แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ทางสายเอกถึงความดับทุกข์ ตอนที่ ๑ พัฒนาสติธรรมดาให้เป็นมหาสติ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภควะโต อะระหะโตสัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง ขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมพุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน ให้ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ มนุษย์เรานี้คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานจุดมุ่งหมายปลายทางคือพระนิพพาน พระนิพพานอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเราที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราจึงต้องเพียรในการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะโอวาทที่เป็นเหมือนกับคำสั่งเสียของพระพุทธเจ้าผู้เป็นองค์สมเด็จพ่อของพวกเรา ผู้ที่เป็นพุทธะ ผู้ที่เป็นชาวพุทธทั้งหลาย นั่นก็คือพระพุทธองค์ทรงสั่งไว้นะว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอพวกเธอจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ความไม่ประมาทในที่นี้ก็หมายถึงตัวสติสัมปชัญญะนั่นเอง ที่เป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก โดยเฉพาะเรื่องสติสัมปชัญญะนี้ ที่ได้แสดงมาถึง ๒ วัน โดยมากพระพุทธองค์จะตรัสไว้ชัดเจนก็คือ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ความรู้ที่เป็นสติปัฏฐานภาวนา ท่านก็อธิบายว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขบ้าน หรือว่าสุนัขจิ้งจอก คือหมาบ้าน หรือว่าหมาป่านี้ เมื่อมันเดินมันก็รู้ว่ามันเดิน เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันมีสติเหมือนกับแมวตะครุบหนู เหมือนกับนายพรานจะยิงนกจะยิงสัตว์ ก็มีสติ แต่ว่าสติแบบนั้นเป็นสติแบบสัญชาตญาณ ไม่ได้เป็นสติที่พระพุทธเจ้าทรงหมายถึง ที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าการรู้แบบนั้น สติที่เป็นสัญชาตญาณแบบนั้น มันไม่สามารถละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เรา เขา ได้ ไม่สามารถถอนอัตตสัญญา คือความสำคัญว่าเป็นตัวตน เป็นตัวกู ของกูได้ มันถอนไม่ออก แล้วมันก็ไม่ได้เป็นกรรมฐาน ไม่ได้เป็นสติปัฏฐานภาวนา แต่ว่าการรู้ที่เป็นสติ ที่เป็นสัมมาสติ เป็นสติสัมปชัญญะจริงๆ นี้ สัตตูปลัทฺธิง ปะชะหะติ สามารถละความเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ในขณะที่เรามีจิตจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเช่น จดจ่ออยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข ที่เป็นอานาปานสติ ที่เป็นพุทโธ สติที่อยู่กับลมหายใจ ในขณะนั้น สติที่มันจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับอาการหายใจเข้า หายใจออกจริงๆ นี้ ในขณะนั้น มันมีแต่เพียงจิตผู้รู้ ผู้ดู มีแต่เพียงลมหายใจ คือมันสามารถละความเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ไปได้ อัตตะสัญญัง อุคฆาเฏติ สามารถถอนความสำคัญว่าเป็นตัว เป็นตน ความยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นตัวกู ของกู ถอนออกไปได้ชั่วขณะนั้น แล้วก็ กัมมัฏฐานัญเจวะ สติปัฏฐานะภาวนา จะ โหติ. เป็นกัมมัฏฐาน และเป็นสติปัฏฐานภาวนา ดังนั้นแล้ว สติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เป็นทางที่สำคัญมาก สำคัญที่สุด สำคัญจริงๆ เพราะเป็นทางสายเดียว ทางสายนี้เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศก ความร่ำไรรำพัน เพื่อดับความทุกข์ แล้วก็ความโทมนัส เพื่อบรรลุสิ่งที่ควรรู้ คืออริยมรรค แล้วก็เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางสายนี้ก็คือ ตัวสติปัฏฐานนั่นเอง
มหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องเกี่ยวกับการเจริญสติ การเจริญสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่แคว้นกุรุ ก็คือ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียในปัจจุบัน ณ นิคมชื่อว่า กัมมาสธัมมะนิคม ตอนนั้นนี้ ทำไมพระพุทธองค์จึงไปแสดงที่นั่น ทั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เชตวัน จากเชตวันไปแคว้นกุรุนี้ ถ้าวัดระยะทาง พันกว่ากิโลเมตร ไกลมาก นั่งเครื่องบินก็ประมาณเกือบๆ ๒ ชั่วโมง ไกลขนาดนั้นทำไมพระพุทธองค์ถึงไปถึงที่นั่นได้ เพราะว่า ทรงปรารภถึงว่า ชาวกัมมาสธัมมะนิคม แคว้นกุรุนี้ เป็นผู้มีความสนใจในการเจริญสติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้กระทั่งพวกทาสกรรมกร ผู้ที่เป็นบริวารชนนี้ เวลาพูดคุยกัน ก็ยังคุยกันแต่เรื่องเจริญสติเป็นส่วนใหญ่ เล่ากันว่า ชาวแคว้นกุรุนี้ ไม่ว่าจะเป็นใคร มีร่างกายแล้วก็จิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ เพราะว่าฤดูกาลเป็นที่สบาย อุตุสัปปายะ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป แล้วก็ ชาวแว่นแคว้นกุรุนี้ มีกำลังปัญญาร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์อุดหนุน สามารถจะรับเทศนาที่ลึกซึ้งนี้ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุนี้ จึงเสด็จไปที่แค้วนกุรุ ตรัสมหาสติปัฏฐานสูตรอันลึกซึ้งแก่ชาวกุรุ เปรียบเสมือนกับคนที่ได้ผอบทองคำนี้ เป็นผอบทองคำอย่างดีที่จะสามารถบรรจุดอกไม้นานาชนิด แล้วก็ของมีค่าไว้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ชาวแว่นแคว้นกุรุก็จะสามารถรับธรรมเทศนาอันสมบูรณ์นี้ได้ เล่ากันว่า ณ สถานที่ที่แคว้นกุรุนี้ คนทั้งหลายตั้งแต่ราชามหากษัตริย์ คนที่เป็นใหญ่ โดยที่สุดแม้กระทั่งคนรับใช้ คนงานทั้งหลาย เวลาคุยกันก็จะคุยกันเรื่องสติปัฏฐานทั้งนั้นแหละ แม้แต่ในที่ท่าน้ำ ที่กรอด้าย เป็นต้น หลังจากที่ได้ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าแล้ว ตามประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ของเรา ท่านก็เล่าว่า หลวงปู่มั่นนี้เคยเกิดเป็นอำมาตย์อยู่ที่แว่นแคว้นนี้นี่เอง เกิดที่แคว้นกุรุนะ หลวงปู่เทสก์ก็เกิดเป็นหลานของท่าน ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่แคว้นกุรุเพื่อไปแสดงมหาสติปัฏฐาน แสดงธรรมจบลง คนส่วนใหญ่เอามหาสติปัฏฐานของพระพุทธเจ้านี้มาเจริญสติ มหาอำมาตย์ท่านนั้นนี้ ที่เป็นอดีตชาติของหลวงปู่มั่น เห็นพระพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยพุทธลักษณะด้วยอาการ ๓๒ ลักษณะแห่งมหาบุรุษสมบูรณ์ทุกประการ อยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง ท่านก็เลยปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าโคดมของเรา แล้วท่านก็เวียนว่ายตายเกิดมา ๒ พันกว่าปี จนท่านมาเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหลวงปู่มั่น จนบำเพ็ญเพียรถึงขั้นขีดสุด เห็นแต่ภพชาติของท่านที่มันน่ากลัว จะนั่งสมาธิก็เห็น เดินจงกรมก็เห็น เห็นอะไร? เห็นลูกหมา ดูดนมแม่ ปกติสมาธิที่สูงขนาดนี้ นิมิตมันจะไม่ปรากฏอีกแล้ว แต่ทำไมท่านถึงเห็นแบบนี้ ท่านก็เลยมองย้อนไปถึงลูกหมาตัวนี้คือใคร ที่แท้แล้วคือตัวของท่านเอง ท่านเกิดเป็นลูกสุนัขหลายภพหลายชาติด้วยกัน ท่านจึงเกลียดจึงกลัวในภพภูมิ เกลียดกลัวในวัฏสงสาร เลยถอนพุทธภูมิ ไม่เป็นพระพุทธเจ้าอีกแล้ว ถอนพุทธภูมิท่านจึงได้เป็นพระอรหันต์ เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายธุดงค์กรรมฐานของประเทศไทย ท่านก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าในคราวครั้งนั้น
