แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๕ ถ้าผู้มาบวช มาอยู่วัด ไม่ตั้งอกตั้งใจ คือ บุคคลอนาถา ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นไม่ได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้วันศุกร์ที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ วันนี้เป็นวันสำคัญ วันเฉลิมพระชนนพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี แล้วก็ในวันนี้ตอนช่วงค่ำ ช่วงเย็นๆ ประมาณบ่ายสาม ก็จะมีการปลงผมสามเณร แล้วก็สี่โมงเย็น ทำพิธีบรรพชา ประมาณห้าโมง ก็จะเสร็จพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เพื่อที่จะได้เตรียมอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพรุ่งนี้เวลาประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่ง เพราะฉะนั้น สำหรับสามเณร แล้วก็นาค ที่ผู้จะมาเตรียมบรรพชาอุปสมบท ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมารามแห่งนี้ องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อใหญ่ ท่านก็ให้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เราต้องมีความเห็นถูก เข้าใจถูก เพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะได้เป็นธรรมเป็นวินัย เราจะได้เป็นศาสนา เพราะศาสนานี้ไม่ใช่ตัวตน บุคคลเราเขา แต่คือธรรมะ คือพระวินัย คือจะทำให้เราเป็นพระอริยเจ้า จึงต้องตั้งใจสมาทาน เราจะข้ามวัฏสงสารได้ ข้ามการเวียนว่ายตายเกิดได้ ข้ามทะเลทุกข์ได้ เราก็ต้องมีญาณ ญาณก็คือว่า เราจะต้องสมาทาน
พระพุทธเจ้าท่านเอาภาพรวม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็ภาคพิเศษ คือธุดงควัตร พระภิกษุสามเณรที่บวชมาแล้ว ควรฝึกถือธุดงควัตร เพราะจะทำให้จิตใจของเราเข้มแข็ง เป็นการไม่ให้อาหารกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ชอบทำอะไรตามใจ เปรียบเสมือนกับเราขังเสือตัวหนึ่งไว้ ไม่ให้มันกินอาหารนานๆ เดี๋ยวมันก็ตายเอง
ธุดงควัตร เป็นวิธีบำเพ็ญตบะ มีข้อปฏิบัติที่พระภิกษุนิยมกัน เป็นการฝืน ฝืนความต้องการของกิเลส เพื่อไล่กิเลสออกจากใจ มี ๑๓ ข้อ ภิกษุผู้ที่บำเพ็ญธุดงควัตร เราเรียกว่าพระธุดงค์ แต่ธุดงควัตรนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุเท่านั้น แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ เพราะว่าธุดงค์หมายความ ขัดเกลา ขัดเกลากิเลส แบ่งเป็น ๔ หมวดให้เลือก ปฏิบัติได้ตามกำลังปฏิปทา แล้วก็ความเพียร
ข้อที่ ๑ หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว
ข้อ ๑ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ที่หามาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้กับมือ ก็ไม่ใช้
อย่างที่ ๒ ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืน คือมีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้
เราลองคิดดูสิ ถ้าหากทำถึงขั้นนี้ กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่ อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงาม พิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้น พอเจอธุดงค์สองข้อนี้ ก็รู้สึกว่าสะอึก
หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน ท่านบอกว่า
๑. ฉันแต่อาหารบิณฑบาตที่ได้มาเท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโต ใส่หม้อ ใส่หม้อ ใส่หม้อแกง ใส่อะไรมาก็ไม่ฉัน บิณฑบาตได้มาเท่าไหร่ ก็ฉันเท่านั้น
๒. เดินไปบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก หรือว่าหมู่บ้าน ในแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่ว่า นึกๆ เอาจะไปบ้านนั้น จะได้มาก บ้านนี้จะได้น้อย เลยเลือกทางเดินบิณฑบาต ไปในบ้านที่ตนชอบใจ อย่างนั้นไม่ได้
๓. ฉันอาสนะเดียว คือฉันเสร็จ ลุกจากอาสนะแล้ว จะไม่รับประทานอาหารอีก ไม่ฉันอะไรอีกเลย ซึ่งเท่ากับวันละมื้อเดียว เรียกว่าฉันเอกา คือฉันอาสนะเดียว
๔. ฉันสำรวม คือฉันอาหารในบาตร สำรวมในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น เอาอาหารทั้งหมด ทั้งคาวทั้งหวานใส่ลงรวมในบาตรแล้วฉัน
