แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๙ คนเราจะมีความสุขได้ก็เพราะเราเสียสละ จะเป็นพระอริยเจ้าได้เพราะเราเสียสละ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็ให้รู้ชัดเจน หายใจออกก็ให้รู้ชัดเจน หายใจเข้าก็ให้สบาย หายใจออกสบาย เราจะได้กลับมาหาธรรมชาติที่ปราศจากตัวตน ทุกท่านทุกคนอย่ามีความลังเลสงสัยในการดำเนินชีวิต ชีวิตของเราต้องดำเนินสู่หนทางอันประเสริฐ ที่เราท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร ใช้เวลายาวนานนับว่าเป็นล้านๆ ชาติ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี้มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนา เราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์
เพราะเราเป็นคนโชคดี เราต้องพัฒนาตนเอง ยานที่เราจะไปก็คือความดี ความดีจริง ที่ปราศจากโทษ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านทรงเมตตาสั่งสอนบอกเรา เราทำทุกอย่าง เพื่อเราจะได้มาเสียสละ เราเสียสละโดยที่ไม่หวังอะไรตอบแทน เรารักษาศีล เราทำจิตใจเป็นสมาธิ จิตใจหนักแน่น จิตใจรู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด ไม่ตามทุกสิ่งไป เพื่อมาเสียสละซึ่งความเคยชิน เน้นลงที่ปัจจุบัน ถ้าเราทำไม่เสียสละ มันถึงจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเราทำอะไรเพื่อจะเอาอย่างนี้ ถ้าเราจับมีด มีดมันก็บาดมือ ถ้าเราจับสิ่งที่อะไร สิ่งเหล่านั้นก็จะติดมือ
เราต้องเป็นผู้ที่เสียสละ เมื่อเราเสียสละแล้ว เราถึงจะได้เข้าสู่ระบบแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดมาเพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติธรรม ด้วยการเป็นอยู่การดำรงชีพ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเพียงบรรเทาทุกข์ หรือว่าจะเป็นสิ่งรักษาทุกขเวทนาทางกาย แต่จิตใจของเรานี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกท่านทุกคนต้องพากันภาวนาวิปัสสนา เราต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ทุกท่านทุกคนต้องลบอดีตเป็นเลขศูนย์ให้ได้ เพราะอดีตนั้นคือกรรมเก่า ถึงจะดีก็ต้องให้เป็นเลขศูนย์ ถึงจะชั่วก็ต้องให้เป็นเลขศูนย์ ดีใจเสียใจก็เป็นเลขศูนย์ต้องลบไป พยายามให้อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันเราจะได้เข้าถึงความว่างจากตัวตน อนาคตก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งที่ต่อไปมันถึงมี มันจะเป็นบาทเป็นฐาน
