แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๓ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทุก ๆ อิริยาบถ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมพุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ในช่วงเช้า พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็ให้แสดงธรรมในเรื่องของประพฤติการปฏิบัติธรรมตามปกติ พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสอนเรา ให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ปฏิบัติเอาธรรมะเป็นหลัก ปฏิบัติเอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยอาศัยจากอิริยาบถทั้ง ๔ ยืน นั่ง เดิน นอน เราต้องเอามาปฏิบัติ เอามาทำงานเพื่อมุ่งไปสู่มรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าไม่ให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ในความเพลิดเพลิน เพราะความสุข ความดับทุกข์ของมนุษย์นี้ มันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง มีความสุขในการปฏิบัติ มีความสุขในการเสียสละทางจิต ทางใจ เพราะคนเราถ้าไม่เสียสละ ศีลก็ไม่มีหรอก สมาธิก็ไม่มีหรอก ปัญญาก็ไม่มีหรอก เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน ซึ่งความยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องมาหลงในความร่ำความรวย เราต้องไม่มาหลงในอารมณ์ของสวรรค์ เพราะศาสนาพุทธเรามุ่งพระนิพพาน เพราะสวรรค์ พรหมโลกก็เป็นที่เราเหยียบผ่านเฉยๆ เราเป็นคนโชคดี เราจะได้ปฏิบัติทุกๆ อิริยาบถในชีวิตประจำวัน อาณาปานสติของเราก็ต้องมีกับเราตลอดเวลา หายใจเข้าก็ให้มันสบายไว้ หายใจออกให้มันสบายไว้ หายใจเข้าให้มีความสุขไว้ อดีตเราก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตเราก็ปฏิบัติไม่ได้ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องเอาทั้งศีล เอาทั้งสมาธิ เอาทั้งปัญญา ที่เรียกว่า “เอกายโน มคฺโค” ที่เป็นทางสายเอกสายเดียว ทางสายนี้เพื่ออะไร? “เพื่อหมดจดจากกิเลสเผารนจิต รักษาพิษสัตว์ทั้งหลายใจเศร้าหมอง ก้าวล่วงพ้นโศกาน้ำตานอง คร่ำครวญร้องสะอื้นไห้ใจระบม เพื่อกำจัดความทุกข์โทมนัส ทุกข์สาหัสเพียงใดหายขื่นขม บรรลุสู่ธรรมะอภิรมย์ ได้เชยชมอมตมหานิพพาน” คนเราต้องปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราจะได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้มันเป็นมหาสติปัฏฐาน เราจะได้ปฏิบัติ เพราะมันจะได้เป็นเหตุเป็นปัจจัย เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นมันถึงมี เราต้องมาสร้างเหตุด้วยการประพฤติปฏิบัติ ผลถึงจะมี เราต้องมาหยุดวัฏสงสาร เราต้องมาหยุดโรงงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ให้มันดึงเราไป เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นคือผู้ที่ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีอะไรที่หลงเหลืออยู่เลย เราจึงต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เราต้องเดินตามท่าน เราทำไมถึงโชคดีแท้ เราจะปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาล หรือสมัยเมื่อพันปีก่อน หรือสมัยเมื่อวาน หรือสมัยวันนี้ มันก็อันเดียวกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก ยิ่งสมัยนี้มีเทคโนโลยีเยอะ ยิ่งสะดวกทางภายนอก เมื่อภายนอกเราสะดวกสบาย ทางจิตใจเราก็ต้องยกให้มันสูง เราจึงจะบริโภคทุกอย่างด้วยปัญญา สัมมาสมาธิทุกคนทุกท่านต้องเข้มแข็ง ถ้าเราไม่เข้มแข็ง มันก็เป็นพระไม่ได้หรอก ปัญญานี้เราต้องเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจำเป็นจะต้องตัดสิ่งมันยึดมันหลง คือ ความยึดมั่นถือมั่น เพราะเวทนาความสุขนี้ ถ้าหลงในความสุข มันก็ต้องมีทุกข์ เพราะว่ามันเป็นของคู่กัน มันเป็นโลกธรรม เมื่อได้ มันก็ต้องมีเสีย เมื่อมียศ มันก็ต้องเสื่อมยศ เมื่อมีสุข มันก็ต้องมีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญ มันก็ต้องมีนินทา มันเป็นของคู่กัน