๕. เมื่อลงมือฉันแล้ว ไม่รับประเคนอีก ใครทำอาหารดีแค่ไหน มาถวายให้อีก ก็ไม่รับ
ทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นตบะ เป็นธุดงค์เกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปาก ตามใจท้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากิน โกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบจิบ กินนั่นกินนี่ กินพิรี้พิไร ไม่รู้จักกระเป๋าของตัวเอง ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจ ให้เราทำผิด เพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้ มันก็จะระงับ เบาบางลงไป
แล้วก็หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
๑. อยู่ในป่า นอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน
๒. อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือน ไม่อาศัยนอนในกุฏิ ศาลา
๓. อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอน ปักกลดกลางแจ้ง
๔. อยู่ในป่าช้าเท่านั้น
แล้วก็ ๕. อยู่ในที่ๆ คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พักที่นั่น
นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขัดเกลาในเรื่องที่อยู่อาศัย ก็คือให้เป็นผู้ง่ายๆ อยู่ตรงไหนนอนตรงไหนก็ได้ ลองพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทาง ดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ไม่ต้องพูดถึง เพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม กิเลสเรื่องที่อยู่อาศัย พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้ มันก็ร้อนตัว อยู่ไม่ได้
๔. เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน อยู่ในอิริยาบถ ๓ เดิน นั่ง ยืน แล้วก็ไม่นอน เพียงแค่ ยืน เดิน นั่ง แต่ไม่นอน ที่เรียกว่า เนสัชชิก ง่วงมากก็เพียงแค่นั่ง ไม่ให้หลังแตะพื้น
หมวดที่ ๔ มีข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ ขี้คร้าน พอเจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็ บรรเทาเบาบางลงไป ที่มีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาสัก ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ก็ตามกำลัง สำหรับผู้ปฏิบัติทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้ว การอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก ถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้นานถึง ๓ เดือน ๗ เดือน บางรูปรักษาตลอดชีวิตก็มี เช่น พระมหากัสสปะเถระ เป็นต้น
ทั้ง ๑๓ ข้อคือธุดงควัตร ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้สมาทาน ให้ถือ ให้ประพฤติตาม ตามศรัทธา ตามความเพียร ตามความปรารถนา เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่าอยู่กับที่ก็ถือธุดงค์ได้ เป็นตบะชั้นยอดในพระพุทธ ศาสนา มุ่งหมายเพื่อที่จะกำจัดกิเลสออกจากใจ ในทางปฏิบัติ ใครจะเลือกทำข้อใดก็ได้ และจะทำในระยะใดก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา
ทีนี้ ลักษณะของการถือธุดงค์มีมากมาย ที่นอกเหนือจากธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อ เช่น เราสมาทานว่า จะไม่ฉันน้ำปานะ สมาทานไม่ฉันอาหารอันไหนที่เราชอบมากๆ สมาทานจะฉันข้าวเปล่าๆ สมาทานจะเว้นวันฉันอาหาร สมาทานจะไม่ใช้ช้อน จะฉันอาหารที่ใส่ในบาตรให้หมดทุกครั้ง สมาทานจะทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นทุกวันไม่ให้ขาด สมาทานฉันอาหารหรือไม่ฉันเราก็จะออกบิณฑบาตทุกวัน สมาทานจะไม่นอนเกิน ๔ ชั่วโมงต่อวัน สมาทานจะไม่ไปคลุกคลีกับใคร สมาทานจะเดินจงกรม อย่างน้อยวันละกี่นาที นั่งสมาธิอย่างน้อยวันละกี่นาที จะอ่านหนังสือท่องหนังสืออย่างน้อยวันละกี่นาที ให้สมาทานเอา สมาทานไม่พูดกับใคร ไม่มองหน้าใคร สมาทานไม่ใช้โทรศัพท์ ไม่เล่นคอมพิวเตอร์ สมาทานว่าจะทำกิจวัตร ปัดกวาดเช็ดถูทุกวัน สมาทานทำความสะอาดห้องน้ำทุกวัน สมาทานจะไปกวาดถูกุฏิครูบาอาจารย์ทุกๆ วัน อย่างนี้เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ ถ้าเราตั้งใจสมาทาน ก็เรียกว่า ธุดงค์ เราอาจจะฝึกเป็นช่วงๆ หรือถ้าเราฝึกนานๆ จิตใจก็ยิ่งเข้มแข็ง