หลังจากที่ชาวกุรุได้ฟังมหาสติปัฏฐานสูตรของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นใคร โดยที่สุดแม้กระทั่งคนรับใช้ คนงานทั้งหลาย ก็พูดกันแต่เรื่องสติปัฏฐาน ๔ แม้แต่ที่ท่าน้ำ ที่กรอด้ายเป็นต้นนะ ไม่มีการพูดถึงเรื่องที่ไร้ประโยชน์เลย ถ้าผู้หญิงบางคนถูกถามว่า แม่หญิง เธอใส่ใจด้วยสติปัฏฐานข้อไหน ถ้าหากนางไม่พูดอะไร ชาวกุรุก็จะติเตียนนางว่า ชีวิตของเธอนี่เป็นอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว อยู่ด้วยตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก อยากทำอะไรก็ทำ อยากดูก็ดู อยากฟังอะไรก็ฟัง อยากดมอะไรก็ดม อยากกินอะไรก็กิน ตามใจตามอารมณ์ไปหมด ไม่มีการเจริญสติเลย มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว น่าสงสารจริงๆ จากนั้น ชาวเมืองก็จะสอนผู้หญิงคนนั้นว่า เธออย่าทำอย่างนี้ต่อไปอีกนะ เพราะว่ามันประมาทเกินไป แล้วก็ให้เขาตั้งใจเรียนสติปัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง แต่ถ้าหากผู้หญิงคนใดพูดว่า ดิฉันใส่ใจในการเจริญสติข้อนั้นข้อนี้ สนใจในการดูลม สนใจในการเดินจงกรม สนใจในการดูจิต สนใจในการเจริญกรรมฐานอย่างนั้นอย่างนี้ คนก็จะยกย่อง แล้วก็สรรเสริญด้วยคำต่างๆ ว่า ชีวิตของเจ้านี้ เป็นชีวิตที่ดีเหลือเกิน สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่ประเสริฐ ได้มาพบกับพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ไม่เสียชาติที่ได้เกิดมา จะพูดแบบนี้
ตรงนี้จะเห็นได้ว่า ชาวกุรุในสมัยนั้น สนใจในการเจริญสติปัฏฐาน แล้วการเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะนี้ ตามแนวสติปัฏฐาน นับเป็นอุบายวิธีดับทุกข์ด้วยการระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน ที่มีแค่กายแล้วก็ใจจริงๆ นะ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่พึงยึดมั่นถือมั่น ถ้าบุคคลรอบรู้ว่ากายแล้วก็ใจนี้ มันดำรงอยู่ชั่วขณะตามเหตุปัจจัย โดยไม่มีอะไรที่มันจะถาวร ที่จะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ เป็นคนรัก เป็นสามีของเราภรรยาของเราได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นธรรมชาติของกายของใจว่ามันไม่เที่ยง มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ตั้งแต่เกิดจนเป็นเด็ก เป็นเด็กจนหนุ่ม เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นวัยรุ่น จนกลางคน จนกระทั่งแก่ชรา มันเปลี่ยนแปลงตลอดนะ สังเกตง่ายๆ ดูภาพถ่ายของตัวเอง หรือไม่ก็ก้มลงมามองที่ร่างกายของตัวนี้ จากเมื่อก่อนที่มันเคยเต่งตึง มันก็เหี่ยวย่น จากที่มันเคยผิวหนังผุดผ่อง มันก็จะมีกระมีริ้วรอยเกิดขึ้นมามากมาย มันแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของร่างกาย มันเป็นทุกข์เป็นอย่างไร เป็นทุกข์คือมันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อย่างเวลาเรานั่งกันนานๆ นี้ ปวดแข้งปวดขา หรือไม่ก็ง่วง