เราต้องมีอะไรเราถึงจะอยู่ได้แบบไม่ทุกข์ สัมมาสมาธิ ต้องมารู้จักความปรุงแต่ง ความปรุงแต่ง คือความคิด คิดตามอารมณ์ไปเรื่อย พอเวลาเห็น เห็นแล้วมันก็ตามไปว่าดี ไม่ดี ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส ใจมันไหล มันตามไป มันเป็นความปรุงแต่ง ถ้าไม่ปรุงแต่งเรื่องมันก็จบกัน เราต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้มีความสุขเรา เราจะได้มีข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราจะได้รู้ว่าปฏิบัติอย่างไรถึงจะปฏิบัติถูก ปฏิบัติอย่างนี้แหละปฏิบัติถูก ถึงคราวแล้ว ถึงเวลาแล้ว วันหนึ่งๆ ของเรานี้คือการปฏิบัติ ถ้าเราไปอาลัยอาวรณ์ ให้คิดว่า ชาตินี้มันต้องเป็นชาติสุดท้ายของเรา เราอย่าไปต่อ ไปเติม ไปเสริมอะไร เพราะเราดูแล้ว ทุกคนก็มักจะบอกว่าเดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน เหมือนตอนนี้ มีคนชวนไปปฏิบัติ ก็บอกว่าเดี๋ยวก่อน เอาไว้ก่อน รอให้แก่ก่อน รอให้เกษียณก่อน จะทำระบบนี้ไม่ได้ ระบบอินเดียน่ะ พอไปรอ ไปติดต่องานเขาก็จะบอกว่า wait wait wait รอก่อน รอก่อน พอ wait ไป wait มา มันบอก tomorrow พรุ่งนี้เลย ระบบนี้เราไม่เอานะ เพราะความเพียรมันต้องทำในวันนี้ “โก ชัญญา มะระณัง สุเว” ใครเล่าจะรู้ว่าความตายมีพรุ่งนี้ มันจึงต้องทำในวันนี้ ถ้าจะบอกว่าเดี๋ยวก่อน เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวค่อยทำ มันไม่ได้นะ ถือว่าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาทความเพลิดเพลิน
เราทุกคน ความสุขมันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ มหาเศรษฐีมันมีความสุขไม่ได้ เพราะความสุขมันไม่ได้อยู่ที่เงิน ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ของภายนอก ความสุขมันอยู่ที่ใจ ที่เรามีความเห็นถูก แล้วก็ต้องเข้าใจ ต้องปฏิบัติในปัจจุบัน มหาเศรษฐีก็ยังสร้างปัญหา ผู้ที่เป็นคนรวยหรือว่าเป็นเทวดาผู้ทรงฤทธิ์ ทรงอภินิหาร อย่างไรมันก็ต้องหมดบุญสักวันหนึ่ง เพราะว่ายังเป็นผู้ที่หลงอยู่ คนจน ยาจก ก็ทุกข์แบบยาจก คนที่ปานกลางก็จนหรือทุกข์แบบปานกลาง คนมีมากก็ทุกข์แบบคนมีมาก เศรษฐีก็ทุกข์แบบเศรษฐี เทวดาก็ทุกข์แบบเทวดา ต่อสู้กัน พรหมก็ทุกข์แบบพรหม แต่ความทุกข์แบบพรหมนี้ ทุกข์เพราะอะไร? รัศมี เพราะแสง เหล่านี้เป็นต้น สรุปแล้ว จะภพภูมิไหนๆ จะสูง จะต่ำ มันมีแต่ความทุกข์ เพราะมีความทุกข์เช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้รู้จักทุกข์ ไม่ได้สอนให้รู้จักสุข อริยสัจไม่มีตรงไหนที่กล่าวถึงสุขเลย มีแต่ทุกข์ เพราะโลกเราส่วนใหญ่ เหมือนกับโลกเราส่วนใหญ่นี้มีแต่ความร้อน เพราะมันต้องด้วยแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์มันไม่ได้มีความเย็น แสงอาทิตย์มีความร้อน โลกเรานี้ เมื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์จึงมีแต่ความร้อน เมื่อความร้อนน้อยลง ความเย็นมันจึงปรากฏ แต่โดยปกติแล้ว ความร้อนมากกว่าความเย็น เอาประเทศไทยเรานี้ หนาวนิดเดียว ที่เหลือเป็นความร้อนน้อย ร้อนมาก ร้อนมากกว่า ร้อนมากที่สุด คือมีแต่ความร้อน ร่างกายจิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่มีแต่ความทุกข์ พอความทุกข์มันน้อยลง ด้วยหาของมาบำบัด โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ ที่นอน ที่อาศัยที่ดี รถแพงๆ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันนี้ มันมาช่วยบางอย่างให้สะดวกสบายขึ้น ความทุกข์มันน้อยลง เลยเรียกว่าความสุข แต่ความทุกข์มันยังมีอยู่นะ เพราะมันยังไม่ได้หายไปไหน เมื่อเวลาผ่านไป มันก็ต้องทุกข์อีกแล้ว เพราะยังไม่ได้ดับมันด้วยปัญญา ดังนั้น เราจึงต้องมาทำที่สุดแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของตนเองนี้ พระพุทธเจ้าก็เป็นแต่เพียงผู้บอก ครูบาอาจารย์ก็เป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนเราเป็นผู้ลงมือทำ ลงมือประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปเครียดมัน ให้เรามีความสุข เราจะไปทำงานก็ให้มีความสุขในการทำงาน เพราะเราจะเอาอิริยาบถทั้ง ๔ นี้ เอามาปฏิบัติ การปฏิบัติอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ไม่เฉพาะนั่งสมาธิ หรือว่าเดินจงกรม
ในมหาสติปัฏฐานสูตร สูตรที่ว่าด้วยที่ตั้งของสติ ฐานของสติอย่างยิ่งใหญ่นี้ ทรงแสดงไว้หลายหมวด เมื่อวานได้แสดงถึงหมวดลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นอันแรก หมวดต่อมาก็คือว่า อิริยาบถ หมวดอิริยาบถ ทรงตรัสสอนไว้ว่า เมื่อเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็ให้รู้ว่านั่ง เมื่อนอนก็ให้รู้ว่านอน การเรียนรู้แบบนี้ รู้แบบไหนจึงจะเป็นมหาสติ เพราะว่าปกติแล้วนี้ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ มันก็รู้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว ยกเว้นแต่คนนั้นวิกลจริต คือเป็นคนบ้า เดินก็ไม่รู้ว่าเดิน นั่งก็ไม่รู้ว่านั่ง นอนก็ไม่รู้ว่านอน เพราะว่าเสียสติ อย่าว่าแต่คนเลย สัตว์เดรัจฉานเดินมันก็รู้ สุนัขมันเดิน มันก็รู้ว่าเดิน สุนัขมันเดินข้ามถนนมันก็รู้นะ แต่ว่า ความรู้เหล่านั้น มันเป็นเพียงแค่สัญชาตญาณ จะเอามาเป็นสติแบบจริงๆ จังๆ ไม่ได้ สัญชาตญาณเหล่านี้ มันเป็นสัญชาตญาณแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราต้องมาเพิ่มสติธรรมดาให้เป็นมหาสติเข้าไป พระพุทธเจ้าใช้คำว่า ปชานาติ แปลว่ารู้ชัด รู้ชัดๆ รู้โดยประการทั้งปวง แล้วความรู้นั้น การรู้นั้นที่ได้อธิบายไว้เมื่อวาน ต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง อาตาปี มีความตั้งใจ มีความใส่ใจ มีความเพียร มีความเพียรในการเผากิเลส ถ้าไม่อย่างนั้น กิเลสมันก็จะเผาเราตลอด
แล้วก็ข้อต่อมา สัมปชาโน เอาตัวปัญญาเข้าไปกำกับ รู้เนื้อรู้ตัว สติมา มีสติระลึกได้อยู่ในอารมณ์นั้นๆ ในเวลาที่เดินอยู่นี้ สิ่งที่เราต้องรู้ รู้อะไร? พระพุทธเจ้าสอนให้เดินให้ถูกนะ ปกติตั้งแต่เราจำความได้ ตั้งแต่แรกเราก็นอนหงายแบเบาะ ผ่านมาๆ ก็นอนคว่ำเป็น จากนั้นก็พัฒนาการเป็นกระดึ๊บๆ ไปข้างหน้าได้ จากนั้นก็เริ่มคลาน พอคลานก็เริ่มตั้งไข่ พอตั้งไข่ก็เดินได้ นี่คือสัญชาตญาณของมนุษย์ สัญชาตญาณเป็นแบบนี้ แล้วมันก็รู้ตลอดเลยว่า เราเดิน ฉันเดิน ข้าเดิน หรือว่ากูเดิน มันจำอย่างนี้มาตลอด แต่ทีนี้พระพุทธเจ้าสอนให้เดินให้เป็น นั่งให้เป็น นอนให้เป็น ทำโน่นทำนี่ให้เป็น มาสอนตรงนี้ เพราะมันคือชีวิตประจำวันของคนเราทุกคน วันหนึ่งเราเดินกี่ก้าว ณ ปัจจุบันมันมีเครื่องนับ โดยเฉพาะนาฬิกาใส่แขน มันก็นับได้ โทรศัพท์มือถือมันก็นับได้ ว่าเราเดินกี่ก้าว บางวันเราเดินเป็นหมื่นๆ ก้าว ถามว่าหมื่นๆ ก้าวที่เดินนี้ มีสติกับการเดินกี่ก้าว นั่งล่ะ แล้วนอนล่ะ นอนไม่ต้องนับ เพราะส่วนใหญ่นอนก็คือหลับอยู่แล้ว ยืน เดิน นั่ง นี่ การเดินพระพุทธเจ้าสอนให้รู้หลัก ๓ ประการ คือว่า โก คัจฉะติ ใครเดิน เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้ และก็ กัสสะ คะมะนัง การเดินเป็นของใครที่ต้องรู้ และก็อย่างที่ ๓ กิงการณา คัจฉะติ เพราะเหตุไรจึงเดิน นี่เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
ประการแรกที่บอกว่าใครเดิน พอถามว่าใครเดิน เราก็ต้องโยงมาที่ตัวเราแล้วว่า ฉันเดิน เราเดิน เขาเดิน เพราะว่ามันเป็นเรามาตั้งแต่แรก ตั้งแต่เกิด มันยึดแล้วว่า กายนี้เป็นของเรา ใจนี้เป็นของเรา ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดว่า เราเดิน แต่ทีนี้ พอพิจารณาจริงๆ แล้วนี้ มันมิได้มีเรา มีเขา ในกาย ในใจนี้เอง ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา ไม่มีชาย ไม่มีหญิง มันมีแต่เพียงอาการของธาตุลม จิตสั่ง กายทำงาน จิตสั่ง กายทำงาน เป็นอย่างนี้ตลอด พิจารณาดีๆ เมื่อสติสมาธิมี เราจะเห็นชัดเจนเลยว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ของแท้เป็นอย่างไร จิตเป็นนาย จิตมันสั่ง พอมันสั่งปุ๊บ มันก็จะเป็นกระบวนการให้ธาตุลมที่อยู่ในร่างกายนี้มันขยับเขยื้อนทำงานได้ เวลาจะเดิน ธาตุลมตั้งแต่ขาลงไปนี้ มันก็จะเริ่มทำงาน แล้วมันจะพยุงให้ยก ให้ก้าวไป เหยียบลม ให้ยก ให้ก้าวไป เหยียบลม เป็นอย่างนี้ เมื่อเห็นชัดๆ มันจะรู้ว่า มันเป็นการทำงานของธาตุลม มันไม่ใช่เรา นี่ อันนี้คือต้องแยกให้เห็นชัดๆ เมื่อเห็นชัดๆ แบบนี้ มันจะถอน ถอนความเห็นผิดที่คิดว่า เราเดิน ผู้หญิงเดิน ผู้ชายเดิน แฟนเราเดิน สามีเดิน ลูกเดิน หลานเดิน คนนั้นเดิน คนนี้เดิน ออกไปได้
แล้วก็ประการที่ ๒ กัสสะ คะมะนัง การเดินเป็นของใคร การเดินเป็นของใคร ถ้ามองก็บอกว่า การเดินเป็นของเรา การเดินเป็นของคนนั้น เป็นของคนนี้ เป็นของผู้ชาย เป็นของผู้หญิง เป็นของสัตว์ แต่มองจริงๆ แล้ว ไม่มีเรา ไม่มีเขา ทั้งที่การเดินมันก็ไม่ใช่ของสัตว์ ไม่ใช่ของบุคคล ไม่ใช่ของผู้ชาย ไม่ใช่ของผู้หญิง ตลอดจนไม่ใช่ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ของพระ ไม่ใช่ของโยม ไม่ใช่ของใครเลย ถ้าพูดตามความเป็นจริงโดยปรมัตถ์นะ แต่ว่าโลกเรานี้ ทรงจำ รู้ สื่อสารกันด้วยบัญญัติ บัญญัติคืออะไร? สิ่งที่สมมุติกันขึ้นมาให้เรียกกัน คนนี้เรียกผู้ชาย คนนี้เรียกผู้หญิง คนนี้เรียกแบบนั้น เรียกแบบนี้ สมมุติเรียกกันมาตั้งแต่เดิม ตั้งแต่แรก ทุกสิ่งทุกอย่างสมมุติเรียกกันหมด ภาษาที่เราพูด สมมุติพูดกันขึ้นมานี้ ไปพูดกับคนประเทศอื่นเขาก็ไม่รู้เรื่อง ไปพูดกับฝรั่ง ฝรั่งก็ไม่รู้เรื่อง ไปพูดกับจีน จีนก็ไม่รู้เรื่อง เพราะว่า มันสมมุติกันขึ้นมา แต่ความเป็นจริงแล้ว มีสิ่งเหมือนๆ กันนะ อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อวานนี้ มือนี้ จะฝรั่ง มือจีน มือเขมร อินเดีย แอฟริกา มือคนดำ คนขาว มันมีรูปร่างเหมือนกัน มีนิ้วมือ ๕ มีเส้นมือ มีโน่น มีนี่ มีหลังมือ หน้ามือ ฝ่ามือ มีอุ้งมือ มีหมด แต่ว่าเรียกไม่เหมือนกัน เพราะสมมุติต่างกัน แต่ความเป็นจริงแล้วเหมือนกัน เพราะอะไรถึงไม่เห็นอย่างนี้ เพราะสิ่งที่มันเป็นสมมติ สิ่งที่มันเรียกขึ้นมานี้ มันบังเอาไว้ ดังนั้นแล้ว การที่เรามาเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา มาประพฤติมาปฏิบัติธรรมนี้ มาทำสิ่งที่มีไม่ให้มี แล้วมาทำสิ่งที่ไม่มีให้เกิดมีขึ้น คืออะไรล่ะ? สิ่งที่มี มาทำสิ่งที่มีไม่ให้มีคือ ความมีตัวมีตน มีกู มีของกูนี้ มีตัวเรา ของเรา มีตัวเขา ของเขานี้ มาทำสิ่งที่มีเหล่านี้ไม่ให้มันมี พอมันไม่มี มันก็จะปล่อย มันก็จะวาง มันก็จะคลาย ความเป็นโสดาบันก็เกิดขึ้น แต่เพราะยึดว่ามีๆๆๆ แบบนี้ โสดาบันก็ไม่เกิด เพราะยังยึดไว้เต็มหัวใจ ท่านอุปมาว่า การยึดของปุถุชนกับการยึดของพระอริยะต่างกันอย่างไร ปุถุชนนี้ พอเวลาเรียกปุ๊ป เราปุ๊ป มันแน่นเต็มที่ มันกำเต็มที่ แน่นเต็มที่ แต่พระอริยเจ้าสมมุติบัญญัติไม่มี มันคลายออก มันก็จะเป็นแบบนี้ ให้เราเข้าใจง่ายๆ ที่อุปมานี้ ปุถุชนนี้ยึดเต็มที่ เป็นเรา เป็นของเรา พอโสดาปัตติมรรคเกิด ความเป็นโสดาบันเกิดขึ้น ไม่มีการยึดแล้ว มันจะคลายออก มี แต่ว่ามันไม่ได้เกาะเกี่ยวหัวใจท่านไว้ เพราะฉะนั้น ภพชาติท่านเลยไม่ต่อ เพราะท่านตัด แล้วมาทำสิ่งที่ไม่มีให้มันเกิดขึ้นคือ ความไม่มีตัวนี้ มันไม่เคยมีในใจเราเลย เราต้องมาทำให้มันเกิดมีขึ้น พูดง่าย แต่ว่าทำยาก ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เหนือความสามารถของมนุษย์ เมื่อก่อนมนุษย์เรานี้บินไม่ได้ ก็ยังบินได้ ไปดาวอังคารได้ ไปดวงจันทร์ได้ เพราะว่าความสามารถ เพราะฉะนั้น การประพฤติ การปฏิบัติ พระอริยเจ้านี้ ก่อนจะเป็นพระอริยเจ้าก็จะเป็นปุถุชนคนธรรมดากิเลสหนาแน่นเต็มหัวใจก่อน แต่เมื่อมีความเพียรพยายามในการถ่ายถอน มีความเป็นตัวกู ของกูออกไป ท่านจึงเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ทุกคน พระพุทธเจ้าสอนบอกว่า มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประเสริฐได้ทุกคน อยู่ที่ความตั้งใจ ความเพียรความพยายาม ความศรัทธา ความต่อเนื่อง องค์ประกอบหลายๆ อย่าง
ทีนี้ต่อมา สิ่งที่ต้องรู้ประการที่สามในการเดินก็คือ กิงการะณา คัจฉะติ เพราะเหตุไรจึงเดิน ถ้าเราตอบด้วยสามัญธรรมดา ก็บอกว่า เพราะอยากไปตรงนั้น อยากไปตรงนี้ อยากเดินกลับกุฏิ อยากเดินไปโรงฉัน อยากไปนั่น ไปนี่ อยากเข้าห้องน้ำ ก็บอกว่า ก็เลยเดิน แต่ถ้าพูดลึกๆ ลงไปแล้ว เพราะเหตุใดจึงเดิน ก็เพราะว่าจิตมันสั่ง จิตมันสั่งให้เดิน แล้วธาตุลมมันก็ทำงาน มันจึงเดินได้ สิ่งเหล่านี้มันต้องรู้ชัดๆ ไม่ใช่รู้จากหนังสือ ไม่รู้ใช่รู้จากการฟัง ไม่ใช่รู้จากการคิด แต่มันต้องรู้ด้วยปัญญาจริงๆ มันถึงจะเป็นการรู้อย่างแท้จริง แล้วการเดินนี้ โดยเฉพาะเดินจงกรม เดินจงกรมไม่ใช่เดินเป็นวงกลม หรือว่าเดินกลับไปกลับมาเท่านั้น ตราบใด เมื่อใดที่เรามีสติเข้าไปอยู่กับการเดิน นั่นแหละคือการเดินจงกรม บิณฑบาตก็เป็นการเดินจงกรม เดินไปโรงฉัน ก็เป็นการเดินจงกรม เดินไปเข้าห้องน้ำก็เป็นการเดินจงกรม เมื่อสติ สมาธิ ไปอยู่กับการเดินนั้น เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว วันทั้งวันที่เราเดินเป็นพันๆ ก้าว เป็นหมื่นก้าวนี้ ถ้าเราสติจดจ่ออยู่กับการเดินนั้นได้ คิดดูว่า เรากำลังสะสมสติ สมาธิมากเท่าไร อานิสงส์หรือว่าข้อดีของการเดินจงกรม พระพุทธเจ้าบอกว่า เอาง่ายๆ คืออาพาธน้อย ย่อยอาหาร นานในสมาธิ ผลิความเพียร เป็นเซียนในการเดินทาง หรือตรงๆ ก็คือว่า เป็นผู้มีความอดทนต่อการเดินทางไกล อัทธานักขะโม เดินธุดงค์ เดินทางไกล แข็งแรง เพราะเป็นผู้เดินบ่อยๆ ต่อมามีความอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร เดินได้นาน และก็นั่งได้นาน สาม เป็นผู้มีอาพาธน้อย โรคภัยไข้เจ็บน้อย ถ้าหากกิน ฉัน แล้วนั่ง แล้วก็นอนนี้ ไม่เดินเลย เจ็บป่วยง่าย เพราะว่าอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ คำว่าอิริยาบถแปลว่าการเปลี่ยน แปลว่าการเคลื่อนไหว แปลว่าการขยับ มันต้องสมดุล มันต้องปรับให้สมดุล อย่างใดอย่างหนึ่งมากไปนี้ มันก็จะป่วยแล้ว เพราะว่ามันขาดความสมดุล นั่งมากไปก็ป่วย ปวดหลัง ปวดแข้ง ปวดขา ปวดนั่น ปวดนี่ เป็นออฟฟิศซินโดรม นอนมากไปก็ป่วย ยืนมากไปก็เจ็บ ก็ป่วย เดินมากไป ก็เจ็บก็ป่วย เพราะฉะนั้น มันจึงต้องปรับสมดุลกัน ต้องเดินสลับนั่ง อย่างนี้ แล้วก็ข้อต่อมาก็คือ อาหารที่กินเข้าไป ดื่มเข้าไป เคี้ยวเข้าไปนี้ มันจะย่อยง่าย เพราะการเดิน ไม่ใช่วิ่งนะ ถ้าวิ่งแล้วจุก รับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ต้องเดิน ไม่นอน นั่งก็ยังพอได้ แต่ว่าเดินนี้จะทำให้ระบบการย่อย ระบบการเผาผลาญดีขึ้น พระพุทธเจ้าทรงรู้ ทรงเป็นนักโภชนาการด้วย ทรงสอนวิธีการกิน สอนวิธีการย่อย สอนวิธีการเดิน เอาง่ายๆ ก็คือ สอนทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งจนถึงความดับทุกข์ และข้อต่อมาคือ สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมนั้นตั้งอยู่นาน ทำไมต้องเดินจงกรมก่อน ต้องเดินก่อนแล้วมานั่งมันถึงจะสงบ เพราะถ้านั่งเลยนี้ สารพัดอารมณ์มันฟุ้งไป นั่งไปก็ไม่สงบ ก็ฟุ้ง คิดโน่น คิดนี่ พอสักพักหนึ่ง หลับ เพราะอะไร? เพราะมันฟุ้ง ฟุ้งไปฟุ้งมา ฟุ้งจนเหนื่อยแล้วมันก็หลับ เพราะสมาธิไม่ตั้งมั่น ดังนั้น จึงต้องปรับ ปรับอินทรีย์หรือปรับพื้นปรับฐานด้วยการเดินก่อน สมมุติเรามีเวลาปฏิบัติ ๒ ชั่วโมง จะเดิน ๓๐ นั่ง ๓๐ แล้วก็สลับเดิน ๓๐ นั่ง ๓๐ หรือจะเดินชั่วโมง นั่งชั่วโมงก็ได้ แล้วแต่กำลังความสามารถของแต่ละบุคคล ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเช่นนี้ เพราะว่า ให้เราเดินเป็น ยืนเป็น นั่งเป็น นอนเป็น นี่แหละคือการประพฤติปฏิบัติธรรม ที่มันมีอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ที่เขาบอกว่า แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม แค่ขยับเท่ากับได้เจริญสติ เพราะมันดึงมาได้หมด
การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวที่อยู่ในหมวดต่อไปนี้ก็ คือหมวดสัมปชัญญะ สัมปชัญญะเป็นตัวปัญญา แปลว่า ความรู้เนื้อรู้ตัวก็ได้ ในที่นี้พระพุทธเจ้าสัมปชัญญะอย่างไร? คือบอกว่า ให้ทำความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ให้ทำสัมปชัญญะรู้ตัวในการมองข้างหน้า ในการเหลียวซ้ายแลขวา ทำสัมปชัญญะในการเหยียดแขน คู้แขน เหยียดขา ทำสัมปชัญญะรู้ตัวในการห่มจีวร นุ่งสบง ทรงผ้าสังฆาฏิ ในการถือบาตร ในการฉัน ในการกิน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ทำสัมปชัญญะความรู้ตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำสัมปชัญญะรู้ตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และในความนิ่ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกๆ ท่าทาง ในชีวิตประจำวันของเรา ใส่ความรู้ตัวเข้าไป เพราะส่วนใหญ่เรามักจะเผลอ เผลอเพราะอะไร? เผลอเพราะไม่ได้ใส่ใจ เผลอเพราะไม่ได้เห็นความสำคัญ แต่เมื่อใส่ใจเข้ามาในการทำทุกๆ อย่าง ทุกๆ อิริยาบถ ทุกครั้งที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกขณะที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ใส่ความรู้ตัวเข้าไป รู้เนื้อรู้ตัวเข้าไป สัมปชัญญะเกิด สติเกิด ปัญญาเกิด จะเห็นได้ว่า มันคือชีวิตประจำวันของเรานี่เอง
การปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่ของยากเลย การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไปอยู่วัด ไม่ใช่การไปอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรม ถ้าคิดว่าการอยู่ในวัด อยู่ที่ปฏิบัติธรรมแล้ว สามารถปฏิบัติได้ บรรลุได้ หมา แมว จิ้งจก ตุ๊กแก มันคงจะบรรลุธรรมหมด เพราะมันก็อยู่ในวัด ความเป็นจริงนี้คือ ที่ใดก็แล้วแต่ แห่งหนใดในโลก ดึงสติมาอยู่กับกายอยู่กับใจ ตรงนั้นแหละ คือที่ปฏิบัติธรรมของเรา
แล้วสัมปชัญญะท่านก็อธิบายให้ละเอียดออกมาเป็น ๔ อย่างด้วยกัน คือ อย่างแรกรู้ชัดว่ามีประโยชน์ สาตถกสัมปชัญญะ รู้เนื้อรู้ตัวถึงประโยชน์ เช่นว่า ทำไมเราต้องมาอยู่วัด ทำไมเราต้องมาปฏิบัติธรรม เรารู้ชัดถึงประโยชน์ว่า เมื่อมาอยู่ เมื่อมาปฏิบัติ เราต้องทำ เราต้องได้ ได้ความสงบ ได้ความสุขใจ ได้ประพฤติ ได้ปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อละตัวละตน เพื่อเสียสละ เรารู้ชัดตรงนี้ จึงมาอยู่วัด จึงมาปฏิบัติธรรม ประการที่ ๒ สัปปายะ สัมปชัญญะ รู้สิ่งที่มันสะดวกสบายแก่ตัวเอง คำว่าสะดวกสบายในที่นี้ไม่ใช่ติดสุขติดสบาย แต่หมายถึงว่า สิ่งที่มันพอดี ที่มันสะดวกแก่ธาตุขันธ์ร่างกายของตัวเอง บางคนกินมาก บางคนกินน้อย บางคนชอบหวาน บางคนชอบเค็ม ชอบเปรี้ยว ชอบโน่น ชอบนี่ ชอบต่างกัน ความชอบต่างกัน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องรู้จักปริมาณ แม้กระทั่งในการบริโภคนี้ ต้องรู้จักปริมาณในการบริโภค ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการกิน โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค เท่าไรที่เรียกว่าพอดี คือ รู้ว่าจะอิ่มแล้วให้หยุดกิน หยุดกินก่อนสัก ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำตาม เท่านี้มันก็จะพอดี เพราะฉะนั้น พอดีสำหรับบางคนก็คือ ๑ ทัพพี ๒ ทัพพี บางคน ๕ ทัพพี ความพอดีแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ระบบการย่อย ถ้าพอดีแล้ว ร่างกายมันจะเบา จะนั่งก็เบา เดินก็เบา แต่ถ้ามันหนักไป ไม่รู้จักประมาณ มากไปแล้วง่วง จะนั่งก็ง่วง นอนก็ง่วง นอนนี้ง่วงอยู่แล้ว จะนั่งก็ง่วง จะเดินก็ง่วง จะยืนก็ง่วง สรุปแล้วทำอะไรไม่ได้เลยวันนั้น เพราะกินมากไป หลับตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสาม เพราะอะไร? เพราะว่ามากไปสำหรับการบริโภค ดังนั้นแล้ว ต้องรู้จักในปริมาณที่มันพอดี ในบทพิจารณาอาหารที่บอกว่า ไม่ได้รับประทานเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมาสนุกสนาน มิใช่เพื่อประดับตกแต่งแต่ง เพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อกำจัดเวทนาเก่าคือความหิว ไม่ให้เวทนาใหม่ คือความอิ่มเกินไป แน่นท้องเกินไปเกิดขึ้น การเป็นไปได้ของร่างกาย ความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา บริโภคให้มันแต่เพียงว่า ที่หลวงพ่อ หรือว่าครูบาอาจารย์อุปมาว่า ให้เหมือนกับพ่อแม่ที่เดินทางกลางทะเลทราย ลูกน้อยที่อุ้มไปนี้ ตายกลางทะเลทราย ไม่มีอาหารกินในทะเลทราย จำเป็นต้องกินเนื้อลูก เพื่อให้มีแรงที่จะเดินข้ามทะเลทรายไปได้ อยากกินไหม? ไม่อยากกินเลย แต่ว่าจำเป็นต้องกินเพื่อให้ร่างกายมันผ่านไป สำหรับเรานี้ โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติธรรม ต้องกินแบบนั้น ให้อาหารเป็นยา กินเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน ให้อาหารเป็นยา แล้วอาหารมันก็จะเป็นยาจริงๆ