ทุกคนอย่าไปพกระเบิด พกปืน พกอะไรที่ระเบิดตัวเอง ละลายตัวเอง ต้องทำอย่างนี้ เราทำอย่างนี้แหละมันถึงจะถูกต้อง เราจะได้พัฒนาเรียกว่ากาย เรียกว่าวาจา และก็พัฒนาใจไปพร้อมๆกัน เราต้องมีความสุขในการเสียสละ ไม่ต้องไปซิกแซกอะไรหรอก ซิกแซกอย่างไงก็ไปไม่รอด เพราะว่ามันไปไม่ถูก จะจบหลายปริญญา ร้อยๆ ปริญญามันก็ไปไม่ได้เพราะว่ามันไม่ถูก เราเรียนเราศึกษา เรารู้ก็เพื่อมาเสียสละนะ เราจะได้ช่วยเหลือตัวเอง และช่วยเหลือบุคคลอื่น เรากลับมาเอาพรหมจรรย์ของเราให้มันสมบูรณ์ เอาศีลให้สมบูรณ์ในปัจจุบัน ผู้ที่มาบวชเพราะเค้าทำอย่างนั้น ผู้ที่อยู่บ้านก็ทำอย่างนั้น เพราะว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ คนที่เกิดมาต่อไปเค้าก็ไม่มีพื้นมีฐานที่จะก้าวไป เราต้องให้มรดก ข้าวของเงินทองบ้านไร่นาสวนหรือตึก หรืออะไรต่างๆ แก่ลูกหลานเรา แล้วเราก็ต้องให้คุณธรรมไปพร้อมๆ กัน โดยเอาธรรมเป็นหลัก เราต้องละซึ่งตัวซึ่งตน ระบบยึดมั่นถือมั่น เราทำอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าเรียกว่าครบวงจรในอริยมรรคมีองค์ 8 แง่มุมของการดำรงชีวิตของมนุษย์มีอยู่ 8 อย่าง กาย วาจา ใจ มันจะมีอยู่ 8 อย่าง อย่างนี้แหละ ไม่ใช่นั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างเดียว ต้องครบสูตร ต้องพัฒนาไปอย่างนี้
วัดนี่ก็คือศูนย์รวมผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้มุ่งมรรคผลนิพพาน หรือว่าศาสนาพุทธก็คือศูนย์รวมผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ สู่มรรคผลพระนิพพาน มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราต้องมีวัตร มีข้อวัตรปฏิบัติในใจ เราอย่าไปทิ้งของดีๆ ของประเสริฐ อบายมุขความเข้าใจผิด ความเห็นผิด เราต้องไปตามพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ทิ้งอดีตแล้วเมื่อน้ำมันเต็มแก้ว จะเอาน้ำใหม่มาใส่ได้อย่างไร เมื่อเราไม่ทิ้งขยะ ถังขยะมันเต็มแล้วเราจะเอาของที่บริสุทธ์มาใส่ได้อย่างไร เราต้องละความยึดมั่นถือมั่น เราเกิดมาเราต้องมารักกัน มาสามัคคีกัน เรามีบ้านก็เพื่อความรัก เพื่อความสามัคคี (เรามีโรงเรียนมีอะไรก็ว่าไปเพื่อสามัคคีกัน) เพราะเราต้องมาสร้างบารมีร่วมกัน การแบ่งแยกแตกแยกนั้นถึงเป็นกรรมหนัก เรียกว่าไม่ถูกต้อง ทุกคนต้องละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ถ้างั้นนะมันไม่มีประโยชน์อะไร ทำให้เวลาผ่านไปโดยไม่ได้ดำเนินสู่มรรคผลพระนิพพาน มันเป็นเวลากลืนกินเราให้แก่ไปเฉยๆ เราไม่ได้เดินไปตามพระพุทธเจ้า เราไม่ได้เสียสละเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีความสุขเพราะท่านเสียสละ วันหนึ่งท่านทรงบรรทม 4 ชม. ทำงานเสียสละตั้ง 20 ชม.
เพราะคนเราจะมีความสุขได้ก็เพราะเราเสียสละ เราจะเป็นพระอริยเจ้าได้เพราะเราเสียสละ บางคนนะพูดว่าเสียสละไม่ได้อะไรก็ง่วงไปแล้วเพราะว่ามันจะเอา การเสียสละทางจิตใจนะ ไม่ใช่เป็นคนขี้เกียจขี้คร้านนะ พวกที่ไม่เข้าใจมาบวชก็มากิน มานอน มาพักผ่อน นึกว่ามาเสียสละอะไรอย่างนี้ ต้องเสียสละความขี้เกียจขี้คร้าน ต้องพัฒนาใจ ใจเรามันเป็นคนมืด คนเดือนมืด ถ้าเราไม่เสียสละมันก็มืด เพราะดวงตาเรามันบอด เราไม่ได้รักษาด้วยยา ยาก็คือ ศีล ศีลนั้นคือพระพุทธเจ้า ศีลนั้นคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือศีล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา
นายสุมนมาลาการ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ เขามีหน้าที่นำดอกมะลิวันละ ๘ ทะนาน ไปถวายพระเจ้าพิมพิสารแต่เช้าตรู่ทุกวัน ได้ทรัพย์วันละ ๘ กหาปณะ
ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงเปล่งพระรัศมีด้วยพุทธานุภาพอันยิ่งใหญ่ เขาเห็นอัตภาพของพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใสคิดว่า "เราจักบูชาพระพุทธเจ้าด้วยอะไรดีหนอ" เมื่อไม่เห็นสิ่งใดจึงตัดสินใจจะถวายดอกไม่ที่จะนำไปถวายพระราชา ด้วยการตกลงใจว่า "เอาเถอะเมื่อพระราชาไม่ได้รับดอกไม้ จะทรงฆ่าเราหรือขับไล่ออกจากเมืองก็ตาม พระราชาทรงประทานทรัพย์เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพเท่านั้น ส่วนการบูชาพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เราหาประมาณมิได้ทีเดียว" ได้สละชีวิตของตนเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า
นายมาลาการได้ซัดดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าไปทั้ง ๘ ทะนาน ดอกไม้เหล่านั้นได้เป็นซุ้มติดตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง ชาวเมืองต่าง แตกตื่นกันออกมาดู แลถวายทานกันทุกถ้วนหน้า พากันโหร้องให้เสียงสาธุการทุกที่พระพุทธองค์ เพื่อจะทรงทำคุณความดีของนายสุมนมาลาการให้เป็นที่ปรากฎไปทั่วเมืองราชคฤห์ ก็ได้เสด็จไปทั่วทุกมุมเมือง ส่วนนายมาลาการได้มีความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งตามเสด็จไปหน่อยหนึ่งแล้ว ก็ถือกระเช้าเปล่าเดินกลับบ้านไปด้วยสีหน้าอันเอิบอิ่ม
เมื่อถึงบ้าน นายสุมนามาลาการได้เล่าเรื่องที่ตนได้นำดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าให้ภรรยาฟัง ภรรยาของเขาเป็นหญิงไม่ดี ไม่มีศรัทธา กลับด่าว่าเขาจักนำความพินาศมาให้ตระกูล รีบนำความเข้ากราบทูลพระราชา และทูลความที่ตนไม่เห็นดีเห็นงามด้วย
พระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันแล้ว พระองค์เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้สดับดังนั้นแล้วทรงทราบว่าหญิงนี้เป็นหญิงไม่ดีไม่มีศรัทธา จึงทรงทำทีเป็นกริ้วตรัสว่า "ดีแล้วละที่เธอทิ้งเขามา เดี๋ยวเราจักจัดการกับนายสุมนมาลาการ" แล้วรีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมแล้วตามเสด็จไป พระพุทธองค์เพื่อประกาศเกียรติคุณของนายสุมนมาลาการให้ประชาชนทราบ จึงประทับที่พระลานหลวงไม่เสด็จเข้าไปในพระราชวัง พระราชาได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ ตามส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับวัดเวฬุวันแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายสุมนมาลาการเข้าเฝ้า
เมื่อนายสุมนมาลาการมาเข้าเฝ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารตรัสยกย่องสรรเสริญนายสุมนมาลาการว่าเป็นมหาบุรุษ แล้วพระราชทานสิ่งของ ๘ ชนิด คือ ช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก ๘ พันกหาปณะ และบ้านส่วยอีก ๘ ตำบล