เหล่านี้มันก็เป็นทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะความง่วง ทุกข์เพราะความปวดแข้งปวดขา ดังนั้น จึงต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ สับขาซ้าย สับขาขวา นั่งยุกยิกๆ เพื่อกำจัดทุกข์ที่มันบีบคั้นในขณะที่นั่งนานๆ เดินนานๆ นอนนานๆ ที่มันเป็นทุกข์ ที่มันบีบคั้นนี้ เห็นไหมว่าทุกข์นี่มันอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว แล้วก็มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันเป็นอนัตตา เมื่อเห็นเช่นนี้บ่อยเข้าๆ ปัญญาที่เป็นวิปัสสนาก็เกิด จิตก็จะละด้วยปัญญาจริงๆ จะได้เสียสละออกไป จะได้เป็นอิสระจากทุกข์และก็กิเลสได้อย่างแท้จริง
หลักชัยของพระพุทธศาสนาเราคือการดับทุกข์ แล้วก็มีนโยบายหลักก็คือ การเจริญสัมมาสติ ธรรมชาติในตัวมนุษย์นี้ มีขุมทรัพย์อยู่ในตัวคือ อริยสัจ ๔ ที่มันซ่อนอยู่ภายในร่างกาย ที่มันกว้างศอก ยาววา หนาคืบ แล้วก็มีใจครองนี่เอง การดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์นี้ด้วยการเจริญสติสัมปชัญญะ จะทำให้ค้นพบประจักษ์แจ้งว่า มันมีแต่ทุกข์ มันมีแต่เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ มันอยู่ตรงนี้นี่เอง ภายใต้ศักยภาพของมนุษย์นี้ สามารถดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับดวงดาว หรือว่าอำนาจเหนือมนุษย์ใดๆ ดังนั้นแล้ว การเจริญสติสัมปชัญญะนี้ จึงเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นการอบรมจิตให้เกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นไตรลักษณ์โดยประจักษ์ สติที่ซึมซับรับรู้สภาวะธรรมอยู่เสมอ สามารถทลายกำแพงแห่งสมมุติบัญญัติ สมมติอย่างไง? เราเกิดมาก็เห็นสมมุติ เติบโตมาก็เรียนรู้แต่สมมติ สมมติว่าคนนี้เป็นพ่อ คนนี้เป็นแม่ สมมุติว่าเป็นนายนั้นนางนี้ สมมุติว่าเป็นนาย ก นาง ข สมมุติว่าเป็นโยม สมมุติว่าเป็นพระ สมมุติว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แม้กระทั่งทุกส่วนของร่างกายก็มีแต่สมมุติ เช่น มือนี้ สภาพแบบนี้เรียกว่ามือ ประเทศไทยเรียกมือ ภาษาอินเดียเรียก haath บาลีก็เรียกหัตถะ ภาษาอังกฤษเรียก Hand ภาษาจีน ภาษาลาว ภาษาเขมร ก็มีภาษาเรียกของเขา กี่ร้อยกี่พันภาษา สรุปมันก็คือ สภาพแบบนี้มันเรียกว่ามือ ทั้งๆ ที่มือเป็นแบบนี้ มันก็ยังมีตัวย่อยเข้าไปอีกว่า นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย แล้วก็มีข้อนิ้ว มีอุ้งมือ มีเส้นมือ มีเนินจันทร์ อังคาร เนินศุกร์ ยังมีเส้นวาสนา เส้นปัญญา เส้นโน่นเส้นนี่สารพัดที่จะสมมติกันขึ้นมา แต่สุดท้ายมันคืออะไร มันคือการประชุมขึ้นมาของธาตุทั้ง ๔ แล้วก็สมมุติรวมกันเรียกว่าร่างกาย แม้กระทั่งมือนี้ก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับรถยนต์นี้ มันมาจากองค์ประกอบต่างๆนะ มาจากล้อ มาจากแกน มาจากส่วนนั้นส่วนนี้มารวมกันเป็นรถยนต์ แต่พอแยกชิ้นนั้นออกชิ้นนี้ออก ความเป็นรถยนต์ก็หายไป ร่างกายมนุษย์ก็เช่นเดียวกันนะ เมื่อแยกผมออก แยกขน เล็บ ฟัน หนัง ออก แยกจมูก ตา แยกเนื้อ แยกหนังออก ความเป็นคนนั้นคนนี้มันก็ไม่เหลือ สมมุติมันก็ไม่เหลือ แต่ส่วนใหญ่นี้ สมมุติบัญญัติ สมมติมันมักจะปิดบังปรมัตถ์ คือความจริงแท้ๆ เอาไว้ ปิดบังความจริงเอาไว้ ไม่เห็นความเป็นจริง อย่างเช่น พอเรามองเห็นมือนี้ ก็เห็นเป็นมือไปหมดนะ มือเรา มือเขา มือพระ มือเณร มือเจ้าอาวาส หรือว่าถ้าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะ มือเจ้าคณะนั้น เจ้าคณะนี้ มือผู้หญิง มือผู้ชาย มือทหาร มือตำรวจ มันสมมติไปหมด สมมุติบัญญัติแบบนี้ มันบังเราไว้มาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงตาย มันจำอย่างนี้ตลอดสิ่งที่เป็นสมมติ พอติดในสมมติ มันก็ไม่เห็นวิมุตติ ไม่เห็นความจริง ไม่เห็นของจริง
