไม่ได้ มันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ เป็นอารมณ์ของสวรรค์ พวกกินอร่อย ฟังอร่อย ในความสวยความงาม พวกนี้มีแต่ความมัวเมาหลงของตัวเอง มัวแต่เมาความคิดของตัวเอง ที่เรียกว่าเล้าโลม เพราะว่ามันเป็นการหลง หลงอารมณ์ของตัวเอง หลงโลก หลงวัฏสงสาร คือผู้ที่ตั้งอยู่ในความเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท ยังยิ้มกระย่องกระแย่ง ผ่องใส อวดคุย โอหัง เพราะเราต้องมีปัญญามากกว่านี้ เราอย่าไปหลง ส่วนใหญ่ ในครั้งพุทธกาล หรือมาจนถึงปัจจุบันนี้ พิจารณาร่างกาย จะพระหรือประชาชน พิจารณาร่างกายก็เป็นพระอริยเจ้ากันตั้งเยอะ เพราะว่าเป็นสิ่งที่พิจารณาได้ง่าย ถ้าเวทนาหรือว่าเรื่องจิตเรื่องใจมันก็พิจารณายากเข้าไปอีก แต่ว่ากายนี้ มันมองเห็นง่าย เพราะเป็นของหยาบ มองเห็นง่าย พิจารณาง่าย ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มันก็จะไปของมันเอง ทุกคนจะไปอยู่แห่งหนตำบลใด ให้พากันประพฤติปฏิบัติ ทุกคนล้วนดำเนินไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ดำเนินไปสู่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ดังนั้น จึงต้องเห็นของจริง อย่ามาเห็นของหลอกลวง อย่ามาเห็น อย่ามาหลงใหลยินดีแต่ในเนื้อหนังมังสา ที่เห็นเป็นของสวยของงาม ครั้งหนึ่ง มีพระฝรั่งบวชใหม่ๆ คิดถึงแฟนที่บ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อโดยสารรถไปกับหลวงพ่อชา หลวงพ่อชาแนะนำพระฝรั่งรูปนั้นว่า ให้เขียนจดหมายไปหาเธอ ขอให้ส่งของส่วนตัวบางอย่างมาให้ เพื่อที่จะได้หยิบของชิ้นนี้ขึ้นมาชื่นชมทุกครั้งที่คิดถึงเธอ พระฝรั่งรู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไม่คิดว่าเป็นพระแล้วจะทำได้ นึกในใจว่า ท่านหลวงพ่อชานี้คงจะเข้าใจในเรื่องความรักๆ ใคร่ๆ ของคนหนุ่มสาว แต่แล้วสิ่งที่หลวงพ่อพูดขึ้นทำให้ท่านแทบหงายหลังตึง หลวงพ่อบอกว่า ท่านนี่ เขียนจดหมายขอให้เธอส่งขี้ใส่ขวดมาให้ แล้วเมื่อไหร่ที่คิดถึงหน้าเธอนี้ จะได้รีบหยิบขวดขี้ของเธอออกมาสูดดม ตรงนี้ชัดเจนเลยนะ เวลาใครก็แล้วแต่ ที่หลงรัก หลงใหลใครสักคนจนหัวปักหัวปำ โงหัวไม่ขึ้นนี้ ให้เอาขี้ใส่ตลับแล้วเอามาดมดูเวลาคิดถึง กระเจิงหมด เพราะว่า มันไม่สวยไม่งาม ชัดเจนเลย มันสวยงามแค่ภายนอกนะ ที่มันเป็นเนื้อหนังมังสาปิดเอาไว้ แต่ภายในนี้ มันมีแต่ของสกปรก เหมือนถุงหนังที่มันห่อของเน่าเหม็นเอาไว้ พอถุงหนังมันแตกออกมานี้ คือเวลาตาย ของเน่าเหม็น ก็กระจายออกมาให้เห็นทั้งหมด ดังนั้น ไม่มีใครหรอกที่ไปยินดีในอุจจาระ ยินดีในปัสสาวะ ยินดีในเสลด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำเลือด อะไรนี้ แต่ที่ยินดีเพราะอะไร? เพราะความหลง เพราะความโง่ เพราะอวิชานี้เอง เหมือนกับจัดงานบำเพ็ญกุศลผู้ตายทุกๆ งาน ต้องประดับดอกไม้ประดับของสวยงามเต็มไปหมด เพื่ออะไรล่ะ? ส่วนใหญ่ก็เพื่อจะอำพรางไว้ ซึ่งความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ทุกๆ คนก็ต้องตกแต่งร่างกายอย่างนั้นแหละเพื่อปกปิดสัจธรรมความจริงเอาไว้ ทำไปทำมา จนทุกคนก็พากันหลง เราต้องคิดดูดีๆ บางทีความหลงนี่แหละมันคือเชื้อโรคอันหนึ่ง ที่มันเป็นไวรัส ให้เราทุกคนนี้ มันตายจากคุณธรรม ตายจากคุณงามความดี อาหารอร่อยๆ มันก็เป็นไวรัสแห่งความหลง เสียงไพเราะๆ มันก็เป็นไวรัสที่ทำลาย เป็นความหลงที่มันทำลายเรา เราต้องรู้จัก เพราะมันมาในแง่ดี มาในรูปที่สวยที่งาม ในแง่เสียงไพเราะๆ ในแง่กลิ่นหอมๆ ในแง่โน้น แง่นี้ มันดีไปหมดนะ มันเป็นอารมณ์ของมนุษย์ อารมณ์ของสวรรค์ อย่างช่วง covid นี้ จัดงานอภิธรรม สวดอภิธรรมจัดงานศพ ก็ไม่น่ามีดอกไม้ประดับประดา หรือว่าพวกพวงหรีดมากมายหรอก เพราะว่าพวกไวรัส covid มันจะมาเกาะ มันจะมาเกาะสิ่งเหล่านี้แหละ เกาะดอกไม้ เกาะพวงหรีด ต้องทำให้มันโล่งๆ อากาศถ่ายเท ย่อมเป็นการดี พวกที่มาถือศีล ๘ หรือว่าผู้ที่เป็นพระ จึงไม่ให้ส่องกระจก ให้สรงน้ำร่างกายชำระร่างกายให้สะอาด แปรงฟันให้สะอาด เท่านี้ก็เพียงพอ เพราะว่าจะได้ไม่หลง โยมถือศีล ๘ ก็ไม่ได้ให้ตกแต่งร่างกาย หลวงตามหาบัวอยู่ที่วัด ท่านก็ไม่ให้โยมปลูกดอกไม้ประดับประดา กลัวพระคุณเจ้าจะหลง แล้วจัดงานต่างๆ ไปจัดประดับประดาเยอะนี้ ท่านก็ว่า นี่เราจะไปพระนิพพานแล้ว อย่าไปสนใจของพวกนี้ เพราะเนื้อแท้ของธรรมะ มันไม่มีอะไรหรอก มันมีแต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก มีแต่ของปฏิกูลที่มันเป็นภาระ ต้องดูแลรักษา ลำบากเรื่องภายนอก
เราทุกคนต้องพากันเข้าใจ พากันพิจารณา “ภารา หะเว ปัญจักขันธา” ขันธ์ ๕ เป็นของหนักโว้ย หะเว แปลว่าโว้ย แปลว่าเว้ย ภาษาบาลี “ภารา หะเว ปัญจักขันธา” ขันธ์ ๕ เป็นของหนักโว้ย พระพุทธเจ้าให้พิจารณาอย่างนี้ ส่วนใหญ่มันไม่อยากพิจารณานะ เพราะอะไร? เพราะมันไม่อยากบรรลุธรรม มันอยากบรรลุการเวียนว่ายตายเกิด สิ่งอันไหนมันดีๆ มันก็ไม่อยากคิด มันอยากคิดแต่สิ่งที่ไม่ดี อันไหนดีมันไม่คิดหรอก อย่างเช่นว่า ถ้าอันไหนไม่บาป มันก็ไม่กินหรอก ถ้าอันไหนมันบาป มันก็พูด อันไหนมันบาป มันก็ทำ เพราะว่าอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ อยู่ด้วยบาป อยู่ด้วยเวร อยู่ด้วยกรรม อยู่ด้วยภัย เราทุกคนต้องพากันมาเข้าใจนะ ว่าเราชอบกินบาป ชอบพูดบาป ชอบทำบาป พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เราทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล สิ่งที่มันขี้เกียจขี้คร้านนี้ ไม่เสียสละมันก็เป็นบาป อาหารที่ได้มาจากการเบียดเบียน จะปรุงให้มันเอร็ดอร่อย มาจากการเบียดเบียนนั้น มันก็กินบาปเข้าไปแล้ว ฟังอย่างนี้นะ มันอยากฟังร้องรำทำเพลง เสียงไพเราะ มันฟังบาปไปแล้ว กินบาปไปแล้ว ฟังบาปไปแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่า มันมาจากใจของเราที่มีความหลง เราต้องรู้จัก เราต้องภาวนาวิปัสสนาให้เห็นสติปัฏฐาน ฐานแห่งสติที่เกิดในปัจจุบัน เรียกว่า อิริยาบถทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน นี้ เราเอามาทำงาน เอามาใช้งาน คนเราน่ะ มันขึ้นอยู่ที่ใจของเรา มันคิดไม่เป็น มันภาวนาไม่เป็น กรรมฐานเรื่องพิจารณากายนี้ มันถึงสำคัญ คนเราไปเอาเรื่องใจ เรื่องอะไรมันก็ไม่ได้หรอก ถ้าไม่แก้เรื่องกาย คนเราอย่างน้ำมูกนี้ดีไหม? ถ้าใครต้องการน้ำมูก น้ำเสลดอย่างนี้ ไม่มีใครต้องการ ใครต้องการ คนเราทุกคนเมื่อหมดลมหายใจ มันจะระเบิดสิ่งที่เน่า สิ่งที่เหม็น สิ่งปฏิกูลออกมาทันที หลังจากนั้นนาที เป็นชั่วโมง มันก็ระเบิดออกมา พระเรา ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องภาวนาอย่างนี้ ประชาชนก็ต้องภาวนาเหมือนกัน เพราะเราจะไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ไปกินยาคุมกำเนิด ไปใส่ถุงยางอนามัย ไปทำหมันนี้ อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง มันต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราเกิดมาเพื่อพระนิพพาน มีท่อนหนึ่งของธรรมะคีตา บทที่ว่าด้วย ตราบลมหายใจสุดท้าย ท่านแต่งคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาเป็นบทกลอน บทธรรมะคีตา ไพเราะมาก ท่านบอกว่า
“กายที่เธอมองเห็นว่างาม สุดท้ายความเสื่อมทรามจะมาพรากไป
ร่วงโรยลงในสายธาร ยามกาลเวลาหมุนไป ชีวิตต้องแตกสลายไปไม่มีเที่ยงแท้
ผมเส้นงามถึงคราวล่วงไป แขนขาที่เคยว่องไวกลับไร้เรี่ยวแรง
โรคภัยเฝ้าคอยคุกคามติดตามไปในทุกแห่ง เกิดแก่เจ็บตายสำแดงเป็นธรรมดา
หากเธอมองทุกการเกิดมาที่มีอย่างลึกซึ้ง เราทั้งหลายต่างถูกรัดรึงด้วยกามและตัณหา
ดั่งแมงมุมที่วางสายใยกลับติดใยที่ตนสร้างมา เกิดวนอยู่ในโลกาไม่หลุดพ้นไป
ห้วงแห่งภพจบลงที่ใจเห็นภัยที่เกิดมา ในสังขารที่เคยแบกมากำลังเสื่อมสลาย
เปิดดวงตาเห็นความสัตย์จริง จากความจริงของเมืองแห่งกาย
ตราบที่ลมหายใจสุดท้ายจะคืนสู่ดิน
เปิดดวงตาเห็นความสัตย์จริง จากความจริงของเมืองแห่งกาย
ที่เคลื่อนไหวในลมหายใจที่มีแต่ปัญญา"
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