เมื่อกลับถึงวัด พระอานนท์ได้ทูลถามถึงผลบุญที่นายสุมนมาลาการจะพึงได้รับ พระพุทธองค์ตรัสว่า “อานนท์ เธออย่าได้กำหนดว่า ‘กรรมมีประมาณเล็กน้อย อันนายมาลาการนี้กระทำแล้ว’ นายสุมนมาลาการได้สละชีวิตบูชาพระองค์ในครั้งนี้ เขาจักไม่ได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนกัลป์ ภายหลังเขาจักเป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่าสุมนะ” เมื่อพระพุทธองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฏีดอกไม้เหล่านั้นจึงตกลงที่ประตูกุฎีนั้นแล
ตกเย็นวันนั้นพวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรม เรื่องการบูชาพระพุทธเจ้าของนายสุมนมาลาการแล้วได้รับของพระราชทาน ๘ อย่างจากพระเจ้าพิมพิสาร พระพุทธองค์เสด็จมาแล้วตรัสว่า "ตญฺจ กมฺมํ กตํ สาธุ ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ ยสฺส ปตีโต สุมโน วิปากํ ปฏิเสวติ. ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง เป็นผู้เอิบอิ่ม มีความสุขใจ นั่นแหละเรียกว่า กรรมดี"
บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลกระทำกรรมใด คือกรรมที่สามารถ เพื่ออันยังสมบัติแห่งเทวดาและสมบัติแห่งมนุษย์ และนิพพานสมบัติให้เกิด คือมีสุขเป็นกำไร ย่อมไม่ตามเดือดร้อน, โดยที่แท้ บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นผู้เอิบอิ่มแล้วด้วยกำลังแห่งปีติ และชื่อว่ามีใจดีด้วยกำลังแห่งโสมนัส ในขณะที่ระลึกถึงๆ เป็นผู้เกิดปีติและโสมนัสในกาลต่อไป ย่อมเสวยผล ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นั่นเอง, กรรมนั้นอันบุคคลกระทำแล้ว เป็นกรรมดี คือเป็นกรรมสละสลวยงดงาม.
นายสุมนมาลาการ เป็นอุบาสกที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชนได้ท่านได้เสียสละชีวิตเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า นั่นคือ สละชีวิตเพื่อทำความดี รักษาความดีเอาไว้ แม้ชีวิตจะหาไม่ก็ตาม จึงเป็นบุคคลที่ควรยกย่องและเป็นแบบอย่างได้
คนเราจะมีความสุขได้ก็เพราะเราเสียสละ เราจะเป็นพระอริยเจ้าได้เพราะเราเสียสละ เราก็ปฏิบัติ อย่างวัดเราอย่างนี้ตอนกลางวันมันมีร่มส่วนไหน เราก็เดินจงกรมส่วนนั้น นั่งสมาธิ ฝึกอานาปานสติ ฝึกท่องพุธโท เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น สติสัมปชัญญะเราไม่มี พวกที่มาบวช เราหยุดพักยก พักยกเรื่องโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เฟสบุ๊ค เราก็มาอยู่กับสติสัมปชัญญะ มาอยู่กับพุธโท ฝึกไว้ ใจของเราก็เหมือนกับลิงนี่แหละ ลิงที่ไม่ได้ฝึก มันนิ่งไม่ได้ เราก็จะผูกได้ถึงจะเอาลิงอยู่ก็เพราะมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มาอยู่กับสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าสบาย ออกสบาย จะไปเอาอะไรตามใจ ตามอารมณ์ไปมันไม่จบ เพราะมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ เราต้องรู้จัก เราก็ทำอย่างนี้