สิ่งที่จะให้เห็นของจริงแท้ๆ จริงๆ ได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงวิธีเอาไว้ นั่นก็คือ การเจริญสติ เจริญสัมปชัญญะต้องรู้เนื้อรู้ตัว ต้องเห็นจริงๆ ตามความเป็นจริงนะ พระพุทธเจ้าจะอุบัติเกิดขึ้นมากี่พระองค์ๆ จนกระทั่งพระองค์ปัจจุบัน ก็สอนเรื่องสติสัมปชัญญะ สอนเรื่องปัญญา สอนเรื่องวิปัสสนา คืออันเดียวกัน เพื่อที่จะไปทำลายกำแพงแห่งสมมติ เพื่อจะได้ถึงวิมุติหลุดพ้น หลักการฝึกสติ ในการฝึกสติ หรือทำสติให้เกิดขึ้นนั้น เราควรทำให้เกิดมีขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเราทำอะไรก็แล้วแต่ ทุกๆ อิริยาบถ ให้เราอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน กำหนดจดจ่อต่อเนื่องเท่าทัน กำหนดอย่างไร? กำหนดก็คือ การเจริญสติอยู่กับปัจจุบัน ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น เจริญสติอยู่นั้น จดจ่ออยู่นั้น มันอยู่กับปัจจุบันขณะจริงๆ มันไม่มีอดีต มันไม่มีอนาคต ท่านบอกว่า เปรียบเหมือนกับผู้ชายที่ถือหม้อที่เต็มไปด้วยน้ำมัน หม้อที่มันเต็มน้ำปริ่มมาเลยนี้ เดินมา แล้วก็มีคนถือดาบตามมาด้วยขู่ว่า ห้ามทำน้ำมันหกนะ ถ้าทำหกจะโดนฟาด จะโดนฟันทันที คิดว่าชายคนนั้นเขาจะประคองน้ำมันดีไหม? เขาจะถือด้วยอย่างดีเลย หรืออุปมาง่ายๆ เหมือนเรา ถือน้ำเต็มแก้วนี้ เราจะกินอย่างไรไม่ให้น้ำหก ไม่ให้น้ำมันกระเด็นเปื้อนผ้า ก็ต้องค่อยๆ ประคองจนกระทั่งมาถึงปาก แล้วก็ค่อยๆ ดื่ม ในขณะที่เราประคองจนน้ำมาถึงปากนะนี้ จิตเราจดจ่ออยู่กับอาการจริงๆ มันไม่วอกแวก นี่แหละคือการกำหนด จดจ่อคืออะไร? จดจ่อคือการจับจ้องอารมณ์อย่างแนบแน่น ไม่ใช่รู้อย่างผิวเผิน เหมือนกับการเล็งธนู แล้วยิงให้มันพุ่งเข้าไปสู่เป้าด้วยกำลังแรงธนู จนมันปักตรึงอยู่กับที่ ให้มันจดจ่ออยู่อย่างนั้น อยู่กับอารมณ์แนบแน่นกันอย่างนั้น แล้วก็ต่อเนื่อง ต่อเนื่องคือให้มีสติ ไม่ขาดช่วงทุกๆ ขณะ เหมือนการหมุนอย่างต่อเนื่องของพัดลม ที่มันค่อยๆ หมุนแล้วก็แรงขึ้นแรงๆ จนมันให้ความเย็น ถ้ามันไม่ต่อเนื่องนะ ความเย็นมันก็ไม่เกิด หรือเหมือนกับเรากำลังจะหุงข้าวนี้ ไปเสียบปลั๊ก แล้วก็พอมันกำลังเดือดได้ที่ก็ถอดออก แล้วก็ไปเสียบใหม่ พอมันเดือดได้ที่ถอดออกอย่างนี้ รับรองว่าข้าวมันก็ไม่สุก ความต่อเนื่องจึงสำคัญมาก แล้วก็สุดท้ายคือเท่าทัน กำหนดอารมณ์ทุกอย่างให้ทันท่วงทีในขณะปัจจุบัน อะไรชัดรู้ตามอันนั้น ตอนนี้เจ็บ ตอนนี้ปวด ตอนนี้คัน ตอนนี้คิด ตอนนี้ฟุ้ง ตอนนี้เครียด ตอนนี้ง่วง ตอนนี้จะหลับ รู้เท่าทันอาการนั้นๆ ไม่ปล่อยให้เผลอสติลืมกำหนดรู้ แล้วก็ไม่ปล่อยให้จิตเผลอไผลเลื่อนลอยไป กำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง เท่าทัน นี่แหละคือหลักการฝึกสติง่ายๆ