อย่างหนึ่งที่คนเรามีอายุยืนอยู่ได้เพราะการกิน กินเนื้อมากเกินไป กินโปรตีนจากสัตว์มากเกินไป อายุก็สั้น อย่างเช่น ชนเผ่าเอสกิโมที่อยู่อลาสก้า อายุขัยเฉลี่ยเขาแค่ ๒๗-๓๐ ปี ทั้งที่เขาอยู่เมืองหนาว กินแต่ปลาแซลมอน ที่เราถือกันว่าเป็นของดี ที่ถือว่าเป็นของแพง กินแต่ปลาแซลมอน กินแต่เนื้อสัตว์ แต่ทำไมอายุขัยเขาสั้นจัง อายุมากกว่าสุนัขเพียงแค่ ๑๐ ปีเอง เพราะว่ กินโปรตีนสัตว์มากเกินไป มันไม่ใช่อาหารมนุษย์ กินผิดอายุมันก็สั้น แต่มีชนเผ่าหนึ่งอยู่ทางแคชเมียร์ชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน ชนเผ่าฮันซา หรือว่าหรรษา หรรษาแปลว่า เราก็แปลได้ออกว่า หรรษาแปลว่าสนุกสนาน ยินดีพอใจร่าเริง ชนเผ่านี้อายุเฉลี่ยถึง ๑๓๐ - ๑๔๐ ปี เขากินมังสวิรัติ เขาไม่กินเนื้อเลย เขากินมังสวิรัติ แล้วก็กินโปรตีนจากถั่ว จากพืช ไม่กินแป้งมาก แล้วก็เดินทั้งวัน ภูมิประเทศของเขาเป็นเนินเขา แต่ละวัน แต่ละวัน ก็เดินขึ้นเนินเขาไปทำการเกษตรอายุ ๑๑๐ ปี ๑๒๐ ปี ยังไปทำงาน ยังไปปลูกผักได้อยู่เลย จากที่ยกมานี้ ชนเผ่าในโลกเราทำไมอายุยืน อายุสั้น เพราะการกิน การกินสำคัญมาก ที่เราเจ็บป่วยนี้ เป็นโรคนั้น เป็นโรคนี้ เป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน เป็นมะเร็ง ก็เพราะว่าการกินเป็นหลัก ดังนั้นพระพุทธเจ้าสอนเรื่องโภชนาการว่า โภชเนมัตตัญญุตา ให้มีปัญญารู้จักประมาณในสิ่งที่สบายแก่ตัวเอง สิ่งที่สบายไม่ใช่ตามใจ ตามอารมณ์ อยากกินอันนี้ก็กิน อยากกินนั้นก็กิน แต่มันต้องสบายแก่ร่างกาย ต้องเป็นผู้ฉลาด สรุปก็คือ ต้องเป็นผู้ฉลาด
แล้วก็ต่อมา โคจรสัมปชัญญะ รู้ชัดในสิ่งที่เป็นโคจร ก็คือ อารมณ์ของตัวเอง รู้จักอารมณ์ของตัวเองก็คือ ไม่หลงไหลไม่ตามใจลงกระแสภายนอกไปเรื่อย ต้องบังคับจิต ต้องบังคับใจให้เป็น แล้วก็รู้เนื้อรู้ตัว
สัมปชัญญะอย่างที่ ๔ อสัมโมหสัมปชัญญะ รู้ชัดถึงความไม่หลง ไม่เซ่อๆ เบลอๆ งงๆ ไม่สับสนเงอะงะฟั่นเฟือน เข้าใจตลอด ตรงนี้ สัมปชัญญะคือตัวปัญญา ทำไมที่นี่องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ถึงฝึกพระ ฝึกโยมให้เป็นคนคล่องแคล่ว รวดเร็ว ว่องไว เพราะอะไร? ก็เพราะจะฝึกปัญญานี่แหละ ถ้าฝึกสมาธิก็จะทำอะไรช้าๆ เฉิ่มๆ เซื่องๆ เบลอๆ งงๆ แบบนั้นจริงอยู่มันสงบ แต่มันไม่ได้ปัญญา ที่นี่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เพราะจะฝึกปัญญา จึงต้องเป็นคนรวดเร็วว่องไว เราจะเห็นจากการเผาศพ จากการทำโน่น ทำนี่ ทุกอย่างต้องไวหมด เพราะอะไร? เพราะจะฝึกปัญญา ไม่ได้ฝึกให้เป็นคนเซื่องๆ ซึมๆ ต้องฉลาดปราดเปรียวว่องไว ลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ต้องเป็นคนปราดเปรียวว่องไว มีไหวพริบมีปฏิภาณ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านฝึกตรงนี้ จึงทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความไว ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้ที่ต้องการจะยกตนให้พ้นจากความทุกข์นี้ ต้องหมั่นประกอบความเพียรทุกๆอิริยาบถ ใส่สติสัมปชัญญะ รู้เนื้อรู้ตัวเข้าไป ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มันคือชีวิตประจำวันของเรานี้เอง เมื่อมีความเพียรย่อมทำให้เกิดผลคือมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มันก็จะเป็นปัจจุบันกาล เป็นปัจจุบันธรรมทั้งทางโลกทางธรรมนี้ สามารถเป็นผู้ปราดเปรียวว่องไว สามารถอ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด อ่านตนออก อ่านตัวเองออก แล้วสามารถบอกตัวเองได้ ในสิ่งที่มันผิด แล้วก็ใช้ตัวเองเป็น ให้ทำสิ่งที่มันเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดของการที่เกิดมา เห็นตัวเองชัด เห็นชัดอย่างไร? เมื่อโลภก็รู้ว่าโลภ เมื่อโกรธก็รู้ว่าโกรธ เมื่อดีใจรู้ว่าดีใจ เสียใจรู้ว่าเสียใจ เห็นตัวเองชัด แล้วเตือนตัวเองได้ “จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน ตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ต้นแชเชือนใครจะเตือนให้ป่วยการ” อ่านตนออก บอกคนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด มีพื้นฐานมาจากตัวสติสัมปชัญญะ หรือสติปัญญานี้เอง