ผู้ถือธุดงค์ต้องเจริญอุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ให้มาก เดี๋ยวจิตใจจะหวั่นไหว ท้อแท้ท้อถอย เพราะช่วงนี้เรายังเอากิเลสเป็นใจ จิตใจมันจะเหี่ยวแห้ง จะหมดอาลัยตายอยาก นั่นเป็นเพราะกิเลสมันกำลังป่วย ที่เราไม่ได้ไปให้อาหารมัน มันจะพรรณนาร่ำไรรำพันอยู่ในใจ ถึงความสุขต่างๆ นานา ว่าสุขเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ขอบ้างนิดหน่อยคงไม่เป็นไร เราต้องพยายามทำใจให้สงบให้ได้ อย่าไปสนใจมัน ให้ถือ ฝึกถือธุดงค์เนสัชชิกบ้าง จะได้เจริญสติไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอน
เรายังหนุ่มยังน้อย ยังมีกำลังฝึก เราก็ต้องตั้งใจฝึกให้ดีๆ กิเลสเรานี้มันมาเหนือเมฆมาก มันผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ขอโอกาสไปเรื่อย ว่าอย่าเพิ่งทำเลย ขอก่อนๆ นะ เดือนหน้า ปีหน้า ๑๐ ปีข้างหน้า โอกาสหน้าค่อยทำ มันผัดไปเรื่อย ขอโอกาสไปเรื่อย แบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ปฏิบัติที่มุ่งมรรคผลนิพพานจึงจำเป็นต้องได้ อาศัยการถือธุดงค์เหล่านี้ ที่นอกเหนือจากธุดงควัตร ๑๓ ข้อ เป็นการบังคับเข้มงวด ฝึกฝนจิตใจของตนเอง เพราะลำพังอาศัยกิจวัตรข้อวัตรต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอ ยังไม่อาจทำให้กิเลสของเราเบาบางลงได้
ออกพรรษาหน้าแล้ง สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีโอกาสก็ให้พระภิกษุสามเณรออกเดินธุดงค์ หาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อผ่อนคลายความ เครียด ถ้าอยู่แต่วัดอย่างเดียว บางทีมันอยากจะสึก การเดินธุดงค์นั้นยังเป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจ ไม่ให้ติดในที่อยู่ที่อาศัย ความสะดวกสบาย ถ้าอยู่ใกล้วัด ใกล้ที่นอน ฉันเสร็จแล้วมันจะหงายท้องเร็ว
การไปเดินธุดงค์มีประโยชน์มาก ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติให้เคร่งครัด ในศีลทุกสิกขาบทและในธุดงควัตร เพราะการไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ตามป่าตามเขานั้น ศีลจะเป็นที่พึ่งของเราได้ การเดินธุดงค์นั้นมันจะมีทุกข์มาก เราจะได้ฝึกทำใจให้นิ่ง เมื่อเจอ สิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เช่นเราต้องไปนอนพื้นดิน ตามโคนไม้ ตามป่าช้า ตามป่าเขาทุรกันดาร มีการอยู่การฉันอย่างอดๆ อยากๆ บางทีก็มด ปลวก สัตว์ร้าย ภูผีปีศาจ ก็มารุม ถ้าเราศีลไม่ดี การเดินต้องเจอทั้งแดดทั้งฝน ทั้งเท้าพอง ทั้งหิวน้ำ เราต้องผอมต้องตัวดำ ความสุขทุกอย่างเราต้องละหมด ผิวพรรณก็ไม่ต้องไปกลัวมันดำ ร่างกายก็ไม่ต้องไปกลัวมันผอม ให้มันขาวสะอาดที่จิตที่ใจ ให้มันอ้วนที่จิตที่ใจ มันจะได้ฉันบ้าง ไม่ฉันบ้าง เราก็ต้องยอม อย่างมากก็ตายเท่านั้น
การเดินธุดงค์ ถ้าพรรษาเราน้อย ก็ต้องไปกับพระพี่เลี้ยงพรรษามาก ท่านพาไปเราก็ไป ท่านพาอยู่เราก็อยู่ ถ้าพระพี่เลี้ยงปฏิบัติเคร่งครัดดี เราก็ได้รับประโยชน์มาก ลักษณะพระพี่เลี้ยง ที่จะเป็นผู้นำที่ดี ต้องเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่เกี่ยวข้องกับทางโลก ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ติดต่อรบกวนญาติโยม เวลายากลำบากจะไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จะไม่อนุโลมผู้ที่ติดตามให้อ่อนแอ รักษาความสะอาด ความสงบ ทุกๆ ที่ ที่ไปพัก มีไหวพริบมีสติปัญญา หลีกเลี่ยงป้องกันภัยอันตรายที่จะมาถึงได้ ถ้ามีโอกาสก็ควรแจ้งให้เจ้าคณะตำบลอำเภอ จังหวัดทราบ หรือให้โยมไปแจ้งให้ท่านทราบ เมื่อเรามีโอกาสได้ออกเดินธุดงค์ ได้ปลีกตัวออกจากวัด จากหมู่คณะ จากญาติโยมแล้ว ถ้าเราจะไปหาตีสนิทกับญาติโยมที่อื่นอีก หรือไปหาอยู่หาสบายไม่ภาวนา ไม่ทำความเพียร อันนี้ไม่ได้ ชื่อว่าเรามาเดินธุดงค์ ไม่สมกับที่เราล่ำลาครูบาอาจารย์มาปลีกวิเวก เพื่อภาวนา เพื่อทำความเพียร