แล้วประโยชน์ของการฝึกสติคืออะไร? ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในสภาวะที่เราต้องการ โดยเป็นการตรวจตราความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการเอาไว้ กันสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป ตรึงกระแสความคิดให้เข้าที่ ทำให้จิตเป็นสมาธิให้ง่าย เช่น เวลาเราจะดูหนังสือ อ่านหนังสือ ก็สนใจที่ติดตามไปตลอด ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิดเรื่องอื่น ก็จะทำให้สมาธินี้มันจรดนิ่ง แม้กระทั่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำนี้ มันก็ต้องจรดจดจ่อ อยู่กับอารมณ์ มันจึงจะสงบตั้งมั่นละเอียดอ่อนไปตามลำดับ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เพราะฉะนั้น ที่ใดมีสติที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิที่นั่นจึงมีสติ สัมมาสติสัมมาสมาธิมันจึงเป็นกระบวนการที่มันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในองค์มรรค
แล้วก็ประการต่อมา ประโยชน์ของสติก็คือ ทำให้ร่างกายจิตใจนี้อยู่ในสภาพเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ต่างๆ เช่น ความโกรธเคือง ความลุ่มหลงมัวเมา เมื่อไม่เป็นทาสของตัวเอง ไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา มันจึงมีความโปร่งเบาผ่อนคลายเป็นสุขโดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญหน้าความเป็นไปต่างๆ แล้วก็จัดการกับสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นอยู่อย่างถูกต้องและเหมาะสม อย่างที่สาม ทำให้ความคิดการรับรู้ ขยายวงกว้างออกไปไม่มีที่สิ้นสุดเพราะไม่ถูกบีบคั้นด้วยกิเลสต่างๆ จึงทำให้ความคิดเป็นอิสระและมีพลัง แต่มีสติควบคุมเหมือนกับเรือที่มันมีหางเสือคอยควบคุมเป็นอย่างดี ย่อมสามารถแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการโดยไม่วกวน สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดย่อมเกิดปัญหา ก็คือความหมายนี้ แล้วก็ทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญานี้ ดำเนินไปได้เต็มที่ เพราะมีความคิดที่เป็นระเบียบ และมีใจซึ่งมีพลังเข้มแข็ง จึงเป็นการเสริมสร้างปัญญาให้บริบูรณ์ และพฤติกรรม สามารถชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพราะมีสติจึงไม่เผลอ ไม่เกลือกกลั้วบาปอกุศลธรรม ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยปัญญา แล้วก็เป็นไปด้วยเหตุผลที่บริสุทธิ์
การฝึกสติสัมปชัญญะจะทำให้เป็นคนที่ไม่ประมาท มีสติระลึกถึงการละเว้นความชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจอยู่ในเนืองๆ ดังนั้น จะไปทำความชั่วจะทำบาปอะไรเข้านี่ สติสัมปชัญญะ สติมันจะเป็นเบรก มันจะคอยยั้งเอาไว้ว่า อย่าไปคิดนะ อย่าไปพูดนะ อย่าไปทำนะ มันเป็นเบรก หรือว่าเผลอคิดไป เผลอพูดไป สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ปัญญามันก็จะมา มันจะสั่งให้หยุดทันที เพราะมีเบรกแล้ว สัมปชัญญะนี้ เหมือนกับคนที่เหยียบเบรก ต้องเหยียบเบรกให้ทันสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น มันจะหยุดทันที ความคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วนี้ แล้วก็จะมีสติระลึกถึงพฤติกรรมที่มันเป็นความดี ทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะทำอะไรก็จะมีสติระลึกได้เสมอ ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้น เป็นบุญ เป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ฉลาด จึงจะทำลงไป มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด ระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมินี้ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มันมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้ จะเป็นผู้ที่กลัวต่อบาป กลัวต่อกรรม เป็นผู้ละอายชั่วกลัวต่อบาป มันกลัวนะ มันจะไม่กล้าที่จะทำความชั่วอีกต่อไป