เราต้องสละคืนเสียซึ่งตัวซึ่งตน พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาลมหายใจเข้าว่ามันก็ไม่เที่ยง หายใจออกก็ไม่เที่ยง หายใจหายใจออกมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกอย่างมันผ่านไปผ่านมา อาหารเก่า อาหารใหม่ กรรมเก่า ละก็ส่งให้กรรมใหม่ เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ เพราะการกินทางกายคือข้าวปลาอาการพักผ่อน การกินทางใจก็คืออารมณ์ความคิด เราไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์ เราก็ตามไป เราก็มี sex ทางความคิด มี sex ทางอารมณ์ แย่เลยเรา เกิดมาแย่เลย อย่างนี้เราต้องรู้จัก สิ่งไหนควรบริโภคทางความคิด สิ่งไหนไม่ควรบริโภค เราต้องอย่างนี้นะ พวกนี้พวกจะพากันเอาพระนิพพาน แต่ยังไม่รู้จักนิพพาน ตามอารมณ์ ตามความคิดไปเลย นั่งมี sex ทางความคิด เดินมี sex ทางความคิด นอนมี sex ทางความคิด ทั้งวันทั้งคืน
ทุกท่านทุกคนก็ต้องพากันรู้จักนะ รู้จักแล้วก็อย่าไปตาม อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิดมัน เพราะว่ามันถึงจะอร่อย ความคิดถึงจะอร่อยเราก็ต้องเบรค ของอันไหนมันไม่ดี มันอยากคิดนะ อันไหนดีๆ มันไม่อยากคิดหรอก เหมือนคนป่วยอาหารอันไหนมันไม่แสลงต่อร่างกายมันไม่อยาก อันไหนแสลงต่อร่างกายมันอยาก ของที่ดีๆ ที่รักษาสุขภาพร่างกายมันไม่อยากทานหรอก ใจของเรามีอวิชชามีความหลงก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าให้เราเป็นผู้รู้จักประมาณ มีปัญญาในการบริโภคทางร่างกาย มีปัญญาในการบริโภคทางจิตใจ เราจะได้เป็นผู้ โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นผู้มีปัญญาในการบริโภค เราทุกคนก็สงสารตัวเรา สงสารพ่อเรา สงสารแม่เรา มันจะพากันไปสู่นรกอย่างนี้ไม่ได้ ต้องหยุด อย่าไปยิ้มแย้มแจ่มใสต่อนรก ต่ออเวจี ต่อมหานรก มันไม่ได้นะ ให้เรารู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่มันมีอยู่กับเราเมื่อเรามีลมหายใจนี่แหละ
'การทำสมาธิ' พระพุทธเจ้าท่านให้พวกเราฝึกทำกันทุกๆ วัน ทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น ฝึกให้มาก ปฏิบัติให้มาก พร้อมด้วยทำกิจวัตร ทำข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อให้เป็นความดี เป็นบารมี เป็นปฏิปทา ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ ก็ให้เอาสิ่งเหล่านั้นเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม
เรากราบพระก็ให้ใจของเราอยู่กับการกราบพระ อยู่กับความสงบ การสวดมนต์ก็ให้จิตใจอยู่กับการสวดมนต์ เราจะทำอะไรก็ให้จิตใจของเราอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ให้ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ เราเดินจงกรม ก็ให้ใจของเราอยู่กับการเดิน ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เพราะทุกท่านมันคิดมาอยู่แล้ว ว่าจะไม่คิด...มันก็คิด
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา วันหนึ่งๆ ให้เดินจงกรม ให้นั่งสมาธิให้มากๆ ทั้งภาคส่วนรวมกับหมู่คณะ และภาคส่วนตัวที่กุฏิที่พักของเรา ถ้าเราไม่ทำ เราไม่ปฏิบัติ จิตใจของเราเค้าจะไม่มีเครื่องอยู่
ให้ระวังดีๆ ให้เป็นคนละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป อันไหน มันไม่ดี เราอย่าไปคิดเด็ดขาด เพราะความสำคัญมันอยู่ที่จิตที่ใจ "ใจของเราคนอื่นเขาไม่รู้ แต่เรามันรู้"
'ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป' เป็นพื้นฐานของความดี มันเป็นความซื่อสัตย์ มันเป็นความสุจริต ถ้าเราไม่ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปนี้ "เราเป็นคนที่แย่ เป็นคนที่ทุจริต เป็นคนทำลายตัวเอง ไม่เคารพนับถือพระพุทธเจ้า ไม่เคารพต่อพระธรรม"
ที่ครูบาอาจารย์ท่านให้พูดเรื่องเหล่านี้บ่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มันสำคัญ ถ้าที่ไหนมีทุจริต ที่นั่นหาความเจริญไม่ได้ ไม่ว่าทางจิตใจ "แต่การประพฤติปฏิบัติ... มันไม่ได้เล่นภายนอก เล่นทางวัตถุ "มันเล่นทางจิตทางใจ...."