อานิสงส์ของการเดินธุดงค์มีมาก ทำให้เราย่นภพชาติ กับทำให้เราบรรลุธรรมเร็วขึ้น ถ้าเราตั้งใจจริงชาติเป็นชาติสุดท้ายของเราได้ ขอให้ตั้งใจ ธุดงควัตร ไม่ใช่เพียง ๑๓ ข้อ แต่มันคือแบบอย่าง อย่างเช่นอันไหนไม่ดีก็ไม่คิด อันไหนไม่ดีก็ไม่พูด อันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ ทุกคนต้องสมาทาน ถ้าไม่สมาทานก็ไม่ได้ มันจะออกมาจากญาณ มาจากปัญญาไม่ได้ เป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันถึงมี อันนี้เป็นกฎแห่งกรรม
ธุดงค์นี้ ผู้เป็นประชาชน ผู้เป็นฆราวาสญาติโยมก็ตั้งใจสมาทาน เพื่อจะได้ไม่ใจอ่อน ทำอะไรให้สม่ำเสมอ เราไม่ทำเหมือนลิง ลิงที่มันปลูกต้นไม้ ปลูกไม่กี่วันมันก็ถอนออกมาดู ทำไมมันยังไม่ออกใบ มันไม่ออกยอด อย่างนี้เขาเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ไปถอนบ่อยๆ มันก็ไม่โต ธุดงค์เลยต้องสมาทาน อาศัยการสมาทาน
อย่างท่านเจ้าคุณนร เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทร์ทราวาส ท่านไม่ได้ออกไปเดินธุดงค์ แต่ท่านก็สมาทานธุดงค์อยู่ในวัด เป็นพระอรหันต์กลางกรุง
อย่างท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านอยู่ที่สวนโมกข์ ท่านก็ปฏิบัติยิ่งกว่าธุดงค์
อย่างเราอยู่ที่วัด เราก็สมาทานทำข้อวัตรกิจวัตร ทำอะไรให้มันสม่ำเสมอ
อย่างวัดหนองป่าพง วัดอาจารย์ชา ผู้ที่ไปอยู่ตามสาขาส่วนใหญ่จะไม่เจริญ ก้าวหน้าอย่างผู้ที่อยู่กับหลวงพ่อชา ถึงเวลาเขาออกมากวาดวัด ถึงเวลาออกมาบิณฑบาต ถึงเวลาก็ทำตามเวลา ดูๆ แล้ว ไม่ได้เคร่งครัด แต่พอดี ไม่เหมือนต่างสาขา เอาอารมณ์เจ้าอาวาสเป็นหลัก ไม่ได้เอาข้อวัตรปฏิบัติ เจ้าอาวาสจะใจร้อน ก็บิณฑบาต กลับมาก็ฉันเลย โยมมาไม่ทันก็ด่าสนั่นหวั่นไหว อยากฉันอะไรก็เทศน์ให้โยมเขารู้ เช่นว่าส้มตำมะละกอดีนะ ไม่บาปไม่กรรม ได้บุญดีนะ เพราะเจ้าอาวาสชอบส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวนี่ก็ดีนะ ถูกธาตุถูกขันธ์ อาหารดีๆ เอาใส่ถ้วย โยมจะได้บุญเยอะๆ แต่อยู่กับพระอาจารย์ชาทำไม่ได้ เพราะอาหารให้ฉันในบาตรหมด จะเป็นผัด เป็นต้ม เป็นแกง จะอะไรก็เอาลงในบาตรหมด เพราะมันอยู่รวมกันในท้อง
ข้อวัตรข้อปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงเวลาทำโน่น ทำนี่ ถึงเวลานี้ มันจะได้ปรับใจ บางทีอยากฉันก็ไม่ได้ฉัน หลวงพ่อชา ท่านก็มองดู เพื่อให้ความหิวความอยาก ใจมันสงบ ใจมันเย็นลง ท่านก็มองดู เพราะจิตใจท่านเป็นพระ ท่านไม่ได้ทำตามอารมณ์ พวกที่ว่าไปธุดงค์ ถ้าไปหาเงินหาตังค์ ไปเดินตามถนน โบกรถ เอาเงินเอาตังค์ เอาอาหารให้ก็ไม่เอา จะเอาแต่ปัจจัย บอกจะไปซื้อกลด บางทีก็ไปปักกลดใกล้ชุมชน เพื่อขายเครื่องรางของขลัง นั่นมันไม่ใช่พระธุดงค์ เป็นลูกศิษย์ตาชูชก พระธุดงค์ที่แท้จริง เขาไม่เอาเงินไม่เอาตังค์หรอก มันก็มีพระอย่างนี้ มีเปรตประจำศาสนา ธรรมดา ก็ช่างหัวมัน
เรื่องพระเป็นสิ่งที่สำคัญ จะอยู่วัดบ้านวัดป่า อยู่ในเมือง เขาก็ต้องพัฒนาตัวเอง ให้เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย มีความสมัครสมานสามัคคีกัน เพราะอันนี้มันช่วยส่วนรวม ช่วยภาพรวมได้ เพราะวัดก็คือศูนย์รวมของผู้ทำความดี ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ เพื่อที่จะทำความดี
วัดนี้ไม่ใช่สถานที่ซุ้มโจรนะ เราคิดดู เขาจะไปไหว้โจร มันก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน เราจะทำบุญตักบาตร บางทีก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน เราจะคิดแบบคนมีปัญญาน้อย ที่บอกว่า มีภิกษุเอาไว้ทำบุญตักบาตร เอาไว้สวดผี เอาไว้นิมนต์ไปงานพิธีมงคลต่างๆ อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง มันทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทีนี้เมื่อเราทุกคนมีความเห็นเหมือนกัน อะไรกัน พวกโจรมันก็อยู่ไม่ได้หรอก ทุกคนพากันรู้หมด เราจะไปให้แต่คนดีอย่างเดียว แล้วคนไม่ดีเอาไปไว้ที่ไหน แต่เราก็ต้องรู้ อันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ อย่าไปส่งเสริม ครอบครัวเราถึงมีความสมัครสมานสามัคคีกัน พ่อแม่ ลูกหลาน ญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ต้องเอาธรรมเป็นหลัก ถ้าเข้าสู่ระบบของพระพุทธเจ้า มันไม่มีปัญหา มันมีแต่ดี มันมีแต่เจริญ ทุกๆ อย่าง อยู่ที่เราประพฤติ อยู่ที่ปฏิบัติ