แล้วก็มีสติระลึกถึงความทุกข์อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่า ถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ มันก็ต้องมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป จึงหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้เข้าพระนิพพานได้ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้หมดทุกข์ หมดปัญหา หมดสิ้นกันที เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ ย่อมไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่กำหนัด คือไม่อยากในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความอยาก ไม่ขัดเคืองขุ่นข้องหมองใจ ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคืองขุ่นข้องหมองใจได้ในที่สุด และมีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนา ที่จะละราคะ ราคะคือความยินดีพอใจในกาม รูปก็สวย เสียงก็ไพเราะ กลิ่นก็หอม อาหารก็อร่อย ถูกต้องสัมผัสก็ดี คิดตามใจตามอารมณ์นี้ พอมันมีสติเช่นนี้ มันจะพยายามที่จะละราคะอย่างนี้ พยายามที่จะละโทสะ แล้วก็ไม่เอากับโมหะ ให้มันขาดไปจากสันดาน ระลึกได้เสมอว่า การที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้นขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็งทรงพลัง เอาชนะความทะยานอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุด นั่นก็คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ ๒ อันนี้ ที่ใดมีสติที่นั่นมีสมาธิ ที่ใดมีสมาธิที่นั่นมีสติ มันต้องเกิดคู่กัน เป็นฐานของกันและกัน สติกับการดำเนินชีวิต
การฝึกสติสัมปชัญญะเป็นสิ่งที่เราควรฝึกให้มีในทุกๆ การกระทำ และในทุกๆ อิริยาบถ ทุกครั้งที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกขณะที่เคลื่อนไหว นอกจากที่เราหลับเท่านั้นแหละ เราสามารถทำสติสมาธิ สติสัมปชัญญะให้เกิดขึ้นได้ทุกๆอิริยาบถ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ชัดเจนแล้ว “อุจจาระปัสสาวะกัมเม สัมปะชานะการี โหติ” แม้กระทั่งจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ “สัมปะชานะการี” คือ ให้ทำสัมปชัญญะ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่กับอาการนั้นๆ เมื่อรู้เช่นนี้ ปัญญาที่มันเป็นปัจจุบันมันก็เกิด เมื่อเดินก็รู้ว่าเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน เมื่อรู้ชัดเช่นนี้ สัมปชัญญะปัญญามันก็เกิด จึงเป็นผู้สามารถทำตัวปัญญาในการทำทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าจะก้าวไปข้างหน้า ถอยหลัง ไม่ว่าจะเหลียวซ้ายแลขวา เหยียดมือเข้า เหยียดมือออก หรือแม้กระทั่งอิริยาบถน้อยใหญ่ในชีวิตประจำวัน ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร จีวร ใส่เสื้อผ้า แต่งตัว ทำสัมปชัญญะคือรู้ตัวทุกๆ ขณะที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำสัมปชัญญะ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะทำให้ปัญญามันเกิดทุกๆ ขณะ มันไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีตัวกู ของกู ไม่มีคนนั้น ไม่มีคนนี้ มันมีแต่ปัญญาที่อยู่กับปัจจุบันจริงๆ สติที่เราฝึกในชีวิตประจำวันนี้ จะทำให้เราอยู่กับสิ่งที่มันเป็นปัจจุบัน ไม่ตกอยู่ในภาพของอดีตหรืออนาคต เพราะว่าปกติของมนุษย์นี้ มักจะอยู่กับความฝัน นอนก็ฝัน ตื่นก็ฝัน นอนก็ฝัน ฝันอย่างไร? บางทีเราฝันสารพัด ฝันตั้งแต่หลับ จนกระทั่งตื่นมาแล้วก็ยังฝันต่ออีก