"เราทุกท่านทุกคนในการรักษาศีล ทำข้อวัตรปฏิบัติ ความขี้เกียจขี้คร้านในตัวเรานี้...ทุกคนมันมีมาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติทางพระวินัยให้ละเอียด"
ศีลเล็กๆ น้อยๆ ข้อวัตรปฏิบัติมันสำคัญ สำคัญทุกข้อ ทุกท่านทุกคนอย่าเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความขี้เกียจขี้คร้านมันชอบหลอกทุกๆ คนว่า เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่น เราอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมากเกิน มันจะทำให้ตัวเองยุ่งยากลำบากโดยไม่จำเป็น ความคิดความเห็นอย่างนี้ มันเป็นความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ความว่าง มันไม่ใช่ทางพระนิพพาน เขาเรียกว่า มันเป็นความคิดความเห็นของคนขี้เกียจนะ มันเป็นความคิด ความเห็นของพวกที่ทำให้ศาสนาเสื่อม ศาสนาตกต่ำ ของที่มีค่ามีราคา ไปตีค่าว่าไม่มีราคา
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่พิมพ์บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกทุกคำสั่งคำสอนเป็นที่ดีหมดนะ แต่พวกเราและท่านไม่ได้นำมาประพฤติปฏิบัติ พวกเราและท่านมองว่าสิ่งนี้ไม่มีราคา ไม่มีความสำคัญสำหรับเรา คิดว่า เป็นเรื่องของคนแก่ๆ แล้วก็ปฏิบัติธรรม คิดว่าเป็นเรื่องของคนที่มีปัญหาแล้วปฏิบัติธรรม
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนต้องปฏิบัติธรรม เพราะร่างกายของเรานี้มันเป็นธรรมะ มันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พวกเราและท่านทั้งหลายนี้ต้องปฏิบัติตัวเอง เพื่อให้กาย วาจา ใจ มันสงบ มันเย็น เราจะวิ่งตะครุบเงาของเรามันไม่ทันน่ะ ยิ่งวิ่งก็ยิ่งเหนื่อยนะ
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามารักษาศีล ทำข้อวัตรปฏิบัติ กว่าจะได้เป็นคนเป็นมนุษย์มีโอกาสมาได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มันก็หาได้ยาก การประพฤติปฏิบัตินี้เป็นเรื่องจำเป็น เป็นเรื่องเร่งด่วน การประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านให้เน้นเข้าหาพระนิพพาน
พวกเราและท่านทั้งหลายมันชอบสวรรค์นะ ใช่มั้ย...? มันชอบกินอาหารอร่อย มันชอบรูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อำนวยความสะดวกสบายด้วยเฟอร์นิเจอร์สิ่งต่างๆ มันอยากอยู่สบาย กินสบาย มันไม่ชอบความสงบ มันชอบความวุ่นวาย มันชอบความปรุงแต่ง
"พระพุทธเจ้าท่านเห็นภัยเห็นโทษในสวรรค์ เพราะสวรรค์นี้ มันทำให้คนเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร" ให้เราเห็นโทษเห็นภัย ให้จิตใจของเราเข้าถึงเนกขัมมะ เข้าถึงการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ ให้เราเห็นภัยเห็นโทษในอารมณ์เหล่านี้ จิตใจของเราจะได้ไม่กระหึ่มด้วยอารมณ์สวรรค์
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ. สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ มีความวิจิตรตระการสวยงาม คนพวกโง่ คนเขลาหลงอยู่ แต่ผู้รู้ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่"
ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดูโลกทั้งโลก หรือทั้งประเทศไม่ใช่อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ให้ดูโลกอยู่เสมอ