แผ่นดินโล่งๆ ว่างเปล่า เราจะสร้าง จะปลูกอะไร สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ มันจะไปตามกฎแห่งกรรม เรื่องสามัคคีสำคัญ ถ้าไม่อย่างนั้น ตัวเราก็มีปัญหา ครอบครัวก็มีปัญหา หมู่บ้านเราก็มีปัญหา สังคมก็มีปัญหา ประเทศไทยก็มีปัญหา เพราะเราเอาตัวตนเป็นหลัก เราไม่เอาธรรมะเป็นหลัก ใครก็อยากกราบพระ ไหว้พระ ใครก็อยากเสียภาษี แต่มันทำใจไม่ได้ ถ้าเราทำตัวเป็นโจร โจรมันอยู่กับทุกคนนะ อยู่ที่ว่าเรามีมากมีน้อย ต้องกลับมาดูตัวเอง อย่างหมู่บ้าน ต้องร่วมกันถึงดูแลวัดได้ รับผิดชอบใส่บาตรวันละนิดๆ หรือแบ่งเป็นกลุ่ม วันนี้กี่ครอบครัวไปส่งอาหารส่งจังหัน เก็บขยะ ตัดหญ้า ขออย่างเดียว ขอให้พระที่มาบวช เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เอามรรคผลพระนิพพาน
เราต้องเข้าสู่ระบบพระพุทธเจ้าอย่างนี้ เพราะประชากรมีภาระ ไม่อยากมาเสียค่าน้ำค่าไฟให้พวกที่มาเป็นโจร จะสวดผีทีหนึ่งก็ต้องซองขาว ต้องเอาปัจจัยทุกอย่างก็ต้องซองขาว ถ้าได้น้อยก็เขวี้ยงซองทิ้ง เดี๋ยวนี้มีมือถือก็โทรกัน หากัน มารุมกินโต๊ะประชาชน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ หรือจะเป็นกำนัน เป็น อบต. ใช้เงินซื้อเสียงซื้อคะแนน มันก็ยังเป็นโจรก่อนเป็นข้าราชการ มาแล้วก็ไม่ตั้งอกตั้งใจทำหน้าที่การงาน ถ้าไม่มีเงิน โอ้..ไม่เซ็น ระบบมันก็ไปต่อไม่ได้ ประชาชนจะมีความสุขในการเสียภาษีอากรได้อย่างไร เพราะมันก็เห็นอยู่เต็มตา ได้ฟังก็เต็มหู ทุกคนเป็นนายทุน นางทุน ลงทุนในการเรียนหนังสือ ตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาตรี โท เอก มันดี มันถูกต้อง แต่มันต้องลงทุนเพื่อมาเสียสละ ถ้าเราลงทุนเพื่อที่จะมาหลง มายึดมั่นถือมั่น มันจะทำลายเรา พระเรามันพากันลงทุน โกนผม ห่มผ้าเหลือง ครองจีวร ซ้อนสังฆาฏิ แต่ถ้าไม่มุ่งมรรคผลนิพพานอย่างนี้ ถือว่าเป็นนายทุนเหมือนกัน คือบวชมาเพื่อจะเอา เอาแต่วัตถุข้าวของ ลาภ สักการะ เงินทอง สตรี สตางค์ เราทุกคนถึงพากันลงทุนเพื่อมาเสียสละ เพื่อความมั่นคงของตัวเรา หมู่มวลมนุษย์สัตว์โลก
เราเป็นพระ เป็นเณร เป็นตาผ้าขาว เป็นแม่ชี ที่ได้รับโอกาสจากสังคมให้มาบรรพชาอุปสมบท ถือศีลอุโบสถ คือเราได้รับการแต่งตั้งจากพระอุปัชฌาย์ ให้เราทำหน้าที่ ประพฤติปฏิบัติตัวเองด้วยการสมาทานถือศีล ๒๒๗ สามเณรถือศีล ๑๐ แม่ชี ถือศีล ๘ เรารับการแต่งตั้งจากสังคมโดยสมมุติ ถ้าเราได้รับการแต่งตั้งแล้ว เราไม่ได้ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ ความบกพร่องมันก็เกิดขึ้นแก่เรา เท่ากับเรามาคอร์รัปชั่นในหน้าที่
พระพุทธเจ้า ท่านถึงให้เราเป็นคนที่เสียสละ รับผิดชอบ จิตใจหนักแน่น ในสิ่งที่เราได้รับแต่งตั้งมอบหมาย พระพุทธเจ้าทำพื้นฐานรากฐานไว้ดี มีประชาชนนับถือเคารพกราบไหว้ ถวายปัจจัย ๔ อำนายความสะดวก สบายทุกสิ่งทุกอย่าง ให้แก่พระ ให้แก่เณร ให้แก่ชี ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าใครปฏิบัติขาดตกบกพร่อง บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นบุคคลหลอกลวง เป็นกาฝากของประเทศ เป็นกาฝากของสังคม
หน้าที่ของเรา คือรักษาศีลให้บริสุทธิ์ทุกข้อ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำความเพียร เพื่อทำกิเลสอาสวะที่มันหมักหมมในกมลสันดานให้สิ้น
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาความสุขในเรื่องฉัน เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องพักผ่อน เอาความสุขจากการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ อย่างนี้ เพราะสิ่งนี้ พระพุทธเจ้าถือว่า เป็นของโลกๆ มันเป็นของต่ำทราม มันไม่เหมาะไม่ควรแก่ผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สูงส่ง เป็นสิ่งที่ประเสริฐ จึงมีบุคคลส่วนใหญ่ส่วนมาก ที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบท มาเอาพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ทำมาหากิน เพราะไม่มีความสามารถในการทำมาหากิน เป็นภิกษุน่ะมันง่าย ทำวัตรสวดมนต์นิดๆ หน่อยๆ ทำกิริยามารยาทเรียบร้อยพอสมควร ญาติโยมก็ให้ความเคารพนับถือ พอที่จะใช้สอยปัจจัยทั้ง ๔ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้ ความคิดอย่างนั้น มันเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัว ข้าวแต่ละเม็ด สิ่งของที่ญาติโยมเขามาถวาย เสนาสนะที่โยมถวายปัจจัยมาให้สร้างนั้น เขาหามาด้วยความยากลำบาก เขาหวังที่จะได้บุญได้กุศล หวังที่จะให้นักบวชได้ สืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนา
วัดคือสถานที่ปฏิบัติ วัดคือสถานที่ฝึก วัดไม่ใช่สถานที่ซ่องสุมบุคคลที่พิกลพิการ ไม่ใช่สถานที่ซ่องสุมบรรดาผู้ที่ไม่มีความสามารถในการทำมาหากิน เพื่อเป็นที่พักพิงอิงอาศัย แต่วัดคือสถานที่ฝึกคนที่มันไม่ดี ให้มันดี ฝึกคนที่ไม่เสียสละ ให้เป็นผู้เสียสละ ฝึกคนที่ไม่รับผิดชอบ ให้เป็นคนรับผิดชอบ ฝึกคนที่ไม่หนักแน่น ไม่ตั้งในความดีความถูกต้อง ให้เป็นคนหนักแน่น เป็นคนตั้งมั่น วัดจึงเป็นสถานที่ฝึก บรรดาผู้ที่มาอยู่วัด พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกตัวเองให้เต็มที่ อย่าได้เห็นแก่กินแก่นอน พักผ่อนอยู่ไปเป็นวันๆ พระพุทธศาสนาที่ดีๆ แต่เราพากันมาอยู่มาอาศัยแล้วไม่ได้ตั้งอกตั้งใจมาประพฤติมาปฏิบัติ ความงามเบื้องต้น คือความรับผิดชอบ ศีลทุกข้อ ข้อวัตรปฏิบัติ ถึงเวลาให้เราทำไปเหมือนกับนาฬิกา ที่มันหมุนตามกาลตามเวลา ถึงเวลานี้ ทำสิ่งนี้ ถึงเวลานี้ ทำอันนี้ ถึงเวลานี้ ทำตรงนี้ ให้หมุนไปกับเหมือนเข็มนาฬิกา นิสัยเรามันขี้เกียจขี้คร้าน เห็นแก่ตัว ตามใจ ตามอารมณ์ นั่นคือนิสัยที่ต้องมาฝึก มาหัด มาปฏิบัติ ไม่ใช่มาสั่งสมกองทุกข์กองกิเลสโดยไม่ได้ฝึก ไม่ได้ฝืน ไม่ได้ปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าสอนเรา ผอมก็ช่างมัน เหนื่อยก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราจะเปลี่ยนจากไม่ดีให้มันดีได้อย่างไร เปลี่ยนจากดีแล้ว ให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร
การประพฤติการปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทุกท่านทุกคนที่เข้ามา ในเวทีนี้ เข้ามาในสนามนี้ พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติเพื่อที่จะให้เราได้เคารพกราบไหว้ตัวเอง นิสัยเรามันเป็นคนสันดานชั่ว ไม่กลัวบาป หน้าด้าน พระพุทธเจ้าจัดว่าความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ คือพระอลัชชี เณรอลัชชี ตาผ้าขาว แม่ขาว อลัชชี คือผู้ไม่ละอายต่อบาป คือผู้ที่จะทำให้ตัวเองตกต่ำ เสื่อม ทำให้คนอื่นตกต่ำและเสื่อมไปด้วย คนเก่งคนฉลาด มันหาได้ไม่ยาก แต่คนที่ตั้งใจเสียสละรับผิดชอบ มีความหนักแน่นนี้ มันหาไม่ค่อยจะมี วัดหนึ่งๆ พระพุทธเจ้าท่านมอง พระอรหันต์ท่านมอง ครูบาอาจารย์ท่านมอง ว่าใครบ้าง มีความรับผิดชอบ ใครบ้าง มีความตั้งมั่นและเสียสละ บุคคลอย่างนี้ เขาเรียกว่าเป็นบุคคลที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด เราเป็นคนที่จะต้องมาฝึกมาปฏิบัติ เพื่อสร้างบารมีให้กับตัวเอง ถึงจะบวชไม่นาน เราก็ต้องตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่เต็มร้อยเหมือนพระพุทธเจ้าสอน ยิ่งบวชนานนั้น ยิ่งเอาจริงเอาจัง มันจะได้เป็นตัวอย่าง ทั้งทางกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ
คนเก่าก็ยิ่งแย่ พระเก่าก็ยิ่งแย่ พระเก่านั้น วัดก็ไม่กวาด ทำวัตรก็ไม่ค่อยจะทำ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ยิ่งไม่เอา อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เรียกว่าพระ คือเปรตตนหนึ่งเท่านั้น อยู่ประจำวัด เรามองดูซิ วัดหนึ่งๆ เรามีเปรตกี่ตัว เปรตผู้ชาย เปรตผู้หญิงมันมีกี่ตัว ถ้าเราไม่ปรับตัวเองเข้าหาพระวินัย เข้าหาข้อวัตร เข้าหาสมาธิ ถ้าทำตามใจตัวเอง เรานั้นก็คือเปรตตนหนึ่งประจำวัด
พระเรา เณรเรา โยมผู้ปฏิบัติธรรม สิ่งที่มันจะไม่สงบนั้นก็คือการผิดศีล โยมเราก็เหมือนกัน ถ้าผิดศีลแล้ว มันไม่สบายแน่ๆ จิตใจมันเครียด จิตใจมันทุกข์ จิตใจมันห่อเหี่ยว จิตใจมันขาดท่อน้ำเลี้ยง ถึงจะมีความสุข ก็สุขแบบเป็นคนที่เขาเรียกว่า จิตใจอันธพาล คือใจมืดใจบอด เป็นคนเดือนมืด ไม่ใช่จิตใจว่างจากกิเลส ทำวัตรเช้า เป็นสิ่งที่ได้บุญได้กุศลเยอะ พระพุทธเจ้าให้เราฝืน ความเหนื่อย ความยาก ความลำบาก เหนื่อยก็ช่างมัน ลำบาก ก็ช่างมัน ง่วงเหงาหาวนอน ก็ช่างมัน พระพุทธเจ้าให้เราเอาความสุขจากการเสียสละ เอาความสุขจากการละความเห็นแก่ตัว ถ้าเรามาบวช มาอยู่วัดในสภาพอย่างนี้ จิตใจของเรามันจะผ่องใสได้อย่างไร มันจะประเสริฐได้อย่างไร เพราะเราเอาเปรียบประชาชน เราเอาเปรียบชาวบ้าน เราหน้าด้าน หน้ามึน เราไม่ละอายรึ! ที่ชาวบ้านเขากราบเรา ไหว้เรา เขาใส่บาตรแล้วยกมือใส่หัวเราทุกคนเลย เรามันกล้าเหรอที่ให้เขายกมือใส่หัวเรา จะไปโทษโยมว่าเขาไม่เคารพนับถือนั้นไม่ได้ เพราะไม่สมควรที่จะให้โยมเขากราบไหว้เคารพนับถือ คนเราน่ะ ถ้าเราจะมาเอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ได้ มันยิ่งแย่ไปทุกวัน
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อการสั่งสมกองกิเลส เป็นไปเพื่อลุ่มหลงในกามคุณ ไม่ได้อด ไม่ฝืน ไม่ได้ทน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”
เราน่ะ เราไปมองไกลเกิน ว่านักเมืองมีคอร์รัปชั่น ข้าราชการคอร์รัปชั่น ถ้าเราจะเข้ามาใกล้นะ ตัวเราคนหนึ่งคือตัวยง คือผู้คอร์รัปชั่นนะ ไม่ใช่พระ ก็อ้างตนว่าเป็นพระ ไม่ใช่สมณะ ก็อ้างตนว่าเป็นสมณะ เป็นผู้หลอกลวง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นพระ เป็นสมณะ เป็นผู้ประเสริฐ เท่ากับว่าเป็นผู้คอร์รัปชั่นในหน้าที่ของตัวเอง
การปฏิบัติ เราไม่ต้องหนีไปไหนหรอก เราไม่ต้องหนีไปป่า ไปเขา ไปถ้ำ ไปอะไรหรอก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าให้เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง ให้มันรักษาพระวินัยได้ทุกข้อ ให้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติสมควร มันถึงจะเป็นไปตามความตั้งใจ เป็นไปตามความปรารถนาของตนเองได้ คือเป็นบุคคลที่ไม่เสื่อม นี่เรายังเป็นพระเสื่อม เณรเสื่อม ชีเสื่อม ผ้าขาวเสื่อม พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนพิจารณาปัจจเวกขณ์ทุกๆ วัน วันคืนล่วงไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ เราติเตียนตนเองด้วยศีลได้หรือไม่ เรามีความเสียสละเพียงพอแล้วหรือไม่ มีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่หลงในกิเลสอัตตาตัวตนแล้วหรือไม่ พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาตนเอง จะได้แก้ไขอดีตที่มันผ่านไป มันก็เอาคืนมาไม่ได้ อนาคตคือความดีที่กำลังจะทำนี่แหละ ทุกอย่างนั้นมันมีเหตุมีปัจจัย ไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ ไม่ใช่เรื่องลอยๆ ยาเสพติด มันก็เป็นสิ่งที่ละได้ยาก กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ยิ่งเป็นสิ่งที่ละได้ยาก ถ้าเราใจไม่เข้มแข็ง ใจไม่แข็งแรง ไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลย มันคงบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้
เรามาบวชเดือนสองเดือน มาบวชเป็นพรรษาเป็นปีหรือหลายปี ถ้าเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี นี่แสดงว่าเราคือบุคคลที่เป็นโมฆะ แสดงว่าเราเสียสละน้อย รับผิดชอบน้อย ไม่มีความตั้งใจในธรรม เราดูตัวอย่าง อย่างหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระอย่างไร ท่านเป็นพระที่เอาจริงเอาจัง เป็นพระที่ตั้งอกตั้งใจ หลวงพ่อชา สุภัทโท ก็เหมือนกัน หลวงตามหาบัว ท่านเจ้าคุณพุทธทาสก็เหมือนกัน ท่านเหล่านี้ ดูแล้วนะสุดยอด ไม่ได้เอาตัวเองเป็นใหญ่ ท่านเอาธรรมะเอาพระวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว วันไหน วันไหนถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัย วันนั้นหัวใจเราเป็นพระ ถ้าวันไหน เราปล่อยใจไปทางโลก คิดอะไรก็เหมือนทางโลกหมด เขาเรียกว่า ใจเป็นโยม วันไหนเรากลัวความลำบาก กลัวความยาก กลัวเหน็ด กลัวเหนื่อย กลัวทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น กลัวฟังธรรม กลัวปฏิบัติธรรม เขาเรียกว่า หัวใจเราเป็นอสุรกาย ใจเป็นผี “ใจสกปรก มืดมัวและร้อนเร่า ใครมีเข้าจึงควรเรียกว่าผีสิง”