คนเรานี้จึงอยู่กับความฝัน ฝันถึงอดีต ฝันถึงอนาคต ตอนนอนที่เราฝัน บางทีเราฝันถึงเห็นสถานที่แปลกๆ ที่บางที่ เราก็ มันอยู่ตรงไหนของโลก ท่านบอกว่า ในขณะที่คนเราหลับแล้วฝันไป ตอนนั้นจิตมันเสวยอารมณ์ในอดีตภพ เหมือนกับเป็นการระลึกชาติกลายๆ เอามันไปเห็นสถานที่ตรงไหนก็ไม่รู้นี้ เพราะว่าจิตมันจำเอาไว้ สัญญาขันธ์มันจำเอาไว้ ว่ามันเคยไปเห็น มันเคยไปรู้ มันเคยไปสัมผัสมา ในภพภูมิไหนก็ไม่รู้แหละ มันผุดขึ้นมาในขณะนั้น แต่ในขณะตื่นนี้ เป็นผู้ที่ฝันนะ ฝันอย่างไร? จะฝันถึงอดีตบ้าง ฝันถึงอนาคตบ้าง ฝันถึงคนนั้นบ้าง ฝันถึงคนนี้บ้าง ดังนั้นแล้ว ปุถุชนทุกคนนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้อยู่กับความฝัน ไม่ได้อยู่กับความเป็นจริง นอกจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ที่ท่านอยู่กับความจริงเต็มที่ เพราะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ๑๐๐% พระอนาคามี สมมติถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์ ๑๐๐% พระอนาคามี ๗๕% พระสกทาคามี ๕๐% พระโสดาบัน ๒๕% ปุถุชนเต็มขั้นก็นิดๆ หน่อยๆ มันเป็นสติแบบสัญชาตญาณ เพราะฉะนั้นแล้ว มันจึงต้องปลูกขึ้นมา สตินี้มันต้องปลูกด้วยสมาธิ ปลูกด้วยศีล ศีลนี้มันเป็นพ่อเป็นแม่ของสมาธิ ของปัญญา ดังนั้นแล้ว จึงต้องมาเข้าใจให้ชัดเจนถึงธรรมที่มีอุปการะมาก ก็คือสติกับสัมปชัญญะนี้ เมื่อมันอยู่กับตัวเราได้ สั่งสมอบรมให้มาก มันก็จะกลายเป็นมหาสติ ได้ประโยชน์ทุกๆทาง
บุคคลผู้ที่มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่วและไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ในศีลได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมีสมาธิตั้งมั่นไม่ซัดส่ายเท่าทัน เมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ปัญญาก็จะเกิดเป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง จะทำให้ตื่นจากความไม่รู้ ตื่นจากความหลง เพียงนำมาใช้กับทางโลก ก็ยังประโยชน์เกื้อกูลมหาศาล ทั้งต่อการงานที่ทำ ทั้งธุรกิจหน้าที่การงาน มันจะเป็นประโยชน์ แม้กระทั่งตัวเราเองนี้ จะเป็นผู้ไม่หลง ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่กดดัน และถ้าอบรมสั่งสมให้มากขึ้นๆ มันก็จะกลายเป็น จากสัมมาสติธรรมดา มันจะกลายเป็นมหาสติ คือมันยิ่งใหญ่ จะได้ประโยชน์ทางธรรมอย่างแท้จริง สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้ทุกเมื่อ สมดังที่พระเจ้าตรัสว่า “สติ โลกสฺมิ ชาคโร” สติเป็นเครื่องตื่นอยู่ในโลกทุกประการ เพราะฉะนั้น เราทุกท่านทุกคนนะ เป็นลูกของพระพุทธเจ้า จึงต้องเป็นผู้มาตื่นตามพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะ ตื่นจากกิเลสนิทรา ตื่นจากความหลับด้วยอำนาจของกิเลส จึงจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างแท้จริง ไม่เสียโอกาสที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอกุศลสมภารที่คณะสงฆ์ และญาติโยมทุกท่านทุกคนได้บำเพ็ญกุศลในวันนี้ จงสำเร็จแก่หลวงพ่อโฉลม ธีรปัญโญ จงสำเร็จแก่ผู้อำนวยการ พรหม สกุลจีน ที่ล่วงลับไปสู่โลกอื่น หากท่านมีความทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ หากท่านมีความสุขอยู่แล้วขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไปในสุคติโลกสวรรค์ มรรคผล พระนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมเรืองรอง อย่าได้พ้องพานศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