แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๓ เราเป็นนักบวชเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ต้องซื่อสัตย์ ไม่มีมารยาสาไถย จิตใจถึงจะสะอาดสว่างสงบ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้วันพุธที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ การบวชบรรพชา มีบุญใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ เพราะเป็นการปฏิบัติบูชา เป็นการฝึกตนเอง อบรมตนเอง สั่งสอนตนเอง เจริญรอยตามศีล สมาธิ ปัญญาของพระพุทธเจ้า ฝึกอะไรมันก็ฝึกง่าย แต่ว่าฝึกตนน่ะฝึกยาก ทุกคนรู้ว่าดี รู้ว่ามันถูกต้อง แต่ว่ามันไม่อยากปฏิบัติ เพราะมันติดสุขติดสบาย การบวชการมาฝึกตนนี้ คือการมาปราบผี ปราบอสุรกายออกจากใจ ต้องอาศัยศีล ต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ต้องมอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้าเป็นเดิมพัน อย่างมากก็แค่ตายเท่านั้น
ตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้บวชได้ทั้งนอกแล้วก็ในพรรษา ไม่มีพุทธบัญญัติห้าม ถ้าพระอุปัชฌาย์ใดห้ามการบวชในพรรษาก็ต้องอาบัติ แต่ถ้าตั้งใจบวช ๑ พรรษา ๓ เดือน หรือ ๗ วัน ๑๕ วัน หรือว่า ๑ เดือนก็แล้วแต่ ก็ต้องอยู่ให้ครบ สึกก่อนไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นคนจิตใจไม่หนักแน่น สมาธิสั้น ตามจิตตามใจ ตามอารมณ์ตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจฝึกปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณบิดามารดา การบวชมีอานิสงส์ใหญ่ ถ้าตั้งใจปฏิบัติ บุญกุศลย่อมถึงแก่พ่อแม่ การบวชไม่ใช่นุ่งเหลือง ห่มเหลืองเท่านั้น ต้องตั้งใจปฏิบัติด้วย สึกออกไปต้องเปลี่ยนหมด เคยรับผิดชอบน้อย ก็ต้องรับผิดชอบดีขึ้น เคยเถียงพ่อเถียงแม่ ก็ไม่เถียง ความกตัญญูรู้คุณท่าน มาอันดับหนึ่ง การบวชแล้ว ฝึกฝนอบรมตนได้ดีขึ้น อย่างนี้จะบวช ๗ วัน ๑ เดือน ๑ พรรษา หรือ ๑ ปี ก็ยิ่งมีอานิสงส์ใหญ่ ก็ยิ่งมีผลมาก จงตั้งจิตตั้งใจให้แน่วแน่ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า บูชาคุณบิดามารดา ให้ภาคภูมิใจในการได้มาปฏิบัติ
เราเป็นพระเป็นเณร ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีมารยาสาไถย หมดเม็ด มีเล่ห์กล มีอะไรก็ต้องกราบเรียนครูบาอาจารย์หมดทุกอย่าง เพื่อจิตใจจะได้ขาวสะอาด การปฏิบัติจะได้ไม่ติดขัด เช่น มีความอยู่ในใจว่า จะเดินทางไปที่โน่นที่นั่นที่นี่ มีการวางแผนไว้แล้ว แต่กราบเรียนครูบาอาจารย์เพียงอย่างเดียว เมื่อไปถึงที่นั่นก็ต่อไปในที่ต่างๆ เท่าที่กิเลสมันจะบงการ พระเณรทุกวันนี้ นิสัยเสียมาก จัดเป็นพระสะเปะสะปะ พระกาฝาก พระไม่มีแก่น ไม่มีสาระ บางทีไปไหนก็ไปเลย ไม่บอกลา ไปแล้วค่อยมาบอกที่หลัง โทรศัพท์มาขอโอกาส หรือให้โยมมาขอ แม้แต่ไปรับกิจนิมนต์กว่าจะกลับเข้าถึงวัดได้ แวะตั้งหลายแห่ง
การที่เราจะเดินทางไปไหน เราต้องแจ้งให้ครูบาอาจารย์ทราบล่วงหน้า ว่าไปกี่วัน ไปที่ไหนบ้าง ไม่ว่าจะไปเดินธุดงค์ที่ไหน ครูบาอาจารย์จะได้รู้ว่า มันเหมาะ มันควรไหม ถ้าประเภทนี้ วันๆ หนึ่ง คิดจะหาวิธีออกจากวัด เพื่อระบายอารมณ์ มีใครบ้างจะพาไป มีใครบ้างจะเอารถไป เดี๋ยวไปเยี่ยมที่โน่นเยี่ยมที่นี่ ไม่มีความหนักแน่น เหมือนคนไม่มีเจ้าของ ใครจะจูงไปก็ได้ อาจารย์บอกแล้วก็ไม่ฟัง บอกว่าอย่าไปทำอย่างนั้น เดี๋ยวจะไปออกหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง เป็นต้น
เมื่อเราปล่อยนิสัยของเราไปเรื่อยๆ ก็ยากจะเปลี่ยนนิสัย เพราะหนังมันหนาเป็นคืบๆ มันก็ด้าน ก็เตือนผู้ที่จะปฏิบัติตามพระพวกนี้ เพราะกว่าจะรู้ว่า มันผิดมันก็สายเสียแล้ว เหมือนรถคันใหญ่ ไปอยู่ในถนนเล็กๆ จะกลับหลัง มันกลับไม่ได้
ครูบาอาจารย์ท่านบอกเราเป็นนักปฏิบัติ ต้องปฏิบัติพระวินัยและพระธรรม อย่าให้ขาดตกบกพร่อง อันไหนไม่ดีเราอย่าเอามาเป็นตัวอย่าง ให้เรามายกพระธรรมวินัยไว้เหนือเศียรเกล้า ส่วนใหญ่เราไปมองสังคมเสื่อม ไปมองวัดเสื่อม ศาสนาเสื่อม พระพุทธเจ้าท่านให้เรามามองดูตัวเอง ว่ามันเสื่อมหรือว่าเจริญ เรามีความตั้งใจ เราต้องแก้ไข พยายามเหินห่างในสิ่งที่ไม่ดี ส่วนใหญ่คนพวกนี้มันชอบซิกแซก สลับซับซ้อน มันมีแง่มีมุมมีเหลี่ยมที่จะทำความชั่วให้ได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพิ่มความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นอีก ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ความเป็นพระ เป็นเณร ความเป็นนักปฏิบัติธรรม มันก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องเน้น ต้องกลับมาหาเรื่องความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เราอาจจะปกปิดคนอื่นได้ เราอาจจะมารยาสาไถยต่อหน้าคนอื่นได้ แต่เราปกปิดมารยาสาไถยตัวเราไม่ได้หรอก เพราะเรารู้ตัวเองหมด
การปฏิบัติธรรมต้องเน้นมาที่จิตที่ใจ เพื่อเคารพ เพื่อกราบไหว้ตัวเอง เราอย่าไปปิดประตูธรรมะ ไม่ให้ธรรมะเกิดโดยไม่รู้จัก เราบวชมาหลายปีแล้ว ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ไปอยู่วัดที่เขาปฏิบัติเคร่งๆ ครัดๆ เราไปอยู่มาแล้ว แต่เราก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เราเป็นคนที่อาภัพไม่มีวาสนารึ! มันจะมีบุญมีวาสนาได้อย่างไร เพราะถ้าหากยังเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่สะดุ้งต่อบาป ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ท่าน ทิ้งธรรม ทิ้งวินัย เป็นคนที่มีทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตน เป็นคนหัวดื้อ หน้าด้าน ไม่เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติพระวินัยก็เบื่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็เบื่อ ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เบื่อ นี่แสดงให้เห็นว่า เราตกอยู่ในอันตราย ทั้งภิกษุเก่า ภิกษุใหม่ เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติธรรม
การประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักใจตัวเอง รู้จักอารมณ์ของตัวเอง จะได้ผ่านด่านสำคัญๆ ที่ทุกท่านทุกคนต้องผ่านไปให้ได้
ผู้ที่บวชมาแล้วต้องเป็นผู้ที่มีความหนักแน่นในอัฐบริขาร อย่าทำตัวเป็นผู้เหลาะแหละโลเล ใจง่าย ขายก่อนซื้อ หลงตามกระแสนิยมเหมือนอย่างคนทั่วไปเขาหลงแฟชั่นกัน ปีนี้นิยมอย่างนั้น ปีนั้นนิยมอย่างนี้ เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยเรื่อย เห็นเขาใช้บาตรเหล็กกัน ก็เปลี่ยนไปใช้เหมือนเขา เห็นเขานิยมใช้บาตรสแตนเลส ก็เปลี่ยนมาใช้บาตรสแตนเลสแบบเขา เปลี่ยนขาบาตร เปลี่ยนผ้าสบงจีวรเป็นว่าเล่น เห็นอะไรก็จะเอาหมด เป็นพระเป็นเณรหลายใจ เป็นพระเป็นเณรเจ้าชู้ ให้เราดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านเคร่งครัด มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งพระทั้งเณรมากมาย ทำอัฐบริขารมาถวายท่าน ทั้งขาบาตร ทั้งร่มกลด ทั้งบาตรเหล็ก บาตรสแตนเลส ทั้งผ้าสบงจีวร มีแต่ของดีๆ สวยๆ งามๆ ทั้งนั้น ท่านก็ไม่ได้สนใจ ท่านยินดีในอัฐบริขารเดิมของท่าน บางทีลูกศิษย์ลูกหา เปลี่ยนให้ท่าน ให้ของใหม่ๆ ดีๆ สวยๆ ท่านก็ถามหาของเก่าที่เคยใช้กลับคืนมา ให้เรามีความยินดีในบริขารของเรา ถ้าไม่ขาด ไม่หายหรือชำรุด เราก็ไม่ควรเปลี่ยนบริขารบ่อย ให้เป็นผู้เลิศในทางมักน้อยสันโดษ อย่าเป็นผู้เลิศในทางข้าวของเครื่องใช้งาม มันน่าละอายมากที่บวชมาแล้วยังมาติดกับสิ่งของเหล่านี้ บางคนถึงกับไปจ้างวานเขาทำบริขาร ทำขาบาตร ทำร่มกลด ตัดเย็บผ้าสบงจีวร อย่าไปแข่งอวดบริขารกันว่าใครทำ ทำจากที่ไหน ผ้าจีวรจะหนาหรือจะบางไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าบวชมาแล้ว ต้องเดินจงกรมให้มาก นั่งสมาธิให้มาก ทำอย่างไรจึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้ นั่นจึงจะดี
พระเราต้องเน้นความเป็นพระ ความสวยงามไม่ใช่อยู่ที่การตกแต่ง ถ้าเรารักษาศีลดีๆ เขาเรียกว่า “ความงามของเรา” มีความตั้งมั่นในธรรมไม่ใจอ่อน เขาเรียกว่า “ความงามของเรา” มีปัญญา ไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง ประพฤติปฏิบัติ มีความงาม ไม่ไปเล่นไปตกแต่งบริขารในอะไร ทุกคนก็ฉันเฉพาะอาหาร ไม่มีใครฉันบาตร ฉันขาบาตร จะตกแต่งเท่าไหร่ ก็คือฉันในบาตร เอาของอย่างนั้นมารับประโยชน์ อย่าไปหรูหราฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือย อวดหน้าอวดตา มันแข่งกันไม่ถูกทาง ไม่ได้แข่งกันเดินจงกรม นั่งสมาธิ รักษาศีลพระวินัย อย่ารักสวยรักงาม ยึดติดในบริขาร ถ้ารักสวยรักงาม มันเป็นเครื่องย้อมกิเลส ไม่ดี เป็นเหตุให้จิตยึดติด ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของของเรา
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาด จึงให้ใช้ของคร่ำคร่า ของไม่มีราคา ใครก็ไม่ต้องการ โจรก็ไม่ต้องการ ผ้าจีวรก็เป็นผ้าบังสุกุล สีแก่นขนุนหรือสีแก่นวัวโทน อย่างที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้นี่แหละ เป็นสีที่ส่งเสริมจิตให้มั่นคงในการเจริญสมณะธรรม จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าผ้าจีวรสวยงาม มีค่ามีราคาแพง นั่นแหละตัวกิเลสใหญ่ จิตจะไปยึดเกาะจีวรนั้น ผูกพันอยู่ในจีวรนั้น ขาดใจตายเมื่อไหร่ คิดจะไปเกาะเกี่ยวกับจีวร สุดท้าย เกิดเป็นตัวเล็นเกาะผ้าจีวรผืนนั้น ดังเรื่องในสมัยพุทธกาลในอดีตนานมาแล้ว มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง บวชเป็นพระ ชื่อว่าพระติสสะเถระ จำพรรษาที่วิหารในชนบท มีโยมที่ศรัทธานำผ้าเนื้อหยาบ ยาวประมาณ ๘ ศอก มาถวายท่าน หลังจากที่ท่านได้อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ปวารณาออกพรรษาแล้ว ก็นำผ้าผืนนั้นไปหาพี่สาว พี่สาวเห็นผ้าแล้วก็คิดว่า ผ้าผืนนี้ ไม่สมควรแก่พระน้องชายเราเลย แล้วก็ได้ใช้มีดตัดจีวรเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ โขลกลงในครก แล้วสาง ดีดกรอปั่นให้เป็นด้ายละเอียด จากนั้นก็ทอเป็นผ้าเหมือนเดิม วันหนึ่งพระเถระก็ได้เตรียมด้ายแล้วก็เข็มนั้นมา เพื่อใช้ตัดเย็บจีวร ได้นิมนต์พระภิกษุ สามเณร ผู้ที่ทำจีวรเป็นให้มารวมกัน แล้วพาไปบ้านพี่สาว ฝ่ายพี่สาวก็ได้นำผ้ายาว ๙ ศอก ที่ทอขึ้นมาใหม่ออกมาถวาย พระผู้เป็นน้องชายรับมาพิจารณาแล้วพูดว่า “ผ้าของเดิมเนื้อมันหยาบกว่านี้ ๘ ศอกเอง แต่ผืนนี้เนื้อละเอียด ยาวตั้ง ๙ ศอก ไม่ใช่ของอาตมา เป็นผ้าของพี่ อาตมาไม่ต้องการผืนนี้” พี่สาวก็พูดว่า “ท่าน นี่เป็นผ้าเดิมของท่าน ขอท่านจงรับผ้านี้เถิด” แล้วจึงได้บอกเล่าในสิ่งที่ตนทำทั้งหมด พระเถระจึงยอมรับผ้าผืนนั้นกลับไป เพื่อจะเริ่มตัดเย็บทำเป็นจีวร พี่สาวของท่านได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานทั้งหลาย ไปถวายพระภิกษุสามเณรที่ช่วยทำจีวรของพระน้องชายเป็นประจำ จนกระทั่งในวันที่ตัดเย็บจีวรเสร็จเรียบร้อย พี่สาวได้ถวายสักการะมากมายแก่พระภิกษุสามเณร ฝ่ายพระน้องชายที่ชื่อว่า ติสสะ เมื่อมองดูจีวรก็เกิดความเยื่อใยในจีวรนั้น จึงคิดว่าในวันพรุ่งนี้เราจะห่มจีวรผืนนี้แหละ แล้วก็พับผ้าจีวรพาดไว้ ตกลงมากลางคืน พระติสสะอาหารไม่ย่อยอย่างไม่คาดคิด จนเป็นเหตุให้ท่านลมเสียดแทงขึ้นในท้องตัดขั้วหัวใจ มรณภาพในคืนนั้น เมื่อท่านตายแล้ว ด้วยจิตเกาะเกี่ยวผูกพันในผ้าจีวรผืนนั้น เกิดเป็นตัวเล็นเกาะอยู่ที่จีวร เพราะความที่ท่านยึดติดในจีวรนั้นก่อนตายนั่นเอง
รุ่งเช้าเมื่อพี่สาวทราบข่าวการมรณภาพของพระน้องชายก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง นอนกลิ้งเกลือกต่อหน้าพระภิกษุ สามเณร บรรดาพระภิกษุ สามเณร ที่อยู่ในวัดก็ช่วยจัดแจงศพของท่านเป็นอย่างดี หลังจากเผาแล้ว ก็ปรึกษากันว่า “จีวรของท่าน ติสสะเถระ ควรจะตกเป็นของสงฆ์ เพราะไม่มีใครเป็นผู้อุปัฏฐากท่านโดยตรง” ว่าแล้วก็นำจีวรผืนนั้นออกมาเพื่อเตรียมจะแบ่งกัน ทันทีที่จีวรถูกคลี่ออก เล็นตัวหนึ่งซึ่งเกาะอยู่ที่จีวร ก็วิ่งร้องไปข้างนู้นข้างนี้ด้วยคิดว่า ภิกษุเหล่านี้จะแย่งจีวรของเรา พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ได้ยินเสียงร้องของเล็นตัวนี้ ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ ก็คือทิพโสต ก็คือหูทิพย์ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกภิกษุว่า “อย่าเพิ่งแบ่งจีวรของท่านติสสะในตอนนี้ เก็บรอไว้ให้ครบ ๗ วันก่อน จึงค่อยแจกจ่าย” พระอานนท์จึงดำเนินการตามรับสั่ง พระทุกรูปก็ได้ทำตามพระอานนท์บอก เมื่อถึงวันที่เจ็ด เล็นก็ได้ตายลงไป เพราะอายุขัยมันก็เท่ากับยุง ประมาณ ๗ วัน ก็ตายลง สิ้นอายุขัยไป เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะคุณความดีที่เคยทำไว้ตอนเป็นพระภิกษุนั่นเอง
ในวันที่แปด พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้แจกจีวรของพระติสสะ แต่ถึงกระนั้น ภิกษุทั้งหลายก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องเก็บจีวรไว้ถึง ๗ วัน จึงได้สนทนาเรื่องนี้ในธรรมสภา พระพุทธองค์ทรงได้ยินเรื่องที่พระภิกษุสนทนากัน จึงเสด็จมาแล้วตรัสบอกเรื่องที่กำลังสงสัยกันว่า “ท่านทั้งหลาย ติสสะ หลังจากตายแล้ว เกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน ตอนที่พวกท่านจะแบ่งจีวรกันนั้น ก็วิ่งร้องไปข้างโน้นข้างนี้ว่า พวกภิกษุแย่งจีวรของเรา ภิกษุพวกนี้แย่งจีวรของเรา ถ้าหากว่าพวกท่านแบ่งจีวรกันในวันนั้น เล็นตัวนั้นด้วยสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉาน จะเกิดความขัดใจ เกิดความโกรธต่อพวกท่าน ตายแล้วจะไปเกิดในนรก เหตุนี้ เราจึงให้เก็บจีวรไว้ก่อน ๗ วัน ในวันสุดท้ายเล็นตายไปแล้ว ในขณะนี้เขาเกิดในชั้นดุสิต เพราะเหตุนั้น เราจึงอนุญาตให้พวกท่านถือเอาจีวรของติสสะเถระในวันที่แปด”
เหล่าภิกษุได้ฟังเช่นนั้นได้เกิดความอัศจรรย์ใจในพระปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า “ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ” พระองค์จึงตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหาคือความอยากของสัตว์เหล่านี้ หยาบ สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเนื้อเหล็กนั่นเอง สนิมนั่นแหละย่อมทำให้เหล็กพินาศไป เสียไป ทำให้เป็นของที่ใช้สอยไม่ได้อีกต่อไปอีกฉันใด ตัณหาคือความทะยานอยากนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในจิตใจของสัตว์เหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบาย มีนรก เป็นต้น ทำให้เหล่าสัตว์ถึงความพินาศ” แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า “อยสา ว มลํ สมุฏฺฐิตํ ตทุฏฺฐาย ตเมว ขาทติ เอวํ อติโธนจารินํ สานิ กมฺมานิ นยนฺติ ทุคฺคติ” สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก ตั้งขึ้นในเหล็ก ย่อมกัดเนื้อเหล็กฉันใด กรรมทั้งหลายของตน คือการกระทำเหล่านั้นน่ะ ชื่อว่าเป็นของตนนั่นเอง เพราะตั้งขึ้นในจิตในใจของตน ย่อมนำบุคคลผู้ไม่พิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ แล้วบริโภค ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติก้าวล่วงปัญญา ที่ชื่อว่าโธนา แล้วย่อมไปสู่สุคติฉันนั้นเหมือนกัน
พุทธพจน์ตรงนี้ พระองค์ทรงมุ่งหมายให้เข้าใจว่า เหล็ก เวลาที่มันเกิดสนิม สนิมมันก็ไม่ได้มาจากไหน มันก็มาจากเนื้อเหล็ก ที่มันแปรสภาพ ที่มันผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านดินฟ้าอากาศ ผ่านสิ่งแวดล้อม มันเกิดมาจากเหล็ก จากเหล็กอันนั้น แล้วมันก็กัดเนื้อเหล็ก ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้ กรรมทั้งหลายที่เป็นของของตน กัมมัสสกา มาจากการกระทำ มาจากจิตใจ มาจากความคิดวาจา คำพูด การกระทำของบุคคลคนนั้น แล้วเป็นผู้ที่ใช้อะไรไม่พิจารณา ที่หลวงพ่อใหญ่มักพูดประจำว่า “รวยอย่างโง่ๆ” คือ ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้มีปัญญาในการใช้สอยบริโภคของ ไม่ได้พัฒนาใจพัฒนาวัตถุ ไปพร้อมๆ กัน สุดท้าย สร้างขึ้นมาเอง ผลิตขึ้นมาเอง วิวัฒนาการขึ้นมาเองแล้วหลง พอหลงแล้ว ทะยานอยาก มันทำให้มืดมิด ไม่มีปัญญาในการพิจารณา สุดท้าย นำพาตัวเองในการแก่งแย่งชิงดี ห้ำหั่นกัน ดึงตัวเอง ฉุดลากฆ่าตัวเองลงในอบาย มีนรกเป็นต้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบลง ผู้คนจำนวนมากก็ได้บรรลุโสดาบัน เป็นต้น
ในการให้ผลของกรรมนั้น กรรมหนักหรือกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุดจะให้ผลก่อน เช่น การฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และการทำสงฆ์ให้แตกกัน อนันตริยกรรมเหล่านี้ ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด กรรมที่ให้ผลรองลงมา คือกรรมที่ให้ทำมาก แล้วก็กรรมที่ทำจนเป็นความเคยชิน ที่เรียกว่า “อาจิณกรรม” เพราะ ทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ เช่นว่า คนที่ปากไม่ดี อย่างไงก็ปากไม่ดีอยู่อย่างนั้น กระทำไม่ดีอย่างไงก็กระทำไม่ดีอยู่อย่างนั้น มันทำซ้ำกันจนเป็นความเคยชิน เป็นอาจิณกรรม จิตมันจดจำ จิตมันบันทึกเอาไว้หมด พอเวลาตายลงไปจิตมันคุ้นชินกับของเดิมๆ กรรมตรงนี้จึงให้ผลก่อน
แล้วทีนี้ กรรมที่ให้ผลรองลงมาอีก คือกรรมที่ทำมาก ทำตามความเคยชิน ให้ผลรองลงมา
อย่างที่สาม กรรมที่จวนเจียน หรือว่ากรรมที่ใกล้จะตาย ถ้าไม่มีกรรม ๒ ข้อแรกแล้ว คือกรรมหนัก หรือว่ากรรมที่ทำบ่อยๆ ที่เป็นชั่ว ที่ทำจนเคยชิน กรรมที่จะให้ผลอันดับ ๓ ก็คือว่า จิตดวงสุดท้าย ใกล้จะตาย ที่เป็นอาสันนกรรม กรรมนี้ก็จะให้ผลก่อน