พวกเปรต พวกยักษ์ พวกอสุรกาย มันอยู่ในใจของเรานี่แหละ ในชีวิตประจำวัน ให้เราดู ว่าเรามันเป็นพระหรือว่ามันเป็นนาย เราจะไม่ไดัเอาผ้าเหลือง เอาการโกนหัว หลอกเขาไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ อย่างลิงตัวหนึ่งอย่างนี้แหละ เราอยากแต่งตั้งให้มันเป็น เราก็เอาเสื้อใส่ เอากางเกงมาใส่ให้มัน มันก็เป็นขนาดนั้นนะ แต่ว่าความประพฤติก็ยังเป็นลิงอย่างเก่า
ถ้าเรายังไม่ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติ เราไม่ดีแน่ เราต้องเลวแน่ๆ บางคนก็สงสาร คนโน้นก็สึกไป คนนี้ก็สึกไป แต่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้มองอย่างนั้นนะ ครูบาอาจารย์ท่านมองว่า “เจ้านี่มันสึกไปก็ดีแล้ว มันมีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป มันมาขอลาหลวงพ่อสึกไป แต่ยังมีอีกหลายเจ้าที่ยังไม่มีความละอายต่อบาป ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป รู้ว่าตัวเองแย่ก็ยังไม่ยอมสึก มันทำให้หลวงพ่อหนักอกหนักใจ”
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาปริมาณ ท่านให้เอาคุณภาพ ท่านถึงแต่งตั้งว่า สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า คือผู้ปฏิบัติดี คือเป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ไม่คดในข้องอในกระดูก คือผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ แล้วก็เป็นผู้ปฏิบัติสมควรที่จะให้เขาถวายของเคารพกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญ มันมียี่ห้อของมันอยู่ ยี่ห้อคือความประพฤติ ถ้าผู้มาบวช มาอยู่วัดไม่ตั้งอกตั้งใจนั้น เขาเรียกว่า เป็นบุคคลอนาถา บุคคลอนาถาก็หมายถึงคนยากคนจน คน Homeless (โฮมเลส) คนไม่มีบ้าน คนไม่มีญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล เปรียบเสมือนกับพระเรา เณรเรา ชีเรา ที่มาบวช มาประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ เขาเรียกว่า คนอนาถา เป็นพระปล่อยตัวเองไปตามกรรมตามเวร ที่ไม่มีรากเหง้าเหล่ากอของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตั้งอยู่ในพระธรรม ไม่ได้เดินตามรอยพระอริยสงฆ์ บุคคลอนาถา ถึงแม้จะมีลาภสักการะ ปัจจัย ๔ ยศ ตำแหน่ง เต็มประดา แต่จิตใจนั้น อนาถามาก เพราะขาดที่พึ่ง อนาถาคือไม่มีที่พึ่ง เมื่อจิตใจไม่มีที่พึ่ง จิตใจไม่มีบ้านหลังที่แท้จริง จิตใจจึงไม่ต่างอะไรจากคนอนาถา คน Homeless (โฮมเลส)
เรื่องทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตนนี่มันใหญ่มาก ยิ่งกว่าภูเขาพระสุเมรุซะอีก ยากที่ทุกคนจะต้องพังทลาย ถ้าเราไม่ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ไม่ตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ไม่ตั้งใจปฏิบัติบูชา เอาร่างกายนี้ เอาชีวิตที่ประเสริฐนี้ มาประพฤติปฏิบัติ ยากที่จะพังมันลงไปได้ ต้องยอมตัด ยอมละ ยอมวางความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ออกจากเรา
ทุกท่านทุกคนน่ะ ลองถามตัวเองดูว่า สิ่งดีๆ สิ่งที่ประเสริฐนี้ ทำไมมันไม่อยากปฏิบัติ ทำไมมันไม่ยอมปฏิบัติ เมื่อไม่ประพฤติปฏิบัติแล้ว มันจะได้ผลได้อย่างไร วันคืนล่วงไปๆ อายุเราเพิ่มขึ้นทุกวันๆ เท่ากับว่า วันเวลาที่จะเหลืออยู่ในโลกนี้ มันสั้นเข้ามา สั้นเข้ามา อายุที่ผ่านไป มันกระชาก มันพรากความหนุ่มสาว พรากความแข็งแรง พรากอะไรไปหมด เพราะฉะนั้นมันมีแต่ความเสื่อมสลาย ปรากฏแก่เราชัดเจนทุกวันๆ เมื่อมันเสื่อมสลายไปเช่นนี้ ทำไมยังไม่อยากปฏิบัติ ทำไมยังไม่ยอมปฏิบัติ
วันนี้ได้นำพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มากล่าว ด้วยความเมตตาของพระพุทธเจ้า ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอให้ทุกท่านทุกคน ได้เข้าใจ ในการประพฤติ การปฏิบัติว่า การปฏิบัติ มันต้องปฏิบัติอย่างนี้ มันถึงจะเข้าถึงอรรถถึงธรรม ถึงสัจธรรม ถึงมรรคผลนิพพาน เป็นการเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า อย่างแท้จริง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจพระศรีรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้เป็นผู้ปราศจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีปัญญาได้ดวงตาเห็นธรรม ถึงมรรคผลนิพพานด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