ให้ดูจิต พิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดขึ้นอยู่ที่ใจ ความอยากเกิดที่ไหนโลกก็เกิดที่นั่น เพราะความอยากเป็นบ่อเกิดของโลก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้น เมื่อเรามาปฏิบัติ แล้วมาเจริญมรรค มานั่งสมาธิ อยากให้มันสงบ มันก็ไม่สงบ ไม่อยากให้มันนึกคิดมันก็นึกคิด เพราะไปนั่งใส่รังมดแดง รังมดอยู่ที่นั่นก็เอาก้นไปนั่งทับมัน อย่างนั้นมันก็กัดเอาซิ ใจของเรามันเป็นโลกอยู่ มาปฏิบัติมันก็เกิดโลกขึ้นมาเลย ความดีใจความเสียใจ ความวุ่นวายความเดือดร้อน ก็เกิดขึ้นมาทันที เพราะอะไรล่ะ เพราะเราไม่บรรลุถึงธรรม เพราะใจเราเป็นอยู่อย่างนี้
โลกภายนอกแปรผันอย่าหวั่นไหว โลกภายในลึกล้ำควรศึกษา
โลกภายนอกย่อมเห็นเป็นธรรมดา โลกภายในล้ำค่าถ้ารู้ธรรม
ใครเข้าใจรู้โลกนี้จักมีสุข ยามมีทุกข์ปลงได้ไม่ตกต่ำ
ใครหลงโลกไม่รู้ดูมืดดำ หากถลำถอนยากลำบากลำบน
โลกภายนอกกว้างไกลใครก็รู้ โลกภายในลึกซึ้งอยู่ดูสับสน
โลกภายนอกแปรเปลี่ยนเวียนหมุนวน โลกภายในใจคนเกินพรรณนา
อยู่เหนือโลกชนะได้ในทุกสิ่ง จิตแน่วนิ่งชำระละตัณหา
รู้ปล่อยวางดีชั่วตัวมายา สติปัญญาหยิบใช้ให้ทันการ ฯ
จิตใจของเรามันส่งออกไปข้างนอก จะให้มันอยู่กับลมหายใจเข้า ใจออก มันก็ไม่อยากอยู่ เพราะว่ามันชำนิชำนาญในเรื่องอารมณ์ของสวรรค์
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นโทษเป็นภัยสำหรับเรา ถ้าเรามีอารมณ์อย่างนี้มากๆ มันเลยเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไปคิดในสิ่งไม่น่าคิด มันบวช...มันก็บวชแต่กาย ใจมันไม่ได้บวช มันมาอยู่วัดปฏิบัติธรรมมันมาแต่กาย แต่ใจมันไม่ได้มา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราบวชทั้งกาย บวชทั้งใจ ผู้ที่บวชกายไม่ได้ ก็ให้บวชใจนะ เราบวชกายนี้มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก ถ้าเราไม่บวชทั้งกายทั้งใจ
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันเน้นเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ มารู้เรื่องจิตเรื่องใจ รู้อารมณ์ รู้สิ่งที่จะต้องแก้ในตัวเรานี้ บวชพระหลายปี อยู่วัดหลายปีมันก็ไม่ได้เรื่องนะ เพราะว่ามันไม่ได้บวชใจ มาอยู่วัดหลายปี มันก็ไม่ได้เรื่อง เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติใจ
พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน ท่านเน้นให้เราพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะความแก่มันก็เข้ามาถึงเราทุกวัน ความเจ็บ ความตาย ก็เข้ามาทุกวันนะ อีกสักวันมันต้องถึงเราแน่นอน เดี๋ยวเราก็มาคิด ในใจเราเองว่า เราบวชมาหลายปีแล้วจิตใจเราเองก็ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่ได้เป็นอะไรเลยน่ะ มันจะมีอะไร มันจะเป็นอะไรล่ะ เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย
"มันบวชตั้งแต่กาย กิเลสมันก็มาก ตัณหามันก็แรง แถมมันยังมี ทิฏฐิมานะมากอีกต่างหาก..."
ถือว่าตัวเองเป็นพระเถระ เป็นพระที่บวชก่อน เป็นโยมที่มาอยู่วัดนาน มันถืออภิสิทธิ์มาก มันอาจจะได้ทิฏฐิมานะ ตัณหา อุปาทาน...
พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ท่านจึงตรัสว่า "พากันบวชใจนะ" อย่าไปโง่หลาย อย่าไปหลงหลาย ขวนขวายรักษาศีล ทำข้อวัตร
ถ้าเรายังไม่ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ถึงที่สุดได้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนเราว่า อย่าไปทอดธุระนะ เพราะงานเรายังไม่จบ หน้าที่เรายังไม่จบ
เราไม่ใช่คนอินทรีย์บารมีแก่กล้านะ เราเป็นคนแก่ชรา แก่เดือน แก่ปีวันไหนขยันก็จะทำ วันไหนขี้เกียจก็จะไม่ทำ เราจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้
วันขยันมันทำอยู่แล้ว แต่วันขี้เกียจมันก็ต้องทำนะ... ถ้าเราไปเกาที่มันไม่คันนี้ มันไม่ถูกนะ...!
พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ท่านสอนเรา คนขี้เกียจเป็นคนที่จะต้องทำน่ะ 'คนขยัน' คือคนมันเป็นแล้ว มันปฏิบัติได้แล้ว ท่านให้เราบังคับเราเอง คนอื่นบังคับเราน่ะ มันไม่ได้หรอก เพราะบังคับเราได้แต่ทางกาย เราต้องบังคับตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า"
ความขี้เกียจขี้คร้าน เราต้องเอามันออกจากใจของเรา
การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม ท่านถึงให้กำหนดเวลาไว้ในใจ ตั้งเวลาไว้ เพราะถ้าใจของเรามันบอกว่าพอแล้วๆ มันพอดีแล้ว มันบอกเรานะ สมมุติว่าเราตั้งไว้ว่าเรานั่ง ๑ ชั่วโมง ต้องให้ได้ ๑ ชั่วโมง ถ้าแถมไม่เป็นไร... การเดินจงกรมก็เหมือนกัน การทำงานทุกอย่าง ก็เหมือนกัน เราเอากายของเราฝึกใจนะ
"คนเราถ้าใจสงบ มันนั่งทั้งคืนก็ได้ มันเดินทั้งวันก็ได้" คนเรามันคิดไปเรื่อย... เดี๋ยวมันจะไปเอาความสงบที่โน่นที่นี่ มันปรุงแต่งเรา เผาเรา ปวดขานิดหน่อยยังไปปรุงแต่ง ไม่อยากให้มันปวด มันก็ยิ่งปวด ใจของเรามันชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่มีเรื่องมีราวอะไร ก็ทำให้เรามีเรื่องมีราวจนได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้รู้จัก 'ใจ' ของเรา รู้จัก 'อารมณ์' ของเรา ปัญหาอยู่ที่เราไม่รู้จัก มันเลยเป็นวัฏจักรหมุนไปเรื่อยนะ
"มาประพฤติปฏิบัติธรรมแทนที่มันจะได้เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นได้แต่ 'พระอรหมุน..."
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งเหล่านี้มันทำบ้าน ทำเรือนทำวัฏฏสงสารให้เรานะ เมื่อเรารู้แล้วเราก็เอาตัวเองมาประพฤติปฏิบัติพยายามหยุด อย่าหมุน สัมมาสมาธิพยายามตั้งไว้ดีๆ พอกันทีโลกนี้ ความคิดที่วุ่นวาย เราอย่าไปคิดมาก หมุนมาก มันเล่นงานเรา จะเอาเราเข้าโรงพยาบาลจิตเวชตั้งหลายรอบ
ทุกท่านทุกคนต้องขอบใจอวิชชาความหลง ความปรุงแต่งนะ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีพระธรรม ไม่ได้มีพระอริยสงฆ์ จึงต้องมาขอบใจอวิชชา ทำให้เราได้สำนึกสำเหนียก ได้พัฒนาตนเองเพื่อหยุดก่อนลาก่อนวัฏสงสารคือถึงพระนิพพานในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee