แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกสู่ความดับทุกข์ ตอนที่ ๒ มีสติอยู่กับลมหายใจอันประเสริฐ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ ผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ ทุกท่านทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐ เรามาใช้ร่างกายนี้สร้างความดี สร้างคุณธรรมเพื่อมรรคผลนิพพาน เราจะไปทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกของตัวเองนั้นไม่ได้ เราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีสติมีสัมปชัญญะเพื่อที่จะไม่ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก
ธรรมที่มีอุปการะมากที่นำเราออกจากวัฏสงสาร นั่นก็คือสติสัมปชัญญะสติเป็นความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นตัวปัญญา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราทำอานาปานสติในอิริยาบถทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าทรงมีวิหารธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ สิ่งที่เป็นเครื่องอยู่ของพระพุทธเจ้าก็คืออานาปานสติ สติที่อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พระพุทธเจ้าไม่ใช่มีตัวมีตน พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทรงรู้อะไร? รู้อริยสัจ ๔ รู้ความจริงอันประเสริฐ รู้กาย รู้ใจ ตื่นจากกิเลสนิทรา ตื่นจากความหลับใหลจากกิเลส เมื่อเป็นผู้ตื่น จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบานเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา เป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ ที่ปราศจากตัวปราศจากตน เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์เราทุกๆ คน ทุกๆ ชีวิต ก็คือลมหายใจ ถ้าเราไม่มีลมหายใจ ชีวิตเราก็เดินต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะการ ที่เรามีสติอยู่กับลมหายใจ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ในหลายหมวด แต่ทีนี้ที่ชัดเจนที่สุด อันเป็นจุดหมายตรงๆ เกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติธรรมของพวกเราเพื่อมรรคผลนิพพาน นั่นก็คือ มหาสติปัฏฐานสูตรที่มีความสำคัญมากในการเจริญกรรมฐาน เพราะการเจริญอานาปานสตินั้น เป็นการทำให้สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย กล่าวคือว่า อานาปานสตินั้น เป็นได้ทั้งสมถะ คือสมาธิ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา คือทำให้เกิดปัญญา แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงกล่าวถึงว่า อานาปานสตินั้น จุดมุ่งหมายของการทำสติปัฏฐานก็คือ เพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความบริสุทธิ์ของใครๆ เพื่อทำตัวเองให้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะไม่ใช่กายบริสุทธิ์ กายบริสุทธิ์สามารถชำระด้วยน้ำ ชำระด้วยการอาบ การอบ แต่ว่าการชำระจิตชำระใจ มันต้องชำระด้วยธรรมะ เพื่อข้ามพ้นความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ บางคนร้องไห้เป็นทุกข์ เพราะความรัก เพราะความพลัดพราก เพราะความไม่สมหวัง เพราะความไม่ได้ดั่งใจ หาทางออกไม่ได้ ก็ไปหลงในอบายมุข หลงไปในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันจะดับทุกข์ได้ ไปเที่ยวบ้าง ไปกินบ้าง ไปดื่มบ้าง พอมันเมาหรือไปเสพมา พอมันมึน มันเมานี่ ลืมความทุกข์ก็ได้ชั่วคราว พอกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ทำไมมันทุกข์อีก เพราะเรายังไม่ได้ถอนรากถอนโคนความทุกข์นั้นออกไป ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนวิธีเพื่อที่จะดับความทุกข์ เพื่อที่จะซับน้ำตาของบุคคลที่ร้องไห้ด้วยความเสียใจ ด้วยความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้สิ่งนั้น พลัดพรากจากคนรักของรัก ประสบพบเจอกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นบ่อเกิดแห่งน้ำตาทั้งสิ้น และก็คือเพื่อที่จะทำจิตทำใจของตนให้ถึงพระนิพพาน อานาปานสตินี่แหละจึงเป็นจุดเริ่มต้น
ในสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าขึ้นต้นด้วยอานาปานสติ ทำไมขึ้นต้นด้วยหมวดนี้? เพราะว่าสำคัญที่สุด คำว่า “ปานะ” แปลว่าลมหายใจที่มันเข้าข้างใน “อาปานะ”แปลว่าลมหายใจที่มันออกไปข้างนอก อานะกับอาปานะนำมาสนธิกันตามหลักบาลี เป็นอานาปานะ แล้วก็มีคำว่าสติกำกับ จึงเป็นอานาปานสติ สติที่อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตั้งแต่เราเกิดมาจาก คลอดออกมาจากท้องแม่ สิ่งที่ทำให้เด็กมีชีวิตอยู่ได้ คนมีชีวิตอยู่ได้คือลมหายใจ เพราะตอนอยู่ในท้องไม่ได้หายใจเอง อาศัยลมของแม่ แต่พอออกมาจากท้องต้องหายใจเองให้เป็น ถ้าคลอดออกมาไม่หายใจ ผู้เป็นพยาบาล ผู้เป็นหมอตำแย เขาก็ต้องตบ ตบอกบ้าง ตบตัวบ้าง เพื่อให้เด็กหายใจ ถ้าเด็กไม่หายใจ เด็กก็จะตายตอนนั้นเลย ตายตอนที่เกิดมานั้นแหละ ดังนั้น ลมหายใจจึงช่วยรักษาอินทรีย์คือชีวิตของทุกๆ คนให้เป็นไปอยู่ได้ จนกระทั่งหมดอายุขัย เมื่อลมหายใจออกจากร่างเมื่อไหร่ ลมมันหยุดทำงาน เลือดมันก็หยุดเดิน หน้าก็ซีด เพราะว่าชีวิตมันไม่ทำงานต่อแล้ว ลมหายใจจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกๆ คน แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนให้อยู่กับสิ่งที่มันใกล้ตัวที่สุด ก็คือลมหายใจ เราจะรู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัว หรือแม้กระทั่งนอนหลับ ลมหายใจมันมีตลอด เพราะมันคืออินทรีย์ คือชีวิต มันคือชีวิตของทุกคน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเอาสิ่งง่ายๆ ที่มันอยู่ใกล้ชิดกับตัวเราที่สุด นำมาสอนให้เป็นเครื่องอยู่ของทุกคน การรับรู้ลมหายใจที่เข้ามา รับรู้ลมหายใจที่ออกไปนี้ ตามระลึกรู้ เป็นสติ ความระลึกได้ และความระลึกโดยชอบ ความที่จิตสงบนิ่งอยู่ในสตินี้เป็นจุดเกิดขึ้นของอานาปานสติ การทำสัญญาคือทำความจำได้ เกี่ยวกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ เป็นลักษณะของอานาปานสติ ใส่ใจสัมผัสลมที่มันมากระทบที่จมูก ที่ปลายจมูก หรือว่าที่บนปากนั้น เป็นหน้าที่ของอานาปานสติ แล้วก็การละวิตก คือความตรึก ความคิด ความฟุ้งซ่าน เป็นปทัฏฐานของอานาปานสติ การตามกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข กับพุทโธ คืออันเดียวกัน ดังนั้น ในหมวดการดูกายดูใจ ตามหลักปฏิบัติของพระพุทธเจ้า จึงขึ้นต้นด้วยหมวดนี้ เพราะสำคัญมาก
แล้วก็หมวดที่ ๒ คือ อิริยาบถ เกี่ยวกับการกำหนดสติให้ระลึกรู้ ในอิริยาบถอาการต่างๆ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการปฏิบัติที่ทำได้ตลอดเวลา เหมาะกับการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน หมวดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวคือ ตัวปัญญาที่มีสติต่อเนื่องในอิริยาบถต่างๆ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย ตื่น หลับ พวกนี้ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็หมวดต่อมา คือหมวดปฏิกูลมนสิการ มีสติดังกล่าวข้างต้น จิตมันจะหยุดฟุ้งซ่าน จากนั้น ใช้สติที่มันตั้งมั่น จิตที่มันตั้งมั่น ไปพิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายตัวเอง ว่ามันเป็นสิ่งปฏิกูลสกปรกโสโครกจนเกิดความเบื่อหน่าย การดูกายคนอื่นมันทำให้เกิดกามราคะ เกิดความอยาก แต่การดูกายดูใจตัวเอง มันทำให้เกิดปัญญา และก็หมวดที่ ๕ ธาตุมนสิการ พิจารณาตามความเป็นจริงของร่างกายว่า มันเป็นเพียงก้อนที่มันรวมกันขึ้นมา มาจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และก็หมวดที่ ๖ ก็คือพิจารณาซากศพ คือตรงพิจารณากายจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณากายเป็นๆ ของตัวเอง ทำไมไม่ให้ไปพิจารณากายเป็นๆ ของคนอื่น? เพราะว่าเดี๋ยวกามมันจะเกิด ราคะ ความอยากมันจะเกิด แต่ถ้าจะไปพิจารณากายคนอื่น ต้องพิจารณาที่มันเป็นเป็นซากศพไปแล้ว มันจึงจะไม่เกิดความอยากขึ้นมา
ดังนั้น ในหมวดแห่งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การดูกาย จึงขึ้นต้นด้วยอานาปานสติ ที่นี้ดูอย่างไร มันจึงจะเป็นมหาสติ เวลาหมามันเดิน มันก็รู้ว่ามันเดิน ถ้ามันไม่รู้ตัวว่ามันเดิน มันก็โดนรถชน เวลาแมวมันจะตะครุบหนู มันก็ต้องมีสติ ถ้าไม่อย่างนั้น มันก็ตะครุบไม่ได้ เวลาเสือมันจะตะครุบเนื้อ ตะครุบเหยื่อมั นก็ต้องมีสติ ไม่อย่างนั้น มันก็จับไม่ได้ เวลาโจรมันจะไปยิงใครสักคน มันก็ต้องมีสติ ไม่อย่างนั้น มันก็พลาดเป้า เวลาคนเล่นไพ่ มันก็ต้องมีสติ ไม่อย่างนั้น มันก็จะแพ้ เล่นการพนันมันก็มีสติ ไม่อย่างนั้น มันก็แพ้ แต่ว่าสติแบบนั้นมันเป็นมิจฉาสติ มันเป็นสติแบบสัญชาตญาณ เป็นสติที่มันมีคู่กับมนุษย์มาแล้ว ขับรถ ทำโน่น ทำนี่ มันก็เป็นสติ แต่มันเป็นสติแบบพื้นฐาน มันไม่ใช่สติที่มันสามารถชำระใจให้บริสุทธิ์ได้ เพราะยังไม่มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ องค์ประกอบที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง” ภาษาบาลี สติมา ขึ้นต้นว่า อาตาปี มีความเพียรเผากิเลส ใส่ใจ ตั้งใจที่จะเผากิเลส มีความเพียรชอบ เพียรชอบ เพียรอย่างไร เพียรที่จะละบาปที่มันมีอยู่ในตัวเองให้มันหมดไป เพียรไม่ให้บาปที่มันยังไม่เกิด ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา เพียรให้ความดีที่มันไม่เคยเกิดมีเลย ให้มันเกิดมีขึ้น แล้วก็เพียรที่จะรักษาความดีนั้นให้มันคงอยู่ตลอดไป ต้องมีความเพียรเช่นนี้ มันจึงจะเป็นความเพียรเผากิเลส ถ้าไม่อย่างนั้น กิเลสมันก็เผาเราตั้งแต่ตื่นยันหลับ ต่อมา สัมปะชาโน มีปัญญาหยั่งเห็น มีตัวปัญญารู้เนื้อรู้ตัว เห็นความเป็นจริงของกายของใจในขณะนั้น แล้ว สติมา แปลว่าผู้มีสติ ไม่ใช่สติมา สติไป แต่สติมาตรงนี้ แปลว่าผู้มีสติ มีสติอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ให้มันไหลเหมือนกับกระแสน้ำที่มันไม่ขาดช่วง เหมือนกับพัดลมที่มันหมุนนั้น ถ้ามันขาดช่วงมันก็ไม่เย็น มันต้องต่อเนื่องมันถึงจะเย็น สติของเรามันต้องต่อเนื่องให้มันเป็นกระแส เหมือนกับการที่เราจะจุดไฟ สมัยก่อนคนโบราณจะจุดไฟ ต้องเอาหินมาเคาะๆ ใส่กัน หรือเอาไม้มาสี มันต้องสีต่อเนื่อง ต้องมาทุบต่อเนื่อง มันถึงจะเกิดความร้อน มันถึงจะเกิดไฟ ถ้าจุดหยุดๆๆ จุดทั้งวัน สีทั้งวันมันก็ไม่ติด เพราะขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นแล้ว ความจะต่อเนื่องได้มันต้องเป็นกระบวนการ เริ่มต้นจากมีความเชื่อ ตั้งใจที่ทำ ศรัทธา มันจึงเป็นเหตุให้เกิดวิริยะ เกิดความเพียรในการที่จะกระทำ ความเพียรมันจึงเป็นเหตุให้เกิดสติ สติมันจึงเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิมันจึงเป็นเหตุให้เกิดปัญญา มันเป็น step อย่างนี้ แล้วคำว่า “วินัยยะ” แปลว่าคม ในทุกๆ ขณะที่เจริญสติ หรือว่าสติอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น ในขณะนั้น มันสามารถละไปได้เป็นครั้งเป็นคราว ลองดูสิ มันเป็นสิ่งที่ทำไม่ยาก แต่มันยากคือเราไม่ทำ คือในขณะที่เราจดจ่ออยู่กับลมหายใจจริงๆ ตอนนั้น สังเกตดูว่า ตัวกู ของกูไม่มี ความอยากไม่มี ความโกรธมันก็หายไป ความโลภ ความหลง มันหายไปไหน เพราะตอนนั้นเราจดจ่อ เราจดจ่ออยู่กับสิ่งๆ นี้ มันจึงสามารถละๆๆ ละได้ทีละขณะๆ ไป เป็นตทังคปหาณ ละได้เป็นขณะๆ ไป
แล้วทีนี้ คำว่า “โลเก” ในโลก ในโลกในความหมายของพระพุทธเจ้า คือ ไม่ใช่ในโลกนี้ แต่ไปเป็นโลก คือ ร่างกาย สามารถข่ม สามารถละ สามารถถอน ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย คือ อุปาทานขันธ์ ที่มันเป็นทุกข์รวบยอดของทุกๆ คน เพราะมันทุกข์ เพราะว่ายึดว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นตัวกู ของกูนั้น มันยึดเอาไว้ตั้งแต่เกิดว่า อันนี้ตัวเรานั้น มันจำมาตั้งแต่แรกแล้ว พอโตขึ้นมาหน่อยก็เป็นพ่อเรา แม่เรา ของเล่นของเรา หนังสือเรา โน่นนี่นั่นของเรา โตขึ้นมาก็มีของเข้ามาอีก แฟนเรา โน่นนี่นั่นของเรา โทรศัพท์มือถือเรา หนังสือเรา โน่นนี่นั่นของเรา โตมาอีก มีลูกของเรา แก่ไปก็มีหลานของเรา มีเหลนของเรา มันเป็นของเรา ของเรา ของเราไปหมด มันยึดเอาไว้ บ่วงเหล่านี้มันถอดยาก มันถอนยาก ท่านบอกว่า โซ่ตรวนหรือว่าคุกนั้น มันยังเป็นเครื่องจองจำ พระพุทธเจ้าบอกว่า เราไม่เรียกโซ่ตรวน คุก ตารางว่า มันเป็นเครื่องจองจำที่มันมั่นคงเลย แต่ว่า เครื่องจองจำคือลูก สามี ภรรยา ทรัพย์สมบัติพัสถาน มันคือเครื่องผูกที่มันผูกหย่อนๆ แต่มันแก้ได้ยาก มันเหมือนไม่ได้ผูก แต่ว่ามันผูกใจเราอยู่นี่ มันผูกใจ มันยึดใจ ว่ามันเป็นของเรา มันผูกเอาไว้อย่างนี้ แล้วมันแก้แทบไม่ออก จนตายไป มันก็ยังแก้ไม่ออก ห่วงลูก ห่วงหลาน สุดท้าย ไปไหนไม่รอด วนเวียนๆ เป็นอสูรกาย ที่เราเรียกว่าเป็นผี ห่วงลูก ห่วงหลาน ขนาดพระ ห่วงในจีวร จิตตายลงไป ยังไปเกิดเป็นเล็น เล็นก็คือตัวไรผ้า เกาะอยู่ที่จีวร จิตมันผูกอยู่กับสิ่งใด มันก็จะวนเวียน วนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น เราลองคิดดูว่า จิตใจเราห่วงอะไรอยู่ ถ้าเราห่วงแฟน ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สมบัติตรงนั้น มันไปไหนไม่ได้ มันติด มันยึด มันผูกเอาไว้ จิตมันเป็นอย่างนี้ มันมีความวิเศษอย่างนี้ จิตมันก็จิตเดิม พอมันหมดอายุขัย มันก็ต้องเปลี่ยนร่าง เหมือนรถยนต์ที่มันหมดอายุ มันก็ต้องเปลี่ยนคันใหม่ คนขับก็ยังเป็นคนเดิม พอรถคันใหม่พัง ก็ต้องเปลี่ยนคันใหม่ คนขับก็ยังเป็นคนเดิม จิตมนุษย์ที่มันเปลี่ยนภพ เปลี่ยนภูมิ ที่มันเปลี่ยนร่าง ก็ด้วยอำนาจของกรรม ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เศร้าบ้าง เสียใจบ้าง นี้ก็ด้วยอำนาจกรรมนี่แหละ ดังนั้น อุปทานขันธ์ ยึดมั่น ถือมั่นนี้ มันจึงเป็นแรงยิ่งใหญ่ที่มันดึงมนุษย์เอาไว้ แล้ว “อะภิชฌาโทมะนัสสัง” แปลตรงๆ ก็คือว่า ความโลภ “อะภิชฌา”แปลว่า ความโลภที่เกิดขึ้นเมื่อพบกับสิ่งที่มันชอบใจ ก็คือชอบ คนนี้เราชอบ “โทมะนัสสัง” แปลว่า ความโกรธ หรือว่า ความไม่ชอบใจเมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ คนนี้เราไม่ชอบ เสียงนี้ไม่ไพเราะ เราไม่ฟัง อาหารไม่อร่อย ไม่ได้เรื่องเลย มันมีแค่สองอารมณ์เท่านั้นแหละชอบกับไม่ชอบ เวลาเราไปเที่ยวยุโรปอเมริกา มันก็สองอารมณ์นี้ ตรงนี้ดีชอบ ตรงนี้ไม่ชอบ ชอบไม่ชอบ อยู่แค่สองอารมณ์นี้ แต่พระพุทธเจ้าสอนวิธีว่า มีความเพียร ตั้งใจ รู้เนื้อรู้ตัว มีความระลึกได้ในอารมณ์ สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น มันจะตัดความชอบ-ไม่ชอบ ออกไปได้ทีละขณะๆ นี่เป็นวิธีที่ง่ายมาก แต่ว่ามันยาก พูดง่าย แต่มันทำยาก เพราะเราไม่เคยทำ แล้วก็ไม่คิดว่า ไม่เห็นต้องทำ ทำไมต้องทำ ทำทำไม
แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนวิธีต่อว่า เมื่อรู้วิธีเช่นนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติธรรม หรือใช้คำว่าภิกษุในศาสนานี้ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ คือนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ตรงนี้ท่านบอกว่า โคนไม้ เรือนว่าง จะอยู่ป่า อยู่โคนไม้ เรือนว่าง ก็คือ จะเป็นบ้านที่ไม่มีคน เป็นสถานที่เงียบสงบสงัด เหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน แล้วพระสารีบุตรกล่าวถึงอาวุธ เวลาคนจะเข้าป่า คนจะต่อสู้ คนจะปฏิบัติธรรม มันต้องมีอาวุธ อาวุธ ๓ ชิ้นนี้ไว้ให้ดี อย่างแรก สุตาวุธ อาวุธคือการฟัง ฟังให้เข้าใจในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ ตั้งใจนำไปปฏิบัติ ถ้านั่งฟังแล้วหลับนี้ อาวุธคือการฟังมันก็ไม่ได้เป็นอาวุธที่ป้องกันศัตรูคือกิเลส เป็นเหตุให้ละอกุศล เจริญกุศล เจริญความดี รักษาตนให้หมดจดได้ นี่คืออาวุธคือการฟัง ต่อไป ปวิเวกาวุธ อาวุธคือความสงบสงัด สงัดทางกายเรียกว่า กายวิเวก สังกัดทางใจเรียกว่าจิตวิเวก และก็ความสงัดจากกิเลสเรียกว่าอุปธิวิเวก สงัดกายนี้เราอยู่ในวัดสถานที่ปฏิบัติธรรมนี้มันสงัดกายนะ เพราะว่ามันไม่ต้องเผชิญกับโลกภายนอกที่วุ่นวายสำคัญมากกว่านั้นก็คือสงัดใจ เมื่อเป็นคนสงัดใจ สงบใจได้แล้ว ต่อให้อยู่ในเมืองหลวง อยู่ในท่ามกลางคนนับพันนับหมื่น มันก็สงบได้ เพราะว่าใจมีความสงัด อาวุธอย่างที่ ๓ ปัญญาวุธ อาวุธ คือปัญญา ปัญญาฝ่ายโลกิยะ ปัญญาทางโลก และก็ปัญญาทางธรรม ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความสงัดทางกาย ไม่ระคนด้วยหมู่คณะจึงเป็นอาวุธสำคัญประการหนึ่งในการต่อสู้กับศัตรูคือกิเลส พระพุทธองค์ทรงเน้นว่า การทำกัมมัฏฐาน หรือโดยเฉพาะการทำอานาปานสติ นี้หายใจเข้าหายใจออกมักจะปรากฏชัดในเวลานั่ง มากกว่าทุกๆ อิริยาบถ เวลายืน ลมหายใจมีไหม-มี แต่มันไม่ชัด เพราะเท้าที่มันยืนมันชัดกว่า เวลาเดินลมหายใจมีไหม-มี แต่ว่า การเดินมันชัดกว่า เวลานอนลมหายใจมีไหม-มี แต่มันง่วงตอนนั้นมันหลับไปแล้ว ดังนั้น เวลานั่งนี้ ลมหายใจชัดที่สุด ถ้าเราไม่หลับ ลมหายใจมันจะชัด ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า นั่งขัดบัลลังก์ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติให้มั่น เพราะอิริยาบถนั่งมันเห็นชัดที่สุด
แล้วลมหายใจนี้ อานาปานสติ พระพุทธเจ้าตรัสบอกตรัสสอน มีอยู่ทั้งหมด ๑๖ ขั้นด้วยกัน ขั้นแรก หายใจเข้าหายใจออกยาวก็รู้ ตรงนี้นี่ การกำหนดลมหายใจของมนุษย์โดยทั่วไปนั้น บางคนจมูกยาวหายใจยาว บางคนดั้งยาว บางคนดั้งแหมบนี้ จะหายใจสั้นหายใจยาวแตกต่างกันออกไปอยู่ที่ลมหายใจ ดังนั้น เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น มันต้องรู้ลมหายใจ รู้ลมหายใจยาวก็รู้ว่ายาว เพื่อกำหนดไม่ให้พลั้งเผลอ เมื่อมันตามลมหายใจได้ รู้ลมหายใจยาวได้นี้ จิตมันเริ่มจดจ่อแล้ว ต่อมาคือเมื่อลมหายใจเข้าออกสั้น ก็รู้ว่าเรากำลังหายใจเข้าออกสั้น โดยปกติคนเราส่วนใหญ่จะหายใจยาว หัวใจมันจะเต้นอยู่ที่ระดับที่ปกติ ประมาณ ๗๐ ๘๐ ๙๐ ประมาณนี้ ถ้ามันหายใจเข้าออกสั้นนี้ แสดงว่า อาจจะเกิดอาการโกรธจัด เศร้าใจ เสียใจ ตกใจ ลมหายใจเข้าออกมันจึงสั้น หรือว่าตื่นเต้น เช่น เวลาอาจจะไปบริจาคเลือด ถ้าหายใจ หัวใจมันเต้นเกินร้อย เขาจะไม่ให้บริจาค เขาจะกลัว shock เพราะว่าหายใจเข้าออกมันสั้น ดังนั้น ลมหายใจเข้าออกยาว จึงเป็นปกติของมนุษย์ แต่ลมหายใจเข้าออกสั้นนี้ แสดงว่า ตอนนั้นใจไม่ปกติ จิตกับลมมันเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อมันสั้นก็ต้องรู้ว่าสั้น ต่อไปขั้นที่ ๓ ตั้งใจกำหนดว่า เราจะรู้กายทั้งปวงหายใจเข้าหายใจออก รู้เฉพาะกาย กายทั้งปวง คำว่ากายในที่นี้ก็คือว่าลมหายใจนั่นเอง อย่าเพิ่งสับสนกับคำว่ากายเนื้อนะ แต่ในที่นี้พระพุทธเจ้าหมายถึงว่า ลมหายใจทั้งหมด ตั้งแต่มันเข้าจนมันออก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกลมหายใจว่ากาย ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือว่าสัตว์ทั้งหลายยังมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ แสดงว่ายังมีกายปกติอยู่ เมื่อใดลมหายใจขาดแล้ว เมื่อนั้นชีวิตมันก็ขาดไปด้วย เพราะฉะนั้น กายก็คือลมหายใจ ที่ว่าลมหายใจเป็นกาย แต่ก็เป็นกายภายใน ดังที่กล่าวในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ” มีปกติตามรู้กายในกายอยู่ กำหนดกายในกาย แม้กำหนดลมหายใจก็ถือว่า กำหนดกายในกาย รู้กายทั้งปวงนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปอย่างที่ ๔ เมื่อกายะสังขารสงบระงับ ก็ให้รู้ลม ว่าตอนนี้มันสงบระงับ เหมือนกับว่าลมหายใจมันนิ่งมันละเอียด มันละเอียดมันสงบ มันไม่หายใจนี่ ลมละเอียดบางคนนั่งสมาธินานๆ นั่งสมาธิบ่อยเข้าๆ เป็นวสี จะมีความรู้สึกนี้ คือ พระพุทธเจ้าไม่ตรัสเรียกลมหายใจว่ากายทั้งปวงตรงนี้นะ แต่ตรัสเรียกลมหายใจว่ากายสังขาร ไม่เรียกว่ากายทั้งปวง แต่เรียกว่ากายสังขาร สังขารแปลว่าความปรุงแต่ง แต่ว่าภาษาไทยเอามาใช้ผิด ผิดตั้งแต่โบราณแล้วว่าสังขารคือร่างกาย แต่สังขารจริงๆ แล้วมันคือความคิด สังขารคือความคิด ความปรุงแต่ง อารมณ์ต่างๆ นี้ คิดดี คิดไม่ดี คิดฟุ้งซ่าน มันคือความปรุงแต่ง มันคือสังขาร ปกติว่า ถ้ายังมีลมหายใจ ร่างกายนี้ก็เป็นไปได้ กายสังขารก็คือลมหายใจนี้เอง เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งให้เรามีชีวิตอยู่ แต่ลมหายใจนี้ถ้ามันยังหยาบ ยังไม่ละเอียด กายนี้ก็หยาบด้วย พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้ผู้บำเพ็ญนี้ ทำกายให้สงบระงับ คือ ทำลมหายใจเข้า ลมหายใจออกให้มันละเอียด ให้สงบระงับเกิดเป็นสมาธิขึ้น ถ้าสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ มันแน่วแน่ ดิ่งเป็นอารมณ์เดียวนี้ ลมหายใจมันละเอียดมาก บางทีคิดว่าตายหรือเปล่า ทำไมไม่รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำไมมันนิ่ง มันดิ่งอย่างนี้ บางคนกลัวนะ ลุกขึ้นเลย กลัวว่าใจจะขาด กลัวว่าจะหมดลมหายใจ ความจริงไม่ใช่ มันคือลมละเอียด แต่ยังหายใจอยู่ แต่ลมละเอียดนั่นเอง ผู้ที่มีลมละเอียดนี้ มันจะมีความปิติ ความสุขเกิดขึ้นมาเป็นองค์ประกอบ ปิติคืออะไร มันอิ่มอกอิ่มใจ บางทีก็ขนลุกซู่ชูชันขึ้นมา บางทีมันก็ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย บางทีร่างกายมันก็ไหว โยกคลอน ปิติ มีตั้ง ๕ อย่าง แล้วก็ความสุข คือมันอิ่มอกอิ่มใจ มันเป็นองค์ประกอบขึ้นมา เมื่อลมละเอียดมันเกิดขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องตกใจ บางท่านตกใจมาก เมื่อกำหนดว่า ขณะนี้ตัวเองไม่มีลมหายใจเสียแล้ว พระไม่อาจจะกำหนดสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งนะ ตอนแรกลมมันสัมผัสจมูกอยู่เลย ตอนนี้ลมมันหายไปไหน มีลมหายใจหรือเปล่า ตอนนั้นมันคือลมละเอียดนะ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องกลัวตาย ถ้ามันละเอียดเช่นนี้ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านก็บอกว่า อย่าไปตกใจ แต่ในขณะนี้นี่เรายังมีลมหายใจ เรายังไม่ตาย มันเป็นเพียงแต่ลมหายใจละเอียดเท่านั้น เราจึงรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีลมหายใจ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คนที่ไม่หายใจนั้นนี่ ได้แก่ คน ๗ จำพวก ที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ใครที่ไม่หายใจบ้างแต่ยังมีชีวิต ท่านบอกว่า ประเภทแรก เด็กที่อยู่ในท้องแม่ ไม่สามารถหายใจเอง แต่อาศัยลมจากแม่ สอง คนดำน้ำ คนดำน้ำปกติที่ไม่ได้ใช้ถังอะไรช่วย คนดำน้ำปกติเขาไม่หายใจ เขาต้องกลั้นหายใจ แล้วก็ สาม อสัญญีสัตว์ คืออสัญญสัตตพรหม พรหมลูกฟัก ที่มีแต่กาย ไม่มีจิต เขาไม่มีลมหายใจ แต่ชีวิตเขายังมี เพราะว่าเป็นรูปพรหมประเภทหนึ่ง แล้วก็ สี่ ผู้เข้าฌาน ผู้เข้าฌานที่มันนิ่ง ลมหายใจแทบจะไม่มี แล้วก็ ห้า คนตาย คนตายนี่ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีลมหายใจ แล้วก็ หก พวกที่อยู่ในรูปภพ อรูปภพ เป็นรูปพรหม อรูปพรหม ไม่มีลมหายใจ แล้วก็ เจ็ด ผู้เข้านิโรธสมาบัติ ลมหายใจจะไม่มี นี่คือท่านอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค ดังนั้น เราไม่ต้องตกใจว่าจะตาย เมื่อลมละเอียดเกิดขึ้นมันยิ่งดี เพราะว่ามันเป็นผลดีของการเจริญอานาปานสติ ต่อมา ท่านบอกว่า กำหนดรู้ พอลมมันละเอียด แล้วปีติมันเกิด ก็กำหนดปีติ หายใจเข้าหายใจออก ผู้ที่จะได้สมาธิแนบแน่นจนเป็นฌานนั้น จะต้องได้ที่ปีติและความสุขเป็นของคู่กันเสมอ เพราะมันคู่กันมา เมื่อสิ่งนี้มา มันก็ต้องมีองค์ประกอบ ปิติสุขนี้มันมีอยู่ทุกๆ องค์ฌาน ปิติสุข วิตก วิจาร เอกัคคตา และก็ ปิติ สุข เอกัคคตา อุเบกขาเอกัคคตานี้ มันจะหมดไป ปิติสุขมันจะหมดไปในฌานสูงๆ และก็อย่างที่ ๖ ก็คือ กำหนดรู้ความสุข ความสุขในที่นี้หมายถึงว่า สุขใจ อิ่มอกอิ่มใจ หายใจเข้าหายใจออก และก็อย่างที่ ๗ กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้าหายใจออก จิตสังขารนั้นก็หมายความว่า เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้มีความเบิกบาน ต่อไป เมื่อจิตสังขารมันสงบระงับ ก็รู้ตามนั้น หายใจเข้าหายใจออก และก็ต่อมา กำหนดรู้จิตของตนหายใจเข้าหายใจออก คือเมื่อจิตโกรธ ก็รู้ว่าจิตโกรธ เมื่อโลภก็รู้ว่าโลภ เมื่อหลงก็รู้ว่าหลง มั่นคงก็รู้ว่ามั่นคง รู้ตามนั้น หายใจเข้าหายใจออก เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นจะปะทะความโกรธด้วยกำลังของสติ สติมันต้องเท่าทัน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นผู้ที่สอบตก ที่บอกว่า กรรมฐานขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ วิปัสสนาบ้ายอ อภิธรรมขี้คุย
กรรมฐานขี้โกรธคืออะไร? ฝึกกรรมฐานมานาน บอกใครต่อใครว่านั่งสมาธิอย่างนั้นอย่างนี้เป็นชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ปฏิบัติมา ๕ ปี ๑๐ ปี แต่พอความโกรธนิดเดียวนี้ ระเบิดเป็นฟืนเป็นไฟเลยนะ ออกมาทางปาก ออกมาทางการกระทำ แสดงว่าสอบตกแล้ว กรรมฐานขี้โกรธ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สติไม่เท่าทัน สันโดษขี้ขอ สันโดษขี้ขอเป็นอย่างไร? บอกคนอื่นว่าตนเองสันโดษ สันโดษคือว่า บางทีอาจจะเป็นประมาณว่า ไม่จับเงินจับทอง แต่ขอนั่นขอนี่ ขอไปเรื่อย ขอกับคนที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ที่ปวารณา ขอไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด สมกับเป็นภิกษุจริงๆ คือเป็นผู้ขอ ขอตะบี้ตะบัน ขอแหลกจนคนนี่กลัวไปเลย เหมือนกับสมัยก่อนที่เล่าไว้ในพระวินัย ชาวบ้านแค่เห็นวัวแดง วัวที่มันมีสีแดงเหมือนจีวรพระ วิ่งหนีกระเจิง เพราะว่ากลัวพระ เพราะว่าพระขอมากเกินไป นี่คือสันโดษขี้ขอ วิปัสสนาบ้ายอเป็นอย่างไร? เจริญวิปัสสนา แต่ยังยินดีพอใจในสรรเสริญ โกรธเมื่อมีคนนินทา แสดงว่าปัญญาไม่เท่าทันแล้ว อภิธรรมขี้คุยคืออะไร? คือเรียนเยอะ เรียนอภิธรรม เรียนธรรมะมากมาย แต่เอามาคุยข่มคนอื่น มานะ ความถือเนื้อถือตัวเต็มหัวใจเลย นี่ก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน สอบตกแล้วในการที่จะทำนี้ ถ้าเรียนก็เหมือนกับติด F หรือไม่ก็เกรด ๐ เพราะมันไม่ผ่าน ปกติคนกรรมฐานต้องเป็นคนที่สงบ เป็นคนที่เย็น ไม่ขี้โกรธ ถ้าสันโดษจริงๆ ต้องไม่ขี้ขอ ผู้เจริญวิปัสสนาจริงๆ นี้ ต้องไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๘ จะยอก็เฉย จะนินทาก็ช่าง ต้องเป็นเช่นนั้น จึงจะได้ผลจากการปฏิบัติจริงๆ ต่อไปอย่างที่ ๑๐ เมื่อจิตมีปราโมทย์ ปราโมทย์ก็หมายถึงว่า ความเบิกบานใจ ก็รู้ แล้วก็หายใจเข้าหายใจออก อย่างที่ ๑๑ ทำจิตของตนให้ตั้งมั่น หายใจเข้าหายใจออก ๑๒ ทำจิตให้คลาย เมื่อจิตมันคลาย ความยึดมั่นถือมั่นก็รู้ตามนั้น หายใจเข้าหายใจออก ๑๓ เห็นอนิจจังความไม่เที่ยง ความไม่เที่ยงของอะไร ของกาย ของใจ ของสิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น แม้กระทั่งความโกรธ เวลามันโกรธขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาพักหนึ่ง มันตั้งอยู่ แล้วมันก็หายไปในที่สุด เรารู้เราเห็นตามนั้น นี่คือเห็นอนิจจัง แล้วก็ต่อมา เห็นวิราคะ ความคลาย คลายของความอยากในสิ่งนั้น สิ่งนี้ อยากเห็น อยากดู อยากได้กลิ่น อยากรู้รส อยากถูกต้องสัมผัส เมื่อมันคลายก็รู้ แล้วก็หายใจเข้าหายใจออก อย่าง ๑๕ เห็นความดับ ดับในที่นี้คือ ดับความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แล้วก็หายใจเข้าหายใจออก อันสุดท้ายปฏินิสสัคคะ สลัดคืน เสียสละหายใจเข้าหายใจออก ตรงนี้อธิบายสั้นๆ ของอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ๑๖ อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการหายใจให้เป็นประโยชน์ แบบนี้ถึงเรียกว่าคนหายใจเป็น ไม่ใช่แบบว่าคนหายใจที่ปล่อยทิ้งปล่อยขว้าง แบบโมฆะ แบบสูญเปล่า
เมื่ออานาปานสติ สติอยู่กับลมหายใจ ทีเราได้เจริญแล้ว บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว คือทำไปบ่อยๆ ต่อเนื่อง จนทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ นั่นหมายความว่า ผลของการปฏิบัติอานาปานสตินี้ เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ คือ ประการแรกเป็นผู้สงบระงับ มันดูนิ่ง ดูผ่องใส ดูไม่เป็นคนแบบกระวนกระวาย กระโดกกระเดก เป็นคนไม่เรียบร้อย มันจะชำระใจให้เป็นคนสงบระงับโดยอัตโนมัติ อย่างที่สอง เป็นผู้ประณีต และก็ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ทำอะไรก็ทำละเอียด ไม่ใช่ทำแบบพอกันที ปล่อยไปที ทำให้มันเสร็จๆ อาการอย่างนี้จะไม่มี สาม ไม่รดน้ำก็เย็น คือเป็นคนใจเย็น ความโกรธเกิดขึ้นก็โกรธไปสิ มันก็หาย มันก็กระเด็นออกไป มันไม่มาเข้าสู่ใจของท่านได้ ไม่รดน้ำก็เย็น สี่ มีความสุขเป็นเครื่องอยู่ สมาธิสุข ฌานสุขนี้ มีความสุขอย่างนี้เป็นเครื่องอยู่ แล้วก็อย่างที่ห้า สามารถทำอกุศล ความไม่ดีต่างๆบาปต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแล้ว มันก็หายไปไว มีคนไปถามครูบาอาจารย์ว่า ท่านยังโกรธไหม ท่านก็จะตอบ แบบสอนให้นะว่า มี แต่ไม่ยึด มี แต่ไม่เอา มี แต่ไม่ถือ ความโกรธ อารมณ์ต่างๆ ที่มันมากระทบนี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อมันเข้ามานี่ มันจะกระเด็นออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ เพราะมันมาเข้าสู่ใจท่านไม่ได้ เพราะท่านมีเครื่องอยู่ เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ความสุขชนิดนี้ เป็นความสุขยิ่งกว่ากาม ที่เราทั้งหลายหลงใหลพอใจในโลกนี้ พอใจในการดู ในการเห็น รูปก็สวย เสียงก็ต้องเพราะ กลิ่นก็ต้องหอม อาหารก็ต้องอร่อย ถูกต้องสัมผัสต้องดี คิดตามใจตามอารมณ์นี้ สุขเหล่านี้มันเป็นเพียงแค่กามสุข สุขแบบโลกๆ เป็นอารมณ์ของมนุษย์ เป็นอารมณ์ของสวรรค์ สุขขั้นตอนมา สมาธิสุข ฌานสุข เป็นความสุขแบบพรหม แต่ยังไม่ถึงความสุขแบบพระอริยะเจ้า พระอริยะเจ้าต้องมีนิพพานสุข สุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน
ดังนั้นแล้ว โดยสรุปก็คือว่า การเจริญอานาปานสติ สติอยู่กับลมหายใจนี้ มีคุณประโยชน์มากมาย ซึ่งเห็นได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่งผลต่อการพัฒนากาย วาจา ใจ ให้มีสติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัยมั่นคง มีความจำดี และถูกต้องแม่นยำด้วย คนเรียนเก่ง คนจำแม่น คนอ่านอะไรรอบเดียวจำได้ หรือว่าประสบความสำเร็จในการเรียน ประสบความสำเร็จในการทำงาน เพราะสมาธิเป็นพื้นเป็นฐาน เด็กไทยบางคนที่ไปแข่งขันคณิตศาสตร์ แข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกชนะมา เขาก็ให้สัมภาษณ์มาว่าเพราะอะไร? เพราะเขามีสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีสมาธิ ก็จะเป็นไฮเปอร์คือ อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ต้องทำนู่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เป็นไฮเปอร์ อยู่กับตัวเองไม่ได้ อยู่กับความนิ่งไม่ได้ อยู่กับความว่างไม่ได้ มันต้องมีเครื่องอยู่ มันต้องเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา มันต้องดูนั่นดูนี่ ดูหนังฟังเพลงตลอด เพราะอะไร? เพราะไฮเปอร์ เพราะว่าสมาธิสั้น เป็นเช่นนี้แล้วนี่ เมื่ออายุมากขึ้นๆ จะไม่มีเครื่องอยู่ จะเป็นคนที่หลักลอยคอยงานสังขารเสื่อมไปเรื่อย เพราะไม่มีเครื่องอยู่นั่นเอง ดังนั้น สมาธิฝึกให้ดี ฝึกให้มาก กระทำให้มาก ย่อมมีอานิสงส์มากมาย มีความจำดีถูกต้องแม่นยำ และรักษาโรคภัยบางชนิดให้หายได้ โดยเฉพาะโรคนอนไม่หลับ โรคเครียด โรคจิตโรคประสาทนี่มันหาย ถ้าสมาธิเกิด มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน สามารถเผชิญหน้าต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างสุขุมรอบคอบ อีกทั้งความสุขนี้ ที่มันสุขใจนี้ มันจะเป็นความสุขที่หาไม่ได้จากที่ไหน การเจริญสติจึงมีประโยชน์ มีอานิสงส์มากอย่างนี้ ทำให้จิตตั้งมั่น มีสมาธิ พัฒนาปัญญา อุปมาเหมือนกับน้ำใส ที่ตะกอนมันนอนก้น ย่อมมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใต้น้ำได้ หรือเหมือนกับการกกไข่ของแม่ไก่เป็นเวลานานๆ ย่อมจะทำให้ยางเหนียวคือตัณหา คือความอยากในกาม อยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น อยากเด่น อยากดัง อยากสารพัดเหล่านี้ มันเหือดแห้งไป ยางเหนียวเหล่านี้มันแห้งสนิทไป ก็จะทำให้ลูกไก่ที่มันอยู่ในฟองไข่นี้ มันมีปากที่แข็งขึ้น เล็บมันแข็งขึ้น เหมือนวิปัสสนาญาณที่มันแก่กล้าขึ้นนี้ มันก็จะสามารถเจาะฟองไข่ออกมาเห็นโลกได้ เหมือนกับเราทั้งหลายนี้ เมื่อปัญญา วิปัสสนาปัญญาแก่กล้าขึ้น จะสามารถเจาะ เจาะอะไรล่ะ? เจาะวัฏสงสาร เจาะวงจรของ cycle of life วงจรของปฏิจจสมุปบาท เจาะวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดออกไปได้ จึงเป็นโลกุตตระ เป็นการพ้นจากโลกอย่างแท้จริง ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ อินทรีย์เราก็จะแก่กล้า ทำงานก็มีความสุขในการทำงาน เราก็จะได้เสียสละ ได้ธรรม มรรคมีองค์ ๘ จะได้คิด พูด ทำ มีความสุขในการทำ
ทุกอย่างต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราทำงานก็มีความสุข ทำอะไรก็มีความสุข อยู่กับลมหายใจ จึงเป็นการปฏิบัติ เป็นศิลปะแห่งชีวิตที่ประเสริฐ อันมาจากตัวศีล ศีลนี่แหละเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโลกนี้ มันก็เป็นแค่ทางผ่าน เราไม่ติด ไม่ยึด ไม่หลง มนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก มันเป็นทางเหยียบผ่านเฉยๆ เราจะไม่ติด ไม่หลง ไม่ข้อง มีสติสัมปชัญญะด้วยอานาปานสติ ใจจึงจะไม่หลง ใจจะมีพลัง เพราะเรารู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เป็นไปตาม มรรคผลนิพพานและก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานอย่างแท้จริง
ท้ายที่สุดนี้ขอฝากว่า ชีวิตทุกคนย่อมแปรผัน สิ่งสำคัญอย่าประมาท สิ่งผิดพลาดเป็นบทเรียน สิ่งพากเพียรย่อมมีผล สิ่งช่วยตนคือปัญญา สิ่งบูชาคือบุญคุณ ผู้ค้ำจุนคือพ่อแม่ ผู้เสริมแก้คือครูบาอาจารย์ สิ่งบันดาลคือเงินตรา ยอดปรารถนาคือความสุข สิ่งเปลื้องทุกข์คือศีลทาน สิ่งเป็นมารคือความชั่ว พาเมามัวคือความอยาก พาลำบากคือเกียจคร้าน ใจเบิกบานคือไม่มีหนี้ พาป่นปี้คืออบายมุข พาให้สุขคือธรรมะ ยังไม่หมดภาระคือยังไม่ตาย เลิกวุ่นวายคือได้พระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอกุศลทั้งหลายที่ทุกท่านได้กระทำในวันนี้ จงสำเร็จแก่หลวงพ่อโฉลม ธีรปัญโญ จงสำเร็จแก่ผู้อำนวยการ พรหม สกุลจีน หากท่านมีความทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ หากท่านมีสุข ขอให้มีสุขยิ่งๆ ขึ้นไปในสุคติโลกสวรรค์ มรรคผล พระนิพพาน ด้วยอำนาจพระพุทธรัตน์กำจัดทุกข์ ให้เจริญสุขศิริศักดิ์เป็นหลักฐาน ด้วยอำนาจพระธรรมรัตน์กำจัดมาร ให้สืบสานผุดผ่องพ้นผองภัย ด้วยอำนาจพระสังฆรัตน์กำจัดโรค ให้เสื่อมโศกสืบชนจนเกินขัย ด้วยอำนาจพระไตรรัตน์ดังฉัตรชัย เจริญในมรรคผลนิพพาน ทุกท่านเทอญ