สุดท้ายคือกรรม สักแต่ว่าทำ เจตนาในการกระทำนั้นอ่อน หรือไม่ใช่เจตนาอย่างนั้น กรรมประเภทนี้จะให้ผลก็ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล
ในกรณีของพระติสสะ มีความห่วงใยในจีวร ท่านไม่ได้ทำกรรมหนักคือ อนันตริยกรรม หรือว่ากรรมที่มันเบาลงมาเป็นความเคยชิน เช่น ผิดในเรื่องนี้เป็นประจำ ผิดในเรื่องอาบัตินี้เป็นประจำ ของท่านไม่มี แต่ทีนี้ กรรมใกล้จะตายของท่านมีอยู่ คือจิตที่ผูกห่วงใยในจีวรใหม่ผืนนั้น ดังนั้น หลังจากที่ท่านตายลงไป จึงต้องได้รับกรรมนี้ก่อน เพียงในระยะเวลาสั้นๆ ที่เกิดเป็นเล็นอยู่ที่จีวร หลังจากหมดกรรมนั้นแล้ว จึงค่อยได้รับกรรมดีที่เคยกระทำเอาไว้นั่นเอง
เพราะฉะนั้นแล้ว จิตดวงสุดท้าย การสร้างสมอบรมความเคยชิน มันสั่งสมทุกวัน เรื่องดีก็อยู่ในทำนองเดียวกัน เรื่องไม่ดีก็อยู่ในทำนองเดียวกัน ที่หลวงพ่ออุปมาเหมือนกับการฟักไข่ ๓ อาทิตย์ มันถึงเป็นตัว การทำความเพียรก็ต้องสมาทานตั้งมั่นแน่วแน่เป็นเวลา ๓ อาทิตย์ขึ้นไป มันถึงจะเป็นความเคยชิน
พระบวชก่อนต้องเป็นตัวอย่างให้พระใหม่ ให้พาเขาทำข้อวัตรให้เคร่งครัด พาเขาทำกิจวัตร พาเขาทำสมาธิ วินัยเล็กๆ น้อยๆ อาบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องคอยตักเตือน พูดจาให้ดีๆ พูดจาให้เพราะๆ อย่าไปวางมาด วางกล้าม ประพฤติปฏิบัติตน ไม่มีตัวไม่มีตนให้ได้ ต้องเป็นผู้ที่เสียสละตน เสียสละท่าน เราจะได้ถือโอกาสฝึกตนเองและรุ่นน้องไปพร้อมๆ กัน เพราะการพูดเป็นร้อยครั้ง ก็ยังไม่สู้ทำครั้งเดียวให้เขาดู ตัวอย่างที่ดีจึงมีค่ามากกว่าคำสอน
เราทำหน้าที่ของเราไป อย่าไปอยากใหญ่ อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อย่าไปอยากมีลาภ อยากมียศ อยากมีเสียงสรรเสริญ อย่าไปแข่งกันมีลูกศิษย์ลูกหา คนเราไม่อยากได้ มันยิ่งได้ ไม่อยากใหญ่ มันยิ่งใหญ่ ยิ่งเอามันจะยิ่งอด สละให้หมดมันจะยิ่งได้
การเสียสละ การปฏิบัติคุณงามความดี เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คน และก็เป็นเรื่องรีบด่วน เราอย่าไปคิดว่าอยากมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ความหมายของอิสระนี้ หมายถึง ไม่เป็นทาสของกิเลส ไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงชื่อว่าเป็นอิสระ เป็นใหญ่ อิศระเป็นภาษาบาลี เป็นภาษาบาลี ผู้เป็นใหญ่เขาจึงใช้คำว่า “อิศระ” หรือคำว่า “อิศวรา” หรือ “อิศวร” พระอิศวรจึงหมายถึง ผู้เป็นใหญ่ นั่นคือของพราหมณ์ แต่ทีนี้ มองลงในความหมายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นใหญ่ใช้คำว่า “อิศระ” คำเดียวกัน แต่ตรงนี้หมายถึงว่า “อิสระ” จากการไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ไม่ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้ความยึดมั่นถือมั่นมาครอบครองจิตใจของเรา
ให้เราถือว่าชีวิตของเรานี้ เหมือนวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เราจะทำแต่ความดี เราอย่าไปคิดว่าเป็นงานหนัก เรายังไม่หมดกิเลสแล้วก็ต้องมานำคนอื่น มาปฏิบัติ เพราะนี่แหละคือเรากำลังปฏิบัติธรรม ธรรมะ มันไม่ได้อยู่ไกลหรอก มันอยู่ตรงนี้แหละ เราพยายามอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ อย่าไปเปิดโอกาสให้กิเลสมันหายใจมาก เดี๋ยวเราก็จะได้ดีเอง
พระที่จะเป็นเจ้าอาวาสหรือประธานสงฆ์ ให้พิจารณาตัวเองให้ดีๆ ว่าเราไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะทำตามใจกิเลส เราไปเป็นเพื่อชำระสะสางตัวเอง และพระเณรที่ย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย เพื่อจะได้นำทำข้อวัตรปฏิบัติ ฟื้นฟูพระศาสนาที่ตกต่ำให้ดีขึ้น เพื่อเป็นผู้นำกุลบุตรลูกหลานให้เกิดมรรคเกิดผลถึงขั้นนิพพานอย่างถูกต้อง
เราไม่ต้องไปกลัวว่า ถ้าปฏิบัติเคร่งครัดเกินจะไม่มีเพื่อน จะไม่มีใครมาอยู่ด้วย หรือจะไม่มีกุลบุตรลูกหลานเข้ามาประพฤติมาปฏิบัติสืบทอดพระศาสนา ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ ประชาชน ญาติโยมยังขาดผู้ที่จะนำพาประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีปัญญา เขารู้จักสังเกต ความประพฤติปฏิบัติของพระ ถ้าที่ไหนปฏิบัติย่อหย่อนอ่อนแอ เขาก็ไม่เลื่อมใสศรัทธา แต่ถ้าที่ไหนปฏิบัติถูกต้อง ตรงต่อหลักธรรมหลักวินัยแล้ว เขาก็มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใส อยู่ใกล้ไกลแค่ไหน ถ้ามีลูกมีหลาน ก็แนะนำให้มาบวช ให้มาประพฤติปฏิบัติ
เราอย่าไปเน้นทางวัตถุ ให้เน้นมาทางจิตทางใจ ทางข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเรายังไม่หมดกิเลส เราจะไปยุ่งกับการก่อสร้างมากมันไม่ดี มันจะลำบากญาติโยม หนักๆ เข้า ภายหลังจะทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ต้องวิ่งเต้นหาโยมคนนั้นคนนี้ หาวัสดุที่โน่นที่นี่ หากฐินผ้าป่า หากิจกรรมจัดงาน เพื่อจะได้เงินมาในการก่อสร้าง ต้องเน้นสร้างพระให้เป็นพระ เน้นสร้างเณรให้เป็นเณร เน้นสร้างคนให้เป็นมนุษย์ ถือว่าประเสริฐที่สุดแล้ว
คนเก่ง คนฉลาด คนมีปัญญา คนมีทรัพย์มากน่ะมันมีมากอยู่แล้ว แต่ว่าคนที่ดี มีน้อย คนดีเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสก็ต้องมีศีล ๕ คุณแม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมก็มีศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระก็ศีล ๒๒๗ เป็นคนที่เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่ไม่ลุ่มหลงในอัตตา และเป็นคนที่รู้จักสัจธรรมว่า เราเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป นี่คนดีที่พระพุทธเจ้าท่านยกเอาเกณฑ์มาพิจารณา ในสังคม ในครอบครัว ก็ต้องการคนอย่างนี้ ไม่ใช่มีความต้องการแต่ทางวัตถุเท่านั้น
บัณฑิตที่เข้ามาบวชก็ต้องทำตามคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อเราลาสิกขาไปแล้ว จะได้มีหลักมีเกณฑ์ มีจุดยืนที่ประเสริฐ ทุกวันนี้สังคมต้องการคนดีมีคุณธรรม แม้ว่าจะไม่ร่ำรวยล้นฟ้า ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เราไม่ยากจน มีเครดิตดี ลำบากก็มีคนช่วย คนไม่ช่วยเทวดาก็ช่วย อยู่ที่บ้านที่พักของเรา ถ้าเราปฏิบัติแล้ว พระรัตนตรัยก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อเรากราบไปที่เตียงนอนของเรา พระคุณพ่อแม่ก็อยู่ที่ใจของเรา การบวชถือเป็นหนทางอันประเสริฐ เพื่อที่จะทดแทนพระบุญคุณของพ่อแม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เป็นการสร้างบุญบารมีให้กับตนเองด้วย ผู้ที่รู้จักบุญคุณและทดแทนพระคุณของผู้มีอุปการะคุณ ย่อมจะมีความแต่เจริญ การบวชนั้นมีบุญใหญ่มีอานิสงส์ใหญ่ แต่กว่าที่จะได้บุญมาก อานิสงส์มาก ก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ถือศีลถือพระวินัย จะได้เป็นพระ การจะเป็นพระได้ต้องถือศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์
เราต้องรับผิดชอบเรื่องการรักษาศีล เราต้องรักษาเอง คนอื่นจะช่วยรักษาไม่ได้ พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์เป็นแต่เพียงผู้บอก เราต้องรักษาเอง เราจะได้ผลใหญ่ เราจะต้องรักษาศีลตั้งใจปฏิบัติ ไม่ว่าอิริยาบถไหน เราต้องเอาพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าเป็นหลัก อย่างพระสารีบุตร ท่านไม่ละเมิดศีลแม้เพียงเล็กน้อย นั่นเป็นตัวอย่าง ปัจจุบันก็หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว มีลูกศิษย์ลูกหาเกิดขึ้นมากมาย ก็เพราะการรักษาศีล
การเดินจงกรมก็ไม่มีใครเดินให้เรา จึงต้องเดินเอง ขาขวาพุทซ้ายโธ เดินกลับไปกลับมา การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน เราต้องนั่งเอง ที่นั่งเป็นหมู่ก็เพื่อที่จะให้เรามีหลัก เราก็จะต้องทำใจให้สงบ หายใจเข้าพุทออกโธ หายใจเข้าออกสบาย อยู่กับพุทโธ ชำระจิตใจของเราออกจากความคิดความฟุ้งซ่านต่างๆ ถ้าใจของเราสงบมันก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เราจะนึกพุทโธตามลมหายใจเข้าออกก็ได้
ทุกท่านทุกคนสามารถทำได้ ไม่เฉพาะแต่พระภิกษุ สามเณร หรือคุณแม่ชีเท่านั้น ให้เราบริกรรมตามลมหายใจเข้าลมหายใจออกเรื่อยไป บริกรรมพุทโธจนจิตใจของเราเป็นหนึ่ง สงบเย็น หรือจะนึกบริกรรม พุทโธๆๆๆ ติดต่อต่อเนื่องลงกันไป แล้วแต่จริตนิสัยของใครถนัดอย่างไร ให้กายของเราตั้งตรง ครั้งแรก นั่งให้ร่างกายนิ่งๆ ก่อน ใจยังไม่สงบไม่เป็นไร ให้ร่างกายของเรานิ่งๆ สบายๆ ๑๕ นาที ๓๐ นาที ถ้าปวดเมื่อยก็ขยับสักครั้งหนึ่ง ฝึกไปเรื่อยๆ จนชำนิชำนาญ
การภาวนานั้นเบื้องต้นต้องยึดพุทโธเป็นหลักทุกอิริยาบถ ถ้าเราเจริญวิปัสสนาเลยจะข้ามขั้นตอนไป ทำให้ใจไม่มีหลัก การเจริญปัญญาด้วยการพิจารณา วิปัสสนาก็ไม่เกิดผลเท่าที่ควร หรือไม่ได้ผล กลับกลายเป็นการฟุ้งซ่านรำคาญ เป็นวิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะนึกเอา คาดเอา เดาเอา แล้วยึดว่าเรารู้จริง เห็นจริง ปัญญาที่แท้จริงจะเกิดจากความสงบเยือกเย็น สติชัดเจนอยู่กับปัจจุบัน ทุกเวลานั่นเอง จะสามารถดับทุกข์ได้ ทุกขณะ ทุกเวลา
การบวชที่จะมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ รักษาศีลทุกข้อให้ได้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิกขาบทน้อยใหญ่ ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นอนดึกตื่นเช้า บิณฑบาต ทำอะไรให้ได้เต็มร้อย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งใจสำรวม รักษากาย วาจา ใจ ของเรา ให้สงบเรียบร้อย ไม่คึกคะนอง สรวลเสเฮฮา นิสัยทางโลก ความคิดทางโลก เราก็หยุดมันไว้ก่อน พักมันไว้ก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ศีลเราด่างพร้อย พยายามเก็บตัวเพื่อให้ใจสงบ ฝึกอยู่คนเดียว ด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเดินจงกรม เมื่อมีกิจวัตร ถึงออกมาตามเวลากิจวัตรต่างๆ เราถือว่าบำเพ็ญกุศลหมด ตั้งแต่ปัดกวาดเช็ดถู หรือว่าทำอะไร ต่างล้วนเป็นเหตุให้เกิดบุญกุศลทั้งสิ้น ให้เรามารู้จักวิธีทำใจให้สงบ โดยเฉพาะอยู่กับการหายใจ อยู่กับการท่องพุทโธ เราไม่ต้องไปห่วงว่าจะติดคำบริกรรม แรกๆ สำหรับผู้ที่ฝึกก็ต้องมีพุทโธ มีคำบริกรรม เหมือนคนเราที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น เวลาหัดว่ายน้ำมันต้องอาศัยห่วงยาง พอเวลาว่ายน้ำแข็งแล้ว ว่ายน้ำเป็นแล้ว ว่ายน้ำเก่งแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยห่วงยางอีกต่อไป
สำหรับผู้เริ่มมาประพฤติมาปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน อาศัยห่วงยาง คือพุทโธ คือการบริกรรม เพื่อที่จะดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ มาอยู่กับการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้ามัวแต่เป็นผู้รู้ รู้อย่างเดียว ดูอย่างเดียว ได้ไม่กี่คู่หรอก ความฟุ้งซ่านมันดึงเราไปกินหมด ดังนั้นจึงต้องอาศัยคำบริกรรมเบื้องต้น พอสติสมาธิชัดขึ้นๆ คำบริกรรมมันจะหายไปเอง มีแต่ตัวผู้รู้ผู้ดู เป็นผู้ทำงานเท่านั้น
ให้เราอยู่กับการหายใจ อยู่กับพุทโธ มีสติกับการทำงาน ทำข้อวัตร กิจวัตร โดยเฉพาะการฝึกจิตใจให้อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เช่น เมื่อเราเจ็บไข้ไม่สบาย เราเข้าสมาธิ เราก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ผูกจิตผูกใจของเรา ให้พากันมารู้จักอารมณ์ สิ่งที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พวกนี้เรียกว่า “อารมณ์” เราต้องรู้จักมันให้ดี เมื่อเรารู้จักแล้ว เราพยายามที่จะไม่หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่ว่าจะมาแบบรุนแรงหรือว่าสวยสดงดงาม ให้เรารู้จักว่านี่เป็นเพียงอารมณ์ ถ้าเรารู้จัก เราฉลาด อารมณ์มันก็จะสลายไป เพราะว่าเราตามมันทัน จับมันทัน ไล่มันทัน อารมณ์มันมีปัญหามาก มันทำให้เราประสาทหงุดหงิด ที่สุดก็ทำให้เราทำตามความอยาก ความชอบ ไม่ชอบ ความเบื่อ ไม่เบื่อ อย่างนี้ สุดท้ายจิตใจก็วิ่งวุ่นทั้งวัน ไปตามอภิชฌาโทมนัสก็คือความยินดียินร้าย ความชอบ ไม่ชอบ ไปตามกระแส
ถ้าใครรู้จักทำจิตทำใจให้หนักแน่น รู้จักมีอุเบกขา รู้จักมองให้มันเป็นอนิจจัง เป็นของว่างเปล่า สิ่งเหล่านี้ก็จะนำปัญญามาให้เรา เฉพาะเราอยู่ในวัดเราก็ต้องถูกใช้งาน แม้อยู่บ้านยิ่งก็ต้องใช้งาน เราจะได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ จิตใจไม่หวั่นไหว ยกตัวอย่างองค์ในหลวง ใครจะอย่างไรก็เฉย ยิ่งเราเป็นพระ เราก็ต้องฝึกเฉยอย่างนี้แหละ ตามหลักพระศาสนา ท่านสอนให้ดีก็ปล่อย รู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่อารมณ์ แม้แต่เราทานข้าว ได้พักผ่อน ถึงแม้จะสบายก็ไม่ยึดถือ นี้เรียกว่า “ปล่อย” ฉะนั้น การบวชของเรา การปฏิบัติของเรา คือได้มาฝึกอย่างนี้ด้วย ให้กุลบุตรได้ฝึก ฝึกให้รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักผิด รู้จักถูก จะได้เลือกเฟ้นทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่อะไรก็ทำไปหมด อย่างนี้ใช้ไม่ได้ โบราณเขาถึงให้บวช ให้เป็นทิด ความหมายของทิดก็คือว่า “บัณฑิต” เพื่อให้มีจุดยืนของชีวิต ว่าเราเคยผ่านการฝึกมาแล้ว จุดยืนของทุกคนทุกท่าน ต้องนำความดีไปใช้ เพื่อบูชาพระคุณพ่อแม่ พระศาสนา ญาติวงศ์ตระกูล พยายามสร้างร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับจิตใจตัวเอง จะได้เป็นที่พึ่งให้กับตนเองและผู้อื่น จะได้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า การบวชของเราก็จะมีอานิสงส์ใหญ่ ให้ตั้งใจ ถึงจะเหนื่อยถึงจะยากก็ให้อดทน โรงเรียนดีๆ ก็ต้องมีระเบียบมีวินัย ตามที่พระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร ปฏิบัติมากๆ แบบนี้ บวชน้อย บวชมากไม่สำคัญ อยู่ที่ใจ ต้องฝึกรักษากาย วาจา ใจให้ดี หากเราตั้งใจดีๆ เอาพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้งเหนือเศียรเกล้า แม้เพียงขณะจิตเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าผู้ที่บวชตลอดชีวิต แต่ไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน
ขอให้ปรับตัวเอง เข้าหาธรรมวินัย อย่าไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายบอกว่าเป็นทางสายกลาง แบบนั้นไม่ได้ มันต้องฝืนต้องอดต้องทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐ เป็นของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา มันก็เป็นธรรมดาเหมือนทั่วไป ไม่มีประโยชน์อะไร
เรามีของมีค่า ถ้าไม่ทำให้มีค่า มันก็ไม่เกิดประโยชน์ พยายามสำรวจตัวเองนะ ตอนนี้เรามีของมีค่า มีแก้วมณีอยู่ในมือ อย่าทำเหมือนลิงได้แก้ว ได้มาแล้วไม่รู้จักคุณค่า เรามีแก้วมณีอันมีค่า คือเพศสมณะ คือเพศนักบวช คือเพศของผู้สละโลก เราจึงต้องเอาของมีค่านี้ มาประพฤติมาปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นสามเณร คุณแม่ชี ผู้ถือศีล ๘ ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติธรรม ล้วนแต่มีของมีค่า มีแก้วมณีอยู่ในมือ เราอย่าทำเป็นลิงได้แก้ว ต้องเอาของที่มีค่านี้มาใช้ มาประพฤติ มาปฏิบัติให้มันสมค่า พยายามสำรวจตัวเอง ว่าเรามีข้อบกพร่องในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัว แก้ตัวใหม่ มีความเชื่อมั่นในการทำความดีต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับที่เหตุก่อน
เราอยู่ในสังคม เราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้ คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณา ว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาความรู้สึก สัญญาความจำ สังขารความคิดปรุงแต่ง วิญญาณความรู้สึกต่างๆ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป ปฏิบัติไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี่ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติ ให้มีความกล้า ปฏิบัติไป การละ การปล่อยวาง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันจะสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ บังคับตนเองไม่ได้นาน นานไปๆ ยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะ มันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์ เราปรุงแต่งเอาหรอก แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดไปปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น สุดท้ายแล้วมาสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เพราะฉะนั้น ความสงบระงับ ความคิด ความปรุงแต่ง สังขารทั้งหลายจึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง ให้เรามาต่อยอดอย่างนี้ เอาเวลา เอานาทีที่ประเสริฐที่เราได้มา ประพฤติปฏิบัติอยู่ที่นี่ อย่าให้เสียเวลา หากปล่อยตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก เราจะถูกเวลากลืนกิน เราไม่ได้เป็นผู้กลืนกินเวลา หากเราอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากๆ เป็นผู้หยุดเวลา กินเวลา ต่อไปเวลามันจะทำอะไรเราไม่ได้ จึงเป็นผู้หยุดภพหยุดชาติ หยุดวัฏสงสาร เหมือนกับพระอรหันต์ สติของท่านสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ วันเวลาจึงทำอะไรท่านไม่ได้ ท่านจึงไม่ถูกเวลากลืนกิน เพราะท่านเป็นผู้กินเวลา เมื่อท่านไม่ถูกเวลากลืนกิน ภพชาติของท่านจึงไม่มี จึง STOP หยุดที่ชาติสุดท้าย ภพสุดท้าย ให้เราทำอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้ที่กลืนกินเวลา ด้วยสติ สมาธิ ปัญญาของเราในปัจจุบัน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งบวรพุทธศาสนา เป็นผู้มีปัญญา มีดวงตาเห็นธรรมถึงมรรคผลนิพพานทุกคนทุกท่านเทอญ