ศาสนาพุทธ ศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ มีสติปัฏฐาน การเจริญสตินี้ สำคัญมาก รุ่งเรืองเหมือนกับพระจันทร์วันเพ็ญที่สาดแสงส่องลงมา ผู้ตื่นอยู่ทำการภาวนาก็จะสามารถดับทุกข์ร้อนทั้งปวงได้ ส่วนผู้ที่หลับใหลอยู่ด้วยกิเลสนิทรา หลับอยู่ด้วยอำนาจของกามคุณอันมืดมัวนี้ยุ่งเหยิงไปด้วยเรื่องวุ่นวายต่างๆ สับสนวุ่นวายอยู่กับเรื่องของตนเอง เรื่องของบุคคลอื่นจะไม่มีโอกาสได้พบแสงสว่างเลย เพราะกำลังถูกแผดเผาอยู่ ด้วยความร้อนจากไฟ ไฟใดๆ ในโลกก็ไม่ร้อนแรงเท่ากับไฟราคะ ไฟโทสะ คือความโกรธ แล้วก็ไฟโมหะ คือความหลง
ไฟราคะนี้ มันผลาญหัวใจคนที่มันยินดีรักชอบพอคนนั้น คนนี้ มันเผาจริงๆ เราลองสังเกตดูสิว่า เวลาความรักความหลงอะไรเกิดขึ้นนี้ ราคะเกิดขึ้นแล้ว ปัญญามันหายหมด พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อคนๆ นั้นที่เกิดราคะขึ้น ปัญญามันบอด ปัญญามันมืด เพราะถูกไฟราคะเผา แล้วก็จะยินดีพอใจในการบริโภคกาม ในการเสพกาม แม้แต่พระ แม้แต่นักพรตนี่ เมื่อไฟราคะมาเผาเข้า มันก็จะมืดมัวหม่นหมอง ตบะที่เคยรุ่งเรือง ที่เคยอินทรีย์ผ่องใสหน้าตายิ้มแย้ม มันหมองไปหมดเลย เพราะว่าใจมีราคะ มันถูกราคะเผา อินทรีย์ก็เศร้าหมอง กิริยาคำพูดการกระทำมันหม่นหมองไปหมด เพราะว่าถูกไฟตัวนี้เผา มันก็จะขมุกขมัวเหมือนกับตอตะโก เพราะเหตุนี้นี่เอง
แล้วไฟโทสะ ไฟคือความโกรธ พอมันผลาญใคร จะทำให้จิตใจคนนั้นกระวนกระวายอยู่ไม่สุข หาทางแต่จะแก้แค้น หาทางแต่ที่จะข่มเหงรังแกคนที่เป็นศัตรู คนที่ไม่ชอบพอ แบบนี้ จะหาความสุขไม่ได้เลย เพราะถูกไฟตัวนี้เผาอยู่
ไฟคือโมหะ คือความหลง หลงงมงายนี้ เผาบุคคลใดไว้ ก็จะทำให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นชั่วเป็นดี กลับหน้ามือเป็นหลังมือเลยนะ พอมีความหลงเกิดขึ้นแล้ว หลงงมงาย ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักดีจักชั่ว ไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่ หลงผิดไปหมด
ไฟสามกองนี้แหละ เผาสัตว์โลก ทั้งที่คนนั้นไม่รู้สึกว่าเป็นไฟเลย เพราะอะไร? โดยเฉพาะราคะนี้ มันเป็นไฟเย็น มันเป็นไฟ แต่มันเป็นไฟเย็น พอมันมาถูกใจใครแล้วนี่ ใจมันจะชุ่มชื่นซาบซ่านเบิกบานอยู่อย่างนั้น เลยไม่รู้ว่ามันเป็นไฟ เพราะมันเป็นไฟเย็น แต่โทสะมันเห็นง่ายหน่อย เพราะว่ามันเป็นไฟร้อน ใจมันร้อน แต่พอไปโมหะนี่ แทบมองไม่เห็นเลย เพราะมันไม่เย็น มันไม่ร้อน แต่มันเป็นไฟ ไฟเหล่านี้ มันเผา เผากาย เผาใจสรรพสัตว์ แล้วมันก็พอกพูนขึ้น พอกพูนขึ้น กดหัวให้มันจมดินอยู่ในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกายสัตว์ เดรัจฉาน โงหัวไม่ขึ้น เพราะมันถูกเผาอยู่ตลอดเวลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมาสอนเราให้ดับไฟ วันนี้เรามางานเผาศพ เราก็ไม่ต้องเผาแต่ไฟ เราต้องมาเผาใจตัวเอง เผาไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ให้มันดับไป จึงจะได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงจะได้ประโยชน์จากการผู้ที่ชื่อว่าเป็นพุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ที่หมั่นอบรมตนด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน หมั่นเจริญอสุภสัญญา คือความเห็นว่า เป็นสิ่งไม่สวยไม่งามนี้อยู่เป็นนิตย์ ย่อมจะดับไฟคือราคะ ให้มันดับลงได้ คนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง มีเมตตากรุณา ย่อมดับไฟคือโทสะ คือความโกรธลงได้ และย่อมดับไฟ คือโมหะ คือความหลงนี้ด้วยปัญญา ผู้มีปัญญารักษาตน ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน ดับไฟทั้งสามกองนี้ได้แล้ว จึงชื่อว่าดับกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ต้องมาดับไฟเหล่านี้ด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ ก็คือตัวปัญญา จึงไม่เสียโอกาสที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอกุศลสมภารทั้งหลายที่คณะสงฆ์ และญาติโยมทั้งหลายได้บำเพ็ญในวันนี้ จงสำเร็จแด่ผู้อำนวยการ พรหม สกุลจีน หากท่านมีทุกข์ ก็ขอให้พ้นจากทุกข์ หากท่านมีสุข ขอให้สุขยิ่งขึ้นไปในสุคติโลกสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